สรณัฐ ไตลังคะ

สรณัฐ ไตลังคะ

สรณัฐ ไตลังค
 

 

 

 

ช่างสำราญ: ชุมชน “ในจินตนาการ” หรือชุมชน “แห่งอุดมการณ์”

 

            นวนิยายเรื่องช่างสำราญของเดือนวาด พิมวนา เล่าเรื่องราวของชุมชนที่มีความเอื้อเฟื้อต่อกันแม้ว่าจะยากจนโดยคนทั้งชุมชนช่วยกันดูแลเด็กชายกำพล ช่างสำราญที่บ้านแตกสาแหรกขาด นวนิยายเรื่องนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเรื่องราวของความเอื้ออาทรที่เพื่อนมนุษย์มีต่อกัน “เรียบง่ายและงดงาม เปี่ยมไปด้วยความหวัง ความฝันและความเชื่อมั่นศรัทธาในด้านดีของจิตใจมนุษย์” (คำประกาศเกียรติคุณวรรณกรรมซีไรต์) รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ในบทความ “ช่างสำราญ...เรื่องราวของสังคมไทยที่ไม่แล้งน้ำใจและความเอื้ออาทร” ชี้ให้เห็นว่านวนิยายเรื่องนี้ “มีพลังสัมผัสใจอย่างสูง” และ “ปลุกสัญชาตญาณใฝ่ดีให้เราศรัทธาในมนุษย์” และเสนอประเด็นความอ้างว้างหดหู่ของหญิงสาวในบ้านหลังใหญ่ที่ตรงกันข้ามกับความอบอุ่นเอื้ออาทรในชุมชน ส่วนจรูญพร ปรปักษ์ประลัย ในบทความ “ในกระจกแห่งความฝัน ไม่มีภาพของผู้ร้าย” กลับเห็นว่า “ชุมชนแสนสุขนี้เป็นเพียงภาพฝัน ซึ่งจะเป็นจริงหรือไม่ ไม่มีใครรู้ แม้กระทั่งผู้ที่เล่าเรื่องนี้เองก็ตาม” และเป็น “แค่จินตนาการสวยๆ ของคนที่มองลงมาจากยอดตึก โดยที่เท้าไม่เคยก้าวลงมาสัมผัสดินเลยสักครั้ง

            นักวิจารณ์ทั้งสองคนข้างต้นให้ความสำคัญแก่บท “เกริ่นนำ” ที่กล่าวถึงหญิงสาวที่ปีนขึ้นหลังคาบ้านหลังใหญ่ นั่งมองดูความเป็นไปในชุมชนห้องแถวคุณแม่ทองจันทร์ติดต่อกันสามวัน แล้วตกลงมาเสียชีวิตด้วยความตั้งใจหรือไม่นั้นไม่มีใครรู้ กล่าวในแง่ศาสตร์แห่งการเล่าเรื่อง ผู้เขียนใช้มุมมองจำกัดในการเสนอเรื่องราวตอนนี้ โดยใช้ภาษาของการคาดคะเน เช่น “ไม่มีใครรู้ว่า” “อาจ” “เป็นไปได้มากทีเดียวว่า” “คง” ทำให้ผู้อ่านไม่สามารถฟันธงได้ว่าผู้หญิงคนนี้เป็นใคร ทำไมจึงขึ้นไปอยู่บนหลังคา คิดอะไรเกี่ยวกับชุมชนธรรมดาสามัญแห่งนี้ แต่ที่สำคัญคือ บทเกริ่นนำนี้มีความสำคัญอย่างไรกับตัวเรื่องที่เป็นเรื่องราวของกำพล ช่างสำราญและชุมชนห้องแถวคุณแม่ทองจันทร์

            จรูญพร ปรปักษ์ประลัยจากความเห็นข้างต้น เห็นว่าบทเกริ่นนำนี้บอกเล่าว่าเรื่องราวในชุมชนเป็นเพียงจินตนาการ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องราวที่ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงเลย  

            ผ่านไปเกือบยี่สิบปี เมื่อผู้วิจารณ์กลับมาอ่านเรื่องนี้อีกครั้งจากการพิมพ์รวมเล่มครั้งแรก พ.ศ. 2546 ผู้วิจารณ์เห็นประเด็นที่แตกต่างไปจากการอ่านครั้งแรกๆ ที่มุ่งเน้นไปที่มนุษยธรรม แต่มุ่งไปสนใจ “ภูมิลักษณ์กึ่งปิด” ที่เป็นฉากหลักของเรื่อง เรื่องราวของเด็กชายกำพล ช่างสำราญเกิดขึ้นในชุมชนแห่งหนึ่ง ประกอบไปด้วยบังกะโลที่อยู่ต้นซอย มีกำแพงรั้ว “ที่เอื้อมไม่ถึงขอบด้านบน” (หน้า 21) มีบริษัทจำหน่ายเครื่องมือเครื่องใช้งานทุกชนิดและบริษัทจำหน่ายเครื่องตกแต่งบ้าน ที่ “กำลังอยู่ในห้วงของการดิ้นรนเฮือกสุดท้าย” (หน้า 91) มีบ้านหลังใหญ่ที่สาวนิรนามอาศัยอยู่ที่มีกำแพงสูง “คนเดินถนนไม่อาจรู้เลยว่ากำแพงสูงนี้โอบล้อมหรือกักขังสิ่งใดไว้ภายใน” (หน้า 21) ที่ “เมื่อมองจากย่านชุมชนห้องแถวคุณแม่ทองจันทร์ จะเห็นส่วนบนของบ้านโอ่อ่าหลังหนึ่งคล้ายลอยอยู่บนสวรรค์” (หน้า 21) ถัดไปที่ด้านหน้าชุมชนห้องแถว มีบ้านของคุณแม่ทองจันทร์ ซึ่งแม้จะไม่มีรั้ว แต่ก็มีความเป็นอยู่และวัฒนธรรมที่แตกต่างกับคนในชุมชนอย่างมาก ในบท “วันเกิด” เสนอความแตกต่างทางชนชั้นได้อย่างสะเทือนอารมณ์ในงานฉลองวันเกิดคุณแม่ทองจันทร์ที่มีทั้งการทำบุญและงานเลี้ยงฉลอง เด็กๆ ในชุมชนแอบดูงานฉลองดังนี้ 

            ชั่วขณะหนึ่ง ลูกหลานของคุณแม่ทองจันทร์มองข้ามพะเนินอาหารไปยังกลุ่มเด็กตัวดำมอมแมมด้วยกิริยาฉงน ข้างกำพล ไอ้อ้น ไอ้จั๊ว ไอ้น้อย ไอ้ระ ไอ้ชัย ไอ้ออดก็มองข้ามพะเนินอาหารไปยังกลุ่มคนที่แต่งตัวสวยงามนั้นเช่นกัน ทว่าด้วยการยอมรับโดยดุษณีว่าพวกเขาต้องถอยให้แก่ความสะอาดและสวยงาม ถอยให้แก่ความเอร็ดอร่อย และถอยให้แก่โอกาสและโชคซึ่งน่าสงสัยว่า สักวันหนึ่งจะตกมาถึงพวกเขาบ้างไหม” (หน้า 144)

            และท้ายที่สุดคือชุมชนห้องแถวคุณแม่ทองจันทร์ที่ผู้เขียนบรรยายว่าห้องแถวห้าแถว “เป็นเพียงทางผ่านของยุคสมัยที่รอเวลาเลือนหาย ไร้การจดจำรำลึก” (หน้า 19)  “ซุกตัวอยู่หลังกิจการบังกะโลขนาดเขื่อง” (หน้า 19)  “พื้นพิภพที่แสนธรรมดาสามัญเบื้องล่างช่างเร้าใจหล่อนยิ่งนัก” (หน้า 22)  ชุมชนแห่งนี้จึงเป็นเพียง “ภาพสามัญอันปกติ” ที่ไม่มีความโดดเด่นใดๆ

            ผู้วิจารณ์บทความนี้มีความเห็นสอดคล้องกับนักวิจารณ์ทั้งสองคนที่ว่า บทเกริ่นนำมีความสำคัญยิ่ง แต่ประเด็นที่ผู้วิจารณ์เห็นต่างก็คือ “หน้าที่” ของบทเกริ่นนำในเรื่องนี้ก็คือ มันได้ชี้ให้เห็นประเด็นความแตกต่างทางชนชั้นในสังคม โดยเรื่องราวในพื้นที่ตั้งแต่ปากซอยที่มีบังกะโลจนถึงสุดซอยที่เป็นชุมชนห้องแถวคุณแม่ทองจันทร์นั้นเป็นอุปมานิทัศน์ (allegory) ของสังคมไทย

            ในด้านความเป็นอยู่เสนอให้เห็นความแตกต่างของภูมิลักษณ์เล็กๆ แห่งนี้ แบ่งอย่างหยาบๆ ก็จะเป็นชนชั้นกลางระดับสูง ที่มีบ้านรั้วสูงของหญิงสาวเป็นตัวแทน รั้วขนาดสูงนี้ตัดความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับชุมชนอย่างสิ้นเชิง ชนิดที่ผู้เขียนบรรยายว่าบ้านเหมือนลอยอยู่ในสวรรค์เมื่อเทียบกับความสามัญของชุมชน ชนชั้นกลางระดับกลางแบบบ้านของคุณแม่ทองจันทร์ที่แม้บ้านจะไม่มีรั้วคอนกรีตสูงแบบบ้านหลังแรก แต่มี “รั้วที่มองไม่เห็น” ที่กั้นไม่ให้เด็กๆ ไปปฏิสัมพันธ์ด้วย นวนิยายได้บรรยายว่าบ้านทั้งสองหลังนี้ไม่สุงสิงกับใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์และการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนในชุมชน ซึ่งก็คือคนที่อยู่ข้างบ้านของตนเอง

            ส่วนชุมชนห้องแถวคุณแม่ทองจันทร์นั้นซุกตัวถอยห่างออกไปสุดซอย เป็นที่อยู่ของชนชั้นล่างที่เป็นแรงงานรับจ้าง เช่น สาวโรงงาน คนขับรถบริษัท ยามห้างสรรพสินค้า คนปะยาง คนรับจ้างปะชุนเสื้อผ้า คนเร่ขายกับข้าว คนขับมอเตอร์ไซค์ ฯลฯ มีชีวิตอยู่ได้ด้วยค่าแรงวันต่อวัน ตัวอย่างเช่นความยากลำบากในวันหนึ่งของสมร คนรับจ้างปะชุนเสื้อผ้าที่หาเงินมาซื้อกับข้าวเลี้ยงสามีและลูกชายไม่ได้เพราะลูกค้ายังไม่ให้เงินจากการซ่อมเสื้อผ้า จนต้องไปเชื่อของจากร้านชำของนายชง แต่ครอบครัวนี้กลับเป็นหนึ่งในครอบครัวที่รับเลี้ยงกำพล เรื่องได้เสนอเหตุการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่าที่คนในชุมชนทั้งที่ “ไม่มี” แต่กลับเห็นว่าตน “มี” มากกว่าและช่วยเหลือคนอื่น เช่นตอนที่กำพลซึ่งอยู่อย่างยากลำบากเพราะครอบครัวไม่ดูแล กลับต้องการให้คนไปช่วยเหลือเด็กหญิงนัดดา หลานยายเจือ แม่ค้าข้าวเหนียวปิ้งมากกว่าช่วยตน

            ที่น่าสนใจคือชุมชนแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่แรงงานรับจ้างมาอยู่รวมกัน ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนเป็นแบบหากินวันต่อวัน ไม่มีทางเก็บสะสมเงิน มาอยู่รวมกันโดยที่ไม่ได้สืบสานมาจากวัฒนธรรมชนบทเดียวกัน กล่าวคือ ไม่ได้เป็นหมู่บ้านที่มีฐานเศรษฐกิจแบบเกษตรกรรม อนุมานได้ว่าเป็นพื้นที่ในเมืองรองที่ถูกรุกคืบโดยเศรษฐกิจแบบทุนนิยม กลายเป็นพื้นที่ “กึ่งเมืองกึ่งชนบท” เพราะมีการทำงานรับจ้างแบบเศรษฐกิจในเมือง แต่ในทางวัฒนธรรมกลับเป็นการพึ่งพากันแบบชนบท นอกจากนี้ ยังมีจุดร่วมกันทางความเป็นอยู่เช่น การเที่ยวงานวัด การปิดชุมชนไปรับบริจาคข้าว ฯลฯ

            หากพิจารณาในแง่วัฒนธรรม จะเห็นความแตกต่างระหว่างชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงาน วัฒนธรรมชนชั้นแรงงานมีลักษณะ “เชิงสังคม” กล่าวคือมีปฏิสัมพันธ์ในระหว่างวัน มีความสนใจใคร่รู้ (ชนชั้นกลางอาจเรียกว่า ชอบสอดรู้สอดเห็น) มีความเห็นอกเห็นใจและเอื้อเฟื้อ ซึ่งเห็นได้ชัดในตอนต้นเรื่องที่เด็กชายกำพลถูกพ่อทิ้งไว้ให้คนในชุมชนช่วยกันรับผิดชอบนั้น ไม่มีใครตั้งตนเป็นผู้จัดการ แต่เป็นไปเองตามธรรมชาติ เช่น การเอ่ยปากให้ไปกินข้าว และหากบ้านใดเลี้ยงข้าวเย็นกำพลก็เป็นที่รู้กันว่าจะต้องให้ที่พักพิงในคืนนั้นด้วย มีอยู่บางวันที่ไม่มีใครเลี้ยงข้าวกำพลจนเขาหิวท้องกิ่ว นายชงก็อนุญาตให้กำพลเข้าไปในบ้านและคดข้าวในครัวกินเองได้ การที่กำพลสามารถเข้านอกออกในห้องแถวทุกห้องได้ แสดงให้เห็นว่า ชนชั้นแรงงานอยู่ร่วมกันโดยที่ไม่มี “รั้ว” ที่แสดงความเป็นส่วนตัว ดังนั้น ความสัมพันธ์ของชนชั้นล่างมีลักษณะแบบพึ่งพาอาศัยกันทั้งด้านสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ

            ในขณะที่ชนชั้นกลางมีวัฒนธรรมแบบปัจเจกบุคคล คือต่างคนต่างอยู่ มีระยะห่าง (ผ่านรั้วสูงและรั้ว “ที่มองไม่เห็น”) ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แม้จะมีเหลือเฟือ เช่นในกรณีของบ้านรั้วสูงและบ้านคุณแม่ทองจันทร์

            นอกจากนี้เรื่องยังชี้ให้เห็นการวิพากษ์ทุนใหญ่ ในตอน “ตลาดนัด” ที่บริษัทท้องถิ่น 2 บริษัทที่ขายเครื่องมือกับเครื่องตกแต่งบ้านแข่งขันกันเปิดตลาดนัดโดยใช้กลวิธีต่างๆ เช่น ลดค่าเช่าและเพิ่มวันขาย เด็กๆ ในชุมชนถือโอกาสแอบขายของหารายได้พิเศษในตลาดสองแห่งนี้ แต่ในที่สุดก็มีนายทุนใหญ่กว่ามาเปิดตลาดนัดขนาดใหญ่แข่ง เรียกว่า “ตลาดนัดจตุจักร” โหนใช้ชื่อที่เชื่อมโยงกับตลาดใหญ่ที่กรุงเทพฯ โดยให้ผลประโยชน์แก่ผู้ขายมากกว่าและมีเครื่องอำนวยความสะดวกแก่ผู้ซื้อ ทำให้ตลาดเล็กทั้งสองต้องปิดตัวไปโดยปริยาย “ยุติการดิ้นรนเฮือกสุดท้ายอย่างจำนนต่อโลกของธุรกิจ ทว่าเด็กๆ ได้แต่งวยงง ไม่มีตลาดนัดทู แวร์ ทู ไม่มีตลาดนัดโมเดียมอันเป็นเสมือนเพื่อนบ้านหน้าปากซอยอีกต่อไป มีแต่ตลาดนัดจตุจักร คนอื่นคนไกลซึ่งไม่เคยคุ้น” (หน้า 94) ผู้อ่านจึงอาจจินตนาการพื้นที่ชนบทที่ค่อยๆ ถูกรุกคืบด้วยความเป็นเมืองทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม และโลกทุนนิยมที่มุ่งเน้นที่การแข่งขันแบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก

            ผู้วิจารณ์จึงเห็นด้วยกับจรูญพร ปรปักษ์ประลัยที่ว่า เรื่องนี้ไม่ได้สะท้อนความจริง แต่มีความเห็นต่อไปว่า เรื่องราวของเด็กๆ ในชุมชนที่ดูเหมือนแสดงความไร้เดียงสาและเสนอประเด็นมนุษยธรรมนั้นกลับซ่อนการวิพากษ์สังคมไทย ระบบชนชั้น ที่ต้องตีความผ่านเรื่องราวในชุมชน 

            หากจะมองนวนิยายเรื่องนี้ในมุมของวัฒนธรรมศึกษา นวนิยายไม่ใช่การสะท้อนความเป็นจริงของสังคม แต่เป็นการนำเสนอคุณค่าและอุดมการณ์บางอย่าง ผู้เขียนนวนิยายให้ความสำคัญแก่ภูมิลักษณ์ของชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงโดย “จัดวาง” ให้เห็นว่าเป็นพื้นที่มีความแตกต่างทางชนชั้น การมี/ไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างชนชั้น สภาพกึ่งเมืองกึ่งชนบทที่เป็นพลวัตของเมืองที่ถูกรุกคืบด้วยทุนนิยม 

            ในทัศนะของผู้วิจารณ์ นวนิยายเรื่องนี้แสดงอุดมการณ์ให้เห็นว่าแม้สถาบันครอบครัวก็ล่มสลาย แต่สิ่งที่เป็นทางรอดก็คือชุมชนที่แข็งแกร่ง ที่ไม่จำเป็นต้องให้สถาบันทางราชการใดมาช่วยแก้ปัญหา จากข้อน่าสังเกตประการของเรื่องราวของชุมชนในเรื่องนี้คือ ปัญหาครอบครัวของเด็กชายกำพล หญิงสาวที่ถูกหลอกมาข่มขืนในบังกะโล การตายของลุงเตี้ย คดีลักเล็กขโมยน้อยของไอ้น้อย ฯลฯ ทั้งหมดสามารถจัดการแก้ปัญหาได้ด้วยชุมชนเอง  การหายไปของเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีอำนาจจากนอกชุมชนน่าจะนำไปสู่การตีความที่น่าสนใจ

            นวนิยายชี้ให้เห็นความสำคัญของชุมชนและวัฒนธรรมของชนชั้นรากหญ้า (การสัมพันธ์แบบพึ่งพาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง) รวมทั้งการพึ่งพาตนเองโดยไม่พึ่งรัฐ

            จึงอาจกล่าวได้ว่า นวนิยายเรื่องช่างสำราญ ซึ่งดูเหมือนเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่แสดงความหวังต่อความสัมพันธ์ของเพื่อนมนุษย์ ที่แท้เป็นวรรณกรรมที่วิพากษ์สังคมได้อย่างเจ็บแสบ และเสนอแง่คิดให้แก่สังคมอย่างลึกซึ้ง.

เดือนวาด พิมวนา. 2548. ช่างสำราญ. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ: สามัญชน, 2548.

 

 

 




 

 

 

 

 

 

อำนาจทะลุทะลวงของผู้ชาย

 

          ในฐานะนักอ่าน ชอบงานเขียนของอนุสรณ์ ติปยานนท์ ติดตามงานของเขาอย่างต่อเนื่อง เสน่ห์ของงานอยู่ที่การใช้ฉากต่างประเทศที่ตื่นตา แนวการเขียนแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ที่เอื้อต่อจินตนาการ รวมทั้งโครงเรื่องที่ไม่ธรรมดา ที่สำคัญ ขนาดและราคาของหนังสือพอเหมาะ

          ดังนั้น จึงอดประหลาดใจและเสียดายไม่ได้ เมื่อรวมเรื่องสั้น อาคเนย์คะนึงของเขาไม่ติดอยู่ในการคัดเลือกรอบแรกของรางวัลซีไรต์ 2560

          ในฐานะนักวิจารณ์ จึงกลับไปอ่านนวนิยายเรื่องเพลงรักนิวตริโน และรวมเรื่องสั้นอาคเนย์คะนึง ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ใน พ.ศ. 2559 ทั้งสองเล่ม

          เมื่ออ่านงานทั้งสองเล่มต่อเนื่องกัน ต้องยอมรับว่าอนุสรณ์ ติปยานนท์มีสไตล์การเขียนที่คงเส้นคงวา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโครงเรื่องที่น่าสนใจ การเสนอความหลากหลายของฉากต่างประเทศ การใช้ประวัติศาสตร์และความทรงจำ แนวการเขียนสัจนิยมมหัศจรรย์ การใช้ “ผม” เป็นผู้เล่าเรื่อง เป็นต้น

          แต่ในเพลงรักนิวตริโน เนื่องจากเป็นนวนิยายจึงมีโครงสร้างซับซ้อนกว่าและมีความยาวกว่าเรื่องสั้น เปิดโอกาสให้ผู้วิจารณ์ได้มองเห็นวิธีการทำงานของผู้เขียนได้มากกว่า ในที่นี้จึงจะวิจารณ์เฉพาะนวนิยาย

          เพลงรักนิวตริโนใช้ฉากส่วนใหญ่อยู่ในฮ่องกง ตัวเอก “ผม” เดินทางไปทำงานสถาปนิกที่บริษัทในฮ่องกง ในท่ามกลางพายุไต้ฝุ่นในวันหนึ่ง ชะตากรรมได้นำจัสมิน หลิงมาสู่ “ตัก” ของเขา แม้เป็นการพบที่แปลกประหลาด ทั้งสองได้รักกันและตกลงปลงใจอยู่ด้วยกัน แต่ก็เป็นเวลาเพียงสามเดือนก่อนที่เขาจะฝังร่างของเธอที่ตายจากไป

                หลังจากนั้น เขาประสบเหตุการณ์แปลกประหลาดอย่างต่อเนื่อง เขาพบว่าจัสมิน หลิงแท้จริงแล้วเป็นดาราภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงในอดีต เมื่อเขาไปตามหาข่าวเกี่ยวกับเธอ ก็กลับพบว่าจัสมิน หลิงเป็นยายที่หายสาบสูญไปของนักข่าว ไอรีน จาง  

โชคชะตาทำให้เขาได้พบชายชราตาข้างเดียว “ฟุก จื่อหลง” ในรถไฟใต้ดิน ที่ต่อมาเขา “บังเอิญ” ได้พบในฐานะเป็นนักทำนายดวงเป็นคนงานของบริษัทของเขาที่เกิดอุบัติเหตุขณะทำงานเพราะเกิดไต้ฝุ่นเป็นคนที่ช่วยชีวิตเขาเมื่อเขากระโดดจากเรือเฟอร์รีและเป็นคนที่เคยร่วมงานและหลงรักจัสมิน หลิง นับจากที่ทั้งคู่รู้ว่าพวกเขาผูกพันกับจัสมิน จึงได้ร่วมกันตามหาร่างของเธอที่หายไปจากหลุมฝังศพ การสืบหาพาทั้งสองไปสู่ตัวปัญหา คือ “หลี่ไป๋” มหาเศรษฐีผู้มีอิทธิพลที่หลงรักจัสมิน และนำไปสู่ความตายของฟุก จื่อหลง

ตัวเอกไม่ย่อท้อที่จะตามหาหลี่ไป๋เพื่อทวงคืนร่างจัสมิน ในที่สุด เขาได้พบหลี่ไป๋และรับคำท้าเล่นเกมรัสเซียนรูเล็ต เรื่องจบเมื่อเขาสามารถนำอัฐิของจัสมินกลับไปคืนไอรีน จาง ที่กลายเป็นคนรักของเขา หลังจากที่ที่มั่นของหลี่ไป๋และฟิล์มภาพยนตร์ของจัสมินถูกทำลายสิ้นไปในกองเพลิง

          พอจะกล่าวได้ว่าเรื่องเพลงรักนิวตริโนเป็นนวนิยายที่อ่านสนุก มีโครงเรื่องที่น่าติดตาม สามารถอ่านต่อเนื่องจนจบเล่มได้ ผู้วิจารณ์เองติดใจวิธีการเขียนของอนุสรณ์ที่ค้นคว้าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์จีนมาผูกเป็นเรื่อง โดยจับประเด็นชะตากรรมของผู้หญิงที่มีความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นนักแสดงหญิงจีนหรือนักว่ายน้ำ ที่มักเป็นเหยื่อกามารมณ์และตกอยู่ใต้อิทธิพลของทหาร นักการเมืองหรือผู้อำนวยการสร้าง/ผู้กำกับการแสดง จนชีวิตสิ้นหวังและล้มเหลว จัสมิน หลิงจึงเป็นตัวละครสมมุติที่มีชะตากรรมคล้ายผู้หญิงเหล่านั้น

และหากวรรณกรรมเป็นพื้นที่แสดงตัวตนของนักเขียน นวนิยายเรื่องก็แสดงให้เห็นรสนิยมด้านวัฒนธรรมของอนุสรณ์ ผู้วิจารณ์เพลิดเพลินกับการอ้างถึงวรรณกรรม ดนตรี ภาพยนตร์ สถาปัตยกรรม อาหาร ฯลฯ ในตัวเรื่อง จนบางครั้งผู้วิจารณ์ต้องหยุดอ่านแล้วไปค้นคว้าเพิ่มในอินเทอร์เน็ต ถือเป็นเสน่ห์ของเรื่องที่เป็นลักษณะเฉพาะของนักเขียนผู้นี้   

          อย่างไรก็ตาม ว่ากันว่านวนิยายที่ดีต้องมีโครงเรื่อง ตัวละคร กลวิธีการเล่าเรื่อง และภาษาที่ดี แม้งานของอนุสรณ์เรื่องนี้จะสนุกโดยภาพรวม แต่ผู้วิจารณ์เห็นว่า นวนิยายเรื่องนี้ “ขาดๆ เกินๆ”

ในแง่ของโครงเรื่องหรือความเป็นเหตุเป็นผลเกี่ยวร้อยกันของเหตุการณ์ นวนิยายเรื่องนี้เต็มไปด้วยความบังเอิญ เช่นกรณีการปะทะสังสรรค์ระหว่างตัวเอกกับฟุก จื่อหลงดังที่ได้กล่าวแล้ว นอกจากนี้ นักดนตรีในบาร์ที่ตัวเอกไปฟังเพลงก็ให้บังเอิญเป็นลูกน้องของหลี่ไป๋และเป็นคนขับรถพาเขาไปหาหลี่ไป๋ นักข่าวไอรีน จาง บังเอิญเป็นหลานของจัสมิน หลิง ภรรยาของเขา

โลกนี้มีความบังเอิญอยู่จริง แต่ถ้ามากเกินไปก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าผู้เขียนหาทางออกง่ายๆ ในการผูกเรื่อง

ผู้เขียนให้เหตุผลของความแปลกประหลาดและความบังเอิญนี้ไปที่การเกิดไต้ฝุ่น จัสมิน หลิงหายตัวไปในวันหนึ่งที่เกิดพายุไต้ฝุ่นและไปโผล่บนตักของตัวเอกที่อ่านหนังสือในร้านขณะที่เกิดพายุ นอกจากนี้ไต้ฝุ่นยังเกิดในวันที่ตัวเอกได้ดูภาพยนตร์ของจัสมินเป็นครั้งแรก ทำให้เขาพบกับนักว่ายน้ำหญิงในอดีต และทำให้ฟุก จื่อหลงเกิดอุบัติเหตุ ตัวละครฟุกกล่าวว่า “พายุไต้ฝุ่นก็คือกุญแจที่ใช้ไขประตูประตูเวลาเหล่านั้นสำหรับเรา” (หน้า 127) แต่ต่อมาในเรื่องก็ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่พายุนี้ในการไขปริศนาของเรื่องอีกเลย

จะว่าไป นักอ่านคุ้นเคยแล้วกับโครงเรื่องแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ ดังนั้นการผูกเรื่องที่เต็มไปด้วยความแปลกประหลาดและความบังเอิญนี้ก็ไม่ถึงกับรับไม่ได้  แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ตัวเอกแทบจะไม่ได้มีบทบาท เขาเป็นฝ่าย “ถูกกระทำ” หรือชะตาฟ้าลิขิตให้มาเผชิญเรื่องราวเหล่านี้

นอกจากนี้ ความ “ขาด” ของโครงเรื่องจึงไปอยู่ที่ตอนจบ ที่จบอย่างง่ายดาย ผู้วิจารณ์ออกจะฉงนว่า เหตุใดหลี่ไป๋ผู้ซึ่งโหดเหี้ยมขนาดควักลูกตาฟุก จื่อหลงเพียงเพราะเขาเห็นร่างเปลือยของจัสมิน รวมทั้งไม่ต้องการให้ใครครอบครองจัสมิน ถึงกับอุตส่าห์ขโมยศพจัสมินมาเผาและเก็บอัฐิไว้  จึงยอมให้ตัวเอกผู้ได้แต่งงานอยู่กินกับจัสมินสามารถนำอัฐิกลับไปโดยง่าย

ประเด็นต่อไป เรื่องตัวละคร นวนิยายที่ดีส่วนใหญ่ตรึงผู้อ่านด้วยการนำเสนอตัวละครที่มีความซับซ้อน ซ่อนปมปัญหาที่หยั่งรากลึก กล่าวอย่างง่าย ตัวละครต้องเผชิญความขัดแย้งทั้งกับตัวเอง คนอื่นและกับสถานการณ์แวดล้อม  ผู้วิจารณ์คิดว่าตัวละครฟุก จื่อหลงเป็นตัวละครที่มีความซับซ้อนน่าสนใจ ชายชราที่อยู่กับประสบการณ์โหดร้ายที่ทำให้เขามีดวงตาเพียงตาเดียว ชายชราผู้มีพละกำลังพร้อมที่จะเป็นผู้ให้ ผู้มีความหลงใหลในอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนกินปูขนที่ต้องมีลำดับและวิธีการกินที่ละเมียดละไมที่จบด้วยการเรียงซากปูเป็นตัวเหมือนเดิม พฤติกรรมการกินนี้ต่อมาตัวเอกได้รับสืบทอดมา รายละเอียดเช่นนี้เป็นวิธีการที่แยบยลในการเสนอบุคลิกของตัวละคร และชี้ให้เห็นอิทธิพลของฟุก จื่อหลงที่มีต่อตัวเอกของเรื่อง

น่าเสียดายที่ความลุ่มลึกในการสร้างบุคลิกตัวละครเช่นนี้ไม่ปรากฏในตัวละครอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเอกของเรื่อง ที่จริงตัวเอกมีความน่าสนใจเชิงบุคลิก เช่น การให้ความสำคัญแก่การอาบน้ำ และการชอบอ่านหนังสือที่ไล่อ่านทีละเล่มตามลำดับตัวอักษร แต่ผู้เขียนไม่ได้ใช้พฤติกรรมเหล่านี้ของตัวเอกให้เป็นประโยชน์โดยสร้างปมปัญหา หรือความขัดแย้งกับเหตุการณ์อย่างเต็มที่ ผู้วิจารณ์เห็นว่าตัวเอกดูเป็นเหมือนหุ่นหรือเป็นเพียงหมากกลที่ตัวละครอื่นกำหนดให้กระทำการ เขาแทบไม่มีความขัดแย้งทางอารมณ์ใดๆ เลย

นอกจากนี้ผู้เขียนมักแทรกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของบุคคลหรือสถานที่ ที่บางครั้งขาดความแยบยลในการดึงเข้ามาในตัวเรื่อง รวมทั้งภาษาที่แห้งแล้งแบบสารคดี ทำให้ไม่กลมกลืนกับเรื่องที่เล่า

นั่นนำมาสู่ประเด็นที่สามของการวิจารณ์นวนิยายเรื่องนี้ ซึ่งก็คือ กลวิธีในการเล่าเรื่อง ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า เรื่องนี้เล่าผ่านตัวละครเอก “ผม” ซึ่งเป็นวิธีการที่ดูเหมือนผู้เขียนจะนิยมหรือถนัดมากกว่ากลวิธีอื่น ปรากฏทั้งในนวนิยายเรื่องนี้และรวมเรื่องสั้นอาคเนย์คะนึง (และเล่มอื่นๆ) การใช้ผู้เล่าเรื่องแบบนี้จะน่าสนใจหรือซับซ้อนขึ้นหากสร้างความย้อนแย้ง/แฝงนัย (irony)หรือสร้างความขัดแย้งภายในจิตใจตัวละคร ซึ่งทั้งหมดไม่ปรากฏในเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังเป็นข้อจำกัดในการสร้างกลวิธีที่หลากหลายในการเล่าเรื่อง

กล่าวในด้านแนวคิดของเรื่อง สิ่งที่ผู้เขียนต้องการเสนอในเรื่องคืออนุภาคของความรักที่ “เป็นกลาง บริสุทธิ์ มีอำนาจทะลุทะลวงสูง” ซึ่งผู้เขียนได้แรงบันดาลใจมาจากสารคดีวิทยาศาสตร์เรื่องอนุภาคนิวตริโน (คำนำผู้เขียน หน้า 7)

ข้อน่าสนใจคือการเสนอแนวคิดเรื่องความรัก การที่ผู้เขียนใช้คำว่า “ทะลุทะลวง” นั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นคำที่แสดงพลังอำนาจจนอาจถึงขั้นทำลายล้าง

ทำลายล้างผู้หญิง

สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องคือชะตากรรมที่น่าเศร้าของนักแสดงและนักว่ายน้ำหญิงที่ตกเป็นเหยื่อกามารมณ์ของผู้มีอำนาจ ผู้หญิงเหล่านี้ไม่มี “เสียง” ในเรื่อง ชีวิตที่ล้มเหลวของผู้หญิงเหล่านี้เป็นเพียงข่าวที่ตัวเอกอ่านพบ และจัสมิน หลิง ผู้เผชิญชะตากรรรมดังกล่าวก็ไม่ได้มีพื้นที่ในการแสดงตัวตนในนวนิยายมากนัก เพราะผู้เขียนดูจะจงใจให้เธอไม่แสดง “ตัวตน”

คนที่ “มีเสียง” ในเรื่องกลับเป็นตัวละครชาย “ผม” เป็นผู้เล่าเรื่องที่เลือกจะเล่าความหลงใหลของตัวเขาและบรรดาตัวละครชายที่มีต่อจัสมิน หลิง นั่นคือ ฟุก จื่อหลง และหลี่ไป๋ และหากสังเกตต่อไป เราจะพบว่าตัวละครแต่ละตัวมีบทบาทเฉพาะเมื่อสัมพันธ์กับจัสมิน หลิง

 ฟุก จื่อหลงแสดงบทบาทในการจ้องมอง เขาทำงานร่วมกับจัสมิน หลิงในกองถ่ายภาพยนตร์และหลงรักเธอ สถานะเช่นเขาไม่มีโอกาสได้บอกรัก เขาจึงทำได้แต่การเฝ้ามองเธออยู่ห่างๆ รวมทั้งการแอบมองร่างเปลือยของเธอขณะเปลี่ยนเสื้อ จนนำไปสู่การถูกหลี่ไป๋ควักดวงตา

ตัวเอกของเรื่องมีบทบาทของการรุกล้ำ ในคืนที่พบกันครั้งแรก เขาร่วมรักกับจัสมินสามครั้ง (กฎซ้ำสาม?) ที่น่าสนใจคือผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ตอนนี้มากนัก แต่กลับไปพรรณนาฉากรักสามครั้งกับไอรีน จาง ผู้เป็นหลานของจัสมินอย่างละเอียด อาจกล่าวได้ว่าไอรีนเป็นตัวแทนของจัสมิน ผู้ที่เขาหลงใหลและมีชีวิตร่วมเพียงระยะสั้น เขาจึงเป็นผู้รุกล้ำและครอบครองทั้งยายและหลาน

หลี่ไป๋ผู้ที่มีอิทธิพลเป็นตัวแทนของการทำลายล้าง เขาผู้ไม่สมหวังในความรักที่มีต่อจัสมิน ยินดีแม้เพียงครอบครองเถ้าถ่านของเธอ เขาเป็นผู้ที่ขโมยศพของจัสมินมาเผา พรากเธอจากครอบครัว รวมทั้งทำลายความทรงจำเกี่ยวกับเธอโดยการเผาฟิล์มภาพยนตร์ของเธอความรักในแบบของหลี่ไป๋คือการครอบครองและทำลาย

ดังนั้น อำนาจทะลุทะลวงของความรักในเรื่องนี้ จึงเป็นความรักในแบบของผู้ชายที่มีสิทธิ์เสียงในการแสดงออกถึงความรักในแบบของตน:จ้องมอง รุกล้ำ ทำลาย

ในขณะที่ทั้งเรื่อง...ผู้หญิงไม่มีเสียง

นี่คือสิ่งที่ได้จากการ “เขียนแบบผู้ชาย” แต่ “อ่านแบบผู้หญิง.”

 

 

อนุสรณ์ ติปยานนท์. เพลงรักนิวตริโน. กรุงเทพฯ: แซลมอน, 2559. 192 หน้า.

 

 

 


 

 

 

 

 

 


โยงใยชะตากรรมในพุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ


 

                   วีรพร นิติประภา ผู้เขียนมือรางวัลซีไรต์ พ.ศ.๒๕๕๘ จากนวนิยายเรื่อง ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ไม่รั้งรอที่จะออกหนังสือเล่มใหม่ใน พ.ศ. ๒๕๕๙ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ นวนิยายชื่อยาวน่าฉงนเล่มนี้พาผู้อ่านไปสู่ชีวิตของ “ตง” และครอบครัว อันเป็นเรื่องราวของชาวจีนโพ้นทะเลที่มาตั้งรกรากอยู่ที่แปดริ้ว โดยชี้ให้เห็นว่าชะตากรรมของพวกเขาเชื่อมโยงกับโลกทั้งใบอย่างไร

วีรพร นิติประภาเล่าเรื่องราวของตง ชาวจีนที่ถูกส่งตัวมาช่วยกิจการค้าข้าวของลุงที่พระนครในราวสมัยรัชกาลที่หก/รัชกาลที่เจ็ด จนได้เป็นเจ้าของกิจการ สร้างครอบครัวกับ “เสงี่ยม” สาวลูกครึ่งจีนและมอญที่แปดริ้ว ช่วงแรกของการแต่งงานไม่มีลูกจึงไปขอเด็กชายมาเลี้ยงคือ “จงสว่าง” ตามมาด้วยลูกอิจฉา เป็นผู้หญิงสามคนคือ จรุงสิน เจริดศรี จรัสแสง และมีจิตรไสวเป็นลูกชายแท้ ๆ เพียงคนเดียว

 

                 เรื่องชี้ให้เห็นว่าชะตากรรมของครอบครัวผูกพันอยู่กับการผันแปรของสถานการณ์ทางการเมืองระดับประเทศและระดับโลก จากกิจการข้าวที่ลงหลักปักฐานที่พระนคร การหนีความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่สองและความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองด้วยการลอยเรือค้าขาย จนตัดสินในซื้อบ้านและทำกิจการที่แปดริ้ว  นวนิยายเรื่องนี้เสนอวิถีของชาวจีนโพ้นทะเล ที่มาทำมาหากินในถิ่นอื่นเพียงเพื่อรอโอกาสกลับไปสู่เมืองจีนที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอน  ตงให้จงสว่างลูกเลี้ยงเป็นคนช่วยกิจการทางบ้าน ส่วนจิตรไสวลูกแท้ที่ถูกส่งไปเรียนเรื่องค้าขายที่เมืองจีนแต่กลับไปเรียนทหารเรือ เรียนจบเขาไปประจำการที่เกาะฟอร์โมซา แต่ในที่สุดก็ถูกทางบ้านเรียกกลับมาเมืองไทย ตงประนีประนอมกับลูกชายโดยให้ไปสมัครเป็นทหารเรือในไทย ชะตาพลิกผันให้ไปพัวพันกับการกบฏของทหารเรือ จนหนีหายสาบสูญ   เมื่อเรื่องสงบเขาก็กลับมาช่วยกิจการของบ้าน ส่วนลูกสาวถูกจัดการให้แต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา จรุงสินตามสามีไปเป็นครูที่ราชบุรี เจริดศรีเป็นช่างตัดเสื้อ ต่อมามีชีวิตคู่ที่ผิดพลาดถึงสองครั้ง ส่วนจรัสแสงก็ล้มเหลวกับความรักกับคนต่างชาติต่างศาสนาที่ครอบครัวทั้งสองฝ่ายยอมรับไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ตงยังฝันที่จะกลับไปสร้างครอบครัวที่เมืองจีน เขากลับไปมีเมียคนจีนอีกคนเพื่อให้ดูแลกิจการที่อุตส่าห์ลงทุนกรุยทางไว้ แต่ในที่สุด การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในจีนทำให้ความฝันที่จะกลับไปตายที่บ้านเกิดไม่มีทางเป็นไปได้ ทั้งยังไม่มีโอกาสพบหน้าลูกชายที่เกิดแต่เมียชาวจีนคนนี้

                   ในจำนวนหน้า ๔๒๑ หน้าของนวนิยายเล่มนี้ ผู้เขียนนำเสนอชะตากรรมของตัวละครแต่ละตัวได้อย่างสะเทือนอารมณ์ ตัวละครชายแต่ละตัวเผชิญกับการเป็น “คนนอก” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ตงผู้เป็นต้นตระกูลในดินแดนสยามเผชิญกับ “การต้องตระหนักว่าเหลือแต่เขาเพียงผู้เดียวในโลกกว้างที่จะสืบสานวงศ์ตระกูลไม่ให้สาบสูญ” (๙๒) แม้เมื่อได้ทำกินในแผ่นดินสยามมาหลายปีก็ไม่วายรู้สึกว่าสยามไม่ใช่บ้านเกิดและเรือนตายของเขา

                   “ขณะยืนมองเรือเคลื่อนพรากเขาไปในดินแดนไม่เคยรู้จักจากริมฝั่งแม่น้ำ...ที่เขาสำเหนียกเป็นครั้งแรกว่าเขาชิงชังการเป็นคนแปลกหน้าบนแผ่นดินที่ไม่ใช่ของตนนี้เพียงไร” (๙๖) ตงรูสึกผิดที่ทิ้งแม่ให้อยู่กับพ่อขี้เมาที่ทำร้ายแม่ของเขา เขาจึงทำทุกอย่างเพื่อที่จะกลับไปเมืองจีน เช่นการกลับไปมีเมียและลูกที่เมืองจีนทั้งที่ตนมีครอบครัวที่สยามแล้ว และแม้เมื่อแต่งลูกสาวออกเรือนไป ก็ยังมีข้อแม้กับลูกเขยว่า “หากวันใดครอบครัวอพยพไปอยู่เมืองจีน...เขาต้องพาจรุงสินและลูก ๆ ไปอยู่ด้วย” (๑๐๔)  

                   จงสว่าง ลูกคนโตของตระกูลที่ไม่ใช่ลูกแท้ ก็สำเหนียกถึงความเป็นคนนอกในบ้านของตนเอง เป็น “ลูกที่เขาขอมาเลี้ยง” อันกลายเป็นรูกลวงโบ๋ในชีวิตของเขา ลูกของหญิงเผาถ่านที่ไม่มีชื่อ มีตัวตนเป็นที่รักของตงและเสงี่ยมจนกระทั่งทั้งสองมีลูกของตัวเอง อาจกล่าวได้ว่าโดยแท้จริงแล้วจงสว่างเป็นเพียงลูกจ้างที่ดูแลผลประโยชน์ให้ รอวันที่ทายาทที่แท้จริง คือจิตรไสวพร้อมที่จะมาสืบทอด   ตงตระหนักว่า “อาหวังลูกหญิงเผาถ่านไม่มีหัวนอนปลายเท้าคนนั้นเข้มแข็งกว่าลูกในไส้ของเขาเองเป็นไหน ๆ และหากไม่จัดการให้เรียบร้อย ลูกแท้ ๆ ก็อาจไม่มีโอกาสครอบครองอาณาจักรที่เขาทุ่มชีวิตสร้าง” จิตรไสวจึงเข้ามามีบทบาทในกิจการแทนจงสว่างที่อดทนทำงานจนถึงจุดที่ทั้งพ่อแม่และน้องชายพรากคนรัก “ยี่สุ่น” ไปจากเขา จงสว่างจึงเดินออกจาก “บ้าน” แห่งเดียวของเขา และไม่อาจหาบ้านที่เป็นของเขาอย่างแท้จริงได้จนวาระสุดท้ายของชีวิต   ส่วนจิตรไสวเป็นตัวละครที่มีชีวิตที่โลดโผนที่สุดในเรื่อง การเป็นลูกคนจีนที่พ่อฝังใจกับความเป็นจีน การศึกษาในเมืองจีน การทำงานเป็นทหารเรือในจีน การจากบ้านไปประจำการในกองทัพเรือไทย ทำให้เขาเหมือนเป็นคนนอก “ในความสับสนของการไม่อาจตระหนักแน่ชัดลงไปได้ว่าตนเป็นคนชาติใด...ไทยหรือจีน ในการร่อนเร่พเนจรหมอนหมิ่น ในการต้องสูญเสียอดีต” (๒๒๗)

                  จิตรไสวยังเป็นตัวละครที่เป็นเสมือนหมากในกระดานที่ถูกกำหนดให้เดิน ไม่ว่าจะเป็นการเป็นทหารเรือและถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ การถูกพ่อบังคับให้มารับกิจการของครอบครัว การถูก “อดิสรา” ผู้หญิงที่เขารักหลอกใช้ทั้งทางการเมืองและการเงิน จนทำให้กิจการของครอบครัวล่มสลาย เรื่องแสดงชะตากรรมที่ย้อนแย้ง ที่จิตรไสว คนที่เป็นความหวังของครอบครัว กลับกลายเป็นคนที่ทำลายความมั่งคั่งและศักดิ์ศรีของครอบครัวจนพินาศ และนำไปสู่จุดจบของทั้งตงและจิตรไสวที่ไม่อาจเผชิญกับความอับอายนี้ได้

                   อาจกล่าวได้ว่า นวนิยายเรื่องนี้ได้นำเสนอเบื้องลึกของอารมณ์ของชาวจีนโพ้นทะเลรุ่นพ่อและรุ่นลูกได้อย่างสะเทือนอารมณ์ ความรู้สึกของการเป็นคนนอกที่แม้มีบ้าน แต่ก็ไม่ใช่ “บ้าน” กัดกินตัวละครจนพวกเขาอยู่ในสภาพไร้ตัวตนที่แท้

                   ด้านตัวละครหญิง ผู้เขียนชี้ให้เห็นชะตากรรมของผู้หญิง เสงี่ยมเป็นลูกกำพร้าที่ญาติไม่ต้องการ จนถูกฝากให้รับใช้ในวังและแต่งงานกับตง เป็นช้างเท้าหลังที่มีพื้นที่อยู่ในครัวและทนยอมให้ตงไปมีเมียใหม่ที่เมืองจีน ส่วนรุ่นลูกที่แม้จะอยู่ในยุคสมัยใหม่ก็ต้องเผชิญกับความเครียดและความขัดแย้ง จรุงสินเผชิญกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่ขาดการตระหนักรู้และความเข้าใจจากครอบครัว ทำให้กลายเป็นคนวิปริตไป เจริดศรีผู้มีความสามารถด้านการตัดเย็บ ต้องทิ้งความฝันและอนาคตของตนเองไปเมื่อแต่งงาน

                    ชีวิตของเจริดศรีแสดงว่าผู้หญิงไม่อาจอยู่ด้วยตนเองได้ หากการแต่งงานล้มเหลวก็ต้องกลับไปอยู่กับครอบครัว เจริดศรีแต่งงานครั้งที่สองเพราะต้องการออกจากบ้านที่มีแม่คอยบ่นว่า แต่ก็กลับหนีเสือปะจระเข้ เพราะสามีคนที่สองแต่งงานกับเธอเพียงเพราะเธอเป็นคนจีนและสามารถดูแลแม่ปากร้ายของเขาได้ ส่วนจรัสแสงที่ดูเหมือนโชคดีที่สุดที่มีโอกาสเลือกชีวิตของตนเองนั้น ก็กลับเลือกผิดถึงขั้นที่นำไปสู่จุดจบที่สยดสยองของคนที่เหลือในวงศ์ตระกูล ตัวละครหญิงอื่น ๆ ก็มีชะตากรรมไม่ต่างกัน ยี่สุ่นไม่อาจสมหวังในความรักกับจงสว่างและถูกบังคับให้แต่งงานกับจิตรไสวโดยที่เธอไม่อาจขัดขืน แต่เธอกลับเป็นตัวละครที่กล้า “เอาคืน” ด้วยแผนการที่แยบยล

                   วีรพร นิติประภาใช้ศิลปะในการเล่าเรื่องอย่างซับซ้อน ตรึงผู้อ่านให้หลงอยู่ในวังวนของเรื่องเล่าที่ชะตากรรมของผู้คนโยงใยกันอย่างน่าอัศจรรย์ ผู้เขียนไม่เพียงเล่าเรื่องของตัวละครหลักของครอบครัวตง แต่ผูกเรื่องราวของผู้คนที่เกี่ยวพันไม่ทางใดก็ทางหนึ่งกับครอบครัวนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นตาเนียรคนข้างบ้านกับลูกสาว ยายสำรวยกับวรศักดิ์ที่พิการที่จงสว่างพบข้างถนน บ๊วยใบ้ที่ขอมาอยู่กับยายเสงี่ยมและสอนแกทำกับข้าวรสเลิศ หมอโตชิโระและซากุระซังที่จรัสแสงรู้จัก ซินแสคุงพ่อของยี่สุ่นที่หัวใจสลายจากการ “ฆ่า” ของจงสว่าง ฮงลูกที่ตงไม่เคยเห็น ฯลฯ

                   เรื่องเล่าของคนเล็ก ๆ ที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกับโครงเรื่องหลักนี้กลับกลายเป็นเสน่ห์ให้ชวนติดตาม ทั้งยังให้คนอ่านได้ตระหนักว่า ชีวิตเล็ก ๆ ของคน ๆ หนึ่งนั้น โยงใยกับผู้คนอีกมากมาย และ ชะตากรรมของมนุษย์ที่แท้เกี่ยวพันร้อยกันไปไม่มีที่สุด

นอกจากนี้ เสน่ห์ของเรื่องยังอยู่ที่การเชื่อมโยงเรื่องราวของครอบครัวตงกับบริบทสังคมของไทยและของโลกตลอดเรื่อง ซึ่งทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าชะตากรรมของมนุษย์ที่ดูเหมือนว่ามีเจตจำนงของตนเองนั้น ที่แท้แขวนอยู่บนเส้นด้ายที่ถูกกระแสลมพัดพาไป และชีวิตของคนต้องเปลี่ยนไปหรือสิ้นสุดลงเพราะญี่ปุ่นบุกเมืองไทย เหมาเจ๋อตุงชนะสงคราม การกบฏของทหารเรือ การล้อมฆ่านักศึกษาในเหตุการณ์หกตุลาคม ๒๕๑๙ ฯลฯ ผ่านเทคนิคของการเล่าผ่านมุมมองของตัวละครที่หลากหลาย การเล่าที่ตัดสลับไปมานั้นทำให้เรื่องเล่ากลายเป็นชิ้นส่วนกระจัดกระจายล่องลอยไปในเวลาและพื้นที่อันไม่สิ้นสุด แม้เมื่ออ่านไปจนจบหน้าสุดท้าย  ผู้อ่านยังคงครุ่นคิดถึงชะตากรรมที่น่าเศร้าของตัวละคร

                   นวนิยายที่ทำให้ผู้อ่านเกิดอาการที่วางไม่ลงนี้หาไม่ง่ายนัก นอกจากเรื่องราวที่สะเทือนอารมณ์แล้ว วีรพร นิติประภายังคงตรึงผู้อ่านได้ด้วยภาษาที่สวยงาม “ในตอนกำลังผุพังนั้นเองที่บัวจะแอบแตกร่างอย่างลับ ๆ เป็นก้านสีชมพูน่ารักเลื้อยเลาะไปในดินที่ซ่อนมิดชิดใต้ผิวน้ำ ที่บัดนี้เปิดเปลือยจากร่มเงาและสะท้อนแดดวาวราวกับแผ่นกระจก ไม่กี่อาทิตย์ต่อมาต้นใหม่ก็จะงอกพ้นน้ำขึ้นมาให้เห็น เป็นปลีใบนิ่มนวล ม้วนเป็นหลอด ค่อย ๆ คลี่กางออกเป็นใบกลม ๆ สีเขียวอ่อนอมส้มจนเต็มผืนนา” (๒๑๔)

                “แต่ตอนนั้นเองที่สายลมระริกระรี้ของฤดูร้อนจากคลองข้างหลังพัดเข้ามาพาระอุอ้าวของวันออกไปทางหน้าร้านและแสงวูบไหวของดวงไฟแกว่งไกวทำให้เขารู้สึกราวกับห้องทั้งห้องกำลังหมุนคว้าง ปลิดปลิว นิ่มนวล ตอนนั้นที่เขาเห็นผมเธอสะบัดเงาระรัวลงบนพื้นไม้ไม่ไกลจากปลายเท้า กับได้กลิ่นที่ตกไกล ๆ โชยมาในกลิ่นหอมประหลาด อ่อนหวานระคนเปรี้ยวคล้ายกลิ่นดอกไม้ป่าที่เคยได้กลิ่นมาก่อนแต่กลับนึกไม่ออกว่าที่ไหน เมื่อไหร่กัน”(๖๙)

                 ภาษาเช่นนี้ทำให้เห็น “งานเขียนแบบผู้หญิง” ที่ละเมียดละไม เก็บรายละเอียดได้กระจ่าง รวมทั้งพาผู้อ่านไปสู่โลกมหัศจรรย์ของภาษาและจินตนาการในแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ “ดวงจันทร์ทะมึนดำลอยบดบังคุ้งน้ำสนธยาซึ่งแตกกระจายหายวับทันที่ที่จิตรไสวขว้างคบไฟใส่ ก่อนฝุ่นยุงนับล้าน ๆ จะบินกลับประกอบร่างเป็นลูกกลม ค่อย ๆ เคลื่อนเลื่อนเข้าหุ้มเรือทั้งลำจนมืดดำกระทั่งจุดตะเกียงก็มองไม่เห็นอะไร” (๑๔๘)

                ความซับซ้อนอีกประการของการเล่าเรื่อง (ที่ชวนให้ผู้อ่านปวดหัว) คือนอกเหนือจากการรับรู้เรื่องราวผ่านตัวละครแต่ละตัวแล้ว ยังมีการเล่าเรื่องผ่านเสียงของ “ยายศรี” หญิงชราร่างเล็ก ผมขาวโพลน ที่เล่าเรื่องครอบครัวของตาทวดตงกับยายทวดเสงี่ยมให้ “ดาว” ที่อายุราวสี่ห้าขวบฟัง

อย่างไรก็ตาม ในตอนท้าย เรื่องกลับพลิกผันให้ผู้อ่านรับรู้ (ความไม่มี) ตัวตนของเสียงเหล่านี้ โดยทั้งหมดเฉลยถึงชื่อเรื่องที่น่าฉงนฉงายของนวนิยาย และนั่นหมายถึงการต้องย้อนกลับไปอ่านเรื่องอีกครั้งหนึ่ง

                 ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตเคยทำให้ผู้อ่านเคลิบเคลิ้มด้วยภาษาที่งดงามและกลวิธีการเล่าเรื่องที่พาผู้อ่านเลื่อนไหลและจมดิ่งลงไปในจิตเสน่หา แต่ในนวนิยายเรื่องนี้ วีรพร นิติประภากระตุ้นหลากอารมณ์จากการอ่าน กระหายใคร่รู้ หดหู่ ตื่นตา สับสน ที่ทำให้พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำเป็นหนึ่งในนวนิยายที่จะตราตรึงอยู่ในใจนักอ่าน.

 


พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ : วีรพร นิติประภา

สนพ.มติชน



 


 

 


Visitors: 72,092