ดวงมน

ดวงมน

ดวงมน



เกียวโตซ่อนกลิ่น

 

 

1. กลิ่นอายสัญชาตญาณอันซ่อนเร้น

             เรื่องสั้นขนาดยาวล่าสุดของอุทิศ เหมะมูลนำผู้รับไปสู่การต่อสู้ของการรับรู้ต่ออำนาจและเสรีภาพที่จะรู้สึกในประสบการณ์ของการค้นหาและค้นพบท่ามกลางประสบการณ์ของวารีตัวเอก คละเคล้าด้วยความกลัวการถูกจับได้ว่ากระทำผิด ผิดไปจากอะไร-ความคาดหวังของพ่อ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับบรรทัดฐานของสังคมเก่าแก่ในระบอบปิตาธิปไตยที่เด็กจะต้องเชื่อฟังและถูกกำกับควบคุมจนกระทั่งสอดส่อง

              วารีถูกพ่อตำหนิเมื่อพบว่าเขากระทำออกนอกทางที่พ่อหวังตั้งแต่การเล่นของเล่นที่พ่อเห็นว่าเป็นการทำลาย ไปจนถึงความเปลี่ยนใจไม่เป็นนักบินแต่อยากจะเป็นมนุษย์ต่างดาวขับจานบินมาช่วยชาวโลก มีความเชื่อมโยงความปรารถนาของวารินที่จะทำตามความรู้สึกกับการค้นพบในประสบการณ์ทางเพศ อันอาจกล่าวได้ว่า ผูกพันกับสัญชาตญาณของชีวิต

              ถ้าความปรารถนาของวารีเป็นความผิดไปจากบรรทัดฐานเก่าแก่ ที่คอยจับจ้องจับผิดอยู่แม้ในยามหลับ นั่นเป็นเพราะเขาไม่สามารถปฏิเสธการกำหนดของอำนาจนั้น อำนาจอันมีหลายระดับไปจนถึงชีวิตและความคิดเห็นทางการเมือง ถึงแม้พ่อตายในน้ำวนหลังจากบังเอิญพบภาพที่ทำให้ผิดหวังอีกเมื่อเขาอายุ13ปี ("พ่อถูกทำให้สิ้นโดยรูปทรงแห่งความปรารถนาของเขา..." น.34)

              รูปทรงความปรารถนาที่เป็นรูปจานบินคือความผิดแปลกจากบรรทัดฐานของอำนาจเก่าในสังคม  ปัญหาที่วารีเผชิญเมื่อเรียนมหาวิทยาลัยมาจากการตีพิมพ์วิทยานิพนธ์เรื่อง "รูปแบบหลายนัยของความเป็นพ่อ" พร้อมๆกับที่ได้ร่วมลงชื่อขอแก้ไข "กฎหมายศักดิ์สิทธิ์" นั่นยิ่งบ่งชี้ความเป็นมนุษย์ต่างดาวของเขา

 

              วารีแช่ในน้ำวน "รูปทรงแห่งแรงปรารถนาของเขา" เมื่อเขาสูญเสียโทโมะชายคนรัก โทโมะผู้ที่เขารู้สึกว่ามีพื้นที่รอบตัวเป็นความพอใจในชีวิตตนเอง คล้ายมีกำแพงแก้ว  เมื่อจับมือเขานั้น โทโมะได้ "รินเติมสิ่งหนึ่งซึ่งอุ่นและไหลอาบเข้ามาในใจเขา"

              สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือที่เกียวโตวารี "รู้สึกเป็นอิสระที่จะรู้สึก ปลอดพ้นจากการถูกสอดส่องและจ้องมองเข้าไปในจิตใจของเขา" ก่อนที่ความปลอดภัยจะ "ถูกแทรกซึมเข้ามาด้วยดวงตาอันเก่าแก่ที่ทั้งกล่าวโทษและทำให้เกิดบาดแผลในจิตใต้สำนึกของเขา" (น.82)

             ฉากสุดท้ายในวังน้ำวนวารีเห็นพ่อเป็นกำแพง เขากลายเป็นพ่อซึ่งเต็มไปด้วยความรักความชัง - สร้างสรรค์และทำลาย

             วารียุติความกลัวเมื่อรับสถานะ "ลูก" เขาเพียงแต่รับไว้เพราะไม่มีสิ่งใดมากไปกว่าความสูญเสีย และไม่มีสิ่งใดจะสูญเสียอีกต่อไป

บางทีเราอาจคิดว่าการค้นพบทางประสบการณ์ของผู้ผิดแปลกจากอำนาจเก่าแก่ที่บีบรัดและได้รับผลกระทบถึงจิตใต้สำนึก ได้สร้างความสะทกสะเทือนแก่เราด้วยเหมือนกัน

 

2. เกียวโตซ่อนกลิ่น : ปุจฉาทางจริยธรรม/สังคม

 

              หนังสือเล่มนี้มีสามภาษา ตัวบทภาษาไทยซึ่งเป็นหลักได้มาจากการที่ผู้แต่งได้สังสรรค์กับนักเขียนญี่ปุ่นอีกหกคนที่เกียวโต งานนี้จึงเป็น "เกมแห่งการแลกเปลี่ยน ทำซ้ำและปั้นแต่งความทรงจำ" ของคนทั้งเจ็ด (คำนิยมของอภิชาติพงศ์ วีรเศรษฐกุล)

              ได้อ่านภาคภาษาอังกฤษบ้างบางจุด (ญี่ปุ่นหมดปัญญา) มีบางส่วนในภาษาอังกฤษชัดขึ้น เช่น "son" ในย่อหน้าสุดท้ายที่เพิ่มเครื่องหมายอัญประกาศ ซึ่งตีความได้ว่าหมายถึงสถานะ แต่ที่ภาษาอังกฤษแปลไม่ได้ก็มี เช่นสรรพนามที่วารีแทนตัวเองในวัยเด็กเมื่อพูดกับพ่อว่า - หนู แสดงความเป็นเด็กต่างจากผมที่ใช้เมื่อโตขึ้น

              จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ซ่อนกลิ่น ที่ใช้ในชื่อเป็นคำพ้องกับชื่อดอกไม้ไทยซึ่งเดิมเรียกกันว่า "ซ่อนชู้" ดอกไม้นี้กลิ่นหอมจัดเกือบฉุน หาได้ซ่อนกลิ่นแต่อย่างใด เมื่อโยงกับชื่อเดิมความรักความใคร่คงซ่อนได้ลำบาก เมื่อจำต้องซ่อน คงเป็นกรณีที่ยังเปิดเผยไม่ได้ นั่นคืออาจจะเสี่ยงต่อการถูกลงโทษ (ด้วยวาจา สายตา หรือแม้แต่ทางกาย)น่าชมที่ผู้ (ปั้น) แต่ง เชื่อมโยงประสบการณ์สองภาคส่วนเข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืน  ชีวิตส่วนตัวกับชีวิตทางสังคมการเมืองที่แยกกันไม่ออก เมื่อถึงตรงนี้ ขอใช้บทประพันธ์นี้เป็นตัวอย่างของการตั้งคำถามเชิงจริยธรรม/สังคม  

คนที่ชอบพูดเป็นแผ่นเสียงตกร่องว่าวรรณกรรมสะท้อนสังคม และเน้นเพียงไปหาดูว่ามีเหตุการณ์ใดอยู่ในเรื่องเท่านั้น(หาเอกสารอื่นบอกได้ละเอียดกว่า) เท่ากับเอาวรรณกรรมไปให้ค่าเท่ากับข้อเท็จจริงเท่านั้น   ในเรื่องนี้ถ้าความแตกต่างจากบรรทัดฐานเดิมเป็นปัญหา เราคงต้องถามว่าใครมีสิทธิกำหนดความถูกต้อง ความปรารถนาที่ต่างจากข้อกำหนดของผู้ปกครอง ไปจนถึงความสุขเมื่อมีความรักใคร่กับเพศเดียวกัน ในประสบการณ์ของตัวเอกวัดว่ามีคุณค่าต่อชีวิตด้วย sense แม้เป็น "hidden sense" อันหมายถึงผัสสะ หรือสัมผัสอันซ่อนเร้นหรือลับเร้น(จากความเข้าใจของผู้อื่น)

               ก่อนเขียนบทวิจารณ์ตอนนี้ต่อ ค้นหารากศัพท์คำว่าผัสสะในภาษาบาลีพบในพจนานุกรมบาลี-ไทยของนายแปลก สนธิรักษ์ว่า ธาตุ ผส = ถูกต้อง ถูกต้องทางรูปธรรมคือสัมผัส แต่อาจจะรับสัมผัสด้วยใจก็ได้ (เช่นที่วารีได้จับมือโทโมะแล้วรู้สึกว่ามีสิ่งที่มีความอุ่นไหลอาบเข้ามาในใจ)

กลิ่นในภาษาไทยเป็นส่วนหนึ่งของผัสสะเท่านั้น แต่จะถือว่าเป็นชื่อที่เรียกอย่างเป็นตัวแทนก็ได้

น่าสนใจว่าถูกต้องในภาษาไทยมีความหมายทางนามธรรมด้วยว่า "เหมาะสม,เหมาะควร" (ในภาษาถิ่น ถูก / ต้อง เป็นคำพ้องความหมาย) ถ้าความผิดแปลกในสายตาของคนที่เป็นอื่นเป็นความถูกต้องในผัสสะ (sense) ของใครสักคน เขาควรมีเสรีภาพเพียงไรที่จะกล่าวว่าผัสสะของตนบอกความถูกต้อง

             ด้วยเหตุนี้เราจึงพบผัสสะหลากหลายในตัวบท กำแพง มีกลิ่นความเก่าแก่ กลิ่นเถ้ากระดูก กำแพงและน้ำวนโอบล้อม รัด บีบ แน่วแน่ หนักแน่น รูปแกะสลักในวิหารมีพลังศรัทธาแผ่กำจายออกมาภายในอารามจนรู้สึกได้ไปจนถึงลานบนเขาที่มีพลังจักรวาลอันบรรพบุรุษนำยานจากนอกโลกมาจอดเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว หรือเกียวโตเมืองเก่าแก่ที่ "หลับอย่างมีแบบแผนธรรมเนียม" ของตน แต่มีบางสิ่งไหลลึกอยู่ภายใน

             ประเด็นที่ชวนใคร่ครวญก็คือ เมื่อปัจเจกบุคคลต้องปะทะกับสังคม เขาได้เรียนรู้ว่าความจริงอาจถูกบิดเบือนได้ เทพเจ้ายังถูกใส่ไคล้ (เทพเท็งกุ) การต่อสู้ทางการเมืองในประเทศของวารีในปี 2010ที่มีคนตายถึง 56 ศพในเดือนพฤษภาคม ก็มีการอ้างถึงสถาบันกันทั้งสองฝ่ายเพื่อบรรลุผลการต่อสู้

              ผู้วิจารณ์ไม่สนใจค้นหารอยต่อของประสบการณ์ของนักเขียนทั้งเจ็ด แต่มีความมั่นใจมากขึ้นว่าความถูกต้องชอบธรรมไม่อาจตัดสินโดยละเลยผัสสะของมนุษย์ มนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ มีความฝันใฝ่ มีผัสสะอันจำตัองซ่อนเร้น แต่มีตัวตนให้สัมผัส และร่วมรับรู้ได้

              ดังที่พอจะรู้กันอยู่บ้าง ไม่น่าจะมีวรรณกรรมสังคม (ถ้าคิดจะแบ่ง) ชิ้นใดมองข้ามตัวตนภายในของมนุษย์ได้ และความถูกต้องที่วัดด้วยผัสสะอาจมีค่าเกินกว่าที่เคยคิดกัน.

 

 

 

เกียวโตซ่อนกลิ่น : อุทิศ เหมะมูล

 

 

 


 

 

 


Visitors: 72,116