รื่นฤทัย สัจจพันธุ์

 

รื่นฤทัย  สัจจพันธุ์

  

 

 

 

สิงโตนอกคอก

จิดานันท์   เหลืองเพียรสมุท  นักเขียนซีไรต์ พ.ศ. ๒๕๖๐  ผู้มีอายุน้อยที่สุดในบรรดานักเขียนซีไรต์ของประเทศไทยและน่าจะอายุน้อยที่สุดในกลุ่มนักเขียนซีไรต์ทั้งหมดจากทุกประเทศ  แต่เธอไม่ใช่นักเขียนหน้าใหม่  เพราะเขียนวรรณกรรมส่งเข้าประกวดหลายเวทีมาตั้งแต่ยังเรียนอยู่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  อีกทั้งได้รับรางวัลใหญ่มาแล้วหลายรางวัลอย่างต่อเนื่อง   ได้แก่  รวมเรื่องสั้นดีเด่น Young Thai Artist Award พ.ศ. ๒๕๕๖   เรื่องสั้นรางวัลชมเชยเกียรตินิยมวรรณศิลป์ พ.ศ. ๒๕๕๖ เรื่องสั้นชนะเลิศรางวัลพระยาอนุมานราชธน พ.ศ. ๒๕๕๗    นวนิยายขนาดสั้นรองชนะเลิศอันดับสอง รางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์เซเว่นบุ๊คอวอร์ด พ.ศ. ๒๕๕๗    เรื่องสั้นยอดเยี่ยมรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด พ.ศ. ๒๕๕๘  และนวนิยายรางวัลดีเด่น Young Thai Artist Award พ.ศ. ๒๕๕๙  หลังจากสิงโตนอกคอกได้รับรางวัลซีไรต์แล้ว  คงมีรางวัลอื่นๆ รอเธออยู่ในโอกาสต่อไป

            หนังสือสิงโตนอกคอกซึ่งได้รับรางวัลสร้างสรรค์แห่งอาเซียน  ประจำปี ๒๕๖๐  มีเรื่องสั้นรวม ๙ เรื่อง  ทุกเรื่องเป็นงานเขียนแนวแฟนตาซีและอนาคตนิยม (futurism)   คือ ผู้เขียนสร้างสรรค์ฉาก ตัวละคร และบริบททางสังคมวัฒนธรรมให้เป็นดินแดนและผู้คนในจินตนาการหรือโลกอนาคตที่ยังมาไม่ถึง  แต่แฝงนัยของการวิพากษ์เรื่องใกล้ตัวในสังคมไทยและสังคมโลกไว้อย่างเข้มข้น  อีกทั้งตั้งคำถามเรื่องการเมือง สังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ  ระบบคุณค่า ฯลฯ  ที่ชวนให้ผู้อ่านครุ่นคิด  โดยผู้เขียนใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแบบหลังสมัยใหม่นิยมรูปแบบต่าง ๆ  เช่น แฟนตาซี  โลกอนาคต  เรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า นิยายไซ-ไฟ  เรื่องเหนือจริง  ส่วนประเด็นความคิดที่ผู้เขียนนำเสนอไว้ในเรื่องสั้นทั้ง ๙ เรื่อง  สรุปได้ดังนี้

ตอบโต้วาทกรรมคนดี

ในช่วง ๒-๓ ปีมานี้  เกิดวาทกรรมคนดีท่ามกลางสังคมไทยที่กำลังมีความแตกแยกอย่างรุนแรง  ประชาชนถูกแบ่งเป็น ๒ สี  ฝ่ายประชาชนที่ต้องการความสงบในสังคมสถาปนาตนเป็นฝ่ายคนดี    ส่วนประชาชนที่มุ่งล้มล้างรัฐบาลด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็เป็นภาพแทนของคนเลวทำลายสังคมและทำร้ายประเทศชาติ    สังคมจึงแบ่งฝ่ายเป็นสีขาวสีดำ   คนที่ไม่ยอมเข้าอยู่ฝ่ายใด ปักหลักอยู่ในโซนสีเทาก็ได้รับสมญาว่าเป็นพวก “สลิ่ม”  เพราะเป็นคนกลุ่มมีความคิดเห็นหลากหลายตามสถานการณ์ทางสังคม  อันที่จริงการยอมรับความคิดต่างเป็นจุดยืนสำคัญอย่างหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย  แต่กลับเป็นว่าผู้ที่คิดต่างกันต่างโจมตีใส่ร้ายกัน  ทำลายกันอย่างดุเดือด

จิดารัตน์วิพากษ์วาทกรรมคนดีไว้ในเรื่องสั้นหลายเรื่อง  เรื่อง “ในโลกที่ทุกคนอยากเป็นคนดี” กล่าวถึงประเด็นนี้โดยตรง   ในอาณาจักรจินตนาการของผู้แต่ง  กล่าวถึงมนุษย์เกิดมาพร้อมกับมีไพ่ประจำตัว   ไพ่ด้านหน้าของทุกคนจะเป็นสีขาว  แต่เมื่อใดที่ทำหรือคิดถึงสิ่งที่สังคมถือว่าผิด  ไพ่จะกลายเป็นสีดำ ทุกคนจะกลัวมากเพราะผู้ที่ถือไพ่สีขาวมีสิทธิ์สังหารผู้ถือไพ่สีดำได้โดยไม่ผิดกฎหมายเพราะถือว่าเป็นคนเลว   สิ่งที่ไพ่ตัดสินว่าเป็นการกระทำผิดนั้นมีการจดทะเบียนไว้และรัฐบาลจัดพิมพ์เป็นเล่มแจกจ่ายประชาชนทุกคน  แต่หลังจากเหตุการณ์ที่ตัวละคร “ผม” สังหารผู้ถือไพ่สีดำ ทั้งลงมือเองและเป็นผู้สังเกตการณ์  ตัวละคร “ผม”  เกิดมีคำถามในใจ  เพราะบางครั้งไพ่เปลี่ยนเป็นสีดำโดยไม่ทราบสาเหตุ  แต่กลับเป็นต้นเหตุให้ผู้เคราะห์ร้ายนั้นถูกรุมสังหารทั้ง ๆ ตลอดชีวิตเขาเหล่านั้นประพฤติตนเป็นคนดีและดำเนินชีวิตตามกฎของรัฐอย่างเคร่งครัด   ตัวละคร “ผม”  เริ่มค้นข้อมูลเกี่ยวกับไพ่  และพบว่าไพ่เป็นสิ่งแสดง “มาตรฐานคุณธรรมที่เป็นสากล”  ซึ่งก็เป็นข้อสงสัยต่อไปอีกว่า  “มาตรฐานคุณธรรมสากล” ได้ทำลาย “มาตรฐานคุณธรรมส่วนบุคคล”  จนมนุษย์กลายเป็นพลเมืองเชื่อง ๆ ของรัฐใช่หรือไม่    ใครเป็นผู้ผลิตไพ่ซึ่งกลายเป็นดัชนีชี้วัดความดีความเลวของคน  ดัชนีชี้วัดดังกล่าวมีความเที่ยงธรรมจริงหรือ   กลไกการทำงานของไพ่มีความผิดพลาดได้หรือไม่  และที่สำคัญหากการฆ่าเป็นสิ่งไม่ดี  คนดีที่มีสิทธิ์ฆ่าคนเลวจะไม่กลายเป็นคนเลวไปด้วยหรือ  คำถามที่ผู้เขียนเสนอในเรื่องสั้นเรื่องนี้  เป็นคำถามที่ทำให้ผู้อ่านหวนมาตั้งข้อสงสัยกับการแบ่งข้างแบ่งสีทางการเมืองในสังคมไทย รวมทั้งการที่สังคมมักตัดสินประเมินผู้อื่นว่าดีหรือเลว  โดยส่วนใหญ่แล้วขาดการพิจารณาให้รอบด้าน   คำตอบต่อคำถามเหล่านี้ไม่มีในตัวเรื่อง  แต่อาจจะค้างอยู่ในใจของผู้อ่านว่าข้อสงสัยเหล่านี้ควรนำไปสู่การแก้ไขให้ถูกต้องด้วยพลังปัญญาของมนุษย์ที่ไม่ยอมถูกควบคุมใช่หรือไม่  เพราะเมืองในอนาคตในเรื่องสั้นเรื่องนี้ให้ภาพของรัฐเผด็จการที่ปิดกั้นการเป็นผู้สงสัยและตรวจสอบของประชาชนด้วยการสร้างวาทกรรมคนดีขึ้นมา  

เรื่อง “กุหลาบย้อมสี”  เป็นเรื่องทำนองเดียวกัน  เปลี่ยนจากไพ่มาเป็นกุหลาบ  เรื่องสั้นนี้แบ่งตัวละครเป็น ๒ กลุ่ม คือกลุ่มหนึ่งเป็นพวกเคร่งศาสนา เป็นคนดีมีศีลธรรม นับถือเทพเจ้าและมีผู้นำทางจิตวิญญาณ คือ ท่านวัล ซึ่งได้รับเลือกจากสวรรค์ให้เป็นผู้เชื่อมโยงระหว่างเทพกับมนุษย์  คนกลุ่มนี้มีดอกกุหลาบประจำตัวเป็นสีขาว  อีกกลุ่มหนึ่งเป็นพวกนอกรีตซึ่งรักอิสระ รักสันติ  ไม่นับถือศาสนา  พวกนอกรีตที่อยู่ในป่ามาแต่เดิมจะมีดอกกุหลาบประจำตัวเป็นสีฟ้า  ส่วนพวกที่หนีจากในเมืองมาเข้ากลุ่มนอกรีตจะย้อมกุหลาบขาวของตนให้เป็นสีฟ้าเช่นกัน  คนกลุ่มเคร่งศาสนาถือว่าคนนอกรีตเป็นศัตรูจึงไล่ล่าประหารชีวิต   เรื่องสั้นให้ตัวละคร “เซท” พบรักกับสาวนอกรีตและหนีไปอยู่กับเธอในป่า  ก่อนหน้านี้เซทมีข้อสงสัยอยู่แล้วในหลักคำสอนที่ไม่ยอมให้ยารักษาผู้ป่วย  แต่ให้เทพเทวดาเป็นผู้ตัดสินชีวิตของมนุษย์ว่าจะรอดหรือตาย   ตัวละครเซทมีความเป็นมนุษย์สูง  เมื่อเป็นคนนอกรีตเขาจึงมีความทุกข์มากเพราะสำนึกว่าตนทำให้แม่เสียใจ  แต่เมื่อเขากลับไปเยี่ยมแม่ที่ป่วยหนัก  แม่กลับแจ้งทางการให้จับลูกชายและลูกสะใภ้ไปประหาร  ท้ายเรื่องผู้อ่านรับรู้ว่าดอกกุหลาบของท่านวัลก็กลายเป็นสีฟ้าหลายกลีบ และเขาพบปะกับผู้นำพวกนอกรีตอยู่เสมอเพื่อย้อมกลีบกุหลาบให้เป็นสีขาว  อันเป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่าการแบ่งแยกคนดี-คนเลวเป็นมายาคติที่ไม่ใช่ความจริง

เรื่องสั้นทั้งสองเรื่องนี้แสดงการแบ่งแยกคนดี-คนเลว  โดยอาศัยวาทกรรมคนดีและมายาคติของความเชื่อศาสนากับอำนาจเทพเจ้า  นอกจากนี้   ผู้เขียนยังแสดงให้เห็นการถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ด้วยอำนาจที่ครอบงำ ไม่ว่าจะเป็นรัฐเผด็จการหรืออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์  มนุษย์ส่วนใหญ่จึงกลายเป็นพลเมืองที่ไร้ปากเสียง  ไม่สงสัย  ไม่ต่อต้านตอบโต้  แต่ความหวังยังมีอยู่กับคนส่วนน้อยที่รักอิสระ กล้าขัดขืนอำนาจเผด็จการของรัฐที่ครอบงำบังคับการใช้ชีวิตของประชาชน

            เรื่อง “สิงโตนอกคอก”  เสนอประเด็นของการแตกแยกเป็น ๒ ฝ่าย เช่นกัน คือเป็นพวกตาดำกับพวกตาขาวซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์     พวกตาดำมีอภิสิทธิ์ในการไล่ล่าสังหารพวกตาขาวจนแทบไร้แผ่นดินอยู่    เรื่องสั้นนี้ใช้กลวิธีเล่าเรื่องซ้อนกัน ๓ เรื่อง  เรื่องแรกเป็นเรื่องคนตาขาวที่หนีการไล่ล่าล้างเผ่าพันธุ์มาพักที่อาคารร้าง  เรื่องที่สอง ตัวละครอ่านบันทึกของเด็กตาขาวที่ตอบโต้การถูกเด็กตาดำรังแก   เรื่องที่สามคือนิทานเรื่องสิงโตนอกคอกที่ครูเล่าให้เด็กฟัง   ตอนจบเสือฆ่าลูกแกะที่ตนต้องการเป็นเพื่อน  เพราะจำต้องเป็นนักล่าตามจารีตกฎเกณฑ์ของพวกเสือ  ครูตั้งคำถามให้เด็ก ๆ ทั้งตาดำและตาขาวได้ครุ่นคิดว่าการกระทำของเสือถูกต้องหรือไม่   จากนั้นครูเล่าตอนจบอีกแบบหนึ่งที่นักเขียนเขียนไว้ก่อนบรรณาธิการแก้ไขโดยพลการ  นั่นคือ  เสือเป็นเพื่อนกับแกะ  เพราะอยากเรียนรู้ชีวิตต่างเผ่าพันธุ์   ครูเล่าตอนจบแบบใหม่เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กตาดำให้ไม่ทำร้ายเด็กตาขาวเพียงเพราะเป็นคนต่างพวก  เรื่องซ้อนทั้งสองเรื่องตอกย้ำความคิดเรื่องการยอมรับความแตกต่างและมีเมตตาต่อผู้อื่น   สุดท้ายตัวละครคนตาขาวที่หนีมาหลบซ่อนได้รับการช่วยเหลือให้พ้นความตายจากนายทหารพวกตาดำคนหนึ่งที่มีจิตใจเยี่ยงสิงโตในนิทาน 

สังคมจารีตนิยมกับการปิดกั้นอิสรภาพทางความคิดและชีวิตเสรี

            การแบ่งคนเป็น ๒ กลุ่มอย่างสุดโด่งคือเป็นพวก “เขา”  กับ “เรา” ที่ปรากฏในนวนิยาย ๓ เรื่องดังกล่าวข้างต้น  สะท้อนความคิดเรื่องความเป็นอื่น (otherness)   ที่มักเห็นว่าคนอื่นที่แปลกแยก  แตกต่างด้อยกว่าตัว     แนวคิดนี้ยังเชื่อมโยงกับแนวคิดการปิดกั้นอิสรภาพและเสรีภาพโดยฝ่ายที่คิดว่าตนคือผู้ใหญ่ อาบน้ำร้อนมาก่อนได้กระทำต่อฝ่ายที่เยาว์วัยด้อยประสบการณ์   ในเรื่อง “สมาชิกในหลุมหลบภัย” คน ๘ คนขังตัวอยู่หลุมหลบภัยใต้ถุนบ้านเป็นเวลาร่วม  ๔๐ ปี  จนเกิดสมาชิกใหม่ในครอบครัวที่เริ่มตั้งคำถามในสิ่งที่พวกเขาไม่เคยเห็นไม่เคยรู้จัก  สมาชิกที่เป็นคนหนุ่มสาวจึงปรารถนาจะออกจาก “โลกแคบๆ”   ไปดูโลกภายนอกว่าสงครามสงบแล้วหรือยัง  แต่ฝ่ายคนแก่ไม่ต้องการเพราะในหลุมหลบภัยมีทุกอย่างบริบูรณ์อยู่แล้วรวมทั้งความปลอดภัย    ฝ่ายคนแก่ไม่ปรารถนาชีวิตอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไปจากความคุ้นชินแต่เดิม   ส่วนพวกคนหนุ่มสาวต้องการสัมผัสอากาศบริสุทธิ์  ชื่นชมธรรมชาติสวยงามและฟังเสียงนกร้อง   หลังการถกเถียงด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน   เมื่อถึงวาระแตกหัก  คนหนุ่มสาวเปิดประตูหลุมหลบภัยออกไป  พวกเขาพบว่าบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปมากอย่างไม่เคยคิดฝัน  คราวนี้สมาชิกในหลุมหลบภัยต้องตัดสินใจว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร  พวกหนึ่งเดินกลับไปยังหลุมหลบภัยตามเดิม  แต่พวกหนึ่งยินดีออกไปเผชิญกับชีวิตใหม่ในโลกใหม่ที่พวกเขาก็ยังไม่รู้จักว่าจะเป็นอย่างไร  และอาจจะเลวร้ายกว่าเดิม     แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับก่อนแล้วคืออิสรภาพและเสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิตตามที่ตนปรารถนา  ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของใคร  ด้วยปัจจัยใดก็ตาม  โดยนัยนี้อาจกล่าวได้ว่าเรื่องสั้นนี้มีแนวคิดแบบปรัชญาอัตถิภาวะนิยม (existentialism)  อยู่ไม่น้อย

สมองกล หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีกับความเป็นมนุษย์

โลกปัจจุบันเติบโตทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว  สมองกลหรือปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ  A.I.)  ถูกนำมาใช้ในงานอุตสาหกรรมและธุรกิจในแวดวงต่าง ๆ  เพื่อทำงานที่ซับซ้อนได้ในเวลาอันรวดเร็ว  ทำให้ประหยัดแรงงานคน   มีข่าวการยุบธนาคารสาขาย่อย  การเลย์ออฟพนักงานโรงงาน  แล้วติดตั้งเครื่องสมองกลให้ทำหน้าที่แทนมนุษย์   เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย  ข่าวความก้าวหน้าทางวิทยาการของปัญญาประดิษฐ์  เช่น  การสร้างหุ่นยนต์เพื่อใช้ในวงการแพทย์    อุตสาหกรรม   การทหาร  ตลอดจนการสร้างหุ่นอัจฉริยะเป็นสาวสวยที่สามารถแสดงความรู้สึกทางกายได้เกือบเท่าคนจริงเพื่อเป็นเพื่อนกายของชายหนุ่มผู้ว้าเหว่  ฯลฯ    ทำให้เราเริ่มตระหนักว่าโลกอนาคตอาจจะเป็นโลกของหุ่นยนต์ดังที่นวนิยายและภาพยนตร์ไซ-ไฟนำเสนอไว้จำนวนมากมาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๒๐ แล้ว

 จากการผลิตหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่ตามโปรแกรมอย่างเคร่งครัดและมีหลักปฏิบัติสำคัญคือ  “หุ่นยนต์ต้องไม่ทำร้ายมนุษย์และไม่ปล่อยให้มนุษย์ตกอยู่ในอันตราย”   ตามกฎที่ไอแซค   อาซิมอฟ  กำหนดไว้ในนิยายไซ-ไฟของเขาและถูกนำไปใช้เป็นกฎเกณฑ์ในการผลิตหุ่นยนต์จริงด้วย   ในเวลาต่อมางานวรรณกรรมและภาพยนตร์ไซ-ไฟได้แสดงให้เห็นการที่หุ่นยนต์ครองอำนาจเหนือมนุษย์  สามารถสังหารมนุษย์ที่ต่อต้านขัดขืน   ทำให้เกิดสงครามระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์   มีวรรณกรรมและภาพยนตร์ต่างประเทศจำนวนไม่น้อยแสดงให้เห็นว่าโลกอนาคตเป็นโลกของหุ่นยนต์  หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้พัฒนาความรู้และปัญญาจนเหนือมนุษย์  ทำให้มนุษย์ตกเป็นทาสของหุ่นยนต์  นอกจากนี้  การพัฒนาหุ่นยนต์อัจฉริยะให้มีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ในด้านความคิดหลักแหลมเท่านั้น  แต่เป็นด้านความรู้สึกละเอียดอ่อนซึ่งหุ่นยนต์ที่ผลิตจริงยังไม่อาจทำได้  แต่ในโลกจินตนาการของงานศิลปะและวรรณกรรม  ผู้เขียนสามารถสร้างหุ่นยนต์ที่มีความรู้สึก  โดยเฉพาะความรักความผูกพันอันเป็นประสบการณ์ทางอารมณ์ที่ยิ่งใหญ่และล้ำลึกของมนุษย์   ดังปรากฏในเรื่องสั้นเรื่อง  Super-Toys Last All Summer Long (หัวใจหุ่นยนต์)  ของไบรอัน  อัลดีส ที่ต่อมากลายเป็นภาพยนตร์ไซ-ไฟเรื่องเด่นอีกเรื่องหนึ่งของสตีเวน  สปิลเบิร์ก ออกฉายตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๔ หุ่นยนต์เด็กที่เหมือนมนุษย์ทุกอย่างถูกใส่โปรแกรมเพิ่มให้มีความรู้สึกรัก  ภาพยนตร์โลกอนาคตเรื่องนี้ได้แสดงพลังของความรักว่ายิ่งใหญ่เพียงใด

            ความก้าวหน้าของวิทยาการหุ่นยนต์ทำให้น่าตระหนกว่าความเป็นมนุษย์ไร้ความหมาย  ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กำลังจะหายไปทุกที  เพราะเราเข้ารับบริการจากเครื่องจักรกล  เราก้มตาก้มตา “พูด” กับเครื่องจักรกลแทนจะพูดกับเพื่อนมนุษย์   เด็กยุคเจนซี (Gen-Z)  เกิดมาพร้อมกับเครื่องมือสื่อสารและเทคโนโลยี  ทำให้ขาดประสบการณ์ของ  “มนุษย์สัมผัสมนุษย์”  จึงมีนิสัยและพฤติกรรมก้าวร้าว  แข็งกระด้าง  ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ยาก  การสื่อสารสมัยใหม่ให้ประโยชน์มหาศาล  แต่ขณะเดียวกันก็มีโทษมหันต์ด้วย   ประเด็นเรื่องความอัจฉริยะของเครื่องจักรกลทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงเป็นประเด็นสากลประเด็นหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจ   

จิดานันท์  เหลืองเพียรสมุท  นำเสนอประเด็นโลกอนาคตของหุ่นยนต์อัจฉริยะไว้ในเรื่องสั้นเรื่อง “โอนถ่ายความเป็นมนุษย์”  และเรื่อง “ซินเดอเรลล่าแห่งเมืองหุ่นยนต์”  ในเรื่อง “โอนถ่ายความเป็นมนุษย์

ผู้เขียนเสนอโลกอนาคตที่มนุษย์ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้หากขาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  ในยุคนี้มนุษย์มีปัญญาก้าวหน้าจนสามารถใช้ดาวเทียมสื่อสารรายงานเรื่องราวที่เกิดบนโลกและในจักรวาลได้ในชั่วพริบตา  ตัวละครทำงานกับศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก  และมีหน้าที่ดูแลดาวเทียมซึ่งออกสำรวจไปทั่วจักรวาล  ตัวละครอเล็กซ์ นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างบุคลิกให้ดาวเทียมชื่อแอล  ตามลักษณะของผู้หญิงในอุดมคติของเขา    อเล็กซ์เชื่อว่าหุ่นยนต์ต้องมีโปรแกรม “ความรู้สึก”  ซ่อนอยู่   แอลจึงเป็นดาวเทียมที่สามารถพูดจาโต้ตอบกับมนุษย์ได้ทุกเรื่องราวคนจริง    ในที่สุด อเล็กซ์รักแอล  จนกระทั่งเขาใช้วิทยาการสมัยใหม่สร้างหุ่นยนต์ที่ถ่ายเทความเป็นตัวตนของเขาทุกอย่างเพื่อจะได้อยู่ในสถานะเดียวกับแอล  โดยร่างกายของเขาถูกแช่แข็งไว้เพื่อให้มีชีวิตยืนยาวเช่นเดียวกับเครื่องจักร   แต่ความรักของอเล็กซ์และแอล   “ติดๆ ดับๆ” ไปตามพลังงานไฟฟ้า  ถ้าวันใดมีการปิดการสื่อสารเพราะพายุสุริยะ  โปรแกรมความทรงจำเรื่องความรักของแอลจะถูกทำลายไป  เธอจะจดจำความรักความผูกพันระหว่างเธอกับอเล็กซ์ไม่ได้เลย   อเล็กซึ่งมีความเป็นมนุษย์มากกว่าแอลก็จะปวดร้าวเสียใจสุดซึ้งจนต้องลบโปรแกรมความทรงจำเกี่ยวกับแอลทิ้งไป   แต่สักพักเมื่ออเล็กซ์และแอลทำงานร่วมกันและสนทนากันอย่างใกล้ชิดอีก  ทั้งสองก็ตกหลุมรักกันตามเดิม   เรื่องสั้นทิ้งคำถามไว้ให้คิดว่าความเป็นมนุษย์ของอเล็กซ์อยู่ที่ไหน  ในร่างกายแช่แข็งของเขาที่ปราศจากความคิด ความรับรู้ และอารมณ์ใด ๆ หรือในเครื่องจักรกลที่มีสมอง  มีความคิด  มีความรู้สึกละเอียดอ่อนและมีความรักเฉกเช่นสรรพสัตว์ทั้งปวง

 

            เรื่องสั้นเรื่อง ““ซินเดอเรลล่าแห่งเมืองหุ่นยนต์”  เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงเมืองหุ่นยนต์ในโลกอนาคตโดยตรง   อาณาจักรในจินตนาการของผู้แต่งปกครองโดยหุ่นยนต์ด้วยระบบหุ่นยนต์ธิปไตย  และรัฐบาลหุ่นยนต์ได้ลบบันทึกความทรงจำทางประวัติศาสตร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด  เพื่อจำกัดความคิดของเด็กรุ่นใหม่ให้รู้จักแต่โลกของหุ่นยนต์ที่ปกครองมนุษย์เท่านั้น  มนุษย์ในอาณาจักรของหุ่นยนต์เป็นเสมือนพลเมืองชั้นสอง  ยากไร้  ขาดแคลน  โดยเฉพาะน้ำมันเพราะน้ำมันอัดเม็ดเป็นอาหารของเหล่าหุ่นยนต์ซึ่งมีชีวิตความเป็นอยู่หรูหรา   พิภพ พี่สาว และน้องชาย  จึงร่วมมือกับธีร์คนรักของพี่สาวขโมยน้ำมันอัดเม็ด  แต่ธีร์  คนรักของพี่สาวและธาราผู้เป็นน้องชายถูกจับได้ และถูกประหารชีวิตโดยรัฐมนตรีกระทรวงมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้เชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลหุ่นยนต์กับประชาชนที่เป็นมนุษย์  แต่รัฐมนตรีมนุษย์ผู้นี้กลับทำตนเป็นหุ่นยนต์เพื่อจะได้เป็นชนชั้นสูงในสังคม  คือไร้หัวใจ  ไม่มีความเมตตาและทำร้ายเพื่อนมนุษย์  เพราะหุ่นยนต์ผู้ชาญฉลาดไม่ยอมมือเปื้อนเลือด  แต่จะหาวิธีให้มนุษย์สังหารกันเอง   เมื่อคนของรัฐมนตรีลากศพธารามาถึงบ้าน  เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของตนและพี่สาว  พิภพจำต้องประกาศด้วยความปวดร้าวว่าศพนั้นไม่ใช่น้องของเขาและเขาไม่เกี่ยวข้องกับการขโมยน้ำมัน   หลังความตายของธารา  พิภพและพี่สาวย้ายไปอยู่เมืองอื่น  และใช้ชีวิตอย่างสามัญเพื่อไม่ให้เพื่อนบ้านไปร้องเรียนรัฐว่าร่ำรวยผิดปกติ   เมื่อได้ข่าวว่ารัฐมนตรีกระทรวงมนุษย์เข้ามาในเมืองของเธอ  เธอจึงไปฆ่าเขาตายเพื่อล้างแค้นให้คนรักและน้องชาย  ในที่สุดเธอถูกจับได้ขณะกำลังพยายามหนีและรัฐมนตรีคนใหม่ก็สั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐจับตัวพิภพไปประหารพร้อมกัน  เนื้อความเช่นนี้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ไม่อาจต้านทานอำนาจเผด็จการของหุ่นยนต์ได้  เพราะมนุษย์จำนวนหนึ่งยอมเป็นทาสของหุ่นยนต์เพื่อยกสถานะทางสังคมและการกินดีอยู่ดีของตน   จึงมีมนุษย์ผู้สืบทอดอำนาจจอมปลอมนี้อยู่ตลอดเวลา   หากไม่คิดว่าเรื่องนั้นนี้นำเสนอภาพสังคมในโลกอนาคต  ในโลกปัจจุบัน  เราเองก็ตกอยู่ใต้อำนาจของมนุษย์ผู้มีหัวใจเป็นเครื่องจักรกล

โลกนี้-โลกหน้า และการหลุดพ้นจากสงสารวัฏไปสู่ภาวะนิรันดร์

            เรื่องสั้นเรื่อง “รถไฟเที่ยงคืน”  นำเสนอความคิดทางศาสนาที่กล่าวถึงชาติภพ  สงสารวัฏและการหลุดพ้น  โดยใช้กลวิธีสร้างภาพเหนือจริง (surrealism) ให้มนุษย์เมื่อสิ้นอายุขัยจะ “เปลี่ยนผ่าน”  บังเกิดร่างใหม่เป็นทารกน้อยไร้เดียงสาทันที  จนเมื่ออายุได้ ๑๐ ปี  ทารกนั้นจึงจะมีความทรงจำของอดีตชาติกลับคืนมา  ชีวิตมนุษย์เป็นเช่นนี้ไม่รู้สิ้นสุด  มีทุกข์ มีสุข หมุนเวียนเปลี่ยนไปจนสิ้นอายุแล้วเกิดใหม่  วนอยู่ในชีวิตอนันตกาลเช่นนี้ไม่รู้จบ   คนที่เริ่มเบื่อหน่ายกับการว่ายเวียนในชาติภพอันเป็นการเดินทางที่ไร้ที่สิ้นสุด   ได้เลือกหนทางขึ้นรถไฟขบวนพิเศษที่มาถึงในยามเที่ยงคืนทุกคืน   รถไฟจะเปิดประตูให้แก่ผู้ที่มีจิตใจพร้อมแล้วที่จะเดินทางไปยังดินแดนที่ไม่รู้จักเท่านั้น  ดินแดนที่กล่าวถึงอาจจะไม่มีกายภาพให้มองเห็น  แต่เป็นการที่ชีวิตดับสูญ ณ ตรงนั้น  เวลานั้น เหมือนอยู่ในความว่างเปล่า

                        มีอะไรอยู่ในรถคันนั้น  ผมจะได้เจออะไร  การสลายหายไปจะเจ็บปวด

ทรมานไหม  มันเป็นการเคลื่อนไปอีกภพหนึ่งหรือเปล่า   ผมจะได้เจอสิทธาไหมที่นั่น 

                        แต่ผมรู้ดีว่าคำตอบคือไม่   ไม่มีอะไรอยู่ในรถคันนั้น  ผมจะหายไปอย่าง

ไม่ทรมาน และจะไม่รู้สึกอะไร ไม่ไปที่ไหน  และไม่พบเจอใครอีกแล้ว  (หน้า ๑๐๕)

เมื่อตัวละครอนันดาตัดความกังวลทั้งหลายออกไปได้   จิตใจก็ปลอดโปร่งและคราวนี้รถไฟเปิด

ประตูให้เขาขึ้นไปเพื่อเดินทางไปสู่ความว่างเปล่า  น่าสังเกตว่าผู้เขียนจงใจตั้งชื่อตัวละครให้มีนัยความหมาย  อนันดา เป็นคำที่พุทธศาสนา  ศาสนาฮินดู และศาสนาเชนให้ความหมายตรงกันว่า  “ความสุขสุดยอด” (extreme happiness)    อนันดาเบื่อหน่ายชีวิตที่วนเวียนซ้ำซาก  ก่อความทุกข์  จึงละทิ้งไปสู่ความสุขสุดยอด  นั่นคือไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข  อีกต่อไป  

สตรีนิยมกับธาตุแท้ของเพศชาย

            จิดานันท์วิพากษ์แนวคิดสตรีนิยม (feminism)  ที่สร้างมายาคติให้ผู้หญิงภาคภูมิใจในความแกร่งเท่าเทียมผู้ชาย  พวกเธอเป็นพวกที่ผู้ชายรัก  ยกย่อง  ให้ความนับถือ  แต่พวกเขาจะไม่เลือกเธอเป็นคู่ครอง  เพราะมายาคติที่ว่าผู้หญิงเข้มแข็ง  มั่นใจในตัวเอง  เป็นผู้นำ  ย่อมดูแลตนเองได้   ผู้ชายจึงเลือกผู้หญิงที่อ่อนแอ  น่าทะนุถนอม  เพราะพวกเธอทำให้เขามั่นใจในตนเองว่ามีอำนาจเหนือกว่าและมีเขาผู้ปกป้องคุ้มครอง   ธาตุแท้ของเพศชายที่เจ้าชู้  มากรัก  และเลือกคู่ครองที่ส่งเสริมอำนาจปิตาธิปไตยเช่นนี้สืบทอดกันมาหลายต่อหลายชั่วคนและยังคงสืบทอดกันต่อไป  ไม่ว่าผู้หญิงจะพยายามสร้างกระแสแนวคิดทางสังคมเพื่อลดทอนอำนาจของผู้ชายด้วยวิธีใดก็ตาม   

ในเรื่องสั้นเรื่อง “อดัมกับลิลิธ”   ผู้เขียนใช้ตำนานของคริสต์ศาสนาว่าด้วยเรื่องราวของลิลิธ(Lilith)  มนุษย์ผู้หญิงคนแรกที่พระเจ้าสร้างขึ้นจากดินพร้อมกับอดัมซึ่งเป็นมนุษย์ผู้ชายคนแรก  ลิลิธเป็นภรรยาคนแรกของอดัม  แต่เรื่องราวของเธอหายไปจากคัมภีร์เหลือเพียงตำนานว่าเธอทำสิ่งเลวร้าย  เทพเจ้าจึงไล่เธอออกจากสวนอีเด็น   ความคิดหนึ่งที่น่าสนใจคือ สิ่งเลวร้ายที่ลิลิธกระทำคือการที่เธอต้องการเป็นฝ่ายอยู่บนในขณะมีเพศสัมพันธ์  แต่อดัมไม่ยินยอมเพราะทำให้สูญเสียอำนาจของผู้นำ  ลิลิธจึงลาจากสวรรค์อย่างทระนง   จากนั้นพระเจ้าสร้างอีฟจากกระดูกซี่โครงของอดัม   เพื่อตอกย้ำว่าผู้ชายเป็นเจ้าของผู้หญิง และผู้หญิงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้ชาย    ลิลิธจึงน่าจะเป็นเฟมินิสต์คนแรกในประวัติศาสตร์โลกที่กล้าแสดงความต้องการของตน   แต่น่าสงสารที่พลังแข็งแกร่งของเธอยังไม่อาจต้านทานพลังของบุรุบุรุษได้    อดัมจึงพอใจอีฟมากกว่าลิลิธ  เพราะอีฟไร้เดียงสา  อ่อนโยน และอ่อนแอ

                                  

                                จากตำนานดังกล่าว  จินดานันท์สร้างตัวละครวลาดิมีร์กับเรื่องราวรักสามเส้าระหว่างเขากับเวร่าซึ่งเป็นผู้หญิงแบบลิลิธและนาเดีย

                    ซึ่งเป็นผู้หญิงแบบอีฟ   เมื่อทั้งสองต่างตั้งท้อง  เรื่องลงเอยด้วย  วลามิดีร์เลือกแต่งงานกับนาเดียทั้ง ๆ ที่รักเวร่า   

                    ดูเผิน ๆ เหมือนวลาดิมีร์เป็นผู้ชายที่รับผิดชอบและปกป้องผู้หญิงที่อ่อนแอกว่า  แต่จริง ๆ แล้ว  เหตุผลน่าจะเป็นอย่างที่เวร่ากล่าวว่า

 

                           ผู้ชายน่ะโง่  พวกเขาไม่รู้เลยว่าความจริงพวกเขาสบายใจที่จะอยู่กับลิลิธ 

 

                         เธอไม่เรื่องมาก เป็นตัวของตัวเอง และเป็นผู้นำ  ไม่ต้องคอยตามใจและโอ๋เหมือน

 

                       ตัวอ่อนในไข่เปราะ ๆ  แต่ความแข็งกร้าวของลิลิธก็ทำให้ผู้ชายกลัว  กลัวว่าเธอจะ

 

                       ควบคุมเขา  กลัวว่าตัวเองจะสูญเสียอำนาจไป  ดังนั้นพวกเขาก็เลยยอมไปปวดหัว

 

                      กับความเอาแต่ใจที่ไร้สาระ โง่ และหัวอ่อนแทน  พวกเขาเลือกอีฟเพราะรู้สึกว่า

 

                      มันปลอดภัย  เพราะเธอไร้เขี้ยวเล็บ พวกเขาหวงอำนาจตัวเอง มนุษย์ตัวผู้น่ะ และ

 

                      อำนาจของเขานั้น  ความจริงมันน้อยและคลอนแคลนเสียจนเพียงแค่ผู้หญิงที่

 

                      เข้มแข็งคนหนึ่งก็ทำให้เขากลัวได้ง่ายๆ (หน้า ๑๑๗)

 

                               ผู้เขียนเลือกตั้งชื่อตัวละครเป็นภาษารัสเซียซึ่งใช้ชื่อซ้ำ ๆกันไม่กี่ชื่อ  จึงสอดคล้องกับเรื่องราวที่ต้องการเน้นว่า

                    แนวคิดเรื่องชายเป็นใหญ่  หญิงเป็นรอง  ถ่ายเลือดกันมาจากวลาดิมีร์ผู้พ่อสู่วลาดิมีร์ผู้ลูก  และหากสืบค้นขึ้นไปจริง ๆ 

                   ก็มาจากอดัมมนุษย์ผู้ชายคนแรกของโลกนั่นเอง  ฝ่ายผู้หญิง  ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายจากอีฟ  ภาพของผู้หญิงที่เป็นช้างเท้าหลัง

                   แบบอีฟจึงปรากฏอยู่เสมอ  อย่างในเรื่องสั้นเรื่อง “สมาชิกในหลุมหลบภัย”  ผู้เป็นแม่ปฏิเสธที่จะออกจากหลุมหลบภัยไปสู่โลกใหม่

                   เพราะต้องดูแลพ่อซึ่งไม่ยอมให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงจากเดิม  ในโลกแห่งความเป็นจริง   ภาพของผู้ชายแบบอดัมและผู้หญิงแบบอีฟ

                   ก็พบเห็นได้ในสังคมทั่วไป

 

                    ความกล้าหาญทางจริยธรรมหรือการกวาดฝุ่นไว้ใต้พรม

 

                       นานๆ ครั้งเราจะได้ยินคำพูดที่แสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมว่าข้าพเจ้า  “ขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”  ออกจากปากผู้บริหารสูงสุด

                   แต่เมื่อผู้บริหารเปล่งถ้อยคำดังกล่าว  ส่วนมากก็เปรียบเหมือนกรีดนิ้วบนสายน้ำ  รอยกรีดจะหายไปในพริบตา  หรือเหมือนการเปล่งเสียง

                  ไร้ความหมายที่ล่องลอยไปในสายลม   เพราะถ้อยคำดังกล่าวมักจะถูกเปล่งออกมาเมื่อผู้บริหารจนแต้ม  จึงตัดปัญหาไม่ให้มีการตาม “จี้” 

                   เรื่องนั้นๆ อีกต่อไป  แต่ไม่ได้มีสำนึกรับผิดชอบจริงๆ

 

                         เรื่องสั้นเรื่อง “ขอรับผิดทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว”  ชวนให้เราตั้งครุ่นคิดกับปัญหาความกล้าหาญทางจริยธรรมของมอเดร็ด ผู้เป็นเจ้าเมืองใน                               จินตนาการที่กำลังผจญกับฤดูหนาวอันโหดร้าย   มอเดร็ดผู้เป็นเจ้าเมืองต้องออกไปล่าหมาป่าเพื่อเป็นอาหารให้ชาวเมืองหลังจากสัตว์ทุกชนิด

                 ที่เลี้ยงไว้ถูกจับกินหมดแล้ว   แต่ก็ไม่พอเพียง   ในที่สุดความหิวและความเหน็บหนาวทำให้ชาวเมืองกินเนื้อศพคนในครอบครัวเพื่อประทังชีวิต

                 และเผาหนังสือทั้งหมดในห้องสมุดเพื่อขับไล่ความหนาวเยือกเย็น   หลังจากผ่านฤดูหนาวมาหลายฤดูหนาว ซึ่งไม่มีครั้งใดเลวร้ายเท่าฤดูหนาว

                 คราวนั้น  เด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นได้ลักลอบอ่านหนังสือ  และเริ่มขุดคุ้ยหาความจริงจากประวัติศาสตร์แห่งความเลวร้ายที่ถูกเก็บงำ   

                  พวกเขาถกเถียงกันระหว่างคนชราและคนหนุ่มสาวว่าผู้นำอย่างมอเดร็ดล้าสมัยเกินไปที่จะปกครองคนรุ่นใหม่หรือไม่  คนหนุ่มสาวฝังใจจำโดย

                ไม่สนใจเหตุผลที่มาที่ไปของเรื่องว่ามอเดร็ดสั่งให้เผาหนังสือและปิดบังเรื่องการกินเนื้อคน ทั้งนี้เพราะการกินเนื้อคนและการทำลายภูมิปัญญา

                เป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นอนารยะชนโดยแท้    คนชราบางคนต้องการให้คนในสังคมยอมรับบาปของตนและเล่าความจริงให้ลูกหลานรับรู้

                ว่าเป็นบาปร่วมกันของทุกคน  แต่บางคนไม่เห็นด้วย  เมื่อมอเดร็ดจะทราบข่าวว่าคนรุ่นใหม่คิดจะยึดอำนาจจากเขาเนื่องจากเขาทำสิ่งเลวร้ายจน

                หมดความชอบธรรมที่จะปกครองพลเมืองต่อไป  เขาไม่กังวล  กลับบอกว่า “มันต้องมีชื่อของใครสักคนเปื้อน  และถ้าต้องเอาระหว่างฉันกับคน

                ทั้งเมือง  ฉันขอเลือกรับมันไว้เอง” (หน้า ๓๑) 

 

                       มอเดร็ดเป็นวีรบุรุษ  เป็นผู้เสียสละ เป็นผู้หาญกล้า  เป็นเจ้าเมืองที่มีคุณธรรม  แต่การ “จะขอรับผิดทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว”  

                 เหมาะสมแล้วหรือ  เพราะเท่ากับว่าเขาปกปิดความจริงทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีทั้งส่วนดีที่น่ายกย่องและส่วนสามานย์ที่คนทั่วไปขยะแขยง  

                 การยอมรับผิดแต่เพียงผู้เดียวของมอเดร็ดจึงน่าสงสัยว่าเป็นการแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมหรือเป็นเพียงการกวาดฝุ่นเข้าใต้พรม              

 

                สรุป

 

                         หนังสือรวมเรื่องสั้น  สิงโตนอกคอก  ของจิดานันท์  เหลืองเพียรสมุท  เป็นวรรณกรรมที่แสดงความอุตสาหะของผู้เขียนที่ใช้กลศิลป์

                 ของวรรณกรรมยุคหลังสมัยใหม่อย่างหลากหลายเพื่อสนับสนุนการตีความหมายปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมืองในสายตาและความรับรู้

                 ของตนก่อนจะนำมาสร้างสรรค์เป็นเรื่องสั้น  แม้ว่าเรื่องสั้นหลายเรื่องจะมีจุดอ่อนตรงที่แต่ละเรื่องบอกจุดหมายหรือประเด็นของเรื่องผ่านบท

                 สนทนาของตัวละครไว้ชัดเจนเกินไป  ทำให้ผู้อ่านตีความได้ไม่ยาก  ทั้ง ๆที่การใช้กลศิลป์หลากวิธีจะทำให้ดูเหมือนว่าเรื่องสั้นเหล่านี้มีความ

                 ซับซ้อน   อย่างไรก็ตาม  วรรณกรรมซีไรต์เล่มนี้ไม่เพียงแสดงบทบาทสะท้อนภาพสังคมปัจจุบันและอนาคต  แต่เป็นหนังสือที่น่าอ่านและ

                 น่าคิดว่าคนทั่วไปควรจะมีบทบาทหรือปฏิกิริยาต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของเราอย่างไร   

 

 


 




Visitors: 72,116