ชาคริต แก้วทันคำ

โลกใบเล็ก:สำนึกกวีจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวิถีชีวิตมนุษย์

 

 

         พลัง  เพียงพิรุฬห์ เป็นนามปากกาของเกริกศิษฏ์  พละมาตร์ มีผลงานรวมบทกวีมาแล้ว 4 เล่ม ได้แก่ อาศรมพระจันทร์ (2547) ปรากฏการณ์ (2552) โลกใบเล็ก (2556) และนครคนนอก (2559) ซึ่งได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือซีไรต์ ปี 2559

         กล่าวเฉพาะรวมบทกวี “โลกใบเล็ก” ของ พลัง  เพียงพิรุฬห์ เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี 2556 แต่ไม่ค่อยจะได้รับการพูดถึงในวงกว้าง อาจเพราะพิมพ์เป็นปกแข็งจำนวนจำกัดและขายผ่านหน้าเฟซบุ๊กเท่านั้น ประกอบด้วยบทกวีจำนวน 44 บท แบ่งเป็นรัก เศร้า เหงา สู้ ในรูปแบบไร้ฉันทลักษณ์หรือกลอนเปล่าและฉันทลักษณ์ประเภทกลอนสุภาพ กาพย์ฉบัง 16 กาพย์สุรางคนางค์ 28 โคลงสี่สุภาพและร่ายยาว โดยมีเนื้อหาหลักกล่าวถึงชีวิตที่ผ่านวันและวัยในห้วงเวลากลับบ้าน ซึ่งได้สัมผัสธรรมชาติและวิถีชีวิตชนบทและกลั่นกรองออกมาเป็นเรื่องเล่า เช่น “ปูมหลังอันไหลล่องของเรื่องเล่า” “อย่างนั้นเองเรื่องเล่าการเข้าถึง” “เรื่องเล่าแฝงฝังใต้หลังคา” ที่ผ่านพบและเรียนรู้จากการเฝ้ามองปรากฏการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อความคิดฝันของปัจเจกที่มีความเป็นเอกเทศในบทกวี

         พลัง  เพียงพิรุฬห์ เปิดเล่มด้วยบทกวี “จิตวิญญาณแห่งหมู่บ้านห้วงหวานหอม” ในส่วน “รัก” ให้เห็นถึงปูมหลังของเรื่องเล่าที่มีเรื่องราวในชีวิตไหลผ่านห้วงฤดูกาลที่ทั้งคลุมเครือ จำเจ ยืดเยื้อ เหลือจำนน เมื่อต้องอดทนกับความโง่เจ็บจนวนเวียนเพราะโชคชะตา จึงสื่อสารให้ผู้อ่านได้เห็นจิตวิญญาณเบื้องลึกของกวีที่ต้องการเปิดเผยหัวใจที่แท้จริงผ่านโลกอีกด้านจากหมู่บ้านหนึ่งที่มีความดึกดำบรรพ์ มีตำนาน ผู้คนโบราณและงานบุญ ซึ่งนำพาให้ “ฉัน” หรือลูกหลานนกอพยพได้ร่อนปีกกลับบ้าน เพื่อมาสัมผัสภาพ “เด็กน้อยกับขี้มูกของแก” “รอยยิ้มของแม่ฟันหลอ” “แสงเงาในคลื่นน้ำ” และธรรมชาติแห่งท้องทุ่ง ให้เฝ้าสังเกตชีวิตผ่าน “การเดินทางของเมฆ” และ “เสียงนก” โดยปิดส่วนของ “รัก” ด้วยบทกวี “ฉันทิ้งปีกแห่งพเนจรร่อนกลับบ้าน” ให้เห็นถึงที่มาและที่เป็นอยู่ของชีวิตเปรียบเทียบกันดังนี้

                                “ท่ามกลางการอพยพพบและพราก             เชี่ยวดังสายน้ำหลากจากเขื่อนขั้น

                ฉันนั่งมอง เมฆหม่นมอ วันต่อวัน                                  บนถนนสายนั้น ไม่มีใคร

                ผู้คนอันตรธานเหมือนม่านหมอก                                   ต้องแดดจัดหลายระลอกระเหิดไหม้

                หนุ่มสาวยังจากไปและจากไป                                          เป็นสาวกสังคมใหม่ให้ตีตรา

          ...............................................                                 ..............................................

               เปลยังไกวช้าเชือนเรือนทุกหลัง                                      คนหากินพอประทังไม่โลดแล่น

               เหลือผู้เรียบง่ายไม่ขาดแคลน                                            อยู่ในดินแดนความกลมกลืน

               ชาวชนผู้เหลืออยู่ล้วนผู้วิเศษ                                            รู้สาเหตุเภทภัยให้รู้ตื่น

              เสกกกเป็นเสื่อให้ยั่งยืน                                                     เสกลมไล่ไฟฟืนต้มหยูกยา

              เสกปลาจากหนองท้องไม่อด                                            เสกข้าวซาวคดจากต้นกล้า

              เสกเมฆพ่นไอออกพวยกา                                เสกผักหญ้าก่ายกองเข้าท้องวัว

              นี่และหนาแผ่นดินสิ้นเรื่องเล่า                                        แต่ภาพวัยเยาว์ฉายอยู่ทั่ว

              ยังแต่ภาพชรากาลติดตนตัว                                               ฉายอยู่ในการปลิดขั้วของดอกไม้”

                                                                                                ( พลัง  เพียงพิรุฬห์, 2556: 57-59)

                  จากเนื้อความบางส่วนในบทกวีข้างต้น จะเห็นถึงภาพเปรียบของการเดินทางในชีวิตทั้งจากไปและกลับมา โดยมี “ฉัน” เป็นผู้ทบทวนภาพนั้นถึงอดีตแห่งวัยเยาว์ซ้อนกับปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น “สาวกสังคมใหม่ให้ตีตรา” ซึ่ง “ฉัน” เคย “แบกความฝันกร้านกร้านดั่งคนบ้า” มาก่อน เพื่อกลับมาเขียนบทกวีและค้นหาความหมายอีกด้านของชีวิตที่เหลืออยู่กับ “เรียบง่ายไม่ขาดแคลน”

                 ในส่วนของ “เศร้า” กวีเริ่มต้นด้วยบทกวี “เหรียญตราแห่งความโดดเดี่ยว” ของผู้เป็นแม่ที่ไร้ลูกดูแลเอาใจใส่ เพราะ “ลูกจากไปเหลวไหล ไกลจากตัก ซมซานไร้หลักพรากพลัดถิ่น ไปไขว่คว้าความว่างเปล่าอีกแผ่นดิน ด้วยสันดานอันบ้าบิ่น บ้าเบียดบัง” ซึ่งเนื้อหาในส่วนนี้ถูกส่งต่อมาจาก “รัก” ให้ผู้อ่านได้ปะติดปะต่อร่องรอยอารมณ์ ซึ่งสุดท้าย “กลับสายไปแล้วหนอ... ชะตากรรมไม่รั้งรอต่อเงื่อนไข แม่ยังอยู่แม้ชราทอดอาลัย ลูกกลับมากอดไว้ ใกล้ใกล้แล้ว...” นับเป็นบทกวีที่มีความงามในความเศร้า และอาจแตกต่างจากลูกหรือหนุ่มสาวคนอื่นที่ยัง “ซ่อนตัวอยู่หลัง เมืองเหล็ก ผู้เฒ่าคอย ร่ำรั้น หลั่งน้ำตาไหล” เป็นการเปรียบเทียบภาพของความเศร้าได้สะเทือนความรู้สึก

                 ผลพวงจากความเศร้าแห่งยุคสมัยที่หนุ่มสาวอพยพเข้าไปทำงานในเมืองหลวง ทำให้ “เด็กเด็กของที่นี่” มอดไหม้ ต่างจาก “เด็กเด็กของที่อื่น” ที่ถูกพ่อแม่จับตา แต่กลับมีความเหมือนกันคือความสัมพันธ์ที่ร้างไร้ให้คิดเปรียบเทียบได้อย่างน่าฉุกใจ

                นอกจากความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านเข้ามาในชีวิต “ผู้คน” แล้ว ใน “หมู่บ้าน” ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ทั้งสารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในดิน น้ำ อากาศ จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ใช้ปุ๋ยฮอร์โมนในบทกวี “หมู่บ้านสารเคมี” หรือ การเผาไร่อ้อยที่คิดว่าไร้ประโยชน์โดยไม่เห็นถึงผลประโยชน์และผลกระทบจากมลพิษในบทกวี “ยูเอฟโอเหนือป่าอ้อย” หรือ กระแสของบริโภคนิยมที่ทำให้วิถีชีวิตของคนและธรรมชาติแปลกเปลี่ยนไป ในบทกวี “การลำเลียงอาหารของคนแปลกหน้า” ที่กลายเป็นดังนี้

                                “สู่ยุคข้าวไร้นาปลาขอดหนอง                          ยุคหมองแห่งตำนานการแลกขาย

                                ............................................                     ...................................................

                                ข้าวถูกเรียกไปขังยังโรงสี                                  ฝูงปลาถูกต้อนพลีทุกคืนค่ำ

                                เดินทางแสนไกล ยถากรรม                              ความต้องการร้องสั่งเพิ่มจำนวน

                                คลังอาหารเติบใหญ่ใช่แค่หิว                            รับรู้ เพียงเปลือกผิวความผันผวน

                                จึงหมู่บ้านทั้งสาแหรกแตกขบวน                    จึงส่งทอดครบถ้วนวิถีเมือง”

                                                                                                                (พลัง  เพียงพิรุฬห์, 2556: 89-91)

                ดูเหมือนความเศร้าในบทกวีข้างต้นเป็นผลกระทบมาจากความเปลี่ยนแปลงจากชนบทไหลสู่เมือง และเมืองจึงส่งต่อความหมายผ่าน “ยุค” คืนชนบทไม่ให้เหลือเค้าของวิถีเดิมแบบ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” อีกต่อไป ผู้อ่านอาจจะมองเห็นถึงความสัมพันธ์ของลูกโซ่ที่ขาดไร้สายใยบางอย่างระหว่างความเรียบง่ายกับฟุ้งเฟ้อ และพอเพียงกับเรียกร้องต้องการ ที่สุดท้ายชนบทกำลังถูกเมืองกลืนกินจากความเจริญทางเทคโนโลยี การคมนาคม เศรษฐกิจและโลกาภิวัตน์

                 ก่อนจะกล่าวถึงส่วน “เหงา” กวีส่งต่อความเศร้าในบทกวีปิด “ไม่มีเสียงผิวปากในลำน้ำ” ซึ่งให้อารมณ์ความรู้สึกแบบโหยหาอดีต โดยใช้ “เรา” เป็นผู้เล่าเรื่อง ราชบัณฑิตยสถาน (2556: 1,013) หมายถึง สรรพนามบุรุษที่ 1 เป็นคำแทนตัวผู้พูด จะเป็นคนเดียวรือหลายคนก็ได้ ถ้าผู้อ่านเป็นคนเดียว อาจพูดแทนคนอื่น ๆ รวมทั้งตัวเงด้วย ในที่นี้จึงหมายรวมถึงกวีและผู้อ่าน

               “สังคมหมกมุ่นขุ่นเคือง ทุกข์ถ่ายเทมาจากเมือง” จึงหลงเหลือแค่แม่น้ำชราที่ไร้จิตวิญญาณหวานหอมแห่งอดีต สุดท้ายต้องบิดกายปวดซ่านอนาถาจนมิอาจหนักแน่นในวิถี สื่ออารมณ์เศร้าและเหงา หากอยู่ต่อหน้าแม่น้ำที่ครั้งหนึ่งเคยอุดมสมบูรณ์ ใน บทกวี “การบิดกายของสายน้ำโบราณ” หรือความเชื่อที่ไม่แปลกใหม่ในยุคปัจจุบันผ่านสื่อออนไลน์ ในบทกวี “ศาลเจ้าปู่ตากับเฟซบุ๊ก” เช่นเดียวกับภาพสวนที่เคยมีแต่กลับว่างเปล่า ในบทกวี “การล่องลอยแห่งสวนอันรื่นรมย์” หรือการพังทลายลงของบ้าน เพราะกองทัพปลวกที่ทำให้มองเห็นถึงความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่ง หรือ “จึงปล่อยปลง... ข้าพเจ้า ควรเข้าใจ” ในบทกวี “หลังแนวป่าละเมาะ” หรือ การหายไปของหมู่บ้านเล็กเล็กที่ “ไม่สลักสำคัญไปกว่านี้” ในบทกวี “หมู่บ้านแห่งหนึ่งในระบบสุริยะจักรวาล” เป็นต้น

                 ข้อสังเกตในส่วนของ “เหงา” ดูเหมือนร่องรอยอารมณ์ของบทกวีจะไม่ค่อยเหงา ออกไปทางเศร้าเสียมากกว่า

ในส่วนของ “สู้” เปิดด้วยบทกวี “ทุ่งถลาบิน” ที่แสดงถึงการต่อสู้ระหว่างนกกับธรรมชาติเกรี้ยวกราด เช่นเดียวกับสองเด็กชายในบทกวี “คืนพายุกับมะม่วงป่า” ที่พ่ายแพ้ให้กับความโหดร้ายของธรรมชาติ ซึ่งทั้งสองบทกวีสื่ออารมณ์ได้อย่างสะเทือนใจในระดับหนึ่ง

                 นอกจากนี้ยังเห็นการเดินทางของชีวิตบนถนนคนละสาย ในบทกวี “ถนนประวัติศาสตร์สายนั้นทอดมาตรงหน้าบ้าน” ที่ต้องดิ้นรน ต่อสู้กับผู้คนต่างสังเวียน ในบทกวี “กระสอบใบแรก” เพราะต่างเติบโตมาด้วยกันในโลกใบนี้

                                “เราต่างเติบโตมาด้วยกัน                                   ดำรงกายล่วงคืนวันอันเข้มข้น

                                เรียนรู้ชีวิตจริงสิ่งดิ้นรน                                    ปรับตัวฝึกตนหนทางไกล

                                ต่างต่อสู้ทำกินถิ่นที่อยู่                                        ต่างแฝงกาย ต่างรับรู้สู่สมัย

                                ต่างซ่อนตัวต่างการงานแห่งวันวัย                   สุขและเศร้า ต่างเข้าใจได้เห็นจริง”

                                                                                                                (พลัง  เพียงพิรุฬห์, 2556: 131-133)

               จากเนื้อหาในบทกวีดังกล่าว นอกจากกวีจะสะท้อนความหมายว่าเราทุกคนเกิดมาร่วมโลกใบเดียวกัน แม้ต่างสถานที่ เงื่อนไข ชาติ ศาสนา ภาษา แต่ก็มีหัวใจที่ต้องตระหนักรู้ทุกสิ่งที่เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง อีกทั้งต้องพบและพราก สุขและเศร้าตามแต่วิถีชีวิตที่เลือกอย่างไม่ยอมแพ้หรือจำนน หรืออาจต้องปรับตัวในบทกวี “หมู่บ้านยุคหลังสมัยใหม่” หรืออย่าปล่อยให้วิถีแห่งหัวใจโลดเต้นตามกระแสที่แปรเปลี่ยน ในบทกวี “ผู้หายหน้าและผู้มาใหม่” แม้ว่าบางคนจะกลับมาบ้านเก่าเพื่อไปอยู่บ้านใหม่ในต่างแดน ในบทกวี “นารีมโนรมย์” แต่บางคนยังอพยพไปเมืองหลวงหรือที่อื่นด้วยความหวังไม่ท้อถอย ในบทกวี “การอพยพของนักใช้ชีวิต”

                รวมบทกวี “โลกใบเล็ก” ของ พลัง  เพียงพิรุฬห์ มีความโดดเด่นในการเล่นคำ ในลักษณะกลบทร้อยคำสัมผัสตกหรือกลบทย้ำเสียง คือการซ้ำเสียงพยัญชนะเพื่อสร้างความไพเราะของเสียงตามขนบการแต่งวรรณคดีไทย เช่น “ขอบคุ้งโค้งคดสองฟากข้าง” “ทิวาวารวาดตะวันมั่นฝากไว้” “เมฆลายแตกรานร่องรอยลม” “บ้านหลังนั้นหันหน้าสู่ลำน้ำ” เป็นต้น และการซ้ำคำ คือ การใช้คำคำเดียวกันซ้ำในคำประพันธ์ อาจจะวางไว้ติดกันแบบคำซ้ำ หรือวางไว้แยกจากกัน แต่เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยความหมายของคำที่ซ้ำนั้นจะต้องไม่เปลี่ยนแปลง เช่น

                                นกเอ๋ยนกน้อยน้อย                                            โดดผล็อยผล็อยโบยบินผินหลัง

                                ขยับหย็อยหย็อยระแวงระวัง                           ปรารถนานิ่งฟังอย่างตั้งใจ

                                หวีดวิบวิบ วี้วี้ กระปรี้กระเปร่า                       โบกปีเหลืองเทาสั่นไหวไหว

                                                                                                                (พลัง  เพียงพิรุฬห์, 2556: 53)

          การใช้คำก่อจินตภาพ (figure of speech) ทั้งภาพ กลิ่น สัมผัสจากธรรมชาติอันพิสุทธิ์

                                “เย็นยามเพลงลมพรมทุ่งโล่ง                           ฟ้าโปร่งน้อมนอบลงปลอบค่ำ

                                หอมฝุ่นอายดินถิ่นลำนำ                                    ฝูงความย่างย่ำอยู่ย้ำรอย

                                กลางนาฏกรรมอันแสนธรรมดา                      เหล่าลูกยางเริงร่าปลิวปลดปล่อย

                                พรายพลิ้วลิ่วควงลาวงทยอย                              ประดิดประดอยสร้อยสายลม”

                                                                                                                (พลัง  เพียงพิรุฬห์, 2556: 55)        

                 จากตัวอย่างข้างต้น นอกจากจินตภาพที่กวีต้องการสื่อแล้ว บทกวีชิ้นนี้ยังใช้ภาพพจน์บุคคลวัต (personification) คำว่า “น้อมนอบ” และ “ปลอบ” เป็นอาการของฟ้าโปร่งที่หมอบย่อลงมาปลอบโยนฟ้าค่ำให้คลายหม่นหมอง ซึ่งมีความงดงามทางวรรณศิลป์ และ “เหล่าลูกยางเริงร่า” คือ การเปรียบให้ลูกยางมีอาการเริงร่า สนุกสนานเมื่อปลิวตามสายลม

               รวมบทกวี “โลกใบเล็ก” ของ พลัง  เพียงพิรุฬห์ นำเสนอด้วยถ้อยคำเรียบง่าย ผ่านเรื่องเล่าที่ใช้อารมณ์เป็นเครื่องมือสื่อสารให้ผู้อ่านตระหนักถึงความรักและคุณค่าของทรัพยากรจากถิ่นฐานบ้านเกิด ธรรมชาติในวัยเยาว์ วีถีคนชนบทและการพลัดถิ่นที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและกาลเวลา ทั้งผลกระทบจากโลกภายนอกและโลกภายในของผู้คนเหล่านั้นที่ต่างเรียนรู้ ต่อสู้ ดิ้นรน เพื่อปรับตัวและหัวใจให้เท่าทันกับกระแสโลกาภิวัตน์ (globalization)

               แม้โดยภาพรวม พลัง  เพียงพิรุฬห์ไม่ได้นำเสนอภาพและแนวคิดบทกวีแปลกใหม่นัก แต่ก็แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดที่แตกต่าง จากโลกอีกใบที่กวีได้นำพาผู้อ่านไปสัมผัสมุมมอง เรื่องราว และมิติชีวิตผ่านสายตาและอารมณ์ รัก เศร้า เหงา และสู้ อันเกิดจากความฝันในการก่อร่างสร้างมิติแห่งถ้อยคำที่ซื่อตรงและจริงใจ เพียงอาจไม่ลุ่มลึกหรือมีพลังกระทบใจได้มากเท่าที่ควร

 

 

บรรณานุกรม

พลัง  เพียงพิรุฬห์ (นามแฝง). โลกใบเล็ก. สกลนคร: White Monkey Publishing, 2556.

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2554. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2556.

 


 

“อีกไม่นานเราจะสูญหาย” : ความป่วยทางจิตและความตายในระบบทุนนิยม

 

         สินเงิน  สุขสมปองและคณะ (2559:30) กล่าวว่า สภาพสังคมปัจจุบัน สิ่งแวดล้อมรอบตัวบุคคลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้บุคคลต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนในสังคม โดยแสดงออกมาในลักษณะความเครียด ความวิตกกังวล ความหวาดระแวงหรือจนถึงเกิดอาการซึมเศร้าได้ ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลต่อสุขภาพจิตของประชากรที่แตกต่างจากอดีต ปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชนั้นเป็นปัญหาที่มีความชุกสูงในทุกภูมิภาคทั่วโลก

         กรมสุขภาพจิตได้ประเมินว่าปัญหาสุขภาพจิตที่น่าจะเป็นปัญหาสำคัญสำหรับอนาคตของประเทศไทย 5 อันดับแรก คือ 1.โรคซึมเศร้า (depression) 2.โรคจิตเภท (schizophrenia) 3.โรควิตกกังวล (anxiety) 4.โรคจิตเวชอันเนื่องมาจากการใช้สารเสพติด (substance induced mental illness) 5.โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว (bipolar disorder)

        บทความนี้มุ่งนำเสนอ ความป่วยทางจิตในระบบทุนนิยม ในนวนิยายเรื่อง “อีกไม่นานเราจะสูญหาย” ของ อ้อมแก้ว  กัลยาณพงศ์ เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปี 2561 โดยจะวิเคราะห์ปมเอดิปุสจากการกินเนื้อมนุษย์ การแสวงหาตัวตนผ่านสื่อและโรคจิตเภทที่ได้รับผลกระทบจากระบบทุนนิยม จนทำให้ชีวิตของตัวละครไร้สุขและแปลกแยกในสังคม สุดท้ายตัวละครจะหลีกหนีจากระบบนี้ได้หรือไม่ และความตายมีส่วนทำให้ตัวละครได้เรียนรู้อะไรบ้าง

 

         ปมเอดิปุสจากการกินเนื้อคนและการสร้างตัวตนผ่านสื่อ

         “อีกไม่นานเราจะสูญหาย” ของ อ้อมแก้ว  กัลยาณพงศ์ ผู้เขียนเปิดเรื่องโดยให้ “เสียงพูดบนหน้ากระดาษ” เป็นผู้เล่าเรื่องย้อนความทรงจำ เมื่อชินตาและน้องชายวิ่งเล่นในทุ่งข้าวแล้วพลัดไปพบเด็กชายที่มัดพ่อไว้บนเก้าอี้และชวนเธอกินเนื้อแม่ และให้ “ฉัน” เป็นผู้เล่าเรื่องต่อมา

       “จอม เด็กชายข้างบ้านที่ฆ่าแม่ตัวเองแล้วเอาเนื้อมาทอดกิน เด็กชายผู้โดนแม่หวดด้วยกิ่งมะยมเสียจนเลือดซึมจากแผลปริแตก เสียงร้องโหยหวนแทบทุกวัน เขาโดนเฆี่ยนบ่อยเสียจนน่าจะโกรธจนทนไม่ไหว จนแล่เนื้อเถือหนังแม่ตัวเองแล้วเอามาทำอาหารกิน แถมยังแบ่งให้พ่อผู้ไม่รู้เรื่องรู้ราวกินด้วย” (น.35)

         ข้อความข้างต้น อ้อมแก้วแฝงปมเอดิปุส (Oedipus complex) ที่กล่าวถึงเรื่องเพศและความรุนแรงระหว่างบุคคลในครอบครัวเดียวกัน ทั้งนี้การที่แม่ทำร้ายลูกแทบทุกวันจนสร้างความเก็บกดให้ลูกฆ่าแม่ สะท้อนความซับซ้อนและแรงปรารถนาในใจของมนุษย์ที่มีความขัดแย้งภายในจิตไร้สำนึก อีกทั้งการแบ่งเนื้อแม่ให้พ่อผู้ไม่รู้เรื่องรู้ราวกิน ยังสะท้อนความต้องการเอาชนะ เป็นอิสระเหนือการควบคุมของพ่อแม่ และอาจถึงขั้นต้องการเป็นใหญ่เหนือพ่อด้วย

         ชินมีชีวิตที่พบกับความเจ็บปวดกับผู้ชายที่ไม่เอาไหนคนหนึ่ง เป็นความสัมพันธ์แบบลักลั่น ไม่ผูกมัดกันและกัน ซึ่งเกิดขึ้นกับผู้ชายคนต่อ ๆ มาด้วย เธอทำงานเป็นผู้จัดการแกลเลอรีและมีสายตาวิพากษ์สิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างคนช่างสังเกต ต่อมาได้พบกับจอมโดยบังเอิญ เด็กชายข้างบ้านที่ฆ่าแม่และกินเนื้อคน (cannibalism) เขาชวนเธอเขียนหนังสือถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นราว 20 ปีที่แล้ว และเธอก็ตัดสินใจร่วมงานด้วย มันประสบความสำเร็จเกินคาดหมาย แต่ความสัมพันธ์กับคนรักต้องขาดสะบั้นลง

         “เราเชื่อว่าเธอรู้เรื่องการตลาด... ลองคิดดูสิ ฆาตกรเด็กกับพยานปากเอกออกมาเปิดเผยความจริงจากเหตุการณ์ช็อกระดับประเทศเมื่อ 21 ปีที่แล้ว ใครบ้างมันจะไม่อยากฟัง เราจะไม่ได้พิมพ์แค่หนังสือขาย แต่เราจะออกทีวี รายการวิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร” (น.36-37)

         ข้อความข้างต้น ดูเหมือนปัจจัยทางเศรษฐกิจและสภาพสังคมจะเป็นบริบทที่ช่วยอธิบายปรากฏการณ์ที่ตัวละครกำลังเผชิญอยู่ การใช้สื่อนำเสนอเรื่องราวสยองขวัญที่เกิดขึ้นจริงในอดีต จึงสะท้อนยุคบริโภคนิยมที่อำนาจทุนและการตลาด (marketing) สามารถสร้างภาพ ความจอมปลอม คำโกหกหลอกลวง หรือความจริงอันบิดเบี้ยวได้ การใช้เทคโนโลยีและการเคลื่อนที่ของทุนสามารถสร้างหรือทำลายความทรงจำและจิตวิญญาณของตัวละครที่อาจกำลังตามหาตัวตนในอดีตหรือหลงอยู่กับชื่อเสียงเงินทองในปัจจุบัน

         ทั้งนี้ อ้อมแก้วใช้พื้นที่ “เมือง” เสนอภาพทุนนิยมหลังสมัยใหม่ (postmodern capitalism) ที่อธิบายวัฒนธรรมการบริโภค โดยเฉพาะการสื่อสารซึ่งมนุษย์ต่างถูกครอบงำในชีวิตประจำวัน

 

         ความป่วยทางจิตในระบบทุนนิยม

          ชินกลายเป็นคนดังจากรายการทีวีและสื่อต่าง ๆ พอกระแสซบเซาจึงกลับมาอยู่บ้านที่แม่มีอาการป่วยทางจิต เห็นภาพหลอนและเสียงประหลาด ทั้งน้องชายที่อายุห่างกันสองปีซึ่งเป็นนักออกแบบภายในควบคู่กับการลงทุนทางการเงินยังป่วยด้วยโรคซึมเศร้า เบื่อหน่ายผู้คนและสังคม เริ่มเก็บตัวโดดเดี่ยว ไม่ยอมออกไปไหน ลาออกจากงานเพราะต้องดูแลแม่ที่มีอาการคลั่งบ้า ชอบดุด่าอาละวาดกลางดึก จนเขาฆ่าตัวตายหลังเก็บกดอดทนมานาน

         เก่งกิจ  กิติเรียงลาภ (2561:183) กล่าวว่า โรคซึมเศร้า หมายถึง การที่มนุษย์อยู่ในสภาวะที่ขาดการสัมผัสกับผู้อื่นในโลกจริง เมื่อมนุษย์ไม่สามารถใช้สัมผัสหรือแม้กระทั่งรับรู้สัมผัสได้ ส่งผลให้การสื่อสารและการกระทำทางสังคมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจาก “อาการซึมเศร้ามีที่มาจากความจริงที่ว่า เราไม่มีพลังงานทางอารมณ์ ร่างกายและปัญญามากเพียงพอที่จะรองรับจังหวะของการใช้ชีวิตที่ถูกยัดเยียดและทับถมมาจากการแข่งขันและเราไม่สามารถอดกลั้นต่อความตึงเครียดในระดับเคมีได้เป็นระยะเวลายาวนาน” นั่นเอง

         ดังนั้น พ่อผู้ถูกความชอบธรรมหลงลืม แม่ผู้มีอาการป่วยทางจิต โชผู้สูญสลาย ชินผู้ปวดร้าว เม่ยผู้พ่ายแพ้ สิงห์ผู้ทำให้คนอื่นรักไม่ได้ ล้วนเป็นตัวละครที่ได้รับผลกระทบจากทุนนิยมที่ตัวตนของแต่ละคน (รวมถึงวิญญาณ) อยู่ในสภาวะที่แตกกระจายเป็นส่วนเสี้ยว จนไม่อาจประกอบใหม่และสร้างความรับรู้ในตัวตนของตนเองได้อีก

         เก่งกิจ  กิติเรียงลาภ (2561:190) กล่าวว่า “อาการป่วยทางจิตของผู้คนภายใต้ระบบทุนนิยมสัญญะมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ อาการตื่นตระหนกและอาการซึมเศร้า อาการป่วยทางจิตดังกล่าวคือ ภาพสะท้อนของการไม่สามารถประกอบสร้างตัวตนของตนเองได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็หมกมุ่นกับการปกป้องรักษาและแสวงหาตัวตนภายใต้ซากปรักหักพังของเวลา”

         ระบบทุนนิยมจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แม้ว่าระบบนี้จะมีส่วนเพิ่มความสะดวกสบายในชีวิต แต่ก็ทำลายคุณภาพความเป็นคนหรือสร้างความป่วยไข้ทางจิต อีกทั้งความเจริญทางเศรษฐกิจยังสร้างมลพิษให้เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย ที่สำคัญระบบทุนนิยมเป็นตัวการสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับมนุษย์ ผลิตซ้ำความสัมพันธ์แบบชนชั้นจนเกิดสภาวะแปลกแยกโดยเฉพาะกับผู้ใช้แรงงาน

 

         ดวงจันทร์ สิงคโปร์และแบล็คโฮลสกายกับพื้นที่และสถานการณ์แห่งการหลีกหนีทุนนิยม

หลังโชตาย ชินคบกับเชน ศิลปินหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงและเธอกลับเข้าทำงานที่แกลเลอรีเดิมอีกครั้ง เป็นสาเหตุให้ต้องเดินทางไปสิงคโปร์เพื่อทำหน้าที่เจรจาและสำรวจพื้นที่จัดแสดงเทศกาลศิลปะ ระหว่างนั้นเกิดเหตุการณ์แบล็คโฮลสกาย (BHS) ขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีลักษณะเหนือจริง (surreal) จนชินรู้สึกตั้งคำถาม

          “เด็กทุกคนก็ช่างจินตนาการทั้งนั้นละ โตขึ้นมาก็หลงลืมความฝันไปตามระบบสังคมที่หล่อหลอมไม่ใช่เหรอ คงไม่ใช่เราคนเดียวหรอกที่คิดว่าพระจันทร์เคยวิ่งตาม เธอจะบอกว่าสังคมไม่ดีอย่างนั้นเหรอ ไม่หรอก ระบบสังคมไม่มีชีวิต มนุษย์ต่างหากที่หลอมตัวเองเข้ากับระบบจนมันกลายเป็นพลวัตที่เคลื่อนไหวอย่างควบคุมไม่ได้ และเมื่อถึงเวลาตายก็ต้องไปอยู่กับระบอบอื่น หรือไปเกิดใหม่ วนเวียนอยู่ในสังคมแบบเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า” (น.109)

         ข้อความข้างต้น ชินยังอยู่ในโลกทุนนิยมที่ความสัมพันธ์ระหว่างกันนั้นห่างเหิน แต่ลึก ๆ แล้ว เธอยังโหยหาสายสัมพันธ์อยู่ ไม่ว่าจะเป็นคนรัก ครอบครัวหรือสังคม และต้องการผูกโยงตนเองเข้ากับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพราะสิ่งที่ชินขาดหายไปคืออารมณ์ความรู้สึกร่วมกับคนอื่น ๆ ในสังคม อันเนื่องมาจากความโดดเดี่ยวแปลกแยก การจ้องดวงจันทร์ซึ่งสื่อสารถึงจินตนาการที่เคยหล่อหลอมให้เธอเชื่อว่าพระจันทร์วิ่งตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว พระจันทร์ไม่เคยวิ่งตามใคร กลายเป็นว่าความสัมพันธ์ของมนุษย์อยู่ในรูปของสัญญะที่ล่องลอยและต้องการเชื่อมต่อความหมายกับสิ่งอื่น เมื่อชินโตขึ้นและรู้ว่าพระจันทร์ไม่เคยวิ่งตามใครในโลกนี้ สัญญะที่ไม่มีความหมายแท้จริงจึงไม่อาจเติมเต็มความหมายกับใครได้ แต่ต้องปรับเปลี่ยนความหมายไปเรื่อย ๆ เพื่อหาสิ่งเชื่อมโยง ที่สุดท้ายทุนนิยมได้คุกคามและทำลายอัตลักษณ์ (identity) และสร้างมายาคติ (myth) ขึ้นมาหลอกลวงให้คนในสังคมไม่รู้สึกตัวและดำเนินชีวิตวนเวียนอยู่ในกรอบของสังคมในรูปแบบเดิมต่อไป

         เหตุการณ์แบล็คโฮลสกายที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทย ขยายใหญ่คลุมทั่วท้องฟ้า รวมทั้งประเทศสิงคโปร์ที่ชินไปทำงาน และยังเกิดเหตุการณ์ Doomsday 2023 (DD23X) ขึ้น อันเป็นภัยธรรมชาติรูปแบบใหม่ ทำให้ชินครุ่นคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะกลับประเทศไทยได้ จนเวลาล่วงผ่านไปกว่าสองปี

         ไม่ว่าตัวละครชิน เชนและท็อท (ตัวละครต่างชาติที่ชินพบและมีความสัมพันธ์กันที่สิงคโปร์) ต่างล้วนอยู่ในพื้นที่ของสังคมทุนนิยมที่ประสบปัญหาการดำรงอยู่ในสังคมนั้นและพยายามหาช่องทางหลีกหนี โดยพื้นที่ที่หลีกหนีจะปรากฏความเหนือจริงของเหตุการณ์ ซึ่งทำให้ตัวละครติดอยู่ แต่ในโลกของความเป็นจริง หลังเหตุการณ์แบล็คโฮลสกายผ่านไป โลกไม่พบกับจุดจบ จึงทำให้เกิดการคลายปมปัญหาและชินก็กลับมาเชื่อมสัมพันธ์กับเชนอีกครั้ง กลายเป็นว่าตัวละครไม่ได้หลีกหนีสังคมทุนนิยมได้อย่างเด็ดขาด เพราะในที่สุดชินก็กลับประเทศไทยและใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ในกรอบของระบบสังคมทุนนิยมตามเดิม

          คุณค่าจากแนวคิดเรื่องความตาย

         “อีกไม่นานเราจะสูญหาย” ของ อ้อมแก้ว  กัลยาณพงศ์ มีตัวละคร 3 ตัวที่ตาย ได้แก่ พ่อ โชและแม่ตามลำดับ ซึ่งล้วนเป็นบุคคลสำคัญในชีวิตครอบครัวของชิน

         ความตายของโชเกิดจากความกดดัน ทั้งเรื่องที่ต้องดูแลแม่ซึ่งป่วยด้วยโรคจิตเภทและการถูกคนรักเลิกรา จนกลายเป็นสาเหตุของภาวะโรคซึมเศร้า เขาจึงทำอัตวินิบาตกรรมหรือฆ่าตัวตาย

         “ใคร ๆ ก็มีเรื่องเจ็บปวดกันทั้งนั้น เธอคิดว่าเป็นคนเดียวในโลกที่มีปัญหาหรือไง เลิกเอาความทุกข์ตนเองเป็นศูนย์กลางของโลกเสียทีเถอะ… เธอจะยอมตายไปกับมันหรือไง ไอ้ความซึมเศร้าบัดซบนั่น” (น.71)

         ข้อความข้างต้น เป็นการถกเถียงกันระหว่างโชและเม่ยคนรักจนความสัมพันธ์ของทั้งคู่สิ้นสุดลง ส่งผลให้ชีวิตของโชเปราะบางและแตกร้าว ขาดความค้ำจุนทางด้านอารมณ์ รวมถึงขาดที่พึ่งทางจิตใจหรือเกิดความรู้สึกว่าไม่สามารถพึ่งพาผู้อื่นได้เมื่อต้องเผชิญหรือแบกรับปัญหานั้น กลายเป็นชนวนเหตุนำไปสู่การฆ่าตัวตายเพื่อตนเอง (egoistic suicide)

         ทั้งนี้ การขาดความเห็นใจหรือเข้าใจในปัญหาหรือความทุกข์ของโชจากเม่ยคนรักและชิน “ชินจะรู้อะไรวะในเมื่อไม่ได้อยู่ที่นี่ จะมาเข้าใจอะไร มีใครเข้าใจกูบ้าง” (น.50) ยังแสดงถึงการขาดความผูกพันระหว่างปัจเจกบุคคลและครอบครัว จนทำให้โชรู้สึกว่าชีวิตของตนไร้ค่า

         ส่วนพ่อหรือผม ผู้เล่าเรื่องถึงความตายของตนเองย้อนอดีต ในรูปของวิญญาณผ่านกระแสสำนึก ที่เกิดความขัดแย้งภายในจิตใจเพราะไม่ได้รับความชอบธรรมจึงจะทำการเปิดโปงบริษัทที่ทำงานซึ่งหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี แต่ก็ถูกคนขับแท็กซี่ใช้มีดแทงระหว่างไปติดต่อธนาคาร สะท้อนการกล่าวถึงความตายที่ถูกหลงลืม “การมีอยู่” ให้น่าขบคิดตีความ

         “ผมมองครอบครัว พวกเขาจะยังดิ้นรนอยู่ในสังคมที่ไม่มีความพอดี สงสัยอยู่บ้างว่าหลังจากนี้ชีวิตของแต่ละคนจะดำเนินไปในทิศทางไหน ดิ่งลงที่ต่ำหรือลอยสู่ที่สูง ผมเป็นห่วงแต่ไม่อาจแทรกแซงได้ สัตว์โลกล้วนเป็นไปตามกรรม หน้าที่ของผู้สูญสลายไปแล้วคือมองอดีตโดยไม่ยึดติด อีกไม่ช้าผมก็ต้องเดินทางกลับไปในที่ซึ่งเคยจากมา เป็นความชอบธรรมที่เหลือในชีวิตหลังความตาย” (น.159-160)

         ข้อความข้างต้น เป็นกระแสสำนึกสุดท้ายของพ่อหรือผมผู้เล่าเรื่องที่กล่าวถึงความตายเพื่ออ้างเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังความตายหรือนำไปสู่การให้คุณค่า รวมถึงอธิบายสภาวะหลังความตาย (post-modern continuation) ที่ยังคงห่วงครอบครัวและปล่อยวางในขณะเดียวกันว่า “สัตว์โลกล้วนเป็นไปตามกรรม” ซึ่งความตายที่เขาได้รับทั้งจากถูกคนขับแท็กซี่ใช้มีดแทงและครอบครัวเลือกจะเซ็นเอกสารให้เขาจากไปอย่างสงบตามคำแนะนำของหมอเจ้าของไข้ กลายเป็นความชอบธรรมที่เขาได้รับเพื่อจะได้ไม่ทรมานหรือเป็นภาระของใครอีกต่อไป เขาจึงคำนึงถึง “ชีวิตหลังความตาย” ในประโยคสุดท้าย ที่นำไปสู่คุณค่าก่อนสภาวะการหยุดทำงานของจิตและตกอยู่ในห้วงไร้สำนึก (unconsciousness) จากการใคร่ครวญอดีตเพื่อยอมรับความจริงในปัจจุบัน

         อาจกล่าวได้ว่า ความตายของทั้ง 3 ตัวละคร ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในครอบครัวของชินล้วนเป็นผลมาจากระบบทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความป่วยทางจิต การฆ่าตัวตายหรือถูกสิ่งแวดล้อมทางสังคมกดทับ การทุจริตคอรัปชั่น ที่ชินต้องเป็นผู้แบกรับความสูญเสียและเธอได้จัดการหรือเรียนรู้อะไรจากความตายนี้ กลายเป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบให้กับตัวละครที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ต่อไป

         “ฉันหยุดที่เบื้องหน้าสถูปอันหนึ่ง ภาพถ่ายของแม่ที่ติดอยู่บนสถูปน่าจะอายุราว 30 กว่าปี ใบหน้านิ่งเฉยเหมือนรูปถ่ายติดบัตรทั่วไป แม่ยังดูอ่อนวัยไร้เครื่องปรุงแต่งบนใบหน้า ฉันจินตนาการแม่ตกบันไดล้มหัวฟาดพื้น หล่อนจะโดดเดี่ยวเพียงใดกับการต้องจากไปคนเดียวโดยไม่มีใครเคียงข้างหรือกุมมือ ฉันร้องไห้ออกมาด้วยความเวทนาสงสาร เป็นการร้องไห้ให้กับความตายของแม่ครั้งแรก ไม่เข้าใจว่าทำไมที่ผ่านมาถึงไร้ความรู้สึกได้ถึงเพียงนี้” (น.164)

          ข้อความข้างต้น เป็นความรู้สึกของชินที่มีต่อแม่ผู้จากไป ซึ่งกล่าวถึงความตายเพื่อเน้นย้ำความสูญเสีย ทำให้เธอที่ยังมีชีวิตอยู่รู้สึกหวาดกลัวความตาย (fear of death) และใช้ความหวาดกลัวหรือความสูญเสียนั้นเป็นเครื่องมือตั้งคำถามเชิงคุณค่าเกี่ยวกับสภาวะความตายด้วยตนเอง

         การที่ชินรู้สึกหวาดกลัวว่าจะต้องตายอย่างโดดเดี่ยวเหมือนแม่ที่ตกบันไดลงมาหัวฟาดพื้นโดยไม่มีใครอยู่เคียงข้างหรือกุมมือเหมือนครั้งที่พ่อนอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล และความรู้สึกเวทนาสงสารต่อความตายอย่างโดดเดี่ยวของแม่และโศกเศร้าจน “ฉันร้องไห้ออกมา... เป็นการร้องไห้ให้กับความตายของแม่ครั้งแรก” แสดงให้เห็นถึงความสะทกสะท้านใจจากการสูญเสียจนทำให้เธอได้ใคร่ครวญและเรียนรู้คุณค่าของการตาย เพราะเธอไม่เหลือคนสำคัญในครอบครัวให้ผูกพันยึดเหนี่ยวอีกต่อไปแล้ว

         อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกของชินที่เข้าใจต่อความตายของแม่ที่ต่างไปจากเดิมนี้เองที่มีส่วนช่วยให้เธออาจสามารถรับมือกับความตายได้ดีขึ้นในอนาคต รวมถึงใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นภายใต้เงื่อนไขความไม่แน่นอนอย่างมีสติและไม่แปลกแยก

         “อีกไม่นานเราจะสูญหาย” ของ อ้อมแก้ว  กัลยาณพงศ์ เป็นนวนิยายที่นอกจากจะมีความโดดเด่นเรื่องการใช้ภาษาแล้ว ยังให้ตัวละครหลายตัวสลับกันเล่าเรื่อง ทั้ง ฉัน(ชิน) ผม(โชและพ่อ) สะท้อนความแปลกแยกและจมปลักอยู่กับอดีต เผยสภาวะจิตที่ขัดแย้งสับสนจนป่วยไข้ในระบบทุนนิยม รวมถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับการค้นหาความรักที่แท้จริงเพื่อยึดเหนี่ยวและความแปรปรวนทางอารมณ์ที่มีภาพของสังคมร่วมสมัยปรากฏซ้อนทับอยู่

          ทั้งนี้ “อีกไม่นานเราจะสูญหาย” จึงอาจหมายถึงสภาวะภายในของเราที่ว่างเปล่าหรือการจากไปแบบไร้ตัวตนอย่างหงอยเหงาเศร้าซึม ความตายอันโดดเดี่ยวหรือการสูญหายไปจากการรับรู้ของสังคมและโลก ที่วันหนึ่งเราต้องพบกับจุดสิ้นสุดในชีวิตไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งเช่นกัน

 

บรรณานุกรม

เก่งกิจ  กิติเรียงลาภ. (2561). Aitonomia ทุนนิยมความรับรู้ แรงงานอวัตถุ การเมืองของการปฏิวัติ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพ:illuminationseditions.

เชษฐกิฎา  ชาติวิทยา. (2556). กามารมณ์ ความรัก และความตาย:ลักษณะเหนือจริงในสังคมทุนนิยมหลังสมัยใหม่ในนวนิยายของฮารุกิ  มุราคามิ. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พุทธิพงศ์  อึงคะนึงเวช. (2562). คุณค่าจากความสิ้นสูญ:แนวคิดเรื่องความตายของเคียเคอร์การ์ด จากเรื่อง “ล่องหน” และ “ตายตะแคง” ของ จิดานันท์  เหลืองเพียรสมุท. ใน หัตถกาญจน์  อารีศิลป (บรรณาธิการ). อ่าน-คิด-เขียน:รวมบทวิจารณ์วรรณกรรมของนักเรียนวรรณกรรม เล่ม 3. กรุงเทพ:จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์.

รตพร  ปัทมเจริญ. (2552). การฆ่าตัวตาย:ปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม. วารสารวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์.5(2):7-24.

สินเงิน  สุขสมปองและคณะ. (2559). ความชุกของโรคจิตเวชในสังคมเมืองและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง:การทบทวนวรรณกรรม. วารสารสวนปรุง. 32(1):28-41.

อ้อมแก้ว  กัลยาณพงศ์. (2561). อีกไม่นานเราจะสูญหาย. นครปฐม:เม่นวรรณกรรม.

 


 

เพศสภาพและบทบาทของผู้หญิงในรวมเรื่องสั้น “เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม”

 

          ในสังคมมนุษย์แบ่งเพศตามสรีระร่างกายออกเป็นเพศชาย (Male) และเพศหญิง (Female) โดยกำหนดให้เพศชายมีหน้าที่ตามรูปร่างที่ธรรมชาติกำหนดคือเป็นผู้ปกป้องดูแล ขณะที่เพศหญิงถูกสังคมกำหนดให้เป็นผู้ช่วยเหลือ ผู้สนับสนุนและรับการดูแลจากเพศชาย การกำหนดบทบาทดังกล่าวทำให้สังคมต่าง ๆ ถ่ายทอดวัฒนธรรมและแบบแผนทางสังคมจากรุ่นสู่รุ่น แต่อีกมุมหนึ่งการกำหนดบทบาทหน้าที่ดังกล่าว เป็นการปิดกั้นศักยภาพและความสามารถของผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถแสดงออกถึงความสามารถที่มีอยู่ได้ สังคมทุกวันนี้จึงมี ความเหลื่อมล้ำทางเพศ

          กาญจนา  วิชญาปกรณ์ (2554:6) กล่าวว่า เพศ (sex) หมายถึง ความแตกต่างทางสรีระ ความเป็นเพศหรือเพศสภาพ (gender) หมายถึง องค์ความรู้ที่สร้างความหมายให้กับความแตกต่างของร่างกาย เป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและจิตวิทยาระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ความเป็นเพศเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสังคม เป็นการจัดการทางสังคมของความแตกต่างระหว่างเพศในด้านต่าง ๆ ความเป็นเพศเป็นพฤติกรรมที่ต้องเรียนรู้ทางสังคมและความคาดหวังของสังคมที่สัมพันธ์กับเพศสองเพศ

          ความแตกต่างทางสรีระระหว่างเพศหญิงและชายได้นำไปสู่ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงมีความแตกต่างจากผู้ชาย นำไปสู่การกำหนดบทบาทหน้าที่ รวมทั้งสถานภาพสูงต่ำที่แตกต่างกันของคนทั้งสองเพศ ซึ่งทำให้สถานะของผู้หญิงด้อยกว่าผู้ชาย เช่น ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงมีคุณสมบัติหรือความสามารถทางเพศในการดูแลผู้อื่น ทำให้ผู้หญิงต้องเป็นผู้รับภาระการดูแลบุตรและคนในครอบครัว เป็นต้น เมื่อสังคมมีการยอมรับในเรื่องสิทธิมนุษยชนซึ่งเปิดโอกาสให้สตรีได้ศึกษาและทำงานนอกบ้านเช่นเดียวกับผู้ชาย จึงเกิดความคิดเรื่องสิทธิสตรีหรือสตรีนิยมขึ้น

แม้ว่าเพศและมิติหญิงชายจะมีความแตกต่างกัน แต่ก็มีความเชื่อมโยงกัน เพราะการศึกษาเรื่องเพศ นอกจากจะต้องศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติและการแสดงออกของพฤติกรรมทางเพศแล้ว ยังต้องศึกษาถึงความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องของเพศกับมิติหญิงและชายอีกด้วย เพราะจะทำให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างมนุษย์มากขึ้น

          รวมเรื่องสั้น “เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม” ของ นทธี  ศศิวิมล นักเขียนรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดและรางวัลสุภาว์  เทวกุลฯ ประกอบด้วยเรื่องสั้นจำนวน 8 เรื่อง ได้แก่ ลูกของลูกสาว ดอยรวก เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม ควัน หาย กระต่ายตายแล้ว เธอ...ฉัน...อีกะหรี่และเดอะโชว์มัสต์โกออน ซึ่งเนื้อหาสาระสำคัญภายในเล่มเป็นการเขียนถึงสถานภาพของผู้หญิงตามบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันไป โดยบทวิจารณ์ชิ้นนี้จะวิเคราะห์บทบาทของผู้หญิงผ่านตัวละครผู้เล่าเรื่อง ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ บทบาทของผู้หญิงกับผู้หญิง บทบาทของผู้หญิงกับความเป็นภรรยาและบทบาทของผู้หญิงกับความเป็นแม่

 

1.บทบาทของผู้หญิงกับผู้หญิง

          เรื่องสั้น “ดอยรวก” ผู้เขียนกล่าวถึงสถานที่จริง ถนนสายตาก-แม่สอดและเหตุการณ์เกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่ามาสะท้อนได้อย่างสะเทือนอารมณ์ นอกจากตัวละครเด็กสาวต่างด้าวสองพี่น้องจะถูกกระทำโดยขบวนการค้ามนุษย์แล้ว ยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำซ้ำด้วย

         ตัวละครสำคัญอีกตัวที่ไม่อาจมองข้ามคือหญิงวัยกลางคนผู้ร่วมโดยสารมากับรถคันนี้และเป็นผู้เล่าเรื่องที่เป็นพยาน (withness narrator) เธอสงสารและเห็นใจในชะตากรรมของเด็กสาวต่างด้าวทั้งสองคนที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และหนึ่งในนั้นก็กำลังป่วย เธอจึงเขียนเบอร์โทรศัพท์ให้เพื่อติดต่อเข้าแจ้งความ แต่เหตุการณ์กลับพลิกผันเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐผู้รับเรื่องเป็นหนึ่งในผู้ร่วมขบวนการค้ามนุษย์ด้วย ความช่วยเหลือของหญิงวัยกลางคนจึงไม่สัมฤทธิ์ผลและเหมือนจะเคราะห์ซ้ำกรรมซัดให้ตัวเธอเองต้องกลายเป็นผู้ถูกกระทำในภายหลัง

         ผู้เขียนล้อเหตุการณ์ในเรื่องสั้นกับบรรยากาศฉากธรรมชาติที่สวยงามกับเรื่องเล่าดอยรวกที่เต็มไปด้วยอันตราย อุบัติเหตุและความตายอันเป็นภาพตรงข้ามกับพฤติกรรมของมนุษย์ได้อย่างมีชั้นเชิงวรรณศิลป์

         ส่วนเรื่อง “เธอ...ฉัน...อีกะหรี่” ผู้เขียนให้ “ฉัน” เป็นผู้เล่าเรื่องที่ประสบพบมา (character narrator) กับความจริงที่ถูกปกปิด เมื่อชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งไปมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับผู้ชายที่มีภรรยาแล้ว และได้พาเธอเข้ามาอยู่ร่วมชายคาบ้านเดียวกัน กลายเป็นเรื่องรักสามเส้าของผู้หญิงสองคนในฐานะภรรยาที่ตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกจากความเห็นแก่ตัวของผู้ชายคนหนึ่งชีวิตของผู้หญิงทั้งสองคนจึงตกอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำ ต่างกันตรงที่นิ่มถูกกดข่มจากคนเพศเดียวกันด้วยคำว่า “อีกะหรี่” และแม้ภายหลังแอนก็ยอมรับเมื่อถูกเขากดขี่และข่มเหงน้ำใจว่า “กะหรี่...กะหรี่ทั้งนั้น...ทั้งเธอ...ฉัน...ทุกคน...กะหรี่ทั้งนั้นเลย...” (นทธี  ศศิวิมล,2555:102)ข้อความข้างต้น นอกจากจะสะท้อนความคิดและความจริงเบื้องหน้าแล้ว คำกล่าวนี้ยังลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีผู้หญิงอีกด้วย แต่หากมองในมุมกลับ ภาพของผู้หญิงทั้งสองคนตกอยู่ในสังคมที่มีผู้ชายเป็นใหญ่หรือระบอบปิตาธิปไตย (patriarchy) นั่นเอง  การอยู่ร่วมชายคาเดียวกันของผู้หญิงสองคนทำให้บรรยากาศในบ้านชวนอึดอัดและแอนเลือกผูกคอตายหนีปัญหา แต่นิ่มเลือกที่จะช่วยชีวิตแอน มันอาจหมายถึงมนุษยธรรมหรือความเห็นอกเห็นใจในเพศเดียวกัน ซึ่งผู้เขียนสร้างภาพของแม่ที่กำลังให้กำเนิดลูกที่ต้องโยนเชือกออกแรงเบ่งแบบในหนังย้อนยุค เปรียบเทียบกับอาการกระเสือกกระสนของแอนที่จะไขว่คว้าหาที่ยึดเหนี่ยวชีวิตตนเอง ที่สื่อถึงชะตากรรมของผู้หญิงที่ไม่มีทางเลือก แต่สุดท้ายนิ่มก็ตัดสินใจหาทางออกให้กับชีวิตของตนและลูกในท้องด้วยการกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด โดยที่ผู้ชายตัวต้นเหตุคนที่เธอและฉันรักไม่รู้

          ดูเหมือนชะตาชีวิตของโก้ ในเรื่องสั้น “กระต่ายตายแล้ว” จะไม่ต่างจากชีวิตของนิ่ม ในเรื่องสั้น “เธอ...ฉัน...อีกะหรี่” แต่โก้ถูกคำพูดและการกระทำของแม่กดข่มและถูกเจ็งกับลูกชายป้าเจ้าของบ้านเช่ากดขี่ข่มขืน นอกจากนี้ โก้ยังตกอยู่ในวังวนความกระหายของโลกจากการทำงานในร้านฟาสต์ฟู้ดที่แสนลำบาก และยังตกอยู่ในห้วงฝันร้ายจากความทรงจำวัยเยาว์ โดยมีกระต่ายเป็นสัญลักษณ์ (symbol) ที่เธอเลี้ยงไว้และตายครั้งแล้วครั้งเล่า โดยที่เธอ“ยังหาคำตอบที่ดีพอมาตอบตัวเองไม่ได้ เพราะอะไร” (นทธี  ศศิวิมล,2555:82)  ผู้เขียนให้ฉันหรือโก้เป็นผู้เล่าเรื่องที่ตนประสบพบมา (character narrator) โดยสะท้อนให้เห็นสภาพชีวิตของตัวละครที่ถูกสังคมและคนในครอบครัวโบยตีได้อย่างสะเทือนความรู้สึกถึงความป่วยไข้ที่คอยตอกย้ำโดยไม่รู้สาเหตุ เช่นเดียวกับความตายของกระต่าย

         ในเรื่องสั้น “เดอะโชว์มัสต์โกออน” ผู้เขียนใช้ผู้เล่าเรื่องเสมือนมีตัวตนแบบผู้รู้ (omniscient) ที่เป็นเพียง “เสียง” วิจารณ์หรือตัดสินตัวละครมาธา ผู้ถูกแม่เคี่ยวเข็ญและเข้มงวดเพื่อให้ลูกได้เป็นศิลปิน และได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงใหญ่ที่สุดในโลก หลังจากนั้นอาการป่วยของแม่ก็เริ่มต้น  ระหว่างที่มาธาตะลอนเวิร์ลทัวร์ ข่าวความตายของแม่ก็ถูกส่งผ่านทางโทรศัพท์ ผู้เขียนเปรียบภาพความสำเร็จของลูกกับความตายของแม่ผ่านกระแสความคิดของลูกได้อย่างสั่นคลอนความรู้สึก

“เครื่องช่วยหายใจที่ครอบปากแม่คงถูกถอดออกไล่เลี่ยกับตอนที่เธอหายใจเข้าเฮือกใหญ่ เพื่อเตรียมเปล่งเสียงร้องเพลงท่อนสุดท้าย” (นทธี  ศศิวิมล,2555:107)  ผู้เขียนไม่ได้บอกว่ามาธากำลังทอดทิ้งแม่ เพราะเธอจ่ายค่าดูแลแม่ในโรงพยาบาลที่ดีที่สุดและหมอที่เก่งที่สุด แต่มันไม่ได้ทำให้แม่มีอาการดีขึ้นหรือฟื้นมารับรู้ว่าลูกของตัวเองกำลังทำอะไร อยู่ที่ไหน?  เมื่อไม่มีแม่เป็นผู้บงการเธออีกต่อไป มาธากลับถูกผู้จัดการส่วนตัวกระทำซ้ำ โดยการพูดกรอกหูและใช้แม่เป็นข้ออ้างและหลักยึดเหนี่ยวเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

“นึกถึงแม่สิมาธา ถ้าแม่อยู่ตอนนี้ แม่จะอยากให้มาธาทำแบบไหน แม่จะอยากให้มาธาทำอะไร ถึงจะทำให้แม่ไม่ผิดหวัง” (นทธี  ศศิวิมล,2555:113)

         สุดท้าย ผู้เขียนจบเรื่องสั้นนี้แบบหักมุม (twist ending) โดยใช้ความตายของแม่สร้างเรตติ้งให้กับภาพลักษณ์ของตัวเอง จนคนใกล้ชิดรู้สึกแปลกหน้าถึงความเปลี่ยนไปทั้งความคิดและการกระทำ เธอไม่มีเงาของแม่คอยบงการ แม่ผู้เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ โลเลเจ้าอารมณ์ แม่คนที่เธอทั้งรักและกลัว และเป็นคนที่ทำให้เธอเครียดที่สุดในโลก หลังแม่ตาย เธอจึงหลุดพ้นเป็นตัวของตัวเองเสียที

         บทบาทของผู้หญิงกับผู้หญิงที่ซ้อนทับกันในเรื่องสั้น “กระต่ายตายแล้ว” และ “เดอะโชว์มัสต์โกออน” มีมุมมองที่เชื่อมโยงแม่ไว้กับตัวละครลูกสาว โดยแม่ในเรื่องสั้น “กระต่ายตายแล้ว”เป็นผู้ผลักไสให้ลูกเป็นผู้ถูกกระทำและถูกผู้อื่นกระทำซ้ำ

“ไปนั่งเล่นห้องผม ที่จริงฉันไม่อยากทำแบบนี้เลย แต่ตอนนี้มันไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว แกจะไปหามาจากรูไหน ฉันไม่สนนะ แต่น้องมันต้องมจ่ายค่าเทอมพรุ่งนี้ เสียงแม่ดังเข้ามาในสมอง เขาสบตาฉันยิ้ม ๆอย่างมั่นใจเหมือนทุกครั้งที่ฉันตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้” (นทธี  ศศิวิมล,2555:87)  จากข้อความข้างต้น จะเห็นว่าน้ำเสียงของลูกฟังดูหดหู่และเศร้า แต่การผลักไสของแม่ ทั้งจากการกระทำและคำพูด มันกลับทำให้เธอได้ตอบแทนแม่และไม่ยอมละทิ้งแม่กับน้องสาว ซึ่งต่างจากมาธาในเรื่องสั้น “เดอะโชว์มัสต์โกออน” ที่เธอมีแม่เป็นผู้ผลักดันให้เป็นได้ดังฝันและก็ทำตามฝันตอบสนองความต้องการของแม่จนสำเร็จ แต่แม่ของเธอจะรับรู้หรือไม่ขณะที่ป่วยและตายจากไปเหมือนคนที่ถูกทอดทิ้ง““ถ้าแม่ได้รับรู้ แม่ก็จะภูมิใจ” ใช่ แม่คงภูมิใจถ้าแม่ได้เห็น แต่เมื่อแม่ตายแล้ว แม่จะเห็นจะรับรู้ได้จริงหรือ” (นทธี  ศศิวิมล,2555:109)

         จากข้อความข้างต้น เป็นคำพูดระหว่างผู้จัดการกับมาธา คล้ายจะตอกย้ำความจริงจากการกระทำที่ผ่านมาของเธอหรือเป็นการตั้งคำถามถึงสิ่งที่ทำอยู่ว่าเพื่อแม่ เพื่อตัวเองหรือเพื่อใคร

         ทั้งสองเรื่องสั้นดังกล่าว เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิงที่ยึดโยงอยู่กับคำว่า “ครอบครัว” ที่มีเฉพาะแม่กับลูกเท่านั้น ซึ่งต่างจากเรื่องสั้น “ดอยรวก” และ “เธอ...ฉัน...อีกะหรี่” ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครคือความแปลกหน้าที่ต่างมีปฏิกิริยาตอบโต้ทางอารมณ์ทั้งดีและร้าย โดยที่ตัวละครผู้หญิงในเรื่องสั้นกลุ่มนี้ (ยกเว้น “เดอะโชว์มัสต์โกออน”) ถูกเพศชายกระทำย่ำยีซ้ำซ้อนให้เพศหญิงตกอยู่กับภาวะยอมจำนน ทั้งกับความกลัว ความเก็บกดและความไม่รู้ ในฐานะ “วัตถุทางเพศ” (sexual objectification)

 

2.บทบาทของผู้หญิงกับความเป็นภรรยา

            เรื่องสั้น “ควัน” ผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยประโยคบอกเล่าในรถที่สามีภรรยากำลังกลับบ้าน แต่เกิดควันปกคลุมทัศนวิสัยรอบตัวจนไม่สามารถขับรถฝ่าไปได้ กลายเป็นปัญหาให้สองตัวละครต้องขบคิดและแก้ไขร่วมกันว่าจะหยุดรถ ขับฝ่าไปหรือถอยกลับไปตั้งหลัก จนเกิดทะเลาะถกเถียงกันในที่สุด ซึ่งนอกจากจะสื่อถึงความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาแล้ว วิธีคิดแก้ไขปัญหาตามแต่เหตุผลของตนจึงไม่ต่างจาก “ควันอารมณ์” ในรถ แต่เหตุการณ์ก็คลี่คลายเมื่อสามีภรรยาหันหน้าเข้าหากัน ยอมลดทิฐิและขอโทษกัน รวมถึงเข้าใจในอะไรบางอย่างที่เป็นรายละเอียดในชีวิตคู่ที่ไม่อาจมองข้ามได้เลย

           ผู้เขียนใช้สัญลักษณ์ (symbol) ควันสีขาว ไม่ใช่ควันสีดำที่อาจสื่อว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่ถึงขั้นรุนแรงแตกหัก เมื่อควันนอกรถจางลงพร้อมกับควันอารมณ์ในรถสงบ เหมือนว่าชีวิตของทั้งคู่กำลังจะผ่านหรือไปต่อได้อีกครั้ง ต่างจากเรื่องสั้น “หาย” ผู้เขียนให้ฉันหรือภรรยาเป็นผู้เล่าเรื่องที่ประสบพบมา (character narrator) ว่าอวัยวะในร่างกายของสามีหายไปทีละส่วน เริ่มจากอวัยวะเพศ ที่บ่งบอกถึงสถานภาพความเป็นชาย จนสุดท้ายเหลือเพียงปอยผมกระจุกหนึ่งเป็นที่ระลึก

         เรื่องสั้นดังกล่าว นำเสนอในแนวเหนือจริง (surrealism) ผ่านสัญลักษณ์ (symbol) ชิ้นส่วนของร่างกายที่หายไป ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ที่สะท้อนถึงสังคมร่วมสมัยกับวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องความรัก กับความมีตัวตนหรือไร้ตัวตนของคนรักที่ตกลงใช้ชีวิตคู่กัน แต่วันหนึ่งกลับ “หายหัวไป” ไม่ยอมใช้ชีวิตร่วมกัน จึงไม่อาจเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันได้

เรื่องราวไม่ได้เกิดขึ้นกับเธอคนเดียว แต่เกิดกับเพื่อนสนิทและชายหนุ่มในที่ทำงานที่ภรรยาหายไปเช่นกัน และไม่นานเขาก็มีความสัมพันธ์กับผู้หญิงคนใหม่

         ความเชื่อมโยงระหว่างเรื่องสั้น “ควัน” และ “หาย” คือชื่อเรื่องสั้นที่มีพยางค์เดียว แฝงความหมายและใช้สัญลักษณ์ให้ตีความถึงการมีอยู่หรือหายไปของ “ควัน” และ “อวัยวะ” ประหนึ่งความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา อย่างในเรื่องสั้น “ควัน” ที่ชีวิตคู่อาจมีกระทบกระทั่งจากความคิดและคำพูดได้ แต่สุดท้ายก็ต้องหันหน้าเข้าหากัน เพื่อให้ชีวิตขับเคลื่อนต่อไปได้ ซึ่งแฝงถึงความเป็นประชาธิปไตย (democracy) ไว้ด้วย ส่วนเรื่องสั้น “หาย” แม้เขาจะหายไปโดยไม่ล่ำลาและเธอก็ไม่รู้ว่าเขาหายไปไหน ต้องทำอย่างไร ชีวิตคู่หรือความสัมพันธ์ในเรื่องสั้นจึงขาดสะบั้นลงด้วยกาลเวลา

         นอกจากนี้ เรื่องสั้น “ควัน” และ “หาย” ยังสื่อถึงปัญหาจากชีวิตคู่กับวิธีการหาทางออกของความสัมพันธ์ที่แตกต่าง ระหว่างความสำคัญของคนในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน ที่ต้องอาศัยการสื่อสารให้เข้าใจตรงกัน

3.บทบาทของผู้หญิงกับความเป็นแม่

         เรื่องสั้น “ลูกของลูกสาว” ผู้เขียนสะท้อนปัญหาในวัยเรียนโดยให้ “ฉัน” หรือหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวละครหลัก (character narrator) ถ่ายทอดความรู้สึกด้วยเหตุผลความไม่พร้อมและอนาคตของฝ่ายชาย เธอและเขาจึงเลือกวิธีทำแท้ง กลายเป็นที่มาของเรื่องสั้นที่เล่าด้วยภาษาละเมียด นิ่งและดิ่งลึกในอารมณ์ จนสุดท้ายจิตใต้สำนึกกลับมาหลอกหลอนให้ฉันต้องป่วยและมีอาการทางจิต เธอเห็นภาพลูกสาวของเธอในมโนนึก และลูกสาวของเธอก็ตั้งท้องในวัยเรียนช่วงอายุเดียวกับเธอ ต่างเพียงลูกสาวในความคิดเลือกที่จะไม่ทำแท้ง

“แม่อย่าโกรธหนูนะคะที่หนูไม่เลือกอีกทาง หนูรักลูกหนูมาก แม้จะยังไม่เคยเห็นหน้าเขา หนูอยากให้เขาเกิดมาค่ะ หนูมั่นใจว่าเขาจะต้องเป็นคนดี แม่จะรักเขามากกว่าที่เคยรักหนูและหนูจะเป็นแม่ที่ดี แม่เชื่อหนูไหมคะ” (นทธี  ศศิวิมล,2555:10)

         จากข้อความข้างต้น ผู้เขียนเรียบเรียงถ้อยคำได้อย่างสะเทือนใจ ทั้งประโยคบอกเล่าและปิดด้วยประโยคคำถามสั้น ๆ แต่สั่นสะเทือนความรู้สึก แฝงความหมายระหว่างความรักของแม่-ลูกและลูก-แม่ ซึ่งตอกย้ำความคิดในอดีตของแม่ คล้ายรอยกรรมรอยเกวียน ที่ผู้เขียนสร้างเหตุการณ์แบบเดียวกันซ้อนขึ้นมา

“รู้อะไรไหมกร ลูกของเรา แกไม่ยอมฆ่าลูกตัวเอง ไม่ลังเลเลยด้วยซ้ำไม่เลยแม้แต่นิดเดียว” (นทธี  ศศิวิมล,2555:17)

         ข้อความข้างต้น เป็นตอนจบของเรื่องสั้นที่ทำให้ย้อนกลับไปหาสาเหตุและจุดเริ่มต้นของเรื่องที่ไม่อาจแก้ไขได้อีกแล้ว มันเป็นความรู้สึกที่แท้จริงของแม่ทุกคนที่ไม่อยากฆ่าลูกของตัวเอง

         ส่วนเรื่องสั้น “เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม” ผู้เขียนใช้ผู้เล่าเรื่องเสมือนมีตัวตนแบบรู้จำกัด (limited) ถึงความรักของแม่ที่มีต่อลูก ซึ่งยกระดับความสัมพันธ์ให้กลายเป็นความผูกพัน โดยเขียนได้อย่างทรงพลังจากบทบรรยายและพรรณนาได้อย่างเป็นธรรมชาติ อีกทั้งยังสร้างแรงสั่นไหวและความซาบซึ้งใจกับสิ่งที่แม่ทำให้ลูกด้วยความรักความเอาใจใส่ทุกรายละเอียดในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยว

          ปมความขัดแย้งของความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกเกิดขึ้นหลังเขาไปทำงาน ไม่มีเวลาให้กับเธอและห่างเหินไปทุกที การเฝ้ารอของแม่กลายเป็นเรื่องชวนทะเลาะกับลูก จนเมื่อเขานำภรรยาที่กำลังอุ้มท้องเข้ามาอยู่ในบ้าน ความริษยาของแม่กลายเป็นความกลัวว่าผู้หญิงคนนี้จะมาแย่งความรักจากลูกชายของเธอไป แม่จึงจงใจปล่อยให้ลูกสะใภ้ล้มและคลอดก่อนกำหนด มันคือจุดเปลี่ยนในชีวิตของแม่อีกครั้ง เมื่อเขาขนย้ายข้าวของออกไปอยู่ที่อื่น

           ผู้เขียนกำลังสะท้อนภาพของแม่ที่ถูกกระทำโดยพ่อ นับจากที่เขาเลือกเดินจากไปหลังปฏิเสธทารกไม่สมบูรณ์ และแม่ก็ถูกกระทำซ้ำจากลูกชายสุดที่รักที่ทอดทิ้งแม่ไปอย่างไม่ไยดี เพราะความไม่เข้าใจในการกระทำ กลายเป็นความเปราะบางในชีวิตของคนในครอบครัวนี้

         แม้ว่าตอนจบของเรื่องสั้นจะเศร้า แต่ผู้เขียนก็สร้างความเข้าใจระหว่างแม่กับลูกที่สะท้อนถึงความรักที่ไม่มีวันตายได้อย่างหมดจดงดงาม

         จุดเชื่อมโยงระหว่างเรื่องสั้น “ลูกของลูกสาว” และ “เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม” ผู้หญิงในบทบาทของภรรยาและแม่ยังเป็นผู้ถูกกระทำโดยผู้ชายหรือสามี ต่างตรงที่แม่ในเรื่องสั้น “ลูกของลูกสาว” เลือกทำร้ายลูกและลูกก็กลับมาทำร้ายแม่จนตัวเองต้องตกเลือดจนล้มป่วยและมีอาการทางจิต ซึ่งต้องพึ่งยารักษาจิตใจในวันเวลาที่เหลืออยู่ของชีวิต ส่วนแม่ในเรื่องสั้น “เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม” นั้น รักลูกมากเกินไป หวงและห่วงลูกมากเกินไป ความล้นเกินของความรักทำให้สายสัมพันธ์อันเปราะบางถึงขั้นแตกหัก จนแม่ต้องจมอยู่กับกองทุกข์ในวันที่ไม่มีใครอยู่ร่วมชายคาบ้าน เหลือไว้เพียงความทรงจำที่ดีและความฝันอันเลือนรางทุกที ตราบจนวันสุดท้ายของชีวิต

          ข้อสังเกตจากเรื่องสั้นทั้งสองเรื่อง แม้ผู้กระทำกับแม่จะเป็นคนสำคัญในชีวิตของทั้งสองครอบครัว แต่ว่าผู้กระทำเหล่านั้นก็สำนึกผิดในสิ่งที่กระทำ ถึงอาจจะสายไปบ้างก็ตาม เช่น “ผมรักหนึ่งมาก ตอนนี้เราอยู่ด้วยกัน ไม่มีอะไรน่ากลัวอีกแล้วหนึ่งอยู่กับผมนะ ผมขอโทษที่ต้องทำแบบนี้ แต่คุณต้องหาย ผมจำเป็นต้องช่วยคุณ ผมจำเป็น ถ้าหนึ่งรักผม หนึ่งต้องช่วยผมเข้าใจผมด้วย ผมขอร้อง” (นทธี  ศศิวิมล,2555:15)

“เขาลุกขึ้น โน้มตัวลงกอดเธอแนบแน่น ลูบผมเธออย่างทะนุถนอม จูบลาที่หน้าผากแบบเดียวกับวันที่เธอจูบลาเขาก่อนเข้าโรงเรียนวันแรก ความอบอุ่นจากจุมพิตนั้นแล่นผ่านผิวเนื้อเหี่ยวย่น อบอุ่นซาบซ่านไปทั่วร่าง เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่เธอนึกถึงจูบของพ่อกับแม่ หลังจากนั้นความรู้สึกประหลาดก็เกิดขึ้นกับเธอ ร่างกายของเธอเบาสบาย ความเจ็บปวดทรมานหลุดร่วงลงไปกองอยู่ที่พื้น เหลือเพียงความแช่มชื่นจากภายในที่ทวีทับท้นออกมาด้านนอก” (นทธี  ศศิวิมล,2555:59)

          รวมเรื่องสั้น “เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม” ของ นทธี ศศิวิมล มีความโดดเด่นด้านเอกภาพในการนำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงผ่านสายตาของนักเขียนรุ่นใหม่ได้อย่างเข้าถึงอารมณ์ กับบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกัน ทั้งผู้หญิงกับผู้หญิง ผู้หญิงกับความเป็นภรรยาและผู้หญิงกับความเป็นแม่ โดยเน้นกลวิธีนำเสนอเรื่องสั้นในแนวสัจนิยม (realism) ซึ่งสะท้อนชีวิตและความซับซ้อนภายในจิตใจของมนุษย์ผ่านโครงสร้างของครอบครัวและสังคมปัจจุบันที่มีความแตกต่างในรายละเอียดของเนื้อแท้ภายในของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะประเด็นผู้หญิงตกเป็น “วัตถุทางเพศ” (sexual objectification) เช่น เรื่องสั้น ดอยรวก ลูกของลูกสาว กระต่ายตายแล้วและเธอ...ฉัน...อีกะหรี่ หรือผู้หญิงที่อยู่ภายใต้ระบอบมาตาธิปไตยที่ครอบครัวมีแม่เป็นผู้นำที่เคร่งครัด (เผด็จการ) กดดันลูกไม่ให้มีอิสระหรือทางเลือกในการดำเนินชีวิตของตนเอง เช่น เรื่องสั้น กระต่ายตายแล้ว เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่มและเดอะโชว์มัสต์โกออน หรือระบอบประชาธิปไตยในบ้าน ที่สะท้อนความสัมพันธ์และการร่วมกันแก้ไขปัญหาชีวิตของคู่รักหรือสามีภรรยา เช่น เรื่องสั้น ควันและหาย ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอเรื่องสั้นทั้งหมดโดยให้ตัวละครหญิงเป็นฝ่ายถูกกระทำหรือถูกกดทับซ้ำซ้อน ทั้งจากเพศเดียวกันและเพศชายผ่านความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกับคนต่างด้าวหรือครู สามีกับภรรยา แม่กับลูก ลูกกับแม่ ผู้หญิงกับผู้หญิงด้วยกันอย่างไม่ยอมต่อสู้ ขัดขืนหรือเสนอทางออกให้กับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จึงเป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นตัวตนของตัวละครหญิงให้ดูไร้ศักดิ์ศรี เปราะบางและอ่อนแอ ทั้งในพื้นที่ส่วนตัว (private) และพื้นที่สาธารณะ (public) ซึ่งย้อนแย้งกับแนวคิดสตรีนิยม (feminism) ที่ควรจะต่อสู้ เรียกร้อง เป็นปากเสียงในความเสมอภาคทางเพศหรือสถานภาพ (gender) ที่ถูกสร้างขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงได้ผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคม (socialization) จนทำให้มองได้ว่าผู้เขียนยอมรับกรอบความคิดที่ผู้หญิงถูกครอบงำให้อยู่ใต้อำนาจในสังคมที่มีผู้ชายเป็นใหญ่หรือระบอบปิตาธิปไตย (patriarchy) นั่นเอง

 

 

 

บรรณานุกรม

กฤต  โสดาลี.(2560).สายธารความคิดของสตรี:การศึกษาเชิงสำรวจและวิพากษ์ งานวิจัยด้านวรรณกรรมไทยร่วมสมัย.[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://conference2017.reru.ac.th. [12 มิถุนายน2561].

กาญจนา  วิชญาปกรณ์.(2554).มิติหญิงชายในวรรณกรรมสอนสตรี.วารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. 8(2) พฤษภาคม-สิงหาคม 2554:1-20.

นทธี  ศศิวิมล.(2555).เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม.กรุงเทพฯ:แพรว.

รื่นฤทัย  สัจพันธุ์.(2558).ประชาธิปไตยในบ้าน:ภาพเสนอในเรื่องสั้นร่วมสมัย.วาสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี. 7(2) พฤษภาคม-สิงหาคม 2558:47-64.

อิราวดี  ไตลังคะ.(2543).ศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่อง.กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

 

 


 

     การเล่าเรื่อง “บ้าน” ในกวีนิพนธ์ของ อังคาร  จันทาทิพย์

Narrating “Home” in poetry by Angkarn  Chanthathip

 

ชาคริต  แก้วทันคำ

 

                   คำว่า House และ Home มีความแตกต่างกันในเรื่องของความหมายทางกายภาพและทางด้านจิตใจ กล่าวคือ คำว่า House คือ การมองด้านกายภาพตัวอาคาร ที่อยู่อาศัยหรือบริเวณที่เรือนตั้งอยู่ ซึ่งจะถูกเน้นไปที่ลักษณะทางกายภาพของอาคารหรือสถานที่เป็นหลัก มีลักษณะเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ ส่วนคำว่า Home จะถูกมองในความหมายเชิงจิตวิทยาและสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นลักษณะทางนามธรรม มีการเชื่อมโยงกันของบุคคลที่อยู่อาศัย เกิดความผูกพันกันเป็นครอบครัว

               ในวัฒนธรรมของตะวันตก หรือคำว่า “บ้าน” ในวัฒนธรรมไทย คำว่า House มักถูกใช้แทนลักษณะทางกายภาพของบ้านเป็นวัตถุ สิ่งก่อสร้าง ในขณะที่คำว่า Home จะเต็มไปด้วยความหมายเชิงความสัมพันธ์ทางจิตใจ อารมณ์ ประสบการณ์ ความผูกพันของผู้อยู่อาศัยกับวัตถุที่เรียกว่าบ้าน และยังหมายรวมถึงความสัมพันธ์ทางสังคมอีกด้วย

            “ระหว่างทางกลับบ้าน” ของ อังคาร  จันทาทิพย์ ผลงานกวีนิพนธ์เล่มใหม่ของกวีซีไรต์ ประจำปี 2556 ประกอบด้วยบทกวีจำนวน 45 สำนวน แต่งด้วยคำประพันธ์ฉันทลักษณ์ประเภทกลอนสุภาพ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดหนังสือดีเด่น “เซเว่นบุ๊คอะวอร์ด” ครั้งที่ 14 ประจำปี 2560 และรางวัลชมเชยจากการประกวดหนังสือดีเด่นของสพฐ. ประจำปี 2561

         ในบทวิจารณ์ชิ้นนี้จะนำเสนอแนวคิดเรื่อง “บ้าน” ในหลากหลายมิติ โดยแบ่งออกเป็นบ้านของผู้ประพันธ์ บ้านของผู้คนหลากหลายอาชีพและชนชั้นในสังคมไทยและสังคมโลก ดังนี้

        อังคาร  จันทาทิพย์ เกริ่นถึงความรัก บทกวี และชีวิตผ่านเรื่องเล่า เริ่มต้นจากพ่อแม่ ในบทกวี “บ้านที่พ่อสร้าง บทกวีที่พ่อเขียน” ถึงความเป็นมาของตำนาน นิทาน ปรัมปราและการสร้างบ้านแปงเมือง รวมถึงการเดินทางของกองคาราวานเพื่อมาลงหลักปักฐานบนท้องทุ่ง ในบทกวี “เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จสุวรรณภูมิ...” และ “แม่ไม่อยู่บ้าน (กองคาราวานกำลังเดินทางสู่เส้นขอบฟ้า)” หรือขับเคลื่อนผ่านไปยังที่ทางห่างไกลกว่าท้องทุ่ง ในบทกวี “เมื่อรุ้งลงกินน้ำ” ไม่ต่างจากนกที่ต้องไปสร้างเรือนรัง ในบทกวี “คนกับนก” แต่ก็ต้องกลับบ้าน ภูมิลำเนาเดิม ร่วมเทศกาลหรืองานทำบุญกับพ่อแม่ ครอบครัว ญาติพี่น้อง ในบทกวี “บ้านไม่มีใครอยู่” และต้องหวนคืนสู่เมือง ในบทกวี “ไม่ร้างก็แต่ถนนมุ่งกลับบ้าน” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นบทบันทึกของเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นระหว่างทางที่จากไปและกลับบ้านของกวี

 

1.บ้านของผู้ประพันธ์ ในฐานะที่แสดงถึงความเป็นครอบครัว

 

การเล่าเรื่อง “บ้าน” โดยทั่วไปแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบสร้างอัตลักษณ์และเป็นการทำให้อัตลักษณ์ได้มี “พื้นที่” ในการยึดโยง โดย “บ้าน” ในที่นี้มิใช่แค่พื้นที่ในเชิงรูปธรรมอย่างสถานที่พักอาศัย แต่ยังรวมถึงพื้นที่เชิงนามธรรมอย่างความทรงจำและประสบการณ์ที่มนุษย์แต่ละคนได้เรียนรู้และประสบมาด้วย คนเราจะเล่าเรื่องตัวตนผ่านการถ่ายทอดประสบการณ์และความสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือสิ่งต่าง ๆ เป็นหลัก

 

                                                                                ‘ระดับน้ำ’

                บ้านคนอื่น บ้านตัวเอง ต้องเร่งสร้าง                              ชั้นเชิงช่าง ชีวิตใช้ ไม่เสร็จสิ้น

                ระดับน้ำแรงคงเหลือ เหงื่อยังริน                                    ชีวิตดิ้นเปลี่ยนระดับ ปรับสมดุล

                                                                                ‘ตลับเมตร’

                สองปีเกณฑ์ พอเป็นงาน ทหารช่าง                                หนทาง สุดท้าย ตายดาบหน้า

                สมบัติพ่อ ต่อมือ ถือติดมา                                วัดคุณค่า ความหมายแห่งสายใย

                  ‘ปากกาและกระดาษ’

              หลังไม่เล็กไม่ใหญ่ ให้แม่อยู่                                            ไม่ได้เห็น พ่อผู้เคยดูหมิ่น

             “บ้านนักเขียน” เอ่ยชื่อให้พ่อได้ยิน                               กู้หนี้สินมาบ้าง สู้สร้างไป

             หอมกลิ่นหมึก ข้าวปลา หอมอาหาร                               พระสวดก้องกังวานขึ้นบ้านใหม่

              ประคองมือแม่กรวดน้ำ เอ่ยความใน                               ‘พ่อวางใจ’ จะดูแลแม่เองครับ...

                                                                                                (อังคาร  จันทาทิพย์,2560:34-41)   

 

             จากบทกวีข้างต้น อังคาร  จันทาทิพย์ กล่าวถึงบ้านทางกายภาพที่ถูกสร้างผ่านเครื่องไม้เครื่องมือช่าง เช่น ระดับน้ำ ลูกดิ่ง เกรียง อ่างผสมปูน สว่านและดอกสว่าน ค้อนและเลื่อย ตลับเมตร กบไสไม้ และแรงงานผ่านการเปรียบเทียบได้อย่างมีศิลปะกับชีวิตที่ต้องสู้ทนและสู้ทำงานหรือความฝันให้สำเร็จ โดยอาศัยความรัก ทั้งจากแรงงานผู้สร้างบ้าน เจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัย เช่น “ตื้น ลึก เจาะอย่างไร ใช้เวลา งานบางหน้า บ้านบางหลัง ทั้งชีวิต” หรือ “รู้สวยด้วยเจนจัด รู้ตัดเจียน รักจะเปลี่ยน แปรรูปได้ ไม้ละคน” เป็นต้น

            ในขณะที่ลูกกู้หนี้ยืมสินมาสร้างบ้านหลังใหม่ให้แม่ในบทกวี “คนสร้างบ้าน” เมื่อแม่ตายจากไป ลูกกลับมาบ้านอีกครั้งและเกิดความรู้สึกว่าบ้านมีชีวิตชีวาเมื่อมีคนอยู่อาศัย แต่ถึงเวลาต้องกลับไปทำงาน ใครจะอยู่ดูแลบ้านหลังนี้ที่สร้างด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง

 

               

                บ้านเอ๋ยบ้าน เรือนชานเรามีเสาหลัก                              ความรักร้อยโยง ยึดโครงสร้าง

                แต่ละส่วนเกื้อกูลจากศูนย์กลาง...                                    ภาพบางอย่างกระจ่างยิ่ง เขานิ่งยืน

                ‘เกิดที่อื่น ตายลงตรงบ้านนี้                                     อาจลูกหลานเกิดที่นี่ ตายที่อื่น...’

                แต่ละวัน คืบคลาน ผ่านอีกคืน                                    ปลุกเขาตื่นจากความตายภายในตน

                ด้วยความตาย บ้านกลับมามีชีวิต                                      ใกล้วันทำบุญอุทิศส่วนกุศล

                อีกคราว เสียงเรียกลูกกลับทุกคน                                     และอีกหนหวั่นสะทกอกสะท้าน

                                ภาพบางภาพกระจ่างยิ่ง เขานิ่งยืน...                              ความตายคืนชีวิตชีวามาสู่บ้าน                                       ใจเอ๋ยใจ ไหวหวั่นเหลือ เมื่อเสร็จงาน...                        เอ๋ยเรือนชานใครจะอยู่ ใครดูแล?!...                                                                                                                              

(อังคาร  จันทาทิพย์,2560:145)

                จากบทกวีข้างต้น สะท้อนความหมายของบ้านที่ไม่มีใครอยู่ จึงเรียกได้ว่าเป็นบ้านเชิงกายภาพเท่านั้น ซึ่งขาดจิตวิญญาณความเป็นบ้านที่ต้องประกอบด้วยคนอยู่อาศัย ได้แก่ พ่อแม่ ลูก ที่บรรจุความรัก ความผูกพันและความทรงจำของคำว่า “ครอบครัว”

               นอกจากนี้ อังคาร  จันทาทิพย์ ยังสื่อให้เห็นอีกว่า เกิดที่อื่น ตายลงตรงบ้านนี้    อาจลูกหลานเกิดที่นี่ ตายที่อื่น... สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยของสภาพบ้านในชนบทที่สมาชิกบางคนในครอบครัวอพยพโยกย้ายเข้ามาทำงานหรือลงหลักปักฐานในเมือง จึงต้องเผชิญกับบ้านเกิดและบ้านตายที่อยู่คนละแห่ง

 

2.บ้านของผู้คนหลากหลายอาชีพและชนชั้นในสังคมไทยและสังคมโลก ในฐานะพื้นที่แห่งการแสดงความรู้สึก ตัวตนและความเป็นเจ้าของ

 

            ความหมายของคำว่า “บ้าน” นั้นอิงอยู่กับความรู้สึกซึ่งถูกนิยามตามบริบทได้อย่างหลากหลาย เช่น บ้านในสังคมออนไลน์ ในบทกวี “บ้านของเรา (อยู่ในสังคมออนไลน์)” หรือ สถานที่อย่างสถานพินิจ ซึ่งเป็นพื้นที่ในการจองจำ แต่กลับมีการจินตนาการและสร้างความหมายของคำว่า “บ้าน” เช่น “เด็กแว้น มาขับวิน โหดหินชีวิต สถานพินิจ เคยออก เข้า ราวกับบ้าน” ในบทกวี “บ้านในห้องเช่าลูกไม้เก่าของอิ่มเอม” หรือ บ้านพักคนชรา ในบทกวี “แสง-เงาเหนือหลังคาบ้านพักคนชรา” และบ้านในสภาพที่เรียกว่า “ห้องเช่า” เช่น “บ้านเคยมีแต่หม่นหมาง เถิดช่างมัน ห้องเช่านี้มีกัน แหละนั่นรัก” หรือ “ห้องเช่ากลายเป็นบ้าน...” ในบทกวี “บ้านในห้องเช่าลูกไม้เก่าของอิ่มเอม” เป็นต้น

            ทั้งนี้ คำว่า “บ้าน” อาจหมายรวมถึง ห้องและโลกที่เราอาศัยอยู่ที่ยังสร้างไม่เสร็จ เพราะต่างรื้อและสร้างด้วยความเชื่อจากอคติและความโกรธ ในบทกวี “บ้านที่สร้างไม่เคยเสร็จ” หรือคนไร้บ้าน ในบทกวี “บ้านหลังสุดท้าย สุดปลายแผ่นดิน (ครุ่นคำนึงถึงผู้อพยพชาวโรฮิงญา)” หรือ บ้านที่กลายเป็นของคนอื่น เพราะความขัดแย้งแบ่งแยกความคิดทางการเมือง ในบทกวี “บ้านของคนอื่น” หรือ ห้องที่ถูกความแปลกแยกแตกต่างเปิดทางให้กับความเกลียดชังจนกลายเป็นสงครามที่ทำให้ต้องพรากพลัดกระจัดกระจายจากบ้านเกิดเมืองนอนและสูญเสียอารยธรรมเก่าแก่ ในบทกวี “บ้านเรือนของซีเรีย (แขนและขาทั้งสองข้างของประวัติศาสตร์)” เป็นต้น

          ขณะเดียวกันก็มี “บ้าน” ที่รอคอยการกลับมาของสมาชิกในครอบครัวเพื่อเติมเต็มคำว่า “บ้าน” ให้สมบูรณ์ ตามความหมายของความสัมพันธ์ในชีวิตและจิตใจ เช่น “รอลูกกลับมา รอสามี หวังล้นปรี่ ยืนหยัดด้วยศรัทธา...” ในบทกวี “บ้านของฟาติเมาะห์ในเดือนรอมฎอน” หรือ “หนูฝันเห็นพ่อกลับบ้าน คืนผ่านมา... รอไม่รู้เหนื่อยล้า ตั้งตารอ” ในบทกวี “ถูกบังคับให้สูญหายจากบ้านที่เขาพยายามปกป้อง”

          อาจกล่าวได้ว่า “บ้าน” ในพื้นที่แห่งการแสดงความรู้สึก ตัวตนและความเป็นเจ้าของ อังคาร  จันทาทิพย์ จะเล่าผ่านมุมมองการจำลองแบบแปลนหลากหลายชีวิตที่เหลื่อมซ้อนกับปัญหาโครงสร้างทางชนชั้น สังคม ศาสนา การเมือง เศรษฐกิจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความทุกข์และความเศร้าของเหล่าผู้อยู่อาศัยในบ้าน ห้องและโลกใบนี้ ด้วยรสวรรณคดี สัลลาปังคพิสัยหรือกรุณารส คือรสที่เกิดจากการได้รับรู้ความทุกข์โศก เช่น ทุกข์จากภัยสงคราม ทุกข์จากการจากลาบุคคลอันเป็นที่รักทั้งที่ยังมีชีวิตและเสียชีวิต ทุกข์ที่เกิดจากการคิดถึงบ้านเกิดหรือโหยหาอดีต เช่น

 

                ครรภ์แห่งทุกข์หรือทัณฑ์ ครรภ์แห่งรัก             เอื้อมมือผลักบานประตู “แม่อยู่ไหน...”

                สูญสิ้นแรง แข้งเข่าทรุด เศร้าสุดใจ                “แม่จากไปสองปีแล้วพี่ครับ...”

                                                                                                                (อังคาร  จันทาทิพย์,2560:56)

 

                ไม่ร้างก็แต่ถนนมุ่งกลับบ้าน...                        เทศกาลของคุณกรุ่นความเศร้า

                ทางบางสายคล้ายร้างเพียงบางเบา                   ขาดเพียงเขา และอาจขาดเพียงคุณ

                                                                                                                (อังคาร  จันทาทิพย์,2560:74)

 

                ไม่มีใคร ไม่อยากเชื่อ ไม่เหลือใคร                    ว่างโหวงหัวใจไปทุกห้อง

                บ้านซึ่งความเศร้าเข้ายึดครอง                           น้ำตาเธอคงหลั่งนองไปอีกนาน...

                                                                                                                (อังคาร  จันทาทิพย์,2560:99)                         

               

                 เมืองโบราณ บ้านเรือน สะเทือนสั่น              ที่ราบอันสมบูรณ์ โอ้ สูญไหม้

                ทั้งประเทศเหลือเศษซาก จากนี้ไป               ความร้างไร้ แผ่ลาม ตามเป็นเงา

                เหยียดแขนสองข้าง กางวงแขน                   โอบดินแดนพระจันทร์เสี้ยว โอ้ เปลี่ยวเศร้า

                เมโสโปเตเมีย สูญเสียยามเช้า             โลกใหม่ เก่า ทุกข์ เศร้าล้อม หลอมละลาย

                                                                                                                (อังคาร  จันทาทิพย์,2560:105)

             “ระหว่างทางกลับบ้าน” ของ อังคาร  จันทาทิพย์ มีความโดดเด่นด้านการใช้อุปมาโวหาร (simile) คือการเปรียบเทียบสิ่งที่เหมือนหรือแตกต่างกันให้เกิดความชัดเจนด้านความหมาย ภาพและอารมณ์ความรู้สึก เช่น

 

                ภูมิลำเนา เล่ายุคสมัย ในคำร้อง                       ภูมิลำนำ เปล่งทำนอง ท้องทุ่งกว้าง

                วิถีชีวิต ชีวา จำลาร้าง                                    เหมือนข้าวกลางพรรษา บอกลาเคียว

                เหมือนเคียว ถึงคราบอกลาข้าว                        คนปักดำ ถึงคราว ไม่อยู่เกี่ยว

                ผักกะแญง บานแล้วโรยอยู่โดยเดียว               เคยท่องเที่ยวทุ่งท่า หลับตาฟัง

                เหมือนฝนกลางพรรษา ขาดลาสาย                  ลมก่อนปลายพรรษา บอกลาสั่ง

                ฝนหนาว แดดนวล ล้วนหยัดยัง                       รักและหวัง หยั่งเห็นความเป็นไป

                                                                                                                (อังคาร  จันทาทิพย์,2560:32)

             จากตัวอย่างข้างต้น อังคาร  จันทาทิพย์ ใช้คำว่า “เหมือน” เป็นคำเชื่อมอุปมาให้สอดคล้องเปรียบเทียบสิ่งที่เหมือนกันสองสิ่ง และบทกวีนี้ยังมีการใช้โวหารบุคคลวัต (personification) คือการสมมติให้สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์มีอากัปกิริยาท่าทาง ความรู้สึกนึกคิดเหมือนมนุษย์ เช่น ต้นข้าวกล่าวลาเคียว หรือเคียวกล่าวลาข้าว เป็นต้น ซึ่งทำให้บทกวีมีภาพชัดเจน จนรู้สึกและสัมผัสได้อย่างลึกซึ้งถึงบรรยากาศในบทกวี

 

                ดวงไฟขีดเส้นเรียงราย สายถนน                     มองจากบนตึกระฟ้า กรอบหน้าต่าง

                กับดวงดาวแห่งชีวิต ทุกทิศทาง                        แสงเรื่อเรือง โลกเบื้องล่าง ห่างออกไป...

                บางดวง บางกลุ่มเศร้า หมองเก่าซีด                โพ้นอดีต โรยรา อายุขัย

                บางกลุ่ม บางดวง โชติช่วงไฟ                          ก่อเกิดใหม่ไสวสว่างราวกลางวัน!

                                                                                                                (อังคาร  จันทาทิพย์,2560:109)

             จากตัวอย่างข้างต้น อังคาร  จันทาทิพย์ ใช้คำว่า “ราว” เป็นการเปรียบเทียบโดยนัย ซึ่งต้องอาศัยการตีความ เชื่อมโยงความคิดหนึ่งไปยังอีกสิ่งหนึ่ง คือดวงไฟฟ้ากับดวงดาวชีวิตจากภูมิทัศน์ที่สังเกตเห็น แล้วนำไปเปรียบเทียบถึง “พลัง” และความสว่างของ “แสง” ที่อาจเรื่อเรือง โรยราอายุขัยหรือโชติช่วงสว่างไสวนั่นเอง

ด้านจินตภาพ (image) เป็นภาพในใจของผู้อ่านที่เกิดจากการใช้ถ้อยคำของกวีซึ่งได้ถ่ายทอดหรือสร้างภาพ เช่น

-สื่อความคิด จากนามธรรมเป็นรูปธรรม อิงความเชื่อทางศาสนา การทำบุญ ทำความดีและสวรรค์

 

                ขนดคลื่น แต่ละขั้น บันไดนาค                        เลื้อยลงจากดาวดึงส์ถึงที่นี่

                บันไดเชื่อมแดน สุขาวดี                                 ราววารีหลากคลื่นคนท้นขึ้นไป

                แห่แหนเทศกาลไหว้พระธาตุ                           หลายปีพาดผ่านกาล กลับผ่านใกล้

                สบตานาค เริ่มนับขั้น ขึ้นบันได                      เคยภาพประทับไว้ครั้งวัยเยาว์...

                                                                                                                (อังคาร  จันทาทิพย์,2560:16)

-สื่อความรู้สึกจากความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติกับความงดงามที่ตราตรึงใจ ผ่านฤดูกาลจากร้อนแล้งเป็นฝนชุ่ม

                หนาวระบายลายม่านน้ำตาลไหม้                    แล้งค่อยไล้ละอองสีตองอ่อน

                ทิวทุ่ง เทือกผา เปลี่ยนอาภรณ์                       ฤดูร้อน แต้มสีสัน ละลานตา

                แดง เหลือง ขาว ม่วง ปวงดอกไม้                   ความหลับใหลถูกปลุก ทุกราวป่า

                ชุ่มแล้งโรยโปรยหล่นฝนล้างฟ้า                      งดงามท่ามเวลาร้อนทารุณ

                                                                                                                (อังคาร  จันทาทิพย์,2560:107)

-สื่ออารมณ์ อันเกิดจากความรักที่พบเห็นระหว่างการเดินทาง

                ในเดือนช่อเมฆชื้น ดาษดื่นช่อ                        หมอกเคลียคลอ บ้านเรือนคลุ้งควันหุงต้ม

                แขวนลอย อ้อยอิ่ง เนิบนิ่งลม                         ก่อนฝนห่มจมหายเมืองชายแดน

                บ้านของใครต่อใครในคืนค่ำ                           หมอกฝนพรำ กอดเขาไว้ในอ้อมแขน

                เหงาแต่งาม ปรากฏขึ้นทดแทน                       ติดตรึงแน่นคำทายทัก รักเดินทาง

                                                                                                                (อังคาร  จันทาทิพย์,2560:127)

            “ระหว่างทางกลับบ้าน” ของ อังคาร  จันทาทิพย์ ได้สะท้อนความหมายของบ้านในหลากหลายมิติ ทั้งบ้านของผู้ประพันธ์ และบ้านของหลากหลายอาชีพและชนชั้นในสังคมไทยและสังคมโลก โดยสร้างและจำลองแบบแปลนทางความคิดและความเชื่อ เพื่อสื่อสารความรัก ความทุกข์และความเศร้าอันเกิดจากคำว่า “บ้าน” ทั้งจากโครงสร้างและผู้อยู่อาศัยให้ตระหนักรู้ถึงความจริงในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ “บ้าน” หรือ “โลก” ที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน ผ่านการใช้ฉันทลักษณ์ประเภทกลอนสุภาพ ที่มีสัมผัสและจังหวะคำที่เป็นเอกลักษณ์ สอดคล้องกับความหมายที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างไพเราะ เลือกสรรภาษาเรียบง่ายในการสื่อสารได้อย่างมีพลัง เร้าอารมณ์และความเข้าใจให้ผู้อ่านเข้าถึงจินตภาพและความคิดในเชิงเปรียบเทียบที่มีความร่วมสมัย

 

                ที่ให้เกิด ที่ให้ไกล ที่ให้กลับ                              ที่ไม่นับ เล็กหรือใหญ่ ที่ให้อยู่

                ที่ชีวิต จิตวิญญาณ อวลซ่านอณู                        ที่ทุกข์สุข ทุกฤดู อยู่ในนั้น...

                                                                                                                (อังคาร  จันทาทิพย์,2560:150)

             ดังนั้น “บ้าน” ในความหมายที่แท้จริงจึงต้องเป็นบ้านที่เกิดจากความรักและมีความสัมพันธ์ทางชีวิตจิตใจ อารมณ์ ประสบการณ์ เชื่อมโยงจิตวิญญาณด้วยการเล่าเรื่องจากตัวตน เพื่อไปสู่คนอื่น อันได้แก่บ้านหลังอื่น สังคมและโลก เพื่อสะท้อนอดีต ปัจจุบันและอนาคตของ “บ้าน” และความเป็นอยู่ของบุคคลนั้น ๆ เพราะเราทุกคนล้วนมีบ้าน ต้องการบ้านและครอบครัวที่อบอุ่น แข็งแรง ปลอดภัย “บ้าน” จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงอยู่ของทุกชีวิต

 

 


 

 

 

บรรณานุกรม

 

 

 

ชุติมา  เกตุพงษ์ชัย.(2555). “การเล่าเรื่อง “บ้าน” ในงานเขียนร่วมสมัยของนักเขียนเยอรมันและนักเขียนเยอรมันเชื้อสายเติร์ก”.วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.     

 

ญาณิกา  อักษรนำ.(2558). “พลวัตความหมายของคำว่า “บ้าน” ของคนไร้บ้าน”.วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชาการวิจัยทางสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

 

ปีรพจน์  เพชรมีศรี.(2557). “ความหมายของคำว่า “บ้าน” ในบ้านพักคนชรา บ้านบางแค กรณีศึกษาศูนย์พัฒนาจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอ


Visitors: 72,105