พชร เพียงพล

“เวลาในวัฏจักรของความเป็นจริง”

  โดย พชร เพียงพล       

                                                                       

                เคยคิดไหม หากวันหนึ่งเราถูกทิ้งให้อยู่เพียงลำพังและตายเพียงลำพัง เรื่องมันจะฟังดูน่าเศร้ามากเพียงใด หากให้คุณลองประมาณความรู้สึกที่มีเหล่านั้น คุณคงไม่อาจทำได้ นั่นเพราะมันยังไม่ถึงเวลา แม้ว่าวันเวลาเหล่านั้นจะต้องมาถึงในสักวันก็ตามที...

              ‘เวลา’ คือนวนิยายเล่มหนึ่ง ที่หยิบยกเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นมานำเสนออย่างตรงไปตรงมา แต่ทว่ามันจริง เรื่องราวสมมุติการแสดงละครเวทีที่มีแต่คนแก่แสดงในฉากบ้านพักคนชรา มีเด็กหนุ่มสาวนักศึกษาเป็นคนคิดสร้าง คาดกลางด้วยความคิดของคนที่นั่งชม อย่างตัวละครชายซึ่งมีอาชีพเป็นผู้กำกับ ภาพอันพร่าเลือนถูกถ่ายทอดออกมาตามห่วงอารมณ์ของเหตุการณ์ต่างๆ ย้อนให้นึกพินิจถึงสิ่งที่ผ่านมาในชีวิตของเขา รวมถึงครุ่นคิดถึงความเป็นไปที่จะเกิดขึ้นกับตัวเขาเองในภายหน้า ซึ่งส่วนนี้แหละที่ช่วยสะท้อนกลับมามองว่ามันอาจไม่ใช่แค่เรื่องของเขา แต่อาจเป็นเรื่องของเราด้วย

                หนังสือเล่มนี้เป็นนวนิยายที่สร้างชื่ออีกเรื่องของนักเขียนนาม ชาติ กอบจิตติ หลังนวนิยายเรื่อง    ‘คำพิพากษา’ คว้ารางวัลซีไรต์ไปครองในปี 2525 ด้วยประเด็นและเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ที่น่าสนใจ ชวนให้ฉุกคิด ผนวกกับกลวิธีที่แปลกใหม่ในการนำเทคนิคการเล่าเรื่องแบบมีบทภาพยนตร์เข้ามาแทรก จึงไม่แปลกที่นวนิยายเรื่อง ‘เวลา’ จะคว้าซีไรต์ไปครองได้อีกในปี 2537 ซึ่งส่งผลให้นาม ชาติ กอบจิตติ เป็นนักเขียนคนแรกที่ได้รางวัลนี้ไปครองเป็นสมัยที่สอง

               ทำนบเวลา

                ทรัพยากรเวลา เป็นสิ่งที่เราไม่อาจสร้างขึ้นได้ กั้นให้อยู่ การหยุดหรือย้อนก็เช่นกัน ฉะนั้นเวลาจึงเปรียบเหมือนสมบัติอันล้ำค่าของมนุษย์ ที่ไม่ว่าจะอยู่ในชนชั้นไหน ตำแหน่งใด เราก็มีอยู่เท่ากัน หากไม่แบ่งสรรให้ดี เราก็อาจหมดเวลา หมดวันและวัยไปโดยไม่รู้ตัว

               ในนวนิยายเรื่องเวลา ได้แสดงให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของเรื่องนี้เป็นจุดสำคัญ ซึ่งแปลออกมาในรูปแบบของความรู้สึกนึกคิดขึ้นมาในใจของตัวละคร รวมทั้งเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ร้อยเรียงเป็นเรื่องราวที่มีคำว่า วัย เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยในเรื่องเป็นการเล่าถึงละครเวทีเรื่องหนึ่ง ที่มีฉากเป็นสถานสงเคราะห์คนชรา มีคนแก่ทั้งที่ช่วยตัวเองได้ และไม่ได้อยู่ร่วมกันกับลูกหลาน ซึ่งมีการดำเนินเรื่องเป็นการลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่เช้าจรดเย็นเรื่อยไปจนจบวัน

                หลายคนที่เข้าชมละครเวทีเรื่องนี้ต่างรู้ดีว่านี่คือ ละครที่น่าเบื่อที่สุดแห่งปี!ตัวละครหลักของเรื่อง เป็นชายที่เข้าชมละครคนหนึ่ง เขามีอาชีพเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ทุกช่วงที่ละครเวทีแสดงฉากน่าเบื่อออกมา เขาจะนั่งคิด จำลองเรื่องราวที่เกิดขึ้นในมุมมองที่เป็นภาพยนตร์   

                ในเรื่อง ผู้กำกับมักนำเรื่องที่เกิดขึ้นบนเวที มาขบคิดถึงเรื่องอดีตของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลูกสาวที่เสียชีวิตไป เรื่องของภรรยากับเขา หรือแม้แต่เรื่องราวที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตของเขาต่อไปในอนาคต       ชาติ กอบจิตติ กำลังเล่นแง่กับความคิดของผู้อ่าน เขาเปรียบให้เห็นว่า แม้แต่ผู้กำกับซึ่งสามารถกำกับจุดจบของหนังทุกเรื่องที่เขาทำได้  ก็ไม่อาจกำหนดหรือบังคับให้เวลาเหล่านั้นหยุดรอเขาได้เลย  

               ส่วนนี้เองที่ผู้เขียนต้องการจะชี้ชัดว่า การทำทำนบเวลาให้เหมือนกับการทำนบกั้นน้ำนั้น ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริง แต่หากเราทุกคนจัดสรรเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด อย่างรู้ค่าคุณ เวลาก็ไม่จำเป็นต้องมีทำนบกั้นไว้อีกต่อไป  

              เท่าที่มุมกล้อง ส่องเห็น: ภาพใกล้ ภาพใกล้มาก และดอลลี่

              จุดหนึ่งที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีความโดดเด่นน่าสนใจ คือการเลือกใช้บทภาพยนตร์มาช่วยขับอารมณ์ของตัวละคร รวมทั้งยังสร้างภาพและบรรยายถึงฉากได้อย่างมีอรรถรสและแนบนียน โดยการเล่าผ่านมุมมองของตัวละครหลัก ซึ่งมีอาชีพเป็นผู้กำกับการแสดง

             แต่นอกจากความแปลกและกลวิธีที่เลือกใช้แล้ว มนต์เสน่ห์ของการแทรกบทภาพยนตร์เข้ามา      ยังทำให้ผู้อ่าน เกิดภาพขึ้นแจ่มชัดในหัว ประหนึ่งว่าเรากำลังนั่งชมละครเวทีเรื่องนี้อยู่ด้วยตัวเอง

             ในส่วนของมุมกล้องเอง ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครออกมา ดังจะเห็นได้จากหลายตอนในเรื่อง

            “ ภาพใกล้มาก- ยายจันทร์หันมองที่ยายเอิบด้วยอยากรู้ /ตัดไป

             ภาพใกล้มาก- ที่ใบหน้ายายเอิบ คิด ยิ้มอย่างมีความสุข สักครู่  (จากหน้า 195)  

             หรืออย่าง “ภาพใกล้มาก- (ที่มือแม่บ้านกำลังปิดลูกกรง ใส่กลอนเหล็กหน้าห้อง)

              ภาพใกล้- (ใบหน้าแม่บ้านยิ้ม-เรารู้ว่าเธอยิ้มกับชายชราในห้องลูกกรง)  (จากหน้า 37)

             การเลือกใช้มุมกล้อง หากมองอีกนัยหนึ่ง คือการใช้วิธีเลือกมุมให้เรามอง ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ในการถ่ายภาพ เพื่อบรรจุเรื่องราวที่เราอยากเล่าเอาไว้ภายใต้กรอบเฟรมที่จำกัด

             ในขณะที่ภาพกว้างทำหน้าที่บรรยายบรรยากาศโดยรอบ ภาพใกล้ ภาพใกล้มาก และดอลลี่ ก็กำลังทำหน้าที่ในอีกมิติหนึ่ง ที่ไม่เพียงช่วยให้ภาพหลากชีวิตนี้สมจริง แต่ยังฉายเอาอารมณ์และความรู้สึกภายในของตัวละครออกมาแสดงให้เห็นเด่นชัด ซึ่งปกติเป็นเรื่องยากที่จะอธิบาย แต่นวนิยายเรื่องนี้ส่งผ่านมายังผู้อ่านได้เป็นอย่างดี

            เพศสภาวะ กับ ความเปราะบาง

             อีกเรื่องที่เราไม่ควรมองข้ามไป คือการกำหนดเพศให้กับตัวละครในเรื่อง ถ้าเราลองสังเกตดีๆ  จะพบว่านวนิยายเรื่องนี้มี เพศหญิงมากกว่าเพศชาย

             หากถามว่า ความเป็นหญิงเป็นชายสำคัญอย่างไรต่อเรื่องนี้? คงต้องหยิบยกประเด็นเรื่องของบทบาทเข้ามาช่วย ในความเป็นสตรีเพศ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด ก็มักจะมีความเป็นแม่แฝงอยู่เสมอ ดังจะเห็นได้จากความมีเมตตาของพยาบาลสาวอย่างอุบล ที่คอยดูแลยายเหล่านั้น จนคุณยายเหล่านั้นพร้อมใจกันเรียกเธอว่า “คุณแม่” เสมือนหนึ่งว่าพวกแกกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง

             แม้คุณยายเหล่านั้นจะออดอ้อนหรือทำตัวเหมือนเด็กอย่างไร พวกแกก็ล้วนเคยผ่านชีวิตของการมีครอบครัวและชีวิตของการเป็นแม่มาแล้วทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้สตรีเพศ มีความอ่อนไหวและเปราะบางในเรื่องของความรู้สึกที่มีต่อลูกมากกว่าเพศชาย ยายหลายๆคนในเรื่องได้แสดงให้เห็นถึงความรักที่แกมีต่อลูกอยู่หลายตอน     

            “บัดนี้มันกลับมาแล้ว มาให้แม่ได้เห็น มาให้แม่ได้ชื่นใจ

             -แม่ก็เหลือเพียงเอ็งเท่านั้นแหละลูกเอ๋ย ที่แม่ยังห่วง. (จากหน้า202)  หรือ

           “บอกแม่เอ็งว่าพาพ่อมาเยี่ยมย่าสักครั้งเถอะ แกพูดพึมพำกับหลานสาว ในความคิดนั้น ก่อนตาย อยากเห็นหน้าลูกอีกสักครั้ง”

            “พ่อเขาก็บ่นว่าอยากมา แต่...” เด็กสาวอึ้งอยู่แค่นั้น

            ย่าพยักหน้าเข้าใจ” (จากหน้า178)

       แต่สายตาลูกๆของคุณยายเหล่านั้นกลับมองไม่เห็นความรัก ความห่วงใยเหล่านี้ที่แม่มี กลับมองว่าแม่ของตนอยู่เป็นภาระ และน่ารำคาญ จนลูกบางคนถึงขั้นส่งแม่มายังสถานสงเคราะห์คนชรา ทั้งทีแกไม่รู้ตัว

           “ยายลงไปเถอะ ไม่ผิดที่หรอก เขาบอกผมให้มาส่งยายที่นี่”

           “นี่ไม่ใช่บ้านยาย ไปส่งยายที่บ้านยายทีเถอะ”นางอ้อนวอนเขา

           “ผมจะไปรู้ได้อย่างไรว่าบ้านยายอยูที่ไหน เขาบอกให้ผมมาส่งยายที่นี่ เขาบอกยายอยู่ที่นี่ ผมก็มาส่ง แล้วจะเอายังไงอีกล่ะ”

           “ก็ลูกยายบอกให้ยายกลับมาบ้านก่อน แล้วนี่มันไม่ใช่บ้านยายนี่” นางเล่าความจริง

            “ผมไม่รู้ยาย เขาว่าจ้างให้ผมมาส่งที่นี่ ผมก็มา”

            “ไปส่งยายที่บ้านทีเถอะ ยายอยากกลับบ้าน”...(จากหน้า233) 

           ความเปราะบางภายในจิตใจคล้ายผูกติดอยู่กับความเป็นแม่มาตลอด ฉะนั้นหากใครไม่สนใจประคับประคองความรู้สึกดีๆเอาไว้ อาจเป็นการทำร้ายจิตใจให้แก่คนที่เรารักและรักเราอย่างไม่รู้ตัว ดังที่ยายหลายคนในเรื่องนี้ได้รับ

           เมื่อวิเคราะห์มาถึงตรงนี้ ผมรู้สึกเหมือนมีคำถามเหวี่ยงกลับมาถามเรา ว่าสุดท้ายแล้ว เราจะเลือกดูแลเอาใจใส่หรือจะปล่อยให้ความรู้สึกอันเปราะบางเหล่านั้นพังทลายลงไปกับตา  

           สัจธรรมยังดำรงอยู่

          “ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรจริงๆ” เสียงตะโกนวลีนี้ดังขึ้นมาตลอดทั้งเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นเสียงที่ดังจากคุณตาคนหนึ่งซึ่ง    นอนอยู่ในห้องลูกกรง

            ชาติ กอบจิตติ พยายามสื่ออะไรบางอย่างจากวลีนี้ สิ่งน่าสนใจอยู่ตรงที่ ไม่มีที่ว่า คือไม่มีอะไร ความหมายโดยนัยที่ซ่อนอยู่นั้น คือแก่นแท้ของสัจธรรมในพระพุทธศาสนา ที่ว่าไม่มี คือมีสิ่งใดจีรังยั่งยืน            ทุกอย่างล้วนว่างเปล่า จิตเท่านั้นที่ปรุงแต่งขึ้น ในตอนท้ายของเรื่อง เราสามารถเห็นได้ชัดว่า ยายสอนเป็นผู้ที่มองลึกถึงสัจธรรมข้อนี้ ภายหลังการตายของยายอยู่ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนละครเวทีเรื่องนี้จะจบลง

           “ยายสอนเผลอยิ้มออกมา เมื่อฉุกคิดขึ้นว่า

          -แม่อยู่เขาไม่ได้อยู่แล้ว แม่อยู่เขาหายไปแล้ว ร่างที่นอนอยู่ตรงหน้าเอ็งนี่ไม่ใช่แม่อยู่ เป็นแค่ศพ ศพคน นอนอยู่แต่ศพ ส่วนแม่อยู่เพื่อนเอ็งเขาหายไปแล้ว ที่นอนยิ้มอยู่นี้ไม่ใช่เพื่อนเอ็งหรอก เป็นใครก็ไม่รู้ เอ็งไม่รู้จักกับร่างที่นอนอยู่นี่หรอก ที่นอนอยู่นี่เป็นแค่ร่างกายคน” (จากหน้า 252)

            ชาติ กอบจิตติ ยังพยายามสอดแทรกสัจธรรมหลายข้อเข้าไว้ในเรื่อง หนึ่งในนั้นคือความโลภ กิเลส ตัณหา และการแย่งชิง โดยให้ดอกบัว เป็นสัญญะ ของการถูกรุมทำร้ายกัดกิน ซึ่งถูกเล่าผ่านมุมมองของคนบ้า และมีผู้รับฟังเป็นยายทั้งหลายที่ไม่จำเป็นต้องแย่งชิงสิ่งเหล่านั้นอีกต่อไป เรื่องเล่าของคนบ้าจึงกลายเป็นเรื่องตลกน่าฟังไปในทันที

           จาก ‘เวลานั้น’ ถึง “เวลานี้”

           จากเวลานั้นถึงเวลานี้มีอะไรต่างไปบ้าง สำหรับผมมองว่านวนิยายเรื่อง ‘เวลา’ยังคงทำงานอยู่ตลอดเวลา ยิ่งยุคปัจจุบันนี้ด้วยแล้วยิ่งเป็นเรื่องไม่เก่ากาลเลย เพราะสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว คนชรากำลังมากขึ้น สังคมไทยภายหน้ากำลังจะเปลี่ยนแปลงไป การดูเอาใจใส่กับสิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรหวนกลับมามอง ไม่ใช่แค่การถนอมน้ำใจแบบขอไปที แต่คือการตอบแทนการให้ที่มีดุจกัน เพราะสักวันมันจะมาถึงเราไม่ว่าใคร ฉะนั้นเราจึงควรเข้าใจว่ามันคือความจริง เป็นวัฏจักรของเวลา วันและวัยย่อมเดินไปข้างหน้า อย่าปล่อยให้เวลาที่ต่างเปลี่ยนใจเรา เราควรตั้งมั่นแน่วแน่เช่นเดียวกับเข็มนาฬิกาที่มีชีวิต ไม่ว่าเวลานั้น เวลานี้ หรือเวลาไหนๆ

           เสียง ติ๊ก-ต๊อก  ติ๊ก-ต๊อก

           ติ๊ก-ต๊อก  ติ๊ก-ต๊อก ยังคงดังอยู่ตลอดเวลา

           เป็นวัฏจักรของความจริงอันนิรันดร์      

 

 


 


Visitors: 72,095