สฤตวงศ์ ฟูใจ

สฤตวงศ์ ฟูใจ

 

โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก : เรื่องเล่าและเรื่องราวของอำนาจแห่งสตรีเพศในโลกชาย(ยังคง)เป็นใหญ่

 

            วรรณกรรม คือ เครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่ใช้บอกเล่าเรื่องราวของมนุษย์ ผ่านจินตนาการและมุมมองของนักเขียน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วรรณกรรมคือโลกเสรี ที่ให้พื้นที่กับทุก ๆเรื่องเล่าได้ออกโลดแล่นบนหน้ากระดาษ ตลอดจนผู้เล่าเอง ก็สามารถเลือกเล่าได้อย่างใจปรารถนา แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนบทวิจารณ์เชื่อว่า ประสบการณ์และเรื่องราวของมนุษย์ที่ถูกกดขี่และเผชิญกับปัญหาอันเนื่องมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากันในกลุ่มสังคมหนึ่งๆ จะนำเสนอออกมาได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น หากผู้เล่าคือส่วนหนึ่งของชุมชนเรื่องเล่านั้น หรือเป็นสมาชิกของกลุ่มสังคมที่ตัวผู้เล่าสังกัดอยู่ ซึ่ง“โครงกระดูกแม่มด สุขนาฏกรรมแห่งความรัก (To Love With Death)” นวนิยายเรื่องล่าสุดของ เจน จิ เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ชัดเจน และโลดโผน ที่สะท้อนให้เห็นถึงการนำเสนอเรื่องเล่าของผู้หญิง ผ่านเรื่องราวของตัวละครหญิงที่มีประสบการณ์อันแตกต่างหลากหลายและสลับซับซ้อนอีกทั้งยังส่งผ่านมุมมองของนักเขียนหญิงต่อบทบาทหน้าที่ ปัญหา และการดิ้นรนต่อสู้ของเพศหญิงได้อย่างแยบคายยิ่งไปกว่านั้น เรื่องเล่าและเรื่องราวต่าง ๆในนวนิยายเรื่องนี้ เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง และสร้างพื้นที่ให้กับเพศหญิงในโลกที่ผู้ชายยังคงเป็นใหญ่ได้อย่างมีนัยะสำคัญ

โลกหนังสือ ความตายและโลกใบใหม่ของผู้หญิง

ความโดดเด่นประการแรกของโครงกระดูกแม่มดฯ คือ การนำเสนอ “โลกสามโลก” นั่นคือ โลกหนังสือ โลกความตาย และโลกของผู้หญิง ซึ่งโลกทั้งสามนี้สอดประสานซ้อนทับกันได้ด้วยสิ่งที่มีเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ ภาวะไร้ตัวตน (non-existence) ซึ่งภาวะไร้ตัวตนนี้เป็นภาวะที่ถูกกำหนดให้มีและให้เป็นจากกลุ่มอำนาจของสังคม อย่างอำนาจของเพศชายและความเป็นชาย เริ่มด้วยโลกใบแรก นั่นคือโลกหนังสือ สิ่งที่น่าสนใจคือ โลกหนังสือในนวนิยายเรื่องนี้บอกเล่าผ่านตัวละครลำเภา หญิงสาวอาภัพโชคที่ต้องเลี้ยงลูกเล็กและอยู่กินกับสามีไม่เอาไหน ในฉากหนึ่ง เธอกำลังเดินเข้ามาในร้านหนังสือโครงกระดูกแม่มดฯ ซึ่งการบรรยายฉากดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงภาวะไร้ตัวตนของโลกหนังสือ ที่ไม่ได้รับการตระหนักรู้ถึงการมีอยู่จากสังคมภายนอกได้อย่างเด่นชัด“ลำเภารู้สึกเหมือนเข้ามาอยู่อีกโลกหนึ่ง ขณะที่พายุแห่งกาลเวลากระหน่ำอย่างบ้าคลั่งภายนอก แต่ในร้านนี้เวลาหยุดนิ่งอยู่กับที่” (หน้า 14) 
            จะเห็นได้ว่า โลกของหนังสือที่ถูกเล่าผ่านพื้นที่ของร้านหนังสือและการมีอยู่ของร้านหนังสือโครงกระดูกแม่มดฯ ให้ภาพความลึกลับ ผิดที่ผิดทาง และแปลกแยกจากโลกจริงนอกร้านหนังสือ การที่ลำเภาต้องเดินผ่านเถากุหลาบที่บดบังประตูร้านเพื่อเข้ามาในร้านไม่ต่างกับการที่ลำเภาก้าวเข้ามาสู่เมืองลับแลซึ่งเป็นโลกที่คนที่เดินผ่านไปมาข้างนอกร้าน ไม่รับรู้เลยด้วยซ้ำว่ามีสถานที่แบบร้านหนังสือแห่งนี้ในพื้นที่เดียวกันกับพวกเขาอาศัยอยู่ยิ่งไปกว่านั้น ความเงียบสงบภายในร้านหนังสือ ก็เป็นตัวอย่างของความแปลกต่างได้อย่างน่าสนใจ เพราะถึงแม้ว่าภายนอกร้านมีพายุโหมกระหน่ำ แต่ในร้านกลับสงบนิ่ง หรือแม้แต่เวลาภายในร้านที่ก็หยุดนิ่งไม่เคลื่อนไหวเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ ล้วนสนับสนุนภาวะไร้ตัวตนของโลกหนังสือ ที่เปรียบเสมือนสิ่งแปลกปลอม(the uncanny) ของโลกภายนอกร้าน นอกจากนี้ การบรรยายถึงหนังสือและร้านหนังสือผ่านปากของแม่มด ที่กล่าวว่า “ตอนนี้ไม่มีใครอ่านหนังสือแล้วนอกจากโครงกระดูก” (หน้า 6) เป็นเหมือนอุปลักษณ์ของความตายผ่านโลกหนังสือ กล่าวคือ การเลือกให้โครงกระดูกซึ่งเป็นตัวแทนของความตายและความเสื่อมถอยมานั่งอ่านหนังสือ คือการนำเสนอทัศนคติและมุมมองของสังคมต่อหนังสือ ที่ทุกวันนี้มีพื้นที่น้อยลงมากในโลกสังคมสมัยใหม่ ทั้งนี้ อาจเพราะการอ่านหนังสือไม่ได้สร้างมรรคผลที่วัดมูลค่าได้ชัดเจนเหมือนผลงานประเภทอื่น ๆ ดังนั้นหนังสือในแง่นี้ จึงไม่ต่างจากโครงกระดูกที่เข้าไปอยู่ในโลกแห่งความตายด้วยกันทั้งคู่

แต่อย่างไรก็ตาม โลกความตายในร้านหนังสือโครงกระดูกแม่มดไม่ได้เป็นเพียงภาพแทนของความเสื่อมถอยของหนังสือจากมุมมองของสังคมกระแสหลักเพียงอย่างเดียว กลับกัน โลกความตายนี้ได้ให้กำเนิดชุมชนหนึ่งขึ้นมา นั่นคือ ชุมชนของผู้หญิง การที่ตัวละครหลักอย่างแม่มดและนันหญิงสาวผมแดงเป็นผู้หญิง การที่ลูกค้าของร้านหนังสือล้วนเป็นผู้หญิงทั้งหมด หรือแม้แต่คนนอกร้านที่อาศัยอยู่ใกล้กับร้านหนังสือ ที่คอยทำหน้าที่เหมือนเป็นตัวแทนคนอ่านเฝ้าดูอยู่ไกล ๆอย่าง เจ๊เตียว ก็เป็นผู้หญิง ช่วยสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่า ร้านหนังสือโครงกระดูกแม่มดได้สร้างโลกใบใหม่ของผู้หญิงขึ้นมาอย่างน่าสนใจ ยิ่งไปกว่านั้น โลกของผู้หญิงในร้านหนังสือแห่งนี้ ยังไม่เปิดโอกาสให้มนุษย์เพศชายคนใดเข้ามากล้ำกราย เห็นได้จากการตายของตัวละครชายสองคน นั่นคือ ตำรวจหนุ่มที่เข้ามาสอบปากคำแม่มดภายในร้านหนังสือและสามีระดับนายพลของเธอ ซึ่งการตายของเพศชายทั้งสองนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการกำจัดสิ่งแปลกปลอมในโลกสตรีเพศ ที่ไม่เปิดโอกาสให้มีอำนาจของเพศชายเข้ามาจัดการ ควบคุม และแทรกแซงความเป็นไปใดใดในโลกนี้ได้นั่นเอง
            ดังนั้น ในขณะที่โลกของหนังสือเปรียบได้กับโลกแห่งความตาย โลกแห่งความตายนี้ก็ได้ให้กำเนิดโลกของผู้หญิงขึ้นมาภายในร้านอย่างมั่นคงแข็งแรง ตลอดจนค่อยๆหล่อหลอมชุมชน เรื่องเล่า และประสบการณ์ชีวิตในแบบผู้หญิงได้อย่างน่าสนใจ การเข้ามาอยู่ในโลกของผู้หญิงที่หลุดพ้นจากอำนาจบงการของเพศชาย ทำให้ผู้อ่านเห็นถึงได้ความรู้สึกปลอดภัย ผ่อนคลาย และปลดแอก ผ่านตัวละครลำเภา อย่างที่เธอได้กล่าวว่า “...กลิ่นกระดาษเก่า อบอวล อบอุ่น ปลอดภัย....เธอก้มหน้าจนเกือบชิดกระดาษ บ่งบอกให้รู้ว่าตัวจริงของเธอไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่กำลังอยู่ในโลกอื่น…” (หน้า 14 ) ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวนี้ทำให้เธอรู้สึกเหมือนเข้ามาสู่โลกใบใหม่ นั่นคือโลกของผู้หญิงที่สร้างจากผู้หญิง ผ่านความตายที่เทียบได้กับความตายจากโลกแห่งอำนาจของเพศชาย ดังนั้นโลกใบใหม่นี้จึงแปลกใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็อบอุ่นและปลอดภัยจากอำนาจชายไปพร้อมกัน

เรื่องเล่าและเรื่องราว กับ “ความจริง” ของสตรีเพศ ในโลกบุรุษ
            ความน่าสนใจประการที่สองของนวนิยายเรื่องนี้ยังดำเนินต่อไปผ่านตัวละครผู้หญิง ที่เป็นลูกค้าของร้านหนังสือโครงกระดูกแม่มด ไม่ว่าจะเป็น ลำเภา ฟาง จินตะหรา และภรรยาทั้งสี่คนของอูฐ ซึ่งสิ่งที่ตัวละครเกือบทุกตัวทำเหมือนกัน คือการเข้ามาที่ร้านหนังสือแห่งนี้ แล้วกลับออกไปด้วยหนังสือที่แตกต่างกันคนละเล่ม หรือไม่ ก็ได้รู้เรื่องราวของหนังสือเล่มหนึ่งๆจากในร้าน ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือ สามีของพวกเธอทุกคนจะตายไปด้วยสาเหตุบางประการ ทั้งที่ผู้อ่านทราบและไม่ทราบ โดยหนังสือที่พวกเธอได้รับไป มักจะเป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวและจุดจบของตัวละครเพศชายในแบบเดียวกันกับที่สามีของพวกเธอแต่ละคนตาย ความน่าสนใจก็คือ ผู้อ่านบางท่านอาจจะมองว่า สาเหตุการตายของสามีของตัวละครผู้หญิงเหล่านี้ เกิดจากการเลียนแบบการฆ่าและวิธีตายของสามีจากหนังสือที่พวกเธอได้รับและส่งผลให้พวกเธอตัดสินใจลงมือฆ่าสามีตัวเอง อย่างเช่นที่ ลำเภา ฟาง และจินตะหราทำกับสามีของพวกเธอ
แต่หากเราพิจารณาโดยละเอียดแล้ว จะเห็นได้ว่าเรื่องราวที่ปรากฎอยู่ในหนังสือแต่ละเล่มนั้น เป็นชุดของเรื่องเล่าและเรื่องราวของตัวละครเพศหญิงที่ต้องต่อสู้กับอำนาจของเพศชายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรือบางทีก็เป็นประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกันกับเรื่องราวของตัวละครหญิงลูกค้าร้านหนังสืออย่างมีนัยะสำคัญ ตัวอย่างเช่น ฟาง หญิงสาวที่ได้รับนวนิยายจีนจากแม่มดเจ้าของร้าน ที่บอกเล่าเรื่องราวของตัวละครหญิงใบ้ที่ถูกสามีนอกใจ โดยสุดท้ายสามีของหญิงใบ้ก็สำนึกผิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับเรื่องราวของฟาง ฟางไม่ต่างจากตัวละครหญิงใบ้ ทั้ง ๆที่จริงแล้วเธอไม่ได้ใบ้ เธอแค่ไม่อยากพูด เหตุเพราะฟางรู้อยู่เต็มอกว่าสามีของเธอมีเพศสัมพันธ์กับหญิงสาวนักศึกษาที่เธอเคยช่วยเหลือและรับเข้ามาอยู่ด้วยกันในบ้าน แต่เรื่องราวของฟางที่แตกต่างจากในนวนิยายจีนเล่มนั้นคือ การที่สามีของเธอตกบันไดจนเป็นอัมพาตในตอนท้าย และฟางตัดสินใจไม่รักษา ไม่เพียงเท่านั้นเธอยังดูเหมือนจะทำให้เขาตาย เพื่อที่เธอจะได้ทรัพย์สินของเธอกลับคืนมาซึ่งจะเห็นได้ว่าประสบการณ์ของฟางและเรื่องราวภายในนวนิยายจีนไม่เหมือนกัน และก็ไม่ได้จบแบบเดียวกัน ตรงนี้สนับสนุนข้อสันนิษฐานของตัวผู้เขียนบทวิจารณ์อย่างชัดเจนว่า ไม่มีมนุษย์คนใดมีประสบการณ์และเรื่องราวที่เหมือนกัน จนเทียบเคียงกันได้อย่างสมบูรณ์ ปัจเจกล้วนมีประสบการณ์อันแตกต่างหลากหลาย แต่สิ่งที่ฟางและตัวละครหญิงในนวนิยายจีนมีเหมือนกัน คือ เรื่องเล่าและประสบการณ์ชุมชนของผู้หญิง การที่ตัวละครหญิงใบ้และฟางถูกกดขี่และต้องยอมจำนนต่ออำนาจของเพศชายเป็นเหมือนอุปลักษณ์ของกันและกัน และยังทำให้เกิดชุดเรื่องเล่าในระดับกลุ่ม โดยเป็นเรื่องเล่าจากตัวละครผู้หญิงที่ส่งผ่านมายังฟางในฐานะสมาชิกของชุมชนผู้หญิงดังกล่าวนั่นเอง 
            หรือตัวละครสำคัญอย่างลำเภา ที่ลงมือฆ่าสามีชั่วของเธอ เพราะเขาพยายามข่มขืนลูกน้อยต่อหน้าต่อตาเธอ ก็เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าเรื่องราวของฟาง โดยลำเภาได้รับหนังสือรวมเรื่องสั้น ชื่อ จำปูน ที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้หญิงที่ถูกผู้ชายทำร้าย ทำลายศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ แต่สุดท้ายก็กลับมามีชีวิตที่ดีและเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีต่อไปได้ ซึ่งจุดจบของสามีชั่วของลำเภาคือการที่สามีของเธอถูกลำเภาฆ่าตายและให้หมาจรจัดที่กำหิวโหยเข้ามารุมกินศพของเขา และลำเภาก็กลับมามีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่อีกครั้ง ซึ่งจะเห็นได้ว่า การตัดสินใจฆ่าสามีของลำเภา ไม่ได้สอดรับกันอย่างสมบูรณ์กับเรื่องราวภายในรวมเรื่องสั้นจำปูน เช่นเดียวกันกับที่ จุดจบของสามีฟางไม่ได้เหมือนกันอย่างสมบูรณ์กับนวนิยายจีน แต่ประสบการณ์ของลำเภาและจำปูน หรือประสบการณ์ของฟางกับหญิงใบ้ ก็ล้วนเป็นประสบการณ์ของผู้หญิงที่พบเจอกับความรุนแรงในครอบครัว และการกดขี่จากคนที่พวกเธอรักด้วยกันทั้งสิ้นและการตายของสามีของตัวละครหญิงเหล่านี้ ยังเป็นอุปลักษณ์ความตายของอำนาจเพศชายที่กระทำต่อสตรีเพศอีกด้วย หากเราพิจารณาอีกครั้งจะพบว่า แรงขับเคลื่อนที่ทำให้ลำเภาฆ่าสามีไม่ได้มาจากหนังสือ หากแต่เป็นพฤติกรรมเลวทรามที่สามีของเธอกำลังกระทำต่อลูกน้อย ซึ่งฉากนี้สะท้อนให้เห็นถึงความจริงที่ซ่อนเร้นเอาไว้ นั่นคือความรุนแรงทางเพศในสังคม ที่มักถูกเพิกเฉยและเกิดขึ้นบ่อยครั้งในสถาบันทางสังคมที่มีขนาดเล็กที่สุดแต่ในขณะเดียวกันก็สำคัญที่สุด อย่างสถาบันครอบครัว ซึ่งความรุนแรงดังกล่าว หลายครั้งเป็นความรุนแรงทางเพศที่ชายกระทำต่อหญิงอันเนื่องมาจากลักษณะทางกายภาพที่เหนือกว่า อย่างที่สามีของลำเภาทำกับลูกของเธอ เป็นต้น
            ซึ่งแน่นอนว่าการที่ลำเภาฆ่าสามีเป็นอาชญากรรม และไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเสรีในสังคมมนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้น การกำจัดอำนาจของเพศชายในโลกจริง ที่กฎเกณฑ์ส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นจากเพศชาย ก็ดูเหมือนจะทำไม่ได้เลยสักนิด หากแต่ในโลกวรรณกรรม อำนาจของเพศชายสามารถถูกทำลายได้อย่างไม่ต้องกลัวบทลงโทษ ดังนั้นอุปลักษณ์ของความตายของตัวละครสามีลำเภา ตลอดจนสามีของตัวละครหญิงคนอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในบริบทของเรื่องเล่าและโลกวรรณกรรม จึงเป็นเหมือนการสิ้นสุดของอำนาจเพศชายที่เพศหญิงกระทำได้อย่างเสรีและยังทำให้เห็นว่า ตัวของ เจน จิ เอง กำลังค่อยๆทำให้อำนาจของเพศชายในโลกวรรณกรรมเลือนหายไปอย่างช้า ๆ ด้วยเช่นกัน 


เงียบแต่ดังก้อง
อาวุธของสตรีเพศ ในโลกชายเป็นใหญ่

            ความตายของตัวละครชายดังกล่าว ไม่ได้เพียงแค่เป็นอุปลักษณ์ของการเสื่อมถอยของอำนาจของเพศชายในโลกวรรณกรรมเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึง การปะทุขึ้นของอำนาจเพศหญิง อำนาจที่ถูกให้คำนิยามจากโลกของเพศชายไว้ว่าเป็นอำนาจที่น่าสะพรึงกลัว ลึกลับ แปลกประหลาด และต้องถูกกำจัดให้หมดสิ้นไป เพราะการที่ผู้หญิงมีอำนาจขึ้นมาในโลกที่เพศชายเป็นผู้กุมอำนาจส่วนใหญ่ไว้ทั้งหมด ย่อมนำไปสู่การสั่นคลอนของเพศชายที่เป็นฝ่ายใช้อำนาจเหล่านั้นมาโดยตลอด และการปรากฎขึ้นของอำนาจของเพศหญิงที่ลุกขึ้นมากำหนดกฎเกณฑ์และวิถีความเป็นไปของตัวพวกเธอเอง ก็ย่อมแตกต่างกันไปตามประสบการณ์และเรื่องราวด้วยเช่นกัน
            ตัวอย่างเช่น ตัวละครบางตัวเลือกใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ เพื่อแสดงออกถึงอำนาจที่ปกติแล้วสงวนไว้ให้เฉพาะเพศชายเพื่อโต้กลับอำนาจของเพศชายเอง เช่น ลำเภาที่ฆ่าสามีของเธอด้วยตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน ตัวละครบางตัวเลือกใช้ความเงียบและความเปราะบางเป็นอาวุธ ซึ่งตัวละครที่เลือกใช้อำนาจดังกล่าว ได้แก่ ฟาง จินตะหรา และเมียทั้งสี่คนของอูฐ โดยความอ่อนแอและเปราะบางที่พวกเธอใช้ ได้ถูกให้ความหมายและคุณค่าใหม่จากมุมมองของนักเขียนหญิงอย่าง เจน จิ กล่าวคือ ความเงียบ ความอ่อนแอ และความเปราะบางเป็นอาวุธที่แสดงออกถึงอำนาจที่เพศชายไม่สามารถควบคุมได้ของเพศหญิงทั้งในโลกจริงและโลกวรรณกรรม
            การที่ฟางไม่พูดเมื่อเห็นพฤติกรรมของสามีกับนักศึกษาหญิง แต่เธอกลับเลือกนำ “แมวใบ้” ตัวหนึ่งเข้ามาในบ้าน เป็นตัวอย่างการใช้อำนาจของความเงียบได้อย่างชาญฉลาด แมวตัวดังกล่าว แน่นอนว่าพูดภาษาคนไม่ได้ แต่ที่น่าสนใจคือ มันพูดภาษาแมวหรือส่งเสียงร้องอะไรไม่ได้เลย เหตุเพราะมันถูกเชื่อจากสามีของฟางซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องว่า มันเป็นใบ้ แต่สิ่งที่แมวของฟางทำได้และทำได้ดี  คือการจ้องไปที่ใบหน้าของผู้ที่กำลังมองมันอยู่หรือคนที่มันเห็น ดังนั้น แมวใบ้ตัวนี้จึงเข้ามาทำหน้าที่เหมือนกล้องวงจรปิดที่คอยสอดส่องพฤติกรรมของสามีของฟาง จนทำให้สามีของฟางไม่ชอบใจ เหตุเพราะเขาก็คงรู้ทั้งรู้ว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ฟางรับไม่ได้ แมวตัวดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจของความเงียบผ่านการจ้องมองของแมวซึ่งเป็นอำนาจที่สามีของฟางผู้ซึ่งเป็นตัวแทนของอำนาจเพศชายไม่สามารถควบคุมได้ เพราะไม่ว่าเขาจะไล่แมวตัวนั้นไปกี่ครั้ง มันก็จะกลับมาอยู่ใกล้ๆเขาทุกครั้งและจ้องหน้าเขาในเวลาที่เขานอกใจฟางอยู่เสมอ 

แต่เกลียดตัวนี้เป็นพิเศษ เกลียดเข้ากระดูกดำ...มันเป็นแมวของเมียผม สิ่งที่ทำให้ผมทั้งชิงชังรังเกียจมันหนักหนาก็อย่างที่พูดนั่นแหละ เพราะมันเป็นใบ้” (หน้า 37) 

            จนในตอนท้ายที่สามีของฟางวิ่งไล่แมวจนตกบันไดเป็นอัมพาต และแมวใบ้ตัวนี้เดินมา “...กระซิบเสียงเมี้ยวที่ข้างหู” (หน้า 51) ของเขา ในขณะที่เขาลุกไม่ขึ้นอีกต่อไป ฉากนี้ทำให้ผู้อ่านเห็นได้อย่างชัดเจนว่า แมวกับฟางไม่แตกต่างกันเลย การที่ฟางไม่พูด ไม่ได้แปลว่าฟางไม่รู้ หรือไม่กล้าพูด หรือเป็นใบ้ แต่เป็นเพราะเธอไม่อยากพูด และการที่แมวไม่ส่งเสียงเมี้ยวให้สามีของฟางได้ยินเลยก็ไม่ได้แปลว่ามันส่งเสียงร้องไม่ได้ เพียงเพราะมันไม่อยากส่งเสียงออกมาต่างหาก ดังนั้น การไม่ส่งเสียงของทั้งสองตัวละคร จึงเป็นการตอกย้ำให้ผู้อ่านเห็นถึงอำนาจของความเงียบได้อย่างชัดเจน และสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่า ความเงียบของสตรีเพศที่ถูกครหาว่าลึกลับและน่ากลัว เมื่ออยู่โลกแห่งอำนาจของเพศชายแล้วเป็นสิ่งที่ยากเกินจะควบคุม

“แม่มด” จะยังอยู่ต่อไป…

            ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นวนิยายเรื่อง “โครงกระดูกแม่มด สุขนาฏกรรมแห่งความรัก (To Love With Death)” ทำให้ผู้อ่านเห็นถึงอำนาจของเพศหญิง และการต่อสู้ดิ้นรนของผู้หญิงในโลกแห่งอำนาจของเพศชาย แน่นอนว่า การต่อสู้ในโลกดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่เคยง่ายเลยสักครั้ง การต่อสู้กับอำนาจในโลกที่ชายยังคงเป็นใหญ่และมีอำนาจสมบูรณ์ ต้องพึ่งพาทั้งความอดทนและความสูญเสีย หากแต่ เจน จิ กำลังพยายามทำให้อำนาจโลกแห่งเพศชายเลือนหาย อย่างน้อยที่สุดก็เริ่มต้นจากในโลกวรรณกรรมยิ่งไปกว่านั้น นวนิยายเรื่องนี้ ยังนำเสนออำนาจจากประสบการณ์ของปัจเจกและเรื่องเล่าของชุมชนที่หล่อหลอมให้สตรีเพศรักตัวเองมากขึ้น ตลอดจนกล้าหาญที่จะสู้กับอำนาจแห่งโลกชายเป็นใหญ่มากขึ้น สิ่งที่เคยถูกตีตราว่าไม่ใช่อำนาจในโลกแห่งบุรุษเพศ อย่างความลึกลับ และความเงียบ กลายมาเป็นอาวุธสำคัญที่เพศหญิงจะหยิบจับขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจที่กดขี่พวกเธอเอาไว้ ซึ่งตัวผู้เขียนบทวิจารณ์เองก็คงได้แต่หวังว่า สักวันหนึ่งอำนาจใหม่เหล่านี้ จะนำพาเราไปสู่โลกที่เพศหญิง เพศชาย และเพศอื่น ๆที่แตกต่างหลากหลาย มีอำนาจในการกำหนดกฎเกณฑ์และให้คุณค่ากับสิ่งต่าง ๆได้เท่าๆ กัน และถึงแม้ว่าหนทางจะยังยากลำบากและยาวไกล ตัวผู้เขียนบทวิจารณ์ก็ยังเชื่อว่าเรื่องราวของชุมชน อำนาจแห่งเรื่องเล่า ความเงียบ ความลึกลับ ตลอดจนพลังของแม่มดทั้งหลายจะพาเราทุกคนเข้าไปสู่โลกที่ไม่ได้มีเพียงแค่อำนาจเพศชาย แต่เป็นโลกที่มนุษย์ทุกผู้ทุกคนมีอำนาจเท่ากันอย่างแท้จริง      

<<<<<<<<<<<<<<<<<<<< >>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

Visitors: 72,055