ทัชชภร ศุภรัตน์ภิญโญ

 

ทัชชภร ศุภรัตน์ภิญโญ 

 

วันเกิดของเค้าโมง: วันที่คนไทยยังยืนด้วยตนเองไม่ได้

 

            วันเกิดเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในวันที่บุคคลหนึ่งกำเนิดมาบนโลก ในหลากหลายวัฒนธรรม วันเกิดมีความสำคัญจนถึงขั้นเป็นวันหยุดราชการ เช่น วันวิสาขบูชาหรือวันคริสต์มาส หลายคนอาจกล่าวว่าวันเกิดสำคัญเพราะวันเกิดทำให้บุคคลตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต อย่างไรก็ตาม วันเกิดยังเปรียบเสมือนการสถาปนาความสำคัญของบุคคลหรือสถาบันนั้นๆ หากไม่มีใครจำวันเกิดเราได้ แสดงว่าเราเป็นคนไม่สำคัญสำหรับผู้อื่น  หากจัดงานวันเกิดเล็กๆ อาจแสดงถึงสถานะการเงินที่ไม่สู้ดี วันเกิดจึงค่อยๆ กลายเป็นวันที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวผู้เกิดแต่กลายเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกสถานะทางสังคมและเชื่อมโยงกับศาสนาอย่างเลี่ยงไม่ได้ นวนิยายเยาวชนเรื่อง วันเกิดของเค้าโมง ของ จันทรังสิ์ ไม่เพียงแสดงให้เห็นว่าวันเกิดคือหนึ่งในกระบวนการการประกอบสร้างตัวตนของบุคคลในสังคม แต่ยังแสดงถึงวัฒนธรรมและแนวคิดของคนไทยที่ยืนด้วยตนเองไม่ได้ และต้องอาศัยผู้อื่นในการมีตัวตนหรือการมีอยู่ของตนเอง

วันเกิดและตัวตนทางสังคม

         วันเกิดในเรื่อง วันเกิดของเค้าโมง เป็นวันที่ตัดสินว่าใครในสังคมที่มีตัวตน ตัวตนในบริบทนี้เป็นตัวตนที่ต้องอาศัยผู้อื่นในการประกอบสร้าง บุคคลหนึ่งจะมีตัวตนไม่ได้ หากผู้อื่นไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ของเขา ในขณะเดียวกัน บุคคลหนึ่งจะมีตัวตนต่อเมื่อผู้อื่นให้ความสำคัญกับบุคคลนั้น เค้าโมงเด็กหญิงวัย 15 ปีกังวลตลอดเวลาว่าจะมีคนจำวันเกิดตัวเองได้ไหม เมื่อรู้ว่าไม่มีใครจำได้ เค้าโมงเสียใจและน้อยใจคนรอบข้างมาก  เพราะในความคิดของเค้าโมง วันเกิดเป็นวันที่ “คนอื่นน่าจะมาเอาใจเธอ” ไม่ใช่ไปใส่ใจพี่สาวเธอ (52) กลับกลายเป็นว่าความสุขของเด็กหญิงขึ้นอยู่กับผู้อื่นแต่ไม่ใช่ตนเอง การมีความสุขของเธอต้องพึ่งพาการได้รับความยอมรับจากคนรอบข้างว่าเธอเป็นคนสำคัญ 

นอกจากนี้ ของขวัญวันเกิดในเรื่องหรือปัจจัยภายนอกที่เค้าโมงได้รับจากผู้อื่น ยังเป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่าเค้าโมงจะมีความสุขและมีตัวตนในสังคมหรือไม่ เมื่อทุกคนในครอบครัวลืมวันเกิดของเค้าโมงและเด็กหญิงเลือกที่จะไม่บอกคนในครอบครัวว่าวันนั้นเป็นวันเกิดของเธอ เค้าโมงเลือกที่จะใช้เวลาในวันเกิดช่วงหนึ่งกับครอบครัวของภาชีเพราะพวกเขารู้ว่าวันนั้นเป็นวันเกิดของเธอและยังให้ของขวัญวันเกิดเธออีกด้วย  แม้เค้าโมงเพิ่งทำความรู้จักกับครอบครัวนี้ในวันเดียวกันนั้นก็ตาม หากในความเป็นจริงแล้ว ครอบครัวของภาชีไม่ได้จำวันเกิดของเด็กหญิงได้ แต่เพิ่งรู้ในวันนั้นว่าเป็นวันเกิดของเค้าโมงจากคำบอกเล่าของเด็กหญิงเอง (29)  ของขวัญที่ได้คือสมุดโน้ตที่หมอปายไม่ได้ตั้งใจซื้อให้เค้าโมง แต่บังเอิญซื้อเก็บไว้ (46)ยิ่งไปกว่านั้น บุคคลที่เค้าโมงคิดว่าทำร้ายจิตใจตนในตอนต้น เช่น ใบบุญไก่จุก หรือพ่อแม่ของเค้าโมงเองกลับกลายเป็นฮีโร่ในตอนท้าย เมื่อทุกคนมอบของขวัญวันเกิดให้เค้าโมง ของขวัญจึงมีค่าเท่ากับความสุข สิ่งยืนยันถึงความรัก และตัวตนในสังคมของผู้รับ การต้องการของขวัญวันเกิดบ่งชี้ถึงสังคมไทยที่ลุ่มหลงในวัตถุและความสัมพันธ์ที่หล่อเลี้ยงด้วยความคาดหวัง

คำอธิษฐานในวันเกิดและวัฒนธรรมพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์

         เค้าโมงเริ่มต้นวันเกิดของเธอด้วยการตักบาตร แม้ตัวคนรอบข้างยืนยันว่าปกติเค้าโมงไม่ใช่คนชอบตื่นมารอพระบิณฑบาต (8) พฤติกรรมที่แปลกออกไปในเช้าวันเกิดของเค้าโมงแสดงให้เห็นถึงความเชื่อในสังคมไทยเรื่องบุญกุศลและการทำดีหวังผล หาใช่กิจวัตรหรือการให้ที่คนไทยทำจนเป็นนิสัย เพียงแต่เป็นการกระทำที่บุคคลเลือกพึ่งพาพลังบุญ จะช่วยให้ตนมีชีวิตที่ดีหรือสมปรารถนาของตนเองเท่านั้น การตักบาตรในเรื่องนี้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของคนไทยต่อศาสนาพุทธ ศาสนาไม่ใช่เข็มทิศนำทางให้บุคคลทำความดีหรือจิตใจสงบ ในที่นี้ ศาสนาทำหน้าที่เป็นที่พึ่งทางจิตใจของคนไทย แต่ในขณะเดียวกันยังทำให้บุคคลนั้นไม่พึ่งพาตนเองและยังก่อให้เกิดความโลภโดยหวังให้ปัจจัยภายนอกนำพาไปตนเองสู่ความสำเร็จหรือสมปรารถนา

ยิ่งไปกว่านั้น เค้าโมงยังขอพรสามข้อในวันเกิดของเธอ (11) คำอธิษฐานของเค้าโมงแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนไทย เมื่อต้องการสิ่งใด หลายคนเลือกที่จะขอพร แทนที่ตนเองจะกระทำบางอย่างให้บรรลุผลเอง ในเรื่อง เค้าโมงเป็นเด็กเงียบ ขี้อาย ดูแลตนเองได้ เวลาที่เค้าโมงมีปัญหา เธอเลือกจะบอกความรู้สึกของเธอกับสมุดบันทึกหรือปลาทองที่เธอเลี้ยง ผู้เขียนเน้นย้ำความสำคัญของคำอธิษฐานของเค้าโมงหลายครั้งในนวนิยาย และยังเลือกใช้คำอธิษฐานเป็นคำโปรยของหนังสืออีกด้วย คำอธิษฐานไม่เพียงแสดงถึงความปรารถนาของเด็กหญิงและปัญหาในครอบครัว แต่แสดงถึงสภาวะจิตใจที่ขาดที่พึ่งพิงของเค้าโมง จนเธอต้องอาศัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยเธอ ในขณะเดียวกัน การขอพรในวันเกิดราวกับว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะให้ได้สิทธิพิเศษแก่เจ้าของวันเกิดในการอธิษฐาน จึงเป็นการเสริมสร้างนิสัยไม่ยืนด้วยตนเองของคนไทย สอนมารุ่นต่อรุ่น

จิตแพทย์ผู้เป็นความหวังของมวลมนุษยชาติและสังคมที่ยังฟอนเฟะไม่เปลี่ยนแปลง

         แม้ผู้เขียนจะชี้ให้เห็นประเด็นปัญหาในสังคมและครอบครัวของเค้าโมงอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินคนอื่นจากรูปลักษณ์ภายนอก เมื่อเค้าโมงเลือกที่จะไม่ใส่แว่นแม้สายตาสั้น เพราะกลัวโดนเรียกว่าป้า (8)  หรือการตัดสินคุณค่าของคนจากเงินหรือคะแนนสอบซึ่งเป็นคุณค่าที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยอมรับและทำให้บุคคลที่มีเงินน้อย หรือเค้าโมงไม่เก่งในวิชาซึ่งเป็นที่นิยม เช่น คณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ น้อยเนื้อต่ำใจ  (67) หรือการศึกษาไทยที่ยังมีข้อด้อย เมื่อเค้าโมงไม่รู้ว่าปรัชญาคืออะไร เพราะโรงเรียนไทยไม่เคยสอนให้ตั้งคำถามในการใช้ชีวิต แต่สอนให้อยู่ในกรอบศาสนาแทน (48) ทางออกหนึ่งที่ผู้เขียนบอกตอนท้ายเรื่องนั้นคือให้ไปปรึกษาจิตแพทย์เมื่อบุคคลหรือครอบครัวมีปัญหา แม้ประเด็นที่ผู้เขียนพยายามบอกว่าการพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องแย่หรือแปลกประหลาด เป็นเรื่องที่น่ายกย่อง แต่การแก้ปัญหาทุกอย่างโดยไปพบจิตแพทย์นั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และผลักภาระไปให้บุคลากรทางการแพทย์ เมื่อคำอธิษฐานสามข้อของเค้าโมงซึ่งนั่นคือขอให้แม่ทำงานได้นานๆ ชี้ให้เห็นปัญหาเรื่องคุณค่าของเงินในสังคมและการดูถูกแม่บ้านจากผู้เป็นพ่อ การขอให้ไก่จุกไปโรงเรียนและพ่อไม่กลับมาบ้าน แสดงให้เห็นถึงปัญหาจากการสื่อสารภายในครอบครัว เหล่านี้คือปัญหาที่แท้จริงในสังคม หากสังคมไม่มีการเปลี่ยนแปลง จำนวนผู้ป่วยหรือมีปัญหาครอบครัวจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนจิตแพทย์ก็ไม่สามารถเยียวยาได้ทัน ปัจจัยดังกล่าวแต่ละคนมีไม่เท่ากัน เนื่องจากชนชั้นที่แตกต่าง และแม้บุคคลมีปัจจัยดังกล่าวอย่างครบถ้วน เขาอาจโดนกดดันจากความคาดหวังของสังคม อย่างเช่น ภาชีที่เกิดในครอบครัวแพทย์และต้องรักษาผลการเรียนให้สูงอยู่เสมอ เพราะคนรอบข้างคาดหวังให้เขาฉลาด (63)  นั่นแสดงว่าปัญหาทั้งทางกายและใจเกิดขึ้นได้กับทุกคนในสังคมที่ยังฟอนเฟะและพร้อมตัดสินกัน ไม่ใช่จากคุณค่าที่แท้จริงของบุคคลนั้น แต่จากคุณค่าและตัวตนที่สังคมประกอบสร้างขึ้นเท่านั้น

นอกจากจำนวนจิตแพทย์ในประเทศไทยที่มีไม่พอต่อจำนวนคนไข้แล้ว การพบจิตแพทย์ไม่ใช่ทางออกของทุกชนชั้นในสังคม คนชนชั้นสูง เช่น ภาชี ชายผู้เรียนจบเมืองนอกและมีพ่อแม่เป็นแพทย์ อาจเลือกพบและเปลี่ยนจิตแพทย์ได้ตามใจถึงสามครั้ง (66) คนชนชั้นกลางอย่างเค้าโมงที่สามารถใช้บริการรถสาธารณะไม่นานก็ถึงโรงพยาบาลและพบจิตแพทย์ได้ (54) แต่คนชนชั้นแรงงานนั้นไม่สามารถใช้ทางออกเดียวกันได้เสมอไป เนื่องจากขนส่งสาธารณะที่ยังเข้าไม่ถึงทุกพื้นที่หรือเพราะกำลังทรัพย์ที่พวกเขามีเพียงพอกับค่ารักษาที่โรงพยาบาลรัฐเท่านั้น โรงพยาบาลรัฐตามจังหวัดต่างๆ ที่ไม่ใช่ในเมืองหลวงหรือจังหวัดใหญ่ๆ มีจำนวนจิตแพทย์ต่ำกว่าความต้องการเป็นทุนเดิม จิตแพทย์จึงมีเวลาไม่มากพอที่จะรักษาเคสไม่เร่งด่วนเพราะต้องรับผิดชอบผู้ป่วยทางจิตอื่นที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคม เช่น คนติดยา ติดเหล้า หรือคลุ้มคลั่ง ในขณะเดียวกัน ชนชั้นแรงงานที่ขาดการศึกษาจำนวนมากไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทุกคนไปหาจิตแพทย์ได้ ไม่ใช่เพราะอายหรือความเข้าใจผิด อย่างพ่อแม่ของเค้าโมงที่ยอมให้ไก่จุกไม่ไปพบจิตแพทย์ แต่พวกเขาขาดความรู้อย่างสิ้นเชืองและยังเห็นว่าโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องไกลตัวด้วยซ้ำ

 

คนไทยจะยืนด้วยตนเองได้อย่างไร

ผู้วิจารณ์เห็นว่าการพบจิตแพทย์เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน ผู้วิจารณ์เห็นว่าการวางแผนครอบครัว การปฏิรูปการศึกษา และการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพในภาคประชาสังคมและครัวเรือนนั้นเป็นการป้องกันที่ยั่งยืนกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เนื่องจากในตอนจบของเรื่อง แม้ทั้งครอบครัวของเค้าโมงไปพบจิตแพทย์แต่ทุกคนยังอยู่ในสังคมเดิมที่ให้คุณค่ากับปัจจัยแบบเก่า หรือย่าใบที่ยังชอบนินทาหรือคุยโวเรื่องครอบครัวตนเอง ปัญหาเดิมๆ จึงเกิดขึ้นอีกเมื่อไรก็ได้ จิตแพทย์เป็นเพียงคนกลางไม่ใช่ยาวิเศษ หากมีปัญหาทางจิตร้ายแรง จิตแพทย์อาจออกใบสั่งยาให้ผู้ป่วยแต่ตัวผู้ป่วยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่รอดในสังคมเองด้วย นอกจากนี้ การอ่านหนังสือและตั้งคำถามโดยไม่จมปลักกับโลกวรรณกรรมเสมือนจริงนั้น เป็นการทำความเข้าใจปัญหา ทั้งในจิตใจตนเองและสังคม เช่น เค้าโมงและภาชีที่อ่านหนังสือเรื่อง เดอะบิ๊กออเรนจ์สปล็อต ทั้งสองจึงเรียนรู้ว่าสังคมอยู่ร่วมกันได้หากทุกคน “เคารพในความแตกต่าง” (85)

อย่างไรก็ตาม การอ่านนี้เป็นการอ่านที่ไม่ใช่การท่องจำในแบบที่การศึกษาไทยสอนนักเรียน แต่เป็นการอ่านที่ผู้อ่านต้องตั้งคำถามและเชื่อมโยงกับชีวิตของตน ผู้วิจารณ์จึงเสนอในตอนต้นว่าอีกทางออกหนึ่งคือการปฏิรูปการศึกษาที่ไม่เพียงต้องสอนให้เด็กคิดเป็นแต่ต้องสอนเรื่องคุณค่าของมนุษย์ที่มีความแตกต่างกันและความเท่าเทียมกันในสังคมด้วย การเรียนเรื่องศาสนาหรือปฏิบัติตามธรรมเนียมศาสนานั้นไม่ใช่เรื่องผิดแต่ผู้ปฏิบัติต้องเลือกนำคำสอนมาใช้อย่างเหมาะสม เช่น เค้าโมงผู้ต้องการให้หลายสิ่งเกิดขึ้นในวันเกิด เธอขอพรได้แต่ต้องลงมือทำให้ความต้องการนั้นสำเร็จด้วยตนเองด้วย แม้มือจะไหว้พระแต่ใจต้องตระหนักว่าสุดท้ายตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เค้าโมงเคารพพระสงฆ์และศาสนา แต่ในขณะเดียวกัน เค้าโมงต้องรู้จักเคารพตัวเอง แม้ศาสนาจะเป็นที่พึ่งทางใจของเค้าโมง แต่เค้าต้องไม่ลืมที่จะยืนด้วยตนเองเช่นกัน

 


 

Visitors: 72,277