อรวรรณ ฤทธิ์ศรีธร

อรวรรณ ฤทธิ์ศรีธร

 

เสกอสูร : จาก ความปรารถนาต้องห้าม สู่ มนุษย์สังเคราะห์และความแปลกปลอม

 

 

 

    ขอเดิมพัน           มั่นคง           ณ ตรงนี้

         ทุกวิถี               ปณิธาน         อันหาญกล้า

      แม้ความตาย       มาพราก       ให้จากลา

             ขอฝืนฟ้า            ปาฏิหาริย์       ต้านความตาย

(หมอกมุงเมือง, 2560: 544) 

 

         คำปณิธานข้างต้นกลั่นออกมาจากหัวใจของชายที่ชื่อ อัพภันตร์ ในนวนิยายเรื่อง เสกอสูร ประพันธ์โดย หมอกมุงเมือง ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2560 โดยสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม หมอกมุงเมืองพาผู้อ่านไปรู้จักกับอัพภันตร์ เด็กหนุ่มกำพร้าใบหน้าอัปลักษณ์แต่กำเนิด ซึ่งลักลอบได้เสียกับคุณหญิงเฟื่องเพชร ภรรยาใหม่ของคุณภากร ผู้เป็นพ่อบุญธรรมของเขา ความสุขทางเพศรสที่ทั้งสองปรนเปรอให้กันดำเนินไปได้ไม่นาน เฟื่องเพชรก็เสียชีวิตด้วยโรคลูคีเมีย ก่อนตายเธอได้ฝากฝัง “ชีวิตใหม่” ของเธอไว้กับอัพภันตร์ โดยหมายว่า ให้เขาคืนทั้งชีวิตและความสาวความสวยกลับมาสู่เธออีกครั้งด้วยกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม เมื่อเฟื่องเพชรเสียชีวิต อัพภันตร์ออกเดินทางไปศึกษายังต่างประเทศและสำเร็จกลับมาเป็นนายแพทย์ เขาเริ่มต้นทำ “มนุษย์สังเคราะห์” ด้วยวิธีที่คล้ายคลึงกับแฟรงเกนสไตน์ คือ “การมอบชีวิตให้แก่สิ่งที่ปราศจากชีวิต” (เชลลีย์, 2561: 73) 

         อัพภันตร์เริ่มการสร้างมนุษย์สังเคราะห์จากขั้น “ปฐม” โดยนำเซลล์ต้นแบบมาจากคนงานในบ้าน จากนั้นเขาก็ออกสังหารเหยื่อเพศหญิงหลายรายที่ล้วนแต่มีจุดเด่นของเรือนร่างแตกต่างกัน บ้างก็มีเรือนขาเรียวงาม บ้างก็มีใบหน้าไร้ที่ติ เพื่อนำเซลล์อวัยวะต่าง ๆ มาใช้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แล้วบรรจุไว้ในโพลิเมอร์ข้นหนืดที่เขาตั้งชื่อว่า “มัชฌิม” ซึ่ง “หมายถึงสภาวะกึ่งกลาง ระหว่างตัวตั้งต้นและผลผลิตแห่งปลายทาง” (หมอกมุงเมือง, 2560: 537) ปัญหาคือมัชฌิมที่ว่านี้ สามารถแปรรูปแปรร่างอย่างเป็นอิสระ เป็นใบหน้าของเจ้าของเซลล์ต่าง ๆ ที่ถูกบรรจุอยู่โดยไม่สามารถควบคุมได้ แต่ก่อนที่อัพภันตร์จะแก้ไขปัญหานี้เพื่อไปสู่ขั้น “ปัจฉิม” อันเสร็จสมบูรณ์นั้น มัชฌิมก็ถูกทำลายลงด้วยเล่ห์กลของเหยื่อที่เขาสังหาร ส่วนอัพภันตร์ก็ได้ฆ่าตัวตายตามไปด้วยความเสียใจ

        เมื่ออ่าน เสกอสูร จบลง ผู้วิจารณ์เห็นว่า นี่คือนวนิยายที่ผสมผสานแนววรรณกรรมได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอเรื่องราววิทยาศาสตร์แฟนตาซีที่มีกลิ่นอายกอธิค (gothic)และได้กล่าวถึงตัวละครคลาสสิคอย่าง แฟรงเกนสไตน์ ซึ่งหมอกมุงเมืองเผยว่าเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนนวนิยายเรื่องนี้ ตลอดจนการนำไคมีร่า สัตว์ประหลาดในตำนานกรีก มาเป็นอุปลักษณ์ของมนุษย์สังเคราะห์ที่มีหลายชีวิตอยู่ในร่างเดียว

        ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ เสกอสูร นำเสนอสิ่งที่ซูวิน (Suvin)เรียกว่า โนวุม (novum) อันหมายถึง “สิ่งใหม่”  ในที่นี้หมายถึง เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ถูกนำมาใช้ในวรรณกรรมวิทยาศาสตร์ ซึ่งแตกต่างจากโลกแห่งความจริง โรเบิร์ต (Roberts, 2000: 25) อธิบายคำกล่าวของซูวินไว้ในหนังสือ Science Fictionว่า โนวุมเป็นภาพแทนของการเผชิญหน้ากับความแตกต่างความเป็นอื่น และความเปลี่ยนแปลง นอกจากนั้น โนวุมยังอาจถูกนำเสนอให้เชื่อมโยงกับความหวาดกลัวเทคโนโลยีและโนวุมใน เสกอสูร ก็คือ มนุษย์สังเคราะห์ หรือที่อัพภันตร์ตั้งชื่อว่า “มัชฌิม” นั่นเอง ซึ่งมีความหมายมากกว่าพันธุวิศวกรรม หากแต่รุ่มรวยไปด้วยนัยอันน่าสนใจซึ่งในบทวิจารณ์เรื่องนี้ผู้วิจารณ์ต้องการชี้ให้เห็นว่า หมอกมุงเมืองนำเสนอภาพของโนวุมที่เชื่อมโยงกับความปรารถนาต้องห้ามและความแปลกปลอมจากภาวะปกติในสังคม

 

ขอฝืนฟ้าปาฏิหาริย์ต้านความตาย: มนุษย์สังเคราะห์และปมเอดิปุส

         ความเป็นวรรณกรรมวิทยาศาสตร์แฟนตาซีของ เสกอสูร เอื้อให้หมอกมุงเมืองสร้างสรรค์การ “ขอฝืนฟ้าปาฏิหาริย์ต้านความตาย” ผ่านอัพภันตร์ที่พยายามฟื้นคืนชีพให้แก่หญิงที่เขารักจากคำสั่งเสียก่อนสิ้นใจและด้วยความเสน่หาที่เขามีต่อเธอ เมื่อมองอย่างผิวเผิน นี่อาจเป็นเพียงความรักต้องห้ามของเด็กหนุ่มที่มีให้หญิงผู้เป็นภรรยาของพ่อบุญธรรม แต่ในบทวิจารณ์นี้ ผู้วิจารณ์ขอเสนอการ “อ่าน” ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ในเชิงปมเอดิปุส (Oedipus complex) ซึ่งคำนี้มีที่มาจากตำนานกรีก เป็นเรื่องของเอดิปุส ที่ฆ่าพ่อของตนและครองรักกับแม่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ฟรอยด์ (Freud) นำพฤติกรรมดังกล่าวมาใช้อธิบายปมเกลียดพ่อและหวงแหนแม่ในเพศชาย  ที่น่าสนใจคือการศึกษาปมเอดิปุสในวรรณกรรม ไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ตัวละครที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกันจริง ๆ เท่านั้น แต่ยังสามารถศึกษาในเชิงอุปลักษณ์ได้ ดังในกรณีเสกอสูรเห็นได้ว่าเฟื่องเพชรและอัพภันตร์มีสถานะเป็นเสมือนแม่และลูกชายในเชิงอุปลักษณ์ เมื่อผู้วิจารณ์นำความสัมพันธ์ดังกล่าวมาเชื่อมโยงกับกระบวนการสร้างมนุษย์สังเคราะห์ ได้ก่อให้เกิดมุมมองที่น่าขบคิด ดังจะอธิบายต่อไป และในบทวิจารณ์นี้ ผู้วิจารณ์อาจใช้คำว่า “แม่” แทนตัวละครเฟื่องเพชร  และ “ลูกชาย” แทนตัวละครอัพภันตร์ ในบางจุดเพื่อสื่อให้เห็นความหมายเชิงปมเอดิปุสที่ชัดเจนขึ้น

          ข้อเสนอที่ว่าเฟื่องเพชรมีสถานะเป็น “แม่” ผู้ปรารถนาในตัว “ลูกชาย” อย่างอัพภันตร์ ถูกสนับสนุนด้วยฉากที่เธอเข้ามาร่วมอภิรมย์กับอัพภันตร์ ทั้งที่เธอมีสามีอยู่แล้ว อีกทั้งยังเป็นผู้สั่งให้ลูกชาย “ปลุกฉันให้ถือกำเนิดขึ้นมาอีกครั้ง เป็นเฟื่องเพชรคนใหม่ที่มีทุกอย่างพรั่งพร้อม และสามารถอยู่ร่วมกับเธอได้ตลอดอายุขัย ไม่ใช่เฟื่องเพชรคนที่กำลังถูกรุมเร้าด้วยโรคร้ายและรอวันเสื่อมสลายกายสังขารเช่นนี้ ฉันไม่อาจยอมรับสภาวะเช่นนั้นได้” (หมอกมุงเมือง, 2560: 314) เห็นได้ว่าเฟื่องเพชรใช้ความเป็น “แม่” บงการให้ “ลูกชาย” เสกชีวิตเธอขึ้นมาใหม่อีกครั้ง  ดังที่เธอบอกเขาก่อนสิ้นใจว่า “ทุกอย่างฉันเตรียมพร้อมเอาไว้หมดแล้ว เหลือเพียงแค่ทำตามความฝันของเธอให้สำเร็จ” (หมอกมุงเมือง, 2560: 314) 

          ด้านอัพภันตร์นั้น หมอกมุงเมืองนำเสนอให้เขาเป็นปฏิปักษ์กับพ่อบุญธรรมผ่านการพรรณนาถึงความรู้สึกที่เขามีต่อคุณภากร

          เขาเพิ่งรู้ตัวเองในบัดนี้ ว่าเกลียดบุรุษคนนี้เข้ากระดูกดำ เกลียดอย่างรุนแรง...มันเป็นคนที่ทำให้เขาดูเหมือนเป็นตัวตลก ไม่มีคุณค่าอะไรเลย […] ภากรไม่รู้แม้แต่สักน้อยนิด ว่าอากัปกิริยายามเมื่อเขาแสดงออกต่อเด็กชายผู้นี้ ไม่ต่างกับการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความขมขื่นเจ็บปวดของการลงโทษทัณฑ์ ให้งอกงามขึ้นมาทีละเล็กละน้อย จนในวันหนึ่งมันก็เริ่มแตกยอดอ่อนของความเกลียดชังขึ้นมา ก่อนจะแปรเปลี่ยนเป็นดอกไม้พิษของความพยาบาทให้เบ่งบานขึ้นในที่สุด !

(หมอกมุงเมือง, 2560: 258)

         ความพยาบาทนี้ทำให้เขาร่วมมือกับเฟื่องเพชรกำจัดคุณภากร นอกจากความเกลียดชังชายผู้มีสถานะเป็น “พ่อ” แล้ว อัพภันตร์ยังได้แสดงให้เห็นความปรารถนาในตัว “แม่” อย่างชัดเจน ดังที่หมอกมุงเมืองได้พรรณนาฉากที่ลูกชายฝันหวานว่าได้หลับนอนกับแม่ ก่อนจะ “เริงรื่นรสเล่ห์สิเน่หา” (หมอกมุงเมือง, 2560: 274) ร่วมกันจริง ๆและเมื่อแม่มีอันต้อง “ตาย” จากร่างเดิมไป ลูกชายจึงได้สร้างมนุษย์สังเคราะห์เพื่อสมปรารถนากับแม่ในร่างใหม่ 

 

เข้าสู่กระบวนการ “พาหัวใจให้คืนเรือน”: เมื่อ “อสูร” ถูก “เสก”

         เมื่อหญิงที่อัพภันตร์รักและเทิดทูนบูชาต้องตายจากไป การสร้างมนุษย์สังเคราะห์จึงเป็นหนทางนำพาหัวใจของหญิงคนรักกลับคืนมาสู่ตนอีกครั้ง ซึ่งแม้การกระทำดังกล่าวจะอยู่ภายใต้วิธีทางวิทยาศาสตร์แต่ผู้วิจารณ์มีข้อสังเกตว่า หมอกมุงเมืองนำเสนอความเป็นแฟนตาซีของมนุษย์สังเคราะห์ร่วมด้วย เห็นได้ชัดเจนจากชื่อเรื่อง “เสกอสูร” ซึ่งคำว่า “เสก” และ “อสูร”  มีนัยของความเหนือจริง/แปลกปลอมต่อภาวะปกติ เนื่องจากการ “เสก” มีความหมายถึงการทำให้มีให้เป็นด้วยวิธีที่เหนือจากกรอบเหตุผลนิยม และ “อสูร” ก็มีนัยเชื่อมโยงกับความน่าสยดสยองและเป็นสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับการบรรยายเรือนร่างของมัชฌิมที่ว่า “ยืดขยายออกเหมือนกับเป็นตุ๊กตายางยืดพลาสติกผิดรูป และไร้กระดูกใด ๆ เป็นองค์ประกอบ” (หมอกมุงเมือง, 2560: 200-201) ที่น่าสนใจคือเราอาจกล่าวได้ว่า เรือนร่างแห่งความปรารถนาต้องห้ามแบบปมเอดิปุสนั้น ถูกบรรจุคุณสมบัติอันแปลกปลอมและน่าสะพรึงกลัวไม่ต่างจาก “อสูร”

         ผู้วิจารณ์เห็นว่า จุดเด่นหนึ่งของ เสกอสูร คือ การนำเสนอให้มนุษย์สังเคราะห์มีลักษณะ “ครึ่งๆ กลาง ๆ” ตามชื่อที่เรียกว่ามัชฌิม ซึ่งหมอกมุงเมืองได้ยั่วเย้าให้ผู้วิจารณ์ตั้งคำถามต่อไปว่า เหตุใดการผลิตมนุษย์สังเคราะห์โดยนายแพทย์ผู้มากความสามารถและมีหัวใจรักอันยิ่งใหญ่จึงไม่ถูกนำเสนอให้เสร็จสมบูรณ์ ? และการมอบคุณสมบัติให้มัชฌิมมีใบหน้าที่เปลี่ยนแปรไปมาอย่างควบคุมไม่ได้เพื่อแสดงถึงปัญหาและอุปสรรคในกระบวนการพันธุวิศวกรรม อันนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมความรักในตอนจบนั้นสื่อถึงอะไร?

         ผู้วิจารณ์ขอเสนอว่า เราสามารถนำเอาประเด็นปมเอดิปุสเข้ามา “อ่าน” มัชฌิมเพื่อตอบคำถามชุดนี้ได้กล่าวคือ อัพภันตร์พยายามสร้างมนุษย์สังเคราะห์เพื่อเป็นพื้นที่ให้เฟื่องเพชรกลับมามีชีวิตอีกครั้งนั้นเกิดจาก “ความปรารถนาในตัวแม่ของลูกชาย” ที่หมายให้ความสัมพันธ์ดังกล่าวหวนคืนมา ดังนั้น คำตอบที่เป็นไปได้คือ เรือนร่างที่แปรเปลี่ยนไปมาของมัชฌิมเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกว่า การดำรงความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างแม่กับลูกชายยากลำบากเกินจะ “บรรลุ” แม้ทั้งแม่และลูกชายจะลอบเสพสมกันแล้วก็ตาม แต่ก็กระทำไปอย่างเป็นความลับ และ “การคงสภาพมนุษย์สังเคราะห์อย่างมัชฌิมให้ปรากฏอยู่ตลอดเวลานั้นยังเป็นปัญหา” (หมอกมุงเมือง, 2560:557) เมื่อเชื่อมโยงกับความปรารถนาในตัวแม่แล้ว เป็นการแสดงให้เห็นว่า เขาไม่สามารถควบคุมเรือนร่างของแม่ให้เป็นไปตามความต้องการได้ คุณสมบัติของมัชฌิมที่กล่าวมาจึงเป็นตัวแทนของอุปสรรคการครองรักของแม่และลูกชายหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การดำรงความสัมพันธ์ต้องห้ามในลักษณะปมเอดิปุสอย่างเปิดเผยเป็นเรื่องที่ยากลำบากและมีอุปสรรคอันคาดเดาไม่ได้

 

จงหลับใหลคืนสนิทสู่นิทรา: การหลับไม่ตื่นของความแปลกปลอม

          หมอกมุงเมืองนำเสนอโนวุมผ่านตัวละครมัชฌิมที่นำมาซึ่งความวุ่นวายในสังคม นับแต่การสร้างให้อัพภันตร์สังหารเหยื่ออย่างโหดเหี้ยมเพื่อนำเซลล์มาสังเคราะห์ รวมถึงร่างมัชฌิมที่ออกล่าเหยื่ออย่างทารุณเพื่อ “‘กลืนกิน’ อย่างหิวโหย” (หมอกมุงเมือง, 2560: 559) หรือการที่เหยื่อแต่ละรายต้องทุกข์ทรมานเนื่องจากเซลล์ของตนถูกขังอยู่ภายในร่างมัชฌิมในสภาพที่“ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นมนุษย์หรือเป็นอสุรกายกันแน่”(หมอกมุงเมือง, 2560: 578) สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าโนวุมเชื่อมโยงกับภาวะไม่ปกติสุข และที่ชัดเจนคือ เรือนร่างของมัชฌิม ถูกบรรจุคุณสมบัติแปลกปลอมจากมนุษย์ทั่วไป ซึ่งสร้างความสยองขวัญให้กับผู้พบเห็น จนกระทั่งมีตัวละครที่เสียสติหลังจากการเผชิญหน้ากับมัชฌิมที่กำลังสูบกินเหยื่ออย่างน่าขนพองสยองเกล้าซึ่งในที่สุดแล้ว ความแปลกปลอมของเรือนร่างนี้ก็ดำเนินมาถึงจุดจบด้วยการดับสลายไปพร้อมกับผู้สร้าง เป็นการ “หลับสนิท” ไปตลอดกาลของตัวแทนความแปลกปลอมในสังคม

         หากเราพิจารณาบริบททางยุคสมัยของวรรณกรรม เห็นได้ว่านวนิยายตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2560 หรือ “ศตวรรษที่ 21”นับว่าเป็นยุคที่พันธุวิศวกรรมเฟื่องฟู และได้เข้ามามีบทบาทในวงการแพทย์เพื่อช่วยเยียวยาร่างกายของมนุษย์ ซึ่งการทำพันธุวิศวกรรมในปัจจุบัน ยังคงมีการถกเถียงปัญหาทางจริยธรรมและผลกระทบที่มีต่อสังคม ดังในการประชุมของศูนย์เพื่อพันธุกรรมและสังคม (Center for Genetics and Society)เมื่อวันที่  2 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ที่วิพากษ์ถึงผลกระทบต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์ รวมทั้งการตั้งคำถามกับกระบวนการพันธุวิศวกรรมว่าจะเกิดผลต่อสังคมอย่างไร เห็นได้ว่าหมอกมุงเมืองได้นำเสนอปัญหาในการนำพันธุวิศวกรรมมารับใช้ความปรารถนาแบบปมเอดิปุสซึ่งเป็นข้อห้าม (taboo) ของสังคมอย่างน่าสนใจ ผ่านกระบวนการผลิตที่ต้องทำลายชีวิตมนุษย์ รวมทั้งอุปสรรคในการควบคุมเรือนร่างมนุษย์สังเคราะห์ ตลอดจนการนำเสนอความแปลกปลอมและความโหดร้ายของร่างนั้น นำมาสู่ความวุ่นวายที่จำเป็นต้องถูกกำจัด

         เมื่อความสัมพันธ์ซ่อนเร้นต้องยุติลงด้วยความตายของหญิงผู้เป็นที่รัก เป็นผลให้อัพภันตร์พยายาม “เสก” เรือนกายแห่งความปรารถนาต้องห้ามขึ้นมาใหม่ ทว่าเรือนร่างนั้นกลับนำมาซึ่งความหวาดกลัวต่อผู้พบเห็น ในตอนจบทั้งตัวตนที่แปลกปลอมและผู้สร้างมันขึ้นมาจึงได้พบกับจุดจบที่แสนเศร้า และเมื่อพิจารณาแล้วเสกอสูรไม่ได้เพียงแสดงถึงด้านลบของวิทยาศาสตร์ผ่านการทำพันธุวิศวกรรมที่นำมาซึ่งหายนะเท่านั้นเมื่อทดลอง “อ่าน” ความสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิงคู่หนึ่งในเชิงปมเอดิปุส กลับทำให้เห็นสารอีกประการหนึ่งที่หมอกมุงเมืองแฝงไว้ นั่นคือวิทยาศาสตร์อาจเป็นเครื่องมือรับใช้ความปรารถนามนุษย์ แต่กรอบของสังคมจะเป็นตัวตัดสินว่า ผลผลิตทางวิทยาศาสตร์นั้นจะดำรงอยู่ได้หรือไม่ และเมื่อพิจารณาแล้วการที่มนุษย์สังเคราะห์และผู้สร้างถูกกำจัด ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการ “สลาย” สิ่งอยู่นอกภาวะปกติของสังคม

 

บรรณานุกรม

เชลลีย์, แมรี่. (2561). อาริตา พงศ์ธรานนท์ แปล. แฟรงเกนสไตน์ อมนุษย์คืนชีพ. กรุงเทพฯ:แอร์โรว์ คลาสสิคบุ๊คส์.

ประชาไท. (12 เมษายน 2558).นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ถกเถียงด้านบวก-ลบ เทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมในมนุษย์. สืบค้นจากhttps://prachatai.com/journal/2015/12/62775 วันที่  20 ตุลาคม 2562. 

หมอกมุงเมือง. (2560). เสกอสูร. กรุงเทพฯ: ณ บ้านวรรณกรรม.

Roberts, Adam. (2000). Science Fiction.  London and New York: Routledge. 

 


 


Visitors: 72,059