ชนะ จันทร์ฉ่ำ

ชนะ จันทร์ฉ่ำ

 

ด้วยพู่กัน ถ้อยคำ และแว่นของผู้อื่น

 

          กวีนิพนธ์พิมพ์ออกมาหลายเล่มในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักอ่านอ่านกวีนิพนธ์ในวงจำกัด นี่เป็นเรื่องจริง ยิ่งพูดถึงพื้นที่เผยแพร่ตีพิมพ์ยิ่งน้อยกว่า กลางกระแสความไวของข้อมูลข่าวสาร สื่อยุคเก่ามอดลง ด้วยความไวของข้อมูลและความเร็วของการพัฒนาเครื่องมือสื่อสาร ช่องทางใหม่ในการสื่อสารเปิดพื้นที่แบบใหม่ให้กับบทกวี กล่าวถึงบทกวีที่แพร่หลายในยุคปัจจุบัน ทั้งที่หลงเหลืออยู่ในสื่อสิ่งพิมพ์และโลกออนไลน์ รูปแบบการนำเสนอทั้งฉันทลักษณ์ และไร้ฉันทลักษณ์ ทั้งสองรูปแบบพยายามสื่อสารประเด็น ปรากฏการณ์ทางสังคมเพื่อสะท้อนภาพจริงทางสังคม ตัดเฉือนชุดเนื้อหาทางความคิดออกผึ่งแผ่ให้เห็น และรับรู้

 

นกในกรงของเพื่อนบ้านผู้จิกกัด

           บทกวีไร้ฉันทลักษณ์อย่างนกในกรงของเพื่อนบ้าน (Birds in the Neighbor’s Cage) กวีนิพนธ์ โดย ปรเมศวร์ กาแก้ว สำนักพิมพ์ผจญภัย แบ่งออกเป็นสองภาค ภาคแรกเป็น เด็กๆ กำลังร้องเพลงชาติ และภาคสอง งานเลี้ยงในร่างเรา นกในกรงของเพื่อนบ้าน ใช้ถ้อยคำแสดงภาพ บทกวีส่วนใหญ่ถ่ายทอดภาพที่จัดองค์ประกอบโดยกวี เพื่อถ่ายทอดประเด็นทางสังคมทั้งในระดับภูมิภาค และสัมพันธ์โยงใยสู่ประเด็นสากล บางชิ้นคล้ายการชมคลิปวีดิโอสั้นๆ เพื่อสื่อสารเรื่องราวและสีสันแปลกต่างในหลายปริมณฑลปรากฏการณ์ เช่น ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ชายขอบ ปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคม กวีเลือกใช้สัญญะเพื่อสื่อสารในหลายระดับ เหล่าสัตว์ในหลายบททำหน้าที่เป็นตัวละครเล่าสารจากกวีสู่ผู้อ่าน หากพิจารณารูปแบบไร้ฉันทลักษณ์ กวีใช้ภาษาเฉพาะตัว และ คล้ายว่า นกฯ จะมีถ้อยทำนอง ที่คู่ขนานไปกับงานอย่างขังไว้ในกล่องของเล่น (อภิชาติ จันทร์แดง, 2559) หรืออาจพูดได้ว่าทั้งสองเล่ม ขนานมิติกันไป ทั้งในมิติของสถานที่และมิติของเวลาอันร่วมสมัยกัน นั้นคงเป็นเพราะการได้อภิชาติ จันทร์แดง มาเป็นบรรณาธิการเล่ม กวีถ่ายทอดเนื้อหายั่วล้อต่อความเบี้ยวบิดเชิงโครงสร้างเจ็บแสบราวกับโดนกระทุ้งด้วยเข่าเข้าลิ้นปี่ ขยี้ด้วยศอกลงบนคิ้วซ้ายขวา จากนั้นเป็นความเจ็บแสบและเลือดไหลซิกออกมา อย่างไรก็ตาม หากมุ่งมองแต่ความหมาย และท่าทีที่บทกวีได้กระทำต่อเหล่าผู้ได้พบเจอและตกหลุมรักมัน คล้ายว่าตัวงานจะไม่ถูกให้ความหมายในความเป็นงานศิลปะในข่ายขอบการตีความแบบใด ครั้นจะกล่าวอ้างอย่างล่องลอยก็ดูจะไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้สนใจใฝ่รู้ จึงเป็นที่มาของการได้หยิบยกเอางานที่มีอิทธิพลในการตีความในข่ายขอบอย่างศิลปะ ผ่านกรอบแว่นของ เลียฟ ตอลสตอย อย่าง What is art? (Tolstoy, 2551) หรือหากกล่าวอย่างเจาะจงคือการตีความว่าสิ่งใดคือศิลปะ หรือเป็นแค่หน้ากระดาษรกรื้อด้วยถ้อยคำสามัญทั่วไปและไร้ค่า

ในงานรวมความเรียงของ เลียฟ ตอลสตอย กล่าวถึงเนื้อหาที่ว่า ที่สุดแล้วเนื้อหาที่ดูสมจริงอาจ ลดทอนความหมายของความเป็นศิลปะ แน่นอนว่ากวีใช้ภาษาเป็นการสะท้อนภาพ งานหลายชิ้นจึงสร้างความสะเทือนผ่านภาพที่ถ่ายทอดมาเป็นถ้อยคำโดยกวี จากนั้นถ้อยคำจะแปลผ่านมโนภาพของผู้อ่านบทกวีอีกคำรบหนึ่ง 

 

รื้อซากกรงประกอบกลับเป็นท้องฟ้า

            เมื่อใช้แว่นตาหลังสมัยเพ่งมอง งานหลายชิ้นมีลักษณะของการรื้อสร้าง (Deconstruction) เมื่อรื้อลงมาวางไว้ ราวกับซากปรักหักพังไร้ระเบียบเชิงโครงสร้าง จากนั้นจึงประกอบสร้างความหมายขึ้นโดยการตั้งประเด็นต่อวิถีความเป็นอยู่ของผู้คนร่วมสมัย และร่วมวงการที่ตัวกวีเข้าไปสังสรรค์อยู่ด้วย ในระดับหนึ่ง กวีมีอัตลักษณ์ที่ลื่นไหล ด้วยการมีบทบาทอยู่ในแวดวงวิชาการสื่อ วงการวัฒนธรรมศึกษา หรืออาจรวมถึงบทบาทสามัญอย่างการเป็นพ่อ และสามี งานของเขาเลยมีประเด็นที่หลากหลาย ทั้งยังสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของการสร้างให้เป็นวิทยาศาสตร์ในงานหลายชิ้น แต่ด้วยน้ำเสียงเย้ยหยัน บางครั้งมันทำให้ตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้วทัศนะที่กวีมีต่อวิทยาศาสตร์นั้นสั่นคลอนระบบคิดแบบวิทยาศาสตร์อยู่ไม่น้อย คล้ายว่าเขาแสร้งทำเป็นเชื่อและไม่เชื่อไปพร้อมๆ กันแล้วจึงถ่ายทอดออกเป็นถ้อยคำ สัญลักษณ์ง่ายที่สุดถ่ายทอดผ่านตัวละครชื่อก้องจากโลกวิทยาศาสตร์ และถลกหนังแนวคิดทฤษฏี เช่น ทฤษฏีวิวัฒนาการของ ชาร์ล ดาร์วิน หรือเป็นความแสบสันที่เขาตั้งคำถามที่ว่า แท้จริงแล้ววิทยาศาสตร์ช่วยอะไรได้บ้างต่อปัญหาปากท้อง หรืออาจเป็นการตั้งคำถามต่อแวดวงวิทยาศาสตร์ ในปริมณฑลร่วมที่เขาร่วมอยู่ เช่น งานชิ้น จินตนาการไม่เป็นรูปร่าง “ไม่มีใครกล้ายืนยันจินตนาการสำคัญกว่าความรู้ หรือความรู้สำคัญกว่าจินตนาการ อัลเบิร์ตไอน์สไตน์สำคัญแค่ไหน เขาไม่รู้วิธีปลูกราคายางพาราด้วยซ้ำ”(หน้า 47)

 

          กลับไปที่การชมภาพที่อยู่ในถ้อยคำ และการตีความให้เป็นงานศิลปะ แน่ที่สุด ในความเป็นบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ไม่ได้นำเสนอให้เห็นความพริ้งพรายทางภาษา ถ้อยคำที่ยากแก่การให้ความหมาย และดูเหมือนกวีก็บอกในเนื้อหาของบทกวี ชอบและไม่ชอบ(หน้า86) แต่หากพิจารณาในความงามและศิลปะแล้ว จำเป็นที่จะต้องยกกรอบในการให้ความหมายศิลปะของ เลียฟ ตอลสตอย มาทดลองเป็นกรอบในการให้ความหมาย ตอลสตอยเคยหยิบยกเรื่องเด็กเล่าถึงความหวาดกลัวหมาป่า หากเขาถ่ายทอดออกมาให้ใครๆ ได้รู้สึกกลัว เข้าใจถึงความรู้สึกของเขาได้ แม้นว่าความกลัวนั้นเกิดจากจินตนาการ เด็กชายไม่เคยเจอหมาป่ามาก่อน ก็ถือได้ว่า การเล่า การแสดงอาการความกลัวของเขาเป็นอย่างศิลปะ และในแง่หนึ่งถือว่า ความงามในแง่สุนทรียศาสตร์ก็ปรากฏด้วย นั่นก็รวมถึงในแง่ที่เห็นความเป็นมนุษย์รวมอยู่ด้วย อย่างไรเสียทั้งหมดข้างต้นเป็นกรอบของ ตอลสตอย แต่เมื่อเราจับเอาภาพที่วาดด้วยพู่กันถ้อยคำในรูปบทกวีมาถอดรื้อภาพที่วาดโดยถ้อยคำ เราก็เห็นชัดว่า กวีเล่าทุกบททุกชิ้นในนกในกรงของเพื่อนบ้าน แม้นไม่อัศจรรย์อย่างการกลายร่างเป็นนกหรือแม้แต่กวีเองก็ไม่เคยหรือไม่อาจอยู่ในกรงขนาดเดียวกับกรงขังนกมาก่อน แต่ภาพที่เขาวาด กรงขังมียุบยับเต็มทั่ว ใช่หรือไม่ว่ากรงกรอบทางความคิดขอบเขต การยัดยื่นอัตลักษณ์ ให้กันก็เป็นกรงรูปแบบหนึ่งของอารมณ์ความรู้สึกอึดอัดเต็มทีที่เกิดขึ้นหลังการอ่าน อีกทั้งความแสบคันอันเกิดจากการจิกกัด เมล็ดพันธุ์แง่งามใดได้ปลูกฝังลงไปหลังผ่านการมีประสบการณ์ร่วมกับภาพวาดจากบทกวี หากพ้นไปจากความหมายในเชิงศิลปะแล้วกวีนิพนธ์เล่มนี้จะมีสิ่งใดให้พูดถึงได้อีกอาจต้องลงลึกไปถึงการนับคำที่พบบ่อยในบทกวี

 

เรียงร้อยเป็นกลุ่มก้อน และกลิ่นอายของชนชั้น

            ทดลองนับคำว่า “ไม่” ไม่ทั้งหลายร้อยเรียงเป็นกลุ่มก้อนความคิดที่มีท่าทีสภาวะพื้นฐาน (Thesis) สภาวะขัดแย้ง (Antithesis) และสภาวะสังเคราะห์ (Synthesis) จนกว่าจะเข้าสู่จิตสมบูรณ์ (บ้านจอมยุทธ)ก่อขมวดทฤษฏีวิภาษวิธี-วัตถุนิยม (dialectical materialism) สื่อลึกลงไปล้วนแล้วแต่มีกลิ่นอายของแนวปรัชญา จิตนิยมสมบูรณ์ของเฮเกล (plato.stanford) หรือมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับวิภาษณ์วิธีสังคมนิยม ในชุดความคิดแบบวัตถุวิสัย วลี วรรค ต่อจากนี้อาจเป็นการรวมวลี วรรคที่ประกอบไปด้วยคำ “ไม่” ซึ่งเป็นเค้าลางของสภาวะขัดแย้ง และหวนให้ถามกลับว่าสภาวะพื้นฐานคือสิ่งใดกันแน่ และเมื่อฉุกคิดหรือรับรู้ผ่านถ้อยคำอันเจ็บแสบอาจผลักให้ผู้อ่านเชื่อมต่อกับประสบการณ์ดั้งเดิมและนำไปสู่สภาวะสังเคราะห์ อีกทั้งยังเฝ้ารอให้หวนกลับไปครั้งแล้วครั้งเล่า 

 

“ไม่ต้องงดงามคิดอะไรไม่เป็นประโยคไม่ปลอบประโลม ไม่เพื่อชีวิต ไม่ลูกทุ่งเลื่อนไหลไปกับความจริง ไม่ทิ้งร่องรอยรำพึงรำพันไม่เห็นให้หัวใจแทรกซึมไปที่ปัญญา ไม่ต้องพึ่งรูปประโยคงดงาม ไม่ต้องตื่นมาฟังเพลงชาติ ไม่กลายเป็นนก รัฐไม่เคยขูดรีดไม่ต้องกระซิบไม่นานเสื้อยืดลายใหม่จะเข้าสู่ตลาด ไม่ต้องเก่งการฆ่า ประเทศนี้ไม่มีสงคราม ไม่รอดวงจันทร์ ยังไม่มีใครออกแบบ ชีวิตไม่คิดอะไร ไม่ปรากฏความตายในบทสนทนา”

 

            แม้นบางวรรคปนเปื้อนร่องรอย ทุนนิยมวัตถุนิยม แต่กลุ่มวรรคที่คำว่าไม่ได้เข้าไปสังสรรค์อยู่ด้วยได้สร้างสภาวะรับรู้ และต่อต้านการรับรู้ จนสังเคราะห์เป็นสภาวะใหม่ หรือจะให้หยิบเรื่องโครงสร้างทางชนชั้นมาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเชิงประเด็นจากงานชิ้นเมฆบ้างก้อนยังควบแน่น (หน้า 99) ใช่หรือไม่ว่าเป็นภาพสะท้อนการบีบอัดทางชนชั้น และยังเล่นกับกลิ่นเหม็นอับเป็นท่วงทำนองเดียวกันกับงานอย่าง Parasite (Joon-Ho, 2019) หนังที่มีกลิ่นนีโอมาร์คซิสต์(Neo-Marxist) รุนแรง และโด่งดังหนังใช้การเหยียดกลิ่นเหม็นของคนชั้นล่าง ในขณะที่เมฆบางก้อนยังควบแน่นใช้กลิ่นโคลนตมเหม็นอับรองรับเม็ดฝนแห่งความจนร่วงหล่นลงมาและเน่าเหม็นไปด้วยกัน

 

ไม่มีเวลาไหนเหมาะกว่าตอนนี้

             “จะเป็นประชาชนตัดแขนขาออกสักข้าง เอาอะไรสักอย่างถ่วงดุลไว้ ตัดหูออกสักข้าง เอาอะไรสักอย่างถ่วงดุลไว้ ควักลูกตาข้างหนึ่งทิ้ง เอาอะไรสักอย่างถ่วงดุลไว้ กรีดปากออกสักครึ่ง คงแหว่งวิ่นเป็นตัวตลก ยกแขนขาข้างที่เหลือ ฟังด้วยใบหูที่เหลือ มองด้วยดวงตาที่เหลือ พูดด้วยปากอีกครึ่ง เก้ๆ กังๆ ยึดเกาะ ชีวิตเราจะเป็นประชาชน”(หน้า 106) ตอนนี้ยังไม่ได้เป็นประชาชนอยู่ใช่ไหม? ในขณะที่ไล่อ่านผ่าน วรรคต่อวรรค ไม่มีเวลาไหนของสมมุติสภาพอย่างประชาชนจะตั้งคำถามได้เท่าเวลานี้อีกแล้ว อยากได้สมดุลอันมีสัญญะยึดโยงกับความเป็นธรรม สิ่งสมมุติที่ยังไม่รู้ได้ว่าเป็นประชาชนหรือไม่หรืออาจเป็นใครที่สังสรรค์ร่วมยุคสมัยจำเป็นต้องแลก ตัดแขน ตัดหู ควักลูกตา หรือแม้นแต่ปลิดชีพตนเอง เพื่อแลกกับความสมดุล เพื่อแลกกับความเป็นธรรม ไม่มีเวลาไหนอีกแล้วที่เหมาะสมสำหรับอ่านบทกวีบทนี้ ไม่มีเวลาไหนเหมาะสมในวันที่ศาลตัดสินคดีทางการเมืองอย่างขาดพร่องการถ่วงดุลอย่างเป็นธรรม และไม่มีเวลาไหนจะเหมาะสมเท่าในช่วงเวลาที่บุคลากรตุลาการปลิดชีพตนเองเพื่อปกป้องความเป็นธรรม แม้นปรากฏการณ์ในบทกวีสามารถเกิดขึ้นตรงจุดไหนของเวลาก็ย่อมได้ แต่สิ่งที่เหมือนกันของสิ่งสมมุติอย่างประชาชนที่รู้สึกว่าตนไม่ได้เป็นประชาชนเลย จะเป็นประชาชนต้องใช้เลือดและเนื้อแลกมันมา มันจึงไม่มีเวลาไหนเหมาะสมเท่าช่วงเวลาขาดพร่องนี้อีกแล้ว และบทกวีก็สมจริงด้วยเลือดเนื้อและความปวดร้าวของการกระทำเพื่อได้มาเพื่อกลายไปเป็นประชาชน

ด้วยพู่กันถ้อยคำและแว่นของผู้อื่น

นกในกรงของเพื่อนบ้านผู้จิกกัด

รื้อซากกรงประกอบกลับเป็นท้องฟ้า

เรียงร้อยเป็นกลุ่มก้อน

เหม็นเน่ากลิ่นไอชนชั้น

ไม่มีเวลาไหนเหมาะกว่าตอนนี้

ลุกขึ้นสิจะได้เป็นประชาชน

 

เอกสารอ้างอิง

Bong Joon-Ho (ผู้กำกับ). (2019). Parasite [ภาพยนตร์].

plato.stanford. (ม.ป.ป.). standford Encyclipedia of Philosophy. เรียกใช้เมื่อ 20022020 จาก https://plato.stanford.edu/entries/hegel/

Tolstoy, L. (2551). What is art? Bangkok: Openbooks.

บ้านจอมยุทธ. (ม.ป.ป.). เข้าถึงได้จาก https://www.baanjomyut.com/library_2/socialist_and_communist_zionist/02.html

อภิชาติ จันทร์แดง. (2559). ขังไว้ในกล่องของเล่น. ผจญภัย.

 


 


Visitors: 72,277