ศสิญาภรณ์ อามาตย์

ศสิญาภรณ์ อามาตย์

 

สรรพสิ่งที่ฟื้นตื่นและคืนสู่...อัสดง

บทวิจารณ์ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ 

 

          ทุกสิ่งอย่าง เวลา ความรัก ชีวิต ความทรงจำ ประวัติศาสตร์ต่างฟื้นตื่นขึ้น เมื่อเปิด พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำออกอ่าน นวนิยายแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ที่ได้รับรางวัลซีไรต์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๑ เรื่องราวความเป็นไปในชีวิตของมนุษย์ ทั้งความสุข ความโศก ซึ่งได้รับการไล่เล่าอย่างละเมียดผ่านปลายปากกาของ วีรพร นิติประภา นักเขียนผู้ถ่ายทอดความรู้สึก จินตภาพผ่านภาษาได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง โดยความทรงจำอันเลือนรางเก่าเก็บ ข้าพเจ้าจะขอเล่าความทรงจำในเล่มนี้ผ่านเรื่องย่อพอสังเขป ตง ชายชาวจีนถูกพ่อส่งมาช่วยกิจการร้านข้าวของลุงในพระนคร เมื่อลุงตายจาก ตง จึงได้รับช่วงบริหารกิจการ ต่อมาเขาตกลงปลงใจแต่งงานกับเสงี่ยม อยู่กินกันแต่ก็ไม่มีลูกไว้สืบสกุล ทั้งสองจึงไปรับเอาลูกของหญิงขายถ่านมาเลี้ยง และตั้งชื่อว่า จงสว่าง เสงี่ยมกีดกันไม่ให้หญิงขายถ่านมาเจอจงสว่างกระทั่งหญิงผู้นั้นลาโลกไป ไม่นานนัก เสงี่ยมให้กำเนิดลูกชายชื่อ จิตรไสว ลูกสาวชื่อจรุงสิน เจริดศรี และจรัสแสง หลายปีล่วงผ่าน จงสว่างทำหน้าที่บริหารกิจการครอบครัวจนรุ่งเรือง ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าตนไม่ใช่ลูกแท้ ๆ และได้พบรักกับยี่สุ่น ลูกสาวของซินแสคุง แต่เสงี่ยมกลับจัดแจงให้จิตรไสวแต่งงานกับยี่สุ่น จงสว่างเสียใจหนักจึงหนีหายไปไม่เอาสมบัติติดตัว ก่อนแต่งงาน ยี่สุ่นออกตามหาเขาจนพบ ทั้งสองร่วมรักจนมีระริน แต่จงสว่างไม่รับรู้สิ่งใดแล้ว เขาเดินลงทะเลจบชีวิตด้วยเจ็บปวด จรุงสินได้เป็นครูสอนหนังสือ แต่งงานกับครูสอนภาษาจีน ทั้งสองมีลูกด้วยกัน แต่ด้วยจิตใจอันเปราะบาง เธอทิ้งลูกลงแม่น้ำ แล้วท้ายที่สุด จรุงสินก็จากโลกไปด้วยวัยเพียง ๓๕ ปี เจริดศรีเรียนตัดผ้า เธอพบรักและผิดหวังถึงสองหน ในตอนท้าย เธอจึงมาเลี้ยงระพินทร์และระรินช่วยจรัสแสง ทางจรัสแสงน้องสุดท้องผู้เก่งไวโอลินทั้งร้องเพลง เธอมีลูกชื่อระพินทร์แต่ต้องยกให้เป็นลูกบุญธรรมของจิตรไสว ต่อมาเธอพบรักใหม่แต่งงานกับทหารจีไอตาน้ำข้าว แต่อยู่กินกันไปก็มีเหตุให้ต้องหย่าร้างกัน ความคับแค้นของทหารหนุ่มหวนกลับมาฆ่าเธอและเจริดศรีให้ตายตกไปตามกัน ส่วนจิตรไสวหลังจากรอดตายคราวเป็นทหารกบฏ เขาก็กลับมาบริหารกิจการครอบครัวช่วยจงสว่าง แต่ชีวิตกลับผกผันหลังแต่งงานกับหญิงผู้เป็นที่รักของพี่ชาย เพราะเขาติดการพนันทั้งถูกอดิสรารักแรกและรุ่นพี่หักหลัง กิจการที่เคยรุ่งเรืองพังทลายลงหมด เขาตามฆ่าสองคนที่หักหลังและขับรถลงน้ำ เลือกดับลมหายใจไปพร้อมกับยี่สุ่น เมื่อตงทราบข่าวจิตรไสว ความล้มเหลว ความเสียใจก็นำพาให้เขาฆ่าตัวตาย เสงี่ยมเองแก่ตัวลงความจำก็พร่าเลือน และสุดท้ายชีวิตเธอจบลงอย่างอนาถโดยถูกอีกาจิกทึ้งจนสิ้นลม จากเรื่องย่อ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ข้างต้น การตั้งชื่อเรื่องก็นับว่าสอดรับกับเนื้อหาข้างใน ส่องถึงความอัสดงของทุกสรรพสิ่ง ทั้งชีวิต เวลา ความทรงจำ ผู้เขียนตั้งชื่อขึ้นต้นว่าพุทธศักราชอัสดง ชื่อเรื่องสื่อให้เห็นว่าเป็นปีพุทธศักราชที่มอดดับ อัสดงเฉกเช่นชีวิตของคนในครอบครัวตั้ง ด้วยเนื้อหาที่เขียนถึงก็พอจะคาดเดาได้ว่าเหตุการณ์ในเรื่อง เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั่นเองทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ วลีนี้สื่อความ ทรงจำอันแสนเลือนรางเป็นความทรงจำที่ซ้อนทับกันอีกทีหนึ่ง โดยเจ้าของทรงจำก็คือแมวกุหลาบดำ ตามทัศนะของข้าพเจ้าคิดเห็นว่า แมวไม่อาจถ่ายทอดความทรงจำมหึมานี้ได้หมด แต่ด้วยวีรพรเขียนความจริงขนานคู่ไปกับความเหนือจริง จึงเป็นเสน่ห์ของการเขียนแบบสัจนิยมมหัศจรรย์อย่างสมบูรณ์ นอกจากชื่อเรื่องที่แฝงซ่อนความหมาย เตะตาชวนให้หยิบขึ้นมาอ่าน วีรพรยังตั้งชื่อบทแต่ละบทให้สอดคล้องสื่อรับกับเนื้อหาได้เป็นอย่างดี เช่น ตอนลูกอิจฉา เนื้อในกล่าวถึงตงและเสงี่ยมเมื่อรับจงสว่างมาเลี้ยง ลูกในไส้ก็คลานตามกันออกมา เหมือนกับลูกอิจฉาที่กลัวพ่อแม่ปันรักให้ลูกคนอื่น ตอนพุทธศักราชอัสดง ก็กล่าวถึงการฆ่าลูกแท้ ๆ ของจรุงสินด้วยการปล่อยลูกลงแม่น้ำ นับเป็นเหตุการณ์ที่ใจคนอัสดง มืดบอดไปพร้อม ๆ กับพุทธศักราชนั้น  

          อีกงานเขียนหนึ่งของวีรพร ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต เป็นเล่มแรก ข้าพเจ้าหยิบมาอ่านเมื่อครั้งยังอยู่ปี ๑ เพราะชื่อเรื่องเตะตาต้องใจเช่นกัน ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการตั้งชื่อหนังสืออย่างมีเอกลักษณ์ของวีรพร ช่างดึงดูดผู้อ่านให้หยิบขึ้นมาเปิด รั้งผู้อ่านด้วยภาษาสุดสละสลวยและวางลงเมื่ออ่านจนจบเล่ม  ทุกชีวิตในครอบครัวของตงฟื้นตื่นเมื่อลืมตาดูโลก เติบโต รุ่งโรจน์ แล้วผกผันมาอัสดง ตัวละครในเรื่องโดดเด่นมีเอกลักษณ์ วีรพรตวัดปากกาสรรค์สร้างตัวละครทุกตัวอย่างละเมียดละไม สร้างตัวละครหนึ่งส่งผลต่อตัวละครหนึ่งเกี่ยวร้อยกันไป ทั้งตัวละครหลักและรองต่างมีรายละเอียด ซึ่งวีรพรปูภูมิหลัง สร้างบุคลิกได้สมจริง และเหนือจริงผสมผสานกันอย่างลงตัว  ตง ชายผู้มีลักษณะเงียบขรึม ร่างกายเต็มไปด้วยเม็ดกระพร้อยด่างทั่วร่างกาย “ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นตาทวดตงเองที่เป็นคนพาเม็ดกระดวงดาวดับอับแสงพวกนั้น ข้ามมหาสมุทรมาสู่ครอบครัวเขา ความที่เป็นคนพูดน้อย ไม่ชอบเล่า จึงไม่มีใครค่อยรู้ภูมิหลังของเขามากนัก”  (วีรพร,๒๕๕๗ : ๒๑ ) นับว่าตัวละครตงเป็นตัวแทนความรู้สึกของคนที่จากแผ่นดินแม่มาอาศัยแผ่นดินอื่น ซึ่งระลึกรู้สึกตนเสมอว่าเป็นเพียงกาฝาก จากข้อความ “ แต่ตาทวดตงผู้เสียเพื่อนถึงสามคนไปในซากปรักพังกลับเชื่อทฤษฎีอื่น ว่าเป็นเพราะฝรั่งสัมพันธมิตรรู้ดีว่าบริเวณนั้นไม่ใช่ถิ่นฐานคนไทย แต่เป็นที่ทำมาค้าขายของชาวต่างชาติซึ่งเข้ามาอาศัยแผ่นดินทำกิน จะล้มตายเสียหายแค่ไหนก็ไม่เป็นที่เดือดเนื้อหมางใจกับรัฐบาลไทยซึ่งไม่ใช่คู่กรณีโดยตรง ทั้งยังมีผลพลอยได้...ได้ตัดเสบียงฝ่ายอักษะไปในตัว เหมือนผักปลาไร้ค่า....นั่นอย่างไรราคาของพวกกาฝากที่มาอาศัยเกาะกินแผ่นดินของคนอื่น”(วีรพร,๒๕๕๗ :๙๓)นอกจากความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจแกมประชดประชันของตงที่ปรากฏในข้อความข้างต้น ยังเห็นสิ่งที่รัฐบาลไทยสมัยนั้นกระทำต่อชาวจีน คือไม่ไยดีไม่ให้ค่า จะเป็นหรือตายก็มีค่าเท่ากัน สิ่งที่สะท้อนออกมานี้ถือเป็นสิ่งแทนความรู้สึกของคนจีนหากินต่างแดนที่ไม่มีใครได้ยิน ตงพยายามปูทางเพื่อนำครอบครัวกลับไปบ้านเกิด ชีวิตของตงรุ่งเรืองจนฝันที่คิดใกล้จะเป็นจริง แต่ก็ต้องมาดับวูบลงเมื่อรู้ว่า เงินที่ส่งให้แม่นั้นไม่เคยถึงมือแม่ ซ้ำร้ายแม่ยังถูกกระแสน้ำพัดพาให้จากเขาไปตลอดกาลเพราะน้ำมือของผู้นำจีนในตอนนั้น ประเด็นเรื่องคนรัก ตงเคยมีรักแรกก่อนจะมาตกลงปลงใจกับเสงี่ยม และยังมีผิงมุ่ยสาวจีนชาวนาที่ตงรับมาเป็นเมียอีกคน ปมพฤติกรรมการมีบ้านที่สองของตงกับผิงมุ่ย จึงเป็นจุดเชื่อมร้อยส่งผลต่อตัวละคร เสงี่ยม เขามีลูกกับผิงมุ่ยและตั้งชื่อว่า ฮง ตงวางรากฐานส่งเงินกลับไปให้ผิงมุ่ยกว้านซื้อที่ เพื่อจะได้นำครอบครัวที่เมืองไทยย้ายไปอยู่จีน แต่สุดท้ายชีวิตผิงมุ่ยกับลูกก็อัสดง ความบอบช้ำนี้ถูกสลักลงในทรงจำของตง ความเจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากการอัสดงของแม่ ผิงมุ่ย และจิตรไสว ความรู้สึก ความทรงจำ และทุกสิ่งอัสดงลงในใจของตงก่อน จนในที่สุดตงก็เลือกทางอัสดงด้วยมือของตัวเอง จมลงในน้ำ..ก่อนแข็งยะเยือกเป็นก้อนน้ำแข็งไปพร้อมกับความทรงจำในก้นบึ้งของหัวใจ จุดนี้ถือว่าวีรพรสร้างตัวละครได้อย่างสมจริงที่ขีดเขียนให้ชีวิตของตงไม่ราบรื่น ซึ่งเป็นปกติของชีวิตมนุษย์ ทว่ามีความเหนือจริงเรื่องการตาย กล่าวคือการรมควันตัวเองเพื่อก้าวล่วงสู่ยมโลก เป็นวิธีที่หลายคนใช้และสำเร็จเสมอ แต่กลายเป็นว่าตงฟื้นตื่นขึ้นอีกแล้วไปแข็งตายในโรงน้ำแข็งดูจะเป็นความบังเอิญที่ประจวบเหมาะจนเกินไปแม้ว่าตงจะปรากฏอยู่ตลอดทั้งเรื่อง แต่ก็ไม่เห็นพัฒนาการด้านอารมณ์เท่าใดนัก อาจด้วยเป็นคนเงียบขรึมดีใจหรือเสียใจก็ไม่ได้แสดงออกมาเด่นชัด ดังนั้นตัวละครตงสมจริงและเป็นตัวละครน้อยลักษณะด้านตัวละคร เสงี่ยม ภรรยาของตงเป็นภาพแทนของคนในสังคมที่สร้างภาพอันสวยงาม เพื่อต้องการเอาชนะ แต่การอยากชนะของเธอ มูลเหตุก็มาจากตง ด้วยว่าตงมีเมียอีกคน ทำให้เธอฝึกปรือฝีมือทำอาหาร ฝึกฟังเพลง เพื่อให้ทุกอย่างเหนือกว่าเมียน้อย สิ่งหนึ่งที่เหนือจริงและปรากฏในตัวละครเสงี่ยม คือความเชื่อที่ว่าปากคอเราะร้ายของเสงี่ยมนั่น ถูกถ่ายทอดส่งผ่านมาทางรหัสพันธุกรรม แต่ข้าพเจ้ามองว่าพฤติกรรมต่างๆ ของเด็กล้วนมาจากต้นแบบ เสงี่ยมแม้พูดน้อยแต่คราวได้เอ่ยวาจาผรุสวาท ก็ทำให้คนฟังนั้นร้าวลึกจากตอน เจ็ดหมาเบื่อ ซึ่งเสงี่ยมตั้งฉายานี้ให้เจริดศรีนั่นเอง ลักษณะวาจาของเสงี่ยมก็เลียนมาจากยาย “ยายก็ร้องทักทั้งๆ ยังนอนหลับตา เอ้า มาแล้วรึอีเหงี่ยม อีห่า อีเหี้ย อีหอย อีดอกทอง(วีรพร,๒๕๕๗ :๑๘๙) เมื่อเสงี่ยมเป็นแม่คน วาจาบาดคมส่งผ่านสู่ลูกๆ เห็นได้จากจรุงสิน เจริดศรีใช้คำพูดเป่าหูคนในบ้านให้เกลียดจงสว่าง จิตรไสวที่ใช้คำพูดเสียดแทงจงสว่าง จนทำให้ความสัมพันธ์ของพี่น้องต่างสายเลือดแตกหัก และวาจาของเธอที่ใช้แช่งชักพวกอีกานั่นแหละที่นำพาชีวิตเสงี่ยมอัสดงอย่างอนาถ อีการ่วมฝูงรุมจิกทึ้งร่างชราด้วยปากของพวกมันจนแหลกลาญ...                                                                                                                               

จงสว่าง จรุงสิน เจริดศรี จิตรไสว และจรัสแสง ทั้ง ๕ ชีวิตอัสดงลงในธารน้ำ                                       

ความน้อยเนื้อต่ำใจของจงสว่างถูกเก็บงำ เงียบเชียบไม่มีใครล่วงรู้ เขาฟื้นตื่นได้ชีวิตใหม่เมื่อมาเป็นลูกบุญธรรมของครอบครัวตั้ง ชีวิตดำเนินราบเรียบจนกระทั่งหักเหเพราะถูกพรากจากคนรัก มีความหวังจะครองรักกับยี่สุ่น ความหวังนั้นฟื้นตื่นแต่ก็อัสดงลงในตอนท้าย จงสว่างเป็นภาพแทนของผู้ที่ปิดทองหลังพระอย่างแท้จริง ออกตามหาจิตรไสวในสงครามจนตนหูดับ ช่วยเหลือติดตามข่าวคนรักของเจริดศรี ทุ่มเททำงานหนักทั้งที่รู้ว่าสมบัติทั้งหมดไม่ใช่ของตน จนท้ายที่สุดเขาเลือกอัสดงลงในทะเลกว้าง จรุงสินให้กำเนิดลูกน้อยชื่ออาจุง โรคซึมเศร้ากัดกินจนสมองทำงานผิดปกติ เธอหย่อนอาจุงให้หลับใหลลงในเปลแห่งสายน้ำ ในวัย ๓๕ จรุงสินก็อัสดงลงจมน้ำในโอ่ง เจริดศรี หญิงสาวสวยบาดเธอผิดหวังกับรักซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ความรักฟื้นตื่นเมื่อครั้งยังสาว แต่ก็ดับอัสดงเมื่อชายผู้นั้นมีเจ้าของอยู่ก่อนแล้ว ความรักฟื้นตื่นอีกเป็นหนที่สอง คราวนี้อัสดงลงอย่างช้าช้าทว่าเจ็บปวด เธอกลายเป็นขี้ข้ารับใช้แม่สามี จนสุดท้าย เธออัสดงได้สวยงามแต่ก็เจ็บปวดกว่าใครอื่น“นอนลอยนิ่งมองฟ้าอยู่ในบ่อ แขนกางออกจากตัวเล็กน้อยราวกับโบยบิน จ้ะ และนอกจากรอยแผลตรงเหนือคิ้วนั่น ยายก็สวยมาก ใส่ชุดผ้าไหมแค่เข่าสีครีมอ่อนหวานยังสาวมีลิปสติกสีส้มจางกับยิ้มเลืองรางบนริมฝีปาก กับกำลังหลับ....ฝัน ท่ามกลางกลีบร่วงพร่างสีชมพูของต้นยี่สุ่น” (วีรพร,๒๕๕๗ :๔๑๗)  จิตรไสว ชีวิตที่ฟื้นตื่นหลังรอดพ้นจากความตายมาได้หวุดหวิด เขารุ่งโรจน์โลดแล่นไปตามเส้นทางสายต่างๆ เสพสุขกับหญิงมากหน้าหลายตา ความทรงจำถูกเติมเต็มสมหวังกับรักแรกอย่างอดิสรา ได้เงินเป็นกอบเป็นกำจากการพนัน แต่ความสุขสมหวังฟื้นตื่นได้เพียงชั่วครู่ เขาก็หยิบยื่นความอัสดงให้แก่อดิสราและอาเกาผู้เป็นรุ่นพี่ที่เคยเคารพด้วยกระสุนปืนพายี่สุ่นและตัวเขาเองขับรถอัสดงลงแม่น้ำ                                                     

จรัสแสงกับชีวิตที่จวนจะอัสดงหลังถูกพรากจากคนรัก แต่ก็ฟื้นตื่นขึ้นได้ราวกับปาฏิหาริย์ ใช้ชีวิตหมุนวนอยู่กับสิ่งที่เธอรักนั่นก็คือการร้องเพลง แต่จุดจบก็ไม่ต่างกันเมื่อชีวิตของเธอจบลงเพราะน้ำมือของอดีตสามี เขากดเธอลงในน้ำที่นาบัว และเธอก็อัสดงไปพร้อมกับน้ำโคลนขุ่น  นอกจากชีวิต ความหวัง ความรัก เวลาของครอบครัวตั้งที่ฟื้นตื่นและอัสดงลงไปนั้น ประวัติศาสตร์ชาติ ประวัติศาสตร์โลกก็ฟื้นตื่นขึ้นเช่นกัน หลังจากที่หลับใหลกลายเป็นความทรงจำที่นับวันใกล้เลือนหาย วีรพรผูกโยงเรื่องราวในอดีตกับความเป็นไปของตัวละคร การจลาจลน้อยใหญ่ เกิดกบฏวังหลวง กบฏแมนฮัตตันซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงกับตัวละครจิตรไสวกล่าวถึงบุคคลสำคัญซึ่งมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ เช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลถนอม กิตติขจร ปรีดี พนมยงค์ แนบเนียนเสมือนจริงจนแทบแยกไม่ออก มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ในอดีตวนย้ำอยู่หลายรอบ คล้ายกับว่าเป็นการย้ำเตือนเหตุการณ์เหล่านั้นไม่ให้ถูกลืมเลือน อาทิ  เกิดรัฐประหารหลายครั้ง การลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่แปด ดังข้อความ “กบฏกับรัฐประหารนับครั้งไม่ถ้วน การลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่แปดซึ่งมืดมนไปชั่วกาลจักรวาล(วีรพร,๒๕๕๗ : ๒๑) ประวัติศาสตร์ที่ถูกถม-ทับกลับฟื้นตื่นขึ้นในหนังสือเล่มนี้ และอาจจะอัสดงลงไปอีก เพราะความจริงบางเรื่องก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะอยู่คงทนไปได้ตลอด กลายเป็นเพียงความทรงจำขาดวิ่น ไม่ปะติดปะต่อ และจางหายไปในที่สุด  เกือบทุกชีวิตในครอบครัวตั้ง ต่างฟื้นตื่นและอัสดงลงในน้ำ นับเป็นสัจนิยมมหัศจรรย์ที่วีรพรสร้างความจริงคู่ขนานไปกับความเหนือจริง ความจริงที่ว่านั้นคือสัจธรรมที่ทุกสรรพสิ่งล้วนต้องมอดดับ แต่ความเหนือจริงคือการตายของคนในครอบครัว แม่ของตงก็ตายเพราะน้ำจากเขื่อนพัดจมหาย ตงตายในน้ำแข็งก้อนมหึมา จงสว่างเดินลงทะเล จิตรไสวขับรถลงแม่น้ำ เจริดศรีถูกฆ่าโยนลงบ่อ จรุงสินหัวคะมำลงโอ่ง อาจุงหลับลงในแม่น้ำ จรัสแสงก็ถูกกดหัวใต้น้ำโคลนขุ่น ยิ่งกว่าบังเอิญ ราวกับครอบครัวนี้ต้องมนตร์โดนคำสาปอย่างไรอย่างนั้น                      

สัจนิยมมหัศจรรย์ความเป็นจริงและความมหัศจรรย์เหนือจริงอีกหนึ่งอย่างที่โดดเด่น คือการเล่าเรื่องผ่านตัวละครดาวและเจริดศรี ผ่านคำถามของดาว ผ่านการเล่าบอกเรื่องราวของยายศรี เล่าตัดสลับไปมาเหมือนจิ๊กซอว์ค่อยผุดพราย ทีละนิด ๆ จนเผยภาพเต็มในตอนท้าย ซึ่งตัวละครดาวกับเจริดศรีถูกเฉลยในตอนท้ายว่าไม่มีตัวตนอยู่อีกต่อไปแล้ว ดาวเป็นเพียงเด็กที่ยังไม่ทันลืมตาดูโลก ซึ่งยังอยู่ในท้องของระริน“ เขาอาจเป็นเด็กยังไม่เกิดมาและไม่มีวันจะได้เกิด....ที่มีอยู่แต่ในคิดคำนึงอ้างว้างของเด็กผู้หญิงซึ่งไม่มีโอกาสได้เติบโตขึ้นเป็นแม่ พอๆ กับที่อาจเป็นแค่หนึ่งในเรื่องเล่ามหัศจรรย์ของผู้หญิงใจดี...ที่ไม่มีโอกาสมีชีวิตอยู่จนผมทั้งหัวขาวโพลนกับเนื้อตัวย่นลายเหมือนกลีบดอกพุดตาน” (วีรพร,๒๕๕๗ :๔๑๙-๔๒๐) ซึ่งข้อความนี้เป็นข้อสนับสนุนที่ค่อนข้างมีน้ำหนักว่า ดาวไม่มีตัวตนอยู่จริง เช่นเดียวกับเจริดศรีที่หาได้แก่เป็นยายหัวขาวไม่ แต่ตายไปตั้งแต่ยังสาวตามข้อความหน้า ๔๑๗ - ๔๑๙                                                                                              

การเล่าเรื่องโดยดาวและเจริดศรีซึ่งอิงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ไล่เล่าเหตุการณ์ อ้างถึงชื่อบุคคลที่มีอยู่จริง ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องที่สร้างความฉงนให้ผู้อ่านได้ไม่น้อย ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งขึ้นกันแน่ แต่ในความจริงที่ผู้เขียนปูมาทั้งหมดก็เฉลยในท้ายเรื่อง นั่นคือผู้เล่า ดาว ไม่เคยมีตัวตนบนโลกนี้ และ เจริดศรี ก็ไม่ได้เป็นยายชราหัวขาวที่นั่งเล่าเรื่องราวในอดีตให้ดาวฟังแต่อย่างใด                                                            

ความมหัศจรรย์เหนือจริงและจริง ถูกปรุงรสอย่างกลมกล่อมผ่านภาษาของวีรพรด้วยความละเมียดการใช้คำซ้อนในเกือบทุกหน้า นับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผู้เขียน ไม่เพียงแต่ให้รสถ้อยที่จับจิตแต่แฝงความหมายเกิดจินตภาพในขณะอ่านได้อย่างแจ่มชัด ดังข้อความ “ฝนตกลงมาเป็นสีดำ แล้วทุกอย่างก็ถูกถล่มราบเป็นหน้ากลองในฟอนไฟประลัยกัลป์ดุจดังที่ตาทวดตงนึกกลัวล่วงหน้าเอาไว้ไม่มีผิด” (วีรพร,๒๕๕๗:๕๗)  ไม่เพียงแต่ความฝัน ความหวัง ความรัก เวลา ประวัติศาสตร์ที่ฟื้นตื่นขึ้นในหนังสือเล่มนี้ แต่แนวการเขียนสัจนิยมมหัศจรรย์ได้ฟื้นตื่นขึ้นโดยปลายปากกาของ วีรพร นิติประภา ด้วยภาษาที่กลั่นกรองออกมาอย่างสละสลวย และข้าพเจ้าหวังว่าทุกสิ่งที่ฟื้นตื่นขึ้นจะไม่อัสดงอย่างที่เคยเป็นมา....ประวัติศาสตร์

 


 


Visitors: 72,082