ชุติกาญจน์ ผิวเหลือง

 

ชุติกาญจน์  ผิวเหลือง

เปิดประตูใจ: ภาพสะท้อนปัญหาเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ของวัยรุ่นที่ผู้ใหญ่อาจมองข้าม

 

         หลายคนใจอ่อน…อ่อนให้กับคนรอบข้าง และอ่อนให้ทั้งความคิดตัวเอง ปฏิเสธไม่เป็น การใจอ่อนยอมให้อะไรมากมายเข้ามาในจิตใจเราโดยไม่ระวัง อ้าซ่าประตูใจรับเอาไว้ทุกเรื่องราวเสี่ยงกับการที่หัวใจจะเลอะเทอะเปราะเปื้อนได้ 

         “เปิดประตูใจ” คือนวนิยายเล่มหนึ่งที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดพล็อตเด่นเป็นละคร ครั้งที่ 2 : นิยาย เปิดประตูใจ (แนวรักโรแมนติก) สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ โดยนวนิยายเรื่องนี้เป็นนวนิยายแนวรัก
โรแมนติกเรื่องแรกของนักเขียนนามปากกาว่า “ธุวัฒธรรพ์” ด้วย ในครั้งแรกที่ได้อ่านชื่อเรื่อง ก็เข้าใจว่า
คงเป็นนวนิยายรักทั่ว ๆ ไป แต่เมื่อได้อ่าน กลับพบสาระและแง่คิดต่าง ๆ มากมาย ที่ผู้เขียนหยิบยกมานำเสนออย่างตรงไปตรงมา ส่วนใหญ่สะท้อนมาจากสภาพชีวิตปัจจุบัน สภาพสังคมและเศรษฐกิจต่าง ๆ 

ประเด็นหนึ่งที่นับได้ว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนหยิบยกให้เป็นบุคลิกของตัวละคร “ปิยภัทร หรือ ปลื้ม” นั่นคือ “โรคฮิคิโคโมริ หรือเรียกอีกอย่างว่า ภาวะโดดเดี่ยวสังคม” ภาวะหนึ่งเป็นผลมาจากความผิดหวังในชีวิตเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทั้งการศึกษา การใช้ชีวิต การทำงาน ความรัก ความกดดันจากสังคมรอบข้าง
นำไปสู่ความเครียดสะสม ส่วนหนึ่งต้องการหลีกหนีจากภาวะดังกล่าว ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นหนทาง
ในการเยียวยาหรือแก้ปัญหาชีวิตได้

            อาการที่คล้ายโรคฮิคิโคโมริเหมือนประตูบานใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นภายในจิตใจของปิยภัทร เพื่อปิดกั้นจิตใจของเขาที่บอบช้ำจากความรู้สึกต่าง ๆ ที่อาจทำร้ายจิตใจเขาเหมือนในครั้งอดีต เมื่อตัวตนของเขา
ถูกปิดกั้นด้วยประตูบานใหญ่ในใจ ปิยภัทรจึงมีโลกใบใหม่ของตัวเอง นั่นคือ อินเทอร์เน็ต โลกใบเดียวที่เขาสามารถเชื่อมต่อกับโลกภายนอกได้

         คนเราส่วนใหญ่เก่งในการบริหารจัดการด้านอื่น ๆ เช่น บริหารคน บริหารเวลา บริหารครอบครัว ฯลฯ แต่ลืมหรือไม่ใส่ใจในการบริหารความคิดและจิตใจ เราควรจะใส่ใจบริหารความคิดและจิตใจให้เท่ากับการบริหารด้านอื่น ๆ เมื่อเราบริหารความคิดและจิตใจได้ ตัวเราเองก็จะเป็นยามเฝ้าประตูใจของเราไม่ยอมให้สิ่งร้าย ๆ สิ่งด้านลบเข้าไปได้ง่าย ๆ ถ้าสิ่งดีมีประโยชน์ ส่งผลดีกับชีวิต เข้ามาเคาะประตูใจเรา และเราเปิดรับ แน่นอนชีวิตเราสดใส คนข้างกายก็เบิกบาน แต่ถ้าเป็นสิ่งร้าย ๆ ล่ะ… อะไรจะเกิดขึ้น

            เช่นเดียวกับปิยภัทร ตลอดชีวิตของเขาตั้งแต่ครั้งวัยเยาว์ก็ถูกนำไปเปรียบเทียบเขากับพี่ชายมาโดยตลอด ปราปต์ พี่ชายของปลื้มทั้งเรียนเก่ง เป็นนักกีฬา ประธานนักเรียน ประธานนักศึกษา มีแต่คนยกย่อง 
ผิดกับปลื้มที่มีผลการเรียนกลาง ๆ ค่อนไปทางต่ำ รูปร่างผอมบาง เล่นกีฬาอะไรไม่นานก็เหนื่อย
แทบหายใจไม่ทัน และไร้ตัวตนในสายตาเพื่อนร่วมชั้นหรือคนรอบข้าง หากให้นิยามภาพลักษณ์ของสองพี่น้อง ก็คงเปรียบได้กับแสงสว่างและเงามืด (ธุวัฒธรรพ์, 2561 : 91) จากตอนที่ยกมาแสดงให้เห็นถึงภาพสะท้อนของสิ่งที่เด็กและวัยรุ่นในสังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ไม่ต่างจากปิยภัทร ภาระหน้าที่ในการต้องแบกรับความคาดหวังของพ่อแม่ ความกดดันจากคำตำหนิ เปรียบเทียบทั้งหลายทำให้เด็กต้องพยายามผลักดันตัวเองให้เป็นในสิ่งที่พ่อแม่ภูมิใจ จนขาดพื้นที่ในการแสดงตัวตนของตนเอง เด็กบางคนที่ทนแบกรับความกดดันไม่ไหว จึงเลือกที่จะจบชีวิตตัวเองดังที่เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์…ขณะที่อีกส่วนกำลังจะกลายเป็นแบบปิยภัทร

            แม้จะเกิดมาในครอบครัวที่เพียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติ และสถานภาพทางสังคมที่เกินจากคำว่า 
ชนชั้นกลางมามากแค่ไหน แต่สภาพจิตใจของปิยภัทรกลับอ่อนแอ เปราะบางเกินกว่าจะแบกรับเรื่องราวเลวร้ายได้ไหว ผู้เขียนได้สะท้อนสภาพเลวร้ายของสังคมเพื่อนในโรงเรียนออกมาในนวนิยายเรื่องนี้ในตอนที่ปิยภัทรต้องเข้าเรียนในชั้นมัธยมปลายต่อจากพี่ชายของเขา จากที่ได้กล่าวไปในตอนต้นว่า ปราปต์นั้นเป็นคนเก่ง 
และเป็นที่ไว้วางใจของครูอาจารย์จนได้รับสิทธิ์ในการออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ภายในโรงเรียน เด็กนักเรียนหัวรุนแรงหลายคนไม่พอใจ แต่ไม่สามารถทำอะไรปราปต์ได้ ผลกรรมทั้งหลายจึงต้องมาตกกับ ปิยภัทร ดังตอนหนึ่งที่ปิยภัทรถูกพวกนักเรียนเกเรกลุ่มหนึ่งใช้เขาเป็นที่ระบายความแค้นที่มีต่อพี่ชาย“พี่มึงทำพวกกู
ไว้แสบมากนะ” “ทำเป็นออกกฎนู่นนี่ เป็นแค่นักเรียนเหมือนกันแท้ ๆ พี่มึงนี่ท่าจะบ้ายศบ้าอำนาจ ถ้าเจอกันตัวต่อตัวนอกโรงเรียน กูจะกระทืบให้จมตีนไปเลย”(ธุวัฒธรรพ์, 2560 : 93-94) 

            ปิยภัทรกลายเป็นกระสอบทรายให้พวกนักเรียนเกเรกลุ่มนั้นกระทืบ เตะ ต่อย ใช้ความรุนแรงสารพัด แม้คำอ้อนวอนของเขาก็ไม่สามารถแทรกผ่านความเคียดแค้นในใจเด็กพวกนั้นได้ ความรุนแรงดังกล่าวยังคงไม่สาแก่ความแค้นที่มี ท้ายที่สุดนักเรียนคนหนึ่งก็ปล่อยร่างปิยภัทรลงจากตึก 3 ชั้น เมื่ออ่านมาถึงบทนี้ทำให้ผู้วิจารณ์นึกถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา ‘เด็กชาย ม.2 ทำร้ายเพื่อนสาหัสในห้องเรียน กรรไกรแทง-เก้าอี้ฟาด สั่งให้กราบขอโทษ’ ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนดังที่กล่าวมานี้ ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่กระจายอยู่ทุกมุมโลก แสดงเจตนาของผู้เขียนที่กำลังให้ตัวละคร ‘ปิยภัทร’ เป็นดังกระจกสะท้อนปัญหาวัยรุ่นที่คนในสังคมอาจกำลังมองข้าม สิ่งสำคัญคือคนในครอบครัวที่จะต้องเข้าใจ เอาใจใส่ และช่วยฟื้นฟูจิตใจเด็กให้กลับมาดีดังเดิม อะไรล่ะ? ที่จะทำให้เราเป็นคนใจแข็งอย่างถูกต้อง ไม่ยอมให้สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นด้านลบ เช่น ความคิดลบ การโกรธเกลียด การเคียดแค้น ความสงสารตัวเอง และอะไรอีกมากมายเข้ามาย่ำกรายในใจง่าย ๆ นั่นคือ ความคิดและจิตใจที่เข้มแข็ง

หากผู้ปกครองไม่พยายามทำความเข้าใจล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น? คำถามนี้ ผู้เขียนได้ให้คำตอบไว้ในตอนหนึ่งที่แม่ของปิยภัทรเล่าให้โชฟังว่า “เรื่องใหญ่โตขึ้นตอนสามีฉันกลับจากทำงาน พอรู้ว่าตาปลื้มไม่ยอมออกจากห้อง ก็เข้าไปกระชากตัวแกออกมาเลย ตอนนั้นตอบด้วยเหมือนคนสติคลุ้มคลั่ง ร้องและดิ้นทุรนทุรายเหมือนโดนน้ำร้อนลวก ฝั่งพ่อก็หัวแข็ง คิดว่าลูกสำออย ลากมาด่ากลางบ้านให้ทั้งฉัน ทั้งตาปราปต์
และคนอื่นๆ ในบ้านได้ยินกันหมด ฉันคิดว่าจุดที่ทำให้ตาปลื้มกลายเป็นแบบนี้คงเป็นเพราะเรื่องในวันนั้นนั่นแหละ” “เธอเกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่เปี่ยมด้วยความรัก พ่อแม่ดูแลเธอเป็นอย่างดีถึงขนาดมีหนี้สินมากมายก็ยังส่งเสียให้เธอเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดัง และไม่เคยปล่อยให้เธอลำบาก หญิงสาวจำภาพสมัยเด็กๆ ดี เธอวิ่งเล่นอยู่หน้าบ้านสะดุดหกล้มจนเข่าครูดไปกับพื้น ผิวถลอกเลือดไหลซิบเสียงร้องไห้จ้าส่งพ่อกับแม่พี่นวลกับงานอยู่ในออฟฟิศให้กระโจนพรวดออกมาดู เมื่อเห็นเธอนั่งร้องไห้อยู่ที่พื้น ก็ปรี่มาอุ้ม ระวังปลอบโยนด้วยความเป็นห่วง สีหน้าและแววตาของพ่อแม่กังวลราวกับอยากให้บาดแผลและความเจ็บนั้นมาตกอยู่กับพวกท่านเสียเอง… ส่วนปลื้ม เธอจินตนาการไม่ถูกเลยว่าเขาจะได้รับความรักจากคนเป็นพ่อสักนิดหรือไม่เขาในวัยเด็กจะรู้สึก ‘ขาด’ ความอบอุ่นที่ควรได้รับเพียงใด ถ้าเขาล้ม พ่อจะอุ้มเขาขึ้นมาปลอบเหมือนกับพ่อแม่เธอไหม” (ธุวัฒธรรพ์, 2560 : 108) จะเห็นได้ว่า ผู้เขียนแสดงให้ผู้อ่านได้เห็นข้อแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างครอบครัวของโช และครอบครัวของปิยภัทร ที่ถึงแม้ว่าครอบครัวของโชจะไม่ได้ร่ำรวย แต่พ่อแม่ของเธอก็ได้มอบความรัก เอาใจใส่ ให้ความอบอุ่นแกโชอย่างเต็มที่ ต่างจากปิยภัทรที่ถึงแม้ว่าครอบครัวเขาจะร่ำรวยมหาศาล แต่พ่อของเขากลับเฉยชา ทอดทิ้งให้ลูกชายคนเล็กอย่างปิยภัทรต้องเผชิญกับความรู้สึกเลวร้ายเพียงลำพัง ในเมื่อโลกใบนี้โหดร้ายทารุณกับเขาเกินที่ใจจะรับไหว ส่งผลให้ปิยภัทรค่อย ๆ สร้างประตูบานใหญ่ปิดกั้นเขาออกจากทุกคน

            หากประตูใจที่ปิดตาย จะไขมันได้ก็ต้องใช้ใจเป็นกุญแจไขประตู นักจิตวิทยาให้ความคิดเห็นว่า วิธีการบำบัดอาการคือการนำตัวคนที่เป็นฮิคิโคโมริ มารวมกลุ่มกัน แล้วใช้ระบบเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อไม่ให้คนกลุ่ม ฮิคิโคโมริ ถูกตัดขาดจากสังคมมากจนเกินไป แต่หากคนที่มองว่า ฮิคิโคโมริ เป็นโรค แพทย์ก็ต้องมุ่งวินิจฉัย หาสาเหตุว่าแท้จริงแล้วป่วยเป็นโรคทางจิตประเภทใด เช่น โรคจิตเภท (Schizophrenia), โรคซึมเศร้า 
(Major Depression), โรคกลัวที่โล่ง (Agoraphobia), โรคตื่นตระหนก (Panic Disorder) หรือแม้กระทั่งเป็นบุคคลออทิสติก (Autistic) เมื่อวินิจฉัยแล้วก็จ่ายยา หรือทำจิตบำบัดเฉพาะโรคไปตามการวินิจฉัยนั้น ดังในตอนที่ ‘โช’ พาตัวปิยภัทรออกมาจากบ้านของเขาและให้จิตแพทย์ทำการประเมินอาการ จนได้ผลสรุปว่า….เขาไม่ได้ป่วยทางจิต อย่างที่พ่อเขาเข้าใจ (ธุวัฒธรรพ์, 2560 : 157) 

เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้วิจารณ์หวนกลับมาพิจารณาว่า จากที่แม่ของปิยภัทรเล่าแสดงให้เห็นว่า เธอเชื่ออย่างหมดใจว่าลูกชายของเธอมีอาการทางจิต เพราะไม่ได้พาปิยภัทรไปพบจิตแพทย์ เมื่อแม่กับพ่อบอกว่าเขาป่วย ทำให้ปิยภัทรยิ่งรู้สึกเหมือนทุกคนกำลังผลักเขาออกไปไกลมายิ่งขึ้น แตกต่างกับ ‘โช’ ที่พยายามดึงเขามากอดไว้ด้วยความเข้าใจ เมื่อได้รับความเข้าใจ เติมเต็มด้วยความเอาใจใส่ สภาพจิตใจของปิยภัทรจึงค่อย ๆ ดีขึ้น ดั่งต้นไม้อันแห้งเหี่ยวใกล้ตาย แม้ได้น้ำทิพย์คือความเข้าใจมาโชลมใจ ต้นไม้ที่ใกล้ตายก็กลับมาฟื้นได้ 

เมื่อเราบริหารความคิดและจิตใจได้ ตัวเราเองก็จะเป็นยามเฝ้าประตูใจของเราไม่ยอมให้สิ่งร้าย ๆ 
สิ่งด้านลบเข้าไปได้ง่าย ๆ ถ้าสิ่งดีมีประโยชน์ ส่งผลดีกับชีวิต เข้ามาเคาะประตูใจเรา และเราเปิดรับ แน่นอนชีวิตเราสดใส คนข้างกายก็เบิกบาน เมื่อปิยภัทรได้เปลี่ยนความคิด ความคิดและจิตใจที่เข้มแข็งทำให้ปิยภัทรเป็นคนใจแข็งอย่างถูกต้อง ไม่ยอมให้สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นด้านลบ เช่น ความคิดลบ การโกรธเกลียด การเคียดแค้น ความสงสารตัวเอง และอะไรอีกมากมายเข้ามาย่ำกรายในใจง่าย ๆ พิสูจน์ได้จากในจุดวิกฤติ (Climax) ของเรื่องที่ผู้เขียนให้ปิยภัทรและปราปต์ต้องไปช่วยเหลือ ‘โช’ และเพื่อนของเธอจากการถูก‘ราเมศ’ ตัวร้ายในเรื่องจับไปเป็นตัวประกัน ปิยภัทรยื่นข้อเสนอให้ตนเป็นตัวประกันแทนโชและเพื่อน ราเมศแกล้งทำท่าโอนอ่อนยอมทำตามข้อเสนอ ทันใดนั้นเขาก็ยกปืนเล็งไปที่ปิยภัทรเพื่อปลิดชีพ เสียงปืนดังสนั่น ภาพที่เห็นเป็นตำรวจที่ติดสินใจยิงราเมศ ฝ่ายราเมศที่แกล้งนอนนิ่งเพื่อหลอกทุกคน ยกปืนขึ้นเล็งเพื่อหวังจะสังหารใครสักคนเพื่อความสาแก่ใจ กระสุนนัดนั้นเจาะเข้าร่างของปราปต์ที่เอาตัวขวางกระสุนไว้ เพื่อหวังจะปกป้องน้องชายเพียงคนเดียวของเขาให้ปลอดภัย (ธุวัฒธรรพ์, 2560 :357-382) และในจุดคลี่คลายเรื่อง (Falling Action) ตอนที่ปราปต์เสียสละชีวิตเพื่อปกป้องปิยภัทร ประตูในใจของปิยภัทรที่ปิดกั้นเขาจากความรัก ความห่วงหาอาทรภายในครอบครัวก็ถูกเปิด แม้ความรู้สึกสูญเสียครั้งใหญ่ที่อาจทำให้จิตใจของปิยภัทรกลับไปจมดิ่งดังเดิม แต่ในครั้งนี้เขากลับเข้มแข็งขึ้น แม้ความรู้สึกเจ็บปวดในใจที่มาจากการสูญเสียพี่ชายแท้ ๆ เพียงคนเดียวของเขาจะมากมายจนประมาณไม่ได้ก็ตาม ดังตอนที่ว่า “เสียงตะโกนเรียกชื่อพี่ชายดังซ้ำไปซ้ำมาราวกับหวังว่าเสียงนี้จะดังพอให้วิญญาณที่หลุดลอยหวนกลับคืนมาสู่ร่างในอ้อมแขนของตนอีกครั้ง” (ธุวัฒธรรพ์, 2560 :384)

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นวนิยายเรื่อง เปิดประตูใจ ไม่เพียงแต่เป็นนวนิยายสนุกสนาน แต่ยังแฝงข้อคิดต่าง ๆ เอาไว้ในทุกฉากทุกตอนของเรื่อง โดยเฉพาะแง่คิดที่ทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจว่าความสำคัญของความรักความอบอุ่นการดูแลเอาใจใส่จิตใจกันและกันของคนในครอบครัว ว่าสิ่งเหล่านี้มีพลังมหาศาล 
ที่สามารถกำหนดชีวิตคน ให้เป็นไปในทิศทางใดก็ได้ แต่หากเรามีพื้นฐานของจิตใจที่เข้มแข็งดีแล้ว เราจะรู้ว่าเวลาใดที่เราจะปิดประตูใจเพื่อต่อสู่กับเรื่องเลวร้ายในชีวิต และเวลาใดที่เราควรจะเปิดประตูใจ เพื่อรับความสิ่งที่ดีมาเติมเต็มให้ชีวิต แม้นวนิยายเรื่องนี้ จะเป็นนวนิยายรักที่ไม่ได้มอบความหวือหวาโรแมนติกอย่างภาพจำนวนิยายรักเรื่องอื่น ๆ แต่เปิดประตูใจ ก็ทำให้ได้รู้ว่า บางครั้ง ความรักก็แสดงออกได้หลายรูปแบบ แม้ไม่ได้บอกกันผ่านคำพูดสวยงาม แต่ซึมลึกในจิตใจผ่านการกระทำ ขอเพียงแค่เราแสดงออกมาอย่างถูกที่ถูกทาง ความรักก็จะกลายเป็นเกราะพลังให้เราดำเนินชีวิตไปในสังคมได้อย่างมีความสุข

 

เอกสารอ้างอิง

ธุวัฒธรรพ์. (2560). เปิดประตูใจ. กรุงเทพฯ: สถาพรบุ๊คส์

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์. (2562). เด็กไทยเรียนหนักสุดในโลก-เครียดพ่อแม่กดดัน-แบกความหวัง
         ของคนรอบข้าง
. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563,จากเว็บไซต์

            https://www.tcijthai.com/news/2019/19/scoop/9226

(2563). เด็กชาย ม.2 ทำร้ายเพื่อนสาหัสในห้องเรียน กรรไกรแทง-เก้าอี้ฟาด สั่งให้กราบขอโทษ . สืบค้นเมื่อ   
            วันที่ 21 มีนาคม 2563,จากเว็บไซต์ https://www.thairath.co.th/news/society/1753611

 


 


Visitors: 72,004