ดวงใจ ใจสูง

ดวงใจ ใจสูง

 

บทวิจารณ์นวนิยายเรื่อง เกาะล่องหน ของ เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ 

 

            จากนักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ประจำปี 2559 กับกวีนิพนธ์ชื่อว่า “นครคนนอก” โดยใช้ นามปากกาว่า พลังเพียงพิรุฬห์ สู่ก้าวใหม่แห่งสัจธรรมบนจินตนาการกึ่งจริงกึ่งลวง ซ่อนเร้นความลับของหนทางสู่ความสุขอันแท้จริงที่น้อยคนจะค้นพบ สะท้อนสะเทือนเงื่อนงำแห่งชีวิตกับโลกที่เหมือน จะแล้วแต่เรา แต่มันแล้วแต่ใคร แล้วใครกัน? ความน่าสนใจกับการหยิบยกประเด็นทางสังคมมาเล่าผ่านตัวละครที่ชื่อไม่เหมือนใครนั่นแหละคือ “เกาะล่องหน” ของ เกริกศิษฏ์ พละมาตร์

            สำหรับ “เกาะล่องหน” นั้นเป็นนวนิยายเหนือจริงและสะท้อนสังคมมีการถ่ายทอดเรื่องราวที่ซับซ้อนไร้ซึ่งแบบแผนเนื้อหาไม่ต่อเนื่อง จนถึงขั้นสร้างความงุนงงให้ผู้อ่านได้ เพราะต้องพยายามหาสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ ในทัศนะผู้วิจารณ์มองว่า แม้นวนิยายเรื่องนี้จะสร้างความงุนงงอยู่ไม่น้อยแต่ก็แฝงไปด้วยแง่คิดที่สะท้อนความเป็นไปของมนุษย์ หรืออาจเป็นได้แค่คนในสังคมที่เราต่างประสบได้ทุกวี่วัน โดยกล่าวถึง เกาะแห่งหนึ่งที่ผู้คนบนเกาะมีชีวิตที่เป็นอมตะไม่มีวันตาย และเกาะแห่งนี้จะลอยขึ้นและจมลงเองมานับครั้งไม่ถ้วน การล่องหนหรือจมหายไป และการปรากฏขึ้นใหม่ของเกาะที่ไม่อาจประมาณจำนวนครั้งได้ เปรียบเหมือนโลกดาวเคราะห์ดวงหนึ่งที่สลายและเกิดใหม่เมื่อเวลาแห่งการเริ่มต้นของสรรพชีวิตได้หมุนมาบรรจบครบรอบอีกครั้ง รวมถึงการที่ผู้คนบนเกาะไม่มีวันตายนั้น เฉกเช่นสรรพชีวิตในวัฏสงสารที่แท้จริงแล้วมีเกิดมีดับเป็นธรรมดา แต่ด้วยการเกิดขึ้นและดับไปที่มีคู่กันเสมอ ดูราวว่าจำนวนคนบนเกาะมิได้ลดลง ดังนั้น เสมือนว่าคนที่นี่เป็นอมตะ

            เกาะล่องหน แม้จะเป็นวรรณกรรมสมัยใหม่ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับสภาพสังคมปัจจุบันที่สะท้อนให้เห็นถึงความจริงที่เป็นอยู่ นวนิยายเรื่องนี้ถ่ายทอดความเป็นสัจนิยมเสมือนหนังสือสอนศีลธรรมก็ไม่ปาน แต่ทว่าการสอนนั้นแนบเนียนเสียจริง แต่ไม่ว่าจะสื่อสารอย่างไร แต่อย่างน้อย เมื่อผู้อ่านได้อ่านเรื่องนี้ แล้วเกิดสะท้อนใจย้อนกลับมาดูตัวเอง ย้อนดูความคิดการกระทำต่างๆ ที่เป็นอยู่ว่า ทุกวันนี้เราเป็นหนึ่งในผู้ที่สร้างความทุกข์ใจ สร้างปัญหาสร้างความเจ็บปวดให้เกิดแก่สังคมหรือไม่ หากแม้นผู้อ่านอ่านแล้วตระหนักได้ถึงสิ่งเหล่านี้แม้เพียงข้อเดียว นับว่าน่ายินดี สำหรับตัวข้าพเจ้ามองว่างานเขียนใดๆหากเผยแพร่ออกมาแล้วสามารถทำผู้อ่านแม้เพียงคนเดียวเกิดสัมมาทิฐิได้ สามารถยกระดับจิตใจผู้อ่านได้ถือว่างานเขียนนั้นประสบความสำเร็จอย่างสูงแล้ว ซึ่งเป็นไปเช่นนั้น

 

ช่างไม่รู้ความ

            “เต่าตัวหนึ่งคลานต้วมเตี้ยมบนชายหาด กวียืนโดดเดี่ยวท่ามกลางดงมะพร้าวมองมันอยู่นานแล้วขาหน้าทั้งสองที่แบนเหมือนใบพายโบกกวาดบนพื้นทราย ขาหลังปัดป่ายตัวไปบนกระดอง มีเพรียงหินสีม่วงตะปุ่มตะป่ำเกาะอยู่จำนวนมาก จนทำให้ดูเหมือนสัตว์ประหลาด ตัวมันถูกจับเขลอะด้วยทรายใต้ตาย่นขรุขระมีน้ำไหลเป็นทาง ผู้คนจำนวนมาก ร้องเรียกชวนกันมาดูมันวางไข่ กล่าวตู่ว่ามันกำลังเจ็บท้องใกล้คลอดจนร้องไห้ เจ้าเต่าดันร่างหนักเป็นตันขึ้นไปอย่างช้าๆ มีผู้ใหญ่ไม่รู้ความคนหนึ่งกระโดดขึ้นบนหลังมันแล้วร้องสั่งเพื่อนๆ ถ่ายรูป แย่งกระโดดขึ้นคร่อมคึกคะนองตามมาอีกหลายคน เต่ายังคงเดินหน้าอย่างช้าเชือน คนหนึ่งบนร่างร่วงลงมาถูกหินบาดเป็นแผลเหวอะหวะมีคนถูกเพรียงบาทอีกจนเลือดเปรอะบนหลังเต่า ขณะกำลังคลานขึ้นไปดูเหมือนมันเปลี่ยนใจเบนหัวกลับตัวทำท่าจะคลานลงทะเล ผู้คนซึ่งรออยู่ต่างไม่พอใจเพราะต้องการดูมันวางไข่ต้องการดูมันขุดทรายเป็นหลุมลึกยืดหย่อนท่อลำเลียงไข่ ลงก้นหลุมวางไข่สักร้อยฟองให้สมน้ำสมเนื้อกับขนาดของมัน พวกเขาอยากดูไข่สีขาวกลมเหมือนลูกปิงปองบุบๆ มีเมือกใสๆ ยืดๆ หุ้มอยู่ รอลุ้นให้ไข่ลูกต่อไปไหลออกมาเสียที ครั้นเต่าไม่ไข่ให้ดู พวกเขาแทบคุ้มคลั่ง หลายคนช่วยกันดันให้มันกลับขึ้นฝั่ง แต่เต่าตัวใหญ่มาก ทุกคนพยายามดันจนหมดแรง ยอมแพ้ มันค่อยๆ คลานต้วมเตี้ยมลงทะเลหายไปกับคลื่นที่ซัดโครมครืน กวียืนก้มหน้า น้ำตาเขาหยดลงบนผืนทราย เต่าตัวนั้นดำดิ่งลงไป ออกไข่ทั้งหมดทิ้งในทะเล”...(เกริกศิษฏ์พละมาตร์,2561 :17-18 )

ข้อความนี้สะท้อนอะไรบ้าง แน่นอนหนึ่งในนั้นคือการสะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้คนที่มีความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่น หลายๆ ครั้งเวลาเราเสพข่าวคงเคยเห็นกันว่าเวลาเกิดอุบัติเหตุหรือความเดือดร้อนต่อใครสักคนจะมีผู้ที่สถาปนาตนเองขึ้นเป็นนักข่าวเก็บภาพสถานการณ์ตรงหน้า ถามว่าดีไหม...ตอบว่า..ดีแต่จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าไปช่วยเหลือเขาก่อน ผู้ใหญ่ไม่รู้ความ” คำนี้มีอยู่จริงเคยได้ยินแม่พูดสมัยเด็กๆ ว่า “โตแต่ตัวโต ขี้พร้าน้ำเต้า” หมายถึงโตเพียงเพราะอายุมาก ไม่ได้โตด้วยคุณงามความดี อายุที่มากขึ้นไม่ได้ทำให้ความคิดโตขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง แทนที่วัยวุฒิที่สูงจะรู้ว่าอะไรควรไม่ควร กลับทำในสิ่งที่น่าละอายแทนที่เมื่อเห็นผู้อื่นลำบากจะเห็นใจจะช่วยเหลือ กลับซ้ำเติมจนสุดท้ายเขาต้องสูญเสียหนักกว่าเดิม เช่นเดียวกับเต่าที่ต้องออกไข่ทิ้งลงทะเลทั้งหมด เพียงเพราะความสนุกของ “ผู้ใหญ่ไม่รู้ความ” แต่ในทุกสังคมใช่ว่าจะมีแต่คนใจจืดใจดำ หากยังมีสิ่งมีชีวิตที่จิตใจเป็นมนุษย์หรือสูงกว่านั้นอยู่ แม้ในบางครั้งความหวังดีนั้น จะพ่ายแพ้ต่ออำนาจกิเลสของผู้ใหญ่ที่ไม่รู้ความก็ตาม เช่นกวีที่ได้แต่ร้องไห้สงสารเต่า ไม่สามารถช่วยอะไรได้ แต่หิ่งห้อยแม้เพียงตัวเดียว ก็ทำให้คืนเดือนดับแสนมืดมิดสว่างได้ แม้ไม่มากแต่ดีกว่าไม่มี

 

สับสนที่(พยายาม)เข้าใจ

            เกาะล่องหนยังทำให้สงสัยว่า การที่เกาะแห่งนี้มีการจมและลอยขึ้นมาใหม่ ครั้งแล้วครั้งเล่า ยามเมื่อเด็กหญิงผมแกละทำตุ๊กตาหมีหล่น จริงหรือไม่ ฉากบนเกาะเกิดขึ้นจากเหตุดังกล่าว จริงหรือ ในเมื่อมีการกล่าวถึงการลวงโลกของเด็กหญิงผมแกละแล้ว จะเชื่อได้หรือว่าฉากในเรื่องเกิดด้วยเหตุการณ์ข้างต้นจริง ๆ อีกทั้งเกาะแห่งนี้เป็นเกาะที่มีความพิเศษจริงอย่างที่เข้าใจหรือไม่ ความสงสัยสับสนนี้คือข้อดีที่ทำให้สามารถตีความไปได้หลากหลายว่า เกาะซึ่งเป็นฉากในเรื่องนี้ อาจเป็นโลกในสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์กโลกสมมติอีกใบที่มีประชากรมากมาย และมีการดำเนินหรือทำกิจกรรมมากมายซึ่งเทียบได้กับโลกแห่งความเป็นจริง หากจะกล่าวว่าในยุคปัจจุบันโลกบนโซเชียลเน็ตเวิร์กมีอิทธิพลเทียบเท่าหรือมากกว่าโลกแห่งความจริง ก็ไม่เห็นว่าผิดตรงไหน หรือหากจะมองว่าเกาะล่องหนคือวัฏสงสารที่ผู้คนที่มองเห็นทุกข์ปรารถนาจะไปจากคุกอันใหญ่ที่ขังเหล่าสรรพสัตว์ไว้ โดยที่สรรพชีวิตเหล่านั้น หาได้รู้ว่าตนเองถูกขังเราต่างเกิดมาพร้อมกับความตายเป็นของแถม เมื่อไม่ปรารถนาความตายแน่นอนว่าต้องไม่มีการเกิดอีก

“พวกเธอจำได้ไหมที่กวีเคยบอกว่า อมตะไม่ใช่ตายแล้วเกิด หรือตายไม่เป็นอมตะ คือการไม่เกิดอีกเลยต่างหาก เขาว่าอย่างนั้น” (เกริกศิษฏ์พละมาตร์,2561 : 97) นี่คือสัจธรรมที่ไม่มีทางปฏิเสธ เราอาจต่างรู้สึกว่าเราเป็นอิสระจะคิดพูดทำอะไรก็ได้อย่างเสรี แต่แท้จริงแล้วทุกสรรพชีวิตต่างถูกขังไว้ในคุกที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ คุกที่ว่านี้คือกฎแห่งกรรมวัฏจักรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดเหมือนเกาะที่จมลงแล้วโผล่ขึ้นมาใหม่ให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายได้มาชดใช้กรรมตามกำลังบุญซึ่งเรามิอาจหลีกหนี

         

ชัยแห่งปราชัย

         ทุกวันนี้โลกเรามีการแข่งขันที่สูงอันที่จริงสูงมากๆ ตั้งแต่ระดับของสังคมเล็กๆ บางทีเล็กมากคือแข่งกันเอง ตั้งแต่ในบ้านเริ่มมาแข่งต่อที่โรงเรียนที่ทำงานแข่งไปเรื่อยๆ ไปสู่ระดับชาติไปยังระดับโลกความอยากที่ไม่มีที่สิ้นสุดพอไม่เป็น (ไม่รู้จักพอ) อยากเป็นใหญ่ แต่ไม่ดูตนเอง คนเราจะใหญ่ต้องใหญ่ด้วยความดีไม่ใช่ใหญ่ด้วยกิเลส ถ้าใหญ่ด้วยกิเลส อันนี้ใหญ่เทียมใหญ่แท้ต้องใหญ่ด้วยความดีผู้ที่อยากครอบครองทุกสิ่งจนรุกรานเพื่อนมนุษย์ไปทั่วมีให้เห็นมาแล้วในประวัติศาสตร์โลกอยากใหญ่อยากให้ทุกอย่างเป็นของตนจนก่อสงครามเข่นฆ่า เช่นสงครามโลกที่ผ่านมาเป็นร้อยปี บางครั้งก็แอบสงสัยว่าทุกวันนี้เราต่างอยู่ท่ามกลางสงครามโลกเช่นกัน (คงคิดไปเอง) แต่ผลของการเป็นใหญ่ด้วยกิเลสก็อย่างที่เราต่างทราบกันดีที่มีปรากฏให้เห็นมาแล้วในหน้าประวัติศาสตร์

           จากความตอนนี้ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงบทพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 เรื่อง ธรรมาธรรมะสงคราม ที่พระองค์ท่านพระราชนิพนธ์ขึ้น ด้วยทรงเห็นว่าธรรมะกับอธรรมให้ผลไม่เหมือนกันโดยแสดงให้ทราบถึงการนำธรรมะและอธรรมเปรียบกับครามโลกครั้งที่หนึ่งไว้ในบทนำของเรื่องความว่า “...ช่างคล้ายจริงๆกับกิจการที่เป็นไปแล้วในงานมหาสงครามในยุโรปอันพึ่งจะยุติลงในศกนั้น ด้วยความปราชัยแห่งฝ่ายผู้ที่ประพฤติละเมิดธรรมะ” (มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระบาทสมเด็จพระ ,2500 : 3) และการทำสงครามด้วยกำลังนั้นไม่มีชัยชนะอย่างแท้จริง เพราะแม้ประเทศใดจะดูเหมือนว่าได้รับชัยชนะแต่แท้จริง มันคือความปราชัยแห่งมวลมนุษยชาติมนุษย์ที่มีความหมายว่าเป็นผู้ที่มีใจสูงแต่การกระทำไม่ต่างอะไรจากเดรัจฉานที่กัดกันเข่นฆ่ากันแย่งสิ่งที่ต้องการ ดังนั้น ชัยชนะจากการใช้กำลังคือที่สุดของความพ่ายแพ้ “กวียังบอกอีกว่าสงครามซึ่งใช้กำลังเข้าห้ำหั่นนั้นไม่มีชัยชนะอยู่นาน กวีบอกว่าชัยชนะไม่มีอยู่จริง” (เกริกศิษฏ์ พละมาตร์,2561 : 278)

            ด้วยความเป็นอมตะของคนบนเกาะล่องหนจึงมีผู้คนไปกระโดดตึกฆ่าตัวตายซึ่งทำไปเล่นๆสนุกๆ เท่านั้น เพราะรู้ว่าอย่างไรเสียก็ต้องฟื้นกลับมา ช่างไม่เห็นคุณค่าของชีวิต ด้วยเหตุผลดังกล่าวเพราะความไม่ตาย เพราะชีวิตอย่างไรก็รอด จึงบังเกิดความอยาก อยากสบาย อยากมีนั่นมีนี่ อยากใหญ่ อยากโต อยากมีอำนาจฯ แล้วเพื่อให้ได้มาซึ่งความอยากก็ได้ก่อสงครามเข่นฆ่ากัน ทั้งที่รู้ว่าเสียเวลาเปล่าเพราะต่างเป็นอมตะแต่พวกเขาก็ทำ ทั้งที่จริงเมื่อรู้เช่นนั้นก็ควรจะรักษาไมตรีต่อกันจะดีกว่าเพราะต้องอยู่ร่วมกันอีกนาน...นานเท่าไหร่มิมีใครบอกได้“...เมื่อเด็กหญิงผมแกละกับตุ๊กตาหมีผ่านมาและเผลอทำตุ๊กตาหมีหล่นจากสะพานทุกอย่างจะกลับคืนสู่สภาพเดิม ทุกคนก็ฟื้นขึ้นมาใหม่จะมีประโยชน์อันใดหากต่อสู้ปลิดชีพ” (เกริกศิษฏ์พละมาตร์,2561 : 79-80) นั่นสิประโยชน์อันใดถึงก่อสงครามโลก ควรจะมีแต่สันติสุขได้แล้ว ควรหมดยุคมืดสู่ความสว่างถาวรได้แล้ว ดังนั้น สงครามที่เราควรปราบคือใจที่เป็นมิจฉาทิฐิของตัวเราเองนั่นต่างหาก เพราะทุกวินาทีตัวกิเลสจะคอยยุยงส่งเสริมให้เราหลงระเริงในสิ่งอันไม่ควรอยู่เสมอ ให้เราเห็นแก่สนุก เห็นแก่สบาย และกิเลสก็จะค่อยๆ ฆ่าเราช้าๆ ช้าๆ ช้าๆ อย่างเลือดเย็น โดยที่เราไม่ทันรู้ตัว แต่อนิจจา กว่าจะรู้ก็อาจสายไปเสียแล้ว ปราชัยอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว “ผมไม่ได้พูดเองหรอก กวีเคยบอกว่าสงครามกลางสนามรบแห่งใจนั้น หากประมาทเพียงเสี้ยววินาทีนั่นคือความพ่ายแพ้ เรามีปกติ เป็นผู้แพ้เพราะไม่รู้สึกว่าตนเองอยู่ท่ามกลางสนามรบ ไม่รู้ว่าถูกของมีคมทิ่มแทงอยู่ตลอดเวลา” 

(เกริกศิษฏ์ พละมาตร์,2561 : 277)

 

แท้โลกเทียม

            ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทุกวันนี้เราต่างสร้างโลกไว้อย่างน้อยสองใบ บางคนอาจมีมากกว่านั้นแล้วแต่ว่าจะสร้างกันในรูปแบบไหน โลกที่จับต้องได้และโลกที่จับต้องไม่ได้ เราใช้ชีวิตบนโลกแต่ละใบที่สร้างไว้ในรูปแบบต่างๆ กัน แต่ต่างเพลิดเพลินกับความงดงามความเริงใจบนโลกเสมือนที่ชื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก โซเชียลเน็ตเวิร์กนั่นน่าคบหาและน่าหวาดกลัว เพราะมันสามารถสั่นคลอนความจริงยอยกความเท็จให้ถูกต้องได้ เปลี่ยนผิดเป็นถูก เปลี่ยนถูกเป็นผิด ภาษาวัยรุ่นเรียก แจ๋งแจ๋งมาก แจ๋งมากๆ แต่ต้องระวัง แจ๋งอาจกลายเป็นแจ๊งได้ “โซเชียลเน็ตเวิร์กอะไรพวกนี้ก็เปลี่ยนโลกไปสิ้นเชิงไม่ใช่หรือ ยุคนี้อะไรที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น ไม่เคยเชื่อก็ต้องเชื่อ ที่เชื่ออยู่ก็สั่นคลอน ไม่รู้อะไรจริง อะไรลวง” (เกริกศิษฏ์ พละมาตร์,2561 :98) เราทุกคนก็มีสิทธิ์สร้างรอยแผลให้ผู้อื่น และมีสิทธิ์ถูกทำร้าย หากทุกคนขาดสำนึกและวิจารญาณอานุภาพแห่งโลกที่ว่านี้มีพลังสามารถสร้างสิ่งดีงามให้เกิดขึ้นได้ และด้วยอานุภาพนี้ก็ทำลายให้ย่อยยับได้เช่นกัน รวดเร็วเสียด้วย แม้คำกล่าวที่เคยกล่าวกันว่ากรรมติดจรวดก็ยังไม่เร็วเท่าแต่สุดท้ายความจริงจะเป็นนิรันดร์และถูกเสมอ แม้บางครั้งต้องใช้เวลาอันยาวนานในการพิสูจน์มากกว่าชั่วชีวิตก็ตาม

 

วงวน

            ไม่ว่าเกาะล่องหนจะเป็นโลกแท้หรือโลกเทียม แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือทำอย่างไรได้อย่างนั้น ให้ความสุขก็ได้ความสุข ให้ความทุกข์ก็ได้ความทุกข์ ส่งอะไรออกไปก็ได้รับสิ่งนั้น กลับมาเป็นวัฏจักรอยู่เช่นนี้เสมอ...ตลอดไป

 

อ้างอิง

เกริกศิษฏ์ พละมาตร์. (2561). เกาะล่องหน. ปทุมธานี : นาคร.

มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2500). ธรรมาธรรมะสงคราม. กรุงเทพฯ : มงคลการพิมพ์.

 

 


 

 


Visitors: 72,135