ใกล้รุ่ง ภูอ่อนโสม

 

 

ใกล้รุ่ง ภูอ่อนโสม

 

“จงเป็นเปรตเป็นเปรตเถิด”

ฝันโง่ ๆ ในสังคมแห่งอำนาจสู่หายนะที่บั่นทอนคนให้กลายเป็นอย่างอื่น

 

 

            ความฝันที่ยืนหยัดตามล่าเพื่อหวังชูธงชัยถูกบั่นทอนกดข่มจนล้มเหลวสิ้นหวังลมหายใจเฮือกสุดท้ายที่หวังให้ปลิดขาดและจบทุกความระทมของชีวิตไม่ยอมขาดห้วงลง แต่กลับคืนชีพด้วยตัวตนใหม่เป็น เปรต อัปลักษณ์บิดเบี้ยวทั้งกายใจ

            นวนิยายเรื่อง เปรต ตีพิมพ์เมื่อปี2561 เขียนโดยปราปต์ เป็นหนึ่งนวนิยายในโปรเจกต์ผีมหานครที่นำตำนานผีพื้นบ้านไทยมานำเสนอใหม่ให้เหล่าผีโลดแล่นในเมืองหลวงหลอกหลอนและหลอกล่อผู้คน กัดกินเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง โดยนวนิยายเรื่องเปรตเล่าถึง “รังเพลิง”ชายผู้มองโลกในแง่ดี เห็นใจผู้อื่น ไม่คิดคดโกงโกหกและเอาเปรียบผู้อื่นแม้สภาพแวดล้อมจะชวนให้เป็นตรงกันข้าม รังเพลิงฝันอยากเป็นศิลปิน เขามานะบากบั่นตามฝันในมหานครที่เต็มไปด้วยโอกาสหากสุดท้ายก็คว้าเพียงควันเงาเพราะความฝันถูกกดข่มบั่นทอนด้วยอำนาจทั้งในครอบครัวและสังคมการทำงาน รังเพลิงถูกลดทอนความเป็นคนจนสิ้นหวังในฝันและชีวิตจึงตัดสินใจผูกคอตาย แต่นอกจากจะไม่ตาย เขาฟื้นขึ้นมาพร้อมกับอำนาจที่ถูกหยิบยื่นภายใต้ภาพลักษณ์เปรตที่ยิ่งใหญ่

 

ฝันโง่ ๆ ในเมืองที่ไม่อนุญาตให้คนมีฝัน 

            เมืองหลวงคือมหานครแห่งฝันที่เต็มไปด้วยโอกาส ผู้คนไหลหลั่งหาที่ทางเลี้ยงชีวิตและส่วนหนึ่งแสวงหาที่ทางสร้างฝันแสดงตัวตนเพื่อเอื้อมคว้าความสำเร็จเช่นเดียวกับรังเพลิงที่หล่อเลี้ยงฝันศิลปินมาตลอดแม้ยังไม่เคยประสบความสำเร็จแต่ความฝันนี้ช่วยถักทอให้เขายังปรารถนาในชีวิต แต่เมื่อสิ่งเดียวที่ทำให้อยากมีชีวิตต่อไปถูกกดข่มและถูกบั่นทอนจากคนใกล้ชิด “จะสนับสนุนได้ไง้ มันเลี้ยงชีวิตไม่รอด” (หน้า 69) แม้จะถูกหยันว่าฝันหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้และไม่มีวันประสบความสำเร็จกับอาชีพนี้ แต่รังเพลิงก็ยังยืนหยัด จนความอดทนไม่ไยดีเขาอีกต่อไป ข้างห้องมั่วสุมเสพยาเสียงดังจนไม่มีสมาธิแต่งเพลง‘มิติ’ รุ่นน้องร่วมวงขอแยกตัวไปเป็นศิลปินเดี่ยวและเอาเพลง ‘หน้ากากลีลาศ’ ที่รังเพลิงแต่งไปเป็นของตัวเองแถมยังโด่งดังอีกด้วย ‘รังเลข’ น้องสาวบ่นเรื่องกิจการร้านก๋วยเตี๋ยวที่ขาดทุนลงทุกวันและเงินที่พี่ส่งให้ก็ไม่พอใช้สอย ‘รังสรรค์’ ผู้เป็นพ่อก็เรียกตัวกลับไปอยู่บ้านทุกครั้งเมื่อมีโอกาสพูด ที่หดหู่กว่านั้นคือ ‘พันชั่ง’แฟนสาวที่หวังสร้างอนาคตด้วยกันบนทางฝันของรังเพลิง แต่เมื่อไม่เคยประสบความความสำเร็จเธอจึงทำทุกอย่างให้รังเพลิงเลิกฝันโง่ ๆ พันชั่งบอกเลิกแล้วจะไปคบกับ“เทพประทาน” พี่เขยที่เขาเกลียดอย่างถึงที่สุด 

            ทั้งหมดทำให้รังเพลิงตัดสินใจฆ่าตัวตายอีกครั้งไปพร้อมกับกีตาร์ของเขา “พี่เพลิงสิ้นหวังบนทางฝัน เขาถึงกับทำลายกีตาร์ยอดรักตัวนั้น เกือบจะทำลายตัวเองด้วยซ้ำ (หน้า 210-211) กีตาร์ที่เปรียบเสมือนตัวแทนความฝันศิลปินของรังเพลิงกลับถูกเจ้าของความฝันทำลายมันลงเอง การตามฝันในมหานครที่เต็มไปด้วยโอกาสให้เสาะแสวงหาจึงไม่ได้มอบฝันให้อย่างที่คาดหวังแต่กลับมอบหายนะที่ทำลายตัวตนของคนตัวเล็กในสังคมใหญ่ให้ยืนหยัดในตัวตนของตัวเองไม่ได้ หายนะสำหรับผู้ที่อยู่ไม่เป็นไม่ปรับตัวตามสภาวะแวดล้อมจึงถูกทำให้แปลกแยกทางความคิดและการกระทำแต่ความแปลกแยกที่ว่ากลับเป็นความดีงามถูกต้องไม่คิดคดโกงเอาเปรียบผู้อื่น ช่างน่าเวทนาที่การเข้ามาในเมืองเพื่อตามฝันเป็นการทำลายล้างตัวตนของคน นั่นอาจมองว่าเป็นการการล่มสลายของนิยามคนดีและความดีในสังคมเมือง

            ความสิ้นสลายในความหวังเล็ก ๆ ของคนตัวเล็ก ๆ ในสังคมกับแค่ความฝันก็ยังทำไม่ได้ และไม่ปล่อยให้ทำเพราะสังคมเมืองที่แม้จะเต็มไปด้วยโอกาสแต่ก็ “เต็มไปด้วยระบบอันลิดรอนทำลายล้างตรรกะและความชอบธรรม ทำให้คนดีไม่อาจเหลือดี ทำให้คนกลายเป็นสิ่งที่ไม่ใช่คน! (หน้า76-77) และได้สร้างความกลัวและท้าทายคนไร้อำนาจให้ไม่สามารถคิดฝันหรือหากฝันก็เป็นเพียง “ฝันโง่ ๆ ฝันที่ไม่มีวันเป็นจริงในมหานครแห่งนี้” (หน้า 211) ฝันโง่ ๆ ที่ว่าอาจรวมถึงตัวตนของรังเพลิงเองที่เป็นคนซื่อจนดูโง่ในแง่มุมของมหานคร ซึ่งอีกนัยหนึ่งผู้วิจารณ์มองว่าฝันของรังเพลิงรวมถึงความหวังที่จะเห็นความยุติธรรมเท่าเทียมในมหานครด้วยการยืนหยัดและยึดมั่นในตัวตนที่สวนกระแสสภาวะแวดล้อม “ทั้งที่ทุกข์หนักก็ยังอุตสาหะเป็นคนดี เป็นพนักงานที่ดีในบริษัท เป็นสมาชิกที่ดีของคอนโด” (หน้า 76) ฝันที่เหลือเชื่อเกินจะเป็นจริงนี้เองผลักให้รังเพลิงดูโง่และแปลกแยกจากสังคมซึ่งสุดท้ายก็พบว่าการไต่หาที่ทางสำหรับตัวเองเป็นเพียงการแหวกว่ายวนในมหาสมุทรเวิ้งว้างไร้สิ่งฉุดคว้าให้ยึดเกาะแถมยังถูกพายุซัดกระหน่ำถูกกระทำจนต้องทิ้งฝันและตัวตนที่ยึดมั่นมาตลอดเพราะสิทธิพิเศษที่ได้รับจากการฆ่าตัวตาย“เขายิ่งใหญ่ไม่ผิดในฝัน อาจยิ่งกว่าตอนฝันด้วยซ้ำ ในเมื่อเวลานี้เขายังอยู่ในร่างคน แต่สามารถทำอะไรได้เหนือคน โดยที่คนทั่วไปไม่มีวันรู้!”(หน้า 156) พลังของ ‘เปรต’ สร้างตัวตนให้รังเพลิงโดดเด่นเป็นที่รับรู้และมีตัวตน

            รังเพลิงจึงเป็นภาพแทนคนตัวเล็ก ๆ ไร้อำนาจที่รักและบูชาฝัน มีความฝันเป็นแรงขับเคลื่อนชีวิตแต่ความรักของเขากลับกลายเป็นหายนะให้ทิ้งตัวตนเดิม และควานหาตัวตนใหม่ที่สังคมจับวางไว้ให้ดีแล้วอย่างเป็นระบบระเบียบโดยไม่อาจคิดฝันถึงที่ทางสำหรับตัวเองด้วยตัวเองได้บทสรุปของความฝันที่ถูกบั่นเฉือนจึงเหลือเพียงควันเงาขาดไร้ความหวังให้หวนนึกและวี่แววที่จะสานต่อได้ การควานหาโอกาสในเมืองที่เต็มไปด้วยโอกาสจึงสิ้นสูญไปเสียทุกอย่าง

            รังเพลิงวกกลับสู่ถนนเส้นเดิม คือเป็นพนักงานบริษัทที่เขาเคยเกลียดและพยายามแง้มหน้าต่างกรงทีละน้อยเพื่อวันหนึ่งวันใดที่พร้อมด้วยกำลังทรัพย์จะกางปีกบินเป็นอิสระตามฝันที่รักยิ่งกว่าสิ่งอื่น หากสุดท้ายปีกก็ติดตาข่าย ตัวตนที่ยึดมั่นถูกแทนที่ด้วยสิ่งเหนือธรรมชาติที่ถูกหยิบยื่นแต่กลับทำให้ยิ่งแปลกแยกและเป็นอื่นกลายเป็นตัวตนบิดเบี้ยวที่ไม่สามารถต้านอำนาจที่ถูกกระทำจากสังคมได้สุดท้ายจึงพ่ายแพ้ราบคาบ รังเพลิงจึงเหมือนหุ่นเชิดที่ไม่สามารถมีตัวตนในสังคมได้หากไม่มีผู้จับเชิดให้เฉิดฉาย ซึ่งสังคมเมืองนี้เองเป็นตัวแทนของผู้เชิดที่มีอำนาจในการชักดึงโยกย้ายไปตามจังหวะที่ผู้จัดระบบระเบียนให้อีกขั้นหนึ่ง ความฝันแสนหวานที่หวังชูธงชัยจึงเป็นเพียง “นิทานหลอกเด็ก”(หน้า 12) ที่ผู้ใหญ่วัยสามสิบอย่างเขาหลงเชื่อและต้อนตัวเองเข้ากรงก่อนจะถูกมือสังคมขนเข้าโรงงานตามระบบต่อไป

 

มนุษย์ผู้สวาปามอำนาจอย่างหิวกระหาย

         “ว่ากันว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นเพียงผู้ใช้อำนาจเท่านั้น แต่ยังอาจถูกอำนาจกระทำด้วย”[๑]

            นวนิยายเรื่อง เปรต นำเสนอให้เห็นสังคมอุดมอำนาจของผู้ปกครองที่กระทำต่อผู้ใต้ปกครองทั้งในครอบครัวและสังคมการทำงาน ตัวละครในเรื่องต่างถือครองอำนาจและสำแดงมันออกมาได้ทุกเมื่อตามใจปรารถนา

            อำนาจปิตาธิปไตยที่กดทับซุกซ่อนในครอบครัวดำรงอยู่อย่างเข้มแข็ง อำนาจผูกขาดอยู่ที่พ่อผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวให้บงการควบคุมสมาชิกในบ้านซึ่งสร้างความอึดอัดใจแก่ผู้อยู่ใต้ปกครอง ‘รังสรรค์’ พ่อของรังเพลิงผู้รักอำนาจไม่ยอมปิดกิจการร้านก๋วยเตี๋ยวที่ขาดทุนลงทุกวันเพราะไม่อยากเลิกจ้างลูกน้องด้วยเหตุผลว่า “ลูกจ้างคือสิ่งเดียวที่ทำให้แกยังรู้สึกว่ามีอำนาจ ความรู้สึกไร้อำนาจของชายเจเนอเรชั่นนายรังสรรค์นั้นน่าจะเจ็บปวดไม่ต่างจากถูกจักรพัดหัว” (หน้า 132) แม้รังเลข ลูกสาวของเขาและน้องสาวของรังเพลิงจะอยู่ช่วยกิจการและให้รังสรรค์ได้ออกคำสั่งแสดงอำนาจได้ “คนเดียวในบ้านที่ยังต้อนรับแกคือลูกสาว” (หน้า 132) แต่เพราะความบ้าอำนาจของพ่อทำให้รังเลขระเบิดอารมณ์และออกจากบ้านไป รังเพลิงที่ถูกพ่อกีดกันและบั่นทอนในฝันของตัวเองและเขาขัดขืนต่อต้านด้วยการหนีออกจากบ้านตามล่าฝันด้วยตัวเอง

            นอกจากนี้ รังสรรค์ยังเคยหนีออกจากบ้านไปมีเมียน้อย เมื่อ “อำนาจของแกถูกบั่นทอนเพราะปากพี่สาวเมีย เมียไม่เชื่อฟัง”(หน้า 132) การไปมีบ้านเล็ก“เพื่อใช้เป็นแหล่งแสดงอำนาจ” (หน้า 132) แต่สุดท้ายก็กลับมาบ้านเพราะถูกเมียน้อยหลอกและเมียใหญ่ตรอมใจตาย ลูกน้องที่เขาจ้างจึงทำให้ยังอุ่นใจที่อำนาจยังได้สำแดง หากอำนาจไม่ได้ใช้งานจะเสมือนถูกลดทอนความเป็นชายให้ด้อยลง เสียเกียรติและศักดิ์ศรีที่ไม่สามารถธำรงอำนาจไว้ได้          

            โดยนัยนี้ นวนิยายกำลังตั้งคำถามกับอำนาจที่ผู้ปกครองใช้กระทำต่อผู้ใต้ปกครองจนเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ว่าจะธำรงต่อไปได้จริง ๆ เชียวหรือ อำนาจในลักษณะนี้ข่มอิสรภาพของผู้ใต้ปกครองจนเกิดการปฏิเสธต่อต้าน จะเห็นจากผู้ใช้อำนาจอย่างรังสรรค์และนุจรีย์พี่สาวภรรยารังสรรค์ที่ต่างใช้อำนาจกดข่มผู้ใต้ปกครอง นุจรีย์ใช้อำนาจกับรังสรรค์จนผู้เป็นน้องสาวไม่เชื่อฟังสามี รังสรรค์จึงท้าทายอำนาจนั้นด้วยการหนีไปมีเมียน้อย หรือรังสรรค์ที่ใช้อำนาจกับรังเลขและรังเพลิงซึ่งทั้งสองรับมือด้วยการขัดขืนต่อต้านจนอำนาจของพ่อสั่นคลอนเพราะถูกกระทำโดยผู้ใต้ปกครองจนอำนาจดับสูญ ในตอนท้ายพันชั่งก็เป็นผู้อยู่ใต้อำนาจของรังเพลิงด้วยในบางครั้ง “ชายที่ให้ค่าตัวเธอเองเท่าอีแจ๋วที่คอยปัดกวาด เท่ากุ๊กที่คอยเตรียมอาหาร เท่าผู้จัดการส่วนตัวที่คอยสะสางปัญหาและกำชับว่าถึงเวลาต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้” (หน้า 208) พันชั่งจึงตัดสินใจบอกเลิกรังเพลิง ซึ่งรังเพลิงก็ตอบโต้กลับด้วยการฆ่าพันชั่งเช่นเดียวกัน การขัดขืนต่อต้านจึงเป็นวิธีการจัดการอำนาจของผู้ถูกกระทำให้อำนาจถูกสั่นคลอน

            ในขณะเดียวกันกับอำนาจในสังคมที่เกลื่อนเมืองจนดูเป็นสิ่งปกติสามัญไปแล้ว เทพประทาน สามีเจนจรีย์ พี่เขยรังเพลิง เป็นตัวแทนอำนาจในสังคมการทำงาน อำนาจของผู้เป็นเจ้านายที่กระทำกับลูกน้องเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เขารู้ว่ารังเพลิงเป็นคนดี เห็นอกเห็นใจผู้อื่นจึงเอาเปรียบทุกครั้งที่มีโอกาส “งานที่รังเพลิงนำเสนอและถูกปัดตก เทพประธานกลับยกมาปรับหูเปลี่ยนหางใหม่ แล้วใส่ชื่อว่าเป็นฝีมือตัวเอง”(หน้า 67) การใช้อำนาจในสังคมทำงานทำให้ลูกน้องผู้ถูกกดขี่ตอบโต้เพื่อส่งสารให้สังคมรับรู้ว่าสิ่งที่ผู้ใต้ปกครองถูกกระทำไม่ควรเพิกเฉยแต่ควรได้รับความชอบธรรม ผลของการใช้อำนาจในที่ทำงานคืออำนาจนั้นดับสูญ เทพประทานถูกเชือกรัดคอจนสิ้นใจด้วยฝีมือของรังเพลิงภายใต้อำนาจเปรต ปฏิกิริยาผู้ใต้ปกครองที่ถูกกดขี่จึงแสดงให้เห็นการพยายามขัดขืนต่อต้านและท้าทายของผู้ไร้อำนาจจนถึงขั้นทำลายอำนาจนั้นให้สิ้นสลายลง

            รังเพลิงได้กลิ่นอำนาจจากเหม็นคาวเป็นหอมฟุ้ง เพราะอำนาจที่ได้รับหลังฟื้นจากการฆ่าตัวตาย เงาสะท้อนของเขาเป็นเงาเปรต ความสับสนพรั่นพรึงกับสิ่งที่อุบัติกับตัวเองทำให้เขากลัวจนร้องไห้และอายที่ตัวเองอ่อนแอ ความกลัวของรังเพลิงอาจไม่เพียงต่อเหตุการณ์ที่อธิบายสาเหตุไม่ได้เท่านั้น แต่ยังตีความไปได้อีกว่าเขากลัวความดีงามถูกต้องจะถูกถมทับจากผู้มีอำนาจ กลัวจิตใจที่แน่แน่วของตัวเองจะไขว้เขวตามสภาวะแวดล้อม ความอายของเขายังแสดงให้เห็นความแปลกแยกในสังคมอีกด้วย สังคมที่อุดมอำนาจแต่รังเพลิงใช้ชีวิตสวนกระแสธาร การนิ่งเฉยไม่อ่อนไหวตามกระแสธารดังกล่าวจึงเป็นการท้าทายเสียดเย้ยกฎนิยมของสังคม แต่ถึงอย่างไรลำพังสายลมพัดหวิวจะสู้พายุลูกใหญ่คงเป็นไปไม่ได้ ความแปลกแยกของรังเพลิงจึงดำเนินต่อไป“กลายเป็นมนุษย์ไร้หน้า” (หน้า 12) ในสังคมที่คนต่างซ่อนความอัปลักษณ์ใต้หน้ากากเงางามหากยังยืนหยัดในตัวตนของตัวเองต่อไปจะได้รับบทลงโทษอย่างสาหัสความแปลกแยกและมนุษย์ไร้หน้าจึงเป็นความย่อยยับของความดีและคนดีที่ยืนหยัดอยู่ไม่ได้ นับวันยิ่งถูกอำนาจเขย่าให้สั่นคลอนจนแพ้ราบคาบในท้ายที่สุด นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นความอยุติธรรม การโกงกินกดทับคนรากหญ้าที่เป็นเรื่องปกติสามัญในสังคมไปเสียแล้ว

            รังเพลิงรับรู้ว่าตัวเองได้พลังเปรตจากการฆ่าตัวตาย ช่วงแรกเขาเป็นเปรตฆ่าคนอย่างไม่ตั้งใจและไม่รู้ตัว แต่เมื่อรู้ว่าอำนาจนี้ยิ่งใหญ่เกินจะปล่อยเลย เขาจึงใช้มันโดยเจตนาคร่าชีวิตใครต่อใครที่กดข่มคดโกงเอาเปรียบเขา หากแต่การฆ่าคนโดยเจนตาภายใต้อำนาจที่ยิ่งใหญ่ของเปรต พบว่า ครั้งใดที่ฆ่าคนโดยเจตนา เงาสะท้อนร่างเปรต และร่างของเปรตมโหฬารที่ใช้เมื่อจะฆ่าคนกลายเป็นมนุษย์ธรรมดา รวมถึงแรงมหาศาลของเปรตที่ลดเหลือเพียงแรงมนุษย์เท่านั้น รังเพลิงได้สิทธิ์พิเศษจากพลังมหาศาลของเปรตคือหัว  ขา และแขนทั้งสองข้าง เขาฆ่าคนจนเหลือสิทธิ์สุดท้ายสำหรับอำนาจเปรตคือแขนซ้าย โดยตอนท้ายอำนาจสาปให้เขาเหี้ยมขึ้นแม้ในร่างมนุษย์ เหตุการณ์ทวนซ้ำเมื่อครั้งเป็นคนดี เขาไปแจ้งเจ้าของคอนโดให้จัดการกับข้างห้องที่มั่วสุมเสพยาเสียงดังแต่ถูกเพิกเฉยและไม่มีใครกล้ากรายเข้าใกล้ แต่ตอนท้ายกลับกลายเป็นรังเพลิงมีอำนาจกดข่มเสียเอง เขาทำแบบเดียวกับที่เขาเคยโดน เพิกเฉย นิ่งเงียบ ละเลยต่อเสียงร้องขอของผู้เช่า 

            รังเพลิงกำลังเย้ยกฎศีลธรรมและตัวตนของเขาเอง ศีลธรรมและตัวตนที่เคยยึดมั่นมาตลอดถูกอำนาจกดบี้จนไม่เหลือดี เข้าทำนองว่าในเมื่อเป็นคนดีแล้วไม่มีที่ทางให้หยัดยืนแล้วจะดีไปทำไม ความดีที่ไม่มีพรรคพวก ความดีที่โดดเดี่ยวและแปลกแยก

            ท้ายที่สุดคนดีก็ไม่เหลือดีเลยจริง ๆ  อำนาจถูกผลิตซ้ำเวียนวน กระชากความดีของคนให้หลุดหล่นเพื่อเข้าพรรคเข้าพวกกันอย่างแนบสนิท รังเพลิงจึงเป็นมนุษย์(เปรต)ผู้ดื่มกินอำนาจอย่างหิวกระหาย ประโยคสุดท้ายที่ผู้เขียนปิดเล่มอย่างร้ายกาจกับการเสพติดอำนาจของคนจนความมืดกัดกินสนิท รังเพลิงกลับบ้านหลังจากใช้อำนาจเปรตฆ่าคนจนไม่กลัวใครอีกต่อไป ถึงบ้านเขาพบน้องสาวบ่นเรื่องร้านก๋วยเตี๋ยวและเรื่องพ่อ รังเลขออกจากบ้านไป เหลือรังเพลิงกับพ่อ เขาตามพ่อขึ้นบันไดพร้อมกับประโยคที่อาจเป็นเสียงสุดท้ายของพ่อที่พูดว่า “มึงอยู่กับกูนี่ละ ไอ้เพลิง” (หน้า 227) แสดงให้เห็นว่าอำนาจของพ่อยังกระจายอยู่เต็มบ้าน และประโยคปิดเล่มว่า“หรือนี่จะถึงเวลาที่เขาจะได้กลับเป็นคน ‘ปกติ’ จริง ๆ ซะที”(หน้า 227) 

            เขาจะกลายเป็นคนแล้วในทุกส่วนของร่างกายแม้ในเงาสะท้อนก็เป็นคนปกติธรรมดาเพราะสิทธิ์สุดท้ายจะถูกใช้ แต่อำนาจของเปรตกลับสถิตในจิตดำมืดอัปลักษณ์บิดเบี้ยวมากขึ้นเมื่อจะตัดสินใจฆ่าบุพการี ความเหี้ยมโหดท้าทายกฎศีลธรรมนี้ หากนวนิยายสร้างให้เป็นคนธรรมดาที่บ้าอำนาจและขาดสติฆ่าพ่อตัวเองอย่างน่าสลดหดหู่อาจจะดูโหดร้ายเกินมนุษย์ จึงสร้างให้ตัวละครฆ่าได้ภายใต้ภาพลักษณ์ของเปรตเพื่อจะปลอบประโลมสังคมว่ามนุษย์ไม่ได้เหี้ยมโหดขนาดนั้น ที่กระทำลงไปเพียงเพราะถูกเปรตสิงสถิตเท่านั้น เปรตจึงเป็นตัวแทนของอำนาจที่ยิ่งใหญ่อันเกิดจากการถูกกดทับจนไร้หนทางใช้ชีวิตจึงต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องความชอบธรรมให้กับตัวเองอย่างสาสม

            สังคมมอบอำนาจให้มนุษย์ฆ่าฟันเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองเป็นสิ่งหอมหวาน ในขณะที่ความฝันที่ตามล่ามานานไม่เคยพบพานกลิ่นหอมหวานแม้สักเสี้ยวเดียว สังคมกำลังทำอะไรกับผู้คนเหล่านี้?

            นวนิยายได้ให้คำตอบกับเราแล้วว่าสังคมต่างสร้างคนเพื่อผลิตซ้ำอำนาจเป็นฟันเฟืองสืบทอดระบบบิดเบี้ยวของสังคมให้ธำรงอยู่ และเปิดโปงให้เห็นว่าอำนาจที่ใช้มากเกินไปส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้าน ตอบโต้และท้าทาย สร้างหายนะเปลี่ยนคนให้แปลกแยกและเป็นอื่นความสะเทือนที่น่าอนาถใจคือสังคมขาดไร้ซึ่งคนดี ภาวะกลับไม่ได้ไปไม่ถึงของคนดีที่มีฝันในสังคมไร้ฝัน ระบบสังคมที่ถือแส้ต้อนคนเข้าพื้นที่ที่ได้จัดวางไว้เป็นสายพานหมุนวนไม่จนสิ้น

            สุดท้าย แม้รังเพลิงจะไม่ได้ชูธงชัยแห่งฝัน แต่เขาได้ชูธงอำนาจที่เอาชนะอำนาจได้ด้วยอำนาจที่เหนือกว่า หรืออาจเป็นไปได้ว่าความฝันที่เฝ้าใฝ่หาในจิตที่ลึกเกินหยั่งของมนุษย์ผู้นี้ แท้จริงแล้วคือการกลืนกินและครอบครองอำนาจอันหอมหวานก็เป็นได้

            มนุษย์ช่างน่ากลัวและไม่ธรรมดาเลยจริง ๆ

 

อ้างอิง

ปราปต์. (2561). เปรต. พิมพ์ครั้งที่2. กรุงเทพฯ : ก้าวกระโดด.

 

[๑] Joy 4137345 “อำนาจ ความชอบธรรม และความฉ้อฉล”. www.snf.or.th/2019/2018/12/29/fraudulent. เข้าถึงเมื่อ 16 เมษายน 2563

 


 


Visitors: 72,052