สุชานาถ บูรณสันติกูล

สุชานาถ บูรณสันติกูล

 

ขอสวรรค์จงมาถึง : การตามหาสรวงสวรรค์ที่ไม่มีจริงในความทรงจำที่พร่าเลือน

 

            ในช่วงชีวิตหนึ่งของมนุษย์ คงไม่พ้นการตั้งคำถามว่า ‘มีชีวิตเพื่ออะไร’ ใฝ่ฝันหรือตามหา ‘สรวงสวรรค์’ ที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขชั่วนิรันดร์ การตั้งคำถามหรือใฝ่ฝันถึงชีวิตที่มีความสุขนี้อาจเกิดขึ้นในตอนที่ประสบปัญหาชีวิตหรือในช่วงรอยต่อระหว่างการเติบโตที่ยังไม่แน่ใจในตัวตนของตัวเอง

            หนังสือ ‘ขอสวรรค์จงมาถึง’ เขียนโดย ฆนาธร ขาวสนิท พาเราไปควานหาคำตอบของชีวิตผ่านการเดินทางกลับบ้านของตัวเอกชายไร้ชื่อ หลังแมวที่เลี้ยงไว้ถูกฆ่าตายอย่างปริศนาและนิตยสารที่ทำงานอยู่ปิดตัวลง เขาจึงเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อหลีกหนีจากความเศร้าขณะเดียวกันก็ถูกหลอกหลอนด้วยความทรงจำหลากหลายโดยเฉพาะเรื่องของหญิงสาวผู้เป็นจูบแรกและเป็นผู้พาแมวที่รักเข้ามาในชีวิตเขา

            หากจะให้สรุปเรื่องราวของหนังสือทั้งเล่มอย่างผิวเผิน ก็คงสรุปจบได้ในไม่กี่บรรทัด ว่าเป็นเรื่องราวของชายที่เดินทางกลับบ้านเกิดซึ่งพ่อแม่ได้ตายไปแล้ว เพื่อจะพบว่าผู้คนที่ไม่ได้ติดต่อกันมานานบางคนก็ตายไปแล้วเช่นกัน อย่างเพื่อนสนิทและอาผู้เคยเลี้ยงดูในวัยเด็ก การได้รับจดหมายสั่งเสียจากอาทำให้เขาค้นพบความจริงของเรื่องราวในครอบครัว ซึ่งคล้ายว่าเขาจะรู้บางส่วนอยู่แล้วแต่แสร้งมองข้ามมันไป เขาได้พบกับหญิงสาวผู้ปรากฏตัวและบอกว่าเป็นพี่น้องต่างแม่ ชักนำเขาไปสู่การเดินทางตามหาหญิงสาวผู้เป็นจูบแรก จบลงด้วยการพยายามฆ่าตัวตายของทั้งเขาและหญิงที่ตามหาจนเจอซึ่งไม่อาจทราบบทสรุปที่ชัดเจน

            เรื่องราวสามารถเล่าจบได้ง่ายดายเพียงเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วรายละเอียดหลากหลายถูกบอกเล่าในรูปของความทรงจำที่ย้อนแทรกกลับมาสลับกับปัจจุบันตลอดทั้งเรื่อง จนสัดส่วนของเรื่องราวในอดีตมีมากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหลังจากตัวเอกออกเดินทางกลับบ้าน

 

            ความไร้แก่นสารและไร้แบบแผนแบบ Absurdism และ Postmodernism

            Postmodernism เป็นแนวคิดที่ท้าทายโครงสร้าง ความเชื่อเก่าๆ โดยมีแนวคิดสำคัญอย่างหนึ่งคือผู้คนในสมัยนี้จะไม่สามารถจินตนาการไปถึงโลกวันข้างหน้าได้อีก เนื่องจากการพัฒนาด้านต่าง ๆ ได้มาถึงจุดสูงสุดแล้ว จึงทำให้มนุษย์หลังสมัยใหม่เริ่มคิดถึงอดีตที่ผ่านมา และมองหาคุณค่าในอดีต การหวนระลึกถึงอดีตจึงกลายเป็นภาวะหนึ่งที่เกิดกับคนรุ่น Postmodern (ธาม เชื้อสถาปนศิริ, 2561) ซึ่งสภาวะนี้ได้ตรงกับสภาวะทางจิตใจของตัวเอกในเรื่องที่สูญเสียความหมายในการมีชีวิต และเลือกจะย้อนกลับไปตามหาความหมายจากอดีตของตัวเอง กลับไปในเมืองที่เคยใช้ชีวิตอยู่ เพื่อพบว่าแม้บ้านเมืองและผู้คนจะเปลี่ยนไปตามเวลา แต่ทุกอย่างก็ยังมีบรรยากาศแบบเดิม เห็นได้จากบทบรรยายหลายฉาก เช่น

            ‘...อาคารเรียนถูกทาสีใหม่ บางปีฟ้าอ่อน บางปีเหลือง อดีตถูกกลบทับอยู่ในสีเม็ดละเอียด เมื่อเวลาล่วงผ่าน อดีตและอดีตที่ใหม่กว่าจะหลอมรวมกัน เป็นปัจจุบันเพียงอึดใจ ก่อนกลายเป็นอดีตที่ใหม่กว่าอีกครั้ง’ (หน้า 83)

            ขณะที่ Absurdism เป็นแนวคิดที่แทรกซึมมาในวรรณกรรมแบบ Postmodern (Bolick, 2009) โดย Absurdism กล่าวถึงความไร้แก่นสารในชีวิตมนุษย์ แม้มนุษย์จะพยายามตามหาความหมายในการมีชีวิต แต่สุดท้ายก็ไม่พบสิ่งใด ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนประสบกับความสูญเสียจนความเชื่อทางศาสนาถูกท้าทาย จากเดิมที่เชื่อว่าโลกเปรียบเสมือนบ้าน เป็นสถานที่ในอุดมคติที่เกิดแต่สิ่งดี ๆ เป็นไปตามประสงค์ของพระเจ้า ทว่าในภาวะความวุ่นวายของสงครามและการเข่นฆ่า การมีชีวิตอยู่กลับกลายเป็นเรื่องไร้แก่นสาร (Sarangi, 2016) เมื่อความเชื่อเรื่องสวรรค์หรือชีวิตหลังความตายสูญหายไป มนุษย์ก็ยิ่งสูญเสียเหตุผลที่จะใช้ชีวิต

            ผู้เขียนได้กล่าวถึง ‘บ้าน’ และ ‘สวรรค์’ บ่อยครั้ง ด้วยความรู้สึกแปลกหน้าต่อบ้านในความหมายเชิงรูปธรรม คือหมายถึงที่พำนักของตน เช่น ‘ผมแปลกหน้ากับบ้านของตัวเองอย่างสิ้นเชิง ส่วนกับโลกซึ่งเพิ่งหันหลังจากมากลับแปลกหน้ายิ่งกว่า’ (หน้า 55) และขณะเดียวกันก็รู้สึกแปลกหน้าต่อบ้านในความหมายเชิงนามธรรม คือหมายถึงสถานที่ที่สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขด้วย เช่น ‘การเดินทางกลับบ้านแล้วพบว่าไม่มีวันมาถึงน่าเศร้าเสมอ ผมรู้ตระหนักมาเนิ่นนาน ผมไม่มีวันกลับถึงบ้านได้ง่ายๆ ’ (หน้า 54) แสดงให้เห็นถึงภาวะที่มองไม่เห็นความสุขของตัวละคร ไม่มีที่ให้กลับไปและไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เขาไม่เชื่อว่าสวรรค์ที่ตามหาจะมีจริง ความในใจที่ว่า ‘ในโลกบ้าคลั่ง กลียุคที่กลืนกินคนอย่างไม่กะพริบตาเช่นนี้ ไม่มีสรวงสวรรค์ใดอีกแล้วให้คู่ควรแสวงหา’ (หน้า 74) ยิ่งตอกย้ำว่าตัวเอกเชื่อเรื่องความไร้แก่นสารในชีวิต

            นอกจากนี้ วิธีการเล่าเรื่องยังเต็มไปด้วยลักษณะแบบ Postmodernism เช่น มีน้ำเสียงของความเสียดสีของผู้เขียนในนิยายของตัวเอง อย่างการที่ตัวเอกเยาะเย้ยวรรณกรรมที่ตัวละครไม่มีชื่อว่า‘ลึกลับเหมือนตัวละครในนิยายยุคใหม่ที่นักเขียนไม่มีความสามารถแม้แต่จะตั้งชื่อให้ตัวละครของตัวเอง’ (หน้า 29) ทั้งที่ในหนังสือเล่มนี้ก็ไม่มีตัวละครใดมีชื่อ ยกเว้นชื่อทางศาสนาของหญิงสาวผู้เป็นจูบแรก การเล่าเรื่องไม่เป็นไปตามนิยายแบบแผน เป็นไปอย่างไม่เรียงลำดับเวลา มีการกระโดดไปมาของเรื่องราวหลายช่วงเวลาแม้ในหน้ากระดาษเดียว เนื้อหาในบทบทหนึ่งอย่างบทที่ 8 และ 11 มีใจความเพียงบรรทัดเดียว ซึ่งเป็นการเล่าซ้ำบรรทัดเดิมของบทก่อนหน้า เนื้อเรื่องในความทรงจำตัวเอกเต็มไปด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับตัวละครอื่นที่ดูเหมือนจะไม่ส่งผลกับชีวิตปัจจุบันของตัวเอก ทำให้เรื่องราวดูกระจัดกระจายผู้อ่านไม่สามารถเชื่อถือตัวเอกซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องได้ ทั้งเพราะมีความทรงจำที่บิดเบือน และเพราะเล่าสิ่งที่เกิดในหัวปะปนกับความจริงจนไม่รู้ว่าสิ่งใดเกิดขึ้นจริงกันแน่

            มีการใช้บทบรรยายหรือบทพูดเดิมซ้ำหลายครั้งตลอดเรื่อง เช่น ‘ไม่อาจรักหรือชังสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างหมดจิตหมดใจได้อีกแล้ว’‘คล้ายเป็นตำนานลึกลับ นิทานปรัมปรา พงศาวดารที่ไม่เคยถูกจดจาร’ ‘เปียโนบรรเลง..กรุณากล่าวขึ้นพร้อมกัน ขอให้ทุกสิ่งเป็นไปตามน้ำพระทัย ในแผ่นดินเหมือนในสรวงสวรรค์’ ซึ่งทำให้การเล่าเรื่องนี้มีลักษณะเหมือนเป็นบทเพลง ท่อนเดิม ๆ ถูกนำมาเล่นซ้ำ ลักษณะที่เหมือนบทเพลงนี้ตรงกับลักษณะละครเวทีแบบ Absurdism (“Absurdism in Literature”, 2020) หรืออาจมองเป็นการใช้ภาษาซ้ำเกินจำเป็นจนเป็นการจงใจลดทอนคุณค่าของภาษาก็ได้ โดยประโยคที่กล่าวว่า ‘คล้ายเป็นตำนานลึกลับ...’ มักใช้เพื่อกล่าวย้ำการสูญหายของใครสักคนหรือความไม่ชัดเจนของความทรงจำเท่านั้น ทำให้ผู้อ่านที่เจอประโยคนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่ารู้สึกว่าเป็นเพียงประโยคที่กล่าวขึ้นมาอย่างไร้เหตุผล ย้ำความซ้ำอย่างไม่จำเป็น จนอาจจะดูน่ารำคาญ ซึ่งถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ในการลดทอนคุณค่าของภาษา อันตรงกับแนวคิด Postmodernism ที่เชื่อว่าภาษาไร้ประสิทธิภาพ บิดเบือนได้ง่าย

            ตัวเอกยังเล่าถึงการละเล่นในวัยเด็กของตนที่แสดงให้เห็นถึงการเยาะเย้ยและไม่เชื่อในภาษาอีกด้วย โดยพิมพ์วลีหรือคำที่ปราศจากความหมายเข้าไปในห้องแชทสาธารณะซ้ำ ๆ แล้วผู้คนก็เลือกหยิบคำเหล่านั้นไปใช้โดยไม่รู้ตัว จนคำเหล่านั้นได้รับความหมายใหม่ (หน้า 133) แสดงให้เห็นว่าความหมายของถ้อยคำถูกเปลี่ยนแปลงง่ายเพียงใด และภาษาก็ยิ่งสูญเสียความน่าเชื่อถือ

            บทสนทนาที่ไม่สอดคล้องกันและบางคำพูดดูไร้ความหมาย ไม่ต้องการคำตอบ ยิ่งตอกย้ำถึงความไร้แก่นสารในการสื่อสาร เช่น ในหน้าที่ 98 หญิงสาวผู้เป็นพี่น้องต่างแม่บอกเขาว่า ‘เราฆ่าพี่ชายของคุณ’ แต่ตัวเอกกลับย้อนถามว่า ‘เพลงนั่นคุณแต่งเอง?’ ในหน้า 87 แฟนเก่าถามโดยไม่รอฟังคำตอบ เหมือนถามอย่างไร้ความหมายว่า ‘ทำไมมาโผล่ที่นี่’บทสนทนาในหน้า 205 ระหว่างตัวเอกกับแม่ของหญิงสาวผู้เป็นจูบแรกที่จู่ ๆ แม่ก็พูดซ้ำ ๆ ว่า ‘ช่วยกาตารีน่าด้วย’ ขณะที่ตัวเอกกลับเล่าความในใจส่วนตัวของตัวเองออกไปโดยไม่เกี่ยวข้องกัน ตัวเอกถามหญิงแฟนเก่าและหญิงผู้เป็นพี่น้องต่างแม่ด้วยประโยคเดียวกันว่า ‘คุณฆ่าแมวผมทำไม’(หน้า 85 และ100) โดยไม่ได้มีเหตุผลให้สงสัยในตัวละครเหล่านั้น แสดงให้เห็นว่าตัวตนของคู่สนทนาไม่สำคัญ ตัวเอกแค่เปิดเผยความเจ็บปวดเรื่องแมวออกไปกับใครก็ได้ การสนทนาคล้ายกลายเป็นเรื่องไร้ความหมาย และการที่หญิงสาวผู้เป็นจูบแรกกับหญิงผู้เป็นพี่น้องต่างแม่ใช้คำพูดเดียวกันว่า ‘เรากำลังจะเป็นบ้า ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป เราจะเป็นบ้า’ (หน้า 34และ 106) ก็ทำให้ตัวตนของหญิงทั้งสองดูมีลักษณะเหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อตัวตนของหญิงสาวทั้งสองถูกเล่าผ่านความคิดของตัวเอก ซึ่งตัดมาแค่บางส่วน ก็ยิ่งทำให้ตัวตนของเธอดูเหมือนๆ กัน คือเป็นผู้หญิงที่มีอดีตเจ็บปวด ขณะที่ตัวตนด้านอื่นของหญิงทุกคนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอกกลับดูพร่าเลือน สอดคล้องกับการแสดงให้เห็นว่าภาพจำของคน ๆ หนึ่งขึ้นอยู่กับเพียง ‘สรรพนามที่ใช้เรียก’ในหน้าที่ 37 ว่า ‘วิญญาณส่วนหนึ่งของเธอได้หนีตามพ่อไปด้วย ถูกบังคับให้หนีตามไปด้วยการถูกเรียกจากคนอื่นว่า ลูกสาวของชายผู้หายตัวไปตลอดเวลา’ชวนให้เกิดคำถามในใจว่าแค่การใช้ภาษา สามารถส่งผลต่อตัวตนของคน ๆ หนึ่งได้จริงหรือ

            หนังสือจบลงโดยเรื่องราวของหลายตัวละครถูกทิ้งค้างไว้ไม่ชัดเจน ให้ผู้อ่านได้ปะติดปะต่อเอง หรืออาจไม่มีคำตอบ เช่น แมวถูกใครฆ่าและเพราะอะไร ทำไมพี่ชายถึงหายตัวไป ผีนักกวีในห้องเรียนในความทรงจำเป็นใคร หรือกระทั่งเรื่องราวที่น่าจะสำคัญที่สุดอย่างตัวเอกและหญิงที่รักรอดจากการฆ่าตัวตายหรือไม่ เขาฆ่าตัวตายด้วยเหตุผลอะไร เพื่อเติมเต็มคำพูดที่เคยพูดกับหญิงสาวผู้เป็นจูบแรกว่าจะเลือกความตายด้วยตัวเอง หรือเพราะหลุดออกจากภาพลวงตาที่เคยยึดถือ เมื่อหญิงสาวที่เคยเชื่อว่าเป็นจูบแรกของตนแท้จริงแล้วกลับไม่ใช่จูบแรกของตน และตัวตนของเธอก็เปลี่ยนไปแล้ว หรืออาจไม่เคยเปลี่ยน แต่ความทรงจำของเขาเกี่ยวกับเธอก็ถูกบิดเบือน กระทั่งเธอมีคนรักคนใหม่แล้ว

            

            สวรรค์ที่ไม่มีจริง

            หากอิงจากอัลแบร์ กามูต์ นักเขียนแนว Absurdism แล้วกามูต์ได้นำเสนอวิธีหลุดพ้นจากความไร้แก่นสารในนิยายของเขา สองในสามวิธีที่ปรากฏ หนึ่งคือการฆ่าตัวตาย สองคือการยอมรับว่าชีวิตของตนไร้แก่นสารแล้วค้นหาคุณค่าอื่น เช่น ศาสนา คุณธรรม มาทำให้ตัวเองเชื่อว่าตนใช้ชีวิตได้ดีที่สุดในฐานะมนุษย์คนหนึ่งแล้ว (“Absurdism in Literature”, 2020)

            การฆ่าตัวตายของหญิงสาว เป็นเหมือนการปลดเปลื้องตัวเองจากความไร้แก่นสาร หลังจากพบว่าสวรรค์ไม่มีจริง ตามบทสนทนาในหน้า 244 ‘และตอนนี้คุณก็มีบ้าน’ ‘เฮลโหลคุณ นี่มันโลกมนุษย์’ ทั้งที่ตัวเอกชายหมายถึงบ้านที่เป็นรูปธรรม แต่เธอกลับหมายถึงบ้านซึ่งหมายถึงที่พำนักที่จะมีความสุขทางใจได้ เมื่อทั้งสองยังอยู่ในโลกมนุษย์ เธอจึงไม่มีบ้านซึ่งเปรียบเหมือนสวรรค์ที่ว่า ขณะที่การฆ่าตัวตายของตัวเอกชาย ไม่แน่ชัดว่าเกิดจากการเผชิญหน้ากับความจริงหรือไม่กันแน่ เขาตระหนักถึงความไร้แก่นสารมาตลอด แต่ยึดถือกับการจะได้กลับมาพบหญิงสาวผู้เป็นจูบแรกอีกครั้ง ก่อนจะพบว่าเธอไม่ใช่ทั้งจูบแรกและมีหลายสิ่งเปลี่ยนไปจากในความทรงจำ ทั้งนิสัย รูปลักษณ์ภายนอก เมื่อหลุดจากภาพลวงตาเขาจึงเสียเหตุผลสุดท้ายที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป 

            หน้า 249 ในภาวะเคลิ้มหลังกินยาฆ่าตัวตาย เขาเห็นผู้คนที่ผ่านมาในชีวิตเต้นรำด้วยกันในบ้าน และคิดถึงบ้านที่เป็นรูปธรรมของตัวเอง เห็นตัวเองกลับมารักและเกลียดอย่างหมดใจได้อีกครั้ง ไต่ถึงสวรรค์จากการฝันถึงหญิงสาวที่จากไปและไม่เคยกลับมาสักคน แล้วเขาก็พูดออกมาว่าจะเขียนนิยายรัก อาจสื่อถึงว่าเขาได้มองเห็นทางที่จะมีความสุขของตัวเองแล้วแม้ไม่ใช่ในสวรรค์ ด้วยการยอมรับความไร้แก่นสารของชีวิต ยอมรับการมีชีวิตที่มีความสุขกับความทรงจำปลอม ๆ แล้วทำสิ่งที่ไร้แก่นสารอย่างการเขียนนิยายรัก ซึ่งเขาเคยคุยกับบรรณาธิการแล้วเธอตอบกลับมาว่าคงเป็นนิยายรักที่น่าเบื่อ

            ไม่มีคำตอบว่าเขารอดชีวิตหรือไม่ แต่น่าสนใจว่าคำบรรยายตัวเองในย่อหน้าสุดท้าย ‘ยื่นมือตบบ่า หยุดชั่วอึดใจ หลับตา คล้ายพยายามเรียบเรียงความฝันกระจัดกระจายให้เข้ารูปเข้ารอย’ เหมือนคำบรรยายที่เขาเคยใช้บรรยายปรมาจารย์ด้านศิลปะผู้ไม่เคยมีผลงานจริง ๆ สักชิ้น (หน้า22) อาจเป็นการสื่อว่าเขาอาจไม่รอดชีวิตมาเขียน หรือต่อให้รอดก็อาจไม่ได้ลงมือเขียนจริง ๆ เหมือนกับปรมาจารย์ผู้นั้น อาจเป็นเพียงอีกหนึ่งคำพูดและการกระทำที่ไร้ความหมาย หรือความจริงเขาอาจเข้าใกล้ความตาย กำลังจะหลุดพ้นจากความไร้แก่นสารที่ทุกข์ทนจึงสามารถมองเห็นความสุขในชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมดได้

            สวรรค์ที่ตามมาหามาถึงเขาหรือไม่ หากสวรรค์ที่ว่าหมายถึงการหลุดจากความไร้แก่นสารทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้วิจารณ์คิดว่าเขาไม่พบสวรรค์ที่ว่า แต่เขาคงเริ่มยอมรับความไร้แก่นสารนั้นได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องราวทั้งหมดในหนังสือเปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านได้ขบคิดและหาข้อสรุปด้วยตนเอง และบางทีผู้อ่านอาจได้พบสวรรค์ในความจริง ไม่มองชีวิตว่าเป็นเพียงความไร้แก่นสาร อันเป็นสิ่งที่ตัวเอกใช้ตอบคำถามว่า ‘มีชีวิตเพื่ออะไร’หรืออาจค้นพบหนทางอื่นในการหลุดพ้นจากความไร้แก่นสารก็เป็นได้

 

บรรณานุกรม

            ธาม เชื้อสถาปนศิริ.  (2561).  คันฉ่องส่อง (ปรากฎการณ์) บุพเพสันนิวาส.  [ออนไลน์]  เข้าถึงได้จาก : (วันที่ค้นข้อมูล : 19 เมษายน 2563).

            Absurdism in Literature.[Online] Retrieved from:https://englishsummary.com/absurdism-literature.(Retrieved: April 19, 2020)

            Itishsri Sarangi. (2016).  Absurdist flow in Art and Cinema.[Online] Retrieved from:https://www.researchgate.net/publication/310796047_Absurdist_Flow_in_Art_and_Cinema.(Retrieved: April 19, 2020)

            Elizabeth L. Bolick. (2009). Absurdism in Post-Modern Art: Examining Interplay between “Waiting for Godot” and “Extremely Loud and Incredibly Close”.[Online] Retrieved from: http://www.inquiriesjournal.com/articles/36/absurdism-in-post-modern-art-examining-the-interplay-between-waiting-for-godot-and-extremely-loud-and-incredibly-close.(Retrieved: April 19, 2020)

 


 

 


Visitors: 72,090