แก้ว เพียงชล

 

แก้ว เพียงชล

 

“คนในนิทาน” นิทานในนิทานและดำฤษณา

 

            วรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนบางเรื่องได้อาศัยวรรณกรรมท้องถิ่นมานำเสนอในลักษณะสหบท  เช่น นวนิยายเรื่อง “เจ้าจันทน์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน” ของ มาลา คำจันทร์ และ รวมกวีนิพนธ์เรื่อง “หัวใจห้องที่ห้า” ของ อังคาร จันทาทิพย์ ที่นำเอานิทาน ตำนานท้องถิ่นภาคอีสาน มาร้อยเรียงเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่า ทั้งสองเรื่องเป็นตัวแทนของภาคเหนือและภาคอีสาน ยังไม่ปรากฏวรรณกรรมของคนใต้ที่นำเสนอในลักษณะดังกล่าวนี้  ในรอบปี 2561 จึงนับเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง เมื่อมีนวนิยายที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของการประกวดวรรณกรรมซีไรต์ ชื่อ “คนในนิทาน” ของ กร ศิริวัฒโน ที่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของนักเล่าเรื่องจากแดนใต้บ้าง แม้จะไม่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมก็ตาม แต่กล่าวได้ว่า“คนในนิทาน” มีชั้นเชิงการเล่าเรื่องชั้นลายคราม และได้นำเสนอปรากฏการณ์ใหม่ภายใต้ท่าทีก่อนเก่าอย่างแยบยล ยอกย้อน และกล้าหาญที่จะสุ่มเสี่ยงต่อนัยศีลธรรม

“คนในนิทาน” เป็นเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า แบบที่เรียกกันว่า “เมตาฟิกชั่น”แต่ “คนในนิทาน” ก็มีมากไปกว่านั้น คือการสอดแทรกนิทานท้องถิ่นและนิทานสากลผ่านการบอกเล่าและ    การครุ่นคิดของตัวละครตลอดทั้งเรื่อง นิทานเหล่านี้มีอนุภาคและแบบเรื่องในทิศทางเดียวกัน และสอดรับกับเหตุการณ์และพฤติกรรมของตัวละครที่เป็นแก่นสำคัญของเรื่องได้อย่างแยบยลและเป็นเอกภาพ ที่สำคัญอนุภาคบางอนุภาคของนิทานเหล่านั้น(นิทานบางเรื่อง)ก็ถูกนำมาใช้เป็นอนุภาคหนึ่งของ “คนในนิทาน” เช่น  อนุภาคพ่อตาทดลองเชาว์ปัญญาลูกเขย และอนุภาคแก้บนด้วยการได้แม่ยายเป็นเมีย เป็นต้น นอกจากนี้ดูเสมือนว่าโครงเรื่องของ “คนในนิทาน” ก็คือโครงเรื่องแบบพ่อตาลูกเขยที่แพร่กระจายอยู่ในท้องถิ่นภาคใต้นั่นเอง นับว่ากลวิธีการนำเสนอดังกล่าวนี้เป็นจุดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้ทีเดียว

“คนในนิทาน” เริ่มขึ้นด้วย “ตาเฒ่า”เป็นผู้เล่าเรื่อง ตาเฒ่าอ้างว่าตนมีอายุ 20 ปี ในสมัยที่ญี่ปุ่นบุกหัวเมืองใต้ และตาเฒ่าก็เล่าเรื่องของเทิ้มทดขึ้นว่า เรื่องเริ่มขึ้นจากความขัดแย้งตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ จนถึงเรื่องใหญ่ระหว่างกริชลูกเขยของเทิ้มทดกับตัวเทิ้มทดผู้เป็นพ่อตา ต้นตอของปมปัญหาเริ่มจากกริชแอบไปรู้ความลับของพ่อตาโดยบังเอิญแต่ในครั้งนั้นกริชยังไม่แน่ใจนักหลังจากนั้นกริชได้เข้ามาสู่ขอดอกบวบลูกสาวคนโตของเทิ้มทดและนิ่มน้อย เมื่อเข้ามาอยู่ในบ้านของฝ่ายภรรยา กริชก็เป็นแรงงานในครอบครัวที่ขยันขันแข็ง เป็นที่พึงพอใจของแม่ยาย แต่เทิ้มทดกลับพึงใจสินชัยเขยผู้น้องสามีของดอกแตงที่เป็นชาวประมง  เทิ้มทดพาสินชัยและกริชออกไปพายเรือและถามปัญหาลองภูมิแก่เขยทั้งสองเพื่อพิจารณาว่าสมควรจะให้ใครได้อยู่เรือนใหญ่ต่อไป สินชัยกลับตอบได้เป็นที่พอใจ ในขณะที่เทิ้มทดรู้สึกว่ากริชตอบปัญหาแบบยียวนกวนประสาท กริชเองก็รู้ว่าพ่อตาขุ่นเคืองตนเองอยู่ บางครั้งเขาก็ยอมคล้อยตามไปบ้าง แต่ก็มีหลายครั้งที่ต่างคอยพูดจาข่มขวัญคุมเชิงกันอยู่ในที และผลัดกันเป็นฝ่ายรุกและฝ่ายรับ เช่น เทิ้มทดแกล้งเข้าไปนั่งในกระสอบข้าวโพดเพื่อให้ลูกเขยหามตนกลับบ้าน และกริชได้แก้เผ็ดคืนโดยเข้าไปนั่งในกระสอบข้าวโพดเพื่อให้พ่อตาแบกกลับบ้าง อนุภาคนี้พบในการเล่าเรื่องของคนใต้อยู่ทั่วไป แม้แต่เรื่องเล่า “เปาะเน เมาะเน” ของชายแดนใต้ ก็พบอนุภาคการแอบอยู่ในกระสอบเช่นนี้เหมือนกัน เรื่องมาถึงจุดวิกฤตเมื่อกริชได้รู้ความจริงและแน่ใจว่าเทิ้มทดมีพฤติกรรมวิปริตทางเพศจริงๆ เมื่อเห็นเทิ้มทดทำมิดีมิร้ายกับสุนัขที่เป็นสัตว์เลี้ยงของเขาเองคือไอ้ตีนขาว แต่ไอ้ตีนขาวก็ตกใจกัดเอาอวัยวะเพศของเทิ้มทดเป็นแผลเหวอะหวะอยู่หลายวัน เหตุการณ์นี้ทำให้เทิ้มทดจับไข้นอนซมจนแน่งน้อยคิดจะพึ่งสิ่งลี้ลับ จึงได้จัดพิธีทรงทวดโคกขี้แร้งขึ้น แต่ปรากฏว่าการเชื้อหรือเชิญทวดโคกขี้แร้งมีทีท่าว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จ ทันใดนั้นกริชก็เข้าไปนั่งขับบทเสียเอง โดยว่าเป็นกลอนบอกเล่าเป็นนัยถึงพฤติกรรมวิปริตของเทิ้มทด ทำให้เทิ้มทดทนไม่ได้หอบสังขารมาต่อกลอนกับกริช โดยกริชขับกลอนบอกให้เทิ้มทดยกที่น่าแปลงใหญ่พร้อมวัวควายที่มีอยู่ให้แก่เขา เทิ้มทดต้องกล้ำกลืนยอมให้กริชแต่โดยดีขอไว้แต่วัวคู่ใจคือหางดอกและเขาไขว้

เมื่อได้ที่นาและสัตว์เลี้ยงสมใจ กริชก็ลำพองคิดว่าเทิ้มทดจะไม่ขัดขวางตนอีกต่อไป จึงเป็นฝ่ายเรียกร้องมากขึ้น เทิ้มทดไม่พอใจและปฏิเสธที่จะช่วยเหลืออีก กริชจึงนำความลับของเทิ้มทดไปบอกเล่าแก่เพื่อนบ้านบางคน และคนเหล่านี้ก็มาพูดจาเยาะเย้ยเทิ้มทด เทิ้มทดทนไม่ได้อีกต่อไปจึงท้าดวลมีดกับกริชแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน พร้อมกับความรู้สึกอายก็มลายไปสิ้นและกล่าวต่อหน้าผู้มามุงดูรวมทั้งภรรยาและบุตรสาวของตนเองว่าตนเองมีอะไรกับสัตว์เลี้ยงจริงแต่นั่นก็เป็นอารมณ์ชั่ววูบ แต่กริชต่างหากที่กลั่นแกล้งตนสารพัดหยามหมิ่นและทำลายศักดิ์ศรีของตนไปจนหมดสิ้นแม้ตนจะอาวุโสกว่าและมีฐานะเป็นพ่อตาก็ตาม เหตุการณ์นี้ทำให้กริชกลายเป็นจำเลยทันที รวมทั้งได้กระตุ้นให้นิ่มน้อยและดอกแตงได้เฉลยความลับในใจที่อัดแน่นคับอกมานานบ้าง ดอกแตงกล่าวว่าตนเองเคยพลาดท่าเสียทีพี่เขยถูกพี่เขยล่อลวงมาล่วงละเมิดทางเพศแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในขณะที่นิ่มน้อยก็เล่าว่าตนก็ได้เสียทีกริชเช่นกันจากข้ออ้างว่าเขาได้บนบานกับทวดโคกขี้แร้งว่าถ้าเขาหาวัวเจอเขาจะแก้บนโดยการนอนกับแม่ยาย เมื่อความลับทั้งหมพรั่งพรูกริชกลายเป็นคนที่โดนประณามแทนเทิ้มทดทันที คนทั้งคู่ถูกนำตัวไปส่งโรงพยาบาล และเมื่อเหตุการณ์คลี่คลายบ้านของเทิ้มทดก็กลับมามีความสุขอีกครั้ง ทุกคนต่างให้อภัยซึ่งกันและกัน 

กล่าวได้ว่าความเป็นนิทาน ของ “คนในนิทาน” ได้แทรกซึมอยู่ในแทบทุกอณูของเรื่องเล่าเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าตัวละครเทิ้มทด และตัวละครอื่นๆ เป็นตัวละครในนิทานที่ถูกเล่าขึ้นมา และในนิทานเรื่องนี้ก็มีนิทานหลายเรื่องที่สอดแทรกผ่านโครงเรื่อง การเล่านิทานของตัวละคร และการครุ่นคิดของตัวละครซึ่งได้นำนิทานเหล่านั้นมาเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของตนเอง มีทั้งนิทานสากลและนิทานท้องถิ่นซึ่งเป็นนิทานที่แพร่กระจายอยู่ในท้องถิ่นภาคใต้ เช่น นิทานพระรามในเรื่องนี้เล่าถึงกำเนิดของนางมณโฑซึ่งเป็นหญิงงามที่กำเนิดมาจากกบและต่อมามีสามีถึง ตนทั้งยักษ์และลิง ผู้เขียนได้สอดแทรกเรื่องเล่าของเทิ้มทดสลับกับการใช้ชีวิตในแต่ละวันของตัวละคร เมื่อถึงเวลาพักผ่อนสมาชิกในครอบครัวได้มาอยู่รวมกัน การเล่านิทานเพื่อความเพลิดเพลินใจจึงเกิดขึ้น

            เป็นที่น่าสังเกตว่านิทานพระรามมีตัวละครที่เป็นอมนุษย์อยู่มากซึ่งส่งผลให้มีการสมพาสต่างเผ่าพันธุ์กันมากมาย กล่าวเฉพาะตอนนางมณโฑที่ถูกนำมาอ้างใน “คนในนิทาน” เอง ก็มีอนุภาคสมพาสระหว่างคนกับสัตว์ และสัตว์กับสัตว์ต่างเผ่าพันธุ์กัน นับตั้งแต่การสมพาสระหว่างนาคกับงูดิน ซึ่งถูกวิเคราะห์ผ่านสายตาของฤษีว่าไม่เหมาะสมที่นางนาคที่อยู่ในวรรณะสูงกว่าจะมาสมพาสกับงูดินซึ่งเป็นสัตว์ชั้นต่ำ การสมพาสระหว่างนางมณโฑกับลิงคือพาลีและหนุมาน และการสมพาสระว่างนางมณโฑกับยักษ์คือ ทศกัณฐ์และพิเภก การสมพาสดังกล่าวนี้กระจายอยู่ในท้องเรื่องคนในนิทานเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการสมพาสระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับอมนุษย์ ในท้องเรื่อง หรือการสมพาสที่ถูกนำมาเล่าในรูปแบบนิทานต่างๆ นับตั้งแต่นิทานเรื่องโคกขี้แร้งซึ่งกล่าวถึงการสมพาสของคนกับผีพราย และนิทานเรื่องหมาหมีที่กล่าวถึงการสมพาสของคนกับสัตว์ได้แก่หมูและหมาหมี เป็นต้น 

การกล่าวถึงอนุภาคสมพาสดังกล่าวปรากฏอยู่ทั้งในนิทานสากลและนิทานประจำถิ่น คล้ายเป็นความนัยส่งไปยังผู้อ่านว่าสิ่งดังกล่าวนี้เป็นสัญชาตญาณที่ดำรงอยู่ในสิ่งมีชีวิตทั้งปวงทุกเชื้อชาติทุกเผ่าพันธุ์มาช้านานแล้ว และหลายครั้งถูกนำมาใช้ผิดที่ผิดทางด้วยอำนาจกิเลสตัณหาที่เข้าครอบงำ และหลายครั้งที่เกิดขึ้นโดยไม่เลือกชั้นวรรณะหรือเผ่าพันธุ์แต่ประการใดนับว่าผู้เขียนได้หยิบยกเอาวัตถุดิบประเภทนิทานซึ่งแพร่กระจายอยู่ในความรับรู้ของคนทั่วไปเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้วมากล่าวใหม่โดยนำมาเชื่อมโยงกับท้องเรื่องที่ผู้เขียนสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ได้อย่างแยบคาย และก็สอดคล้องกับชื่อเรื่องคนในนิทาน 

นิทานอีกเรื่องที่มีอนุภาคการสมพาสแบบผิดธรรมชาติคือเรื่องหมาหมีที่กล่าวถึงอนุภาคของการมีครรภ์แบบผิดปกติ  คือกำเนิดของเจ้าหญิงที่เกิดจากหมูที่มาดื่มน้ำปัสสาวะของเจ้าเมืองและเจ้าหญิงได้สมสู่กับสัตว์เลี้ยงของตนเองคือหมาหมีในภายหลังบุตรชายของเจ้าหญิงก็ได้เสียกับแม่ของตนต่อเรื่องนี้เทิ้มทดรับฟังมาจากเรื่องเล่าในวงหวากหรือน้ำตาลเมา และได้นำมาเล่าให้นิ่มน้อยฟังอีกทอดหนึ่ง เมื่อเทิ้มทดคิดที่จะทำมิดีมิร้ายกับไอ้ตีนขาวหมาของตนเอง ก็ได้หวนนึกถึงเรื่องราวตอนแรกของนิทานหมาหมีที่กล่าวถึงการสมพาสของเจ้าหญิงกับหมาหมีสัตว์เลี้ยงของตนเอง เทิ้มทดใช้นิทานตอนนี้เป็นเครื่องปลอบประโลมใจตนเองว่า เจ้าหญิงยังมีอะไรกับสัตว์ได้แล้วทำไมตนจะมีบ้างไม่ได้ เช่นเดียวกับนิ่มน้อยที่ใช้นิทานหมาหมีเป็นเครื่องปลอบประโลมใจตนเองในประเด็นการสมสู่ของแม่กับบุตรชาย ซึ่งนิ่มน้อยได้นำมาเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของตนเองกับกริชผู้เป็นบุตรเขย เนื่องจากกริชได้บนบานต่อตาหมอโคกขี้แร้งว่าหากเขาตามหาวัวคู่ใจเจอเขาจะขอนอนกับแม่ยายตนเอง ด้วยความเกรงกลัวอำนาจของตาหมอโคกขี้แร้งจึงทำให้นิ่มน้อยยินยอมที่จะมีอะไรกับกริช

หากพิจารณาเรื่องเล่าหมาหมีก็จะพบว่ามีนัยทางเพศที่หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมกับการสมพาสที่ผิดจารีตระหว่างแม่กับบุตรชาย แต่หากจะเชื่อมโยงเรื่องเล่าดังกล่าวนี้กับนิทานของไทยที่กล่าวถึงผู้ที่กำเนิดมาจากสัตว์ในแง่สัญชาติญาณดิบที่ติดตัวมาก็จะพบลักษณะดังกล่าวผ่านเรื่องนางโมรา จะเห็นว่านางโมรากำเนิดจากขนนกยูงที่ฤษีปลุกเสกขึ้นเช่นเดียวกับนิทานหมาหมี กำเนิดของเจ้าหญิงที่มาจากแม่หมูจึงทำให้เธอยินยอมที่จะเสพสมได้กับสัตว์อย่างหมาหมี และบุตรชายของเธอเอง เช่นเดียวกับบุตรชายของเธอที่อาจจะมีสัญชาติญาณของสัตว์ที่ติดตัวมาจากพ่อคือหมาหมีก็เป็นไปได้  ดูเสมือนว่าผู้เขียนจะได้หยิบยกเรื่องเล่าทำนองนี้มายั่วล้อการสมพาสแบบผิดธรรมชาติและหมิ่นเหม่ของตัวละคร โดยจงใจที่จะชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของมนุษย์ที่ถูกบ่มเพาะมาจากแรงขับทางเพศหรือสัญชาติญาณดิบที่ติดตัวมาและดำรงอยู่กับสัตว์ทั้งหลายทุกเผ่าพันธุ์

นิทานตาหมอโคกขี้แร้ง เล่าถึงชายชาวพัทลุงผู้มีวิชาอาคมแก่กล้า และร่ำเรียนวิชามาจากหลายสำนักรวมทั้งสำนักเขาอ้อ พัทลุง ชายผู้นี้เมื่อเข้ามาอยู่ที่นี่ได้ช่วยเหลือชาวบ้านให้รอดพ้นจากโจรที่ยกพวกมาปล้นทรัพย์ได้ วันหนึ่งโจรที่มาปล้นมีผู้หญิงมาด้วย เขาได้ฆ่ากลุ่มโจรตายทั้งหมดรวมทั้งนางโจรด้วย จนกระทั่งวันหนึ่งก็ปรากฏมีหญิงสาวไปเล่นน้ำในคลองและกำลังจะตกน้ำหญิงสาวจึงร้องขอความช่วยเหลือ ชายหนุ่มลงไปช่วยแต่หญิงสาวก็ได้ยั่วยวนจนชายหนุ่มได้มีความสัมพันธ์กับหญิงสาวในที่สุด แต่แล้วหญิงสาวก็กลายร่างเป็นผีพรายตอกย้ำความรันทดให้ชายหนุ่ม ซึ่งวิชาอาคมได้เสื่อมไปจนหมดสิ้นจากการเสพสังวาสกับผู้หญิงนั่นเอง ซ้ำร้ายเธอยังเป็นอมนุษย์เสียอีก

ดูเสมือนว่าอำนาจของสตรีเพศที่สะท้อนผ่าน “คนในนิทาน” ได้ถูกนำเสนอผ่านการกระทำของผีพรายนั่นเอง ความเป็นหญิงและการสมสู่กับหญิงได้กลายเป็นความเสื่อม เป็นของต้องห้ามและเป็นมลทินของผู้เรียนวิชาคาถาอาคม แต่ก็ได้สำแดงท่าทีของอำนาจที่เธอมีเหนือบุรุษ อำนาจที่เธอไม่สามารถกระทำได้ยามมีชีวิต เพราะยามมีชีวิตเธอได้ตกอยู่ในอำนาจของเล่ห์เหลี่ยมแห่งบุรุษ เช่นที่แน่งน้อยและดอกแตงตกอยู่ภายใต้อำนาจของกริช ลูกเขยและพี่เขยที่ใช้ความซื่อ ความปรารถนาดี และความศรัทธาของฝ่ายหญิงเป็นเครื่องมือสนองตัณหาของตนเอง

            นิทานอีกเรื่องคือนิทานเรื่อง นางสองแขน ถูกกล่าวถึงจากการขับบทหนังตะลุงของเทิ้มทด ที่ได้ยินมาจากการแสดงหนังตะลุงอีกทอดหนึ่ง เป็นการขับบทสมห้องซึ่งเทียบได้กับบทอัศจรรย์ในวรรณคดีไทย นางสองแขนเป็นตัวละครหนังตะลุงฝ่ายร้ายที่ได้ชื่อว่าเป็นหญิงแพศยา เนื่องจากมีพฤติกรรมในการยั่วยวนและยื้อแย่งพระเอกมาเป็นของตนจนเกินงาม นิทานนางสองแขนได้ทำหน้าที่เป็นภาพแทนพฤติกรรมด้านมืดของเทิ้มทด นิ่มน้อย และดอกแตง และเป็นเครื่องตอกย้ำความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตัวละครทั้งสาม เมื่อได้ทำพฤติกรรมที่สังคมตราหน้าว่าไม่งามเกิดขึ้น เทิ้มทดคิดว่าตนเองมีนางสองแขนอยู่ในตัวเมื่อนึกถึงการทำมิดีมิร้ายกับสัตว์เลี้ยงของตนเอง นิ่มน้อยคิดว่าตนเองมีนางสองแขนอยู่ในตัวเมื่อนึกถึงการปล่อยให้ตัวเองมีอะไรกับกริชบุตรเขย ในขณะที่ดอกแตงคิดถึงนางสองแขนในตัวเองเมื่อนึกถึงเหตุการณ์ที่ตนเองได้เพลี่ยงพล้ำไปมีอะไรกับกริชพี่เขยของตนเองเช่นเดียวกัน นางสองแขนจึงทำหน้าที่ในการตอกย้ำความผิดพลาดของตัวละคร เปรียบเสมือนการนำเรื่องนางสองแขนมาเป็นเครื่องตำหนิตนเองและกระตุ้นเตือนความรู้สึกผิดชอบชั่วดีนั่นเอง

ดอกแตงยังได้ตั้งคำถามกับเรื่องเล่าของนางสองแขน ซึ่งเป็นภาพแทนของหญิงแพศยาในหนังตะลุงของชาวใต้ว่า ทำไมหนังตะลุงจึงชอบหยิบยกเรื่องนางสองแขนมานำเสนออยู่ร่ำไป เหมือนเป็นการดูหมิ่นผู้หญิง ทำไมไม่ให้ตัวละครชายเป็นนางสองแขนบ้าง และนิ่มน้อยผู้เป็นแม่ก็ได้อ้างว่านางสองแขนเป็นตัวแทนของคนไม่ดีและคนไม่ดีก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไป ในขณะที่เทิ้มทดผู้เป็นพ่อก็กล่าวว่า นางสองแขนเป็นตัวแทนที่ใช้สอนใจผู้หญิงให้รู้จักรักนวลสงวนตัวนั่นเอง 

            นอกจากเรื่องเล่านางสองแขนที่สะท้อนความคิดแบบสตรีนิยมของดอกแตง ยังมีเรื่องเล่านางมณโฑที่ได้ถูกนำมาใช้เชื่อมโยงกับความคิดแบบสตรีนิยมของดอกแตงด้วย โดยดอกแตงมองว่านางมณโฑช่างเป็นตัวละครที่น่าสงสาร ถูกส่งมอบให้คนนั้นคนนี้โดยตัวเองไม่มีอำนาจต่อรองแต่ประการใด ดังบทพรรณนาตอนหนึ่งว่า “ดอกแตงรู้สึกเหมือนคนแต่งกำลังดูถูกผู้หญิง คิดจะเอาผู้หญิงไปไว้ตรงไหนก็ได้ตามใจปรารถนา ให้ผู้หญิงตกต่ำดำมืดอย่างไรก็ได้ ไม่ยุติธรรมกับเพศหญิงซึ่งเป็นเพศแม่เลย”(น.229)  และอีกตอนหนึ่งว่า “...ที่ย่อยยับกว่าพิธีมนต์สัญชีพคือนางมณโฑ ดอกแตงเอ่ยขึ้นด้วยเสียงสั่นเครือโดยไม่รู้ตัว รู้สึกเจ็บปวดแทนนางมณโฑนัก”(น.231)ดูเหมือนว่าผู้ประพันธ์ได้ตระหนักในกลิ่นอายแบบปิตาธิปไตยในเรื่องเล่าของตน จึงเลือกที่จะให้ตัวละครตั้งคำถามในมุมมองแบบสตรีนิยมแทรกอยู่ในท้องเรื่อง

ชนบทที่มักถูกถ่ายทอดความโรแมนติกผ่านความงามของธรรมชาติและน้ำใจของผู้คน ได้ผันแปรไปเสียแล้วใน “คนในนิทาน”  เพราะแวดล้อมไปด้วยเรื่องเล่าขำขื่น การนินทาการแก่งแย่งแข่งขัน ชนบทกลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่อ่อนหวานเย้ายวน แต่ดำรงอยู่แบบอีโรติกลูกทุ่ง บนยุ้งข้าว กระท่อมริมน้ำ ปลักโคลนและในป่าดง  ทว่าในตอนจบเรื่อง “คนในนิทาน” ก็วกกลับมาทะนุถนอมหัวใจของคนอ่านด้วยการสร้างให้เรื่องจบลงแบบสุขนาฏกรรม ความโรแมนติกผุดพรายขึ้นหลังจากความผิดพลาดได้บังเกิดและต่างก็เพียรพยายามแก้ไขความผิดพลาดนั้นไม่ให้เกิดขึ้นอีก

หากมองในมิติของผู้อ่านแล้ว คนในนิทาน อาจจะไม่เป็นที่พึงใจของผู้อ่านเพศหญิงนัก  เพราะเดินเรื่องแบบที่ให้ผู้ชายอ่านในทำนองเรื่องเล่าใต้สะดือประสมประสานเรื่องบู๊ล้างผลาญคล้ายหนังจีนกำลังภายใน เช่นฉากดวลมีดกันจนเลือดอาบระหว่างเทิ้มทดกับกริช  รวมทั้งฉากอีโรติกและเรื่องราวของรักต้องห้าม ก็อาจทำให้เพศหญิงอ่านไปด้วยความกระอักกระอ่วนและอึดอัดใจ แต่หากไม่มองด้วยสายตาของเพศหนึ่งเพศใดแล้ว ใช่หรือไม่ว่าไม่ว่าหญิงหรือชายก็ล้วนแต่มีโอกาสเขลาและตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสตัณหาได้เท่าเทียมกัน

 

อ้างอิง

กร ศิริวัฒโณ. (2561). คนในนิทาน. (พิมพ์ครั้งที่ 3). ปทุมธานี : สำนักพิมพ์นาคร.

 

 

 


 

 


Visitors: 72,049