ระดับอุดมศึกษา 4

 บทวิจารณ์ 

-    ทะเลสาบ(คราบ)น้ำตา (แตกหัก กระจัดกระจาย วรรณกรรมวายร้ายที่จะมาทลายตัวตนความเป็นเด็ก)
     โดย :: รัฐธัญญา เรืองโรจน์   
 
-   โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก : เมื่อการฆาตกรรมถูกทำให้ ‘ชอบธรรม’ เพื่อสร้างอำนาจให้แก่สตรีเพศ
     โดย :: พิมพ์พิชญา ชัยกิตติภรณ์ 
 
-   ในกับดักและกลางวงล้อม (แห่งโชคชะตา)
    โดย :: นามปากกา
 
-   เรากำลังติดกับ...การเกาะกุมของรยางค์และเงื้อมเงาโดยไม่รู้ตัว
    โดย :: บรรณรต

 

  

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

  

 

ทะเลสาบ(คราบ)น้ำตา

(แตกหัก กระจัดกระจาย วรรณกรรมวายร้ายที่จะมาทลายตัวตนความเป็นเด็ก)

 

รัฐธัญญา เรืองโรจน์   

 

           ทะเลสาบน้ำตา ผลงานอันดับสามของนักเขียนสาวเจ้าบทบาทอย่าง วีรพร นิติประภา วรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้เต็มไปด้วยการตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับบทบาทของครอบครัวที่มีต่อเยาวชน ท่ามกลางกระแสทุนนิยมในเมืองหลวงที่ทุกคนต่างนึกถึงตัวเองเป็นหลัก  จนบางครั้งเราลืมเลือนสิ่งที่อยู่รอบตัว

           เมืองกระจก ที่มักถูกกล่าวถึงอย่างบ่อยครั้งในวรรณกรรมคือสัญลักษณ์การเข้ามาของระบบทุนนิยมตามกระแสโลกสมัยใหม่  เมืองแห่งนี้มันมีแต่ตึกสูง ทุกตึกล้วนประกอบกระจก  เมื่อตัวเรายืนอยู่ท่ามกลางเมืองกระจก เราจะไม่เห็นอะไรเลยนอกจากตัวเอง เพราะแสงจากกระจกมันสาดแสงจนแยงตา  เราจึงมองไม่เห็นผู้คนรอบตัว  ทำให้สูญเสียความทรงจำจากสิ่งต่างๆ แม้แต่ตัวเอง พอเราจดจำตัวเองไม่ได้ทำให้หลงลืมความฝันที่เคยปรารถนา ผู้เขียนเล่าเรื่องสังคมในปัจจุบันโดยเปรียบเทียบภาพชีวิตในเมืองหลวงได้อย่างน่าสนใจ เพราะสิ่งนี้มันคือความเป็นจริงที่ผู้คนกำลังเผชิญอยู่ โดยที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเราเริ่มหลงลืมบางสิ่งบางอย่างรอบตัวไปเรื่อยๆ เพราะเรามัวแต่แข่งขันกันทำงานเพื่อรับใช้ทุนนิยม แข่งขันกันเร่งพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นเพื่อที่จะได้เป็นเครื่องจักรชั้นเยี่ยมที่บริษัทไหนก็ปรารถนา จนเราหลงลืมคนรอบตัว และเริ่มหลงลืมตัวเองมากขึ้นเรื่อย เรากลายเป็นคนที่ไม่รู้จักตัวเรา ไม่รู้จักความฝันที่เราเคยตั้งมั่นปรารถนา ซึ่งสิ่งนี้มันเห็นได้เด่นชัดมากในสังคมมนุษย์เงินเดือนในเมืองหลวง เมืองที่มนุษย์ถูกทุนนิยมกลืนกินเข้าไปเรื่อยๆ จนไม่เหลือพื้นที่ของความฝันไว้เลย เด็กรุ่นใหม่รุ่นราวคราวเดียวกับข้าพเจ้าหลายคนต่างตั้งมั่นว่าอยากทำงานมีเงินทองมากมายมารับใช้ความสะดวกสบายในเมืองกระจก การมีเงินทองมากมายก่ายกองกลายเป็นความฝันหลักของผู้คนยุคนี้ เราต่างเดินหน้ารับใช้ทุนนิยมเพื่อต่อสู้กับระบอบทุนนิยมกันอย่างสาหัส  แต่ยิ่งเราปีนป่ายมากเท่าไรก็ถูกผู้คุมสนามในระบอบผลักลงมามากเท่านั้น จนบางครั้งเราหลงลืมความฝันที่เราเคpปรารถนา  สุดท้าย ม่านหมอกแห่งทุนนิยมมันบังตาจนเราหาคำตอบให้กับตัวเองไม่ได้ว่าเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไรในเมืองแห่งนี้

            แต่เเล้วก็มีครอบแก้วผุดๆ โผล่ๆ ขึ้นมาครอบเมืองกระจก ผู้คนในเมืองกระจกที่หลงลืมตัวเองไม่มีใครสังเกตุครอบแก้วใบนี้ เมื่อมีต้นไม้ผุดขึ้นมากมายจนเป็นสวนสาธารณะทำให้ผู้คนเริ่มมาพบปะกันมากขึ้น และเริ่มจำสิ่งรอบตัว รวมถึงจำเพื่อนที่เคยพลัดพรากกันไปนานได้ เมื่อเริ่มจำคนอื่นได้ก็เริ่มจำตนเองได้  เราจึงนึกขึ้นได้ว่าความฝันของเราคืออะไร ไม่ใช่ความฝันอย่างเดียวแต่รวมถึงความฝันเกี่ยวกับคนอื่นที่เคยลืมเลือนไปด้วย  เมื่อตื่นจากความฝันแล้วเกิดอาการตื่นตระหนกจนเราไม่สามารถแยกความจริงจากความฝันได้  ทางการจึงได้ปิดครอบแก้วอีกครั้งเพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกในสังคมเมืองกระจกแห่งนี้

            ผู้เขียนกำลังเสียดสีถึงการไม่มีพื้นที่สวนสาธารณะ หรือพื้นที่ที่จะทำให้ผู้คนมาพบปะโดยไม่เสียเงินในเมืองหลวง เพราะการได้มาเจอผู้อื่นมันคือการกระตุ้นความทรงจำที่เคยเกิดขึ้นระหว่างเขากับเรา พอเราเริ่มจำตัวเองได้ เราจะจำความฝันของเราได้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่น่าเจ็บปวด  สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่คือการทำงานเพื่อรับใช้ความฝันของคนอื่น จนเราลืมความฝันของตัวเอง เมื่อผู้คนในเมืองเริ่มจำความฝันของตัวเองได้ ทำให้ต่างตื่นตระหนกหลงทาง และกำลังเลือกว่าจะอยู่กับสิ่งที่เราฝัน หรือความเป็นจริงที่เราทำอยู่ เมื่อผู้คนเกิดลังเลขึ้นเรื่อยๆ ผู้คุมระบอบก็เริ่มกังวลว่าจะมีคนรับใช้ระบอบทุนนิยมกันน้อยลงจึงสั่งให้ทางการปิดกั้นพื้นที่สาธารณะ

           ข้าพเจ้าคิดว่าปัญหาใหญ่ที่ทำให้เราตกอยู่ในสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น สับสนระหว่างความฝันกับความจริง หรือจะพูดง่ายๆ คือการหาตัวเองไม่เจอ คงเป็นเพราะระบบของระบอบมันไม่เปิดพื้นที่ให้เราหาตัวเอง ข้าพเจ้าไม่ได้หมายถึงระบบออฟไลน์แบบพื้นที่สวนสาธารณะตามที่หนังสือได้กล่าวไว้อย่างเดียว แต่ข้าพเจ้านับรวมไปถึงระบบออนไลน์อีกด้วย การเข้ามาของโซเชียลมีเดียทำให้เราเห็นภาพคนที่ประสบความสำเร็จตามแบบฉบับทุนนิยมอยู่ตลอดเวลา  ผู้คนบนโลกออนไลน์มักให้ความสนใจและให้พื้นที่ในการมีตัวตน กับคนเก่ง คนเด่น คนดัง ทำให้พื้นที่สำหรับคนธรรมดามันหายไป เลยเป็นแรงผลักดันให้คนธรรมดาอีกหลายคน อยากมีตัวตนบนพื้นที่ออนไลน์ โดยการเลียนแบบความฝันเลียนแบบตัวตนของที่ประสบความสำเร็จ จนเราหลงลืมความเป็นตัวเรา หลงลืมสิ่งที่เราต้องการ ร้ายแรงกว่านั้นคือพยายามสร้างตัวตนใหม่เพื่อหลีกหนีจากตัวตนเดิมในโลกแห่งความจริง  ผู้คนยุคใหม่ในปัจจุบันกลายเป็นปีศาจไล่ล่าความสำเร็จ  แม้กระทั้งสิ่งเล็กๆ น้อยๆ บางคนยอมกู้เงินมาซื้อสิ่งของแบรนด์เนมเพื่ออวดบนโลกออนไลน์จนกลายเป็นหนี้สินจำนวนมาก  สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนให้ข้าพเจ้าเกิดความสะเทือนใจไม่น้อยเมื่อเห็นปีศาจทุนนิยม ราชาแห่งความสำเร็จกำลังกลืนกินผู้คน จนผู้คนไม่เหลือพื้นที่ในสังคม ไม่เหลือพื้นที่ในการหาตัวตน ค้นหาความฝัน และความต้องการของตัวเอง

           ข้าพเจ้าขอมองข้ามกลับสวนทางกับในวรรณกรรม คืออนาคต ผู้คุมระบอบหรือทางการอาจไม่จำเป็นต้องทำลายพื้นที่สวนสาธารณะก็ได้ อาจปล่อยให้พื้นที่เป็นสถานที่ของคนไร้บ้าน เป็นที่หลับนอนของหมาแมวจรจัด เป็นแหล่งพักพิงของนกกาก็ได้ เพราะยังมีพื้นที่ที่มีอิทธิพลต่อผู้คนในเมืองกระจกมากที่สุดมากที่สุดคือ  มือกระจกซึ่งเป็นพื้นที่เสมือนจริงบนระบบออนไลน์ มือกระจกคือมือที่อยู่กับเราตลอดเวลา  ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าแสงจากมือกระจก จะกระทบส่องตาให้ผู้คนอยู่คนมัวเมาอยู่กับตัวเอง และการชิงดีชิงเด่นในพื้นที่เสมือนจริง สิ่งนี้แหละมันทำให้เราไม่รู้จักรูปร่างหน้าตาของความรัก ไม่เข้าใจว่าความรักในนิยามของตัวเองเป็นแบบไหนเพราะเรามัวแต่เสพความรักในนิยามของคนอื่นบนมือกระจกมากไป สุดท้ายหัวใจก็จะไม่มีพื้นว่างสำหรับความรักให้กับครอบครัวอีกเลย เหมือนดั่งแม่ของยิหวา เด็กสาวที่น่าสงสารในวรรณกรรม  หลังการตายของพ่อทำให้แม่ของยิหวามีหัวใจที่แตกสลาย เธอตัดสินใจทิ้งยิหวาเพื่อไปตามหารักแท้ในเมืองกระจกกว้าง  เธอมักพูดย้ำคำเดิมกับลูกสาวเสมอ ว่า “ถ้าฉันไม่มีแก ฉันจะแต่งตัวสวยๆ มีผู้ชายรวยๆ มารัก  อยากไปเที่ยวที่ไหนก็ไป อยากกินอะไรก็ได้กิน ได้อยู่ในเมืองกระจกแทนที่จะต้องมาจมปลักอยู่ที่ตรอกซอมซ่อบ้าๆ” คำพูดที่บาดลึกและรุนแรงของแม่ มาจากปมในใจที่เธอตั้งท้องตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ  เลยตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนและหนีมาใช้ชีวิตอยู่กับสามี พอสามีตายทำให้แม่ขาดที่พึ่งยึดเหนี่ยวเพราะหัวใจได้แตกสลายไปแล้ว แม่อยู่ในสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นระหว่างความจริงกับความฝัน สุดท้ายเธอเลือกหนีความจริง แล้วเดินหน้าทำตามความฝันนั้นคือการหาผู้ชายรวยมาพาออกไปจากชีวิตเส็งเคร็งที่เป็นอยู่ การตัดสินใจและความต้องการของบุคคลที่เป็นแม่ในนิยายมันคือภาพสะท้อนอีกด้านของวัยรุ่นหรือวันทำงานในยุคนี้ ที่เผชิญกับสภาวะความสิ้นหวังไม่ได้ ต้องการแสวงหาความสำเร็จจนลืมครอบครัวและคนที่เรารัก ปฎิเสธความจริง วิ่งไล่ล่าหาความสำเร็จในระบอบทุนนิยม แต่ดิฉันคิดว่าจะโทษระบอบทุนนิยมและอิทธิพลของโลกเสมือนในมือกระจกก็ไม่ได้ ต้องโทษระบบการศึกษาที่เราได้เรียนด้วย หลักสูตรสังคมศึกษามักพร่ำสอนเด็กว่าครอบครัวต้องประกอบไปด้วยพ่อ แม่ ลูก ปู่ ย่า ตา ยาย จนกระทั่งเด็กและเยาวชนจดจำมายาคตินี้ แล้วถือคติว่าสิ่งนี้คือนิยามของครอบครัว ถ้าขาดคนใดคนหนึ่งไปถือว่าไม่ใช่ครอบครัว  หลักสูตรไม่ได้มองในมุมของเด็กที่ครอบครัวไม่สมบูรณ์เลยว่าเขาจะรู้สึกอย่างไรเมื่อสังคมต่างถือคตินี้ ทั้งที่ความเป็นครอบครัวมันไม่จำเป็นต้องประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก เสมอไป เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย คุณก็สามารถเป็นได้ทั้งพ่อและเเม่ให้กับลูกได้ อนิลนับว่าโชคร้ายกว่ายิหวาเพราะเขาเติบโตมาท่ามกลางการทำร้ายร่างกายระหว่างพ่อเเละแม่ เมื่อแม่ตัดสินใจทิ้งเด็กชายไป พ่อก็นำอนิลไปฝากไว้ให้ญาติดูแล  อนิลถูกญาติหรือคนในครอบครัวฝ่ายพ่อทำลาย กดขี่ ทำให้เป็นคนแปลกหน้าของครอบครัวเขาไม่สามารถบรรยายความรู้สึกเขาให้ใครฟังได้เลย  นอกจากเงาประจำตัว เด็กชายตัดสินใจหนีออกจากบ้าน โดยแอบหวังว่าพ่อจะมาตามหา แล้วปรับความเข้าใจแบบในละคร จนลืมคิดไปว่าโลกแห่งความจริงมันยิ่งกว่าละคร เขากลายเป็นเด็กชายผู้หายสาบสูญจากความทรงจำของคนในครอบครัวไปตลอดกาล

           เด็กหญิงยิหวาได้แต่นั่งรอคอยแม่ที่คาดว่าจะกลับมาอย่างมีความหวัง แม้เธอจะต้องโดดเดี่ยวอยู่ลำพังกับบรรดาชายแก่หญิงชราผู้อาภัพและแฝดสามหมาก็ตาม ภาพความเหงาความโดดเดี่ยว การถูกทำลายที่ยิหวาและอนิลต้องเผชิญคือตัวแทนของเด็กและเยาวชนในโลกสมัยใหม่ที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง ซึ่งการถูกทอดทิ้ง หรือการถูกเมินเฉย และการถูกทำร้ายจิตใจทางคำพูด มันคือการใช้ความรุนแรงในครอบครัว  ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ได้สังเกตสิ่งนี้เลยด้วยซ้ำ เรามักจะมองภาพความรุนแรงในครอบครัวเป็นรูปแบบใหญ่ นั่นคือการทำร้ายร่างกายเด็กหรือการทะเลาะกันของพ่อแม่ต่อหน้าเด็ก แต่ครอบครัวส่วนใหญ่หลงลืมไปว่าการเมินเฉยหรือการใช้อารมณ์ต่อว่าเด็กทางคำพูด มันคือความรุนแรงครั้งใหญ่ที่ทำร้ายจิตใจเด็กให้แตกสลายได้ และความรุนแรงจากคนที่เรารักและไว้ใจมันมีความเจ็บปวดมากกว่าอะไรทั้งหมด เพราะมันคือบาดแผลที่กรีดเป็นรอยลึกทางใจมีผลกระทบไกลไปถึงตอนโต  ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าการที่มนุษย์จะเติบโตเป็นคนแบบไหน นิสัยอย่างไร คงต้องย้อนดูประสบการณ์วัยเด็กที่เคยได้รับ เพราะประสบการณ์ในวัยเยาว์จะขับกล่อมความเป็นเราในวันนี้ แม้ตอนจบในวรรณกรรมจะจบแบบโลกยูโธเปีย (Utopia) ที่ปราศจากระบอบปีศาจอย่างทุนนิยม  แต่มันก็ยังแฝงความเป็นดิสโทเปีย (Dystopia) ในจิตใจใครคนหนึ่งที่ได้แต่รอคอยให้คนที่รักกลับมาหา.......

           ทะเลสาบน้ำตาเป็นวรรณกรรมที่ทำให้ข้าพเจ้าอยากกลับไปโอบกอดเด็กและเยาวชนด้วยความเข้าใจ รวมถึงมันทำให้ข้าพเจ้าได้หวนกลับมาตั้งคำถามกับความต้องการของตัวเอง  และย้อนกลับไปมองภาพตัวเองสมัยเป็นเด็กว่า การเป็นเด็กมันก็เจ็บปวดไม่น้อยไปกว่าการเป็นผู้ใหญ่  ซึ่งสมัยที่เราเป็นเด็กเราก็ไม่ได้เรียกร้องสิ่งใดมากกับครอบครัวเลย เราก็ต้องการแค่ครอบครัวที่เข้าใจเราและโอบกอดเราด้วยความรักเท่านั้นเอง ข้าพเจ้าเชื่อว่าหากผู้อ่านได้อ่านวรรณกรรมเรื่องนี้จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจเด็กในมุมเด็กมากขึ้น รวมถึงเข้าใจหัวอกของเด็กที่ถูกครอบครัวทำร้ายทางการกระทำและทำพูด  นอกจากนี้ วรรณกรรมเรื่องนี้ยังทำให้ผู้อ่านได้ทบทวนตัวเองว่าเราหลงลืมสิ่งใดไปหรือเปล่าในสภาวะที่ทุนนิยมกินเมือง รวมถึงข้าพเจ้าอยากให้ผู้อ่านร่วมกันหาคำตอบว่า ถ้าเราทุกคนต่างโดนปีศาจความสำเร็จเข้าครอบงำ เราควรหาวิธีออกมาเพื่อโอบกอดคนในครอบครัวได้อย่างไร?   

 


 

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

 

โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก :

เมื่อการฆาตกรรมถูกทำให้ ‘ชอบธรรม’ เพื่อสร้างอำนาจให้แก่สตรีเพศ

 

พิมพ์พิชญา ชัยกิตติภรณ์ 

 

          ในโลกปัจจุบันเริ่มมีพื้นที่ให้กับผู้หญิงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกวงการโดยเฉพาะวงการวรรณกรรม เรื่องราวของผู้หญิงถูกนำเสนอหลากหลายรูปแบบในงานวรรณกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมต่างประเทศหรือวรรณกรรมไทย ส่วนมากเนื้อหาในวรรณกรรมเหล่านี้จะพูดถึงการที่ผู้หญิงถูกกดทับจากอำนาจชายเป็นใหญ่และการทำให้ผู้อ่านตระหนักได้ว่าผู้หญิงก็สามารถทำอะไรได้เหมือนผู้ชายและการลบภาพจำเดิม ๆ ที่มีต่อผู้หญิงที่ว่าผู้หญิงนั้นเป็นเพศที่อ่อนแอ ดิฉันในฐานะนักอ่านได้อ่านวรรณกรรมเกี่ยวกับผู้หญิงมามากและเรื่องล่าสุดที่ได้อ่านก็คือเรื่อง “โครงกระดูกแม่มดสุข ฆาตกรรมแห่งความรัก ( To Love, With Death )” โดย เจน จิ ผู้เขียนต้องการนำเสนอ ถึงเรื่องราวของผู้หญิงในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงเหล่านี้ถูกผู้ชายที่เธอรักกดขี่และในท้ายที่สุดพวกเธอลุกขึ้นมาต่อสู้และไม่ยอมจำนนต่ออำนาจผู้ชาย พวกเธอทั้งหมดเลือกที่จะ ‘แก้แค้น’  แต่วิธีการแก้แค้นของพวกเธอนั้นคือการ ‘ฆาตกรรม’ ซึ่งดิฉันมองว่าการแก้แค้นแบบนี้เป็นการแก้แค้นที่ไม่แยบคายเท่าใดนัก นวนิยายเล่มนี้ดูเหมือนจะเป็นนิยายเฟมินิสต์เพื่อนหญิงพลังหญิงแต่น่าเสียดายที่นวนิยายเล่มนี้ไม่ได้เป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ชุมชนผู้หญิงสักเท่าใดนักและในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการกดทับเพศชายไม่ได้พยายามสร้างความเท่าเทียมทางเพศแต่อย่างใด

 

     ปริศนาข้อที่ ๑ โครงกระดูกและร้านหนังสือ สื่อถึงอะไร

          โครงกระดูกที่อยู่ในท่านั่งในร้านหนังสือ สถานที่ที่เป็น ‘จุดศูนย์รวม’ของเรื่องสั้นแต่ละตอนสื่อถึงอะไรและทำไมจึงต้องเป็นโครงกระดูก?ดิฉันได้ตั้งคำถามนี้ในใจและยังหาคำตอบไม่ได้จนได้ไปอ่านบทวิจารณ์เรื่อง โครงกระดูกแม่มด ของ สฤตวงศ์ ฟูใจ ได้ให้คำจำกัดความของโครงกระดูกว่า โลกแห่งความตาย สฤตวงศ์ได้ให้ข้อมูลว่าตัวเจ้าของร้านหนังสือบอกลําเภาว่า “ตอนนี้ไม่มีใครอ่านหนังสือแล้วนอกจากโครงกระดูก” (โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก, หน้า 6) ซึ่งสฤตวงศ์บอกว่า โครงกระดูกเป็นตัวแทนแห่งความตายและความเสื่อมถอย ซึ่งกล่าวได้ว่าในปัจจุบันคนไม่ค่อยอ่านหนังสือกันแล้ว หนังสือจึงเข้าไปอยู่ในโลกแห่งความตายด้วยกันกับโครงกระดูก ซึ่งดิฉันไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าใดนัก ดิฉันมองว่าถ้ามองในมุมมองนี้จะเป็นการลดทอนคุณค่าของหนังสือลงไป และสําหรับดิฉัน โครงกระดูกก็ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์แห่งการเสื่อมถอยและความตาย แต่ดิฉันมองว่า โครงกระดูกที่ดูไร้ชีวิตจิตใจนี้คือคนทั่วไป คนปกติในสังคมที่นับวันๆ เมื่อมีความเจริญและเทคโนโลยีขึ้นมา โลกเริ่มพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ทุนนิยมเข้ามามีบทบาทต่อการดําเนินชีวิตของมนุษย์ คนเริ่มกลายเป็นเหมือนโครงกระดูกที่ไร้จิตวิญญาณมากขึ้น ถ้ามองว่าโครงกระดูกคือคนคนหนึ่งที่คงแก่เรียนมากๆ สนใจแต่การอ่านหนังสือก็ย่อมได้โครงกระดูกนี้จึงเหมือนเป็นตัวแทนของคนในสังคมกลุ่มหนึ่งที่ยังรักการอ่านอยู่ การที่นําเอาโครงกระดูกมาเป็นตัวแทนของความตายและความเสื่อมถอยอาจจะฟังดูใจร้ายไปสักหน่อย ส่วนร้านหนังสือก็เป็นสัญลักษณ์ของความ ‘ปลดแอก’ จากชีวิตเดิมเพราะเมื่อพวกเธอก้าวขาเข้าไปในร้านหนังสือแห่งนี้…พวกเธอได้เปลี่ยนเส้นทางชีวิตของเธอไปโดยสิ้นเชิง 

 

     ปริศนาข้อที่ ๒ วรรณกรรมเชื่อมโยงกับการฆาตกรรมจริงหรือไม่

           ในเรื่องโครงกระดูกแม่มด ประกอบด้วยเรื่องสั้นของผู้หญิงหลายคนที่สุดท้ายแล้ว พวกเธอก็ได้วิธีการ ‘แก้แค้น’ มากจากร้านหนังสือโครงกระดูกแม่มด ตัวละครผู้หญิงที่เป็นลูกค้าของร้านหนังสือร้านนี้ ซึ่งตัวละครหญิงทั้งหมดได้หนังสือไปกันคนละเล่ม และสุดท้ายสามีของพวกเธอทุกคนจะตายไปด้วยสาเหตุบางประการ และการตายของสามีของผู้หญิงพวกนี้เกิดจากการเลียนแบบการฆ่าและวิธีตายของสามีจากหนังสือที่พวกเธอได้รับ เช่นกรณีของหญิงสาวที่ชื่อ ฟาง ที่สามีเธอเป็นอัมพาตและเธอตัดสินใจไม่รักษาเขาต่อ และ สําเภา ที่เธอฆ่าสามีของเธอพร้อมกับให้สุนัขรุมกัดกินจนไม่เหลือซาก ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจเมื่อพิจารณาดีๆ จะพบว่าแรงจูงใจในการก่อเหตุฆาตกรรมไม่ได้มาจากหนังสือแต่เป็นความรุนแรงที่สามีทำต่อลูกซึ่งการบอกว่าแรงจูงใจในการฆาตกรรมไม่ได้มาจากหนังสือก็คงไม่ใช่ซะทีเดียว ในเมื่อตัวละครหญิงอย่างลำเภาเป็นผู้หญิงที่ทนต่อการทารุณกรรมของสามีเธอมาตลอด เธอเป็นผู้หญิงที่ไม่รู้ว่าจะต่อสู้กับผู้ชายอย่างไร จริงอยู่ที่สัญชาติญาณความเป็นแม่ย่อมพร้อมที่จะปกป้องลูกและทําทุกอย่างได้เพื่อลูกแต่ลําพังแล้วถ้าเธอไม่ได้อ่านหนังสือ ไม่ได้ฟังคําแนะนําจากเจ้าของร้านหนังสือ เธอก็คงไม่เลือกวิธีอําพรางการฆาตกรรมเช่นนั้นได้ ดิฉันจึงมองว่า วรรณกรรมที่เธอได้อ่านก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ทําให้เธอเลือกการกระทําแบบนี้เช่นกัน

 

     ปริศนาข้อที่ ๓ การฆาตกรรมเป็นการแก้แค้นที่ถูกต้องจริงหรือ

           เหมือนว่าการฆาตกรรมในเรื่องนี้จะถูกทำให้เป็นความชอบธรรมไปโดยปริยาย ตัวละครหญิงในเรื่องไม่มีใครต้องได้รับโทษตามกฎหมายทั้งๆ ที่เป็นผู้ก่อเหตุ ถือเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับตัวละครผู้หญิงในเรื่อง แต่ความชอบธรรมนี้ มันถูกต้องแล้วหรือ? ดิฉันมองว่าไม่ว่าคนเพศใดทําการฆาตกรรมคนอื่น คนคนนั้นจะต้องถูกดําเนินคดีตามกฎหมาย ไม่ว่าเขาจะอ้างเหตุผลใดๆ หาความชอบธรรมให้กับตัวเอง หาเหตุผลที่เหมาะสมว่าทําไมถึงทําเช่นนั้น แต่มันก็ดูจะฟังไม่ขึ้นเพราะคนที่ก่อการฆาตกรรมไม่สมควรได้รับการละเว้นโทษ  การแก้ปัญหาของตัวละครผู้หญิงในเรื่องดูจะเหมือนเป็นการสิ้นสุดอํานาจเพศชายที่กดทับเพศหญิงอยู่ ดิฉันเองก็ไม่เห็นด้วยกับประโยคนี้โดยสิ้นเชิง เพราะอย่างที่ดิฉันได้บอกไปตั้งแต่ต้นว่า การล้างแค้นคนที่มากระทําไม่ดีกับเรา ไม่จําเป็นต้องจบด้วยการฆาตกรรมเสมอไป การทําให้ตัวละครชายตายไปจากเรื่องอาจทําให้คนบางคนรู้สึกสะใจที่พวกเขามีจุดจบเช่นนี้ แต่สุดท้ายแล้ว ความสะใจนั้นก็เป็นเพียงแค่อารมณ์ชั่วครู่เท่านั้น การตายไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น เพราะตัวก่อปัญหาตายไปแล้ว เขาไม่ได้รับรู้ถึงผลที่ตามมาแต่อย่างใด การทําให้อํานาจเพศชายในโลกวรรณกรรมเลือนหายไปมีอีกหลายวิธี เช่น ตัวผู้หญิงทุกคนอาจจะฟ้องหย่ากับสามี หรือเลิกกับผู้ชายเลวๆ อาจจะใช้กฎหมายเข้าช่วย และหลังจากหย่า พวกเธอจะทําให้ชีวิตของพวกเธอดีขึ้นไปเรื่อยๆ ให้ผู้ชายคนนั้นได้เห็นว่า เธอสามารถไปได้ดี มีอนาคตที่สดใสได้ โดยไม่ต้องง้อผู้ชายพวกนั้นเลย แบบนี้จะเป็นการสร้างคุณค่าให้ตัวละครผู้หญิงเหล่านี้มากกว่าเดิมหรือไม่? 

 

     ปริศนาข้อที่ ๔  นวนิยายเรื่องนี้ส่งเสริมคุณค่าของเพศหญิงจริงหรือ

           ประการแรก นวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้กําลังพยายามให้อํานาจของเพศชายเลือนหายได้ แต่ในทางกลับกัน ดิฉันคิดว่านิยายเรื่องนี้กําลังสร้างค่านิยมให้เพศชายรู้สึกเกลียดชังเพศหญิงเพิ่มขึ้นอีก เพราะดิฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นการแก้แค้นที่สุดโต่งจนเกินไป อย่างที่ดิฉันได้บอกไปแล้วว่ายังมีวิธีการแก้แค้นที่ “แยบคาย”ได้มากกว่านี้อีก ประการที่สองนิยาย เรื่องนี้ไม่ได้หล่อหลอมให้สตรีเพศรักตัวเองมากขึ้นแต่อย่างใด ดิฉันในฐานะที่เป็นเพศหญิงเมื่ออ่านทั้งบทวิจารณ์และนิยายเรื่องนี้แล้ว ดิฉันไม่ได้รู้สึกถึงการ Empower (ส่งเสริมพลัง) ให้กับผู้หญิงด้วยกันเลย เพราะสุดท้ายหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้บอกถึงชีวิตของผู้หญิงทุกคนหลังจากนั้น ผลที่ตามมา การใช้ชีวิตต่อไปของผู้หญิงในเรื่อง เรื่องจบแค่การแก้แค้น ความสะใจเท่านั้นและเหมือนว่าคุณค่าของผู้หญิงก็ถูกลดทอนลงไปด้วย เนื่องจากไม่ให้ค่าพวกเธอเลยหลังจากการแก้แค้นเสร็จ ประการต่อมา เรื่องนี้ไม่ได้ทําให้ผู้หญิงกล้าหาญที่จะสู้กับอํานาจและการถูกกดทับโดยสังคมชายเป็นใหญ่เลยแต่ในทางกลับกัน ถ้าผู้หญิงที่มาอ่านเรื่องนี้ใช้เรื่องราวเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการแก้แค้นแบบนี้ไม่เท่ากับเป็นการกล้าหาญ แต่เป็นการส่งเสริมพฤติกรรมผิดๆ ให้กับผู้หญิงต่างหาก เพราะฉะนั้นแล้วดิฉันไม่คิดว่าการแก้แค้นในเรื่องจะเป็นวิธีที่ดีเลย

           นอกจากนี้ การเรียกผู้หญิงว่าเป็น “แม่มด” ก็ยังแสดงถึงการเหยียดเพศหญิงอยู่ดี ทําไมผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของตัวเธอเอง ต้องถูกตีตราจากสังคมว่าเป็น “แม่มด” ด้วย ทําไมไม่มองว่าเธอก็เป็นเหมือนผู้ชายหรือเพศอื่นๆ ที่ลุกขึ้นมาปฏิวัติสังคม เรียกร้องสิทธิ์ให้ตัวเอง เธอสมควรถูกเรียกด้วยคําที่ดีกว่านี้หรือไม่? 

           โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก ( To Love, With Death )” โดย เจน จิ ถือว่าเป็นนวนิยายที่มีธีมเรื่องดี น่าสนใจและมีการเรียงร้อยวรรณกรรมเข้ากับเรื่องราวของตัวละครแต่ละตัวได้ดี แต่ดิฉันในฐานะผู้อ่านและผู้วิจารณ์อาจจะมีความคิดและข้อขัดแย้งหลายประการต่อนวนิยายเรื่องนี้ค่อนข้างมาก  และตัวดิฉันเองก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคนทุกคนจะให้ความสนใจเกี่ยวกับการสร้างอํานาจและสิทธิสตรีเพศอย่างถูกต้อง ดิฉันอาจไม่รู้แน่ชัดว่าวิธีที่ถูกต้องคือวิธีใดกันแน่ เรื่องนี้ก็คงต้องหาทางหาคําตอบกันต่อไป แต่สิ่งที่ดิฉันมั่นใจนั่นก็คือ การสร้างอํานาจที่ถูกต้องต้องไม่ไปกดทับอํานาจของใคร เราทุกคนทุกเพศมีสิทธิ์แสดงความเห็น มีสิทธิ์ที่จะทําอะไรต่างๆ ได้เท่ากันและเราสามารถหาวิธีที่ “แยบคาย” ในการจัดการปัญหาต่างๆ ได้

 

เอกสารอ้างอิง

สฤตวงศ์ ฟูใจ.(ม.ป.ป.).  โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก : เรื่องเล่าและเรื่องราวของอำนาจแห่งสตรีเพศในโลกชาย (ยังคง) เป็นใหญ่. สืบค้นจาก https://www.ดวงใจวิจารณ์.com.

 

 


 

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

 

ในกับดักและกลางวงล้อม (แห่งโชคชะตา)

 

นามปากกา

 

         หลายคนเชื่อว่าสิ่งที่ชีวิตได้ประสบเป็นเรื่องของโชคชะตาดลให้ได้ประสบ ทุกข์ก็เพราะโชคชะตา สุขก็เพราะโชคชะตา โดยเฉพาะเมื่อได้รับทุกข์หรือปัญหาที่หนักหนาแสนสาหัสก็มักจะกล่าวว่าตนถูกโชคชะตากลั่นแกล้ง หรือโชคชะตาเล่นตลก แต่แม้ว่าโชคชะตาเป็นเพียงความเชื่อที่ไร้สาระหรือเป็นเรื่องจริง  ชีวิตของคนเราทุกคนในบางครั้งก็ดังคล้ายถูกกลั่นแกล้ง หมายมั่นปั้นมือที่จะครอบครองบางสิ่ง แต่ก็มีอันทำให้ผิดหวัง หรือหวังสิ่งหนึ่งแต่ก็พลาดเป้าไปได้อีกสิ่งหนึ่งอยู่เป็นธรรมดา

            “ในกับดักและกลางวงล้อม” นวนิยายรางวัลชนะเลิศการประกวดหนังสือดีเด่น รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 15 ประจำปี 2561 และยังเข้ารอบ Short List รางวัลซีไรต์ ประจำปีพุทธศักราช 2561ของประชาคม ลุนาชัย กล่าวได้ว่าเป็นนวนิยายอีกเล่มหนึ่งซึ่งผู้เขียนได้สะท้อนความจริงดังข้างต้น ในเรื่องความผิดหวังอันเป็นของธรรมดาประจำโลก โดยได้รังสรรค์กลุ่มตัวละครขึ้นมาให้มีลักษณะด้อยซึ่งแตกต่างกัน ต้องมาร่วมประสบกับความผิดหวังหลายครั้งหลายหน พอสมหวังเรื่องหนึ่งความสมหวังในเรื่องนั้นก็มีท่าทีว่าจะทำให้อีกความหวังหนึ่งพังทลาย คล้ายติดกับดักและวงล้อมแห่งโชคชะตา และถูกกับดักและวงล้อมนั้นบีบคั้นกลั่นแกล้งในระหว่างการออกเรือหาอวนล้อมหาปลา ซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นการแฝงนัยเชิงโชคล้อ (irony of fate) คือผู้เขียนเย้ยหยันโชคชะตาของตัวละครนั่นเอง

 

พิกลพิการ-ขาดพร่อง

            จากตัวบทจะเห็นได้ว่าตัวละครทุกตัวที่เข้ามาร่วมหัวจมท้ายลงเรืออวนล้อม “ทองพันชั่ง 1” ล้วนมาด้วยความจำเป็นบังคับ นั่นคือไม่มีทางที่จะไปทำมาหาเลี้ยงชีพในทางอื่น เตร็ดเตร่สิ้นหวัง และมีหลายคนเป็นผู้ที่บกพร่องในทางร่างกายหรือที่เรียกว่าพิการ อวัยวะไม่สามารถใช้การได้ตามปกติ ซึ่งไม่ใช่เพียงคนงานเท่านั้นที่มีลักษณะพิกลพิการ แม้แต่ตัวกัปตันเรือหรือที่เรียกว่า “ไต้ก๋งเรือ” ซึ่งเป็นหัวหน้าในเรือก็ยังพิการ กล่าวคือมีตาที่สามารถใช้การได้เพียงข้างเดียว ในระยะแรกเขาปกปิดด้วยแว่นดำ แต่เมื่อลงสู่ท้องทะเลเขาก็มิได้ปกปิดความบกพร่องทางร่างกายของตนอีก ความผิดปกตินี้ “เรย์” ตัวละครอีกตัวเป็นผู้สังเกตเห็นขณะพักหลับเอาแรงแต่ทว่าตาของเขามิได้หลับ

            “ขณะไต๋พจน์ยืนกวาดตามองคนหลับ แกไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกแอบจ้องจากใครบางคนเช่นเดียวกัน แล้วใครคนนั้นก็มองเห็นความจริงที่ซ่อนอยู่ในดวงตาข้างหนึ่งของแก” (หน้า 35)

            แต่ในขณะเดียวกันตัวเรย์เองก็มีความพิการบกพร่องอยู่เช่นกัน นั่นคือตาเหล่ และนับว่าเขาค่อนข้างอ่อนไหวกับกับปมด้อยของเขามาก เพราะเมื่อมีคนเรียกเขาว่า “เหล่” จากที่ร่าเริงเขาจะเปลี่ยนไปทันที

    “ไอ้คนนี้ตาเหล่” ไต๋พนจน์ชี้ไปที่เรย์ “ทำกับข้าวเป็นไหม”

      เรย์ที่กำลังเปิดยิ้มอย่างประจบหุบปากลงทันที (หน้า 35)

            นอกจากนี้ยังมีตัวละครอื่น ๆ ที่ต่างก็มีลักษณะพิกลพิการแตกต่างกันไป ได้แก่ “ธม”ที่ขาขาดเนื่องจากออกเรือประมง จากขาที่ขาดไปทำให้ความฝันความหวังหลุดลอยไปกับขาข้างที่ขาดไปด้วย เขาไม่สามารถที่จะกลับไปแต่งงานกับหญิงคู่หมั้นของเขาได้ เนื่องจากไม่กล้าที่จะเผชิญสายตาของเธอได้ รวมทั้งไม่กล้าบอกความจริงนี้กับแม่ของเขา

            “พาย” ซึ่งนิ้วขาดอันเนื่องมาจากถูกฉลามกัด แต่ทว่าเขาไม่ได้ปกปิดหรือขวยอาย ใครขอดูหรือให้เล่าเรื่องราวที่เขาประสบเขาก็ทำด้วยความเต็มใจ 

            “ใครขอดูเขาก็ยืนให้เห็นเต็มตา พร้อมเล่ารายละเอียดถึงความเจ็บปวด และภาพเลือดแต่ละหยดในเหตุการณ์เสี่ยงชีวิต” (หน้า 25)

            ต่างจากเพื่อนเขาอีกคนคือ “เก้า” ที่ปกปิดว่านิ้วกุดด้วนในระยะแรก ไม่แสดงให้ใครเห็นโดยการเอามือซุกไว้ในกระเป๋ากางเกง แต่ต่อมาเรย์ก็สังเกตเห็นความผิดปกติดังกล่าว เนื่องจากเขาต้องใช้มือจับตะเกียบกินก๋วยเตี๋ยว “เข” ที่ตาเขดังชื่อของเขา “นาท” นายท้ายใหญ่ ซึ่งข้อศอกขวาคดงอ และ “หยอง” จากสุโขทัยที่ร่างกายแคระแกร็น ส่วนสูงไม่ถึง 160 เซนติเมตร

            นอกจากกลุ่มคนที่มีร่างกายพิการแล้ว ยังมีอีกกลุ่มที่แม้ไม่ได้พิการ แต่ร่างกายจิตใจก็ตกอยู่ภายใต้อาณัติของสิ่งที่เรียกว่า “ยาเสพติด” สูญเสียการควบคุมตนเอง ต้องสนองตอบต่อความต้องการที่เคยชินคือ “รัมย์” ช่างเครื่องประจำเรื่องและ “หลิว” ยี่ชิ้วเรือซึ่งเสพ “ผงขาว” เมื่อเสพแล้วก็จะใช้เล็บขีดข่วนผิวหนังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

            กลุ่มคนทั้งสองกลุ่มล้วนมีลักษณะร่วมกันอยู่ลักษณะหนึ่งคือ การตกเป็น “คนชายขอบ” คือ สถานะของการถูกกำหนดตัวตนในมิติสังคมอีกรูปแบบหนึ่ง ให้มีความสำคัญเป็นเพียงกลุ่มหรือบุคคลที่ถูกลดคุณค่าจากตัวตนที่แท้จริงไปจากกลุ่มใหญ่ในสังคมโดยกระบวนการของอำนาจที่มาจากศูนย์กลาง (สุริชัย หวันแก้ว, 2546, น.12) โดยกลุ่มคนดังกล่าวถูกลดค่าให้มีความเป็นคนไม่เท่ากับผู้อื่น ขาดความไว้วางใจ หรือแม้แต่รังเกียจเดียดฉันท์ เช่น

            “เรย์เอียงหน้ามองเงียบ ๆ ไม่พูดว่าอะไร เพียงแต่ถอนหายใจเบา ๆ  ด้วยความรู้สึกเศร้าใจ วันก่อนเขาเห็นคนหกนิ้วและเก้านิ้ว วันนี้นอกจากไต้ก๋งตาเดียวและนายท้ายแขนคดแล้ว ยังเจออีกคนที่น่าจะเผชิญอุปสรรคชีวิตหนักหน่วงกว่าใครทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่คนสายตาไม่ปกติอย่างเขา” (หน้า 38)

            “เมียของไต๋พจน์ทั้งชิงชังและตั้งข้อรังเกียจ ไม่ว่าผงขาวหรือการกระทำขอหลิว” (หน้า 128)

            “ถึงห้องแล้วเธอพยายามสบตากับเขาตรง ๆ ครั้นเห็นความพิสดารในมุมการมองของเขา เธอถามทันทีว่า ตาพี่เป็นอะไร เรย์พยายามทำใจดีสู้สาว เขาหัวเราะหึ ๆ เอียงหน้ายิ้ม พลางขยับเข้าหาเพื่อจะกอดร่างอุ่น ๆ แนบอก ครั้งแล้วเธอก็ผลันกายหลบ ทำสีหน้าคล้ายเจอสัตว์เลื้อยคลานที่น่าขยะแขยงเสียเต็มประดา” (หน้า 77)

 

โมงยามแห่งการเผชิญโชค                        

            แม้ว่าตัวละครทุกตัวจะมีข้อบกพร่องประจำตัวอย่างไร แต่พวกเขาก็ล้วนเปี่ยมด้วยความหวังในการออกเรือหาปลา หวังที่จะได้รายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ด้วยว่าทุกคนไม่มีประสบการณ์ในการลงเรืออวนล้อม นับตั้งแต่ตัวไต้ก๋งที่มีประสบการณ์เคยเป็นแต่เพียงไต้ก๋งเรืออวนลาก ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ลูกน้องที่บางคนไม่ชินกับทะเลและการลงเรืออวนล้อม หรือแม้แต่ชินกับทะเลก็ไม่เคยลงเรืออวนล้อม จึงคล้ายกับว่าผู้เขียนจับตัวละคร “ลอยทะเล” ให้เท้งเต้งไปหาประสบการณ์เอาข้างหน้า การทำงานในเรือจึงเป็นไปอย่างทุลักทุเล เครื่องมือได้รับความเสียหาย ปลาที่ต้องการก็จับไม่ได้

            “อวนที่ถูกโรงลง แลเห็นลูกทุ่นสีขาวยาวโค้ง แพไฟซึ่งถูกปล่อยลงน้ำ กะพริบอยู่ในเวิ้งความมืดที่เริ่มหนาแน่น ระยะห่างค่อย ๆ หดสั้นจนเหลือเพียงไม่กี่สิบเมตร ก่อนกูอวนสองด้านจะบรรจบ เสียงเครื่องสะดุด อวนที่ถูกปล่อยจากกราบไหลเข้าท้องเรือ เนื้ออวนบางส่วนเข้าพันใบจักร” (หน้า 61)

            การเผชิญโชคในการจับปลาเป็นไปด้วยความท้อแท้สิ้นหวัง เรือไม่สามารถจับปลาได้ตามต้องการ แม้จะปรากฏบนจอโซนาร์ว่ามีปลาอยู่ในท้องทะเลบริเวณที่ไต๋พจน์วางอวนลงไป แต่การณ์ก็กลับกลายเป็นว่าปลาได้ปลาสนาการไปเมื่อยกอวนขึ้นมา ดุจปลาเหล่านั้นได้รับการปลดปล่อย ไต้ก๋งและคนงานจึงคล้ายตกอยู่ในวงล้อมแห่งโชคชะตาที่ไม่ได้ดังใจหวังหรือ “วงล้อมแห่งความล้มเหลว”กล่าวอีกนัยหนึ่งคือผู้เขียนได้เย้ยหยันโชคชะตาตัวละครนั่นเอง

            “ยิ่งเดินหาชัยชนะก็ยิ่งแพ้ซ้ำซาก ยิ่งพยายามแหวกม่านมายาออกไป แกก็ยิ่งเหมือนตกอยู่ในกับดักและกลลวงที่ไร้ทางออก” (หน้า 67)

            แม้ต่อมาพวกเขาได้พบกับความสมหวัง กล่าวคือสามารถจับปลาขึ้นมาได้ จนสร้างความยินดีปรีดาให้แก่ไต้ก๋งและคนงานโดยทั่วไป นั่นเพราะการได้ปลาหมายถึงพวกเขาจะได้รับส่วนแบ่งไปตามส่วนที่ตนพึงมีพึงได้ทว่าผู้เขียนก็ได้เย้ยหยันชะตาชีวิตของพวกเขาไปในอีกทางหนึ่ง กล่าวคือเรือของพวกเขาไม่มีแววที่จะขึ้นคาน แม้ว่าจะออกทะเลมากว่า 15 เดือน ข่าวการถูกล้มบัญชีหรือโกงค่าแรงเริ่มแพร่สะพัดในหมู่คนงาน แม้ว่าจะจับปลาได้แต่ปลาก็ไม่อาจแปรรูปเป็นความสุขในใจพวกเขาได้อีกต่อไป รอยยิ้มหายไปกลายเป็นความเฉื่อยชาไม่อยากทำงาน เพราะทำไปก็ไม่ได้รับมรรคผลจากหยาดเหงื่อแรงงานที่ตนสู้ทำไปความหวังที่จะได้โบยบินกลับรวงรังอย่างสุขสมหวัง กลับไปหาบุคคลที่ตนรักเริ่มริบหรี่ลง พร้อมกับที่ความคะนึงหาบุคคลอันเป็นที่รักและถิ่นเดิมที่พวกเขาจากมาทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ 

            อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดเรื่องล้มบัญชีก็เป็นเพียงข่าวลือ พวกเขาได้รับผลตอบแทนเป็นจำนวนเงินที่สามารถฉีกรอยยิ้มให้ปรากฏบนดวงหน้าของพวกเขาได้ และต่างอำลาจากไต้ก๋งด้วยความประทับใจ ถึงแม้พวกเขาจะหนีออกไปจากกับดักและวงล้อมแห่งโชคชะตาในการเผชิญโชคในการจับปลาไปได้ แต่กระนั้นกับดักและวงล้อมที่ยังตรึงพวกเขาบางคนอยู่จนกระทั่งพวกเขาจะลาจากโลกนี้ไปหรือลดละเลิกมันไปได้ พร้อมที่จะทำให้เขาถูกเย้ยหยันจากโชคชะตาคือ ความพิกลพิการทางร่างกายที่จะยังคงเป็นข้อจำกัดพวกเขาต่อไป และการตกเป็นทาสสารเสพติด

            กล่าวได้ว่า นวนิยายเล่มนี้สามารถทำให้เราทุกคนต้องกลับมามองย้อนว่าที่ผ่านมาเราเคยประสบกับกับดักและวงล้อมแห่งโชคชะตาที่รุมเร้าเข้ามาเย้ยหยันไยไพหรือไม่ ถ้าเคยเรามีวิธีแก้ไขให้ผ่านพ้นมาได้อย่างไรและเราได้รับบทเรียนอะไรบ้าง ซึ่งถ้าหากระลึกได้ และดึงสติให้มาอยู่กับเนื้อกับตัวไม่เสียใจกับอดีตที่ผ่านไปแล้วจนเกินไป เราก็จะย่อมได้ “ปัญญา” กลับมาเป็นเกราะคุ้มกันให้รอดพ้นหรือได้รับบาดเจ็บน้อยที่สุดในการที่จะเผชิญต่อโลกหรือถูกโชคชะตาเย้ยหยันในอนาคต

 

เอกสารอ้างอิง

สุริชัย หวันแก้ว. (2546).  กระบวนการกลายเป็นคนชายขอบ (Marginalization). กรุงเทพฯ :          

คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.


 
 
 

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

 

เรากำลังติดกับ...การเกาะกุมของรยางค์และ

เงื้อมเงาโดยไม่รู้ตัว

 

บรรณรต

 

กลุ่มโดรนเป็นเพียงส่วนย่อยของระบบมหึมาที่เหยียดรยางค์เงื้อมเข้ามา

(จาริกไปในความเงียบงัน, น.๒๐๓)

             เป็นประโยคหนึ่งตลอดการอ่านเรื่องที่สุดแสนจะมืดมิดและหดหู่ชุดนี้ที่สามารถสรุปความคิดรวบยอดให้กับตัวของผมได้ ผมมิได้หมายถึงคำว่า กลุ่มโดรน แต่ผมกำลังหมายถึงคำว่า ระบบมหึมา ในประโยคข้างบนนั่นต่างหาก

             วิภาส ศรีทอง เป็นนักเขียนคนหนึ่งที่ผมยังไม่มีโอกาสได้อ่านงาน แม้จะรับรู้ว่านวนิยายเรื่อง “คนแคระ” จะมีชื่อเสียงมากเพียงใดก็ตาม รยางค์และเงื้อมเงา เป็นงานชิ้นแรกที่ผมมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับนักเขียนท่านนี้รวมเรื่องสั้นเล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือที่เข้ารอบซีไรต์ของปีที่แล้ว โดยรวมไว้ทั้งหมด 10 เรื่องด้วยกัน อันได้แก่ ตัวประกอบ เด็กระเบิด วันหนึ่งของเธอ ลิงภูเขา สามสหาย สุนทรีมืด ตำนานซิซีฟุส: ภาคถัดมา ความปรารถนา ศูนย์อัสดง และจาริกไปในความเงียบงัน อย่างไรก็ดีผมไม่สามารถอธิบายเนื้อหาของทุกเรื่องได้ หากแต่จะอธิบายพอสังเขปเมื่อยกมากล่าวเพื่อวิจารณ์เท่านั้น

             ต้องพูดอย่างตามตรงว่าตัวของผมนั้นไม่คุ้นชินกับการใช้ภาษาของวิภาสอย่างยิ่ง ภาษาที่มักบรรยายสภาพของบรรยากาศ ตลอดจนอารมณ์ของตัวละครอย่างละเอียดลออ จนบางครั้งรู้สึกว่าเริ่มหลุดออกไปจากประเด็นสำคัญของเรื่อง เกือบที่จะถอดใจไปในหน้าแรก ๆ ... แต่ต้องยอมรับว่านักเขียน มีกลวิธีบางอย่างที่สามารถดึงผมให้ไปต่อ ดึงผมให้อยากรู้ว่าตอนจบเรื่องราวว่าจะคลี่คลายไปอย่างไร สามารถใช้แนวเรื่องที่ดูจะไม่มีเนื้อหาสาระอะไรมาแยกส่วนและนำเสนอใหม่ได้อย่างน่าตกใจอยู่ไม่น้อย ผมกำลังหมายถึงการใช้แนวเรื่องซอมบี้จากเรื่อง วันหนึ่งของเธอ เพราะในภาพจำของพวกเรา ๆ เมื่อดูหนังซอมบี้ เรามักจะมองว่าซอมบี้เป็นศัตรู แต่ในเรื่องสั้นนี้ วิภาสพาพวกเราไปลองเป็นซอมบี้ในเมืองซึ่งเป็นอีกรสชาติหนึ่งที่แปลกใหม่สำหรับผม แต่เมื่อต้องมองสิ่งที่กว้างและครอบคลุมกว่านั้น สิ่งหนึ่งที่ตัวเองได้นอกเหนือจากอาการจิตตกของตนเองหลังจากอ่านรวมเรื่องสั้นชุดนี้ คือ ผมเล็งเห็นถึง “ระบบ” ที่พวกเรา ๆ เข้าไปติดกับโดยไม่รู้ตัว ปรากฏในทุก ๆ เรื่อง แต่ออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกันจนเหมือนกระจัดกระจายในเรื่องสั้นเหล่านี้ 

            เพราะฉะนั้นแล้ว บทวิจารณ์ชิ้นนี้ผมอยากชี้ให้เห็นทั้งรยางค์และเงื้อมเงาเหล่านั้นที่เราอาจจะติดกับอยู่ (ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเช่นนั้น) เพื่อให้นอกจากการอ่านรวมเรื่องสั้นนี้มิได้เกิดเพียงความหดหู่ แต่จะได้เกิดการรู้เท่าทันระบบและสิ่งที่วิภาสกำลังพยายามแสดงให้เราเห็นความโหดร้ายของมัน

 

ระบบของ “เมือง” ที่ทำให้พวกเราสูญเสียตัวตนจนเป็นอะไรไปก็ไม่รู้

            ผมมีพื้นฐานเป็นคนต่างจังหวัดตั้งแต่ยังเด็ก เพิ่งเข้ามาเป็นสิ่งที่เรียกว่า “คนเมือง” ได้ไม่นานมานี้  แล้วจากการอ่านเรื่องสั้นของวิภาส ผมเพิ่งตระหนักได้ว่าผมนั้น “เปลี่ยน” อาจจะเพราะอายุกับการศึกษาก็ส่วนหนึ่ง แต่ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าระบบเมืองที่เราอยู่นี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราเปลี่ยน

            วิภาสนำเสนอภาพของเมืองกับชนบทอย่างชัดเจนในเรื่องสั้น ลิงภูเขา ซึ่งว่าด้วยเผ่าพันธุ์หนึ่งที่อยู่ในที่ห่างไกลและถูกเรียกว่าพวกลิงภูเขา กับอีกพวกหนึ่งคือพวกที่อยู่ในที่ราบ ราวกับอุปมานิทัศน์ภาพเมืองและชนบทออกมา ผู้เล่าเรื่องในเรื่องสั้นนี้เป็นคนหนึ่งจากกลุ่มลิงภูเขาที่จำเป็นต้องลงมาทำงานในที่ราบ เพราะพวกในที่ราบให้ค่าพวกลิงภูเขาเป็นเพียงชนชั้นแรงงานเท่านั้น ตัวละครหนึ่งที่ผมคิดว่ามีความน่าสนใจในเรื่องคือ ตาเฒ่าของเผ่าลิงภูเขาที่ลงมาทำงานในที่ราบนานกว่าคนอื่น ได้พูดออกมาว่า “ตาเฒ่าเน้นย้ำเรื่องการปรับปรุงตนเอง มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ไม่ตามใจตนเอง รู้จักดูแลเงินทองที่หามาได้  ไม่เกียจคร้านเฉื่อยชา ต้องทำตัวสง่างาม ต้องทิ้งนิสัยดิบเถื่อนดั้งเดิมทั้งหลายให้หมด “เราต้องยกระดับตนเอง” ” (หน้า 77 ) กับอีกตัวละครหนึ่งคือตัวละครคนรับใช้ของชายหนุ่ม ซึ่งตัวละครเอกได้พูดถึงไว้ว่า “ยิ่งฉุนเดือดเมื่อเห็นคนรับใช้ผู้ติดตามของชายหนุ่มเขม็งจ้องข้ามรั้วมาที่ฉันพร้อมกับทำท่ากักขฬะใส่ ฉันรู้ว่าเขาก็เป็นลิงภูเขาเหมือนกัน ต่างแค่เกลาผิวนอกจนกลมกลืนกับที่นี่เท่านั้นเอง” (หน้า 81 - 82) จะเห็นว่าตัวละครที่หากพูดอย่างทั่วไปว่าก็เป็นผู้ที่มาจากชนบทนั้น พยายามกลมกลืนตนเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของเมือง จนอาจจะสูญเสียอัตลักษณ์บางอย่างไป

            แล้วการเป็นเมืองมันแย่อย่างไร ? ในเรื่องลิงภูเขา วิภาสนำเสนอภาพความโหดร้ายของเมืองผ่านตัวละครชายหนุ่มซึ่งเป็นตัวละครที่ตัวเอกของเรื่องมีความหลงใหล อยากที่จะติดตามชายหนุ่ม อยากที่จะสัมผัส ตัวละครชายหนุ่มพยายามทำอาการล่วงเกินตัวละครเอก จนกระทั่งถึงทำร้ายร่างกาย ในเรื่องกล่าวว่า “ “นังลิงภูเขา” เขาตะคอก เหลียวไปรอบ ๆ ท่าทางกระฟัดกระเฟียด ก้มหยิบกิ่งไม้ที่มีใบแห้งติดอยู่ เขาเงื้อง่ามาเฆี่ยนฉันตรงสีข้าง ดวงตาคุโชนจับจ้องทุกอิริยาบถของฉัน” (หน้า 86) จะเห็นว่าวิภาสเลือกการบรรยายความรุนแรง และสภาพที่ดูน่ากลัวของชายหนุ่มแทนภาพของคนเมือง ในเหตุการณ์นี้ตัวละครเอกโต้กลับและไม่ยอมให้ตนเองถูกทำร้าย หลายวันให้หลังก็ถูกไล่ออกจากที่ทำงาน ต้องกลับขึ้นเขาและหายเข้าไปในป่าให้ลึกที่สุด เหตุการณ์นี้สามารถเข้าใจได้ว่า หากผู้ที่เข้ามาในเมือง ไม่สามารถยอมรับความโหดร้าย และกลไกการควบคุมของคนในเมืองที่อยู่มาก่อนได้ จนคิดจะแข็งกร้าว ก็ต้องถอยกลับไปสู่สภาพที่ไม่เจริญกว่าเท่านั้น

            หรือในเรื่อง วันหนึ่งของเธอ ที่ผมได้กล่าวไปแล้วบ้างในข้างต้น แสดงภาพของเมือง ๆ หนึ่งที่มีซอมบี้มากมาย ตัวละครเอกก็เป็นหนึ่งในซอมบี้นั้น เรื่องเริ่มโดยที่ตัวละครเอกเห็นซอมบี้ตัวหนึ่งที่ดึงความสนใจของเธอ ทำให้เธอตื่นจากภวังค์ที่ไร้สติจากการเป็นซอมบี้ ตลอดทั้งเรื่องนี้จะแสดงภาวะของการหลุดลอยไปในภวังค์ ตัวละครเอกจะลืมเป้าหมายที่ตนจะกระทำเสมอหากเป้าหมาย (ซอมบี้ร่างป้อม) ไม่ได้อยู่ตรงหน้า ฉากของเรื่องบอกอย่างเด่นชัดว่าเป็นกลางเมืองใหญ่ “แม้ว่าจุดที่ฉันยืนอยู่คือซิตี้เซนเตอร์” (หน้า 56) ความตอนหนึ่งจากในเรื่องบรรยายถึงการขุดคุ้ยเสบียงอาหารในรถบรรทุก บรรยายไว้ว่า

             ซอมบี้กลุ่มหนึ่งรื้อคุ้ยเสบียงและเครื่องกระป๋องในตู้คอนเทนเนอร์ที่เปิดอ้า ... แต่พวกนั้นทำท่าอย่างชัดแจ้งว่าไม่ยอมใหผู้ใดรุกล้ำ แผดเสียงแหบห้าว สีหน้าดุร้าย...แม้แต่ซอมบี้ชราหง่อมก็ยังกระย่องกระแย่งพยายามยืดตัวชูไม้ชูมือและถลึงตาขู่ขวัญ (หน้า 59)

            หากเราคิดในเชิงพื้นที่ ซอมบี้เหล่านี้ก็คือผู้ที่เคยเป็นคนเมืองกันมาก่อนทั้งนั้น อาจอนุมานได้ว่าภาวะของการเป็นซอมบี้นี้คือการทำลายภาวะการตัดสินใจ เหลือแค่การแสดงออกเพียงสัญชาตญาณ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น สัญชาตญาณของซอมบี้เมืองเหล่านี้ ก็เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวทั้งสิ้น หากมองให้ไกลกว่านั้น สภาพของเมืองที่มีทรัพยากรจำกัด การที่ผู้ใดมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรนั้น ๆ ย่อมต้องเกิดความละโมบและหวงแหนอยู่แล้ว 

            เหตุการณ์ในเรื่องดำเนินไปที่ตัวละครเอกพบเจอซอมบี้ร่างป้อม และเดินตามไปจนถึงที่ซึ่งคล้ายกับเป็นที่พักเก็บของ เจอสิ่งของต่าง ๆ ที่ซอมบี้ป้อมเก็บไว้ แต่ละสิ่งดูไม่เข้ากันและไม่มีเหตุผล อาทิ นิตยสาร แผ่นซีดี แต่ทุก ๆ สิ่งถูกเก็บอย่างเป็นระเบียบ ตลอดเวลาที่เดินตามมานั้นตัวละครเอกมีความรู้สึกบางอย่างที่รุนแรงกับซอมบี้ป้อมอย่างยิ่ง เป็นความรู้สึกด้านบวก เพราะซอมบี้ร่างป้อมเมื่ออยู่ภายนอกที่พักมีความสุขุมกว่าซอมบี้ตัวอื่น ๆ แต่ท้ายที่สุด เมื่อซอมบี้ร่างป้อมเห็นซอมบี้สาวว่าลอบเข้ามา ก็แสดงท่าทางดุร้าย ซอมบี้สาวจัดการฆ่าเขา ภาพเหตุการณ์ตัดไปที่อีกวันหนึ่งที่ซอมบี้สาวรู้ตัวอีกทีว่าร่างกายเปื้อนเลือด และเหมือนกลับไปจุดเริ่มต้นของเรื่องอีกครั้ง สามารถกล่าวให้เข้าใจงง่าย ๆ ได้ว่า ซอมบี้สาวกับซอมบี้ร่างป้อมนี้ก็เป็นภาพแทนของกลุ่มคนเมืองกลุ่มหนึ่ง ที่เหมือนราวกับมีเป้าหมายบางอย่างในชีวิต อาจจะเป็นการสะสมบางสิ่งบางอย่าง การไล่ตามเป้าหมายด้วยความรู้สึกที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าด้วยเหตุผลอะไร สิ่งเหล่านี้ก็เกิดจากสภาพของเมืองที่อาจจะทำให้เราสูญเสียตัวตนบางอย่างจนไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเรากำลังทำสิ่งใดอยู่กันแน่ ได้แต่ทำต่อไป ทุก ๆ วันก็วนกลับมาที่การกระทำเดิม ๆ อย่างไม่มีเหตุผล

            ตอนนี้ผมพยายามเหลือเกินที่จะสังเกตตนเอง เปรียบเทียบความคิด การตัดสินใจ ความรู้สึกของตนก่อนและหลังเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองและคิดว่าหลังจากนี้ผมอยากจะเดินให้ช้าลงอีกสักหน่อย แล้วมองรอบข้างให้มากกว่านี้

 

“ชีวิต”ระบบที่แสนยิ่งใหญ่ เงื้อมเงาที่ไม่มีทางหนีพ้น

            ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าชีวิตหรือการดำเนินชีวิตของเรานี้ก็เป็นระบบที่ใหญ่ระบบหนึ่ง กล่าวคือเป็นวัฏจักรที่ดำเนินต่อไปอย่างไม่รู้จบ ไม่สามารถหนีออกจากระบบนี้ได้ เกิด แก่ เจ็บ และตาย เป็นไปเช่นนี้ในทุก ๆ ชีวิต งานเขียนเกี่ยวสัจธรรมชีวิตนี้มีปรากฏโดยทั่วไป แต่เมื่อวิภาสนำมาเขียนนั้น เขากำลังชี้ให้เห็นว่าในแต่ละช่วงของชีวิตนั้นมีขั้นตอนเป็นไปอย่างไร เราติดกับอะไรบ้างในแต่ละช่วงชีวิต

            ในเรื่องสั้น เด็กระเบิด วิภาสนำเสนอภาพการเล่นต่าง ๆ ของเหล่าเด็ก ๆ ที่ไม่รู้ว่าความตายเป็นอย่างไร เด็กที่ทำราวกับว่าความตายเป็นเรื่องที่ไม่มีจริง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เด็กชายแกล้งนอนตายบนพื้น ให้พี่สาวที่อายุไล่เลี่ยกันให้มาเห็น โดยเด็กชายแกล้งตายทั้งที่ยังหายใจแรงจนท้องกระเพื่อม มีลมออกมาจากจมูกเมื่อพี่สาวเอามือไปอัง แต่แค่ไม่ยอมลุกจากพื้นในตอนที่พี่สาวเขย่าตัว พี่สาววิ่งออกไปร้องไห้ด้านนอก แต่เมื่อกลับเข้ามาก็เจอน้องชายนั่งกินแตงโมอยู่อย่างสบายใจ เหตุการ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นเลยว่าเด็กไม่เข้าใจว่าการตายคืออะไร จึงแสดงท่าทางที่ดูไม่สมจริงออกมาแบบนั้น  หรือในเรื่องเดียวกันนี้ที่กลุ่มเด็กชายรับน้องใหม่ของกลุ่มด้วยการให้เด็กใหม่ไปยืนใกล้ทางรถไฟ แล้วมองว่าเป็นเรื่องสนุก ก็ไม่ต่างอะไรกับการไม่เห็นคุณค่าของชีวิตเลย มีความตอนหนึ่งที่กล่าวออกมาจากเด็กใหม่ที่ถูกรับน้องว่า “ทั้งเจ็บปวดและลิงโลด” (หน้า 51) วิภาสกำลังชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของชีวิต ซึ่งพวกเรา ๆ มักจะมาเห็นในตอนที่เริ่มมีอายุ แต่ที่จริงแล้วความตายอยู่ในทุกที่ ทุกช่วงเวลาของชีวิต 

            เมื่อพ้นวัยเยาว์ก็ต้องเข้าสู่วัยแห่งการทำงาน การเผชิญความตรากตรำเพื่อจะประสบความสำเร็จ ตำนานซิซีฟุส: ภาคถัดมา แสดงภาพของช่วงชีวิตนั้นได้อย่างหดหู่ใจไม่น้อย เรื่องเริ่มเล่าที่ซิซีฟุส ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องเล่าของกรีก เขาถูกคำสาปจากปวงเทพให้ต้องกลิ้งหินก้อนยักษ์จากตีนเขาไปยอดเขา เมื่อถึงยอดแล้วหินนั้นก็จะกลิ้งกลับลงไปตามเดิม ทำเช่นนี้อยู่เป็นโกฏิ ๆ ปี จนวันหนึ่งเขาก็กลิ้งมันมาถึงยอด เฝ้ามองและรอให้มันกลิ้งลงไป แต่ครั้งนี้มันกลับหยุดนิ่ง แม้จะผลักแรงแค่ไหนก็ไม่เขยื้อน เขาดีใจอย่างยิ่งที่เหมือนกับได้รับการปลดปล่อย ระว่างที่เดินลงมานั้นเขาคิดถึงตลอดเวลาที่เขาทำงานนี้มา ความว่า “ดูเถิด...งานอันไร้ความหมายจากแรงกายที่เขาทุ่มเทลงไป ไม่มีคุณค่าโภชน์ผลใดเลยภายใต้ดวงตะวันนี้” (หน้า 138) แต่อีกความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือเขาคิดถึงช่วงที่ได้กลิ้งหินก้อนนั้น เขาอาลัยอาวรณ์ความรู้สึกตอนกลิ้งหินนั้น ท้ายที่สุด เขาเลือกที่จะกลิ้งหินอีกก้อนที่อยู่ด้านล่างแทน และก็วนเวียนเช่นนี้เรื่อยไป ซึ่งผมคิดว่าการกลิ้งหินนี้ไม่ต่างอะไรจากการใช้ชีวิตในช่วงการทำงานของราในปัจจุบันนี้ เราทุ่มเท บางครั้งเพลิดเพลินกับการทำ บางครั้งเหนื่อยล้า แต่เมื่องานเรานั้นไปถึงจุดที่สำเร็จ เราก็ยังคงต้องการความรู้สึกนั้น ความรู้สึกของการกลิ้งหินไปถึงยอดภูเขา เราเริ่มทำงานใหม่อีก เป็นเช่นนั้นเรื่อยไป วิภาสแสดงภาพนั้นให้เราเห็น แต่ทางเลือกก็ยังคงเป็นของเราว่าอยากจะเข็นหิน (ซึ่งอาจจะเป็นงานที่ชีวิตของเราไม่ได้ต้องการมันจริง ๆ แต่แค่ชอบความรู้สึกตอนที่ประสบความสำเร็จ) ไปเรื่อย ๆ หรือไม่

            เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากจะกล่าวถึงคือ ศูนย์อัสดง กล่าวถึงเจริญผู้ที่กำลังจะสูญเสียความทรงจำและสมรรถภาพทางร่างกายไป เรื่องเกิดในสถานบำบัดที่แสดงภาพของช่วงสุดท้ายของความทรงจำแต่ละคน เจริญหมดหวังเพราะทุก ๆ ขณะ หมอกก็จะมากขึ้นเรื่อย ๆ หมอกซึ่งถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการสูญเสียตัวตน ระบบของศูนย์ก็เป็นเช่นนี้ มีคนอาการผิดปกติเข้ามาใหม่ อยู่ในศูนย์จนเกิดอาการสูญเสียสภาวะความทรงจำและไร้ความสามารถทางร่างกาย และจะถูกนำไปไว้ที่ตึกไข่ ซึ่งเป็นสถานที่สุดท้ายที่ผู้ป่วยรอความตาย ภาวะที่วิภาสแสดงให้เราเห็นความว่างเปล่าในช่วงสุดท้ายของชีวิตเหมือนจะมีความหวังแต่สุดท้ายก็ฝืนกับระบบไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องกลับไปที่แรกเริ่ม การเข้าไปอยู่ในตึกไข่ในสภาวะที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองก็ไม่ต่างอะไรกับการกลับไปเป็นทารกมากนัก

            รวมเรื่องสั้นเล่มนี้มิได้มุ่งเน้นจะสั่งสอนเรื่องใด เพียงแสดงให้เราเห็นสภาพจริงที่เป็นอยู่ก็เท่านั้น ยังมีระบบมากมายในเรื่องที่ผมหยิบมาพูดได้ไม่หมด ทั้งระบบของเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตของคนในทศวรรษนี้ ที่ปรากฏในเรื่องสั้น สามสหาย และจาริกไปในความเงียบงัน หรือในระบบของชีวิตที่ยังมีแง่มุมอื่น ๆ ไม่ว่าจะ ความปรารถนา ความเจ็บปวดที่ถูกทำให้เป็นรูปธรรมในเรื่อง ตัวประกอบหรือความผิดหวังในชีวิตที่ทำให้เกิดภาวะแปลกประหลาดในตนเองจาก สุนทรีมืด

             ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าเมื่อผู้อ่านได้อ่านรวมเรื่องสั้นเหล่านี้จบ จะมองเห็นสิ่งที่ผมสาธยายไป หลายท่านที่หยิบมาอ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องเข้าใจยาก ผมอยากแนะนำว่าให้ลองปล่อยตัวเองอยู่กับสภาพที่เป็นอยู่นั้น ไม่ต้องพยายามทำความเข้าใจให้ได้ทั้งหมดว่านักเขียนพยายามจะสื่อสารอะไร แต่ในท้ายที่สุดเมื่ออ่านจบผมเชื่ออย่างยิ่งว่าทุกท่านจะมองสิ่งที่เป็นอยู่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปไม่ในแง่มุมใดก็แง่มุมหนึ่ง บทวิจารณ์ชิ้นนี้จึงเป็นเพียงวิธีการอ่านอีกมุมมองหนึ่งเท่านนั้น มุมมองที่ผมคิดว่าวิภาส ศรีทอง พยายามบอกกับพวกเรา ๆ ว่าพวกเราไม่สามารถจะหนีจะรยางค์และเงื้อมเงาที่เกาะกุมเราไปได้ แต่จงเห็นพวกมันผ่านเรื่องเล่านี้ เห็นแล้วจงเข้าใจว่าเราอยู่ตรงส่วนไหนของมัน ตระหนักเสมอว่าเราไม่ได้เป็นอิสระ มีระบบอยู่ในทุกหนทุกแห่งที่เราอยู่ไม่ว่าจะเป็นในสถานภาพใดก็ตาม


 
 
 
 

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~


Visitors: 72,129