ปันหยี สะมิหรัง - วายัง กุลิต – ชีวิตในสงครามใต้ฉากผ้า  

อัศวุธ  อุปติ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

         ชื่อหนังสือที่ล้อกับชื่อศิลปะการแสดงของอินโดนีเซียเล่มนี้ เป็นนวนิยายลำดับที่ห้าของอนุสรณ์ ติปยานนท์ และเป็นหนึ่งในสิบเล่มที่เข้ารอบสุดท้ายนวนิยายรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔  “วายัง อมฤต” เกิดจากแรงบันดาลใจที่ได้ไปเยี่ยมชมพระตำหนักของเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตที่อินโดนีเซียตามคำบอกเล่าในคำตามท้ายเล่ม

         อนุสรณ์ทำหน้าที่นายหนังหรือที่เรียกว่า”ดาลัง”ด้วยวิธีการเชิดตัวละครและพรางซ่อนไว้ใต้ฉากสีขาวให้เราเห็นแต่เพียงเงาและเคลิบเคลิ้มกับเรื่องนั้นจนเชื่อคำบอกเล่าของตัวละครอย่างสนิทใจ โดยใช้ฉากชวาที่พานพบมาถ่ายทอดเรื่องราวลึกลับซับซ้อนนี้ เริ่มจากการได้รับจดหมายจากกรมพระฯ  อดีตผู้นำทางทหารของสยามที่ลี้ภัยจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาอยู่ชวา “ไฮน์ริช เบิล”นักแปลชาวเยอรมันต้องไปช่วยกรมพระฯ  แปลงานเขียนของพระองค์ ระหว่างทางเขาได้พบกับบุหรง หญิงปัตตาเวียที่มาเตือนไม่ให้เขาไปที่บันดุง ในฉากนี้ผู้เขียนพยายามทำให้บุหรงเป็นเหมือนสิ่งลี้ลับ และต่อมาก็เกิดสิ่งลี้ลับขึ้นกับเบิลหลายอย่าง เช่น รสา ดาราห์ หรือการพบกับศรี อรพินโท สองเหตุการณ์นี้เองที่ทำให้เขาได้รู้จักกับวายัง กุลิต หรือการแสดงเชิดหนังบนผ้าขาวของอินโดนีเซีย หลังจากนั้นเขาก็ต้องเข้ากับฝ่ายวายัง อมฤตหรือขบวนการใต้ดินเพื่อปลดแอกชวาจากชาวดัทช์ที่นำโดยศรี อรพินโทและบุหลัน จากนั้นผู้อ่านก็จะได้ทราบว่าแท้จริงแล้วไฮน์ริช เบิล คือ ฟรังซัวร์ อูแบง ซึ่งเป็นพนักงานหอสมุดแห่งชาติของฝรั่งเศสที่ต้องการเขียนประวัติศาสตร์ด้วยตนเองจึงเข้าเป็นทหารในสงครามกลางเมืองสเปน แต่ด้วยภารกิจเปิดโปงความลับหนอนบ่อนไส้ในค่ายทหาร เขาจึงต้องรับช่วงต่อการเป็นไฮน์ริช เบิลหลังจากเจ้าตัวเสียชีวิตไป จะเห็นได้ว่าหลังจากดำเนินเรื่องไปได้เกือบครึ่งเรื่องแล้ว เราจะพบว่าเรื่องราวตอนต้นเรื่องนั้นเป็นเพียงการหลอกล่อให้ผู้อ่านเข้าใจความจริงไปแบบหนึ่งว่าไฮน์ริช เบิลหรืออูแบงผู้นี้มาเพื่อแปลงานเขียนให้กรมพระฯ   แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่

         หลังจากได้รู้ความลับแล้วเบิลก็ได้รับหน้าที่ให้ติดต่อกับฝรั่งเศสเพื่อจัดหาอาวุธมาให้พวกวายัง อมฤต และเราก็ได้รู้ว่าบุหลันเป็นน้องสาวของบุหรง เมื่อถึงส่วนสำคัญของเรื่องก็ได้ทราบว่าจริง ๆ แล้วเบิล มิได้เป็นนักแปลหรือพนักงานหอสมุดแห่งชาติ แต่เป็นนักฆ่ารับจ้างที่มีค่าตัวสูง และค่าตัวครั้งนี้คือบุหรงซึ่งเขาได้รับการจ่ายไปแล้วที่รสา ดาราห์ ซึ่งบุหรงนั้นจริง ๆ แล้วก็คือบุหลัน หรือ อดิรัต ฮาฟิช นั่นเอง ความลับนี้ถูกเปิดเผยจากจดหมายหลังการตายของพันตรี โทรุ ซากาโมโต้ หัวหน้านายทหารญี่ปุ่นที่มาปกครองอินโดนีเซียในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนี้ เขาเป็นคนฆ่าบุหลันตามคำสั่งของเจ้านายและต้องการปลิดชีวิตตัวเองจึงยอมเอาชีวิตเข้าให้เบิลฆ่าแลกกับการทำภารกิจที่ได้รับให้สำเร็จเพราะบุหลันเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินคนสำคัญของขบวนการวายัง อมฤตและเป็นตัวการที่ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถล้มขบวนการนี้ได้

         ผู้อ่านจะเห็นการนำพาให้ไขว้เขวไปเรื่อย ๆ จากเริ่มแรกที่เราคิดว่าเป็นประเด็นเรื่องของการลี้ภัยการปกครองจากสยามของกรมพระฯ  ผ่านนักแปลชาวเยอรมัน กลายเป็นประเด็นเรื่องการร่วมอุดมการณ์ปกป้องอินโดนีเซียของอดีตทหารชาวฝรั่งเศส และท้ายที่สุดมาจบที่การรับจ้างของทหารนักฆ่ามืออาชีพ การทำให้ไขว้เขวนี้ นอกจากจะเกิดขึ้นกับตัวละครหลักแล้ว ยังเกิดขึ้นกับตัวละครอื่น ๆ ด้วย เช่นตัวละครพันตรี โทรุ ซากาโมโต้ ซึ่งตอนแรกดูเป็นทหารญี่ปุ่นที่มีหัวคิดแบบผู้นำ ชอบกดขี่ประเทศใต้การปกครอง แต่ท้ายที่สุดกลับเฉลยว่าทำไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น การให้คนอ่านเชื่อว่าสิ่งที่เล่าเป็นความจริงแล้วนำพาไปอีกทางนี้นับเป็นกลวิธีที่สอดรับกับแก่นเรื่อง(theme)ด้วย

 

ปันหยี สะมิหรัง : การพรางซ่อนใต้ฉากสีขาวที่สัมพันธ์กับอิเหนา

          หากคนไทยพูดถึงประเทศอินโดนีเซียคงไม่พ้นจะนึกถึงวรรณคดีเรื่องอิเหนาซึ่งเรารับมาจากชวา ตัวละครกรมพระฯ  ในเรื่องก็เช่นเดียวกัน ในขณะที่กำลังเก็บบันทึกส่วนตัวแต่กลับพบเข้ากับหนังสืออิเหนาฉบับภาษาชวา พระองค์นึกขึ้นได้ว่าพระองค์แปลอิเหนาเป็นภาษาไทยไว้ และคิดว่าสำนวนแปลนี้ควรนำไปตีพิมพ์เผยแพร่มากกว่าบันทึกส่วนพระองค์

          “เขาวางสมุดบันทึกลง รู้สึกแจ่มแจ้งแก่ใจว่างานแปลชิ้นนี้ของเขาต่างหากที่สมควรถูกตีพิมพ์ บันทึกชีวิตที่ผ่านมาของเขานั้นหาได้มีราคาค่างวดใดเลย วรรณคดีปันหยี สะมิหรัง ต่างหากที่ควรถูกเผยแพร่ มันเป็นงานแปลอันงดงามและสมควรถูกส่งออกไปยืนโอ้อวดตนต่อสาธารณชน”(น.131)

         ผู้เขียนรับเอาอิทธิพลการปลอมตัวเป็นโจรป่าชื่อมิสาระปันหยีของอิเหนาเข้ามาใช้กับตัวละครหลักที่ปลอมตัวจากฟรังซัวร์ อูแบง เป็นไฮน์ริช เบิล เพื่อจุดมุ่งหมายบางประการดังที่กล่าวไปแล้ว นับเป็นการพรางซ่อนตัวตนไว้ใต้ฉากผ้าขาวและพรางซ่อนตัวตนจริงพร้อมกับร่ายนาฏกรรมให้คนอ่านเชื่อว่าตนมีอุดมการณ์ แต่เมื่อไปดูหลังฉากแล้วจะพบว่าที่ทำไปทั้งหมดนั้นเพราะอามิสสินจ้าง

         อีกตัวละครที่มีตัวตนอยู่หลังฉากมาตลอด คือ บุหลัน เธอใช้ความเป็นหญิงและเรื่องราวเท็จที่ว่าเธอมีพี่สาวชื่อบุหรงแต่ตายไปจากอุบัติเหตุทางน้ำหลอกล่อให้เบิลเชื่อมาตลอดว่าจริง ๆ แล้วเธอแค่สู้ร่วมกับสามี(แท้จริงแล้วมิใช่สามีภรรยากัน) คือ ศรี อรพินโท การกระทำของเธอมีลักษณะเหมือนนางบุษบาที่ปลอมตัวเป็นมิสาอุณากรรณ แล้วท้ายที่สุดก็ล่วงรู้ความจริงเช่นเดียวกับในเรื่องอิเหนาที่รู้ว่าที่ผ่านมาปลอมตัวตามหากันและอยู่ด้วยกันมาตลอดแต่กลับไม่รู้ตัวตนจริงแท้ของกันและกันเลย เช่นเดียวกับตัวหนังวายัง กุลิตที่อยู่ใต้ฉากผ้า แม้แต่คนดูก็ได้เห็นเพียงแสงเงาของตัวละครเท่านั้น

          “คำว่าวายัง กุลิต นั้นแปลว่า ‘เงาที่เกิดจากการซ่อนเร้น’ ตัวหนังจะถูกซ่อนเร้นจากผู้ชม ดังนั้นสิ่งที่ผู้ชมจะได้ชมคือเงาของตัวหนังนั้น ตัวหนังกว่าสองร้อยตัวที่มีทั้ง พระเอก นางเอก นักรบ ตัวตลก สัตว์ประหลาดหรืออมนุษย์ จะสรรสร้างเงาที่แตกต่างกัน”(น.51)

 

วายัง กุลิต : ชีวิตที่ถูกเชิดด้วยอำนาจสงคราม

         การใช้การแสดงวายัง กุลิตมาเป็นแก่นเรื่อง ไม่เพียงแต่เพื่อให้ได้กลิ่นอายความเป็นไพรัชนิยายเท่านั้น แต่ยังแสดงออกในตัวละครทั้งตัวหลักและตัวรองอีกด้วย ตัวละครที่มีบทบาทเหมือนตัวหนังเชิดไร้ชีวิตจิตใจตัวหนึ่งในเรื่อง คือ คาร์ล คนขับรถของผู้พันรูดอล์ฟ เบิร์นฮาร์ดผู้เป็นหนอนบ่อนไส้ของกองทัพต่อต้านฟาสซิสต์ การกระทำของคาร์ลมักจะได้รับการบรรยายอยู่ตลอดว่า

       “คาร์ล หรือใครสักคนที่มีชื่อเช่นนั้นเริ่มต้นกระทำตัวดังสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีความคิดอ่านเป็นของตนเอง” (น.116)

        คาร์ลข่มขืนอิสซาเบลซึ่งเป็นคนรักของไฮน์ริช เบิล (ตัวจริง) อย่างไร้ความรู้สึก เขาทำตามอำนาจคำสั่งของเบิร์นฮาร์ดอย่างไร้สำนึกคิดเสมือนเบิร์นฮาร์ดเป็นผู้เชิดหุ่น การกระทำหนึ่งที่แสดงความน่าขยะแขยงของคาร์ลที่ไม่มีความเป็นมนุษย์ คือ การกินเนื้อที่แล่จากร่างกายของอิสซาเบลอย่าง “เอร็ดอร่อย”

           พันตรี โทรุ ซากาโมโต้ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่เป็นหุ่นเชิดจากการควบคุมของญี่ปุ่นภายใต้สงคราม แม้เขาจะมีอำนาจมากกว่านายทหารคนอื่น ๆ แต่เขากลับไร้อำนาจใด ๆ ในการเลือกอุดมการณ์ของตัวเองได้ดังที่กล่าวไว้อย่างชัดเจนในจดหมายของเขาว่า

              “มีคำกล่าวว่านายทหารญี่ปุ่นล้วนครอบครองทุกอย่างยกเว้นเสียแต่ความรู้สึกส่วนตัว”(น.179)

                                                                               และ

             “โปรดให้อภัยผมด้วย ในฐานะของนายทหารญี่ปุ่น พวกเราไม่เคยได้เป็นตัวของตัวเองเลย”(น.181)

        ตัวละครเหล่านี้ล้วนได้รับการแสดงออกว่าไร้มนุษยธรรมเพราะอยู่ภายใต้การเชิดของอำนาจและสงคราม แม้คนดูจะถูกลวงในช่วงแรกให้เห็นว่าพันตรี โทรุ ซากาโมโต้ เป็นคนอำมหิต สามารถยิงบริกรชายชาวชวาได้อย่างไม่คิด หรือสามารถลงโทษอย่างโหดเหี้ยมด้วยการปล่อยให้กิ่งไผ่แทงยอดทะลุตัวของผู้ต้องโทษนั้น แต่ในท้ายที่สุดก็ให้ความกระจ่างว่าเขาเป็นเพียงหุ่นตัวร้ายตัวหนึ่ง ตัวร้ายที่ร้ายจากบทบาท มิใช่จากมโนธรรมสำนึกแท้จริง

 

เสียง “บุหรง” ใต้โค้งเงา “บุหลัน”

              นกบุหรง เกอมาเตียนมีเสียงร้องเศร้าสลดและมักจะส่งเสียงให้เบิลได้ยินอยู่เป็นประจำ นกบุหรงตัวนี้ไม่เคยปรากฏกายให้เบิลเห็นเลยแม้จะพยายามตามหาเท่าไรก็ตาม เช่นเดียวกับตัวของบุหรงที่ไม่เคยปรากฏอีกเลยหลังจากคืนนั้นในรสา ดาราห์ นั่นเป็นเพราะเธอกลายเป็นบุหลัน คนที่อยู่ในขบวนการวายัง อมฤตซึ่งเขาพบเจอตลอดอยู่แล้ว การหลบซ่อนตัวของบุหรงและบุหลันนี้ ได้รับการอธิบายโดยพันตรี โทรุ ซากาโมโต้ ไว้ว่า

        “งานแท้จริงทั้งหมดที่ผมกระทำคือการผลักดันเธอให้ออกมาสู่ที่แจ้ง ให้ออกมาเผชิญกับความตาย อันเป็นสิ่งที่ยากยิ่งเพราะบุหรงหลบซ่อนตัวอยู่ในเงามืดแทบตลอดเวลา เธอเป็นนกที่บินนั้นแน่นอน แต่เธอเป็นนกที่บินอยู่แต่ภายใต้แสงจันทร์”(น.179)

           จะเห็นว่าการใช้ชื่อบุหรงและบุหลันของอดิรัต ฮาฟิช มีนัยสะท้อนลักษณะของเธอในสงคราม เธอเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินใหญ่ที่ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถปราบปรามขบวนการนี้ได้ เป็นเป้าประสงค์ที่ทางการญี่ปุ่นหมายหัว แต่เธอมิได้สนับสนุนขบวนการวายัง อมฤตเฉพาะการเงินเท่านั้น ด้วยอุดมการณ์เข้มข้นของเธอจึงยอมแลกร่างกายอันบริสุทธิ์ของเธอเป็นค่าตอบแทนให้กับไฮน์ริช เบิล และท้ายที่สุด เธอก็ต้องแลกชีวิตกับอุดมการณ์นั้น ซึ่งเฉลยไว้ในชื่อแฝงของเธออยู่แล้ว เพราะนกบุหรงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งคือ...นกแห่งความตาย                                                                                    

               วายัง อมฤต ใช้กลวิธีการซ้อนเรื่องเล่าลวงและแฝงเรื่องเล่าจริงทำให้ผู้อ่านเชื่อตัวละครที่เล่านั้นได้อย่างสนิทใจ ความจริงแท้ส่วนใหญ่มักมาในรูปแบบจดหมายซึ่งเป็นตัวเปิดและปิดเรื่องนี้ อันที่จริง สิ่งที่เปิดและปิดเรื่องคือตัวละครกรมพระฯ   หากแต่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าตัวละครนี้ไม่ได้มีบทบาทมากพอต่อเรื่อง เรียกได้ว่าถึงไม่มีตัวละครตัวนี้ก็ไม่ได้กระทบต่อตัวเรื่องหรือมีความสำคัญแต่อย่างใดนอกจากเป็นผู้ให้เบิลมาทำงานที่อินโดนีเซียเท่านั้น ผู้เขียนเพียงคงไว้ซึ่งแรงบันดาลใจเริ่มต้นของตนเอง แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง ด้วยกลวิธีลวงพรางความจริงต่าง ๆ ทำให้ผู้อ่านถูกจูงใจไขว้เขว ตัวละครนี้อาจเป็นตัวละครที่ทำให้ผู้อ่านหลงทิศทางหรือคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะมีบทบาทสำคัญอย่างไรก็เป็นได้

             แม้ตลอดเรื่องเราจะเห็นความลวงพรางจริงสลับเท็จที่แสดงออกอย่างพร่าเลือนเหมือนตัวหนังที่ถูกฉากกั้น แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนในทุกตัวละครคืออุดมการณ์ภายใต้สงคราม ตัวละครทุกตัวล้วนแต่เป็นผู้ถูกกดขี่ หรือมีอำนาจลวง ๆ และทุกตัวปรารถนาที่จะต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นตามอุดมคติของตัวเอง

      “โลกของวายัง อมฤต คือโลกของอุดมคติ เป็นโลกที่อาจแลดูเลื่อนลอยคล้ายเงาดำบนฉากขาวในการแสดง วายัง กุลิต แต่แท้ที่จริงแล้วเมื่อมองลงไปในความเป็นจริงมันกลับมีบางสิ่งที่จับต้องได้อยู่ในนั้น อุดมการณ์อันแข็งแกร่ง อุดมคติอันตกผลึก ความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงโลกไปสู่สิ่งที่ดีกว่า โลกของผู้ถูกกดขี่ โลกของผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ โลกของผู้คนที่ไม่มีสิทธิแม้จะพูดในสิ่งที่เขาคิด คือศรัตรูของโลกแห่ง วายังอมฤต” (น.46)

 

รายการอ้างอิง                              

พุทธเลิศหล้านภาลัย, พระบาทสมเด็จพระ. (ไม่ปรากฏ). อิเหนา. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2565. จาก https://vajirayana.org

อนุสรณ์ ติปยานนท์. (2562). วายัง อมฤต. นนทบุรี :Din-Dan BooK

 

*************************************

 

ซื้อหนังสือ "วายัง อมฤต" ได้ที่

ร้านสวนเงินมีมา

 

 

Visitors: 72,131