ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
ฉันจึงมาหาความ(หมาย)
ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง
ฉันจึงมาหาความหมาย
ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว
วิทยากร เชียงกูล “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน”
ด้วยอารมณ์ถวิลหาอดีตอันเนื่องมาจากวัยและข่าวล่าเสือในป่าทุ่งใหญ่ กลอนบทหนึ่งที่เคยหลงใหลในสมัยเป็นนักเรียนก็ผุดขึ้นมาในหัว
บทกลอนที่ว่าคือ “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ยูงทองของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2511 (วันครบรอบวันสถาปนามหาวิทยาลัย) และนำมารวมพิมพ์ในหนังสือ ฉันจึงมาหาความหมาย ในปี 2514 โดยเฉพาะท่อนที่ยกมานี้ถือได้ว่าเป็นวรรคทองที่นักเรียนและนักศึกษาจำนวนไม่น้อยในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สามารถท่องจำได้ขึ้นใจ ยิ่งเสียกว่าบทอาขยานบางบทที่ถูกบังคับให้ท่องในห้องเรียน
วลี “ฉันจึงมาหาความหมาย” ได้กลายเป็นคำที่มีบางคนนำมาใช้เรียกชื่อของยุคสมัยก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 (บ้างก็เรียกยุคนี้ว่า “ยุคแสวงหา”) เนื่องจากมันสามารถพูดแทนอารมณ์ความรู้สึกของคนหนุ่มสาวในยุคนั้น ที่อยู่ในภาวะสับสนและแปลกแยกกับระบบคุณค่าและชุดความเชื่อที่สังคมยึดถือ
หลายคนเห็นว่า หากเราต้องการจะเข้าใจว่าทำไมนักเรียนและนักศึกษาจำนวนมากจึงลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตยจนนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บทกลอนชิ้นนี้และหนังสือชื่อ ฉันจึงมาหาความหมาย ของวิทยากร เชียงกูล สามารถจะให้คำตอบเราได้บ้างบางส่วน
แต่ในที่นี้จะขอเสนอการอ่านเพื่อหาความ (หมาย) โดยมุ่งพิจารณาเฉพาะท่อนที่โด่งดังของบทกวีชิ้นนี้เป็นการเฉพาะ อันได้แก่ท่อนที่นำมาโปรยไว้ในต้นบทความนี้
เนื้อหาเต็มของบทกลอนเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่กลายเป็นสถานที่ซื้อขายความรู้และใบปริญญามากกว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ ดังที่กวีได้พูดไว้ท่อนหนึ่งว่า
ปัญญามีขายที่นี่หรือ จะแย่งซื้อได้ที่ไหน
อย่างที่โก้หรูหราราคาเท่าใด จะให้พ่อขายนามาแลกเอา
อันนำมาสู่บทที่กลายเป็นวรรคทองของบทกวีชิ้นนี้ เมื่อกวีได้ค้นพบว่าสิ่งเดียวที่มหาวิทยาลัยมอบให้คือ “สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว”
โวหาร “กระดาษแผ่นเดียว” ในที่นี้เป็นการวิพากษ์ระบบการศึกษาไทยที่ทรงพลังอย่างยิ่ง เพราะสามารถสรุปรวบยอดความล้มเหลวของมหาวิทยาลัยที่ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการเป็นแหล่งประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ สิ่งที่มหาวิทยาลัยมอบให้ไม่ใช่ปัญญา แต่คือใบปริญญาหนึ่งแผ่น
และนี่น่าจะเป็นสิ่งที่จับใจผู้อ่านเยาวชนยุคนั้นที่ตั้งความหวังไว้อย่างสูงส่งกับมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้เพราะในยุคนั้นมหาวิทยาลัยเองก็มีสถานะที่สูงส่งยิ่งในสังคมไทย เป็นแหล่งรวมผู้มีความรู้ระดับหัวกะทิของสังคมไทยทั้งในฝ่ายอาจารย์และฝ่ายนิสิตนักศึกษา
ผู้ที่จะสามารถสอบผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยได้ ต้องเป็นเด็กเรียนเก่งเป็นพิเศษ เพราะการแข่งขันสูงมาก เนื่องจากในสมัยนั้นมหาวิทยาลัยของรัฐมีเพียงไม่กี่แห่ง แต่ละแห่งก็รับนักศึกษาได้ในจำนวนจำกัด ไม่มีมหาวิทยาลัยเปิดอย่างมหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หรือมหาวิทยาลัยเอกชนก็ยังไม่มี วิทยาลัยครูสมัยนั้นก็ยังไม่ได้รับการยกระดับให้เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฎเช่นในปัจจุบัน
บทกวีชี้นิ้วไปยังมหาวิทยาลัยทั้งในฐานะที่เป็นทั้งต้นเหตุของความล้มเหลว และอุปสรรคของการศึกษาดังที่ปรากฏในบทที่ว่า
นี่จะให้อะไรกันบ้างไหม มหาวิทยาลัยใหญ่โตเหวย
แม้นท่านมิอาจให้อะไรเลย วานนิ่งเฉยอย่าบ่นอย่าโวยวาย
อย่างไรก็ตาม ผมใคร่จะชี้ชวนว่าความล้มเหลวดังกล่าวมิได้มีสาเหตุมาจากมหาวิทยาลัยเพียงฝ่ายเดียว แต่ตัวนักศึกษาหรือ “ฉัน” ในบทกวีชิ้นนี้มีส่วนที่ทำให้เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
แน่นอนว่า “ฉัน” ในบทกวีนี้เป็นผู้ใฝ่รู้และมีความรอบรู้อันน่าทึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย ดังจะเห็นได้จากการนำวาทะอันโด่งดังของ จูเลียส ซีซาร์ ที่ว่า “Veni, vidi, vici” (“ข้ามา ข้าเห็น ข้าชนะ”) มาดัดแปลงได้อย่างลงตัวในบทที่ว่า
ฉันมา ฉันเห็น ฉันแพ้ ยินแต่เสียงด่าว่าโง่เง่า
เพลงที่นี่ไม่หวานเหมือนบ้านเรา ใครไม่เข้าถึงพอเขาเยาะเย้ย
ให้น่าสงสัยว่า จะมีนักศึกษาสักกี่คนในสมัยนั้น หรือกระทั่งสมัยนี้ที่รู้จะจักวาทะอันโด่งดังนี้ของซีซาร์
ในแง่นี้ข้อความที่ว่า “ฉันมา ฉันเห็น ฉันแพ้” จึงสื่อนัยกลับตาลปัตร กล่าวคือเนื้อหาของข้อความอาจจะบอกถึงความความพ่ายแพ้ของผู้พูดที่ได้รับการดูถูกเหยียดหยามว่า “โง่เง่า” แต่ขณะเดียวกันกลวิธีการอ้างอิงไปยังวรรคทองของซีซาร์สื่อให้เห็นว่า ผู้พูดเป็นมีผู้มีความรอบรู้และมีชั้นเชิงการใช้ภาษาที่โดดเด่นกว่านักศึกษาทั่วไป
ถ้าเช่นนั้นปัญหาของ “ฉัน” หรือนักศึกษาผู้นี้คืออะไรกันแน่ อะไรที่ทำให้ “ฉัน” กลายเป็นสาเหตุหนึ่งของความล้มเหลวของระบบการศึกษา ผมคิดว่าท่อนที่เป็นปัญหาของบทกวีชิ้นนี้คือบทที่กลายเป็นวรรคทองของยุคสมัย
ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย
ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว
ในวรรคสดับและวรรครับ กวีพยายามย้ำให้ผู้อ่านตระหนักว่า ฉันเป็นผู้ขาดแคลนทั้งในแง่ของวัยวุฒิ คุณวุฒิ และวุฒิภาวะ (เยาว์ เขลา ทึ่ง) ขณะที่วรรครับของบทนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายของ “ฉัน” ว่ามหาวิทยาลัยจะเติมเต็มความขาดแคลนดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม ข้อความในวรรคสดับนั้นเป็นการนำวาทะของซีซาร์มาพลิกแพลงอีกตรลบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะกลับตาลปัตรเช่นเดียวกัน เพราะหากนักศึกษาโง่เขลาเบาปัญญาจริงตามที่พูด ย่อมไม่น่าจะรู้จักวาทะอันโด่งดังนี้ ทั้งคงไม่มีปัญญาจะพลิกผันความหมายให้กินใจดังที่นำเสนอในที่นี้
ส่วนวรรครองและวรรคส่งนั้นสร้างชุดความหมายคู่แย้งที่ตัดกันอย่างรุนแรง ระหว่างสิ่งที่ฉันคาดหวังกับสิ่งที่มหาวิทยาลัยมอบให้ เพื่อจะตอกย้ำให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษา
กล่าวคือสิ่งที่ “ฉัน” คาดหวังนั่นต้องเป็นนามธรรม (อะไร) และมีจำนวนมาก (มากมาย) ขณะที่มหาวิทยาลัยกลับให้สิ่งที่รูปธรรม (กระดาษ) และมีจำนวนน้อยนิด (แผ่นเดียว)
ความน่าสนใจอันดับแรกคือคำว่า “ความหมาย” ในวรรครับ และคำว่า “อะไร” ในวรรครองของบทนี้ คำสองคำนี้เป็นคำที่มีความหมายและไม่มีความหมายในเวลาเดียวกัน
“ความหมาย” อะไร ที่ฉันมาหา
อะไรคือ “อะไร” ที่ฉันหวังเก็บไปมากมาย
จะพบว่าเราไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนไปในทางใดทางหนึ่ง
หากจะบอกว่านี่คือความเยาว์และความเขลาของ “ฉัน” ในบทกวีนี้ก็คงได้ ในแง่ที่ว่า “ฉัน” ไม่สามารถจะบอกได้ชัดเจนว่าตนเองต้องการอะไรในการเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย รู้แต่ว่าจะมาหา “ความหมาย” และเก็บ “อะไร” ไปมากมาย
แต่ในที่นี้ผู้อ่านกลับไม่รู้สึกว่าเป็นความบกพร่องของ “ฉัน” ที่ไม่สามารถบอกได้ว่าตนเองต้องการอะไรและแสวงหาอะไร ยิ่งกว่านั้นกลับกลายเป็นว่านี่คือความล้มเหลวของมหาวิทยาลัยที่ “ให้กระดาษฉันแผ่นเดียว”
ทั้งนี้เพราะคำว่า “อะไร” และ “ความหมาย” ต่างเป็นคำนามประเภทไม่ชี้ชัดไม่มีความหมายโดยตัวเอง แต่ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยนัยยะและความหมายอยู่ในตัวเองเช่นกัน
ยิ่งเมื่อผนวกกับนัยยะเชิงกลับตาลปัตรของวรรคสดับ “ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง” ยิ่งทำให้ผู้อ่านไม่ทันได้ฉุกคิดว่าจริงๆแล้ว “ฉัน”ไม่รู้แน่ว่าตนเองต้องการอะไรในชีวิต และด่วนตัดสินว่าทั้งหมดเป็นความผิดของมหาวิทยาลัย
แต่ที่น่าสนใจมากที่สุด และเป็นตัวบ่งบอกว่า “ฉัน” เป็นส่วนหนึ่งที่ของปัญหาความล้มเหลวของระบบการศึกษา คือคำกริยาสองคำในวรรครองและวรรคส่งได้แก่คำว่า “เก็บ” กับ “ให้” เนื่องจากคำกริยาทั้งสองสะท้อนให้เห็นว่า “ฉัน” ยังยึดติดอยู่กับระบบการเรียนรู้แบบเดิมที่มีครูเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้
กล่าวคือแทนที่ “ฉัน” จะมองว่ามหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ที่เขาสามารถเรียนรู้ด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับอาจารย์และกับเพื่อนนักศึกษา และจากการค้นคว้าหาความรู้จากห้องสมุดและแหล่งข้อมูลต่างๆ ด้วยตนเอง เขากลับคาดหวังให้อาจารย์เป็นผู้ให้ และนักศึกษาเป็นผู้รับถ่ายเดียว
ที่แจกแจงมาทั้งหมดนี้ มิได้จะแก้ต่างว่ามหาวิทยาลัยไม่มีส่วนผิดในความล้มเหลวของระบบการศึกษาในยุคสมัยที่บทกวีนี้เขียนขึ้น
แต่เพียงต้องการจะชี้ว่าตัวบทกวีชิ้นนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาที่หยั่งรากลึกในระบบการศึกษาไทยในยุคนั้น มิได้อยู่เพียงความไร้ประสิทธิภาพของมหาวิทยาลัยเท่านั้น ที่สำคัญกว่าคือรากฐานความคิดเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัย ซึ่งแม้แต่ผู้มองเห็นความล้มเหลวของระบบการศึกษา ก็มิได้สำเหนียกว่าความคาดหวังของตนเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย