ศรัณย์ภัทร์ บุญฮก

 

ศรัณย์ภัทร์ บุญฮก

 

เกลียวกระซิบจากนวนิยายข้ามเวลาหารักสู่การค้นหารากเพื่อก้าวข้ามอคติ

 

            นวนิยายอิงประวัติศาสตร์มักหยิบช่วงเวลาวิกฤติหรือช่วงเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาคมาเป็นฉากหลัง หลายเรื่องใช้การเดินทางข้ามเวลา (time travel) ให้ตัวละครจากโลกปัจจุบันย้อนกลับไปทำภารกิจในอดีต การเสียกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นเหตุการณ์ยอดนิยมที่ถูกใช้เพื่อเสนอแก่นความสามัคคีและแนวคิดชาตินิยมของฝ่ายไทย แต่มีเรื่องราวน้อยนักที่เล่าถึงชะตากรรมของเชลยคนไทยในพม่า รวมถึงเสนอแนวคิดอื่นนอกจากเพียงชาตินิยม

            นวนิยายเรื่อง เกลียวกระซิบ ของพงศกร ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2561 คงเป็นหนึ่งในจำนวนน้อยนั้น 
นวนิยายรักแนวข้ามเวลาเล่มนี้แสดงมุมกลับของประวัติศาสตร์ ด้วยการเล่าเรื่องจากสายตาและสถานที่ฝ่ายพม่าผ่านตัวละครเอกหญิงชาวพม่าผู้มีเชื้อสายเจ้านายโยเดียหรืออยุธยา ผู้บังเอิญย้อนเวลากลับไปเมื่อสองร้อยปีก่อนจนพบชายหนุ่มผู้เป็นแม่ทัพชาวอังวะและหญิงสาวบรรพบุรุษชาวโยเดียของเธอ อันเป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งเรื่องราวในอดีตประวัติศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงแก่ชีวิตในปัจจุบันจนต้องเดินทางกลับไปมาระหว่างปัจจุบันกับอดีตอีกสองครั้ง เพื่อทำภารกิจสำคัญที่มิได้หยุดเพียงแค่ความรักระหว่างคนสองคนแต่ลงท้ายด้วยการสมานรอยร้าวระหว่างสองชนชาติ

            แม้นวนิยายเล่มนี้มีกลิ่นอายของเรื่องรักพาฝันและเรื่องเหนือจริงด้วยการข้ามเวลา แต่เชื่อแน่ว่า หากผู้ใดได้อ่านนวนิยายเล่มนี้ถึงบรรทัดสุดท้ายย่อมท้าทายความคิดความเชื่อระหว่างไทยกับพม่าเสียใหม่ ด้วยมุมที่แทบไม่มีผู้ใดกล่าวถึงโดยการดำเนินเรื่องอย่างสนุกน่าติดตามของนวนิยายนี้ได้ซ่อนประเด็นอันหนักหน่วง คือ บาดแผลของสองชนชาติ บทวิจารณ์นี้จึงจะได้ชี้ชวนไปสำรวจประเด็นเหล่านั้นให้เห็นว่า
นวนิยายเรื่องนี้ไม่มีเพียงเรื่องรัก แต่เป็นเรื่องของรัฐ มิได้เป็นเพียงเรื่องของการพลัดหลงกาลเวลา แต่เป็นการพลัดถิ่นฐาน และมิได้เป็นเพียงการข้ามเวลา แต่คือการก้าวข้ามอคติระหว่างชนชาติ

 

“รัก” และ “รัฐ” : การเดินทางข้ามเวลากับความสัมพันธ์ส่วนตัวและส่วนรวม

            เกลียวกระซิบมีโครงเรื่องข้ามเวลาจากพื้นที่เมืองมัณฑะเลย์ ค.ศ. 2018 กลับไปในอดีตถึงสามครั้ง ครั้งแรก ค.ศ. 1817 ครั้งที่สอง ค.ศ. 1818 และครั้งที่สาม ค.ศ. 1815 ทั้งสามช่วงเวลาตรงกับประวัติศาสตร์ไทย คือ 50 ปีหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 หรือสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ การข้ามเวลาเป็นปมขัดแย้ง (conflict) สำคัญของเรื่องโดยพงศกรได้ผูกโยงเข้ากับความรักอันเป็นเหตุให้เกิดการข้ามเวลาตามขนบ
วรรณกรรมโรมานซ์ (romance) แต่ขยายประเด็นจากความรักไปสู่ความสัมพันธ์ระดับรัฐ

            การเดินทางข้ามเวลากับความรักเริ่มต้นจากเจดีย์ซินพิวเม (Hsinbyume) อนุสรณ์แห่งความรักซึ่งได้รับสมญานามว่า ทัชมาฮาลแห่งลุ่มอิรวดี การไปสักการะพระเจดีย์ของ “มินมิน” กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งแรก เธอพบกับ “ต่อพญายี” แม่ทัพใหญ่ผู้ปกครองเชลยชาวโยเดียสมัยอังวะเมื่อสองร้อยปีก่อน จนเกิดเป็นปัญหาใหญ่ตามมา เพราะต่อพญายีเดิมลักลอบคบหากับ “เจ้าฟ้าดารา” อยู่ก่อนเจ้าฟ้าดารามีเชื้อสายเจ้าฟ้าจากอยุธยา หากเกิดและเติบโตในอังวะ ทั้งยังเป็นต้นตระกูลของมินมิน ด้วยความเป็นศัตรูกันจากหนหลัง เจ้าฟ้าทับทิม พระมารดาจึงกีดกันความรักระหว่างต่อพญายีและเจ้าฟ้าดาราและการปรากฏตัวของมินมิน ทำให้ชายหนุ่มหันมาสนใจเธอแทนตัวเธอจึงเข้าไปแทนที่คนรักของบรรพบุรุษ แต่ยังไม่ทันได้ครองคู่ เธอก็ย้อนเวลากลับมาเสียก่อน

            การเดินทางกลับไปอดีตเร้าให้ความสัมพันธ์ระหว่างมินมินกับ “ปรมินทร์” ในโลกปัจจุบันพัฒนาขึ้น ปรมินทร์ ชายหนุ่มชาวไทยผู้สืบเชื้อสายจากราชวงศ์บ้านพลูหลวงและเป็นเจ้าของโรงเรียนทำอาหารซึ่ง
มินมินเรียนอยู่ เขาได้หันมาสนใจเธอมากยิ่งขึ้น เพราะการเดินทางข้ามเวลาทำให้มินมินขาดสอบและไม่มีใครเชื่อเธอ ยกเว้นเขาปรมินทร์จึงพิสูจน์ความจริงจนความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองพัฒนาไปและทำให้รู้ว่า แท้จริงแล้วทั้งสองมีบรรพบุรุษเดียวกันจากเจ้าฟ้าโยเดียเช่นเดียวกันหากความรักของทั้งคู่พบพบอุปสรรคจากมารดาของชายหนุ่ม คือ ม.ล.พรรณเพลิน ผู้ทะนงในชนชั้นและชนชาติของตน ทั้งคู่ตกกะไดพลอยโจนเดินทางย้อนเวลาครั้งที่สองซึ่งเป็นเวลาหนึ่งปีถัดมาหลังจากมินมินพบกับต่อพญายีเวลานี้เขาไม่สนใจเจ้าฟ้าหญิง แต่ปักใจรักมินมิน มินมินถูกส่งตัวเพื่อเป็นชายา แต่ปรมินทร์วางอุบายสลับตัวกับเจ้าฟ้าดาราไปแทนที่มินมิน ก่อนทั้งคู่เดินทางกลับมาโลกปัจจุบัน

            หากมองอย่างผิวเผิน นวนิยายเรื่องนี้ใช้การข้ามอดีตเพื่อให้ตัวละครเอกในปัจจุบันไปขัดขวางความรักระหว่างสองตัวละครในอดีตจนกลายเป็นการเปลี่ยนประวัติศาสตร์ไป แต่น่าสังเกตว่า นวนิยายกลับแสดงปมปัญหาที่แท้จริงว่าเกิดจากอคติของคนในอดีตต่างหากเป็นปมขัดขวางความรักของชายชาวอังวะและเจ้าฟ้าชาวโยเดียอันเป็นผลให้เกิดการเดินทางครั้งที่สาม กล่าวคือ เมื่อมินมินและปรมินทร์เดินทางกลับมายังโลกปัจจุบัน โลกที่พวกเขาอยู่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งคู่จึงย้อนเวลาไปอีกครั้งเพื่อจัดการให้ต้นตระกูลของทั้งคู่สมหวังในความรักให้ได้และครั้งนี้พวกเขาย้อนเวลาถอยหลังไปก่อนหน้าการพบกันของต่อพญายีกับมินมินครั้งแรก โดยปรมินทร์วางอุบายมุ่งเป้าไปที่ “เจ้าฟ้ามาลา” เจ้าฟ้าโยเดียผู้ชิงชังอังวะอย่างยิ่ง เพื่อเปลี่ยนความคิดของเจ้าฟ้าและเปิดทางให้ความรักของต่อพญายีกับเจ้าฟ้าดาราเกิดขึ้นได้ จนผลจากการเดินทางไม่เพียงส่งผลให้โลกปัจจุบันเหมือนเดิม แต่ดีขึ้นกว่าเดิมด้วย

            เห็นได้ว่า นวนิยายเรื่องนี้ให้เห็นว่าอุปสรรคของความรักมิใช่เรื่องของปัจเจก แต่ถูกกรอบสังคมมากำหนด นั่นคือ อคติระหว่างสองชนชาติที่เกลียดชังอีกฝ่ายแบบคู่ตรงข้าม (binary opposition) แบ่งฝ่ายเป็น “พวกเรา” กับ “พวกเขา” ภารกิจย้อนเวลาจึงมุ่งสู่การย้อนกลับไปก่อนที่ความรักจะเริ่มต้น คือ แก้ไขอคติที่บ่มเพาะและส่งต่อภายในชนชาตินั้นโดยนัยนี้ ความ “รัก” จึงเป็นกลวิธีในการสื่อสารเรื่องการก้าวข้ามอคติในใจคนอันเพื่อนำไปสู่การลดละอคติระหว่างสอง “รัฐ” และหากรัฐทั้งสองรักกันแล้ว รักของปัจเจกก็ย่อมปราศจากอุปสรรค ความรักในนวนิยายเรื่องนี้จึงถือเป็นสื่อกลางแทนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐนั่นเอง

 

โยเดียที่ไม่รู้จัก อยุธยาที่ไม่ทันเห็น: เรื่องเล่าและตัวละครพลัดถิ่นกับการรื้อถอนภาพจำ

            นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทยน้อยเรื่องนักที่สร้างตัวละครคนไทยเป็นกลายเป็นตัวละครชายขอบในรัฐคนอื่น หากตัวละครในเรื่องเกลียวกระซิบ กลับเลือกสร้างให้ตัวละครเอกกลับเป็นคนโยเดียพลัดถิ่นในดินแดนพม่าหลายรุ่น (generation) ซึ่งมีทั้งในภาคอดีตและภาคปัจจุบันในภาคอดีต พงศกรสร้างตัวละครเจ้าฟ้าซึ่งถูกเป็นเชลยของพม่าแต่เลี่ยงการใช้ช่วงเวลาหลังกรุงแตก กลับเลือกใช้เวลาให้ล่วงเลยมากว่า 50 ปี เพื่อทำให้เกิดทั้งคนรุ่นที่ทันรู้จักและทันเห็นอยุธยาสื่อแทนคนที่มีบาดแผลโดยตรง กับคนอีกรุ่นหนึ่งซึ่งเกิดและเติบโตในอังวะ ความเป็นโยเดียและอยุธยาเป็นเพียงจินตภาพจากเรื่องเล่าเท่านั้น ดังที่ “เจ้าฟ้ามาลาเป็นบุคคลเดียวในครอบครัวที่เคยเห็นความรุ่งเรืองและความล่มสลายของราชอาณาจักรอยุธยา...สำหรับเจ้าฟ้าทับทิมและเจ้าฟ้าดารานั้นไม่ต้องพูดถึง ทั้งสองเกิดในแผ่นดินอังวะ เป็นคนโยเดียที่ไม่เคยเห็นโยเดียความเกลียดชังที่เกิดขึ้นในใจของเจ้าฟ้าทับทิมเกิดจากคำบอกเล่าและการอบรมสั่งสอนของเจ้าฟ้ามาลา เกลียดอังวะ ที่ทำลายอยุธยา ทั้งๆ ที่เธอเองไม่เคยเห็นอยุธยาด้วยซ้ำ (น.416-417)

            ส่วนในภาคปัจจุบัน มินมินและปรมินทร์แม้ด้วยสัญชาติเป็นชาวพม่าและชาวไทย หากตัวละครทั้งคู่มีจุดร่วมคือ ต่างสืบเชื้อสายมาจากเจ้านายชาวโยเดียสมัยอยุธยา สายหนึ่งสืบสายจากเชลยในพม่า  ขณะที่อีกฝ่ายเติบใหญ่ในบางกอกน่าสังเกตว่า ความเป็นโยเดียและอยุธยาเป็นเพียงจินตภาพที่ห่างไกลของตัวละครทั้งคู่ พวกเขารับรู้และภาคภูมิในเชื้อสายจากเพียงเรื่องเล่าภายในครอบครัวเท่านั้นหากการบรรจบกันระหว่างตัวละครสองยุคซึ่งล้วนร่วมเชื้อสายโยเดียเป็นการให้ตัวละครในปัจจุบันได้พบรากเหง้าของตนอย่างเป็นรูปธรรม และในเวลาเดียวกัน นวนิยายแสดงการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของตัวละครไปทีละน้อย ด้วยการเดินทางไปพบว่าภาพเชลยมิได้เป็นอย่างที่เข้าใจ อังวะให้เกียรติเจ้าฟ้าและทุกคนต่างอยู่อย่างมีความสุขตามฐานะของตน “วันนี้คุณได้มาเห็นลูกหลายเชลยตัวจริงเสียงจริงกับตาตัวเองแล้ว เห็นไหมคะว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนโยเดียในอังวะไม่เหมือนที่คุณคิดเลยสักนิด” (น.397) พร้อมเสนอความหมายใหม่ของสงคราม“การทำสงครามไม่ใช่เพราะความโกรธแค้น จ้องจะทำลายล้าง แต่เป็นการถ่ายเทกำลังคน...คนชนะก็กวาดเอาผู้คนเอาไปสร้างบ้านสร้างเมือง ไม่ได้เอาไปฆ่าแกงอย่างที่คนในปัจจุบันนึก” (น.397-398) ผลของมายายคติจึงมาพร้อมความเกลียดชังจากรุ่นสู่รุ่น

            เมื่อความขัดแย้งเกิดจากมายาคติจึงต้องเริ่มแก้จากต้นตอการย้อนเวลาครั้งที่สาม ปรมินทร์วางแผนพบเจ้าฟ้ามาลา ผู้เดียวที่เกิดทันอยุธยา พร้อมยื่นข้อเสนอพาพระนางกลับไปบางกอก และนั่นได้สั่นคลอนความคิดของตัวละครอย่างยิ่ง“ความรู้สึกในยามนั้นเต็มไปด้วยความสับสน อยากกลับบ้าน หากบ้านที่ปรมินทร์เอ่ยถึง มิใช่บ้านหลังเดิมของเธออีกต่อไป...” (น.413) และบทสรุปได้ลงเอยว่า เจ้าฟ้ามิได้กลับไป เพราะตระหนักแล้วว่า แม้อยุธยาคือบ้านเก่า แต่อังวะคือบ้านที่มีความสุขส่วนบางกอกคือถิ่นที่ที่เธอไม่อยู่จักโดยนัยนี้ ตัวละครเชลยโยเดียเหล่านี้อาจแปรเปลี่ยนความหมายจากบุคคลพลัดถิ่นไปสู่บุคคลติดถิ่น ซึ่งการยึดโยงอัตลักษณ์ของพวกเขาได้เปลี่ยนไปจากเคยยึดกับอยุธยามาสู่อังวะ และอีกด้านหนึ่ง การที่ัตัวละครตัดสินใจเช่นนี้ทำให้เห็นถึงความรู้สึกซึ่งมาก่อนการเกิดขึ้นของรัฐชาติสมัยใหม่ คือ อาณาจักรทั้งสองมิได้เป็นหนึ่งเดียวกัน ตัวละครจึงรู้สึกว่าบางกอกมิใช่บ้าน อันแตกต่างจากปัจจุบันที่ความเป็นชาติคือความต่อเนื่องโดยนัยนี้ การตัดสินใจของตัวละครนับเป็นการทลายกรอบคิดแบบชาตินิยม

            การรื้อถอนมายาคติเกี่ยวกับเชลย สงครามและคนพลัดถิ่นผ่านตัวละครเชลยชาวโยเดียหลายรุ่นนี้ันับเป็นสาระสำคัญที่พงศกรแฝงไว้ให้เห็นถึงว่า ภาพจำของคนในยุคหลังต่อคนในอดีตอาจเป็นเพียงสิ่งประกอบสร้างจากเรื่องเล่า การเดินทางจึงเป็นการเปิดมุมมองใหม่และสลายภาพจำเหล่านั้น ก่อนที่เรื่องจบลงด้วยความสุข ที่น่าสังเกต ตอนจบของปมความขัดแย้งเรื่องชนชาติที่มารดาปรมินทร์กีดกันมินมินหายไป อย่างสิ้นเชิง อันอาจตีความได้ว่า การสลายอคติของคนรุ่นหนึ่งยังส่งทอดต่อไปสู่อีกหลายรุ่นเช่นกัน

 

ศรัทธา อาหารและรากร่วม: การก่อร่างความทรงจำใหม่จากวัฒนธรรมร่วม

            นวนิยายเรื่องนี้มิได้เพียงทำลายภาพจำอันเลวร้ายระหว่างสองชนชาติ แต่ได้ประกอบสร้าง
วาทกรรม (discourse) ชุดใหม่ในฐานะ “รากร่วม” ของคนสองชาติเข้ามาแทนที่ โดยใช้เครื่องมือทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ปรากฏอย่างโดดเด่นในนวนิยายของพงศกรมาโดยตลอดเจดีย์ซิวพิวเม เป็นสัญลักษณ์สำคัญแรกที่พงศกรนำมาใช้เป็นสื่อกลางทางวัฒนธรรมของสองชาติอันอยู่เหนือกาลเวลา เพราะเจดีย์ซินพิวเมซึ่งมีลักษณะเป็นระลอกคลื่นมาเป็นเกลียวแห่งกาลเวลาในการพาตัวละครย้อนอดีต เป็นสัญลักษณ์ซึ่งแสดงความศรัทธาทางพระพุทธศาสนา และศรัทธานี้เองที่ทำให้ตัวละครทั้งมินมิน 
ต่อพญายี เจ้าฟ้าดาราและปรมินทร์มาบรรจบกันส่วนการข้ามเวลาโดยมีเจดีย์แห่งนี้ปรากฏทั้งสองยุคยิ่งตอกย้ำถึงศรัทธาที่มั่นคงอยู่เหนือกาลเวลาที่มีสายใยทางวัฒนธรรมร่วมรากจากพระพุทธศาสนา ไม่เพียงเท่านั้น ศาลพระราม เป็นอีกสถานที่ซึ่งได้รับการกล่าวถึงไว้ไม่ต่างเจดีย์ ศาลพระรามแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตของชาวโยเดียซึ่งปรากฏอยู่ทั้งสองยุคเป็นพื้นที่ที่แสดงอัตลักษณ์ความเป็นโยเดีย เพราะศาลพระรามมีเรื่องเล่า ความเชื่อและพิธีกรรมอันเกี่ยวเนื่องจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์อันมาพร้อมกับชาวโยเดีย โดยนวนิยายเรื่องนี้ได้ขับเน้นว่า การเข้ามาของวรรณคดีเรื่องนี้ได้ทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมร่วมของสองชาติในปัจจุบัน

            อาหารนับเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของนวนิยายเรื่องนี้ พงศกรคงหยิบยกเอากระแสความนิยมของรายการแข่งขันทำอาหารในปัจจุบันมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างให้ปรมินทร์เป็นเจ้าของโรงเรียน Mandalay Culinary School ส่วนมินมินมีความมุ่งมั่นจะเป็นเชฟชื่อดัง ในเรื่องมีการทดสอบและแข่งขันทำอาหารไม่ต่างจากรายการโทรทัศน์ แต่สิ่งที่นวนิยายได้ไปไกลกว่านั้น คือ การใช้อาหารเป็นสื่อทางวัฒนธรรมร่วมของสองชาติ ผ่าน “ข้าวมันโยเดีย” โดยสูตรข้าวมันโยเดียนี้ มินมินได้กลับมาจากการเดินทางครั้งแรก จนได้ “สูตรต้นตำรับ” จากคนโยเดียแท้ๆ นี้ ยิ่งเป็นขับเน้นการเดินทางเพื่อหารากเหง้าทางวัฒนธรรม ส่วนการนำอาหารเก่ามาปรุงใหม่ก็เพื่อแสดงความภาคภูมิในวัฒนธรรม “ข้าวมันจานนี้เป็นสูตรที่ถ่ายทอดกันมาในตระกูล...ตั้งรกรากอยู่ที่นี่จนถึงทุกวันนี้ ข้าวมันจานนี้ก็ทำกินกันมาจากรุ่นสู่รุ่น”(น.110) ชัยชนะของเมนูนี้จึงไม่เพียงเพราะรสชาติ แต่เป็นชัยชนะของ “วัฒนธรรมข้าว” ที่มีร่วมกันของคนสองชาติ 

            ที่สำคัญ พงศกรได้ใช้ตัวละครที่ต่างสืบเชื้อสายจากรากร่วมเดียวกัน แต่ปัจจุบันกลับต่างสัญชาติมาเป็นสื่อกลางในการสร้างความทรงจำร่วมกันระหว่างคนสองชาติ เพราะหากมองอย่างผิวเผินแล้วทั้งสองคนเป็นคนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม กระทั่งการข้ามเวลา การเรียนรู้ผ่านอาหารและความศรัทธากลับเปลี่ยนแปลงให้เห็นว่า ทั้งคู่ต่างมิได้ “เป็นอื่น” แต่กลับ “ร่วมราก” เดียวกันมา การสร้างตัวละครให้ครอบครัวของทั้งสองพลัดพรากจากกันในอดีต ก่อนย้อนกลับมาบรรจบกันอีกครั้ง อาจเป็นนัยหนึ่งให้ตีความได้ว่า ไทยและพม่าต่างมิได้เป็น “ศัตรู” กันอย่างที่เข้าใจ แต่เป็นคน “ร่วมเชื้อสาย” ที่หากันจนเจอในปัจจุบัน ท้ายที่สุด ความรักของทั้งคู่ลงเอยได้อย่างมีความสุข เมื่อไม่มี “พวกเขา” เพราะมีแต่ “พวกเรา”

 

เกลียวกระซิบ : เกลียวแห่งเวลาพัดผ่าน กระซิบสารแห่งปัจจุบัน

            สื่อ แบบเรียนและวรรณกรรมที่ผ่านมาต่างผลิตภาพซ้ำความเป็นศัตรูคู่แค้นให้แก่พม่ามาอย่างยาวนาน แต่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มุมมองดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนไป นวนิยายเล่มนี้คงเป็นผลผลิตหนึ่งของโลกทัศน์ที่เปลี่ยนตาม การอ่านเรื่องราวอดีตจากนวนิยายเรื่องนี้คงทำให้เข้าใจปัจจุบันได้มากขึ้นเช่นกัน เพราะเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่ถูกหยิบยกมาเล่ามิได้ถูกเลือกอย่างไร้ความหมาย และมิได้ถ่ายทอดอดีตอย่างตรงไปตรงมา การย้อนอดีตคงมิได้เพียงกลับไปเรียนรู้อดีต แต่ช่วงสมัยที่ย้อนไป ภารกิจที่ทำล้วนเชื่อมโยงกับปัจจุบันที่แต่งนวนิยายทั้งสิ้น เกลียวกระซิบเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนอันแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมไทยอันส่งผลต่อเนื้อหาและแนวคิดในวรรณกรรมที่สำคัญคงเป็นเพราะ ในช่วงกลางทศวรรษ 2550 กระแสการรวมประชาคมอาเซียนกลายเป็นวาทกรรมที่มีบทบาทในการมองเพื่อนบ้านในมุมใหม่ เกิดการส่งเสริมให้เรียนรู้และมองในฐานะพันธมิตรมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น กระแสของความหลากหลายทางวัฒนธรรม สิทธิมนุษยชนตอลดจนถึงกลุ่มคนชายขอบต่างกลายเป็นประเด็นที่สังคมสนใจในวงกว้าง เรื่องราวในนวนิยายเรื่องนี้คงเป็นผลอันสืบเนื่องจากหลายปัจจัยที่กล่าวมาที่ทำให้การเลือกช่วงเวลาและมุมมองการเล่าเรื่องกลับมาตอบจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อปรับเปลี่ยนมุมมองต่อ “ศัตรูคู่แค้น” สู่ “เพื่อนร่วมวัฒนธรรม” หากสิ่งที่ยังไม่หายไปจากนวนิยายแนวอิงประวัติศาสตร์เล่มนี้ คือ ความรักและภูมิใจในความเป็นไทย แต่เป็นความเป็นไทยที่ใจกว้างมากกว่าเขตแดนหรือสัญชาติไทย เป็นความรักชาติที่เราไม่จำเป็นต้องเกลียดคนอื่น ไม่จำเป็นต้องยกตนให้สูงเพื่อกดคนอื่นต่ำ และไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกเราและเขา แต่เป็นการมุ่งไปสู่โลกใหม่แห่งความเป็นพลเมืองอาเซียน กระทั่งพลเมืองโลก พร้อมเปิดพื้นที่ให้ความหลากหลายได้เฉลิมฉลองร่วมกัน

 

!!!!!!!

 

แหล่งอ้างอิง

พงศกร. (2561). เกลียวกระซิบ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : กรู๊ฟ พับลิชชิ่ง.

 


 


Visitors: 72,053