น้ำตาเทียน

 

 น้ำตาเทียน

 

จะรีบสิ้นหวังไปทำไมนี่ยังไม่ใช่ "ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง"

 

           “ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง” คือนวนิยายของจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท กล่าวถึงสังคมที่มีวิทยาการล้ำสมัยสองอย่าง คือ สลีปน็อก และหุ่นยนต์รับใช้ สลีปน็อกคืออาชีพที่มีคนหนึ่ง (เรียกว่า สลีปเปอร์) จะต้องเก็บชั่วโมงการนอนไปขายให้อีกคน เพื่อให้คนที่ซื้อชั่วโมงการนอนสามารถทำงานได้ตลอดทั้งวันทั้งคืนราวกับได้พักผ่อนมาแล้ว นอกจากนี้ ผู้ที่ซื้อการนอนจะสามารถเห็นความฝันของสลีปเปอร์ได้ด้วย ส่วนหุ่นยนต์รับใช้ก็เป็นเหมือนแม่บ้านที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูง ความผิดพลาดต่ำ ไม่ขัดขืนคำสั่งใดๆ เหมือนอย่างมนุษย์

            ปมปัญหาเริ่มขึ้นเมื่อโจเอล (ชนชั้นล่าง) สลีปเปอร์ที่ขายการนอนอย่างหนักหน่วง ต้องซื้อยานอนหลับเพื่อแก้ปัญหาการนอนไม่หลับซึ่งเป็นผลกระทบจากการทำงาน ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เขาต้องเป็นสลีปเปอร์ไปเรื่อยๆ เพราะเป็นอาชีพที่ได้เงินดี และได้แต่หวังว่าจะมีรายรับเกินรายจ่ายเพื่อจะไปทำงานอื่นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพน้อยกว่านี้เสียที

            วันหนึ่ง เขาได้พบกับโอลิเวอร์​ ชนชั้นสูงที่ต้องการซื้อก้อนสลีปน็อก (ถ่านสำหรับถ่ายโอนการนอน) จากโจเอลโดยตรง พร้อมทั้งเสนอจำนวนเงินที่สูงกว่าปกติ เหตุผลที่โอลิเวอร์ต้องการซื้อเพราะในความฝันของโจเอลมีความรู้สึกดีๆ ต่อเสียงดนตรีที่เขาบรรเลงให้ฟัง โอลิเวอร์แค่ต้องการให้ใครบางคนยอมรับความสามารถด้านดนตรีของเขา

            ในขณะนั้น ตัวละครทุกตัวได้เรียนรู้ชีวิตของกันและกัน ชีวิตภายใต้โลกทุนนิยมที่กลืนกินความเป็นคนจนหมดสิ้น โอลิเวอร์ได้เห็นสภาพความยากจนของโจเอล โจเอลได้เรียนรู้ความทุกข์ที่ซ่อนอยู่ในบ้านหรูหรา หรือแม้แต่การที่ทั้งสองคนเห็นความทารุณที่มนุษย์กระทำต่อหุ่นยนต์ 

            กระทั่งตอนท้ายของเรื่องตัวละครทุกตัวก็ยังไม่หลุดพ้นจากพันธนาการเหล่านี้ ไม่รู้ว่าทางออกจะมีอยู่จริงหรือไม่ แต่พวกเขาเชื่อว่า “ยังมีความหวังเล็กๆ เสมอ”

 

พรมแดนแบ่งชนชาติ

            ในเรื่อง “ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง” แบ่งชนชั้นของตัวละคร 3 ประเภท ประเภทแรกคือชนชั้นสูง (อาศัยอยู่ในนิวแองโกลบน) ได้แก่ โอลิเวอร์ สแกนแลน วลาดีมีร์ ประเภทที่สองคือชนชั้นล่าง (อาศัยอยู่ในนิวแองโกลล่าง) ได้แก่ โจเอล ไอดา และพ่อของไอดา ประเภทที่สามคือหุ่นยนต์ ไม่มีชนชั้นเนื่องจากไม่มีสถานะเป็นมนุษย์ตั้งแต่แรก 

            ผู้เขียนแบ่งแยกชนชั้นสูงกับชนชั้นล่างด้วยทัศนคติของโจเอลที่มองว่า“เมืองนี้ไม่ได้ถูกแบ่งเขตเป็น ‘นิวแองโกลล่าง’ และ ‘นิวแองโกลบน’ อย่างชัดเจนในผังเมืองหรืออะไรทำนองนั้นหรอก มันเป็นการแบ่งในเชิงนามธรรม มองเห็นไม่ได้ แต่ชัดเจนหนักแน่น เมืองแห่งนี้ถูกแบ่งเป็นสองเขตอย่างปฏิเสธไม่ได้ 

เราไม่ได้กำลังหมายถึงนิวแองโกล ‘เหนือ’ และนิวแองโกล ‘ใต้’ ในเชิงของทิศทางภูมิศาสตร์ แต่เราหมายถึงนิวแองโกล ‘สูง’ และนิวแองโกล ‘ต่ำ’ ในเชิงสภาพสังคม”(หน้า26)

จะเห็นได้ว่าผู้เขียนแบ่งแยกชนชั้นสูงและชนชั้นล่างด้วยแนวคิดเชิงนามธรรมที่ตัวละครในเรื่องเข้าใจ โดยไม่จำเป็นต้องมีเส้นแบ่งเขตจำพวกภูเขา แม่น้ำตามแนวคิดทางภูมิศาสตร์

นอกจากนี้ ทัศนคติการแบ่งแยกชนชั้นของโจเอล (ชนชั้นล่าง) กับโอลิเวอร์ (ชนชั้นสูง) ยังแสดงให้เห็นผ่านการที่โจเอลไม่สามารถปฏิเสธความต้องการของโอลิเวอร์ได้ เช่น “โจเอลถอนหายใจ เขาไม่สามารถขัดขืนคนตรงหน้าได้เลย ไม่ว่าจะด้วยฐานะลูกค้าของบ่อน หรือด้วยวิธีที่คนคนนี้พูด”(หน้า14) หรือ“ไม่รู้ทำไม สายตาของโอลิเวอร์ทำให้เขาไม่อาจปฏิเสธได้ นั่นจึงเป็นอีกครั้งที่โจเอลตอบตกลง”(หน้า 58)

ส่วนหุ่นยนต์มีสถานะที่ต่ำกว่ามนุษย์ทั้งสองประเภท เพราะไม่ถูกจัดว่าเป็นมนุษย์ตั้งแต่ต้น หุ่นยนต์ไม่มีสิทธิในการเลือก ดังความว่า“ตอนเช้าออกไปทำงาน พอตอนเย็นก็กลับมาที่ร้าน พวกหุ่นจะทำความสะอาดร่างกายให้กัน แล้วก็เสียบปลั๊กเข้าที่ฝ่าเท้าทั้งสองข้าง นอนหลับ เพื่อรอเช้าวันใหม่อีกครั้ง ไม่มีสิทธิเลือกว่าวันนี้อยากไปไหน ไม่มีสิทธิ์มีข้าวของหรือเสื้อผ้าเป็นของตัวเอง ไม่มีงานอดิเรกหรือสิ่งพักผ่อนหย่อนใจ” (หน้า83) หุ่นยนต์ยังมีลักษณะเป็นสินค้าหรือสัตว์เลี้ยงที่สร้างเพื่อตอบสนองความต้องการของคนเท่านั้น ความว่า “ผู้ชายอยากได้หุ่นยนต์เด็กผู้หญิงสาว ต้องถามไหมว่าทำไม”หรือ “นอกจากเรื่องเพศ หลายคนซื้อหุ่นพวกนี้ไปเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง”(หน้า48)

 

เศษกระดาษความลุ่มหลง

            สิ่งที่ทำให้การแบ่งชนชั้นภายในเรื่องยังคงดำรงอยู่ได้คือระบบทุนนิยมที่ไหลเวียนและกำหนดโครงสร้างสังคม องค์ประกอบภายในเรื่องที่แสดงให้เห็นทุนนิยมได้อย่างชัดเจน คือ สลีปน็อก และหุ่นยนต์รับใช้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จีอาและสแกนแลน(ชนชั้นสูง) สร้างขึ้น

            สลีปน็อก คือ อาชีพที่ชนชั้นล่างจะนอนเพื่อเก็บชั่วโมงการนอนไว้ในถ่านที่เรียกว่า“ก้อนสลีปน็อก” จากนั้นก็จะนำไปขายให้กับชนชั้นสูงที่ต้องการทำงานได้ทั้งวันทั้งคืนโดยไม่เหน็ดเหนื่อย อาชีพดังกล่าวแสดงให้เห็นความเป็นทุนนิยมได้อย่างชัดเจน เพราะการซื้อชั่วโมงการนอนคือการซื้อเวลาในการทำงาน การทำเช่นนี้จึงไม่ต่างกับการที่ผู้ประกอบการซื้อเวลาให้แรงงานมาทำงานแทน ไม่ต้องเสียเวลาในการทำงานเพื่อให้ได้กำไรสูง และจ่ายค่าตอบแทนในราคาต่ำ

            นอกจากนี้ การทำอาชีพสลีปน็อกยังทำให้เกิดผลเสียต่อสลีปเปอร์ (ผู้ขายการนอน) อีกด้วย เพราะเมื่อสลีปเปอร์นอนหลับไปตลอดเวลาทำงาน เขาจึงนอนไม่หลับในเวลากลางคืน ทางออกที่พวกเขามักจะทำคือการซื้อยานอนหลับจากร้านขายยา และผู้ที่ขายยาก็คือร้านรับซื้อการนอน สุดท้ายร้านรับซื้อการนอนก็ได้กำไรจากสองทาง คือ กำไรจากการนำก้อนสลีปน็อกไปขายต่อให้กับชนชั้นสูง และกำไรจากการขายยานอนหลับให้ชนชั้นล่าง สิ่งที่น่าเศร้าคือชนชั้นล่างก็ได้เงินมาแล้วจ่ายไป พวกเขาจึงต้องติดอยู่ในวังวนของการเป็นชนชั้นล่างต่อไป

            สลีปน็อกจึงเป็นอาชีพที่ทำให้ชนชั้นล่างไม่สามารถเลื่อนชนชั้นทางสังคมได้ เช่นเดียวกัน เมื่อสลีปน็อกเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง ชนชั้นสูงผู้มี “เงิน” ในการซื้อสินค้าในปริมาณที่ไม่จำกัด จึงสามารถซื้อแรงงานได้ไม่จำกัด 

ยิ่งไปกว่านั้น ก้อนสลีปน็อกยังเป็นเหมือนสินค้าฟุ่มเฟือยประเภทหนึ่งอีกด้วย ในความเป็นจริง โอลิเวอร์ไม่ได้ต้องการศักยภาพในการทำงานเกินเวลา แต่เขาต้องการความอภิรมย์ขณะเห็นความฝันของผู้อื่น  อำนาจของเงินทำให้เขาสามารถเลือกได้ว่าอยากจะได้ความฝันจากใคร อยากได้ความฝันที่งดงามแค่ไหน เห็นได้จากตอนที่โอลิเวอร์ขอซื้อก้อนสลีปน็อกของโจเอลว่า “แต่เวลาไปที่ร้านเพื่อซื้อสลีปน็อก มันเลือกไม่ได้ว่าถ่านก้อนไหนมาจากคนที่สดใหม่หรือคนที่เป็นผีตายซากแล้ว” (หน้า21) “ดังนั้น โจเอล…ผมอยากได้สลีปน็อกที่มาจากคุณ คุณยังทำงานในโลกภายนอก ยังมีชีวิตคล้ายกับคนที่ไม่ได้นอนเต็มเวลา ก็แปลว่าคุณอาจยังมีความฝันอยู่ใช่ไหม…”(หน้า 22) ตราบใดที่เงินยังสามารถซื้อได้แม้กระทั่งสิ่งที่คนหลงว่ามีค่า มันก็ยังคงซื้อสถานะที่คนหลงว่ามีค่าได้เช่นกัน

            ส่วนหุ่นยนต์รับใช้ก็เป็นเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งแยกหุ่นยนต์ออกจากคน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือหุ่นยนต์มีสถานะต่ำต้อยที่สุด แม้ว่าสลีปเปอร์จะต้องขายทั้งสุขภาพและเวลา แต่ก็ยังคงเหลือชีวิตและจิตวิญญาณ ขณะที่หุ่นยนต์ไม่จำเป็นต้องขายสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด เพราะการซื้อหุ่นยนต์ก็เป็นแค่การซื้อหุ่นยนต์ จะซื้อชีวิตจิตใจได้อย่างไร ในเมื่อตัวละครทุกตัวเชื่อว่า“มันไม่มี”

            ลักษณะหุ่นยนต์เป็นเหมือนที่เมแกน (หุ่นยนต์รับใช้ของโอลิเวอร์) บอกกับโจเอล โจเอลถามว่าเวลาว่างเมแกนชอบทำงานอดิเรกอะไร เมแกนตอบว่า “หุ่นยนต์ไม่มีสิทธิทำสิ่งที่อยากทำหรอกค่ะ พวกเรามีแต่คำสั่งเท่านั้น” (หน้า 134) แสดงให้เห็นว่าหุ่นยนต์ไม่มีอิสระ หรือตอนที่เพื่อนโจเอลซึ่งเป็นช่างซ่อมหุ่นยนต์บอกกับโจเอลว่าหุ่นยนต์ถูกใช้ “อย่างกับเป็นม้าหรือวัวในไร่ที่มนุษย์จะทำอะไรกับพวกมันก็ได้ พอขาเสีย ขี้เกียจจ่ายค่าหยูกยารักษาก็ยิงทิ้งให้พ้นทรมาน ในกรณีของพวกเธอก็คือขายทิ้งไปซะ…”(หน้า 102)

ผู้เขียนพยายามแสดงให้เห็นทัศนคติของคนที่มองว่าหุ่นยนต์ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก จึงไม่มีสถานะเทียบเท่ามนุษย์ เช่น ในตอนที่โอลิเวอร์นึกขึ้นได้ว่าตนเคยระบายความทุกข์ให้เมแกนฟัง ความว่า “ความจริง…เขาเคยเล่าเรื่องนี้ให้เมแกนฟัง แต่เธอก็ไม่ใช่คนอยู่ดี”(หน้า 118) ไม่เพียงแต่ทัศนคติของคนที่มีต่อหุ่นยนต์เท่านั้น หุ่นยนต์ก็เชื่อว่าตัวเองไม่มีความรู้สึกเช่นกัน เมแกนกล่าวว่า “ไม่รู้สิคะ แล้วความรู้สึกสุขเป็นแบบไหนกันนะ ต่อให้มันเกิดขึ้น ฉันก็คงไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว เพราะไม่รู้จักมันหรือว่าตอนนี้ฉันกำลังมีความสุขอยู่แล้ว ฉันไม่รู้เหมือนกันค่ะ”(หน้า 134)

เมื่อโลกทุนนิยมหลอกให้ตัวละครทุกตัวเชื่อแบบนั้น จึงไม่แปลกที่หุ่นยนต์จะยินยอมอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่า เพราะมองว่าการไม่มีความรู้สึกเป็นสิ่งที่ดีแล้ว ความว่า “เป็นหุ่นยนต์ไม่มีทางเลือกในชีวิต ไม่มีทรัพย์สิน ไม่มีเวลาของตัวเอง แต่อย่างไรเสียก็มีคนคอยเลี้ยงดู ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีเงินใช้ ไม่มีข้าวกิน ไม่ต้องกังวลว่าจะเจ็บป่วย…แบบนั้นอาจจะดีกว่าก็ได้นะ”(หน้า 135)

ความโหดร้ายที่สุดประการหนึ่งของเส้นแบ่งชนชั้นที่ตัวละครอย่าง “ทุนนิยม” ขีดเอาไว้คือการถอดคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ทั้งมนุษย์และหุ่นยนต์พึงมี โจเอลต้องปกปิดผลเสียของการที่โอลิเวอร์ใช้สลีปน็อกเป็นเวลานาน เพียงเพื่อเขาจะยังคงหารายได้จากโอลิเวอร์ได้ต่อไป หรือแม้แต่การที่เมแกนขโมยของเล็กๆ น้อยๆ จากโอลิเวอร์เพื่อเติมเต็มความรู้สึกที่เธอขาดหายไป

ทุนนิยมไม่เพียงแต่ทำให้ชนชั้นล่างหรือหุ่นยนต์ย่ำแย่เท่านั้น ชนชั้นสูงก็คือกลุ่มสังคมหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ เมื่อชนชั้นสูงรู้ว่าเงินคืออำนาจในการควบคุมผู้อื่น พวกเขาจึงยอมละทิ้งความเป็นมนุษย์เพื่อให้ได้เงิน ไม่ต่างกับชนชั้นอื่นๆ ที่ยอมสละแรงงาน สละเสรีภาพเพื่อให้ยังคงอยู่ในสังคมได้ เห็นได้จากตอนที่โอลิเวอร์พูดว่า “คนชั้นล่างจำเป็นต้องยอมสละความรัก ครอบครัว หรือศักดิ์ศรีเพื่อแลกกับอาหาร แต่ในนิวแองโกลบนน่ะ ทุกคนมีเงินมากมาย มากจนไม่ต้องสละอะไรทั้งนั้น พวกเขาสามารถอยู่กับครอบครัวและคนที่รัก สามารถธำรงศักดิ์ศรี โดยไม่ต้องอดตายหรือไม่แม้แต่จะต้องหิวด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายทุกคนก็กลับสละทุกอย่างที่สำคัญเหล่านั้นเพียงเพื่อเงิน เพื่อสิ่งของ เพื่อครอบครองทรัพย์สินที่ไม่มีค่าอะไรเลย”“โลกบนนั้น ผู้คนไร้ความเป็นมนุษย์” (หน้า 151)
            เราอาจบอกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าในเรื่องนี้ยังมีมนุษย์อยู่อีกหรือไม่

 

ศีลธรรมยังดำรง

            แม้ว่าโลกทุนนิยมจะทำให้เกิดการแบ่งแยกทางชนชั้น จนเป็นเหตุให้ทุกชนชั้นอยู่ในสภาวะจำยอมต่อความเปลี่ยนแปลง จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง”ดังที่โอลิเวอร์บอกไว้ว่า “มันจะอยู่ตลอดไป พวกนายทุนไม่ยอมให้มันหายไปหรอก ธุรกิจนี้สร้างเม็ดเงินมหาศาล จะมีสลีปเปอร์มือใหม่เข้าไปพัวพันกับมันอีกคนแล้วคนเล่า จะมีผู้เสพอีกมากมายเสียชีวิตไปในโลงศพสีขาวเหล่านั้น” (หน้า 272)

แต่ภายในวิกฤตอันแสนโหดร้ายก็ยังมีความหวังเล็กๆซ่อนอยู่

            ตอนท้ายของเรื่องตัวละครอย่างโอลิเวอร์ โจเอล หรือแม้แต่เมแกนเพิ่งทราบว่าสแกนแลนพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องการทารุณกรรมหุ่นยนต์ด้วยการประมูลหุ่นยนต์เสื่อมสภาพ เพื่อนำมาซ่อมแซมและเลี้ยงดูหุ่นยนต์เหล่านั้นจนนาทีสุดท้ายของชีวิต นอกจากนี้ เขายังคิดค้นยานอนหลับในราคาที่ถูกลงมากๆ เพื่อให้สลีปเปอร์เสียค่าใช้จ่ายจากการทำงานน้อยลง และอาจทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากวงจรแห่งทุนนิยมได้

            สุดท้ายเมื่อเรายังคงอยู่ในโลกที่คนเชื่อว่าเศษกระดาษมีคุณค่า เราคงจะไม่สามารถลบล้างความเชื่อนั้นได้โดยปราศจากเศษกระดาษที่มีปริมาณมากพอๆ กัน 

 

และยังคงมีความหวัง

            ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเริ่มพัฒนาความเป็นทุนนิยมตั้งแต่ทำสนธิสัญญาเบาริงเป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  ไทยจึงมีหน้าที่ในการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองตลาดโลกที่เติบโตมากขึ้น โดยมีลักษณะการผลิตคือการแบ่งงานกันทำ (ประเทศฐานการผลิตจะผลิตสินค้าที่ต่างกันออกไปเพื่อส่งไปให้ประเทศศูนย์กลางเดียวกัน)

ระบบทุนนิยมทำให้ภาคชนบทต้องสูญเสียทรัพยากรจำนวนมากเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเมือง เห็นได้จากการผูกขาดสินค้าเกษตร การที่เจ้าที่ดินในเมืองครอบครองที่ดินในชนบท สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาล

            ในโลกทุนนิยมที่โหดร้าย เราคงจะทำอะไรไม่ได้มากกว่าการสร้าง“ทุนนิยมที่ดี”ตามที่บรรยง พงษ์พานิชให้ความหมายว่า “ทุนนิยมที่ดีจะไม่ยอมรับการเอารัดเอาเปรียบ การฉ้อฉล การครอบงำตลาด การคอรัปชั่น สิ่งต่างๆเหล่านี้ถึงแม้จะมีอยู่ แต่จริงๆมันเป็นที่ไม่ยอมรับ ทุนนิยมที่ดีก็จะพยายามขจัดเรื่องพวกนี้ไป” อาจจะฟังดูตลกร้ายที่เราจะปลดพันธนาการแห่งทุนนิยมด้วยโซ่แห่งทุนนิยม แต่นั่นก็เป็นแสงสว่างเล็กๆที่เรายังมองเห็นได้จากที่มืด

            สิ่งที่น่าเศร้าใจยิ่งกว่าความสิ้นหวังแห่งยุคสมัยคือการนั่งร้องไห้กับยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง

 

บรรณานุกรม

http://www.polsci-law.buu.ac.th/pegjournal/document/1-1/2.pdf

https://youtu.be/JU6S-mcGTT8

 


 

Visitors: 72,347