หัตถกาญจน์ อารีศิลป

 

หัตถกาญจน์  อารีศิลป

 

 

 

เด็กชายสามตา สีดา และนางกวัก:

นัยแห่งความมหัศจรรย์อันศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องสั้นของมหรรณพ โฉมเฉลา

  

          ในแวดวงวรรณกรรมไทยช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจะพบเห็นการใช้คำว่า “สัจนิยมมหัศจรรย์” เพื่ออธิบายกลวิธีและลีลาการประพันธ์เสมอๆ  เช่น  ในคำประกาศของคณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์   ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน(ซีไรต์) ประจำปี 2564 ตอนหนึ่งได้อธิบายถึงนวนิยายเรื่อง เดฟั่น ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ไว้ว่า “เดฟั่น ใช้ตำนานวีรบุรุษที่เล่ากันในท้องถิ่นภาคใต้เป็นตัวเดินเรื่องให้สอดร้อยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม เล่าเรื่องในลีลาวรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์อย่างมีวรรณศิลป์ ผ่านตัวละครเอกคือ เดฟั่น ซึ่งสูญเสียความทรงจำและหลงอยู่ในมิติของห้วงคำนึงที่แหว่งวิ่น” หรือในคำประกาศผลการตัดสินหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 14 ตอนหนึ่ง ได้กล่าวถึงนวนิยายเรื่อง พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ของวีรพร นิติประภา ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ประเภทนวนิยาย (และต่อมาได้รับรางวัล   ซีไรต์ ประจำปี 2561) ไว้ว่า เป็นนวนิยายที่ “นำพาผู้อ่านเดินทางไปพร้อมกับตัวละครและเหตุการณ์ ด้วยกลวิธีการประพันธ์แนวสัจนิยมมหัศจรรย์ ผ่านภาษาที่มีลักษณะเฉพาะตัว และสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนซ่อนไว้อย่างแยบยล คือความปรารถนาให้ผู้อ่านหยุดคิดและตั้งคำถามกับ ‘เรื่องเล่า’ ที่อยู่รอบตัว เพราะที่สุดแล้ว ความทรงจำของอดีตที่รับรู้ในนามประวัติศาสตร์/เรื่องเล่า/หรือตำนาน แท้จริงคืออำนาจของผู้เล่าว่าเลือกจะเล่า เลือกจะลบ หรือเลือกจะลืม”

           การปรากฏใช้คำว่า “สัจนิยมมหัศจรรย์” เพื่ออธิบายลักษณะทางการประพันธ์ของนักเขียนไทยเป็นจำนวนมากในช่วงประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา ทั้งในคำประกาศรางวัลวรรณกรรม ในบทวิจารณ์ซึ่งตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสื่อออนไลน์  รวมไปถึงงานวิชาการด้านวรรณกรรมศึกษาจำนวนหนึ่งนี้ ทำให้ข้าพเจ้าหวนรำลึกถึงเรื่องสั้น “เด็กชายสามตาผู้บังเอิญตกลงมาบนโลก” ของมหรรณพ โฉมเฉลา ซึ่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยมช่อการะเกด ประจำปี 2535 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่เรื่องสั้น “โลกีย-นิพพาน” ของ วินทร์ เลียววาริณ ซึ่งใช้รูปแบบเชิงทดลองด้วยการเล่นกับการแบ่งหน้ากระดาษเป็นคอลัมน์พื้นสีดำและสีขาว ได้รับการลงคะแนนจากผู้อ่านให้ได้รับรางวัลยอดนิยม   สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการช่อการะเกดได้กล่าวถึงเหตุผลที่เลือกเรื่องสั้น “เด็กชายสามตาผู้บังเอิญตกลงมาบนโลก” ของมหรรณพให้ได้รับรางวัลไว้ในนิตยสาร Writer ฉบับเดือนพฤษภาคม ปี 2536 ความว่า “ผมเห็นว่าเรื่องมีโครงสร้างที่เดินเรื่องแบบ magical realism เห็นอิทธิพลของ      มาร์เควซจากเรื่องเทวดาตกลงมาปีกหักอยู่เหมือนกัน แต่เอามาตัดคะแนนไม่ได้ เพราะบริบทมันเป็นไทย และทำให้คนอ่านตีความได้หลายนัยว่า เด็กชายสามตามีจริงหรือ ทำไมจึงมีสามตา ทำไมไม่สี่ตา ห้าตา ที่ใช้สามตานับว่าเหมาะ เพราะมีนัยเชิงสัญลักษณ์ของสังคมไทยและโลกตะวันออกที่มักจะคิดอะไรเป็นสาม [...] ที่สำคัญคือมันดูศักดิ์สิทธิ์ แต่ในที่สุดก็หายไปเฉยๆ โดยไม่ต้องให้คำอธิบายที่ชัดเจนว่ามันมีจริงหรือไม่”

             กล่าวได้ว่า เรื่องสั้น “เด็กชายสามตาผู้บังเอิญตกลงมาบนโลก” ของมหรรณพ โฉมเฉลา ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารช่อการะเกดปี 2535 เป็นงานวรรณกรรมไทยชิ้นแรกๆ  ที่บุกเบิกและเปิดตัว (อย่างเป็นทางการ) พร้อมคำประกาศจากบรรณาธิการในฐานะที่ใช้การผูกเรื่องในแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากเรื่องสั้นเรื่อง “ชายที่แก่ชราอย่างยิ่งผู้มีปีกอันมหึมา” ของ การ์เบรียล การ์เซีย มาร์เกซ  แต่ได้นำมาปรับเป็นบริบทไทยๆ 

             เมื่อข้าพเจ้าได้รับเชิญจากโครงการ “ดวงใจวิจารณ์”​ และได้รับโจทย์เรื่องขอบข่ายของการวิจารณ์ให้คัดสรรตัวบทวรรณกรรมซึ่งตีพิมพ์ก่อนปี 2560 มานำเสนอให้ผู้สนใจวรรณกรรมไทยแล้ว หนังสือรวมเรื่องสั้นเรื่อง​ เด็กชายสามตาผู้บังเอิญตกลงมาบนโลกและเรื่องอื่นๆ  ของ มหรรณพ โฉมเฉลา จึงกลายมาเป็นขอบเขตของตัวบทที่ใช้ในการเขียนบทวิจารณ์เรื่องนี้ หนังสือเล่มดังกล่าวตีพิมพ์โดยเสือกระดาษ สำนักพิมพ์ เมื่อปี 2561 เป็นฉบับปรับปรุงและคัดสรรใหม่ โดยรวบรวมจากผลงานเรื่องสั้นของมหรรณพซึ่งเคยตีพิมพ์ในช่วงปี พ.ศ. 2535 ถึง 2545 ลงในนิตยสารช่อการะเกด หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และหนังสือรวมสั้นเรื่องเล่มต่างๆ

 

ทบทวนสัจนิยมมหัศจรรย์แบบไทย...

             ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ได้อธิบายความหมายโดยสรุปของสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) ไว้ในบทความเรื่อง “วรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ สุนทรียศาสตร์ของการต่อต้านและการเมืองว่าด้วยอัตลักษณ์วรรณกรรม” (2552) ความว่า สัจนิยมมหัศจรรย์เกิดจากการนำคำสองคำที่สื่อถึงแนวการประพันธ์ 2 รูปแบบซึ่งเป็นปรปักษ์กันมาวางไว้เคียงกัน คือ “realism"  หรือวรรณกรรมแนวสัจนิยม ซึ่งเป็นศิลปะการประพันธ์ที่เน้นสะท้อนภาพชีวิตและสังคมตามความเป็นจริง และความสมจริงของเรื่องตั้งอยู่บนฐานคิดแบบเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ และคำว่า “magic” ซึ่งสื่อความถึง "วรรณกรรมแนวแฟนตาซี" ซึ่งผูกพันกับเรื่องมหัศจรรย์เหนือจริงรวมถึงตำนานและเรื่องเล่าพื้นถิ่นซึ่งไม่สามารถอธิบายด้วยหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ได้ ด้วยเหตุนี้ สัจนิยมมหัศจรรย์จึงเป็นพื้นที่แห่งการปะทะสังสรรค์ระหว่างโลกทัศน์สองแบบซึ่งผูกโยงกับตรรกะคนละแบบ นัยของการใช้สัจนิยมมหัศจรรย์จึงมีความสำคัญในการต่อรองและบ่อนเซาะวาทกรรมกระแสหลักที่ยึดโยงกับโลกทัศน์ของเหตุผลและตรรกะทางวิทยาศาสตร์ตามขนบการประพันธ์แบบสัจนิยมเท่านั้น โดยเสนอให้เห็นว่า กรอบของความเป็นจริงดังกล่าวข้างต้น มิใช่โลกทัศน์หรือวิธีการในเข้าถึงความเป็นจริงเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น

 

ขอบคุณที่มารูปภาพจาก https://www.facebook.com/CandideBooks/posts/1231207490230623:0?_rdr

 

            ในบทความเรื่อง “สัจนิยมมหัศจรรย์ในฐานะทางเลือกวรรณกรรมของไทย” ในหนังสือเรื่อง สัจนิยมมหัศจรรย์ในงานของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ, โทนี มอร์ริสัน และวรรณกรรมไทย (2559)  ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ได้ศึกษาเปรียบเทียบเรื่องสั้น “ชายที่แก่ชราอย่างยิ่งผู้มีปีกอันมหึมา” ของ การ์เบรียล การ์เซีย มาร์เกซ  กับ เรื่องสั้น “เด็กชายสามตาผู้บังเอิญตกลงมาบนโลก” ของมหรรณพ โฉมเฉลา ผลการศึกษาพบว่า แม้ว่าเรื่องสั้น“เด็กชายสามตาฯ” จะได้รับอิทธิพลจากเรื่องสั้น “ชายที่แก่ชราฯ” แต่ในด้านกลวิธีการประพันธ์สัจนิยมมหัศจรรย์นับว่าแตกต่างกัน กล่าวคือ

             “ความมหัศจรรย์ในงานของการ์เซียมาร์เกซ มุ่งท้าทายและตั้งคำถามกับขนบการเขียนแนวสัจนิยม ผ่านการแปรอุปลักษณ์หรืออุปมาให้กลายเป็นความมหัศจรรย์ โดยการทำให้อุปมาหรืออุปลักษณ์ดังกล่าวมีความหมายตรงตามตัวอักษร (literalization) แต่ในงานของมหรรณพนั้นกลับเป็นการแปรความมหัศจรรย์ให้เป็นอุปมาหรืออุปลักษณ์หรือสัญลักษณ์ ความมหัศจรรย์ในเรื่องที่ได้รับการสถาปนาขึ้นมานั้น ในท้ายที่สุดจะสื่อความหมายได้ก็ต่อเมื่อเราตีความความมหัศจรรย์ในฐานะที่เป็นการเปรียบเปรย ซึ่งโดยนัยแล้วก็เท่ากับเป็นการทำให้ความมหัศจรรย์กลายเป็นความสมจริงในกรอบของการเล่าเรื่องตามขนบสัจนิยม ในแง่เนื้อเรื่องความมหัศจรรย์อาจจะเกิดขึ้นจริง แต่ในแง่ความหมาย ความมหัศจรรย์เป็นเพียงความเปรียบเท่านั้น” (หน้า 153)

             ในท้ายบทความเรื่องดังกล่าวของชูศักดิ์ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับวรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ของไทยจำนวนมากไว้ว่า แม้ความมหัศจรรย์ในเรื่องจะเกิดขึ้นจริงในฉากสัจนิยม แต่ก็เป็นความมหัศจรรย์ที่มุ่งเน้นให้ผู้อ่านตีความในเชิงอุปมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนและวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาในสังคม โดยเฉพาะปัญหาด้านการเมืองและวัฒนธรรม  สัจนิยมมหัศจรรย์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของการสร้างสรรค์วรรณกรรมไทย เช่นเดียวกับงานแนวสัญลักษณ์นิยม หรือแนวเหนือจริง  มากกว่าจะมุ่งเน้นไปที่การให้ความสำคัญต่อการตั้งคำถามกับขนบการประพันธ์สัจนิยม รวมไปถึงการตั้งคำถามกับนิยามกระแสหลักที่ใช้ในการกำหนดความเป็นจริงและความมหัศจรรย์ อันเป็นสาระสำคัญของกลวิธีการประพันธ์แนวสัจนิยมมหัศจรรย์

            ข้ออภิปรายเกี่ยวกับนัยของการใช้สัจนิยมมหัศจรรย์ข้างต้น นับว่าน่าสนใจเป็นอย่างมาก  เมื่อข้าพเจ้าได้ลองอ่านเรื่องสั้นทั้ง 15 เรื่องในหนังสือ​ เด็กชายสามตาผู้บังเอิญตกลงมาบนโลกและเรื่องอื่นๆ ด้วยวิธีการ “แปรความมหัศจรรย์เป็นอุปมา” ตามที่ชูศักดิ์เสนอไว้  ก็ยิ่งทำให้เห็นความน่าสนใจของการเลือกใช้องค์ประกอบมหัศจรรย์ต่างๆ ที่มหรรณพมุ่งหมายให้ผู้อ่านตีความในเชิงอุปมาเพื่อสะท้อนปัญหาต่างๆ ในสังคมไทย  บทความนี้จึงจะมุ่งเน้นตีความองค์ประกอบมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในท้องเรื่องว่า มีนัยแฝงเร้นอย่างไรบ้าง เพื่อพยายามทำความเข้าใจเนื้อหาเชิงวิพากษ์ที่ผู้เขียนนำเสนอไว้ในเรื่องสั้น

            ในเรื่องสั้นจำนวน 15 เรื่อง มีเรื่องสั้นจำนวน 3 เรื่องซึ่งข้าพเจ้าคิดว่ามีความน่าสนใจ เพราะมีจุดร่วมสำคัญอยู่ที่การนำเสนอภาพของ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ได้แก่ เด็กชายผู้มีดวงตาที่สามอยู่ที่หน้าผาก ร่างทรงของพระศิวะผู้สามารถบรรเทาทุกข์จากภัยแล้งในเรื่องสั้น “เด็กชายสามตาผู้บังเอิญตกลงมาบนโลก”  แม่สีดาผู้บันดาลเลขเด็ดสำหรับผู้นิยมการเสี่ยงโชคในเรื่องสั้น “สีดาหญิงร่างยักษ์”  และ “แม่นางกวัก” ผู้บันดาลโอกาสการมีชีวิตที่ดีกว่าให้แก่ตัวละครในเรื่องสั้น “ตรอกจนตรอก”

 

ขอบคุณที่มารูปภาพจาก https://www.readawrite.com/a/1de7ced20e23e1f460ee5ab3b96c6228

 

“เด็กชายสามตาผู้บังเอิญตกลงมาบนโลก”: เมื่อสิ่งปกติสามัญคือความน่าอัศจรรย์ยิ่งกว่า

             “เด็กชายสามตาผู้บังเอิญตกลงมาบนโลก” เป็นเรื่องราวของสามี-ภรรยา พ่อค้าแม่ค้าเร่ซึ่งขายเสื้อผ้าเด็กอยู่ในงานวัดแห่งหนึ่งซึ่งเงียบเหงาเหลือทนเพราะสภาพดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจ  ผู้อ่านจะได้รับรู้เรื่องราวผ่าน “ฉัน” พ่อค้าเร่ซึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาได้พบเด็กชายผู้ “มีนัยน์ตาดวงที่สามโผล่ขึ้นมากลางหน้าผาก”  (หน้า 155) นอนหมดสติอยู่บริเวณกอหญ้าริมถนน ไม่ไกลจากร้านค้าของเขาในบริเวณงานวัด  ภรรยาของเขาช่วยปฐมพยาบาลดูแลเด็กชายที่ตัวร้อนจัดและกำลังจะชักจนเกิดความผูกพันและอยากรับเด็กคนนี้เป็นบุตรบุญธรรม ทว่าเรื่องราวกลับพลิกผันเมื่ออาการของเด็กชายไม่ดีขึ้น เขาอาเจียน คอเปลี่ยนเป็นสีดำเหมือนได้รับพิษ และตัวร้อนรุนแรง  เสียงร้องของเด็กชายเรียกความสนใจจากร้านรวงบริเวณงานวัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนขายกุมารและเจ้าของร้านกระสือสาว  ตามติดมาด้วยมัคนายกวัดซึ่งได้พาพวกมายกฟูกของเด็กชายจากร้านไปยังศาลาวัดโดยอ้างนิมิตของเจ้าอาวาส เรื่องราวจบลงด้วยฉากพิธีกรรมปลุกเสกวัตถุมงคลโดยมีร่างของเด็กชายที่กำลังได้ไข้อย่างหนักเป็นศูนย์กลางของพิธีกรรมในฐานะร่างทรงของมหาเทพ เจ้าอาวาสผู้อ้างตนว่าสามารถสื่อสารกับมหาเทพประกาศให้ชาวบ้านทราบว่า

            “ท่านมหาเทพลงมาบนโลกของเราเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น เพราะได้ข่าวว่าบ้านเมืองนี้กำลังเกิดทุกข์ยากด้วยภัยแล้ง เมื่อลงมาเห็นชัดแก่ตาแล้ว ท่านจะได้กลับไปช่วยแก้ไขให้มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ต่อไป ท่านกำลังจะเสด็จกลับไปแล้ว แต่ก็จะช่วยทำพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลเพื่อเป็นที่ระลึกถึงในการเสด็จมาในครั้งนี้” (หน้า 162)

            มหรรณพจำลองฉากพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์นั้นไว้อย่างชัดเจนด้วยการบรรยายฉากปิดเรื่องไว้อย่างละเอียด ไม่ว่าเป็นการตระเตรียมสถานที่ประกอบพิธีกรรม ผู้เข้าร่วมพิธีกรรมในชนชั้น “เจ้านาย” ซึ่งประกอบด้วยแขกผู้มีเกียรติอย่างนายตำรวจ นายอำเภอ สารวัตร ผู้ใหญ่บ้าน และข้าราชการต่างๆ  โดยมีร่างของเด็กชาย สัญลักษณ์แทนองค์มหาเทพเป็นศูนย์กลางของพิธีกรรม  มหรรณพบรรยายเหตุการณ์ “ของขึ้น” ขณะประกอบพิธีกรรมปลุกเสกไว้ในความตอนหนึ่งว่า

            “...ผู้ที่สักเสือเผ่นก็ทำตาขวาง คำรามโฮกๆ  แล้วขึ้นไปยืนสี่ขาอยู่บนขอบหน้าต่าง ใครสักลิงลมหรือ    หนุมานก็เริ่มโดดโหยงเหยง บางคนปีนขึ้นไปบนเสากลางศาลา ไต่ไปจนถึงขื่อข้างบน เดือดร้อนต้องไล่จับกันลงมา ข้างล่างผู้คนเบียดเสียดก็เริ่มมีอาการเช่นกัน มีเสียงฮือฮาดังขึ้นมาเป็นพักๆ ท่านเจ้าอาวาสเห็นท่าไม่ดี จึงให้พระลูกวัดสามรูปถือบาตรน้ำมนต์ไปประพรมให้ทั่วๆ อาการเหล่านั้นจึงค่อยทุเลาลง” (หน้า 163)

            จะเห็นว่า ศาลาวัดได้กลายเป็นพื้นที่แห่งความมหัศจรรย์ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเต็มไปด้วยปรากฏการณ์ของสิ่งเหนือธรรมชาติที่อธิบายด้วยเหตุผลมิได้จากการบรรยายฉากของผู้เขียน ก่อนที่จะแปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่แห่งการปะทะสังสรรค์ระหว่างโลกทัศน์ที่ยึดโยงกับความมหัศจรรย์และตรรกะเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์​ เมื่อภรรยาของพ่อค้าเร่กล่าวแก่สามีของตนว่า “เด็กไม่รอดแน่ถ้าไม่เอาไปส่งโรงพยาบาล” (หน้า 164) หลังคำของเธอ ก็เกิดเหตุไฟไหม้ฟูกที่เด็กชายสามตานอนอยู่ทำให้เขามีอันเป็นไป  เรื่องจบลงด้วยปฏิกิริยาของเจ้าอาวาสที่วางเฉยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซ้ำยังกล่าวถึงความชอบธรรมของตนเองและวัด ที่จะเก็บร่างของเด็กชายนี้ไว้สำหรับให้ผู้คนได้สักการะบูชาในฐานะตัวแทนของมหาเทพต่อไป

            ในขณะที่มหรรณพแปรอุปมา “ตัวร้อนดั่งไฟ” ให้กลายเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจริงกับเด็กชายสามตา ผู้อ่านก็จำเป็นต้อง “แปล” ความหมายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อสารด้วย กล่าวได้ว่า มหรรณพจงใจเสียดสีพุทธพาณิชย์ที่ทำมาหากินกับชาวบ้านโดยอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผ่านตัวละคร “เจ้าอาวาส”  และใช้ตัวละครที่ยึดโยงกับตรรกะเหตุผลอย่าง “ภรรยาของพ่อค้าเร่” ผู้ปรารถนาจะเป็นแม่บุญธรรมของเด็กชายสามตา เพื่อตั้งคำถามถึงความถูกต้องชอบธรรมของการกระทำของเจ้าอาวาสทั้งในฐานะบรรพชิตและในฐานะมนุษย์  แรงปะทะของความมหัศจรรย์และเหตุผลในพื้นที่ดังกล่าวยังทำหน้าที่ทวงถามถึงมโนสำนึกของผู้อ่านที่มีต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเป็นมุมมองที่มีต่อฉากพิธีกรรมความเชื่อในบรรยากาศเหนือธรรมชาติ หรือมุมมองที่มีต่อท่าทีอันเรียบเฉยของผู้คนในศาลาโดยเฉพาะเจ้าอาวาส เมื่อเด็กชายสามตาซึ่งอาจตีความได้ว่าเป็นตัวแทนของบุคคลทุพพลภาพ ความแปลกแยก และความขาดโอกาสที่จะดำรงชีวิตในฐานะเด็กคนหนึ่งซึ่งควรได้รับการดูแลในฐานะที่เป็นมนุษย์ ได้ตายจากไปต่อหน้าต่อตา

            ดูผิวเผิน เรื่องราวที่เกิดขึ้นในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์นี้ กลับยิ่งเป็นการตอกย้ำความงมงายของผู้คนที่มีต่อความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ และเป็นการให้คุณค่ากับเหตุผลนิยมตามขนบการประพันธ์แบบสัจนิยม แต่หากเราลองลงรายละเอียดถึงที่มาที่ไปของมูลเหตุแห่งพิธีกรรมปลุกเสกวัตถุมงคลเพื่อผลลัพธ์คือ “ช่วยแก้ไขให้มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ต่อไป” (หน้า 162)  หากเราลองเพ่งพิศรายละเอียดของวัตถุมงคลอย่างกุมารทองที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะ “เป็นที่ต้องการมากกว่าคำมั่นสัญญาซึ่งเลื่อนลอย ประดุจฝุ่นดินของบรรดาผู้แทนราษฎรทั้งหลาย” (หน้า 157) หากเราลองพิจารณารายละเอียดที่ผู้เขียนบรรยายไว้ว่า ภาวะทำนาขาดทุนเพราะฝนทิ้งช่วง ทำให้หนุ่มสาวในตำบลต้องเข้าไปทำงานในเมืองหลวง “ถ้าเป็นอย่างนี้อีกสองสามปี ผู้มีหน้าที่ช่วยเหลือเกษตรกรคงต้องแซะชาวนาขึ้นมาจากดินแล้วเอาแปะติดลงไปในรายงาน” (หน้า 155)  แล้วล่ะก็  เราจะพบว่า ความจริงที่เรื่องสั้นนี้นำเสนอไว้ อาจมิได้มีจุดโฟกัสอยู่ที่องค์ประกอบมหัศจรรย์อย่างตัวละครเด็กชายสามตา ปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติในพิธีกรรม หรือความเชื่อในอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือ  แต่เป็นความจริงที่ได้ย้ายที่จากความมหัศจรรย์ไปโฟกัสที่ “ความปกติสามัญ” อย่างที่สุดในเรื่อง ซึ่งก็คือการเข้ามาร่วมเป็นผู้มีเกียรติในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์อย่างหน้าชื่นตาบานของชนชั้น “เจ้านาย” ซึ่งประกอบด้วยนายตำรวจ นายอำเภอ สารวัตร ผู้ใหญ่บ้าน และเหล่าข้าราชการมากกว่า  พวกเขาได้เบียดขับชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภรรยาของพ่อค้าเร่ ให้กลายเป็นคนแถวหลัง ซึ่งกลมกลืนไปกับผู้เข้าร่วมพิธีคนอื่นๆ

            แท้ที่จริงแล้ว ความปกติสามัญอย่างที่สุดในเรื่องอาจคือต้นตอหรือมูลเหตุที่ทำให้ชาวบ้านต้องพึ่งพาศาสนา เครื่องรางของขลัง และวัตถุปลุกเสกต่างๆ  เพื่อพลิกฟื้นความแร้นเค้นของตนเองด้วยความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่า มหรรณพอาจจะกำลังบอกเราหรือไม่ว่า สิ่งที่น่าอัศจรรย์กว่าอะไรๆ ทั้งสิ้น คือการเพิกเฉยต่อหน้าที่ที่มีต่อราษฎรซึ่งเป็นไปอย่างเหมือนจริงและสมจริงตามท้องเรื่องแนวสัจนิยมที่สุด กลไกในตัวบทยังนำพาให้เรา ผู้คุ้นชินกับวรรณกรรมแนวสัจนิยมเกิดคำถามต่อโลกทัศน์ที่ยึดโยงกับวิทยาศาสตร์ของตนเองด้วยว่า ในขณะที่เราอาจปักใจและตัดสินผู้แสวงโชคจากสิ่งศักดิ์สิทธ์ทั้งในชีวิตจริงและในเรื่องแต่งด้วยข้อหางมงายนั้น เรากำลังหลงลืมกลไกเบื้องหลังที่สงบเงียบและเป็นปกติ ซึ่งเบียดขับและแปะป้ายให้อีกฝ่ายกลายเป็นเพียงราษฎรผู้ขาดเขลาเบาปัญญาผู้หลงละเมอกับความมหัศจรรย์เหนือจริงด้วยหรือไม่

 

ขอบคุณที่มารูปภาพจาก https://www.mebmarket.com/index.php?action=BookDetails&book_id=26056

 

“สีดาหญิงร่างยักษ์”:  นิทานมหัศจรรย์อุปมานิทัศน์ของ “ชีวิตที่ดีกว่า” ที่อาจ (ไม่) มีอยู่จริง

            “สีดาหญิงร่างยักษ์” บอกเล่าเรื่องราวของหญิงสาวร่างแบบบางอย่าง “สีดา” ซึ่งตัดสินใจดั้นด้นส่งตัวเองไปทำงานยังประเทศไต้หวันด้วยหวังจะสร้างต้นทุนชีวิตให้ตัวเองและครอบครัว ให้สามารถกลับมาเงยหน้าอ้าปากได้อีกครั้ง ทว่าสองปีให้หลัง เมื่อเธอกลับมาถึงบ้าน สิ่งที่วาดฝันไว้ก็พังทลายลงด้วยเหตุที่มารดาติดหวย ส่วนบิดาติดพนันตีไก่  ดังความตอนหนึ่งที่กล่าวว่า “บ้านหลังเก่ายังคงเป็นบ้านหลังเก่า ไม่ได้ต่อเติมเสริมแต่งให้งามอย่างที่พ่อแม่เขียนมาบอกว่าจะทำ เงินค่าหัวสามหมื่นที่กู้เขามาก็ยังไม่ได้ใช้ ที่ดินติดจำนองไว้ก็ยังไม่ได้ไถ่ถอน สีดาเหลือเงินเก็บติดตัวมาแค่ห้าพัน แก้วที่เปราะบางก็พลันแตกสลาย” (หน้า 201)

            มหรรณพแปรสำนวน “ตายอดตายอยาก” ซึ่งแทนสภาวะของการเก็บหอมรอมริบจากน้ำพักน้ำแรงของ   สีดาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ให้กลายเป็นเรื่องมหัศจรรย์โดยสร้างให้สีดากินทุกสิ่งที่ขวางหน้า ไม่ว่าไก่ชนของบิดา สุนัข ข้าวสารทั้งหม้อ ฯลฯ  จนร่างที่แบบบางกลายเป็นอ้วนพีมองดูเหมือน “พระสังกัจจายน์ในศาลเจ้า” (หน้า 206) สร้างความประหวั่นพรั่งพรึงให้ชาวบ้านทั่วบริเวณนั้น จนต้องไปนิมนต์หลวงพ่อที่วัดมาทำพิธีไล่ผีปอบออกจากตัวของสีดา นับแต่วันที่สีดาโดนผูกล่ามไว้ที่เสาเรือนชั้นล่าง บิดาและมารดาก็งด ลด เลิกการพนันทุกชนิด จวบจนมารดาถึงแก่กรรม บิดาจึงพาเธอไปฝากไว้ที่วัด โดยอ้างเหตุว่าหมดปัญญาเลี้ยงดู จวบจนวันหนึ่ง เมื่อตาเรืองผู้นำอาหารจากพระมาให้สีดาวันละมื้อ มองเห็นตัวเลขที่ปรากฏอยู่ใกล้ๆ ที่ที่สีดานั่งอยู่ จึงนำไปแทงหวย การถูกรางวัลของตาเรืองในครั้งนั้นทำให้ “อีสีดา” หญิงร่างยักษ์ราว “จอมปลวกขนาดยักษ์” (หน้า 208) กลายเป็น “แม่สีดา” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐาน ณ ศาลาและฐานชุกชีที่สร้างขึ้นใหม่โดยศิษยานุศิษย์ผู้ถูกหวยรวยเบอร์  แต่แล้วชีวิตของสีดาก็มีอันต้องเป็นไปด้วยการถูกเจ้ามือหวยเถื่อนวางยาพิษ มหรรณพพรรณนาภาพการตายของสีดาไว้อย่างอัศจรรย์โดยให้เธอสำรอกสิ่งที่เคยได้กินเข้าไปออกมาเป็นจำนวนมาก ครอบครองอาณาบริเวณอันไพศาล

            ตอนนี้ทุกคนรู้แล้วว่าเสียงดังมาจากในท้องของสีดา แต่ก่อนที่ใครจะได้คิดทำอะไร กลิ่นเหม็นก็พรูออกมาพร้อมกับเสียงเหมือนแก๊สระเบิด แล้วตามมาด้วยของเหลวสีเขียวคล้ำพุ่งออกมาราวกับโคลนถล่มลงมาจากภูเขา ทุกคนต่างวิ่งหนีเอาตัวรอดจากการถูกท่วมทับ ของเหลวเขรอะๆ กระจายเป็นวงขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว จนชาวบ้านบางคนวิ่งหนีไม่ทัน ต้องช่วยกันดึงออกมา หัวหูเนื้อตัวเหม็นหึ่งไปหมด มีเสียงผุดขึ้นของแก๊ส ปุบๆ ปับๆ และไม่มีทีท่าว่าของเหลวสีเขียวคล้ำจะหยุดลามไหล มันค่อยๆ แผ่กระจายเข้าไปยังบริเวณวัด ออกไปทางถนน พังเพิงร้านค้า ร้านส้มตำ ร้านคาราโอเกะ ร้านข้าวขาหมู เข้าไปยังล่านจอดรถท่วมรถเก๋งรถบัสที่จอดอยู่ แล้วทะลักเข้าไปยังหมู่บ้าน พังบ้านตึกที่สร้างขึ้นใหม่ๆ จากเงินเล่นหวย บ้านไม้เก่าที่ถูกทอดทิ้ง เข้าล้อมคฤหาสน์ของคุณนายสุ่น ชาวบ้านพากันอพยพขนข้าวของขึ้นรถกระบะขับหนีให้พ้น ของเหลวสีเขียวคล้ำทะลักมาจนกระทั่งถึงทุ่งนาแล้งรอฝนของตาเผือกจึงได้ไหลช้าลง หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านจมอยู่ใต้กองขี้มหึมา” (หน้า 218)

            น่าสนใจว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ศิษยานุศิษย์แม่สีดา “กลับไปทำไร่ทำนาเหมือนเดิม แต่ก็ยังคงอาลัยอาวรณ์กับโชคลาภที่ได้มาง่ายๆ คาดหวังลมๆ แล้งๆ ว่าสักวันหนึ่งสีดาอาจกลับมาอีก” (หน้า 219)  มหรรณพปิดเรื่องด้วยการบอกเป็นนัยว่า ตาเผือก ตัวละครตัวเดียวซึ่งมุ่งหน้าทำนาหว่านไถ ไม่เคยเล่นหวยและการพนันทุกชนิด ได้รับพรจากสีดาด้วยการบันดาลให้ข้าวปีนี้ออกรวงงดงามโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ย และขายได้ราคาดี

            แม้มหรรณพจะสร้างตัวละครสัจนิยมมหัศจรรย์ที่ผูกพันกับอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องเหนือธรรมชาติอย่าง “เด็กชายสามตา” และ “สีดา” ให้มีลักษณะของการเป็นองค์ประธานของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกฉกฉวยผลประโยชน์โดยชาวบ้านผู้เพลิดเพลินกับการเสี่ยงโชคเช่นเดียวกัน แต่จะเห็นว่าที่มาและภูมิหลังของตัวละคร     “สีดา” มีคำอธิบายที่ชัดเจนมากกว่า  ตัวละครสีดาจึงเป็นตัวแทนของความแพ้พ่ายในชีวิตของบุคคลที่พยายามทำมาหากินอย่างหนักเอาเบาสู้ แต่ก็มิอาจนำพาชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ เพราะการพนันและการเล่นหวย ทำให้ชีวิตของเธอและครอบครัวต้องแหลกสลายไป ภาพความมหัศจรรย์ในท้ายเรื่องจึงแสดงให้เห็นถึงคุณค่าแห่งการทำมาหากินอย่างแข็งขันซึ่งเป็นสิ่งที่สีดาให้คุณค่า จะเห็นว่า การตายของเธอเป็นการให้พรแก่ตัวละครเพียงตัวเดียวคือ     ตาเผือกผู้ขยันขันแข็งในการทำมาหากิน

            ความน่าสนใจของเนื้อหาสาระที่มหรรณพนำเสนอไว้ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ ทำให้เรามองเห็นอุปสรรคของชีวิตที่ดีกว่าได้กระจ่างชัดขึ้นผ่านเรื่องราวของสีดาซึ่งเป็นนิทานอุปมานิทัศน์ของชีวิตผู้คนที่ต้องพยายามดิ้นรนด้วยตนเอง จากบ้านเกิดไปทำงานยังต่างประเทศเพื่อโอกาสที่ดีกว่าในการหาทุนรอนให้กับชีวิตที่ติดลบ  แต่แล้วความฝันของเขาหรือเธอก็ต้องแหลกสลายลงเพราะวัฒนธรรมการเสี่ยงโชคที่ฝังรากลึกในครอบครัว เมื่อมองในแง่โครงข่ายความสัมพันธ์ระหว่างตัวบทแล้ว “เด็กชายสามตาฯ” อาจกำลังสนทนากับเรื่อง “สีดาฯ” และผู้อ่าน ด้วยคำถามที่สืบเนื่องต่อไปว่า หากวัฒนธรรมการเสี่ยงโชคโดยพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นความไม่แน่นอนที่อาจเป็นความแน่นอนเดียวที่จำต้องพึ่งพาแล้ว นอกเหนือไปจากการกล่าวโทษบุคคลในเชิงปัจเจกที่มักถูกใช้เป็นคำอธิบายเพื่อวิพากษ์ชีวิตที่พังภินท์แล้ว  ภายใต้รากลึกของวัฒนธรรมการเสี่ยงโชคที่ยึดโยงกับความหวังและความปรารถนาชีวิตที่ดีกว่านั้น  มีมือที่มองให้เห็นของใครหรืออะไรที่ชักเชิดอยู่เบื้องหลังหรือไม่  และคำถามสืบเนื่องก็คือก็ เราจะเชื่อถือนิทานมหัศจรรย์ที่ปิดเรื่องด้วยความปรารถนาที่จะเกิดใหม่เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของ “สีดา” และความหวังถึงข้าวราคาดีของตาเผือกได้มากน้อยแค่ไหนในโลกสัจนิยม

 

 “ตรอกจนตรอก”: แม่นางกวัก กับ พรแห่ง “โอกาส(?!!!)” ในการเริ่มต้นชีวิตใหม่

          “ตรอกจนตรอก” เป็นเรื่องชีวิตที่จนตรอกของถนอม เด็กในตรอกที่ติดยา เขาพยายามหนีจากการจับกุมของตำรวจ เนื่องจากเวียงเพื่อนของเขาได้พลั้งมือแทงเจ้าทรัพย์ขณะร่วมก่อการล้วงกระเป๋าคนบนรถเมล์ด้วยกัน ถนอมหนีเข้าไปในร้านชำของน้าดำ เอเยนต์ขายยาเสพติดให้เด็กๆ ในตรอก ผู้ซึ่งไม่เคยถูกจับเลยสักครั้ง เรื่องสั้นเน้นเล่าเรื่องการออกเดินทางภายในจิตใจของของถนอมเป็นหลัก ขณะที่ซ่อนตัวอยู่ในร้านของน้าดำและขู่จะวางเพลิงร้าน  ถนอมเสพยาบ้าที่น้าดำซ่อนไว้ในร้านไปด้วย  ในสภาวะกึ่งจริงและฝันจากฤทธิ์ยานั้น เขาได้สนทนากับแม่นางกวักซึ่งเคยเป็นวัตถุบูชาของแม่  ก่อนที่น้าดำจะยึดข้าวของต่างๆ ของแม่รวมถึงนางกวักนี้โดยอ้างว่าเป็นการใช้หนี้ที่แม่ผู้ล่วงลับของเขาไม่มีเงินจ่าย

 

ขอบคุณที่มารูปภาพจาก https://www.thairath.co.th/lifestyle/travel/1862738

 

            มหรรณพสร้างบทสนทนาระหว่างถนอม และ แม่นางกวัก โดยสร้างให้ตัวละครนางกวักคงลักษณะของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามภาพจำคือ “แต่งซิ่นเดินดิ้นทอง ห่มผ้าแถบทับทรวงแพรวพราว กระบังหน้าครบชุดเหมือนกับรูปปั้นบนหิ้งนั่นไม่ผิด” (หน้า 48) นางกวักสนทนากับถนอมด้วยโวหารเชิงเทศนาทำนองว่า ชีวิตที่ตกต่ำของถนอมเป็นเพราะความอ่อนแอและความเหลวไหลของตัวถนอมเอง แม้ว่าถนอมจะพยายามให้เหตุผลว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้เขาเป็นเช่นนี้ เพราะเขาถูกทอดทิ้งให้อยู่เพียงลำพังและไม่อาจหนีจากสภาวะของคนในตรอกก็ตาม           บทสนทนาระหว่างถนอมและแม่นางกวักในตอนหนึ่ง ความว่า

            "ท่านมาช่วยผมใช่ไหม"

            "ทำไมฉันต้องช่วยเธอ ฉันช่วยคนดีคนขยันทำมาหากิน"

            "แล้วไอ้ดำ มันรวยเอารวยเอาทั้งที่มันชั่ว มันมีเครื่องเซ่นให้ใช่ไหม แม่ผมไม่มีให้นอกจากข้าวกับธูปเทียน แม่เลยตายทั้งที่ยากจน"

            "เธอนี่ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ...เธอต้องแก้ไขที่ตัวเอง..."

             "เอาผมออกไปจากที่นี่" เขาร้องขอ

             "ก็ได้ ฉันจะให้โอกาสเธอลองดูสักครั้ง" เสียงตอบมาเบาๆ และภาพของนางกวักจางลงๆ (หน้า 49)

 

             ถนอมออกเดินทางในห้วงโอกาสใหม่ที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้ตามพรของนางกวัก ผู้เขียนแทรกใส่น้ำเสียงขื่นขันผ่านบทรำพึงของถนอมว่า “ทุกอย่างเหมือนเดิม กูจะหาโอกาสแก้ตัวจากที่ไหนล่ะ”  “ทำไงดีวะ...กูเองก็ถามแบบนี้กับคนอื่นๆ มาไม่น้อย ไม่เคยมีใครให้คำตอบแบบที่คนดีๆ เขาตอบกันเลย มีแต่ชวนทำเรื่องชั่วๆ ทั้งนั้น ห่าจิกเอ๊ย” (หน้า 51-52) ท้ายที่สุดแล้ว มหรรณพใช้วิธีตัดวงจรของเรื่องเล่าด้วยการแทรกใส่เสียงของนางกวักที่ตำหนิว่าถนอมไม่รู้จักการแก้ไขปัญหาและฉกฉวยโอกาสที่เธอมอบให้ แม้ว่าถนอมจะยืนกรานว่า “ผมแก้อะไรไม่ได้ ผมไม่รู้ว่าจะแก้ที่ตรงไหน ทำไมไม่ให้ผมเริ่มใหม่ทั้งหมด เอาผมออกจากตรอกนี้ ให้เรารวย ให้แม่ไม่ตาย ให้ผมมีโอกาส”  (หน้า 54)  เมื่อบทสนทนาระหว่างถนอมและนางกวักตัดตอนไป ถนอมก็ถูกจู่โจมเข้าจับกุมจากตำรวจและน้าดำทันที

 

             นางกวักในเรื่องสั้นเป็นความเปรียบที่สื่อความหมายถึงผู้มีอำนาจที่ได้ผลประโยชน์จากการค้ายาเสพติดในชุมชน จะเห็นว่ามหรรณพค่อยๆ ทลายภาพความศักดิ์สิทธิ์ในการให้พรแก่คนดีที่ขยันทำมาหากิน และใช้เครื่องเซ่นเป็นอุปมาของเส้นสายและผลประโยชน์ในลักษณะที่ว่า พรที่ให้ก็จะสมน้ำสมเนื้อตามผลประโยชน์แลกเปลี่ยนที่ได้รับ โครงข่ายเชิงอำนาจที่เอื้อผลประโยชน์ไปมาระหว่างตัวละครนางกวัก ตำรวจท้องที่ และน้าดำผ่านบทสนทนาในห้วงกึ่งจริงกึ่งฝันนี้เอง  ที่นำพาให้ผู้อ่านได้สัมผัสชีวิตอันจนตรอกของถนอมอย่างเข้าอกเข้าใจ

 

             แม้ว่า “ตรอกจนตรอก” จะมีลักษณะที่แตกต่างไปจากเรื่องสั้น “เด็กชายสามตาผู้บังเอิญตกลงมาบนโลก” และ “สีดาหญิงร่างยักษ์” แต่เมื่อวิเคราะห์นัยของ “นางกวัก” ในเรื่องที่เปิดเผยตัวตนอย่างชัดเจนขึ้นเป็นครั้งแรกในเรื่องสั้นของมหรรณพแล้ว ก็อาจนำมาซึ่งบทสรุปของบทความนี้ที่ว่า แม้ว่าสัจนิยมมหัศจรรย์จะเป็นกลวิธีการประพันธ์ที่มหรรณพใช้ในการสร้างฉาก เหตุการณ์ และตัวละครในเรื่องสั้น และผู้อ่านจำต้องตีความความมหัศจรรย์นั้นในเชิงอุปมาเพื่อทำความเข้าใจบทบาทเชิงวิพากษ์วิจารณ์สังคม มากกว่าที่จะเป็นการใช้สัจนิยมมหัศจรรย์ในการตั้งคำถามกับความจริงแบบเหตุนิยมที่ยึดโยงกับตรรกะแบบวิทยาศาสตร์ หรือใช้สัจนิยมมหัศจรรย์ในการต่อรองกับวรรณกรรมแนวสัจนิยมก็ตาม แต่เรื่องสั้นทั้งสามเรื่องก็แสดงให้เห็นว่า มหรรณพใช้องค์ประกอบมหัศจรรย์เป็นกลไกที่ทำให้ผู้อ่านมองเห็นที่มาหรือต้นตอของวิกฤตแห่งศรัทธาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย  อันเป็นเหตุให้ผู้คนจำต้องพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อำนวยพรให้มีชีวิตที่ดีกว่า  สายตาแห่งความเข้าอกเข้าใจหรือความพยายามเข้าใจที่มีต่อเพื่อนร่วมสังคมนี้เอง ทำให้ผู้อ่านสามารถมองเห็นลูปชีวิตที่จนตรอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูปชีวิตที่ตลกร้าย เมื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้กลายร่างเป็นซาตานผู้ลงทัณฑ์ผู้บูชานั้นเอง  เมื่อเราเฝ้ามองเรื่องราวที่เกิดในเรื่องสั้นนี้อย่างละเอียดแล้วจะพบว่า ทั้งลักษณะสัจนิยมและมหัศจรรย์ที่ปรากฏในเรื่องสั้น ทำให้เรา-นักอ่านมองเห็นระบบของการประกอบสร้างความศักดิ์สิทธิ์ในมิติอันซับซ้อนได้ชัดเจนขึ้น และเมื่อนักอ่านได้ลองถอนสายตาจากเรื่องสั้นมาเป็นนักเฝ้ามองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมแล้ว งานของมหรรณพอาจจะกำลังบอกเราเป็นนัยว่า จุดโฟกัสของสายตาอาจมิได้อยู่ที่เหตุการณ์มหัศจรรย์ที่ยึดโยงกับเรื่องเหนือธรรมชาติเท่านั้น แต่อาจคือการย้ายสายตาไปโฟกัสที่ความสามัญธรรมดาอย่างที่สุดที่ล้อมรอบเหตุการณ์มหัศจรรย์นั้นด้วย เพื่อเพ่งพิศไปในโลกแห่งความเป็นจริงที่ดำเนินไปตามขนบสัจนิยม แต่กลับทำให้เรารู้สึกอัศจรรย์ใจยิ่งกว่าการเผชิญหน้ากับความมหัศจรรย์เหนือจริงเสียอีก.

 

 

 

บรรณานุกรม

 

คำประกาศรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน ประจำปี 2564. (2564). กรุงเทพฯ: สมาคมภาษาและ

              หนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์.

 คำประกาศผลการตัดสินหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 14. (2560). กรุงเทพฯ: เซเว่นบุ๊คอวอร์ด.

 ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. (2552). วรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ สุนทรียศาสตร์ของการต่อต้านและการเมืองว่าด้วย

              อัตลักษณ์วรรณกรรม. ใน ธเนศ วงศ์ยานนาวา (บรรณาธิการ), รัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ 60 ปี /

              รัฐศาสตร์สาร 30 ปี เล่ม 2. (น. 53-87). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

 ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. (2559). สัจนิยมมหัศจรรย์: ในงานของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ, โทนี มอร์ริสัน และ

              วรรณกรรมไทย. กรุงเทพฯ : อ่าน.

 มหรรณพ โฉมเฉลา. (2561). เด็กชายสามตาผู้บังเอิญตกลงมาบนโลก และเรื่องอื่นๆ. เชียงใหม่: เสือกระดาษ

              สำนักพิมพ์.

 สุชาติ สวัสดิ์ศรี และกองบรรณาธิการ. (2536). เรื่องจากปก / สัมภาษณ์พิเศษ. Writer Magazine 1,8

              (พฤษภาคม): 24-50.

 หัตถกาญจน์ อารีศิลป. (2556). สัจนิยมมหัศจรรย์ในวรรณกรรมของอนุสรณ์ ติปยานนท์. (วิทยานิพนธ์

              อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

 

 

 

 

 

 

 

Visitors: 72,129