ปราชญ์ ธารีสุวรรณ

ปราชญ์  ธารีสุวรรณ




อาคเนย์คะนึง : ว่าด้วยความคิดคำนึงในความหลากหลาย 

 

                              ผมเป็นคนอ่อนภูมิศาสตร์มาแต่ไหนแต่ไร อย่าว่าแต่ภูมิศาสตร์ระดับโลกเลย ระดับจังหวัดผมยังสับสน  จำไม่ได้ว่าสมุทรสาคร สมุทรสงครามอยู่ตรงไหน นครราชสีมา กับนครศรีธรรมราช ที่ไม่เคยเป็นปัญหาในการจดจำสำหรับคนปกติ ผมก็จำสับไปมาเสียอย่างนั้น ต้องใช้หลักจำว่า นครราชสีมา-มาหาย่าโม จึงหายสับสน กล้อมแกล้มเอาตัวรอดไปได้  ผมคงเป็นคนประเภทที่สับสนในอะไรๆได้ง่ายแบบนี้เอง ผมได้ยินคำว่าอาคเนย์ครั้งแรกก็น่าจะในตอนเรียนวิชาภูมิศาสตร์นี่แหละ เหตุเพราะอ่อนในวิชาที่ว่า ผมจึงหนีห่างจากอาคเนย์เท่าที่ทำได้   อีกนานทีเดียวกว่าจะมีอาคเนย์ที่น่าสนใจผ่านเข้ามาในชีวิต ไม่นับการมาถึงของแรงงานแห่งอาคเนย์ที่มาประจำการบ้านตรงข้าม หล่อนเป็นสาวน้อยหัวเราะเป็นภาษาพม่าให้ฟังแทบทุกบ่ายยามคุยโทรศัพท์ เอาเถอะออกทะเลมาหลายโยชน์แล้ว  มาเข้าเรื่องกันดีกว่า

                    อาคเนย์คะนึง เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น ผลงานของ อนุสรณ์ ติปยานนท์   ในเล่มประกอบด้วยเรื่องสั้นจำนวน 8 เรื่อง  ทุกเรื่องใช้ “ผม” เป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ  เรื่องสั้นแต่ละเรื่อง แต่ละ “ผม” ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด เรียกง่ายๆว่า คนละ “ผม” กันนั่นเอง  ภายในเล่มไม่มีเรื่องสั้นใดชื่อ อาคเนย์คะนึง   การให้ชื่อเล่ม ว่า “อาคเนย์คะนึง” เป็นการแสดงอย่างชัดเจนถึงแนวคิดของการทำงานเล่มนี้   

                      ความเป็น “อาคเนย์” ถูกแสดงผ่าน ฉาก ในแต่ละท้องที่ แต่ละประเทศ และเหตุการณ์สำคัญในอดีต       ตัวละครในแต่ละเรื่องสั้น ล้วนมีความลุ่มหลง ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  บางเรื่องเลยเถิดไปจนถึงหมกมุ่นกันทีเดียว เช่น ในเรื่องสั้น กาจู่ เป็นเรื่องของชายหนุ่มผู้หมกมุ่นกับปริศนาความตายของสาวคนรักชาวเวียดนามนักร้องดนตรีกาจู่ ดนตรีโบราณของเวียดนาม ก่อนจะละทิ้งความฝันที่จะเป็นนักเขียน กลับสู่เมืองไทยทำงานในบริษัทค้าขายหลักทรัพย์ แต่ความคิดคำนึงถึงความตายของสาวคนรักไม่เคยจางไป  ความตายในรูปแบบเดียวกันที่เขาพบเห็นทำให้ “...ผมพัฒนาความผูกพันระหว่างแม่น้ำ ความตาย และคำอธิบายเกี่ยวกับมันมากขึ้นและมากขึ้น ทุกครั้งที่ผมอ่านข่าวการจากไปของหญิงสาวสักคนจากแม่น้ำ ผมจะลางาน เดินทางไปในทันที หากโชคดีผมจะไปทันช่วงเวลาก่อนที่พวกเขาจะพบร่างของพวกเธอ หากไม่ทัน ผมจะเข้าร่วมในพิธีกรรมแทน...” น.29 

                        ความลุ่มหลงเหล่านี้ทำให้ ตัวละครบางตัวกระทำเรื่องที่ยากจะเข้าใจ ลดทอนความเชื่อในความสมจริงของเรื่องอย่างน่าเสียดาย  (ถ้าใครยังไม่ได้อ่านข้ามย่อหน้านี้ไปก่อนน่าจะดี) เช่น การตัดสินใจของเตรืองมีนา จากเรื่องสั้นเดียวกัน หล่อนบอก “ผม” ในภายหลังว่า “ฉันกระโดดลงจากสะพานลองเบียนด้วยความคิดชั่ววูบว่าฉันควรทดสอบว่าปอดของฉันสามารถดำดิ่งลงไปใต้แม่น้ำแดงได้นานเพียงใด  ระยะเวลาที่ยาวนานจะบอกว่าปอดของฉันพร้อมสำหรับการฝึกฝนการขับร้องกาจู่ที่ยากขึ้นหรือไม่...” น.36-37

                        ในขณะที่ “ผม” ในเรื่องสั้น โยนีรูป  เรื่องของชายหนุ่มผู้ใช้การแสดงเชือกเลี้ยงชีพ ที่สุดท้ายความลุ่มหลงของตนเองเป็นสิ่งที่เขาไม่อาจควบคุมได้  ที่ผ่านมาหลังจบการแสดงอันเป็นเวลาส่วนตัว “ผม” “จะดึงเชือกขึ้นเหนือศีรษะแล้วมองลอดมันไปยังท้องฟ้า ลดต่ำลง มองไปยังอาคารบ้านเรือนและผู้คนเบื้องล่าง ด้วยการกระทำเช่นนั้นผมจะรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้กำหนดชีวิต ชีวิตของใครก็ตามที่เวียนว่ายอยู่ในวงของเชือก” น.127 กระทั่งเมื่อเขาสูญเสียการควบคุม “เชือก” ซึ่งเกิดจากการกระทำตามความปรารถนาเบื้องลึกของเขาเอง “ผม”จึงคิดตกว่าสำหรับเขาแล้ว “...ความตายไม่ใช่สิ่งน่ากลัวใดเลย เมื่อเทียบกับการตกอยู่ภายใต้บางสิ่งที่เราไม่อาจเลือกได้...” น.143  เขาเห็นว่า “เชือก” เป็นตัวการที่ “กำลังใช้ผมกระทำสิ่งชั่วร้ายผ่านแรงปรารถนาดั้งเดิมที่สุดของมนุษย์” น.132 และเขาเองก็เลือกที่จะจบปัญหานี้ด้วยเครื่องมือเดียวกัน

                        ในเรื่องสั้น “ควัน” รูปถ่ายในอดีตของยายนำพาให้ “ผม” พบว่า รูปถ่ายของยายนั้นไม่ได้ส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของเขาเท่านั้น หากยังเคยสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายต่อคนอื่นไม่น้อยไปกว่ากัน  การไล่ตามเรื่องราวของคนในอดีตอย่างยายเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ “ผม” ตระหนักในความจริงนี้เมื่อได้อ่านบันทึกของยายจบลง   มีผลให้ “ผมหยุดคิดเรื่องราวเกี่ยวกับยายแค่นั้นเช่นกัน ความลับควรเป็นความลับ ความลับไม่สมควรถูกเปิดเผย ความลับไม่สมควรแก้ไข ปริศนาไม่ควรถูกเฉลย ทุกสิ่งที่เป็นความลับควรเป็นความลับต่อไป...” น.95-96 เหมือนผู้เขียนจะบอกว่าการยึดติดกับ “ควัน” ที่ปรากฏขึ้นชั่วขณะ นั้นรังแต่จะนำมาซึ่งความเจ็บปวด

                        การสร้างปมของ “ผม” ในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องของ “อาคเนย์คะนึง” สร้างความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกัน ใน เตภูมิกถา เรื่องของ “ผม” ผู้เป็นนักปลอมแปลงเอกสาร ที่ทำการคัดลอกเตภูมิกถาเพื่อสับเปลี่ยนนำฉบับจริงออกไป โดยมีหอสมุดแห่งชาติเป็นฉากหลัง  ผลจากการคลุกคลีกับ เตภูมิกถาอย่างต่อเนื่อง เปลี่ยนแปลงความตั้งใจดั้งเดิมไป “สามในสี่ของเวลานั้นของผมก็หมดไปกับสวรรค์ นรก ความถูกและความผิด ผมเริ่มแยกแยะได้ระหว่างสัญชีพนรก กับโรรุวนรก ผมเริ่มแยกออกระหว่างเหล็กร้อนแดงกับหลาวที่ลุกเป็นไฟ”น.52  จนในที่สุด เขาเห็นว่า “สมุดภาพเตภูมิกถาไม่ใช่หนังสือโบราณสำหรับผมอีกต่อไป มันได้กลายเป็นหนังสือที่ใช้การได้จริง สั่งสอนได้จริง แม้ในยามปัจจุบัน” น.52  

                       ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ผู้เขียนมิได้กำหนดเวลาที่เกิดเรื่องอย่างแน่นอน ว่าเกิดขึ้นเมื่อใด ผู้เขียนเปิดกว้าง ให้อิสระในการกระทำกระบวนการต่างๆของ “ผม”บรรลุไปด้วยดีและง่ายดาย รวมถึงความช่วยเหลืออย่างเต็มใจของบรรณารักษ์สาวในการนำเตภูมิกถาออกเผยแพร่ ซึ่ง “เธอ” ให้เหตุผลว่า “เพื่อให้โลกนี้มีการเผยแพร่เรื่องราวของนรกภูมิเพิ่มขึ้นอีก” น.55 แต่ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามไม่น้อยขณะติดตามเรื่องราวที่ควรจะตื่นเต้นนี้ตลอดการอ่าน ว่า เตภูมิกถานี้เป็นวรรณกรรมที่ถูกห้ามเผยแพร่มาตั้งแต่เมื่อใดกัน? หรือควรมีเครื่องมือหรือกรรมวิธีอื่นใดในการปลอมแปลงและสับเปลี่ยนนอกเหนือไปจากวิธีที่ “ผม” ใช้อยู่มิใช่หรือ?

                   ในเรื่อง คริสต์มาสในวังหน้า  ผู้เขียนสร้าง “เพี้ยสิงห์” ผู้ลึกลับ ผู้ที่มีรูปลักษณ์ไม่ต่างจากมนุษย์ในยุคโบราณ “จากภายนอกเขาน่าจะมีอายุราวหกสิบปี แต่การเคลื่อนไหวอันคล่องแคล่ว ทำให้เหมือนคนที่อายุอ่อนกว่านั้น เบ้าตาของเขาลึก โหนกแก้มของเขาสูง หน้าผากของเขากว้างและรูปศีรษะของเขากลมมนคล้ายชาวลาวพวนทั่วไปในละแวกนี้” น.75 เป็นตัวแทนของครูผู้ถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆจากอดีต ซึ่ง “ผม” เมื่อยังเยาว์เห็นว่า “ทุกสิ่งเป็นความคิดฝันของเขา เขาแลเห็นผมเป็นเด็กน้อยเป็นหน่ออ่อน เป็นใครก็ตามที่ยอมรับทุกสิ่งที่เขาพูด มันเป็นดังการดูถูกว่าผมมีค่าดังพวกมดปลวกหรือเศษแมลง” น.77 การต่อต้านอย่างรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อ “ผม” เริ่มเติบโตได้เรียนรู้โลกกว้างมากขึ้น “ผมมองเขาดังคนป่วยที่ติดอยู่ในเตียงส่วนตัว”น.76 กระทั่งเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงการมีอยู่จริงของเรื่องเล่าเหล่านั้นของเพี้ยสิงห์    คริสต์มาสในวังหน้า จึงเป็นเหมือนการสำนึกถึงความยิ่งใหญ่ในปัญญา ความรู้ของคนรุ่นก่อน ของ “ผม”คนรุ่นใหม่ผู้ดื้อรั้นถือดี

                    เรื่องสั้นบางเรื่อง เช่น เยว่เลี่ยง ไต้เปี่ยวหว่อเตอซิน  ผู้เขียนกลับมิได้ให้ความชัดเจนของฉากหลัง ว่าเกิดขึ้นที่ใด หรือช่วงเวลาใด  กระทั่งเชื้อชาติของ “ผม”  หากแต่บอกโดยอ้อมด้วย ชื่อของบทเพลง ชื่อของเบียร์ท้องถิ่น ดำเนินเรื่องไปจนจบด้วยความคลุมเครือของสัญลักษณ์   ส่วน “แมว” เป็นเรื่องสั้นที่ระบุชัดถึงสถานที่วันเวลาอย่างชัดเจน และแสดงแก่นเรื่อง ให้ความหมายของสัญลักษณ์ที่ปรากฏอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ต้องตีความให้ยากลำบากแต่อย่างใด ดังบทสนทนานี้

                   “การหายไปของแมว อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยในยุคนั้น แต่ในยุคสมัยของเราการหายไปของแมวเพราะไม่มีที่หลับนอนอีกต่อไปคือการหายไปของสิ่งใดคุณนึกออกไหม”

                 “มันคือการหายไปของสิ่งที่เรียกว่า “สันติภาพ”

                    เขาตอบประโยคนั้นก่อนที่ผมจะทันคิดอะไรได้ด้วยซ้ำ น.151

                   ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งของรวมเรื่องสั้นชุดนี้ คือการนำเอาข้อมูล เกร็ดความรู้ เกร็ดประวัติศาสตร์ มาสร้าง มาประกอบเรื่องราว สำหรับคนที่สนใจเรื่องราวเหล่านี้คงอดไม่ได้ที่จะไปค้นคว้าต่อยอดหลังจากอ่านรวมเรื่องสั้นนี้จบ   แต่ในบางจุดบางตอนผู้อ่านบางคน(เช่นผม)กลับรู้สึกว่าเกร็ดบางชิ้นก็ละเอียดจนโดดออกมาเป็นส่วนเกินที่แห้งกระด้าง เช่นการบรรยายถึงที่มาของสะพานลองเบียนในเรื่อง กาจู่ การให้รายละเอียดเกี่ยวกับ เตภูมิกถาที่ล้นเกินพอดี เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมรู้สึกเหมือนกำลังนั่งฟังเลคเช่อร์ก็ไม่ปาน

                    จะว่าไปแล้ว เครื่องมือที่ผู้เขียนนำมาเป็นร้อยให้เกิดเป็นเอกภาพของความเป็น “อาคเนย์” ในรวมเรื่องสั้น “อาคเนย์คะนึง” นี้ คือ เรื่องราวของ ศิลปวัฒนธรรม ดนตรี(กาจู่,นางตันไต) ภาพนิ่งและภาพยนตร์ (ควัน) การละเล่น(โยนีรูป)  ความเชื่อ ตำนานเรื่องเล่า(เยว่เลี่ยง ไต้เปี่ยวหว่อเตอซิน)   วรรณกรรม (เตภูมิกถา) แนวคิดทางศาสนา (แมว) และมรดกทางวิทยาการ(คริสต์มาสในวังหน้า)  ฉากทางภูมิศาสตร์ต่างๆที่นำมาเป็นองค์ประกอบไม่ใช่ทั้งหมดของความเป็น “อาคเนย์”   

                   เรื่องราวของผู้คนอันเกิดจากการหลอมรวม การนำพาแลกเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นต่างหาก ที่ก่อให้เกิดเอกลักษณ์เป็นน้ำเนื้อของผู้คนแห่งภูมิภาคอย่างนี้แท้จริง.

 

อาคเนย์คะนึง เขียนโดย อนุสรณ์ ติปยานนท์

พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์มติชน กันยายน 2559

ได้รับรางวัลดีเด่น กลุ่มหนังสือรวมเรื่องสั้น (สพฐ.) ปี 2560

 

 

 


 


Visitors: 71,937