สิขรินทร์ สนิทชน

โดย...สิขรินทร์ สนิทชน

 

เพลิงผีฟ้า จากผู้รักษาสู่ผีร้าย

 

            ในยุคที่ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้สถาปนาตนเป็นองค์ความรู้หลักศาสนาถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการให้คำอธิบายแก่ชุมชน โดยศาสนาในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการนับถือ “ผี” ของคนสังคมดั้งเดิม จะเห็นได้จากพิธีกรรมของคนในอดีตที่ต้องอัญเชิญผีธรรมชาติและผีบรรพชนให้ลงมาร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ (บุญยงค์, 2557:16)พิธีกรรมหนึ่งที่ยังคงปรากฏให้เห็นคือการ “บูชาผีฟ้า” อันเป็นการอัญเชิญให้ผีฟ้าลงมาสอดส่องหาอาการเจ็บป่วยและช่วยปกป้องคุ้มครองผู้ป่วย(บุญยงค์, 2538:190) เช่นเดียวกับการศึกษาของ เสฐียรโกเศศ (2503) สมบัติ พลายน้อย (2520) หรืออเนก นาวิกมูล (2558) เป็นต้น ที่ล้วนให้คำอธิบายไปในทางเดียวกันว่าบทบาทหน้าที่ของ “ผีฟ้า” คือผู้รักษาคนในชุมชนให้ใช้ชีวิตได้ปกติสุข

            คำอธิบายข้างต้นทำให้เห็นว่า “ผีฟ้า” เป็นผีที่ให้คุณแก่มนุษย์ ผู้คนจึงประกอบพิธีเพื่อบูชาสืบทอดเรื่อยมาตั้งแต่อดีต กระนั้น จะพบว่าความเชื่อเรื่องผีฟ้าหรือพิธีกรรมไหว้ผีฟ้าที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ ในปัจจุบันได้สร้างความเข้าใจต่อบทบาทหน้าที่ของผีฟ้าที่ต่างออกไป นำไปสู่การรับรู้ว่าผีฟ้ามีลักษณะของผีร้ายซึ่งมีผลต่อการรับรู้ของคนสมัยใหม่ ทั้งที่งานวิชาการต่างเห็นพ้องกันว่าผีฟ้าคือผีดี โดยกรณีตัวอย่างที่นำมาพิจารณาคือนวนิยายเรื่องเพลิงผีฟ้า

            เพลิงผีฟ้า (2559) ของอาพัชรินทร์ กล่าวถึง ‘เมฆา’ และ ‘อุธิยา’ คู่รักที่ได้ไปร่วมพิธีกรรมไหว้ผีฟ้าเพื่อรักษาผู้ป่วย ขณะที่สังเกตการณ์อยู่ ร่างทรงผีฟ้าคนหนึ่งก็ถูกประทับร่างพร้อมกล่าวว่าต้องการชีวิตของเมฆา แต่หัวหน้าร่างทรงพยายามปลอบและขอให้ปฏิบัติดี เพราะหากเป็นคนดีแล้ว ผีย่อมไม่สามารถทำร้ายได้ หลังเกิดเหตุน่ากลัวทั้งสองได้รู้จักกับ ‘ประดับดาว’และนับแต่นั้น เมฆาและอุธิยาก็เริ่มฝันเห็นผู้หญิงกำลังจะตกจากระเบียงบ้านโดยมีทั้งสองเป็นต้นเหตุ กระทั่งได้ทราบว่าผู้หญิงในฝันและผีที่เข้าสิงร่างทรงก็คือประดับดาวที่อาฆาตเมฆากับอุธิยาจากเรื่องราวในชาติที่แล้ว เนื่องจากเขาและเธอร่วมมือกันหลอกลวงประดับดาวและเป็นสาเหตุให้ประดับดาวเสียชีวิต แม้ว่าหัวหน้าร่างทรงผีฟ้าจะพยายามช่วยเหลืออย่างไร แต่ท้ายที่สุด เมฆาก็ถูกผีประดับดาวฆ่า ส่วนอุธิยาได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรงจนเสียสติ

 

ก่อนจะกลายเป็นผีร้าย

            “ผีฟ้าคือเทวดา เทวดาบนเมืองฟ้าของพญาแถนก็หาได้มีองค์เดียว คณะหมอลำทรงแต่ละพื้นที่นับถือผีฟ้าต่างองค์กัน […]สิ่งเดียวที่เหมือนกันของคณะหมอลำทรงก็คือช่วยคน” (อาพัชรินทร์, 2559:79) ข้อความนี้สอดคล้องกับที่กล่าวถึงในบทนำ คือ ผีฟ้าเป็นผีที่รักษาคนผ่านพิธีกรรม ซึ่งนอกเหนือไปจากที่คนไข้หายจากการเจ็บป่วยแล้ว ในแง่หนึ่ง การประกอบพิธีกรรมแต่ละครั้ง ทำให้สมาชิกในสังคมรู้สึกมั่นคงอบอุ่น พิธีกรรมช่วยสร้างความรู้สึก “ความเป็นพวกเดียวกัน” (ศิราพร, 2552:364) เพราะคนในชุมชนจะร่วมแรงกันเพื่อจัดงาน และอยู่ร่วมตลอดพิธี กิจกรรมนี้จึงเป็นตัวเชื่อมให้สมาชิกในกลุ่มอ้างอิงกันและกันได้ ความเป็นพวกพ้องจึงเป็นลักษณะสำคัญของวัฒนธรรมชุมชนดั้งเดิมและเนื่องจากอาการป่วยถือเป็นวิกฤติของคนสมัยก่อน วิกฤติที่ว่าไม่ได้เป็นของคนไข้เพียงคนเดียว แต่เป็นวิกฤติที่เกิดกับครอบครัวและชุมชนของเขาด้วย ฉะนั้นการรักษาพยาบาลจึงต้องแก้ไขปัญหาทั้งของคนไข้และคนที่แวดล้อมเขาไปพร้อมกัน (นิธิ, 2542:40) ดังนั้นพิธีบูชาผีฟ้าจึงไม่ได้มีเพื่อคนไข้คนเดียว     แต่จากกระบวนการทั้งหมดจะเห็นว่าทุกคนในสังคมต่างได้รับประโยชน์เช่นกัน ทำให้ผีฟ้าเป็นทั้งผู้รักษาไปพร้อมกับการเป็นสัญลักษณ์ให้คนที่อาศัยร่วมกันยึดถือเป็นศูนย์รวมของการดำเนินชีวิต

            อย่างไรก็ตาม บทบาทหน้าที่ของผีฟ้าอีกด้านใน เพลิงผีฟ้า ก็ปรากฏให้เห็น ดังว่า“กูจะขอเพียงมันคนนี้![…] วันนี้กูอยากเห็นมันตาย!”(อาพัชรินทร์, 2559:10) คำพูดนี้เกิดระหว่างประกอบพิธีบูชาผีฟ้าซึ่งควรเป็นการรักษาคนไข้ให้หายและมีชีวิตต่อไป แต่กลับมีผีเข้าสิงร่างทรงเพราะต้องการเอาชีวิตคนที่เข้าร่วมพิธี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความตกใจและหวาดกลัวให้แก่คนในชุมชน เนื่องจากได้เห็นว่าผีฟ้าที่มาเข้าสิงร่างทรงนั้นไม่ได้มาเพื่อรักษา แต่มาเพื่อทำลายชีวิตคน นวนิยายจึงชี้ถึงสถานะผีร้ายของผีฟ้าในพิธีกรรมผ่านสายตาตัวละคร

 

ร้ายเพราะถูกทำ (ให้) ร้าย

            นอกจากการถูกทำร้ายในชาติก่อน ความเป็นไปได้ที่ทำให้ผีฟ้ากลายจากผู้รักษาสู่ผีร้ายมี 2 ประการ ประการแรก เป็นการทำงานภายในตัวบท โดยมีที่มาจากวิธีการเล่าเรื่อง กล่าวคือ เพลิงผีฟ้าใช้วิธีนำเสนอที่เน้นความโหดร้ายของตัวละครผี อันเป็นแนวทางที่ต่างไปจากงานที่ผ่านมาของอาพัชรินทร์ ซึ่งก่อนการปรากฏของเพลิงผีฟ้า ใน พ.ศ. 2559 ผลงานของอาพัชรินทร์เป็นนวนิยายโรมานซ์ เช่น รัก 360 องศา (2546) เรื่องรักของรวงข้าว (2547) หัวใจหนึ่งคู่ในฤดูรัก(2549) มายารักในสายหมอก (2551) เป็นต้น แม้แต่นวนิยายที่มีตัวละครผีเป็นความขัดแย้งหลักในเรื่อง อาทิ ปริศนาซ่อนเงา (2556) สิเน่หารอยคำ (2557) หรือผลงานในชั้นหลังอย่างสรวงสิเนรุ (2561) ก็เป็นนวนิยายผีที่ใช้โครงเรื่องหลักสอดคล้องกับความเป็นนวนิยายโรมานซ์ คือ เป็นนวนิยายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักระหว่างหญิงชายที่ต้องพบเจอกับอุปสรรคต่าง ๆ แต่ในท้ายที่สุด ปัญหาเหล่านั้นจะถูกขจัดและจบลงด้วยความสุข (สิขรินทร์, 2557:31) การเลือกใช้การเล่าเรื่องแบบโรมานซ์ส่งผลให้ตอนจบคลี่คลายไปในทางที่ดี เพื่อตอบสนองต่อความพยายามของตัวละครคู่รัก ดังนั้น ตัวละครผีที่เป็นอุปสรรคของความสัมพันธ์จะถูกกำจัด เมื่อกลับมาพิจารณา เพลิงผีฟ้า ก็จะเห็นว่าไม่ได้ดำเนินเรื่องด้วยการเอาชนะอุปสรรคที่ขัดขวางความรัก แต่ดำเนินเรื่องด้วยการล้างแค้นของตัวละครผีที่ทำให้ตัวละครคู่รักต้องจมอยู่ในความทุกข์และไม่สมหวัง ดังว่า “เมฆาคงได้แต่โทษตนเองเพียงคนเดียวเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในอดีตหรือปัจจุบัน” (อาพัชรินทร์, 2559:178) เพราะ“ทุกครั้งเมื่อมองหน้าหล่อน เขาก็พลันนึกถึงเรื่องราวในฝันที่เขากับหล่อนร่วมมือกันฆ่าประดับดาว […] แม้จะรักและเป็นห่วง แต่เขาละอายใจเกินกว่าที่จะมีชีวิตคู่อยู่กับหล่อนเสียแล้ว” (อาพัชรินทร์, 2559:179)

            การเล่าเรื่องที่เน้นความสยองขวัญยังส่งผลให้คุณลักษณะของการเป็นผีร้ายถูกขับเน้นไปจนจบเรื่อง  ผู้อ่านจะรับรู้ได้ถึงผีที่เต็มไปด้วยความแค้น เช่น [อุธิยา] พยายามทำทุกอย่างให้ไฟแค้นในใจของประดับดาวลดลงเพื่อขอชีวิตของเมฆา หญิงสาวก้มกราบพระ ท่องบทสวดมนต์ด้วยความตั้งใจ โดยไม่รู้เลยว่ามีหญิงสาว […] กำลังนั่งหัวเราะเยาะอยู่ตรงหน้าต่างห้องนอนของหล่อนเอง “สิ้นชีพไม่สิ้นโศก ฝังแค้นไว้บนผืนโลกจนภพหน้า กี่เดือน กี่วัน กี่เวลา จะรอคอยให้ถึงคราได้เอาคืน!” (อาพัชรินทร์, 2559:169) แม้ตัวบทจะแสดงถึงตัวละครเอกชายผู้รู้สึกผิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างจริงใจ หรือตัวละครเอกหญิงที่พยายามลดทอนความแค้นของผีประดับดาว แต่ชะตากรรมของตัวละครทั้งหมดกลับไม่ได้คลี่คลายไปในทางที่ดี ดังตัวอย่างว่า 

               หลังจากเสียงลั่นดังของกระดูก อุธิยาก็เห็นสีแดงเข้มไหลหยดออกมาตามร่องไม้ พร้อมเสียงเมฆาที่ร้องขึ้นอย่างเจ็บปวด นั่นคือความเจ็บปวดสุดท้ายก่อนรากไม้นั้นจะท่วมไปด้วยหยาดเลือดและไม่ได้ยินเสียงใดอีก […] เหตุการณในวันนั้นหลอกหลอนหล่อนไม่เคยเว้นวัน ไม่ว่าหลับตาหรือลืมตาก็คล้ายกับเห็นมันอยู่ซ้ำ ๆ หล่อนลุกขึ้นมาหวีดร้องในยามดึก ร้องไห้โฮด้วยความทุกข์ทรมาน(อาพัชรินทร์, 2559:184-186) 

            ท้ายที่สุดผีประดับดาวก็บรรลุความต้องการของตนเองที่สามารถฆ่าเมฆาและทรมานอุธิยาได้ ในตอนปิดเรื่อง ผีประดับดาวยังพูดกับร่างทรงผีฟ้าผู้พยายามช่วยตัวละครคู่รักที่มาเยี่ยมอุธิยาอีกว่า “สงสารหล่อนหรือ? [...] สงสารหล่อนมาก ๆ ก็ดีแล้ว แต่อย่าลืมสิ่งที่หล่อนได้ทำกับฉันด้วยล่ะ อย่าลืม...” (อาพัชรินทร์, 2559:188) อาจกล่าวได้ว่าเรื่องราวในนวนิยายจบลงด้วยโศกนาฏกรรมและชัยชนะของผีที่ความดีทดแทนไม่ได้ เพราะการเลือกวิธีเล่าแบบสยองขวัญของผู้แต่งที่ขับเน้นความน่ากลัวและความโหดร้ายในพฤติกรรมของตัวละครผี

            ปัจจัยต่อมาที่ผู้เขียนเห็นว่ามีส่วนสร้างการรับรู้ให้ผีฟ้าเป็นผีร้ายคือสิ่งที่ทำงานอยู่ภายนอกตัวบท ได้แก่ การสร้างและเสพผีฟ้าที่ถูกผลิตขึ้นในสื่ออื่น อย่างละครโทรทัศน์ และเพลงร่วมสมัย ซึ่งเป็นสื่อที่สามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้รับสารได้จำนวนมาก เนื้อหาของผีฟ้าที่ถูกผลิตสร้างขึ้นผ่านสื่อสองชนิดนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ความหมายของการเป็นผีร้ายอยู่ในความรับรู้ของคนได้มากผันตรงตามการแพร่กระจาย กล่าวคือ ละครโทรทัศน์เรื่อง ปอบผีฟ้า สร้างเป็นละครครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2518 ก่อนจะนำกลับมาสร้างใหม่ในปี พ.ศ. 2540 ครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2552 (วิกิพีเดีย, 2562:ออนไลน์) โดยเฉพาะฉบับ พ.ศ. 2540 ที่เป็นละครสร้างชื่อให้ วรนุช ภิรมย์ภักดี ซึ่งช่วยยืนยันว่า ละครเรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งนี้ ยังอาจเป็นกระแสสืบเนื่องจากละครดังที่มีเนื้อหาร่วมกันอย่าง กระสือ (2537) และ เจ้านาง (2537) ที่กล่าวถึงความเชื่อท้องถิ่นที่มีพิธีกรรมมาเกี่ยวข้อง และใช้โครงเรื่องเหมือนกัน คือมีผีร้ายเข้าแทรกแซงพิธีกรรมเพื่อล้างแค้นอีกด้วย

            ปอบผีฟ้า แสดงให้เห็นถึงการเข้าแทรกแซงของผีอื่นที่มีเหนือผีฟ้า จนทำให้ตัวละครในเรื่องมีทัศนะว่า ผีฟ้าคือผีที่ไม่ดี เช่นเดียวกับผู้ชมละครที่เห็นพฤติกรรมโหดร้ายของผีผ่านจอโทรทัศน์และถูกกล่อมเกลาการรับรู้ต่อผีฟ้าเช่นเดียวกับตัวละคร ประกอบกับการตั้งชื่อละครว่า “ปอบผีฟ้า” ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าเป็นชื่อของผีประเภทเดียวกัน ทั้งที่ความจริงแล้ว ผีฟ้า และปอบ เป็นผีคนละประเภท โดยปอบถือเป็นผีที่คนในสังคมไทยรู้จักกันดี ว่าเป็นผีผู้หญิง กินเลือดกับเครื่องในมนุษย์เป็นอาหาร ทำให้การเป็นที่รู้จักมากกว่าของผีปอบ เป็นตัวกำหนดความหมายของคำว่า ผีฟ้า ที่นำมาประสมกันไปโดยปริยาย อีกทั้งบทบาทของตัวละครปอบผีเจ้าที่มีน้ำหนักต่อการพัฒนาเรื่องอย่างมากก็ทำหน้าที่ประทับความรับรู้ของผู้ชมให้เข้าใจว่าผีฟ้าเป็นผีร้ายไปพร้อมกัน

 (1) ตัวละครปอบผี  เจ้า  กำลังรำคล้ายการประกอบพิธีไหว้ผีฟ้า (2) ตัวละครปอบผีเจ้าที่มีรูปลักษณ์น่ากลัว ปากเปื้อนเลือดมนุษย์ 

ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=WQm0OiJh1vo

            นอกจากนี้ เพลงประกอบละครเรื่อง ปอบผีฟ้า ก็ได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก (ละครทั้ง 3 ฉบับใช้เนื้อเพลงเดียวกันแต่ปรับเปลี่ยนดนตรีใหม่) โดยเฉพาะช่วง voice-over ที่ว่า “ไม่ ไม่ ไม่ ข้าอยากได้เลือด เลือด เลือด!”(RutchanokAticompai,2553:ออนไลน์) เสียงโหยหวนของหญิงสาวที่ใช้ประกอบบทเพลงกลายเป็นความทรงจำของผู้ชมละครที่มีต่อบทบาทหน้าที่ของผีฟ้าว่า ผีฟ้าคือความน่ากลัวและไม่ใช่ผีดี ทั้งที่เนื้อเพลงส่วนที่เหลือได้กล่าวถึงความสำคัญของผีฟ้าในเชิงพิธีกรรมไว้ ดังว่า ผีฟ้าเอย แสนสุดโสภาผีฟ้าเอย ได้โปรดเมตตาหมู่เฮาป่วยไข้ บอกใบ้หยูกยาหมู่เฮาบูชา ฮักผีฟ้าเอย[…] (RutchanokAticompai,2553:ออนไลน์)แต่ภาพจำของผู้ชมที่ได้รับจากละครกลับเป็นภาพของผีปากเปื้อนเลือดที่ส่งเสียงร้องก้องอยู่ในการรับรู้มาจนปัจจุบัน

            เพลงร่วมสมัยอีกเพลงหนึ่งที่น่าจะส่งผลต่อการรับรู้ความเป็นผีร้ายของผีฟ้าคือ เพลงผีฟ้าปาร์ตี้ ของศิลปินวงบาซู ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจโดยตรงมาจากเพลงประกอบละครเรื่องปอบผีฟ้า และเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2543 (วิกิพีเดีย, 2562:ออนไลน์) เพลงนี้ยังคงเสียง voice-over ซึ่งเป็นภาพจำเอาไว้อยู่ และแม้ว่าจะเป็นเพลงเต้นที่มีจังหวะสนุกสนานแต่เนื้อเพลงที่แต่งขึ้นใหม่นี้เต็มไปด้วยผีชนิดต่าง ๆ เช่น แดรกคูล่า แวมไพร์ ซอมบี้ กระสือ กระหัง และนางนาก เป็นต้น จะเห็นได้ว่าผีในเนื้อเพลงส่วนใหญ่โดดเด่นในเรื่องความน่ากลัวและพฤติกรรมโหดร้าย อีกทั้งภาพที่ปรากฏในมิวสิควีดิโอยังแสดงให้เห็นรูปลักษณ์ของผีที่บิดเบี้ยวและมีใบหน้าน่ากลัว ดังนั้น การปรากฏร่วมกันกับผีเหล่านี้ของผีฟ้าจึงยิ่งย้ำว่าผีฟ้ามีคุณลักษณะของผีร้ายมากขึ้น

            (3) รูปลักษณ์   ของผีที่บิดเบี้ยวที่ปรากฏในมิวสิควีดิโอผีฟ้าปาร์ตี้(4) ใบหน้าที่น่ากลัวของผีที่ปรากฏในมิวสิควีดิโอผีฟ้าปาร์ตี้

ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=MkGrukiPdoc

            เพลิงผีฟ้า ทำให้เห็นว่าการรับรู้ความหมายของผีฟ้าเกิดจากการอ้างอิงของตัวบทที่เกี่ยวข้องกับผีฟ้าในสื่ออื่น ๆ โดยความหมายที่ถูกนำเสนอใหม่มักจะเป็นไปในทางไม่ดี ต่างกับผีฟ้าซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิม อนึ่ง แม้ว่าโครงเรื่องส่วนใหญ่ในนวนิยายจะมีความคล้ายคลึงกับละครโทรทัศน์ ที่เป็นเรื่องของความแค้นข้ามภพชาติ การเข้าแทรกแซงอำนาจของผีฟ้า แต่สิ่งที่ต่างออกไปของนวนิยายคือ การเลือกใช้วิธีการนำเสนอที่เน้นความสยดสยองของเรื่องมากกว่าความรัก เพื่อผลิตซ้ำความเป็นผีร้าย และตอกย้ำความน่ากลัวให้หนักแน่นกว่าตัวบทอื่น ๆ ด้วยการที่ผีไม่ถูกกำจัดและได้รับชัยชนะเหนือตัวละครเอก ผีฟ้าจึงเป็นผีที่ถูกโครงสร้างการเล่าเรื่องภายในตัวบทและบริบทอื่น ๆ ที่ผีฟ้านอกตัวบทร่วมกันให้ความหมายในทางลบ

 

จากผู้รักษาสู่ผีร้าย

            ชุติมา ประกาศวุฒิสาร เห็นว่า นวนิยายสามารถชี้นำให้ผู้อ่านกลับมาทบทวนความสำคัญของผีและการหลอนในวรรณกรรมซึ่งแสดงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันได้ (2559:102) อาจเนื่องจาก ‘ผี’ คือสิ่งที่มักจะถูกใช้แทนความเป็นอื่น ซึ่งในเพลิงผีฟ้าก็แสดงให้เห็นความเป็นอื่นในสังคมที่เกิดจากการปะทะกันระหว่างวิถีดั้งเดิมกับวิถีสมัยใหม่ผ่านตัวละครประดับดาวซึ่งไม่สามารถเข้าปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ จนเป็นเหตุให้เธอแปลกแยกก่อนกลายสถานะเป็นผีร้ายที่มีค่าเท่ากับความเป็นอื่น 

            ประดับดาวย้ายตามครอบครัวมาอาศัยอยู่ในชุมชนที่มีความเชื่อเรื่องผีฟ้า เธอถูกพ่อสอนให้ปฏิเสธผีฟ้าเพราะเขามองว่าพิธีกรรมนี้ “หลอกลวงประชาชน […] หากครอบครัวผมต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ผมมีปัญญาจ่ายค่ารักษาให้หมอที่มีวิทยาการและความรู้ ไม่งมงายแบบนี้” (อาพัชรินทร์, 2559:45) นอกจากนั้น ประดับดาวยังถูกส่งไปเรียนต่อในเมืองหลวง (อาพัชรินทร์, 2559:82) ไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนในชุมชน ทำให้เธอแปลกแยกจากสังคมที่อาศัย เพราะเติบโตมาแบบยึดถือวิทยาการผ่านการเลี้ยงดู เชื่อมั่นตนเองในฐานะปัจเจกบุคคลที่สามารถเลือกจัดการปัญหาได้โดยมิต้องอาศัยการรวมใจของชุมชนตามแบบพิธีกรรมดั้งเดิม ประดับดาวจึงเป็นตัวแทนวิถีของคนในสังคมที่เปลี่ยนจากชนบทสู่เมือง คือ ชนบทเป็นชุมชนที่คนส่วนใหญ่มีความรู้สึกผูกพันฉันญาติมิตร (สุรเดช, 2559:13)ขณะที่คนที่มีวิถีเมืองจะไม่มีวัฒนธรรมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน […] ซึ่งต่างกับชนบทที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสูงโดยยึดถือประเพณีและศีลธรรมร่วมกัน (ปรีชา, 2547:50) ในสังคมสมัยใหม่ ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพิธีกรรมทางศาสนาจะไม่มีความหมายในระดับสังคม เพราะมนุษย์เชื่อในตนเองและต้องรับผิดชอบตัวของตัวเอง (อมรา, 2533:53) การสร้างตัวละครประดับดาวจึงทำให้เห็นว่าเธอกลายเป็นคนเมืองผ่านการขัดเกลาแบบสังคมสมัยใหม่

            ต่อมา เมื่อประดับดาวถูกเมฆาและอุธิยาในชาติที่แล้วร่วมกันหลอกลวง เธอก็ยังคงทะนงตน แม้หล่อนแทบไม่มีเงินแล้วเพราะสามีติดการพนันและชอบเที่ยวผู้หญิง[…] แต่ประดับดาวก็ยังคงรั้นที่จะแก้ปัญหานั้นโดยลำพัง (อาพัชรินทร์, 2559:131) ตามความเชื่อมั่นในตนเองและสำนึกสมัยใหม่ที่มองว่าเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว หากสุดท้าย เธอก็ใช้วิถีแบบเมืองแก้ปัญหาไม่ได้ ขณะเดียวกันประดับดาวยังคงยืนยันที่จะปฏิเสธความเชื่อดั้งเดิม ที่คนในชุมชนพยายามรวมใจกันช่วยเหลือ ดังว่า 

               มีเพียงพี่ประดับดาวเท่านั้นที่เดือดดาล และไล่ปัดข้าวของเครื่องคายที่เตรียมประกอบพิธีลำผีฟ้าออกจากบ้าน จนคนที่มาช่วยต้องหยิบข้าวของออกห่างตัวพี่ประดับดาวกันจ้าละหวั่น “ไป ไป๊! ออกไปจากบ้านให้หมด ฉันไม่นับถือผี![…] บอกผีที่พี่นับถือด้วยว่าอย่ามายุ่งกับเรื่องของคน เป็นผีก็อยู่ส่วนผี” […] แม้พ่อจะเป็นฝ่ายไม่เชื่อเรื่องผีฟ้ามาก่อนเลย แต่เมื่อได้เห็นน้ำใจคนที่เข้ามาช่วยจัดเตรียมข้าวของ […] พ่อกลับน้ำตาซึม(อาพัชรินทร์, 2559:115-116) 

            ตัวอย่างที่นำมาแสดงชี้ให้เห็นว่า ประดับดาวถูกขับเน้นให้มีความแปลกแยกอย่างมาก เพราะครอบครัวที่ในตอนแรกมีทีท่าต่อต้านความเชื่อดั้งเดิม กลับยอมรับพิธีกรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา เท่ากับเป็นการยอมรับที่จะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่อาศัย เนื่องจากความรักลูก เมื่อเห็นว่าประดับดาวไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิทยาการสมัยใหม่จึงย้อนกลับมาพึ่งพาผีฟ้า เป็นเหตุให้ประดับดาวกลายเป็นสมาชิกเพียงคนเดียวที่ตัดความสัมพันธ์ตนเองออกจากสังคมและเป็นความแปลกแยกเดียวท่ามกลางความเหนียวแน่นของชุมชน การตัดตัวเองออกจากชุมชนและครอบครัวทำให้เธอไม่เป็นส่วนหนึ่งกับวิถีดั้งเดิม ประกอบกับความเชื่อมั่นแบบวิถีเมืองก็ไม่อาจเยียวยาปัญหาได้อย่างที่ควรเป็น ประดับดาวจึงเป็นตัวละครที่ไม่สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งหรือนิยามตนเองให้เข้ากับวัฒนธรรมใดได้ เธอกลายเป็นคนแปลกหน้าทั้งของชนบทและเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นกับผีประดับดาว แสดงถึงภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของคนในสังคมสมัยใหม่ที่ต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน มนุษย์ที่ไม่สามารถประนีประนอมเข้ากับวิถีทางสังคมจะถูกความเป็นอื่นขับเน้นขึ้นมา ให้รู้สึกแปลกแยกจากสังคมที่อยู่อาศัย ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในนวนิยายเรื่องนี้ จึงถูกแสดงออกผ่านการเป็นผีของตัวละคร การเป็นผีร้ายจึงเกิดขึ้นเพราะกลวิธีการเล่าเรื่อง การสร้างและเสพผีฟ้าในสื่ออื่น ๆ รวมทั้งการกลายเป็นอื่นจากวิถีชีวิตทั้งสองแบบ

            เพลิงผีฟ้า อาจเป็นเพียงเรื่องอ่านเล่นธรรมดา หากผู้อ่านจับจ้องไปที่ความน่ากลัวของตัวละครผี แต่ภายใต้พฤติกรรมเหล่านั้นสามารถนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์สังคมที่มนุษย์ต้องรับมือได้ โลกสมัยใหม่ที่ผลักให้คนต้องดิ้นรนด้วยตนเอง เชื่อมั่นในตนเองจนหลงลืมว่า แท้จริงแล้วเป็นเพียงส่วนเล็กของโลก ที่ยังต้องเกี่ยวข้องกับส่วนเล็กส่วนอื่นอีกจำนวนมาก วิถีที่แตกต่างกันจึงไม่จำเป็นต้องหักล้างกันโดยสิ้นเชิง เพราะวิถีสมัยใหม่ทำให้มนุษย์ได้พัฒนาวิทยาการต่าง ๆ และสร้างสิ่งดีงามให้สังคมได้ในเชิงกายภาพ ขณะเดียวกัน มนุษย์ยังคงโหยหาการเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและเติมเต็มพลังให้จิตใจ เพื่อดำรงอยู่บนโลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาดังนั้น การใช้ชีวิตอย่างสมดุลน่าจะพอเป็นทางออกที่ทำให้ไม่เป็นทุกข์และไม่ต้องกลายเป็นผีอย่างประดับดาว    

 

เอกสารอ้างอิง

 

ชุติมา ประกาศวุฒิสาร. (2556). บ้านผีสิง: การหลอกหลอนกับความรุนแรงทางเพศใน เพรงสนธยาวารสาร            อักษรศาสตร์. (45) 1, 61-105.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2542). ยุคสมัยไม่เชื่ออย่าลบหลู่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์

บุญยงค์ เกศเทศ. (2538). “ผีฟ้า...พญาแถน” ใน ชีวิตไทย ชุดบูชาพญาแถน. กรุงเทพฯ : สำนักงาน คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

            . (2557). ผีวิถีคน: ความเชื่อและการพึ่งพาระหว่างคนกับผี. มหาสารคาม : กากะเยีย.

ปรีชา คุวินทร์พันธุ์. (2547). สังคมวิทยาและมานุษยวิทยานคร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่ง     จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เพลงผีฟ้าปาร์ตี้. (10 สิงหาคม 2560) สืบค้นจาก http://lyric.in.th/lyric.php?n=26777

วิกิพีเดีย. (4 เมษายน 2562). บาซู. สืบค้นจาก https://th.wikipedia.org/wiki/บาซู

            . (29 ธันวาคม 2562). ปอบผีฟ้า. สืบค้นจาก https://th.wikipedia.org/wiki/ปอบผีฟ้า

ศิราพร ณ ถลาง. (2552). ทฤษฎีคติชนวิทยา: วิธีวิทยาในการวิเคราะห์ตำนาน-นิทานพื้นบ้าน. พิมพ์ครั้งที่ 2.       กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สมบัติ พลายน้อย. (2520). อมนุษยนิยาย. กรุงเทพฯ : บำรุงสาส์น.

สิขรินทร์ สนิทชน. (2557). “นวนิยายแนว Romantic Suspense ของไทย.” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต         สาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สุรเดช โชติอุดมพันธ์. (2559). อ่านเมือง เรื่องคนกรุง: วรรณกรรม วิถีความสัมพันธ์ และภาพแทนของ  พื้นที่.   กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เสฐียรโกเศศ. (2015). เมืองสวรรค์ และผีสาง เทวดา. พระนคร : บรรณาคาร.

อมรา พงศาพิชญ์. (2533). วัฒนธรรม ศาสนา และชาติพันธุ์: วิเคราะห์สังคมไทยแนวมานุษยวิทยา.                  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อเนก นาวิกมูล. (2558). ผีไทย. ภาษาและหนังสือ ฉบับผีอาซียน: ความเชื่อแห่งอุษาคเนย์.46 (2558).

            70-110.

อาพัชรินทร์. (2559). เพลิงผีฟ้า. กรุงเทพฯ : ก้าวกระโดด.

rsfriends. (26 พฤษภาคม 2558).ผีฟ้าปาร์ตี้ : Bazoo (Official MV). 

สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=MkGrukiPdoc

RutchanokAticompai. (5 เมษายน 2553). เพลงปอบผีฟ้า. 

สืบค้นจาก  http://thecyberrabbit.blogspot.com/2010/04/blog-post.html 

SaniSorawan. (3 กันยายน 2557). ปอบผีฟ้า Open Title (2540). 

สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=WQm0OiJh1vo 

 


 


Visitors: 72,138