นายเถื่อน

นายเถื่อน

 

พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ

:หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวฉบับจีนโพ้นทะเล?และการร่อนเร่ของจิตวิญญาณ

 

           “งานเขียนชิ้นใหม่ที่ส่งให้ วีรพร นิติประภา กลายเป็นนักเขียนดับเบิลซีไรต์หญิงคนแรก ด้วยจำนวนงานเขียนเพียงสองเล่มและช่วงปีของรางวัลในประเภทนวนิยายติดต่อกัน” “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” งานเขียนลำดับที่สองต่อจากนวนิยายเรื่องแรกของวีรพร ที่ได้รับรางวัลซีไรต์เช่นกันอย่าง “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต”พุทธศักราชอัสดงฯ ค่อนข้างจะแตกต่างจากงานเขียนเล่มแรกพอสมควรด้วยลักษณะการเล่าเรื่องที่น่าติดตาม การนำประเด็นทางประวัติศาสตร์เข้ามาใช้ในลักษณะการเล่าเรื่องผ่านความทรงจำของความทรงจำ ซึ่งเป็นกลวิธีที่แปลกใหม่น่าสนใจ แต่สิ่งที่ยังคงไว้ของแนวทางการเขียนงานของวีรพรคือการใช้ภาษาที่สวยงาม และลักษณะความสนใจเฉพาะตน ”

           หากจะเขียนงานวิจารณ์นวนิยายเรื่องนี้โดยทั่วไป ข้าพเจ้าคงจะเริ่มต้นด้วยการเกริ่นถึงพุทธศักราชอัสดงฯ อย่างข้อความข้างต้นที่ท่านได้อ่านมาแล้ว และคงรื้อโครงสร้างของนวนิยายเรื่องนี้ออกมาเป็นส่วน ๆ เพื่อวิจารณ์เช่นชื่อเรื่องที่น่าสนใจ วิธีการเล่าที่กระตุ้นเร้าให้ผู้อ่านติดตามจนตลอดเรื่อง โครงเรื่องที่สลับซับซ้อน พฤติกรรมของตัวละครที่มีเอกลักษณ์น่าฉงนฉงาย การผูกเรื่องเล่าของตระกูลตั้งให้เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ แต่ข้าพเจ้าหาทำอย่างนั้นได้กับเรื่องนี้ ด้วยความโดดเด่นและการได้รับรางวัลซีไรต์ของตัวเรื่อง ทำให้มีผู้วิจารณ์เรื่องนี้อย่างมากมายหลายทิศทาง ยิ่งเมื่อได้อ่านบทวิจารณ์ “การเดินทางสู่อัสดง” ของ รศ.ยุรฉัตร บุญสนิท ในภาษาสรร วรรณกรรมสาร ที่หมดจดแจ่มแจ้งและตรงตามใจ(อาจเหนือกว่าความสามารถที่ข้าพเจ้าจะทำได้) ข้าพเจ้าก็จำจะต้องหาแนวทางที่จะเขียนถึงพุทธศักราชอัสดงฯ เสียใหม่ พลันความคิดแรกที่เคยผุดขึ้น ขณะเมื่ออ่านหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้จบก็หวนกลับมา ขณะวินาทีนั้นข้าพเจ้าคิดถึง “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” (One Hundred Years of Solitude) ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ด้วยหลายส่วนที่สำคัญในพุทธศักราชอัสดงฯ เป็นการเลือกเล่าเรื่องในแนวงานเขียนแบบ“สัจนิยมมหัศจรรย์” การวางโครงเรื่องทำให้คิดถึงงานเขียนประเภทนี้ อย่างที่พูดถึงโศกนาฏกรรมความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว คำสาปประจำตระกูล ความเป็นไปของสังคมการเมือง และจุดเริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุดของตระกูลตระกูลหนึ่งเช่นกัน ข้าพเจ้าจึงต้องการจะพูดถึงเนื้อหาในประเด็นนี้

          แต่จากหัวข้อบทวิจารณ์ “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวฉบับจีนโพ้นทะเล และการร่อนเร่ของจิตวิญญาณ” นี้ หากท่านผู้อ่านเข้าใจว่าข้าพเจ้าจะสื่อไปในทางที่ว่า ผู้เขียนลอกเลียนนวนิยายชื่อดังนั้นเห็นทีว่าท่านคงเข้าใจผิดถนัด ขอให้ลองอ่านบทวิจารณ์นี้ให้ถึงคำสุดท้ายเสียก่อน เพราะข้าพเจ้าเชื่อถืออยู่เสมอว่า มนุษย์ในโลกใบกลมนี้ต่างต้องผ่านเหตุการณ์นานัปการเช่นกันทุกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ มีทั้งเหมือนและแตกต่าง คงไม่ใช่เรื่องผิดประหลาดแต่อย่างใดหากคนสองซีกโลกจะเคยเผชิญหน้ากับเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน และปฏิบัติต่อเหตุการณ์นั้นคล้าย ๆ กัน เพราะเราต่างเป็นผู้ร่วมชะตากรรมในโลกใบนี้ มิฉะนั้นแล้ว Oedipus the king ของไซโฟคลีส กับ “ตำนานพระยากง-พระยาพาน” และโรมิโอ-จูเลียต ของเชกสเปียร์ กับ “แผลเก่า” ของ ไม้ เมืองเดิม คงต้องมีใครลอกใครเป็นแน่ แบบเรื่องที่เหมือนกันจึงส่งผลให้เกิดการจัดหมวดหมู่ ดัชนีอนุภาคของแบบเรื่องต่าง ๆ ฉะนั้นขอให้เปิดใจและรับฟังเถิดว่าข้าพเจ้ามิได้มีเจตนาจะปรักปรำผู้เขียนเรื่องพุทธศักราชอัสดงฯ แต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นบทเรียนของมนุษยชาติผ่านนวนิยายชื่อดังสองเรื่อง (ที่ข้าพเจ้ารักสุดหัวใจ) ว่าคนเรานั้นมีสันดานอย่างหนึ่งคือ ชอบทำผิดเรื่องเดิม ๆ ซ้ำซาก เราจึงกอดคอกันร่วมตายเกิดวนเวียนในสังสารวัฏนี้ มิใช่แต่เรื่องเฉพาะตนบ้านนี้เมืองนี้ก็เช่นกัน เราวนกลับมาที่เดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า นั่นเองที่เป็นประการหนึ่งของใจความสำคัญของนวนิยายสองเรื่องนี้ คงเพราะเราไม่เคยมีทรงจำอะไรเลยในกะโหลกหนา ๆ นี้ หากท่านอ่านนวนิยายทั้งสองเรื่องและบทวิจารณ์นี้จบ หวังว่าจะมีทรงจำที่ถึงจะเป็นทรงจำของผู้อื่น ติดอยู่เสียบ้างก็ยังดี

นวนิยายชื่อยาว กับ นวนิยายเรื่องยาว และเรื่องเล่าของสองตระกูล 

          คงปฏิเสธไม่ได้หากจะเรียก พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ในสมญา      นวนิยายชื่อยาว ทั้งยังโดดเด่นในแง่ของการตัดคำ(ทรงจำ) นำมาซ้อนทับกันสองคำ ทำให้เพียงแค่ชื่อเรื่องก็แฝงนัยให้ผู้อ่านต้องขบคิดกันอยู่นาน ด้านหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ชื่อเรื่องก็สามารถสร้างจินตภาพให้กับผู้อ่านเห็นความยาวนานของช่วงเวลา และการคาดคะเนจากจำนวนหน้าด้วยนั้นยิ่งเพิ่มความรู้สึกยาวนานมากขึ้นอีก ทั้งเวลาในตัวเรื่องและเวลาที่ใช้อ่าน แต่เมื่ออ่านจบทั้งสองเรื่องแล้วนั้น ผู้อ่านกลับเข้าใจความหมายของชื่อเรื่องได้อย่างแจ่มชัด ทั้ง อัสดง ของตระกูลตั้งที่คล้อยลงต่ำเรื่อย ๆ กระทั่งลับหายจากขอบฟ้า ทรงจำของทรงจำ ที่ ดาว มีมันเลืองรางเพราะเธอไม่เคยมีส่วนได้รับรู้โดยตรง และ หนึ่งร้อยปี ที่ความจริงในตัวเรื่องมากกว่าร้อยปีถ้วน แต่จะสักกี่ร้อยปีความโดดเดี่ยว ก็ไม่มีวันห่างหายจากใจผู้คนในมาคอนโดได้ ความเหมือนต่างและบางสิ่งที่นวนิยายสองเรื่องนี้มีร่วมกัน อาจค่อย ๆ ปรากฏชัดนับจากนี้

ผังเปรียบเทียบความเหมือนต่างในองค์ประกอบของนวนิยายทั้งสองเรื่อง

ตระกูลบูเอนดิยา

ตระกูลตั้ง

มาคอนโด

แปดริ้ว

7 ชั่วอายุคน

3 ชั่วอายุคน

อาณานิคม-ปฏิวัติ-ปฏิวัติกล้วย

ปฏิวัติ-WWII-ColdWar

ห้องแห่งความโดดเดี่ยว

ห้องสายฝน

คำสาปลูกมีหางเหมือนหมู

คำสาปตายด้วยน้ำ

          ส่วนสำคัญที่เป็นจุดเด่นของเรื่องราวทั้งสองคือ การเปิดเรื่อง จุดแตกหัก และการคลายปมที่จุดจบ ซึ่งทั้งสองเรื่องมีความโดดเด่นน่าสนใจชวนให้ผู้อ่านติดตาม ในการเปิดเรื่องนั้นทั้งสองใช้รูปแบบของความซับซ้อนทางด้านเวลาและเหตุการณ์เข้ามาใช้ โดยหนึ่งร้อยปีฯ เปิดเรื่องด้วยความคิดของตัวละครในอนาคตที่ย้อนคิดถึงประสบการณ์เมื่อเป็นเด็ก แล้วเรื่องราวก็เริ่มเล่าจากจุดนั้น จะเห็นได้ว่าเป็นกลวิธีการเล่าที่มีชั้นเชิงอย่างยิ่งในการเรียบเรียงระบบความคิดถ้อยคำและเหตุการณ์ ทำให้ภาคอดีต ปัจจุบัน และอนาคตรวมกันเป็นเส้นเวลาเดียวที่บิดเบี้ยวและวนกลับไปมาคล้ายกับไร้ที่สิ้นสุด“อีกหลายปีต่อมา เมื่อเขายืนอยู่หน้าแถวทหารผู้ทำหน้าที่ประหารชีวิต... พันเอกออเรลิยาโน...หวนรำลึกไปถึงบ่ายวันหนึ่งเมื่อนานมาแล้วที่พ่อพาเขาไปดูน้ำแข็งที่เพิ่งค้นพบ”(มาร์เกซ,2557:21)[1] พุทธศักราชอัสดงฯ เองก็มีวิธีการเปิดเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คล้ายกับผู้อ่านต้องอุ้มระเบิดเวลาของความสงสัยเอาไว้ยิ่งเวลาดำเนินไปเรื่อย ๆ ด้วยการอ่านเขายิ่งจดจ่อและสงสัย เมื่อถึงจุดสิ้นสุดและมันระเบิดออก เขาก็ทำได้เพียงพลิกกลับมาที่จุดเริ่มต้นแล้วร้อง อ๋อ! เพราะตัวละคร ดาว ที่ไม่มีความแน่ชัดอะไรเลยแม้แต่เพศ (ใช้สรรพนามว่าเขา) และหลาย ๆ อย่างผู้เขียนบอกเป็นนัยให้คุณทราบไว้แล้วตลอดทั้งเรื่อง“วันละสองครั้ง ตอนสายกับบ่ายแก่ รถไฟจะแล่นผ่าน ทันใดบ้านที่นิ่งงันกับมืดทึมตลอดเวลานั้นก็จะฟื้นตื่น อึกทึกครึกโครมด้วยชีวิตชีวา” (วีรพร, 2557 : 11 )

          นี่เองเป็นเสน่ห์ของงานเขียนแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ ที่เป็นความก้ำกึ่งระหว่างโลกความจริงและความเหนือจริง ซึ่งเราไม่อาจแยกได้อย่างชี้ชัดว่าด้านใดมากหรือน้อยกว่าเท่าใดกันแน่ สิ่งเหนือธรรมชาติต่าง ๆ ในเรื่องทั้งสองผสมปนเปอยู่กับประวัติศาสตร์ แต่ก็ไม่สามารเรียกได้อย่างเต็มปากว่าเป็นเรื่องจริง กึ่งว่าจะใช่ กึ่งว่าจะไม่ ดังในหนึ่งร้อยปีฯ ที่ช่วงเวลาในการเล่าเรื่องคาบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โคลอมเบีย ตั้งแต่การตกเป็นอาณานิคม การปฏิวัติปลดแอกสงครามกลางเมือง และการปฏิวัติกล้วยที่มีการสังหารหมู่ผู้ใช้แรงงาน พุทธศักราชอัสดงฯ ตัวบทเองก็เริ่มต้นตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติ 2475 สงครามโลกครั้งที่สอง กบฏแมนฮัตตัน ถึงหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น และมีบางช่วงที่คาบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีนยุคสงครามโลกทั้งที่สองและการปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งตัวละครหลักของทั้งสองเรื่องก็ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เหล่านั้น แต่เมื่อถึงบทที่จริงจังเช่นนี้ ภาพการบรรยายกลับเลือนรางเหมือนอยู่ในโลกของความฟุ้งฝัน ผิดกับเมื่อเป็นเหตุการณ์เหนือจริงทุกอย่างถูกเล่าด้วยน้ำเสียงที่จริงจังแข็งขัน ทั้งหมดส่งเรื่องไปยังจุดหักเหให้ดิ่งลงสุดสู่บทสรุปที่ถูกกำหนดไว้แล้วแต่ต้น ทั้งการอยู่บนขบวนรถไฟที่บรรทุกศพ(หรือกล้วยกันแน่) ฝนตกอันยาวนาน และจงสว่างที่ทำลายทุกอย่างของตระกูลลงกับมือ จุดหักเหทั้งสองนี้ทำให้ทุก ๆ อย่างของทั้งสองเรื่องค่อย ๆ เข้าสู่อัสดงและการคลายปมของเรื่องราว  “เขาเพิ่งจะรู้เดี๋ยวนั้นเองว่าอมารันตา อูร์ซูลามิใช่พี่หากเป็นน้าสาวของเขา...เพียงเพื่อให้เธอและเขาแสวงหากันและกัน ผ่านทางเขาวงกตแห่งสายเลือดที่ซับซ้อนที่สุด จนกระทั่งทั้งคู่ให้กำเนิดสัตว์แห่งตำนาน ที่นำมาซึ่งอวสานของตระกูล...แต่ก่อนจะไปถึงบรรทัดสุดท้ายเขาก็เข้าใจได้แล้วว่าตัวเองจะไม่มีวันได้ออกไปจากห้องนี้อีกเพราะมันถูกเห็นมาแล้วล่วงหน้าว่า เมืองแห่งกระจก (หรือภาพลวงตา)จะถูกกวาดล้างไปด้วยลม และจะหายไปจากความทรงจำของมนุษย์ทันทีที่ออเรลิยาโน...ถอดความจากแผ่นหนังสำเร็จ”(มาร์เกซ,2557:641-642 )การปิดเรื่องทั้งสองงดงามและแสดงให้เห็นถึงความสิ้นสูญของการมีอยู่

          “แล้วดาวก็เข้าใจ ว่าทำไมทรงจำของเขาถึงแตกร้าวแหว่งวิ่น...นอกจากความว่างเปล่า เพราะเขาไม่ได้เป็นใครหรืออะไรทั้งสิ้น ... แต่มันไม่สำคัญหรอก ... ถึงอย่างไรเขาก็ไม่มีทางบอกได้ว่าฝั่งไหนของกระจกคือความจริง หรือว่ามันมีความจริงอยู่หรือไม่ ...แมวที่มีลายเหมือนดอกกุหลาบสีดำกับดวงตาของพรายน้ำ ซึ่งนั่งอำพรางเงียบเชียบอยู่กลางแอ่งเงาสีเถ้าถ่าน และเฝ้าดูการมาถึงของพายุ ที่ค่อย ๆ พัดพาละอองเรณูสีเหลืองอ้างว้างฟุ้งปลิวข้ามฟ้าสีเทาเข้ามา กลบฝัง ทับถม จนจะจมหายสิ้น...ทุกสิ่ง” (วีรพร, 2557:419-421 )

การร่อนเร่ของจิตวิญญาณ

          มนุษย์เป็นนักเดินทางแต่ยุคอดีตกาล กระทั่งเรารู้จักการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์จึงตั้งชุมชนเป็นหลักแหล่ง สร้างวัฒนธรรมต่าง ๆ ขึ้นมากมาย แต่กับบางคนบางกลุ่มหรืออาจจะเทียบเป็นสัดส่วนที่มากกว่าที่คิดก็ยังเคลื่อนที่อยู่เสมอ การโยกย้ายเป็นไปเพื่อการตามหาและค้นพบสิ่งที่ดีกว่า หรือการพยายามหนีจากบางสิ่งอย่าง หรืออาจเป็นได้ทั้งสองทาง ซึ่งในเรื่องทั้งสองนี้จุดเริ่มต้นของเรื่องราวก็เป็นเรื่องของผู้อพยพที่ร่อนเร่เพื่อหนีและตามหาบางสิ่งตระกูลบูเอนดิยา หนีการรังควานของวิญญาณเพื่อนที่โฆเซ อาร์คาดิโอ ได้สังหาร และคำสาปของการเสพสมในสายญาติใกล้ชิด ตระกูลตั้งนำโดยทวดตงหนีความแร้นแค้นของภัยสงครามและความอัปยศจากความยากจน ข้ามโพ้นทะเลจากจีนมาสยามโดยมีคำสาปที่ต้องตายด้วยน้ำติดตัวมา ถึงจุดจบของทั้งสองตระกูลจะลงเอยที่การสูญหายเช่นเดียวกัน แต่ทวดตงนั้นหวังที่จะกลับแผ่นดินแม่เสมอเขาพยายามสร้างแนวทางต่าง ๆ แต่ทุกอย่างก็ไม่เป็นใจทิ้งไว้เพียงผิงมุ่ยเมียสาวกับอาฮงทายาทสืบสกุลที่ไม่เคยรู้ว่ามีตัวตน

          การอพยพของทั้งสองตระกูลมายังพื้นที่ใหม่ทั้งมาคอนโดและแปดริ้วจึงเป็นการสร้างความเป็นอัตลักษณ์ของทั้งสองครอบครัว แต่ในจุดนี้มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ว่ามาคอนโดเริ่มตั้งรกรากจากชุมชนเล็ก ๆ กระทั่งวิวัฒนาการเจ็ดชั่วอายุคนจนรุ่งเรื่องถึงขีดสุดและล่มสลาย แต่บ้านตระกูลตั้งนั้นออกไปในแนวทางความเป็นปัจเจกมากกว่า คือเป็นเรื่องภายในครอบครัวเป็นหลักเกี่ยวข้องกับสังคมโครงสร้างขนาดใหญ่น้อย ลำดับชั้นก็เพียงสามชั่วอายุคนเท่านั้น นี่เองที่เป็นจุดแตกต่างของสองเรื่องอย่างชัดเจน ซึ่งจุดนี้นั้นจะมีความสอดคล้องกับการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนโพ้นทะเลในสยาม ที่อาจารย์วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ เคยพูดถึงการกลืนกลายของคนจีนในสยามของ G.WilliamSkinner(Chinese Society in Thailand)ที่ชี้ว่า ภายในสี่ชั่วอายุคน คนจีนจะกลายเป็นคนไทยอย่างสิ้นเชิง (คนจีนจะกลายเป็นคนไทยคือลักษณะความเป็นจีนนั้นหายไป) ซึ่งอาจารย์วาสนาเห็นแย้งว่า “ไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าในสี่ชั่วอายุคน คนจีนจะกลืนกลายเป็นคนไทย ที่ชัดเจนคือในสี่ชั่วอายุคนจะไม่พูดภาษาจีนแล้ว(ซึ่งเกิดขึ้นจริง) แต่ในสี่ชั่วอายุคน สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนคือ ตระกูลคนจีนที่ภายในสี่ชั่วอายุคนสร้างตัวตนให้มีความน่าสนใจ คือตระกูลที่สี่ชั่วอายุคนนั้นต้องรู้จักสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับศูนย์กลางทางอำนาจการเมืองของไทย ถ้าภายในสี่ชั่วอายุคนไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับชนชั้นนำสยามได้ ก็จะถูกกลืนกลายไปอย่างสิ้นเชิงจนถูกลืมว่ามีคนกลุ่มนี้อยู่” นี่เองที่ชี้ให้เห็นว่าการอพยพหนีภัยสงคราม และความขัดแย้งของคนไทยกับคนจีนของตระกูลตั้ง โดยเข้ามาอยู่ในเมืองแปดริ้วนั้นเป็นเค้าลางของการล่มสลายของตระกูลนี้ ซึ่งต่อมาในตัวบทก็ปรากฏชัดว่าตระกูลตั้งนั้นดำรงอยู่ได้เพียงสามชั่วอายุคน และนอกจากจะไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับส่วนกลางได้แล้ว ตัวบทยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจส่วนกลาง ด้วยที่จิตรไสวมีส่วนร่วมกับกบฏแมนฮัตตันจะด้วยประการใดก็ตาม นี่เป็นข้อบ่งชี้หนึ่งถึงการอัสดงอีกประการของตระกูลตั้ง 

          นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่หักเหให้ตระกูลตั้งจมดิ่งสู่การล่มสลายอย่างรวดเร็วคือ ความผิดพลาดในด้านการบริหารชีวิตและธุรกิจครอบครัวของจิตรไสว ที่ลุ่มหลงอำนาจการพนันและกามตัณหา เพราะคนจีนไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหากขาดระบบครอบครัว เมื่อจงสว่างจากไป หน้าที่หัวหน้าครอบครัวตกเป็นของจิตรไสว แต่จิตรไสวผิดพลาดในด้านการบริหารด้วยไม่เคยเผชิญกับปัญหาด้านเศรษฐกิจอย่างจงสว่าง เขาจึงตัดช่องน้อยแต่พอตัว และการอัสดงของเขา ทิ้งภาระหนี้สินไว้อีกมากมาย  ทวดตงจึงต้องกลับมากู้สถานการณ์และการอัสดงไปอีกคนจึงกลายเป็นทางออกเดียว ตระกูลตั้งที่เหลือเพียงผู้หญิงที่ไม่เคยเป็นหัวหน้าครอบครัวจึงตกที่นั่งลำบาก พร้อมทั้งต้องดูแลระพินทร์และระรินทร์ ความเป็นอยู่จึงกระท่อนกระแท่นตลอดมา เมื่อการเข้ามาของผู้นำครอบครัวคนใหม่อย่างจอห์น(สามีจรัสแสง) ที่ต่างภาษาต่างความเชื่ออัสดงของตระกูตงที่ค่อย ๆ คล้อยต่ำ จึงลับขอบฟ้าไปอย่างมีไม่วันหวนกลับคืน

          แม้การหวนกลับสู่แผ่นดินแม่ของทวดตงจะไม่สมหวังแต่ก็มีตัวละครอย่างซินแสคุงที่หอบหิ้วหัวใจที่แตกสายกลับไปตายที่บ้านเกิด ด้านพฤติกรรมตัวละครของพุทธศักราชอัสดงฯ อาจคล้ายกับตัวละครในหนึ่งร้อยปีฯ อยู่บ้างแต่ก็แน่นนอนมิได้ลอกเลียนกันแต่ประการใด ยังมีอีกหลายส่วนที่ข้าพเจ้าชื่นชมและรักใคร่ในนวนิยายพุทธศักราชอัสดงฯ การพูดถึงความตายที่เป็นสัจจะด้วยน้ำเสียงนิ่ง ง่าย และงาม ดาว เขาผู้อยู่ระหว่างคนที่ยังไม่เกิดกับคนที่ตายไปแล้ว ฮง ผู้ดำรงชีพด้วยความฝัน แมวกุหลาบดำที่ข้าพเจ้าคิดว่ามันเป็นเสือดำแห่งทุ่งใหญ่ฯ เสมอ แม้ใครจะบอกว่าเป็นเพลงของวงสุนทราภรณ์ก็ตาม การตั้งคำถามถึงความเป็นไทยเพราะตัวละครสำคัญในเรื่องต่างเชื้อชาติ ทั้ง จีน มอญ มลายู ผสมผสานกัน และที่สำคัญเราคือใคร

          ท้ายนี้ตระกูลบูเอนดิยามิอาจอยู่ยั้งยืนยงได้ฉันใด ตระกูลตั้งของทวดตงก็ไม่อาจอยู่ถึงวันที่คนจีนเป็นใหญ่ในแผ่นดินไทยได้ฉันนั้น ทั้งสองต่างถูกสายลมพายุคลั่งพัดกระหน่ำ ผืนดินกลบกลืนกินและจมดิ่งสู่ห้วงน้ำลึก เพียงแต่หนึ่งนั้นหายไปอย่างรวดเร็วในพริบตา อีกหนึ่งทิ้งเศษซากทับถมความทรงจำไว้ แล้วค่อย ๆ ผุกร่อน เลือนราง ถูกหลงลืม และจะจางหายไปในที่สุด . . . เราทุกคนก็เช่นเดียวกัน . . .

 

[1]หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว แปลโดย ปณิธาน-ร.จันเสน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สามัญชน, 2557 (ใช้ฉบับแปลนี้เป็นหลัก)

 


 

 


Visitors: 72,293