อรวรรณ ฤทธิ์ศรีธร

ตุ๊กตา:  เด็ก ความกลัวที่คุ้นชิน และการกบฏในโลกทุนนิยม  

โดย อรวรรณ ฤทธิ์ศรีธร

 

         “หนู...อยาก...กลับ...บ้าน”

         เสียงชวนสยองขวัญที่ดังมาจากตุ๊กตาตัวหนึ่ง ปรากฏอยู่บนหน้ากระดาษของนวนิยายเรื่อง ตุ๊กตา บทประพันธ์ของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ ซึ่งตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรก ปี 2531 และได้รับการนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ในปีเดียวกัน เรื่องราวเล่าถึง การได้ครอบครองตุ๊กตาตัวหนึ่งของเด็กหญิงบูรณา หลังจากนั้น เหตุการณ์แปลกๆก็เกิดขึ้นในบ้าน วันดีคืนดีก็คล้ายกับมีคนเดินไปมา แววตาและพฤติกรรมบางอย่างของตุ๊กตาก็มีลักษณะเหมือนมีชีวิต ความน่าสยองขวัญคือ เสียงที่คล้ายจะดังมาจากปากของตุ๊กตาว่า “นังล็อบปาเตีย” (หนู...อยาก...กลับ...บ้าน) อีกทั้งเด็กหญิงบูรณาก็ยืนยันว่า “พี่ตุ๊กตา” มีชีวิตจริงๆ เมื่อสุวภาพ แม่ของเธอนำ “พี่ตุ๊กตา” ไปทิ้งและเด็กหญิงพรรษาเก็บได้ ในบ้านของเด็กหญิงพรรษาก็ได้พบเหตุการณ์แปลกประหลาดเช่นเดียวกัน สุวภาพสืบรู้ความจริงก็ได้พบว่า ตุ๊กตาสุดสยองมาจากโรงงานนรกซึ่งใช้แรงงานเด็กเป็นผู้ผลิต และได้พบกับร่างอ่อนปวกเปียกของเด็กหญิงคนหนึ่งที่ชื่อว่า “บุญช่วย” ไม่นานเด็กคนนั้นก็เสียชีวิต และแท้จริงแล้ว พฤติกรรมและเสียงที่ดังมาจาก “พี่ตุ๊กตา” เป็นวิญญาณของเด็กหญิงที่หลุดลอยขณะป่วยหนัก เธอหวังจะใช้ตุ๊กตาเป็นสื่อกลางในการบอกความปรารถนาของเธอ นั่นคือ เธออยากกลับบ้านไปสู่ครอบครัวอีกครั้ง

         เมื่ออ่านนวนิยายเรื่องนี้จบลง นอกจากความประทับใจระคนสะเทือนอารมณ์ที่ได้รับจากความอาดูรแรงงานเด็กแล้ว ผู้วิจารณ์ยังเห็นว่า วาณิช จรุงกิจอนันต์ ได้ซ่อนสารบางประการผ่านตัวละครเด็กและตุ๊กตา เมื่อเราสังเกตจะเห็นว่านวนิยายได้ถลกกลับพฤติกรรมและ “ธรรมชาติ” ของมนุษย์และตุ๊กตา นั่นคือ มีการทำให้ตุ๊กตาเป็นมนุษย์ และทำให้มนุษย์เป็นตุ๊กตา

         การทำตุ๊กตาให้เป็นมนุษย์นั้น นอกจากจะเป็นคุณสมบัติของเรื่องเล่าแนวสยองขวัญที่ทำให้สิ่งที่ไม่มีชีวิตกลายเป็นสิ่งที่มีชีวิตแล้ว การทำให้ตุ๊กตาขยับร่างเองได้ หรือตัวร้อนจี๋ ผิดธรรมชาติของตุ๊กตา “แขนของตุ๊กตามีอาการร้อนจนเธอรู้สึกได้ […] หน้าของตุ๊กตาก็ร้อนราวกับหน้าของคนไข้” (วาณิช จรุงกิจอนันต์, 2551: 46) ซึ่งเป็นการ “ผิดธรรมชาติ” ของตุ๊กตา เห็นได้ว่า ตุ๊กตาตัวดังกล่าวเป็นตัวแทนของเด็กหญิงบุญช่วย อาการต่างๆที่ปรากฏกับตุ๊กตา เช่น การเจ็บป่วย แม้ผู้เขียนจะไม่ได้บอกตรงๆ แต่ก็พอเดาได้ว่าเป็นอาการของเด็กหญิง ตุ๊กตาจึงเป็นเครื่องมือแสดงถึงการกบฏต่ออำนาจเหตุผลนิยมผ่านการทำให้ตุ๊กตาแสดงอาการได้เหมือนคน

         ในด้านการทำมนุษย์ให้เป็นตุ๊กตา ตัวละครเด็กที่สำคัญคือ เด็กหญิงบุญช่วย เธอถูกทำให้ไร้ปากเสียงไม่ต่างจากตุ๊กตาตัวหนึ่ง เธอไม่สามารถบอกความปรารถนาของเธอได้ ไม่สามารถแสดงความรู้สึกดังใจนึก แต่เมื่อวิญญาณของเธอไปสิงที่ตุ๊กตากลับทำให้เธอสามารถสื่อสารกับผู้อื่นให้ทราบถึงความต้องการของตนได้ ตุ๊กตาจึงเป็นมากกว่าของเล่น เมื่อตุ๊กตาตัวป่วย เด็กหญิงบูรณาและเด็กหญิงบุญช่วยต่างช่วยกันปฐมพยาบาล ผิดจากเมื่อครั้งที่เป็นแรงงานเด็กที่ไม่มีใครสนใจ และเมื่อมองตัวละครแรงงานเด็กอื่นๆ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าระบบทุนนิยมมองเด็กไม่ต่างจากตุ๊กตา ที่สามารถบังคับให้ทำอะไรได้ตามใจ เช่นในฉากที่แม่ของเด็กหญิงบูรณาไปที่โรงงานผลิตตุ๊กตา แรงงานเด็กเหล่านั้นถูกบังคับให้นั่งทำงานเป็นเวลานานจนยืนลำบาก “เด็กๆค่อยขยับลุกขึ้น มีอยู่สามสี่คนที่ลุกขึ้นแล้วล้มเผละลง” (วาณิช จรุงกิจอนันต์, 2551: 201) สภาพเช่นนี้จึงไม่ต่างอะไรจากตุ๊กตาที่ไม่สามารถบังคับร่างกายของตนได้

          ขณะที่เด็กหญิงบูรณาและเด็กหญิงพรรษา ถูกทำให้เป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างมนุษย์และตุ๊กตา เด็กหญิงสามารถสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของ “พี่ตุ๊กตา” และยังทราบว่า “พี่ตุ๊กตาเขาอายุมากกว่า” (วาณิช จรุงกิจอนันต์, 2551: 18) การที่ผู้เขียนเลือกให้เด็กหญิงสามารถสื่อกับตุ๊กตาได้เป็นการจัดวางความสัมพันธ์ให้เด็กกับตุ๊กตาเป็นฝ่ายเดียวกันจึงเข้าใจกันได้ ที่สำคัญการสื่อสารกับตุ๊กตาได้นี่เองนำไปสู่การเปิดโปงโรงงานนรก ซึ่งเป็นสถานที่ที่อยู่นอกสายตาของตำรวจ “ผมไม่เห็นจะเคยรู้เลยว่ามีโรงงานอะไรอยู่ในซอยนั่น”  (วาณิช จรุงกิจอนันต์, 2551: 178)  ตรงนี้จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าเด็ก (รวมทั้งวิญญาณของเด็ก)กำลังท้าทายอำนาจของรัฐที่ไม่สามารถจัดการกับปัญหาสังคมได้ และอาจมองว่าอำนาจของเด็กได้ตอบโต้อำนาจของผู้ใหญ่ในบริบททุนนิยมผ่านเรื่องเหนือธรรมชาติ

          จากการตีความแล้ว ตุ๊กตากับเด็กที่ปรากฏในเรื่องต่างก็มีสถานะไม่ต่างกัน ผู้วิจารณ์จึงนึกถึงงานของวิชาการของ กำจร หลุยยะพงศ์ (2557: 51-84) ที่กล่าวถึงตัวละครเด็กว่า ในยุคทุนนิยม เด็กกลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ สังคมไม่ต้องการ มีความเป็นอื่นและถูกกระทำจากสังคม ดังนั้น การต่อสู้ต่อรองทางอำนาจระหว่างเด็กและผู้ใหญ่จึงถูกนำเสนอผ่านตัวละครเด็กผี (เด็กเกเร) ผีเด็ก และเด็กเห็นผี เพื่อเปลี่ยนสถานะจากผู้ถูกกระทำมาเป็นผู้กระทำ

         เห็นได้ว่า เด็กและตุ๊กตาในนวนิยายเรื่องนี้ ต่างก็มีฐานะเป็นผู้กบฏต่ออำนาจที่ไหลเวียนในสังคม เด็กหญิงบุญช่วยเป็นผู้ท้าทายอำนาจของเจ้านายโดยการนำตุ๊กตาไปกอดนอนจนถูกลงโทษ เป็นการเปลี่ยนสภาพจากผู้ผลิต (แรงงาน) เป็นผู้บริโภค (ผู้เล่นตุ๊กตา) นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นว่า วิญญาณของเด็กหญิงบุญช่วยที่เข้ามาสิงในตุ๊กตายังเป็นตัวแทนของการกบฏต่อการรับรู้ของภาวะปกติ (กบฏต่อระบบคิดแบบเหตุผลนิยม) โดยการก้าวข้ามพรมแดนของสิ่งมีชีวิต-สิ่งที่ไม่มีชีวิต เราสามารถมองได้ว่า ตุ๊กตาเป็นภาคหนึ่งของเด็กหญิงบุญช่วย ฉากที่แสดงให้เห็นว่า ตุ๊กตาและเด็กหญิงผู้นี้เป็นหนึ่งเดียวกันคือ งานศพไม่มีรูปของเธอ แต่ใช้รูปของตุ๊กตาแทน และการตายของเด็กหญิงก็กลายเป็น “การตาย” ของตุ๊กตาด้วย เนื่องจากตุ๊กตาตัวที่เป็นตัวแทนของเด็กหญิงจะถูกนำไปไว้ “ที่ไหนสักที่หนึ่งที่เหมาะ ๆ ที่ต้นไม้ ที่วัด หรือในดิน” (วาณิช จรุงกิจอนันต์, 2551: 207)

         การที่นวนิยายเรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวของตุ๊กตาที่คล้ายกับมี “ผีสิง” ทำให้ผู้วิจารณ์กระหวัดคิดไปถึงแนวคิด The uncanny ของ ฟรอยด์ ซึ่งผู้วิจารณ์ขอแปลว่า “ความกลัวที่คุ้นชิน” แนวคิดนี้อธิบายว่า คนเราไม่เคยกลัวในสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย ทุกสิ่งที่เรากลัวเราต่างคุ้นชินกับมันดี หากแต่เมื่อเวลาผ่านไป เรากดทับความคุ้นชินนั้นไว้ให้กลายเป็นอื่น จากความเป็นอื่นจึงเป็นความผิดประหลาด และก่อให้เกิดความกลัวในที่สุด แนวคิดนี้ยังได้ยกตัวอย่างเกี่ยวกับตุ๊กตาว่า ในวัยเด็ก เรายอมรับว่าตุ๊กตากับมนุษย์มีสภาพที่ไม่ต่างกัน เรารับได้ถึงสภาวะความคลุมเครือของสิ่งที่ไม่มีชีวิตและมีชีวิต ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เด็กๆ (รวมถึงเราในวัยเด็ก) จะพูดคุยกับตุ๊กตา ส่งตุ๊กตาเข้านอน และพาตุ๊กตาไปเที่ยวราวกับเพื่อนคนหนึ่ง

         ผู้วิจารณ์หวนคิดไปถึงนวนิยายเรื่อง Sandman ที่มีโอลิมเปียเป็นตุ๊กตาที่มีความลักลั่นระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต นั่นคือ  เป็นตุ๊กตาที่คล้ายกับมีชีวิตจิตใจเหมือนมนุษย์เรา หรือกล่าวได้ว่า เป็นร่างที่มีสองบุคลิก ซึ่งคล้ายคลึงกับตุ๊กตาที่เป็นตัวแทนของเด็กหญิงบุญช่วย หรือ “พี่ตุ๊กตา” ของเด็กๆ สังเกตว่า ตุ๊กตาตัวนี้อาจมีการกะพริบตาคล้ายคน หรืออาจพูดสื่อสารได้ แต่เมื่อมองอีกครั้ง ตุ๊กตาตัวนี้ก็เป็นเพียงตุ๊กตาธรรมดาๆ  แสดงให้เห็นการมีคุณสมบัติเหมือนทั้งคนและตุ๊กตา

         ความน่าสนใจคือ ตัวละครผู้ใหญ่ต่างก็กลัวตุ๊กตาที่มีลักษณะเหมือนคน ผิดกับเด็กๆ ที่ไม่หวาดกลัว ซ้ำยังไม่เห็นว่า การที่ “พี่ตุ๊กตา” จะตัวร้อน ไม่สบาย หรือพูดคุยกับพวกเขาได้จะเป็นเรื่องแปลกประหลาดตรงไหน อาการหวาดกลัวตุ๊กตาของผู้ใหญ่ จึงเกิดขึ้นเพราะการเบียดขับการยอมรับถึง “ร่างสองบุคลิก” ให้กลายเป็นอื่น

         ตุ๊กตาจึงเป็นตัวแทนของการกบฏต่อลัทธิเหตุผลนิยม ครั้งหนึ่งเราเคยอยู่นอกเหนือเหตุผล ตอนเด็ก ๆเราคุยกับตุ๊กตาและคิดว่าตุ๊กตามีชีวิตจิตใจ แต่เมื่อโตขึ้น เรากลับกดทับความรู้สึกนั้นให้เลือนหาย นวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นการชูลัทธิเหนือเหตุผลให้มีบทบาท เห็นได้ว่า ตุ๊กตาสามารถเป็นสื่อกลางสื่อสารกับมนุษย์ได้จริงผ่านภาษาพูด ดังนั้น การทำให้ตุ๊กตามีสภาพคล้ายมนุษย์ จึงเป็นการนำเสนอความกลัวที่คุ้นชินให้มีความชัดเจนขึ้น การหวาดกลัวตุ๊กตาที่มีความลักลั่นระหว่างสิ่งไม่มีชีวิตและมีชีวิต จึงเป็นการหวาดกลัวความไร้ระเบียบในอีกลักษณะหนึ่งด้วย

         ข้อสังเกตที่ผู้วิจารณ์ต้องการนำมาตีความคือ ประโยคที่เป็นดังสโลแกนของนวนิยายเรื่องนี้ นั่นคือ “หนู...อยาก...กลับ...บ้าน” ซึ่งถือว่าเป็นประโยคสยองขวัญของช่วงเวลาที่ละครโทรทัศน์เรื่องนี้ออกฉาย คำถามคือ ประโยคชวนสะพรึงนี้ เป็นรหัสอะไรบางอย่างหรือไม่ ถ้าใช่ แล้วมันคือรหัสอะไร และจากการพิเคราะห์ดูแล้วเห็นได้ว่า มันคือรหัสอย่างหนึ่ง เมื่อพิจารณาเรื่องความเป็นท้องถิ่นและความเป็นเมือง จะสามารถตอบคำถามนี้ได้ นั่นคือ เด็กหญิงตุ๊กตา “บุญช่วย” เป็นตัวแทนของท้องถิ่นที่เข้ามาคุกคามสภาวะทางจิตของคนเมืองให้เกิดความ “ขนหัวลุก” ดังนั้น คำว่า “หนูอยากกลับบ้าน” จึงเป็นการบอกกลายๆว่า “การกลับบ้าน” ของคนท้องถิ่น เป็นทางออกให้ความเป็นเมืองคืนสู่ความสงบสุข ที่น่าสนใจคือ แม้เด็กหญิงกอง สาวใช้ของเด็กหญิงบูรณา เป็นคนถิ่นเดียวกับเด็กหญิงบุญช่วย แต่ก็ไม่ถูกกำจัด นั่นเป็นเพราะเด็กหญิงกองไม่ได้มีลักษณะของการคุกคามคนเมือง การสร้างให้เด็กหญิงกองเป็นคนจังหวัดเดียวกับเด็กหญิงบุญช่วยจึงเป็นการสร้างคู่ตรงข้าม เพื่อชี้ให้เห็นว่า คนท้องถิ่นสามารถอยู่ร่วมกับคนเมืองได้ หากไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนเมือง

          เมื่ออ่านในนวนิยายเราจะพบว่า ประโยค “หนู...อยาก...กลับ...บ้าน” ถูกถ่ายทอดเป็นภาษาเขมร  แม้ตัวบทจะไม่ได้บอกว่าเด็กหญิงบุญช่วยเป็นชาวเขมร แต่เราก็เดาได้ว่าเธอเติบโตในครอบครัวที่ใช้ภาษาเขมรในการสื่อสาร ภาษาที่แปลกประหลาดสำหรับคนเมืองนี้เอง กลับเพิ่มความน่าสะพรึงกลัวให้กับตุ๊กตา และหากนำแนวคิดความกลัวที่คุ้นชินมาพิจารณา ผู้อ่านอาจจะแย้งว่า ภาษาต่างถิ่นเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย การนำแนวคิดดังกล่าวเข้ามามองอาจผิดฝาผิดตัวหรือไม่ ผู้วิจารณ์ขอชี้ให้เห็นว่า แม้ภาษาต่างถิ่นจะเป็นภาษาที่เราไม่คุ้นเคย แต่หากมองในเชิงจิตวิเคราะห์ ภาษาที่เราเห็นว่าไม่ใช่ภาษาของเราเป็นเพียง “ตัวแทน” ของการแบ่งแยก “เรา” ออกจาก “เขา” ดังนั้นหากย้อนกลับไปในวัยเด็ก เด็กที่ยังไม่รู้ภาษา ไม่สามารถแยกได้ว่าภาษาใดคือภาษาของ “ฉัน” ภาษาใดเป็นภาษาของ “เธอ” ภาษาแต่ละภาษาจึงเป็นหนึ่งเดียว หากเมื่อเราโตขึ้น เราใช้ภาษาแยกคนแต่ละกลุ่มออกจากกัน ดังในนวนิยายเรื่อง ตุ๊กตา นี้ เห็นได้ว่าภาษาที่แปลกประหลาดอันนำไปสู่ความหวาดกลัว แท้จริงแล้วเป็นเพียงการหวนกลับมาของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของเพื่อนมนุษย์ ข้อสนับสนุนคำอธิบายนี้คือ เด็กหญิงตุ๊กตา “บุญช่วย” ใช้ภาษาเขมรเพื่อสื่อสารกับเด็กๆ ได้อย่างเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นการบอกให้รู้ว่า “อยากกลับบ้าน” “ป่วย” หรือ “พี่ตุ๊กตาเขาอยู่ในนี้” ทั้งๆ ที่เด็กๆ ต่างก็รู้เพียงภาษาไทย หากแต่การทำให้สามารถสื่อสารกับเด็กหญิงตุ๊กตา “บุญช่วย” ได้นั้น นอกจากเป็นกลวิธีแบบเหนือจริงแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นการหวนคืนของความเป็นหนึ่งเดียวของมวลมนุษย์ที่ไม่แยกชาติแยกภาษา

          สุดท้ายแล้ว นวนิยายเรื่อง ตุ๊กตา ได้สร้างความ “หลอน” ให้กับทั้งผู้อ่าน และผู้ชมละครโทรทัศน์ ภายใต้เสียงร่ำไห้คร่ำครวญของตุ๊กตานี่เอง สามารถโยงใยไปถึงปมความกลัวของเราซึ่งมาจากการการที่เราพยายามแบ่งแยก “เขา” แยก “เรา” นอกจากนั้นนวนิยายยังเสนอให้เห็นชุดความคิดที่สังคมมีต่อเด็ก ผ่านการจัดวางให้ตุ๊กตาและเด็กอยู่ฝ่ายเดียวกัน ซึ่งนั่นเป็นกรอบคิดแบบสังคมทุนนิยม เด็กและตุ๊กตาที่พยายาม “กบฏ” ต่ออำนาจของทุนนิยม จึงจำต้องถูกทำลาย (ถูกทำให้ตาย) ในตอนจบ ดังนั้นเมื่ออ่านนวนิยายเรื่องนี้ในกรอบที่นอกเหนือไปจากกลวิธีแบบสยองขวัญ ได้ทำให้มองเห็นวิธีคิดที่วาณิช จรุงกิจอนันต์ เสนอไว้ภายใต้ความน่าสะพรึงกลัวของตุ๊กตา

 

เอกสารอ้างอิง

กำจร หลุยยะพงศ์. (2557). เด็กผี ผีเด็ก และเด็กเห็นผี ในหนัง (เด็ก) ไทย.  วารสารศาสตร์. ปีที่ 7 ฉบับที่ 2: 51-84.

วาณิช จรุงกิจอนันต์ (2551). พิมพ์ครั้งที่ 4. ตุ๊กตา. กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์.

 


 


Visitors: 72,116