พัชรพร ศุภผล

 

โดย...พัชรพร ศุภผล

 

สำรวจ Sexuality จากคนในนิทาน

อำนาจ เพศ และวรรณกรรมยุคหลังสมัยใหม่ ที่ไปไกลกว่าเรื่องอีโรติก

 

คนในนิทาน นวนิยายของ กร ศิริวัฒโณ นวนิยายรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดและเป็นหนึ่งในแปดเล่มสุดท้ายที่ได้ผ่านเข้ารอบคัดเลือก (Short List) รางวัลซีไรต์ ประเภทนวนิยาย ประจำปี ๒๕๖๑ ด้วยเนื้อหาที่หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม เล่าเรื่องราวของครอบครัวชนบท นำเสนอ “Sexuality” หรือ “เรื่องเพศ” ของตัวละครหลักในเรื่องอย่างโฉ่งฉ่าง ทั้งแบบที่อยู่ในกรอบที่สังคมกำหนดและแบบที่สังคม “ยอมรับไม่ได้” ทำให้นวนิยายเรื่องนี้เป็นนวนิยายอีโรติกย้อนยุคสังคมเกษตรกรรม ที่ซุกซ่อนมายาคติของคนในสังคมที่มีต่อเรื่องเพศ ท้าทายให้ผู้อ่านขบคิดว่า แท้จริงแล้ว ภายใต้ความอีโรติกเหล่านั้น เรามองเห็นสิ่งอื่นใดเหนือเรื่องเล่าวิตถารของนวนิยายเรื่องนี้

 

รูปแบบวรรณกรรมยุคหลังสมัยใหม่ (Post Modern) กับความโยงใยเรื่องเพศ

คนในนิทาน ของ กร ศิริวัฒโน ถือเป็นนวนิยายที่ได้รับอิทธิพลของงานวรรณกรรมหลังยุคสมัยใหม่ (Post Modern) อย่างสมบูรณ์ ทั้งในด้านกลวิธีการเล่าเรื่อง และด้านเนื้อหา ทำหน้าที่วรรณกรรมที่ขับเคลื่อนผู้คนให้รู้จักตั้งข้อสงสัย วิพากษ์ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ  ในสังคมบนโลกไม่ถูกแบ่งออกเพียงแค่ขาวกับดำอีกต่อไป

คนในนิทาน ใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแบบ “เรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า” (Metafiction) อันเป็นจุดเด่นของวรรณกรรมหลังยุคสมัยใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการขบคิดต่อวาทกรรม คติ ความเชื่อ และสิ่งที่ชื่อว่าเป็น ”สัจจ” แม้แต่งานวรรณกรรมแนวสัจนิยมเองก็ได้รับผลกระทบจากสังคมที่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคหลังสมัยใหม่ ดังที่ สรณัฐ ไตลังคะ (๒๕๕๙ : ๑๖๕) กล่าวถึงวรรณกรรมในยุคหลังสมัยใหม่ว่า “งานแนวสัจนิยมคลาสสิกถูกต่อต้านงานแนวคตินิยมสมัยใหม่ที่ลึกซึ้งในการนำเสนออัตวิสัยก็หมดยุค” กลวิธีการเล่าเรื่องแบบเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าจึงกำเนิดขึ้นในยุคนี้ เพื่อให้ผู้อ่านได้เคลือบแคลงสงสัยต่อสิ่งที่เป็นเรื่องเล่ากับเรื่องจริง สำหรับคนในนิทาน ผู้เขียนได้วางโครงเรื่องหลักและโครงเรื่องย่อยซ้อนทับไปด้วยกันเพื่อให้เกิดเป็นเรื่องเล่าที่ซ้อนเรื่องเล่า โดยโครงเรื่องหลักนั้น เป็นเรื่องของตัวละคร “ตาเฒ่า” ผู้กล่าวอ้างว่าเป็นหลานห่าง ๆ ของเทิ้มทด และเป็นผู้ที่เล่านิทานขำขันเรื่องเทิ้มทดให้หนุ่มสาวในหมู่บ้านฟัง ซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ฟัง ดังคำบรรยายว่า “เสียงหัวเราะรื่นรมย์แบบสุดขีดดังขึ้นเป็นระยะจนกระทั่งนิทานจบลง หลายคนกวาดน้ำตาแห่งความสุขสันต์เช็ดกับเสื้อและกางเกง (หน้า ๑๔) ” ต่อเมื่อตาเฒ่าเล่าว่าเทิ้มทดนั้นมีตัวตนจริง ๆ บนโลกใบนี้ ทำให้มีหนึ่งในผู้ฟังเกิดอยากฟังเรื่องจริงของเทิ้มทด ตาเฒ่าจึงเริ่มเล่าเรื่องของเทิ้มทดทำให้เกิดเป็นโครงเรื่องรองซ้อนขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องของเทิ้มทด ที่เกิดอารมณ์วิปริต กระทำกามวิตถารมีเพศสัมพันธ์กับสุนัขที่ตนเองเลี้ยงไว้ ทว่าการกระทำนั้นกลับตกอยู่ใต้สายตาของ “กริช” เขยใหญ่ของบ้าน จึงเกิดเป็นปมขัดแย้งระหว่าง กริชที่สามารถกุมความลับของพ่อตาได้สำเร็จ กับเทิ้มทดผู้ที่ค่อย ๆ สูญเสียอำนาจการปกครองภายในบ้านให้กับกริชอย่างสมบูรณ์บนโครงเรื่องรองนี้ ผู้เขียนยังทำให้ตัวละครอย่างเทิ้มทดมีนิสัยชอบเล่านิทานให้คนในครอบครัวฟัง ทำให้เกิดเป็นเรื่องเล่าย่อย ๆ มากมายที่ซ้อนอยู่ในเรื่องเล่าของเทิ้มทด ซึ่งเป็นตัวละครในเรื่องเล่าของตาเฒ่าอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนร้อยเรียงเรื่องราวสลับซ้อนทับกันได้อย่างน่าอัศจรรย์  

ด้านเนื้อหานั้น ผู้เขียนสามารถดึงธรรมชาติของวรรณกรรมหลังยุคสมัยใหม่ ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้อ่านได้ วิพากษ์ ตรวจสอบโครงสร้างกับเรื่องเล่าที่เป็นแม่บท (grand narrative) ซึ่งในที่นี้คือ Sexuality หรือเรื่องทางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เขียนพยายามนำเสนอไป ทั้งในโครงเรื่องหลัก โครงเรื่องรอง และบนเรื่องเล่าย่อย ๆ ที่ซ้อนบนโครงเรื่องรองอีกด้วย การวิพากษ์ตรวจสอบที่เด่นชัดที่สุด ผู้เขียนได้กระทำผ่านตัวละครที่อยู่ในโครงเรื่องรอง คือ ดอกแตง ลูกสาวคนรอง และนิ่มน้อย ภรรยาของเทิ้มทด ผู้ชอบวิจารณ์ เสียดสีตัวละครในนิทานที่เทิ้มทดเล่า เช่น ครั้งที่เทิ้มทดเล่านิทานเรื่อง นางมณโฑ เมื่อเล่ามาถึงตอนที่ทศกัณฐ์ไม่สามารถแตะเนื้อต้องตัวนางอุมาได้ เทิ้มทดก็ตั้งคำถามกับผู้ฟังว่า “รู้ไหมทำไมนางอุมาถึงตัวร้อน (หน้า ๒๒๖)” ก่อนจะเฉลยว่า “เพราะนางอุมามีบุญนะซี (หน้า ๒๒๖)” เหตุผลเหนือจริงเหล่านั้นทำให้นิ่มน้อยสวนกลับไปว่า “งั้นคนไข้ก็มีบุญด้วยสิ ตัวร้อนกันทุกคนเลย (หน้า ๒๒๗)” หรือเมื่อคราวที่เทิ้มทดขับบทหนังตะลุง เรื่อง นางสองแขน ซึ่งเป็นเรื่องของนางทองคำ สาวชาวบ้านที่เข้าไปเกี้ยวพาราสีเจ้าชายจนได้ร่วมเตียงเดียวกัน ชื่อนางสองแขนจึงใช้เป็นตัวแทนของคนไม่ดี ดอกแตงผู้ฟังได้ทักท้วงถึงบทขับบทนี้ว่า “มันก็ใช่ ผู้ชายก็เหมือนกันไม่ใช่หรือ แล้วทำไมไม่มีนายสองแขนบ้างล่ะ (หน้า ๒๑๙)” หรือบางครั้งผู้เขียนยังให้ผู้เล่านิทานอย่างเทิ้มทดเองหาความชอบธรรมให้กามวิตถารของตนเอง ผ่านนิทานที่แกเคยได้ยินในวงหวาก (น้ำตาลเมา) เกี่ยวกับหญิงสาวที่มีพี่เลี้ยงเป็นหมาหมี  วันหนึ่งได้เข้าไปในป่าและมีเพศสัมพันธ์กับหมาหมี เทิ้มทดนึกถึงเรื่องนี้โดยอ้างว่า “ผู้หญิงเอากับหมาตัวผู้ได้ ผู้ชายอย่างข้าก็น่าจะเอากับหมาตัวเมียอย่างตีนขาวได้เหมือนกัน มันคงมีความรู้สึกใหม่ขึ้นมาบ้าง (๑๑๕)”วิธีการของตัวละครบนโครงเรื่องรองเหล่านี้ล้วนบ่อนเซาะทำลายความน่าเชื่อถือของเรื่องเล่าทั้งสิ้นซึ่งบนโครงเรื่องหลักเอง ผู้เขียนก็กระทำผ่านคำถามของตาเฒ่าถึงผู้ฟัง ด้วยบทสนทนาว่า “ชีวิตในนิทานแม้จะเศร้าเพียงใด ทว่าคนเล่าคนฟังยังหัวเราะได้ แต่ถ้าเปลี่ยนชีวิตในนิทานมาเป็นเรื่องจริง มันไม่สนุกนักหรอกมึง ใช่ไหมละ หรือถ้ามีคนนำเอาชีวิตจริงมุมมืดอันเจ็บปวดของพวกมึงไปทำเป็นนิทานขันคาวโปกฮา สืบทอดเล่าขานกันต่อไป พวกมึงจะรู้สึกอย่างไร คงขำกันจนหงายท้องตีนชี้ฟ้าแน่.. (หน้า ๓๑๒)” อันเป็นการยั่วล้อที่สำคัญต่อเรื่องเล่าทั้งหมดผู้เขียนตลบหลังให้ผู้อ่านคิดว่า ความขำขันที่เกิดขึ้นบนชะตากรรมอันวิปริตของเทิ้มทดตัวละครในเรื่องเล่าของตาเฒ่าหรือเรื่องราวทะลึ่งตึงตังจากนิทานของเทิ้มทด เรากำลังขบขันอยู่บนSexualityที่ถูกนำมาทำให้เป็นเรื่องตลก (Make Joke) ฉะนั้นแล้ว ผู้อ่านก็ต้องขบคิดต่อไปว่าการขำขัน Sexuality นั้น ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไร และใครคือเหยื่อจากเรื่องราวเหล่านี้

 

ปรกติ-วิตถาร ปรากฎการณ์เรื่องเพศ จากคนในนิทาน

คนในนิทานของ กร ศิริวัฒโน นั้น เปี่ยมไปด้วยความสัมพันธ์ทางเพศอันหลากหลายของตัวละคร ทั้งแบบปรกติตามกรอบที่สังคมยอมรับอย่าง ความสัมพันธ์ของ สินชัย-ดอกแตง ที่แต่งงานเป็นสามีภรรยากันอย่างถูกต้อง และแบบที่ผิดจารีตของสังคมอย่าง ความสัมพันธ์ของกริชกับนิ่มน้อย ผู้เป็นแม่ยาย และความสัมพันธ์ระหว่างกริชกับดอกแตงผู้เป็นน้องเมีย รวมถึงแบบที่นิยามว่า “วิตถาร” อย่าง ความสัมพันธ์ระหว่างเทิ้มทดกับสุนัข ซึ่งหญิงสาวนางหนึ่งที่รับรู้เรื่องราวของเทิ้มทดกับตีนขาวถึงกับพูดว่า “นรกจกเปรตที่สุด (หน้า ๒๘๔) ”

ความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างเทิ้มทดกับสุนัขนั้น เกิดขึ้นถึงสองครั้งในเรื่อง ได้แก่ ตอนที่เทิ้มทดบวชเป็นพระและมีแม่สุนัขมาคลอเคลีย จนทำให้เทิ้มทดที่ห่างหายจากเรื่องเช่นนี้ไปนาน เพราะนางนิ่มน้อยนั้นก็ปฏิเสธเสียทุกครั้ง ก็เกิดอาการ “พลันความอบอุ่นจากแม่หมาแผ่ซ่านเข้ามาสู่ใจแกจนแกต้องรีบชักเท้ากลับ เทิ้มทดรู้สึกว่า มันเป็นความรู้สึกที่แปลกใหม่จนแกรู้สึกประหลาดใจตัวเอง (หน้า ๒๘)” และเกิดขึ้นอีกครั้งตอนเทิ้มทดเข้าป่าไปล่าสัตว์พร้อมกับตีนขาว สุนัขคู่ใจแก ความปรารถนาทางเพศต่อสัตว์ของเทิ้มทดนั้น ในมุมองปัจจุบัน เพศวิถีเช่นนี้เป็นกลุ่มอาการทางเพศที่ผิดปรกติเรียกว่า การใคร่สัตว์ หรือ zoophilia และยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอีกด้วย ซึ่งน่าสนใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ที่ปรากฏในวรรณกรรมในสมัยก่อนนั้น เป็นไปเพื่อให้กำเนิดบุคคลที่มีบุญญาธิการ มีพลังอำนาจเหนือมนุษย์ทั้งสิ้น เช่น ตำนานเทพเจ้ากรีกที่เทพเจ้ามักจะแปลงกายเป็นสัตว์ลงไปสมสู่กับมนุษย์ เช่น ซุสที่แปลงกายเป็นหงส์ไปมีความสัมพันธ์กับนางลีดา จนให้กำเนิดลูกแฝดหนึ่งในนั้นคือ เฮเลน หญิงงามต้นเหตุสงครามกรุงทรอยหรือแม้ในวรรณกรรมไทย เช่น พงศาวดารเหนือก็กล่าวถึงชาติวงศ์ของพระร่วงว่าเป็นบุตรของนางนาคกับเจ้าเมืองหริภุญชัย ตัวละครอื่น ๆ อย่าง พระอภัยมณี-นางเงือก หรือแม้กระทั่งรามเกียรติ์ที่มีทั้ง ช้าง ปลา ม้า ลิง ล้วนให้กำเนิดสิ่งอัศจรรย์ ทว่าผ่านมานับร้อยปีความสัมพันธ์ระหว่างเทิ้มทดกับไอตีนขาวนั้นไม่บังเกิดสิ่งใด นอกจากความวิตถาร จึงเห็นได้ว่าโครงสร้างของสังคมโลกนั้นเปลี่ยนแปลงไป สัตว์ไม่ได้เป็นดังที่อริสโตเติลกล่าวว่า เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ในโลกก็เพื่อประโยชน์ของมนุษย์เท่านั้น ความรู้สึกแบบ Eroticize ต่อสัตว์จึงไม่ถูกยกย่องอีกต่อไป เหลือไว้แต่ความรู้สึกแบบ Romanticize เฉกเช่นมนุษย์ผู้นิยามตนเองว่าเป็น ทาสแมว เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องราวเหล่านี้ถูกเฉลยต่อสาธารณะในตอนท้ายเรื่อง ชะตากรรมของเทิ้มทดและครอบครัวก็เปลี่ยนไปตลอดกาล กลายเป็นกลุ่มคนวิตถารในนิทานขำขันพื้นบ้าน ความวิตถารของคนกับสุนัข จะถูกเล่าต่อรุ่นสู่รุ่นอย่างไม่อาจแก้ไขสิ่งใดได้ และพร้อมจะถูกต่อเติมให้อัศจรรย์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะความปรกติ วิตถารนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้อยู่ที่ธรรมชาติของร่างกายกำหนด หากอยู่ที่สังคมกำหนด ผู้เขียนต้องการสะท้อนให้ผู้อ่านเห็นว่าเรื่องเพศนั้น ไม่ใช่เรื่องปัจเจก ดังที่ตัวละครเทิ้มทดได้ปลดเปลื้องต่อชาวบ้านที่มามุงดูการต่อสู้ระหว่างตนกับกริช เพราะสุดอัดอั้นว่า “ใช่ มันทราม มันถ่อย มันคือนรกจกเปรต แต่ที่กูทำลงไปแบบนั้นมันเป็นเพียงความรู้สึกวูบเดียวเอง เผลอใจไปชั่วครู่เท่านั้น แล้วมันก็ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนด้วย มันเป็นหมาของกู (หน้า ๒๘๕ )” แต่จริงแล้ว เรื่องทางเพศนั้นมียังถูกตีกรอบจากสังคมอย่างใกล้ชิด และไม่สามารถตัดขาดจากสังคม ค่านิยม ศีลธรรม จรรยา ไปได้

 

วัฒนธรรมการข่มขืน เมื่อ “ยอม ไม่เท่ากับ ยินยอม” เสมอไป

หากสำรวจ Sexuality จากคนในนิทาน จะพบว่าไม่ใช่มีเพียงแค่เรื่องของความปรกติ-วิตถาร             ทางเพศ แต่คนในนิทานยังแอบแฝงวัฒนธรรมการข่มขืน (rape culture) ผ่านพฤติกรรมการร่วมเพศของกริช-นิ่มน้อย และ กริช-ดอกแตง และบรรดาตัวละครจากนิทานที่ซ้อนอยู่ในเรื่องเล่าของเทิ้มทดและสินชัย ซึ่งปัญหาสำคัญข้อหนึ่งของวัฒนธรรมการข่มขืนบนสังคมไทย ที่ส่งผลต่อมายาคติเรื่องเพศให้กับผู้คนในสังคมมาอย่างยาวนาน คือเรื่องของความยินยอมพร้อมใจในการมีเพศสัมพันธ์ (sexual consent / consensual sex) ผู้คนมักเข้าใจผิดว่าการเงียบ ไม่ปฏิเสธ หรือการทำให้อีกฝ่ายเกิดอารมณ์ร่วมได้เท่ากับการสมยอม ซึ่งความสัมพันธ์ของกริชกับนิ่มน้อยผู้เป็นแม่ยาย และความสัมพันธ์ระหว่างกริชกับดอกแตงผู้เป็นน้องเมียนั้น เป็นตัวอย่างของการมีเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ยินยอม แม้ผู้เขียนจะทำให้เราเชื่อว่า ทั้งนิ่มน้อยและดอกแตงนั้นล้วนพ่ายแพ้ต่อตัณหาหรือ “นางสองแขน” ในใจของตนเอง แต่เมื่อพิจารณาการร่วมเพศของกริชกับนิ่มน้อยและดอกแตงแล้วต่างถือเป็นการล่วงละเมิด ถึงแม้ตัวนางนิ่มน้อยนั้นจะ “ซ่อนยิ้มไว้ในหน้า (หน้า ๒๑๒)” ตอนที่กริชขอมีเพศสัมพันธ์แต่ด้วยเงื่อนไขที่กริชนำมาอ้างว่า ได้บนบานไว้กับตาหมอโคกขี้แร้งว่าถ้าวัวหายกลับมาได้จะขอมีอะไรกับนางนิ่มน้อยนั้น เป็นการใช้ความศรัทธาของนางนิ่มน้อยมาสมอ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการของตัวเอง “นิ่มน้อยคิดแล้วอยากจะอาเจียนสำรอกเอานางสองแขนของตนมาทำลายเสียให้สิ้นซาก แกคิดว่าอันที่จริงการแก้บนเพียงครั้งเดียวก็เพียงพอแล้ว แต่นี่มันเลยเถิดไปจนรั้งไว้ไม่อยู่…(หน้า ๒๑๖)” เป็นสิ่งที่ยืนยันความรู้สึกของผู้ที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์แบบที่ไม่ยินยอม ซึ่งเป็นความรู้สึกเดียวกับนางดอกแตงที่ “ความอับอายและความเจ็บปวดได้โถมถั่งเข้าใส่ดอกแตงจนตั้งรับไม่ทัน ดอกแตงลุกขึ้นวิ่งกลับเรือนตัวปลิวไม่ฟังเสียงของกริช ลากหางโจงกระเบนสีโคลนไปตลอดทาง..(หน้า ๒๒๕)” ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากไปจับปลาสองต่อสองกับกริชพี่เขย และถูกกริชล่อหลอกว่าปลาดุกนั้นแทงเสียที่เครื่องเพศของตน ต้องให้ดอกแตงคร่อมปัสสาวะรดเท่านั้นถึงจะหาย จนเลยเถิดไปถึงการมีเพศสัมพันธ์ แม้ก่อนหน้านี้ความรู้สึกของดอกแตงจะ“รู้สึกอบอุ่นกรุ่นใจราวอยู่กับชายคนรัก (หน้า ๒๒๒)” ก็ตาม การร่วมเพศที่สร้างเงื่อนไขให้อีกฝ่ายไม่กล้าปฏิเสธด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นิ่มน้อยนับถือ ตลอดถึงอาการเจ็บปวดที่ดอกแตงไม่กล้าปฏิเสธ ทำให้การร่วมเพศครั้งนี้ถือเป็นการละเมิด

นอกจากนี้ นางมณโฑ ตัวละครจากเรื่องเล่าของเทิ้มทดยังเป็นอีกตัวละครที่มีต้องกล่าวถึง ด้วยนางถูกมอบให้เป็นชายาของทศกัณฐ์ และถูกชิงไปโดยองคต นางมณโฑยังถูกหนุมานปลอมตัวเป็นทศกัณฐ์เพื่อไปขอหลับนอน จนในตอนท้ายนางก็ถูกมอบให้พิเภก ล้วนเป็นการกระทำที่ไม่เคยสอบถามความยินยอมจนผู้ฟังอย่างดอกแตงเองเกิดความรู้สึกว่า “คิดจะเอาผู้หญิงไปไว้ตรงไหนก็ได้ตามใจปรารถนา ให้ผู้หญิงตกต่ำดำมืดอย่างไรก็ได้ ไม่ยุติธรรมกับผู้หญิงซึ่งเป็นเพศแม่เลย (หน้า ๒๒๙)” ผู้เขียนปล่อยให้ตัวละครได้วิพากษ์ตัวละครในเรื่องเล่า จนตระหนักรู้ถึงอำนาจแท้จริงที่กดทับนางมณโฑไว้ ดังที่ผู้เขียนบรรยายว่า “ทุกคนแยกย้ายไปทำงานของตนต่อไป ต่างคิดถึงนางมณโฑ พาลี ทศกัณฐ์ หนุมาน และคิดถึงนางสองแขนในตัวเอง (หน้า ๒๓๒)” จึงไม่ผิดที่ทั้งดอกแตงและนิ่มน้อยจะบอกกับทุกคนว่า “ฉันก็เคยเสียท่าให้กับกริช(หน้า ๒๘๗)”และ “กูก็เคยเสียท่าให้กับมัน (หน้า ๒๘๗)” ซึ่งเป็นตอนที่ตัวละครตระหนักรู้ว่าไม่ได้พ่ายแพ้ให้กับอำนาจตัณหา นางสองแขน ในใจตน หากแท้จริงกำลังพ่ายแพ้ให้กับอำนาจความเป็นชายบนโลกที่ชายเป็นใหญ่ใบนี้

 

บนโลกของชายเป็นใหญ่ ใครกุมอำนาจเรื่องเพศ

การถูกล่วงละเมิดของดอกแตงและนิ่มน้อย หรือแม้กระทั่งนางมณโฑในเรื่องเล่าของเทิ้มทดที่ไม่มีอำนาจใดในการเลือกคู่ครองของตัวเอง ล้วนเป็นปัญหาที่มีปมมาจากการมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ (Sexual objectification) ของสังคมแบบชายเป็นใหญ่ Rape Culture ยังให้อำนาจแก่ผู้ชายว่าเป็นเพศที่มีความต้องการเป็นธรรมชาติ ผู้หญิงจึงกระทำตนให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้ไปกระตุ้นความต้องการทางเพศของผู้ชาย กลายเป็นมายาคติว่าหากหญิงใดปฏิบัติตนไม่ “ระมัดระวังตัว” ไม่เป็น “กุลสตรี” ก็สมควรจะถูกสังคมประณาม เช่น “นางสองแขน” ของเทิ้มทดที่กระทำการอาจหาญรุกเกี้ยวพาราสีชายจนได้ร่วมเตียง จึงกลายเป็นตัวแทนแห่งความไม่ดีงามไปเสีย อย่างที่เทิ้มทดบอกว่า “เขาคงเล็งไปที่ผู้หญิงเป็นพิเศษมั้ง เพราะเป็นเพศแม่ คล้ายจะสอนให้ผู้หญิงรักนวลสงวนตัว นางสอนแขนแค่ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ทำให้ผู้หญิงเกลียดนางสองแขนแล้วจะไม่ประพฤติปฏิบัติตามนางสองแขน (หน้า ๒๑๙)” ที่ร้ายแรงไปกว่านั้น มายาคติเช่นนี้ยังส่งผลให้เกิดความเชื่อว่าผู้หญิงที่กระทำตนไม่เป็นไปตามกรอบที่สังคมกำหนดไว้ ย่อมมีสิทธิ์ที่จะตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิด ทำให้นางนิ่มน้อยและนางดอกแตงนั้น ต่างก็โทษตัวเองที่เผลอปล่อย “นางสองแขนออกมา” นั่นเพราะมายาคติที่วางบทบาทให้ผู้หญิงต้องเป็นกุลสตรี ไม่สามารถมีบทบาทใดในวิถีกามารมณ์ของตนเอง เช่นเดียวกับในนิทานขำขันของสินชัยเขยเล็ก ที่เล่าถึงธรรมเนียมสมัยก่อนว่าผู้ชายหากหมายปองหญิงสาวคนใดจะต้องไปกิน นอน ทำงานที่เรือนของฝ่ายสาวเสียก่อน แต่ไม่สามารถนอนห้องเดียวกันได้ ดอกแตงได้แสดงความคิดเห็นตรงนี้ว่า “เขาไม่ขังแมวไว้กับปลาย่างหรอก ขืนทำเหมือนพี่ว่า ข้าวสารก็กลายเป็นข้าวสุกพอดี (หน้า ๘๘)” ก็เป็นการแสดงค่านิยมของสังคมที่ให้ค่ากับ “ความบริสุทธิ์” ของหญิงสาว มากกว่า “สิทธิและเสรีภาพ” เหนือเรือนร่างตัวเอง 

เทิ้มทดเอง แม้จะเป็นชาย แต่ก็ไม่อาจหนีพ้นผลกระทบจากสังคมชายเป็นใหญ่ไปได้ เพราะการกดขี่ของ “กริช” ที่มีความเป็นชายแบบเจ้าโลก (hegemony) เหนือชายอื่นในบ้านและยังเหนือจิตใจของเทิ้มทดและสามารถควบคุมผู้หญิงในบ้านได้ทุกคน ในขณะที่ตัวเทิ้มทดเองก็ถูกลดทอนความเป็นชายด้วยรูปร่างลักษณะที่มีความเป็นชายแบบรอง (subordination) คือ หัวล้านอันเป็นที่ล้อเลียนของกริช ต่อเมื่อกริชรู้ชัดแล้วว่าเทิ้มทดนั้นมีความสัมพันธ์กับสุนัขจริง ๆ เทิ้มทดจึงถูกลดทอนให้เป็น ชายชายขอบ (meginalization) ที่โรคจิตวิตถาร มีสัมพันธ์ทางเพศสวนทางกับแบบที่ผู้ชายปรกติพึงมี และในเหตุการณ์ที่ถูกไอ้ตีนขาวงับเครื่องเพศจนอักเสบระบม เทิ้มทดก็ยิ่งสูญเสียอำนาจและความเป็นชายไปเรื่อย ๆ จนท้ายที่สุดก็สูญสิ้นความเป็นคนไปให้กริชอย่างสมบูรณ์

ความอีโรติกอันรื่นรมย์บ้าง ไม่รื่นรมย์บ้างจาก คนในนิทานของ กร ศิริวัฒโนนั้น พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเรื่องเพศใช่ว่าจะมีเพียงแต่เรื่องของความปรารถนาของมนุษย์ หากแต่ยึดโยงด้วยสังคม ค่านิยมทั้งสิ้น สังคมสามารถกำหนดให้เรื่องเพศกลายเป็นเรื่องขำขันก็ได้ กำหนดให้เพศใดเพศหนึ่งต้องรับผิดชอบก็ได้ หรือกำหนดให้ใครมีอำนาจก็ยังทำได้ สังคมยังกำหนดว่าความปรกติไม่ปรกตินั้นเป็นอย่างไร คนในนิทานได้กระทำการวิพากษ์ตัวเองไว้อย่างหมดจด ชี้ชวนให้ผู้อ่านสำรวจมุมมองเรื่องเพศของตนเองผ่านเสียงวิจารณ์ ประชดประชันของตัวละครที่มีต่อเรื่องเล่าของตัวเอง คนในนิทานจึงเป็นนวนิยายที่สะท้อนสังคมและสะท้อนตัวเองไปพร้อม ๆ กันเพราะนอกจากผู้อ่านจะได้ทบทวนสายตาที่มีต่อ “เรื่องเล่า” แล้วคงต้องทบทวน “เรื่องเพศ” ที่เกิดขึ้นบนสังคมไทย เพื่อไม่ให้มีหญิงร้าย ชายเลวที่ไหน ต้องกลายเป็นนางสองแขนในสังคมอีกต่อไป

 

สรณัฐ ไตลังคะ. (๒๕๕๙). สหวิทยาการวิศาลศิลป์. กรุงเทพฯ : ภาควิชาวรรณคดีและคณะกรรมการฝ่ายวิจัยคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

 


 

Visitors: 71,925