2023C010

PULSE FICTION: ผัสสะ ความเป็นมนุษย์

และภาวะแปลกปลอมในสิ่งที่คุ้นชิน

อรวรรณ ฤทธิ์ศรีธร

 

 

          PULSE FICTION เป็นวรรณกรรมรวมเรื่องสั้นของ ยชญ์ บรรพพงศ์ ตีพิมพ์รวมเล่ม พ.ศ. 2566 ภายในประกอบด้วยเรื่องสั้นสามเรื่อง ได้แก่ โซฟาหนังมนุษย์, วัดสายตาประกอบแว่น และผ่าตัดใหญ่ โดยเรื่องสั้นดังกล่าวนำเสนอเนื้อหาปลุกเร้าความกลัว เขย่าชีพจรตามชื่อเรื่อง อีกทั้งยังน่าสยดสยอง หรือชวนให้พิศวง ดังในเรื่อง โซฟาหนังมนุษย์ ที่เป็นเรื่องราวของการผลิตโซฟาจากผิวหนังของซากศพมนุษย์ หรือในเรื่อง วัดสายตาประกอบแว่น นำเสนอเรื่องราวความน่าสยดสยองหลังจากตัวละครไปตัดแว่นเพื่อแก้ปัญหาสายตาสั้น รวมทั้งเรื่อง ผ่าตัดใหญ่ ที่ชวนให้ผู้อ่านรู้สึกพิศวงงงงวยไปกับตัวละคร เพราะหลังจากที่ผ่าตัดสมองแล้ว กลับพบว่าตนเองมีประสาทสัมผัสที่เชื่อมต่อกับสรรพสิ่งได้

          เมื่ออ่านรวมเรื่องสั้นเล่มนี้จบลง ผู้วิจารณ์สังเกตว่า นอกจากแนวเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสยองขวัญ ลึกลับ หรือเหนือธรรมชาติแล้ว สิ่งที่เรื่องสั้นทั้งสามเรื่องมีร่วมกันคือ ประเด็นเกี่ยวกับผัสสะ โดยผัสสะหมายถึงความสามารถในการรับรู้ แบ่งออกเป็นห้าประเภท ได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การดมกลิ่น การสัมผัส และการรับรส นอกจากนั้นตัวบทยังได้นำเสนอเกี่ยวกับอารมณ์ของตัวละครเมื่อมีประสบการณ์ทางผัสสะต่อสิ่งต่างๆ หรือที่เรียกว่า ผัสสารมณ์ ได้อย่างน่าสนใจ

 

สัมผัสแห่งอารยะหรืออนารยะ? :ผัสสะกับการตั้งคำถามความเป็นมนุษย์

          ตัวบทเสนอให้การรับรู้ทางผัสสะ เข้ามาตั้งคำถามและสั่นคลอนความเป็นมนุษย์ ผ่านเรื่องสั้น โซฟาหนังมนุษย์ โดยนายเอ็ด ได้ผลิตโซฟาจากผิวหนังมนุษย์ที่มอบผัสสะทางการสัมผัสอันยอดเยี่ยม ดังตัวบทบรรยายความรู้สึกของมานพ ครีเอทีฟที่ทำงานให้นายเอ็ด เมื่อได้นั่งลงบนโซฟาดังว่า  “ความรู้สึกแรกที่ก้นของผมได้สัมผัสโซฟา คือความสบายที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน” (ยชญ์ บรรพพงศ์,2566: 9) แสดงให้เห็นว่าเมื่อเขาได้มีประสบการณ์ทางผัสสะต่อโซฟาที่ทำจากวัตถุดิบหลักคือ ผิวหนังของมนุษย์ เขามีผัสสารมณ์หรืออารมณ์ที่ตามมาหลังจากการรับรู้ทางผัสสะในด้านบวก ประเด็นนี้แสดงให้เห็นว่า โซฟาดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการวิพากษ์วิถีอารยะของมนุษย์ ดังนี้

          หากมองในบริบททุนนิยม นายเอ็ดอยู่ในสถานะนายทุนที่ผลิตสินค้าเพื่อขายให้ผู้บริโภคและการที่นายเอ็ดนำร่างกายของมนุษย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการค้า ก็ไม่ต่างอะไรจากการกินเนื้อเพื่อนมนุษย์ (Cannibalism) ในเชิงอุปลักษณ์ นั่นคือการขูดรีดขูดเนื้อมนุษย์ที่นายทุนทำกับแรงงานหรือชนชั้นที่ต่ำกว่า โดยในความหมายตรงตัว การกินเนื้อมนุษย์ถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมของกลุ่มคนอนารยะ ล้าหลัง และป่าเถื่อน แม้สิ่งที่นายเอ็ดทำจะเป็นการกินเนื้อมนุษย์ในเชิงเปรียบเทียบ แต่ก็มีนัยที่แสดงถึงการนำชีวิตมนุษย์ไปใช้ประโยชน์ส่วนตน ดังนั้นเอ็ดจึงเป็นนายทุนผู้ที่หนีไม่พ้นวิถีแบบอนารยะ ผ่านการนำร่างกายของมนุษย์ไปผลิตเป็นสินค้าเพื่อมอบผัสสะทางการสัมผัสอันรื่นรมย์ให้แก่ผู้บริโภค ดังนั้นผัสสะทางการสัมผัสจึงเข้ามาตั้งคำถามและสั่นคลอนความอารยะของระบบทุนนิยม

          นอกจากนายทุนจะมีพฤติกรรมการกินเนื้อมนุษย์ผ่านการผลิตสินค้าเพื่อการสัมผัสที่น่าพึงพอใจแล้ว เมื่อพิจารณาในกลุ่มผู้บริโภคพบว่า ต่างก็มีพฤติกรรมการกินเนื้อมนุษย์ในเชิงอุปลักษณ์ผ่านผัสสะทางการสัมผัส นั่นคือ พวกเขาได้เสพเนื้อมนุษย์ผ่านการนั่งบนโซฟาที่ชวนให้หลงใหลเมื่อได้สัมผัส และที่น่าสนใจคือ ตัวบทเสนอให้กลุ่มลูกค้าที่ได้รับบัตรเชิญให้มาในงานประมูลโซฟาล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนของกลุ่มคนอารยะในบริบททุนนิยม คือ เป็นชนชั้นที่มีรายได้สูง ได้แก่ “นักการเมือง ดารา นักลงทุน ไปจนถึงพวกทหารชั้นนายพลและเหล่าผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย” (ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566: 18) เห็นได้ว่า ผู้มีอารยะในโลกทุนนิยม ก็ไม่ได้หนีพ้นจากภาวะอนารยะ นั่นคือ พวกเขากลับพึงพอใจในการสัมผัสโซฟาที่ทำจากสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวกับพวกเขา

          เมื่อพินิจชื่อโซฟาแต่ละตัวที่ผลิตขึ้นเพื่อการประมูลในราคาสูงลิ่ว พบว่าเผยให้เห็นการตอบสนองความปรารถนาทางเพศผ่านการสัมผัสหรือนั่งบนโซฟาอย่างน่าสนใจ เช่น โซฟาชื่อ ‘อ้อมกอดของรักแรก’ ที่เมื่อนั่งแล้ว ผู้นั่งจะมี “ความสั่นเคลิ้มด้วยความตื่นเต้น และความเจ็บปวดที่สวยงาม ผ่านสัมผัสของโซฟาที่อบอวลไปด้วยความรู้สึกเหล่านั้น” (ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566: 18) หรือ ‘อ้อมกอดสาวใช้’ และ ‘อ้อมกอดสาวมัธยม’ ที่แสดงให้เห็นว่าเพศชายปรารถนาจะมีเพศสัมพันธ์กับสาวใช้ของตนเอง หรือกับเด็กมัธยม แต่ไม่สามารถทำได้อย่างเปิดเผย เนื่องจากกรอบของสังคมที่สร้างเงื่อนไขและกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศเพื่อความเป็นระเบียบในสังคม อย่างไรก็ตามความปรารถนาจะครอบครองโซฟาที่มีชื่อสื่อนัยถึงความปรารถนาต้องห้าม แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ปรารถนาละเมิดกรอบทางเพศวิถีที่ตนได้สร้างขึ้นผ่านการมีประสบการณ์ทางผัสสะกับโซฟาเหล่านั้น ดังนั้น ผัสสะทางการสัมผัสจึงได้เข้ามาเผยให้เห็นว่า มนุษย์ปรารถนาความสัมพันธ์ต้องห้ามหรือละเมิดกรอบทางสังคมที่ตนสร้างขึ้นมา

          ข้อสังเกตคือ แม้โซฟาที่ทำจากหนังมนุษย์จะมอบผัสสารมณ์อันแสนวิเศษให้แก่ผู้สัมผัส แต่ตัวบทก็เสนอให้เห็นว่า หากพิจารณาอย่างผิวเผิน โซฟาสยองขวัญนี้กลับดูปกติธรรมดาเหมือนโซฟาทั่วไป “ไม่มีส่วนไหนเลยที่ชวนให้รู้สึกว่าทำมาจากหนังมนุษย์ พื้นผิวละเอียดเรียบเนียนและมันเงาเหมือนหนังลูกวัวเกรดเอนั้น ทำเอาผมตั้งคำถามอย่างจริงจังว่ามันทำมาจากเพื่อนร่วมสายพันธุ์ของผมจริงๆหรือ?” (ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566:12) แสดงให้เห็นว่าร่างกายมนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ไม่ต่างจากสัตว์ การเทียบเคียงหนังมนุษย์กับหนังลูกวัวดังในตัวบทข้างต้น แสดงให้เห็นการสั่นคลอนความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ในลักษณะที่ว่า ซากศพของมนุษย์ก็ไม่ต่างจากสัตว์ทั่วไป มนุษย์ไม่ได้มีความยิ่งใหญ่เหนือสิ่งมีชีวิตใดเลย ซากของร่างกายมนุษย์ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เหมือนร่างกายของสัตว์

          เมื่อพิจารณาลำดับชั้นของผัสสะที่ว่า การดมกลิ่น การสัมผัส และการรับรส ถูกจัดให้เป็นผัสสะต่ำศักดิ์ ซึ่งเชื่อมโยงมนุษย์กับภาวะที่ยังไม่ได้รับการขัดเกลาหรือภาวะอนารยะ ขณะที่การมองเห็นและการได้ยิน เป็นผัสสะสูงศักดิ์ที่เชื่อมโยงมนุษย์กับความเป็นอารยะ ทำให้เห็นว่า โซฟาหนังมนุษย์ เสนอให้ผัสสะต่ำศักดิ์คือการสัมผัสเชื่อมโยงมนุษย์กับภาวะอนารยะ ผ่านการให้ผัสสะดังกล่าวเข้ามาเผยให้เห็นความเป็นอนารยะที่ซ่อนอยู่ในสังคมอารยะของระบบทุนนิยม

 

สายตาสั้นแสนสยอง: ปัญหาทางการมองเห็นที่น่าสะพรึงกลัว

          นอกจากนั้นตัวบทยังเสนอให้เห็นว่าเมื่อมนุษย์มีปัญหาทางผัสสะหรือความสามารถในการรับรู้บกพร่อง อาจนำมาสู่การประสบกับสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว ดังในเรื่อง วัดสายตาประกอบแว่น ที่เล่าถึงเด็กสาวนิรนามผู้ไปตัดแว่นสายตาที่ร้านแว่นแห่งหนึ่ง ชื่อร้าน ‘ติดตา’ เมื่อออกจากร้านเด็กสาวพบว่า ภาพบอลลูนทดสอบสายตาได้ติดตาเธออยู่ตลอดเวลา และเธอก็ได้ฝันถึงภาพดังกล่าว  คืนแรกเธอฝันว่าบอลลูนเคลื่อนเข้ามาใกล้เธอเรื่อยๆ  คืนต่อมาเธอสังเกตว่ามีเงาดำเคลื่อนไหวอยู่ในบอลลูน และอีกคืนหนึ่งเริ่มเห็นว่าเงาดำนั้นคือร่างมนุษย์ที่มีแขนบิดเบี้ยว จนในตอนจบเธอได้มองเห็นอย่างชัดเจนว่าในบอลลูนเป็นร่างของมนุษย์ที่กำลังถูกไฟครอกและพวกเขากำลังดิ้นอย่างทุรนทุราย น่าสนใจคือ เมื่อเด็กสาวย้อนกลับร้านแว่น ‘ติดตา’ อีกครั้งเธอกลับไม่พบร่องรอยของร้านที่ว่า และพบเพียงร้าน ‘สมบูรณ์การแว่น’ ที่เป็นร้านเก่าแก่และตั้งอยู่มานานแล้ว นั่นแสดงว่า ร้าน ‘ติดตา’ ไม่เคยมีอยู่จริง

          จากเนื้อเรื่องแสดงให้เห็นว่า การรับรู้ทางการมองเห็นของเด็กสาวบกพร่อง คือเธอเผชิญกับอาการสายตาสั้น ดังนั้นเด็กสาวจึงตัดสินใจไปตัดแว่น และนั่นเป็นต้นเหตุของเรื่องที่เธอไม่อาจอธิบายได้ ฝันร้ายได้คุกคามร่างกายและจิตใจของเธอ “ตอนกลางคืนฉันสั่นเทาด้วยความหวาดกลัว” (ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566: 40) และเมื่อเธออดนอนเพื่อไม่ให้ฝันร้าย กลับยิ่งทรมานมากกว่าเดิม “ความง่วงทำให้ฉันจำอะไรที่เกิดขึ้นระหว่างวันไม่ได้เลย หัวของฉันเหมือนถูกครอบด้วยโหลปลาทอง ภาพทุกอย่างดูช้าและบิดเบี้ยว เสียงเม้าท์มอยของเพื่อนๆ ก้องกังวานและไม่เข้าหูเลยสักนิด ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเวลาผ่านไปเท่าไหร่แล้ว” (ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566: 43) การนำเสนอให้อาการสายตาสั้นของเด็กสาวเชื่อมโยงกับเรื่องน่าสะพรึงกลัวเป็นการสื่อนัยว่า เมื่อผัสสะของมนุษย์ไม่ปกติอาจนำมาซึ่งการประสบกับสิ่งผิดเพี้ยนไปจากโลกสามัญ นั่นคือการพบกับเรื่องราวลึกลับและน่าสะพรึงกลัว

 

ตัวเรา = สรรพสิ่ง: ผัสสะกับการกลายเป็นสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตนเอง

          ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้คือ การนำเสนอการเชื่อมโยงระหว่างตัวเรากับสิ่งอื่นๆ ผ่านการรับรู้ทางผัสสะในเรื่อง ผ่าตัดใหญ่ ที่เล่าถึงเด็กสาวนิรนามผู้เข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกในสมอง แม้การผ่าตัดจะประสบความสำเร็จและชิ้นเนื้อไม่ใช่เนื้อร้าย แต่ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดก็ทำให้เด็กสาวมีอาการประหลาด เธอสามารถรับรู้ความรู้สึกของสิ่งรอบตัวได้ ทั้งที่เป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์ นั่นหมายความว่า เด็กสาวมีประสาทสัมผัสที่เชื่อมโยงกับสรรพสิ่งนั่นเอง

          ตัวบทเสนอให้เด็กสาวรับรู้ความรู้สึกของตัวละครอื่นได้ ดังเช่นเธอเห็นแม่หรือแพทย์กำลังเจ็บปวดในใจ เธอก็รับรู้ได้ราวกับเป็นคนนั้น “สีหน้าของแม่ตอนวางสายดูเจ็บปวด ตอนที่แม่มองมา ฉันก็เจ็บปวดตาม มันเจ็บจริงๆ นะ ไม่เหมือนความเจ็บอื่นๆ ที่ฉันสัมผัสได้ในช่วงนี้ ไม่รู้สิ มันเจ็บแบบบาดลึกเข้าไปข้างในมั้ง” (ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566: 56)หรือตอนที่เธอมองเห็นคนไข้กำลังให้น้ำเกลือเธอก็รู้สึกเจ็บ “แต่ทันทีที่เข็มปักเข้าไปในแขนของคุณป้า ฉันก็รู้สึกเจ็บแปล๊บขึ้นมาบนแขนว่างเปล่าอีกข้างหนึ่ง สัมผัสได้ถึงวัตถุแข็งที่เคลื่อนผ่านชั้นผิวหนังของฉัน”  (ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566: 49)

          นอกจากการมีประสาทสัมผัสเชื่อมโยงกับมนุษย์ด้วยกันแล้ว เด็กสาวยังรู้สึกเสมือนว่าตนเองเป็นวัตถุต่าง ๆ เช่น รู้สึกเหมือนตนเป็นพื้นอาคาร “ทุกครั้งที่เท้าของพี่ๆพยาบาลกระแทกกับพื้น ฉันรู้สึกเหมือนโดนกระแทก”  (ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566: 49)หรือในตอนที่น้องสาวทำชานมไข่มุกหดรดพื้น เธอก็ “สัมผัสได้ถึงความเหนียวเหนอะหนะตามตัวและข้อพับ”  (ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566: 50) หรือในตอนเขียนหนังสือ เธอรับรู้ว่าเธอเป็นเสมือนกระดาษ “สัมผัสของปากกากับกระดาษที่ฉันเขียนตอนนี้ก็เริ่มทำให้ฉันรู้สึกแสบๆคันๆ เหมือนเอาเล็บขูดผิว” (ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566: 51) แม้เธอเปลี่ยนจากการเขียนเป็นการพิมพ์คีย์บอร์ด เธอก็รู้สึก “เหมือนโดนฝนเม็ดใหญ่ตกใส่ตัว” (ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566: 51) ซึ่งเป็นความรู้สึกว่าตนเองเป็นเสมือนฐานคีย์บอร์ด

          ตัวบทเสนอให้เห็นว่าเรือนร่างของเด็กสาวหลังการผ่าตัดกลายเป็นเรือนร่างที่เชื่อมโยงกับสรรพสิ่งผ่านการรับรู้ทางผัสสะ ทำให้ผู้วิจารณ์หวนคิดไปถึงข้อเสนอของ ฮามิลาคิส (Hamilakis)ที่อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู (2562: 273) สรุปไว้ว่า ผัสสะทำหน้าที่เชื่อมโยงร่างกายมนุษย์กับเนื้อหนังมังสาของสิ่งมีชีวิตหรือสรรพสิ่งอื่นๆ นอกจากนั้นร่างกายยังรองรับการถ่ายเทของวัตถุ ความรู้สึก  และความทรงจำ ดังนั้นเมื่อพิจารณาแล้วพบว่า อาการของเด็กสาวมีลักษณะของการเชื่อมโยงระหว่างร่างกายของตนเองกับผู้อื่น และวัตถุอื่นๆ ผ่านการรับรู้ทางผัสสะ ซึ่งสามารถตีความประเด็นนี้ได้ว่า ตัวบทเสนอให้เห็นว่าความเป็นปัจเจกบุคคลถูกท้าทายด้วยการที่ตัวเราอาจกลายเป็นผู้อื่นหรือสิ่งอื่นๆ ได้ผ่านการเชื่อมโยงทางผัสสะ

          น่าสนใจคือในตอนจบ อาการประหลาดของเด็กสาวได้หายไป เมื่อเธอรับรู้ความตายของผู้อื่น “เป็นตอนนั้นเองที่ฉันรู้สึกได้ว่าในร่างกายฉันเกิดความรู้สึกขาด ‘ผึง’ ขึ้น เหมือนกับหนังยางที่ถูกดึงจนตึงและขาดออก มันเป็นความรู้สึกแบบนั้นเลย” (ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566: 57) หลังจากนั้นเธอก็ไม่รู้สึกอะไรเลย “ฉันไม่เจ็บ ฉันไม่เศร้า ฉันไม่โกรธ ฉันไม่ผิดหวัง ฉันไม่เบื่อหน่าย ตอนนี้ฉันไม่รู้สึกอะไรเลย ทุกอย่างบนโลกดูไร้ความหมาย เหมือนตัวฉันกับโลกใบนี้ได้ตัดขาดจากกันตั้งแต่วินาทีที่ตัวฉันเกิดการขาดผึงขึ้น” (ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566: 58) หากพิจารณาอาการของเด็กสาวหลังจากรับรู้ถึงความตายของผู้อื่น สามารถตีความได้ว่าเด็กสาวได้ตายตามบุคคลผู้นั้นไปแล้วในเชิงอุปลักษณ์ ซึ่งแสดงให้เห็นอำนาจของผัสสะในลักษณะที่ว่า มนุษย์ดำรงอยู่ด้วยผัสสะหรือความสามารถในการรับรู้ หากมนุษย์ไม่มีการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าก็เหมือนการตายไปแล้ว

 

หวาดระแวง-กังวล: ภาวะความแปลกปลอมในโลกที่คุ้นชิน

          PULSE FICTIONแสดงให้เห็นว่า ผัสสะของมนุษย์ไม่ใช่เพียงความสามารถในการรับรู้ตามสัญชาตญาณ แต่มีอำนาจในการเผยให้เห็นด้านมืดของมนุษย์ ผัสสะทำให้มนุษย์ตระหนักว่าตนเองไม่ได้มีภาวะปัจเจกบุคคลหรือภาวะที่เป็นหนึ่งเดียว แต่ทว่าเชื่อมโยงกับสรรพสิ่งเสมือนเป็นเรือนร่างเดียวกัน นอกจากนั้น ตัวบทยังแสดงให้เห็นว่า ผัสสะคือสิ่งที่นิยามการดำรงอยู่ของมนุษย์ หากมนุษย์ไม่มีการรับรู้ทางผัสสะก็เสมือนกับคนที่ตายไปแล้ว ตลอดจนการแสดงให้เห็นว่าเมื่อมนุษย์มีการรับรู้ทางผัสสะที่บกพร่อง อาจนำมาซึ่งการรับรู้ที่ผิดประหลาดออกไปจากความปกติสามัญ

          เมื่อพิจารณาแล้ว  ยชญ์ บรรพพงศ์ ได้เสนอเรื่องราวของตัวละครที่เผชิญกับการรับรู้ทางผัสสะในรูปแบบต่างๆ บนฐานของเรื่องราวที่เราคุ้นชินในชีวิตประจำวัน ดังคำนำสำนักพิมพ์กล่าวไว้ว่า “หยิบจับสิ่งของหรือเรื่องใกล้ตัวอย่างโซฟา การวัดสายตาประกอบแว่น และการเป็นผู้ป่วยผ่าตัดมาเป็นองค์ประหลัก” (ยชญ์ บรรพพงศ์, 2566:2-3) เห็นได้ว่าPULSE FICTION ทำให้ประสบการณ์ทางผัสสะที่เราคุ้นเคยนำมาสู่ความรู้สึกแปลกประหลาด ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสโซฟาโดยการนั่ง หรือการจ้องมองภาพทดสอบสายตา หรือการนำเสนอพฤติกรรมที่เราทำอยู่ทุกวันหรือเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ เช่น การเดินบนพื้น การเขียนหนังสือ ให้กลายเป็นการรับรู้ทางผัสสะที่แปลกประหลาด ตลอดจนการทำให้การรักษาความเจ็บป่วยที่เราคุ้นชิน อย่างเช่นการผ่าตัด กลายเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งการรับรู้ที่ผิดปกติ

          ประเด็นที่กล่าวมานั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นการแสดงให้เห็นภาวะหวาดระแวงจากสิ่งที่คุ้นเคย สะท้อนความวิตกกังวลของคนในสังคมปัจจุบันที่มีต่อสิ่งใกล้ตัว เราไม่มีทางแน่ใจได้เลยว่า สิ่งของที่เราสัมผัสอยู่ทุกวันทำมาจากอะไรกันแน่ ดังในเรื่อง โซฟาหนังมนุษย์ หรือไม่อาจวางใจว่าปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นของเรา จะทำให้เราต้องประสบกับเหตุการณ์ใด ดังในเรื่อง วัดสายตาประกอบแว่น หรือวันหนึ่งเราอาจจะรับรู้ได้ถึงการกลายเป็นผู้อื่นหรือสิ่งอื่นผ่านการรับรู้ทางผัสสะดังในเรื่อง ผ่าตัดใหญ่ โดยสรุปแล้ว PULSE FICTIONทำให้เรากลับมาทบทวนว่า สิ่งที่เราคิดว่าคุ้นชินอาจนำไปสู่ความแปลกปลอม ชวนพิศวง และน่าสะพรึงกลัว ซึ่งน่าสนใจคือ เราอาจต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า หรือสังคมที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบันเป็นสังคมที่ไม่น่าไว้วางใจและไม่อาจเชื่อใจในสิ่งที่คุ้นชินได้อีกต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

ยชญ์ บรรพพงศ์. (2566).  PULSE FICTION. กรุงเทพฯ: แซลมอน.

อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู. (2562). ผัสสศึกษาและผัสสวิจารณ์: พัฒนาการ แนวคิดทฤษฎี และวิธีวิทยา.
          ใน สุรเดช โชติอุดมพันธ์ (บรรณาธิการ), นววิถี: วิธีวิทยาร่วมสมัยในการศึกษาวรรณกรรม.
          หน้า 237-321, กรุงเทพฯ:  ศยาม. 

Visitors: 72,507