The White Tiger : เทพนิยาย “นาย” กับ “บ่าว”

พชร เพียงพล 

 

 

 

          คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเหลื่อมล้ำ ชนชั้นทางสังคม คุณภาพชีวิต เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผู้คนจำนวนมาก จึงไม่แปลกหากเกิดปรากฏการณ์ทุกครั้งที่มีวรรณกรรมหรือภาพยนตร์เลือกหยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมานำเสนออย่างตรงไปตรงมา The White Tiger หรือ พยัคฆ์ขาวรำพัน ก็เป็นหนึ่งในนั้น ความนิยมและเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญ (อันน่าหดหู่ใจนี้) ชวนตั้งคำถามว่า “ความเท่าเทียม” เป็นเพียงเรื่องอุปโลกน์หรือว่ามีอยู่จริง?

          ภาพยนตร์เรื่อง The White Tiger ออกฉายในปี 2021 ผลงานการกำกับของ รามิน บาห์รานี (Ramin Bahrani) ผู้กำกับเชื้อสายอิหร่าน–อเมริกัน ดัดแปลงจากวรรณกรรมชื่อเดียวกันซึ่งได้รับรางวัล ‘Man Booker Prize’ ประจำปี 2008  ผลงานของ อราวินด์ อดิก (Aravind Adiga) นักเขียนหนุ่มชาวอินเดีย ทั้งสองคนเป็นเพื่อนสนิทกันตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและชื่อผู้กำกับ รามิน บาห์รานี ก็เป็นคนเดียวกับที่หนังสือเล่มนี้อุทิศให้ การปรากฏของภาพยนตร์เรื่องนี้ตอกย้ำว่า “ความจน” ไม่เคยเก่า แม้จะผ่านกาลเวลามานานถึง 13 ปี

          The White Tiger เป็นเรื่องราวของ ‘พลราม ฮาลวัย’ ชายชาวอินเดียวรรณะต่ำผู้ยากไร้ที่ดิ้นรนจนเป็นเจ้าของกิจการรถแท็กซี่ในเมืองบังคาลอร์ เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อ ‘พลราม’ ใช้เวลายามราตรีในสำนักงาน เขียนอีเมลถึง ฯพณฯ เหวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีของจีนในขณะนั้น ซึ่งกำลังเดินทางมาเยือนประเทศอินเดีย เนื้อความถ่ายทอดชีวิตสุดแสนลำเค็ญของตัวเขา บอกเล่าเบื้องหลังความสำเร็จอันมืดดำ ผ่านความทรงจำที่แจ่มชัดอย่างเหลือเชื่อ ทั้งยังพยายามวิพากษ์สังคมอินเดียอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ทำให้นึกถึงภาพยนตร์เลื่องชื่ออย่าง ‘Slumdog Millionaire’ ที่สามารถคว้ารางวัลออสการ์ ครั้งที่ 81 มากถึง 8 สาขา การตีแผ่ความฟอนเฟะของสังคมอินเดียเหมือนจะเป็นสิ่งที่ทั้งสองเรื่องมีร่วมกัน ทว่าน้ำเสียงของ ‘พลราม’ ใน The White Tiger กลับให้ความรู้สึกดุดันและเย้ยหยันชะตาชีวิตมากกว่า

 

ใต้แชนเดอเลียร์ กรงอยู่ในไก่

          ‘พลราม ฮาลวัย’ หรือนามใหม่ ‘อโศก ชาร์มา’ ผู้เล่าเรื่องภายใต้ความแจ่มจรัสจาก “แชนเดอเลียร์” ในความคิดเขา อินเดียแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ อินเดียด้านมืด กับ อินเดียด้านสว่าง การมองเช่นนี้ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างในสายตาเขากลายเป็นคู่ตรงข้ามไปหมด เจ้านาย/คนใช้ ซื่อตรง/คดโกง ลบหลู่/ศรัทธา สับปลับ/จริงใจ ดังนั้น “ความสว่างไสว” จึงทำหน้าที่มากกว่าการขับไล่ความมืด แต่ยังสร้าง “พื้นที่” ที่ทำให้ตัวเขามีเสียง (จากเคยไร้เสียง) มีตัวตน และมีคนเงี่ยหูฟังในสิ่งที่เขากำลังพูด

          เรื่องเล่าของพลรามเปรียบประหนึ่งคำสารภาพบาป ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดโอกาสให้ผู้ชมสวมบทบาทเป็นผู้พิพากษาตัดสินว่าทั้งหมดเป็นเรื่องจริงหรือแค่ภาพหลอนของคนนอนไม่หลับ อาชญากรรมที่ตัวละครก่อขึ้นสูญเสียเพียงหนึ่งชีวิตแน่หรือ เพราะอำนาจอยู่ที่ “ผู้เล่า” และเขากำลังลิขิตชีวิตด้วยลมปาก

          หากสังเกตจากในเรื่องจะเห็นว่ามีอยู่หลายฉากที่ ‘พลราม’ โกหกคำโต แต่งเรื่องอย่างหน้าซื่อตาใส ไม่ว่าจะเป็น โกหกพี่ชายของตัวเองว่าเขาได้เลื่อนขั้นเป็นคนขับรถหมายเลขหนึ่งประจำบ้าน โกหกเจ้านายว่าการเอามือแตะที่ดวงตาสองข้างและลูบศีรษะเป็นการแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ริมถนนที่รถแล่นผ่านหรือคำปลอบใจพกลมที่เขามอบให้มิสเตอร์อโศก เหล่านี้ค่อยๆลดระดับความน่าเชื่อถือในเรื่องเล่าของเขาลงไปทีละน้อย ส่งผลให้น้ำหนักในการวิพากษ์สังคมอินเดียแบบเปิดเปลือย ไม่ประนีประนอมสูญเสียไป ผู้ชมจึงไม่อาจและไม่ควร “เหมารวม” ว่าอินเดียเป็นไปตามปากคำของพลราม

          อย่างไรก็ดี เรื่องเล่าถึงปูมหลังของเขาก็ใช่ว่าจะไร้สัจจะไปเสียทั้งหมด เพราะการมีอยู่ของตัวแทนแสงสว่างอย่าง “แชนเดอเลียร์” ก็เป็นเครื่องยืนยันอดีตอันแสนมืดดำของเขาได้ การขับไล่ความมืดออกไปด้วยแสงจากแชนเดอเลียร์ นัยหนึ่งก็เป็นการไสส่งสิ่งชั่วร้าย (ปีศาจ) ออกไปจากตัวเขาเองด้วย แต่ถึงอย่างนั้น ความสว่างไสวกลับไม่สามารถชอนไชเข้าไปในรูโหว่บนผนังห้องของพลรามได้เลย ซึ่ง “รูโหว่” ในที่นี้ เป็นอุปมาถึงหัวใจอันอับแสงของเขานั่นเอง

            ลำนำที่เขารำพันจะจริงหรือเท็จเพียงใด พลรามมอบหมายให้เป็นภาระของผู้ชม แต่จากคำให้การของเขา อินเดียไม่น่าอภิรมย์สำหรับคนยากจนเท่าไรนัก ด้วยโครงสร้างทางสังคมที่กดทับรวมกับความเชื่อเรื่องศาสนา ทำให้คำว่า “ลืมตาอ้าปาก” กลายเป็นเรื่องเฟ้อฝันเกินจริง ถึงขนาดที่พลรามเสียดสีว่าเป็นการปกครองแบบ “กรงไก่” ที่กักขังให้ผู้คนต้องเป็นทาสรับใช้ไปชั่วกัลปาวสาน เขายังเปรียบเปรยว่ามันฝังรากลึกถึงขนาด “ถ้าท่านยื่นกุญแจแห่งการปลดปล่อยใส่มือทาส พวกเขาจะขว้างมันกลับมาพร้อมกับสาปแช่งท่านอีกต่างหาก” พลรามจึงพยายามชี้ให้เห็นว่า ทางเดียวที่จะสามารถหลุดพ้นออกจากกรงได้คือต้องแหกมันออกมา แต่แท้จริงแล้ว “กรงไก่” ที่ว่านี้ไม่ใช่ กรง ในความเป็นจริงที่ใช้กักขังพื้นที่ทางด้านร่างกายเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึง กรง ที่ใช้คุมขังความนึกคิด จิตวิญญาณ ความปรารถนา และการแสวงหาหนทางหลุดพ้นด้วย ขณะเดียวกันการอุปมาว่า คน เป็น ไก่ คือการจัดวางให้คนตกอยู่ในสถานะเหยื่อตลอดเวลา ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ ใน หรือ นอกกรง ชีวิตก็ไร้ความหมาย

          ในท้ายที่สุดจึงค้นพบว่า “ความกลัว” ต่างหากคือกรงขังอย่างแท้จริง และสิ่งที่ทุบทำลายกรงได้คือความกล้า ไม่ใช่หันหนี หดหัว แต่เป็นการลุกขึ้นสู้ ต่อกรกับความอยุติธรรม และอาจจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกองคาพยพในสังคม เหมือนคำกล่าวในเรื่องที่ว่า “เรามัวแต่มองหากุญแจ ทั้งที่ความเป็นจริงประตูก็เปิดอยู่แล้ว” จากมุมนี้จึงเป็นไปได้ว่า พลราม อาจยังไม่ได้หลุดพ้นจากกรงไก่ภายในตัวเองด้วยซ้ำ ดังจะเห็นได้จากยามราตรีที่เขาไม่อาจข่มตาหลับได้สนิท และถ้าเป็นเช่นนั้นจริงคงน่าขัน เพราะ “เสือขาว” อย่างพลรามที่ “สมอ้าง” ว่าสามารถแหกกรงไก่ออกมาได้สำเร็จ พอตกค่ำก็ยังต้องพึ่งพาแสงสว่างจากระย้าของแชนเดอเลียร์ให้ช่วยขับไล่ความหวาดกลัวจากเงามืดของลูกกรงที่คอยหลอกหลอนเขาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

เฉื่อยชา VS ฉูดฉาด   

          ทุกวันนี้อินเดียเหลือเพียง “วรรณะคนพุงกางกับวรรณะคนพุงแฟบ” เป็นสองคำที่พลรามใช้อธิบายความเหลื่อมล้ำในสังคมอินเดีย ถ้อยคำเหล่านี้หยิบยืมจากตัวบทวรรณกรรม แต่ในด้านงานภาพยนตร์ที่เน้นถ่ายทอดภาษาออกมาเป็นภาพ ทำให้สามารถสื่อสารได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เปิดเผยและอำพราง จึงแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างสองชนชั้นอย่างแสบสันและจิกกัดมากยิ่งขึ้นผ่านการใช้ “วรรณะของสี” นั่นคือสีโทนร้อนกับสีโทนเย็น โดยเลือกใช้สีคู่ตรงข้ามอย่าง “สีแดง” และ “สีเขียว” เป็นหลัก

          ในฉากเปิดเรื่อง กล้องจับภาพระยะใกล้และระยะปานกลางของอนุสาวรีย์  ‘Gyarah Murti’ ที่มีรูปปั้นยืนเรียงรายกันเป็นแนวยาวบนแผ่นหินขนาดใหญ่ นำหน้าด้วย มหาตมะ คานธี และผู้คนซึ่งเป็นตัวแทนของแต่ละกลุ่มคนลดหลั่นความสำคัญกันไป แสงไฟสีแดงฉายอาบรูปปั้นคานธีและผู้ติดตามในส่วนหน้าส่วนครึ่งหลังที่เป็นรูปปั้นผู้หญิง เด็กหนุ่มและคนชราถูกฉาบทาด้วยแสงไฟสีเขียว ซึ่งหากมองเพียงผิวเผินก็เป็นเพียงไฟประดับประดาเพื่อความสวยงามยามค่ำคืนเท่านั้น

          ช่วงต้นเรื่อง ความต่าง “วรรณะของสี”ยังไม่ปรากฏออกมามากนักจะเริ่มเห็นเด่นชัดก็เมื่อตัวละครเดินทางมาอยู่ในกรุงนิวเดลีเมืองหลวงของประเทศอินเดียตั้งแต่คืนแรกที่มาถึงคอนโด ห้องชุดสุดหรูของเจ้านายถูกอุ่นด้วยสีโทนร้อน ขณะภาพห้องพักของพลรามในลานจอดรถชั้นใต้ดินคืนเดียวกันนั้นกลับสว่างไสวไปด้วยแสงไฟสีเขียว และยิ่งเขียวมากขึ้น (สีเขียวอาบไล้ตั้งแต่มุ้ง หมอน ผ้าห่ม ที่นอน กระทั่งถึงแปรงสีฟัน) หลังจากที่เขาย้ายเข้ามาอยู่ในห้องใหม่ที่สกปรกกว่าเดิม และในห้องนี้เอง พลรามได้บี้แมลงสาบตัวหนึ่งให้ตายคามือ

          สีน้ำตาลแดงของแมลงสาบ ทำให้ “พวกมัน” กลายเป็นภาพแทนของเหล่า “คนรวย” ไปโดยปริยาย อีกทั้งยังสร้างความรำคาญใจให้กับพลรามด้วยการไต่ไปมาบนมุ้งเหนือร่างของเขานับสิบตัว หนึ่งตัวที่โดนบี้ด้วยฝ่ามือของเขาจึงเป็นสัญญะที่เชื่อมโยงถึงการลงมือสังหารมิสเตอร์อโศกด้วยมือตัวเองในเวลาต่อมา

          ไม่เพียงแสงสีในฉากเท่านั้นที่เล่นกับ “วรรณะของสี” แต่สีของเครื่องแต่งกายก็ด้วย อย่างในคืนวันเกิดของมาดามพิงกี้ คืนเดียวกับที่รถประสบอุบัติเหตุ มาดามพิงกี้ใส่ชุดเดรสสีแดง ขณะที่พลรามแต่งกายเป็น “มหาราชา” ด้วยเสื้อสีเขียว ผ้าโพกศีรษะสีแดง หรือในฉากที่พลรามยักยอกทรัพย์สินนายจ้าง ใช้รถหาประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเอง เขาสวมเสื้อแขนยาวสีแดง ขณะที่มิสเตอร์อโศกห่อร่างด้วยชุดคลุมสีเขียว รวมถึงฉากที่เขาเริ่มทำตัวเป็นเจ้านายในยามมิสเตอร์อโศกอ่อนแอ นอกจากนี้ สิ่งของประกอบฉากก็ถูกสื่อความด้วย “วรรณะของสี” เช่นกัน อาทิ กระเป๋าบรรจุเงินใบสีแดง รถหรูสีแดงของพลรามในบังคาลอร์ เลนส์แว่นตาสีแดงตอนท้ายเรื่อง หรือแม้แต่ป้ายไฟสำนักงานแท็กซี่ ‘White Tiger Drivers’ ก็ใช้ไฟตัวอักษรสีแดง

          การใช้สีในภาพยนตร์อาจตีความไปได้หลายมิติไม่แน่นอนตายตัว ขึ้นอยู่กับอัตวิสัย บริบท รูปแบบ หรือเนื้อหาในภาพยนตร์เรื่องนั้น อย่าง “สีแดง” ใน The White Tiger อาจหมายถึง อำนาจ ความมั่งคั่งร่ำรวย ความเป็นผู้นำ ความลุ่มหลง หรืออาจแทนอารมณ์โกรธ ฉุนเฉียว ขณะที่ “สีเขียว” อาจสื่อความถึง ชีวิต ความสงบสันติ ความอ่อนแรง เฉื่อยชา แต่ขณะเดียวกันก็สื่อถึงอันตราย ความตาย (ในยุคหนึ่งสีเขียวมีสารหนูเป็นส่วนผสม) ความไม่ซื่อสัตย์ ความชั่วร้าย หรือความมืดมัว บอดใบ้

          ความเรียบง่ายและเฉียบคมในการเลือกใช้สีและสัญญะในภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำถูกถ่างออก แยกห่างจากกันอย่างชัดเจน กระตุ้นให้ผู้ชมถูกบีบคั้นทางอารมณ์ไปพร้อมกับตัวละคร รู้สึกเห็นใจและชิงชัง ไม่เพียงเท่านั้น “วรรณะของสี” ยังถูกสอดแทรกในอีกหลายฉาก แม้กระทั่งในฉากสุดท้ายที่ พลราม หรือ อโศก ชาร์มา ออกมายืนหน้าสำนักงานเพื่อป่าวประกาศว่า “ผมย้ายฝั่งแล้ว ผมทำสำเร็จแล้ว” ในเวลานั้น ริมฝีปากและร่างทั้งร่างของเขาก็ถูกอาบย้อมไปด้วยไฟสีแดงอย่างน่าสะพรึง

 

เทพนิยาย “นาย” กับ “บ่าว”

          เพราะเหตุใดพลราม ฮาลวัย’ จึงเลือกที่จะเป็นอโศกที่สอง นัยหนึ่ง อโศก หมายถึงผู้ปราศจากความโศกเศร้าหรือผู้ไม่ทุกข์ ทั้งยังพ้องกับพระนามของ “พระเจ้าอโศกมหาราช” ผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนาผู้ปกครองจักรวรรดิเมารยะอย่างเป็นธรรม แต่อีกนัย ดอกอโศก ก็เป็นหนึ่งใน “ปัญจมาลี” ลูกศรแห่งรักของ “กามเทพ” เทพเจ้าแห่งความรักในศาสนาพราหมณ์ฮินดู

          ประเด็นเรื่องเพศในภาพยนตร์เรื่องนี้ เห็นชัดจากสัดส่วนระหว่างตัวละครหญิงกับชาย สิทธิและเสียงของ “ตัวละครหญิง” ที่ถูกกลบและกดทับ ไม่ว่าจะเป็น “กุสุม” ย่าของพลรามที่แม้จะอยู่ในสถานะผู้กุมชะตาชีวิตของเขาเอาไว้ แต่ก็ยังสยบยอมต่อเจ้าที่ดิน (เพศชาย) อยู่ร่ำไป หรือ ภาพแทนหญิงสาวรุ่นใหม่อย่าง “มาดามพิงกี้” ที่เหมือนว่าเธอจะองอาจและท้าทายระบบปิตาธิปไตยอย่างกล้าหาญ ทว่าท้ายที่สุด เธอก็ยังต้องยอมจำนนอย่างน่าผิดหวัง

          แต่ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น หากสังเกตบทสนทนาและการสร้างสรรค์ฉากในภาพยนตร์ จะพบว่า The White Tiger สอดแทรกประเด็นรักร่วมเพศเอาไว้อย่างแนบเนียน (ซึ่งในส่วนนี้ไม่ปรากฏชัดในตัวบทวรรณกรรม) ดังเห็นได้จากฉากแรกพบ ระหว่าง พลราม กับ มิสเตอร์อโศก หน้าร้านน้ำชาในลักษมัณครห์ พลรามเรียกการนำพาจากเทพเจ้านั้นว่าโชคชะตา และหลงใหลถึงขนาดหลุดปากเอ่ยเรียกมิสเตอร์อโศกออกมาทันทีว่า “เจ้านายของผม” ดังนั้น ภายหลังเหตุการณ์นี้พลรามจึงพยายามโน้มน้าวให้ย่าส่งเขาไปเรียนขับรถในเมือง เพื่อช่วยหาเงินอีกทางหนึ่ง แต่อีกแง่ก็เป็นกลอุบายที่เขาสร้างขึ้น เพื่อทำให้ตัวเองได้มีสิทธิใกล้ชิดกับ “เจ้านายของเขา” อีกครั้ง

          เจตนาอันแน่วแน่ของพลรามในการเรียนขับรถ คือเขาต้องเป็น “คนขับรถของมิสเตอร์อโศก” ให้ได้ ตัวละครย้ำความคิดนี้กับผู้ชมอยู่หลายครั้ง จนในที่สุดเขาก็ได้รับโอกาสให้เสียบกุญแจและขับขี่รถของมิสเตอร์อโศกสมใจอยาก แถมมิสเตอร์อโศกยังชื่นชมว่าเขาขับรถดีอีกด้วย ฝีมือของพลรามในเรื่องนี้ต่างชั้นกับ “มาดามพิงกี้” ภรรยาของมิสเตอร์อโศกอย่างสิ้นเชิง เพราะเธอขับและขี่รถของมิสเตอร์อโศกได้แย่มาก จนลงเอยด้วยอุบัติเหตุในท้ายที่สุด

          มีหลายฉากที่พลรามและมิสเตอร์อโศกอยู่ด้วยกันสองต่อสองบนรถยนต์ หนึ่งในนั้นเป็นตอนกลับจากส่งพี่ชายของเขาขึ้นรถไฟ บรรยากาศเป็นกันเองท่ามกลางเพลง Feel Good Inc. ของ Gorillaz ที่ดังขึ้น ช่างประจวบเหมาะกับเนื้อหาของเพลงซึ่งกำลังพรรณนาถึงความรักพอดี ความรักที่หมุนไปตลอดกาลดังกังหันลม เข้ากับล้อรถของพวกเขาที่กำลังเคลื่อนไป ในฉากนี้มิสเตอร์อโศกเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งเอ่ยอนุญาตให้พลรามเอาชื่ออโศกของเขาไปใช้ หลังพลรามบอกว่าเป็นชื่อที่ดีและเขาชอบนักหนา

          การตัดสลับภาพอดีตกับปัจจุบัน ที่เรียงต่อกันระหว่างฉากในห้องของพลรามกับในบาร์ก็บอกเล่าความสัมพันธ์นี้ได้อย่างน่าสนใจ อย่างฉากในห้องที่มิสเตอร์อโศกเข้ามานั่งรอพลรามอยู่บนเตียง ซึ่งเป็นอีกครั้งที่พวกเขาได้ใกล้ชิดและสัมผัสกัน ส่วนฉากในบาร์เป็นความโหยหาของพลรามที่ฉายออกมาทางแววตา เขากลอกตาแสร้งมองภาพบนจอโทรทัศน์ ทั้งที่จริงแล้วเขากำลังชำเลืองมองผู้ชายสองคนที่นั่งอยู่เบื้องหน้า พลางหวนคิดถึงภาพชีวิตของเขากับมิสเตอร์อโศกในวันวาน และท้ายฉาก พลรามหันไปมองหญิงสาวแต่แล้วก็หลบสายตาไปทางอื่นแทบจะทันที

          แล้วความสัมพันธ์นี้ก็สิ้นสุดลงในฉากปลิดชีพมิสเตอร์อโศก จากบริบทของเรื่อง แรงจูงใจหลักของพลรามเหมือนจะเป็นการหาหนทางหลุดพ้นจากความเป็นทาส แต่อีกแรงจูงใจหนึ่ง เพราะเขารู้ตัวว่ากำลังจะถูกแทนที่ด้วยคนอื่น (คนขับรถคนใหม่) ทั้งที่ตัวเองยอมทำหน้าที่แทน (มาดามพิงกี้) ภรรยาของเจ้านายทุกอย่าง แต่มิสเตอร์อโศกกลับเห็นเขาเป็นเพียงแค่ “เพื่อนคลายเหงา” เท่านั้น

          ทั้งหมดนำมาสู่โศกนาฏกรรมตอนท้ายเรื่อง ในฉากที่พลรามใช้ขวดปากฉลามแทงทะลุร่างกายของมิสเตอร์อโศกจากทางด้านหลัง ซึ่งแฝงนัยถึงการร่วมเพศเอาไว้ด้วย เนื่องจากอาวุธที่สามารถทิ่มแทงเข้าไปในร่างกายได้ มีนัยสื่อถึง “อวัยวะเพศชาย” อีกทั้งการทิ่มแทงยังมีลักษณะเช่นเดียวกับการสอดใส่ ความไม่สมหวังในสิ่งที่ปรารถนา ผลักไสให้พลรามกลายเป็นเสือ เป็นปีศาจ เป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือด เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ยกเว้นเป็นที่รัก

          เทพนิยาย “นาย” กับ “บ่าว” จึงพลันสลายลงในชั่วพริบตา จบลงแบบที่ศรรักของกามเทพไร้ผล และอาจเพราะเขาขโมยชีวิตของอโศกมา เพราะชีวิตใหม่แลกมาด้วยเลือดของอโศก หรือเพราะไม่ว่าอยู่ที่ใดเขาก็ยังอยากมีอโศกอยู่ด้วยเสมอ เหตุผลเหล่านี้เป็นเพียงสมมติฐาน เพราะถึงอย่างไรเราคงไม่อาจทราบที่มาของอโศกที่สองได้ แต่เรามั่นใจได้ว่า บ่าวรับใช้ตำแหน่งคนขับรถนาม “พลราม” ผู้นี้ จะไม่มีวันลืม “เจ้านายของเขา” แม้สักเสี้ยวนาที ตราบใดที่ “อโศก ชาร์มา” ยังคงใช้ภาพวอลเปเปอร์ในห้องทำงานเป็นลายนกฟลามิงโกอยู่เช่นเดิม

 

ติดอยู่กับ “เสือ”

          อาจกล่าวได้ว่า The White Tiger ประสบความสำเร็จทั้งในด้านวรรณกรรมและภาพยนตร์ แม้จะไม่ถูกจดจำในฐานะ “หนังรางวัล” แต่ความโดดเด่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของงานทั้งสองแบบก็ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ความทะเยอทะยานของพลรามอาจไม่ได้สั่นคลอนโครงสร้างทางสังคม ความคิดความเชื่อ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน (ทั้งในจอและในกระดาษ) แต่แอกที่ปลดลงตรงหน้าของผู้ชมก็เป็น “สัญลักษณ์” และ “เชื้อไฟ” ชั้นเยี่ยมที่ยืนยันว่า ความหวังเพื่อชีวิตที่ดีกว่ายังทรงพลังเสมอ

          และคงไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องมีคุณสมบัติเฉกเช่น “เสือขาว” ทุกกระเบียดนิ้ว จึงจะทำได้สำเร็จ เพราะความเป็นเจ้าป่าและ “หายาก” แฝงฝังอยู่ในวิญญาณของทุกผู้ทุกนามตลอดเวลา เพียงแต่เราจะตระหนักถึงคุณค่าของความงดงามที่เรามีเมื่อใดเท่านั้นเอง

 

Visitors: 72,498