ไพลิน รุ้งรัตน์

ไพลิน รุ้งรัตน์

 ไพลิน รุ้งรัตน์

 

การกระโดดข้ามกำแพงใจ ของ ศักดิ์สิริ มีสมสืบ

ในกวีนิพนธ์คัดสรรสี่ทศวรรษ

         ศักดิ์สิริ มีสมสืบ กวีซีไรต์จาก “มือนั้นสีขาว” และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี ๒๕๕๙  เป็นกวีผู้สร้างสรรค์งานเขียนที่มีความสามารถทางด้านศิลปะถึงสามสาขา คือวรรณศิลป์ ทัศนศิลป์ และคีตศิลป์  ผลงานของเขาจึงเกิดจากการใช้กลวิธีในการผสมผสานศิลปะทั้งสามเข้าด้วยกัน ทำให้ผู้อ่านได้เห็นความงามของคำ ของภาพ และได้ยินเสียงครบบริบูรณ์ แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของเขาและทำให้ผู้อ่านตื่นใจได้เสมอคือ ความที่คิดที่แตกต่าง และไม่ใช่แตกต่างอย่างธรรมดา  หากแต่เป็นอีกฝั่งฟาก เสมือนว่า มีกำแพงแห่งความคิดหรือความเข้าใจขวางอยู่  แต่เขากลับเลือกมองอย่างอ้อนโยนและข้ามกำแพงนั้นไปได้ ซึ่งข้าพเจ้าขอเรียกว่า กำแพงใจ

         ในผลงาน กวีนิพนธ์คัดสรรสี่ทศวรรษ ของเขา มีตัวอย่างงานหลายบทที่แสดงอาการข้ามกำแพงใจของตัวเอง  หลายบทก็เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว อาทิ การคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ที่ปรากฏอยู่ในเล่ม “ตุ๊กตารอยทราย” และ “มือนั้นสีขาว” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมองมุมต่างกันของตากับหลานในการปลูกต้นว่านกับต้นหญ้า(ว่าน) หรือการไม่ทำร้ายสัตว์เล็ก ๆ อย่างมดหรือกิ้งก่าแต่กลับโดนข้อหาทำเสื้อใหม่เปื้อน(เปื้อน) เป็นต้น คือแทนที่จะเขียนอยู่ในมุมมองของผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ครอบครองมองโลกมาโดยตลอด  กวีกลับข้ามไปเขียนอยู่ในฟากของเด็ก พูดแทนเด็ก และเป็นปากเสียงของเด็ก ๆต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของพวกเขา  และทางออกของพวกเด็ก ๆเหล่านั้นก็ไม่พ้นโลกแห่งจินตนาการ เด็กจึงมีความสุขกับธรรมชาติ อาจกล่าวได้ว่า เด็ก ๆของศักดิ์สิริ มีสมสืบ ใช้ดวงตากวีของศักดิ์สิริมองเห็นความสุขแบบที่ผู้ใหญ่มองไม่เห็น  ด้วยความประณีตและอ่อนโยนอย่างยิ่ง

         เช่น การเด็กเกสรดอกไม้ดูดลิ้มชิมความหวาน

                          เที่ยวจุ่มดูดดอกเข็มตะลอนตะลอน

                          จุ่มถอน จุ่มถอน สมถวิล (ความสุขเล็กเล็ก)

         หรือ การเล่นเป็นรถไฟ

                          มือจับเอวจับเอวต่อต่อกัน

                          มือจับเอวกระชับมั่นกันต่อต่อ (รถด่วน)

         หรือ การจินตนาการทะเลาะกับฟ้าในวันฝนตก

                          เมื่อฟ้าโฮกฮึ่มลั่นในบันดล

                          ระดมพลปั่นป่วนขบวนบ้า          

                          สองพี่น้องยกเท้าขึ้นถีบฟ้า

                          ฟ้าแลบแปลบปลาบมาก็หดเท้า(ลุยฟ้า)

         แต่บทกวีของศักดิ์สิริ มิได้ปล่อยให้จบลงเพียงแค่นั้น เขาทิ้งภาพและความหมายไว้ให้ผู้อ่าน “ตีความ” และ “ค้นหา” ความลึกซึ้งไปได้เรื่อย ๆ จนแม้บางคนก็อาจจะตื่นเต้นในประสบการณ์ภายในที่ทาบทับกันระหว่างคนอ่านกับกวี

         ข้าพเจ้าให้ความสนใจเรื่องเด็กและคนชราของเขามาก  เพราะดูเหมือนว่าผู้เขียนได้พยายามสื่อสารด้วยมุมมองใหม่กับเราว่า  คนชรากับเด็กนี้ แท้แล้วคือวงจรชีวิตเดียวกัน แม้จะดูเหมือนต่างแต่แท้จริงแล้วคือความเหมือน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความอ่อนโยนต่อชีวิต กวีอธิบายด้วยสัญลักษณ์แต่ชัดเจนยิ่งนักคือ ตุ๊กตากับไม้เท้า ซึ่ง ไม้เท้าเป็นสมบัติของคนแก่ และตุ๊กตาเป็นสมบัติของเด็ก แต่สมบัติสองอย่างนี้ซึ่งเป็นตัวแทนของคนแต่ละวัย  ก็อยู่ในสภาพที่ช่วยตัวเองไม่ได้

                          ไม้เท้าชิงชังคนชรา

                          ตุ๊กตาเบื่อหน้าเด็กเด็ก

                          ตุ๊กตาเข้าหาไม้เท้า

                          ไม้เท้าพาเดินงกเงิ่นไป

                          ......

                          แดดเอยแดดกล้า

                          ตุ๊กตาพากันไปกับไม้เท้า

                          งกเงิ่นไปไม่กี่ก้าวก็ล้มลง (ตุ๊กตากับไม้เท้า)

         ในความเข้าใจชีวิตของกวี  ความหมาะดีคือคำตอบ เมื่อทดลองข้ามกำแพงไปกับเขา ก็จะพบความจริงดังที่กวีบอก

         โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นคนชรา ศักดิ์สิริ ได้เปิดดวงใจอีกฟากฝั่งให้หันไปมองคนชราอย่างละเอียดถี่ถ้วน ในภาวะของความชรานั้นย่อมเต็มไปด้วยความทรุดโทรม ความเศร้าหมอง และสิ้นหวังต่อปลายทาง

                          วารวันล่วงเวลาล้าระโหย

                          วัยราร่วงโรยยิ่งฟุ้งซ่าน

                          ก้าวผิดพลาดล้มลงซมซาน

                          ยิ่งทุ่มเทยิ่งสะท้านยิ่งรานร้าว

         แต่ท้ายสุดในความทุกข์ทรมานนั้น กลับกลายเป็นมุมมองใหม่ อันเป็นมุมแห่งความสุขยิ่งของชีวิต  คนชราจะนึกถึงวัยเยาว์ได้ชัดเจนยิ่ง

                          นอนมองปุยเมฆวิเวกหวาน

                          ล่องลอยคล้อยผ่านด้วยลมเป่า

                          ด้วยจิตปรุงด้วยใจแต่งด้วยแสงเงา

                          ด้วยเล่ห์ลักษณ์สลักเสลาครั้งเยาว์วัย (เสียงเพรียกแห่งมหาชลาลัย)

         คำตอบของกวี  ท้ายสุดของความสุขของคนชราคือความเยาว์วัยในหัวใจ

         กวีจึงให้ภาพลักษณ์ของคนแก่มองคนแก่ได้อย่างน่ารักน่าเอ็นดู  ไม่ใช่ภาพหดหู่ห่อเหี่ยวที่คุ้นชินกัน

                          ตายิ้มรื่นยื่นมือแหมะจมูกยาย

                          แกยังหายใจสบายไหมยายแก่

                          ใครจะตายก่อนกันฉันกับแก

                          อุ่นกายไหมอุ่นใจแน่เสื้อหนาวยาย (คู่รัก)

         หรือบางบทก็เลยไปถึงคำตอบในจินตนาการ  ในความทรงจำอันงดงาม คนชราต่างมองเห็นความเยาว์วัยซึ่งกันและกัน  ทั้งที่สังขารจริงนั้น “ทั้งเจ้าและข้าต่างร่วงโรย” และสุดท้ายถึง “คาค้าง”

                          ข้ากลับมาหาเจ้าแล้วสาวน้อย

                          ออกมาหาข้าหน่อยได้ไหมหนา

                          ชั่วไหวติงเจ้าทิ้งร่างหญิงชรา

                          ออกมาทางดวงตาที่คาค้าง (สาวน้อย)

         ศักดิ์สิริ ไม่เพียงทำให้ความร่วงโรยของมนุษย์ เป็นเรื่องปกติ แต่เขายังใช้ความทรงจำ(ในเยาว์วัย)มาเป็นทางออกสำหรับคนที่โรยรานั้นด้วย ความทุกข์ใจจึงลดลงกลายเป็นความสุขใจแทน และความอัปลักษณ์ของภาวะชราก็กลายเป็นเรื่องยอมรับได้ ชวนให้จับใจนัก

         การมองข้ามกำแพงใจนี้หลายครั้งพลิกภาพรูปธรรมธรรมดา ๆที่เราเห็นอยู่ไปสู่ภาพนามธรรมได้อย่างน่ามหัศจรรย์ใจเช่นกัน เช่น มอง การแกว่งไกวของชิงช้าธรรมดาที่เราเห็นอยู่บ่อยๆว่าเป็นการแกว่งข้ามสังสารวัฏ

                          โยนไปจนสุดหน้า

                          โยนมาจนสุดหลัง

                          นรกสวรรค์อยู่สองข้าง

                          ผลักชิงช้าหว่างกลาง

                          คว้างไปคว้างมา

                          ข้ามเหวแห่งสงสาร

                          จะโยนนานสักกี่เที่ยว

                                           (ชิงช้า)

         หรือบางทีก็เป็นภาพรูปธรรมง่าย ๆ แต่กลับพลิกภาวะภายในของเราให้ตระหนักขึ้นมาในฉับพลัน  เช่น เราไม่รู้ตัวเลยว่าเราเอาแต่แบกกรวดทรายในชีวิตตลอดเวลาจนหนักอึ้ง ด้วยภาพนี้

                           แบกหนักบ่าขวาซ้าย

                          มัวก้มเก็บแต่กรวดทรายตามรายทาง

                          ขว้างทิ้งไปเสียบ้าง

                          โอ้นักเดินทาง

                          ต้องมือและบ่าที่แบกเบา (แบก)

         สั้น ๆ กระชับแต่จับใจ  ได้คิด

         ศักดิ์สิริ มีสมสืบ เป็นกวีที่มีความเป็นเด็กและเป็นผู้ใหญ่ในตัวเสมอกัน  เขาอาศัยสิ่งที่มีนั้นเป็นฐาน และกระโดดข้ามไปข้ามมาเสมอเพื่อให้นักอ่านได้เห็นหัวใจที่แท่จริงของเขา  ซึ่งแท้จริงหัวใจเช่นนั้นก็มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน  เพียงแต่เราไม่เคยแม้แต่จะทดลองกระโดดข้ามดู  แต่ศักดิ์สิริ มีสมสืบทำแล้วเป็นตัวอย่าง  การได้พลิกมุมมองชีวิต  เป็นการทำความเข้าใจชีวิตที่ไม่ยึดติดจนเกินไป  และนั่นคือหนทางแห่งการทำความเข้าใจชีวิตอย่างแท้จริง

 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                          

 

 

 

จัน  ดารา “แรงคึก”กับ “จิตสำนึก”เสมอกัน

                                                                                                                             

                ข้าพเจ้าอ่าน จัน ดารา ของ อุษณา เพลิงธรรม  ครั้งแรกเมื่อตีพิมพ์ในนิตยสาร “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ตั้งแต่ปี ๒๕๐๗  ตอนนั้นอายุได้ ๑๔ ปี  ใกล้ ๆกับจันและคุณแก้วในเรื่องขณะเรียนรู้เรื่องเพศสัมพันธ์  ความเป็นเด็กวัยรุ่นทำให้อ่านด้วยความ”คึก”ในหัวใจ  และไม่รู้สึกว่า “โป๊” เท่าไรนัก  เมื่อมาเรียนมหาวิทยาลัยและเล่าบอกเพื่อนในชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯว่า อ่านหนังสือเล่มนี้มาตั้งแต่ยังไม่เป็นนางสาว  เพื่อน ๆทำท่าตกอกตกใจก็รู้สึกแปลกใจ  และยิ่งนานวันยิ่งฟังใครต่อใครพูดถึง  รวมทั้งมีภาพยนตร์เรื่องจัน ดารา ออกมาปลุกเร้านักอ่าน  ก็ยิ่งทำให้เรื่องนี้ดู “ติดเรท” ตั้งแต่ อาร์ ไปจน เอ็กซ์             จนวันนี้ได้ฤกษ์หยิบเอาหนังสือเล่มนี้ออกมาอ่านอีกครั้ง  ครั้งนี้ข้าพเจ้าอายุมากกว่าคุณบุญเลื่องในเรื่องเสียอีก  จึงได้ความรู้สึกในหัวใจไปอีกแบบหนึ่ง

                ใน พ.ศ.๒๕๐๗  อันเป็นปีที่ผู้เขียนเขียนเรื่องนี้  เป็นช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำรัฐประหารขึ้นปกครองแบบเผด็จการปราบปรามคน “คิดต่าง”ราบคาบ  และสื่อถูกกำหนดขอบเขต   นวนิยายการเมืองไม่มีที่ยืน แต่นวนิยายเพื่อความบันเทิงเฟื่องฟู  จัน ดารา เป็นเรื่องสะท้อนกามตัณหาและกามปัญหาในชีวิต จึงมีที่ยืนแน่นอนเพราะสอดคล้องกับแนวนโยบายของผู้นำบ้านเมือง  แต่ล้ำหน้าเกินความรับได้ของผู้คนในยุคสมัยไปมากอยู่จนกลายเป็นประเด็นกล่าวขวัญกันทั้งเมืองในฐานที่ผู้เขียนเอาเรื่องเพศที่หลบ ๆซ่อน ๆ มาเขียนถึงอย่าง “ถึงกึ๋น” และ “โจ๋งครึ่ม”  ปมปัญหาที่โดดเด่นที่สุดคือ การนำเอาเรื่องเพศ(มั่วๆ)ในบ้านและตระกูลมานำเสนอ  จัน ดารา พระเอกของเรื่องเป็นลูกไม่มีพ่อ  เพราะแม่ถูกฉุดไปข่มขืน(จนไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อของเด็ก แต่เพื่อหน้าตาจึงต้อง “ซื้อ”ผู้ชายระดับคุณหลวงมายอมรับเป็นพ่อ  และเป็นผู้ได้มรดกไปทั้งหมดรวมทั้งลูกที่เขาไม่รับเป็นพ่อ  แต่ในขณะเดียวกันเขาก็มีพฤติกรรมเช่นเดียวกับโจรที่ฉุดผู้หญิงไปข่มขืน  แต่ต่างกันที่สถานที่และสถานะในสังคม  ทุกคนต่างมีปม ความทะยานอยาก  และความมุ่งหมายต่าง ๆกันไป เรื่องภายในบ้านจึงยุ่งเหยิงอลเวง  ผลพวงมาตกอยู่กับเด็กที่เกิดทีหลังอย่างจัน ดารา และ วิไลเรข วิสนันท์(แก้ว) รวมทั้งปรีย์(ลูกของแก้วกับพี่ชายร่วมพ่อ) 

                ตามเนื้อหาของเรื่อง  และตามปี พ.ศ.ที่เขียน ต้องนับว่า เป็นเรื่องที่ก้าวเกินยุคไปอย่างน้อยห้าสิบปี  การถูกเรียกว่า เป็นวรรณกรรมอีโรติค  หรือ เกือบจะเป็น ปกขาว  จึงเกิดขึ้นพร้อมกับการปรากฏตัวของเรื่องนี้  แต่เมื่อเวลาล่วงผ่านไป  และหากคิดตามความเปลี่ยนไปของวรรณกรรมคนรุ่นใหม่ใน พ.ศ.นี้อย่างจริงจัง  “จัน ดารา” ก็กลายเป็นวรรณกรรมอีโรติคที่เรียบร้อยเล่มหนึ่งเลยทีเดียว  และคำว่า วรรณกรรมอมตะคลาสสิคก็จะเคลื่อนเข้ามาแทนที่ได้ไม่ยากนัก  อย่างน้อยเพราะเหตุ ๓ ประการ

                ประการที่หนึ่ง ว่าด้วยเรื่องของวิธีการเล่าเรื่อง

                  อุษณา เพลิงธรรม ใช้วิธีเล่าเรื่องแบบลงลึกผ่านจัน ดารา โดยใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง  ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องที่ต้องการเปิดเผยปมลี้ลับซับซ้อนภายในใจเป็นอย่างยิ่ง  เขาเปิดเรื่องได้อย่างมีเสน่ห์เหลือเชื่อโดยขึ้นต้นด้วยภาพปัจจุบันของตัวละครที่นั่งลงเล่าเรื่องของตัวเองให้ผู้อ่านฟัง  แล้วก็เอ่ยถึงความตายขึ้นมาดื้อ ๆ ในขณะแนะนำตัวเองกับผู้อ่าน  (เดาได้ว่าตอนเด็ก ๆ ข้าพเจ้าคงเห็นว่า พูดอะไรแปลก ๆไม่ค่อยรู้เรื่อง) ทั้งยังรับเอาตัวตนผู้อ่านเข้าไปไว้ในเรื่องด้วยเหมือนว่า กำลังนั่งคุยกันอยู่   นาน ๆทีจึงจะมีเสียงบอกความเป็นปัจจุบันขณะกำลังเขียนขึ้นมาในเรื่องเสียที  และบางครั้งถึงระดับพูดกับผู้เขียนออกมาตรง ๆ  อาทิ

                “คงจะทำไปด้วยความรู้สึกที่รุนแรงที่อยากจะหักล้าง หรือทดแทน หรือประชดประชันอะไรสักอย่างละกระมัง ใครมีความรู้ทางจิตเวชก็เชิญวินิจฉัยเอาเองเถิด”(หน้า ๒๕)

                “...ฉะนั้น  ถึงมันจะบัดสีบัดเถลิงยังไร ก็ขอความร่วมใจให้คุณช่วยวางเฉยเอาไว้ให้จงดีด้วย จะเป็นพระคุณยิ่ง”

(หน้า ๑๘๒)           

                วิธีการเล่าดังกล่าวไม่ใช่เล่าผ่านตัวละครตามช่วงอายุ  แต่เป็นการเล่าผ่านตัวละครที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตอันถึงที่สุดของชีวิตมาเรียบร้อยแล้ว  เต็มไปด้วยความเข้าใจชีวิตและสำนึกในความผิดความถูกครบถ้วน  รวมทั้งเห็นและยอมรับผลแห่งกรรมของตนเองและทุกคนเป็นอย่างดี   มีกระบวนการอ่านเข้าไปภายในใจของตัวละครอย่างละเอียดถี่ถ้วน  (รู้ก็บอกว่ารู้  ไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้   รู้บ้างก็บอกว่ารู้บ้าง)  และผ่านการวิเคราะห์แล้วด้วย  ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการกระทำที่ผู้เขียนเองเห็นว่าเกินเลยขอบเขตอันสมควร หรือเลยเส้นศีลธรรมไป  ก็จะแสดงไว้อย่างครบถ้วนว่าอันใดผิด อันใดไม่ดี หรืออันใดเกินเลย การกระทำเตลิดเปิดเปิงของตัวละครจึงไม่ใช่เหตุอันควรเตลิดเปิดเปิงตามไปของผู้อ่าน เพราะมี“ห้ามล้อ” ติดอยู่ทุกช่วงตอน  มิใช่การสรุปผลกรรมเอาแต่ตอนท้ายเรื่องเหมือนละครผิดศีลธรรมที่นักดูละครค่อนขอดกัน   ดังนั้น ความรุนแรงของเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดำเนินชีวิตและเรื่องทางเพศจึงถูกลดทอนสีสันลงไปส่วนหนึ่งด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ของตัวละครข้อนี้เอง

                ประการที่สอง  ว่าด้วยฝีมือการวางโครงเรื่องอันร้ายกาจ

ผู้เขียนกำหนดโครงเรื่องอย่างซับซ้อนและยอกย้อนสะท้อนกันไปมา  ทำให้เกิดเสน่ห์ทางวรรณศิลป์ผ่านความคาดไม่ถึงและความสะใจ   เหตุการณ์หลักเขาให้จันเป็นลูกที่คุณหลวงไม่ยอมรับ  เกลียดชังและทำกรรมต่อเขาขนาดหนักจนถึงขนาดไล่ออกจากบ้านไปอยู่พิจิตร  และวันหนึ่งเหตุการณ์ก็ย้อนรอยกลับเมื่อลูกสาวของเขาก็ท้องขึ้นมาแบบไม่มีพ่อจนเขาต้องจำย้อนกลับไปเรียกเอาจันกลับมาเป็นคู่แต่งงาน  การย้อนกลับมานี้จึงเป็นการสร้างสถานการณ์ซ้ำรอยเช่นเดียวกับที่คุณหลวงเคยถูกร้องขอให้เป็นคู่แต่งงานของแม่จันผู้ถูกข่มขืนนั่นเอง  เป็นสถานการณ์ย้อนกลับแบบผู้อ่านคาดไม่ถึงและเกิดความสะใจแทนตัวละคร ในขณะเดียวกันจัน ก็ถูกรอยกรรมย้อนกลับเอาอีกหลาย ๆครั้ง รวมทั้งเรื่องคุณแก้วที่ทำตัวเป็น “ทอม” เล่นกับผู้หญิงในบ้านทุกคนเช่นเดียวกับเขา ความลับเรื่องพ่อที่แท้จริงที่ทำให้เขาตกตะลึงยิ่งกว่าเรื่องใด และท้ายสุดเขาก็ประสบรอยกรรมใหญ่เมื่อเกิดอาการ “กระสุนหมด” เช่นเดียวกับคุณหลวง  เหตุการณ์ต่าง ๆในนวนิยายเรื่องนี้จะล้อกันไปมาอยู่เช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างน่าอัศจรรย์  เหมือนไม่น่าเชื่อ แต่ก็ต้องเชื่อว่าเป็นไปได้  ทำให้เรื่องหนักแน่นและมีสีสัน  และเกิดความ “ทึ่ง”ในฝีมือผู้เขียน  

                นอกจากรอยกรรมที่ล้อกันแล้ว  ยังมีพฤติกรรมคู่ตรงข้ามกันอีกชุดหนึ่งล้อกันไปตลอดเรื่อง นั่นคือเรื่องคู่ตรงกันข้ามของสาระของเรื่อง  เช่น ความดีกับความเลว  ความจริงกับความลวง  ในขณะที่จัน ดารา มีความใคร่กับผู้หญิงหลายคนอันเป็นปัญหาตลอดเรื่อง  แต่เขาก็มีความรักจริงอันงดงามที่มีต่อไฮซินธ์อย่างถาวรและชัดเจน  ในขณะที่มีคนเลวเหลวไหลในเรื่องเพศกันเกลื่อนไปอยู่ในบ้าน  ผู้เขียนก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มีคนดีและไม่หวั่นไหวตกลงไปในหลุมกามนี้เลยอยู่ด้วย  เช่น น้าวาด และละเมียด เป็นต้น  ข้อนี้อุษณา เพลิงธรรม ทำให้โลกไม่โหดร้ายจนเกินไป เรียกว่ามีสีสันงดงามขึ้นบ้าง แม้จะเป็นส่วนน้อยก็ตามที

ประการที่สาม  ว่าด้วยเรื่องภาษาอันเป็นอัตลักษณ์และเป็นเอกลักษณ์          

                อุษณา เพลิงธรรม มีลีลาและภาษาการเล่าเรื่องอันเป็นอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของตัวเอง  เขามีภาษาที่ผสมผสานกันขึ้นมาระหว่างภาษาไทยที่แปลมาจากภาษาอังกฤษและภาษาไทยที่ช่ำชองและเชี่ยวชาญยิ่งจนนับได้ว่าเป็นภาษาที่เป็นลักษณะเฉพาะของเขาคนเดียวจนเป็นอัตลักษณ์  และอัตลักษณ์ทางภาษานี้ก็มีลักษณะโดดเด่นเป็นหนึ่งจนมีนับว่าเป็นเอกลักษณ์  เขาเลือกคำแบบกวีเลือกคำ  แต่เลือกให้สอดคล้องกับบุคลิกลักษณะตัวละคร  มีสำนวนการเล่าแบบผู้ชายที่มีจิตใจเป็นนักเลง  เชื่อมั่นในตัวเองและกดดันตัวเองหน่อย ๆ  ใช้ภาษาแรง ๆ มีวลีหรือสำนวนเฉพาะ  เช่น  ตอนเดินไปหาหญิงคนรัก  “ผมออกเดินอีหล่ำต่ำฉิบไปโดยไม่คำนึงว่าเท้าจะพาไปข้างไหน” (หน้า ๒๓๔)  หรือตอนฟังเรื่องการเกิดของตนเองจากคุณตา “ผมมองเห็นตัวเองอยู่ในศาลซึ่งเกิดมายังไม่เคยเห็นเลย..”(หน้า ๑๘๗)  หรือ ตอนเอ่ยถึงน้าวาด “หลังจากคนรักของเธอได้ก่อกรรมทำลายหัวใจเธอย่อยยับอัประมาณหมดทุกด้านแล้ว”(หน้า ๑๘๙) อีกทั้งยังแสดงความสามารถในการเลือกสรรคำมาใช้ด้วยกันได้อย่างพอเหมาะพอดี  เช่น รอดเร้น (ถ้าคนเรารู้จักสำเหนียกเอาไว้บ้างว่า การกระทำทุกอย่างของตนทั้งในที่ลับและที่แจ้งไม่เคยรอดเร้นความรู้เห็นของพวกที่ได้ชื่อว่า โอปปาติกะไปได้เลย”(หน้า ๑๗) เป็นต้น

               เหนืออื่นใด เขามีความสามารถในการใช้ภาพพจน์ได้อย่างเหมาะเจาะ  ทั้งภาพตัวบุคคล และภาพฉากทุกอย่างนับว่าเป็นมือหนึ่งในยุทธจักรวรรณกรรมทีเดียว  ไม่ว่าจะเป็นฉากที่จันถูกขังในเรือนเขียวที่เคยเป็นที่ตั้งศพของแม่ การร่ำไห้ด้วยความไม่เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นและความกลัวที่ผสานกัน  เช่นว่า “เสียงเดียวที่คลออยู่ในตอนนั้นจะมีก็แต่เสียงร้องไห้กระซิกของผม  ความมืดและความเงียบที่ช่วยกันห่อผมไว้ยังกะผ้ามุ้งดำ ๆหนา ๆ ได้แหวกออกเป็นเวิ้งราง ๆตรงหน้าผม....แลเห็นเหมือนใครจุดไฟเข้าถ้ำตรงมาลิบ ๆก่อน แล้วจุดนั้นก็ค่อยขยายตัวและชัดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างของผู้หญิงคนหนึ่งยืนอยู่ตรงหน้าผม”(หน้า ๒๗)

                หรือฉากสำคัญ ๆที่เป็นอัศจรรย์อันขมขื่น(คุณหลวงกับน้าวาด) อัศจรรย์อันบันเทิง (จันกับคุณบุญเลื่อง) หรืออัศจรรย์อันผะอืดผะอม (จันข่มขืนคุณแก้ว)   หรือฉากอัศจรรย์วันแก้แค้น (จันกับคุณบุญเลื่องที่ทำให้คุณหลวงเป็นอัมพาต) ซึ่งล้วนเป็นหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ เขาก็ทำได้พอดี ๆ ดูเลยล้ำก้ำเกินไปบ้าง แต่เขาก็กลับลำทันเสมอ 

                รวมทั้งฉากการปลดปลงชีวิตที่ไร้กามรส   ผู้เขียนก็สามารถแสดงความแห้งแล้งของชีวิตได้อย่างเห็นภาพ ทั้งในบทแรกและบทสุดท้าย อันเป็นบทที่ทำให้เรื่องบรรจบกัน  เช่นว่า  “ครั้นต้องมาสูญสิ้นมันไปเสียอีกอย่างเช่นนี้ ชีวิตซึ่งหาสาระอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ก็เป็นอันเหลือแต่กาบสำหรับลอยเท้งเต้งอยู่ในห้วงมหรรณพเพื่อรอการเวียนว่ายตายเกิดในรอบใหม่ต่อไป”(หน้า ๓๗๗)  หรือ “...แล้วก็ซังกะตายอยู่ไปวัน ๆ...อยู่กับหญิงชราผู้เป็นซากของความสุดสวาทของผม...อยู่กับศพซึ่งยังไม่ยอมเลิกหายใจของคู่เวรคู่กรรมของผม...อยู่กับสตรีกามวิปริตซึ่งนัยว่าเป็นภรรยาของผม....อยู่กับหนุ่มวิปลาสซึ่งนัยว่าเป็นบุตรของผม (เพื่อพิทักษ์ชีวิตอันเป็นผลกรรมของคนอื่นของเขาตามที่ศาลสั่งและเพื่อเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์มรดกให้เขาตามพินัยกรรมที่คุณหลวงกลั่นแกล้งทำเอาไว้ก่อนเป็นอัมพาต)...อยู่กับความรักซึ่งมีแหวนมณีไฮซินธ์วงเดียวเป็นฉายาที่แตะต้องไม่ได้..(แหวนนี้ผมมีได้แล้วเมื่ออยู่ในฐานะที่พอจะมีได้) (หน้า ๓๗๘)

                 มีคนบอกว่า แรงบันดาลใจเรื่องนี้ของ อุษณา เพลิงธรรม น่าจะมาจาก The History  of Tom Jones ของ Henry Fielding  นักเขียนวรรณกรรมคลาสสิกยุคโรแมนติกของศตวรรษที่ ๑๙  ข้าพเจ้าก็เห็นว่า ก็น่าจะเป็นไปได้  แต่ก็เป็นแค่แรงบันดาลใจ  ที่เอามาทำเสียจนเป็นไทย ไท้ย ไทย และ “มันพิลึก”  เพราะ จัน ดารา ของอุษณา เพลิงธรรม ฉายภาพชีวิตด้านลบของกามตัณหาได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจนแก่ใจ  อาจมีคนอยากเล่นกับความทุกข์โดยที่รู้ผลบั้นปลายอยู่แล้วก็เป็นเรื่องของเขา  แต่ที่แน่นอนคือ หนังสือเล่มนี้เป็นตัวอย่างของงานเขียนที่ผสานกันระหว่าง “แรงคึก”กับ “จิตสำนึก” ได้อย่างลงตัว  โดยผ่านกระบวนการนำเสนอและลีลาภาษาอันงดงามเกินความคาดหมาย

 


 

เด็กชายที่ปลอมตัวเป็นหนังสือฯ-ความมหัศจรรย์ของชีวิตที่หายไป

 

 

                ใคร ๆ ก็รักหนังสือเรื่อง “เจ้าชายน้อย” ของ อองตวน เดอ แซงเต็ก ซูเปรี  ด้วยเหตุผลประการต่าง ๆ กันไป  บ้างก็ชอบเด็กชายมหัศจรรย์ที่ชื่อเจ้าชายน้อย  บ้างก็ชอบความเป็นเด็กในความเป็นผู้ใหญ่ หรือความเป็นผู้ใหญ่ในเด็ก  บ้างก็ชอบเพราะตีความได้หลากหลายและได้เรื่อย ๆ แล้วแต่ว่าจะอ่านเมื่อวัยใด  เรื่อง “เด็กชายที่ปลอมตัวเป็นหนังสือ ดอกไม้และอื่น ๆ” ของปะการัง  ก็ดำเนินมาในทางเดียวกันกับเจ้าชายน้อย คือล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของความมหัศจรรย์ที่มีเด็กเป็นตัวตั้ง  เพียงแต่เจ้าชายน้อยเป็นเรื่องยาวต่อเนื่องโดยมีตัวละครชุดเดียวกัน  แต่เด็กชายที่ปลอมตัวเป็นหนังสือฯ  เป็นเรื่องสั้น ๘ เรื่องที่มีตัวละครมหัศจรรย์อยู่ในทั้ง ๘ เรื่อง โดย ปะการัง ผู้เขียนยืนยันไว้ว่า  

              “...เมื่อคุณอ่านหนังสือเล่มนี้จบ 

               คงจำได้ว่า ครั้งหนึ่ง,

              เราเคยรู้จักเด็กอัศจรรย์คนนั้นในตัวเรา

              และคงตามหาเขาเจอ...

              ก่อนที่จะสูญหายไปตลอดชีวิต” (คำนำผู้เขียน)

                เรื่องสั้นที่มีเด็กมหัศจรรย์ทั้ง ๘ เรื่องนี้  ประกอบไปด้วยความมหัศจรรย์ต่าง ๆกันไป อันได้แก่ อะเค่อจิ้ว เด็กชายที่หายตัวได้, เอลีฟา เด็กหญิงปีกผีเสื้อกับบาทหลวงเปโตร ผู้บินได้, ดารัน เดโอะ เด็กชายผู้ปลอมตัวเป็นหนังสือ, ดอกไม้และอื่น ๆ  ได้ ,รุไรญามา เด็กหญิงเสียงสวรรค์ผู้ร้องเพลงเปลื้องความทุกข์,เด็กชายตัวจิ๋วผู้สูงแค่ ๕ นิ้วผู้มีสมองอัจฉริยะ, เวเอโดเรอญ่า เด็กหญิงผิวบางผู้ต้องอยู่ในความมืดของกลางคืนผู้รักการอ่านและเด็กใกล้ตายให้ฟื้นได้,เด็กชายตัวกลมผู้สูงไม่เกินสองฟุตแต่หามุมมองชีวิตของตนเจอ,และเด็กชายฟรานเซ่วัยสิบขวบซึ่งรู้ภาษาสัตว์ผู้พาให้ครอบครัวมาเจอกันอย่างมีความสุขได้  ผู้อ่านจะอ่านความมหัศจรรย์ต่าง ๆในเรื่องได้โดยไม่รู้ว่า เด็กเหล่านั้นเป็นชนชาติใด อยู่ในท้องถิ่นไหน เพราะผู้เขียนยืนยันว่า

                “ผมจึงเขียนเรื่องทั้งหมดนี้

            ด้วยตัวละครที่มีลมหายใจอยู่จริง

            แต่ใช้ชื่อ,ภาษา,เมือง,ประเทศ ในจินตนาการของผมเอง

            เพื่อบอกว่า นี่ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง

            ไม่ใช่เรื่องของเผ่าพันธุ์ใดเผ่าพันธุ์หนึ่ง

            หากเป็นเรื่องของมนุษย์กับโลกใบนี้หรือทั้งจักรวาล”

                และมีหมายเหตุอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า “ชื่อบุคคลสถานที่อาจฟังดูคล้ายภาษาสเปน,ญี่ปุ่น,จีนหรือแถบยุโรป  แต่ขอยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับต้นฉบับภาษาใดทั้งสิ้น  หากมีความหมายที่แตกต่างหรือตรงกันก็ถือว่าเป็นเรื่องบังเอิญเท่านั้น”

                ความตั้งใจของผู้เขียนที่ประสงค์จะให้ผู้อ่านมีความรู้สึกว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง” เชื่อว่าคงประสบความสำเร็จเป็นอันดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ที่โลกเปิดกว้างและมองไกลไปถึงประเทศอื่น ๆในโลกนี้รวมทั้งถึงจักรวาลอย่างง่ายดายด้วยโลกออนไลน์  แต่อีกมุมหนึ่งสำหรับผู้ประสงค์จะยืนหยัดความมั่นคงในจิตใจในยุคสมัยที่โลกเกลื่อนไปด้วยความไม่เป็นตัวของตัวเองอย่างชัดเจน  เขาอาจต้องการประเทศชาติ ท้องถิ่นและรากทางวัฒนธรรมอันแสดงความหลากหลายพร้อมกับความมีเอกลักษณ์ของแต่ละกลุ่มชนเข้าประกอบสร้างในเรื่องเหล่านี้ด้วยเพื่อไม่ให้หัวใจล่องลอยไปกับจินตนาการมากเกินไป

                อย่างไรก็ดี  หนังสือเล่มนี้ ยืนยันได้ว่า“ปะการัง” ประสบความสำเร็จในเรื่องของจินตนาการ   เขาไม่เพียงชี้ให้เห็นว่า จินตนาการเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์เท่านั้น  หากเขายังแสดงให้เห็นชัดเจนว่า สิ่งนี้มีอยู่ในตัวมนุษย์มาแต่เยาว์วัย  หรือมาแต่ไหนแต่ไร  เพียงแต่มนุษย์ละเลย หลงลืม หรือพยายามหลงลืมเท่านั้น  การหายตัวได้ การมีปีกผีเสื้องอกขึ้น การปลอมตัวได้ การมีเสียงดุจเสียงสวรรค์ การรู้ภาษาสัตว์ หรือการมีร่างกายที่แตกต่างจากคนอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งการต้องอยู่ในที่ใดที่หนึ่งโดยเฉพาะเช่นในความมืด สิ่งเหล่านี้เป็นความปรารถนาจะเป็นของมนุษย์  หรือเป็นภาวะเฉพาะเพื่อนำไปสู่เป้าหมายแห่งความสุขสันติ  โดยผู้เขียนได้ประกอบสร้างเรื่องราวด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆที่เป็นรูปธรรมเพื่อเปิดใจและชักชวนผู้อ่านให้รำลึกถึงความมหัศจรรย์ในตัวเองที่หายไป  ดังนั้น  ขณะผู้ใหญ่อ่านไปอาจรู้สึกได้ว่า  การหายตัวแวบไปแวบมาที่โน่นที่นี่เป็นเรื่องปกติเหมือนที่เราเองก็มักจะอยากไปที่โน่นที่นี่ให้รวดเร็วทันใจ  แต่ทำไม่ได้ดั่งใจอย่างอะเค่อจิ้ว  หรือการปลอมตัวเป็นโน่นเป็นพี่อย่างดารัน เดโอะ ก็เป็นความปรารถนาในส่วนลึกของมนุษย์ที่เบื่อหน่ายภาวะงานกิจวัตรประจำวันอย่างยิ่ง บางวันวิถีชีวิตของเราก็เหมือนเดโอะ  การเป็นดอกไม้ดอกใดดอกหนึ่งคือวันที่ชื่นบานแห่งชีวิตจนรู้สึกได้ราวกับดอกไม้  การได้อยู่นิ่ง ๆ ณที่ใดที่หนึ่งนาน ๆและแผ่ความร่มเย็นแก่คนอื่นก็คือมนุษย์ประดุจร่มโพธิ์ร่มไทรนั่นแหละ หรือการมีปีกเพื่อบินไปบินมา การมีเสียงสวรรค์  การรู้ภาษาสัตว์  และอื่น ๆล้วนเป็นคุณสมบัติอันเกิดขึ้นทางใจ  อันหมายถึงในจินตนาการแน่นอน  คนที่นั่งสามารถเข้าไปถึงภาวะใจลึกสุดของความเป็นมนุษย์ได้  ไม่ว่าจะเป็นการนั่งสมาธิขั้นสูงหรือการเข้าถึงภาวะจิตด้วยวิธีอื่นใดอาจให้คำตอบแก่เราได้ว่านี่เป็นคุณสมบัติของมนุษย์ที่แท้จริง  แต่มนุษย์ได้จดจ่ออยู่กับกาย(หยาบ)จนลืมมันไปหมดแล้ว และไม่อาจเข้าถึงได้  ดังนั้น จึงเกิดการพยายามจะใช้ประโยชน์ หรือเปิดเปลือยความมหัศจรรย์เหล่านั้นออกมาแบบโลกสมัยใหม่  จนกลายเป็นการทำลายหรือเป็นการทำให้พลังมหัศจรรย์เหล่านั้นลับหายไป  ดังที่ตัวละครของปะการังแสดงให้ผู้อ่านเห็นในแทบทุกเรื่อง  ดังนั้น  ความมหัศจรรย์ที่ว่าจึงเป็นความลับเสมอ อะเค่อจิ้ว  เด็กชายผู้หายตัวได้จึงถูกเรียกว่า “เด็กผี”หายตัวไปในที่สุด หรือเอลีฟา ถูกกล่าวหาว่าเป็นปีศาจและหายตัวไปตลอดกาลแม้ใครต่อใครจะพยายามขึงจับผีเสื้อมนุษย์อย่างเธอให้ได้ หรือต้นไม้ประหลาดที่มาจากเดอโอะอายุยืนถึง๑๐๐ปีแล้ววันหนึ่งก็หายไปจากโลก เช่นเดียวกับเด็กหญิงเสียงสวรรค์ก็หายไปในวันที่ทุกคนบังคับให้เธอร้องเพลงประกวดรอบสุดท้าย, เด็กชายตัวจิ๋วที่ไม่สนใจหรือจำเด็กหญิงที่เขาเคยอยู่ด้วยไม่ได้ไปตลอดกาล  และโลกของเด็กหญิงแห่งท้องฟ้ากลางคืนก็จะมีแต่เด็ก ๆที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้นที่รู้จัก

                สิ่งที่งดงามที่สุดในหนังสือเล่มนี้ก็คือ การเป็นไปของความมหัศจรรย์ต่าง ๆเหล่านั้นมิได้เป็นไปเพื่อความสนุกสนาน ความบันเทิงเริงใจหรือเพื่ออวดว่ามนุษย์มีสิ่งมหัศจรรย์เหล่านี้เท่านั้น  หากยังเป็นไปเพื่อช่วยเหลือ ดูแล ประคับประคองความเป็นมนุษย์ที่เปราะบางคนอื่น ๆ ที่เป็น หรืออยู่ในสถานะที่แตกต่างกันไป อาจเป็น วัยเด็ก หรือวัยชรา หรือยามป่วย ยามพิการ ยามน่าชัง ยามน่าเกลียดให้กลับคืนมาเป็นปกติ งดงามตามสภาพและดำรงอยู่ได้ในสังคม อะเค่อจิ้วจึงช่วยให้เด็ก ๆได้เห็นในสิ่งที่เขาไม่เคยเห็น  พาเขาไปพบกับคนที่เขาอยากพบในภพอื่น  เดโอะเป็นภาพของความอยากเป็นของเด็ก ๆ เขายืนยันว่า  “แค่จินตนาการ เราจะเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น” เขาทำให้มนุษย์รู้จักตัวเอง  เด็กหญิงรุไรญามามีเสียงสวรรค์สำหรับกล่อมโลกมิใช่สำหรับผู้ใช้ประโยชน์  เด็กชายตัวจิ๋วทำให้มนุษย์ไม่ลืมวัยเด็ก เด็กหญิงแห่งท้องฟ้ากลางคืนคอยดูแลเด็ก ๆที่เจ็บป่วยเพื่อพาไปรู้จักกับโลกแห่งความลับในความมืด นั่นคือความเงียบในตัวตนของเรายามเจ็บไข้ได้ป่วย ในขณะเด็กชายตัวกลมใช้ประโยชน์จากความกลมของร่างกายทำให้อยู่รอดและเป็นสุข  ส่วนเด็กชายฟรานเซ่ผู้รู้ภาษาสัตว์ก็ใช้ความรู้นั้นในการรักษาสัตว์ที่เจ็บไข้ได้ป่วย และใช้ความรู้นั้นนำพาครอบครัวของตนให้มีความสุข

                ภาษาและกลวิธีในการสร้างเรื่องของ “ปะการัง” ทำให้เรื่องราวต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างสอดคล้อง งดงามสมจริง  ภาพของเด็กมหัศจรรย์ทั้งหลายตลอดจนสังคมรอบข้างปรากฏชัด  แต่กระนั้น  แม้ผู้เขียนยืนยันว่า ไม่ต้องการให้เป็นภาพของที่ใดที่หนึ่งพราะอยากให้เป็นภาพของมนุษย์โดยรวมหรือทั้งจักรวาล แต่เราก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า  เรื่องราวที่เราได้อ่านเป็นเรื่องของเด็กในโลกตะวันตกมากกว่า  แวบ ๆหนึ่งนั้นรู้สึกเหมือนว่า ไม่มีเด็กคนใดเลยที่เกิดอยู่ในพื้นดินในเอเชียตะวันออกฉียงใต้    หรือแม้แต่จะเฉียดใกล้ประเทศไทย  เพราะสภาพบ้านเมืองหรือการบรรยายถึงภูมิประเทศหลักไม่ชวนให้นึกถึง  แม้จะยอมรับกติกาที่ผู้เขียนยืนยัน  แต่บางครั้งเราก็อยากเห็นเด็กทุกคนเป็นตัวแทนของประเทศต่าง ๆอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะด้วย เพราะนั่นคือความจริงว่าไม่มีใครเกิดมาโดยไม่มีราก

                ขอบคุณ “ปะการัง” ที่ทำให้ได้รู้สึกว่า มนุษย์ทุกคนเป็นผู้มีความมหัศจรรย์ เพียงแต่หลายคนลืมมันไปแล้ว

 

                                                                   -----------------

 

(เด็กชายที่ปลอมตัวเป็นหนังสือ ดอกไม้และอื่น ๆ/ปะการัง/สำนักพิมพ์เช้าวันอาทิตย์/๑๕๙ หน้า)

 

 

 


 

 

 

 

“การไปสู่” ความเข้าใจชีวิตน้อยแต่มากของชาย บำรุงวงศ์

โดย  ไพลิน รุ้งรัตน์

 

                  ชื่อ “ชาย บำรุงวงศ์” อาจดูแปลกตาและคลับคล้ายคลับคลา  แต่พอเห็นการเปิดเผยชื่อจริงว่า “สมชาย บำรุงวงศ์” ก็ไม่แปลกตาอีกต่อไป  เพราะชื่อนี้เป็นที่เปิดเผยว่าเป็นนามจริงของเจ้าของนามปากกา “กรรแสง  เกษมศานต์” หนึ่งในนักวิจารณ์กลุ่มวรรณกรรมพินิจ  สมัยที่กลุ่มนี้มีคอลัมน์อยู่ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์เมื่อสี่สิบปีมาแล้ว  เขาเป็นนักเรียนเพาะช่าง  สถาบันเดียวกับชาติ กอบจิตติ  ศักดิ์สิริ มีสมสืบ  และสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย คนกลุ่มนี้รักงานศิลปะและรักงานเขียน  สมชาย บำรุงวงศ์ ก็เดินตามเส้นทางนั้นเช่นเดียวกัน

       

                 รวมเรื่องสั้นชื่อ “การไปสู่” ของ ชาย บำรุงวงศ์ ประกอบด้วยเรื่องสั้นทั้งหมด ๙ เรื่อง  เป็นชุดเดียวกันโดยมีตัวละครชุดครอบครัวของฉันเป็นผู้เชื่อมเรื่อง   ผู้เล่าเรื่องเป็น”ฉัน” สะท้อนให้เห็นสัมพันธภาพในครอบครัวของเจ้าของกิจการโรงยาหรือร้านขายยาจีนโบราณร้านหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต 

 

                นอกจากคนในครอบครัวแล้ว  ยังมีคนอื่น ๆมาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอีกหลายชีวิต  สะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว หรือมีแต่ครอบครัวของตนครอบครัวเดียวเท่านั้น  หากแต่ต้องมีสังคมและความเกี่ยวพันกับคนอื่น ๆ อีกด้วย  ชีวิตจึงจะดำเนินต่อไปได้ 

 

               ผู้เขียนเลือกที่จะเล่าเรื่องตัวยตัวบุคคลต่าง ๆกันไป  มีทั้งที่เป็นคนในครอบครัวโดยตรง  เช่นเรื่องของพ่อ (การไปสู่และคิดคำนึง) เรื่องของตระกูล(ดอกเคงฮั้ว) และเรื่องของคนที่เกี่ยวพันใกล้ชิดกับครอบครัวเช่น ผู้ช่วยในโรงยาของพ่อ (อาฟุก) ลูกบุญธรรมของพ่อ (รสสุคนธ์) ลูกจ้างในร้าน (นูญ) และเพื่อนบ้านที่รู้จักใกล้ชิดเช่น ยา จ่าแสน (ถ้วย) รวมทั้งเรื่องของฉันที่เป็นตัวผู้เล่า (นักวาดลอก) และเพื่อนของผู้เล่า (รอยโดยทั้งหมดนี้เล่าเป็นบท ๆในนามของเรื่องสั้น ๑ เรื่อง  แต่โดยเนื้อเรื่องกลับเกี่ยวพันกันอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้  อาจจะอ่านให้รู้เรื่องทีละเรื่องก็ได้  แต่หากอ่านทั้งหมดก็จะได้อรรถรสและเห็นภาพรวมได้ชัดเจนขึ้น

       

                  หัวใจสำคัญของงานชุดนี้คือการนำเสนอภาวะของความเป็นมนุษย์ในสถานภาพต่าง ๆกันตามเงื่อนไขของสังคมและสภาพแวดล้อม  ผู้เขียนสะท้อนรายละเอียดเรื่องเล่าผ่านสายตาของ “ฉัน”  ตั้งแต่ยังเป็นเด็กชายตัวเล็ก ๆ ที่มีความสัมพันธ์กับพ่อ  ภาพความรักความผูกพันกับพ่อในวัยที่เริ่มจำความได้  ตั้งแต่พ่อจับเขาโยนให้หวาดเสียวเล่นเหนือบ่อน้ำ 

 

                  ภาพเขารอพ่อที่ไปทำงานต่างถิ่นและวิ่งมารับเมื่อพ่อกลับมาจนล้มลงหัวเข่าถลอก  ตลอดจนกระทั่งภาพเขาที่เริ่มโตเป็นวัยรุ่น  และสนใจเรื่องการวาดรูปจนพ่อปรามาสว่า เขาจะเป็น”จิตรกรไส้แห้ง” เขาเริ่มปิดตัวเองจากพ่อ และพ่อก็ปิดตัวเองจากเขา  เขารู้สึกว่าตัวเองไม่ประสบความสำเร็จ  พ่อก็ไม่ประสบความสำเร็จ  จากบทบาทของผู้เป็นลูก  เขาเริ่มโตเป็นผู้ใหญ่และมองละลุเข้าไปเห็นความฝันและความลับในใจของพ่อ 

 

                 ประเด็นสำคัญต่าง ๆนี้กระจัดกระจายอยู่ตามเรื่องต่าง ๆและมากที่สุดในเรื่อง “การไปสู่” กับ “คิดคำนึง”  ใน”การไปสู่” นั้นอาจออกอาการเยาะหยันชีวิตของพ่อนิด ๆ สงสารหน่อย ๆ แต่ใน “คิดคำนึง” คือการเปิดเผยความในใจให้พ่อได้รับรู้  แต่เป็นภายหลังจากที่พ่อตายไปแล้ว  เป็นการเล่าระลึกความหลัง  ฉากสำคัญนอกจากการวิพากษ์พฤติกรรมของพ่อที่มีต่อคนในครอบครัวและต่อลูกจ้างและลูกบุญธรรมในบ้านแล้ว

 

                   ยังมีเหตุการณ์สำคัญที่ลูกชายส่งจดหมายให้พ่อเพื่อทำความเข้าใจหรือปรึกษาเรื่องราวชีวิตในโรงยา  แต่พ่ออ้างว่าไม่มีเวลาอ่าน หรือไม่ได้เปิดอ่าน  ซึ่งผู้เล่าคือฉันก็ทำความเข้าใจได้แบบผู้ใหญ่ในขณะนั้นทันทีว่า “สมมุติว่าพ่อได้อ่านมันแล้ว  นั่นแสดงว่าพ่อไม่รับพิจารณาความใด ๆ ในนั้น  และสมมุติว่าพ่อไม่ได้อ่าน นั่นก็เป็นเพราะ พ่อไม่ต้องการรับรู้สิ่งที่มากระทบความเป็นผู้ใหญ่ ความเป็นหัวหน้าครอบครัวที่พ่อครองอยู่ ซึ่งก็คือมันไม่มีความหมายใด ๆต่อพ่อนั่นเอง และผมก็เข้าใจแล้วละว่า ที่พ่อต้องการบอกผมก็คือ นี่มันไม่ใช่กงการอะไรของลูกหรอกนะ อย่ามายุ่งดีกว่า..” (หน้า ๑๐๒-๑๐๓)

 

                    ข้อความส่วนนี้แสดงให้เห็นถึงช่องว่างในบ้านอันอบอุ่นที่เกิดจากการทำความเข้าใจชีวิตที่ต่างกัน  และโลกส่วนตัวของแต่ละคนซึ่งหมกมุ่นไปคนละทิศละทางและไม่สัมพันธ์กันของครอบครัวนี้ ครอบครัวโรงยาดูเจิดจรัสและรุ่งเรืองในระยะแรก  เพราะมีบรรพบุรุษที่มีความสามารถในการจัดการและก่อตั้งกิจการให้รุ่งโรจน์มาได้  ครั้นเวลาผ่านไป กิจการก็เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมและการจัดการที่ไม่ทันการณ์  โดยมี“ฉัน” เป็นผู้เฝ้าดูความเปลี่ยนไปซึ่งค่อย ๆปรากฏผ่านเรื่องราวและผู้คนที่สานสัมพันธ์เกี่ยวข้อง

 

                    ผู้เขียนเลือกที่จะเล่าถึงตัวละครที่มีเรื่องราวที่จำได้ในวัยเด็ก(ถ้วย)  อาทิ เรื่องของน้าฮวย ช่างตัดเสื้อที่แม่ฟัง  ซี้ สาวเทื้อช่างเล่า  ยาเด็กสาวหูเป็นเลิศที่หนีพ่อเลี้ยงมาอยู่กับยาย จ่าแสนที่เป็นตำรวจแสนดี เป็นต้น  ตัวละครเล็ก ๆเหล่านี้เป็นความทรงจำอันงดงามในวัยเด็ก  ตัวละครมาปรากฏตัวช่วงหนึ่งแล้วก็จากไปโดยไม่ได้ถูกกล่าวถึงอีก  ในขณะที่ตัวละครบางตัวไม่ใช่คนในครอบครัว  แต่ยืนนานและมีความหมายต่อชีวิตผู้เล่าเรื่อง  อาทิ  อาฟุก  รสสุคนธ์ พิกุล  อึ้งซำเฮง

 

                    พฤติกรรมของตัวละครเหล่านี้มีผลต่อชีวิตของพ่อแม่ยายของผู้เล่าเรื่อง  และมีผลอย่างยิ่งต่อความคิดของผู้เล่าเรื่องในฐานะผู้เฝ้ามอง  แทบทุกตัวดูน่าสงสาร น่าเห็นใจ  และผู้เล่าเรื่องเห็นว่าพ่อและแม่ของเขาได้กระทำหรือปฏิบัติต่อตัวละครเหล่านี้อย่างผิดพลาด  อันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่จะมีการผิดพลาดกันได้  แต่ความผิดพลาดต่าง ๆที่เกิดขึ้นนั้นล้วนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโรงยาและความศรัทธาของลูกชายที่มีต่อพ่อทั้งสิ้น

                     ผู้เขียนฉลาดที่เล่าเรื่องผ่านมุมมองของฉันคนเดียว  ดังนั้น  จึงทิ้งมุมมองจากสายตาของตัวละครเองไว้ให้คนอ่านคิดเอาเอง  คนที่ถูกตำหนิตามเรื่องจึงเป็นคนที่ผู้เล่าเรื่องตำหนิ  แต่ความจริงจะเป็นอย่างไร  ผู้อ่านเท่านั้นจึงจะคาดเดาเอาเองได้ และกรณีเช่นนี้  ผู้เล่าเรื่องจึงกลายเป็นผู้พิพากษาที่เป็นธรรมยิ่ง  เพราะเขาไม่เข้าข้างคนในตระกูลของเขาเองเลย  

อาฟุก (ในเรื่องอาฟุก)  เป็นคนที่น่าสงสารและน่าเห็นใจสุด  เขาทำงานจริง ทุ่มเทและมีบุคลิกภาพที่เป็นคนดีและน่าเห็นใจ  แต่กลับถูกเข้าใจผิดจากแม่ของผู้เล่าเรื่องหรือเจ้าของโรงยาฝ่ายหญิง เช่นเดียวกับรสสุคนธ์ หรือพิกุล  ที่เป็นลูกบุญธรรม  ทุกคนทุ่มเทและอุทิศตนให้ครอบครัวโรงยา  พ่อของผู้เล่าเรื่อง ซึ่งเท่ากับเป็นพ่อบุญธรรมของทั้งสองคนนั้นกลับไม่สนใจไยดี  ทอดทิ้งและไม่ดูแลเท่าที่ควร เพราะเขาไม่ได้อยากรับลูกบุญธรรม แต่ยาย(แม่ของภรรยา)เป็นคนรับไว้  แน่นอนทั้งหมดนี้ผ่านมุมมองของผู้เล่าคนเดียว

                      เรื่องที่สะท้อนภาพภาวะมนุษย์ได้น่าเยาะหยันที่สุดก็คือ เรื่องดอกเคงฮั้ว อันเป็นเรื่องของน้าชาย ซึ่งเป็นหมอ เป็นน้องคนเล็กของแม่ และเป็นคนเดียวที่ได้เรียนสูงจนจบแพทย์  ได้แต่งงานกับนางงาม  เขาเป็นลูกชายคนเดียวและเป็นที่รักของยายสุด ๆ จึงเกิดปรากฏการณ์โกงสมบัติและมรดกขึ้น โดยยืนยันว่าตนเองเป็นผู้จัดการมรดกและได้ยกมรดกให้ตนเองมากกว่าใคร  และชีวิตก็ได้ตอบแทนเขาโดยท้ายสุดก็ตายด้วยโรคร้ายโดยไม่ได้เสวยสุขจากสมบัติที่โกงพี่โกงน้องไปนั้นเลย

                       นอกจากสะท้อนภาวะความเป็นมนุษย์ของแต่ละคนอย่างเป็นปัจเจกบุคคลให้สะท้านสะเทือนใจแล้ว  ภาพโดยรวมยังทำให้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองทั้งในแง่อาคารบ้านเรือน การเคลื่อนที่ของผู้คนและการใช้ชีวิต  แน่นอนที่สุด เรื่องราวทั้งหมดสะท้อนภาพชีวิตคนจีนในประเทศไทย (คนจีนรุ่นก๋งของผู้เล่าที่เก็บเงินจากการทำกิจการในเมืองไทยส่งไปเมืองจีนมากมายสร้างตึกได้มโหฬารในขณะบ้านอยู่อาศัยในเมืองไทยยังเป็นบ้านเช่า )เห็นภาพอาชีพของคนจีนในเมืองไทย ความอยากเป็นนักเรียนปีนัง หรือความนิยมเลี้ยงเด็กเป็นลูกบุญธรรม(ความจริงก็คือเลี้ยงไว้ใช้งานในตอนโตด้วย) หรือแม้กระทั่งภาพสะท้อนงานศิลปวัฒนธรรมผ่านโปสเตอร์หนังในยุคนั้น เป็นต้น

                      อย่างไรก็ดี  น่าเชื่อได้ว่า ผู้เขียนได้รับอิทธิพลวิธีเล่าเรื่องมาจาก “ถนนจระเข้” ของบรูโน ชูลซ์ (แปลโดย      ดลสิทธิ์ บางคมบาง) เพราะมีลีลาการเล่าเป็นตัวบุคคลแบบเป็นชุดและคนละนิดละหน่อย ๆเหมือน ๆกัน  รวมทั้งภาษาที่ได้รับอิทธิพลมาจากภาษาแปลที่ดลสิทธิ์เห็นว่าเป็นภาษาของชูลซ์ด้วย  ชาย บำรุงวงศ์ จึงออกแบบภาษาไทยแปลก ๆ ด้วยคำขยายและรูปประโยคที่ไม่เหมือนภาษาไทยทั่วไป  อาทิ

                    “อาฟุก จากการถูกจ้องมองนั้น  ไม่นานก็รู้ขึ้นถึงการไม่เป็นไปโดยปรกติอย่างมุ่งร้ายมาที่แกจากแม่

                     (อาฟุก หน้า ๖๔)

                     หรือ                 

                  “และแล้วนาทีของการชี้ขาดก็มาถึง เมื่อเสียงแตรรถอันเป็นสัญญาณได้ดังขึ้นในการเงียบอยู่ของเช้ามืดอันกำลังรอฟังคำชี้ขาดนั้น ขณะเดียวกันรสสุคนธ์อย่างโดดเดียว-ด้วยแม้น้าสาวของพวกเราซึ่งเอ็นดูเธออยู่ก่อนแล้วก็ไม่เข้าช่วยด้วยเกรงยาย-ก็กำลังสู้อยู่อย่างไม่วางวายให้กับความแน่วแน่แล้วนี้ของเธอ” (รสสุคนธ์ หน้า ๗๙-๘๐)

        ซึ่งแน่นอนที่สุดภาษาแบบชูลซ์นี้ยังลำบากมากสำหรับนักอ่านโดยทั่วไป  เพราะทำให้เบื่ออ่านไปก่อนจะจบความ  

(ในกรณีเป็นชูลซ์ เราอาจยอมรับว่าเป็นภาษาของเขา แต่กรณีของชาย บำรุงวงศ์ คงต้องใช้เวลาสำหรับการพิสูจน์)

        นอกจากนี้  ความลำบากอีกประการหนึ่งของการอ่านหนังสือเล่มนี้ก็คือ การเรียงลำดับเรื่องและการตั้งชื่อเรื่อง (อย่างเรื่อง ถ้วย  น่าจะชื่ออื่น เพราะไม่ได้เกี่ยวกับถ้วยเรื่องเดียว  เป็นบทที่ว่าด้วยคนที่ผ่านเข้ามาในวัยเยาว์ของชีวิตผู้เล่าเท่านั้นเอง)  ถ้าเพียงแต่ผู้เขียนจะเรียงเหมือนกับว่ากำลังเขียนเรื่องเล่าที่ต่อเนื่องกัน อันใดที่ผู้อ่านควรรู้ก่อนก็ให้รู้ก่อน อันใดที่ควรอยู่หลังก็ให้อยู่หลังอย่างจริงจังกว่านี้ หรือตั้งชื่อเรื่องให้เข้ากับเรื่องมากกว่านี้  คนอ่านอาจจะเข้าถึงเรื่องและได้รับอรรถรสมากขึ้น 

         ข้อดีที่ไม่เหมือนใครของชาย บำรุงวงศ์ ก็คือการเล่าแบบไม่หมด  เล่าเฉพาะจุดและทิ้งค้างให้ผู้อ่านคิดเอง  เช่นว่า พ่อตายตอนไหน ตายเพราะอะไร เขาก็ทิ้งไปเพราะไม่ใช่ประเด็น  แต่เรารู้ได้ว่าเขารักพ่อและอาลัยอาวรณ์ไม่น้อยต่อความเป็นไปชีวิตที่ทิ้งกันไว้ค้าง ๆคา ๆ ความเข้าใจชีวิตน้อย ๆแบบไม่หมดแต่ต้องคิดเองนี้จึงเป็นเสน่ห์อย่างยิ่งของหนังสือเล่มนี้   และเป็นสัจธรรมที่ปฏิเสธไม่ได้ของโลกปัจจุบันที่ว่ามนุษย์เราช่างรู้อะไรเกี่ยวกับชีวิตน้อยเหลือเกิน

 

                                ----------------------

การไปสู่ / ชาย บำรุงวงศ์ / สำนักพิมพ์บ้านเขาน้อย/๑๖ หน้ายก/๑๔๕ หน้า 

 

 

 


  

 

       

  นักแสดงสดภายใต้ผู้กำกับนามสาคร พูลสุข


 

                สาคร พูลสุข  ได้ชื่อว่า  เป็นนักเขียนเรื่องสั้นและนวนิยายที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นมากที่สุดคนหนึ่ง  เขามีผลงานต่อเนื่องเป็นลำดับ  และนับได้ว่าเป็นนักเขียนมือรางวัลที่มีรางวัลประกันคุณภาพเป็นจำนวนมาก เขาย้ายจากถิ่นเกิดภาคใต้(นครศรีธรรมราช)ไปอยู่ภาคเหนือ(จังหวัดแม่ฮ่องสอนและน่าน)  ผลงานของเขาจึงสะท้อนลักษณะพื้นถิ่นจากภูมิลำเนาเดิมและภูมิลำเนาใหม่ผสานกันไป  สุดแล้วแต่เรื่อง  เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลและพาเขาปรากฏตัวตนบนถนนหนังสือคือ ล่าม ได้รับรางวัลชมเชยสุภาว์ เทวกุลฯ เขียนถึงเรื่องราวคนเมืองเหนือ และจากนั้นจึงย้อนกลับมาเขียนเรื่องบ้านเกิด จนได้รับรางวัลอีกหลายเรื่อง อาทิ นวนิยาย” รังเลือด” รางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด  นวนิยาย “บาดแผลของสายพิณ”  เข้ารอบเจ็ดเล่มสุดท้ายรางวัลซีไรต์  วรรณกรรมเยาวชน “โรงเรียนริมทะเล”  รางวัลแว่นแก้วและรักลูกอะวอร์ด นวนิยาย “ แผ่นดินของใคร” รางวัลสุภัทร สวัสดิรักษ์  รวมเรื่องสั้น “คนในเงา” รางวัลนานมีบุ๊คอะวอร์ด และรวมเรื่องสั้น “เสือกินคน” เข้ารอบสุดท้ายเจ็ดเล่มรางวัลซีไรต์ เป็นต้น

                ผลงานรวมเรื่องสั้น “นักแสดงสด” เป็นผลงานล่าสุดของเขา  ซึ่งยังคงสะท้อนตัวตนและความเป็นคนใต้ไว้อย่างเต็มภาคภูมิ  แต่ในขณะเดียวกันการเดินอยู่บนถนนวรรณศิลป์อย่างยาวนานทำให้เขาเริ่มเชี่ยวชาญและค้นพบมุมมองใหม่ ๆของโลกวรรณศิลป์เพิ่มขึ้น  รวมเรื่องสั้นเล่มนี้ประกอบด้วยเรื่องสั้นทั้งหมด ๙ เรื่อง  สะท้อนความเป็นไปของมนุษย์ในแง่มุมต่าง ๆ ให้ภาพการดำเนินชีวิตของผู้คนในหลากหลายอาชีพ  มีตั้งแต่ศิลปินโนห์รา  คนล้างฟิลม์ในห้องมืด ผู้หญิงกลางคืน คนขับเรือ ม้าทรงในเทศกาลบูชาเทพเจ้า  นักเขียน นักการเมือง เป็นต้น   โดยทั้งหมดผู้เขียนลงเน้นที่พฤติกรรมของความเป็นมนุษย์ในสถานการณ์ต่าง ๆ                                                             

                ด้วยเหตุที่สาครเขียนถึงผู้คนในหลากหลายอาชีพ  เขาต้องแสดงทั้งสิ่งที่เป็นภาพรูปธรรมทางกายภาพ และภาพนามธรรมอันเป็นลักษณะภายใน  ในทางกายภาพนั้น อาจกล่าวได้ว่า ส่วนหนึ่งผู้เขียนมีความสามารถในการให้รายละเอียดทำให้เราได้มองเห็นลักษณะรูปธรรมที่ชัดเจน เช่นว่า  บรรยายภาพความเป็นนักแสดงอันน่าเกรงขามของนายโรงโนห์ราใน เฆี่ยนพราย ว่า

                “นายโรงอายุมากแล้วแต่ยังแข็งแรงและเต็มไปด้วยพลังในการแสดง ยามเมื่อออกมาหน้าโรงดูขรึมขลังราวกับเทวดาเดินดิน สีหน้าเรียบเฉย แต่ทว่าเชิดหยิ่ง ริมฝีปากปิดสนิท สายตาคมกริบ ไม่ว่าจะซัดท่าร่ายรำท่าใดก็ตรึงผู้ชมให้อยู่กับที่ ยิ่งเมื่อเอ่ยปากขับบทมโนราห์ออกมา เสียงกลมเกลี้ยง มีกังวานของคนเจ้าเล่ห์นิด ออดอ้อนหน่อย แต่เมื่อตั้งใจฟังให้ดี กลับมีน้ำเสียงของคนกันเองเจืออยู่ด้วย ด้วยเหตุนี้เอง นายโรงจึงอยู่ยงคงกระพันบนเส้นทางการแสดงมโนห์รา  แค่เอ่ยชื่อ บางคนถึงกับขนลุกเกรียว”(หน้า ๔)

                หรือบรรยายถึงบุคลิกภาพของผู้หญิงชื่อสร้อย ใน เธอมีอ้อมกอดไว้ดับความใคร่ ว่า

                “วันที่เขาพบหล่อนนั้น หล่อนนั่งนิ่งเหมือนรูปจำหลักแห่งผาหิน ภายใต้แสงไฟของร้านค้าสวัสดิการในแมนชั่นที่เขาพักอยู่”(หน้า ๑๐๓) หรือ “ นิดเดียวจริง ๆกับรอยยิ้มที่เผยอตรงมุมปาก  ต่อจากนั้นก็นั่งตัวตรง มองตรง ด้วยท่าทางที่ไม่สะทกสะท้าน..”(หน้า ๑๐๔)

                หรือบรรยายสิ่งที่เป็นนามธรรมแต่ก็ทำให้เข้าใจหรือเห็นภาพของคนผู้นั้นเป็นอย่างดี อาทิ บรรยาย ป.เศก ประจง  คนที่ชอบวนเวียนคิดอยู่กับตัวเองว่า

                “ป เศก ประจง หลงเข้าไปในความครุ่นคำนึงของตัวเอง  ในสมองของเขาเหมือนมีวงกลมสีเทาซ้อนกันหลาย ๆวง  ซ้อนทับซับซ้อนกันจนกลายเป็นเส้นหนา ๆเขามักจมจ่อมอยู่กับบ้านหลังเลิกงาน  จนเชี่ยวต้องลากเขาไปที่ไหนสักแห่งเพื่อทำลายเส้นหนา ๆสีเทาในห้วงความคิดของเขาออกไป”(หน้า ๓๓)

                แต่อย่างไรก็ดี  สิ่งที่เด่นกว่าการแสดงลักษณะรูปธรรมทางภายภาพของ สาคร พูลสุข ก็คือการแสดงลักษณะทางความรู้สึกนึกคิดหรือทางจิตภาพไว้อย่างเข้มข้น  ดังนั้น  ตัวละครของเขาจึงมีคุณสมบัติที่แปลกแตกต่างเป็นสำคัญ  จนเห็นได้ชัดว่า  ผู้เขียน “จงใจ” จัดการให้เกิดลักษณะตัวละครดังกล่าวขึ้น  โดยหวังผลในแง่ของการประกอบสร้างทางวรรณศิลป์อย่างฉกาจฉกรรจ์   ดังนั้น  ตัวละครของเขาจึงปรากฏเป็นภาพมนุษย์สุดโต่งที่ถูกจัดวางในสถานการณ์ต่าง ๆอันชวนให้ครุ่นคิด  ใน เฆี่ยนพราย  ผู้ชายพ่ายแพ้ต่อกิเลสทางเพศแต่มีความยืนมั่นในกตัญญุตาศรัทธาอย่างแป๊ะลิขิตจึงต้องหลีกลี้ออกจากวงการมโนห์รา  ผู้หญิงอย่างบุปผาที่พ่ายแพ้ต่อกิเลสตัวเดียวกันจึงต้องสูญเสียชิน  ผู้ชายที่อวดดีแต่มีเงินไป(อย่างไม่น่าเสียดาย)  หรือ ผู้ชายสามคนที่เป็นนักแสดงสด  ก็ล้วนแต่มีพฤติกรรมอันสุดโต่งต่าง ๆกันไป  มีทั้งศิลปินนักแสดงสดหลอน ๆอย่าง ป เศก ประจง (นักแสดงสด)  มีทั้งเชี่ยว ชาญสกุล คนล้างฟิลม์ที่ต้องจบชีวิตลงเพราะหลงเสน่ห์เสียงของจงโคร่ง  (จงโคร่ง)  หรือ บูรณ์ บูรพา นักเขียนทำงานความคิดและมุ่งเก็บประสบการณ์รายรอบตัว (เธอมีอ้อมกอดไว้ดับความใคร่ และ เวตาลอีกตัวบนถนนอโศก)  รวมทั้งสร้อย  ผู้หญิงมั่นใจในตัวเองที่แสนประหลาด(เธอมีอ้อมกอดไว้ดับความใคร่)  กับเหมยและไหม  ผู้หญิงที่ครอบครองความแค้นกับความอยากลิ้มลองไว้ด้วยกัน (หญิงสาวในบทกวี) เป็นต้น

                ตัวละครของสาคร พูลสุข  น่าสนใจ  ตัวเอกของเรื่องมักมีพลังและความโดดเด่นปรากฏชัด  มีเสน่ห์มากพอในระดับที่ทำให้นักอ่านเกิดความติดใจ  ไม่เพียงแต่บุคลิกภาพ  หากแต่เพราะ “ความรู้สึกนึกคิด” ของเขาเหล่านั้น  มีความเป็นมนุษย์  อย่างที่มนุษย์พึงมีพึงเป็น  ไม่ว่าจะเป็นความมีพลังศิลปิน ความกตัญญู  เช่น แป๊ะลิขิต  ในเฆี่ยนพราย  หรือความเป็นอิสระของบุปผา ใน นักแสดงสด และสร้อย ใน เธอมีอ้อมกอดไว้ดับความใคร่  หรือความศรัทธาอดทนของก้าน คนขับเรือที่กลายเป็นม้าทรงในเทศกาล  ใน ครอบครัวสมมุติ  อาการดิ่งลึกลงไปในความเป็นจงโคร่งแบบบ้าคลั่งของเชี่ยว ชาญสกุล(ใน จงโคร่ง) จนทำให้เขาถึงแก่ชีวิต  หรือแม้กระทั่งความมั่นคงยืนยันการแก้แค้นให้พ่อ ของเหมยกับไหม ใน หญิงสาวในบทกวี  ตัวละครที่มีคุณสมบัติความเป็นมนุษย์ชัดเจนเหล่านี้เร้าใจ  และทำให้นักอ่านคล้อยตามและมีอารมณ์ร่วมด้วย 

                ความโดดเด่นของลักษณะตัวละครเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะองค์ประกอบอีกสองส่วนคือ การใช้ภาษาสนทนาของพวกเขา และฉากบรรยากาศที่แวดล้อม    พวกเขาจะสื่อความรู้สึกนึกคิดออกมาด้วยภาษาสนทนา  ในขณะที่ผู้เขียนก็สร้างบรรยากาศแวดล้อมให้สอดคล้องสัมพันธ์กัน    เรียกว่าได้ยินเสียงของตัวละครคุยกัน  ได้ยินเสียงการเคลื่อนไหว  เสียงฝีเท้า  หรือแม้กระทั่งเสียงเอนกายลงนอน  และพร้อมกันนั้น  ก็รับรู้ว่า มีแสงสีเสียงใดแวดล้อมพวกเขา  คล้ายกับว่า นักอ่านกำลังดูละครหรือภาพยนตร์  และด้วยเหตุที่ผู้เขียนร้อยเรื่องหลายเรื่องต่อกันด้วยตัวละครตัวเด่น  และสร้างฉากบรรยากาศที่กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกันแทบทุกเรื่อง  ทำให้เรารู้สึกเหมือนว่า   กำลังดูการแสดงเรื่องเดียวกันคือ “นักแสดงสด” อยู่จริง ๆ  รู้สึกเหมือนว่าทุกเรื่องมีความสัมพันธ์กัน  เช่นเดียวกับที่ชีวิตของมนุษย์ในความเป็นจริงสัมพันธ์กัน  คือ ได้พบเจอกันบ้างเป็นบางคราว  จากกันไปโดยไม่ลาบ้าง  หรือไม่รู้จักกันเลยก็มี

                อย่างไรก็ดี  สิ่งหนึ่งซึ่งสัมผัสได้ในรวมเรื่องสั้นชุดนี้คือ ความไม่เป็นธรรมชาติของผู้เขียนในการเขียนเรื่อง  สัมผัสได้ถึงความตั้งใจประกอบสร้างได้อย่างชัดเจนจนเห็นเป็นการประกอบสร้างอย่างจงใจ  ทุกตัวละครในทุกอาชีพมีคำคมได้เสมอกัน  อาทิ  สำนวนของนางรำ ในเฆี่ยนพราย ไร้ความเป็นพื้นถิ่นโดยสิ้นเชิง  “ฉันขอให้คุณอย่าเสียใจเพราะฉันไม่ได้มีแค่คุณ” หรือ “...แค่นี้ถ้าคุณทำได้  ฉันจะยอมเป็นของคุณตลอดไปเลย เป็นตลอดไปเลยโดยไม่ต้องพูดคำว่ารักกันสักคำ”(หน้า ๑๑)หรือบทสนทนาระหว่างบุปผากับ ป.เศก ประจง  หลังร่วมรัก

               “ถ้าเป็นอย่างนั้น คุณน่าจะเข็ดผู้ชายไปอีกนาน”

               “ใครว่า  ฉันอยากให้ฝนตกเป็นผู้ชายด้วยซ้ำไป  และคุณก็เป็นผู้ชายฝนเม็ดแรกสำหรับฉัน ซึ่งไม่เลวเลย...”

               (หน้า ๖๗)

               หรือ บทสนทนาของ บูรณ์ บูรพา กับสร้อย

              “คุณจะไปไหน”

              “ไปตามแรงสายลมประหลาดที่คุณเขียนไว้ในหนังสือของคุณไง”

              (หน้า ๑๑๙) 

                แม้กระทั่งของนายร้อยโท(ทำไมยังเป็นร้อยโทอยู่ตลอดก็ไม่ทราบ หลังผ่านไป ๒๐ ปี)กับเหมย  ซึ่งเป็นหญิงขายตัว  ทั้งหมดเป็นบทสนทนาของผู้รู้คิด คมกริบ และเชือดเฉือนกัน ทันกัน และเป็นเหตุเป็นผลอย่างยิ่ง และอยู่ในประโยคของภาษาเขียน

            “ผมคิดว่าที่นี่ดูไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย  คุณสองคนควรจะไปอยู่ที่อื่น ทำอย่างอื่น ผมควรจะตกนรกไปเสียตั้งนานแล้ว จริง ๆนะ ผมคิดว่าที่นี่ดูไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย”

            “ถ้าที่นี่ดูไม่มีเหตุผล  แล้วที่ที่คุณจากมา สนามรบน่ะ มันมีเหตุผลหรือ และการที่เราสองคนพี่น้องมาอยู่ที่นี่ทำอย่างที่คุณเห็น เป็นเรื่องที่มีเหตุผลที่สุดที่เราทำมา คุณอาจจะยอมตายในสนามรบได้ เราก็เหมือนกัน เรายอมตายในบ้านของเรา แน่นอนคนอื่นเรียกว่าซ่องโสเภณี แต่เราเรียกว่าบ้านที่ที่คนทำมาหากินและอยู่ได้อย่างปลอดภัยควรจะถูกเรียกว่าบ้าน...”

(หน้า ๑๗๖)

            หรือแม้กระทั่งความคิดของตัวละครเอกทุกตัว ปัญญาชน ชาวบ้าน  ทุกตัวล้วนรู้คิด ชัดเจนและเก็บงำ   ข้อสำคัญเรารู้สึกได้ว่าผู้ชายทุกคนเป็นคนเดียวกัน  และผู้หญิงทุกคนเป็นคนเดียวกัน สัมผัสได้ว่ามาจากแหล่งคิดเดียวกัน พลังเดียวกันเต็มบริบูรณ์นั่นคือ จากผู้เขียน  ถ้าหากผู้เขียนคิดว่า ตัวละครทุกตัวคิด และพูดได้ในระดับเดียวกันขนาดนี้ เรื่องนี้คงต้องเป็นนวนิยาย และบอกที่มา หรือเหตุผลสำหรับพวกเขาสักหน่อย  จึงจะเชื่อว่าพวกเขาทุกคนเป็นเช่นนั้นจริง

                ด้วยเหตุที่เน้นความคิดในการประกอบสร้างนี่เอง  เรื่องหลัง ๆสองสามเรื่องจึงเน้นความคิด  คลับคล้ายคลับคลาว่ามาจากเรื่องเล่าในอินเตอร์เน็ตด้วยซ้ำไป((วิญญาณที่สาบสูญ) และบางเรื่องก็มาจากภาพคิด  แทบไม่ปรากฏโครงเรื่อง (เวตาลบนถนนอโศก) เป็นต้น

                “นักแสดงสด” ของสาคร พูลสุข  คือละครทางตัวอักษรชั้นดีที่มีตัวละครยอดเยี่ยม  มีบทยอดยิ่ง กับเหนืออื่นใดมีผู้กำกับที่ปรากฏตัวโดดเด่นชื่อว่า สาคร พูลสุข  โดดเด่นเหนือตัวละครจนน่าเสียดาย





 


Visitors: 82,078