ระดับมัธยมศึกษา

 บทวิจารณ์

- ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ:เมื่อคนตาบอดมองเห็นในสิ่งที่คนตาดีมอง(ไม่)เห็น  
   โดย :: เพชรอมร กันหารินทร์
 
- ภาพแทนชนชั้นกลาง ภายใต้ การต่อสู้ 2 เสื้อสี 2 ชนชั้น ใน “พรหมลิขิต”  
   โดย :: ธรรมจุติ เที่ยงธรรม
 
- หลงทางกลางปุยเมฆ: สักวันเมฆฝนก็จะจางหายไป 
  โดย :: ภัทราพร ดอกจันทร์
 
- ระหว่างทางกลับบ้าน:  การเดินทางกลับบ้านของกวี 
  โดย :: ญาณิศศา แย้มโสภี
 
- ภาพสะท้อนอำนาจในสิงโตนอกคอก 
  โดย :: โชติกา  แอนโก
 
- โอ้แม่มหากวีศรีศตวรรษที่ 21
  โดย :: กัญญภา ตู้บรรเทิง
 
- สิงโตนอกคอก 
  โดย :: ฑิตฐิตกานต์ หอมสุคนธ์ 

- ในกับดักและกลางวงล้อม : ทุกคนต่างมีวงล้อม  
  โดย :: วริศรา  ศิริโรจนนานนท์   

 

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

    

 

ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ :

เมื่อคนตาบอดมองเห็นในสิ่งที่คนตาดีมอง(ไม่)เห็น

 

 

เพชรอมร กันหารินทร์

 

 

            “ในขณะที่คนในสังคมปัจจุบัน มีดวงตามองเห็นเป็นปกติ แต่ไม่น่าเชื่อว่าคนเหล่านั้น ทำตัวราวกับคนไร้ดวงตาอันนำไปสู่การไร้ดวงใจในที่สุด...”

จากส่วนหนึ่งของคำนิยมโดยไพลิน รุ้งรัตน์ (ชมัยภร บางคมบาง) สะท้อนให้ผู้อ่านได้หันมาตระหนักถึงปัญหาการละเลยหรือมองข้ามสิ่งต่าง ๆ รอบตัวในสังคมของผู้คนในปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่ตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคมนี้เช่นกัน กระทั่งก่อให้เกิด “การไร้ดวงใจ” ปราศจากความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นโดยทั่วไปจนกลายเป็นภาพชินตาหรือแทบจะมองไม่เห็นว่าเป็นปัญหาไปเสียแล้ว

            ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ กวีนิพนธ์ ‘จากฉัน...ผู้ไร้ดวงตา’ คือผลงานบทกวีรวมเล่มลำดับที่ 2 ของรินศรัทธา กาญจนวตี (หทัยรัตน์ จตุรวัฒนา) ผู้พิการทางสายตาที่ตั้งใจนำเสนอ “โลก” ในมุมมองของเธอ เพื่อให้ผู้อ่านได้สัมผัสสรรพสิ่งใน “โลก” อย่างกระจ่างชัดด้วยหัวใจของตัวผู้อ่านเอง 

           บทกวีจำนวน 71 สำนวนภายในเล่มถูกแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ตอน ได้แก่ โลกอีกดวงของผู้ไร้ดวงตา , ประจักษ์ค่าชีวิต(แม้มิดแสง) , รู้สึก ความรัก ความเปลี่ยนแปลง และ ปัญญากระจ่างแจ้งด้วยความคิด สังเกตได้ว่าชื่อของแต่ละตอนนั้นถูกตั้งขึ้นให้มีการรับ-ส่งสัมผัสสอดคล้องกันตามรูปแบบฉันทลักษณ์ของกลอนแปด อีกทั้งยังเป็นการเล่าถึงลำดับเรื่องให้ผู้อ่านได้รับทราบถึงเนื้อหาที่จะได้อ่านต่อไปอย่างคร่าว ๆ 

          อาจกล่าวได้ว่าผู้เขียนทำหน้าที่เสมือนมัคคุเทศก์นำผู้อ่านเยี่ยมชม“โลกภายใน”ของผู้เขียนเองผ่านการพินิจเรื่องราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เดินทางเข้ามาในชีวิตก่อนจะชักชวนให้มองออกไปสู่ “โลกภายนอก” อย่างเข้าใจลึกซึ้งทุกแง่มุม โดยสะท้อนทั้งภาพวิถีชีวิต ความเป็นไปและการเปลี่ยนแปลง ก่อนจะปิดท้ายด้วยการถอดบทเรียนจากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาทั้งหมดพร้อมส่งเสริมให้ผู้อ่านได้มองเห็นความงดงามซึ่งซุกซ่อนอยู่ในทุกหนแห่งรอบตัว

“โลกของฉันมืดยิ่งกว่าหลับตาสนิท           แต่ดวงจิตฉันสว่างกระจ่างอยู่

และทุกวันฉันใช้หัวใจดู                           ยังคงสู้และพร้อมไม่ยอมแพ้

เฝ้ามองโลกเงียบเงียบอย่างเรียบง่าย       เห็นนิยามความหมายหลากหลายแง่

ในคืนวันผันเวียนที่เปลี่ยนแปร                  เห็นกระแสชีวิตอนิจจัง” (หน้า 8)

           ความตอนหนึ่งจากบทกวี “จากฉัน ผู้ไร้ดวงตา” ที่ได้ยกมาข้างต้นนั้น เป็นส่วนหนึ่งของบทนำ ซึ่งผู้เขียนถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของตนเองเอาไว้ตั้งแต่ช่วงวัยเด็กที่ยังคงมองเห็น “โลกภายนอก” ด้วยดวงตาเพียงข้างเดียว สามารถใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไปได้ตามปกติ จนกระทั่งถึงวันหนึ่ง เมื่อเธอตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าตนเองกลายเป็นคนตาบอดสนิท แต่ถึงแม้โลกภายนอกของผู้เขียนจะดับมืดลง ทว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นกลับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอได้มีโอกาสออกเดินทางสำรวจโลกภายในเป็นครั้งแรก

            เนื้อหาจากบทนำที่หยิบยกมาข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่าการ “แง้มประตู” ให้ผู้อ่าน (ซึ่งส่วนมากเป็นคนตาดี) ได้รู้จักโลกภายในและโลกภายนอกตามนิยามของผู้เขียน (ซึ่งเป็นคนตาบอดสนิท) ส่งผลให้ผู้อ่านเกิดความต้องการติดตามต่อว่า“นิยามความหมายหลากหลายแง่”ที่เธอมองเห็นมีอะไรบ้างและแตกต่างจากสิ่งที่คนตาดีอย่างเรา ๆ พบเห็นในชีวิตประจำวันอย่างไร

 

โลกอีกดวงของผู้ไร้ดวงตา: “เมื่อตาหลับ กลับสว่าง กว้างและไกล”

         ชีวิตของผู้เขียนในฐานะของการเป็นผู้พิการทางสายตาต้องพบเจอกับอุปสรรค ความผิดพลาด และการขาดพร่องสิ่งต่าง ๆ มากมายไม่ต่างจากคนทั่วไป แต่เพราะเธอเลือกที่จะใช้หัวใจ “มอง” สิ่งเหล่านี้ในอีกด้านหนึ่งอย่างเข้าใจ ทำให้เธอ “เห็น” ความเปี่ยมล้นด้วยคุณค่าและความรู้สึกในทุกสิ่ง

            ดังตัวอย่างจากบทกวีชื่อ “หนึ่งชีวิต” ที่เธอนำเสนอเรื่องราวหลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 แต่กลับพบว่าการใช้ชีวิตในโลกกว้างมิได้ง่ายอย่างที่เคยคิดวางแผนเอาไว้

“เมื่อออกมาผจญภัยในโลกกว้าง            บนเส้นทางชีวิตคิดว่าง่าย

ดื่มยาพิษน้ำตาลเคลือบจนเกือบตาย       รู้ความหมายของชีวันตรงนั้นเอง

มีชีวิตเมื่อประมาทก็พลาดพลั้ง               ต้องระวังไว้ว่าอย่าอวดเก่ง

ถึงวันนี้ยังหวั่นหวาดยังขลาดเกรง           ฝันวังเวงปลอบหวังประทังตน...” (หน้า 25)

         ผู้เขียนใช้อุปลักษณ์ (Metaphor) เปรียบความประมาทของตนเองว่าเป็น “ยาพิษน้ำตาลเคลือบ” ถึงแม้จะทำให้เธอมีความมั่นใจในตอนแรก แต่สุดท้ายก็ทำให้เธอมิทันได้ตั้งรับกับการใช้ชีวิตที่ไม่ตรงกับแบบแผน ผู้เขียนจึงได้รับคุณค่าเป็นบทเรียนอีกหนึ่งบท ก็คือความอดทนนั่นเอง

          นอกจากนี้แล้ว การได้รับประสบการณ์จากการอ่านบทกวีของผู้อื่น ยังมีส่วนช่วยหล่อหลอมให้ผู้เขียนเข้าใจตนเองและโลกภายนอกมากขึ้น ตัวอย่างเช่น 

 “อ่านรู้สึกในตัวตนของคนเขียน      อ่านเพื่อเรียนรู้ว่าฉันก็หวั่นไหว...” (หน้า 27)

หรือ “กระดาษมีโลกกว้างอยู่ข้างใน     เสียงส่องนำฉันไป...แม้ไร้ตา” (หน้า 19) 

         ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด “ปณิธาน “เขียนกวีชั่วชีวา”  ในนามของดอกหญ้าประชาชน” (หน้า 37) ซึ่งเธอได้ทำตามปณิธานนี้ไว้ในการเขียนบทกวีตอนต่อไป

 

ประจักษ์ค่าชีวิต (แม้มิดแสง): “และทั้งหมดนี้...คือชีวิต”

          บทกวีหลายบทในตอนนี้ ผู้เขียนใช้กลวิธีการเล่าเรื่องโดยสวมบทบาทเป็นสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในสังคม และ/หรือ ใช้สิ่งมีชีวิตในสังคมเป็นตัวละครดำเนินเรื่องราว พร้อมสะท้อนภาพการดำเนินชีวิตเพื่อเอาตัวรอดผ่านพ้นไปวันต่อวัน หรือความรู้สึกเหนื่อยยากจากสิ่งที่ต้องเผชิญเมื่ออยู่ในสังคม ทั้งนี้ ผู้เขียนใช้น้ำเสียงสื่อสารความรู้สึกเห็นอกเห็นใจมานำเสนอเรื่องราวของทุกตัวละคร เช่น ผู้ใช้แรงงาน จากบทกวี “คือเรา คนใช้แรง”, เสือ จากบทกวี “เสือสอนคน” หรือแม้กระทั่งสุนัขจรจัด จากบทกวี “จากใจหมาจร”

“คิดถึงเรื่องหนหลังครั้งเก่าก่อน         ทั้งที่นอนข้าวปลาเขาหาให้

เขาเลี้ยงเรารักเรามิเท่าไร                 เมื่อมีหมาตัวใหม่เขาไม่มอง” (หน้า 58)

            ในขณะเดียวกัน บทกวีบางบท ผู้เขียนได้แฝงนัยยะทางสังคมและการเมืองไว้อย่างน่าสนใจ โดยการพาดพิงถึงตัวบุคคลและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เช่น บทกวี “วังวน” ซึ่งนำเหตุการณ์ปัจจุบันมาเชื่อมโยงกับเนื้อหาบทกวี “เปิบข้าว” ของจิตร ภูมิศักดิ์

    “ได้ยินข่าวชาวนามาเรียกร้อง         ต่อรองราคาผลผลิต

ขอกำไรได้หักเหลือสักนิด                   แค่พอต่อชีวิตไปวันวัน

ฉันเหมือนเห็นภาพย้อนสะท้อนย้ำ       “เปิบข้าทุกคราวคำ” จดจำมั่น

ยิ่งมองเห็นความจริงยิ่งยืนยัน             “เหมือน‘จิตร’เขียนกวีนั้นในวันนี้”...” (หน้า 85)

        อีกหนึ่งกลวิธีที่ผู้เขียนใช้สะท้อนภาพและความรู้สึกสู่ผู้อ่านได้อย่างแจ่มชัดก็คือการใช้โวหารเปรียบเทียบและบุคลาธิษฐาน อ้างอิงจากที่ นิตยา แก้วคัลณา เคยแสดงความเห็นไว้ว่า ลักษณะการเปรียบเทียบเป็นกลวิธีการประพันธ์ที่สร้างภาพได้ชัดเจน สร้างพลังกระทบอารมณ์ ความรู้สึก และเป็นการสร้างสรรค์สุนทรียภาพทางภาษา สื่อความหมายได้กระทบใจมากกว่าการพรรณนาธรรมดา

        ยกตัวอย่างจากบทสุดท้ายของบทกวี “ดาวและหวัง” ที่แสดงพลังของกลวิธีการเปรียบเทียบนี้

“เมื่อดาวอีกดวงได้ร่วงดับ               ดาวอีกนับล้านดาวพราวเวหน

เมื่อนั้นแหละศรัทธาประชาชน         จักเข้มข้นจรัสจ้า...ยิ่งกว่าดาว” (หน้า 65)

 

รู้สึก ความรัก ความเปลี่ยนแปลง: “ความรู้สึกดื่มด่ำยังจำได้”

         ผู้เขียนสะท้อนเรื่องราวของตนเองในฐานะหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งมีความรัก การพบ การพลัดพราก อย่างที่เธอเขียนไว้ในบทนำว่า “เห็นกระแสชีวิตอนิจจัง”

            ความโดดเด่นของตอนนี้ คือการลำดับเรื่องราวที่ทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกร่วมไปกับผู้เขียนด้วย เช่น บทกวี “ถ้า...” “ความต่างระหว่างเรา” และ “เข้าใจ” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกัน เมื่อนำมารวมกันแล้วผู้อ่านจึงได้เห็นภาพจากการเปรียบเทียบที่ชัดเจนอย่างยิ่ง หรือช่วงท้ายตอน(ตั้งแต่บทกวี “กาลครั้งหนึ่ง ในวันลอยกระทง”) ซึ่งบทกวีช่วงนี้ใช้ข้อความสื่อสารเป็นตัวกระตุ้นความรู้สึกของผู้อ่าน เมื่อรวมกันจึงเกิดความรู้สึกสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างจากบทกวี “หนึ่งนาทีสุดท้าย”

“จะหายใจแต่ละครั้งยังแสนยาก  “เธอเหนื่อยมาก เหนื่อยมานัก...พักเถิดหนา

นี่ดอกไม้ไว้กราบนะ พระจุฬา        โน่นสวรรค์เบื้องหน้า...หลับตานะ” ”(หน้า 123)

 

ปัญญากระจ่างแจ้งด้วยความคิด: “เราเริ่มเรียนอีกครั้งหลังเรียนจบ”    

“หนังสือชีวิตเจ้าเจ้าต้องเขียน      จากบทเรียนทั้งหมดเป็นบทใหญ่

สิ่งเดียวที่ครูย้ำจงจำไว้              “เก่งอย่างไร โลกไม่เอา...ถ้าเจ้าเลว””(หน้า 143)

        ตอนหนึ่งจากบทกวี “จากครูสู่ศิษย์” สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของผู้เขียนที่ให้ความสำคัญกับคุณธรรมในการใช้ชีวิต และการปรับตนในสังคมมากกว่าความฉลาดแต่ความรู้ในตำราเพียงอย่างเดียว 

        ประสบการณ์ทั้งหมดของผู้เขียนถูกกลั่นกรองเป็นข้อคิดในการใช้ชีวิต ผสานกับการให้กำลังใจแก่ผู้อ่าน จึงไม่แปลกใจเลยที่บทกวีในตอนนี้จะทำหน้าที่ปิดเล่มได้อย่างงดงามและสมบูรณ์

        โดยสรุปแล้ว หนังสือรวมบทกวี “ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ”เล่มนี้ ถือว่าเป็นบทกวีบันทึกประสบการณ์ชีวิตของผู้พิการทางสายตา ที่มีความโดดเด่นในด้านการลำดับเนื้อหาที่ทำให้สามารถอ่านได้อย่างไหลลื่น มีการใช้เว้นวรรค หรือเครื่องหมาย “...” เพื่อผ่อนจังหวะและเน้นอารมณ์ แต่น่าเสียดายที่ผู้เขียนนำ “...” ทิ้งท้ายไว้ก่อนจะจบบทกวีจำนวนมาก จนทำให้เกิดความรู้สึกไม่มีพลังเพียงพออย่างที่เนื้อหาในตัวบทกวีปูทางมา

        แต่สิ่งที่ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าเป็นจุดเด่นที่สุดของผลงานเล่มนี้ คือ มีการใช้ภาพพจน์โวหารเปรียบเทียบเพื่อสะท้อนภาพได้หลากหลายเรื่องราว หลายอารมณ์  สะท้อนแม้กระทั่งภาพที่คนตาดีมอง(ไม่)เห็น

หรือบางที ก็ไม่คิดจะมองเสียด้วยซ้ำไป

 

บรรณานุกรม

นิตยา แก้วคัลณา. (2555). บทพรรณนาในกวีนิพนธ์ไทย: ลีลา ความคิด และการสืบสรรค์. 

กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

 บมจ. ซีพี ออลล์.สำนักกิจการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม.  (ม.ป.ป.).  ผลการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัล

เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 16 ประจำปี 2562.  สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2564,จาก https://www.csrcpall.com/wp-content/uploads/2019/08/7book16pc.pdf

 รินศรัทธา กาญจนวตี (นามปากกา).  (2562).  ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ.  กรุงเทพฯ : ออน อาร์ต.

 

 

 

 ~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

บทวิจารณ์ : ภาพแทนชนชั้นกลาง ภายใต้ การต่อสู้

 2 เสื้อสี 2 ชนชั้น ใน “พรหมลิขิต”         

 

ธรรมจุติ เที่ยงธรรม

 

                       ในช่วงปี 2553-2562 คือช่วงปีที่เขียนนิยายชุดนี้ทั้ง 2 เล่มขึ้นคือ “บุพเพสันนิวาส” และ “พรหมลิขิต” โดยผู้เขียนคือ รอมแพง ซึ่งตรงกับขณะที่สังคมไทยกำลังอยู่ภายใต้สงครามกลางเมืองที่พึ่งผ่านการสังหารหมู่ใจกลางกรุงมาเองระหว่างคนเมืองกรุงกับคนต่างจังหวัด และ เกิดวาทกรรมในการต่อสู้ขึ้นมากมายทั้ง “คนไม่เท่ากัน” , “คนต่างจังหวัดยังโง่อยู่ยังเลือกตั้งไม่ได้”หรือ“ไพร่-อำมาตย์”ซึ่งในสภาพสังคมแบบนี้ภายใต้การต่อสู้ทางความคิดที่แตกแยก จึงเกิดสื่อที่เกิดมาเพื่อตอบสนองและรับใช้ความใคร่ทางศีลธรรมของแต่ละอุดมการณ์ขึ้นมาเช่นคนเมืองกรุงก็เสพสื่อที่ตอกย้ำสถานะของตนเองว่าอยู่เหนือกว่าคนบ้านนอกในทุกๆ ทาง จนไปถึงขั้นกีดกันคนบ้านนอกออกจากสังคมไป หรือ คนชนบทก็มีสื่อที่เฝ้าฝันถึงการเลื่อนสถานะของตนเองไปทัดเทียมกับเหล่า คนเมืองกรุง และ มีชีวิตที่ดีขึ้นมาได้ไม่ต้องตรากตรำทำงานหลังขดหลังแข็งอีกต่อไป

                       โดยนิยาย “พรหมลิขิต” ที่เป็นหนังสือภาคต่อของบุพเพสันนิวาสก็ถือเป็นหนึ่งในผลผลิตของการตอบสนองอุดมการณ์เหล่านั้นด้วย โดยหนังสือเล่มนี้เป็นแนว Romantic-Comedy ที่มีแก่นของเรื่องอยู่ที่การย้อนกลับมาในอดีตช่วงยุคพระเจ้าท้ายสระของตัวเอกนั้นคือพุดตาน หญิงสาวผู้ด้านชาทางจิตใจจากการสูญเสียพ่อแม่ไปในวัยเยาว์จนถูกคุณป้าต้องจำใจรับไปเลี้ยงซึ่งในการย้อนกลับมามันก็มีเป้าประสงค์อยู่ที่พุดตานนั้นต้องย้อนกลับมาเพื่อสะสางอะไรบางอย่าง ที่ค้างคาไว้ด้วยบุญกรรมที่ทำไปในอดีตชาติของตนเองดังที่ปกหลังของหนังสือเขียนไว้ว่า

“เมื่อพรหมลิขิตนำพาให้คนหนึ่งที่แล้งไร้ไปเสียทุกอย่าง ได้มาพบคนหนึ่งที่สมบูรณ์พร้อม ฟ้าดินพลิกผันกงกรรมจึงหมุนเวียน แม้แต่ตัวพุดตานเองยังไม่เข้าใจว่า เหตุใดเธอจึงรู้สึกคุ้นเคยกับยุคสมัยนี้  ราวกับว่าทุกสิ่งเรียกร้องให้เธอกลับมาชดใช้และทวงคืน”

                 ในการเขียนบทวิจารณ์ครั้งนี้ผู้เขียนขอออกตัวก่อนว่าวิธีวิทยาที่ผู้เขียนใช้ในการเขียนบทวิจารณ์นี้ ผู้เขียนคงไม่สามารถสามารถสรุปเป็นคำทฤษฏีที่ตรงตัวได้ขนาดนั้น พอบอกได้แค่ว่าผู้เขียนกำลังศึกษางานเขียนผ่านบริบทในขณะที่นักเขียนกำลังเขียนงานชิ้นนั้นอยู่ ประเด็นหลักในบทวิจารณ์นี้เลยคือ การศึกษาความเป็นชนชั้นกลางผ่านเหล่าตัวละครของรอมแพง ภายใต้บริบทการเมืองสมัยปี 2553 - 2562

ประเด็นที่หนึ่ง : ภาพแทนของชนชั้นกลางเมืองกรุงในตัวพุดตาน

                       ถึงแม้ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้จะพยายามสร้างภาพให้ตัวละครพุดตานเองดูเหมือนเป็นตัวละครที่ “แล้งไร้ไปเสียทุกอย่าง” แต่ดูเหมือนการแล้งไร้ของพุดตานก็เป็นความแล้งไร้ในทัศนะของชนชั้นกลางในกรุงเทพเท่านั้น ความแล้งไร้นี้ไม่ได้ฉายภาพให้เห็นถึงคนต่างจังหวัด พุดตานจึงเป็นตัวละครที่เหมือนสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความใฝ่ฝันของคนชนชั้นกลางเมืองกรุงโดยเฉพาะทั้งในการสร้างตัวละครให้หัวขบถไปเรียนมาในด้านเกษตรกรรมแทนที่จะเรียนแพทย์ ทั้งที่เป็นคนฉลาด ดังที่บรรยายไว้ว่า “เพียงแต่กว่าจะได้เรียนในสิ่งที่ชอบ ก็ต้องอดทนต่อแรงกระแนะกระแหนต่อว่าของผู้เป็นป้า ที่ต้องการให้เธอเรียนเป็นแพทย์มากกว่ามาเรียนวิธีปลูกผักปลูกหญ้า ตามคำเหน็บของท่าน รวมไปถึงการยื่นคำขาดว่าจะใช้เงินมรดกของเธอเป็นค่าใช้จ่าย โดยคุณป้าจะไม่ออกค่าใช้จ่ายให้แม้แต่สลึงเดียว”1 ซึ่งสะท้อนถึงการพยายามแหกคอกของเหล่าคนชนชั้นกลางใหม่ที่พยายามไม่ไปตามกระแสนิยมของสังคม คนชนชั้นกลางเลยมีความเป็นปัจเจกชนมากขึ้นแต่ในขณะเดียวกัน ชนชั้นกลางเหล่านั้นก็พบกับความเคว้งคว้างจากความสัมพันธ์ที่ห่างจากกันระหว่างตนกับสังคมมากขึ้นเช่นเดียวกัน ดังที่พุดตานต้องเผชิญในภาวะที่สูญเสียพ่อแม่ไป จนต้องมาอยู่ท่ามกลาง “ผู้ใหญ่ที่ต่างเข้ามาเพื่อผลประโยชน์ที่พ่อแม่ของเธอได้สร้างสมมา”2จนเธอรู้สึก “เคว้งคว้างว่างเปล่าไม่มีใคร เหมือนที่ตรงนี้ไม่ใช่ที่ของเธอ”3 จนคนชนชั้นกลางเองก็ต้องพยายามขวนขวายหาการยึดโยงกับสังคมจนหันไปหาที่พึ่งทางใจอย่างศาสนาดังที่เราเห็นกันหลายๆ เหตุการณ์ในสังคม ตัวละครพุดตานก็เช่นเดียวกัน ที่ความรู้สึกของเธอต่อหลวงพ่อเรืองฤทธิ์พระที่คุ้นเคยกันเหมือนญาติของเธอ “พุดตานมองดูพระเรืองฤทธิ์จิตใจก็ตื้อตันขึ้นมาอย่างประหลาด ความรู้สึกของเธอยังคงเป็นเช่นเดียวกันกับทุกครั้งที่มองชายผ้าเหลืองพระรูปนี้”4 กล่าวโดยสรุปตัวละครพุดตานเองก็เป็นภาพแทนชนชั้นกลางใหม่ ที่ตอบสนองความต้องการของเหล่าชนชั้นกลาง และเป็นเหมือนการยึดโยงตัวตนของผู้อ่านไปกับตัวละครเอกนี้ด้วย  ซึ่งต่อมาจะต้องเผชิญกับการเข้ามาใหม่ของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เริ่มมีสิทธิ์มีเสียงพอๆ กับพวกตน นั่นคือเหล่าไพร่หรือชนชั้นล่างทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ที่เริ่มมาบุกรุกพื้นที่ของพวกเขา

ประเด็นที่สอง : “ประวัติศาสตร์”พื้นที่ทับซ้อนระหว่างความจริงกับความฝัน ของเหล่าชนชั้นกลาง

                        ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคที่นิยายย้อนยุคเฟ้อนั้น นิยายบุพเพสันนิวาสและพรหมลิขิตของรอมแพงสามารถพุ่งผงาดมาได้รับความนิยมจากคนไทยได้ หลังจาก ทวิภพ ของ ทมยันตี และสี่แผ่นดิน ของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ซึ่งเหตุผลความนิยมของนิยายเหล่านี้ก็มีจุดร่วมหนึ่งที่คล้ายกันคือโหยหา “สภาพสังคมไทยในอดีตเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความสงบสุข ท่ามกลางความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายแต่งดงาม ในขณะเดียวกันสังคมในปัจจุบันเป็นสังคมที่มุ่งพัฒนาความเจริญทางด้านวัตถุ ผู้คนรีบเร่งแก่งแย่งเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทอง สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมด้วยมลภาวะ ผู้คนหลงลืมวัฒนธรรมความเป็นชนชาติของตนเอง เป็นสังคมที่เจริญด้านวัตถุแต่ภายในจิตใจกลับไร้ความสุขที่แท้จริง”ซึ่งนอกจากนั้นประวัติศาสตร์แบบที่สังคมไทยส่วนใหญ่รับรู้ยังเป็นประวัติศาสตร์กระแสเดียว ที่มุ่งเน้นไปที่ภาพฝันของผู้เขียนประวัติศาสตร์(ที่ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นบน)เท่านั้น แต่นิยายพรหมลิขิตก็มีจุดที่แตกต่างออกไปจุดหนึ่งจากนิยายย้อนยุคเรื่องอื่นๆ คือ นิยายพรหมลิขิตยังฉายภาพให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในประวัติศาสตร์ผ่านสายตาคนนอกด้วย จากสายตาคนนอกอย่างพุดตานคนในปัจจุบันที่มองมายังคนในอดีต ซึ่งผู้เขียนก็ยืมมุมมองเหล่านั้นมาจากบันทึกของชาวต่างชาติที่มองมายังคนอยุธยาสังเกตจากเอกสารอ้างอิงที่รอมแพงใช้ทั้ง “จดหมายเหตุลาลูแบร์,ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์,มรณกรรมของก็องสตังซ์ฟอลคอน”จึงอดไม่ได้ที่ตัวพุดตานจะมีมุมมองที่อาศัยค่านิยมความศิวิไลซ์แบบตะวันตกในยุคอาณานิคม ที่มองคนอยุธยาเป็นพวกล้าหลังไม่ศิวิไลซ์เท่าตน ไม่ต่างจากทัศนะของคนชั้นกลางที่มองต่อคนต่างจังหวัดที่ถูกปลูกฝังมาด้วยโครงสร้างสังคมที่ประกอบสร้างมาจากอุดมการณ์แบบ ”ชาติกึ่งอาณานิคม”7 ในช่วงปีพ.ศ.2394 – 2475และส่งต่อมายังยุคปัจจุบันทัศนะของคนชั้นกลางและพุดตานเองจึงยังไม่หลุดพ้นไปจากทัศนะของชาติล่าอาณานิคมที่มองต่อคนในอาณานิคมของตน

ประเด็นที่สาม : บทสนทนาแห่งการปลดแอกตนจากความเป็นไพร่

                                ความสัมพันธ์ของตัวละครคู่หนึ่ง ในเรื่องที่ผู้เขียนบทวิจารณ์ชื่นชอบมากเลยคือ ความสัมพันธ์ระหว่างแม่พุดตานกับนางอึ่ง บ่าวประจำตัวแม่พุดตาน ในตอนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนสนุกกับการอ่านบทสนทนาของนาย-บ่าวคู่นี้มาก เป็นเพราะว่านั่นเป็นบทสนทนาที่แสดงความมนุษย์ของทั้งสองตัวละครอย่างน่าประหลาดใจ เป็นเหมือนการที่ทำลายชนชั้นของทั้งสองคนลง แต่นอกจากนั้นยังเป็นเหมือนการปลดแอกพันธนาการจากความเป็นไพร่ของนางอึ่งด้วย ดังบทสนทนาระหว่างพุดตานกับนางอึ่งในคืนหนึ่ง

พุดตาน “พี่อึ่งยังโสดหรือว่าแต่งงานและจ้ะ”

นางอึ่ง “ตบแต่งออกเรือนฤาเจ้าคะ เคยออกเรือนเจ้าค่ะ แต่มันขายข้าเจ้า เพลานี้มันจึงไม่มีสิทธิ์ในตัวข้าเจ้าจนกว่า        

มันจักเอาอัฐมาไถ่ตัวกลับ” น้ำเสียงคนพูดเรียบนิ่งราวกับไม่รู้สึกอะไร

พุดตาน “อะไรนะ! ขายเมีย เป็นผัวแต่ขายเมียเนี่ยนะ”

นางอึ่ง “...มันติดสุราเจ้าค่ะ วันใดมิได้กินแล้วจักมีน้ำโห ตบตีขาเจ้า แรกเริ่มเดิมทีมันจักนำข้าเจ้าไปขายโรงรับชำบุรุษ ปะเหมาะเคราะห์ดีที่แม่นายกุยผ่านมาเห็นตอนมันกำลังจักลากข้าเจ้าไปขาย เป็นบุญของข้าเจ้านักที่ได้มาอยู่เรือนแม่นายกุย” 8

จากบทสนทนานี้สะท้อนให้เห็น 2 อารมณ์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างสองตัวละครคือนางอึ่งกับแม่พุดตาน คือความรู้สึกเป็นปกติเหมือนไม่แปลกใหม่อะไร จากการพูดเรียบนิ่งราวกับไม่รู้สึกอะไร ส่วนพุดตานเองก็รู้สึกตกใจสุดขีดกับสิ่งที่นางอึ่งพูดออกมาจากปาก เปรียบเหมือนเมื่อความต่างขั้นสุดโคจรมาพบกัน จนพุดตานตั้งปณิธานกับตัวเองว่าจะไถ่ตัวนางอึ่งให้ได้ แต่นอกจากการไถ่ตัวทางรูปธรรม พุดตานยังเปลี่ยนมุมมองของนางอึ่งไปด้วยให้เปลี่ยนจากการมองตนเป็นสิ่งของให้มองตนเองเป็นมนุษย์มากขึ้นด้วย ดังคำพูดของนางอึ่งตอนจะแจ้งความต่อตลาการ(ตุลาการ)เรื่องสามีเก่าว่า “แม้ว่าจักมีคำกล่าวว่าผู้หญิงดีชั่วอยู่ที่มีผัวปกเกศปกเกล้า ข้าเจ้าก็มิอยากเป็นหญิงที่ข้นชื่อว่าได้ชั่วเพราะผัวทำอีกแล้ว”จึงสะท้อนว่าพุดตานได้นำพานางอึ่งก้าวออกจากความเป็นไพร่ไปสู่ความศิวิไลซ์แบบรัฐอาณานิคม

ประเด็นที่สี่ : บัญชาของเจ้าชีวิตก็ยังมิอาจหาญสู้ “ผัวเดียวเมียเดียว”

                           มีคนบอกว่าความรักชนะได้ทุกอย่าง แต่ในนิยายเรื่องนี้นอกจากความรักนั้น ความศิวิไลซ์ก็ชนะได้ทุกอย่างแม้กระทั่ง ”เจ้าชีวิต” ในนิยายเรื่องนี้มีคุณธรรมข้อหนึ่งที่ถูกเน้นย้ำตลอดเรื่องคือผัวเดียวเมียเดียว เราจะไม่เห็นตัวละครฝ่ายตัวเอกหรือตัวละครที่อ้างว่าเป็นคนดีในเรื่องมีภรรยาหลายคนเลย แต่ตัวละครที่มีภรรยาหลายคนก็กลับถูกทำให้เป็นตัวละครที่ดูเจ้าชู้หรือว่าเสเพล เช่นตัวของ “หมู่สง” ราชการปลายแถวที่มักถูกตัวละครในเรื่องค่อนแคะและไม่อยากไปยุ่งด้วยเสมอ เช่นที่ เวลาตัวละครในเรื่องกล่าวถึงหมู่สงมักเรียกว่า “หมู่สงเมีย 20 กว่าคน”10 ซึ่งก็แปลกในเรื่อง เพราะหากเราคำนึงถึงยุคสมัยการมีเมียหลายคนนับเป็นสิ่งจำเป็นเสียด้วยซ้ำ หากคำนึงถึงว่าชายนั้นต้องเข้าเวรเดือนออกเดือนทุกปีฉะนั้นเมียจึงเป็นกำลังหลักในทางเศรษฐกิจที่ต้องคอยหาเงินเข้าบ้านเลี้ยงดูต่างๆ11และนอกจากนั้นการมีผัวเดียวเมียเดียวในเรื่องยังสามารถเอาชนะได้แม้กระทั่งบัญชาของเจ้าชีวิตหรือขุนหลวง(กษัตริย์) เพราะมีตอนหนึ่งที่ว่าหมื่นริดขุนนางที่ชอบพอกับพุดตานดำสนทนากับเพื่อนขุนนางด้วยกันว่าด้วยเรื่องของความรักระหว่างชนชั้นของแม่พุดตานและหมื่นริด

หมื่นริด “พ่ออินรู้ฤาไม่ว่าข้าตั้งใจจักมีเมียเดียว”

เพื่อนขุนนาง “จริงฤาขอรับ”

หมื่นริด “จริงแท้แลแน่นอน พ้นไปจากแม่พุดตานแล้วข้าขอไม่มีหญิงใดอีกชั่วชีวิตนี้”

เพื่อนขุนนาง “อ้อ...แล้วหากขุนหลวงทรงประทานเมียให้เล่า พี่จักทำฉันใด”

หมื่นริด “ถ้าเป็นเช่นนั้นผู้ที่จักทรงประทานให้ก็คงเป็นเพียงแม่พุดตาน กระมัง” ตอบด้วยน้ำเสียงท้าทาย12

จากบทสนทนานี้เราคงพอเห็นถึงว่าอานุภาพของ “ผัวเดียวเมียเดียว”กล้าท้าทายแม้กระทั่งเจ้าชีวิตของตนเอง แต่สุดท้ายหมื่นริดก็ยังถือว่าโชคดีที่ขุนหลวงยังอุตส่าห์ประทานแม่พุดตานให้เป็นเมียพระราชทาน ซึ่งจากบทสนทนานี้ก็ยังสะท้อนว่าในทัศนะของรอมแพงเนี่ย สุดท้ายความถูกต้องแบบชนชั้นกลางยังต้องมาก่อนอำนาจของเจ้าชีวิต และ เจ้าชีวิตต้องทำตัวมีทศพิทราชธรรมหรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นคนดียอมโอนอ่อนต่อค่านิยมนี้

บทสรุป

                               สุดท้ายแล้วจากที่ผู้เขียนเขียนมาทั้งหมดนั้นนักอ่านหลายๆ ท่านคงพอได้เห็นถึง ภาพแทนของชั้นกลางในนวนิยายเรื่องนี้พอสมควรแล้ว จากที่กล่าวไปในบทเกริ่นนำว่านิยายเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งในสื่อที่ตอบสนองความต้องการของชนชั้นกลางอีกชิ้นหนึ่ง แต่ทว่านวนิยายเล่มนี้ก็ยังมิได้ด้อยคุณค่าในความเป็นวรรณกรรมของมันไปแต่อย่างใด นวนิยายเรื่องนี้ยังมีคุณค่าในเรื่องของบันทึกประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์ที่ขับเคี่ยวต่อสู้กันมา และเปิดมุมมองใหม่ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ไม่จำเป็นต้องฉายภาพแค่ไทยรบพม่าหรือเรื่องในรั้วในวังเท่านั้น แต่ยังสามารถสะท้อนถึงสังคมภายใน วิถีชีวิตของคนจริงๆ ที่มีความเป็นมนุษย์ได้ ผู้เขียนจึงยังอยากแนะนำให้ผู้อ่านทุกๆ ท่านได้อ่านวรรณกรรมอันทรงคุณค่าเล่มนี้

 

 

เอกสารอ้างอิง

[1] รอมแพง (2562) พรหมลิขิต หน้า20

[2]รอมแพง (2562) พรหมลิขิต หน้า21

[3]เรื่องเดียวกัน

[4] รอมแพง (2562) พรหมลิขิต หน้า24

[5] พรรณทิภา จีนกลับ(2551)งานวิจัยเรื่องการศึกษาวิเคราะห์นวนิยายการเดินทางข้ามเวลา หน้า 241-242

[6]รอมแพง (2562) พรหมลิขิต หน้า535-536

[7]ธงชัย วินิจจะกูล(2560) คนไทยคนอื่น

[8]รอมแพง (2562) พรหมลิขิต หน้า126-127

[9]รอมแพง (2562) พรหมลิขิต หน้า412

[10]รอมแพง (2562) พรหมลิขิต หน้า509

[11]วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล (2562) หญิงร้าย

[12]รอมแพง (2562) พรหมลิขิต หน้า421

 

 

 

 ~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

 

 

หลงทางกลางปุยเมฆ: สักวันเมฆฝนก็จะจางหายไป

 

ภัทราพร ดอกจันทร์

 

​         “ATOMPAKON” เป็นนามปากกาของ ปกรณ์ แก้วดี ยูทูปเบอร์สำหรับเยาวชนที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน เนื้อหาส่วนใหญ่ในช่องเป็นเนื้อหาที่มีความตลก เบาสมองและสามารถเข้าถึงได้ทุกวัย ดังนั้นผู้ติดตามส่วนใหญ่ในช่องจึงเป็นเยาวชน นอกจากเขาจะเป็นยูทูปเบอร์แล้ว เขายังเป็นนักเขียนและนักวาดภาพอีกด้วย ผลงานทั้งหมดที่ผ่านมาได้แก่ เรื่องเล่าจากดาวตก,เรื่องเล่าจากดาวอื่น, ทานตะวันบนดวงจันทร์, Homeroom Music 101 และผลงานล่าสุดที่ได้หยิบยกมาวิจารณ์คือ “หลงทางกลางปุยเมฆ” เป็นบทบรรยายที่ใช้ภาษาที่สามารถเข้าใจง่าย และมีภาพวาดประกอบบางหน้าเพื่อทำให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพต่อเหตุการณ์นั้นได้ง่ายมากขึ้น

         “หลงทางกลางปุยเมฆ” เป็นเรื่องที่มีตัวละครไม่มาก และมีการดำเนินเรื่องที่รวดเร็ว เนื้อหาภายในหนังสือมุ่งเน้นไปที่ปมของตัวละครเอกเพียงตัวเดียวเท่านั้น ดังนั้นเรื่องนี้จึงจัดอยู่ในประเภทเรื่องสั้นขนาดยาว โดยผู้เขียนเล่าผ่านสรรพนามที่ 1 คือกำหนดให้ตัวละครเอกของเรื่อง “จูน” หญิงสาวผู้มีก้อนเมฆสีเทาลอยอยู่เหนือหัวเป็นผู้ดำเนินเนื้อเรื่องทั้งหมด เนื้อหาของเล่มนี้จัดอยู่ในประเภทแฟนตาซี เพราะมีสิ่งที่เหนือธรรมชาติอย่างอาณาจักรเมฆและมนุษย์เมฆ ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นไม่มีอยู่จริงนอกจากนี้เรื่องสั้น “หลงทางกลางปุยเมฆ” ยังมีโครงเรื่องที่ไม่สลับซับซ้อน เนื่องจากผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ง่าย และเหมาะสมกับทุกวัย

         ผู้เขียนได้สะท้อนภาพสังคมเมืองด้านคมนาคมในความคิดของคนชนชั้นกลางจากประโยคที่ว่า “ฉันต้องฝ่าฝูงชนแก่งแย่งกันขึ้นรถเมล์เหมือนทุกวัน เวลาเลิกงานของคนกรุงเทพฯ เป็นเวลาที่เลวร้ายมาก” (ปกรณ์ แก้วดี, 2563) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนส่วนมากมักไปและกลับจากการทำงานด้วยรถสาธารณะ เนื่องด้วยไม่มีรถโดยสารส่วนตัวและเพราะความเจริญมากระจุกอยู่ในกรุงเทพจึงมีคนมากมายเข้าเมืองมาหางานทำ เป็นเหตุให้บนรถโดยสารแออัด ผู้เขียนยังนำเสนอประเด็นของ Cyberbullying หรือการว่าร้ายและด่าทอบนอินเตอร์เน็ตจากข้อความที่ว่า “พวกเขาดูสะใจ ที่ได้ลากฉันออกมาฆ่าทิ้งบนอินเตอร์เน็ต” (ปกรณ์ แก้วดี, 2563) สื่อให้เห็นว่าในสังคมไทยยังมีคนอยู่จำนวนมากที่ยังไม่นึกถึงจิตใจเหยื่อจากการกระทำตนเอง สาดสีเติมแต่งจนบิดเบือนความเป็นจริงไปเกือบหมด ถึงจะมีการรณรงค์แต่เหตุการณ์นี้ก็ยังคงเกิดขึ้นเรื่อย ๆ และไม่เคยหายไปการสื่อของผู้เขียนนั้นยังไม่ชัดนัก หากอ่านเพียงผิวเผินอาจจะมองข้ามไปได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็สามารถทำให้คนอ่านมีอารมณ์ร่วมอยู่ไม่มากก็น้อย

         การดำเนินเรื่องของผู้เขียน มีการใช้สัญลักษณ์แทนสิ่งต่าง ๆ เช่นมีการใช้ก้อนเมฆแทนอารมณ์ที่สื่อออกมา จากประโยคที่ว่า “ฉันปล่อยให้น้ำตาที่อัดแน่นเต็มที่มานานทะลักออกจากดวงตา พร้อม ๆ กับเมฆสีเทาบนหัวที่ปล่อยให้เม็ดฝนเทลงมารดตัว” (ปกรณ์ แก้วดี, 2563) และ “ความโกรธของฉันปะทุแรงจนฟ้าผ่าออกมาจากเมฆบนหัว”(ปกรณ์ แก้วดี, 2563) แสดงให้เห็นว่าสภาพของก้อนเมฆนั้นขึ้นอยู่กับอารมณ์ของจูน การที่จูนมีเมฆสีเทาอาจอนุมานได้ว่าจูนไม่มีความสุขอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการที่คิดว่าตนเองเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณพ่อและคุณแม่ของตนเสียชีวิต และยังคิดอีกว่าเรื่องเลวร้ายทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะตัวเธอเอง จากประโยคที่ว่า “มันเป็นความผิดของหนูเอง หนูทำทุกอย่างพังเพราะตัวหนู”(ปกรณ์ แก้วดี, 2563) ในฉากสุดท้ายของอาณาจักร ราชินีเมฆบอกกับจูนว่า “ก้อนเมฆก้อนนั้น ท้องฟ้ามอบให้เธอเพื่อคอยดูแลเธอ คอยปลอบใจเธอแทนพ่อกับแม่ที่เสียไป”(ปกรณ์ แก้วดี, 2563) จากเหตุการณ์นี้ทำให้เราได้รู้ว่า “ก้อนเมฆ” ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์แทนของอารมณ์แต่เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์แทนของเรื่องราวในอดีตอีกด้วย นอกจากนี้จูนมักจะสวมเสื้อกันฝนอยู่บ่อย ๆ เพราะก้อนเมฆของเธอนั้นชื้น และอาจทำให้เปียกได้ทุกเมื่อ ดังนั้นจึงคิดว่า “เสื้อกันฝน” เป็นสัญลักษณ์แทนของการปฏิเสธ และการต่อต้าน เธอปฏิเสธที่จะให้ก้อนเมฆเป็นส่วนหนึ่งของเธอ เธอเลยสวมไว้ แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อเธอยอมรับมัน เธอได้ถอดเสื้อกันฝนออกไป พร้อมกับความรู้สึกสบายใจดั่งประโยค “ฉันถอดเสื้อกันฝนออกและโยนมันทิ้งไป มันรู้สึกโล่งใจอย่างบอกไม่ถูก ถ้าหากฝนตกอีกครั้งฉันก็จะโอบรับมันไว้” (ปกรณ์ แก้วดี, 2563) นั่นสื่อว่าเธอเปิดใจรับก้อนเมฆแล้ว ไม่ยึดติดกับอดีตอีกแล้ว เธอสามารถใช้ชีวิตโดยมีก้อนเมฆนั้นได้แล้ว และไม่เกลียดมันอีกต่อไป 

         ในเรื่องสั้นขนาดยาวนี้มีการสอดแทรกคำปลอบปะโลมจากผู้เขียนสู่ผู้อ่าน และยังสอดแทรกแนวคิดของนักเขียนต่อการแสดงออกทางด้านอารมณ์อีกด้วย อาทิเช่น “มันไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลยถ้าหากเธอรู้สึกแย่แล้วจะร้องไห้ออกมาจริง ๆ ความรู้สึกแย่ที่เก็บไว้นาน ๆ โดยไม่ได้ระบายออกไปมันยิ่งจะทำให้เธอผุพัง” (ปกรณ์ แก้วดี, 2563) สื่อต่อผู้อ่านว่าการร้องไห้เป็นการปลดปล่อยความเศร้าเสียใจออกมาเท่านั้น หากเก็บเรื่องแย่ ๆ ไว้โดยไม่ระบายมันออกมาก็จะยิ่งบั่นทอนจิตใจไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดความรู้สึกจะพังจนไม่สามารถเอามันกลับมาได้อีกแล้ว และอีกประโยคคือ “เรื่องราวแย่ ๆ มันเกิดขึ้นได้กับทุกคนทั้งนั้น มันต้องมีวันที่ฝนตกบ้าง แดดออกบ้าง แต่ไม่ว่ายังไง เดี๋ยวลมก็จะพัดพาเมฆฝนเหล่านั้นผ่านไปนะ ยกเว้นแต่ว่าเราจะรั้งมันไว้กับตัวเรา” (ปกรณ์ แก้วดี, 2563) สื่อให้ผู้อ่านได้รู้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดเรื่องราวแย่ ๆ ขึ้น ไม่ว่ามันจะแย่มากขนาดไหน แต่สักวันเดี๋ยวมันก็จะผ่านไป เหมือนที่มันได้ผ่านมาเว้นแต่ว่าเราจะปล่อยมันไปหรือไม่ก็เท่านั้น

         หากพิจารณาให้ดี ผู้แต่งต้องการสื่อว่าชีวิตมีขึ้นและมีลงอยู่ในทุกช่วงชีวิต และมันเป็นเรื่องปกติธรรมดามากที่เราจะเจอเรื่องทุกข์และสุขหากรับไม่ไหวก็ปล่อยความเศร้านั้นออกมา การเติบโตนั้นล้วนมีอุปสรรคเสมอ ไม่ว่าจะยากหรือง่ายเท่าใด แต่เราต่างพบเจอมันทุกคน เราควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ถึงแม้วันนี้จะสาหัส แต่สักวันมันจะผ่านไปได้ด้วยดีเราไม่สามารถห้ามเรื่องแย่ ๆ ในอนาคตที่จะมาถึงได้เพียงแต่ต้องเข้าใจมัน และเตรียมรับมือกับมันไว้ให้ได้

        ผู้แต่งมีวิธีดำเนินเรื่องจากการเล่าเรื่องโดยเริ่มจากการแนะนำตัวละครหลักและชีวิตประจำวันต่าง ๆ จนไปถึงจุดวิกฤตของเรื่องและจุดเริ่มต้นของปมตัวละคร มีการใช้ภาษาที่เรียบและเข้าใจได้ง่ายส่วนมากมักมีการบรรยายให้เห็นภาพผู้เขียนได้ตั้งชื่อเรื่องและเนื้อเรื่องตามลักษณะเหตุการณ์ของตัวละคร เปรียบเทียบอารมณ์กับสภาพอากาศที่แปรปรวนเหมือนเมฆ บ้างก็มีพายุโหมกระหน่ำ บ้างก็มีพายุฝน แต่ไม่นานเมื่อฝนตกลงมาเมฆสีเทาก็จะหายไป เปรียบเหมือนความทุกข์ของมนุษย์ เมื่อได้รับการปลดปล่อย ความเศร้านั้นก็จะจางไปในไม่ช้า

         เรื่องสั้นขนาดยาวนี้มีข้อคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตและการยอมรับความจริง เพราะเราทุกคนต่างมีความรู้สึกเหมือนก้อนเมฆ ถ้าสะสมสิ่งแย่ ๆ ไว้เยอะ ๆ นานวันเข้าก็จะมีฝนตกลงมาเราไม่สามารถห้ามสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ และไม่สามารถที่จะกลับไปแก้ไขอดีตได้ สิ่งที่เราต้องทำมีแค่ยอมรับความจริงและอยู่กับมันให้ได้ก็เท่านั้น

 

อ้างอิง

ปกรณ์ แก้วดี.(2563).หลงทางกลางปุยเมฆ. กรุงเทพมหานคร:10 มิลลิเมตร.

 


 

 ~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

 

ระหว่างทางกลับบ้าน:  การเดินทางกลับบ้านของกวี

 


ญาณิศศา แย้มโสภี

 


          กวีนิพนธ์เรื่อง “ระหว่างทางกลับบ้าน” มีรูปแบบบทกวีฉันทลักษณ์จำนวน ๔๕ ชิ้น ประพันธ์โดย อังคาร จันทาทิพย์ กวีนิพนธ์รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ประเภทกวีนิพนธ์ อังคาร จันทาทิพย์ เป็นกวีคนแรกที่ได้คว้า ‘ดับเบิ้ลซีไรต์’หรือ‘ซีไรต์สองสมัย’ ต่อจากผลงานรางวัลซีไรต์ครั้งแรกอย่างในเรื่อง ‘หัวใจห้องที่ห้า’ เมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๖ เป็นงานที่มีชั้นเชิงสูงนอกจากหลอมรวมรูปแบบใหม่กับเก่าแล้ว กวียังหลอมรวมเนื้อเรื่องที่เก่ากับเรื่องที่ใหม่มาอยู่ด้วยกันด้วย

          โดยในกวีนิพนธ์ระหว่างทางกลับบ้าน อังคาร จันทาทิพย์ ได้กล่าวถึงมิติใหม่ในความหมายของคำว่า“บ้าน” และ “การเดินทางกลับบ้าน” ที่ไม่ใช่บ้านในความหมายที่ทุกคนรู้จักกัน กวีได้นำเรื่องใกล้ตัวซึ่งก็คือ ‘บ้าน’ มาเชื่อมโยงเข้ากับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับเล็กๆ อย่างครอบครัว ไปจนถึงระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งในเรื่องนี้เนื้อหาไม่ได้แบ่งออกเป็นภาคเช่นเล่มอื่นๆ จึงทำให้ประเด็นความรู้สึกและเรื่องราวในหนังสือ เชื่อมโยงเข้ากันได้ทั้งเล่ม (ณัฐฤทัย พลอยหิรัญ,๒๕๖๓)

          กวีได้สื่อสารกับผู้อ่านด้วยภาษาและจังหวะทำนองที่มีความเฉพาะตัวเพราะกวีไม่ได้นำเอาจังหวะ ต่างๆ ที่เราคุ้นเคยกันมาใช้แต่เน้นใช้วิธีการใช้จังหวะอย่างติดขัดเพื่อสร้างจังหวะในการสื่อสารที่แปลกและ แตกต่างไปจากเดิม (อาทิตย์ ศรีจันทร์, ๒๕๖๓) กวียังกล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจและน่าติดตาม ทั้งการพูดถึงความหมายของคำว่าบ้าน การเล่าถึงเรื่องราวของตนในอดีต และเรื่องราวของผู้คนอีกมากมายหลากหลายอาชีพ ดังที่กวีได้กล่าวว่า “บ้านสร้างขึ้นโดยเรื่องเล่า เรื่องเล่าสร้างขึ้นโดยบ้าน เรื่องเล่าและบ้านต่างสร้างกันและกัน”

          อังคาร จันทาทิพย์ ได้ใช้ท่วงทำนองของกลอนสุภาพที่มีถ้อยคำลีลาและจังหวะเฉพาะตัวอย่างกลมกลืนกับภาษา ศิลปะและวัฒนธรรมที่เป็นสีสันท้องถิ่น สร้างจินตภาพที่สัมผัสอารมณ์ และให้ผู้อ่านได้ตีความหมาย กระตุ้นให้ครุ่นคิด และทบทวนความหมายคำว่า ‘บ้านของตนเอง’  ทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงความสำคัญของบ้าน และความสัมพันธ์ของคนในบ้าน ทั้งยังผสานกวีนิพนธ์กับศิลปะเพื่อเปิดมิติคุณค่าของชีวิตที่ถูกมองข้ามอีกด้วย

          ในกวีนิพนธ์เล่มนี้ นอกจากจะกล่าวถึงบ้าน ที่หมายถึงเรื่องราวชีวิตของตัวกวีเองแล้ว อังคารยังมีการกล่าวถึงการเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากต่างๆ นานา ของบุคคลอื่นอีกด้วย เช่น ชาวโรฮิงญาอพยพหนีภัยจากยะไข่, หญิงมุสลิมสามจังหวัดชายแดนใต้ สามีและลูกชายเธอที่หายไปกับสงครามความรุนแรง, นักอนุรักษ์ผู้ถูกบังคับให้สูญหายจากผืนป่าที่เขาพยายามปกป้อง, นักโทษในเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง, เด็กๆ ผู้คน พลเมืองของประเทศอารยธรรมเก่าแก่อย่างซีเรีย, พี่น้องบ้านแตกเพราะเห็นต่างทางความคิด,เจ้าของสื่อสิ่งพิมพ์ผู้กำลังเผชิญวิกฤตกลางภูมิทัศน์สื่อยุคใหม่เปลี่ยนแปลง, หญิงกลางคนและลูกสาวผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบ และอีกมากมายหลากหลายชีวิต

           อังคาร จันทาทิพย์ กำลังที่จะสื่อถึงผู้อ่านว่า กว่าการที่บ้านจะออกมาเป็นบ้านนั้น ก็ต้องสร้างมาจากทั้ง ตะปู เสาเข็ม เหล็ก หลังคา ปูน ฯลฯ  เฉกเช่นเดียวกันกับชีวิตของคนเรา ที่ต้องประกอบไปด้วย สุข ทุกข์ หัวเราะ ร้องไห้ ดี ร้าย ยากดีมีจน ฯลฯ  จึงจะออกมาเป็น‘ชีวิต’

          ในเรื่อง “ระหว่างทางกลับบ้าน” คำว่า บ้าน ที่กวีใช้นั้น ไม่ได้หมายถึงบ้าน ที่เป็นเพียงที่อยู่อาศัย แต่เป็นต้นทางความคิด ที่ผ่านจากการสั่งสมประสบการณ์รอบตัว ผ่านมุมมองของกวี กลั่นออกมาเป็นลำดับภาพความคิด ทำให้เห็นภาพของโครงสร้างในสังคม การเคลื่อนตัวของสังคมและการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย ที่มีผลกระทบต่อชีวิตของปัจเจกบุคคลได้อย่างชัดเจน ดังเช่นในบทกวีระหว่างทางกลับบ้าน: ‘เพื่อนบ้าน’

 

ค่อยค่อยผันค่อยค่อยผ่านหมู่บ้านเงียบเงียบ          

ค่อยค่อยเลียบผ่านภูเขา เข้ามาใกล้ใกล้

ทีละผืน ทีละแปลง ค่อยแบ่งไป                                              

เปลี่ยนเป็นเงินก้อนใหญ่ ไม่นานวัน

(อังคาร จันทาทิพย์,๒๕๖๓:๔๕)

 

         ในบทนี้ กวีได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงและการเข้ามาครั้งใหญ่ของเหล่านายทุน จากทุ่งป่าแห้งแล้งสู่หมู่บ้านชุมน จากหมู่บ้านในตำบลที่เคยห่างไกลเมืองก็เริ่มถูกกว้านซื้อที่ดินนำมาทำเป็นโรงงาน และหมู่บ้านจัดสรร จากที่ดินธรรมดาของชาวบ้านก็แปรเปลี่ยนเป็นเงินตรามากมาย และ นอกจากเงินจะสามารถซื้อขายที่ดิน และเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ได้นั้น ‘อำนาจของเงินตรา’ ก็ยังสามารถนำมาใช้จับจ่ายลมหายใจคนได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการเล่นคำของคำว่า ‘ค่อย’ อย่างมีจังหวะ ทำให้ผู้อ่านสามารถสัมผัสความรู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆและเรื่อยๆของสิ่งหนึ่ง เป็นเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าใจหาย เพราะในเวลาเพียงไม่นานสิ่งรอบตัวสามารถเปลี่ยนไปได้มากมายอย่างที่คิดไม่ถึงเลยทีเดียว

 

ระหว่างทางกลับบ้าน : ‘แม่ไม่อยู่บ้าน’ (กองคาราวานกำลังเดินทางสู่เส้นขอบฟ้า)

ธรรมดาสามัญ...            

แม่ครับไม่คาดฝันดึกนั้นหนาว

หนาวฟ้ามีนาคมห่มดวงดาว

เหน็บหน่วงร้าวเกินอุ่นอิงอกผิงไฟ

(อังคาร จันทาทิพย์,๒๕๖๓:๒๕)

 

         ในบทนี้กวีได้กล่าวรำลึกถึง ๒ ปีการจากไปของแม่พรรณนาถึงความเศร้าโศกอันเกิดจากการสูญเสียแม่อันเป็นที่รักการสูญเสียในครั้งนี้จึงทำให้ตัวอังคารย้อนนึกถึงเรื่องราวในวันวานและเล่าถึงเรื่องราวความทรงจำต่างๆ ที่ได้มีร่วมกันเมื่อครั้งที่แม่ยังมีชีวิต นอกจากนี้ บทกวีนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความหนาวเหน็บดั่งความหนาวเย็นในฤดูหนาวอันเกิดมาจากการสูญเสียแม่ ทั้งที่ในความเป็นจริง ช่วงเวลาเกิดเหตุคือเดือนมีนาคมซึ่งเป็นฤดูร้อนเป็นการใช้ภาพพจน์แบบอุปมาที่ทำให้ผู้อ่านเกิดภาพได้อย่างชัดเจน

 

ระหว่างทางกลับบ้าน: ‘ถูกบังคับให้สูญหายจากบ้านที่เขาพยายามปกป้อง

เขาผู้ถูกบังคับให้สูญหาย!...        

ยิ่งกว่านิยายขยายนิยาม ‘ความป่าเถื่อน’

เงียบและเบาฝีเท้านั้นสั่นสะเทือน

ทิ้งรอยเกลื่อนซากปรักแล้วจากไป

(อังคาร จันทาทิพย์,๒๕๖๓:๑๑๘)

 

         บทนี้อังคารได้อุทิศให้แก่“บิลลี่พอละจีรักจงเจริญและนักสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ ที่ถูกบังคับให้สูญหาย”เป็นการกล่าวถึงการที่บิลลี่นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงที่ถูกบังคับให้สูญหายหรือก็คือ‘ถูกอุ้ม’ซึ่งเป็นเหตุมาจากการเกิดความขัดแย้งกับรัฐ แน่นอนว่าการหายตัวไปของบิลลี่นั้นย่อมสร้างความเศร้าโศกเสียใจให้แก่ครอบครัวและญาติมิตรของเขาและผู้คนอีกมากมาย โดยความหมายของ‘บ้าน’ในบทนี้อาจหมายถึงอุดมการณ์ที่บิลลี่พยายามที่จะปกป้องและรักษามันเอาไว้แต่กลับถูกขัดขวางและยังถูกทำให้สูญหาย โดยที่ไม่สามารถที่จะขัดขืนได้เลยอีกด้วย อย่างไรก็ตาม กวีบทนี้ได้ชี้ชัดให้เห็นถึง‘ความป่าเถื่อน’ของสังคมและความเหลื่อมล้ำทางอำนาจของชนชั้นในสังคมไทยอย่างได้อย่างชัดเจน

         บทกวีสุดท้ายของหนังสือ“ระหว่างทางกลับบ้าน”หรือก็คือบท“บ้าน”นั้นเป็นบทกวีปิดเล่มที่อังคารได้กล่าวถึงความหมายของคำว่า‘บ้าน’เป็นครั้งสุดท้ายซึ่งเนื้อหาในบทกวีนี้เป็นการให้ความหมายของคำว่า บ้าน ที่กวีพยายามที่จะสื่อสารมาตลอดทุกบทได้ดีและแจ่มชัดที่สุด

         คำว่า ‘บ้าน’ ในกวีนิพนธ์เรื่องนี้นั้นไม่สามารถตีค่าได้ว่าเป็นเพียงบ้านที่เป็นเพียงที่พักอาศัยเท่านั้นเพราะคำว่า ‘บ้าน’ ในที่นี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพื้นที่หากแต่เป็นความรักความทรงจำและความผูกพันที่ช่วยหล่อหลอมรวมจนมาเป็นจิตวิญญาณของมนุษย์คำว่า ‘บ้าน’ จึงกลายเป็นคำที่สำคัญมากในบทกวีทุกบทเพราะในแต่ละบทนั้นก็สามารถที่จะสร้างสรรค์ความหมายของคำบ้านออกมาได้ในอีกหลากหลายมิติมุมมองและความหมาย

         อังคาร จันทาทิพย์ ยังใช้ภาพลักษณ์ของบ้าน เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาทางสังคม การเมือง สงคราม ความขัดแย้งและความเชื่อด้วยน้ำเสียงที่สุขุมลุ่มลึกจรรโลงและจรรโลงสังคมทำให้ผู้อ่านสามารถตระหนัก ได้ถึงความสำคัญของบ้านและความสัมพันธ์ของคนในบ้านและยังเปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านได้ตีความและทบทวนความหมายของคำว่า ‘บ้านของตนเอง’อีกด้วย (อังคาร จันทาทิพย์ , ๒๕๖๓:๓)

 

อ้างอิง

ณัฐฤทัย พลอยหิรัญ.(๑๒ มีนาคม ๒๕๖๔). ระหว่างทางกลับบ้าน.สืบค้นจาก chartchoolee.wordpress.com/2020/06/09/ระหว่างทางกลับบ้าน-2/.

อังคาร จันทาทิพย์. (๒๕๖๓). ระหว่างทางกลับบ้าน.(พิมพ์ครั้งที่๔). กรุงเทพมหานคร: ผจญภัย

อาทิตย์ ศรีจันทร์.(๑๓ มีนาคม ๒๕๖๓).ระหว่างทางกลับบ้านกับหนทางอันแห้งแล้งของกวีนิพนธ์รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ของไทย.สืบค้นจากwww.the101.world/angkarn-chanthathip-seawrite/

 


 

 ~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

 

ภาพสะท้อนอำนาจในสิงโตนอกคอก

 


โชติกา  แอนโก  

 


          เมื่อพูดถึง ‘อำนาจ’ นักสังคมวิทยานิยามอำนาจว่า เป็นความสามารถในการกำหนดให้ผู้อื่นเป็นหรือกระทำตามความต้องการของตนเอง เเม้ว่าผู้อื่นจะขัดขืนก็ตาม อำนาจอาจไม่จำเป็นจะต้องเป็นแค่การบีบบังคับด้วยกำลังเพราะอำนาจมีหลายรูปแบบ อำนาจจะมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า อิทธิพล ในที่นี้เราสามารถนิยามอำนาจว่า เป็นความสามารถฝ่ายเดียว การใช้อำนาจดูเหมือนจะเกิดขึ้นกับมนุษย์หรือสัตว์ในป่าที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องอยู่รวมกันในสังคมหรือเป็นกลุ่ม หากอำนาจไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน หรือกลุ่มฝูงสัตว์ตัวอื่นๆ ก็อาจเกิดการต่อต้านได้ แต่ถ้าหากผู้ใดไร้แรงต่อต้านก็ต้องจำนนยอมผู้มีอำนาจเหนือกว่าแบบนี้ไปตลอด

          เรื่องสั้น“สิงโตนอกคอก” ของจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท เป็นเรื่องสั้นแนวภาพสะท้อนของสังคม ที่ผู้เขียนใช้กลวิธีการเล่าผ่านการเปรียบเทียบและภาพสะท้อนของคนดี คนไม่ดี และคนนอกคอก คนนอกคอกในที่นี้หมายความว่าผู้คนที่มีความคิดต่างจากผู้อื่นอาจเป็นคนดีหรือไม่ดีก็ได้ เรื่องสั้นเล่มนี้มีทั้งหมด 9 เรื่องที่นำเสนอภาพสะท้อนทั้งทางด้านอำนาจ สังคม อารมณ์ และจิตใจ

          จิดานันท์ นำเสนอเรื่องราวด้วยการยกภาพสะท้อนขึ้นมา “ สิ่งที่คุณเห็นอาจดูพิสดารพันลึกคล้ายชะโงกมองผ่านประตูมิติไปยังดินแดนพิศวงแต่ความจริงแล้วคุณเพียงแต่ยืนอยู่ตรงหน้ากระจกและสิ่งอันพิสดาร สวยงาม คดโกง หรือขมขื่นที่คุณได้เห็นทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็ไม่ใช่อะไรอื่น มันเป็นเพียงภาพสะท้อนของโลกที่คุณอยู่ มันเป็นภาพสะท้อน-บิดร่างไปจากภาพจริงเล็กน้อยแต่สาระสำคัญอย่างครบถ้วน คุณจะเห็นสังคมและประเทศของคุณในกระจกดูคล้ายบิดเบี้ยวเหมือนมายาฝัน” ในที่นี้จะกล่าวถึงตอนที่มีการใช้อำนาจ มีการใช้อำนาจทั้งหมด 3 ประเภทด้วยกัน

 

อำนาจในการปกครองลูกเมือง

          จะขอยกตัวอย่างเรื่อง “จะขอรับผิดทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว” ในเรื่อง มอเดร็ดมีอำนาจที่จะปกครองลูกเมืองและปกป้องลูกเมือง ทุกคนรู้ดีว่า ฤดูหนาวครั้งนี้มันโหดเหี้ยมเพียงใดแต่มอเดร็ดมีอำนาจในการตัดสินใจว่าควรทำอย่างไรต่อไปเพราะมอเดร็ดเป็นเจ้าเมืองจึงไม่มีใครสามารถขัดขืนได้และดูเหมือนว่าทุกคนจะเห็นด้วยที่ควรเผาหนังสือเพื่อแลกกับความอุ่นที่ทำให้ทุกคนยังมีชีวิตรอดแต่ในตอนท้ายทุกคนกลับต่อว่ามอเดร็ด มอเดร็ดจึงตัดสินใจแก้ปัญหาเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยการบอกให้ลูกเมืองสั่งสอนลูกหลานรุ่นต่อไปไม่ให้รู้หนังสือเพราะจะได้ไม่เกิดผลกระทบในภายหลัง เรื่องนี้ผู้เขียนต้องการสื่อให้เห็นถึงอำนาจของเจ้าเมืองที่มีอำนาจตัดสินทุกอย่างและอาจจะสื่อให้เห็นภาพทางด้านการศึกษาที่ทุกคนเริ่มไม่เห็นค่ากับมัน

 

 

อำนาจที่คนดีมีสิทธิ์ฆ่าคนเลว

          ข้อนี้จะขอยกเรื่อง “ในโลกที่ทุกคนอยากเป็นคนดี” มนุษย์ทุกคนบนโลกนี้เกิดมาพร้อมไพ่คนละ1ใบ ด้านหลังไพ่จะเป็นลายตารางสีขาวสลับดำประทับตรารัฐบาลโลก ส่วนด้านหน้าของไพ่นั้นในตอนแรกจะเป็นสีขาวหมดจดไร้ลวดลายใดๆ แต่เมื่อใดก็ตามที่คนๆ นั้นทำสิ่งที่สังคมตัดสินว่าผิด ไพ่จะกลายเป็นสีดำและคนคนนั้นก็จะกลายเป็นคนเลวของสังคม เมื่อนั้นบรรดาคนดีของสังคมที่ครอบครองไพ่สีขาวก็จะมีสิทธิ์สังหารคนเลวได้โดยไม่ผิดกฎหมาย(จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท,2560:39) เรื่องนี้ผู้เขียนต้องการสื่อถึงอำนาจที่คนดีมีสิทธิ์ฆ่าคนเลวแต่ไร้ซึ่งความยุติธรรม ไม่มีการซักถามเหตุผลก่อนจะฆ่าแล้วคนดีที่ฆ่าคนเลวไม่ผิดฉะนั้นหรือ มองย้อนกลับมาที่สังคมปัจจุบัน อาจมีคนประเภทนี้อยู่หลายคนบนโลก สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะคนดีหรือคนเลว ทุกคนล้วนรู้อยู่แก่ใจอยู่ที่จิตใต้สำนึก

 

อำนาจเผด็จการประหารบีบบังคับ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กดขี่ข่มเหงผู้ที่อยู่เหนือกว่ามีสิทธิ์ทำร้ายรังแกผู้ที่ไร้ทางสู้

          ในข้อนี้จะขอยกตัวอย่างเรื่อง“สิงโตนอกคอก” มนุษย์ที่มีดวงตาตรงกลางเป็นสีขาวแทนสีดำเกิดขึ้นครั้งแรกบนโลกเมื่อ 300 ปีก่อน เนื่องจากการกลายพันธุ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มนุษย์เผ่าตาขาวมีสถานะด้อยกว่าเผาตาดำที่มีอยู่ก่อนมาตลอด พวกเขาอยู่ร่วมกันในสังคมแต่ว่าคนตาขาวมักจะถูกกีดกันหรือไม่ก็รังแก นอกจากนี้ยังได้รับสิทธิต่างๆ ในสังคมน้อยกว่าคนตาดำด้วย และคนตาดำก็ไล่ฆ่าคนตาขาว(จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท,2560:200) ในเรื่องนี้ผู้เขียนสื่อถึงอำนาจที่ผู้อยู่เหนือกว่ามีสิทธิ์ที่จะกระทำหรือรังแกผู้ที่ด้อยกว่าและไร้ทางสู้ โดยนำนิทานเรื่องสิงโตนอกคอกมาเชื่อม คุณครูได้เล่าเรื่องสิงโตนอกคอกให้เด็กๆ ฟังอยู่มาวันหนึ่ง ฝูงสิงโตประชุมกันว่า ถึงเวลาแล้วที่สิงโตหนุ่มแต่ละตัวในฝูงจะผ่านพิธีเพื่อเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ พิธีที่ว่าคือให้ออกไปล่าสัตว์กลับมาคนละ 1 ตัว สิงโตหนุ่มออกเดินทางไปกับเพื่อนๆ จนกระทั่งมาถึงทุ่งหญ้าเลี้ยงแกะแห่งเดิม ขณะที่เจ้าสิงโตหัวนึกถึงแกะตัวที่ตนอยากเป็นเพื่อนด้วยตัวนั้น เพื่อนของมันก็กล่าวขึ้นว่า “เราล่าแกะกลับไปที่ฝูงกันเถอะ” สิงโตหนุ่มพยายามเอ่ยห้ามแต่เพื่อนๆ ก็บอกว่าสิงโตหนุ่มขี้ขลาดตาขาว สิงโตหนุ่มจึงย่องเข้าไปใกล้แกะตัวหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากแกะตัวอื่นๆ และกระโดดผลุงเดียวเข้าตะครุบมัน เจ้าแกะพยายามดิ้นหนีแต่สิงโตเอาตัวไปกัดเข้าที่คอหอยของมันทีเดียวถึงแก่ความตาย ก่อนที่เจ้าแกะจะขาดใจตาย มันเอ่ยออกมาเบาๆ ว่า “เห็นไหมท่านสิงโตเพราะอย่างนี้ไง วันนั้นฉันถึงไม่ยอมเป็นเพื่อนกับท่าน” (จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท, 2560:206)

          ความจริงแล้วนิทานต้องจบด้วยการที่สิงโตผู้มีอำนาจฆ่าแกะตายและกินเนื้อของมันแต่ไม่ ครูกล่าวต่อไปว่าสิงโตหนุ่มจึงย่องเข้าไปใกล้แกะตัวหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากแกะตัวอื่นๆ และกระโดดผลุงเดียวเข้าตะครุบมัน เจ้าแกะพยายามดิ้นหนีและพูดว่า “เห็นไหมท่านสิงโต เพราะอย่างนี้ไง วันนั้นฉันถึงไม่ยอมเป็นเพื่อนกับท่าน” เจ้าสิงโตจึงได้รู้ว่าแกะตัวนั้นคือแกะตัวเดียวกับที่มันอยากเป็นเพื่อนด้วยนั่นเอง รู้ดังนั้นมันจึงปล่อยเจ้าแกะ แต่แกะน้อยนั้นบาดเจ็บไม่อาจลุกวิ่งหนีไปได้ สิงโตตัวอื่นๆ ก้าวเข้ามาหมายจะร่วมชิมเนื้อของแกะ แต่สิงโตหนุ่มตัวนั้นกลับยืนขวางทางเพื่อนไว้ เพื่อนๆ สิงโตเห็นดังนั้นจึงส่ายหน้าให้ความไม่ได้เรื่องของเจ้าสิงโต สิงโตคาบลูกแกะกลับไปอยู่รวมกับแกะตัวอื่นในฝูงเพื่อรอให้คนเลี้ยงแกะมาพบและพาไปรักษา มันสัญญาว่าจะมาพบลูกแกะอีกครั้งก่อนจะเดินกลับเข้าป่าไป (จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท,2560:210)

          การจบของเรื่องสั้น “สิงโตนอกคอก” ควรน่าจะเป็นการที่ผู้มีอำนาจเป็นผู้ชนะและข่มผู้ไม่มีทางสู้สำเร็จแต่ผู้เขียนกลับจบแบบหักมุม ด้วยการให้ตัวละครที่เป็นผู้มีอำนาจสงบสงครามเอง เมื่อใดที่ผู้มีอำนาจหยุดการกระทำรุนแรงของตน เมื่อนั้นทุกอย่างก็จะสงบลงและอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข และอำนาจที่ได้กล่าวมาทั้ง 3 ประเภทนี้ล้วนเป็นอำนาจที่แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ผู้ด้อยกว่าไม่มีทางเอาชนะได้เลยเพราะผู้ที่มีสิทธิมากกว่าข่มผู้ที่ด้อยกว่าให้ต่ำลง ทำเหมือนผู้ด้อยกว่านั้นไร้จิตใจ สิ่งเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปในสังคมปัจจุบัน อยู่ที่ว่าผู้ที่มีอำนาจจะใช้อำนาจของตนเองข่มผู้อื่นหรือเปล่า

 

อ้างอิง

จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท. (2560).สิงโตนอกคอก. กรุงเทพฯ : แพรว.

 



 ~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~


โอ้แม่มหากวีศรีศตวรรษที่ 21

 

 บทวิจารณ์โดย กัญญภา ตู้บรรเทิง


              “ ความบ้า ความฝัน ตัวฉัน ด้ามปากกา ”                                                                 

      เป็นการเปิดปฐมบทได้อย่างกราดเกรี้ยวและทิ้งลายเซ็นไว้ได้อย่างน่าจดจำ จากจุดต้นกำเนิดเล็ก ๆ เรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่ง ในขณะที่เธอกำลังนั่งขัดโถส้วม ฉับพลันทันใดคุณเธอก็สำเหนียกได้ว่าตนอยากเป็นนักเขียน และตนต้องเป็นนักเขียนเท่านั้นในชาตินี้ เธอละวางมือจากภารกิจแห่งมวลมนุษยชาติและเริ่มต้นความฝันในทันที ทันใดรสชาติแห่งความเปรี้ยวจี๊ดสะท้านต่อมเหงือกเพราะการใช้ภาษาที่ช่างจัดจ้านจนเข็ดฟัน กลั้วเกลือกด้วยความดิบเถื่อนและเป็นธรรมชาติแห่งกมลสันดานมนุษย์ และตบท้ายด้วยเกลือเผาพริกเผาร้อน ๆ คั่วไฟจนเกรียมกรุ่น แต่ปลายลิ้นยังคงชาจากความเผ็ดมันแห่งการโต้เถียงปะทะวาจา เฉือนคาดเฉือนคม การกัดแซะที่เหมือนหมาล่าเนื้อที่พร้อมจะฉีกขย้ำเหยื่อจนกระจุยอย่างไม่ปราณีทางสงครามไซเบอร์ แต่ก็ประกอบไปด้วยอารมณ์ขันที่น่าพิศวงในคราเดียวกัน

 

       นันดานี นักเขียน นักเล่าเรื่อง ศิลปิน เห็นได้ชัดว่าเธอถนัดเป็นพิเศษในด้านการเขียนงานเชิงทับซ้อนของเส้นตัวละคร อันเห็นได้ในตอนร่างของอดีต  การหักเหภาพและมุมมองต่อตัวละครและบทบาทที่พึงจะกระทำ อันสร้างความคลุมเครือให้เข้าใจผิดระหว่าง อดีต ปัจจุบัน อนาคต ความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเหมือนสายใยจากกอบัวที่กดเกี่ยวรั้งทึ้งความเป็นตัวตนของตัวละครถูกขมวดม้วนกลึงเป็นเส้นด้าย จนผู้อ่านอาจรู้สึกหลอมรวมไปด้วยวัจนะที่พลิ้วไหวและมีเลศนัยในคราเดียวกัน ยิ่งเสริมให้ตั้งประเด็นคำถามถึงเรื่องการดำรงอยู่ภายในวิญญาณซึ่งแม้จะสวนทางกับกายภายนอกที่เติบโตจนเหมือนหลงลืมสิ่งนั้นไปแล้ว หรือบางครั้งเธอก็เล่นกับประเด็นความเจ็บปวดที่ก่อกวนจนข้นคลักของผู้คน เพียงถูกอนุมานเป็นเพียงภาพฝันฟุ้ง จินตนาการ เป็นเรื่องจริงที่เหนือจริง ดังห้วงน้ำที่สะท้อนเงาตนเอง เหมือนภวังค์จิตที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมา

 

วิวรณ์เรื่องราวอันน่าสับสนที่เป็นการซ้อนทับกันระหว่างตนเอง กับใครบางคน ผ่านทางตัวกลางแห่งความว่างเปล่าจากการไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ในฐานะนักเขียนผู้ด้อยปัญญา นักกวีที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แม้ทั้งเรื่องจะเป็นแค่การเล่าผ่านจดหมายฉบับหนึ่ง กับบทกวีคนตาย ซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายที่ชายหนุ่มในเรื่องอยากส่งต่อมันให้กับภรรยาก่อนที่เขาจะปลิดชีวาตนเสีย เขาแขวนความขมขื่นทรมานจนมวนไปทั้งสรรพางค์กาย ตอกจิตตรึงตัวไว้กับแคร่ผุ ๆ อันเป็นที่อยู่รวมทั้งเป็นหลักฐานและสัญลักษณ์ให้ประจักษ์ซึ่งความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ผู้เขียนบรรยายถึงบรรยากาศที่อ้างคว้างร้างผู้คนซ้ำแล้วซ้ำเล่า บรรยายแม้กระมั่งสภาพของความกรังเน่าเหม็นในตู้ที่น่าอดสูเหลือทนเพียงเท่าใด เพื่อให้ผู้รับสารได้เห็นภาพอนาถาโสมมจนผู้อ่านถูกดึงให้จมดิ่งไปด้วยความเศร้าโศกในหลุมบ่ออันมืดมิด จนถึงจุดที่คุณสามารถเห็นภาพเป็นฉาก ๆ  เห็นปรอยเลือดที่กระเซ็นแปะผนัง ไปจนถึงกลิ่นคลุ้งเน่าที่น่าสะอิดสะเอียนที่โชยมาตามลม

 

         —  โศกนาฏกรรมแห่งกวีผู้โศกเศร้า บางทีเขาอาจจะแค่ป่วย หรืออย่างน้อยนั้นคือสิ่งที่ผู้อื่นมองเขาหากแต่แท้จริงแล้วเขาแค่เอือมระอากับการต้องวิ่งไล่ไขว่คว้าโชคชะตาของตน การเกิดในชนชั้นกรรมาชีพเสมือนตราบาปติดตัวที่เขาไม่สามารถสลัดทิ้งไปได้ แม้จะพยายามดิ้นรนสักเพียงใดเขาเป็นแค่แรงงานที่ถูกตราหน้าว่า “ ไร้ความสามารถ ” เมื่อความกดดันที่ถูกบีบอัดจนปะทุออกมายิ่งหลอมให้เขาจมลงในบ่อลึกแห่งความทุกข์โศกและยอมจำนนในชะตากรรม ท้ายที่สุดเขาก็บ่มิแลเห็นทางใดที่จะหนีพ้นไปได้นอกเสียจากความตายนั้นเอง 

 

“ ความเป็นจริง มันน่ากลัวซะยิ่งกว่าฝันร้ายเสียอีก ”

 

            แน่นอน ความฝันอาจเป็นตัวแทนสิ่งที่เรามิอาจประกอบให้สำเร็จได้ในความเป็นจริง ความฝันถูกทดแทนไว้ด้วยแรงปรารถนาซ่อนเร้นในสิ่งที่เกินอาจเอื้อม มันใช้บรรเทาความทุกข์แลประโลมจิตใจในโลกที่เราโหยหา แต่บางครั้งมันก็นำมาซึ่งความวิบัติที่มิอาจหนี แต่ไม่ว่าความฝันจะน่าสยดสยองเท่าไหร่ สุดท้ายเราก็ตื่น แต่ในฝันเรื่องราวของชายหนุ่มคนหนึ่งที่มิอาจจำแนกระหว่างความฝันกับความเป็นจริงได้ เมื่อสภาวะการรับรู้ของเค้ามันเหมือนเครื่องปั่นผ้าที่หมุนปั่นจนสติใกล้ขาดสะบั้นเต็มที ความน่าสับสนถาโถมเค้ามาจากการตายของแฟนสาวของเขาปั่นรวมกับภาพหลอนจากสารเสพติด และยิ่งเขาหนีมากเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งตกอยู่ในหลุมบ่อแห่งการต่อต้านความรู้สึกผิดที่ยังคงคุกกรุ่นเผาทรวงเขาอยู่ทุกวี่ทุกวัน บวกกับสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเนื่องจากตนอาจเป็นสาเหตุทำให้คนที่เขารักมากที่สุดต้องหมดลมหายใจ นั่นยิ่งส่งให้เสริมคำถามว่า หากเป็นคุณ คุณจะยอมหลับฝันดีตลอดกาล หรือจะยอมตื่น เพื่อเผชิญหน้ากับความจริงอันโหดร้ายที่คุณไม่อาจหลีกหนีได้

 

 “ แต่อะไรคือการจำแนกความเป็นตนและความเป็นอื่นล่ะ ”

 

          ในตอนความตายของป้ายโฆษณา (ป้ายหนึ่ง)แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้รากมากดี ชิงชังผู้ที่ด้อยกว่า เพราะแม้กระทั่งป้ายโฆษณาก็ยังสมาทานว่าตนเป็นชนชั้นสูง เป็นตัวแทนแห่งอารยะรุ่งเรืองแห่งโลกทุนนิยม

 

นอกจากนั้น ความอารมณ์ขันเป็นพิษของเธอยังสร้างปรากฏการณ์เสียดสีการตกเป็นทาสทุนนิยมอย่างชวนแสบคัน เช่นในตอนวิมุตติอันมีความหมายว่า หลุดพ้นจากวัฏสงสารทั้งปวง หากแต่ตัวละครในเรื่องกำลำลังเผชิญกับ Endless job(งานที่ไม่มีวันจบสิ้น ) วนซ้ำไปซ้ำมา และแม้เขาจะอ้อนวอนกราบกรานเท้ามัจจุราชให้ช่วยมาเอาตัวไปก็ไม่เป็นผล เมื่อท่านยมเธอบอกว่า โลกทุนนิยมได้จ่ายส่วยล่วงหน้าเพื่อการันตีค่าหัวชีวิตของเขาไปแล้ว และตราบใดที่ยังไม่ถึงเวลาเลิกงาน บริษัทก็คงไม่ยอมปล่อยให้เขาเป็นอิสระอย่างแน่แท้

 

“ เพราะสุดท้ายเดี๋ยวถูกคนก็ลืม เดี๋ยวก็มีข่าวต่อไป ”

 

       เพราะการตกเป็นจำเลยทางสังคมของเพศหญิงมักถูกพิพากษาโทษจากสังคมอย่างอยุติธรรมข่าวต่อไปแสดงให้เห็นถึงชีวิตของฝ่ายต้องตกเป็นเหยื่อเรื่องลือข่าวฉาว ต้องผ่านชีวิตในช่วงมรสุมพัดพา จนสุดท้ายเธอเลือกที่จะกดลบตัวเองออกจากหน้าประวัติศาสตร์เงียบ ๆ ทิ้งไว้เพียงความว่างเปล่า และชีวิตของผู้คนอื่นก็ดำเนินต่อไป แปลกที่มนุษย์เรามักมีประเพณีในการเฟ้นหาบุคคลใหม่ ๆ มาเป็นเหยื่อในการระบายความเป็นศีลธรรมอันดีงามของตน แต่แค่เพราะมีบางคนที่สีเทาเข้มกว่า นั่นไม่ได้หมายความว่าตัวเราจะเป็นสีขาวหมดจดขึ้นมาแต่อย่างใด หรือแท้จริงแล้วเราก็แค่ซุบซิบนินทาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการยกระดับทางศีลธรรมของตน ส่วนคนที่ตกเป็นข่าวนั้นก็เป็นเพียงแค่เรื่องให้เอิกเทิกกันเพียงครู่ เป็นแค่เพียงเสียงลือเสียงเล่าอ้างให้ผู้คนได้ถ่มถุยทับถม ไม่มีใครสนใจจะแก้ไขปัญหา หาสาเหตุ หรือแม้กระทั่งปกป้องเธอ ท้ายที่สุดแล้วสังคมก็ไม่ระแคะระคายกับความผิดของเธออีกต่อไป ไม่มีแม้แต่คนอาลัยให้กับการสูญเสียของเธอ เรื่องของเธอมันหมดความน่าสนใจไปเสียแล้ว ท้ายที่สุดผู้คนก็ลืมเลือนเรื่องราวของเธอไปจากความทรงจำ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนคนเราก็ยังคงบำเรอตนเองด้วยข่าวต่อไป

 

         อาจจะกล่าวได้ว่าความโดดเด่นของผู้เขียนอยู่ที่เนื้อเรื่องและบทสนทนา แต่กระนั้นรสชาติแห่งความเก่าแก่ พิถีพิถันทางภาษาก็ยังถูกจรุงปรุงแต่งจัดเป็นอย่างดี ผู้เขียนมิได้บกพร่องในการเจียระไนคำเหล่านั้นให้ดูงามพรั่งสละสลวยละมุนละไม ทั้งสร้างสุนทรียะในเชิงอารมณ์และจินตภาพ หากพินิจให้ดีจะพบว่าเนื้อเรื่องส่วนใหญ่ของนักเขียนผู้นี้จะเน้นไปที่ความจริงในความลวง ทบไปทบมาชั้นแล้วชั้นเล่าเหมือนกระดาษสำนวนที่ถูกรวบเป็นปึกหนา เนื้อเรื่องที่เรียบง่ายในสถานการณ์ที่ซับซ้อน ภาษาที่ซับซ้อนในเนื้อเรื้องที่ดูไม่มีอะไร เนื้อเรื่องที่เหลือเชื่อที่มีรากฐานอยู่บนความเป็นจริงอย่างน่าขัน แม้ส่วนใหญ่เนื้อเรื่องจะถูกดำเนินด้วยภาษาพูด เรียบง่าย เชย บางเรื่องดูอ่อนต่อโลกไร้จริต แต่เมื่อมันถูกบีบอัดให้ฝังตัวในองคาพยพที่พิสดาร อาทิ การลำดับเรื่อง ไปจนถึงตัวผู้ดำเนินเนื้อเรื่อง ขมวดกันจนก่อให้เกิดการระเบิดของอารมณ์ที่แตกแขนงหลากหลายได้เช่นกัน เช่น เรื่องราวสั้น ๆ เช่นในตอน“ ไปกรุงเทพฯ ” ก็เป็นเรื่องราวเรียบง่ายธรรมดา เป็นเพียงบทสนทนาสั้น ๆ ณ ที่ต่างจังหวัดห่างไกลความเจริญระหว่างยายกับหลาน บทสนทนาของคนสองคนถูกฉายซ้ำไปซ้ำมาจนเหมือนเทปคาสเซ็ทที่เล่นจนยืดเก่าเกรอะกรัง แต่ก็ทำให้ขอบตาอุ่นจากน้ำตาที่เอ่อล้นได้ไม่น้อยเช่นกัน 

 

“ ขยะอยู่ทุกที่ ขยะเต็มไปหมด ”

 

         น่าแปลกที่แม้กระทั่งความคิดในหัวที่ดูฟุ้งซ่านไม่เป็นรูปธรรมระหว่างสองฝักสองฝ่ายก็ถูกนำมาประกอบรูปใหม่ในตอนการรุกรานของขยะ 

 

         แต่“ ขยะ ”  ที่ว่าหมายถึงอะไร|ในเรื่องการรุกรานของขยะได้กล่าวถึงการพูดคุยกับตัวเอง การถกเถียงเรียงความ ไปจนการเพ่งผรุสวาท ด่าทอ ระหว่างตัวเขาและตัวกลางของสังคม เขาว่าเขาหนีขยะใหม่เพื่อไปเจอขยะเก่า ขยะอยู่ทุกที่ ขยะเปลี่ยนรูปร่างสสารได้ บ้างก็แฝงอยู่กระเป๋ากางเกง บ้างก็แฝงจำแลงกายเป็นมานุษย์  หนังสือก็เป็นขยะ ตัวเขาเป็นปัญญาชน ตกลงอะไรคือความจริง อะไรคือลวง นี่คือความพิเศษที่ผู้เขียนนำพาเรามาจนถึงจุดเส้นแบ่งเขตระหว่างอัจฉริยะผู้กระจ่างรู้ กับคนบ้าจิตพิกล 

 

         แม้เรื่องราวในหนังสือจะถูกเติมเต็มไปด้วยเนื้อหาอันหนักหนักหน่วง กังวานไปด้วยเสียงหัวเราะคำโต และกล้ามเนื้อสมองที่โตขึ้นอีกหนึ่งเซนติเมตรจะการตรึกตรองอย่างถี่ถ้วน สิ่งหนึ่งที่ดิฉันได้สัมผัสจากเรื่องนี้คือ ความธรรมชาติ เรียบง่าย คือเรื่องจริง เรื่องปกติของสังคมไทย ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อันใด แต่เพราะการขยายความเรื่องราวนั้นให้ใหญ่โตโดยเสริมแต่งแต้มความเป็นนามธรรมเข้าไปเล็กน้อยเพื่อหลอกล่อให้เราหลงอยู่ในหมอกควันแห่งมโนภาพ ในความเป็นปุถุชนธรรมดาทั่วไปใครจะรู้ว่าความพิเศษมันถูกซ่อนตัวอยู่ในส่วนที่ลึกที่สุดของจิตใจต่างหาก มันเต็มไปด้วยเรื่องละเอียดอ่อนที่เราไม่อยากพูดถึงบ่อย ๆ เช่นเดียวกันกับการที่เราแกล้งปิดตาข้างเดียว แกล้งทำเป็นไม่รู้เรื่องรู้ราวกับภาพวิกฤตสังคมที่เกิดขึ้น เพราะเราไม่รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบจนกว่ามันจะเกิดกับตัวเราเองสุดท้ายเราก็ถูกกลืนกินทีละนิด ๆ ท้ายที่สุดเราก็ถูกหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่บิดเบี้ยวอยู่ดี

 

    อาจเรียกได้ว่างานชิ้นนี้ในเชิงทัศนศิลป์ ดิฉันคงจะเรียกมันว่าประเภท contemporary art หรือศิลปะร่วมสมัย อันมีความโดยสังเขปว่า สะท้อนสังคมปัจจุบัน / กำกวม / ขัดแย้ง / สับสน / หลังโครงสร้างนิยม / สดใหม่ / ท้าทายกรอบความคิดชายเป็นใหญ่ เป็นต้น แม้จะมีการใช้ภาษาที่โบร่ำโบราณแต่มันกลับบรรจุความสดใหม่ของแนวคิดในโลกยุค modern ไว้ มันคือยาจรรโลงใจให้ลุ่มลึกในยามค่ำคืน และเป็นแสงสว่างร่ำไรขอบฟ้าในยามเช้าตรู่ คือกระจกสะท้อนด้านมืดแห่งมนุษย์ผู้เจริญ โดยมีนักเขียนผู้สวมบทเป็นคีตกวีศิลป์บรรเลงให้จับใจ และแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นวรรณกรรมนอกกระแส แต่แน่แท้ว่ามันไม่ควรเป็นวรรณกรรมนอกสายตาอย่างแน่นอน.

 



~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~



บทวิจารณ์ สิงโตนอกคอก

 

โดย ฑิตฐิตกานต์ หอมสุคนธ์ 

  


          “ทุกคนยังมีความเป็นมนุษย์พอที่ปากของพวกเขาจะละอายหากต้องพูดเรื่องการกินเนื้อแม่ตัวเอง แต่ปากเหล่านั้นไม่ละอายที่กลืนชิ้นเนื้อเข้าไป ปากของมนุษย์กินได้ทุกอย่าง แต่ไม่อาจพูดได้ทุกเรื่อง” ( หน้า ๘ ) 

            สิงโตนอกคอก หนังสือรวมเรื่องสั้นของ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ที่สะท้อนภาพสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำและการกดขี่ ความบิดเบี้ยวของจิตใจมนุษย์เรื่องของความเชื่อ ความรัก ความศรัทธา คุณธรรม ความดีเลวโดยในแต่ละเรื่องนั้นล้วนถูกเล่าถึงสังคมรูปแบบดิสโทเปียและสะท้อนมุมมองของความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง และสิงโตนอกคอกก็เป็นหนึ่งในเก้าเรื่องสั้นที่ผู้เขียนนำมาใช้เป็นชื่อของหนังสือ สิงโตเป็นสัญญะของความกล้าหาญและแข็งแกร่ง นอกคอกมีความหมายว่า การประพฤติผิดไปจากธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติกันมา ดังนั้นชื่อ สิงโตนอกคอก อาจสื่อถึงการมีความกล้าที่จะประพฤติในสิ่งที่ต่างออกไปจากผู้อื่น แม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่เป็นที่ยอมรับในกลุ่มคนหมู่มากก็ตาม เรื่องสั้นเรื่องนี้มีการนำเสนอในรูปแบบนิยายซ้อนนิยาย ผู้เขียนได้เล่ามุมมองปัญหาทางสังคมของการถูกกดขี่ ความเหลื่อมล้ำ และการเหยียดผู้อื่นจากรูปลักษณ์ภาพนอกอย่างไร้เหตุผลซึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงว่าสังคมไทยในปัจจุบันยังคงมีการตัดสินผู้อื่นจากอคติและความชอบส่วนตัวที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความไม่เท่าเทียม การถูกกีดกันจากสังคมเพียงเพราะความแตกต่าง

          “มันเป็นภาพสะท้อน-บิดร่างไปจากภาพจริงเล็กน้อย แต่สาระสำคัญยังครบถ้วน” ( คำนำผู้เขียน ) ผู้เขียนได้ใช้วิธีการนำเสนอเรื่องราวโดยได้เสริมความแฟนตาซีเข้าไปเพื่อสร้างสีสันและบรรยากาศที่แตกต่างออกไปให้กับเนื้อเรื่อง ทำให้ผู้อ่านมีความเพลิดเพลินและเข้าถึงอารมณ์ของตัวละครต่าง ๆ ได้อย่างง่ายยิ่งขึ้น แม้การเขียนเรื่องสั้นทั้งหมดนี้จะมีการนอกคอกออกจากขนบเดิมของการเขียนแนวสัจนิยมหรือคือการเขียนวรรณกรรมให้มีความเสมือนจริงและใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุดก็ตาม แต่ถึงอย่างนั้น ทั้งสาระและเนื้อหาของเรื่องก็สามารถแสดงให้เห็นชีวิตและโลกได้อย่างสมจริง

           เนื้อหาในเรื่องแรก “จะขอรับผิดทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว” ผู้เขียนได้แสดงถึงสัญญะของความเห็นแก่ตัวและสันดานดิบของมนุษย์ผ่านตัวเนื้อเรื่อง จากตอนหนึ่งในเรื่อง “ทุกคนคิดเช่นนั้นแต่ไม่มีใครกล้าพูด พวกเขาไม่กล้าพอจะบอกว่า เราต้องเผาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้เหี้ยนเพื่อจะได้ใช้ชีวิตของคนโง่ต่อไปในวันพรุ่งนี้ เขาทั้งหลายไม่กล้ากล่าวในสิ่งที่อาจทำให้ถูกรุมประณาม” (หน้า ๑๑ ) ประโยคนี้ได้สื่อให้เห็นว่า สังคมในปัจจุบันนั้นได้หล่อหลอมความคิดให้ผู้คนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นของตนออกมาแม้สิ่งนั้นจะเป็นความจริงเพราะหากความคิดนั้นสร้างความขัดแย้งกับคนส่วนมากในสังคม ก็เกรงว่าจะนำความเดือดร้อนมาให้ตนเอง และ “มอเดร็ด” ตัวละครเอกในเรื่องนี้ที่มีชื่อเหมือนกับมอเดร็ดที่ได้ชื่อว่าเป็นคนทรยศในเรื่องอัศวินโต๊ะกลม ชื่อตัวละครมอเดร็ดอาจกำลังสื่อถึงในมุมมองของคนในสังคมได้มองมอเดร็ดเป็นคนที่ทรยศต่อมนุษยชาติ เพราะเขานั้นเลือกที่จะเผาหนังสือที่มีความสำคัญมากเพื่อรักษาชีวิตของคนในเมืองไว้  

          จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ได้มีการกล่าวถึงประเด็นเรื่องระบบการศึกษาของรัฐบาลและสังคมที่ขาดมนุษยธรรมโดยจากเรื่อง “ในโลกที่ทุกคนอยากเป็นคนดี” บอกเล่าถึงโลกที่ทุกคนมีไพ่ติดตัวมาแต่กำเนิด ไพ่ของผู้ใดที่กลายเป็นสีดำแสดงว่าบุคคลนั้นเป็นคนที่เลวร้ายและบุคคลที่มีไพ่สีขาวมีสิทธิ์โดยชอบธรรมในการรุมทำร้ายเจ้าของไพ่สีดำจนถึงแก่ความตาย 

          “เด็กๆ ในโรงเรียนไม่เคยได้ตั้งคำถาม นักเรียนที่ชอบซักถามมักถูกลงโทษ เชื้อแห่งความสงสัยเลยตายจากเราไปตั้งแต่เด็ก นอกจากนั้นคนที่เริ่มสงสัยเองได้ก็จะโดนไพ่ดำทำให้พวกเขาตายจากไป” ( หน้า ๕๖ ) ข้อความข้างต้นได้มีการชี้ชัดถึงเรื่องของระบบการศึกษาที่มีการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนไม่เกิดความสงสัยในสิ่งที่ไม่ต้องการให้รู้โดยจะถูกสอนให้เชื่อตามคำบอกเล่าจากผู้ใหญ่เด็กๆ ที่ถูกสอนมาจึงไม่เคยตั้งคำถามเพราะเมื่อเกิดความสงสัยและซักถามก็จะถูกลงโทษ เปรียบเสมือนกับไพ่ที่เมื่อผู้ใดสงสัยในไพ่ ไพ่ก็จะเปลี่ยนกลายเป็นสีดำแม้จะไม่ได้ทำความผิดก็ตาม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมได้มีการตีกรอบทางความคิดให้กับผู้คนทำให้เมื่อโตขึ้นทุกคนล้วนมีมาตรฐานของความเชื่อและความคิดที่อยู่บนบรรทัดฐานเดียวกันซึ่งนั่นทำให้ง่ายต่อการควบคุมและปกครองแต่มันก็ได้สร้างสังคมที่ไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์ขึ้นเช่นกัน

           การหลีกหนีจากความจริงคือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมักจะกระทำโดยสัญชาตญาณเมื่อจิตใจของพวกเขาอ่อนแอ เพราะการต้องดำรงอยู่ในโลกที่โหดร้ายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เรื่อง “ถ่ายโอนความเป็นมนุษย์” เป็นเรื่องราวความรักระหว่างนักวิทยาศาสตร์และดาวเทียมสื่อสาร ด้วยความรักที่มีต่อเธอเขาจึงได้ทำการเคลื่อนย้ายความทรงจำและสามัญสำนึกของตนเองสู่ปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเมื่อถ่ายโอนข้อมูลจนครบถ้วนแล้ว ร่างกายของเขาหลับใหล และเข้าสู่ภาวะเจ้าชายนิทราในทันที จากเนื้อเรื่องได้สื่อถึงมนุษย์นั้นล้วนมีความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงหรือหนีจากการรับรู้ถึงความจริง เพราะในเมื่อความจริงนั้นไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเราได้ เราจึงหลบหนีจากสังคมแห่งความจริงเพื่อแสวงหาความพึงพอใจที่เราต้องการ

          “รถไฟเที่ยงคืน” รถไฟที่แล่นจากทิศตะวันออกไปตะวันตกและไม่เคยวิ่งย้อนกลับทางเดิม การตีแผ่ในเรื่องของการหลุดพ้นและความตายว่า ความตายนั้นไม่ใช่สิ่งเลวร้าย มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตที่มนุษย์ทุกคนไม่อาจเลี่ยงได้ คำพูดของตัวละครสิทธาที่กล่าวว่า “อนันดา ในเมืองนี้เราไม่สามารถหายไปได้ และฉันปรารถนาจะหายตัวไป” สื่อให้เห็นว่า สำหรับบางคนแล้วความตายนั่นไม่ใช่สิ่งที่สร้างความทุกข์ทรมานเสมอไป แต่การต้องมีชีวิตอยู่โดยที่ไม่ปรารถนาต่างหากคือสิ่งที่ทรมานที่สุดสำหรับพวกเขา

          “เธอเกิดขึ้นมาพร้อมอดัม แต่เธอปฏิเสธที่จะอยู่ข้างล่างระหว่างมีเซ็กซ์ เธอจึงถูกขับไล่ไปยังนรก แล้วพระเจ้าก็ให้อีฟที่เชื่อฟังกับอดัมแทน อดัมพอใจกับแม่เอวาน้อยที่น่าเอ็นดู ยินยอมทำทุกอย่างที่เขาขอ” ( หน้า ๑๑๗ )

           เรื่อง  “อดัมกับลิลิธ” มีการบอกเล่าเกี่ยวกับเรื่องราวของชายหญิงผ่านตำนานของศาสนาคริสต์ในประเด็นของสังคมชายเป็นใหญ่ ที่จากข้อความข้างต้นได้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมได้มีการสร้างค่านิยมที่ว่าผู้หญิงต้องอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ชายเท่านั้นโดยศาสนาได้มีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่ค่านิยมนี้ด้วยเช่นกันความคิดที่ถูกปลูกฝังว่าผู้ชายนั้นมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญกว่าผู้หญิง การวัดคุณค่าของคนจากเพศซึ่งได้สร้างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ เพศหญิงแทบไม่ได้รับโอกาสที่จะทัดเทียมเท่ากับเพศชาย ในขณะที่เพศชายมีอิสระมากกว่า แต่เพศหญิงกลับถูกสังคมตีกรอบไว้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรถึงจะเหมาะสม

          ภาพสะท้อนของสังคมเผด็จการที่ถูกปกครองโดยหุ่นยนต์ “ซินเดอเรลล่าแห่งเมืองหุ่นยนต์” นักเขียนได้มีการใช้หุ่นยนต์เป็นสัญญะแทนความไร้ซึ่งชีวิตและจิตใจของมนุษย์ มนุษย์ที่ยอมทำตามคำสั่งก็ไม่ต่างจากหุ่นยนต์ที่ทำตามกลไกและโปรแกรมที่ตั้งไว้ มีการเปรียบท่านรัฐมนตรีกระทรวงมนุษย์เสมือนกับหมู ซึ่งหมูนั้นเป็นสัญญะของความตะกละและโลภมาก สื่อถึงว่ามนุษย์นั้นมีความโลภมาก ทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ แม้ว่าจะต้องทำร้ายมนุษย์ด้วยกันเอง ยอมลดศักดิ์ศรีของตนเพื่อความสุขสบายและการเปรียบเทียบคนในชั้นชนปกครองเสมือนกับหางจิ้งจกที่เมื่อถูกตัดออกไปแล้วก็ยังสามารถงอกขึ้นได้เรื่อย ๆ สื่อให้เห็นถึงว่าต่อให้คนหนึ่งหมดวาระไป แต่การปกครองที่เหลื่อมล้ำและเผด็จการนั้นก็จะยังคงถูกสืบทอดไปอย่างไม่รู้จบ  

          “ผมรู้สึกน้ำตารื้นขึ้นที่ขอบตา มันช่างเป็นวาระที่ผสมปนเปทางอารมณ์อย่างบอกไม่ถูก ผมเศร้าใจที่น้องชายตายอย่างน่าสมเพช พวกน่ารังเกียจนี่ทำให้ผมคั่งแค้น สิ่งที่พวกเขาปฎิบัติต่อศพธารา ทำให้ผมคลื่นเหียนด้วยความสงสารและกระอักกระอ่วน” ( หน้า ๑๓๒ ) ในประโยคนี้ผู้เขียนได้บรรยายอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้อย่างดี ความรู้สึกที่โมโหและเคียดแค้นแต่ไม่สามารถทำอะไรได้ ความเสียใจต่อการตายของน้องชายที่ถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมและเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกที่ทำให้ผู้อ่านเข้าถึงอารมณ์ของตัวละคร ความหดหู่ และมีความรู้สึกสงสารในความอาภัพของตัวละครที่ต้องสูญเสียคนสำคัญไป  

          “เทพเจ้าคืออะไรกันแน่นะ เทพเจ้าอยู่ในวิหารด้วยใช่ไหม ในปล่องหอคอยสูงนั่น…อยู่ แปลว่านอนหลับ กินอาหาร ขับถ่าย อยู่บนนั้นหรือเปล่า กินอะไร ใครเอาไปให้กิน ไม่มีใครเอาอะไรไปให้เลย…ไม่เคยมีอะไรเข้าไปในห้องนั้น ไม่เคยมีอะไรออกมา” ( หน้า ๑๖๗ )

           กุหลาบขาวเป็นดอกไม้ที่แทนความหมายของความบริสุทธิ์และความสงบ เรื่องราวของการแบ่งแยกชนชั้น แบ่งฝ่ายจากความเชื่อและความศรัทธา “กุหลาบย้อมสี” ได้มีการอิงในเรื่องของเทพเจ้าที่มีความคล้ายคลึงกับความเชื่อของพระบัญญัติในศาสนาคริสต์ ผู้ใดที่ไม่เชื่อฟังเทพเจ้าจะถูกตรีตราว่าเป็นพวกนอกรีตและจะมีกุหลาบสีน้ำเงินติดตัว หากถูกจับตัวได้ก็จะถูกลงโทษจนถึงแก่ความตาย เรื่องนี้ได้มีการตั้งคำถามที่เสียดสีเป็นนัย ๆ ต่อศาสนาคริสต์คำถามจากความสงสัยได้กลายเป็นการท้าทายและลบหลู่ต่อเทพเจ้าที่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นใคร มีจริงหรือไม่ สะท้อนให้เห็นว่าสังคมให้ความสำคัญกับความเชื่อและความศรัทธาที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นอย่างมาก หากมีใครระแคะระคายต่อความเชื่อเหล่านั้นก็จะถูกกีดกันจากสังคม และยังแสดงให้เห็นว่าผู้คนนั้นมักเชื่อในสิ่งที่คนในสังคมส่วนใหญ่บอกเล่าต่อกันมามากกว่าเชื่อในสิ่งที่อยู่บนพื้นฐานของความจริง

         “สมาชิกในหลุมหลบภัย” หลุมหลบภัยในที่นี้อาจมีความหมายโดยนัยสื่อถึงพ่อที่เป็นเหมือนที่กำบังภัยให้กับคนในครอบครัว เรื่องนี้มีการนำเสนอในแง่มุมของการปกครองระบอบพ่อปกครองลูกผ่านสังคมเล็ก ๆ อย่างสังคมครอบครัวที่มีพ่อเป็นหลักของครอบครัวและกำหนดทุกอย่างในชีวิตของลูก ซึ่งเป็นการปลูกฝังให้เด็กเชื่อฟังผู้ใหญ่ในทุก ๆ เรื่อง ทำให้เด็กไม่กล้ามีความคิดต่างและคิดว่าการคิดต่างจากพ่อแม่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกและไม่ควร อีกทั้งยังสะท้อนแนวคิดสังคมชายเป็นใหญ่ ที่ผู้ชายเป็นผู้นำและคอยตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ และมองเพศหญิงด้อยกว่าเสมอ

           หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้อาจไม่ได้สร้างความบันเทิงให้กับผู้อ่านมากนักแต่เรื่องนี้ก็ได้สะท้อนให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมและได้ทบทวนว่าคุณเป็นใครในเรื่องเหล่านี้ ผู้ไล่ล่า ผู้ถูกล่า หรือผู้ช่วยเหลือเป็นสิงโตที่ยังอยู่ในคอกหรือเปล่า หากใช่ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คุณจะเดินออกมาจากคอกนั้น

 



~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~


ในกับดักและกลางวงล้อม : ทุกคนต่างมีวงล้อม

 


โดย วริศรา  ศิริโรจนนานนท์   

 


         กับดักและวงล้อมในที่นี้ในความคิดของฉัน คือ เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนเรา ปัญหาต่างๆ ที่เราจะต้องเผชิญและผ่านมันไปให้ได้ แม้จะล้มสักกี่ครั้ง แม้จะผิดพลาดมากแค่ไหน แม้จะเสียใจและท้อมากขนาดไหนคนเราก็ต้องใช้ชีวิตและก้าวข้ามผ่านมันไปให้ได้ การใช้ชีวิตเหมือนเป็นการเดินทางอย่างหนึ่งมีสิ่งที่ต้องเจออาจจะดีหรือาจจะร้ายแต่สุดท้ายชีวิตก็ต้องเดินต่อไป การดำรงชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกันปัญหาที่เจอก็แตกต่างกันแต่สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันทุกคนอยู่ในกับดักในวงล้อมที่ยังหาทางออกไม่เจอ สิ่งนั้นเรียกว่า อุปสรรค

          นวนิยายเรื่อง “ในกับดักและกลางวงล้อม” ของประชาคม ลุนาชัย เป็นนวนิยายเกี่ยวกับการใช้ชีวิต การก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ เรื่องราวที่เจ็บปวดในอดีตหรือเรื่องการทำงานในปัจจุบัน ทุกคนต่างมีเป้าหมายที่เหมือนคือ “เงิน” แต่จุดมุ่งหมายในการจัดแจงชีวิตของทุกคนนั้นแตกต่างกัน ความคิด การกระทำของแต่ละคนแตกต่างกัน นำเรื่องด้วยการออกเรือหาปลาของเรือที่ชื่อเรือทองพันชั่ง 1 เรือลำนี้ได้ ผู้นำเรือคือ “ไต๋พจน์”เป็นไต้ก๋งของเรือ เขามีตาเพียงแค่ข้างเดียวและลูกเรือที่ไม่สมประกอบหรือร่างกายไม่สมบูรณ์ด้วยเช่นกัน เรย์ ที่ตาเหล่ พาย ที่นิ้วเหลือเพียงหกนิ้ว ธม ที่ขาใส่ขาเทียมหนึ่งข้าง นาท ที่แขนของเขาคดงอ และก็ยังมีลูกเรือที่เป็นมือใหม่อีกด้วยแต่นี่ไม่ใช่ข้อจำกัดของการทำงานของพวกเขา แม้ร่างกายของพวกเขาเป็นอุปสรรคในการทำงานแต่สิ่งที่พวกเขามีคือจิตใจที่เข้มแข็งและไม่ย่อท้อต่อความไม่สมบูรณ์ทางร่างกายของพวกเขาเลย การที่ร่างกายเราไม่สมบูรณ์ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำงานไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะทำงานที่เราสามารถทำได้อย่าง “พาย” เขาเหลือนิ้วเพียงแค่หกนิ้ว แม้เขาจะเคยทำงานในเรือมาก่อนถึงขั้นได้เป็นหัวหน้าเรือ แต่ชีวิตคนเราไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย เขาโดนฉลามกัดนิ้วแต่สิ่งที่ตัวเขาไม่เคยทิ้งคือ “ใจ” อะไรที่เคยทำได้สักวันมันอาจจะหายไปได้แต่เราสามารถสร้างมันมาใหม่ได้เสมอ เขาทำงานในเรืออย่างอื่นได้ เขาเลยเลือกที่จะทำงานเป็นคนทำอาหารในเรือ การที่นิ้วเหลือเพียงแค่หกนิ้วมันไม่ได้ทำให้ชีวิตเราเดินต่อไม่ได้ มันเป็นแค่อุปสรรคระหว่างทางเดินชีวิตที่เราจะต้องก้าวข้ามผ่านมันให้ได้

          เรื่องราวของเรือทองพันชั่ง 1 ได้เริ่มออกเรือแล้ว เมื่อเรื่องราวได้เริ่มขึ้นมักมาพร้อมกับอุปสรรค พวกเขาอวนล้อมปลาไม่ได้เลย อวนปลาเหมือนอวนน้ำเปล่า ไต้ก๋งของเรือก็ไม่เคยควบคุมเรือใหญ่มาก่อนกับลูกเรือที่ส่วนมากยังไม่มีประสบการณ์ในการออกเรือ เรือลำนี้เรียกได้ว่าใหม่หมด ทุกคนในเรืออยู่ในวงล้อมที่ยังหาทางออกไม่ได้แต่สิ่งที่ไม่เคยหมดของคนในเรือนี้คือ ความพยายามและความอดทนของพวกเขา คนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้ทำครั้งเดียวแล้วจะสำเร็จ แต่สิ่งที่จะนำไปสู่ความสำเร็จคือ ความพยายาม ทุกคนต้องใช้เวลา ในการทำอะไรสักอย่างหนึ่ง พวกเขาคาดหวังมากและการที่คาดหวังมาก เมื่อมันไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง หรือว่ามันผิดหวัง มันก็จะทำให้รู้สึกแย่ มันทำให้เรารู้ว่า บางทีเป้าหมายอาจจะไม่จำเป็นต้องตั้งสูงมากนัก การที่ตั้งสูงมากมันก็ดูทำยากแต่ลองตั้งทีละน้อยๆ แต่ทำมันบ่อยๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปเรื่อยๆ นานไปมันก็มากขึ้นได้ แต่การจับปลาของพวกก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรือเที่ยวเดียว เรือเที่ยวนี้มีลูกน้องเก่ามาช่วยด้วย เขาคือ “นกยักษ์” เขามาช่วยโดยไม่หวังผลตอบแทน แค่มาช่วยให้เรือลำนี้เข้าที่เข้าทางแล้วก็จะจากไปแต่สิ่งที่เขาทิ้งไว้คือ คำดูถูก คำเยาะเย้ย คำพูดที่ให้ผลกระทบต่อจิตใจคนในเรือ “พวกมึงแน่ใจหรือว่าไต๋เรือลำนี้เก่ง แกไม่เคยคุมเรืออวนล้อมมาก่อน ดูโซนาร์เป็นหรือเปล่าก็ไม่รู้ ไต๋ก็หัดใหม่กับอวนล้อมพอ ๆ กับพวกมึงนั่นแหละ”(ประชาคม ลุนาชัย,๒๕๖๑:๕๑)คำดูถูกจากนกยักษ์ทำให้คำพวกนี้กลับสร้างพลังในใจที่ยิ่งใหญ่ต่อตัวไต๋พจน์และลูกน้อง คำพวกนี้มันจะทำให้เราอยากจะเอาชนะคำดูถูกจะลบล้างสิ่งที่คนอื่นพูดออกไป คำพูดพวกนี้มันสอนให้เราไม่ต้องไปคิดถึงคำพูดด้านลบของคนอื่นที่ให้เรารู้สึกแย่หรือรู้สึกตัวเองยังดีไม่พอแต่เรานำมันมาเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราสู้ต่อไป ต่อสู้กันอุปสรรค ความพยายามจะทำมันให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เขาพูดมันไม่จริงและวันหนึ่งเราจะทำให้เขาดูว่าเราก็ทำได้เหมือนกัน เราจะออกจากวงล้อมนั้นได้เหมือนกัน

         ประชาคมไม่ได้แค่เล่าถึงอุปสรรคในการทำงานในเรืออย่างเดียว แต่เขายังเล่าถึงชีวิตของลูกเรือ บาดแผลในอดีตหรือวงล้อมของลูกเรือที่ยังหาทางออกไม่เจออย่าง“เรย์” หนึ่งในลูกเรือที่ตาเหล่ไม่ว่าเขาจะไปเลือกคู่นอนที่ไหน เขากลับโดนสายตานั้นรังเกียจมาตลอด มันเป็นแผลในใจเขา มันเป็นสิ่งที่เขายังแก้ไขในปัญหาไม่ได้ นี่ถือเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของเขา เขายังอยู่ในวงล้อมที่เขายังออกไม่ได้เพราะเขาไม่ได้ยอมรับมันแต่มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ใจของเขาได้คิดถึงตัวเองคือ สาวรูปร่างอ้วนคนนั้น คู่นอนที่เข้ามาให้ห้องของเขาและเขาได้ทำในสิ่งที่คนอื่นทำกับเขาเรย์ส่ายหน้าน้อย ๆ แล้วบอกตัวเองด้วยสำนึกข้างใน ไม่ใช่ความผิดของเธอที่เกิดมาไม่สวยและอ้วน แถมยังดำมิดหมีเป็นถ่านนอกเตา สำหรับตัวเขาเองก็เช่นกัน เขาไม่ได้ทำอะไรผิดที่เกิดมาตาเหล่ หากความโชคร้ายที่ธรรมชาติยัดเยียดให้มาแต่กำเนิดไม่ใช่สิ่งที่เขาสามารถเลือกได้ (ประชาคม ลุนาชัย,๒๕๖๑:๘๓) เขาได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง ทบทวนตัวเองและสิ่งที่ตอบเขาได้คือ เขาไม่ได้ผิดที่เกิดเป็นแบบนี้สาวคนนั้นก็ไม่ได้ผิดที่เป็นแบบนั้น สิ่งที่เขาทำได้จากการทบทวนตัวเองคือยอมรับมัน และใช้ชีวิตต่อไป การยอมรับมันทำให้เขาออกจากวงล้อมนี้ได้ หรืออีกคนในลูกเรือที่มีขาเพียงขาเดียวและอีกข้าง คือขาเทียมเขาคือ “ธม” ทุกคนอาจคิดว่าคนที่ใส่ขาเทียมออกเรือคงลำบากแต่สิ่งที่เรื่องนี้เล่าคือ เราสามารถเลือกที่เราทำได้ ธมได้ลองเปลี่ยนมาเป็นนายท้าย แรกๆความรู้สึกเจ็บที่ขามันมากเกินกว่าจะทนไหว ขาของเขาเหมือนเป็นอุปสรรคในการทำงานในเรือเขาพยายามมาก ๆ แม้ว่าขาของเขาจะเจ็บ สมองบอกเขาว่าทำไม่ได้แต่ใจเขากับสู้ไม่ถอยและพยายามเทียบเรือให้ได้และสุดท้ายเขาก็ทำมันได้ เขายิ้มในรอบหลายปี เขาเจ็บปวดกับสิ่งที่เขาเป็นมานาน วันนี้เหมือนเขาได้หลุดออกจากวงล้อมความพยายามไม่ได้ทำให้เราเจ็บปวดเลยแต่กลับทำให้เราเหมือนเป็นคนใหม่ คนที่ดีกว่าเดิม คนที่มั่นใจในตัวเองมากกว่าเดิม เขาไม่กลัวที่จะบอกแม่ว่าเขาใส่ขาเทียมแล้วและหลังจากเรือหยุดน้ำเขาจะกลับไปบ้านเกิดของเขา ธมเผลอตัวยิ้มกว้างและค้างอยู่นานที่สุดในรอบหลายปี(ประชาคม ลุนาชัย,๒๕๖๑:๑๐๕)

           ความพยายามของพวกเขาในตอนนี้ไม่ได้สูญเปล่าแล้ว เรือจับปลาได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเรืออันดับต้นๆ ในการอวนล้อมปลา สิ่งที่นักเขียนพยายามบอกคือ เวลาจะเยียวยาทุกสิ่งให้เวลากับสิ่งที่ทำให้มาก ๆ เวลาสำคัญกับการใช้ชีวิตมาก ๆ พอๆ กับจิตใจที่เข้มแข็งและบอกถึงความพยายามมาตลอด ไม่มีสิ่งใดสำเร็จได้ถ้าเราไม่พยายามกับสิ่งนั้นให้มากพอ เราจึงต้องทุ่มเทให้มากขึ้นแม้เราพยายามมากเท่าไรแล้วยังไม่สำเร็จ สิ่งที่เราทำได้ก็คือต้องพยายามเพิ่มมากขึ้นและไม่หยุดที่จะพัฒนาตนเองขึ้นไปอีก

          นักเขียนไม่ได้ให้อุปสรรคในการใช้ชีวิตแค่กับคนที่ร่างกายไม่สมบูรณ์เพียงอย่างเดียวเพราะทุกคนต่างมีอุปสรรคในชีวิตเหมือนกัน แต่อุปสรรคที่เจอนั้นต่างกัน เหมือนกับลูกเรือคนนี้ “หลิว” คนสนิทของไต๋พจน์ มีเหตุการณ์ที่ทำให้เขาต้องเข้าโรงพยาบาล ห้าปีแล้วที่เขาไม่ได้กลับไปเยี่ยมบ้าน นอกจากเงินเก็บไม่ค่อยมีเหลือแล้ว ตัวการสำคัญก็คือเจ้าผงสีขาว ๆ ที่เขาไม่เคยตัดใจจากมันได้ลง (ประชาคม ลุนาชัย,๒๕๖๑:๑๖๐)  ระยะเวลาที่เขาอยู่โรงพยาบาลเหมือนเขาได้อยู่กับตัวเองมากขึ้นได้ทบทวนชีวิตตัวเอง ชีวิตเขาห่างจากบ้านมาหลายปีแล้วทำงานมาก็หนักใช้ร่างกายหนักมากถึงเพียงนี้แต่สิ่งที่เขาตอบแทนให้ร่างกายของเขาคือ ยาเสพติด นี่คงเป็นกับดักในชีวิตเขา เขาอยู่ในวงล้อมที่ยังออกไม่ได้นอกจากจะทำร้ายร่างกายแล้วยังผลาญเงินอีกความรู้สึกของเขาคือคนที่ไร้จุดหมาย ทำงานมาก็เอาไปซื้อยาเสพติดหมดพอได้พักเหมือนได้ทบทวน เขาก็มีคำตอบให้ตัวเอง เขาจะเริ่มต้นชีวิตใหม่จากคนที่ไร้จุดหมายตอนนี้รู้แล้วว่าจะทำอะไรในอนาคต เขาจะกลับไปหาผู้มีพระคุณของเขา ในที่นี้ นักเขียนอยากให้รู้ถึงโทษของยาเสพติดอีกด้วย มันไม่ดีเลยอาจจะช่วยให้รู้สึกดีได้แต่ก็แค่ระยะสั้นๆ เท่านั้นและสิ่งที่นักเขียนไม่ลืมเลยคือ “เวลา” ประชาคมย้ำมาตลอดว่า เวลา มันสำคัญมากๆ กับทุกสิ่งและพ่อแม่ผู้มีพระคุณก็สำคัญไม่แพ้สิ่งอื่นใดเลย นอกจากยาเสพติดแล้วก็ยังมีการพนันที่คนส่วนใหญ่ก็ยังตัดใจไม่ลง การพนันก็เป็นอีกหนึ่งกับดักของชีวิตคนเราเหมือนกันเล่นการพนันได้มากเท่าไหร่มันก็สามารถเสียได้ทำงานมาหนักขนาดไหนก็ต้องบริหารเงินให้เป็นด้วย ไม่งั้นก็หมดตัวได้

           การจบของเรื่องนี้ทุกคนต่างได้เงินส่วนแบ่งจากเถ้าแก่ ลูกเรือต่างทำเป้าหมายของตัวเองสำเร็จ ทุกคนมีเป้าหมายคือเงินแต่หลังจากนี้ทุกคนจะต่างแยกย้ายไปทำในสิ่งที่ตัวเองอยาก ทำในสิ่งที่ตัวเองตั้งใจไว้ให้สำเร็จต่อไปอีก เรือลำนี้ไม่ได้ให้แค่อุปสรรคแต่ให้ทั้งความสุข ความเหนื่อยและสามารถทำให้บางคนหลุดจากกับดักและวงล้อมได้ แม้แต่ตัวไต๋พจน์เองก็ได้เหมือนปลดปล่อยเพราะเขาอยู่ความรู้สึกที่กดดันมานาน อยู่ในวงล้อมความกดดันที่ออกไม่ได้เหมือนกับลูกเรือของเขาตอนนี้เหมือนแกหลุดจากวงล้อมที่เคยบีบรัด ปลอดโปร่งอิสระ (ประชาคม ลุนาชัย,๒๕๖๑:๒๗๘) ตอนนี้เขาปล่อยแล้ว เขารอคนที่จะเห็นคุณค่าในตัวเขา จะไม่ให้ใครมากดดันแล้วมองด้วยสายตาที่ไม่เป็นมิตรตอนที่เขายังทำในสิ่งที่ตั้งใจไม่ได้อย่างเถ้าแก่ของเขา เขาพอแล้ว เขาจะเลือกคนที่เห็นคุณค่าในตัวเขาจะดีกว่าอยู่ด้วยแล้วสบายใจมากกว่า ไม่มีสิ่งใดดีเท่าใจของตนเอง ไม่มีที่ใดสุขใจได้เท่าบ้านตนเองและไม่มีความสำเร็จไหนที่มาพร้อมกับความไม่พยายาม การเดินทางของชีวิตระหว่างการเดินทางอาจเจอกับความเจ็บปวด ความกดดัน ความล้มเหลวแต่สิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางมันกับกลายเป็นบทเรียนและภูมิคุ้มกันให้ชีวิตตลอดไปสิ่งสำคัญคือ “เวลา” เวลาจะเยียวยาทุกสิ่งเวลาจะช่วยให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น จงใช้ชีวิตอย่างมีสติและรักตัวเองในมาก ๆ นี่คงเป็นสิ่งที่นักเขียนเล่าผ่านหนังสือเล่มนี้  “ในกับดักและกลางวงล้อม”

 

อ้างอิง

ประชาคม ลุนาชัย. (๒๕๖๑). ในกับดักและกลางวงล้อม. นนทบุรี: ศรีปัญญา .

 



 ~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~


Visitors: 72,090