จรูญพร ปรปักษ์ประลัย

จรูญพร ปรปักษ์ประลัย

 จรูญพร ปรปักษ์ประลัย

 

การลาออกครั้งสุดท้าย:

ภาพสะท้อนโลกร่วมสมัย ในประวัติศาสตร์คนธรรมดา

 

 

          “อ่านหนังสือเล่มนี้, แล้วชีวิตของคุณ จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป!”

          คำของ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ที่โชว์หราบนหน้าปก “การลาออกครั้งสุดท้าย” เหมือนเป็นสลากแสดงสรรพคุณหนังสือเล่มนี้ พร้อมกันนั้นมันยังบอกเป็นนัย ถึงสิ่งที่ผู้อ่านทุกวันนี้มองหา นั่นคือความเปลี่ยนแปลงในชีวิต

          ทำไมคนเราถึงต้องการสิ่งนี้ แน่นอน ถ้าชีวิตดีอยู่แล้ว ใครบ้างจะอยากเปลี่ยน ตรงกันข้าม ถ้าภาพที่เรามองเห็นตัวเอง มันช่างห่างไกลจากภาพฝัน เราย่อมอยากได้มนต์วิเศษ มาปรับเปลี่ยนชีวิตของเรา

          ถ้าอย่างนั้นอะไรที่คนยุคนี้ไม่ชอบ หนึ่งในคำตอบน่าจะเป็นการทำงาน กล้ำกลืนฝืนทนทำบางอย่าง แลกมาซึ่งค่าตอบแทนในรูปแบบเงินเดือน ชีวิตแต่ละวันซ้ำซากจำเจ แวดล้อมด้วยสารพัดคนน่าเบื่อ งานเยอะเหมือนมหกรรมคอนเสิร์ต แต่ไฟทำงานกลับริบหรี่ ไม่ต่างจากแสงเทียนใกล้มอดดับ

          คำถามที่ผุดขึ้นในใจหลายคนคือ เราทำงานไปเพื่ออะไร และ มีหนทางใดบ้างที่เราจะหลุดพ้นจากวัฏจักรของการทำงาน ได้ใช้ชีวิตอิสระอย่างเต็มที่ ได้ทำสิ่งต่าง ๆ ตามใจปรารถนา

          ด้วยความคิดและอารมณ์ร่วมนี้เอง ทำให้ “การลาออกครั้งสุดท้าย” เป็นเหมือนสิ่งที่ตอบโจทย์คนยุคนี้ จึงไม่แปลกที่สำนักพิมพ์จะสกรีนป้าย Best Seller ไว้บนหน้าปก ยิ่งเมื่อดูจากจำนวนพิมพ์กว่า 40 ครั้ง ในช่วงเวลา 12 ปี  ยิ่งยืนยันว่า หนังสือเล่มนี้กำลังพูดเรื่องที่ผู้คนสนใจฟัง มีประสบการณ์ใกล้เคียง หรือคิดว่าจะจูงมือเขาออกไปพบคำตอบได้

          หากเรามองหาชั้นหนังสือที่เหมาะสมให้กับ “การลาออกครั้งสุดท้าย” ผลงานของ ภาณุมาศ ทองธนากุล เล่มนี้น่าจะอยู่ในหมวดสารคดีเชิงประสบการณ์ ตลอดทั้งเล่มเป็นเรื่องราวของชายหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งก็คือผู้เขียนนั่นแหละ เขาบอกเล่าประสบการณ์ตั้งแต่เริ่มทำงานในปี 2544 จนลาออกจากงานปลายปี 2548 และหลังจากนั้นจนถึงปี 2552 ที่เขาไม่ได้ใช้ชีวิตแบบมนุษย์เงินเดือนอีกต่อไป

          พูดง่าย ๆ หนังสือเล่มนี้เป็นการสรุปเส้นทางชีวิตคน ๆ หนึ่ง ในช่วงเวลา 8 ปี ที่มุ่งมั่นจะมีชีวิตอิสระ ว่างจากงาน ไม่ถูกมัดติดอยู่กับงานใด ๆ อีกต่อไป

          สรุปแบบนี้หลายคนคงบอก นี่แหละชีวิตในฝันล่ะ แต่เดี๋ยวก่อน ! ทุกสิ่งล้วนมีราคาที่ต้องแลก เรื่องราวใน “การลาออกครั้งสุดท้าย” ตลอดทั้งเล่มเผยให้เห็นว่า เขาต้องเสียอะไรไปบ้าง เพื่อให้ได้มาซึ่งชีวิตที่ใฝ่ฝัน เปรียบกับมวยก็ไม่ใช่ขึ้นไปชก ๆ ๆ แล้วชนะโดยง่าย เพราะระหว่างพยายามปล่อยหมัด เขาก็โดนหมัดสวนกลับมานับครั้งไม่ถ้วน ซวนเซไปหลายหน แต่ยังทนปักหลักสู้ พร้อมค่อย ๆ เรียนรู้ว่า ต้องยืนอยู่บนสังเวียนอย่างไร ถึงจะไม่ล้มลงไปให้กรรมการนับน็อค

          ถ้าแบ่งกันคร่าว ๆ เวลา 8 ปีใน “การลาออกครั้งสุดท้าย” สามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วงใหญ่ ๆ คือ หนึ่ง ก่อนการลาออกครั้งสุดท้าย สอง ชีวิตช่วงสับสน และสาม เมื่อค้นพบคำตอบ

          ตลอดทั้งเล่ม ภาณุมาศ ทองธนากุล ค่อย ๆ เล่าไปตามลำดับ ตั้งแต่ยังทำงานในบริษัท แล้วเกิดความคิดที่จะลาออกไปเป็นผู้ว่างงาน เพื่อให้ได้มาซึ่ง ‘อิสรภาพ’ อันเย้ายวนใจ แม้ความปรารถนาแน่ชัด แต่เขายังมีสติพอที่จะไม่ผลีผลามลาออก ก่อนหาคำตอบให้ตัวเองได้ว่า ออกไปแล้วจะอยู่ยังไง และ ทำยังไงถึงจะมีเงินใช้ไม่ขาดมือโดยไม่ต้องเป็นลูกจ้าง

          โจทย์ใหญ่สุดของเขาคือเรื่องเงิน เขาคำนวณว่า ต้องมีเงินเก็บสองล้านสี่แสนบาทถึงจะอยู่รอด แต่เงินล้านไม่ใช่หากันได้ง่าย ๆ ถึงพยายามอดออมและใช้ช่องทางลงทุนต่าง ๆ ตัวเลขในบัญชีก็เพิ่มขึ้นทีละน้อย ไม่ยอมแตะหลักล้านเสียที

          เกินกว่าครึ่งเล่มว่าด้วยเรื่องนี้เป็นหลัก สำหรับใครที่ชอบนิยายประเภทเดินหน้าไว ๆ มีจุดพลิกผันอยู่ตลอด อาจรู้สึกว่า เรื่องไม่ค่อยไปไหน อ่านครึ่งค่อนเล่มแล้วก็ยังพูดวนแต่เรื่องเดิม ทว่าชีวิตไม่เหมือนนิยายที่จะกำหนดอย่างไรก็ได้ ความรวดเร็วอาจดึงดูดแฟนนิยาย แต่ในฟากฝั่งของชีวิตจริง ความช้าต่างหากที่เป็นตัววัด ว่าใครแน่วแน่กับทางที่เลือกเดินแค่ไหน

          ผ่านไปปีแล้วปีเล่า ผู้เขียนเข้าออกหลายบริษัท ทว่าเงินที่พยายามเก็บยังคงอยู่หลักแสน ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจไม่รอ การลาออกครั้งสุดท้ายมาถึงเมื่อเขาทำงานไปได้สี่ปี

          สำหรับคนช่างฝันทั้งหลาย อาจนึกถึงนิทานที่ลงเอยด้วย นับจากนั้นเจ้าชายและเจ้าหญิงก็ครองคู่กันอย่างมีความสุขตราบชั่วนิรันดร์ นั่นเป็นนิทาน แต่ในชีวิตจริง ส่วนใหญ่มักไม่จบแบบนั้น  

          ขอเปรียบกับมวยอีกสักครั้ง สี่ปีที่ผ่านไปเหมือนช่วงเวลาแห่งการฝึกซ้อม เตรียมตัวพร้อมรับ ‘ของจริง’ ที่อยู่ข้างหน้า เมื่อเขาลาออกมาโดยตัดสินใจว่า นี่จะเป็นการลาออกครั้งสุดท้าย จึงถึงเวลาขึ้นสังเวียนอย่างแท้จริง

          โชคดีที่ผู้เขียนไม่มีอะไรเป็นภาระ เขาอยู่กับพ่อแม่ที่เข้าใจ ไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน และมีความสามารถที่จะหาเงินมาเติมในกระเป๋าได้อยู่เรื่อย ๆ ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังรู้สึกไม่มั่นคง สถานะที่เปลี่ยนทำให้เขาเกิดความสับสน แต่ละวันผ่านไปโดยที่เขาต้องต่อสู้กับความขัดแย้งภายใน

          สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือการเปรียบเทียบกับผู้อื่น การไม่ไปทำงานทำให้เขามองตัวเอง โดยคิดถึงสายตาของใคร ๆ ที่มองมาอย่างประเมินค่าคนแบบเขา

          “...ความกลุ้มใจที่เกิดขึ้น มันไม่ได้อยู่ที่เรื่องรายได้เลย แต่อยู่ที่ความรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่ต้องการต่างหาก แย่กว่าไม่มีตังค์อีก

          “ผมรู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่า ไม่มีตัวตน บางทีขนาดเข้าเซเว่นฯ ยังไม่มีเสียง ‘ตื๊อดื่อ’ เลย

          “การอยู่บ้านแบบนี้ ไม่ต้องให้ใครมากระแนะกระแหน ก็รู้สึกอยู่แล้วล่ะว่า คนว่างงานอย่างผมได้สูญเสียอะไรหลายอย่างไปในชีวิต ไม่มีตำแหน่ง ไม่ได้เรียนรู้จากคนเก่ง ๆ ไม่มีโบนัส ไม่มีสวัสดิการ

          “เวลาส่องกระจกก็ไม่ค่อยกล้าส่องเต็มที่ กลัวไอ้คนที่อยู่ในกระจกมันจะด่าให้ว่า ว่างงานมาปีกว่า ๆ แล้ว แทนที่จะเอาเวลาไปสร้างความมั่นคงอย่างที่ตั้งใจ กลับเอาไปพักผ่อนเที่ยวเล่น แล้วยังมีหน้าภูมิใจว่า นี่คือชีวิตที่ดี...”

          (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 13 หน้า 217)

          ภาณุมาศ ทองธนากุล กำลังบอกเราว่า ทุกทางเลือกย่อมมีข้อดีข้อเสีย เมื่อมองเห็นข้อดี ก็จงรู้ไว้เถิดว่า ข้อเสียเคียงคู่มาข้าง ๆ ด้วย นี่เป็นช่วงที่สอง ซึ่งทำให้เราต้องลุ้นว่า สุดท้ายเขาจะไปรอดบนทางสายนี้ หรือหันหลังกลับสู่เส้นทางมนุษย์เงินเดือน เปรียบกับภาพยนตร์ นี่คือช่วงเปลี่ยนจากองก์ 2 เข้าสู่องก์ 3 ซึ่งเป็นไคลแม็กซ์และจุดคลี่คลายเรื่อง

          แล้วเขาก็ไม่ทำให้คนอ่านที่ตามลุ้นต้องผิดหวัง ช่วงท้ายของเล่มมีเนื้อหาที่เข้มข้น หากใครตั้งใจมองหาแง่คิด ก็ช่วงนี้แหละที่จะได้ไปเต็ม ๆ

          หลังจากจิตตกอยู่พักใหญ่ เขาเริ่มพิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างจริงจัง เปรียบเทียบตัวเองกับพ่อ ซึ่งถึงวัยหกสิบแล้วก็ยังคงแต่งตัวไปทำงาน เปรียบเทียบตัวเองกับแม่ ที่เสียสละเพื่อทุกคนในบ้าน ไม่เคยคิดเรื่องอิสรภาพหรือการไล่ตามความฝัน

          แล้วเขาก็พบคำตอบ ว่าชีวิตอิสระไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำงาน แต่อยู่ที่เราคิดอย่างไรต่อสิ่งที่ทำต่างหาก ถ้าเราคิดแบบลูกจ้างซึ่งโดนกดหัวใช้อยู่ตลอด เราก็ไม่มีอิสระ แต่ถ้าเราคิดแบบนาย เราก็จะทำงานอย่างมีความสุข  

          ความสุขยังไม่ได้เกิดจากการว่างงาน ใช้ชีวิตสบาย ๆ ไปเรื่อย ๆ แต่เกิดเมื่อเราได้ทำบางอย่างที่มีคุณค่าและความหมาย

          “...วันสบาย ๆ ที่ได้นอนเล่นไม่เห็นจะมีความหมายเลยแม้แต่น้อย ผ่านมาแล้วก็จำอะไรเกี่ยวกับมันแทบไม่ได้ ช่วงเวลาที่ผมชอบจริง ๆ กลับเป็นตอนที่ได้ลงมือทำอะไรขึ้นมาซักอย่าง...”

          (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 13 หน้า 259)

          แน่นอน หากเอาตาชั่งโบราณมาวัด ชัยชนะของเขาดูไม่ใช่สิ่งยิ่งใหญ่อะไรเลย ก็แค่เรื่องราวของคนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง หาใช่ผู้กล้าที่เสียสละเลือดเนื้อเพื่อแผ่นดิน ศิลปินผู้มีชื่อเสียงก้องโลก คนที่ก่อร่างสร้างธุรกิจพันล้าน หรือดาราระดับซูเปอร์สตาร์

          แต่ถ้าเรามองด้วยสายตาคนระดับเดียวกัน สิ่งที่เขาทำถือเป็นความกล้าหาญสำหรับคนยุคนี้ ซึ่งมีเส้นทางมาตรฐานให้ทุกคนก้าวเดิน เพียงไม่ทำตามนั้น ก็นับเป็นความกล้าหาญได้แล้ว

          ไม่มากก็น้อย ภาพของคนที่ลาออกจากงาน มาใช้ชีวิตแบบไม่มีใครชี้นิ้วสั่ง คือภาพฮีโร่ของคนหนุ่มสาวในปัจจุบัน เรื่องราวของเขาจึงเป็นต้นแบบ และเป็นแรงบันดาลใจให้หลาย ๆ คน แม้สุดท้ายอาจไม่มีสักคนเดียวที่ทำแบบเขาได้ก็ตาม

          ก่อนหน้าที่ ภาณุมาศ ทองธนากุล จะเขียน “การลาออกครั้งสุดท้าย” เขามีผลงานออกมาแล้วหลายเล่ม ส่วนหนึ่งเป็นแนวเดินทางท่องเที่ยวภายใต้นามปากกา ‘ใบพัด’ ได้แก่ “เสียดาย...คนอินเดียไม่ได้อ่าน” “ฟินแลนด์ไม่มีแขน” และ “หัดเยอรมัน” หนังสือเหล่านี้สอดรับกับวิถีชีวิตคนยุคใหม่ ที่ชื่นชอบการเดินทาง อยากพาตัวเองออกไปสู่โลกใหม่ สบตาผู้คนในที่แปลก ๆ สูดกลิ่นและลิ้มรสที่ไม่เคยได้ลอง ทั้งหมดเป็นประสบการณ์พิเศษ ไม่ต่างจากโบนัสหรือรางวัลที่มอบให้แก่ชีวิต

          เทียบกับ “การลาออกครั้งสุดท้าย” ซึ่งเป็นเรื่องของคนลาออกจากงาน พาตัวเองมาแขวนอยู่กับบ้านแล้ว หนังสือสามเล่มนั้นมีสีสันกว่ามาก คำถามคือ ทำไม “การลาออกครั้งสุดท้าย” กลับสร้างกระแสและความสำเร็จให้เขามากกว่าเล่มอื่น ๆ หลายสิบเท่า    

          หากนิยามของ “เสียดาย...คนอินเดียไม่ได้อ่าน” “ฟินแลนด์ไม่มีแขน” และ “หัดเยอรมัน” คือเรื่องราวการผจญภัยในต่างแดน “การลาออกครั้งสุดท้าย” ก็เป็นการผจญภัยอีกรูปแบบ แต่ละบทเราไม่อาจรู้ได้เลยว่า ผู้เขียนจะพบเจออะไรรออยู่เบื้องหน้า เราจึงเหมือนกำลังร่วมเดินทางไปกับเขา เพียงแต่ไม่ได้ท่องไปในโลกกว้าง นี่คือการเดินทางบนเส้นทางชีวิต ซึ่งทุกการตัดสินใจล้วนเป็นเรื่องจริงจัง

          สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันสำหรับหนังสือสี่เล่มนี้คือ ทั้งหมดเป็นประสบการณ์เฉพาะตัวของคน ๆ หนึ่ง ถึงเราจะไปเที่ยวที่เดียวกับเขา ก็ไม่มีทางเจอสิ่งต่าง ๆ เหมือนเขาเป๊ะ เช่นเดียวกับการลาออกจากงาน สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาคงไม่ซ้ำแบบใคร และคงไม่มีใครก็อปปี้แบบเขาได้

          ประสบการณ์ชีวิตของใครก็ตาม เป็นสิ่งที่ลอกเลียนกันไม่ได้ แม้จะให้คน ๆ นั้นเลียนแบบตัวเอง ก็คงไม่อาจทำได้เป็นครั้งที่สอง    

          ในเมื่อเราไม่มอง “เสียดาย...คนอินเดียไม่ได้อ่าน” “ฟินแลนด์ไม่มีแขน” และ “หัดเยอรมัน” เป็นคู่มือการเดินทาง เราคงไม่มองเช่นกันว่า “การลาออกครั้งสุดท้าย” เป็นคู่มือการใช้ชีวิต หรือแม้แต่จะเรียกว่าหนังสือฮาวทู ซึ่งต้องอ่านเพื่อใช้เป็นแนวทางในเรื่องต่าง ๆ   

          จุดสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ ภาณุมาศ ทองธนากุล กำลังชี้แนะอะไรเรา แต่อยู่ที่การเสนอภาพชีวิตของตัวเองในช่วงเวลา 8 ปี ไม่ต่างจากงานชีวประวัติทั้งหลาย ทว่าสิ่งที่ผิดไปจากชีวประวัติที่เราคุ้นเคยคือ ภาณุมาศ ทองธนากุล หาใช่บุคคลสำคัญ ผู้ประสบความสำเร็จ คนมีชื่อเสียง หรือต้นแบบในด้านใดด้านหนึ่ง เขาเป็นเพียงคนธรรมดา ๆ ที่เราพบเจอได้ทั่วไป

          คนส่วนใหญ่อาจไม่ทันได้สังเกตว่า ทุกวันนี้แนวทางการเขียนชีวประวัติเปลี่ยนไปมาก ในอดีต ชีวิตประวัติเป็นเรื่องเฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้น ต่อมาเราถึงได้อ่านชีวประวัติของบุคคลระดับผู้นำ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และเกจิอาจารย์องค์สำคัญ แม้แต่ในยุคที่มีหนังสืองานศพ การเรียบเรียงประวัติก็ยังจำกัดอยู่แค่คนมีฐานะ ชาวบ้านทั่วไปไม่เคยได้รับการบันทึกเรื่องราวในรูปแบบชีวประวัติ

          จนในยุคนิตยสารเบ่งบาน เราจึงเริ่มเห็นคนหลากหลายเขียนเล่าเรื่องของตัวเอง “ฟ้าเมืองไทย” “ฟ้าเมืองทอง” “ต่วย’ตูน” “คู่สร้าง – คู่สม” หรือแม้แต่ “ศาลาคนเศร้า” ทำให้ชีวประวัติไม่จำกัดอยู่แค่กลุ่มคนแถวหน้า ทุกคนต่างมีเรื่องราวที่น่าสนใจ น่าศึกษา และสะท้อนให้เห็นบางแง่มุมของชีวิต

          ทุกวันนี้หนังสือกลุ่มชีวประวัติขยายใหญ่ขึ้นมาก และ “การลาออกครั้งสุดท้าย” คือหนึ่งในจำนวนอันมากมายที่ตอกย้ำว่า ผู้คนปัจจุบันไม่ได้สนใจแค่คนเก่ง คนเด่น หรือคนดัง แต่เรายังอยากรู้เรื่องของคนธรรมดา ๆ เหมือนกับเรา ต้องการฟังสิ่งที่พวกเขาเล่า ไม่ต่างจากฟังเพื่อน ๆ ที่ไม่ได้มีอะไรวิเศษไปกว่าเรา

          เราอ่านเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เพื่อให้เห็นจุดหมายอันสูงลิบ เหมือนเวลาอ่านเรื่องของคนที่ประสบความสำเร็จ เราเพียงใช้เรื่องราวของคนอื่นสะท้อนภาพตัวเองให้ชัดเจนขึ้น ฟังความคิดของพวกเขา เพื่อให้ได้ยินเสียงความคิดตัวเอง ซึมซับความรู้สึกของคนเหล่านั้น เพื่อให้ความรู้สึกของตัวเองยิ่งแจ่มชัด

          หากมองในแง่นี้ สิ่งที่ ภาณุมาศ ทองธนากุล เขียน คงเป็นการพูดแทนใจใครหลายคน หรือถ้าจะวัดจำนวนกันชัด ๆ อาจเป็นคนวัยทำงานส่วนใหญ่เลยก็ว่าได้ นี่เป็นสิ่งที่คนยุคก่อนไม่เข้าใจ ในสมัยที่งานราชการยังเป็นอาชีพในฝัน ผู้คนต่างดิ้นรนที่จะเป็นข้าราชการ จากนั้นก็เกาะติดกับงานนั้นจนเกษียณ ต่อมาเมื่อภาคธุรกิจขยายตัว มีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย หนุ่มสาวมีทางเลือกมากขึ้น แต่ทั้งหมดยังคงฝากชีวิตไว้กับงาน จนไม่กี่สิบปีมานี้เอง ที่คนรุ่นใหม่ไม่ได้มองงานเหมือนเดิมอีกแล้ว จุดหมายของการทำงานเพื่อความมั่นคง ความก้าวหน้า และความสำเร็จในชีวิต กลับไม่ใช่สิ่งที่คนทุกวันนี้ให้ค่าเป็นอันดับหนึ่ง จริงอยู่ ทุกคนยังต้องการสิ่งเหล่านั้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการชีวิตอิสระ และปรารถนาที่จะมีความสุขในทุก ๆ วัน ไม่ใช่ฝืนทนทำงาน เพื่อรอรับความสุขในบั้นปลายของชีวิต       

          แต่ก็อย่างที่บอก เรื่องราวใน “การลาออกครั้งสุดท้าย” เป็นประสบการณ์ส่วนตัว ลอกเลียนแบบกันไม่ได้ และอันที่จริงควรมีป้ายเตือน ‘ห้ามลอกเลียนแบบ’ เสียด้วยซ้ำ เนื่องจากองค์ประกอบในชีวิตแต่ละคนต่างกัน แม้คนอื่น ๆ จะมีความปรารถนาเหมือน ภาณุมาศ ทองธนากุล แต่ก็อาจไม่ได้มีพื้นฐานครอบครัวแบบเขา อาจมีภาระมากมายที่ต้องรับผิดชอบ หรืออาจไม่มีความสามารถที่จะทำงานอิสระ อย่างการเขียนหนังสือแบบที่เขาทำ ฯลฯ

          ถึงที่สุดแล้วการอ่าน “การลาออกครั้งสุดท้าย” อาจไม่ให้อะไรมากไปกว่าการได้เห็นใครสักคนรอดพ้นวงจรแห่งการทำงาน เช่นเดียวกับการหลุดพ้นของนีโอใน The Matrix หรือการหลบหนีออกจากคุกอันแน่นหนาใน The Shawshank Redemption ตอนนี้เรายังหนีไปไม่ได้ แต่การได้รู้ว่ายังมีหนทางหนี และมีคนเคยหนีออกไปได้แล้ว มันก็สร้างความหวังเล็ก ๆ ให้แก่เราได้   

          เพราะอย่างนี้เอง ถ้าเราตีความข้อความ “อ่านหนังสือเล่มนี้, แล้วชีวิตของคุณ จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป!” ที่ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ บอก มันจึงไม่น่าใช่ความเปลี่ยนแปลงในเชิงรูปธรรม ประเภทอ่านจบปุ๊บ ยื่นจดหมายลาออกปั๊บ แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงลึก ๆ ภายใน อย่างการมองชีวิตโดยพยายามหาคำตอบ ว่าถ้าเราเลือกชีวิตในแบบของเราเองได้ เราจะออกแบบมันอย่างไร

          แน่นอนที่สุด นี่ไม่ใช่หนังสือเชิญชวนให้คนลาออกจากงาน แต่เป็นการนำชีวิตของคน ๆ หนึ่งมาแผ่ให้เห็น ว่าเขาคิดอย่างไรต่อชีวิตและการทำงาน

          ถูกต้อง งานทั้งหลายย่อมมีผลต่อชีวิต แต่งานไม่ใช่เงื่อนไขเดียวของชีวิต ไม่ว่าเราจะใช้ชีวิตแบบไหน แบบมนุษย์เงินเดือน ทำงานอิสระ หรือนั่งกินนอนกินโดยไม่ทำงาน ชีวิตก็มีค่าได้ทั้งนั้น

          แต่จะมีค่าได้ด้วยวิธีใด แต่ละคนต้องหาคำตอบด้วยตัวเอง.       

 

ภาณุมาศ ทองธนากุล. การลาออกครั้งสุดท้าย The Last Resignment. กรุงเทพฯ : อะบุ๊ก, 2553. 304 หน้า  

 

 


 

 

 

วิจารณ์คดี (5) 

อาการ ‘ช่าง’ ของนักวิจารณ์ : ช่างร้อยเรียง

 

 

ปัญหาหนึ่งของบทวิจารณ์อยู่ที่การร้อยเรียง หลายคนอ่านหนังสือแตกกระจุย คิดวิเคราะห์ตีความได้คมกริบ แต่พอต้องลงมือเขียนกลับวกไปวนมา เหมือนนึกอะไรได้ก็ใส่ไปก่อน เนื้อหาเลยไม่ค่อยปะติดปะต่อ กระโดดไปทางนั้นทีทางนี้ที ไม่มีการลำดับความคิดที่ดี 

สำหรับผม นี่ถือเป็นบทวิจารณ์ที่ป่วยครับ  

วิธีรักษาให้นึกถึงยา 3 เม็ด ยาประเภทอื่น ๆ อาจกินเช้า กลางวัน และเย็น แต่ยาของเราคือ เปิดเรื่อง ดำเนินเรื่อง และปิดเรื่อง ซึ่งเป็นสามส่วนหลัก ๆ ที่ต้องมีในบทวิจารณ์ 

ยาเม็ดแรก การเปิดเรื่อง ไล่กันไปตั้งแต่ชื่อบทวิจารณ์เลย พวกป่วยหนัก ๆ มักไม่ตั้งชื่อบทวิจารณ์ เขียนวิจารณ์อะไรก็ใส่ชื่อบทประพันธ์ลงไปเลย อย่างเช่น “บุพเพสันนิวาส โดย รอมแพง” เขียนมาแบบนี้จะให้เข้าใจว่าอย่างไร 

แล้วลองคิดดู ถ้ามีคนเขียนวิจารณ์ “บุพเพสันนิวาส” สักร้อยคน ไม่งงกันหมดเหรอ ว่าบทวิจารณ์ไหนเป็นของใคร   

ชื่อบทวิจารณ์ที่ดีต้องสอดคล้องกับประเด็นที่หยิบมาวิจารณ์ เหมือนเป็นป้ายบอกทางให้คนอ่านรู้ว่าจะไปทางไหน ไม่ใช่บอกข้างหน้าเป็นน้ำตก เดินเข้าไปจริง ๆ กลับเจอแต่ถ้ำ ไม่มีน้ำสักหยด 

ชื่อต้องบอกให้พอรู้ว่า ผู้อ่านจะเจออะไรข้างหน้า แต่เป็นการบอกแบบยั่วให้อยาก ไม่ใช่บอกกันโต้ง ๆ จนหมดเปลือก ไม่เหลืออะไรให้ค้นหาอีกต่อไป 

การตั้งชื่อไม่ว่าจะเป็นชื่ออะไร ยากทั้งนั้นครับ แต่ไม่ว่ายังไงก็ละเลยไม่ได้เด็ดขาด เพราะชื่อดีย่อมมีชัยตั้งแต่ต้นครับ

จากชื่อบทวิจารณ์ก็มาถึงการเกริ่นนำ ส่วนนี้แยกย่อยลงไปได้อีก เป็นส่วนที่บอกที่มาของงานที่เราหยิบมา อาทิ เป็นงานของใคร ตีพิมพ์ที่ไหนเมื่อไร เคยมีใครพูดถึงอย่างไร หรือเคยได้รางวัลอะไรมาบ้าง เป็นต้น

ส่วนของเนื้อหาโดยรวม ตรงนี้ต้องใช้ทักษะการย่อความครับ อย่างที่ผมเคยบอก เขียนให้สั้น กระชับ ได้ใจความ อย่าเยิ่นเย้อยืดยาวยุ่งเหยิง ให้ผู้อ่านพอรู้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร  เรื่องราวย่อ ๆ เป็นอย่างไร ใครเป็นใครกันบ้าง 

ส่วนของประเด็นวิจารณ์ คุณจะหยิบประเด็นไหนมาเขียน ก็ต้องเปิดกันตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ใช่ลากผู้อ่านไปครึ่งทางแล้ว ถึงค่อยมาเปิดประเด็น แบบนี้ช้าไปครับ 

ส่วนของเครื่องมือหรือทฤษฎีที่นำมาใช้ ก็ต้องบอกไว้แต่แรกเหมือนกัน ถือเป็นข้อตกลงระหว่างผู้วิจารณ์กับผู้อ่าน ว่าเราจะมองงานด้วยกรอบอะไร กรอบนั้นมีหลักการอย่างไร ถ้าเราไม่บอกผู้อ่านไว้ก่อน อาจมีคนที่ตามไม่ทัน อ่านแล้วมึนหัวเหมือนเป็นโรคบ้านหมุน จากนั้นก็เลิกอ่านบทวิจารณ์ของเราต่อ

ส่วนย่อย ๆ ที่รวมกันอยู่ในการเปิดเรื่อง สามารถสลับที่กันได้ แต่รวมกันแล้วต้องไม่ยาวเกินไป แนะนำว่าอย่าให้เกิน 1 ใน 4 หรือ 25 เปอร์เซ็นต์ของบทวิจารณ์ เพราะถ้ายาวกว่านี้ คนอ่านจะรู้สึกว่าอืดอาด ไม่เข้าเรื่องซะที

ยาเม็ดที่สอง การขยายเรื่อง เป็นก้อนที่ใหญ่ที่สุด เพราะต้องให้รายละเอียดอย่างครบถ้วนกระบวนความ ว่าจากประเด็นที่เราเปิดไว้ มีองค์ประกอบไหนที่สอดคล้องกันบ้าง เช่น ถ้าคุณจะวิจารณ์การ์ตูนโดราเอมอน โดยจับประเด็นสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ คุณก็ต้องค่อย ๆ ชี้ให้เห็นทีละจุด ตั้งแต่จำนวนตัวละครชายและหญิงที่แตกต่างกันมาก บทบาทและความสำคัญของตัวละครชายและหญิง ทัศนะที่ตัวละครชายมีต่อผู้หญิง ทัศนะที่ตัวละครหญิงมีต่อตัวเอง เหตุการณ์ที่มักเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ระหว่างตัวละครหญิง – ชาย บทพูดของตัวละครต่าง ๆ ที่แฝงทัศนะชายเป็นใหญ่ เป็นต้น 

ส่วนนี้ต้องจับให้มั่นคั้นให้ตาย อย่าแกว่งไปหาประเด็นอื่น เช่น ถ้าจะจับประเด็นสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ ก็ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาบอกผู้อ่านว่า โดราเอมอนเป็นการ์ตูนที่มีจุดเด่นอยู่ตรงของวิเศษในกระเป๋าหน้าท้องโดราเอมอน จากนั้นก็ร่ายยาวถึงของวิเศษแต่ละอย่าง ราวกับรายการทีวีช้อปปิ้ง   

ถ้าจะพูดถึงของวิเศษ ก็หยิบมาเฉพาะที่สอดคล้องกับประเด็นนี้ เช่น ของวิเศษต่าง ๆ แฝงแนวคิดเรื่องผู้ชายเป็นใหญ่ไว้แค่ไหนอย่างไร หากไม่มีอะไรเด่นชัด อาจไม่ต้องพูดถึงของวิเศษเลยก็ได้

นอกจากรายละเอียดในตัวบทแล้ว เรายังสามารถหยิบยกแนวคิด ทฤษฎี วาทะ หรือนำตัวบทอื่นมาเปรียบเทียบ เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้แก่ประเด็นที่นำเสนอ แต่ก็ต้องระวังว่าหยิบมาแต่พอดี ไม่ใช่ยกคำพูดคนนั้นคนนี้มาใส่จนเปรอะไปหมด หรืออธิบายทฤษฎียาวเหยียดจนดูเหมือนตำรา หรือถ้าจะเอางานอื่นมาวางเทียบ ก็อย่าให้งานนั้นเยอะจนกลบงานที่เราวิจารณ์ 

อย่างที่บอก ส่วนนี้เป็นก้อนที่ใหญ่ที่สุด คืออย่างน้อยครึ่งหนึ่งของบทวิจารณ์ เพราะฉะนั้นต้องลำดับความคิดให้ดี อย่าเขียนวกไปวนมา จับจุดไหนก็ไล่ไปให้จบ ไม่ใช่เปลี่ยนไปพูดเรื่องอื่นแล้ว ก็วนกลับมาพูดเรื่องเดิมอีก เหมือนไม่ไปไหนสักที

ยาเม็ดสุดท้าย การปิดเรื่อง เป็นการสรุปประเด็นที่เปิดไว้และขยายให้เห็นรายละเอียดต่าง ๆ จนครบหมดแล้ว เราปิดได้สองแบบ   

หนึ่ง ปิดแบบปิด เป็นการฟันธงฉับลงไปเลย ว่าจากประเด็นที่วางไว้ เราคิดเห็นอย่างไร 

สอง ปิดแบบเปิด เป็นการไม่สรุปตายตัว แต่ให้ผู้อ่านนำไปคิดต่อ ขยายความคิด หรือตัดสินด้วยตัวเอง จากที่เราวางประเด็นและแจกแจงไว้ให้ 

ถ้าจะมีการประเมินคุณค่า ก็ใส่ไว้ตรงส่วนนี้ ว่าสุดท้ายแล้วคุณมองงานที่หยิบมาอย่างไร ดีหรือเลว ถูกหรือผิด ย่ำอยู่กับที่หรือมีพัฒนาการ สร้างความแปลกใหม่หรือเป็นแค่การผลิตซ้ำ ฯลฯ

แต่การประเมินคุณค่าก็ต้องไม่หลุดจากประเด็น พูดง่าย ๆ ว่าตลอดทั้งบทวิจารณ์ต้องเกาะประเด็นไว้ให้มั่น ตรงไหนหลุดประเด็นออกไป จะกลายเป็น ‘ติ่ง’ หรือส่วนเกินทันที 

แจกยาไปครบ 3 เม็ดแล้ว ถ้าคุณไล่เรียงไปตามนี้ ก็จะได้โครงสร้างของบทวิจารณ์ที่น่าอ่าน ที่เหลือขึ้นอยู่กับแต่ละคน ว่าจะใส่อะไรลงไปในโครงสร้างแต่ละส่วน 

สุดท้ายก็อยู่ที่คำซึ่งผมย้ำอยู่บ่อยครั้ง ประเด็น ประเด็น และประเด็น ถ้าไม่มีประเด็นซะอย่างเดียว บทวิจารณ์ของคุณก็จบเห่ เพราะฉะนั้นก่อนลงมือเขียน จับประเด็นให้มั่นใจเสียก่อน จากนั้นจึงเอาประเด็นมาแผ่ให้ผู้อ่านเห็น ตามแนวทางที่ผมว่ามานี่แหละครับ.       

 


 

วิจารณ์คดี (4) 

อาการ ‘ช่าง’ ของนักวิจารณ์ : ช่างขีดช่างเขียน

 

ริจะเป็นนักวิจารณ์ต้องคิดให้คม เขียนให้เกิดประกายแวววาว บางคนคิดได้แต่เขียนไม่ได้  บางคนชั้นเชิงการเขียนแพรวพราว แต่พอแหวกม่านภาษาเข้าไปกลับกลวงโบ๋ ไม่มีอะไรอยู่ในนั้นเลย

คนจะคิดอะไรคม ๆ ได้ต้องช่างคิด สนุกที่ได้คิด สนใจความคิดคนอื่น สงสัยโน่นนี่นั่นไปหมด และไม่หยุดที่จะหาคำตอบ 

หลายคนมองว่านักวิจารณ์เป็นเหมือนนักวิทยาศาสตร์ ที่ใช้อุปกรณ์เครื่องมือในการตรวจสอบสิ่งต่าง ๆ จนได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องตรงเผงออกมา ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ก็คงเป็นสุดยอดนักวิจารณ์ไปแล้ว แต่ในความเป็นจริง นักวิจารณ์ไม่ได้ทำอะไรตรงไปตรงมาขนาดนั้นหรอกครับ

บางด้านนักวิจารณ์อาจเหมือนนักวิทยาศาสตร์ แต่พร้อมกันนั้น นักวิจารณ์ยังเป็นศิลปินด้วย เราทำงานโดยหยิบของต่าง ๆ มาแยกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเพื่อทำความเข้าใจ จากนั้นจึงประกอบชิ้นส่วนเหล่านั้นเข้ากับชิ้นส่วนที่หามาจากที่อื่น เสริมด้วยชิ้นส่วนที่เราสร้างขึ้นใหม่ จนกลายเป็นผลงานที่เรียกว่าบทวิจารณ์ขึ้นมา

เคล็ดลับของการคิดคือต้องขยันคิด เคล็ดลับของการเขียนก็ครือกัน ต้องหมั่นเขียน อย่าไปไหนโดยไม่มีกระดาษปากกาติดตัวไปด้วย บางคนอาจถนัดพิมพ์บนหน้าจอมากกว่า ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด ขอให้ได้เขียนก็แล้วกัน

ในฐานะคนที่เรียนมาทางด้านสื่อสารมวลชน ผมบอกใครต่อใครอยู่เสมอว่า การเขียนที่ดีต้องสื่อสิ่งที่ผู้เขียนอยากจะบอกได้ ถ้าเราอยากบอกตัวเอง ก็เขียนลงสมุดบันทึกส่วนตัว ถ้าอยากบอกใครคนใดคนหนึ่ง ก็เขียนเป็นจดหมาย ถ้าอยากบอกคนเยอะ ๆ ก็ต้องเขียนเป็นบทความ ความเรียง สารคดี นวนิยาย เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ บทละคร ฯลฯ เผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ 

เขียนให้ตัวเองอ่านนั้นง่ายที่สุดครับ ถึงขนาดนั้นก็ยังมีบางคนที่พอกลับมาอ่านอะไร ๆ ที่ตัวเองเขียนไว้แล้วมึนตึบ ประเภทนี้ถือว่าสมรรถภาพทางการสื่อสารบกพร่องครับ ให้หมอรักษาหรือกินยาแก้ก็ไม่ได้ ต้องเพียรอ่านเพียรเขียนเยอะ ๆ แล้วอาการจะดีขึ้น

เขียนให้คนใดคนหนึ่งอ่านก็ไม่ยาก เพราะคนที่เราเขียนให้อ่าน มักเป็นคนที่เรารู้จักมักคุ้น อยู่ในแวดวงเดียวกัน หรือไม่ก็มีประสบการณ์บางอย่างร่วมกัน จึงพอเดาทางกันได้ เขียนงง ๆ ใช้คำแปลก ๆ แปร่ง ๆ ไปบ้างก็ยังรู้เรื่อง

ที่คนส่วนใหญ่คิดว่ายากที่สุดคือการเขียนให้คนวงกว้างอ่าน ยากเพราะคนที่จะหยิบมาอ่านนั้นเป็นใครก็ไม่รู้ เด็กผู้ใหญ่ ผู้หญิงผู้ชาย จบด็อกเตอร์หรือแค่ ป.4 โรงเรียนวัด เป็นเจ้าของกิจการหรือตกงานตลอดชีพ ฯลฯ

หลักการข้อแรก อย่าพยายามเขียนให้ทุกคนอ่าน คนเรามักโลภ เขียนอะไรไปก็คิดว่าทุกคนจะต้องได้อ่าน จริง ๆ แล้วเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีงานเขียนแบบนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือ มองให้ชัดว่าใครเป็นคนอ่านงานของเรา 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเขียนบทความหรือบทวิจารณ์ลงในวารสารวิชาการต่าง ๆ แน่นอน คนอ่านของคุณคงเป็นคนในแวดวงวิชาการ อย่างน้อยที่สุดก็นิสิตนักศึกษาที่เรียนมาในสายนี้ ดังนั้นคนเหล่านี้ย่อมมีภูมิรู้ คุณจะวิชาการวิชาเกินสักแค่ไหนก็ได้ ภาษาที่ใช้ก็อาจต้องแต่งเนื้อแต่งตัวให้ดูสุภาพ น่าเชื่อถือ ไม่หลุดลุ่ยลำลองมากนัก

แต่ถ้าคุณเปลี่ยนเวที มาเขียนลงหน้าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร คุณก็ควรถอดชุดทางการออก เปลี่ยนให้สบาย ๆ มากขึ้น ใช้ภาษาง่าย ๆ ไม่วิชาการหรือเต็มพรึดไปด้วยศัพท์เฉพาะทาง อย่าทำแบบบางคนที่หนักข้อถึงขั้นบัญญัติศัพท์ขึ้นมาเอง เขียนเองรู้เรื่องเองคนเดียว แบบนี้จิ๊กโก๋รุ่นก่อนคงแซวว่า “เท่แต่กินไม่ได้”  

คำแนะนำที่ฝากไว้พิจารณาคือ เขียนให้ง่ายที่สุดเท่าที่จะง่ายได้ อย่าพยายามทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก เพราะคิดไปเองว่าอะไรที่ดูยาก ๆ อ่านไม่ค่อยรู้เรื่องคือเจ๋งและล้ำลึก ต้องเปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย จะคม - ลึก - เท่ยังไงก็ได้ แต่ต้องง่ายเข้าไว้ 

นอกจากง่ายแล้ว ต้องเขียนให้สนุกด้วย หลายคนพอตั้งท่าจะเขียนบทวิจารณ์ก็วางมาดเคร่งขรึมไว้เลย ภาษาที่ใช้ก็ขึงขังจริงจังไปหมด อ่านไปก็รู้สึกเหมือนหนังสือหนักขึ้น ๆ จนไม่รู้ว่ามันจะหนักไปถึงไหน 

ที่จริงในบ้านเรามีนักวิจารณ์ไม่น้อยที่เขียนแล้วอ่านเพลิน ตั้งแต่รุ่นอาจารย์บุญเหลือ เทพยสุวรรณ อาจารย์เจตนา นาควัชระ อาจารย์ดวงมน จิตร์จำนงค์ อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์ธเนศ เวศร์ภาดา อาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง (ไพลิน รุ้งรัตน์) อาจารย์พิเชฐ แสงทอง (สายพิณ ปัทมบรรณ) หรือที่แขวนปากกาไปแล้วอย่าง สมพงษ์ ทวี (ดอกไม้ดำ) ก็มีลูกเล่นลีลาน่าอ่านอยู่ไม่น้อย 

ถ้าเรายึดตามแนวทาง “ศิลปะส่องทางถึงกัน” ของอาจารย์เจตนา นาควัชระ นอกจากบทวิจารณ์วรรณกรรมแล้ว เราก็ควรข้ามสายไปอ่านบทวิจารณ์หนัง บทวิจารณ์เพลง บทวิจารณ์ศิลปะ และบทวิจารณ์อื่น ๆ ด้วย สิ่งที่เราจะได้จากบทวิจารณ์เหล่านี้คือ สำบัดสำนวนที่แตกต่างออกไป ทั้งการใช้คำ น้ำเสียง และอารมณ์ในนั้น ถ้าหยิบยืมมาใช้ได้ ก็อย่าลังเลที่จะนำมาใช้กับบทวิจารณ์วรรณกรรม ซึ่งใคร ๆ มักมองว่าเป็นของยาก อ่านทีไม่ต่างจากซดยาขมหม้อใหญ่ด้วยความทุกข์ทรมาน 

ที่แน่นอนที่สุด ต้องอ่านหนังสือให้หลากหลาย ตั้งแต่บทความในหนังสือพิมพ์ สารคดีและนวนิยายทุกแนว ไปจนถึงคัมภีร์ศาสนาทั้งหลาย ทุกสิ่งที่คุณอ่านจะค่อย ๆ ผสมผสาน หลอมรวมมาเป็นสำนวนภาษาของคุณเอง 

พอคุณหาแนวทางของตัวเองเจอแล้ว ต่อจากนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะปรับระดับของภาษาให้เปลี่ยนไปเป็นแบบต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะกับสื่อที่คุณใช้เป็นพื้นที่นำเสนอ

ทีแรกผมตั้งใจจะเล่าเรื่องการเขียนแบบรวบหัวรวบหางให้จบในตอนเดียว แต่ดูท่าจะไม่ได้แล้วครับ ขอโทษที่ฝอยฟุ้งกระจายไปหน่อย หวังว่าคงไม่เบื่อกันซะก่อน ตอนหน้ามาว่าเรื่องการเขียนกันต่อ แต่จะต่อไปได้ถึงไหน ติดตามอ่านดูกันเองนะครับ. 

 

 


 

ตู้หนังสือนักวิจารณ์ 

ทฤษฎีวรรณกรรมวิจารณ์ตะวันตก ในคริสต์ศตวรรษที่ 20

 

          หนึ่งในคำถามยอดฮิต “ริจะเป็นนักวิจารณ์ต้องมีทฤษฎีอะไรไหม?” ซึ่งผมได้แย้มไปบ้างแล้วในบทความชุด “วิจารณ์คดี” พร้อมพาดพิงถึงหนังสือเล่มหนึ่ง นั่นก็คือ “ทฤษฎีวรรณกรรมวิจารณ์ตะวันตก ในคริสต์ศตวรรษที่ 20” ของ สุรเดช โชติอุดมพันธ์ ไหน ๆ ก็ไหน ๆ เพื่อให้รู้กันว่าหนังสือเล่มนี้ดีเด็ดอย่างไร ผมขอขยายไว้ในส่วนของการแนะนำหนังสือซึ่งนักวิจารณ์ควรมีไว้ประดับตู้ โดยประเดิมด้วยเล่มนี้เป็นปฐมฤกษ์

          “ทฤษฎีวรรณกรรมวิจารณ์ตะวันตก ในคริสต์ศตวรรษที่ 20” เป็นหนังสือที่อาจารย์สุรเดชใช้เวลาหนึ่งปี ระหว่างไปศึกษาวิจัยเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รวบรวมทฤษฎีต่าง ๆ มาบรรจุไว้ในที่เดียวกัน ตั้งแต่การวิจารณ์แนวใหม่ (New Criticism) รูปแบบนิยมรัสเซีย (Russian Formalism) โครงสร้างนิยม (Structuralism) หลังโครงสร้างนิยม (Poststructuralism) คตินิยมหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) ทฤษฎีการตอบสนองของผู้อ่าน (Reader-Response Theory) มาร์กซิสม์กับประวัติศาสตร์นิยมแนวใหม่ (Marxism and New Historicism) การวิจารณ์แนวเพศสถานะ (Gender Criticism) และหลังอาณานิคมนิยม (Postcolonialism) เรียกได้ว่า จุใจพระเดชพระคุณท่านทั้งหลายที่สนใจใฝ่รู้เรื่องทฤษฎีซึ่งฮอตฮิตในแวดวงวิชาการวรรณกรรมทั่วโลก ตลอดศตวรรษที่ 20 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

            จุดเด่นของเล่มนี้อยู่ตรงอาจารย์สุรเดชหยิบทฤษฎีเหล่านี้มาเขียนถึงแบบไม่ทรมานสมองและจิตใจบรรดาคนนอกแถววิชาการอย่างผม เนื้อหาหนักแน่นจริงจัง แต่ไม่เต็มไปด้วยศัพท์แสงและสำนวนการเขียนที่ต้องแปลไทยเป็นไทยอย่างตำราส่วนใหญ่ อ่านง่าย ย่อยง่าย ไม่มีสารตกค้างให้มึนหัว 

            นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ถ้าหยิบเอาทฤษฎีเหล่านี้มาใช้กับตัวบทต่าง ๆ จะเกิดปฏิกิริยาและผลลัพธ์อย่างไรบ้าง เห็นแล้วเราจะร้องอ๋อว่าอย่างนี้เอง จากนั้นก็อาจนึกสนุก ลองเอาทฤษฎีนั้นทฤษฎีนี้มาใช้ดูบ้าง

            ประโยชน์ชัด ๆ ของเล่มนี้คือให้หลักการและแนวทางการนำไปใช้ แต่ที่มากกว่านั้น เรายังได้เห็นพัฒนาการของการวิจารณ์ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง สำหรับคนที่สนใจศาสตร์แห่งการวิจารณ์ ทฤษฎีต่าง ๆ เป็นเหมือนของเล่นอันหลากหลายที่ทำให้เราสนุกกับการอ่านมากขึ้น พร้อมกันนั้นยังเปิดให้เราได้เห็นแง่มุมอันซับซ้อนของวรรณกรรม ซึ่งเปลือยความจริงหลายด้านของมนุษย์ออกมา อย่างที่เราอาจไม่เคยนึกถึงมาก่อน.   

 

 


 

วิจารณ์คดี (3) 

อาการ ‘ช่าง’ ของนักวิจารณ์ : ช่างพินิจพิจารณา

 

         ในหนังการ์ตูน Shrek เจ้ายักษ์เขียวเปรียบตัวเองว่าไม่ต่างจากหัวหอม คือมีหลายชั้นซ้อนทับกันอยู่ สิ่งที่คนมองเห็นจึงอาจไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของมัน พอลองคิดต่อจากคำพูดนี้ ผมก็เห็นว่า ไม่แต่ยักษ์ตัวเขียวอี๋หรอก ทุกคนในโลกนี้ล้วนเป็นอย่างนั้น ต่างซับซ้อน มีความจริงซ่อนอยู่หลายชั้น เราจะรู้ว่าใครเป็นยังไงก็เมื่อปอกเปลือกนอกออก ชั้นแล้วชั้นเล่า จนกระทั่งถึงชั้นในสุด

         หลายครั้งเวลาอ่านหนังสือ ผมพบว่าเรื่องแต่ละเรื่องก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน ต้องมองให้ลึกเข้าไปในทุกอณูของรายละเอียด ตั้งแต่ชื่อเรื่องยันประโยคปิดท้าย 

         ว่ากันถึงการมองให้ลึก คำถามที่ได้ยินบ่อย ๆ คือ นักวิจารณ์ต้องใช้ทฤษฎีเป็นเครื่องมือในการวิจารณ์หรือเปล่า ? ตอบแบบเหยียบเรือสองแคมว่า ใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ แรกเริ่มเดิมทีหลักการวิจารณ์ที่สอน ๆ กันมานั้นไม่มีอะไรสลับซับซ้อนเลย คือมีอยู่แค่สามขั้นตอนใหญ่ ๆ อ่าน วิเคราะห์ และตีความ 

อ่าน คืออย่างละเอียดลออ ตามที่ผมเคยว่าไปแล้วนั่นแหละ

       วิเคราะห์ คือแยกแยะรายละเอียด ให้เห็นชัด ๆ จะ ๆ แจ้ง ๆ ว่าโครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก คำพูดคำจา สำนวนภาษา มุมมอง เสียงเล่า น้ำเสียง สัญลักษณ์ และองค์ประกอบอื่น ๆ ในเรื่องนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเป็นเรื่องแนวสารคดี ส่วนผสมของเรื่องก็จะต่างไปจากนี้ ถึงหลายเรื่องจะมีการเพิ่มสีตีไข่ใส่ผงชูรสบ้าง แต่หลัก ๆ ก็ยังเป็นเรื่องจริงอยู่ ถ้าเป็นกวีนิพนธ์ ก็มีส่วนของคำประพันธ์ ซึ่งมีทั้งเคร่งครัดแบบเดินตามครูต้อย ๆ ไปจนถึงพวกขบถที่ชอบแหวกกรอบเกณฑ์ของฉันทลักษณ์ทั้งหลาย 

         แต่การอ่านและวิเคราะห์ยังไม่ทำให้บทวิจารณ์เป็นบทวิจารณ์ หลายคนเขียนบทวิจารณ์แบบเด็กนักเรียนทำการบ้านส่งครู คือวิเคราะห์แยกแยะองค์ประกอบของเรื่องเป็นข้อ ๆ แต่ยังขาดส่วนสำคัญคือการตีความ เปรียบง่าย ๆ เหมือนนักฟุตบอลที่อุตส่าห์เลี้ยงลูกมาจนถึงหน้าประตู แต่แทนที่จะทะลวงประตูให้หนำใจ ดันหยุดอยู่แค่นั้น ทิ้งลูกแล้วเดินกลับหลังหันไปเฉย ๆ อย่างไม่ไยดีคนดูที่นั่งอ้าปากหวออยู่รอบสนาม

        การตีความคือการกะเทาะเปลือกที่ห่อหุ้มอยู่ จนเห็นแก่นของเรื่องนั้น ๆ ในยุคหนึ่ง เรามักมองนักเขียนเป็นเสมือนศาสดาหรือปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งประกาศหลักคิดอันสูงส่งผ่านวรรณกรรมอันเลอค่า การตีความจึงเป็นการค้นหาสิ่งที่นักเขียนพยายามจะบอก เมื่อค้นเจอ นั่นคือความสำเร็จ 

แต่ทุกวันนี้ เราส่วนใหญ่ไม่ได้มองอย่างนั้นกันแล้ว เรามองว่านักเขียนเป็นปุถุชนคนหนึ่ง มีถูกมีผิด มีฉลาดมีโง่ มีกล้าหาญและขลาดกลัว อาจมีธรรมะสูงล้ำหรือคุณธรรมชำรุดก็ได้ การตีความจึงเป็นมากกว่าการสกัดความคิดของนักเขียนออกมา 

        เราตีความให้เห็น ‘ความจริง’ หลายแง่หลายมุมในเรื่องนั้น ทั้งที่นักเขียนพยายามบอก ที่นักเขียนพยายามปกปิด และที่มันสำแดงออกมาโดยที่นักเขียนไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว    

       เพื่อให้เห็นชัด ผมขอยกตัวอย่างการตีความเรื่องสั้น “เธอไม่ถูกเชื่อมต่อ” ของ ไพฑูรย์ ธัญญา ซึ่งถ้าอ่านกันชั้นเดียว แทบทุกคนจะเห็นตรงกันว่า นี่เป็นเรื่องของสังคมก้มหน้า ที่ให้ค่าคนในมือถือมากกว่าคนที่อยู่ตรงหน้า เชื่อมต่อกับใครต่อใครตลอดเวลา แต่กลับไม่รับรู้ความเป็นไปของสิ่งรอบตัว จึงไม่อาจเชื่อมต่อกับผู้คนรอบข้างได้ 

       ผิดไหม ? ก็ไม่เชิง แต่อย่างที่บอก นี่เป็นการตีความชั้นเดียว ถ้าเรามองลึกมากไปกว่านั้น เราจะพบว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้ไม่ได้นำเสนอแค่ประเด็นผิวเผินที่พูดกันจนเฝือนี้ ตรงกันข้าม ยังชวนให้เราตั้งคำถามกับ “ความจริงสำเร็จรูป” นี้ด้วยซ้ำ

ยังไง ? ลองอ่านย่อหน้าเปิดเรื่องกันให้ดี ๆ ครับ เขาว่าไว้อย่างนี้ 

       “เป็นวันที่เปื่อย ๆ อีกวันหนึ่งของผม ตอนนั้นเองที่เธอเดินเข้ามา นั่งลงบนโซฟาโง่ ๆ เมื่อผมผายมือเชื้อเชิญแบบไว้ท่า เธอค่อย ๆ ทรุดนั่งลงอย่างไม่มั่นใจ เป้ใบเล็กสำหรับผู้หญิงถูกเหวี่ยงวางไว้ข้าง ๆ บนโซฟาที่มีพื้นอันยุบยวบ ร่างเพรียวบางของเธอเหมือนจะจมลงไปครึ่งตัว เหนือขึ้นไปบนพื้นผนังสีขาว ดูเดียวดายมากขึ้นด้วยภาพเขียนสีน้ำในกรอบสีน้ำตาลหม่น มันเป็นทัศนียภาพทางทะเลในมุมมองสำเร็จรูป มีต้นมะพร้าวเอนค้อมลงเหนือหาดทรายสีขาวสุดตา และแผ่นน้ำทะเลสีครามจรดขอบฟ้าแสนไกล มองจากมุมที่ผมนั่ง เธอเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของภาพในกรอบนั้น เด็กสาวผู้หม่นเศร้าและต้นมะพร้าวเดียวดาย ชายหาดและขอบฟ้ากว้าง...”

(ไพฑูรย์ ธัญญา, “เธอไม่ถูกเชื่อมต่อ”, ในรวมเรื่องสั้น “แผนขจัดความโง่ของประชาชน”, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นาคร, 2562, หน้า 19 – 20.) 

เห็นอะไรบ้าง ? ไพฑูรย์ ธัญญา วางกุญแจของเรื่องไว้อย่างแนบเนียน แต่ถ้าใครละเอียดมากพอก็จะมองเห็น กุญแจของเรื่องนี้คือ “ภาพเขียนสีน้ำในกรอบสีน้ำตาลหม่น มันเป็นทัศนียภาพทางทะเลในมุมมองสำเร็จรูป”

นี่คือกุญแจที่ไขเปิดให้เห็นทุกอย่างในเรื่อง ซึ่งไม่ได้ว่าด้วยความจริง แบบเรื่องแนวสะท้อนสังคมโดยทั่วไป แต่ว่าด้วยเราเห็นอะไร  เมื่อเรามองสิ่งต่าง ๆ ด้วย “มุมมองสำเร็จรูป” มุมมองเก่า ๆ เชย ๆ ซึ่งติดแน่นอยู่ในสังคมไทยมาเนิ่นนาน 

นี่เป็นเรื่องสั้นว่าด้วยมุมมองสำเร็จรูปที่ผู้ชายมีต่อผู้หญิง และมุมมองสำเร็จรูปที่คนเมืองมีต่อคนต่างจังหวัด ในทางกลับกัน ก็เป็นมุมมองสำเร็จรูปที่ผู้หญิงมีต่อผู้ชาย และมุมมองสำเร็จรูปที่คนต่างจังหวัดมีต่อคนเมือง ไปพร้อมกันด้วย 

มุมมองสำเร็จรูปนี่เองที่ทำให้เราตัดสินว่าใครเป็นอย่างไรตั้งแต่แรกเห็น เหมือนหญิงสาวที่เดินเข้ามาในกรอบภาพของ ‘ผม’ ตั้งแต่ต้นเรื่อง จากมุมมองสำเร็จรูป เขาตัดสินเดี๋ยวนั้นว่า ‘เด็กสาว’ จากต่างจังหวัดต้องใสซื่อ ไม่เท่าทันสังคมเมือง และต่อมาก็เชื่อตามเรื่องเล่าของเธอว่า เธอต้องอ่อนแอจนตกเป็นเหยื่อผู้น่าสงสาร จากการกระทำอันต่ำช้าของผู้ชายใจทราม ทั้ง ๆ ที่เหตุเกิด ณ ตู้โบกี้รถไฟฟ้าซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนอัดแน่น    

การเล่าเรื่องผ่านเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า ทำให้ยากที่จะฟันธงว่าอะไรจริงไม่จริง เรื่องราวเป็นตามที่หญิงสาวบอก หรือทั้งหมดเป็นเพียงบทบาทการแสดงและเรื่องที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา เพียงเรียกร้องความสงสารเห็นใจ

สิ่งที่เรารู้จากย่อหน้าเปิดเรื่องคือ ตราบใดที่เรายังติดอยู่กับมุมมองสำเร็จรูป เราจะมองไม่เห็นความจริงของสิ่งต่าง ๆ อย่างที่มันเป็น ความจริงซึ่งซับซ้อนและไม่ได้สำเร็จรูปอย่างที่พูดต่อ ๆ กันมา จนเราหลงเชื่อว่า มีความจริงอยู่เพียงแบบเดียว เหมือนทัศนียภาพทางทะเลซึ่งมีอยู่แบบเดียว กี่ปีกี่ชาติก็แบบนั้น 

การไม่ถูกเชื่อมต่อในเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นเพราะสังคมเมืองไม่มีใครสนใจใคร แต่เป็นเพราะมุมมองสำเร็จรูปที่เรามีต่อกัน ทำให้เราไม่อาจเข้าใจและเชื่อมต่อกันได้ ซึ่งสำหรับผมแล้ว ประเด็นนี้เฉียบขาดกว่าการเอะอะ ๆ ด่าสังคมเมืองและสังคมก้มหน้าหลายเท่านัก

การวิจารณ์ด้วยจังหวะสามช่า อ่าน วิเคราะห์ และตีความ ยังคงเป็นแนวทางหลักที่ใช้กันอยู่ แต่ทุกวันนี้เรามีเครื่องมือใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในการมองวรรณกรรม เปิดให้เราเห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น ถ้าจะไล่เรียงก็คงไม่หมดไม่สิ้น ตั้งแต่จิตวิเคราะห์ สังคมนิยม สตรีนิยม หลังสตรีนิยม โครงสร้างนิยม หลังโครงสร้างนิยม หลังอาณานิคม หลังสมัยใหม่ และอื่น ๆ อีกมากมาย แตกแขนงแยกย่อย แถมนักคิดที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ก็ยังมีหลายความคิดที่แตกต่างและขัดแย้งกันชนิดทางใครทางมัน เวลาจะหยิบแนวคิดหรือทฤษฎีมาใช้งาน จึงต้องระบุชี้ชัดว่า ที่เราเอามาใช้นี้ ต้นทางมาจากใคร เขาว่าไว้อย่างไร 

ความสำคัญของทฤษฎีก็ไม่ต่างจากเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ อย่างกล้องโทรทรรศน์ที่ช่วยให้เราเห็นดวงดาวอันไกลโพ้น หรือกล้องจุลทรรศน์ที่ทำให้เราเห็นสิ่งเล็ก ๆ ที่ตาเปล่ามองไม่เห็น ทฤษฎีก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน คือช่วยให้เรามองเห็นสิ่งที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยดวงตาปกติของเรา 

ทฤษฎีเป็นเรื่องของแนวคิดและวิธีการในการมองสิ่งต่าง ๆ เมื่อเปลี่ยนวิธีคิด เราก็จะเห็นสิ่งต่าง ๆ ผิดแผกไปจากเดิม เมื่อใช้วิธีการใหม่ ๆ ผลลัพธ์ที่ได้ก็แปลกใหม่ 

หลายครั้งการนำทฤษฎีมาใช้ จึงก่อให้เกิดบทวิจารณ์ที่ทำให้หลายคนรู้สึกทึ่งตะลึงงัน เช่น เอาทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ มาวิเคราะห์เจาะลึกตัวละครในวรรณคดี เอาทฤษฎีโครงสร้างนิยมมาวิจารณ์หนังสือแนวชีวประวัติคนดัง เอาทฤษฎีสตรีนิยมมาวิพากษ์นวนิยายแนวบู๊สะบั้นหั่นแหลก เอาทฤษฎีหลังอาณานิยมมาวิจารณ์นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ยุคสร้างชาติ ฯลฯ

บทวิจารณ์จำนวนไม่น้อยสร้างผลลัพธ์ประเภท เฮ้ย ! จริงด้วย ไม่เคยคิดแบบนี้มาก่อนหรือถึงเราจะไม่เห็นด้วยไปทั้งหมด แต่ก็ทำให้เราอดตื่นเต้นไม่ได้ว่า เออ ! คิดแบบนี้ก็ได้นี่หว่า

สำหรับรายละเอียดว่าทฤษฎีแต่ละทฤษฎีเป็นอย่างไรนั้น มีอาจารย์หลายท่านเขียนไว้ดีมาก ๆ แล้วครับ หนึ่งในหนังสือที่ผมอยากแนะนำให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ที่สนใจเกี่ยวกับทฤษฎีหามาอ่านกันให้ได้คือ “ทฤษฎีวรรณคดีวิจารณ์ตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 20” ของท่านอาจารย์สุรเดช โชติอุดมพันธ์ 

สำหรับใครที่ไม่คุ้นกับทฤษฎีมาก่อน ขอแนะนำให้ค่อย ๆ อ่าน ค่อย ๆ ศึกษา อย่าหักโหม จิบไปทีละนิดให้ความรู้ค่อย ๆ ซึมซาบกระจายไปทั่วตัว เมื่อถึงจุดหนึ่งคุณจะรู้สึกเองว่า อะไร ๆ ที่คุณเคยเห็น มันกลับไม่เป็นเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว เมื่อนั้นแหละจึงถึงเวลาที่คุณจะเริ่มเอาทฤษฎีมาใช้ในการวิจารณ์เสียที

ไล่เรียงมาถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะเข้าใจหลักพื้นฐานของการวิจารณ์แล้ว แต่อย่าลืมว่าบทวิจารณ์ยังคงไม่เกิด จนกว่าเราจะลงมือเขียน เรื่องการเขียนนี่ต้องร่ายกันยาวครับ อดใจรอสักนิด แล้วผมจะมาเล่าแบบไม่กั๊กในตอนต่อไป สัญญาว่าจะกลับมาแน่นอนครับ.        

 


 

 

วิจารณ์คดี (2) 

อาการ ‘ช่าง’ ของนักวิจารณ์ : ช่างค้น - คิด

 

ใคร ๆ ก็พูดกันทั้งนั้น ว่าจุดเริ่มต้นของนักวิจารณ์คือการเป็นนักอ่าน แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า นักวิจารณ์อ่านไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านชาวช่องกันสักเท่าไรนัก เปล่า เราไม่ได้ตีลังกาอ่าน อ่านกลับหลังมาหน้า หรืออ่านแบบพิลึกพิลั่นอื่น ๆ นักวิจารณ์อ่านแบบเก็บรายละเอียดทุกเม็ด อ่านทั้งสิ่งที่ปรากฎ และสิ่งที่ไม่ปรากฏ

สิ่งที่ปรากฎได้แก่ ตัวหนังสือ ตัวเลข ภาพวาด ภาพถ่าย ตราสัญลักษณ์ หรืออื่นใดก็ตามที่เป็นส่วนประกอบของงานเขียน ซึ่งเราต้องอ่านอย่างละเอียด ไม่ให้มีอะไรตกหล่น 

ส่วนสิ่งที่ไม่ปรากฏก็ตามนั้นเลยครับ มีอะไรบ้างที่นักเขียนไม่เขียน ทั้งเพราะไม่ใส่ใจ ไม่ให้ความสำคัญ หรือจงใจที่จะละ – เว้น – เก็บ – ซ้อน เอาไว้ นี่คือสิ่งที่เราต้องขุดค้นคุ๊ยแคะออกมาให้ได้ 

นักเขียนแบบเออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ มีทฤษฎีของตัวเองว่า นักเขียนสามารถทิ้งอะไรในเรื่องไปก็ได้ ถ้าเขารู้ว่าทิ้งไปแล้วทำให้เรื่องมีพลังมากขึ้น และทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงบางสิ่งบางอย่างมากกว่าที่เขาเข้าใจ

ทฤษฎีนี้มองงานเขียนเหมือนภูเขาน้ำแข็ง ส่วนที่โผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมามีเพียงน้อยนิด เมื่อเทียบกับก้อนมหึมาซึ่งซ่อนอยู่ใต้น้ำ ส่วนที่ไม่ปรากฏนี่แหละที่นักวิจารณ์ต้องมองให้เห็น จนเข้าใจรูปลักษณ์และโครงสร้างทั้งหมดของภูเขาน้ำแข็งอย่างชัดเจน ไม่ใช่รู้เห็นเฉพาะส่วนที่ลอยเด่นอยู่ข้างบนเท่านั้น

ไม่แค่นั้น นักวิจารณ์ยังต้องค้นคว้าเพิ่มเติมนอกเหนือจากตัวเรื่องที่อ่าน เพราะเรื่องทุกเรื่องย่อมอิงอยู่กับอะไรต่อมิอะไรเสมอ อย่างอ่านงานแปล เราก็ต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับประเทศนั้น ๆ มากพอสมควร จึงจะเข้าใจเรื่องราวได้ อ่านเรื่องอิงประวัติศาสตร์ ก็ต้องมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ในยุคนั้นอยู่บ้าง หรืออ่านเรื่องแนววิทยาศาสตร์ ก็ต้องมีพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์มาเสริมการอ่านของเราให้แข็งแรงขึ้น

หลังจากมีข้อมูลทั้งที่เป็น ‘ตัวบท’ และ ‘บริบท’ อยู่ในมือมากพอแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาที่ต้องค้นให้เจอ ว่าจะหยิบยกจุดไหนขึ้นมาเป็นประเด็นหลักของการวิจารณ์

ข้อเสียของบทวิจารณ์ส่วนใหญ่คือ มักให้น้ำหนักกับการวิจารณ์น้อยเกินไป หลายคนเขียนเหมือนสรุปความ บอกให้รู้ว่าหนังสือเล่มนั้น ๆ หรืองานเขียนเรื่องนั้น ๆ มีเนื้อหาใจความอย่างไรบ้าง จากนั้นก็ประดับประดาด้วยคำชื่นชมยกย่องสรรเสริญกันอย่างเต็มเหนี่ยว

อันที่จริงการวิจารณ์ไม่ใช่การเล่าซ้ำด้วยสำนวนใหม่ ถ้าจำเป็นต้องเล่าเรื่อง ก็เอาแค่เนื้อ ๆ รวบรัดตัดทอนให้มากที่สุด เพราะหัวใจของบทวิจารณ์อยู่ที่การวิจารณ์ ไม่ใช่การเล่าเรื่อง 

ผมเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่อาจไขว้เขว สับสน แยกแยะไม่ออก ระหว่างรีวิวหรือแนะนำหนังสือ กับบทวิจารณ์หนังสือ งานเขียนสองประเภทนี้มีส่วนที่คาบเกี่ยวกันก็จริง แต่วัตถุประสงค์ในการเขียนแตกต่างกัน การรีวิวหรือแนะนำมุ่งให้ผู้อ่านรับรู้ รู้จัก และสนใจ จนอยากหาหนังสือเล่มนั้นมาอ่าน ส่วนการวิจารณ์ หลัก ๆ เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจและแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล บทวิจารณ์จะส่องแสงแวววาวด้วยประเด็นนำเสนอ ยิ่งนักวิจารณ์ค้นเจอสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในเรื่องลึกมากเท่าไร บทวิจารณ์ก็ยิ่งดูน่าทึ่งมากขึ้นเท่านั้น

เมื่อค้นเจอแล้วว่าจะเขียนถึงประเด็นไหน จุดที่ยากที่สุดของการวิจารณ์คือ ต้องคิดให้แตก ไม่ใช่คิดจนหัวสมองระเบิดเป็นเสี่ยง ๆ แต่คิดจนเห็นประเด็นที่จะเขียนอย่างลึกซึ้งครบถ้วน

การคิดของนักวิจารณ์เป็นการคิดแบบแยกแยะและเชื่อมโยง มองแบบแยกแยะรายละเอียด และเชื่อมโยงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์หรือขัดแย้งกันไว้ด้วยกัน ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ปรากฏซ้ำ ๆ องค์ประกอบที่ผู้เขียนเลือกสรร มุมมอง เสียงเล่า และน้ำเสียง ไปจนถึงการประกอบสร้างด้วยโครงเรื่องและสำนวนภาษา 

ถ้าแบ่งสัดส่วนการทำงานสามขั้นตอนใหญ่ ๆ คือ อ่าน คิด และเขียน ขั้นตอนการคิดถือเป็นส่วนที่มีขนาดใหญ่มากที่สุด นักวิจารณ์หลายคนตกม้าตายตั้งแต่ต้นตรงความคิดที่ยังไม่แหลมคมพอ บ่อยครั้งเป็นแค่ความคิดเห็นพื้น ๆ แบบชาวบ้านจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ละครหลังข่าว ว่าชอบไม่ชอบตรงไหน ดาราเล่นดีไม่ดีอย่างไร สนุกน่าติดตามหรือน่าเบื่อ ฯลฯ ที่เป็นอย่างนี้อาจเพราะยังขาดกระบวนคิดแบบนักวิจารณ์ ที่จะทำให้ข้ามพ้นการมองระดับพื้นผิวไปได้

ผมจะลองยกตัวอย่างให้เห็นชัด สมมุติถ้าเราจะวิจารณ์กล้วยหอมสักลูก เราจะไม่วิจารณ์เฉพาะรูปทรงของมัน ไม่วิจารณ์แค่รสชาติและเนื้อสัมผัส แต่เราจะมองไปถึงกล้วยทั้งหวี ทั้งเครือ ทั้งสวน ประเทศที่ให้กำเนิดมัน ประเทศที่นำเข้ากล้วยเหล่านั้น พัฒนาการของผลไม้ชนิดนี้จากอดีตถึงปัจจุบัน กล้วยที่ผ่านมาตรฐานและกล้วยอีกจำนวนมหาศาลที่ถูกคัดทิ้ง ไปจนถึงแนวคิดและวัฒนธรรมในการบริโภคกล้วยหอม ซึ่งสะท้อนให้เห็นมุมมองที่ผู้คนมีต่อชีวิต สังคม และโลกของเรา

ดูเหมือนคิดไปไกลโขเลยใช่ไหมครับ ก็เป็นแบบนั่นนั้นแหละ แต่การคิดของนักวิจารณ์ไม่ใช่การคิดลอย ๆ คิดแบบฟุ้งซ่าน หรือคิดเองเออเอง นักวิจารณ์จะคิดอะไรอย่างไร ต้องมีข้อมูลที่หนักแน่นพอมาสนับสนุนเสมอ เพราะอย่างนี้เอง ถ้าจะวิจารณ์หนังสือสักเล่ม นักวิจารณ์จึงต้องอ่านอะไร ๆ มากกว่าหนึ่งเล่ม ค่อย ๆ เก็บสิ่งละอันพันละน้อย มาประกอบสร้างเป็นบทวิจารณ์อันทรงคุณค่า 

อย่างที่บอก ส่วนของการคิดเป็นส่วนที่ยากและใช้เวลามากที่สุด คราวหน้าผมจึงขอสาธยายเรื่องนี้แบบเต็ม ๆ ว่าในสมองนักวิจารณ์มีกระบวนคิดอย่างไร และเพื่อให้คิดได้ คิดดี คิดโดน นักวิจารณ์ต้องใช้เครื่องมือหรือตัวช่วยอะไรแค่ไหน ติดตามกันต่อไปนะครับ.  

 

 


 

 

 

วิจารณ์คดี (1) 

อาการ ‘ช่าง’ ของนักวิจารณ์ : ช่างอ่าน

 

        ท่านผู้รู้ทั้งหลายอาจเขม่นตามอง หากผมบอกว่า คุณสมบัติของนักวิจารณ์คือต้องมีความเป็นช่างหลาย ๆ อย่าง เอ๊ะ ! นักวิจารณ์จะเป็นช่างได้อย่างไร ? ก่อนลุกขึ้นมาโวยวาย ลองอ่านกันก่อนครับ ว่านักวิจารณ์เป็นช่างอะไรบ้าง

        เริ่มจาก “ช่างอ่าน” นักวิจารณ์เป็นพวกคลั่งไคล้ใหลหลงในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นักวิจารณ์ศิลปะเสพศิลปะแบบไม่รู้จักอิ่ม นักวิจารณ์หนังไม่ยอมพลาดหนังทั้งเก่าและใหม่ ทั้งที่หาดูง่ายและที่ต้องดิ้นรนไขว้คว้ามาดู นักวิจารณ์อาหารจะตระเวนกินไปทั่ว ลิ้มรสอาหารต้นตำรับและอาหารที่เพิ่งคิดค้นขึ้นใหม่ล่าสุด ฯลฯ ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าคุณเกลียดหนังสือ เห็นตัวหนังสือที่ไรเป็นตาลายจะหลับให้ได้ หรือรู้สึกทนทุกข์ทรมานกับการอ่านเสียเหลือเกิน อย่าริมาเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรมเลยครับ คนจะวิจารณ์หนังสือต้องเป็นหนอนที่หิวกระหายหนังสือตลอดเวลา ทุกพื้นที่ของชีวิตมีหนังสือเป็นองค์ประกอบสำคัญ เวลาไปไหนจะมีหนังสือติดตัวไปอย่างน้อยหนึ่งเล่มเสมอ

         อาการช่างอ่านของคนแบบผม เจออะไรเราจะอ่านดะไปหมด ตั้งแต่ป้ายบอกทาง ป้ายสถานที่ ป้ายหาเสียง ประกาศชวนเที่ยวงานวัด หนังสือพิมพ์เก่าค้างปี นิตยสารผู้หญิง - ผู้ชาย -  เกย์ - แม่และเด็ก - คนรักสัตว์ ฯลฯ หนังสือโป๊ หนังสือผี หนังสือพระ หนังสือธรรมะ คัมภีร์ศาสนาต่าง ๆ การ์ตูนเล่มละบาท หนังสือหายากราคาหลักหมื่น นวนิยายเก่าฝุ่นเกาะ นวนิยายที่เพิ่งคลอดจากโรงพิมพ์ เรื่องจริง เรื่องแต่ง เรื่องโม้ เรื่องสั้น เรื่องยาว เรื่องแปลกประหลาด เรื่องวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ ไสยศาสตร์ โรคประสาท โรคภัยไข้เจ็บสารพัด สมุดจดงานที่มีคนทำตกไว้ ไปจนถึงตำราอาหาร ตำราเรียน และข้อสอบวิชาต่าง ๆ   

         อาการช่างอ่านมักเป็นไปโดยไม่รู้ตัว รู้แต่ว่า เห็นอะไรที่เป็นตัวหนังสือแล้วอดอยากอ่านไม่ได้ จึงต้องหยิบจับขึ้นมาอ่าน อ่านไปเรื่อย อ่านไม่เลิกไม่รา มีความสุขอยู่กับการอ่าน 

         ธรรมชาติของเวลาจะเคลื่อนไปเหมือนเมฆบนฟ้า มองไปแต่ละทีไม่เคยเหมือนกันสักครั้ง แต่การเขียนมีพลังวิเศษ สามารถหยุดช่วงเวลาหนึ่ง ๆ เอาไว้ให้คงอยู่ตลอดไป ทุกครั้งที่อ่าน เราจึงเหมือนก้าวเข้าไปยืนอยู่ ณ จุดที่เวลาหยุดนิ่ง มองเห็น สัมผัส และสดับเสียงต่าง ๆ นานา ณ ขณะนั้น บางครั้งเรายืนตำแหน่งเดียวกับผู้เขียน บางครั้งเรายืนข้าง ๆ ฟังเขาบอกเล่าถึงสิ่งต่าง ๆ บางครั้งเราซาบซึ้งไปกับสิ่งที่เขาเล่า บางครั้งเราโต้เถียงด่าทอ และบางครั้งเราจับได้ว่า เขากำลังเล่นกลในคำพูด หลอกลวงให้เราหลงเชื่อ 

          ทุกตัวอักษรที่ปรากฏ คือตัวตนบางแง่มุมของผู้เขียน ยิ่งเราอ่านมากเท่าไร เรายิ่งเห็นความหลากหลายของผู้คนมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งอ่านมาก เรายิ่งเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากขึ้น ยิ่งอ่านมาก เรายิ่งแยกแยะออก ระหว่างงานเขียนที่ดี งานที่พอใช้ได้ งานที่ต้องรีบโยนทิ้ง งานที่ปั้นแต่งขึ้นมาเพื่อประกวด เพื่อประจบประแจง หรือเพื่อหวังเสียงชื่นชม กับงานที่ส่งตรงออกมาจากหัวใจ

          ทุกตัวอักษร ทุกประโยค ทุกเรื่องราว เป็นชิ้นส่วนภาพจิ๊กซอว์ของโลกใบนี้ ยิ่งอ่านมาก เรายิ่งมองเห็นโลกที่สมบูรณ์ขึ้น ครบถ้วนทุกมิติมากขึ้น ตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน การอ่านทำให้เราเข้าใจชีวิต เข้าใจสังคม เข้าใจความจริง เข้าใจความลวง เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจตัวเราเอง 

         หลายคนอ่านอย่างลุ่มหลงเสน่ห์แห่งภาษาอันมีมนต์มายา นักวิจารณ์อ่านอย่างตระหนักรู้และเท่ากัน อ่านอย่างเข้าใจกลไกและเล่ห์เหลี่ยมของภาษา อ่านอย่างไม่มองว่านักเขียนทุกคนคือศาสดา อ่านเพราะอยากรับรู้ แต่ไม่ได้ปล่อยใจให้เชื่อไปทั้งหมด นอกจากอ่านชนิดไม่ให้มีอะไรหลุดลอดสายตาแล้ว คำแนะนำที่นักวิจารณ์ระดับลายครามอย่าง ชมัยภร แสงกระจ่าง หรือ ไพลิน รุ้งรัตน์ พูดอยู่บ่อย ๆ ก็คือ “อ่านหนังสือแล้ว อย่าลืมอ่านชีวิตด้วย” อย่างที่มีคนว่าไว้นั่นแหละครับ ชีวิตเป็นหนังสือเล่มใหญ่ที่อ่านไม่มีวันจบ อ่านชีวิตคนนั้นคนนี้ และที่สำคัญ อ่านชีวิตของเราเองแต่ละคน

         ที่จริงหนังสือกับชีวิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนปาท่องโก๋ที่คู่กันมาเสมอ เข้าใจชีวิตก็เข้าใจหนังสือมากขึ้น เข้าใจหนังสือก็เข้าใจชีวิตมากขึ้น ในเวลาเดียวกัน ที่ขาดไม่ได้อีกอย่างคือ อ่านสังคม สังคมเป็นครรภ์ของงานเขียน เราจะอ่านหนังสือให้ลึกซึ้งถึงแก่นแกนของมันได้อย่างไร ถ้าไม่อ่านสังคมควบคู่ไปด้วย อ่าน ‘ตัวบท’ แล้วต้องอ่าน ‘บริบท’ ไปพร้อม ๆ กัน การอ่านจึงจะเป็นการอ่านที่สมบูรณ์ 

         ที่ร่ายมานี้แค่ความเป็นช่างอันแรกของนักวิจารณ์เท่านั้น ยังมีอีกหลายช่างในตัวนักวิจารณ์ ซึ่งผมจะค่อย ๆ สาธยายไปตามลำดับ จนครบถ้วนทุกแง่มุมของคนที่เป็นนักวิจารณ์     

         สำหรับใครก็ตามที่อ่านมาถึงตรงนี้ ขอแสดงความยินดีว่า คุณน่าจะมีคุณสมบัติข้อแรกของนักวิจารณ์แล้ว คือ “ช่างอ่าน” แต่คุณจะมีความเป็นช่างอื่น ๆ ด้วยหรือเปล่า ต้องติดตามกันต่อไปครับ.  

 

 

แผนขจัดความโง่ของประชาชน

เขียน ไพฑูรย์ ธัญญา 

สำนักพิมพ์นาคร, ราคา 180 บาท, 216 หน้า

 

 

 โปรดทราบ ขณะนี้ระบบสื่อสารขัดข้อง

 

         ในที่สุดเสียงพวกนั้นก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของท่วงทำนองแห่งยุคสมัย ติ๊ง ติ๊ง ติ๊ง ของแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่ดังขึ้นเป็นระยะ ถี่บ้างห่างบ้าง ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง มันบอกให้รู้ว่าเรากำลังเชื่อมต่อกับผู้คนมากมายซึ่งใช้ชีวิตอยู่ทุกจุดบนแผนที่โลก เชื่อมต่อกับโลกซึ่งทุกอย่างเคลื่อนที่ไปอย่างรวดเร็วในอัตรา 4G และกำลังจะเร่งเครื่องสู่ 5G ในอีกไม่นานวัน  

มันคือคลื่นที่สร้างความเปลี่ยนแปลงมหาศาล ถึงขนาดที่ไม่ว่าเราจะหลบซ่อนอยู่ในซอกมุมไหน พลังของมันก็ทะลุทะลวงไปถึงเราได้ทุกที่ ความเปลี่ยนแปลงนี้คือสิ่งที่นักเขียนทั้งหลายเฝ้ามองและนำมาเขียนถึงด้วยท่าทีที่แตกต่างกัน

        “แผนขจัดความโง่ของประชาชน” รวมเรื่องสั้นเล่มล่าสุดของ ไพฑูรย์ ธัญญา คืออีกหนึ่งปรากฏการณ์งานเขียน ซึ่งพยายามจับชีพจรของยุคสมัย ในวันที่วิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยนแปลงไปต่าง ๆ นานา เพราะแรงขับเคลื่อนของเทคโนโลยี การใช้ชีวิตในโซเชียลเน็ตเวิร์ก และการสื่อสารผ่านหน้าจอสารพัด 

         ไพฑูรย์ ธัญญา เปิดเล่มด้วยเรื่องสั้น “เธอไม่ถูกเชื่อมต่อ” เหมือนบ่งบอกอยู่ในทีว่า เรื่องราวของตัวละครทั้งหมดในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ ล้วนว่าด้วย ‘การเชื่อมต่อ’ ในลักษณะต่าง ๆ ทั้งความสัมพันธ์แบบลับ ๆ ใน “ถ้าสัญญาณดีจะโทร.หา” และ “ระหว่างฝนตก” ความไม่เข้าใจกันของคนต่างรุ่นต่างวัยใน “ลับหาย ไลน์ชรา” “ฉุยฉายดิจิทัล” และ “บางอย่างอยู่ข้างใน” การใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ใน “ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ” ชะตากรรมของคนเล็ก ๆ ที่ต้องทำงานเสี่ยงตายโดยไม่มีใครเห็นหัวใน “พระเยซูไม่ไถ่บาป” ความไม่ไว้ใจที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลใน “ผมยังไม่ได้หลับสักงีบ” และ “แผนขจัดความโง่ของประชาชน” ซึ่งเป็นที่มาของชื่อรวมเรื่องสั้นชุดนี้ 

        แต่ถึงจะว่าด้วย ‘การเชื่อมต่อ’ เรื่องสั้นทั้งสิบเรื่องกลับสะท้อนถึง ‘การไม่เชื่อมต่อ’ ในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารเจริญถึงขีดสุด เราสื่อสารกันตลอดเวลา แต่ผลที่ได้รับกลับเป็นความว่างเปล่า เงียบเหงา และไม่เข้าใจกัน 

       เทคโนโลยีดูเหมือนทำให้เราใกล้ชิดขึ้น แต่ขณะเดียวกัน มันกลับเปิดบาดแผลของความเข้าใจกันให้ยิ่งขยายกว้าง ขณะที่เราเชื่อมต่อกับผู้คนมากมายในโลกดิจิทัล เรากลับตัดขาดจากผู้คนที่อยู่ตรงหน้า แม้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน แต่กลับเหมือนมีระยะห่างอันแสนไกลมาคั่นกลาง   

ใน “เธอไม่ถูกเชื่อมต่อ” หญิงสาวถูกใครคนหนึ่งบนรถไฟฟ้ากระทำบางสิ่งซึ่งดูเหมือนเป็นการล่วงละเมิด โดยไม่มีใครในนั้นให้ความสนใจ 

“...มันเหมือนอยู่ในวงล้อมจริง ๆ แบบว่าพวกเขาล้อมหนูเอาไว้ทุกทิศทาง บีบอัดเข้ามาจนแทบไม่มีช่องว่าง พอเลยอนุสาวรีย์มาได้หน่อยหนึ่ง หนูก็รู้สึกว่ามันมีอะไรอุ่นร้อนมาโดนแถว ๆ สะโพกของหนู จะว่าเป็นมือหรือแขนของใครก็ไม่แน่ใจ แต่มันก็ไม่เหมือนเสียทีเดียว มันแข็งแต่ไม่กระด้าง และหนูก็รู้สึกว่าไอ้คนนั้นมันมีรูปร่างกำยำ ยืนแนบหลังหนูอยู่ มันหายใจรดต้นคอหนูด้วย...ลมหายใจของมันแรงมาก...” (หน้า 30)

ไพฑูรย์ ธัญญา ไม่ได้เขียนถึงเรื่องราวในซอกมุมอันลึกลับ หลายเรื่องเป็นเหตุการณ์แบบรู้ ๆ กัน ใคร ๆ ก็เคยเห็น เคยได้ยิน หรืออย่างน้อยต้องเคยรับรู้มาบ้าง สิ่งที่เขาทำคือการนำเรื่องราวซึ่งดูเหมือนเป็นเหตุการณ์ปกติธรรมดามากางออก แผ่ให้เห็นความไม่ปกติที่ซ่อนอยู่ในความปกติ 

นอกจากเรื่องราวของหญิงสาวบนรถไฟฟ้าแล้ว ยังมีเรื่องของชายหนุ่มผู้แอบหลงรักสาวรุ่นน้อง หลังจากรู้จักกันทางโซเชียลเน็ตเวิร์กและพูดคุยกันผ่าน ‘กล่องข้อความ’ ใน “ระหว่างฝนตก” หนุ่มชาวไร่ผู้หลงรักเมียเพื่อนบ้านและใช้การส่งข้อความเป็นช่องทางสื่อสารใน “ถ้าสัญญาณดีจะโทร.หา” ชายชราผู้ชอบส่งไลน์ประจำวันใน “ลับหาย ไลน์ชรา” หญิงวัยเกษียณผู้หลงคิดว่าใคร ๆ ต่างประทับใจภาพอดีตของตัวเองใน “ฉุยฉายดิจิทัล” และนักเขียนผู้พยายาม ‘หาเรื่อง’ ด้วยการนั่งแช่ในร้านกาแฟ เฝ้ามองผู้คนซึ่งมารวมตัวกันโดยไม่ได้นัดหมาย ณ ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งใน “ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ”   

เรื่องสั้นทั้งหกล้วนพุ่งตรงไปที่จุดเดียวกัน นั่นก็คือ ความสัมพันธ์อันแสนบอบบางและเบาหวิวในโลกปัจจุบัน เทคโนโลยีไม่ได้ช่วยให้มนุษย์เชื่อมต่อกันเหนียวแน่นขึ้น ตรงกันข้าม ขณะผู้คนมากมายก้มหน้าอยู่กับจอโทรศัพท์ พวกเขากลับไม่ไยดีต่อชะตากรรมของหญิงสาว ไม่รับ ไม่รู้ และไม่เห็นความเป็นไปที่อยู่ตรงหน้า ขณะที่มิตรไมตรีถูกส่งผ่านแอปพลิเคชั่นอันทันสมัย อีกฝ่ายกลับมองเห็นเป็น ‘การคุกคาม’ อันสุดแสนจะทน ขณะที่หญิงชราคิดว่า ผู้คนทั้งหลายปลาบปลื้มกับภาพวัยสาวของตัวเอง จนคิดที่จะย้อนกลับไปแต่งชุดแบบนั้นอีกครั้ง หลานแท้ ๆ ของเธอกลับเขียนถึงคนแก่อย่างเธอเหมือนเป็นตัวตลก ที่ไม่รู้จักเจียมตัว เจียมวัย และเจียมสังขารตัวเอง

ในเรื่องสั้นทั้งหก เรื่องที่ ไพฑูรย์ ธัญญา เขียนได้อย่างกล้าหาญที่สุดคือ “ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ” เพราะโดยรวมมันเป็นเพียงการจับภาพชีวิตไปเรื่อย ๆ ภาพคนนั้นทีคนนี้ที ไม่ได้โฟกัสไปที่ตัวละครใดตัวละครหนึ่ง ไม่มีกระทั่งพล็อตที่ผูกให้เราติดตาม แต่ในความไม่มีอะไร เรากลับได้เห็นอะไร ๆ มากมาย เหมือนห้างสรรพสินค้านั้นเป็นแบบจำลองสังคม ซึ่งแต่ละคนต่างคนต่างอยู่ อาจมีการเชื่อมต่อเล็ก ๆ เต็มไปหมด แต่ไม่มีการเชื่อมต่อระหว่างผู้คนที่มารวมกันในสถานที่เดียวกัน 

ห้างสรรพสินค้าในเรื่องนี้ก็ไม่ต่างจากรถไฟฟ้าใน “เธอไม่ถูกเชื่อมต่อ” นี่คือสังคมสมัยใหม่ซึ่งต่างจากสังคมในอดีตโดยสิ้นเชิง สังคมแบบเก่าเราเดินไปตรอกซอกซอยไหน เลี้ยวไปกี่มุมตลาด คนก็รู้จักกันหมด ทุกคนส่งเสียงทักทาย บอกกล่าวความเป็นไปของกันและกัน เข้าออกได้ทุกบ้าน นั่งแหมะได้ทุกที่ ไม่มีเรื่องใด ๆ ที่เป็น ‘ความลับสุดยอด’ สำหรับคนในสังคมเดียวกัน 

สังคมที่เปลี่ยนไปทำให้เกิดช่องว่างอันสมบูรณ์แบบ ทุกคนเหมือนมี ‘พื้นที่ส่วนตัว’ ในที่เปิดโล่งสาธารณะ ไม่แต่คนในสังคมเท่านั้น กระทั่งคนในบ้านเดียวกัน ก็เหมือนมีบางอย่างมากีดขวางความสัมพันธ์ เรื่องสั้นที่ ไพฑูรย์ ธัญญา สะท้อนปัญหานี้ได้ชนิดต้องร้อง โอ้โห ! ด้วยความแรงแบบเหยียบมิด พุ่งตรงกระแทกหัวใจผู้อ่านไปไม่บันยะบันยังคือ “บางอย่างอยู่ข้างใน” 

ไพฑูรย์ ธัญญา เล่าเรื่องนี้โดยผ่านสามมุมมอง ได้แก่ ยายสว่าง หญิงชราวัยเก้าสิบสอง นุชนาฏ ผู้เป็นลูกสะใภ้ และวรรณนา ลูกสาวคนโตของยายสว่าง ถ้าเป็นเรื่องตำรับเดิม แม่ยายกับลูกสาวคงรวมหัวกันกลั่นแกล้งสะใภ้ด้วยความจงเกลียดจงชัง แต่เรื่องนี้ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะทั้งนุชนาฏและวรรณนาคิดและรู้สึกต่อยายสว่างไม่ต่างกัน ทั้งสามใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเดียวกัน ทว่าบ้านที่ควรเป็นบ้าน กลับกลายเป็นเหมือนสนามรบ ด้วยพฤติกรรมอันเกินจะรับได้ของยายสว่าง 

“...ภาพของหญิงคนหนึ่งที่ยิ้มง่าย ใจดี สวย สะอาด และมีระเบียบวินัยไปเสียทุกกระเบียดนิ้วหายไปไหนหมด วันเวลาที่ผ่านเลยช่างใจร้าย มันแทนที่ผู้หญิงที่ดูราวกับนางฟ้าของเธอให้กลายเป็นยายแก่ผมขาว ที่เงอะงะ มอมแมม...” (หน้า 127)   

“...เธอรู้สึกเสมือนว่ามีบางสิ่งบางอย่างอยู่ในตัวของแม่ สิ่งนั้นช่างท้าทายและยโสโอหัง มันทำให้แกไม่ยี่หระต่อคำห้ามปรามที่มาจากความปรารถนาดีของเธอแม้แต่น้อย...” (หน้า 129)   

ความเปลี่ยนแปลงไปของยายสว่าง ทำให้นุชนาฏและวรรณนาถึงขั้นคิดว่า หญิงสูงวัยที่อยู่กับพวกเธอไม่ใช่ยายสว่างตัวจริง แต่เป็นผีร้ายที่เข้ามาสิงสู่อยู่ในร่าง 

ขณะเดียวกัน ยายสว่างก็คิดว่าทุกคนในบ้านรวมหัวกันเล่นงานแก ทั้งด้วยคำพูดก้าวร้าวดุดัน และการบังคับนั่นนู่นนี่ไปเสียทั้งหมด ไม่แต่ลูกสาวและสะใภ้เท่านั้นที่ยายสว่าง ‘ต่อไม่ติด’หลานชายที่วัน ๆ เอาแต่จ้องหน้าจอเล่นเกม เป็นอีกคนที่ยายสว่างไม่สามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ ขณะที่คนอื่น ๆ คิดว่ายายสว่างโดนผีสิง ยายสว่างก็คิดว่าหลานที่เอาแต่นั่งนิ่ง ๆ ทั้งวันก็โดนผีสิงเข้าแล้วเหมือนกัน

ปัญหาของคนสามรุ่น ยาย แม่ และหลาน มองเผิน ๆ เป็นเรื่องเชิงปัจเจก บ้านใครบ้านมัน แต่ถ้ามองให้ลึก นี่คือภาพสะท้อนสังคมซึ่งคนต่างรุ่นต่างวัยไม่อาจเข้าใจกัน แม้เจอหน้ากันทุกวัน พูดคุยกันทุกวัน แต่กลับไม่อาจเชื่อมต่อกันได้ 

ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ ไพฑูรย์ ธัญญา ใช้สัญลักษณ์หลายอย่างสื่อให้เห็นแง่มุมต่าง ๆ ของปัญหา โดยเฉพาะกิจวัตรประจำวันของยายสว่าง ที่ชอบทำความสะอาด ชอบปิดประตูหน้าต่าง ชอบปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ รวมไปถึงความหวาดระแวงว่าสะใภ้จะทำร้ายและขโมยของมีค่าของตัวเอง อีกทั้งนางยังกล่าวร้ายว่าหลานชายโดนผีสิง ซึ่งจุดนี้เองที่นำไปสู่การระเบิดอารมณ์ในตอนท้ายเรื่อง  

การทำความสะอาดแบบไม่หยุดหย่อน คือภาพสะท้อนของคนรุ่นเก่าที่ต้องการรักษาทุกอย่างให้คงสภาพเดิมอยู่เสมอ การปิดประตูหน้าต่างทั้ง ๆ ที่อาการร้อนอบอ้าว สะท้อนถึงการปิดตัวเองไว้ในโลกใบเดิม ไม่ยอมรับสิ่งใหม่ ๆ ที่จะผ่านเข้ามา การหมั่นตรวจดูสร้อยแหวนเงินทองที่เก็บไว้ ด้วยความห่วงกังวลว่าจะถูกขโมย สะท้อนถึงความกลัวว่าจะต้องสูญเสียสิ่งที่มีความหมายสำหรับตัวเองในอดีตไป การเที่ยวปิดไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ สะท้อนถึงการไม่ยอมรับเทคโนโลยีซึ่งเป็นองค์ประกอบของโลกยุคใหม่ การไม่ยอมรับขึ้นถึงขีดสุดในกรณีของหลาน ซึ่งนั่งจ้องคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน ในสายตาคนรุ่นเก่าอย่างยายสว่าง มีแต่พวกที่โดนผีเข้าเท่านั้นจึงจะมีอาการเยี่ยงนี้

ยายสว่างคือคนที่ปักหลักอยู่ในฝากฝั่งของอดีต ไม่ยอมก้าวตามความเปลี่ยนแปลงของโลก ขณะที่นุชนาฏและวรรณนาคือคนที่อยู่กับปัจจุบัน ส่วนหลานชายของยายสว่างคือคนของอนาคต คนสามรุ่นอยู่ในบ้านเดียวกัน แต่เหมือนอยู่บนโลกคนละใบ โลกที่ซ้อนทับกัน แต่ไม่อาจเชื่อมต่อถึงกันได้ เพราะเหตุนี้เอง คนแต่ละรุ่นจึงมองกันเหมือนเป็นคนแปลกหน้า คุยกันไม่รู้เรื่อง หวาดระแวงและชิงชังกัน จนถึงขั้นมองอีกฝ่ายเป็นผีร้าย 

ไพฑูรย์ ธัญญา เขียนเรื่องนี้ได้ดีเหลือเกิน เขาไม่สรุปง่าย ๆ ว่าเป็นความผิดของใคร หรือใครควรต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง เขาเพียงเปิดให้เห็นบาดแผล ทั้งที่เรื้อรังมาเนิ่นนานและที่ยังสดใหม่ แผลเหล่านี้เกิดจากคนในบ้านเดียวกันเอง ที่ทำร้ายกันด้วยความไม่เข้าใจ ไม่ยอมเปิดใจเข้าหากัน ไม่ยอมรับความแตกต่าง ไม่ยอมเชื่อในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน  

ปัญหานี้ไม่ได้เกิดเพียงในบ้านหลังหนึ่ง แต่มันคือปัญหาของยุคสมัย ซึ่งหากเราถอยออกมามองในมุมกว้าง ปัญหาที่คาราคาซังอยู่ในประเทศนี้ ก็ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากความยึดมั่นถือมั่น เอาความคิดและความรู้สึกของตัวเองเป็นใหญ่ ด้วยกันทั้งนั้นไม่ใช่หรือ ?

น่าสังเกตว่า เรื่องสั้นส่วนใหญ่ในชุดนี้มักจบแบบปลายเปิด ทิ้งปมปัญญาที่ยังไม่ได้รับการแก้ให้วนเวียนอยู่ในห้วงคำนึงของผู้อ่าน นอกจาก “บางอย่างอยู่ข้างใน” แล้ว เรื่องสั้นอย่าง “ผมยังไม่ได้หลับสักงีบ” “แผนขจัดความโง่ของประชาชน” และ “พระเยซูไม่ไถ่บาป” ก็จบในทำนองเดียวกัน เรื่องสั้นสามเรื่องนี้ขยับจากเรื่องเชิงปัจเจกที่สะท้อนสังคมปัจจุบัน ขึ้นไปแตะปัญหาที่ใหญ่อีกระดับ นั่นก็คือ มุมมองที่นักเขียนมีต่อรัฐบาล 

ทั้ง “ผมยังไม่ได้หลับสักงีบ” และ “แผนขจัดความโง่ของประชาชน” เขียนด้วยน้ำเสียงเสียดเย้ยประชดประชัน ประกาศผ่านอารมณ์ขันว่า ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนนั้น มีช่องว่างอันเบ่อเริ่มขวางกั้นอยู่ ช่องว่างนี้เป็นพื้นที่ให้หลายคนเติมความคิดต่าง ๆ ลงไป ว่ารัฐบาลอาจกำลังมีนโยบายอันไม่น่าไว้วางใจซุกซ่อนอยู่ในแฟ้มประชุม        

ส่วน “พระเยซูไม่ไถ่บาป” เล่นกับประเด็นที่กำลังถกเถียงกันใหญ่โต คือกรณีการใช้สารเคมีในการเกษตร ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับการยกเลิกการใช้สารเคมีหรือไม่ ชะตากรรมของตัวละครในเรื่องนี้ก็ทำให้เราต้องหยุดมองสิ่งที่เกิดขึ้นกับผืนแผ่นดินไทยและคนเล็ก ๆ ในสังคม 

นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ ไพฑูรย์ ธัญญา เขียนได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยเรื่องราวที่เอ่อล้นไปด้วยอารมณ์ของรู้สึก ซึ่งเล่าผ่านมุมมองของชายชราที่เพิ่งสูญเสียเพื่อนรักต่างวัยไป เขาทั้งสองทำงานรับจ้างฉีดพ่นยาฆ่าหญ้าตามสวนผลไม้ต่าง ๆ งานของพวกเขาไม่ต่างจากภารกิจของทหาร ซึ่งเดินหน้าปราบปรามคอมมิวนิสต์ในสมัยที่บริเวณนั้นยังเป็นพื้นที่สีแดง 

สำหรับคนที่ผ่านชีวิตมาจนเข้าวัยชรา สิ่งที่เขาได้พบเจอช่างน่าเจ็บปวด คอมมิวนิสต์มา ทหารตามมา แล้วทั้งคอมมิวนิสต์และทหารก็จากไป ทิ้งให้ชาวบ้านอยู่กับความทุกข์ยากต่อไป เช่นเดียวกับป้ายที่นักเผยแผ่ศาสนาชอบเอามาติดบนต้นไม้ ควบคู่ไปกับป้ายโฆษณายาฆ่าหญ้า ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าคอมมิวนิสต์ ทหาร นายทุน หรือบรรดานักเผยแผ่ศาสนา ก็ไม่เคยช่วยให้ชีวิตคนเล็ก ๆ ในสังคมดีขึ้น หนำซ้ำหลายครั้งยังโยนปัญหาอันหนักอึ้งมาให้กับชาวบ้านอีกด้วย    

เมื่อเราปิดหนังสือ เงยหน้าขึ้นมองความจริงก็พบว่า กระทั่งนโยบายยกเลิกการใช้สารเคมีในการทำเกษตร ก็ไม่ได้มุ่งยกระดับชีวิตชาวบ้านขึ้นมาแต่อย่างใด สุดท้ายสิ่งที่ชาวบ้านทำได้ก็คือ ยอมรับสิ่งที่เข้ามาแล้วปรับตัวไปตามสภาพ “...ที่ตายก็ตายกันไป ที่ไม่ตายก็ต้องดิ้นรนขวนขวายกันไป ก็ต้องอยู่กับมันให้ได้...” (หน้า 190)

แม้เรื่องราวใน “พระเยซูไม่ไถ่บาป” จะไม่มีส่วนเสี้ยวที่เกี่ยวพันกับระบบสื่อสารสมัยใหม่ แต่ก็ได้ยืนยันแนวคิดเดียวกันกับเรื่องสั้นอื่น ๆ ในเล่มนี้ ชาวบ้านอย่างเฒ่านีล อาร์มสตรอง และสหายบุญรอด คือคนที่ไม่ถูกเชื่อมต่อ พวกเขาต้องดิ้นรนใช้ชีวิตไปตามลำพัง ไม่มีใครมองเห็น ไม่มีใครใส่ใจ ไม่มีใครเสียน้ำตาให้ นอกจากคนที่ก้มหน้าทำงานในระดับเดียวกัน

ขณะเดียวกัน การไม่มีสื่ออันทันสมัยยังแสดงให้เห็นความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ถึงทุกวันนี้ เมื่อกวาดตาดูคร่าว ๆ เราอาจคิดว่าใคร ๆ ก็เป็นเจ้าของเทคโนโลยีอย่างโทรศัพท์มือถือ แต่ในความเป็นจริง ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมาก ที่ไม่มีโอกาสได้ใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยเหมือนผู้อื่น

น่าสนใจว่าในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ ไพฑูรย์ ธัญญา สามารถสะท้อนแง่มุมของสังคมร่วมสมัยได้อย่างหลากหลายมิติ ตั้งแต่ระดับแตะห่าง ๆ อย่าง “ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ” ไปจนถึงใกล้ชิดถึงทุกห้องหับในบ้านอย่าง “บางอย่างอยู่ข้างใน” เรื่องที่ตีแผ่ปัญหาอันหนักหน่วงในสังคมอย่าง “พระเยซูไม่ไถ่บาป” ไปจนถึงเรื่องที่ว่าด้วยกิเลสตัณหาของมนุษย์อย่าง “ถ้าสัญญาณดีจะโทร.หา” 

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งอยู่ที่การตั้งชื่อเรื่องซึ่งสื่อความหมายได้อย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็น “เธอไม่ถูกเชื่อมต่อ” ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาโดยรวมของงานชุดนี้ไว้ได้อย่างครบถ้วน “บางอย่างอยู่ข้างใน” ซึ่งสื่อถึงปัญหาที่ซุกอยู่ภายในความสัมพันธ์ของผู้คน “ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ” ซึ่งเล่นกับความยอกย้อนของความมีและไม่มี หรือ “ถ้าสัญญาณดีจะโทร.หา” ซึ่งบ่งบอกถึงปัญหาของการสื่อสาร 

“ถ้าสัญญาณดีจะโทร.หา” เป็นอีกเรื่องที่ผมชอบ ด้วยเสน่ห์และชั้นเชิงของการเล่าอันเหนือชั้น ประกอบกับชื่อเรื่องซึ่งเสริมแนวคิดว่าด้วยการไม่เชื่อมต่อให้ยิ่งแข็งแรงขึ้น 

อันที่จริงเราทุกคนอาจไม่ต่างจากไอ้หนุ่มชาวไร่ในเรื่องนี้ ที่หวังลม ๆ แล้ง ๆ ไปวัน ๆ ว่าสาวเจ้าที่มีเจ้าของแล้วซึ่งตนหลงรักจะโทรหา ทว่าจนแล้วจนรอด หล่อนก็ไม่เคยโทรมา ด้วยเหตุผลว่าสัญญาณไม่ดี 

เราเองก็คงหวังว่า การเชื่อมต่อระหว่างเรากับทุกคนที่เกี่ยวข้องจะสมบูรณ์ ไม่มีอุปสรรคใด ๆ มาขวางกั้น แต่ในท้ายที่สุด การติดต่อที่ไร้รอยสะดุดก็ไม่เคยมีอยู่จริง 

ไพฑูรย์ ธัญญา เขียนเรื่องนี้อย่างโรแมนติก หวานปนเศร้า ขณะเดียวกันยังสื่อความจริงในสังคมปัจจุบัน ‘สัญญาณไม่ดี’ ไม่ใช่คำที่สื่อความหมายแบบตรงไปตรงมา ที่จริงมันเป็นข้ออ้างที่จะโทรหรือไม่ต่างหาก

ปัญหาของการสื่อสารไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่อยู่ตรงใจที่พร้อมจะสื่อสารหรือไม่ต่างหาก ถ้าไม่มีใจเสียแล้ว ก็ไม่มีสิทธิ์จะสื่อสารถึงกันได้ ถ้าไม่มีใจเสียอย่าง ก็ไม่มีทางที่คนเราจะเข้าใจกันได้

เรื่องสั้นทั้งหลายใน “แผนขจัดความโง่ของประชาชน” ว่าด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งไม่ว่าจะล้ำหน้าขนาดไหนก็อาจทำให้มนุษย์เชื่อมต่อกันได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยเหตุผลและข้ออ้างต่าง ๆ ที่คนเราให้ต่อกัน ทั้งไม่มีสัญญาณ ติดฝนอยู่ ยังไม่ได้เปิดอ่าน ขัดหูขัดตา คุยกันไม่รู้เรื่อง ไม่มีอะไรน่าสนใจ ไม่น่าไว้ใจ ไม่เห็นช่วยอะไรได้ หรือดูถูกกันนี่หว่า

ทั้งหมดทั้งปวงเป็นเรื่องของมนุษย์มากกว่าเทคโนโลยี จะ 4G  5G หรือไม่มีสัก G ก็ไม่แตกต่างกัน ปัญหาไม่ได้เกิดจากเทคโนโลยี แต่เกิดจากเราเองที่ยังใส่ใจกันไม่พอ 

คลื่นสัญญาณที่ดีที่สุดไม่ใช่สัญญาณโทรศัพท์ แต่เป็นสัญญาณของหัวใจ สัญญาณนี้ดีเมื่อไร การเชื่อมต่อครั้งไหน ๆ ก็ติด

สัญญาณของหัวใจดีเมื่อไร เราจะไม่ถูกทิ้งให้ต้องเคว้งคว้าง บนโลกที่มีแต่เสียง ติ๊ง ติ๊ง ติ๊ง อันแปลกปลอมอีกต่อไป.  

 

พิมพ์ครั้งแรก นิตยสารสีสัน ปีที่ 31 ฉบับที่ 3 ปี 2562

 

 


 

            

ติดอยู่ระหว่างการเดินทาง

เขียน : อุทิศ เหมะมูล

สำนักพิมพ์จุติ ราคา 180 บาท,143 หน้า

 

ฉากและชีวิต

 

          แม้ไม่มีคมเหมือนมีดหรือดาบ ทว่ารางวัลวรรณกรรมใหญ่ ๆ อย่างซีไรต์ ‘เชือด’ ใครมานักต่อนักแล้ว

         ในทางลบ ความคาดหวังอย่างสูงต่อรางวัลและผลงานของตัวเอง ทำให้นักเขียนจำนวนไม่น้อยถึงขั้นหมดแรงหมดใจที่จะสร้างงานใหม่ หลังไม่มีชื่อติดโผรางวัล ไม่ว่าในระดับลองลิสต์ ช็อร์ตลิสต์ หรือเมื่อมีการประกาศผลรางวัลแล้วก็ตาม

         ในทางบวก รางวัลนำมาซึ่งชื่อเสียงในวงกว้าง แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เจ้าของรางวัลตั้งมาตรฐานขึ้นในใจตัวเอง ว่าผลงานใหม่ที่จะออกไป ต้องดีกว่าหรืออย่างน้อยต้องอยู่ในระดับเท่าเทียม หลายคนจึงเกิดอาการเกร็ง ไม่กล้าปล่อยงานใหม่ออกมา

         สำหรับ อุทิศ เหมะมูล ดูเหมือนเขาไม่มีปัญหานี้ ตรงกันข้าม เขาเคยบอกเล่าไว้ใน ‘สมุดโฉมหน้า’ (คำเรียก Facebook ตามแบบฉบับท่านอาจารย์ดวงมน จิตรจำนงค์) ว่าการได้รับรางวัลซีไรต์จากนวนิยาย “ลับแล – แก่งคอย” เมื่อปี พ.ศ. 2552 ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญของการเป็นนักเขียน เพราะหากไม่ได้รับรางวัลในครั้งนั้น เขาอาจถอดใจ กระโจนออกไปจากเส้นทางนักเขียนแล้วก็ได้

        จากวันนั้นถึงวันนี้ อุทิศ เหมะมูล มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทความ บทวิจารณ์ และสารคดี มองเผิน ๆ เหมือนเขาเป็นว่าวที่ติดลมบนไปแล้ว จนมาถึงรวมเรื่องสั้นล่าสุด “ติดอยู่ระหว่างการเดินทาง” สิ่งที่สะท้อนอยู่งานชุดนี้ก็คือ เขาอาจไม่ต่างจากนักเขียนคนอื่น แม้ผลงานที่ออกมาทุกครั้งจะได้รับความสนใจ และถูกกล่าวถึงในแง่ดีจากผู้อ่าน แต่ก็ใช่ว่ามันจะต่อยอดหรือสร้างความมั่นคงให้แก่เขาได้

         การประสบความสำเร็จสูงสุด เหมือนเป็นคำสาปที่ไร้คนสาป เพราะตราบใดที่ยังมีชีวิต และยังดำรงตนเป็นนักเขียน เขาย่อมต้องก้าวต่อไปบนเส้นทางสายนี้ แต่ปัญหาก็คือเขาควรก้าวไปในทิศทางใด ? หลังจากเขียนวรรณกรรมมากว่าสิบปีเต็ม ก็มาถึงจุดที่เขาต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะไปทางไหนต่อดี นี่เองจึงเป็นที่มาของชื่อชุด “ติดอยู่ระหว่างการเดินทาง”

        นอกจากจะพูดถึง ‘ภาวะการสร้างสรรค์’ ที่ชะงักงันของตัวเองแล้ว รวมเรื่องสั้นชุดนี้ยังคล้องไปการเดินทางในชีวิตจริง แต่ละครั้งของการเดินทางคือการเรียนรู้ พบโลก และพบตัวเอง ในมุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

        หากมองถึงที่มาของเรื่องสั้นชุดนี้ แทบทั้งหมดมาจากประสบการณ์การเดินทางของ อุทิศ เหมะมูล เอง แต่เราก็คงไม่ทึกทักว่า ตัวละครนักเขียนในหลาย ๆ เรื่องคือ อุทิศ เหมะมูล เขาเพียงหยิบประสบการณ์ตรงมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้น ก่อนที่จะเติมส่วนผสมอื่นเข้าไป ใส่เครื่องปรุงรสต่าง ๆ ทำให้สุกกำลังดี แล้วจัดแต่งจานให้แจ่ม ก่อนนำมาเสิร์ฟในรูปแบบของเรื่องสั้น

        “ติดอยู่ระหว่างการเดินทาง” ประกอบด้วยเรื่องสั้น 7 เรื่อง ทั้งหมดว่าด้วยเหตุการณ์ระหว่างการเดินทางของบรรดาตัวละคร จากบ้านนอกสู่กรุงเทพ หรือไปไกลกว่านั้น ปารีส โซล พาราณสี ไซ่ง่อน และเกียวโต ซึ่งล้วนเป็นเมืองใหญ่ที่มีบุคลิกเฉพาะตัวทั้งสิ้น

        นอกเหนือจากตัวละครแล้ว สถานที่คือองค์ประกอบสำคัญยิ่งของงานชุดนี้ มันไม่ได้เป็นเพียงแค่ฉากให้ตัวละครเข้าไปเดินไปเดินมา นั่งลง พูดคุย และดื่มเบียร์เท่านั้น แต่ยังสอดคล้องกับความเป็นไปของตัวละคร ณ ช่วงเวลานั้น  ฉากและชีวิตจึงประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน ฉากทำให้เราเข้าใจตัวละครมากขึ้น พร้อมกันนั้นก็ทำให้ตัวละครเข้าใจตัวเอง และพบความจริงที่สะท้อนอยู่ในสถานที่เหล่านั้น – ความจริงที่อาจเป็นคำตอบให้แก่ปัญหาในชีวิตพวกเขา

       เมื่อมองไปที่ชื่อเรื่องสั้นในชุด เรายิ่งเห็นชัดว่าฉากไม่เป็นเพียงแค่ฉาก แต่ อุทิศ เหมะมูล ให้สถานที่ต่าง ๆ ทำหน้าที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดและความเป็นไปของตัวละคร อาทิ ปารีสหลงทิศ, เกียวโตซ่อนกลิ่น, บางรักเร้น ฯลฯ เจาะเข้าไปในเรื่อง เราจะพบว่า ปารีสไม่ได้หลงทิศหลงทาง เกียวโตก็ไม่ได้ซ่อนกลิ่น (แห่งอารมณ์) ใด ๆ เอาไว้ เช่นเดียวกับบางรักที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์เร้นลับ ตัวละครในเรื่องเหล่านี้ต่างหาก ที่กำลังรู้สึกเหมือนคนเดินหลงบนเส้นทางชีวิต มีบางสิ่งที่ต้องเก็บซ่อนเป็นความลับ และมีความสัมพันธ์ที่หลบเร้นจากสายตาผู้คน

         เช่นเดียวกับตัวละครในเรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น “ติดอยู่ในสถาน” “โซลในใจ” “สาบสูญที่พาราณสี” และ “อกไหม้ไซ่ง่อน” (เน้นโดยผมเอง - จรูญพร ปรปักษ์ประลัย ผู้วิจารณ์) ซึ่งชื่อเรื่องล้วนบ่งบอกถึงความรู้สึกของพวกเขาในช่วงเวลานั้นทั้งสิ้น แค่ดูจากชื่อเรื่อง เราคงพอเดาออกว่ามันไม่ใช่ช่วงเวลาอันสุขสำราญ ตัวละครเดินทางไกล แต่ปัญหาในใจยังคงติดตามพวกเขาไปทุกที่ มันเป็นปัญหาที่ซ้อนทับ ทั้งปัญหาความสัมพันธ์ ปัญหาการสร้างสรรค์งาน และปัญหาของประเทศชาติ

         พวกเขาตกเข้าไปในในบ่วงปัญหา และติดอยู่ในนั้นอย่างไม่เห็นทางที่จะหลุดออกไปได้             

 

วิกฤตการสร้างสรรค์

         เรื่องสั้นทั้งเจ็ดเรื่องมีถึงห้าเรื่องที่ชัดเจนว่าตัวละครเป็นนักเขียน ได้แก่ โซลในใจ, สาบสูญที่พาราณสี, อกไหม้ไซ่ง่อน, บางรักเร้น และ เกียวโตซ่อนกลิ่น พวกเขาเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ด้วยภารกิจของนักเขียน ซึ่งได้รับการเชื้อเชิญให้ไปรวมงานชุมนุมนักเขียนระดับนานาชาติ หรือไม่ก็ด้วยเหตุผลส่วนตัว ในการไปใช้ช่วงเวลาดี ๆ อยู่กับใครสักคน การเดินทางทำให้ตัวละครได้เห็นสิ่งใหม่ ๆ แต่พร้อมกันนั้นก็ทำให้พวกเขาได้เห็นปัญหาเดิม ๆ ของตัวเองชัดเจนขึ้น พวกเขาไม่ใช่นักเขียนโนเนม ตรงกันข้าม พวกเขาต่างมีชื่อเสียง และชื่อเสียงที่ค้ำคออยู่นี่เอง ที่ทำให้พวกเขาตั้งคำถามกับตัวเองอยู่บ่อยครั้ง ว่าในฐานะที่เป็นนักเขียน พวกเขาได้สร้างสรรค์อะไรออกมาบ้าง ?

         ใน “สาบสูญที่พาราณสี” อุทิศ เหมะมูล เล่าถึงนักเขียนผู้ประสบความสำเร็จ เขากลายเป็นต้นแบบของนักเขียนรุ่นน้อง เป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือศรัทธา มันทำให้เขามองเห็นตัวเองในอดีต ครั้งหนึ่งเขาก็เคยเป็นเด็กหนุ่มผู้อยากย่างก้าวบนเส้นทางนักเขียน เขาส่งนวนิยายเรื่องแรกให้นักเขียนผู้ซึ่งเขาเลื่อมใสได้อ่านเพื่อขอความคิดเห็น ในเวลานั้นเขาไม่รู้หรอกว่าผลจะเป็นอย่างไร แต่ในที่สุดเขาก็ได้รับจดหมายตอบ ข้อความในจดหมายเป็นพลังงานชั้นเลิศสำหรับผลงานต่อมา มันเป็นเหตุการณ์ที่ยังคงประทับอยู่ในความทรงจำ

         ณ เวลานี้ เขาก็ไม่ต่างจากนักเขียนผู้นั้น มีต้นฉบับเป็นจำนวนมากส่งมาให้เขาช่วยอ่าน ทว่าเขากลับไม่ได้ไยดีต้นฉบับเหล่านั้นนัก พวกมันยังคงรอคอยการอ่าน เช่นเดียวกับเจ้าของต้นฉบับทั้งหลายที่รอคอยความคิดเห็นรวมถึงการสนับสนุนจากเขา

         ภาพความตายที่เหมือนการแสดงอันไม่จบสิ้นริมแม่น้ำคงคา ทำให้เขามองเห็นตัวเอง แม้จะยังมีลมหายใจ ทว่าความเป็นนักเขียนของเขาเหมือนสูญสิ้นไปหมดแล้ว และนี่เองอาจเป็นเหตุผลให้เขาปฏิบัติต่อต้นฉบับของใครต่อใครอย่างไม่ไยดี การรอคอยทำให้เขารู้สึกมีความสำคัญ และที่มากกว่านั้นมันยังอาจเจือด้วยความริษยา ต้นฉบับที่สำเร็จเป็นเล่มตรงหน้า ตอกย้ำถึงความไม่ได้เรื่องของเขา ที่ไม่อาจสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ออกมาได้

       “...คุณบอกนักเขียนรุ่นใหม่ ๆ ทุกคนว่า ถ้ามีเวลาจะอ่านต้นฉบับ และคุณไม่เคยอ่าน กักกั้นโอกาสที่เหล่านักเขียนหนุ่มสาวจะแจ้งเกิดในวงการด้วยการงันค้างไม่แยแสของคุณ ปฏิเสธเสียแต่ต้นก็สิ้นเรื่อง พวกเขาจะได้ไปหาคนอื่น แต่คุณไม่ทำ การที่พวกเขามาหาและคุณทำให้กระบวนการหวังค้างอยู่เช่นนั้น – ติดอยู่ที่คุณ - คือคุณยังรู้สึกสำคัญ ยังคงมีคนรอคุณอยู่ และตัวคุณเองก็รอ รอเรื่องเล่าใหม่ ๆ เกิดขึ้นในคุณ แต่มันเหมือนเลือนหาย เหมือนสาบสูญ...” (หน้า 65)

         ใน “อกไหม้ไซ่ง่อน” ตัวละครก็ประสบปัญหาที่ไม่ต่างกันนัก  

         “... “ยังเขียนหนังสืออยู่มั้ย” ต๋อมถาม

         “เขียน” เม่นตอบ “แต่ตอนนี้ไม่”

        “ทำไม”

        “ยังหาที่ไปไม่ถูก...” (หน้า 76)

         ตอนจบของ “อกไหม้ไซ่ง่อน” แฝงอารมณ์ขันให้อมยิ้ม เมื่อเพื่อนผู้กำลังมีปัญหาความสัมพันธ์บอกกับเพื่อนผู้เป็นนักเขียนว่าอย่านำเรื่องของเขาไปเขียน แต่เรื่องสั้นเรื่องนี้ก็เป็นคำตอบอยู่ในที ว่าเขานำเรื่องที่เพื่อนอยากเก็บซ่อนไว้ในมุมส่วนตัวไปขยายต่อเป็นงานเขียนหรือไม่

          ต่างจาก “สาบสูญที่พาราณสี” ที่ทั้งเรื่องคลุมไว้ด้วยบรรยากาศของความเศร้า เรื่องสั้นเรื่องนี้เหมือนเป็นการแสดงความสำนึกผิด แต่ขณะเดียวกัน มันก็สะท้อนความจริงอันน่าหดหู่ในโลกของศิลปิน ที่ต่างสนใจแต่ตัวเอง แต่กลับไม่ใส่ใจงานที่ผู้อื่นสร้างสรรค์ ไม่แต่ตัวละคร ‘คุณ’ เท่านั้น ตอนจบของเรื่องตอกย้ำความจริงนี้ให้หนักแน่นขึ้น เมื่อเขาส่งผลงานของนักเขียนรุ่นพี่ที่เขาเห็นว่าดีให้สำนักพิมพ์พิจารณา นักเขียนเจ้าของสำนักพิมพ์กลับทำต้นฉบับหาย ต้นฉบับคือสิ่งมีชีวิตที่รอการกำเนิด การหายไปจึงไม่ต่างจากความตาย เป็นการสาบสูญที่ไม่แต่เพียงเกิดขึ้นกับผลงานเท่านั้น แต่ตัวผู้สร้างสรรค์ที่เฝ้ารอปีแล้วปีเล่า ก็ถูกทำให้สาบสูญไปพร้อมกันด้วย

          ปัญหาการสร้างสรรค์ไม่ได้เป็นเหมือนระเบิดที่ตูมขึ้นมาแล้วก็จบกัน แต่เป็นเหมือนตะกอนที่ถมทับเพิ่มขึ้นตามวันเวลา แรก ๆ อาจไม่รู้สึกอะไรมากนัก แต่นานวันเข้ามันกลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ จนยากที่จะจัดการ และสุดท้ายมันอาจนำไปสู่ภาวะสิ้นสูญ แบบที่ตัวละครในเรื่องนี้รู้สึก

      

วิกฤตชีวิตคู่

         ควบคู่ไปกับปัญหาการสร้างสรรค์ รวมเรื่องสั้นชุดนี้ยังสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักที่มาถึงจุดวิกฤต ทั้ง “โซลในใจ” และ “อกไหม้ไซ่ง่อน” ตัวละครล้วนมาถึงจุดที่ไม่ได้ไปต่อ ขณะที่ใน “เกียวโตซ่อนกลิ่น” ความสัมพันธ์สิ้นสุดเพียงจุดเริ่มต้น เมื่อฝ่ายหนึ่งจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ทิ้งให้อีกฝ่ายต้องอยู่กับความอ้างว้างยิ่งกว่าที่เคยมีมา 

         ใน “บางรักเร้น” ความสัมพันธ์ของคนทั้งสองเหมือนอยู่บนเส้นบาง ๆ ที่อาจขาดลงเมื่อไรก็ได้ เราไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับตัวละครทั้งสองมากนัก รู้แต่ว่าฝ่ายชายเป็นนักเขียน ทั้งสองพบกันแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ อย่างความรู้สึกลำบากใจ แต่แรงปรารถนาที่มีต่อกันก็ทำให้ทั้งคู่ไม่อาจยับยั้งตัวเองได้ มันเป็นความสุขระคนเศร้าอย่างที่ อุทิศ เหมะมูล บอกไว้ในตอนหนึ่งของเรื่องว่า “...ความสุขก่อนร่วมรัก ความเศร้าหลังเสร็จสิ้น...” (หน้า 97) ถึงอย่างนั้นเธอและเขาก็หลงใหลความสัมพันธ์นี้ จนไม่เคยคิดที่จะจบมัน “... “มันงดงามเสมอ แม้แต่ความเศร้าก็งดงาม” เธอพูด “เหมือนล่องลอยในความงดงามนั้น ก่อนหล่นกระแทกสู่ความเศร้าเพียงลำพัง ต้องฟื้นตัวจากความเป็นบ้า และเจ็บเจียนตาย” ...” (หน้า 94) 

         ผิดกับความสัมพันธ์ใน “ปารีสหลงทิศ” ที่มองเผิน ๆ เป็นเพียงการกระทบกระทั่งกันตามประสาสามีภรรยา ทว่าหากมองลึก ๆ เราจะเห็นร่องรอยบางอย่าง ที่หากไม่ระวังให้ดีก็อาจนำสู่จุดแตกหักได้ อุทิศ เหมะมูล เปิดเรื่องนี้ด้วยข้อความที่ดูขัดแย้งกันอยู่ไม่น้อย

         “นี่ไม่รู้ตัวเลยเหรอว่าอยู่ด้วยยากแค่ไหน” เธอบอก มองจิกเขาอย่างรักใคร่...” (หน้า 23)

         คำพูดของภรรยาเป็นการต่อว่า แต่กิริยากลับแสดงความรักใคร่ จากนั้นตลอดทั้งเรื่อง ในการท่องเที่ยวในปารีสของคนทั้งสองก็มีลักษณะแบบนี้ ไม่ได้หวานเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ได้ขมจนเกินกลืน ทั้งเรื่องกลับยืนยันถึงการใช้ชีวิตคู่ที่ต้องประคับประคองกันไป จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง

         หลายช่วงตอนของเรื่องมีลักษณะเป็นความเปรียบ ระหว่างเส้นทางท่องเที่ยวกับเส้นทางชีวิต อย่างเช่นตอนหนึ่งที่ทั้งสองติดแหงกอยู่ในพิพิธภัณฑ์

        “... “เชี่ย ไม่ให้กูออก” เขาสบถ

        “พ่อเบา ๆ” เธอพูด

        อายเหรอ เขาคิด มองเธออย่างหมางเมิน

        “เดี๋ยวออกไปหาอะไรอร่อย ๆ กินกัน” เธอปลอบ

        “ก็มันยังออกไม่ได้ มันติดอยู่ตรงนี้” เขาครวญ

        “พูดดี ๆ นะ ติดอยู่ตรงไหน” เธอพูด

        “ที่นี่ กับคุณ” เขาตอบ

       มี้ก็หิว น้ำก็ยังไม่ได้กิน ปวดฉี่เหมือนกับพ่อนั่นแหละ” เธอบอก “จะออกไปด้วยกันมั้ย หือ ยังไง”

       “ออกไปด้วยกัน” เขาตอบ

       “งั้นพ่อพามี้ไปนะ” ...” (หน้า 38 - 39)

          อ่านบทสนทนาชุดนี้แล้ว ผมอยากยืนปรบมือให้ อุทิศ เหมะมูล บทสนทนาของเขาเป็นธรรมชาติ ง่าย ๆ ตรงไปตรงมา แต่แฝงไว้ด้วยความลึกซึ้ง ทั้งในเชิงความหมายและอารมณ์

          การติดอยู่กับปัญหาบางอย่าง ดูเป็นเรื่องเบาลงทันทีที่มีใครสักคนอยู่ข้าง ๆ บอกเราว่า นี่เป็นปัญหาของเราสองคน เราติดอยู่กับมันด้วยกัน และเราจะหาทางออกจากมันด้วยกัน

          หากเรานำ “ปารีสหลงทิศ” มาวางเทียบกับ “เกียวโตซ่อนกลิ่น” อารมณ์ของเรื่องจะต่างกันอย่างสิ้นเชิง คู่สามีภรรยาใน “ปารีสหลงทิศ” แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เขาและเธอจะมีกันและกันเสมอ แต่ใน “เกียวโตซ่อนกลิ่น” ตัวละครอย่าง วารี ถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพังอย่างอ้างว้าง จากเด็กหนุ่มที่มีปัญหากับพ่อ จนความสัมพันธ์ในครอบครัวมาถึงจุดสิ้นสุด เขาเหมือนคนที่ขาดพร่อง ต้องการการเติมเต็มตลอดเวลา กระทั่งการเดินทางไปงานสัมมนาที่เกียวโต ทำให้เขาได้พบนักเขียนหนุ่มผู้เป็นเสมือนส่วนเสี้ยวที่หายไป ทว่าเพียงไม่ถึงไม่หนึ่งปีต่อมา คลื่นสึนามิที่ถล่มญี่ปุ่นก็ซัดส่วนเสี้ยวนั้นไปจากเขาอีกครั้ง

         แต่ถึงแม้ตัวละครของเขาจะพบเจอประสบการณ์ที่แตกต่าง สิ่งที่เราได้พบในความสัมพันธ์แบบต่าง ๆ ก็คือ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สุดท้ายความสัมพันธ์จะลงเอยอย่างไร แต่ละคนต้องสบตากับความจริง แล้วยอมรับมันให้ได้ เช่นเดียวกับ วารี ใน “เกียวโตซ่อนกลิ่น” ซึ่งเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่อย่างเข้มแข็ง “...เขาจะรับไว้ทั้งหมด เพียงรับไว้เท่านั้น เพราะเขาไม่รู้สึกว่าสูญเสียอะไรอีกต่อไปแล้ว” (หน้า 143)     
               

วิกฤตสังคมไทย

          นอกจากปัญหาในเชิงปัจเจกแล้ว อุทิศ เหมะมูล ยังแฝงปัญหาของสังคมไทยที่ ‘ติดอยู่’ กับอะไรบางอย่างไว้ในหลายเรื่อง ทั้งที่ว่ากันแบบตรง ๆ

         “...เอาต้นไม้มาลง เอาดอกไม้มาเติม เอาเครื่องเล่นออกกำลังกายมาใส่ แล้วก็ปิดไม่ให้คนใช้ เอาไว้ดูสวย ๆ อย่างเดียว บ้านเมืองของมึงอ่ะ...” (“อกไหม้ไซ่ง่อน” หน้า 77)

         “... “ตลก น่ารัก พวกลุง ๆ ใสซื่อจริงใจกันจัง” พวกลุง ๆ มอบความขบขันให้ และระหว่างที่พวกเราขบขันเหมือนนั่งดูรายการตลกใช้ถาดฟาดหัวเป็นมุกซ้ำ ๆ พวกเขาก็กวาดแดกจนเกลี้ยงเกลา...” (“โซลในใจ” หน้า 48)

        รวมถึงที่ซ่อนไว้ในเหตุการณ์ซึ่งต้องตีความ เช่น ปมปัญหาของ วารี กับพ่อใน “เกียวโตซ่อนกลิ่น” ซึ่งสอดคล้องกับหัวข้อการเสวนา “สังคมปิตาธิปไตยในภูมิภาคเอเชีย” อย่างมีนัยสำคัญ

        เช่นเดียวกับการที่ ‘ผม’ ใน “โซลในใจ” ติดแหงกอยู่ท่ามกลางอากาศหนาวเย็น ไม่สามารถกลับเข้าบ้านได้ ซึ่งสามารถตีความในเชิงชีวิตคู่ก็ได้ หรือตีความในเชิงการเมืองก็ได้เช่นกัน

         แต่ถึงแม้จะพูดถึงปัญหาในหลายระดับ รวมเรื่องสั้นชุดนี้ก็ไม่ได้พบเราไปสู่ความสิ้นหวัง ตรงกันข้าม ถึงแม้ยังไปไม่พ้นจากปัญหา แต่ท่ามกลางวิกฤตการณ์ เขาทำให้เราเชื่อว่ายังมีทางออกซ่อนอยู่ที่ไหนสักแห่ง

         และที่มากกว่านั้น ณ จุดที่เราติดอยู่และคิดว่าเป็นปัญหา เมื่อมองดี ๆ มันอาจไม่เลวร้ายนักก็ได้ เหมือนกับสิ่งที่เด็กชายอย่าง อ่อน ใน “ติดอยู่ในสถาน” ได้พบ หลังจากออกมาจากบ้านที่ต่างจังหวัด มาพำนักอยู่กับน้าชายในกรุงเทพ ทีแรกเขามองบ้านน้าเป็นเหมือนสวรรค์ แต่เมื่อได้มาอยู่จริง ๆ และรับรู้ว่าที่นี่มีปัญหาไม่ต่างกับบ้านที่เขาจากมา เขาจึงชัดแจ้งว่าไม่มีที่ไหนที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง

         สุดท้ายการติดอยู่กับปัญหาใด ๆ หาได้เป็นเพราะสถานที่ซึ่งเป็นของภายนอกไม่ ทั้งหมดเป็นเรื่องของใจต่างหาก ถ้าใจเราติด เราก็ติด แต่ถ้าใจได้รับการปลดปล่อย เราก็จะเป็นอิสระ

ตัวละครหลายตัวดูเหมือนเข้าใจหลักความจริงนี้ แต่ความเข้าใจไม่ได้แปลว่าจะปฏิบัติได้เสมอไป เราทุกคนก็เป็นเช่นเดียวกันไม่ใช่หรือ ?

         ความทุกข์มากมายไม่ได้เกิดจากเราไม่เข้าใจ แต่เพราะเราไม่สามารถใช้ความเข้าใจนั้นพาตัวเองหลุดพ้นปัญหาไปได้ต่างหาก ที่ทำให้เรายังคงเป็นทุกข์  ยังคงติดอยู่กับปัญหา ... ติดอยู่ระหว่างการเดินทางของชีวิต.

  

จรูญพร ปรปักษ์ประลัย

 

พิมพ์ครั้งแรก นิตยสารสีสัน ปีที่ 29 ฉบับที่ 7 : 2561

 


 

สมเด็จพระสังฆราชเสด็จฯ มา

เขียน : จำลอง ฝั่งชลจิตร

แมวบ้านสำนักพิมพ์ ราคา 280 บาท,320 หน้า

 

ภาพจำลองของจำลอง

40ปี จำลอง ฝั่งชลจิตร บนเส้นทางนักเขียน

 

                    ช่วงเวลาสี่สิบปีมีอะไรเกิดขึ้นมามากมาย จนถ้าใครเผลอหลับไปเมื่อสี่สิบก่อน แล้วตื่นขึ้นมาในปีนี้คงฉงนฉงายว่า นี่คงเป็นอีกโลก ไม่ใช่โลกใบเดิมที่เคยอยู่ แต่ถึงแม้สิ่งต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงไป บางสิ่งกลับไม่เคยเปลี่ยน ซ้ำยิ่งนานวันกลับยิ่งยืนยัน ว่านี่คือของแท้ของจริงที่กาลเวลาทำอะไรไม่ได้ หนึ่งในนั้นคือนักเขียนผู้มีนามว่า จำลอง ฝั่งชลจิตร

                  จำลอง ฝั่งชลจิตร เริ่มก้าวเดินบนถนนหนังสือด้วยเรื่องสั้น “และนี่ก็คือชีวิต” เมื่อปี พ.ศ.2521ในช่วงเวลาที่เรื่องสั้นยังเป็นงานเขียนซึ่งได้รับความสนใจจากผู้อ่าน นักเขียนส่วนใหญ่แจ้งเกิดจากเรื่องสั้น ก่อนที่จะหันไปจับงานเขียนประเภทอื่น มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงมุ่งมั่นเขียนเรื่องสั้นมาอย่างต่อเนื่อง

                   สำหรับ จำลอง ฝั่งชลจิตร เขาไม่เพียงเขียนเรื่องสั้นอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น แต่ยังเอาจริงเอาจังกับศาสตร์ของเรื่องสั้น โดยอ่านคิดวิเคราะห์เรื่องสั้นทั้งเก่าใหม่ของไทยของเทศจำนวนมาก ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์ผลงานเรื่องสั้นเรื่องแล้วเรื่องเล่า ด้วยความสนุก รัก และหลงใหล จนใคร ๆ ต่างยอมรับในฉายา ‘ลองเรื่องสั้น’ ของเขา

                    ช่วงเวลาสี่สิบปี เขาเขียนเรื่องสั้นไว้หลายร้อยเรื่อง มีรวมเรื่องสั้นออกมาแล้วถึง16ชุด ได้แก่ “กองคาราวาน” (2523) “นายกรัฐมนตรีไปธนาคาร” (2529) “สีของหมา” (2530) “ผ้าทอลายหางกระรอก” (2530) “คนกับเด็ก” (2530) “สาระขัน” (2536) “สุภาพบุรุษไฟแช็ก” (2539) “เมืองน่าอยู่” (2542) “คาร์บูธเซล” (2543) “น้ำใจยังหาได้” (2545) “ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไป” (2548) “เรื่องบางเรื่องเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่า” (2550) “ผมกับผมอีกคน (ข้ามให้พ้นหุบเหวแห่งความเกลียดชัง)” (2554) “เรื่อง ผม เล่า” (2557) “เมือง บ้าน ผม” (2559) และล่าสุดกับ “สมเด็จพระสังฆราชเสด็จฯ มา” ซึ่งเขาให้นิยามว่าเป็นรวมเรื่องสั้นในวาระครบ 40 ปีการเขียนงานตีพิมพ์

                    หากมองย้อนกลับไป เราจะเห็นพัฒนาการในเรื่องสั้นของ จำลอง ฝั่งชลจิตร ได้อย่างชัดเจน เริ่มจากเรื่องสั้นสะท้อนสังคมในยุคแรกค่อย ๆ คลี่คลายสู่เรื่องสั้นที่แสดงมุมมองต่อชีวิตและสังคมของผู้เขียนมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังจะสังเกตเห็นว่าชื่อรวมเรื่องสั้นของเขาในช่วงสิบปีหลัง มีคำว่า ‘ผม’ อยู่ในนั้นเกือบทั้งสิ้น (ยกเว้นเพียงเล่มล่าสุดเท่านั้น)

                    ในวรรณกรรมญี่ปุ่นมีการจัดกลุ่มเรื่องที่ใช้บุรุษที่หนึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องว่า I Novel วัตถุประสงค์ในการเขียนเรื่องแนวนี้ก็เพื่อเปิดเปลือยด้านมืดของสังคมและตัวผู้เขียนออกมา หนึ่งในนักเขียนที่ถูกจัดเข้ากลุ่มนี้คือ ดะไซ โอซามุ ซึ่งเพิ่งมีนวนิยาย “สูญสิ้นความเป็นคน” และรวมเรื่องสั้น “เมียชายชั่ว” ฉบับแปลภาษาไทยออกมาให้เราได้อ่านกันเมื่อไม่นานมานี้

                    แต่เรื่องสั้นของ จำลอง ฝั่งชลจิตร ไม่ได้สะท้อนด้านดำมืดเหมือนงานเขียนในกลุ่ม I Novel เขาใช้บุรุษที่หนึ่งเพียงเพื่อบอกเล่าโลกในมุมมองของ “ผม” ซึ่งอาจเป็นมุมมองเดียวกับผู้เขียนหรืออาจไม่ใช่ก็ได้ สิ่งที่ต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัดคือ จำลอง ฝั่งชลจิตร แทบไม่เปิดด้านลึกของ “ผม” ออกมาให้ผู้อ่านได้เห็นเลย “ผม” ของเขาช่างระมัดระวังที่จะบอกอารมณ์ความรู้สึกหรือแรงปรารถนาภายใน “ผม” เป็นตัวละครที่เรามองเห็นเพียงภายนอก รับรู้ตามที่ “ผม” บอกเล่า แต่ไม่ได้รับการเชื้อเชิญให้ก้าวเข้าไปภายในจิตใจตัวละคร

                    เพราะเหตุนี้เอง เรื่องสั้นของ จำลอง ฝั่งชลจิตร จึงยากสำหรับหลายคน ทั้ง ๆ ที่โครงเรื่องส่วนใหญ่ไม่ได้ซับซ้อน หรือวางปริศนาเงื่อนปมใด ๆ ไว้ให้เราหาทางคลี่คลาย แต่การให้อิสระกับผู้อ่าน โดยไม่ชี้นำหรือกำกับความคิดและอารมณ์ของผู้อ่าน กลับกลายเป็นอุปสรรคในการอ่าน ยิ่งสำหรับผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องในแนวทางนี้ด้วยแล้ว อาจถึงขั้นมึนได้ว่า นี่มันอะไรกัน ?

                    หากจะเทียบเคียงกับนักเขียนท่านอื่น ผมนึกถึง เออร์เนสต์ เฮมิ่งเวย์ หลายคนคงเคยอ่านเรื่องสั้น Cat in the Rain ของเขา ซึ่งมีฉบับแปลภาษาไทยอยู่หลายสำนวน Cat in the Rain หรือ “แมวกลางฝน” เป็นเรื่องสั้นที่เล่าเหมือนเรานั่งมองสามีภรรยาคู่หนึ่ง โดยที่ทั้งคู่ไม่รับรู้ถึงการอยู่ของเรา เราจึงเป็นผู้สังเกตเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่สามีภรรยาพักอยู่ในโรงแรม ฝนตก มีแมวตัวหนึ่งอยู่กลางสายฝน ภรรยาบอกให้สามีออกไปนำแมวเข้ามาในห้อง สามีรับปากจะไปพามาให้ แต่กลับไม่ทำอะไรนอกจากนอนอ่านหนังสือ ในที่สุดภรรยาก็ไม่รออีกต่อไป เธอฝ่าฝนออกไปเอาแมวเข้ามาเอง โดยได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าของโรงแรมสูงอายุ ซึ่งสั่งให้หญิงรับใช้คอยกางร่มให้ ปรากฏพอออกไปแมวกลับไม่อยู่ตรงนั้นเสียแล้ว ตอนจบหญิงรับใช้มาเคาะประตูเรียก เจ้าของโรงแรมให้เธอนำแมวมาให้

                    ตลอดทั้งเรื่องเราเป็นเสมือนคนนอกที่เผอิญมารับรู้เรื่องนี้ โดยไม่เคยรู้จักคนเหล่านี้มาก่อน เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินรับรู้ได้ แต่อะไรคือสิ่งเฮมิ่งเวย์ต้องการสื่อผ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ นี่ต่างหากที่ยาก

                    เรื่องสั้นของ จำลอง ฝั่งชลจิตร ก็เป็นเช่นเดียวกัน ยากสำหรับคนอ่านที่ต้องการความกระจ่างจากมุมมองของผู้เขียน แต่กลับเป็นเรื่องสนุกสำหรับผู้อ่านอีกประเภท ที่ต้องการคิดเองจากรายละเอียดที่ผู้เขียนให้ไว้ ผิดถูกไม่ได้อยู่ที่ผู้เขียน แต่อยู่ที่ผู้อ่านแต่ละคนพิจารณา

                    หากถามว่าจากวันแรกถึงวันนี้ สี่สิบปีผ่านไป จำลอง ฝั่งชลจิตร ไปไกลแค่ไหนแล้ว ? คำตอบคือไกลมาก ชนิดผู้อ่านส่วนใหญ่ยากจะตามทัน เห็นได้จากเรื่องสั้นในชุด “สมเด็จพระสังฆราชเสด็จฯ มา” ที่หากอ่านผ่าน ๆ แทบไม่พบอะไรลอยเด่นออกมาเลย แต่ถ้าตั้งใจอ่านแบบเก็บละเอียด เราจะพบความจริงที่ซ่อนอยู่มากมาย

                    ความจริงของยุคสมัยถูกเล่าผ่านเรื่องสั้นอันราบเรียบ แทบทั้งหมดเป็นชีวิตประจำวันของตัวละคร ไม่ใช่ช่วงเวลาพิเศษที่ตราตรึงในความทรงจำ หรือช่วงวิกฤตที่ตัวละครต้องผ่านพ้นไปให้ได้ เพียงเหตุการณ์ที่เราต่างพบเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

                   เรื่องสั้นแบบนี้ไม่ใช่แค่อ่านยากเท่านั้น เขียนก็ยากด้วย เพราะยิ่งเรื่องธรรมดามากเท่าไร ก็ยิ่งต้องใช้ฝีมือมากเท่านั้น ในการดึงผู้อ่านไว้ให้ได้   

 

 

เส้นแบ่งระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง

                  นับจากรวมเรื่องสั้น “เรื่องบางเรื่องเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่า” เป็นต้นมา สิ่งหนึ่งที่เราเห็นเสมอในงานเขียนของ จำลอง ฝั่งชลจิตร ก็คือการก้าวข้ามเส้นแบ่งระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง ไม่เพียงเรื่องสั้นเท่านั้น นวนิยายอย่าง “สิทธิเศรษฐี” และเรื่องสั้นขนาดยาว “สิทธา” ซึ่งเขียนขึ้นจากชีวประวัติ จิมมี่ ชวาลา ก็ทำให้หลายคนมองอย่างตั้งคำถามไม่ได้ ว่าควรจัดกลุ่มเรื่องนี้ไว้ในหมวดหมู่ไหน ในเมื่อเขาเขียนขึ้นจากเรื่องจริง โดยเล่าผ่านศิลปะของเรื่องแต่ง

                  คำถามคือ ทุกวันนี้เส้นแบ่งระหว่างเรื่องจริง (Non Fiction) กับเรื่องแต่ง (Fiction) อยู่ตรงไหน ? ถ้าหากเส้นแบ่งนั้นยังคงอยู่ จำลอง ฝั่งชลจิตร ก็ได้พาเราเข้าใกล้มันอย่างที่สุด ไม่ใช่ในระดับของเรื่องแนวสมจริง (Realism) แต่เป็นเรื่องแนวเหมือนจริง (Naturalism) ที่ถ่ายทอดความจริงอย่างตรงไปตรงมา ด้วยวิธีเล่าตรงไปตรงมา ภาษาที่ใช้ตรงไปตรงมา และรายละเอียดต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่ตรงไปตรงมา จนเกือบเป็น Non Fiction เลยก็ว่าได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้เล่าแบบ Non Fiction อยู่ดี

                 คุณลักษณะหนึ่งของเรื่องสั้นแบบนี้คือ จังหวะของเรื่องอันราบเรียบ เส้นกราฟขยับขึ้นลงเพียงเล็กน้อย จนต้องนิ่งพอถึงจะสังเกตเห็น ดูอย่างเรื่อง “ในสวนสาธารณะ” ที่เล่าถึงสามีภรรยาสูงวัยคู่หนึ่ง ทั้งคู่จะไปเดินออกกำลังกายกันเป็นประจำทุกวัน เหตุการณ์ในเรื่องคือเหตุการณ์ที่ไม่ต่างจากทุกวัน ทั้งคู่เดินคู่กันไป และพูดคุยถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ได้พบเห็น

                 หรืออย่างใน “สองแถวเมืองลิกอร์” ที่เล่าเหตุการณ์ในมุมมองของ ‘ผม’ ซึ่งขึ้นนั่งบนรถสองแถวประจำทางตามปกติ บนนั้นมีคนอื่น ๆ ซึ่งพูดคุยกันด้วยท่าทีต่าง ๆ เรื่องราวทั้งหมดมีเพียงเท่านี้ ไม่มีบทสรุปหรือความคิดเห็นใด ๆ ผู้เขียนเพียงเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และให้ผู้อ่านพิจารณาด้วยตนเอง

                 แต่ในความนิ่งกลับมาพร้อมกับรายละเอียด สิ่งที่สะท้อนผ่านมุมมองของสามีภรรยาสูงวัยใน “ในสวนสาธารณะ” เป็นเสมือนภาพจำลองของสังคมทั้งสังคม ซึ่งผู้คนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยคิดถึง ‘ส่วนตัว’ มากกว่า ‘ส่วนรวม’ เช่นเดียวกับ “สองแถวเมืองลิกอร์” ที่ภายในรถสองแถวก็เป็นภาพจำลองของการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม ผู้คนมีความหลากหลาย มีวิธีแสดงออกที่แตกต่างกัน ทั้งหมดเรียกรวม ๆ ได้ว่า ความจริงของชีวิต

                 จำลอง ฝั่งชลจิตร พูดถึงความจริงทั้งหลายโดยไม่ตัดสิน เขาปล่อยให้เรื่องเล่าทำหน้าที่ของมันเอง หลายเรื่องเขาพาเราไปสู่คำถามที่ว่า เราคิดอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ? ไม่ว่าจะใน “ปฏิปทา” ที่เจ้าอาวาสถูกต่อว่า ว่าไม่ยอมให้ใช้วัดจัดงานศพให้กับบางคน เพียงเพราะเขาเหล่านั้นเป็นคนยากจน แต่ในอีกมุมหนึ่ง เรากลับได้รับข้อมูลจากพระว่า ท่านไม่ได้ปฏิเสธใคร เพียงแต่ท่านมีเงื่อนไขว่า ถ้าจะมาจัดงานศพที่วัดของท่าน ต้องห้ามกินเหล้าและเล่นการพนัน       

                 หรือใน “คนไข้” ซึ่งเป็นเหตุการณ์วุ่นวายในร้านหมูกระทะ เมื่อแม่กับลูกสาวมากินอาหารร้านนี้ แต่ระหว่างกินลูกสาวคนสวยดันถอดลวดดัดฟันไว้ในกระดาษทิชชู่ เมื่อกินเสร็จก็วางทิ้งไว้ พอนึกได้พนักงานในร้านก็เก็บไปทิ้งถังขยะรวมกับของอื่น ๆ ไปแล้ว แม่ลูกโทษว่าเป็นความผิดของทางร้าน พนักงานจึงต้องช่วยกันคุ้ยถังขยะหา แต่สุดท้ายก็หาไม่พบ จำลอง ฝั่งชลจิตร เขียนเล่าอย่างเรียบ ๆ แต่รายละเอียดในเรื่อง รวมทั้งชื่อเรื่อง “คนไข้” ทำให้เรารู้ว่า เขากำลังวิพากษ์วิจารณ์สังคม ปัญหาของเรื่องนี้มาจากคนประเภทที่ชอบโยนความผิดให้ผู้อื่น แทนที่จะมองสาเหตุอันแท้จริงว่ามาจากตัวเอง 

                 รวมถึง “อาม่า” ซึ่งเล่าถึงหญิงชราเพื่อนบ้านที่มักมาขอข้าวของเหลือใช้จากครอบครัวของ ‘ผม’ อยู่เสมอ หนักเข้า ‘ผม’ ก็ชักไม่อยากคุยด้วย บ้านอยู่ใกล้กันแค่ไม่กี่เมตร แต่กลับแทบไม่ยุ่งเกี่ยวกัน ‘ผม’ มองว่านี่คือการไม่ยุ่งย่ามเรื่องส่วนตัวของเพื่อนบ้าน จนวันหนึ่งเขานึกเอะใจขึ้นมาเพราะไม่เห็นอาม่าหลายวันแล้ว พอถามแม่ค้าปาท่องโก๋จึงรู้ว่าอาม่าป่วยหนัก ไม่เพียงเท่านั้น เขายังเพิ่งรู้ว่าผู้ชายที่อยู่กับอาม่าไม่ใช่สามีเธอ แต่เป็นน้องชายต่างหาก ไม่นานจากนั้น ข่าวการตายของอาม่าก็มาถึง  

                 เรื่องสั้นเรื่องนี้ไม่ได้ตั้งคำถามเชิงศีลธรรมที่ล้ำลึก อีกทั้งยังไม่ได้พูดประเด็นสังคมอันใหญ่โต แต่ได้ตั้งคำถามที่น่าฉุกคิดว่า ทุกวันนี้เราใส่ใจผู้อื่นแค่ไหน หรือที่แท้การที่เราบอกว่า เราไม่อยากยุ่งเรื่องชาวบ้าน เป็นเพียงข้ออ้างของความไม่ใส่ใจเท่านั้น 

นี่เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องสั้นชุดนี้ ที่เป็นเสมือนกระจกสะท้อนความจริงอย่างตรงไปตรงมา จนดูเหมือนไม่มีการปรุงแต่งใด ๆ ยกเว้นการจัดวางเรื่องราวในรูปแบบเรื่องสั้นตามสไตล์มินิมอลิสต์ (Minimalist) หรือ ‘พวกเล่นน้อย’ เท่านั้น

                 นอกจากเรื่องสั้นที่เล่นน้อยทั้งโครงเรื่อง เหตุการณ์ ตัวละคร การกระทำ และคำพูดแล้ว ในชุดนี้ยังมีเรื่องสั้น - สั้น (Short – Short Story) หรือที่ จำลอง ฝั่งชลจิตร เรียกว่า Flash Fiction รวมอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ที่ผมว่าเด็ดที่สุดคือเรื่องในแบบที่เรียกว่า Postcard Fiction ซึ่งอ่านจบได้ภายในหนึ่งนาที อาทิเรื่อง “ใคร ๆ เขาก็ทำกัน” ซึ่งมีเนื้อเรื่องดังต่อไปนี้

ผ่านมาสามเดือน วิเวกกับภรรยายังไม่หายโศกเศร้า

ลูกชายคนเดียวอายุ ๑๖

เรียนวิทยาลัยเทคนิคปี ๒ แผนกช่างยนต์

เพิ่งอบรมขับขี่ปลอดภัยกับครูมืออาชีพ

ตัวแทนจำหน่ายจักรยานยนต์มาเปิดสอนฟรี

ผ่านอบรมได้รับเกียรติบัตร พ่อแม่ภูมิใจ

พ่อคร่ำครวญลูกไม่น่าอายุสั้น

“ตำรวจว่าสิทธิศักดิ์ขี่ย้อนศร”

นายดาบเพื่อนบ้านพยายามปลอบให้ยอมรับความจริง

วิเวกก้มหน้า ส่ายศีรษะช้า ๆ “ใคร ๆ เขาก็ทำกันทั้งนั้น”

(หน้า 199)

                    นี่คือทั้งเรื่อง ทำไมผมถึงว่าเด็ด ? ลองอ่านไปทีละบรรทัดสิครับ เราจะเห็นว่านี่คือภาพจำลองของสังคมไทย ซึ่งคนส่วนใหญ่รู้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เป็นอย่างดี รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่กลับเลือกทำสิ่งที่ผิดโดยอ้างว่า “ใคร ๆ เขาก็ทำกัน”  

                    นี่คือคุณลักษณะของเรื่องแบบนี้ “น้อยแต่มาก” เรื่องเล็ก ๆ ขยายให้เห็นภาพใหญ่ของสังคม เห็นถึงสาเหตุที่ทำให้สังคมไทยไม่เคยข้ามพ้นปัญหาสารพัด ข้ออ้างที่ว่า “ใคร ๆ เขาก็ทำกัน” ใช้ได้กับทุกเรื่อง ตั้งแต่การฝ่าฝืนกฎจราจรไปจนถึงการทุจริตโกงบ้านกินเมือง 

                   สั้น รวบรัด และกระชับ แต่กินความหมายกว้าง ไม่ง่ายเลยที่จะเขียนออกมา  

 

เรายังอ่านเรื่องสั้นอยู่อีกไหม ?

                  ในวาระครบรอบ 40 ปีบนถนนหนังสือ นอกจาก “สมเด็จพระสังฆราชเสด็จฯ มา” จะเป็นการรวบรวมเรื่องสั้นที่ จำลอง ฝั่งชลจิตร เขียนขึ้นในช่วงหลังสุดไว้แล้ว ยังมีบทความและบทวิเคราะห์เรื่องสั้นอยู่อีกประมาณครึ่งเล่มเห็นจะได้ ผลงานในส่วนนี้ยืนยันถึงการเอาจริงเอาจังของเขา ที่จะศึกษาศาสตร์และศิลป์แห่งเรื่องสั้น โดยถอดออกมาจากเรื่องสั้นชั้นเยี่ยมทั้งของไทยและต่างประเทศ

                  ไม่เพียงเท่านั้น เขายังตั้งคำถามที่สำคัญถึงการดำรงอยู่ของเรื่องสั้น ผ่านชื่อบทความอย่าง “เรายังอ่านเรื่องสั้นอยู่อีกไหม ?” โดยที่เนื้อหาในบทความพูดถึงเรื่องสั้น “มื้อเช้า” (Breakfast) ของ จอห์น สไตน์เบ็ค มองเผิน ๆ นี่เป็นการตั้งชื่อที่ผิดฝาผิดตัว ชื่อเรื่องไม่สัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง แต่ชื่อนี้กลับมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง

                  คำว่าอ่านไม่ได้แปลตรง ๆ ว่าอ่านเท่านั้น แต่หมายถึงการอ่านอย่างลุ่มหลง อ่านอย่างเจาะลึก อ่านอย่างลึกซึ้ง อย่างที่เขาอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ และอีกมากมายในชีวิตเขา

                 “เรายังอ่านเรื่องสั้นอยู่อีกไหม ?” ยังสะท้อนว่า ไอ้ที่เราอ่าน ๆ กันอยู่ใช่เรื่องสั้นหรือเปล่า ? ทุกวันนี้เรื่องสั้นไทยเปลี่ยนโฉมหน้าไปมากเหลือเกิน หลายคนชอบเรื่องที่มีซับซ้อน เรื่องที่กว่าจะอ่านจบก็เล่นเอาเหนื่อย ไม่ใช่เรื่องที่สามารถอ่านจบในเวลาอันสั้นอีกต่อไป คำถามคือ นั่นใช่เรื่องสั้นหรือไม่ ?

                  บทความและบทวิคราะห์จัดวางสลับกับเรื่องสั้นของเขา ในลักษณะของกระจกที่ส่องสะท้อนกันไปมา หรืออีกนัยหนึ่งอาจเหมือนครูกับศิษย์ สิ่งที่เรียนรู้และผลของการเรียนรู้ ไล่เรียงไปตลอดทั้งเล่ม บางคนบอกส่วนของบทความสนุกกว่าส่วนของเรื่องสั้นเสียอีก แต่ผมว่าทั้งสองส่วนส่งเสริมกันและกัน

                  อย่างที่เกริ่นไว้ตั้งแต่ต้นว่า เรื่องสั้นชุดนี้อ่านยาก บทความที่นำเรื่องสั้นมาเป็นเหมือนมัคคุเทศก์นำทาง เพื่อบอกให้รู้ว่าเรื่องสั้นเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นด้วยแนวคิดแบบไหน การจะอ่านเรื่องสั้นชุดนี้ให้ได้รสชาติต้องรู้วิธีอ่านมากพอสมควร

                  แต่ไม่ว่าใครจะมองอย่างไรก็ตาม การเขียนงานที่ ‘เล่นน้อย’ ที่สุดในชีวิตของ จำลอง ฝั่งชลจิตร ในครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะมันเสี่ยงมากที่คนอ่านจะรู้สึกว่า นี่เป็นผลงานอันจืดชืดไม่มีอะไรน่าสนใจ แม้กระทั่งเรื่องนำเล่ม “สมเด็จพระสังฆราชเสด็จฯ มา” ก็เป็นแค่เรื่องของหญิงชราที่เตรียมดอกดาวเรืองไปรับเสด็จสมเด็จพระสังฆราช อ่านแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรเลย แต่ถ้าใครรู้วิธีอ่านหรืออ่านเป็น ก็จะเข้าใจว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้กำลังสะท้อนเรื่องของศรัทธา ซึ่งยังคงมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมในคนรุ่นหนึ่ง แต่สำหรับคนอีกรุ่น ความศรัทธาเป็นสิ่งที่ไม่เคยถูกนึกถึงเลยก็ว่าได้

                  การเล่นน้อยในยุคที่ใคร ๆ ต่างเล่นเยอะ เล่นใหญ่ เล่นแรง คือการสวนกระแส จำลอง ฝั่งชลจิตร คงไม่ได้ทำแบบนี้เพียงเพื่อโชว์เก๋า แต่ทำด้วยความเชื่อมั่นในศาสตร์และศิลป์ของเรื่องสั้น อย่างที่เขาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านงานชุดนี้

                  ทั้งหมดคือผลพวงของสิ่งที่เขาเรียนรู้ด้วยความคลั่งไคล้มาทั้งชีวิต ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ คงไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องเอามากังวล เขาแค่ทำสิ่งที่ดีที่สุดในทัศนะของเขาเท่านั้น

                   สำหรับผมในวาระนี้ หลังจากการอ่านอย่างเนิบช้าที่สุดในชีวิต สิ่งที่ผมไม่ลังเลที่จะทำคือการคารวะผ่านบทวิจารณ์นี้ ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไรต่อผลงานของเขา สิ่งที่คงไม่มีใครปฏิเสธได้ก็คือ การเดินทางอันยาวนานบนเส้นทางสายนี้ คือบทพิสูจน์ถึงหัวใจที่กล้าแกร่งและมั่นคงของนักเขียนคนหนึ่ง จำลอง ฝั่งชลจิตร - เขาช่างยิ่งใหญ่เสียเหลือเกิน.     


จรูญพร ปรปักษ์ประลัย

พิมพ์ครั้งแรก นิตยสารสีสัน ปีที่ 29 ฉบับที่ 7 : 2561  

 


 

ทางที่ต้องเดิน/นางคอย

เขียน : มาลา คำจันทร์

ศูนย์ศึกษาเอกสารโบราณ จัดพิมพ์ ราคา 500 บาท,310 หน้า

 

จาก “ทางที่ต้องเดิน” ถึง “นางคอย”

เส้นทางสี่สิบปีของ มาลา คำจันทร์

 

หากถามว่า มาลา คำจันทร์ คือใคร?

คำตอบแรก เขาคือนักเขียนสายเลือดล้านนาที่สะท้อนภาพชีวิตของผู้คนที่ทุกข์ยาก และความไม่เป็นธรรมซึ่งกดทับผู้คนเหล่านั้นมายาวนาน

คำตอบต่อมา เขาคือนักเขียนที่นำอัตลักษณ์ของล้านนาใส่เข้าไปในวรรณกรรมร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำคำเมืองทั้งใหม่และเก่าผสมเข้ากับภาษาไทยกลาง จนกลายเป็นลักษณะพิเศษโดดเด่นเป็นหนึ่งเดียว

คำตอบสุดท้าย เขาคือนักเขียนที่ศึกษาองค์ความรู้ต่าง ๆ ของล้านนา จากเอกสารเก่าซึ่งเก็บซุกอยู่ตามที่ต่าง ๆ จากปากคำของคนเก่าเล่าขาน และจากผู้รู้ที่ได้ศึกษาเรื่องเหล่านั้นเอาไว้ ก่อนที่จะนำมาถอดความ เรียบเรียง และสร้างสรรค์ใหม่ เป็นผลงานของตนเอง

สี่สิบปีในการสร้างสรรค์ของนักเขียนชื่อ มาลา คำจันทร์ มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง จากจุดเริ่มต้นในวัยหนุ่มจนถึงวัยอันสมบูรณ์พร้อมอย่างปัจจุบัน ในวาระครบรอบสี่สิบปีของนามปากกานี้ เราจะมามองย้อนเส้นทางของนักเขียนผู้นี้ ... บนเส้นทางที่ มาลา คำจันทร์ เลือกเดิน      

 

จุดเริ่มต้นของ มาลา คำจันทร์

หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่า สี่สิบปี มาลา คำจันทร์ นับกันอย่างไร ? เพราะถ้าพูดถึงจุดเริ่มต้นของนักเขียนผู้นี้ ก็ต้องมองย้อนกันไปเมื่อปี 2515 กับเรื่องสั้นเรื่องแรก “คนผมยาว” ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารฟ้าเมืองไทย บวกลบคูณหารพลิกซ้ายพลิกขวายังไงก็เกินสี่สิบปี

แต่ถ้าจะนับกันจริง ๆ ปีนั้นนามปากกา มาลา คำจันทร์ ยังไม่เกิด เมื่อตอนที่เขียน “คนผมยาว” เจริญ มาลาโรจน์ ใช้นามปากกาว่า ก้าว จันคำน้อย จนกระทั่งปี 2521 เมื่อเรื่องสั้นเจ้าที่” ได้รับรางวัลช่อการะเกด จากนิตยสารโลกหนังสือ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของนามปากกา มาลา คำจันทร์

นามปากกานี้ เจริญ มาลาโรจน์ ไม่ได้ตั้งขึ้นเอง ในต้นฉบับนามปากกาที่เขาตั้งมีสั้น ๆ เพียง คำจันทร์ เท่านั้น แต่พอบรรณาธิการเห็นว่าซ้ำกับผู้อื่น จึงเติมชื่อ มาลา ให้ นามปากกา มาลา คำจันทร์ จึงถือกำเนิดขึ้น โดยผู้ที่ตั้งให้ก็คือ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนึ่งเดียวแห่งนิตยสารโลกหนังสือนั่นเอง

จากนั้น เจริญ มาลาโรจน์ ก็ใช้นามปากกา มาลา คำจันทร์ มาตลอด จนกระทั่งมีผลงานเล่มแรก “ทางที่ต้องเดิน” ออกมาในปี 2523 รวมเรื่องสั้นชุดนี้ทำให้ภาพของ มาลา คำจันทร์ เด่นชัดขึ้นมาในฐานะนักเขียนหนุ่มผู้ใช้ปากกาเป็นปากเสียงให้กับประชาชน เช่นเดียวกับนักเขียนร่วมรุ่นอย่าง วัฒน์ วรรลยางกูร , วิสา คัญทัพ , สุรชัย จันทิมาธร , ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ , สมคิด สิงสง , เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ฯลฯ

เรื่องสั้นทั้งแปดเรื่องใน “ทางที่ต้องเดิน” สะท้อนภาพของชาวบ้านที่ทุกข์ยาก อับจนหนทาง จนจำต้องเดินไปบนเส้นทางที่ไม่ได้เลือก ชัดเจนจากเรื่องที่นำมาเป็นชื่อชุด “ทางที่ต้องเดิน” ซึ่งเป็นเรื่องของเด็กหนุ่มผู้มีอนาคตทางการศึกษา ทั้งเขาและครูของเขาต่างคิดตรงกันว่า “...หนทางมีเสมอสำหรับเท้าที่ก้าวเดิน...” (หน้า 36) เขาหวังที่จะเรียนต่อด้านศิลปะ ทว่าหนทางนี้กลับเป็นเพียงความฝัน เมื่อชะตาชีวิตบีบให้เขาต้องก้าวออกจากเส้นทางการศึกษา “...ผมไม่ได้เลือกหรอกครับทางสายนี้ เหมือน ๆ มันกำหนดมาแน่นอนแล้วสำหรับผม ผมไปไม่ไหวแล้วครับ อีกตั้งสี่ห้าปี ไกลเหลือเกิน ผมไปไม่ถึง ผมเสียน้องไปสองคน ผมตัดสินใจแน่นอนแล้ว...” (หน้า 38)

ทางที่เขาต้องเดินไม่ต่างจากตัวละครในเรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็กชายชาวปกาเกอะญอใน “ห่า” ที่ต้องเสียไก่ตัวเดียวในบ้านไปเพราะโดน ห่า กิน ห่าในที่นี้ไม่ใช่โรคระบาดหรือผีร้าย แต่หมายถึงพวกข้าราชการ ซึ่งทุกครั้งที่พวกเขามาเยือน ร่องรอยความเสียหายจะถูกทิ้งไว้เสมอ

หรือใน “รถยนต์จะไปไหน” ที่สะท้อนภาพนายทุนคนเมืองที่เข้ามาหลอกซื้อที่ดินของชาวบ้าน และเปลี่ยนให้ชาวบ้านซึ่งเคยเป็นเจ้าของที่กลายเป็นผู้เช่า “...ที่ดินยังคงหลุดลอยเป็นของกลุ่มนั้นอีกด้วยเล่ห์กลและวิธีพลิกแพลงร้อยแปด กว่าไทยยองจะเรียนรู้ได้หมดสิ้น ก็พอดีไม่มีอะไรต้องสูญเสียอีกแล้ว...” (หน้า 44)

รวมถึงใน “ประกันชีวิต” ที่ธุรกิจใหม่อย่างการประกันชีวิตเข้าไปถึงหมู่บ้านอันห่างไกล ทว่ามันกลับไม่ได้ที่หลักประกันของชีวิตตามชื่อของมัน แต่กลับเป็นเหมือนปีศาจร้ายที่เข้ามาดลใจผู้คนให้ยิ่งเกิดความโลภ เข้าร่วมลงทุนกับธุรกิจนี้ เพื่อหวังผลกำไรจากความตายของคนในครอบครัว

แต่ถึงแม้เรื่องสั้นหลายเรื่องใน “ทางที่ต้องเดิน” จะสะท้อนภาวะ สู้ไม่ได้ หนีไม่พ้น ของสังคมชนบทในเวลานั้น ทว่าขณะเดียวกัน มาลา คำจันทร์ ก็ไม่ได้สะท้อนความจริงอย่างสิ้นหวัง เรื่องสั้นส่วนหนึ่งในงานชุดนี้มีท่าทีต่อต้าน แข็งขืน จนถึงตอบโต้

ถ้าย้อนกลับไปมองเรื่องสั้น “คนผมยาว” เราก็จะเห็นท่าทีนี้ตั้งแต่ก้าวแรกบนเส้นทางการเขียนของเขา เจริญ มาลาโรจน์ เขียนเรื่องสั้นเรื่องนี้เมื่อเข้ารับราชการเป็นครูแล้ว ตัวละครในเรื่องเหมือนมีเงาของเขาอยู่ไม่น้อย เรื่องราวง่าย ๆ ของครูหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งถูกนายอำเภอเรียกไปต่อว่าเพียงเพราะเขาไว้ผมยาว นอกเหนือจากการวิวาทะทางความคิดแล้ว การโต้เถียงที่ครูหนุ่มมีต่อนายอำเภอ ยังชัดเจนว่าเขาไม่ยอมลงให้กับ ผู้ใหญ่พรรค์นี้ ท่าทีเช่นนี้เป็นลักษณะร่วมของคนหนุ่มสาวในเวลานั้น ซึ่งไม่พอใจหลายสิ่งหลายอย่าง และคิดว่าถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะต้องเปลี่ยนแปลง

ท่าทีเช่นนี้ต่อเนื่องมาถึงเรื่องสั้นอย่าง “เรื่องเล็ก ๆ ในหมู่บ้าน” ที่ตัวร้ายยังคงเป็นราชการปกครองระดับนายอำเภอ ซึ่งใช้เล่ห์เหลี่ยมเข้ายึดที่ทางทำกินของชาวบ้าน ก่อนส่งต่อให้กับนายทุนผู้ให้ผลประโยชน์แก่เขา มันสร้างความเกลียดแค้นชิงชังที่ค่อย ๆ สะสม “...นึกถึงนายอำเภอคนนี้แล้วนางหล่าก็ถุยน้ำลายใส่อุ้งตีนขยี้กับพื้นหญ้า...” (หน้า 55) สุดท้ายเมื่อความขัดแย้งมาถึงจุดแตกหัก ชาวบ้านก็ไม่ยอมข้าราชการและนายทุนอีกต่อไป พวกเขารวมตัวกันเข้าสู้กับการเอารัดเอาเปรียบ โดยบอกต่อ ๆ กันว่า “...ถ้าเราไม่ร้องมันก็ไม่ดัง...”  (หน้า 58)             

แต่เรื่องที่เป็นเหมือนระเบิดในวัยหนุ่มของ มาลา คำจันทร์ ก็คือ “เจ้าที่” ซึ่งเป็นผลงานแจ้งเกิดของเขานี่เอง เขาเขียนเรื่องนี้อย่างคนที่เสื่อมศรัทธาต่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์ เมื่อความเจ็บป่วยของเด็กชายได้รับคำอธิบายว่า มาจากการที่เขายืนฉี่โดยหันหน้าไปทางศาลเจ้าที่ เจ้าที่จึงโกรธและลงโทษเอา ทว่าหลังจากพ่อแม่เด็กจัดของเซ่นไหว้ขอขมาลาโทษแล้ว อาการของเจ้าหนูก็ไม่ทุเลา สุดท้ายเขาก็ตายลงอย่างทุรนทุราย เรื่องสั้นเรื่องนี้ทำให้เห็นการปะทะระหว่างความเชื่อเดิมกับวิทยาศาสตร์ สุดท้ายวิทยาศาสตร์และเหตุผลก็เป็นฝ่ายชนะ เมื่อพ่อของเด็กตัดสินใจถอนศาลเจ้าที่โยนลงกองเพลิง

“...อย่าไหว้อย่าสามันเลยสู เจ้าผีห่านี่มันไม่ดีจริงหรอก ไอ้แดงลูกข้าตาย แต่ทีอีดำเยี่ยวรดมันยังทำอะไรอีดำไม่ได้...ไปเต๊อะ...เจ้าผีห่าข้าไม่เชื่อเจ้าที่ผีห่าอีกต่อไปแล้ว...” (หน้า 7)        

ท่าทีเดียวกันนี้ยังปรากฏใน “ใบไม้สีเหลือง” เมื่อชาวบ้านต้องเผชิญกับความแห้งแล้งอย่างที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่านี่เป็นอาเพศ ซึ่งเกิดจากการลงโทษของผีฟ้า

“...ผีฟ้าโกรธเกรี้ยวที่ลูกหลานไม่รักษาต้นน้ำและขุนเขา ปล่อยให้มันถูกทำลายวันแล้ววันเล่า ผีฟ้าจึงลงโทษและในที่สุดอาจละทิ้งไป...” (หน้า 63)   

แต่ถึงอย่างนั้นชาวบ้านก็นึกเถียงอยู่ในใจ

“...มันไม่ใช่ความผิดของลูกหลานสูหรอก ผีฟ้าเอ๋ย...ลำพังพวกข้าถางป่าทำไร่สิบปีร้อยปี ป่ามันก็ไม่ฉิบหายวายวอดอย่างนี้ พวกพื้นราบสิ คนที่มันมาพร้อมปืน รถ และเครื่องจักร ทำไมสูไม่ไปเอาโทษกับมันเล่า?...” (หน้าเดียวกัน)

ตอนจบของ “ใบไม้สีเหลือง” แม้ไม่แรงเท่า “เจ้าที่” แต่ก็ตอกย้ำแนวทางเดียวกัน นั่นก็คือ การแข็งขืนต่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์ เมื่อไก่ตัวสุดท้ายถูกเชือดเพื่อให้พ่อหมอไปเซ่นไหว้ผีฟ้า ทว่าคำอ้อนวอนของเด็กน้อยผู้หิวโหยกลับมีพลังมากกว่า

“...ไก่ตัวสุดท้ายแล้วถ้าให้มันกินก็ไม่ได้เลี้ยงผี ถ้าเลี้ยงผีมันก็ไม่ได้กิน แม่เฒ่าเกิดความขัดแย้งรุนแรงในใจ ผ้านุ่งถูกกระตุก แกก้มหน้าลงแล้วตัดสินใจวางเซอะบิถอยไปผิงเสา

“กินเถอะนะ กินให้อิ่ม” ...” (หน้า 68)

น่าสังเกตว่า ผลงานในวัยหนุ่มของ มาลา คำจันทร์ ล้วนว่าด้วยการปะทะกับอำนาจที่กดทับชาวบ้านไว้สองด้าน ด้านหนึ่งคือข้าราชการและนายทุน อีกด้านคือผีและความเชื่อ แต่ในเวลาต่อมา คู่ต่อสู้ของเขากลับไม่ได้สิ่งเหล่านี้อีกต่อไป แต่เปลี่ยนเป็นอำนาจของรัฐสยามที่มีต่อล้านนา ต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้าตราบจนถึงปัจจุบัน  

จึงไม่แปลกที่เนื้อหาในงานเขียนของ มาลา คำจันทร์ ค่อย ๆ เปลี่ยนจากงานที่เดินไปบนเส้นทางเดียวกับนักเขียนร่วมสมัยคนอื่น ๆ เป็นงานที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่ได้พูดถึงอำนาจของข้าราชการและนายทุนอีกต่อไป แต่พูดถึงอำนาจที่ใหญ่กว่านั้นคืออำนาจของสยาม ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ต่อต้านผี หันมาเป็นมองผีอย่างเข้าใจ ผ่านการศึกษาเรื่องผีอย่างลึกซึ้ง  

ทั้งหมดคือความเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้อง ทั้งตัวตนและผลงานของนักเขียนผู้มีนามว่า มาลา คำจันทร์

 

เจ้าจันท์ผมหอม ฯ หมุดหมายของ มาลา คำจันทร์

            หลังจาก “ทางที่ต้องเดิน” มาลา คำจันทร์ มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องสั้นและนวนิยาย โดยทั้งหมดยังคงเป็นผลงานที่สะท้อนภาพความจริงของผู้คนผู้ทุกข์ยากในท้องที่อันห่างไกล ไม่ว่าจะเป็น “หมู่บ้านอาบจันทร์” “เด็กบ้านดอย” “ลูกป่า”“ไอ้ค่อม” “นกแอ่นฟ้า” “วิถีคนกล้า” “บ้านไร่ชายดง” และรวมเรื่องสั้น “ลมเหนือและป่าหนาว” วรรณกรรมในช่วงนี้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้เขียนซึ่งรับราชการครูประถมศึกษาที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงปี พ.ศ. 2514 ถึง 2529           

ความเปลี่ยนแปลงเริ่มปรากฏในทศวรรษต่อมา หรือจะบอกว่าเมื่อ เจริญ มาลาโรจน์ เปลี่ยนจากครูประถมมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในปี 2529 ก็คงไม่ผิดนัก ผลงานแบบ “เขี้ยวเสือไฟ” (2531) และ “หุบเขากินคน” (2532) ซึ่งมีความเป็นแฟนตาซีกลิ่นอายล้านนา เป็นภาพที่ต่างไปจากที่เราเคยเห็นในผลงานก่อนหน้านี้ แต่นั่นก็ยังไม่เท่ากับ “เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินแขวน”

“เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินแขวน” มีต้นกำเนิดมาจากเรื่องสั้น แต่ด้วยรายละเอียดที่เรื่องสั้นเก็บได้ไม่หมด เรื่องสั้นเรื่องนี้จึงถูกขยายเป็นนวนิยายขนาดกะทัดรัด พิมพ์ครั้งแรกเพื่อเป็นอภินันทนาการให้แก่ผู้สมัครเป็นสมาชิกนิตยสาร Book Review ซึ่งเขาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2533 หลังจากตัดสินใจลาออกจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาดำรงชีวิตด้วยอาชีพนักเขียนเต็มตัว

ถ้ามองกันเฉพาะเส้นเรื่อง “เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินแขวน” เป็นนวนิยายที่มีเส้นเรื่องเพียงบาง ๆ เหตุการณ์ทั้งเรื่องแค่หนึ่งคืนกับหนึ่งวันเท่านั้น ทว่าเรื่องราวการเดินทางไปเสี่ยงทาย โดยนำผมหอมไปลอดใต้พระธาตุอินทร์แขวน กลับเต็มไปด้วยรายละเอียดที่สอดแทรกไว้อย่างลึกซึ้ง ทั้งหมดสะท้อนภาพความจริงของอาณาจักรล้านนา หลังตกอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม วิถีของเจ้านายทั้งหลายต้องแปรเปลี่ยนไป เจ้าจันท์ซึ่งรักอยู่กับเจ้าหล้าอินทะ สมกันด้วยชาติกำเนิดและรูปกายอันงดงาม จึงไม่อาจครองคู่อยู่ร่วมกันได้ เจ้าจันท์ถูกจับคู่กับพ่อเลี้ยงผู้ร่ำรวย อัปลักษณ์ทั้งรูปกายและต่ำด้วยชาติกำเนิด ความหวังเดียวของนางคือการเสี่ยงทาย หากผมหอมลอดใต้พระธาตุอินทร์แขวนได้ตามคำอธิษฐาน การแต่งงานกับพ่อเลี้ยงก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ตรงกันข้าม ถ้าผมหอมลอดผ่านไม่ได้ นางก็จะทำตามสัจจะวาจาด้วยการแต่งงาน

แล้วก็เป็นอีกครั้งที่อำนาจศักดิ์สิทธิ์ไม่ช่วย ทว่าสิ่งที่ต่างไปจากเรื่องสั้น “เจ้าที่” ก็คือ ตัวละครอย่างเจ้าจันท์กลับไม่มีท่าทีแข็งขืนต่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์

“...สัจจะสูก็ส่วนสู สัจจะข้าก็ส่วนข้า เรื่องนี้สูบ่เกี่ยว มีเงินอย่างเดียวอย่างมากะเกณฑ์เอาแต่ใจใฝ่มัก สัจจะแห่งข้า ผมหอมลอดได้ข้าจะแต่งกับเจ้าหล้าอินทะ บัดนี้ผมหอมบ่อาจลอด ข้าจะแต่งกับสู พ่อเลี้ยง...” (พิมพ์ครั้งที่ 2 หน้า 108)

คำพูดของเจ้าจันท์นอกจากจะแสดงถึงเกียรติและศักดิ์ศรีแล้ว ยังแฝงไว้ด้วยความเชื่อที่มิได้เปลี่ยนแปลง นางยอมรับผลเสี่ยงทายโดยมองว่า “...บุญเราร่วมสิ้นสุดเสียแล้ว...” (หน้า 106) ไม่เพียงปราศจากท่าทีแข็งขืน ก่นด่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าไม่ช่วยไม่เป็นธรรมอย่างใน “เจ้าที่” และ “ใบไม้สีเหลือง” แล้ว นางยังตั้งจิตตั้งใจที่จะบูรณะพระธาตุอีกด้วย “...น้องจะขอแต่งแปลงเสริมสร้างเอากุศลพระธาตุ ขอบูรณะงามอาจไว้เป็นกุศลของเราสืบไปภายหน้า...” (หน้าเดียวกัน)

นี่คือท่าทีของตัวละครในผลงานของ มาลา คำจันทร์ ที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ มันเป็นจุดเชื่อมต่อถึงผลงานในเวลาต่อมา ที่เต็มไปด้วยความเชื่อซึ่งเล่าขานสืบกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า ก่อนที่ความเชื่อเหล่านั้นจะค่อย ๆ เลือนหายไป เมื่อล้านนาตกเป็นของสยาม ความเชื่อถูกแทนที่ด้วยวิทยาศาสตร์และหลักเหตุผล คนล้านนาที่เคยดำรงอัตลักษณ์มายาวนาน ค่อย ๆ กลืนกลายเป็นเช่นเดียวกับสยาม

แม้รากความเชื่อส่วนหนึ่งจะฝังลึกยากจะถอน แต่สำหรับคนรุ่นใหม่หลายคนก็ไม่ต่างไปจากตัวละครใน “เจ้าที่” ที่ไม่เห็นความสำคัญของสิ่งที่เคยดำรงอยู่ พร้อมที่จะถอดถอนมันทิ้ง แล้วโยนลงกองเพลิงอย่างไม่ไยดี โดยโทษว่าความเชื่อเดิม ๆ นี่แหละที่เป็นต้นเหตุแห่งปัญหา

หลังจากกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด และมุ่งมั่นกับการศึกษาเอกสารโบราณที่เก็บอยู่ตามที่ต่าง ๆ ท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อความเชื่อเดิมของ มาลา คำจันทร์ ก็มลายไปสิ้น เปลี่ยนเป็นมองเห็นคุณค่าและนำมาเป็นองค์ความรู้ สร้างรากฐานอันแข็งแกร่งให้แก่งานเขียนของเขาในเวลาต่อมา

   

มาลา คำจันทร์ วันนี้   

ชัดเจนอย่างยิ่งว่า งานยุคหลังของ มาลา คำจันทร์ ล้วนมีที่มาจากเอกสารโบราณ ทั้งที่ถ่ายทอดมาโดยตรงอย่าง “มองโลกแบบล้านนาผ่านอรุณวดีสูตร” และ “ตำนานดาวฤกษ์” เรียบเรียงในรูปแบบสารคดีอย่าง “ตำนานบรรพชน” “เรื่องเล่าจากดงลึก” “เรื่องเล่าผีล้านนา” ฯลฯ หรือนำมาสอดแทรกไว้ในนวนิยายอย่าง “สร้อยสุคันธา” “ไพรอำพราง” “นางถ้ำ” “ธนูสายฟ้า”  “ไพรพิสดาร” “แสงหาญฟ้า” ฯลฯ รวมถึงงานชุด “เรื่องเล่าขาน ตำนานพงไพร” ที่พิมพ์เป็นเล่มออกมาแล้วสองชุด ได้แก่ “สางโหง” และ “นางคอย” ซึ่งเป็นผลงานล่าสุดของ มาลา คำจันทร์

งานชุด “นางคอย” พิมพ์ครั้งแรกโดยประกบคู่เป็นเล่มเดียวกับ “ทางที่ต้องเดิน” ทำให้ยิ่งเห็นชัด เหมือนเป็นสองด้านของนักเขียน ด้านหนึ่งคือคนหนุ่มที่แสดงปฏิกิริยาผ่านทางวรรณกรรม อีกด้านหนึ่งคือชายผู้รู้โลกรู้ธรรมซึ่งเล่าเรื่องราวต่าง ๆ อย่างเข้าใจ ไม่เพียงไม่ปฏิเสธความเชื่อเดิม แต่ยังมองอย่างเคารพนบนอบ ด้วยเห็นถึงคุณค่าของความเชื่อต่าง ๆ ซึ่งล้วนอิงอยู่กับความเหมาะสมดีงาม

เรื่องสั้นสิบแปดเรื่องใน “นางคอย” นอกจากจะสะท้อนเรื่องราวความเชื่อที่อิงอยู่กับความดีความเลวแล้ว ยังทำให้เห็นภาพชีวิตของคนล้านนาที่มีลักษณะเฉพาะตัว ขณะเดียวกันก็มีความเป็นสากล มีรักโลภโกรธหลงเช่นเดียวกับมนุษย์ทุกถิ่นทุกชาติทุกภาษา

หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยที่ มาลา คำจันทร์ เขียนเรื่องผีสางความเชื่อขึ้นมามากมาย ในขณะที่นักเขียนส่วนใหญ่มองไปข้างหน้า เขากลับมองย้อนไปในอดีต และหยิบเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ในรูปแบบวรรณกรรมร่วมสมัย

บางคนมองว่านี่เป็นการอนุรักษ์ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ใช่ บางคนอาจมองว่านี่เป็นการสร้างเอกลักษณ์ในงานเขียน ซึ่งก็ใช่อีกเหมือนกัน แต่สำหรับผมแล้ว ผมมองว่างานในยุคหลังของ มาลา คำจันทร์ ทั้งในงานเขียนและการทำกิจกรรมทางสังคม เป็นด้วยความรักในแผ่นดินถิ่นเกิด พร้อมกันนั้นก็เป็นการนำศาสตร์ความรู้ต่าง ๆ ตั้งแต่ศาสตร์เรื่องดวงดาว พุทธศาสนา นิทาน ยันเรื่องภูตผีสิ่งลี้ลับ มาเป็นอาวุธในการต่อสู้กับอิทธิพลของสยามและตะวันตก ที่ครอบงำล้านนามากว่าร้อยปี

งานซึ่งมีรากฐานมาจากเรื่องเก่าเหล่านี้ เป็นทั้งเรื่องแบบก่อนสมัยใหม่ (Pre Modern) และหลังสมัยใหม่ (Post Modern) แบบที่เรียกกันว่าหลังอาณานิคม (Post Colonial) ซึ่งมีความพยายามปลดแอกจากแนวคิดและองค์ความรู้ที่มาจากเจ้าอาณานิคมทั้งหลาย โดยยกแนวคิดและองค์ความรู้ดั้งเดิมที่ถูกกดทับไว้ขึ้นมาให้มีความสำคัญอีกครั้ง

เพราะเหตุนี้ เรื่องผีของ มาลา คำจันทร์ จึงไม่ได้เน้นที่ความน่ากลัว เรื่องราวความเชื่อต่าง ๆ ก็ไม่ได้พาผู้อ่านจมสู่ก้นบึ้งของความงมงาย แต่ต้องการบอกถึงการดำรงอยู่ของเรื่องเล่าเหล่านี้ ซึ่งส่งผลด้านต่าง ๆ ในชีวิตผู้คนล้านนามาช้านาน

ในวาระครบรอบสี่สิบปี “นางคอย” ถือเป็นผลงานล่าสุด แต่แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ผลงานสุดท้าย เพราะขณะนี้เขายังคงเขียนงานชุด “เรื่องเล่าขาน ตำนานพงไพร” อย่างต่อเนื่อง เรื่องที่ไหลออกมาราวสายน้ำยืนยันว่า อดีตยังคงเป็นคลังของเรื่องเล่า และไม่ว่ามันจะส่งผลอย่างไร สิ่งที่เขาทำคือการต่อชีวิตให้กับเรื่องเล่าเหล่านี้ ไม่ต่างจากในอดีตเมื่อหนังสือใบลานผุผัง แล้วคนรุ่นต่อมาก็รักษามันด้วยการจารลงหนังสือใบลานเล่มใหม่ ฉันใดก็ฉันนั้น

สี่สิบปี มาลา คำจันทร์ แจ่มชัดอย่างยิ่งว่า ทางที่เขาก้าวเดินในวันนี้ ไม่ใช่ทางที่ต้องเดินแต่อย่างใด หากเป็นทางที่เขาเลือกเดินด้วยตัวของเขาเอง ก้าวเดินไปอย่างมั่นคง แน่วแน่ และสง่างาม ในวัยที่ความคิดจิตใจสมบูรณ์พร้อมอย่างที่สุด.

      

 

พิมพ์ครั้งแรก นิตยสารสีสัน ปีที่ 29 ฉบับที่ 6 : 2561

 

 


 

เราคือสัตว์โลกที่ต้องคำสาปให้รักและใคร่ 

 

 

          ไม่ว่าใครจะให้นิยามคำว่าชีวิตไว้อย่างไร นิยามชีวิตของ ‘เงาจันทร์’ ดูเหมือนมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น นั่นคือ “ชีวิตคือคำสาปและความเศร้าอันนิรันดร์” ดังนั้นไม่ว่าเธอจะเขียนอะไรก็ตาม สุดท้ายเรื่องราวจึงลงเอยด้วยความเศร้าเสมอ “เสน่หานุสรณ์” รวมเรื่องสั้นชุดล่าสุดของเธอก็เช่นกัน เรื่องสั้นทั้งสิบเรื่องจบลงแบบที่เรายิ้มไม่ออก มีเพียงความเศร้าทิ้งค้างในใจ พร้อมคำถามที่ว่า ทำไมชะตากรรมของมนุษย์จึงต้องเป็นเช่นนี้

 

          อย่างไรก็ตาม เรื่องสั้นและนวนิยายของเธอ ไม่ได้มุ่งเน้นเค้นน้ำตาเราอย่างเดียว ทว่าทุกเรื่องได้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนของผู้คนในสังคม ซึ่งมีความรักและความใคร่เป็นองค์ประกอบสำคัญ เราคือสัตว์โลกที่ต้องคำสาปให้รักและใคร่ และคำสาปนี้เองที่สร้างผลกระทบมากมายไม่รู้จบให้แก่เราทุกคน

 

              

ความรักหรือความใคร่

 

          สิ่งที่เราเห็นอยู่เสมอในเรื่องสั้นและนวนิยายของ ‘เงาจันทร์’ ก็คือ ผู้คนที่ถูกกระตุ้นด้วยอำนาจของความรักและความใคร่ ซึ่งมีแรงผลักมหาศาลให้เขาเหล่านั้นกระทำต่าง ๆ นานาเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ หรือไม่ก็ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส หากไม่ได้มาหรือต้องสูญเสียมันไป

 

          โศกนาฏกรรมมักเกิดจากความรักที่แท้จริง อย่างความรักของผู้เป็นพ่อใน “พ่อ” ความรักที่ย่ามีต่อหลานชายใน “ผู้เป็นหนึ่งเดียวกับแผ่นดิน” หรือความรักที่พี่มีให้แก่น้องใน “อมนุษย์” ตัวละครเหล่านี้อุทิศตัวเพื่อบุคคลอันเป็นที่รัก แม้สุดท้ายแล้ว พวกเขาอาจต้องแยกจากคนที่รักไปตลอดกาลก็ตาม

 

          ความรักอันบริสุทธิ์เป็นเรื่องของการให้ ความอดทน และความชื่นชมยินดี เมื่อได้เห็นผู้เป็นที่รักมีความสุข สมหวัง และเจริญก้าวหน้าในชีวิต

 

         ความรักอันบริสุทธิ์ไม่ต้องการการตอบแทน ขอเพียงแค่ได้รักก็มากพอแล้ว      

 

         ความรักอันบริสุทธิ์ไม่มุ่งหวังการครอบครอง ต่างจากความใคร่ที่ปรารถนาจะได้เป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ผู้สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ตามอำเภอใจ

 

          ถึงอย่างนั้น การที่ต้องพลัดพรากจากคนที่รัก ย่อมเป็นช่วงเวลาอันแสนเศร้า ตัวละครในเรื่องสั้นเหล่านี้ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงช่วงเวลาเช่นนี้ได้ ไม่ต่างจากผู้คนอีกมากมายที่วันใดวันหนึ่งก็ต้องแยกจากคนที่รัก

 

          หากความรักเป็นสีขาว ความใคร่ก็เป็นสีดำ บางครั้งสองสิ่งมาพร้อมกัน แต่หลายครั้งความใคร่กลับมีพลานุภาพเหนือกว่า มันเป็นอาวุธร้ายที่ทำลายทุกชีวิตที่เกี่ยวข้อง

 

          โศกนาฏกรรมในงานเขียนของ ‘เงาจันทร์’ นอกจากเกิดจากความรักที่แท้จริงแล้ว ยังมาจากความใคร่ที่จู่โจมเข้าเกาะกุมจิตใจผู้คน และทำให้พวกเขาทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยสัญชาตญาณดิบเดิมแท้ของสัตว์โลกผู้หิวกระหาย พวกเขาเพียงต้องการการตอบสนอง ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด และไม่ว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร 

 

          ในเรื่อง “สุดาสวรรค์” สัมผัสสวาทคราวแรกของเด็กสาวทำให้เธอตั้งท้อง แต่แทนที่เธอจะเอ่ยชื่อพ่อที่แท้จริงของเด็ก เธอกลับอ้างชื่อชายสูงวัยข้างบ้าน ว่าเขาเป็นคนข่มขืนเธอ ตราบาปตกเป็นของชายผู้นั้น เพียงเพราะเธอต้องการให้ความผิดพลาดนี้นำไปสู่การทำแท้ง แม้ว่าเธอจะโกหกสำเร็จ แต่หัวใจเธอก็มีบาดแผลที่ไม่มีวันรักษาหาย ไม่ต่างจากชายผู้ถูกป้ายความผิด

 

          เช่นเดียวกับเรื่อง “บางแก้ว” ที่หญิงสาวผู้มีปัญหาด้านการพูด เตลิดไปกับกามลีลาที่ชายหนุ่มคนรักของเจ้านายมอบให้ เธอคิดว่านั่นเป็นความรักอันอิ่มเอมใจ ทว่าความจริง เขาเพียงต้องการใช้เรือนร่างอันสวยงามของเธอ บำเรอความสุขทางกามให้แก่เขาเท่านั้น เขาไม่ได้มองเธอเป็นคนเหมือนกับเขาด้วยซ้ำ แต่มองเธอไม่ต่างจากสุนัขบางแก้วผู้ซื่อสัตย์ ซึ่งเขาจะกระทำอย่างไรกับมันก็ได้ เมื่อความจริงออกมาจากปากของเขา เธอก็ไม่ต่างจากถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม ก่อนที่ในเวลาต่อมา เธอจะต้องจบชีวิตด้วยมือของเขาจริง ๆ

 

          เรื่องที่ให้ภาพความใคร่ได้รุนแรงที่สุดคือ “อมนุษย์” ซึ่งเปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์ฆ่าข่มขืนเด็กชายผู้มีปัญหาทางสมอง ก่อนที่ความจริงจะค่อย ๆ กระจ่าง ว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของเขามีมากกว่าหนึ่งคน ในจำนวนนั้นมีพระและครูอยู่ด้วย แต่ทั้งหมดกลับรอดพ้นคดี เมื่อพี่ชายของเด็กซึ่งมีความบกพร่องทางสมองอีกคน ถูกโยนความผิดให้เป็นฆาตกร และต้องชดใช้กรรมที่ตัวเองไม่ได้ก่อ

 

          ‘เงาจันทร์’ ไม่ได้เสนอภาพดำมืดของความใคร่ ในฐานะที่มันเป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของมนุษย์เท่านั้น แต่เธอยังชี้ให้เห็นว่า ในความสัมพันธ์รัก - ใคร่ สิ่งที่แฝงฝังอยู่ในสังคมไทยคือ “อำนาจของความเป็นชาย” ที่ทำให้ผู้ชายหลายคนกระทำต่อผู้อื่นในฐานะที่เขาเหล่านั้นเป็น “วัตถุทางเพศ” หรือสิ่งที่ถูกให้ค่าน้อยกว่ามนุษย์ เช่นสัตว์เลี้ยงในเรื่อง “บางแก้ว”

 

          “อำนาจของความเป็นชาย” ที่ไม่เคยจางหายไปจากสังคมไทยนี่เอง ที่ทำให้รูปแบบความสัมพันธ์ต่าง ๆ ยังคงเป็นไปตามแบบที่เคยเป็นมาตลอด ไม่เพียงแต่ผู้ชายที่นั้นที่ไม่ยอมเปลี่ยน ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็ยอมรับบทบาทที่เหนือกว่าของผู้ชาย ส่วนผู้หญิงที่ไม่ยอมรับ หรือกล้าแสดงบทบาทที่ต่างไปจากความคาดหวังของสังคม พวกเธอก็จะต้องได้รับบทลงโทษ  

 

  

อำนาจของความเป็นชาย

 

            ถึงแม้ฉากพิศวาสมากมายในรวมเรื่องสั้น “เสน่หานุสรณ์” จะทำให้เราเคลิ้มไปว่า นี่คือรสชาติแห่งกามที่ชายหญิงแลกเปลี่ยนกันอย่างสมดุล ทว่าหากพิจารณากันจริง ๆ กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น

 

          ค่ำคืนพิเศษของนักแปลสาวใน “เรื่องรักที่ตำบลริมแม่น้ำ” จบลงเมื่อเขาออกจากบ้านของเธอกลับไปหาเมียของเขา เธอไม่มีส่วนในการตัดสินใจนี้เลย นี่เป็นการเลือกหนทางที่ดีที่สุดสำหรับตัวเขาเองคนเดียวเท่านั้น

 

          แม่วาด อดีตนางละครใน “หมื่นแสนอาลัย” ก็เช่นกัน ถึงเธอจะผ่านแดดผ่านลมผ่านฝนมาจนอายุสี่สิบห้าเข้าไปแล้ว แต่เมื่อได้เจอเด็กหนุ่มรุ่นลูก เธอกลับยอมมอบกายให้เขาโดยง่าย มันเป็นคืนที่เธอไม่มีวันลืม แม้ว่านั่นจะเป็นคืนแรก คืนเดียว และคืนสุดท้าย ที่เขาและเธอมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งต่อกัน จากนั้นเขาก็หายไปจากชีวิตเธอ

 

          และหากเรามองหญิงสาวอย่างฤทัยใน “บางแก้ว” เรายิ่งเห็นถึงการสมยอมเป็นวัตถุทางเพศของผู้ชาย เพียงเพื่อความสุขที่เขามอบให้ในเวลาสั้น ๆ ไม่แต่เรย์เท่านั้นที่ทำเหมือนฤทัยเป็นสุนัข ฤทัยเองก็ทำพฤติกรรมไม่ต่างจากเจ้าเพชรเจ้าพลอย สุนัขบางแก้วที่เจ้านายของเธอเลี้ยงไว้ ในเวลาที่อยู่ตามลำพังกับเขา

 

          “...ดวงตาของฤทัยเป็นสีดำวาวราวนิลเนื้อดีขณะจ้องเขม็งเข้าไปในดวงตาของชายที่หล่อนบูชา เขาบอกไม่ให้หล่อนร้อง เพื่อเจ้าบางแก้วจะไม่ได้ยินเสียงใด หล่อนก็ทำตามคำสั่งนั้นอย่างเชื่อฟังราวกับหล่อนเป็นบางแก้วเสียเอง...” (หน้า 34)

 

          การพูดที่มีปัญหาจนแทบเหมือนคนใบ้ของฤทัย ยังสะท้อนถึงการไม่มีปากไม่มีเสียง ผู้หญิงอย่างเธอ (และผู้หญิงอีกมากมาย) มีหน้าที่ทำตามคำสั่งเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องคิด ตัดสินใจ หรือเอ่ยความคิดเห็นใด ๆ ออกมา

 

          ความเป็นวัตถุทางเพศยังปรากฏในเรื่อง “อมิตตดา” เมื่อเด็กสาวซึ่งถูกกลุ่มวัยรุ่นลวนลาม ได้รับความช่วยเหลือจากชายชราสองคน ก่อนที่ในเวลาต่อมา พ่อแม่ของเด็กสาวจะยกเธอให้อยู่ในความดูแลของชายชรา เด็กสาวจำต้องมาอยู่บ้านของชายชราชื่อตาหม่น ทั้ง ๆ ที่เธอรักชายชราอีกคนมากกว่า

 

          “อมิตตดา” เป็นเรื่องสั้นที่ ‘เงาจันทร์’ เล่นแรง โดยอิงกับมหาชาติชาดก เหมือนจะบอกว่า ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง มีให้เห็นแม้กระทั่งในมิติของศาสนา การที่พระเวสสันดรยกเมียให้เฒ่าชูชก ถือเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ หรือการกระทำย่ำยีต่อผู้หญิงกันแน่ ?

 

          ในชาดก ภรรยา ธิดา และบุตร เป็นทรัพย์สมบัติที่จะมอบให้แก่ผู้ใดก็ได้ ในเรื่องสั้น “อมิตตดา” ของ ‘เงาจันทร์’ ก็เป็นเช่นนั้น เด็กสาววัยเพียงสิบสี่สิบห้าปี ต้องมาจมอยู่กับชายชราอย่างไม่มีทางเลือก เพราะถูกมองไม่ต่างจากวัตถุ หาได้มีความคิดชีวิตจิตใจเป็นของตัวเองไม่

 

          น่าสนใจว่า เด็กสาวในเรื่องนี้ก็ไม่มีความคิดที่จะหลบหนี ราวกับว่าเธอเองก็ยอมรับสภาพ นอบน้อมต่อชะตากรรมที่ถูกกำหนด หรืออีกนัยหนึ่ง ยอมรับความเป็นวัตถุของตัวเอง แต่อะไรกันล่ะที่ทำให้เธอยอมรับได้ง่ายดายเช่นนี้ ?

 

          หากเทียบกันระหว่างเด็กสาวในเรื่องนี้กับ รติ ในเรื่อง “วังวนความกระหาย” การสมยอมต่อการเป็นวัตถุแม้จะไม่ต่างกัน ทว่ารติรู้ดีว่า การเป็นวัตถุทางเพศนั้นมีราคาของมัน เธอจึงเลือกที่จะใช้ร่างกายเป็นสินค้า เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทอง ข้าวของ และความสุขสบาย ระหว่างเธอและผู้ว่าจ้างคือข้อแลกเปลี่ยน เธอยอมนอนกับ ‘ผู้ใหญ่’ บางคนโดยแลกกับเงิน ส่วนเขาก็ได้งานต่าง ๆ จากผู้ใหญ่รายนั้น

 

          รติไม่ได้ถูกบังคับให้ต้องสังวาสกับคนแก่คราวพ่อเหมือนเด็กสาวใน “อมิตตดา” แต่เธอเลือกเองที่จะเป็นวัตถุทางเพศที่มีราคา แม้จะต้องกล้ำกลืนฝืนทนก็ตาม

 

          “...หล่อนอยากได้เงินจาก ผอ. เรืองเดช แต่การมีเพศสัมพันธ์กับคนสูงอายุก็ทำให้หล่อนต้องกลั้นใจ ร่างกายนายเรืองเดชส่งกลิ่นแห่งความชรา เขาเหมือนซากฟอสซิลขนยาว มือเท้าเหนียวหนับลูบไล้ตัวรติเหมือนกิ้งก่าโบราณ แต่หล่อนเกลียดลิ้นที่ตวัดยาวแม่นยำมากกว่าทุกสิ่ง...” (หน้า 132)

 

          ยิ่งพรรณนาความน่าเกลียดของชายแก่ได้ชัดเจนมากเท่าไร เราก็ยิ่งเห็นชัดถึงอำนาจของความเป็นชาย ที่ทำให้ผู้หญิงต้องยอมศิโรราบต่อสิ่งอันน่ารังเกียจ ทั้งการตอบสนองตัณหาของชายแก่ การใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง และระบบอุปถัมภ์ที่กัดกินสังคมไทยมายาวนาน มากขึ้นเท่านั้น

 

          แน่ล่ะ แม้รติจะมีโอกาสเลือกหนทางของตัวเอง แต่ค่านิยมแบบไหนกันล่ะ ที่มีส่วนผลักดันให้เธอตัดสินใจเช่นนี้ นี่คือคำถามที่น่าขบคิด ว่าอะไรคือสิ่งที่เข้าไปควบคุมสมองของผู้หญิงจำนวนไม่น้อยให้คิดเช่นเดียวกับรติ ?

 

          อำนาจของความเป็นชาย อาจไม่ปรากฏเป็นภาพที่เด่นชัดนัก ทว่ากลับมีอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง ‘เงาจันทร์’ ทำให้เราเห็นว่า อำนาจนี้ไม่เพียงเป็นตัวขับเคลื่อนความสัมพันธ์ในหลายระดับเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องรับรองความมั่นคงเป็นเพศชายอีกด้วย

 

          เพราะเหตุนี้เอง ตัวละครชายทั้งหลายจึงไม่ต้องรับผลกรรมของตัวเอง ขณะที่ตัวละครหญิงกลับต้องถูกลงโทษในลักษณะต่าง ๆ ตามการตัดสินของสังคมซึ่งมีผู้ชายเป็นใหญ่   

 

 

ความผิดบาปของผู้หญิง

 

            ความตายของฤทัยใน “บางแก้ว” ความตายของเด็กชายสองคนใน “อมนุษย์” และความตายของรติกับชาติชายใน “วังวนความกระหาย” แม้ลักษณะการตายจะแตกต่างกัน ทว่ามีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ผู้ร้ายตัวจริงยังคงลอยนวล เป็นผู้บริสุทธิ์ อีกทั้งบางคนยังเป็นผู้มีหน้ามีตาในสังคม

 

         ใน “อมนุษย์” แม้สิ่งที่ตัวละครปฏิบัติต่อกันจะเป็นเรื่องระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย แต่โดยพฤติกรรมแล้ว มันส่อประเด็นทางเพศแบบชายเป็นใหญ่อย่างชัดเจน ครูบดินทร์ฆ่าข่มขืนเด็กชายถึงสองคน ซ้ำยังหวังที่จะครอบครองศิระ นี่เป็นการมองตัวเองแบบชายเหนือชาย ไม่ต่างจากที่ผู้ชายส่วนใหญ่มองว่าตัวเองอยู่เหนือผู้หญิงนั่นเอง

 

          ตอนจบของ “อมนุษย์” เมื่อ ศิระ ยอมติดคุกทั้ง ๆ ที่ไม่มีความผิด แทนการรับข้อเสนอของ ครูบดินทร์ ที่จะจ้างคนมาติดคุกให้แทน แลกเปลี่ยนกับการที่เขาต้องไปอยู่ด้วย อาจสะใจหลายคนเมื่อศิระพูดกระแทกใส่ครูบดินทร์อย่างเจ็บแสบว่า

 

            “...กูไม่ตกลงอะไรกับมึงทั้งนั้น มึงเป็นพระ มึงเป็นครู ลูกเจ้านายใหญ่โตที่ผู้คนนบไหว้ กูชิงชังโลกที่พวกมึงเรืองอำนาจ กูจะอยู่ในคุกนี้ อยู่ไปจนตายกูก็ไม่ว่า แต่มึงซื้อวิญญาณของกูไม่ได้ ไอ้พวกอมนุษย์...” (หน้า 109)

 

            แต่ความเป็นจริงก็คือ คนอย่างครูบดินทร์ยังคงเป็นผู้ชนะ เขาทำผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ ยิ่งกว่านั้นยังมีอำนาจที่จะจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้ตามใจตัวเอง ขณะที่คนอย่างศิระ ไม่ว่าเขาจะยอมรับหรือปฏิเสธข้อเสนอของครูบดินทร์ เขาก็ยังคงเป็นผู้แพ้อยู่ดี

 

          เช่นเดียวกับการฆ่ากันตายของรติกับชาติชายใน “วังวนความกระหาย” ซึ่งทุกอย่างจบลงตรงนั้น โดยไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมไปถึงบรรดา ‘ผู้ใหญ่’ ทั้งหลายแต่อย่างใด ระบบยังคงขับเคลื่อนไปตามปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

 

          ความตายของฤทัยยิ่งแล้วไปใหญ่ เธอตายเหมือนสุนัขตัวหนึ่ง แม้เรื่องจะจบที่ภาพการตายของเธอ แต่เราก็จินตนาการภาพต่อจากนั้นได้ ว่าเรย์คงก้าวสู่พิธีสมรสกับคุณม่อน นายของฤทัย ทั้งคู่ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข โดยค่อย ๆ ลืมสุนัขผู้ซื่อสัตย์อย่างฤทัยไปทีละน้อย

 

          เมื่อมองตัวละครชายแล้ว ก็มองตัวละครหญิงบ้าง ตัวละครอย่าง เอื้อม ใน “สุดาวรรค์” ต้องจมอยู่กับความรู้สึกผิดตลอดชีวิต ในตอนจบของเรื่อง เธออาสาไปทำงานพยาบาลที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อทดแทนบาปกรรมที่ทำไว้ นี่คือบทลงโทษที่เธอได้รับ

 

          ตัวละครอย่าง ‘แม่’ ใน “ผู้เป็นหนึ่งเดียวกับแผ่นดิน” ถูกทำให้เป็นนางร้ายผู้เป็นเพียงอากาศธาตุสำหรับตัวละครอื่นรวมทั้งผู้อ่าน เนื่องจากเธอทิ้ง ฟาง และพ่อของเขามา เธอไม่ได้เป็นแม่และเมียตามแบบฉบับ แต่เธอเลือกที่จะเป็นในแบบของตัวเอง นี่เป็นตัวละครหญิงเพียงไม่กี่คนที่แม้แต่ผู้เขียนอย่าง ‘เงาจันทร์’ ก็ยังไม่ให้ความเป็นธรรม

 

          และเราคงไม่ลืมตัวละครอย่างรติใน “วังวนความกระหาย” ที่การหากินด้วยเรือนร่างของตัวเองดูจะเป็นความผิดร้ายแรงยิ่งกว่าพวกโกงบ้านกินเมือง จนเธอต้องถูก ‘เงาจันทร์’ ลงโทษให้จบชีวิตลงอย่างน่าเศร้า

 

          บทลงโทษที่ผู้หญิงได้รับจากการแหวกกฎเกณฑ์ ชัดเจนอย่างยิ่งใน “เสน่หานุสรณ์” ซึ่งเป็นเรื่องเดียวในงานชุดนี้ที่นำเสนอในแนวแฟนตาซี โดยให้ภาพโลกอนาคตแบบดิสโทเปีย ในยุคที่มีนโยบายประชากรมาควบคุมชายหญิง ให้ต้องกินยาเพื่อเปลี่ยนเพศ จากหญิงเป็นชาย จากชายเป็นหญิง ผลของการเปลี่ยนเพศคือ ไม่มีการตั้งครรภ์ ไม่มีเด็กเกิดใหม่ หน้าที่ของทุกคนคือต้องทำงานสร้างผลผลิตอย่างเต็มที่ ส่วนนอกเวลางาน คือช่วงแห่งการปลดปล่อยอารมณ์เพศกันได้โดยเสรี

 

          กฎหนึ่งที่ใช้บังคับให้ทุกคนต้องดื่มยาก็คือ หากผู้หญิงคนใดเกิดตั้งท้องขึ้นมาจากการกินยาไม่ครบ เธอจะต้องถูกข่มขืนโดยบรรดาผู้ชายที่หื่นกระหาย เพราะในยุคนั้นผู้หญิงท้องเป็นสิ่งที่ยั่วยวน เนื่องจากเป็นภาพที่หาดูได้ยาก ประสบการณ์ทางเพศกับผู้หญิงท้องจึงเป็นสิ่งที่หลายคนอย่างลิ้มลอง “...หากหญิงคนใดถูกละเมิดก็ไม่มีใครหรือกฎหมายให้ความคุ้มครอง รัฐบาลออกประกาศให้รู้ว่าทั้งหมดล้วนเป็นการลงโทษ ซึ่งบีบบังคับทางอ้อมให้ทุกคนกินยากลายเพศที่รัฐจ่ายให้...” (หน้า 195 - 196)  

 

         แล้วก็เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ บทลงโทษเช่นนี้มีให้กับผู้หญิงเท่านั้น ขณะที่ผู้ชายที่ไม่ยอมกินยา กลับไม่มีอะไรมาบีบบังคับเลย ความเท่าเทียมยังคงไม่เกิดขึ้น ต่อให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันก็ตาม

 

 

          แม้เรื่องสั้นของ ‘เงาจันทร์’ จะไม่ได้มีท่าทีของวรรณกรรมเพื่อชีวิต ซึ่งพูดถึงความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และไม่ได้วางตัวในฐานะนักเขียนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี แต่รายละเอียดต่าง ๆ ในเรื่องก็แฝงให้เห็นถึงอำนาจของความเป็นชายที่กดทับสังคมไทย ตั้งแต่ในระดับความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ไปจนถึงความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์ โดยมีผู้หญิงเป็นตัวแปรในฐานะเครื่องบรรณาการให้แก่ ‘ผู้ใหญ่’

 

          การกดทับไม่เพียงปรากฏในโลกความเป็นจริงเท่านั้น แต่ในเรื่องเล่าอย่างงานวรรณกรรม การกดทับก็แสดงออกผ่านจิตสำนึกของผู้เขียน ที่ให้ตัวละครชายผู้มีอำนาจได้รับชัยชนะในทุกสถานการณ์ ขณะที่ตัวละครหญิงกลับต้องระทมทุกข์กับการกระทำของตัวเอง และต้องน้อมรับบทลงโทษอันรุนแรงจากการกระทำเหล่านั้น

 

          วรรณกรรมนอกจากเป็นกระจกสะท้อนความจริงแล้ว วรรณกรรมยังเป็นเครื่องแสดงทัศนะของคนในสังคมนั้น ๆ หลายครั้งนักเขียนทำหน้าที่เป็นตัวแทน นำเสนอความคิดเห็นที่ผู้คนมีต่อประเด็นต่าง ๆ รวมถึงความเป็นไปในสังคม

 

โลกเปลี่ยน แต่หลายอย่างในสังคมไทยไม่เคยเปลี่ยน เมื่อเรามองผ่านงานเขียนของกระจกวรรณกรรมที่มีชื่อว่า ‘เงาจันทร์’       

 

เสน่หานุสรณ์

 

เขียน : เงาจันทร์

 

แพรวสำนักพิมพ์ ราคา 265 บาท, 216 หน้า

 

  

 

จรูญพร ปรปักษ์ประลัย

 

พิมพ์ครั้งแรก นิตยสารสีสัน ปีที่ 29 ฉบับที่ 5 : 2561



 


 

 


แปลกปลอมบนโลกลวง 


 

              ถ้าเป็นมวยก็ต้องจัดว่า อนิมมาล เล็กสวัสดิ์ เป็นมวยรุ่นเล็ก ซึ่งอยู่นอกสายตาแฟนมวยทั้งหลาย จึงไม่แปลกที่เมื่อรวมเรื่องสั้น “เงาแปลกหน้า” ก้าวผ่านมาถึงรอบสุดท้ายรางวัลซีไรท์ หลายคนจึงอดมองด้วยความสงสัยไม่ได้ว่าเธอเป็นใครกันหรือ ถึงได้ฝ่าด่านนักเขียนชั้นยอดทั้งหลายมาจนถึงจุดนี้ได้

            อนิมมาล เล็กสวัสดิ์ เติบโตมาในครอบครัวที่รักการอ่าน นี่เป็นต้นทุนเริ่มแรกที่ทำให้เธอเป็นหนอนหนังสือมาตั้งแต่วัยเยาว์ เธออ่านทั้งวรรณกรรมไทย วรรณกรรมแปล และวรรณกรรมภาษาอังกฤษ เพียงอายุเข้าเลขสิบได้ไม่นานเธอก็เริ่มเขียนเรื่องสั้น ซึ่งต่อมาทั้งหมดก็รวมอยู่ในผลงานชุดแรกของเธอ “อย่าด่วนตัดสิน” ซึ่งได้รับรางวัลดีเด่น Young Thai Artist Award 2010 ตามมาด้วย “เงาแปลกหน้า” ซึ่งได้รับรางวัลเดียวกัน ในอีกสี่ปีถัดมา

            นอกจากรวมเรื่องสั้นสองชุดนี้แล้ว อนิมมาล เล็กสวัสดิ์ ยังมีผลงานนวนิยายภายใต้นามปากกา ‘โรอัญดา’ อีกสองเรื่อง ได้แก่ “เพลงอรุณ” และ “ภาพเหมือน” ทั้งหมดถูกเขียนขึ้นขณะที่เธอยังคงเป็นนักศึกษา เพราะเหตุนี้เองผลงานของ อนิมมาล เล็กสวัสดิ์ จึงชัดเจนด้วยมุมมองของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเติบโตขึ้นมาบนโลกที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่าง ๆ 

           เทคโนโลยีมีผลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบของความสัมพันธ์ ทุกวันนี้เราเต็มไปด้วยช่องทางการสื่อสารอันรวดเร็วทันใจ ทว่าเรากลับรู้สึกโดดเดี่ยวกันมากขึ้น แปลกแยกกันมากขึ้น เราสร้างตัวตนของเราขึ้นมาบนโลกเสมือน โดยแม้แต่เราเองก็ไม่แน่ใจว่านั่นคือตัวตนที่แท้จริงของเราหรือไม่

          ทั้งหมดคือภาพสะท้อนในเรื่องสั้นชุด “เงาแปลกหน้า”   

 

ภาพสะท้อนของตัวตน

          ชื่อรวมเรื่องสั้น “เงาแปลกหน้า”  มาจากเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งในชุดนี้ เป็นเรื่องของชายหนุ่มผู้พยายามไขว่คว้าความสำเร็จ เขาเติบโตขึ้นมาแบบอัจฉริยะด้านดนตรี สามารถเข้าแข่งขันเปียโนระดับนานาชาติตั้งแต่ยังหนุ่ม เขามั่นใจว่าต้องชนะเลิศ แต่ผลปรากฏว่าการแข่งขันครั้งนี้ไม่มีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ เขาครองตำแหน่งรองชนะเลิศซึ่งเหนือกว่าทุกคนในที่นั้น ทว่ามันกลับสร้างความผิดหวังให้แก่เขาอย่างรุนแรง นับจากวันนั้น เขาเริ่มหันหลังให้กับเปียโนและเสียงดนตรี ก่อนที่จะค่อยๆ หันเหตัวเองไปเป็นจิตรกร

          เขาได้รับการชื่นชมในระดับอัจฉริยะไม่ต่างจากเมื่อครั้งที่เล่นเปียโน ผลงานของเขาได้รับการจัดแสดงหลายครั้ง จนกระทั่งถูกนำเข้าสู่การประมูล ทว่ามันกลับเป็นเหมือนฝันร้าย เมื่อผลงานของเขาได้รับการประมูลด้วยตัวเลขที่ต่ำกว่าศิลปินอีกคน ความผิดหวังทำให้เขาก้าวเดินออกจากโลกของจิตรกรรม หันไปทำงานอื่น ๆ แต่ทั้งหมดก็ไม่เคยนำพาเขาสู่จุดสูงสุดอย่างที่เขาหวัง ตอนนี้เขาไม่รู้อีกต่อไปแล้ว ว่าเขาเป็นใครกันแน่

         ‘เงาแปลกหน้า’ ในเรื่องนี้ไม่ใช่เงาของใครอื่น แต่เป็นเงาสะท้อนของตัวเอง เรื่องสั้นเรื่องนี้สะท้อนยุคสมัยที่หนุ่มสาวอยู่กับความสับสน ด้วยความคาดหวังจากทุกคนในชีวิต ว่าพวกเขาต้องประสบความสำเร็จในด้านใดด้านหนึ่งให้ได้ ความคาดหวังเป็นแรงกดดันมหาศาล นำพาคนรุ่นใหม่ไปในทิศทางแห่งความสำเร็จ โดยมิทันได้หยุดถาม ว่านั่นใช่ตัวตนที่แท้จริงของพวกเขาหรือไม่ สุดท้ายพวกเขาก็กลายเป็นคนแปลกหน้าของตัวเอง

         แรงกดดันที่มีต่อคนรุ่นใหม่ยังปรากฏในเรื่อง “แบบทดสอบ” ซึ่งเป็นเรื่องสั้นเสียดสีระบบการศึกษาของไทย ตลอดทั้งเรื่องว่าด้วยข้อสอบต่าง ๆ ซึ่งเด็กคนหนึ่งต้องทำเพื่อการสอบเข้าเรียน ทั้งหมดเป็นโจทย์อันขรึมขลัง ต้องไตร่ตรองแล้วไตร่ตรองอีกเพื่อหาคำตอบ โดยไม่มีใครแน่ใจว่า ที่จริงแล้วมีคำตอบที่แน่แท้อยู่หรือไม่

          การหักมุมในตอนท้ายว่าการทดสอบครั้งนี้ ไม่ได้จัดขึ้นสำหรับการศึกษาระดับมัธยมหรืออุดมศึกษา แต่เป็นเพียงข้อสอบเข้าเรียนอนุบาลเท่านั้น ยิ่งตอกย้ำถึงแรงกดดันที่สังคมมีต่อเด็ก ซึ่งผลลัพธ์ก็เป็นอย่างที่เรารู้กัน คือเด็กไทยซึ่งมีชั่วโมงเรียนมากกว่าเด็กส่วนใหญ่ในโลก กลับมีผลการเรียนที่ตกต่ำกว่าเด็กในหลายประเทศ แรงกดดันที่มอบให้เด็กส่งผลตรงกันข้าม แต่ถึงอย่างนั้น การศึกษาไทยก็ยังคงไม่เปลี่ยน

          จากวัยเด็กสู่วัยหนุ่มสาว ตัวตนของคนรุ่นนี้คือองค์ประกอบของความสับสน ในเรื่อง “คนคู่” อนิมมาล เล็กสวัสดิ์ เล่าเรื่องที่สุดแสนธรรมดาของคนยุคนี้ ชายหนุ่มหญิงสาวพบกันบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ก่อนที่บางข้อความซึ่งส่งหากันจะสร้างความรู้สึกดี ๆ ต่อกัน จนนำไปสู่การนัดพบ ซึ่งจะว่าไปแล้ว มันก็คือการเข้าสู่การทำ ‘แบบทดสอบ’ ของแต่ละฝ่ายนั่นเอง

          ในเรื่องนี้ อนิมมาล เล็กสวัสดิ์ เล่นกับ ‘เชิงอรรถ’ ซึ่งสะท้อนความรู้สึกที่แท้จริงของแต่ละฝ่าย ในขณะที่สิ่งที่แสดงออกกลับตรงกันข้าม ทั้งคู่ต่างปรุงแต่งตัวเองมาอย่างเต็มที่ ยอมลงทุนเพื่อการนัดพบครั้งนี้ ทว่าในสายตาของอีกฝ่ายมันก็ยังห่วยแตกอยู่ดีนั่นเอง

           ผลสุดท้ายก็เป็นไปตามคำพังเพย ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’ แม้จากกันด้วยดี แต่ทัศนะที่แต่ละฝ่ายมีต่อกัน (ในเชิงอรรถ) ก็เป็นเสมือนกระจกเงาที่สะท้อนภาพของเขาและเธอ พร้อมกันนั้นก็สะท้อนตัวตนของคน ๆ นั้นไปด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะต่างฝ่ายต่างก็คาดหวังในกัน โดยมิได้เปิดใจและไม่เตรียมใจที่จะมารับรู้ถึงตัวตนที่แท้จริงของอีกฝ่าย

           ความเป็นจริงและภาพที่สร้างขึ้น คือตัวตนที่ซ้อนทับสับสนของคนยุคสังคมออนไลน์ มันสร้างความจริงหลายแบบให้แก่คน ๆ หนึ่ง ไม่มีใครรู้ว่าตัวตนไหนคือตัวตนที่แท้จริงของเขาเหล่านั้น หรือไม่แน่ ทั้งหมดอาจไม่ใช่ความเป็นจริงอย่างแท้จริงเลยก็เป็นได้

           ในเรื่อง “อันตรธาน” อนิมมาล เล็กสวัสดิ์ เล่าเรื่องในแบบแฟนตาซี เมื่อสื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นที่มาของโรคร้าย ซึ่งส่งผลให้ร่างกายของผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายคนเลือนหายไปครึ่งซีก ผู้คนต่างตื่นตระหนกกับโรคประหลาดนี้ แต่ถึงอย่างนั้น ทุกคนก็ยังคงไม่หยุดใช้โซเชียลมีเดีย

            การเลือนหายของเรือนร่าง เป็นภาพเปรียบถึงการหายไปของตัวตน หายจากโลกความเป็นจริงเข้าไปสู่โลกเสมือน หายไปจากความสัมพันธ์ที่จับต้องได้ ไปสู่ความสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ เรารู้จักผู้คนมากมายในโลกเสมือน แต่ผู้คนในชีวิตจริงกลับมองเห็นเพียงลางเลือน ราวกับคนเหล่านั้นเป็นใครอื่นที่เราไม่เคยรู้จัก ทั้ง ๆ ที่พวกเขาอาจเป็นคนในครอบครัวของเราเอง ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นภาวะที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก จนถ้าจะบอกว่านี่เป็น ‘โรคร่วมสมัย’ ชนิดหนึ่งก็คงไม่ผิดแต่อย่างใด

            ในมุมมองของคนรุ่นใหม่อย่าง อนิมมาล เล็กสวัสดิ์ นี่คือความเป็นไปแห่งยุคสมัย ยุคที่แสนสับสนวุ่นวาย จริงลวงซ้อนทับกันจนแยกไม่ออก หรือบางทีนี่อาจเป็นยุคที่เราไม่อาจหาความจริงแท้ได้อีกต่อไปก็เป็นได้     

 

จริงหรือไม่ ใช่หรือหลอก

            คำถามหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยกว่าอะไรคือความจริงก็คือ เราต้องการความจริงจริง ๆ หรือเปล่าในภาพยนตร์อย่าง The Matrix ตัวละครมีโอกาสเลือกกินยาซึ่งให้ผลลัพธ์ตรงข้ามกัน ยาสีหนึ่งทำให้เห็นความจริงอันเลวร้าย ส่วนอีกสีหนึ่งทำให้ยังคงอยู่กับโลกปลอม ๆ ซึ่งจักรกลสร้างขึ้นมาต่อไป สิ่งที่เราได้เห็นคือ ไม่ใช่ทุกคนที่จะเลือกมองเห็นความจริง หลายคนเลือกอยู่กับภาพมายาอันสวยงาม แทนที่จะต้องมารับรู้ถึงความเป็นจริงอันน่าหดหู่

          ในเรื่อง “ไอความทรงจำ” ก็สะท้อนแนวคิดเดียวกันนี้ เพียงแต่ที่ต่างกันก็คือ ตัวละครไม่มีโอกาสเลือกเอง สิ่งที่ชายชราวัยบั้นปลายชีวิตได้รับคือไอควันที่จะสร้างความทรงจำเทียมขึ้นมา อดีตอันน่าจดจำไม่เคยเกิดขึ้นจริง ทว่ามันกลับสร้างความสุขให้แก่เขาอย่างมาก จากพ่อผู้ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากลูก กลายเป็นพ่อซึ่งเคยมีช่วงเวลาดี ๆ กับลูกชาย เทคโนโลยีในเรื่องนี้ทำให้เราอดถามไม่ได้ ว่านี่คือสิ่งที่มนุษย์ปรารถนาใช่ไหม ‘ความสุข’ ไม่ว่าจะด้วยวิธีหลอกตัวเองก็ตาม

            “หุ่นบำบัด” เป็นอีกเรื่องที่ อนิมมาล เล็กสวัสดิ์ เล่นล้อกับเรื่องของความจริงความลวงที่ซ้อนทับกันไปมาแบบหักมุมแล้วหักมุมอีก ผ่านเรื่องราวของธุรกิจซึ่งให้คนเข้ารับการบำบัดความรู้สึกผิดของตัวเอง โดยสร้างสถานการณ์จำลองขึ้นมา ผู้ใช้บริการจะทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นความผิดบาปในชีวิต เช่น ขับรถโดยประมาทจนชนคนตาย หน้ามืดข่มขืนหญิงสาว หรืออื่น ๆ ตามแต่ความต้องการ โดยผู้ที่ถูกรถชน หญิงสาวที่โดนกระทำชำเรา ฯลฯ เป็นหุ่นที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้ใช้บริการไม่ต้องมีความผิดจากการกระทำของตน แต่มีโอกาสได้สำนึกผิด และหลีกเลี่ยงไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในชีวิตจริง

            ผู้ใช้บริการกลับบ้านด้วยจิตใจปลอดโปร่ง โดยเชื่อว่าผู้ที่ถูกเขากระทำนั้นเป็นเพียงหุ่น แต่สำหรับใครก็ตามที่อ่านไปจนถึงตอนจบ กลับได้รู้ความจริงอีกอย่าง นั่นก็คือไม่เคยมีหุ่นบำบัด สิ่งที่ผู้ใช้บริการคิดว่าเป็นหุ่นที่แท้ก็คือคนจริง ๆ นี่เอง การเป็นหุ่นบำบัดคืออาชีพของพวกเขา แม้ไม่สนุกนักที่เป็นผู้ถูกกระทำ แต่พวกเขาก็ไม่มีทางเลือกในชีวิตมากนัก

            นี่คือการเล่นล้อกับเรื่องของความจริงความลวง ของจริงของปลอม ได้อย่างแสบสันต์ พร้อมกันนั้นก็สะท้อนภาพสังคมที่ผู้คนต้องดิ้นรนทำมาหากิน ต้องยอมสละความเป็นคนของตัวเอง กลายเป็นเพียงหุ่นที่ไร้ชีวิตจิตใจในการรับรู้ของผู้อื่น

            หากมองโดยภาพรวม เราจะเห็นได้ว่า อนิมมาล เล็กสวัสดิ์ เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยสายตาของนักเสียดสี ไม่มีสถานการณ์ตึงเครียดถึงเป็นถึงตาย ตัวละครไม่ได้ผ่านวิกฤตขั้นอุกฉกรรจ์ ทุกเรื่องราวนำไปสู่ความรู้สึกเย้ยหยันต่อสิ่งที่ตัวละครกระทำ ทั้งหมดคือภาพของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเต็มไปด้วยความผิดเพี้ยน บิดเบี้ยวจากความเป็นจริงจนน่าขัน

            นอกจากธุรกิจที่ให้คนมาบำบัดด้านมืดของตัวเองแล้ว ในเรื่อง “ยอดนักลงทุน” อนิมมาล เล็กสวัสดิ์ ยังกระแทกธุรกิจที่อิงอยู่กับความเชื่อ บาปบุญ นรกสวรรค์ ซึ่งไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่ามีจริงหรือไม่ แต่ตัวละครในเรื่องนี้กลับนำมาหาประโยชน์ให้กับตัวเอง ทั้งการจัดนำเที่ยวนรก จัดคอร์สภาวนาอันแสนสุขสบาย จนถึงกรมธรรม์ประกันสวรรค์ 

            แน่ล่ะ สิ่งที่ปรากฏในเรื่องดูเกินจริงอย่างเห็นได้ชัด ทว่าทั้งหมดล้วนอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ทุกวันนี้ไม่ว่าเดินเข้าวัดไหน ๆ ก็มีแต่เรื่องของการทำบุญ สะสมบุญในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งนั้น หลายวัดกลายเป็นที่รวมของเจ้าพ่อเจ้าแม่ พิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ พิธีกรรมต่าง ๆ นานาที่จะเรียกเงินจากกระเป๋าญาติโยม

            วัดกลายเป็นที่ทำมาหากินของคนจำนวนไม่น้อย แถมยังเป็นธุรกิจชั้นเยี่ยม เพราะเงินทำบุญไม่ต้องเสียภาษี ทุกบาททุกสตางค์เข้าสู่บัญชีของวัดและบัญชีของผู้ที่เกี่ยวข้อง

            น่าสนใจว่า แม้เราจะเข้าสู่ยุคที่วิทยาศาสตร์เจริญถึงที่สุดแล้ว ความเชื่อที่ไร้เหตุผลก็ยังคงมีพลังเหนือความมีเหตุผล ธุรกิจหลอกลวง ขายสวรรค์จอมปลอม จึงยังคงเจริญรุ่งเรือง อย่างขัดแย้งกับความเจริญทางวิทยาศาสตร์แบบสุดขั้ว

            ทั้งหมดนำไปสู่คำถามเกี่ยวกับความจริงและความลวง ถ้าเลือกได้จริง คุณจะเลือกแบบไหน? ความจริงหรือความลวง? ความสุขจอมปลอมหรือความทุกข์ที่แท้จริง?อนิมมาล เล็กสวัสดิ์ไม่ได้ให้คำตอบ เธอเพียงแต่กระตุ้นเราด้วยคำถามอันยากที่จะตัดสินใจนี้

                           

ตัวละครผู้ไร้นาม

            น่าสังเกตว่า เรื่องสั้นทั้ง 8 เรื่อง เป็นที่รวมของตัวละครจำนวนไม่น้อย ทว่ากลับไม่มีตัวละครใดเลยที่มีชื่อ มีเพียง เด็กสาว, เด็กหนุ่ม, หญิงสาว, ชายหนุ่ม, ชายวัยกลางคน, หญิงวัยกลางคน, ชายชรา ฯลฯ รวมถึง คุณ ในเรื่อง “แบบทดสอบ”

            ทั้งหมดคือตัวละครที่ไม่มีใบหน้าอันชัดเจน ไม่ระบุตายตัวว่าเป็นใคร เขาและเธออาจเป็นใครก็ได้ทั้งนั้น ผู้คนที่คุณรู้จัก ผู้คนที่เดินผ่านคุณไป ผู้คนที่คุณพบเห็นตามสื่อต่าง ๆ ผู้คนที่ไม่เคยอยู่ในการรับรู้ของคุณ รวมถึงตัวคุณเอง

            การสร้างตัวละครเช่นนี้สื่อให้เห็นว่า เรื่องราวทั้งหมดอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง อาจดูเป็นเหตุการณ์ที่จำเพาะเจาะจง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้โดยทั่วไปไปพร้อมกันด้วย

            อย่างเช่นในเรื่อง “ฝาผนัง” ที่เล่าถึงเด็กสาวสองคน นั่งพิงผนังคนละด้าน คนหนึ่งอยู่บนเตียงนุ่ม อีกคนอยู่บนเสื่อผืนบาง แค่เพียงฝาผนังกั้นทว่าสองคนกลับเหมือนอยู่กันคนละโลก คนแรกเป็นลูกสาวเจ้าของบ้านที่กำลังแช็ตคุยกับเพื่อน บ่นนั่นบ่นนี่ รวมถึงบ่นถึงเด็กคนใช้ต่างด้าวที่พูดจาไม่รู้เรื่องทำอะไรก็ไม่ได้เรื่องไม่เสียทั้งนั้น ขณะที่อีกคนกำลังนั่งจมอยู่กับความทุกข์ความป่วยไข้ของตัวเองเธอคือเด็กคนใช้ผู้ถูกมองว่าโง่เง่านั่นเอง

            “ฝาผนัง” เป็นเรื่องที่เนื้อหาดูจริงจังที่สุดในเล่ม ทว่า อนิมมาล เล็กสวัสดิ์ ก็ยังคงรักษาระดับอารมณ์ของเรื่องให้เป็นในทางเสียดสียั่วล้อ ด้วยรูปแบบการเขียนที่จัดวางแบบบทสนทนาในสื่อออนไลน์   

             ในบทสนทนา เห็นได้ชัดว่าเด็กสาวคนแรกเข้าใจความลำบากของเพื่อนผู้ต้องไปทำงานในต่างแดนเป็นอย่างดี ความเข้าใจและเห็นใจส่งข้ามโลกผ่านสื่อสมัยใหม่อย่างไร้พรหมแดน ทว่ากับเด็กสาวอีกคนที่อยู่ห่างกันเพียงฝาผนัง กำแพงแห่งความเข้าใจกลับเหมือนปิดทึบ ความรู้สึกที่เธอมีต่อเด็กสาวต่างด้าวมีแต่ความเกลียดชัง ทั้ง ๆ ที่ชะตากรรมของเด็กสาวผู้นั้นได้รับ ก็ไม่ต่างจากเพื่อนของเธอเลยสักนิด

          ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หรือความเข้าใจไม่ได้เป็นเรื่องของสมอง แต่เป็นเรื่องของหัวใจซึ่งพร้อมเปิดรับความทุกข์ยากของผู้อื่น?

            เด็กสาวในเรื่องนี้อาจเป็นใครก็ได้ทั้งนั้น แทนที่ด้วยใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก คนหนุ่ม คนสาว คนวัยกลางคน คนแก่ ฯลฯ ทั้งหมดล้วนตกอยู่ในภาวะเดียวกันทั้งสิ้น นั่นก็คือ ภาวะแห่งยุคสมัยที่ขาดไร้ซึ่งความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

            ตัวละครผู้ไร้นามขยายให้ขอบเขตเรื่องราวกว้างออกไป ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนทุกคน สังคมทั้งสังคม  

 

โลกเปลี่ยนไป หรือไม่มีอะไรเปลี่ยน     

แน่นอนที่สุด เรื่องสั้นทั้งหมดใน “เงาแปลกหน้า” ล้วนเป็นภาพสะท้อนของสังคมปัจจุบัน แต่หากจะพิจารณากันจริง ๆ ก็อดคิดไม่ได้ว่า สภาวะที่เกิดขึ้นกับผู้คนในทุกวันนี้ เป็นผลพวงแห่งยุคสมัยจริง ๆ หรือไม่? หรือที่แท้แล้ว ไม่ว่ายุคใดสมัยใดมนุษย์ก็เป็นอย่างนี้มาตลอด?

              ความสับสนกับตัวตนที่แท้จริง การใส่หน้ากากเข้าหากัน การหลอกตัวเองและหลอกผู้อื่น คือสิ่งอยู่คู่กับมนุษย์มาโดยทุกยุค แต่สิ่งที่ต่างออกไปก็คือ เทคโนโลยีและวิทยาการต่าง ๆ ได้เพิ่มให้เรายิ่งสับสนกันมากขึ้น จากใส่เพียงหน้ากากเปลี่ยนเป็นการแปลงร่าง ทุกวันนี้เราหลอกใครต่อใครโดยเราเองก็เชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าทั้งหมดคือความจริง ไม่มีเศษเปอร์เซ็นต์ที่คลางแคลงสงสัยเหมือนในอดีต

           มนุษย์ไม่ใช่สัตว์โลกผู้ใสซื่อ เราเสแสร้งและจอมปลอมมาแต่ไหนแต่ไร แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้เราไปไกลกว่าคนทุกยุค เทคโนโลยีได้สนองกิเลสของเราให้ไปจนถึงที่สุด นี่คือผลพวงของการมาบรรจบกันระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยี

            คำถามที่รวมเรื่องสั้น “เงาแปลกหน้า” ให้แก่เราก็คือ เราจะอยู่กันแบบนี้ต่อไป หรือประจักษ์แจ้งเสียทีว่า เทคโนโลยีได้สร้างผลใด ๆ ให้แก่ชีวิตเราบ้าง

            เราจะคืนความจริงให้กับตัวเอง หรือหลงอยู่กับมายากันต่อไป? ไม่แปลกถ้าคนส่วนใหญ่จะเลือกอย่างหลัง ขอแค่ให้รู้ตัวเท่านั้น ว่าทั้งหมดที่เราใช้ชีวิตอยู่กันนี้เป็นเพียงโลกปลอม ๆ

 

จรูญพร ปรปักษ์ประลัย

พิมพ์ครั้งแรก นิตยสารสีสัน ปีที่ 29 ฉบับที่ 2 : 2560

 

 

เงาแปลกหน้า

เขียน : อนิมมาล เล็กสวัสดิ์

สำนักพิมพ์ Artyhouse ราคา 199 บาท,180 หน้า

 

 

 


 

 

ประวัติศาสตร์ที่ไม่มีอยู่จริง ?

 

 

                         เราเคยเชื่อกันมายาวนานว่า ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของอดีต จนเมื่อไม่นานมานี้ หลายคนจึงเปลี่ยนความเชื่อ ว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของอดีตเท่านั้น ประวัติศาสตร์ยังเป็นเรื่องของปัจจุบันและอนาคตด้วย

 

                        เรายังเคยเชื่อกันอีกว่า ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้าใครขืนแตะต้องเปลี่ยนแปลงก็จะได้ชื่อว่า ‘บิดเบือนประวัติศาสตร์’ จนเมื่อไม่นานมานี้อีกเช่นกัน หลายคนจึงเปลี่ยนความเชื่อ ว่าประวัติศาสตร์ไม่ใช่สิ่งที่มี ‘ความจริงเดียว’ และ ‘ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้’ แต่อย่างใด

 

                        เมื่อเปลี่ยนมุมมอง เราก็เห็นความจริงอีกด้านของประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจจะต่างจากของเดิมชนิดตรงกันข้าม

 

                        เมื่อมีข้อมูลใหม่ ๆ เข้ามา สิ่งที่เราเคยรู้มาอาจถูกลบล้าง และแทนที่ด้วยข้อมูลใหม่ หรือข้อมูลทั้งสองด้านอาจถูกวางไว้คู่กัน เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่สนใจ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น ๆ

 

                       ไม่เพียงแต่นักประวัติศาสตร์เท่านั้น คนวรรณกรรมก็ให้ความสนใจกับประวัติศาสตร์ไม่น้อย เพราะในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งทางการเมือง ตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมา มีงานเขียนเป็นจำนวนมากที่นำประวัติศาสตร์มาเป็น ‘โจทย์’ เพื่อสะท้อนความเป็นจริงในปัจจุบัน หลายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ถูกตั้งคำถามว่า ที่แท้ความจริงเป็นอย่างไร? ขณะเดียวกันเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นาน ก็ถูกมองพร้อมคำถามเดียวกันนี้  

 

                      นักเขียนหลายคนผนวกประวัติศาสตร์ เข้ากับเรื่องราวในชีวิตของตัวละคร มองเผิน ๆ ดูไม่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เสียทีเดียว แต่เมื่อมองเข้าไปที่รายละเอียด ทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

                     เมื่อเราหยิบ “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า” ขึ้นมาอ่าน หลายคนคงเกิดคำถามเช่นเดียวกันว่า เรื่องสั้นชุดนี้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ตรงไหน เพราะทั้งชุดมีเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่ดูเหมือนจะอิงประวัติศาสตร์แบบจะ ๆ จัง ๆ หน่อย นอกนั้นก็เป็นเรื่องชีวิตผู้คนที่พบเจอเหตุการณ์อันคาดไม่ถึงต่าง ๆ นานา ทั้งหมดสร้างความฉงนฉงาย และนำไปสู่ข้อสงสัยที่ว่า สิ่งที่พวกเขาได้พบเจอนั้น ถึงที่สุดแล้วอะไรคือความจริงกันแน่? แทบทุกเรื่องไม่มีคำตอบที่แน่ชัด จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ มักทิ้งท้ายไว้ด้วยปริศนาที่ไร้คำตอบ จนอดคิดไม่ได้ว่า หรือที่แท้แล้วจริงหรือไม่จริง เป็นเพียงแค่ความเชื่อเท่านั้น? เราเชื่ออย่างไร ความจริงที่เราเห็นก็เป็นเช่นนั้น?

 

                     ถึงแม้เรื่องสั้นส่วนใหญ่ใน “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า” จะไม่ได้นำเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์มาเป็นพื้นโดยตรง แต่เรื่องราวทั้งหมดก็ชี้ชวนให้เราตั้งคำถามต่อความจริงต่าง ๆ ที่ได้พบเจอในแต่ละวัน ซึ่งนี่คือสิ่งที่จะถูกเก็บฝังไว้ในความทรงจำของแต่ละคน ไม่ว่าจะในฐานะประวัติศาสตร์ส่วนตัว หรือประวัติศาสตร์ของชาติก็ตาม   

 

 

 

                     ประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้น

 

                    แน่นอนที่สุด ในระดับหนึ่งประวัติศาสตร์เป็น ‘เรื่องเล่า’ ความจริงที่ปรากฏจึงขึ้นอยู่กับว่า ใครเป็นผู้เล่า และเล่าด้วยวัตถุประสงค์ใด จึงไม่แปลกที่เมื่อเปลี่ยนผู้เล่า เราจึงเห็นความจริงในอีกแง่มุมหนึ่ง

 

                   ในเรื่อง “น้ำตาที่ต่าง” ประเด็นนี้ชัดเจนอย่างยิ่ง จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ เปิดเรื่องที่นักแสดงหนุ่มผู้ไม่เคยประสบความสำเร็จในอาชีพที่ใฝ่ฝัน จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้รับการติดต่อให้แสดงบทที่สำคัญที่สุดในชีวิต นั่นก็คือ การสวมบทบาทท่านผู้นำ แทนท่านผู้นำตัวจริงที่ล่วงลับไปแล้ว นี่เป็นการแสดงชั้นยอดที่ทุกสถาบันด้านศิลปะการแสดงควรมอบรางวัลสูงสุดให้ ทว่าเขากลับไม่เคยได้รับรางวัลใด ๆ ไม่แม้กระทั่งจะบอกให้ใครสักคนได้รู้ ว่านี่คือเขา หาใช่ท่านผู้นำคนนั้นไม่ เขาต้องปิดเรื่องนี้เป็นความลับสูงสุด ตราบจนกว่าชีวิตจะหาไม่

 

                  เรื่องราวจบลงในวันที่เขาปรากฏตัวท่ามกลางฝูงชนที่มาเฝ้ารอ วันนั้นเขาได้พบคน ๆ หนึ่งซึ่งเขาไม่คาดคิดว่าจะได้พบ หญิงคนรักของเขาซึ่งแยกจากกันมายาวนาน อยู่ในหมู่ประชาชนซึ่งมองมาที่เขาอย่างชื่นชม พวกเขาพากันปลาบปลื้มจนน้ำตาไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว หญิงคนรักของเขาก็เช่นกัน

 

                  ในมุมมองของเขา เขารู้ว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงฉากการแสดงเท่านั้น แต่ในมุมมองของผู้คนที่จ้องมองมายังเขา รวมทั้งคนรักของเขาด้วย ทั้งหมดคือความจริงอันแน่แท้  

 

                  จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ เล่นกับความจริงในลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้ง ในเรื่อง “เจลาตินรุ่มรัก” เขาเล่าถึงประสบการณ์ ‘รักชั่วคืน’ ของชายหนุ่มนักเที่ยวกับหญิงสาวซึ่งเขาเพิ่งได้พบเป็นครั้งแรกในผับแห่งหนึ่ง ทั้งคู่พากันมาที่บ้านของฝ่ายหญิงซึ่งเป็นโรงงานกระดุม ทุกอย่างเป็นประตามวิถีแห่งกาม จนกระทั่งชายอีกคนปรากฏตัวขึ้น เธอบอกว่าชายผู้นั้นเป็นพ่อของเธอ ทว่าพฤติกามอันเร้าร้อนที่เขาแอบเห็น กลับค้านกับสิ่งที่เธอบอก มันเล่นเอาเขาเหวอ แค่นั้นยังไม่พอ เขายังเจอซากสัตว์เลี้ยงหลายชนิดถูกชำแหละเก็บไว้ในตู้เย็น มีทั้งสุนัข แมว และนกแก้วมาคอว์ เจอแบบนี้เข้า เขาก็ทนอยู่ต่อไม่ไหว เขาหาทางไปในพ้นจากโรงงานแห่งนั้น แต่กลับได้เจอกับสัตว์เลี้ยงอีกชนิดหนึ่ง นั่นก็คือตัวเงินตัวทอง เขาโดนมันเล่นงาน จนต้องหนีเอาตัวรอดแบบทุลักทุเล     

 

                 สิ่งที่เขาได้เจอ กับสิ่งที่หญิงสาวบอก เป็นคนละเรื่องเดียวกัน สิ่งที่เธอบอกล้วนดีงาม แต่สิ่งที่เขาได้เจอกลับตรงกันข้าม มันช่าง ‘ตัวเงินตัวทอง’ อย่างที่สุด จนเขามั่นใจว่า เขาจะไม่มีวันกลับไปหาเธอ และไม่มีวันเหยียบเข้าไปในโรงงานกระดุมแห่งนั้นอีกอย่างแน่นอน

 

                ฉากโรงงานกระดุมถูกใส่เข้ามาอย่างเก๋ไก๋ แต่ที่มากกว่าความเก๋ มันยังสื่อถึงสิ่งที่ จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ ต้องการจะบอก ‘กระดุม’ เป็นส่วนประกอบของเสื้อผ้าซึ่งใช้ปกปิดร่างกายคนเรา ไม่มีใครมองเห็นเรือนร่างนั้น จนกว่ากระดุมจะถูกปลด เปิดให้เห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใน

 

                เห็นได้ชัดว่าเรื่องของตัวตนที่แท้จริงถูกตั้งคำถามไว้ตั้งแต่ต้น เมื่อชายหนุ่มได้เจอกับสาวสวย เขาอดนึกสงสัยไม่ได้ว่า เธอเป็นคนวัยไหนกันแน่

 

               “...คุณไม่แน่ใจว่าเธออายุอ่อนกว่า มากกว่า หรือเท่ากันกับคุณ บางมุมเธอก็ดูเหมือนเด็กสาวเพิ่งเคยเข้าผับ ขณะที่บางมุมก็คล้ายเวิร์กกิ้งวูแมนวัยสามสิบกว่า...” (หน้า 35)

 

              ไม่แปลกหรอก ที่สาวสวยในเรื่องนี้จะแสดงไปตามบทที่ซึ่งเธอเขียนขึ้นเองอย่างช่ำชอง ในเมื่อใคร ๆ ต่างก็เป็นเช่นนั้น เราล้วนแสดงไปตามบทบาทต่าง ๆ ตามแต่สถานการณ์ กับคนหนึ่งเราเป็นแบบหนึ่ง กับอีกคนเราก็เป็นอีกแบบ ดังนั้นจึงไม่แปลกอีกเช่นกัน ที่เราต่างอยู่บนโลกอันเต็มไปด้วยความสับสน ว่าอะไรคือความจริงกันแน่ และสุดท้ายเราก็ยังคงไม่ได้รับคำตอบ 

 

               “ภาพถ่ายละออตา” เป็นอีกเรื่องที่ จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ ตอกย้ำประเด็นนี้ ด้วยเรื่องราวของชายหนุ่มผู้ตามหาหญิงสาวซึ่งเขาได้พบที่เนปาล หญิงสาวไปที่นั้นเป็นครั้งที่สอง หลังจากได้เห็นภาพถ่ายตัวเองซึ่งมีผู้ส่งให้ เธอจึงกลับไปที่นั่นอีกครั้ง เพื่อหาที่มาของภาพนี้ แต่ก็เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ สุดท้ายปริศนายังคงเป็นปริศนา ไม่มีคำตอบว่าใครเป็นคนถ่ายภาพ ทว่าการไปเนปาลครั้งนี้ก็ใช่จะเสียเปล่า เพราะมันทำให้เขาได้พบกับเธอ ก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์ครั้งใหม่ ก่อนที่ความสัมพันธ์นี้จะสลายไปอีกครั้ง

 

               แม้โครงเรื่องหลักจะเรียบง่าย แต่ในเรื่องเต็มไปด้วยความซับซ้อนของเรื่องเล่า เพราะนอกจากหญิงสาวจะไม่ได้รับคำตอบที่ตามหาแล้ว ชายหนุ่มก็ไม่ได้รับคำตอบเช่นกัน การพยายามติดต่อหญิงสาวอีกครั้งผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต พบแต่ความล้มเหลว จนทำให้ชายหนุ่มมึนงงสงสัย ว่าหญิงสาวที่เขาได้พบมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่

 

             ในเรื่องนี้ จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ ยังเล่นกับประเด็น ‘ข้างหลังภาพ’  โดยแสดงให้เห็นว่า ในภาพทุกภาพ นอกเหนือจากสิ่งที่ปรากฏบนภาพแล้ว ยังมีสิ่งที่อยู่ข้างหลังภาพนั้นเสมอ นั่นก็คือความทรงจำที่ผู้คนมีต่อผู้คน สิ่งของ สถานที่ และเหตุการณ์ต่าง ๆ คุณค่าของภาพไม่ได้ตายตัวอยู่ที่เดิม หากแต่ผันแปรไปตามความทรงจำที่มีต่อภาพนั้น

 

             ชายหนุ่มเล่าถึงภาพถ่ายสมัยที่เขาเป็นเด็ก ภาพครอบครัวของเขากับเจ้าอาวาสซึ่งทุกคนเลื่อมใสศรัทธา ก่อนที่ในเวลาต่อมา พฤติกรรมฉาวของเจ้าอาวาสจะค่อย ๆ ปรากฏ มีสาว ๆ หลายคนมาพัวพันกับเจ้าอาวาส และหนึ่งในนั้นก็คือน้าสาวของเขาเอง ข่าวน้าสาวท้องเพราะหลับนอนกับเจ้าอาวาส ได้ทลายความทรงจำเก่า ๆ ลงจนหมดสิ้น ภาพถ่ายเจ้าอาวาสที่เคยแขวนติดผนังบ้านถูกปลดออกจนหมด เช่นเดียวกับความศรัทธาที่สูญสิ้นไม่มีเหลือ

 

            ไม่ต่างจากนักแสดงผู้สวมบทบาทท่านผู้นำ และหญิงสาวผู้ห่มห่อด้วยรูปลักษณ์อันน่าหลงใหล เจ้าอาวาสในเรื่องนี้ก็ทำสิ่งเดียวกัน ห่มคลุมด้วยจีวรอันสำรวม และเอ่ยเอื้อนหลักธรรมด้วยน้ำเสียงอันน่าฟัง โดยรู้ตัวดีอยู่ตลอดเวลา ว่าตัวเองไม่อาจรักษาศีลได้ครบถ้วนอย่างที่พยายามแสดงให้ทุกคนได้เห็น

 

             ความเลื่อมใสศรัทธาที่ครอบครัวชายหนุ่มมีต่อเจ้าอาวาส ได้รับการนิยามว่าเป็น “...ประวัติศาสตร์ประจำครอบครัว...” (หน้า 99) มันชี้ให้เห็นว่า ภายในประวัติศาสตร์ที่เป็นแกนหลัก ยังมีประวัติศาสตร์ย่อย ๆ อีกมากมาย หรืออาจจะบอกว่า แต่ละคนล้วนมีประวัติศาสตร์ของตัวเอง ก็คงไม่ผิดแต่อย่างใด

 

              ประวัติศาสตร์ย่อย ๆ เหมือนตัวต่อเล็ก ๆ ที่ประกอบกันกลายเป็นภาพใหญ่ของยุคสมัย ทำให้เราได้เห็นว่า ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ มีเหตุการณ์ใดอุบัติขึ้นบ้าง แต่ละคนจดจำเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างไร และมันสร้างผลกระทบเช่นไร

 

              อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ แม้ทุกเรื่องจะมีการปะทะระหว่างความจริงหลายแบบ แต่ในทุกเรื่องจะมีอย่างน้อยหนึ่งคนเสมอ ที่รู้ว่าความจริงที่แท้นั้นเป็นอย่างไร และแม้ ‘ความจริงลวง’ จะทอดเนิบอยู่เนิ่นนานแค่ไหน สุดท้าย ‘ความจริงแท้’ จะปรากฏตัวให้เราได้เห็นเสมอ       

 

ระหว่างความจริงกับความเชื่อ

 

            การปะทะระหว่างความจริงกับความเชื่อ เป็นสิ่งที่ปรากฏในเรื่องสั้นชุดนี้หลายเรื่อง และบ่อยครั้ง จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ เลือกให้ความเชื่อเป็นฝ่ายชนะ ไม่ว่าจะเป็น “คุโรซากิไม่ได้ตาฝาด” ที่หลังจากการตามหาลูกสาวซึ่งตายจากไปพร้อมกับผู้โดยสารเครื่องบินคนอื่น ๆ ในที่สุดพ่อแม่ผู้ชราก็ได้เห็นลูกสุดที่รักด้วยสายตาตัวเองอีกครั้ง หรือในเรื่อง “ประดิษฐกรรมของอากง” ที่หุ่นยนต์ซึ่งอากงสร้างขึ้นมาแทนตัวเอง ได้สร้างชีวิตใหม่ให้แก่อากงจริง ๆ ทำให้เขาจะได้ทำในสิ่งที่ปรารถนา นั่นก็คือ การดูแลภรรยาผู้มีปัญหาทางสมอง รวมถึง “อนุสรณ์สถานแห่งการเคลื่อนไหว” ที่บ้านของนักประพันธ์ดนตรีผู้ล่วงลับไปเพราะสึนามิ สามารถเคลื่อนที่ได้ราวกับเป็นสิ่งมีชีวิต เช่นเดียวกับเจ้าของบ้าน ผู้ต่อสู้กับความพิการ จนสามารถลุกขึ้นเดินได้อีกครั้ง และวันนั้นเองที่เป็นวันสุดท้ายของเขา

 

            การสอดใส่จินตนาการในลักษณะนี้ ทำให้เรื่องสั้นของ จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ เจือด้วยกลิ่นรสของเรื่องพาฝัน แต่ขณะเดียวกัน มันก็ทำให้เราได้เห็นอีกด้านของความจริง นั่นก็คือ เมื่อความเชื่อแข็งแรงมั่นคงมากพอ มันจะแปรสภาพเป็นความจริงในที่สุด ไม่ว่าความจริงที่แท้จะเป็นอย่างไรก็ตาม

 

            จินตนาการในเรื่องสั้นของ จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ ยังเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราได้เห็นความจริงได้ชัดเจนมากขึ้น อย่างในเรื่อง “เพดานอาดูร” ที่เล่าถึงคู่รักหนุ่มสาวผู้ใช้ชีวิตอยู่บนห้องชั้นบนสุดของคอนโดมิเนียม ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ จนกระทั่งวันหนึ่งภรรยาสาวได้ยินเสียงคนดังมาจากบนเพดาน มันสร้างความประหลาดใจให้แก่เธออย่างยิ่ง เพราะในเมื่อเหนือห้องของเธอไม่มีใครพักอาศัยอยู่ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีเสียงคนดังมาจากบนนั้น เธอพยายามบอกสามีถึงเสียงที่ได้ยิน แต่เขากลับไม่สนใจ เอาแต่ทำงานของตัวเอง ไม่ยอมละสายตาไปจากคอมพิวเตอร์ ในที่สุดเธอก็ทนต่อไหว หาทางขึ้นไปดูด้วยตาตัวเอง แล้วเธอก็ได้คำตอบที่ยิ่งสร้างความฉงน เพราะเหนือชั้นของเธอขึ้นไปกลับเป็นชั้นที่หนึ่งของอาคาร ต่อด้วยชั้นที่สอง สาม สี่ ไปเรื่อย ๆ จนถึงชั้นของเธออีกครั้ง แล้วจากชั้นนั้นขึ้นไปก็เป็นชั้นหนึ่งของอาคารอีก วนเวียนเหมือนเดิมรอบแล้วรอบแล้ว

 

            แน่นอนที่สุด นี่คือเรื่องสั้นที่เป็นแฟนตาซีเต็มขั้น แต่ขณะเดียวกันมันกลับเป็นภาพสะท้อนสังคมปัจจุบัน ที่ชีวิตผู้คนจำนวนมากวนเวียนอยู่ที่เดิม เช่นเดียวกับตัวละครในเรื่องนี้ ที่ไม่สามารถพาตัวเองหลุดพ้นไปจากสิ่งที่เป็นอยู่ 

 

            “...จะว่าไปแล้วฉันก็นับถือหัวใจเขาอยู่ไม่น้อย ลำพังการที่ต้องมานั่งเลื่อนนิวส์ฟีดทุกเช้าเพื่อพบข่าวสารพวกนี้ก็ชวนคลื่นเหียนจะแย่ แต่คนคัดสรรบทความและเรียบเรียงออกมาอย่างไม่ขาดสายนี่สิจะต้องอดทนกับความซ้ำซากปางตายโหดร้ายขนาดไหน...” (หน้า 58)

 

            งานอันน่าเบื่อทำลายชีวิตคู่ กระทั่งการมีเซ็กส์ก็เป็นเรื่องเกินความสามารถ แม้อยู่ร่วมห้อง แต่เขาและเธอกลับไร้ปฏิสัมพันธ์ใด ๆ ในสายตาเธอ เขาก็ไม่ต่างจากข้าวของอีกชิ้นหนึ่งในห้องเท่านั้น

 

            นี่คือสภาพชีวิตอันเลวร้ายของผู้คนปัจจุบัน ซึ่งถูกการทำงานดูดกลืนพลังชีวิต จนไม่เหลือเวลาและพลังงานให้กับชีวิตด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์กับผู้คนอันเป็นที่รัก

 

            จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ เขียนเรื่องสั้นเรื่องนี้ได้ฉลาดเหลือเกิน โครงเรื่องไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร แต่กลับทำให้เราเห็นภาพผู้คนในสังคมปัจจุบันได้อย่างคมชัด เป็นความจริงที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ ว่าเราต่างก็อยู่ในร่างแหของยุคสมัย

 

กลับไม่ได้ ไปไม่พ้น     

 

             นอกเหนือจากเรื่องสั้นที่มีพล็อตแปลกใหม่แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่รวมเรื่องสั้นชุดนี้ทำได้อย่างดีเยี่ยมคือการจัดเรียงเรื่อง ให้ประเด็นที่นำเสนอต่อเนื่องกันไปตลอดทั้งเล่ม โดยประกบด้วยเรื่องสั้นเปิดเล่มและปิดเล่มซึ่งเป็นภาคต่อกัน อันได้แก่ “ชานชาลา” และ “พระเจ้าทัมใจ”

 

           “ชานชาลา” เป็นเรื่องของคู่รักที่ต้องแยกจากกัน เพราะฝ่ายหญิงตัดสินใจกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเดิมของตน โดยให้คำสัญญาว่า อีกสี่หรือห้าปีข้างหน้า ให้เขากลับมาพบเธอที่นี่อีกครั้ง

 

              “พระเจ้าทัมใจ” คือเหตุการณ์ห้าปีหลังจากนั้น ชายหนุ่มกลับไปที่ลานกว้างซึ่งเขาพาหญิงคนรักมาส่ง แต่เขากลับไม่พบอะไร นอกจากแผ่นหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเท่ากระดาษเอกสาร หลังจากใช้เวลาหลายวันสำรวจพื้นที่รอบ ๆ โดยไม่พบอะไรมากไปกว่านั้น เขาก็ขับรถย้อนกลับออกมา แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังมีความหวังสุดท้าย เขาขับรถไปยังวัดอันเป็นที่ตั้งของพระพุทธรูปซึ่งชาวบ้านตั้งชื่อว่า ‘พระเจ้าทัมใจ’ เพื่อกราบขอให้ความเศร้าสิ้นสลายไป ทว่าแทนที่จะได้เข้าไปไหว้พระ เขากลับต้องติดอยู่ท่ามกลางขบวนรถที่มุ่งไปยังวัดนั้น ติดคาอยู่ชนิดไปต่อไม่ได้ และวกกลับก็ไม่สำเร็จ

 

              ผู้คนจำนวนมหาศาลที่พากันเดินทางไปกราบไหว้  ‘พระเจ้าทัมใจ’ สะท้อนว่าผู้คนยุคนี้ล้วนมีความเศร้าเกาะกุมอยู่ในจิตใจ พวกเขาไม่อาจหวังพึ่งสิ่งใดได้ นอกจากพระพุทธรูปซึ่งมีพลานุภาพในการขจัดความเศร้า

 

              พร้อมกันนั้น การติดคาอยู่ในขบวนรถยังเป็นภาพสะท้อนภาวะ ‘กลับไม่ได้ ไปไม่พ้น’ ของสังคมไทย ภาวะเช่นนี้เองที่ทำให้เราไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องทนอยู่กับความเศร้ากันต่อไป ไม่ต่างจากคู่รักใน “เพดานอาดูร” ที่ถึงจะรู้ว่าชีวิตวนเวียนอยู่ในสายพานเดิม ๆ แต่กลับไม่อาจพาตัวเองให้พ้นไปจากสายพานได้

 

             เมื่อเรามองดูปีที่เรื่องสั้นแต่ละเรื่องได้รับการตีพิมพ์ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ถึง 2560 ตัวเลขทั้งหมดเป็นเครื่องยืนยันว่า เรื่องสั้นเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอย ๆ พวกมันอิงอยู่กับยุคสมัยในช่วงเวลาเมื่อไม่นานมานี้เอง

 

              มันคือประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ส่วนใหญ่วนเวียนอยู่กับเรื่องของการพลัดพรากสูญเสีย เหตุการณ์ที่กลืนไม่เข้าคลายไม่ออก และปริศนาอันเกี่ยวเนื่องผู้คนซึ่งสูญหายไปอย่างไร้คำอธิบาย

 

              จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ ไม่ได้เขียนถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์โดยตรง แต่เรื่องสั้นทั้งหมดสอดคล้องกับความเป็นไปของสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา แม้เรื่องสั้นชุดนี้จะเต็มไปด้วยลูกเล่นที่สนุกสนาน เนื้อเรื่องก็ไม่ได้ขยี้ความเศร้าให้เราต้องร้องไห้ออกมา แต่ทั้งหมดก็ครอบคลุมไว้ด้วยอารมณ์เศร้า

มันเป็นอารมณ์ของยุคสมัย อารมณ์แบบในเรื่องสั้นชุดนี้แหละ ถามว่าเศร้าจะเป็นจะตายไหม ก็ไม่ได้ถึงขนาดนั้น แต่ถามว่าอยู่ดีมีสุขหรือเปล่า ก็คงไม่ใช่แน่ ๆ

 

                                นี่คือประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า และมันคงจะเศร้าต่อไปอีกยาวนาน.

 

 

พิมพ์ครั้งแรก นิตยสารสีสัน ปีที่ 29 ฉบับที่ 3 : 2560

 

 

 

ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า

เขียน จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์

สำนักพิมพ์ แซลมอน ราคา 185 บาท,192 หน้า






 



อิสรภาพหมายเลขศูนย์  


             

            นาทีนี้ผมกำลังครุ่นคิดเกี่ยวกับชื่อเรื่อง

            ชื่อเรื่องที่ดีสะกดให้เรานิ่งงัน มันวนเวียนอยู่ในหัว สร้างปฏิกิริยาเคมีทางความคิด กระตุ้นต่อมอารมณ์ความรู้สึก เขย่าและขยับบางสิ่งบางอย่างในชีวิตเรา

 

            ถามว่า “เรากำลังกลายพันธุ์” เป็นชื่อที่ดีหรือไม่ ผมไม่อาจฟันธงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ รู้แต่ว่ามันได้กระทำบางอย่างกับผม ด้วยคำถามที่ผุดพล่านขึ้นมาในใจ

            ‘เรา’ คือใคร?

            เราเคยเป็นแบบไหน? และ เรากำลังกลายเป็นแบบไหน?

 

            เรามีพันธุ์ดั้งเดิมจริง ๆ หรือไม่? หรือที่แท้ เราวิวัฒนาการไปเรื่อย ๆ ปรับตัวไปตามสภาพความเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศและความสัมพันธ์กันในสังคม จนเมื่อมองย้อนกลับไป เราจึงไม่อาจมองเห็นจุดเริ่มต้นแห่งเผ่าพันธุ์ ซึ่งเป็นภาพอันกระจ่างชัดได้

            ฯลฯ

 

            แม้อาจไม่ได้คำตอบ แต่เพียงเปิดสวิตช์คำถาม ก็มีความหมายมหาศาลแล้ว

 

            “เรากำลังกลายพันธุ์” เป็นรวมเรื่องสั้นชุดแรกของ เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ นักเขียนผู้มีอีกครึ่งเป็นกวีนาม พลัง เพียงพิรุฬห์ ก่อนหน้านี้เขามีผลงานรวมบทกวีออกมาแล้ว 3 ชุด ได้แก่ อาศรมพระจันทร์ (2547), ปรากฏการณ์ (2550) และ โลกใบเล็ก (2556) ซึ่งติดโผเข้ารอบ 1 ใน 7 เล่มสุดท้ายรางวัลซีไรต์ในปีนั้น*

 

           ถ้านับจากเรื่องสั้นเรื่องแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ เขียนเรื่องสั้นมาร่วมสิบปีเต็มแล้ว “เรากำลังกลายพันธุ์” คือผลพวงของช่วงนั้นตลอดสิบปีนั้น เรื่องสั้นทั้งแปดเรื่องสะท้อนภาพสังคมไทยที่เปลี่ยนไป ผ่านสายตาคนรุ่นใหม่ผู้หลงใหลเสน่ห์แห่งอดีต

 

           ในส่วนนำของเล่ม ไพฑูรย์ ธัญญา เขียน “ว่าด้วยเรื่องสั้นและกาแฟ : บางถ้อยคำสำหรับ  “เรากำลังกลายพันธุ์” ของ เกริกศิษฏ์ พละมาตร์” อย่างให้ภาพที่ชัดเจนถึงสิ่งที่ปรากฏในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ โดยเปรียบเทียบเรื่องสั้นกับกลิ่นรสของกาแฟ

 

           “...แม้จะเป็นนักเขียนหนุ่ม แต่เกริกศิษฏ์ก็หาใช่คนชงกาแฟมือใหม่ หลายปีที่ผ่านมา เขาได้ฝึกฝนและสั่งสมทักษะในการเขียนเรื่องสั้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมแล้ว กาแฟของเกริกศิษฏ์ทุกแก้ว เป็นกาแฟที่เน้นเอารสชาติ มากกว่าเน้นกรรมวิธีในการชง เรื่องสั้นของเขาจึงเป็นเรื่องที่มุ่งอ่านเพื่อขบคิด มากกว่าต้องการโชว์ลีลาในการชง หรือทดลองหยิบยืมวิธีการใหม่ๆ มาใช้ ระหว่าง “วิธีการเล่าเรื่อง” กับ “เรื่องเล่า” ดูเหมือนเรื่องสั้นของเขาจะโดดเด่นใน “เรื่องที่เล่า” เสียมากกว่า...” (หน้า 17)

 

 

            เรื่องเล่าของ เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ ห่างไกลจากสิ่งที่เรียกว่าพิลึกพิลั่น มันไม่ได้พาเราจมดิ่งสู่หายนะสุดขั่ว เสียดสียั่วล้อ หรือจุดเปลวไฟในเราลุกขึ้นต่อสู้กับปีศาจในสังคม ขณะอ่านผมอดนึกถึง กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ไม่ได้ เรื่องสั้นทั้งหมดใน “เรากำลังกลายพันธุ์” บอกเล่าเรื่องราวในทำนองเดียวกับที่ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เคยเขียนไว้ นับตั้งแต่ “แผ่นดินอื่น” เป็นต้นมา เรื่องราวของการแปรเปลี่ยนของผู้คน การแผ่ขยายของศาสนาใหม่ที่มีเงินเป็นพระเจ้าเหนือพระเจ้าองค์ใด อดีตเป็นเพียงภาพเก่าโทรมไม่น่ามอง ขณะที่ปัจจุบันคือเพื่อนแปลกหน้าที่พร้อมจะทิ่มแทง และอนาคตคือขั้นกว่าของปัจจุบัน

 

            พร้อมกันนั้น ผมก็นึกถึงวรรณกรรมของนักเขียนร่วมรุ่นร่วมวัย ซึ่งต่างถ่ายทอดเรื่องราวในทิศทางเดียวกัน ไม่มีอีกแล้วที่ตัวละครจะลุกขึ้นมาท้าทายและเปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยอุดมการณ์และความหวังอันสูงส่ง เหมือนเช่นที่เราเคยได้อ่านในวรรณกรรมเพื่อชีวิต

 

ภาพเหล่านั้นหายไปจากวรรณกรรมไทยอย่างสิ้นเชิง เรามีแต่ตัวละครที่ยืนอยู่ท่ามกลางชะตากรรม อย่าว่าแต่สู้เพื่อสังคมอันดีงามเลย ลำพังแค่เอาตัวให้รอดยังเป็นเรื่องยากแล้ว หนึ่งในเรื่องเหล่านั้น “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” นวนิยายซีไรต์เรื่องล่าสุดของ วีรพร นิติประภา นับเป็นตัวแทนได้ดีทีเดียว เช่นเดียวกับ “หลงลบลืมสูญ” ของ วิภาส ศรีทอง “เนรเทศ” ของ ภู กระดาษ “คราส” ของ อติภพ ภัทรเดชไพศาล “กายวิภาคของความเศร้า” ของนิวัต พุทธประสาท ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลผลิตของคนรุ่นนี้ ที่มองปัญหาอย่างไม่เห็นทางออกด้วยกันทั้งสิ้น  

 

            เรื่องสั้นหนึ่งเดียวใน “เรากำลังกลายพันธุ์” ซึ่งว่าด้วยคนที่กล้าลุกขึ้นตอบโต้ต่อความผิดเพี้ยนในสังคมคือ “เงือก” แต่ถึงอย่างนั้น ตัวละครอย่างเฒ่าตะโหมดก็เป็นคนรุ่นก่อน ซึ่งต่อสู้ตามลำพังด้วยวิธีการอันก่อให้เกิดเครื่องหมายคำถาม ว่าการทำลายกระชังปลาจนชาวบ้านหลายคนต้องเดือดร้อนนั้น เป็นวิธีการต่อสู้ที่ถูกต้องสมควรแล้วจริงหรือ?

            ไม่มีทางเลย ที่คนอยากเฒ่าตะโหมดจะตะลุยไปจนถึงต้นตอแห่งปัญหา ดังนั้นสิ่งที่เขาทำได้จึงเป็นเพียงการเล่นงานคนในระดับเดียวกัน คนที่ต้องดิ้นรนทำมาหากินท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันไม่อาจปฏิเสธ แม้เราจะเข้าใจว่าเพราะเหตุใดเฒ่าตะโหนดจึงทำเช่นนี้ แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็อดไม่ได้ที่จะเห็นใจชาวบ้านซึ่งต้องสูญทุนรอนทั้งหมดไปกับสายน้ำ  

 

            ภาวะสังคมที่สะท้อนผ่าน “เรากำลังกลายพันธุ์” คือภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เรารู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ถูกต้อง แต่เราก็ไม่มีหนทางอื่น นอกจากก้มหน้ายอมรับ และคอยเหลือบตาขึ้นดูปีศาจที่ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ

            อาจเพียงเท่านี้ที่เราทำได้

 

 

เรากำลังกลายพันธุ์

เขียน : เกริกศิษฏ์  พละมาตร์

สำนักพิมพ์นาคร, ราคา 150 บาท, 176 หน้า



 


 

 

 

ใต้ผืนผ้าคลุม 


 

               สำหรับผมแล้ว โลกมุสลิมน่าสนใจเสมอ และยิ่งน่าสนใจมากขึ้นเมื่อเป็นโลกมุสลิมในมุมมองของผู้หญิง  ในดินแดนวรรณกรรม นักเขียนหญิงมุสลิมมีน้อยเสียเหลือเกิน อย่าว่าแต่นักเขียนไทยเลย ทั่วโลกก็เป็นเช่นนั้น อาจด้วยข้อกำหนดแห่งศาสนา ทำให้ผู้หญิงในโลกมุสลิมยากที่จะแสดงออกหลายครั้งผมรู้สึกว่าใต้ผ้าฮิญาบที่ห่มคลุมศีรษะและใบหน้าอยู่นั้น เต็มไปด้วยเสียงที่ก้องสะท้อนอยู่ภายใน หากแต่มันไม่อาจลอดผ่านผืนผ้าออกมา ดวงตาที่ไม่พูด เหมือนบอกเล่าบางอย่างแต่ก็ไม่มากเพียงพอ เสียงของความเงียบกำลังแสดงบางสิ่ง ทว่าเราก็ไม่อาจแน่ใจในการคาดเดา

              อาจเพราะเหตุนี้ สตรีมุสลิมจึงเหมือนมีความลับล้ำลึกดึงดูดให้อยากรู้ถึงเรื่องราวความคิดที่เคลื่อนไหวอยู่ภายใต้ผืนผ้าคลุม

              อุมมีสาลาม อุมาร เป็นนักเขียนที่เติบโตขึ้นมาบนพื้นที่สามจังหวัด ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ ณ บ้านเกิดที่ปัตตานีและที่โรงเรียนประจำในยะลา ก่อนหน้าที่จะมีผลงานตีพิมพ์ชุดแรก “กลางฝูงแพะหลังหัก”เธอเคยได้รับรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยม Young Thai Artist Award 2012 จากรวมเรื่องสั้นชุด “ความตายในเดือนรอมฎอน” บางส่วนจากงานชุดนี้ถูกนำมารวมไว้ใน “กลางฝูงแพะหลังหัก” แต่เรื่องสั้นส่วนใหญ่อยู่นอกเหนือออกไป มีทั้งที่เคยตีพิมพ์ตามสนามต่าง ๆ และที่ปรากฏในเล่มนี้เป็นครั้งแรก  

               แน่นอนที่สุด ในฐานะคนในพื้นที่ เรื่องราวส่วนหนึ่งที่ อุมมีสาลาม อุมาร ถ่ายทอด คือชีวิตของผู้คนที่อยู่บนความขัดแย้งอันต่อเนื่องยาวนาน  โดยเฉพาะการหยั่งรากฝังลึกของความเชื่อและความเกลียดชังจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่น อย่างที่เราได้เห็นใน “ผู้ต้องสงสัย”  “พี่ชาย” “ความตายในเดือนรอมฎอน” และ “แพะหลังหัก”

               ถึงจะมีคนออกมาโต้แย้ง ว่าปัญหาภาคใต้ที่ผ่านมาเป็นเรื่องของคน ไม่ใช่เพราะเชื้อชาติศาสนาที่แตกต่างกันแต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เชื้อชาติและศาสนาก็ยังคงถูกจับโยงเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ดี

               “...อ่านหนังสือไทยพวกนี้ ระวังถูกล้างสมอง...” (“พี่ชาย” หน้า 91)

               “...ไอ้พวกนั้นมันสมควรตาย มันไม่ใช่คนมลายู มันคนต่างศาสนา มึงไม่ผิด...” (“ความตายในเดือนรอมฎอน” หน้า 152)

               “...ของพระ เอ็งไปกินทำไม อัลลอฮฺโกรธเอ็งนะ เดี๋ยวพวกเอ็งได้ลงนรก!...” (“แพะหลังหัก” หน้า 164)

 ช่องว่างระหว่างศาสนา ไม่เพียงชาวมุสลิมเท่านั้นที่จับมันถ่างกว้างออกไป ในฝั่งของคนพุทธ ความไม่เข้าใจในหลักศาสนาอิสลาม ก็ทำให้ช่องว่างยิ่งถ่างออกมากขึ้น ๆ เช่นกัน  ในเรื่อง “ความตายในเดือนรอมฎอน” สิ่งที่ผู้คุมปฏิบัติต่อนักโทษที่เป็นมุสลิมในช่วงเดือนรอมฏอน สะท้อนถึงความไม่เข้าใจและไร้เมตตา

รู้ว่านักโทษไม่สามารถกินอาหารดื่มน้ำได้ในช่วงกลางวันแต่กลับไม่ยอมอะลุ่มอล่วย ให้พวกเขาเก็บอาหารไว้กินหลังจากนั้น สภาพของนักโทษมุสลิมในช่วงเวลานั้นจึงหิวโซ มีเพียงอินทผาลัมถุงเดียวแบ่งกันกิน

                แต่นี่ไม่ใช่ทั้งหมดที่ “กลางฝูงแพะหลังหัก” นำเสนอรวมเรื่องสั้นชุดนี้ไม่ได้โฟกัสที่ปัญหาความไม่สงบบนพื้นที่ชายแดนใต้เพียงอย่างเดียว แต่ยังพูดถึงปัญหาที่ซ่อนอยู่ลึกกว่านั้น นั่นก็คือ ปัญหาของผู้หญิง  ซึ่งไม่ว่าจะชาติไหนศาสนาใดก็เกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น   แกนกลางของปัญหามักมาจากครอบครัว ที่มักมีความสัมพันธ์แบบ ชายเป็นใหญ่ หญิงเป็นรอง ในสังคมมุสลิม ผู้หญิงส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาน้อยกว่าผู้ชายเมื่อไม่มีความรู้ ไม่มีความสามารถ ก็ต้องตกเป็นเบี้ยล่างของสามี   ภาพเช่นนี้ฉายชัดอยู่ในเรื่องสั้นหลายเรื่องใน “กลางฝูงแพะหลังหัก”

                ผู้หญิงอย่าง อารีนา ใน “ฝุ่น” ถูกทำเสมือนเป็นสิ่งไร้ตัวตนไม่มีความหมาย แค่ฝุ่นที่ลอยร่วงเกาะตามข้าวของต่างๆ ในบ้าน  เมื่อสามีของเธอเข้าพิธีวิวาห์อีกครั้ง โดยมิได้บอกกล่าวใดๆ ให้เธอรับรู้จนหลังงานแต่งงานผ่านพ้นไปแล้ว เธอถึงได้รู้จากปากคำของผู้อื่น   เช่นเดียวกับ แม่ ใน “นิทานของพ่อ” ที่ความเหินห่างของพ่อมาจากผู้หญิงที่เขาหลบซ่อนเอาไว้ แม้สตรีผู้นั้นจะไม่ได้เป็นมนุษย์เหมือนกันก็ตาม รวมถึง ซัลมา และ กามีละห์ ใน “ไก่หลุดคอก” ที่ต่างถูกสามีทอดทิ้ง ต้องกลายเป็นหญิงหม้ายไร้ค่าในสายตาใคร ๆ ซ้ำเมื่อพวกเธอหาทางออกด้วยการแต่งตัวสวยออกไปเที่ยวกลางคืน สายตาของสังคมยิ่งจับจ้องอย่างประณามหยามเหยียด

                 ดูเหมือนในโลกของมุสลิม ผู้หญิงไม่มีทางเลือกมากนัก  หลายครั้งที่การแต่งงานไม่ได้มาจากความรัก แต่เกิดจากความเห็นชอบของผู้ใหญ่ และเมื่อแต่งงานไปแล้ว ผู้หญิงก็กลายเป็นสมบัติส่วนตัวที่ผู้ชายจะทำอย่างไรก็ได้ ทุกการกระทำของสามีเป็นสิ่งที่ผู้หญิงต้องกล้ำกลืนฝืนรับทั้งสิ้น  หญิงชราอย่าง ฮาลีมา ใน “กลางฝูงแพะ” คือประจักษ์หลักฐานมีชีวิตที่แสดงให้โลกแต่เห็นว่าผู้หญิงถูกกระทำสาหัสเพียงใด การถูกทอดทิ้งไร้การเหลียวแลทั้งจากสามีและลูก ๆทำให้นางต้องสู้ชีวิตเพียงลำพัง อยู่ในบ้านอันโทรมทรุดเหมือนจะพังครืนลงเมื่อใดก็ได้ ไม่เพียงเท่านั้น นางยังถูกซ้ำเติมด้วยมารสังคม ที่ดักทำร้ายและช่วงชิงเงินที่ทนเก็บมาเป็นสิบปีไปอีกด้วย   

                  ผู้หญิงมุสลิมเป็นเหมือนประชาชนชั้นสอง ไม่เฉพาะกับสามีเท่านั้น ผู้หญิงยังต้องผจญกับการกระทำของคนอื่น ๆ ในบ้านซึ่งมักให้ค่าผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อย่างในเรื่อง “ย่า” ที่ อุมมีสาลาม อุมาร แสดงให้เห็นถึงช่องว่างอันถ่างกว้างในครอบครัว หญิงชราปากจัดผู้ล่วงลับไม่เคยเห็นหลานสาวอยู่ในสายตา ไม่แม้แต่จะจดจำเธอได้ด้วยซ้ำ ในเรื่องสั้นเรื่องอื่น ๆ สถานะของผู้หญิงก็ไม่แตกต่างกันนักเป็นเพียงผู้ที่ต้องทำตาม ไม่อาจมีปากมีเสียง ไม่สามารถตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง

                 อุมมีสาลาม อุมาร เล่าเรื่องทั้งหมดเสมือนเป็นตัวแทนของผู้หญิงมุสลิมบนพื้นที่สามจังหวัดใต้

ที่ไม่เพียงต้องเผชิญกับความไม่สงบที่คุกคามอยู่รอบตัวเท่านั้น  ภายในบ้านของตัวเอง พวกเธอยังต้องประจันหน้ากับปัญหาที่ยากจะบอกเล่าระบายอีกด้วย พวกเธอเป็นอย่างที่ พิเชฐ แสงทอง นิยามเอาไว้ว่า

 ‘คนชายขอบของคนชายขอบ’  แม้สิ่งที่เกิดขึ้นคงยากจะเปลี่ยนแปลงในเร็ววัน  แต่การได้พูดออกมาย่อมดีกว่านิ่งเงียบ เสียงที่บอกเล่าความในอาจเป็นจุดเริ่มแห่งความเข้าใจและการปรับเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่าง การพูดถึงปัญหาเหล่านี้ ผู้เขียนต้องใช้ความกล้าหาญไม่น้อยในการถ่ายทอดมันออกมา สิ่งที่น่าคิดต่อก็คือจะมีสักกี่คนที่สนใจและใส่ใจ

                แต่ไม่ว่าจะมีสักกี่คน ศูนย์ สิบ ร้อย พัน หมื่น แสน หรือล้าน นั่นก็อาจไม่ใช่สาระ เท่ากับการได้พูดมันออกมา.

 

(พิมพ์ครั้งแรก : จุดประกายวรรณกรรม มกราคม 2558)

 

"กลางฝูงแพะหลังหัก"

เขียน : อุมมีสาลาม อุมาร

สำนักพิมพ์ มติชน ราคา 150 บาท, 176 หน้า

 

 

 


 


Visitors: 81,116