นัทธนัย ประสานนาม

นัทธนัย ประสานนาม

นัทธนัย ประสานนาม

 

 

วิเวกโพรงกระต่าย: เมืองแห่งความตายในนวนิยายแห่งความหวัง

 

          ในฐานะผู้นิยมการให้หนังสือเป็นของขวัญในวาระโอกาสต่างๆ จึงมีโอกาสได้รับหนังสือเป็นของขวัญเช่นกัน เมื่อราวปี 2561 ได้รับหนังสือเล่มหนึ่งเป็นของขวัญวันเกิดคือ วิเวกโพรงกระต่าย ที่หน้าปกมีคำโปรยว่า “คุณจะต้องตอบคำถามให้ดี โลกหลังความตายถึงจะตอบรับคุณ” ในตอนแรกเกิดความรู้สึกหลากหลาย ทั้งสงสัยว่าทำไมหนังสือว่าด้วยความตายนำมาใช้เป็นของขวัญ หรือเพราะอีกข้อความหนึ่งในหน้าปกหนังสือที่ระบุว่า “นวนิยายสำหรับผู้ใหญ่” แต่ผู้วิจารณ์ก็ไม่ได้สนใจคิดต่อจนกระทั่งมีโอกาสได้จัดชั้นหนังสือแล้วหยิบนวนิยายเรื่องนี้ขึ้นมาอ่านอีกครั้ง

          วิเวกโพรงกระต่าย (2559) เป็นผลงานของลักษณ์ เกษมสุข ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในประเภทนวนิยายสำหรับผู้ใหญ่ รางวัลแว่นแก้ว ครั้งที่ 12 ในความเห็นของคณะกรรมการที่พิมพ์อยู่ภายในเล่มหนังสือ อธิบายว่านวนิยายเรื่องนี้เน้นการแสวงหาคุณค่าของชีวิต การตั้งคำถามเชิงปรัชญาเกี่ยวกับความตาย การสำรวจลึกเข้าไปในตัวตนเหมือนกับการลอด “โพรงกระต่าย” อันเป็นอุปลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับนวนิยายเรื่อง อลิซผจญภัยในแดนมหัศจรรย์ (Alice’s Adventures in Wonderland)ของลูว์อิส คาร์รอลล์ (Lewis Carroll) นักประพันธ์อังกฤษยุควิกตอเรียน ที่อลิซตัวละครเอกของเรื่องวิ่งตามกระต่ายลงไปในโพรงจนไปพบแดนมหัศจรรย์ โดย วิเวกโพรงกระต่าย หยิบเรื่องการกระทำอัตวินิบาตกรรมหรือการฆ่าตัวตายมาเป็นประเด็นหลักของเรื่อง

          วิเวกโพรงกระต่าย เล่าเรื่องของตัวละครเอกชื่อวิเวก ผู้เข้ารับบริการจำลองประสบการณ์การฆ่าตัวตาย บริการดังกล่าวเป็นของวิธ โดยมีสักวาผู้เป็นลูกสาวทำหน้าที่ผู้ประสานงานกับผู้เข้ารับบริการ ปมปัญหาของเรื่องเริ่มต้นหลังจากที่วิเวกเห็นภาพการฆ่าตัวตายที่ทำสำเร็จของผู้ที่เคยเข้ารับบริการอีกสามคนทั้งที่คนทั้งสามไม่ได้ปลิดชีพตัวเองด้วยวิธีเดียวกับภาพในความคิดของวิเวก บุคคลทั้งสาม ได้แก่ ขาล ผู้กำกับภาพยนตร์ นครธรรพ์ นักธุรกิจ และบริบูรณ์ นักการเมือง วิเวกกับสักวาจึงต้องร่วมกันสอบสวนหาสาเหตุ โดยสักวามีเสียงลึกลับที่คอยกระซิบบอกข้อมูลแก่เธอเป็นผู้ช่วย สักวาเรียกเสียงนั้นว่า “วิญญาณ”

วิเวกกับสักวาเดินทางไปพบคนทั้งสามทีละคน ก่อนที่จะรู้ในที่สุดว่า ภาพในความคิดของวิเวกเกิดจากการปะติดปะต่อเหตุการณ์ที่ขาลเคยช่วยเขาไว้จากการฆ่าตัวตายครั้งแรก นครธรรพ์ผู้อยู่ในเหตุการณ์นั้นที่โรงพยาบาล และภาพของบริบูรณ์ที่ติดอยู่ในห้องทำงานของวิธ

          เมื่อพบความจริงแล้ว วิเวกก็ยังคงครุ่นคิดเกี่ยวกับตนเอง เขาหวนคิดถึงสาเหตุที่ทำให้เขาปรารถนาซึ่งความตาย เหตุเกิดจากการทดลองใช้ยาเสพติดสมัยเรียนมหาวิทยาลัย การทดลองครั้งนั้นเป็น “แบดทริป” ที่ทำให้เขามึนเมา เห็นภาพหลอน สูญเสียความเป็นตัวเอง ผลพวงที่ตามมาคือความรู้สึกผิดบาปและความอับอายกัดกินใจ เมื่อได้ทดลองเข้ารับประสบการณ์การฆ่าตัวตายแล้ว วิเวกจึงทดลองใช้ชีวิตแบบที่ไม่ใช่ตัวเอง เขาลองใช้ชีวิตอย่างคนไร้บ้านอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง จนสักวาไปรับตัวเขากลับมาพร้อมแจ้งข่าวว่าขาลลงมือฆ่าตัวตายอีกครั้งจนสำเร็จ และขาลได้ฝากจดหมายไว้ถึงเขา วิเวกกลับมาสู่โลกใบเดิม เมื่อผ่านงานศพของขาล บริษัทของวิธเลิกกิจการ ก่อนบทอวสาน นวนิยายทิ้งความเคลือบแคลงไว้ว่า การที่วิเวกประสบอุบัติเหตุจากรถเครนใหญ่เป็นเหตุการณ์จริง จินตนาการ หรือผลข้างเคียงจากบริการทดลองฆ่าตัวตาย อย่างไรก็ตาม บทสุดท้ายของนวนิยายเล่าการสนทนาระหว่างวิเวกกับคนที่เขาเพิ่งรู้จัก วิเวกเรียกเขาว่า “นักวิทยาศาสตร์” อันเป็นบทปิดที่มาบรรจบกับตอนเปิดเรื่องที่บทสนทนานี้ทำให้วิเวกหวนคิดถึงเรื่องราวเมื่อครั้งไปใช้บริการจำลองประสบการณ์การฆ่าตัวตาย

          บริษัทที่ให้บริการจำลองประสบการณ์การฆ่าตัวตายในนวนิยายเรื่องนี้ทำให้ผู้วิจารณ์คิดถึงนวนิยายอย่าง ร้านชำสำหรับคนอยากตาย (Le Magasin des suicides) ของ ฌอง เติลเล่ (Jean Teule) หรือนวนิยายไต้หวันอย่าง ศูนย์รับฝากความเสียใจ ของ ซื่ออี และเข้าใจได้ไม่ยากว่า เหตุที่ วิเวกโพรงกระต่าย เป็นนวนิยายสำหรับผู้ใหญ่ เพราะเป็นเรื่องค่อนข้าง “ดาร์ก” แต่ท่าทีที่น่าสนใจต่อความตายของนวนิยายเรื่องนี้คือท่าทีอย่างเดียวกันกับบริษัทของวิธที่มีเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้เข้ารับบริการว่า “ต้องเคารพและให้เกียรติความตาย ไม่ใช่เพียงมาทดลองประสบการณ์แปลกใหม่เหมือนเที่ยวสวนสนุกเท่านั้น” (หน้า 43)

          ในการใคร่ครวญเรื่องความตาย หรือการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในเรื่อง ทำให้หวนคิดถึงปัญหาเชิงจริยศาสตร์ของการฆ่าตัวตายว่าเป็นบาปหรือไม่ และปรัชญาสำนักอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ที่มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์วรรณกรรมโลกนับจากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ในยุคสมัยที่มนุษย์รู้สึกว่าชีวิตไร้แก่นสาร ทั้งยังถูกสาปให้มีเสรีภาพในการต้องแบกรับการเลือกและทางเลือกต่างๆ ในชีวิตของตน วิเวกรู้สึก “หนักหน่วงและเหน็ดเหนื่อยที่ต้องแบกตัวตนนี้ต่อ” (หน้า 17) หลักฐานที่ว่าความคิดของวิเวกคล้ายกับได้รับอิทธิพลจากอัตถิภาวนิยมอาจพินิจได้จากอีกตัวอย่างหนึ่งคือ “ชีวิตบรรจุเพียงความว่างเปล่า [...] ผมไม่มีความรัก ไม่มีอาวรณ์ผูกพันกับสิ่งใดแน่นหนามากมายในโลกนี้ ไร้กระทั่งความเกลียดชังริษยา” (หน้า 27) ทั้งยังปรากฏว่านวนิยายใช้คำศัพท์ที่โยงกับปรัชญาสำนักดังกล่าวด้วย เช่นคำว่า เจตจำนงเสรี (free will) “เมื่อมองมนุษย์ออฟฟิศเดินผ่าน ผมรู้สึกว่าตัวเองช่างโชคดีที่มีเจตจำนงเป็นของตัวเอง” (หน้า 203)

          ส่วนคำอธิบายเรื่องการฆ่าตัวตายที่ร่วมสมัยกว่ามาจากองค์ความรู้ทางจิตวิทยาและการแพทย์ การฆ่าตัวตายอาจเป็นผลมาจากโรคซึมเศร้า ที่สถิติของผู้ป่วยทวีสูงขึ้นกว่าเดิม โดยองค์ความรู้อีกส่วนที่เข้ามาอธิบายปรากฏการณ์นี้มาจากฝั่งสังคมศาสตร์ด้วยเช่นกัน เช่น ความผันผวนของสภาพเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องชนชั้น หรือแม้แต่อิทธิพลด้านลบของสื่อเครือข่ายสังคม

          คำอธิบายทั้งหมดที่ว่านี้นำมาใช้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละครใน วิเวกโพรงกระต่าย ได้เช่นกัน เพราะตัวละครที่ต้องการฆ่าตัวตายล้วนต้องผ่านประสบการณ์โหดร้ายหรือความสูญเสีย เช่น วิเวกผู้ไม่อาจลืมประสบการณ์การเสพยาได้กอปรกับความรู้สึกผิดที่มีต่อแม่ ขาลผู้สูญเสียภรรยา นครธรรพ์ผู้สูญเสียน้าสาวผู้เป็นที่รัก และบริบูรณ์ผู้ต้องใช้ชีวิตในเรือนจำและมีความเจ็บป่วยติดตัวมา

          ถ้าอธิบายแบบนักจิตวิเคราะห์อย่างซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) อาจต้องกล่าวว่า นวนิยายเรื่องนี้ควรต้องอ่านควบคู่ไปกับข้อเขียน “Mourning and Melancholia” (1917) ของเขา ที่พยายามอธิบายความแตกต่างระหว่างความโศกเศร้าอาลัยกับความขมขื่นตรอมใจที่นำไปสู่อาการซึมเศร้ารุนแรงที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่การอธิบายเช่นนี้ก็อาจไม่เหมาะกับ วิเวกโพรงกระต่าย ในแง่ที่ว่า นวนิยายหลีกเลี่ยงคำตอบเรื่องความตายและการฆ่าตัวตายแบบเบ็ดเสร็จ การ “เคารพและให้เกียรติความตาย” ในที่นี้ ย่อมไม่ใช่การโฆษณาว่าการฆ่าตัวตายเป็นของดีวิเศษหรือสรุปว่าการพรากชีวิตตัวเองเป็นบาปมหันต์ เพราะการทิ้งค้างให้ประเด็นดังกล่าวเป็นปลายเปิดในนวนิยาย ย่อมน่าจะช่วยส่งให้ประเด็นในนวนิยายเรื่องนี้เดินทางร่วมไปกับการถกเถียงในพื้นที่อื่นด้วยได้

          จากความพยายามทำความเข้าใจประเด็นเรื่องความตายและการฆ่าตัวตายใน วิเวกโพรงกระต่าย ผู้วิจารณ์อดสงสัยไม่ได้ว่ามีหลักฐานใดในตัวบทหรือไม่ที่จะนำไปสู่คำอธิบายอื่นๆ ซึ่งจะเป็นวิธีการอ่านที่ทำให้วิธีการอ่านการวิจารณ์แตกยอดออกไปได้ เราอาจย้อนกลับไปที่การจำลองประสบการณ์การฆ่าตัวตายของวิเวก เขาเลือกวิธีกระโดดลงจากสะพานลอยลงบนถนน 16 เลน อันเป็นจินตนาการที่เขามีมาตลอดเมื่อเดินข้ามสะพานลอยไปยังอาคารสำนักงานของเขา  วิเวกเห็นว่า “รถเครนยักษ์คือความเย้ายวนใจจนไม่อาจถอนสายตา แต่ถ้าเป็นรถบรรทุกขนาดกลางก็ไม่เลว” (หน้า 45)

          นวนิยายบรรยายฉากท้องเรื่องที่วิเวกต้องพบทุกวันว่า “รถบรรทุกขนาดมหึมาเคลื่อนบดถนนครืนคำราม เหนือขึ้นไปเป็นทางลอยฟ้าคู่ขนานผงาดง้ำ แต่บนสะพานนั้นไร้สิ่งเจริญตา มีเพียงกองขี้หมาให้คอยหลบเลี่ยง” (หน้า 18) ทั้งที่เป็นสะพานลอยยกสูงขึ้นจากพื้นถนนหรือวิถีสัญจรเบื้องล่าง วิเวกกลับเรียกสถานที่นี้ว่า “อุโมงค์ขี้หมา” ราวกับเป็นสิ่งที่เขาต้องลอดผ่าน และมีลักษณะมืดทึบ ในตอนปลายเรื่องที่วิเวกกลับมาเยือนที่แห่งนี้ เขาก็ยัง “จำได้แม่นว่าขั้นที่เจ็ดมีรอยหมากฝรั่งสกปรกที่ฝากประทับไว้นานจนเหมือนไฝสีดำตรงริมขอบ เมื่อเลี้ยวผ่านชานพักเห็นเศษแก้วน้ำจากร้านสะดวกซื้อนอนเอนหนุนบันได ก้าวขึ้นไปอีกขั้นพบเสลดข้นเหนียวแปะอยู่” (หน้า 276) สะพานลอยอันเป็นทางสัญจรกลับเป็นที่พำนักสุดท้ายของขยะหรือสิ่งที่ถูกใช้แล้ว หมดประโยชน์แล้ว

          เมื่อวิเวกย้ายจากหอพักใกล้ที่ทำงานกลับไปอยู่ห้องชุดหรือคอนโดมิเนียมของเขาเอง ความรื่นรมย์ของเขาคือ “มองผ่านราวระเบียงลงไปสู่ถนนด้านล่าง […] รู้สึกพึงพอใจที่วันนี้ตัวเองไม่ต้องไปเผชิญกับโลกที่วุ่นวายด้านล่าง แต่ได้เลื่อนชั้นมาเป็นผู้ชมในที่นั่งระดับวีไอพี […] มองดูมนุษย์ตัวจ้อยเคลื่อนที่ราวมดงาน หลงลืมไปชั่วคราวว่าตัวเองก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของขบวนพาเหรดนั้น” (หน้า 94) รวมทั้งตอนที่เขาไปทดลองใช้ชีวิตอย่างคนไร้บ้าน แม้เมืองจะเป็นเหมือนบ้านของคนไร้บ้าน แต่เมืองก็ตอกย้ำภาวะไร้บ้านด้วยลักษณะทางกายภาพที่ไม่น่าอภิรมย์ “เมื่อมองไปยังเกาะกลางถนนที่มีแท่งปูนกั้น ผมรู้สึกว่าในนั้นเป็นรังอันอบอุ่น จึงวิ่งตัดถนนเข้าหามันราวกับเป็นบ้านแสนรัก [...] แล้วย่ำคูน้ำเน่าเข้าไปหาตอม่อสะพานขนาดใหญ่ ตรงนั้นมีกอหญ้านุ่มสบายหลัง” (หน้า 204)

          เป็นไปได้หรือไม่ว่าเมืองและวิถีชีวิตในเมืองใหญ่เป็นปัจจัยเร่งเร้าให้ตัวละครยิ่งรู้สึกแปลกแยกไร้แก่นสาร ไม่ว่าอยู่หรือตายก็ไม่ต่างกัน ความรู้สึกแปลกแยกกับเมืองของวิเวกต่อยอดด้วยการที่เขาเฝ้าสังเกตและพยายามทำความเข้าใจคนไร้บ้านที่ดูวิกลจริต ชายวิกลจริตใช้ชีวิตอยู่ไม่ไกลจาก “อุโมงค์ขี้หมา” นั้น

          ความแปลกแยกของวิเวกได้รับการยืนยันจากสักวา ที่พยายามกล่าวปลอบใจเขาว่า “ถ้าคนจิตวิปลาสคือคนที่หมกมุ่นกับโลกของตัวเอง คนครึ่งค่อนสังคมไม่ได้วิปลาสไปหมดแล้วหรือคะ” (หน้า 53) นัยย้อนแย้งในข้อสังเกตดังกล่าวคือ แท้จริงแล้วคนในสังคมล้วนป่วยด้วยโรคใจมากน้อยต่างกัน และอยู่ในสมรภูมิของตนเอง โดยมีตัวละครอื่นๆ เป็นกรณีตัวอย่าง นวนิยายแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่านักธุรกิจระดับมหาเศรษฐี ศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ หรือนักการเมืองผู้ทรงเกียรติ ก็ล้วนรู้สึกแปลกแยกจนปรารถนาที่จะทดลองจบชีวิตตนเอง

          ความรู้สึกแปลกแยกของวิเวกยังวัดได้จากเกร็ดประวัติชีวิตของเขา แม่ของวิเวกรู้ว่าตั้งท้องเขาระหว่างที่พ่อบวชเป็นพระภิกษุ พ่อจึงบวชได้ไม่ครบกำหนดที่ตั้งใจแล้วสึกออกมาก่อน ชื่อของเขาที่ว่าวิเวกจึงเป็นทั้งเครื่องย้ำเตือนถึงสมณเพศและชีวิตสันโดษอันล้ำค่าที่พ่อพรากจากมา และเป็นเครื่องย้ำเตือนว่าเขาเป็นผู้ทำลายความวิเวกนั้น “น่าเสียดายที่หลังจากอุทิศนามนั้นให้ผม ความสงบสงัดตกเป็นของผมคนเดียวโดยสมบูรณ์ แต่ชีวิตของพ่อกลับเต็มไปด้วยเสียงเอ็ดอึงจากแม่เกือบทุกวัน” (หน้า 63) นอกจากนั้นเขายังเล่าถึงการเติบโตมาของเขาที่ไม่มีเพื่อนมากนัก และการเข้าสังคมก็เป็นเรื่องที่ต้องพยายาม “ผมก็ไม่ลืมเรียนรู้วิธีประนีประนอมในชีวิตเพื่ออยู่ร่วมกับมนุษย์คนอื่นโดยไม่แปลกแยกเกินไปนัก” (หน้า 63)

          เมืองจึงเป็นพื้นที่ที่กระตุ้นความรู้สึกแปลกแยกให้ถ่างขยายขึ้น ในนวนิยายเราจะเห็นว่าสักวาเป็นผู้ที่สื่อสารกับวิเวกมากที่สุด แต่ท่าทีของเธอที่ปรากฏเสมอคือ “ไม่มีรอยยิ้ม ไม่มีความเศร้า ไม่มีอารมณ์ใดเจือปนในใบหน้านั้นดังเช่นทุกครั้ง” (หน้า 52) ชื่อของสักวาที่หมายถึงกลอนและการละเล่นโต้ตอบแบบหนึ่งจึงมีนัยย้อนแย้ง เช่นเดียวกับชื่อของขาล ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อก้อง ชื่อของเขาหมายถึงเสือ ที่ให้ภาพลักษณ์ของยิ่งใหญ่ไม่กลัวใคร แต่กลับห่อคลุมด้วยความเศร้าและสงสัยตัวเองตลอดเวลา

          อาจกล่าวได้ว่า ขาลเองก็เป็นเหยื่อของเมืองเช่นกัน เขาเคยใช้ชีวิตแสนสุขในต่างจังหวัดกับภรรยา หน้าที่ของภรรยาคือ “สร้างสัมพันธ์กับคนในหมู่บ้านจนเป็นที่รักใคร่เอ็นดู จึงไม่ทำให้คู่สามีภรรยาจากต่างถิ่นกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมจากสังคมเล็กๆ จนเกินไป” (หน้า 98) แต่เมื่อภรรยาจากไปด้วยโรคมะเร็ง ขาลจึง “ควักเงินสดซื้อห้องชุดหรูในคอนโดมิเนียมเพื่อใช้ชีวิตโดดเดี่ยวสลับกับเดินทางไปต่างประเทศ หลังจากจัดพิธีศพเรียบง่ายให้ภรรยาแล้ว ไม่มีใครระบุที่อยู่เป็นหลักแหล่งของขาลได้อีกเลย” (หน้า 98) ดังนั้น เมื่อวิเวกได้ไปเยือนห้องชุดของขาลเป็นครั้งแรกจึงพบว่า “ความแปลกแยกในห้องพักของขาลไม่ใช่รูปธรรมที่เห็นได้ด้วยตาเสียทีเดียว แต่เป็นอารมณ์ที่ฟุ้งกรุ่นในห้องนั้น เหมือนกาลเวลาที่พัดพาอยู่ด้านนอกไม่ได้จูงมือห้องนี้ให้ก้าวไปพร้อมกัน” (หน้า 226)

          ชื่อของนครธรรพ์ นักธุรกิจ หมายถึงเมืองของชาวสวรรค์ มีความหมายโยงใยกับ “กรุงเทพฯ” แต่เขากลับมีชีวิตอย่างโดดเดี่ยวบนห้องพักสุดหรูทั้งที่กลัวความสูง และเฝ้าคิดถึงน้าสาวผู้จากไป น้าของเขาเคยเป็นนักเปียโน จึงมีความฝันจะได้เล่นแกรนด์เปียโนอีกครั้ง นครธรรพ์เล่าถึงเรื่องนั้นว่า “นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเกลียดความร่ำรวยของตัวเอง ถ้าย้อนเวลาได้ผมจะไม่ซื้อแกรนด์เปียโนหลังนี้ ผมจะซื้อแค่คีย์บอร์ดก๊อกแก๊กให้น้าเล่นแก้ขัด แล้วบอกให้น้าอยู่กับผมไปนานๆ อีกสี่สิบห้าสิบปีก่อน ถึงตอนนั้นผมจะซื้อแกรนด์เปียโนที่ดีที่สุดในโลกให้เลย” (หน้า 156) คนธรรพ์เป็นชาวสวรรค์ที่ชำนาญด้านการดนตรี ชื่อของนครธรรพ์จึงเชื่อมโยงกับแกรนด์เปียโนและเพลงหวานละห้อยของโชแปง

          การเดินทางมาพบนครธรรพ์ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิตใจของวิเวก เขาเชื่อมโยงกับนครธรรพ์ผ่านความรู้สึกเปราะบาง “แสงสว่างจากหน้าต่างจัดจ้ามากขึ้นเท่าไร ใบหน้าของเขายิ่งตกอยู่ในเงาเข้มขึ้น เค้าโครงที่ผมเห็นไม่ใช่หนุ่มหล่อผู้ปรากฏกายตามหน้าข่าวสังคม แต่เป็นคนธรรมดาอีกคนที่เพียงผมยื่นมือไปก็แตะความทุกข์โศกของเขาได้ทันที” (หน้า 161)

          ชื่อของบริบูรณ์ ก็ส่อนัยย้อนแย้งเช่นกัน เพราะจิตใจของเขายังขาดพร่อง  บริบูรณ์ยอมติดคุกเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ เขาเป็นเหยื่อของเกมการเมือง ระหว่างอยู่ในคุกบริบูรณ์เริ่มมีอาการปวดศีรษะรุนแรง ทำให้เขาต้องอยู่ในโรงพยาบาลด้วย บริบูรณ์สรุปว่า “ผมเหมือนติดคุกสองชั้น” (หน้า 193) เพราะทั้งคุกและโรงพยาบาลต่างมีกฎระเบียบควบคุมและมีสายตาที่มองไม่เห็นจ้องมองอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม บริบูรณ์ได้พัฒนาสายสัมพันธ์กับ “รูมเมต” ของเขาคือ “พจน์” ผู้ซึ่งชอบการอยู่ในคุก ยอมให้ตัวเองถูกจับกุมด้วยข้อหาเล็กน้อย บริบูรณ์ไม่ยอมย้ายไปอยู่โรงพยาบาลในช่วงแรก เขาให้เหตุผลว่า “ไม่ต้องการความสบายกายที่โดดเดี่ยวอย่างนั้น” (หน้า 196) แม้จะได้ล้างมลทินและกลับสู่สนามการเมืองอีกครั้ง แต่บริบูรณ์ก็ยังคงทุกข์ทรมานกับอาการปวดศีรษะ เป็นเหมือนบาดแผลที่คุกฝากไว้ “การต้องเปลี่ยนจากสิ่งแวดล้อมที่มีอิสรเสรีมาอยู่ในคุกทำให้จิตใจอันแข็งแรงของคนเว้าแหว่งมานักต่อนักแล้ว” (หน้า 196)

          วิเวกเรียนรู้ชีวิตของบริบูรณ์ผ่านบันทึกของเขา บันทึกที่เขาเขียนขึ้นเองเพื่อแปรเป็นชีวประวัติ จึงไม่น่าแปลกใจที่เพื่อนหนึ่งเดียวที่บริบูรณ์ไม่ได้พบอีกคือพจน์ ชื่อที่มีความหมายว่า “ถ้อยคำ” บริบูรณ์หาทางกลับมาพบพจน์ผ่านการรำลึกและบอกเล่าเรื่องราว พจน์ยืนยันสายสัมพันธ์ที่มีความหมายที่มนุษย์มีต่อกัน บริบูรณ์ยังไม่ล้มเหลวในการสื่อสารกับมนุษย์ เขาจึงไม่คิดฆ่าตัวตายอีก เช่นเดียวกับนครธรรพ์ แต่ขาลผู้เริ่มตัดขาดจากผู้อื่น รู้สึกมีความหวังขึ้นมาเพียงวาบหนึ่งเมื่อได้พบวิเวก “ถ้าเราสองคนมีชีวิตยืนยาวได้ ผมอาจจะมีเพื่อนคุยเรื่องหนังเพิ่มใหม่อีกคนแล้ว” (หน้า 112)

          เมืองทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์สูญสลาย มนุษย์ไม่อาจมีบทสนทนาที่มีความหมายต่อกัน ไม่ปรารถนาที่จะรับรู้เรื่องราวของกันและกัน หมกมุ่นอยู่ในโพรงกระต่ายของตนเอง การสื่อสารจึงมีความสำคัญยิ่งใน วิเวกโพรงกระต่าย ดังที่เราพบว่า ภาพยนตร์ของขาลที่วิเวกรู้สึก “อิน” เล่าเรื่อง “เด็กผู้หญิงคนหนึ่งผู้ใช้ไดอารี่ของคนที่ตายไปแล้วออกช่วยสะสางทำสิ่งที่คนตายเขียนระบายไว้แต่ยังไม่ได้ทำ” (หน้า 99) นครธรรพ์บอกเล่าเรื่องราวแต่หนหลังของเขา บริบูรณ์เล่าเรื่องตัวเองผ่านบันทึก วิธเล่าเรื่องก่อนที่เขาจะอพยพมาอยู่ประเทศไทย ประเทศบ้านเกิดของเขามีสงคราม “พร้อมกับหูที่สูญเสียการได้ยินไปแล้วหนึ่งข้าง” (หน้า 179) และสุดท้ายขาลยังได้เขียนอีเมลสั่งเสียถึงวิเวกด้วย ในเมืองใหญ่ที่เป็นเมืองแห่งความตาย ความหมายของชีวิตมนุษย์จึงอาจหมายถึงการสร้างสายสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันผ่านการแบ่งปันบาดแผล แม้ไม่อาจรักษาเยียวยาก็ตาม 

          หลังจากได้พบบริบูรณ์ วิเวกจึงทดลองใช้ชีวิตอย่างคนไร้บ้าน และเดินทางให้เข้าใกล้พรมแดนของความวิปลาส “สำหรับความรกเรื้อในใจระดับที่ผมมี ผมต้องทำให้แน่ใจว่าพร้อม ‘หลุด’ จากทุกอย่างที่ถือมั่นไว้ ผมตัดสินใจลองเดินตามรอยทางของคุณทูตน้อย เข้าสู่อาณาจักรแห่งความวิปลาส” (หน้า 201) “คุณทูตน้อย” คือคนไร้บ้านที่วิเวกเฝ้ามองมาตลอด “ชีวิตแต่ละวันเรียบง่าย เมื่อหิวก็ข้ามฝั่งไปคุ้ยกองขยะ เมื่อท้องอิ่มแล้วก็วิ่งมาพักที่คูน้ำกลางถนน” (หน้า 204)

          หลังความตายของขาล สักวาได้ต้อนรับวิเวกกลับสู่โลกใบเดิม เธอไปรับเขากลับจากข้างถนน ส่งข่าวความตาย และโอบรับเขาด้วยความเต็มใจ “กลิ่นสาบสางโสโครกของตัวผมปะปนกับกลิ่นหอมหวานจากเรือนผมของเธอ ไม่ชั่ววินาทีนั้นผมอยากผลักไสตัวเองออกด้วยความละอาย แต่กลับรู้สึกว่าเธอตอบรับด้วยการกระชับตัวเองเข้ามาอยู่ในอ้อมกอดแน่นหนาขึ้น ราวกับต้องการปรามความคิดของผม” (หน้า 207)

          สักวามีศักยภาพที่จะทำเช่นนั้นได้ เพราะบ้านของเธอไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลของวิถีเมือง บ้านชานเมืองของเธอมีบริเวณพอสมควร ในเรือนหลังเล็ก สักวาสื่อสารกับ “วิญญาณ” ได้ ที่น่าสนใจคือ บ้านของผู้ค้าความตายอย่างวิธและสักวา รวมทั้งเป็นที่พำนักของ “วิญญาณ” กลับเต็มไปด้วยชีวิตและพลังชีวิต

          ในบทสนทนาเรื่องต้นไม้ วิเวกตั้งข้อสังเกตกับสักวาว่า “คุณเชื่อในสิ่งมีชีวิต” เธอตอบ “ฉันไม่รู้ว่าเชื่อหรือเปล่า แต่ถ้าให้บอกว่าชอบสิ่งมีชีวิตก็ใช่ค่ะ” (หน้า 81) บรรยากาศในบ้านของสักวาคือ “สวนนี้ก็ไม่ได้มืดครึ้มจนเกินไป ผมคิดเมื่อเห็นเงาร่างของใบไม้เต้นระยับทาบทอบนพื้นหญ้าหอมดิน” (หน้า 90) นอกวิถีเมืองในฐานะพื้นที่แห่งความแปลกแยกและความตาย วิเวกจึงพบว่า “ความเย็นสบายแผ่มากระทบผิวกาย เป็นความบริสุทธิ์ที่มีชีวิตชีวา เหมือนต้นไม้เหล่านั้นกำลังแบ่งปันลมหายใจมาอาบไล้ให้ผมสดชื่นขึ้น” (หน้า 81)

          ในการกลับมาเชื่อมต่อกับโลกใบเดิมของวิเวก เขากลับไปที่ห้องชุดของตนเอง เพื่อรู้ว่าขาลเองก็เคยอาศัยอยู่ในอาคารหลังเดียวกันที่มีนครธรรพ์เป็นเจ้าของ และคนทั้งสองได้เคยมีส่วนช่วยชีวิตของวิเวกในตอนที่เขาฆ่าตัวตายครั้งแรก โครงการห้องชุดนั้นจึงมีชื่อว่า เดอะรีเซอร์เรกชัน (The Resurrection) หรือการคืนชีพ ที่มาของชื่อคือการนำอาคารเก่ามาดัดแปลงใหม่

          ชีวิตใหม่ของวิเวกเกิดขึ้นหลังการผจญภัย “ในโพรงกระต่าย” หรือภายในความนึกคิดของเขาเอง การผจญภัยของเขา ส่วนหนึ่งมาจากการที่ขาลชวนให้เขาพิจารณา “แบดทริป” จากการลองยาเสพติดที่คอยหลอกหลอน “ไม่มีสักอึดใจเลยหรือที่คุณเองก็สงสัยอยากรู้ว่ามันจะพาคุณไปที่จุดไหน [...] เหมือนอลิซตอนร่วงหล่นลงไปในโพรงกระต่าย ผมไม่เชื่อว่าเธอมีแต่ความกลัวเท่านั้น” (หน้า 116)

          ในอีเมลสั่งเสียที่ขาลเขียนถึงวิเวกเขาจึงระบุว่า เขาขอ “ใช้ประสบการณ์จากคนที่เคยผ่านมาช่วยส่งคุณให้ผ่านพ้นการผจญภัยครั้งนี้ด้วยดี” (หน้า 235) ยิ่งไปกว่านั้น ขาลยังแสดงความหวังของเขาไว้ “คำขอหนึ่งเดียวของผมก็คือขอให้คุณมีชีวิตอยู่ให้ได้ ไม่ใช่เพราะเห็นแก่ผม แต่ผมขอให้คุณอยู่ได้ด้วยความปรารถนาของตัวเอง เมื่อค้นพบคำตอบด้วยตัวเองอย่างแท้จริง” (หน้า 235)

          วิเวกโพรงกระต่าย นำเสนอกรุงเทพฯ ในฐานะเมืองแห่งความตาย ผ่านภาวะที่มนุษย์แปลกแยกต่อกัน แต่งานเขียนเรื่องนี้เป็นนวนิยายแห่งความหวัง ด้วยท่าทีที่ไม่ตัดสินการที่มนุษย์เลือกพรากชีวิตตนเอง และชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่มนุษย์ยังคงต้องการที่สุดคือสายสัมพันธ์ โดยราคาของการสูญเสียสายสัมพันธ์หรือความสามารถในการสื่อสารต่อกันอาจหมายถึงชีวิต

ครั้งหนึ่ง “วิญญาณ” วิจารณ์วิเวกผ่านสักวาว่า “คุณไม่ได้คิดดึงใครขึ้นมาจากการฆ่าตัวตาย เพราะแม้แต่ตัวคุณเองก็ยังจมดิ่งอยู่กับความคิดนั้นอยู่เหมือนเดิม” (หน้า 86) ความหมายโดยรวมของ วิเวกโพรงกระต่าย อาจสื่อนัยที่ย้อนแย้งอย่างยิ่ง เพราะนวนิยายเองจมดิ่งอยู่กับความคิดเรื่องการฆ่าตัวตายเช่นกัน ทว่าสุดท้ายกลับแสดงท่าทีอย่างสมาคมสะมาริตันส์ที่ต้องการยับยั้งการฆ่าตัวตาย โดยนวนิยายส่งสารแห่งความหวังสำหรับผู้คนที่จะพิจารณาความหมายของการมีชีวิตอยู่ ผ่าน “อุโมงค์ขี้หมา” หรือโพรงกระต่ายในความนึกคิดของตนเอง ที่น่าคิดก็คือ อลิซเองเมื่อผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์ผ่านโพรงกระต่าย แม้เรื่องจบที่เธอตื่นจากฝัน แต่อลิซก็ไม่ใช่คนเดิมอีกแล้ว

 

รายการอ้างอิง

ลักษณ์ เกษมสุข. (2559). วิเวกโพรงกระต่าย. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์.

 

 ------------------------------------------------------------------------------------------------

 

 

เกียวโตซ่อนกลิ่น : ปิตาธิปไตยไม่เคยปิดตา

 

          ในภัตตาคารข้ามชาติกลางย่านธุรกิจและศูนย์ราชการของกรุงเทพฯ ผู้วิจารณ์นั่งฟังเรื่องเล่าของชายหนุ่มเกี่ยวกับวันวัยที่พ้นผ่านนานนับทศวรรษ การเติบโตจากเด็กชายสู่คำนำหน้าว่านาย การเรียนในระบบโรงเรียนที่ไม่เอื้อให้เขาพบความสนใจของตัวเอง โลดแล่นไปบนเส้นทางชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัย เขาเติบโตผ่านการขัดเกลาทางสังคมในหมู่รุ่นพี่รุ่นน้อง แสวงหาตัวตนใหม่ๆ จนพบ แม้ผละหนีซ้ำเล่าเพียงเพื่อจะพบตัวตนเก่าในตัวตนใหม่เสมอ

           วัยหนุ่มแห่งสำนึกขบถต่อกฎเกณฑ์ถูกอธิบายผ่านความเห็นของคนอื่นที่เขาไม่เคยรู้สึกว่าเป็นปัญหาของเขา จนกระทั่งผู้วิจารณ์เอ่ยปากหลังนั่งขรึมฟังพักใหญ่ว่ากระบวนการทั้งหมดน่าจะถูกสังเคราะห์ให้เป็นการต่อต้านประกาศิตของพ่อ หากมองจากมุมจิตวิเคราะห์สำนักซิกมุนด์ ฟรอยด์ที่สอนเรียนกันทั่วไปในมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

          ชายหนุ่มนิ่งคิด รับว่าอาจมีส่วน แต่ผู้วิจารณ์กลับได้คิดต่อให้ซึ้งไปกว่านั้น ประสบการณ์และความทรงจำของชายหนุ่มท่ามกลางประกาศิตของพ่อไม่ใช่ของใหม่ในฐานะวัตถุดิบสำหรับการเขียนวรรณกรรม ชื่อของอุทิศ เหมะมูล ในฐานะประพันธกรร่วมสมัยเป็นชื่อแรกที่ผุดขึ้นมาในความนึกได้ของผู้วิจารณ์เมื่อต้องโยงประสบการณ์ของชายหนุ่มกับสิ่งที่เคยอ่านเคยสัมผัส อุทิศใช้ความสัมพันธ์ของตัวละครเอกกับพ่อเป็นเสมือน “ตาน้ำ” ให้แก่งานของเขา ที่เห็นได้ชัดตั้งแต่ ลับแล, แก่งคอย (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2552) จนกระทั่ง เกียวโตซ่อนกลิ่น เรื่องสั้นขนาดยาวที่พิมพ์เผยแพร่ใน พ.ศ. 2557

          การเปิดบทวิจารณ์ด้วยเรื่องเล่าของชายหนุ่มและนวนิยายที่ประสบความสำเร็จของอุทิศ เหมะมูลไม่น่าจะเป็นสมมติฐานเลื่อนลอย “ลับแล” ที่เป็นชื่อตัวละครเอกใน ลับแล, แก่งคอย หากคิดอีกอย่างย่อมหมายถึงการมองไม่เห็นหรือไม่เป็นที่พบเห็น เช่นเดียวกับ “ซ่อนกลิ่น” ในชื่อเรื่องสั้นเรื่องนี้ ดวงมน จิตร์จำนงค์ (ในบทวิจารณ์ที่เผยแพร่ใน ดวงใจวิจารณ์) โยงใยให้เห็นว่า ซ่อนกลิ่นถ้าหมายถึงชื่อดอกไม้ มีชื่อเดิมว่า “ซ่อนชู้” ซึ่งเข้ากันดีกับเนื้อหาของเรื่องสั้น ผู้วิจารณ์จึงขอชวนคิดตั้งแต่บรรทัดนี้ว่า ในงานเขียนของอุทิศ เหมะมูล อะไรคือสิ่งที่ไม่(ควร)เป็นที่พบเห็น หรือเป็น “ผัสสะซ่อนเร้น” อันน่าจะเป็นคำแปลของ “Hidden Sense” ส่วนหนึ่งจากชื่อเรื่องภาษาอังกฤษของ เกียวโตซ่อนกลิ่น

 

          เรื่องสั้น เกียวโตซ่อนกลิ่น เล่าเรื่องของวารี นักศึกษาศิลปะ (เช่นเดียวกับตัวละครเอกใน ลับแล,แก่งคอย) วารีเติบโตมาท่ามกลางความสัมพันธ์ที่กดทับบีบบังคับโดยพ่อ “ภายใต้บ้านหลังนี้พ่อมีสิทธิ์วางอนาคตให้เขา เขาจะต้องทำตาม นั่นเป็นวิถีทางถูกควรที่ลูกควรตอบแทนความรักและอุทิศตนของบิดา” (หน้า 30) พ่อเคยชื่นชมที่วารีใฝ่ฝันจะเป็นนักบิน จนกระทั่งวันหนึ่งที่วารีทำเครื่องบินของเล่นเสียหาย สิ่งของที่แตกทำลายส่อนัยว่าวารีไม่พร้อมที่จะถนอมรักษาความหวังของพ่อ พร้อมกันกับที่วารีมีความใคร่รู้เกี่ยวกับโลกที่ไกลออกไปยิ่งกว่าท้องฟ้า

          เมื่อเขาอายุ 17 ปี วารีมีเพื่อนชายที่สนิทสนมชิดใกล้คนหนึ่ง พวกเขา “เล่น” อะไรหลายอย่างที่แม่ต้องคอยห้ามปรามเพราะเกรงพ่อจะรู้ แต่วันหนึ่งที่ครอบครัวของวารีเดินทางไปเที่ยวน้ำตก เขากับเพื่อนชายปลีกตัวไปสูบบุหรี่ “เพื่อนโถมตัวเข้าหาจนแนบชิด จ่อปากเข้าใกล้ใบหน้าเขาแล้วระบายควันบุหรี่ใส่” (หน้า 33-34) วารีเห็นว่าพ่อจ้องมองอยู่จนกระทั่งพ่อถูกน้ำวนสูบชีวิตไปต่อหน้าต่อตาเขานั่นเอง

          ก่อนสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย วารีเขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง “รูปแบบหลายนัยของความเป็นพ่อ” “ในลักษณะการตีความประวัติศาสตร์ผ่านการปกครองระบอบปิตาธิปไตย” (หน้า 36) ด้วยข้อเสนอทางวิชาการอันแหลมคมส่งให้เขาได้ไปเดินทางประชุมวิชาการที่เกียวโต สถานที่ซึ่งเขาได้พบกับโทโมะ วารีนึกสนใจโทโมะตั้งแต่แรกเห็น จนกระทั่งมีโอกาสได้สนทนากัน เขาทั้งสองท่องเที่ยวด้วยกันในเกียวโต วันอันยาวนานสิ้นสุดที่โรงอาบน้ำ  สัญญาที่โทโมะให้ไว้ว่าเขาทั้งสองจะได้พบกันอีกครั้งกลับไม่เกิดขึ้น โทโมะไม่ได้พบกับวารีในวันถัดมา เมื่อวารีกลับไทย คนทั้งสองก็สื่อสารกันทางอีเมล ในความหวังว่าจะได้พบกันอีกครั้ง เกิดแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ วารีไม่รู้ชะตากรรมของโทโมะ แต่ความหวังที่ถูกทำลายซ้ำเล่าทำให้วารีปวดร้าวใจไม่ต่างกับโทโมะตายจาก เรื่องจบลงที่โรงอาบน้ำ ที่ภาพในใจอันสับสนของวารีซึ่งมีน้ำ พ่อ โทโมะ  จานบิน และตัวเขาปรากฏอยู่

          เมื่ออ่านเรื่องสั้นนี้จบลงอีกครั้ง ผู้วิจารณ์นึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Mysterious Skin (2004) ของเกรก อารากิ ผู้กำกับอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นขึ้นมาทันที เพราะภาพยนตร์เรื่องนั้นก็เกี่ยวกับพ่อ รวมทั้งความทรงจำเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศที่ถูกจดจำในฐานะการกระทำของมนุษย์ต่างดาว เรื่องสั้น เกียวโตซ่อนกลิ่น เองก็เสนอความสนใจเรื่องมนุษย์ต่างดาวของวารี โดยเฉพาะการดั้นด้นเดินทางไปยังคุรามะที่เชื่อกันว่าเมื่อหลายล้านปีก่อนมีจานบินลงจอดและเป็นแหล่งรับพลังจักรวาล

          ระหว่างเดินทางนั้นเองที่วารีได้สมมติว่าเขาอยู่กับโทโมะ ความสุขอันแสนสั้นที่เขาเคยมีร่วมกันกลับมาหลอกหลอน เนื้อหาของเรื่องสั้นตอนนี้เปลี่ยนสลับผู้เล่าเรื่องจากผู้เล่าเรื่องแบบรู้แจ้งกลายเป็นผู้เล่าเรื่อง-ตัวละครเอก แต่เรื่องของวารีที่เล่าโดยวารีกลับสับสนและมีเสียงเล่าของโทโมะแทรกเข้ามา เสียงเล่าของวารีปรากฏครั้งแรกในช่วงท้ายของเรื่อง ในระหว่างที่เรื่องถูกเล่าโดยผู้เล่าเรื่องแบบรู้แจ้งนั้น บทสนทนาของวารีเกิดขึ้นกับโทโมะผ่านภาษาอังกฤษ (ซึ่งในเรื่องแปลเป็นไทย) ภาษาอังกฤษซึ่งไม่ใช่ทั้งภาษาของวารีหรือของโทโมะ (เพราะโทโมะยังคงต้องเพิ่มพูนทักษะภาษาอังกฤษอยู่ผ่านการอ่านวรรณกรรม) ผู้เล่าเรื่องเล่าถึงวารีในวัย 17 ปีว่า “ความรู้สึกภายในตนยิ่งแจ่มชัดว่าเขาเป็นมนุษย์ต่างดาวขับจานบินมายังโลกมนุษย์ เพื่อนของเขาก็รู้สึกไม่ต่างกัน” (หน้า 30) รสนิยมทางเพศที่แตกต่างนั้นเองที่โยงวารีกับเพื่อนชายเข้ากับมนุษย์ต่างดาว การที่เขาและโทโมะเชื่อมต่อกันด้วยภาษาต่างประเทศอยู่ในเมืองที่เขาทั้งคู่ไม่รู้จักจึงเป็นความหมายที่ต่อรับกันได้อย่างดีกับอุปลักษณ์มนุษย์ต่างดาวที่อ้างถึง

          การเล่าเรื่องของวารีในช่วงปลายเรื่องมีความสำคัญ การที่เรื่องของเขาถูกเล่าแทนโดยผู้เล่าเรื่องแบบรู้แจ้งในส่วนอื่นของเรื่องก็เพราะเขามีปัญหาในการพูด เขาพูดติดอ่างโดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญหน้ากับพ่อหรืออำนาจของพ่อ เรื่องของวารีจากมุมของวารีเองจึงเป็นเรื่องที่ทั้ง “ไม่ได้เล่า” และ “เล่าไม่ได้” จนกระทั่งเขารู้สึกว่าเขาได้รับการปลดปล่อยด้วยความรู้สึกว่าเขาได้สูญเสียโทโมะไปแล้วตลอดกาล

          อุปลักษณ์มนุษย์ต่างดาวสำคัญอย่างไร มนุษย์ต่างดาวอาจไม่ได้หมายความถึงแค่คนผู้มีเพศวิถีที่แตกต่าง แต่มนุษย์ต่างดาวโยงเข้ากับ “การเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น” หรือ “การเห็นสิ่งที่มองไม่เห็น” ประสบการณ์การพบเห็นมนุษย์ต่างดาวยังถูกจัดเป็นเรื่องลึกลับไม่ต่างกับประสบการณ์พบเห็นวิญญาณคนตาย ที่หลายเรื่องเป็นเรื่องที่ “ไม่ได้เล่า” หรือ “เล่าไม่ได้” เช่นเดียวกัน เพราะอาจไม่มีคนเชื่อถือ ประเด็นหลักประการหนึ่งของเรื่องนี้คือการเล่นล้อกันระหว่างปัญหาของประสาทสัมผัส (ที่บทวิจารณ์ของดวงมน จิตร์จำนงค์เลือกใช้คำว่า “ผัสสะ”) อันประกอบด้วยการมองเห็น การพูด การสัมผัส  ในตอนต้นเรื่องผู้เล่าเรื่องจึงเน้นให้เห็นความสำคัญของประสาทสัมผัส “มันจะเหมือนน้ำมันดินเหนียวหนืดและดินโคลนขุ่นข้นหรือไม่ มันจะอุ่นและร้อนไหม หรือว่าเย็นเยียบ มือของวารีสางผ่านความมืดคลุมเครือ สัมผัสหนืดหยุ่นมีแรงต้านเริ่มจับตัวแข็งขึ้น มันสากและอุ่นผะผ่าว กลายเป็นกำแพง” (หน้า 18) เสียงเล่านี้ว่าด้วยความฝันของวารี

          การพยายามสำรวจประสาทสัมผัสอาจทำเพิ่มได้อีก หากเราคิดถึงการเล่าเรื่องความฝันของวารีที่ปรากฏอยู่ทั้งตอนต้นเรื่องและปลายเรื่อง การฝันคือการเห็นในยามที่เราหลับตา หรือการที่ผู้เล่าเรื่องเปรียบเทียบเมืองเกียวโตกับโตเกียวผ่านการนอนหลับ (ซึ่งต้องหลับตาก่อน)

          ย้อนกลับไปเมื่อวารีอายุ 13 ปี เขามีป่าไผ่เป็นสถานที่หลบภัย แม้ป่าไผ่จะอันตรายเพราะมีงูชุม แต่ก็เป็นสถานที่ “ที่เขารู้สึกปลอดโปรงโล่งใจ รู้สึกปลอดภัยอย่างยิ่งจากสายตาผู้คน โดยเฉพาะพ่อของเขา” (หน้า 26) อย่างไรก็ตาม ครั้งหนึ่งในขณะที่วารีกำลังสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองอยู่นั้น พ่อของเขามาเห็นเข้าโดยไม่พูดอะไร (เรื่องที่ไม่ได้เล่า/เรื่องที่เล่าไม่ได้) พ่อพูดกับเขาน้อยลงหลังจากเหตุการณ์วันนั้น ในวันแห่งวาระสุดท้ายของพ่อ พ่อก็มองเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น คือความชิดใกล้ระหว่างวารีกับเพื่อนชาย ผู้เล่าเรื่องสรุปว่า วารีรู้สึกว่าเขาเป็นสาเหตุที่พ่อตาย เพราะพ่อตระหนกกับภาพที่เห็นกอปรกับอาการ “เหมือนเป็นตะคริว”  ที่ทำให้พ่อถูกดูดเข้าไปในวังน้ำวนที่ “เหมือนจานบิน มีหลุมดำอยู่ตรงกลาง” (หน้า 34)

          ที่ลับตาของวารีถูกทำลายซึ่งความลับตาโดยพ่อของเขาถึงสองครั้ง และในวาระทั้งสองนั้นหมายถึงการเสื่อมทรุดของความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพ่อจนถึงขั้นแตกสลาย เพราะเขาไม่ได้โอกาสได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์อีกเมื่อพ่อตายจาก เมื่อพ่อตายลงวารีจึงรู้สึกว่าสายตาของพ่อติดตามเขาไปทุกที่ ทำให้เขาไม่อาจมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับใครได้ หลังจากที่เขาได้พบกับโทโมะเขาได้ฝันสวยงามเป็นครั้งแรก ฝันนั้นรัญจวนใจจนเขาฝันเปียก

                กล่าวได้ว่าภายใต้ดวงตาของพ่อทั้งที่วารีมองเห็นและมองไม่เห็น การร่วมเพศของเขาไม่เคยเกิดขึ้นได้เลย ในวาระแรกเขาสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง (โดยอาศัยนิตยสารผู้ชายที่เต็มไปด้วยภาพหญิงเปลือย) ในวาระที่สองเขาฝันเปียกเพราะฝันถึงโทโมะ กล่าวได้ว่า ปิตาธิปไตยไม่ได้เข้ามาควบคุมเฉพาะเพศวิถีที่ไม่ใช่รักต่างเพศเท่านั้น แต่การควบคุมนั้นเข้มข้นถึงขนาดที่แทรกแซงเข้ามาในประเวณีของตัวละคร หรือลดทอนพลังทางเพศวิถีของตัวละคร (desexualized)

          การลดทอนพลังทางเพศวิถีนี้ถูกโยงเข้ากับการจับจ้องและการชำระล้างให้บริสุทธิ์ในรูปแบบอื่น จากวิทยานิพนธ์ “รูปแบบหลายนัยของความเป็นพ่อ” ทำให้เข้าใจได้ว่าปิตาธิปไตยที่คอยสอดส่องวารีนี้มิได้จำกัดแค่วิถีชีวิตทางเพศของเขา แต่หมายรวมไปถึงชีวิตทางการเมืองด้านอื่นของเขาด้วย เกียวโตซ่อนกลิ่น พยายามโยงเรื่องเข้ากับความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย รวมไปถึงปัญหาเชิงกฎหมายและความเคลื่อนไหวที่สัมพันธ์กับสถาบันศักดิ์สิทธิ์ในสังคมโดยเรื่องแสดงให้เห็นว่าวารีไม่ใช่ลูกที่ดีของพ่อ (ที่หมายความมากกว่าพ่อของเขา) “ไอ้ตัวทำลาย” และ “ไอ้เนรคุณ” (หน้า 104) เป็นคำที่ผู้เล่าเรื่องเชื่อว่าจะถูกใช้เรียกขานวารีเมื่อเขาเดินทางกลับประเทศไทย เพราะสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์วิทยานิพนธ์ของเขากำลังถูกดำเนินการทางกฎหมายหลังจากที่ถูก “พบเห็น” ว่ามีการเคลื่อนไหวทางการเมืองขัดต่อกรอบที่รัฐในบริบทนั้นได้วางเอาไว้

          ถ้ากลับมาพินิจอุปลักษณ์มนุษย์ต่างดาว มนุษย์ต่างดาวอาจเชื่อมโยงได้กับความแปลกแยกของตัวละครที่มีต่อครอบครัวของตัวเองหรือวงสังคมที่ใหญ่กว่านั้น ระหว่างที่วารีอยู่ในญี่ปุ่น แม้เขาจะรู้สึกแปลกหน้าต่อสถานที่ดังกล่าว แต่กลับเป็นพื้นที่ที่ทำให้เขาได้เข้าใกล้ปรากฏการณ์ของมนุษย์ต่างดาว และสื่อสารกับคนที่เขาต้องการสื่อสารด้วยได้อย่างใจ ผิดกับการอยู่ในประเทศไทยและการพูดภาษาไทยอย่างติดอ่าง หากกล่าวให้สำบัดสำนวนกว่านั้นคือ เมื่ออยู่ในญี่ปุ่น วารีเข้าทำนองว่ารู้สึกมั่นใจในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างสำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า “to be comfortable in one’s own skin” (จึงไม่น่าแปลกที่ผู้วิจารณ์โยงเรื่องสั้นเรื่องนี้เข้ากับภาพยนตร์ Mysterious Skin) “ที่เกียวโตเขารู้สึกเป็นอิสระที่จะรู้สึก ปลอดพ้นจากการถูกสอดส่องจ้องมองเข้าไปในจิตใจของเขา” (หน้า 82)

        ลักษณาการนี้อาจส่อนัยความปรารถนาของบุคคลที่รู้สึกอึดอัดกับการอยู่ในประเทศไทยภายใต้ระบอบปิตาธิปไตยหรือ “อำนาจของพ่อ” ที่สอดส่องแทรกแซงเข้าไปได้ในทุกอณูของชีวิตประจำวัน ผ่าน “ดวงตาอันเก่าแก่ที่ทั้งกล่าวโทษทำให้เกิดบาดแผลในจิตใต้สำนึกของเขา” (หน้า 82) ซึ่งอำนาจของพ่อนี้ได้ถูกล้อผ่านการเล่นกับสัญลักษณ์ของอัณฑะ เช่นการกล่าวถึงตำนานของเท็งกูจมูกยาว จมูกของพิน็อคคิโอ หรือแม้แต่การ “กินซอฟท์ครีมคนละโคน” (หน้า 60) ของโทโมะกับวารี

          ในตอนปิดเรื่อง วารีสำลักน้ำไปหลายต่อหลายครั้ง ก่อนที่เขาจะโผล่ขึ้นมาด้วยความรู้สึกอย่างใหม่ ความรู้สึกที่ว่า “เขาจะรับไว้ทั้งหมด เพียงรับไว้เท่านั้น เพราะเขาไม่รู้สึกว่าสูญเสียอะไรอีกต่อไปแล้ว” (หน้า 104) เราจะลองเรียกความรู้สึกของวารีว่าเป็นการปล่อยวางก็ได้หรือความไม่แยแสก็ได้ เช่นเดียวกับชายหนุ่มที่อ้างถึงในตอนต้นของบทวิจารณ์ เพราะเขาได้รู้ในที่สุดแล้วว่าถึงอย่างไรปิตาธิปไตยก็ไม่เคยปิดตา แน่นอนว่าดวงตาของปิตาธิปไตยที่จับจ้องมามีทั้งที่เรามองเห็นและมองไม่เห็น.

 

 

 


 

 


Visitors: 83,787