พรธาดา สุวัธนวนิช

 

พรธาดา  สุวัธนวนิช

เราต่างอยู่ใน “ครอบ(บ้าน)ครัว(เดียว)”

 

          ครอบ(บ้าน)ครัว(เดียว) เป็นนวนิยายของ ศรีฟ้า  ลดาวัลย์  ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเป็นตอน ๆ ลงในนิตยสารสกุลไทยตั้งแต่พ.ศ. 2541 - 2544 รวมเล่มเป็นครั้งแรกในพ.ศ. 2545 และในปีเดียวกันนั้นเอง    นวนิยายเรื่องนี้ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนวนิยายในการประกวดรางวัลเซเว่นบุ๊คครั้งที่ 2

 

 

        อัปสรเป็นตัวละครหลักที่ผู้ประพันธ์ใช้ดำเนินเรื่องนี้ นำเสนอเรื่องเล่าแบบย้อนหลัง (flash back) เริ่มเรื่องที่ฉากบ้านสวนรังสิตของคุณย่าอัปสรและคุณปู่พฤกษ์  ครอบครัวนี้กำลังจะสูญเสียซุ้ย –หลานซึ่งถือเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขคนสุดท้ายที่ยังอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกับปู่และย่าให้แก่แจ่มจิต อดีตลูกสะใภ้ม่ายที่แต่งงานใหม่และมาขอรับตัวบุตรชายไปอยู่ด้วย  ทำให้อัปสรย้อนคิดถึงอดีตแต่หนหลังที่อัปสรไม่เคยมีครอบครัวมาก่อนเลย

 

        อัปสรจัดว่าเป็นชาววังรุ่นสุดท้ายของวังสวนสุนันทา ในสมัยที่วังยังเป็นโรงเรียนชั้นสูงที่อบรมกุลสตรีผู้ถูกส่งไปถวายตัวเพื่อเป็นบาทบริจาริกาในวังหลวงหรือวังของเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง  หรืออาจอาศัยความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเจ้านายที่ประทับในวัง  สำหรับอัปสรแล้วเป็นอย่างหลัง  เพราะคุณยายหรือ ม.ร.ว.หญิง พวงแก้วที่เลี้ยงดูอัปสรนั้นหมดที่พึ่งเมื่อสิ้นคุณตา  คุณยายอยู่ในฐานะภรรยารองที่เลี้ยงอัปสรหลังจากลูกสาวคนเดียวคือคุณอรถึงแก่กรรม  ชาติกำเนิดของอัปสรนั้นเป็นที่รู้กันในยุคนั้นว่าเป็นถึงพระธิดาเสด็จในกรมพระองค์หนึ่ง  แต่เพราะพระองค์ท่านไม่ทรงยกขึ้นเป็นพระชายาหลังหม่อมเอกสิ้น  มารดาของเธอน้อยใจจึงหอบเอาลูกติดท้องกลับมาอยู่กับบิดามารดาของตนตามเดิม  แล้วถึงแก่กรรมตั้งแต่อัปสรยังเล็ก  อัปสรจึงอยู่ในฐานะที่คุณยายจะต้องวางในตำแหน่งที่เหมาะสม  เมื่อสิ้นบุญคุณตา คุณยายไปถือศีลอยู่ที่วัด จึงถวายอัปสรให้เป็นข้าของท่านพุดซ้อนซึ่งมีศักดิ์เป็นพระญาติของคุณยาย มีตำหนักอยู่ในวังสุนันทา  เด็กผู้หญิงในวัยแปดขวบคนหนึ่งจึงได้เติบโตมาในวังร่วมกับผู้หญิงที่เป็นนางข้าหลวงและบริวารในตำหนักเดียวกัน  ในบรรดานางข้าหลวงเดียวกันอัปสรสนิทสนมกับสามพี่น้องคือ สงบ ไสว และ สวาท รวมไปถึง ปุก บ่าวของสามสาวพี่น้องนั้น

 

        ชีวิตของสาวชาววังทั้งห้าต้องระหกระเหินเมื่อท่านพุดซ้อนถึงชีพิตักษัยในวันเดียวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร  วังจึงไม่ใช่ที่ที่จะหวนกลับไปพักพิงได้อีกต่อไป  สามสาวพี่น้องปรึกษากันว่าจะไปอยู่ในสวนซึ่งเป็นมรดกที่ท่านองค์นวลเคยประทานให้  อัปสรจึงขอติดตามไปด้วย เพราะจะกลับไปอาศัยอยู่กับญาติข้างมารดาก็ดูจะไม่ได้รับการต้อนรับที่ดีสักเท่าไร  แม้อัปสรจะเข้มแข็งเพียงใดคำพูดที่สะท้อนความว้าเหว่ของหญิงสาวชัดเจน

 

        “ตั้งแต่แต่ฉันเข้าไปอยู่กับท่านพุด  ฉันก็นึกอยู่ตลอดว่าฉันกับพี่ไหว น้าหงบ พี่หวาด และก็ปุกด้วย...” หันไปมองหน้าปุกผู้ซึ่งนั่งอยู่ข้างประตูแวบหนึ่ง
        “เป็นครอบครัวเดียวกัน  ยิ่งกว่าญาติ  ยิ่งกว่าพี่น้อง  คนอื่น ๆ นอกจากคุณยาย ถึงจะเป็นญาติแท้ ๆ ก็เหมือนไม่ใช่ญาติ จริง ๆ นะคะ” (น.219)

 

ครอบครัวอันประกอบด้วยผู้หญิงล้วนห้าชีวิตมาปลูกแพอยู่ที่สวนบางกรวย มีความสุขตามอัตภาพ  แต่ก็ต้องเผชิญกับความผันผวนในชะตาชีวิตของแต่ละคน  ปุกอุ้มลูกติดท้องออกจากบ้านที่ “ขอยืม” ปุกไปเป็นต้นห้องชั่วคราว  ไสวมีพระยาฤทัยราชภักดีมาชอบพอแต่ก็ต้องคลาดแคล้วกันไป ไม่ได้สมรสกัน  ในที่สุดอัปสรก็ได้ออกเรือนไปกับคุณพฤกษ์ที่เป็นพ่อม่ายหย่าร้างกับภรรยา  ปุกกับวนเวียน-ลูกสาวที่ปุกถือทิฐิและปล่อยให้เป็นลูกไม่มีพ่ออยู่เช่นนั้นติดตามไปรับใช้และช่วยดูแลเลี้ยงดูลูก ๆ ของอัปสรและพฤกษ์ทั้งห้าคนจนเติบใหญ่    เพราะปมลึก ๆ ในใจที่อัปสรขาดความอบอุ่นจากครอบครัวที่เป็นญาติพี่น้องของตน อัปสรจึงมีความฝันที่จะมีครอบครัวใหญ่ขยายออกไปเรื่อยๆ แต่เมื่อลูก ๆ ของเธอแต่งงานก็พากันแยกครอบครัวไปอยู่ที่อื่น  ซุ้ยจึงเหมือนสายใยสุดท้ายของครอบครัวที่ในที่สุดก็ต้องจากไป  ในวัยชรา อัปสรก็มีบารมีที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือยามลูกหลานมีปัญหา  ในที่สุด แม้จะได้ซุ้ยกลับคืนมา  อัปสรก็เสียคุณพฤกษ์ที่จากไปเพราะหมดอายุขัย  “ครอบครัว” ที่พฤกษ์ในวัยชราบอกกับอัปสรว่า” ถึงยังไงคุณก็ยังมีฉัน” (น.98) ก็กลายเป็นเหลืออัปสรเพียงคนเดียวกับบริวารเพียงแค่สองคน   

 

ลูก ๆ จะตกลงกันว่าอัปสรน่าจะไปอยู่กับครอบครัวของลูกคนใดคนหนึ่ง  อัปสรยืนยันที่จะไม่ไปอยู่กับลูกคนไหนทั้งสิ้น  ไสว และสวาทในวัยชราจึงคิดจะกลับมาอยู่เป็นเพื่อนอัปสร เป็นเหมือนครอบ(บ้าน)ครัว(เดียว)กันอีกครั้ง

 

 

แง่มุมที่ชวนในขบคิดของนวนิยายเรื่องที่นำเสนอชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งในช่วงหัวเลี้ยวของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศ  ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ครอบ(บ้าน)ครัว(เดียว)นี้  คือประเด็นตามชื่อเรื่อง ซึ่งอาจจะหมายถึงครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยย่อยที่สุดของสังคม  อันเป็นครอบครัวในจินตนาการของอัปสร ที่ฝันว่าจะมีครอบครัวเช่นนั้นจริงๆ สักที  แต่ระยะเวลาที่เป็น “ครอบครัว”ตามที่อัปสรฝันนั้นช่างแสนสั้น  “ครอบครัว” ที่อัปสรเข้าใจในที่สุดคือ “ครอบบ้านครัวเดียว” ตามที่ไสว และ สวาทในวัยชรา เอ่ยปากว่าจะกลับมาอยู่กับอัปสร “เรามันคนครอบบ้านครัวเดียวกัน” (น.717)  และสวาทขยายความว่า

 

อย่างคนหลายๆ คนกินกงสีก็เท่ากับว่าครัวเดียวกินกันทั้งบ้านใหญ่ ๆ ไงล่ะจ๊ะพี่ไหว  รึอย่างบ้านคุณหนู  อย่างในวังเจ้านาย มีเรือนหลาย ๆ หลัง  ผู้คนเยอะแยะ  แต่ไม่ต้องซื้อหามากิน  ถึงเวลาก็ไปแบกไปหิ้วเอามาทำมาหากิน  ไม่เรียกว่าครัวเดียวครอบไปทั้งบ้านหรอกรึ” (น.717)

ครอบครัวในความหมายหลังย่อมเป็นภาพแทนของประเทศชาติได้  ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า          “ผู้หญิง” มีนัยประหวัดไปถึง “แม่”  และ “แผ่นดิน” ซึ่งหมายถึงมาตุภูมิหรือแผ่นดินแม่นั่นเอง  ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้หญิงชาววังทั้งห้าคนที่ต้องมาใช้ชีวิตกันตามลำพังเป็นครั้งแรก  นั่นคือความว้าเหว่ไร้ที่พึ่งของผู้คนยามเกิดการเปลี่ยนระบอบการปกครองครั้งใหญ่ในประเทศ  ย่อมมีผลต่อวิถีชีวิตแบบที่คนไทยคุ้นชิน  แต่ด้วยความรักสงบของสาวชาววังเหล่านี้ ชีวิตก็ดำเนินต่อไป  แต่ชีวิตผันแปรไปก็ล้วนด้วย “ผู้ชาย” ทั้งสิ้น

 

ผู้ชายทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของผู้หญิงล้วนทำให้ชีวิตของเธอไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  เราเห็นได้ว่าตั้งแต่ชาติกำเนิดที่คลุมเครือของอัปสรทำให้เธอต้องเป็น “เจ้านอกบัญชี” ให้คนซุบซิบนินทาไปตลอดชีวิต เพราะบิดาผู้ให้กำเนิดไม่ใส่ใจ และเพราะลุงแท้ ๆ ก็ไม่ไยดีเท่าที่ควร  พระยาฤทัยราชภักดีผู้เป็นม่ายที่มาติดพันไสว  แม้ในเบื้องต้นจะเป็นที่พึ่งพอให้สาวทั้งห้าคนได้อุ่นใจ  แต่เมื่อรู้ว่าหลังภริยาท่านถึงแก่กรรมท่านเคยมีเมียบ่าว และมีลูกด้วยกัน  ไสวก็ยากจะทำใจยอมรับ  และยิ่งได้ข่าวความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างพระยาฤทัยราชภักดีกับคุณน้อย ญาติผู้พี่ของอัปสรซึ่งเป็นลูกเจ้าพระยา  ทำให้ไสวยิ่งถอยห่างเพราะเจียมตัวในชาติตระกูลที่ด้อยกว่า  และไม่มีโอกาสหวนกลับไปหาพระยาฤทัยฯ อีกเมื่อความตายมาพรากให้จากกัน  ไสวจึงไปถือศีลที่วัด  ส่วนปุก บ่าวของสามสาวพี่น้องที่ถูกขอยืมตัวไปเป็นต้นห้องให้ท่านจ้อย  ก็ถูกคุณจำรูญสามีของท่านจ้อยเข้าหา  จนต้องหอบลูกติดท้องกลับมาอยู่ที่เรือนแพตามเดิม

 

กว่าชีวิตอัปสรจะสมหวังเรื่องการสร้างครอบครัวก็มีอุปสรรคเกือบจะต้องคลาดแคล้วกับพฤกษ์  หลักจากที่พฤกษ์เห็นนิสัยที่แท้จริงของแววผู้เป็นภรรยา ก็ยิ่งนึกเปรียบเทียบกับอัปสรซึ่งเป็นเพื่อนที่ดีกับเขาเสมอต้นเสมอปลายมาโดยตลอด  และวางตัวได้อย่างเหมาะสมน่าชื่นชม  การหย่าขาดกับแววไม่ได้เป็นเรื่องง่าย  และต้องกระทบถึงอัปสร  แต่ในที่สุด  ชีวิตของอัปสรก็ได้ลงหลักปักฐาน  มีครอบครัว  เธอคิดสร้างบ้านที่รังสิตเพื่อรองรับครอบครัวขยายตามจำนวนสมาชิกโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของพฤกษ์ซึ่งอยากอยู่อาศัยในเมืองมากกว่า  ด้วยความมุ่งมั่นของอัปสร บ้านสวนก็กลายเป็นครอบครัวใหญ่  แต่ในที่สุดลูกๆ ก็เลือกที่จะไปสร้างครอบครัวของตัวเอง

 

ดังได้กล่าวไปแล้วในมิติแรกของ “ความเป็นหญิง” นวนิยายเรื่องนี้แสดงผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจาก “ความเป็นชาย”  ความเป็นหญิงในเรื่องนี้เป็นฝ่ายรองรับการกระทำของความเป็นชาย ทั้งในเรื่องความเป็นรองในเรื่องเพศสถานะ การดำรงสถานภาพในเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับชายผู้เป็นบิดาและสามี ดังชีวิตของอัปสร  หรือสามีเพียงอย่างเดียวดังชีวิตของมารดาและยายของอัปสร  ตลอดจนไสวซึ่งยังคงไว้ซึ่งสถานภาพเดิม เมื่อตัดสินใจปฏิเสธการสู่ขอของพระยาฤทัยราชภักดี   ในมิติของ “ความเป็นหญิง”ที่หมายถึงแผ่นดินแม่  ย่อมรองรับการกระทำของ “ความเป็นชาย” คือผู้นำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศชาติ  ความเปลี่ยนแปลงนั้นมีผลกระทบต่อองคาพยพหลายส่วนของความเป็นประเทศชาติ  บ้านเมืองต้องหวั่นไหวซวดเซไปบ้าง  แต่ด้วยการประคับประคองช่วยเหลือกันในยามหัวเลี้ยวแห่งจุดเปลี่ยน  สถานะของความเป็นครอบครัวจึงยังคงอยู่ได้ เช่นเดียวกับหญิงสาวทั้งห้านั่นเอง  แต่ก็ต้องอยู่ในกรอบที่ถูกความเป็นชาย “ครอบ”อยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


       เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้เขียนจงใจเล่นคำว่าครอบครัวเดียว  โดยใส่นขลิขิตคร่อมเป็น “ครอบ(บ้าน)ครัว(เดียว)”  นอกจากสะท้อนถึง”ความเป็นชาย” ที่ครอบความเป็นหญิงดังที่กล่าวไปแล้ว  ยังแสดงให้เห็นถึงเจตนาของผู้เขียนที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของคนในชาติที่เปรียบเสมือนครอบครัวเดียวกัน  หมายถึง การเทียบเคียงสถาบันการเมืองกับสถาบันครอบครัว เจตนาของอัปสรในฐานะแม่ที่ต้องการให้ลูกอยู่เป็นครอบครัวเดียวกันไม่ต่างอะไรกับประเทศชาติที่ต้องการพลังแห่งความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  แต่ความคิดเช่นนั้นกับ “พ้นสมัย”ในสายตาของคนรุ่นใหม่  การที่ลูก ๆ ของอัปสรเลือกที่ไปสร้างครอบครัวเอง  เพราะคิดต่างในเรื่องของความเป็นอิสระก็ดี  หรือให้ความสำคัญกับครอบครัวย่อย ๆ มากกว่าครอบครัวใหญ่   แต่เมื่ออัปสรต้องไปช่วยผ่อนหนักผ่อนเบาเมื่อลิลลี่หลานของตนที่พาบอมบ์ลูกชายคนเดียวของคุณหญิงศรีวรัดดามาหลบอยู่ที่บ้านสวนรังสิต  อัปสรสามารถปรามพ่อแม่ของเด็กวัยรุ่นทั้งคู่ไม่ได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรง  ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่าท้ายที่สุด “ความเป็นแม่” ในความเป็นหญิงก็สามารถจัดการให้แก่ปัญหาของครอบครัวเล็กๆ เหล่านั้น   เมื่อทุกคนเห็นความหวังดีของ “แม่”  หรือกล่าวในนัยสัญญะของความเป็นประเทศชาติบ้านเมือง  ความขัดแย้งย่อมไม่ลุกลาม  นี่คือครอบครัวที่อัปสรอยากให้เป็น  หรือนี่คือ ประเทศชาติที่ “สีฟ้า”อยากให้เห็น หลังจากผู้เขียนก็ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่ต่างจากอัปสรเช่นกัน

 

   นอกจากนั้นคำว่า “ครัว”ก็ยังมีความหมายที่ชวนให้คิดมิใช่น้อย  “ครัว”เป็นอาณาจักรของผู้หญิงก็ว่าได้  ครัวจึงเป็นพื้นที่ความเป็นหญิงที่ผู้เขียนต้องการจะโต้กลับกับวาทกรรมความเป็นชายที่แม่จะ “ครอบ”อยู่  แต่หากปราศจากเสียซึ่ง “ครัว” บ้านก็ไม่เป็นบ้าน  ประเทศก็ไม่เป็นประเทศ  อาหารเลี้ยงชีวิตของคนในบ้าน  คนในประเทศ  ผู้หญิงซึ่งเป็นครัวของบ้าน  จะต้องบริหาร “ครัวเดียว” ให้อยู่  ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นกับบ้าน  กับประเทศ  ครัวก็ยังหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คน  ครัวที่อยู่ในอำนาจของผู้หญิง  ดังนั้นจากคำกล่าวสรุปของสวาทที่ว่า “เรามันคนครอบบ้านครัวเดียวกันอยู่แล้วนี่” (น.717)  สวาทเปรียบเทียบกับการกลับมาอยู่รวมกันอีกครั้งเหมือนสมัยอดีตกาลครั้งยังอยู่ในวังสวนสุนันทา  ซึ่งสะท้อนทัศนะของผู้เขียนว่าความเป็นหญิง คือแผ่นดินแม่ที่ยังคงอยู่เสมอไม่ว่าโลกจะผันแปรไปอย่างไร  การเมืองจะแปรเปลี่ยนไปด้วยน้ำมือของใครต่อใคร แผ่นดินแม่ก็ยังเป็นที่พักพิงอยู่เสมอ  พื้นที่นั้นถูกขับเน้นโดยใช้สัญญะ “ครัว” คือที่พึ่งพิงปากท้องของคนในอาณาบริเวณที่แสดงถึงความเป็นหญิง หรือแผ่นดินแม่นั้นเอง 

 

 

           หากแต่ความคิดเช่นนั้น  คนในรุ่นลูกของอัปสรไม่อาจเข้าใจได้  ทุกคนคิดอยู่ว่าภายหลังจากที่พฤกษ์ถึงแก่กรรม อัปสรจะอยู่ตามลำพังคนเดียวได้อย่างไร  นั่นก็เพราะลูก ๆ ของอัปสรต่างก็มีแนวคิดของคนรุ่นใหม่  ที่แต่ละครอบครัวมีความเป็นปัจเจกมากกว่าจะยึดโยงกันเป็นครอบครัวใหญ่  ลูก ๆ จะพอใจมากกว่าถ้าอัปสรจะเลือกอยู่กับลูกคนใดคนหนึ่ง  หากผู้เขียนให้อัปสรเลือกเช่นนั้นเท่ากับยอมรับโดยปริยายว่าแนวคิดเดิมของการให้ความสำคัญแก่ถิ่นฐานบ้านเรือนที่มีศูนย์รวมคือแผ่นดินแม่จะต้องปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย  แนวคิดหลักของเรื่องก็จะขาดความน่าสนใจสิ้นเชิง  เพราะผู้เขียนให้ความสำคัญแก่ “ความเป็นหญิง”และแผ่นดินแม่มาตลอดทั้งเรื่อง  ความดื้อดึงของอัปสรและการสนับสนุนให้เธอยืนหยัดในจุดยืนอันมั่นคงจากบรรดาคนเก่าแก่ด้วยกันที่ยังมีชีวิตอยู่ คือ สวาทและสงบ ที่จะอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขอยู่กับอัปสรต่อไป  ยืนยันความรักและหวงแหน “อาณาบริเวณ” ที่ผนึกแน่นกับ “ความเป็นหญิง” ที่ไม่มีสิ่งใดมาพราก นอกจากความตายเท่านั้น

 

ครอบ(บ้าน)ครัว(เดียว) เขียนโดย ศรีฟ้า  ลดาวัลย์

พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก พ.ศ. 2545

 




 

 

 


Visitors: 81,109