พิเชฐ แสงทอง
พิเชฐ แสงทอง
ผู้หญิงกับปรารถนาแห่งการปลดปล่อย
ในรวมเรื่องสั้น “แตกเป็นแตก” ของ อุรุดา โควินท์
ได้ยินชื่ออุรุดา โควินท์ นักอ่านวรรณกรรมสายผู้หญิงก็คงจะร้องอ๋อ พอจะจินตนาการออกถึงสไตล์ กลิ่นอาย และอารมณ์ความรู้สึกที่คุ้นเคยในผลงานหลากเล่มของเธอ
อุรุดา เป็นนักเขียนหญิงคนสำคัญในวงการวรรณกรรมไทยช่วงทศวรรษที่ 2540 ที่ถือกำเนิดพร้อมๆ กับกระแส “ปลดปล่อยผู้หญิง” และ “สำนึกตัวตน/อัตลักษณ์” ในวงการวรรณกรรมซึ่งเริ่มตั้งเค้ามาและค่อยๆ ชัดเจนขึ้นในผลงานของนักเขียนรุ่นทศวรรษ 2530 ที่มีสุจินดา ขันตยาลงกต สุมิตรา จันทร์เงา แพร จารุ เป็นกลุ่มก้อนที่สำคัญ
นักเขียนร่วมรุ่นอุรุดาที่เด่นๆ แนวทางนี้ในช่วงนั้นก็เช่น สิตางสุภา ปรารถนา รัตนสิทธิ์ เอื้อ อัญชลี สร้อยแก้ว คำมาลา ชลัมพุ ณ ชเลลำ กฤติศิลป์ ศักดิ์สิริ เป็นต้น
บริบทสังคมไทยในช่วงทศวรรษ 2530 เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสำนึกเรื่องสตรีในวงวรรณกรรมไทย การศึกษาที่ดีเยี่ยมของเสนาะ เจริญพร เรื่อง “ผู้หญิงกับสังคมในวรรณกรรมไทยยุคฟองสบู่” เสนอว่าความตื่นตัวในประเด็นผู้หญิงในช่วงทศวรรษดังกล่าวสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างแยกไม่ออกด้วย
ทศวรรษ 2530 คือห้วงเวลาที่สังคมไทยเติบโตอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ การเคลื่อนขยับทางสังคม การขยายตัวของสื่อสารมวลชน ตลอดจนนโยบายทางการเมืองที่เปิดพื้นที่ให้กับความแตกต่างหลากหลาย บริบทเหล่านี้เห็นได้จากการเกิดขึ้นของกลุ่มอัตลักษณ์ทางสังคมต่างๆ ตลอดจนการมีพื้นที่ของกลุ่มคนชายขอบกลุ่มต่างๆ ที่ไม่เคยได้รับความสนใจ หรือสนใจน้อยในยุคก่อนหน้านั้น ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นน้ำเลี้ยงที่ร่วมกันสนับสนุนให้ประเด็นผู้หญิงได้รับความสนใจ กระทั่งเกิดวาทกรรม “ผู้หญิงก้าวหน้า” ขึ้นสังคมต่อมา
นิยามของผู้หญิงก้าวหน้าในบริบท 2530 ดังกล่าวสัมพันธ์กับการผลักดันผู้หญิงให้ออกมาจากในบ้านและในครัวมากขึ้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจเปิดพื้นที่และโอกาสให้แรงงานหญิงมีพื้นที่ที่หลากหลาย โดยเฉพาะแรงงานระดับสูงและระดับผู้บริหาร รวมถึงบทบาททางด้านการเมือง อย่างไรก็ตาม วรรณกรรมยอดนิยมในห้วงนั้นกลับแสดงให้เห็นว่าทศวรรษ 2530 ยังเป็นช่วงเวลา “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ที่ภาพตัวแทนผู้หญิงซึ่งวรรณกรรมนำเสนอยังคงมีความซับซ้อนย้อนแย้งกันอยู่ในตัวเอง เสนาะเห็นว่าความเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อคือ “สภาวะตึงเครียด” คือเกิดแรงขัดกันระหว่าง “แรงดึงไปสู่ความก้าวหน้า เสรีภาพ ความเป็นอัตบุคคล และ(ความเป็น)ผู้กระทำการ(ของผู้หญิง) กับแรงฉุดดึงในทิศทางตรงกันข้ามเพื่อให้ผู้หญิงกลับคืนสู่ความเป็นกุลสตรีและความเป็นเมียและแม่ที่ดี”
อย่างไรก็ดี เมื่อตรวจสอบกับวาทกรรมทางสังคม ก็พบว่า การถ่วงดุลกันระหว่างแรงกระทำในโครงสร้างดังกล่าวเป็นเพียงภาพลวงตา น้ำหนักอันแท้จริงนั้นเอนเอียงมาอยู่ที่ฟากความเป็นกุลสตรีและความเป็นเมียและแม่ เท่ากับว่าวาทกรรมหลักที่ควบคุมภาพเสนอเหล่านี้นั้น มิใช่ ‘วาทกรรมว่าด้วยความก้าวหน้าของผู้หญิง’ ตามที่ชวนให้เข้าใจกันแต่แรก ทว่าเป็น ‘วาทกรรมแบบปิตาธิปไตย’ ที่ฝังรากมายาวนานในสังคมไทย (หน้า 289)
การวิเคราะห์นวนิยายยอดนิยมดังกล่าวยืนยันให้เห็นความซับซ้อนของอำนาจที่แฝงฝังมาในรูปของวาทกรรมตามแนวคิดของมิเชล ฟูโกต์ ที่สื่อว่าอำนาจและการควบคุมนั้นบ่อยครั้งที่ไม่ได้แสดงตัวอย่างเปิดเผย แต่แฝงฝังมาในรูปแบบต่างๆ ที่ผู้ถูกควบคุมหรือครอบงำเองอาจจะไม่รู้สึกตัวเลยก็ว่าได้ ในกรณีนวนิยายประชานิยม แม้ผิวหน้าจะแสดงภาพตัวแทนผู้หญิงที่ก้าวหน้า ได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น แต่ในโครงสร้างความหมายระดับลึก ผู้หญิงเหล่านั้นยังคงถูกควบคุมโดยอำนาจของชายเป็นใหญ่ที่บ่อยครั้งที่ผู้ชายเองก็หาจำเป็นต้องเข้ามาเกี่ยวดองควบคุมโดยตรงแต่อย่างใด หากแต่อำนาจนั้นซ่อนแฝงอยู่ในสำนึกของวรรณกรรม ตัวบททางสังคมและวัฒนธรรมที่ถูกนำมาถักทอขึ้นเป็นวรรณกรรมชนิดที่หากไม่มีเครื่องมือในการวิเคราะห์ที่เท่าทัน ก็จะทำให้หลงชื่นชมอยู่ในมิติผิวหน้าที่เพียงแสดงออกอันน่าเฉลิมฉลองกับความเป็นผู้หญิงก้าวหน้านั่นเอง
อุรุดา โควินท์ เติบโตทางการเขียนขึ้นมาในบริบทดังกล่าวนี้ แม้ว่าในหมู่นักเขียนหญิงร่วมรุ่นทศวรรษ 2540 ของเธอจะมีเอกลักษณ์ในการสื่อเสนอภาพตัวแทนผู้หญิงที่หลากหลายตื้นและลึกต่างกันไป แต่ลักษณะร่วมกันของพวกเธอก็คือท่าทีและน้ำเสียงที่ต้องการสื่อสารตัวตนของความเป็นผู้หญิง ปฏิเสธตัวตนผู้หญิงที่เคยเอนอิงอยู่กับความเป็นชาย ซึ่งแตกต่างจากนักเขียนหญิงรุ่นพี่ในทศวรรษ 2530 ซึ่งพวกเธอเรียนรู้และรับรู้ผ่านการอ่าน ที่แม้จะพยายามสื่อสารตัวตนของผู้หญิงมากขึ้น แต่รุ่นทศวรรษ 2530 ก็ตัวตนจะเด่นชัดและสมบูรณ์ได้ก็ต้องมีผู้ชายเข้ามามีส่วนร่วมอยู่ดี ซึ่งเราจะเห็นท่าทีเช่นนี้ได้ทั้งจากงานของสุจินดา สุมิตรา หรือแม้แต่อัญชัน เหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า แม้นักเขียนหญิงรุ่น 2530 จะพยายามกดผู้ชายลงไปเป็นวัตถุที่ถูกเลือกถูกจ้องมองโดยผู้เลือก แต่เมื่อพวกเธอต้องการนิยามตัวเองว่าเป็นใคร ก็จำเป็นต้องดึงผู้ชายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนิยามอยู่ดี แม้แต่งานที่นำเสนอเรื่องราวเพศรสที่ผู้หญิงเลือกเองอย่างตรงไปตรงมาของสุจินดา และสุมิตรา บ่อยครั้งที่สถานการณ์พลิกกลับให้ผู้หญิงต้องอิงผู้ชายภายใต้วาทกรรมปิตาธิปไตยโดยไม่รู้ตัว
ลักษณะเช่นนี้แตกต่างจากในงานส่วนใหญ่ของนักเขียนรุ่นทศวรรษ 2540 ที่ผู้อ่านจะได้เห็นความหลุดพ้นจากตัวตนผู้หญิงที่หมายอ้างอิงผู้ชายมากขึ้น เราจะพบความพยายามที่จะนิยามเพศรสและความสัมพันธ์ระหว่างหญิงกับชาย หญิงกับธรรมเนียมประเพณี หญิงกับพื้นที่ ตลอดจนหญิงกับอุดมการณ์ทางสังคมและการเมืองใหม่ในงานของนักเขียนรุ่นนี้ที่แปลกต่างออกไป ด้วยเหตุนี้ งานเขียนของพวกเธอจึงเต็มไปด้วยพลังและแรงปรารถนาแห่งการปลดปล่อย
รวมเรื่องสั้นชุด “แตกเป็นแตก” ของอุรุดา โควินท์ เป็นสิ่งยืนยันลักษณะสำคัญที่กล่าวมาได้อย่างหนึ่ง งานเล่มนี้เป็นรวมเรื่องสั้นที่เคยตีพิมพ์กระจัดกระจายมาในห้วงทศวรรษ 2550-2560 ก่อนจะตีพิมพ์เป็นเล่มในปี พ.ศ.2563 โดยสำนักพิมพ์มติชน อุรุดา อธิบายในคำนำเธอต้องการสื่อว่า แตก หมายถึง “การได้สิ่งใหม่” แตกเป็นแตกอาจมีค่าเท่ากับการถนอมรักษา (ส่วนที่สามารถ) อาจหมายถึงการเริ่มต้น วิธีการเปลี่ยนรูปทรงก็ได้ (หน้า 7) ภายใต้นิยามนี้ การแตกก็คือจุดเริ่มต้นของการเกิดสิ่งใหม่ ซึ่งนี่เองที่เป็นมโนทัศน์หลักที่ควบคุมเรื่องราวต่างๆ ในหนังสือที่อ่านได้อย่างเพลิดเพลินเล่มนี้เอาไว้
“แตกเป็นแตก” เปิดเล่มด้วยเรื่องสั้น ฮาเร็มของชาโลเม่ ที่เล่าเรื่องราวคู่ขนานระหว่างคู่รักคู่หนึ่ง กับหมาตัวเมียที่ทั้งสองหาหมาตัวผู้มาให้อยู่ด้วยถึง 2 ตัว อุรุดาใช้เรื่องเล่าของหมาให้สะท้อนโต้ตอบกับเรื่องและความปรารถนาของตัวละครหญิงที่ซ้บซ้อนและสับสน บางครั้งอยากมีชีวิตอยู่คนเดียว บ้างก็อยากมีสัมพันธ์กับผู้ชายหลายคน เธอเทียบตัวเองกับชาโลเม่ว่า “แม้แต่ฝันเธอยังไม่กล้า ขี้ขลาดกว่าชาโลเม่อีก” (หน้า 20)
เรื่องนี้แม้เนื้อหาจะเน้นไปที่ความสัมพันธ์และความปรารถนาทางเพศ แต่เรื่องสั้นก็ปูพื้นให้เห็นถึงส่วนลึกของผู้หญิงที่ต้องการพื้นที่ส่วนตัว ความต้องการที่จะกำจัดความเป็นอื่น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการสิ่งเหล่านั้น ในแง่นี้ตัวตนของตัวเอกจึงเป็นผลผลิตของการที่ตัวเองผละจากความสัมพันธ์พอๆ กับที่พยายามเข้าไปสู่ความสัมพันธ์
จะว่าไปแล้วเรื่องสั้นเรื่องนี้เปรียบเสมือนบานประตูของหนังสือเล่มนี้ที่เปิดพาผู้อ่านเข้าไปเห็นความพยายามที่จะปลดปล่อยของตัวละครหญิง จากความสัมพันธ์ไม่กี่รูปแบบให้หลุดพ้นไปสู่ความโปร่งโล่ง ว่าง และงามตามอุดมคติของคำว่า “บ้าน” ของตัวละคร
ดังจะเห็นได้ว่าในเรื่องสั้นเรื่องต่อมาเรื่องเล่าถึงการที่ตัวละครหญิงหลุดพ้นจากความสัมพันธ์และพันธะที่ต้องเป็นฝ่ายแบกรับกับเพื่อนเพศทางเลือกคนหนึ่งที่ตายจากไปอย่างปริศนา เรื่องสั้นไม่ได้มุ่งสืบค้นปมปริศนา แต่กลับมุ่งเน้นไปที่การเปิดโปงความสัมพันธ์ให้เห็นว่าในอดีตนั้นผู้ตายเป็นภาระแบกรับของผู้ที่ยังอยู่อย่างไร ความตายของเขาจึงไม่นำความเศร้าเสียใจมาแก่ตัวละครใดเลย แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาจะดำเนินมายาวนานกว่า 10 ปีก็ตาม (หน้า 26)
ด้วยมโนทัศน์เพื่อการปลดปล่อย เรื่องสั้นเรื่องนี้จึงฉลองความตายหลังงานศพของเพื่อนด้วยการดื่มฉลองของเพื่อนหญิง 2 คนของผู้ตาย ความตายของเขาปลดปล่อยเธอทั้ง 2 ออกจากพันธะ “ฉลองอิสรภาพ ไม่ต้องคอยแคร์ความรู้สึกกันให้เหนื่อย ไม่ต้องระวังคำพูดคำจา” (หน้า 37)
เป็นที่น่าสังเกตว่าความปรารถนาที่จะปลดปล่อยของผู้หญิงในงานชุดนี้ ยังส่งผ่านมาถึงการปลดปล่อยผู้ชายโดยอ้อมด้วย ในเรื่องสั้น มากกว่าหมื่นครั้ง พิณฝนมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับสามีของเพื่อนผู้เป็นเพื่อนสนิทของพี่ชาย ทั้งคู่เคยเป็นเพื่อนร่วมก๊วนบันเทิงกันมาก่อน แต่สถานการณ์และความปรารถนาลึกๆ ดึงให้ทั้งสองลงเอยด้วยความสัมพันธ์ทางกาย
เรื่องสั้นเรื่องนี้ใช้กลวิธีที่แตกต่างไปจากเรื่องอื่นๆ โดยการเล่าสลับมุมมอง จากตัวละครฝ่ายชาย ตัวละครฝ่ายภรรยา และ “เธอ” ซึ่งเป็นตัวเอก แม้พื้นที่ส่วนใหญ่จะเล่าผ่าน “เธอ” แต่กลวิธีสลับที่แทรกเสริมเข้ามาก็ช่วยสนับสนุนแก่นเรื่องว่าด้วยความพยายามหลุดพ้นจาก “โซ่ตรวนแห่งการลงทัณฑ์” ของผู้หญิงและผู้ชาย การเปลี่ยนมุมมองทำหน้าที่เปิดเผยรายละเอียดให้ผู้อ่านเห็นถึงเหตุผลและความเป็นไปได้ของการนอกใจของฝ่ายชาย และการหลุดพ้นจากกฎเกณฑ์ของความสัมพันธ์ตามระเบียบสังคมและธรรมเนียมของฝ่ายหญิง
มุมมองที่แตกต่างนี้ แม้จะถูกควบคุมด้วยเสียงเล่าเดียวกัน แต่ก็ยืนยันให้เห็นว่าเงื่อนไขของความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันของปัจเจกบุคคลนำมาสู่การประเมินค่าความสัมพันธ์ที่ไม่เหมือนกัน ฝ่ายภรรยากับ “เธอ” จากเพื่อนจึงกลายเป็นศัตรู เขากับเธอ-จากเพื่อนกลายเป็นคู่รัก ก่อนที่จะกลายเป็น “คนรู้จัก” เมื่อเขาเดินย้อนกลับไปสู่โซ่ตรวนแห่งการลงทัณฑ์อย่างจำยอมและขี้ขลาด
เรื่องสั้นรักสามเส้าในลักษณะนี้อาจจะเห็นได้ไม่ยากในงานเขียนของนักเขียนหญิงกลุ่มหนึ่งในปัจจุบัน โดยเฉพาะในงานนักเขียนหญิงที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ P.S เรื่องจำนวนหนึ่งลงเอยลงที่การแตกร้าวของความสัมพันธ์ดั้งเดิมชนิดที่ประสานกันไม่ได้อีก แต่เรื่องนี้กลับน่าสนใจในแง่ที่ว่าตัวละคร “เธอ” หาได้ต้องการเพียงแค่ความอภิรมย์จากเพศรสเท่านั้น แต่ยังต้องการนำพาผู้ชายให้หลุดพ้นจากโซ่ตรวนแห่งการลงทัณฑ์ของชีวิตคู่อีกด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ขณะที่อยากอิ่มสุขกับเพศรส เธอก็อยากเป็นแม่พระผู้ปลดปล่อยผู้ชายอีกด้วย แม้ว่าจะต้องเจ็บปวดจากความสัมพันธ์เพียงใดก็ตาม
เรื่องสั้นเรื่องนี้จบลงที่ฝ่ายชายกลับไปหาครอบครัว จุดจบนี้ได้ยกระดับเรื่องสั้นให้มีความหมายในเชิงสาธิตเปรียบเทียบให้เห็นถึงสมรรถนะของผู้ชายในการปลดปล่อยตัวเองออกจากความสัมพันธ์ในลักษณะโซ่ตรวนว่า สุดท้ายแล้วผู้หญิงย่อมมีศักยภาพที่จะตัดบั่นโซ่ตรวนนั้นได้เก่งกว่า
ข้อสรุปเช่นนี้ทำหน้าที่สนับสนุนสาระสำคัญของเรื่องสั้นทั้งเล่มนี้ เรื่องสั้นอีกจำนวนหนึ่งหลังจากนั้นหมกมุ่นกับการปลดปล่อยผู้หญิงออกจากพันธะและความสัมพันธ์ ในเรื่อง ที่นี่ไม่มีอะไร เล่าถึงผู้หญิงคนหนึ่งที่ตกลงปลงรักกับชายหนุ่มนักขี่มอเตอร์ไซค์ เธอเบื่อที่จะใช้ชีวิตคู่กับเขา จึงมองหาชายมีฐานะดีๆ สักคนแต่ชีวิตที่ร้านกาแฟขายยากในหมู่บ้านก็ไม่เปิดโอกาสให้พบเจอทางเลือกที่ดีนัก เช่นเดียวกับเรื่องสั้น ชายผู้ยืนแกว่งแขน ที่แม้น้ำเนื้อของเรื่องจะเล่าถึงการปลดปล่อยผู้ชายออกจากภรรยาที่มีนิสัยเจ้ากี้เจ้าการจนไม่น่าพึงปรารถนา แต่ภาพผู้ชายก็สะท้อนปมความปรารถนาที่จะปลดปล่อยตัวเองออกจากกรงขังที่แม่สร้างขึ้นของลูกสาว
หรือเรื่อง อย่างราบรื่น บอกเล่าอาการถึงจุดอิ่มตัวของชีวิตคู่ผ่านพฤติการณ์ของภรรยาที่ย้อนกลับไปมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับคนรักเก่าอีกครั้งหนึ่ง ตัวละครเอกย้ำนักย้ำหนาว่า “ยังคงรักสามีและลูกไม่น้อยลงเลย” แต่สภาวะความเบื่อหน่ายที่ไร้เหตุผลก็ผลักดันเธอให้ออกจากบ้านและแสวงหาความพึงพอใจอื่นชั่วคราว
บนเส้นแกนเรื่องลักษณะนี้ รวมเรื่องสั้นนำผู้อ่านมาถึงจุดที่น่าสนใจสูงสุดในเรื่อง “เป็นอื่น” ที่ลูกสาวที่เคยมีชีวิตอยู่ที่อื่นกลับมาอยู่บ้านกับแม่ชราที่เริ่มป่วยไข้ เธอถูกแม่ให้นิยามว่าเป็นคนอื่นของบ้าน เพราะไม่ทำงาน ไม่มีมูลค่า ไม่มีศักยภาพ รอคอยแต่จะตักตวง ตัวตนของเธอถูกนิยามผ่านสายตาของแม่และกล้องวงจรปิด ซึ่งยิ่งตอกย้ำสถานะความเป็นอื่นของเธอให้ลึกซึ้งขึ้นไปอีก สุดท้ายจึงหาทางที่จะอยู่กันอย่างสันติกับแม่ได้โดยการนิยามแม่ว่าเป็น “คนอื่น” ด้วย
เรื่องสั้นเรื่องนี้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างลูกสาวกับแม่ แต่ก็ไม่วายที่จะสื่อสารถึงประเด็นสำคัญของเล่มที่ได้กล่าวถึงข้างต้น นั่นก็คือการปลดปล่อยผู้หญิงออกจากความสัมพันธ์ เราจะพบว่าหากพิจารณาในแง่ของท้องเรื่อง การที่แม่ปฏิเสธลูกสาวราวกับเป็นคนนอกหรือคนที่ไม่เคยรักกันเลยนั้น ถูกสร้างขึ้นด้วยเงื่อนไขที่ปราศจากเหตุผล ทั้งๆ ที่ตอนเป็นเด็ก ทั้งคู่เคยเป็นแม่กับลูกที่รักและห่วงใยกันมาตลอด แต่หากพิจารณาจากมุมของความปรารถนาแห่งการปลดปล่อยซึ่งเรื่องสั้นได้วางแนวทางมาตั้งแต่ต้น จะพบว่าแม้แต่ในมุมมองของแม่ การที่ลูกสาวเข้ามาอยู่ดูแลแม่ด้วยความรักและความห่วงใย มันก็เป็นโซ่ตรวนในชีวิตได้เช่นเดียวกัน ทางออกที่จะปลดปล่อยให้หลุดพ้นจากโซ่ตรวนนี้ก็คือ แม่และลูกสาวจะต้องกลายเป็นความเป็นอื่นของกันและกัน
แต่หากพิจารณาในฐานะที่เรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นสนามที่วาทกรรมอันแตกต่างได้มาต่อสู้สนทนากัน เราก็จะพบว่า แม่คือร่างทรงของวาทกรรมทุนนิยมที่แยกการทำงานบ้านออกจากการทำงานนอกบ้าน โดยเห็นว่าการอยู่บ้านเฉยๆ เพื่อ “เป็นเพื่อนและเป็นผู้ดูแลแม่ผู้ชราและเจ็บป่วยคือความไร้ประโยชน์” ทุนนิยมที่แยกงานที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ไปอยู่นอกบ้าน กดข่มให้การดูแลแม่กลายเป็นกิจกรรมที่ไม่ใช่งานและไม่ก่อให้เกิดผลผลิต เธอย้อนกลับไปเทิดทูนคุณค่าของครอบครัวแบบที่พยายามหลุดพ้นจากครอบครัวแบบทุนนิยม จึงกลายเป็นแรงงานไร้ค่าในสายตาแม่ไปในที่สุด
จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าตัวบทของวรรณกรรมเล่มนี้คือการสื่อเสนอถึงการปลดปล่อยผู้หญิงออกจากพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นนามธรรม คือ พื้นที่ความสัมพันธ์ ขนบธรรมเนียม ตลอดจนมายาคติทางสังคมต่างๆ แต่เราจะพบว่าตัวบทนำเสนอการปลดปล่อยในพื้นที่เชิงกายภาพด้วย โดยเฉพาะการพยายามสร้างนิยามใหม่ให้กับพื้นที่ “บ้าน” และ “ครอบครัว”
ดังจะพบว่าในเรื่องสั้นหลายเรื่อง ตัวละครจะคิดวนเวียนอยู่กับการปรารถนาที่จะมีบ้าน บางเรื่องตัวละครย้อนกลับไปหาครอบครัว แต่ทั้งบ้านและครอบครัวที่ตัวละครปรารถนา หาใช่บ้านและครอบครัวในกรอบนิยามเดิมที่เคยกักขังผู้หญิงเอาไว้ แต่พยายามนำเสนอให้เห็นว่าเป็นบ้านและครอบครัวที่ปลดปล่อยผู้หญิงมากกว่าที่จะกักขังเธอเอาไว้
พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ แม้เรื่องสั้นทั้งหมดจะปลดปล่อยผู้หญิงออกจากพื้นที่ทั้งรูปธรรมและนามธรรม แต่ก็ใช่ว่าเธอจะไม่พึงปรารถนาพื้นที่เหล่านั้น เพียงแต่จุดมุ่งหมายปลายทางของเธอคือการสร้างนิยามพื้นที่เหล่านั้นใหม่
นักเคลื่อนไหวสตรีนิยมบางกลุ่มมักจะเห็นตรงกันว่า บ้านและครอบครัว คือพื้นที่ที่ก่อให้เกิดรูปแบบของสภาวะทางจิตแบบครอบงำหรือขึ้นต่อขึ้นมา เช่น เด็กขึ้นต่อผู้ใหญ่ ผู้หญิงขึ้นต่อผู้ชาย ด้วยเหตุนี้บ้านและครอบครัวจึงเป็นจุดเริ่มต้นของสำนึกและวาทกรรมชายเป็นใหญ่ เป็นพื้นที่ที่ผลิตซ้ำและสืบทอดที่ส่งผู้หญิงออกไปเป็นปากเสียงให้กับปิตาธิปไตย
เรื่องสั้นชุดนี้เหมือนกำลังตระหนกถึงบทบาทคลาสสิคดังกล่าวของครอบครัว ตัวละครในหลายๆ เรื่องจึงพยายามสร้างนิยามใหม่เพื่อปลดปล่อยผู้หญิงบนพื้นที่เชิงกายภาพด้วย
ผู้อ่านจึงจะได้เห็นตัวละครในหลายเรื่องใฝ่ฝันที่จะมีบ้านและครอบครัวในแบบที่แตกต่างไปจากบ้านและครอบครัวปกติที่เคยเห็น เช่น เรื่องทั้งหมดไม่สื่ออารมณ์ของตัวละครชายหญิงที่จะมีลูกสืบสันดาน ในครอบครัวที่มีลูกแล้ว สายใยผูกพันความเป็นพ่อ-แม่-ลูก ก็น้อยจนแทบจะมองไม่เห็น ในเรื่อง ฮาเร็มของชาโลเม่ ตัวละครหญิงใฝ่ฝันถึง “บ้าน” และ “ครอบครัว” ในฐานะ “พื้นที่ว่าง” ซึ่งสื่อนัยถึงการปลอดจากอคติใดๆ ดังข้อความตอนหนึ่งว่า “บางคืนเธอฝันถึงบ้าน รวงรังของเธอ เธอเบื่อ เหนื่อยจนเหงื่อเหนียว แต่ยังตอบไม่ได้ว่าเหตุใดจนป่านนี้เธอยังไม่เป็นเจ้าของบ้าน บ้านในความหมายเต็มอิสรภาพ บ้านที่เธอจะเดินแก้ผ้า จะแหกปากตะโกน จะทำรักบนโต๊ะอาหาร จะพูดอะไรเมื่อไรก็ย่อมได้” (หน้า 15-16)
ข้อความนี้คือเบื้องลึกของตัวละครหญิงที่มีความสุขกับการมีเพศสัมพันธ์กับคนรักตลอดเวลา มีความสุขกับการได้เลี้ยงหมา แสดงความรักต่อหมา และพามันวิ่งเล่นในพื้นที่กว้าง อย่างไรก็ตาม บ้านในความหมายของเธอไม่ใช่การร่วมอยู่กับผู้อื่น เรื่องเปิดเผยว่าที่จริงแล้วเธอก็มีบ้านในลักษณะที่เธอฝัน คือ “บ้านชั้นเดียวหลังพอดี มีครัวโล่ง กว้าง มีห้องเก็บจานแบบวอล์กอิน มีสระเล็กๆ ให้หมาว่ายน้ำ บ้านของเธอโล่งมาก...ไม่มีห้องรับแขก...เตียงก็ไม่จำเป็น” (หน้า 16) บ้านในลักษณะนี้คือ “ที่ว่าง” จากมายาคติของความเป็นหญิงโดยสิ้นเชิง
หรือในเรื่อง เป็นอื่น หลังจากลูกสาวกลับบ้านมาเพื่อดูแลแม่ชรา เธอก็อยากมีที่อยู่ส่วนตัว เรื่องสั้นจัดวางพื้นที่ของลูกสาวให้อยู่แยกจากตัวบ้านของแม่ แต่ก็ไม่ไกลจนยากแก่การดูแลและเข้าถึง การสร้างฉากเช่นนี้ไม่เพียงสื่อนัยให้เห็นถึงความปรารถนาของตัวละครที่จะแยกตัวออกเองจากบ้านในนิยามเดิมที่แม่ผูกขาดไว้เท่านั้น แต่ยังพยายามนิยามบ้านเสียใหม่ผ่านมุมมองของผู้หญิง ซ้อนทับความเป็นชายที่เคยครอบงำพื้นที่บ้านนั้น ด้วยการให้รายละเอียดว่าห้องนั้นเดิมเป็น “ห้องพระ” (พุทธศาสนาที่เป็นศาสนาของผู้ชาย) ของ “พี่เขย” (ที่เข้ามาเป็นใหญ่ในครอบครัวแทนพ่อ) ขณะเดียวกัน แม่ กลับกลายเป็นร่างทรงของปิตาธิปไตย คอยปกป้องสอดส่องอำนาจความเป็นชาย โดยการดูแลห้องนั้นไม่ให้ถูกปรับปรุงให้กลายเป็นห้องของลูกสาว ไม่ให้เธอเคลื่อนย้ายข้าวของต่างๆ ของพี่เขย ถึงขนาดติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้เฝ้ามองจ้องจับ เพื่อไม่ให้การพลิกเปลี่ยนนิยามของลูกสาวทำได้อย่างง่ายๆ
ความตั้งใจที่จะนิยามพื้นที่ “บ้าน” ใหม่นี้มาถึงจุดสมบูรณ์ที่สุดในเรื่องสั้นเรื่องสุดท้าย เรื่องสั้นเรื่องนี้เล่าถึงสะใภ้ที่ต้องไปอาศัยอยู่ร่วมบ้านกับแม่สามี ความผูกพันในฐานะเมียของลูกชายแม่สามี ทำให้เธอขาดอิสระ แม้แต่การปรุงอาหารในครัว เธอไม่เพียงแต่ถูกอำนาจของความเป็นแม่สามีควบคุมชีวิตในบ้านเท่านั้น แต่แม้การกินก็ยังถูกควบคุมด้วย แม่สามีไม่ชอบกลิ่นการปรุงอาหาร เธอจึงต้องปรุงเมนูง่ายๆ ที่ไม่มีกลิ่นรุนแรง ซึ่งสื่อถึงการกินที่ไม่ได้เกิดจากอิสระในการเลือกของเธอเอง
เรื่องสั้นเรื่องนี้สื่อสารภาพของครอบครัวที่อบอุ่นผ่านการนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างภรรยาและสามีที่เท่าเทียมกัน และมีสุนัขเป็นเสมือนลูกในอุทร เรื่องเสนอว่าธรรมเนียมของการดูแลแม่เป็นอุสรรคต่อการสร้างนิยามบ้านและครอบครัวใหม่ ขณะเดียวกัน บ้านในความหมายที่มีช่วงชั้นทางอำนาจจากบนลงมาล่างที่ลูกต้องขึ้นต่อพ่อแม่ ภรรยาขึ้นต่อสามี นั้นเป็นบ้านที่มีปัญหา เรื่องสั้นจึงสาธิตให้เห็นความเสมอภาคเท่าเทียมผ่านกิจกรรมในบ้านที่ตัวละครหญิงคาดหวัง คือ การแยกครัวออกมาจากบ้านที่อยู่อาศัย การลงมือทำหน้าที่ในบ้านและในครัวของสองผัวเมียอย่างพร้อมเพรียง ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน ตลอดจนการให้ค่ากับสมาชิกอื่นๆ ในบ้าน แม้แต่สุนัขก็เลี้ยงเหมือนลูก และใช้สรรพนามว่า “เขา” แทน “มัน” เหมือนกับคนทั่วๆ ไป
จะเห็นได้ว่าเรื่องสั้น บ้าน คือการย้อนกลับไปเสริมคำอธิบายเรื่องบ้านและครัว ที่เรื่องสั้น ฮาเร็มของซาโลเม่ ได้วางเอาไว้ตั้งแต่ต้น เรื่องสั้นเรื่องแรกนิยามบ้านว่าคือความว่างจากสิ่งของและอำนาจอันเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ในลักษณะพันธะต่างๆ เรื่องสุดท้ายก็อรรถาธิบายเพิ่มเติมว่าพันธะดังกล่าวนั้นคืออะไรบ้าง พันธะทั้งหมดนั้นทำให้คำว่าบ้านและครอบครัวไม่อาจตอบสนองผู้หญิงยุคปัจจุบันอย่างตัวละครได้อีกต่อไป
เรื่องสั้นเล่มนี้จึงเป็นก้าวไปอีกขั้นหนึ่งของเสียงผู้หญิง ที่รู้เท่าทันอำนาจครอบงำในบ้านและครอบครัวที่ซูลามิช ไฟร์สโตน (Shulamith Firestone) เรียกว่า “จิตวิทยาแห่งอำนาจ” (power psychology) แต่การรู้เท่าทันนี้หาได้นำไปสู่การแตกหักที่จะปฏิเสธบ้านและ(ครอบ)ครัวในฐานะเบ้าหลอมที่ผลิตซ้ำและสืบทอดอำนาจความเป็นชาย หากแต่พยายามพลิกสร้างคำนิยามเสียใหม่เพื่อให้ความเป็นหญิงและความเป็นชายสามารถดำรงอยู่ด้วยกันได้อย่างเท่าเทียมมากกว่า
--------------------------------------------------------------------------------
“นครคนนอก” ถนน สังคมสมัยใหม่ และการ (ไม่) ลืม
การได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซี่ยนประจำประเทศไทยของรวมกวีนิพนธ์ชุด “นครคนนอก” ของกวีหนุ่มนาม พลัง เพียงพิรุฬห์ เมื่อ พ.ศ.2559 แม้ว่าจะสร้างความแปลกใจให้กับวงการกวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัยอยู่บ้าง โดยเฉพาะในแง่สถานะของกวีนิพนธ์ชุดนี้ ที่ถ้าหากนำไปเทียบวางบนเส้นเวลาของพัฒนาการกวีนิพนธ์ไทย (หรืออย่างน้อยที่สุด ก็กวีนิพนธ์ที่ได้รับรางวัลซีไรต์) “นครคนนอก” ควรจะถูกวางเอาไว้ตรงจุดไหน จุดที่เป็นปัจจุบันของพัฒนาการ หรือควรจะย้อนกลับไปในอดีต
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือในฐานะที่รางวัลซีไรต์ถูกมาดหมายว่าเป็นรางวัลซึ่งเป็นผู้ขีดหรือปักหลักไมล์บนเส้นเวลาแห่งพัฒนาการของวรรณกรรมไทย ในปี พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นรอบของกวีนิพนธ์ ซีไรต์ได้ปักหลักให้กับผลงานของพลัง เพียงพิรุฬห์ ในสถานะที่กวีนิพนธ์เล่มนี้สะท้อนอย่างเด่นชัดถึงก้าวเดินล่าสุดของกวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัยแล้วหรือไม่
ไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้อย่างแน่ชัด กระทั่งรางวัลซีไรต์เอง แม้ว่าในคำประกาศเกียรติจะทิ้งท้ายไว้ว่า “กวีนิพนธ์เล่มนี้ จึงเป็นหน้าใหม่ของกวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัย” แต่หากพิจารณาจากรายละเอียดที่คำประกาศได้กล่าวถึงคุณสมบัติของกวีนิพนธ์ที่มุ่งนำเสนอภาพชีวิตอันดิ้นรนทนทุกข์ของคนในเมือง คนในชนบท และเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ เราก็จะพบว่า กวีนิพนธ์ที่นำเสนอภาพชีวิตในลักษณะนี้เกิดขึ้นอย่างเด่นชัดมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2530 ซึ่งสังคมไทยช่วงเริ่มได้ทำความรู้จักกับความไวแบบออนไลน์ ซึ่งแน่นอนว่า ในห้วงเวลาการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ กวีหรือวรรณกรรมมักจะมีความรู้สึกไวที่จะออกมาตั้งคำถาม วิพากษ์ และแสวงหาหนทางในการอยู่ร่วม ดังเราจะได้เห็นท่าทีเช่นนี้ในงานของกวีรุ่นทศวรรษ 2530 เช่น มนตรี ศรียงค์ สุขุมพจน์ คำสุขุม ศิริวร แก้วกาญจน์ ตลอดจนกวีรุ่นทศวรรษ 2540 อย่างอังคาร จันทาทิพย์ พิเชษฐศักดิ์ โพธิพยัคฆ์ โกสินทร์ ขาวงาม เป็นต้น
ด้วยเหตุดังนี้ การอธิบายลักษณะเด่นของ “นครคนนอก” โดยการให้ความสำคัญกับสถานภาพ “(โฉม) หน้าใหม่” ด้วยการยึดเอาการฉายภาพชีวิตคนชายขอบ/คนชั้นล่างผู้ดิ้นรนในยุคแห่งเทคโนโลยี และการเขียนด้วยภาษาที่ “สั้น กระชับ มีพลัง คมชัดทั้งเสียงและความหมาย ให้ภาพของผู้คนที่สังคมมองข้ามเนื้อหาครอบคลุมสังคมร่วมสมัย ชีวิตในเมือง ชีวิตชนบท และเทคโนโลยีสมัยใหม่”[1] ดังที่ปรากฏในคำประกาศ จึงนอกจากจะลดทอนจุดเด่นของกวีนิพนธ์ของพลัง เพียงพิรุฬห์ ชุดนี้ลงไปให้กลายเป็นกวีนิพนธ์ที่เขียนถึงคนชายขอบซึ่งนับเป็นแนวเนื้อหาที่ครอบครองพื้นที่กวีนิพนธ์ (และวรรณกรรม) ไทยมาอย่างยาวนานอย่างช้าก็ตั้งแต่ทศวรรษ 2520 แล้ว ทว่ายังเป็นการตัดบั่นเส้นทางพัฒนาการของกวีนิพนธ์ไทยที่ให้ความสนใจ/ใส่ใจโลกของการเปลี่ยนแปลงจากยุคก่อนสู่ยุคเทคโนโลยี (ไร้สาย) ซึ่งเคยมีมาแล้วอย่างช้าที่สุดตั้งแต่กึ่งทศวรรษ 2530 ให้มาเริ่มต้นอย่างแสนเชื่องช้าที่ปลายทศวรรษ 2550
คำประกาศนี้จึงเหมือนกับการประกาศว่ากวีไทยไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งๆ ที่ในความรับรู้ทั่วไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง จะว่าไปแล้วเหตุนี้นี่เองที่อาจจะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เกิดสุ้มเสียงที่ไม่คล้อยตามกับคำประกาศของรางวัลในปีดังกล่าว
ในแง่ของกลวิธีในการนำเสนอ ปฏิเสธไม่ได้ว่า “นครคนนอก” ฉลาดในการหยิบฉวยเอาลักษณะการสื่อสารและการรับรู้ผ่าน “วัฒนธรรมการจ้องมอง” หรือ “วัฒนธรรมทางสายตา” (visual culture) ของสังคมยุคปัจจุบันมาใช้สื่อในเล่มบทกวี เราจะพบว่ามีการใช้สื่อประกอบเรื่องที่มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่าง “ภาพประกอบ” และ “วรรณรูป” รวมทั้งสิ้น 13 หน้า
สื่อประกอบดังกล่าวนี้ในคำประกาศของกรรมการ ถือให้เป็น “วรรณรูป” แต่ขณะเดียวกันมันก็สามารถอ่านในฐานะ “ภาพประกอบ” บทกวีได้อีกด้วย ลักษณะเช่นนี้ ทำให้สถานะของสื่อดังกล่าว สามารถถูกอ่านได้จากหลายมุม มันจึงย่อมมีหลายความหมายได้ด้วย ผู้อ่านที่คุ้นเคยกับขนบการอ่านแบบขนบ ก็จะพิจารณาสื่อนี้ในฐานะวรรณรูป (ซึ่งเป็นประเภทและรูปแบบวรรณกรรมหนึ่งที่เคยได้รับความนิยมในสังคมวรรณกรรมไทยมาอย่างประปรายตั้งแต่ทศวรรษ 2510 ผ่านผลงานเลื่องชื่อของกวีและจิตรกร จ่าง แซ่ตั้ง)
ขณะเดียวกัน ผู้อ่านอีกกลุ่มก็อาจจะมองมันเป็นภาพประกอบ เนื่องจากผู้เขียนบรรจุตัวอักษรลงไปในเค้ารูปร่างที่มีอยู่แล้ว โดยไม่ได้สื่อสารความหมายที่ซับซ้อนเท่าที่ลักษณะของวรรณรูปควรจะเป็น เช่น ในหน้า 47 ตัวอักษรที่เขียนว่า รัก โลภ โกรธ หลง ถูกเขียนกระจายเป็นระเบียบอยู่ในเค้าโครงร่างที่เป็นคน 4 คนเดินกอดคอกัน ซึ่งค่อนข้างที่จะไม่ค่อยลงรอยกับคติความเชื่อในทางศาสนาที่มองว่ารัก-โลภ-โกรธ-หลง นั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์และเป็นสภาวะอันซับซ้อนที่ดำรงอยู่ในตัวคนๆ เดียวก็ได้ การที่กวีเขียนให้คำว่า “รัก” เรียงตัวกันเป็นระเบียบในเค้าร่างของคนๆ หนึ่งจึงควรเป็นมีสถานะเป็นภาพประกอบมากกว่าต้องการสื่อสารในเชิงวรรณรูป ดังที่คำประกาศรางวัลได้ชื่นชม
อย่างไรก็ดี ถ้าหากอ่านในอีกมุมหนึ่ง ไม่ว่าจะในฐานะภาพประกอบ หรือวรรณรูป หากพิจารณาจากมุมมองแบบวัฒนธรรมศึกษา เราอาจจะอธิบายได้ว่า ทั้งสองนั้นถือเป็น “ตัวบท” ที่สามารถนำมาศึกษาวิเคราะห์ในลักษณะ textual analysis ตามแนวศึกษาแบบวัฒนธรรมศึกษาได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือเราอาจดูมันในฐานะภาพ และอ่านมันในฐานะตัวหนังสือหรือตัวอักษร แต่ทั้งสองอย่างนั้นก็ไม่เคยอยู่แยกออกจากกันได้ ดังที่เอลลา โชแฮต (Ella Shohat) และโรเบิร์ต สแตม (Robert Stam) สองนักวิชาการด้านวัฒนธรรมศึกษาชาวอเมริกัน เห็นว่าการรับรู้ความหมายผ่านการมองนั้นไม่เคยบริสุทธิ์ผุดผ่อง หากแต่ต้องร่วมกับการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสอื่นๆ ด้วยเสมอ เช่นเดียวกับ W.J.T. Mitchell นักวิจารณ์วรรณกรรมที่ยืนยันว่าไม่มีสื่อของการมองและสื่อของการอ่านที่บริสุทธิ์ กล่าวคือ ไม่มีภาพที่ปราศจากข้อความ และไม่มีข้อความที่ปราศจากภาพ ทั้งสองอย่างนี้ไม่สามารถที่จะแยกออกจากกันได้อย่างสิ้นเชิง พลัง เพียงพิรุฬห์ ตอกย้ำความคิดเช่นนี้ของตัวเองในบทกวีสั้นๆ 3 วรรค ที่ตัวเนื้อของบทกวี “สั้น” กว่าชื่อของบทกวี เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพัลวันพัลเกของสิ่งที่เรียกว่า “นาม” และ “เนื้อ” หรือสิ่งที่ตาเห็น กับสิ่งที่มีอารมณ์ภายในรู้สึก คือในบท “วิญญาณคือรอยต่อระหว่างตากับรูปารมณ์” ที่ตัวเนื้อบทกวีมีเพียงสั้นๆ ว่า
“ทรายละเอียด
สงบนิ่ง
หินเบา”
ทั้งสามคำนี้มีความสัมพันธ์กันผ่านสายตามองเห็น และจิตใจที่สัมผัสรู้สึก ทั้งตาและใจจึงร่วมกันก่อให้เกิดสภาวะภายในหรือที่กวีไทยนิยมเรียกว่า “สภาวะทางจิตวิญญาณ” ซึ่งเป็นประสบการณ์ในเชิงนามธรรมที่ยอมรับกันว่าลึกซึ้ง
หากกล่าวว่าสังคมสมัยใหม่คือสังคมที่ผู้คนเรียนรู้ผ่านการมอง หรือผ่านวัฒนธรรมทางสายตา หรือสังคมที่แยกภาพออกจากข้อความ เราก็อาจกล่าวได้ว่า กวีนิพนธ์เล่มนี้ของพลัง เพียงพิรุฬห์ คือการพยายามฉุดดึงให้การเรียนรู้ผ่านสายตากับการเรียนรู้ผ่านตัวอักษรและคำพูดได้ย้อนกลับมาญาติดีกันอีกครั้งหนึ่ง ในแง่นี้ “นครคนนอก” จึงราวกับเป็นการยื่นข้อเสนอให้สังคมสมัยใหม่ย้อนทวนประสบการณ์ตัวเองเพื่อจะได้พบว่าอะไรและใครบ้างที่ความเป็นสมัยใหม่ได้ทำหล่นหายไประหว่างกระบวนการกลายเป็นสังคมสมัยใหม่ของมัน
ผู้เขียนอ่านกวีนิพนธ์เล่มนี้จบหลังได้รับการประกาศให้เป็นกวีนิพนธ์รางวัลซีไรต์ไม่นานนัก เป็นการอ่านที่กินเวลายืดยาวมาตั้งแต่ก่อนการประกาศรอบที่ 1 และรอบสุดท้ายนานพอสมควร ประสบการณ์ที่เคยสัมผัสบทกวีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนชายขอบมาบ้าง และเห็นการเติบโตของกวีนิพนธ์เนื้อหาลักษณะนี้มาตลอดร่วม 30 ปีเวลาที่ได้ศึกษากวีนิพนธ์ไทย ทำให้ผู้เขียนไม่แปลกใจนักเมื่อได้เห็นตัวละครชาวอีสานที่เข้าเมืองมาเพื่อต่อสู้ชีวิตในเมือง ตัวละครชายแก่ที่ต้องโดดเดี่ยว ผู้ขายแรงงาน ผู้หญิง สาวโรงงาน ช่างเหล็ก ช่างกลึง เป็นตัวเอกในงานเล่มนี้ของพลัง เพียงพิรุฬห์
อย่างไรก็ดี ระหว่างระยะเวลาที่อ่านอันยาวนานนั้น ผู้เขียนพบกับฉาก หรือสถานที่ที่สะดุดตาสะดุดใจอยู่อย่างหนึ่งที่มักจะปรากฏซ้ำๆ กันในหลายต่อหลายบทกวี สิ่งนั้นก็คือ ถนน ยานพาหนะ และความรวดเร็ว (ความเร็วดังกล่าวนี้ยังเสนอผ่านรูปแบบของกวีนิพนธ์ที่หยิบยืมเอาจังหวะและภาษาแบบเพลงแร็พและเดทเมทัลมาใช้ด้วย) สามสิ่งนี้ปรากฏมากจนกระทั่งอาจจะถือเป็นตัวละครตัวหนึ่งที่มีบทบาทในการแสดงตัวและแสดงความหมายในบทกวีด้วย อย่างเช่น ในบท “หน้าเหลืองทางคด...รถเมล์” ที่เล่าถึงชีวิตที่ไม่เคยสิ้นหวังของป้าประนอม กระเป๋ารถเมล์ชั่วชีวิต “ปีเตอร์ รูท กับแม่รี่ ทอมป์สัน และคนอื่นอื่น” ที่เปรียบเสมือนบทไว้อาลัยให้แก่นักปั่นจักรยานผู้ต้องสังเวยชีวิตให้กับวัฒนธรรมความเร็วบนถนนหลวงของไทย “เคลม” เล่าถึงมุมมองของตัวแทนบริษัทประกันภัยรถยนต์ต่อภาพเหมารวมของสังคมที่มองคนเหล่านี้ในเชิงลบ “บนถนนสายมหาสารคามขอนแก่น” เล่าถึงชีวิตชายชราไทยเชื้อสายจีนผู้เคยประกอบกิจการเดินรถขนส่ง ที่ชะตากรรมต้องตกอับอย่างรวดเร็วด้วยอุบัติเหตุบนนท้องถนนขนาดหนักที่จะต้องรับผิดชอบในฐานะเจ้าของรถขนส่ง “เด็กเด็กมักอยู่ในท้องหนอนตัวนั้น” ที่เล่าถึงวิถีเมืองที่เด็กๆ ต้องทำกิจกรรมบนรถไฟฟ้าอันแออัด “ภพผนัง” ที่ให้ตัวละครผู้มีบทบาทในการสร้างถนนระลึกถึงความสำคัญของตนที่กำลังจะถูกลืมเลือน “ความฝันพุ่งหลาวเข้าไปในเมือง” ที่ปลุกให้เห็นการเชื่อมต่อระหว่างชนบทและเมืองผ่านความตั้งใจใฝ่ฝัน หรือชิ้นที่เป็นหัวใจของแนวคิดเรื่องนี้ก็คือ “ท้องถนนคือชนเผ่านักเล่าเรื่อง” ที่ให้ความสำคัญกับถนนในฐานะพื้นที่ที่มีมิติทางประวัติศาสตร์ซึ่งบอกเล่าถึงพัฒนาการของสังคมและผู้คน ท้องถิ่นที่เป็นทั้งพื้นที่และเวลาซึ่งบรรจุเอาไว้ซึ่งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของสังคมมนุษย์เอาไว้
หากเมืองคือหัวใจของความเป็นสังคมสมัยใหม่ เราอาจกล่าวได้ว่า สังคมสมัยใหม่ก็มีถนนเป็นหัวใจได้เช่นเดียวกัน ดังที่เราจะได้เห็นว่า พัฒนาการการเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ที่ของสังคมไทยนั้น การปรับปรุงการคมนาคมได้กลายเป็นภารกิจหลักที่ชนชั้นปกครองในกรุงเทพฯได้ริเริ่มปฏิบัติการในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถนนจึงทำให้พื้นที่ประเทศไทยแคบเข้า และระยะเวลาในการเข้าถึงสั้นลง อันเหมาะแก่การแผ่อำนาจการปกครองและการสอดส่องตรวจตรา เพราะมันคือการกระชับอำนาจทั้งในแง่นามธรรมและรูปธรรม[2]
อย่างไรก็ดี การเข้าสู่สังคมสมัยใหม่อย่างรวดเร็ว ผ่านการเติบโตของความสะดวกสบายในการใช้ถนนก็ทำให้สังคมสมัยใหม่หลงลืมสิ่งใดๆ ไปหลายๆ อย่างที่อยู่ระหว่างทาง พอล คอนเนอร์ตัน (Paul Connerton) นักสังคมวิทยาชาวอังกฤษในผลงานเลื่องชื่อเรื่อง How Modernity Forgets เห็นว่าพัฒนาการทางการเดินทางที่มนุษย์เคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งโดยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการคมนาคมขนส่งและการสื่อสาร เป็นลักษณะทางกายภาพหนึ่งที่นำไปสู่การทำลายสัมพันธภาพระหว่างคนกับสถานที่ คนจะเรียนรู้และรู้จักสถานที่ผ่านกระจกรถที่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว มันจึงเป็นการลดทอนความทรงจำที่ยึดโยงกับสถานที่ไปในที่สุด และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สังคมสมัยใหม่ไม่เพียงแต่จะลืมอดีตเท่านั้น แม้แต่ “ปัจจุบัน” เราก็ลืมกันได้อย่างง่ายดาย
ผู้เขียนคิดว่าการที่บทกวีชุด “นครคนนอก” ให้ความสำคัญกับตัวละครและฉากที่เป็นถนน ยานพาหนะ และความรวดเร็ว คือความพยายามที่หยิบยื่นวิธีที่จะ “ไม่ลืม” ให้แก่สังคมสมัยใหม่ของกวีนิพนธ์ไทย
การพิจารณา “นครคนนอก” บนมโนทัศน์นี้ ทำให้เราเห็นถึงความเหมาะเจาะเหมาะควรของการใช้ภาพที่คลุมเครือว่าจะเป็นภาพประกอบหรือ (ตัวบท) วรรณรูปที่ปรากฏในเล่มดังที่ได้กล่าวถึงแล้วข้างต้น กล่าวคือเป็นการเสนอการจดจำผ่านการมองเห็นภาพไปพร้อมๆ กับการจดจำผ่านการอ่านลายลักษณ์อักษร ขณะเดียวกันก็ประกบบทกวีในแต่ละบทด้วยภาพประกอบลายเส้นเป็นระยะๆ เพื่อสื่อสารไปด้วยกันระหว่างการดูและการอ่านที่มิทเชลล์ระบุว่ามันไม่สามารถแยกออกจากกันได้
อีกวิธีการหนึ่งก็คือการชะลอความเร็ว หรือการหยุดตัวละครยานพาหนะไว้ชั่วคราว ทั้งโดยชะลอผ่านสภาพของยานพาหนะที่เก่าบุโรทั่งดังในบทกวี “หน้าเหลืองทางคด...รถเมล์” การชะลอผ่านการสลับมาให้ภาพการปั่นจักรยานท่องโลกของปีเตอร์ รูท และแมรี ทอมป์สัน การขับรถมอเตอร์ไซค์ของนักธุรกิจให้เช่าเต็นท์ ใน “บริการเต็นท์ให้เช่า” หรือการหยุดด้วยการประสบเหตุของรถยนต์ในชิ้น “เคลม” หรือ “บนถนนสายมหาสารคามขอนแก่น” การชะลอและหยุดเหล่านี้ทำให้ได้พินิจเห็นชีวิตของผู้ที่เคยอยู่บนท้องถนน ยานพาหนะ หรือร่วมในความเร็วนั้น ดังตอนหนึ่ง ผู้อ่านจะได้เห็นชีวิตและจิตใจของป้าประนอม กระเป๋ารถเมล์ชรา
กระเด็นกระดอนค่อนถนน
ชีวิตคนข้นหลอม
ประเป่ารถชรา ป้าประนอม
ตรากตรำผ่ายผอมตรอมตรม
เคลื่อนไหวเชื่องช้าล้าแล้ว
หูเหืองแว่วเพียงเสียงขรม
เบียดเสียดกลิ่นตัวสูดดม
ทรุดร่างเป็นลมหลายครา (หน้า 23)
บทกวีตอนนี้ให้ภาพที่เคลื่อนไหวอยู่บนรถเมล์ของป้าประนอมที่สังขารเริ่มจะราโรยลงทุกวัน แต่ในบทถัดมาก็วิพากษ์ว่าภาพเหล่านี้เป็นภาพที่ถูกทำให้เลือนหายไปด้วยความเร็วของรถ “รถเมล์แล่นลิ่วปลิวหาย เร้นจากความหมายเพียงผง กลางฝุ่นอายแดดเที่ยงตรง ฝ่ารถเป็นดงกดดัน” หลังจากนั้น กวีก็หยุดภาพเคลื่อนไหว แล้วย้อนพาผู้อ่านไปสัมผัสกับความเป็นมาของป้าประนอม และเผยถึงมิติทางจิตใจของนางที่ยังคงใฝ่ฝันถึงชีวิตที่ดี แม้สังขารจะร่วงโรยมากแล้วก็ตาม
หรือในบท “บนถนนสายมหาสารคามขอนแก่น” ที่กวีหยุดยานพาหนะด้วยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถบรรทุกของเจ๊กเซียมชาวไทยเชื้อสายจีน ให้เขาได้ย้อนทวนชีวิตตัวเองที่ธุรกิจรถขนส่งต้องล้มเลิก ครอบครัวแตก จนต้องระหกระเหิน ดิ้นรนทำมาหากินประกอบอาชีพอื่นๆ อีกมากมายเพื่อกอบกู้สถานการณ์ พาตัวเองและครอบครัวกลับคืนสู่โลกสมัยใหม่ แต่ก็ต้องล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า บทสุดท้าย บทกวีให้ภาพตัวละคร ว่า
ชายแก่เหม่อผ่านม่านเมษา
ความหลังล่วงเลยมาไม่เห็นแสง
เนรเทศตนสู่ต่างถิ่นสิ้นเรี่ยวแรง
ก่อกำแพงทุกข์โศก...โลกปิดตาย (หน้า 31)
ภาพชายจีนชราผู้สิ้นอาลัยภาพนี้จึงเป็นเหมือนตัวอย่างของตัวละครที่ถูกสังคมสมัยใหม่หลงลืม เขาเติบกล้าขึ้นมาเป็นเจ๊กเซียมผู้มีฐานะด้วยเงื่อนไขของความเร็วแบบสังคมสมัยใหม่ แต่สุดท้ายแล้วมันก็เคลื่อนที่ผ่านเขาไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเขากักขังตัวเองไว้ในความทุกข์ไม่ยอมเคลื่อนที่อีก ชายชราจึงไม่อาจเข้าถึงดอกผลของความเป็นสมัยใหม่ได้อีกต่อไป
โดยนัยนี้ ถนนจึงส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบ กล่าวคือมันเป็นทั้งประตูที่เปิดให้คนเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่และออกจากความเป็นสมัยใหม่ได้เช่นเดียวกัน บทกวีในชิ้น “ผัดเผ็ดปลาดุกคลุกเครื่องข่า” ที่เล่าภาพชีวิตของคนจนเมือง ตอนหนึ่งว่า
ข้างถนนไม่ไร้ค่าไปกว่านั้น
เป็นที่ฝันกลับกลายทำลายหวัง
ใครบางคนว่าไว้ใช่ชิงชัง
ตราบใดความคลุ้มคลั่งยังไม่จาง
มหานครสอนให้สู้
ขับเฆี่ยนเรียนรู้สู่ลานกว้าง
ร้องเพลงลูกทุ่งยุ้งกองฟาง
ตื่นแต่รุ่งสางไปสร้างเมือง (หน้า 88-89)
บทกวีข้างต้นจะเห็นได้ถึงความเคลื่อนไหวของชีวิตผ่านกิจกรรมข้างถนนของผู้คน การทำให้ถนนได้มีบทบาทและมีความสัมพันธ์กับชีวิตของคนมากมากมายขนาดนี้คือการแสดงให้เห็นในสิ่งที่นักวิชาการต่างยอมรับร่วมกันว่า ถนนเป็นปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสังคม เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นเส้นทางสัญจรเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดกิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม สำหรับสังคมสมัยใหม่ ถนนจึงเป็นเสมือนโครงข่ายที่เชื่อมเอาสิ่งต่างๆ ที่แตกต่างในเชิงพื้นที่ และเวลาให้ใกล้ชิดกันอีกด้วย ในเชิงสถาปัตยกรรม การดำรงอยู่ของถนนนั้นถือเป็นโครงสร้างทางกายภาพที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของเมือง
อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะเป็นสมัยใหม่อย่างปัจจุบัน เมืองก็ย่อมจะเคยเป็นชนบทมาก่อน เมืองจึงมีสัมพันธ์เชื่อมโยงในมิติประวัติศาสตร์กับชนบทอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ กวีนิพนธ์ในเล่มนี้จึงพยายามแสดงให้เห็นถึงภาพชีวิตของคนชนบทในเมืองที่ล้วนแล้วแต่มีบทบาทในการ “ตื่นแต่รุ่งสางไปสร้างเมือง” ในที่นี้ถนนที่นำไปสู่การเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นภูมิสภาพอันเป็นเงื่อนไขของการลืมของสังคมสมัยใหม่ในข้อเสนอของคอนเนอร์ตัน ดังได้กล่าวข้างต้น จึงถูกขับเน้นเพื่อเรียกร้องการจดจำใหม่เพื่อสังคมสมัยใหม่จะได้ไม่หลงลืมกลุ่มคนที่ก่อร่างสร้างตัวมันเองขึ้น บทกวี “ท้องถนนคือชนเผ่านักเล่าเรื่อง” ดูเหมือนจะเป็นผลึกก้อนสำคัญของมโนทัศน์นี้ในกวีนิพนธ์ชุด “นครคนนอก”
คุณค่า อยู่ที่สี หรือที่แสง
หรือมุ่งสำแดงความเลิศหรู
คุณค่าอันใดควรชื่นชู
มากกว่าตาดู หูได้ยิน
ท้องถนนคือใบหน้าประวัติศาสตร์
คือถ้อยคำเปล่งประกาศไม่จบสิ้น
จากใจสู่ใจ ฟ้าสู่ดิน
คือเหล็กกล้า ผาหิน จิตวิญญาณ
ท้องถนนคือชนเผ่านักเล่าเรื่อง
เกิดก่อเป็นรูปเมืองเป็นหย่อมย่าน
จากผงฝุ่นหลุดร่วงของห้วงกาล
ปลิวโปรยโรยหว่านไปทั้งปวง
มีร่องรอยชีวิตสถิตไว้
มีเลือดเนื้อลมหายใจสุดแสนหวง
มีการต่อสู้รู้จริงลวง
ชะตากรรมหนักหน่วงอยู่ในนั้น (หน้า 32-33)
จากบทกวีตอนนี้ จะเห็นได้ว่าถนนไม่เพียงแต่จะบรรจุเอาไว้ซึ่งเรื่องราวในมิติทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นโครงข่ายที่สร้างและเชื่อมโยงชุมชนให้ “เกิดก่อเป็นรูปเมืองเป็นหย่อมย่าน” อีกด้วย ถนนจึงเปรียบเสมือนโครงสร้างที่เป็นปัจจัยบ่งบอกถึงการมีอยู่ของสังคมสมัยใหม่ ถนนซ้อนทับซับซ้อนไปด้วย “ร่องรอยชีวิต การต่อสู้ เลือดเนื้อลมหายใจ และชะตากรรมหนักหน่วง” เพียงแต่เมื่อเวลาผ่านไป ถนนถูกพัฒนาให้ตอบสนองความปรารถนาในความรวดเร็วของสังคมสมัยใหม่มากขึ้น มันก็ไม่ทำให้เรามีเวลาสำหรับจดจำอะไรได้ง่ายๆ อีก
“นครคนนอก” ได้มาสะกิดเตือนเรา และพยายามหน่วงเวลาให้เราได้ใช้เวลาเพื่อจะฟื้นภาพที่เคยตกหล่นเรี่ยรายตลอดระยะทางและความเร็วบนถนน เพื่อการจดจำใหม่.
[1] อีกตอนหนึ่ง คำประกาศมีว่า “ใช้รูปแบบฉันทลักษณ์ตามขนบและไร้ฉันทลักษณ์ผสมผสานกัน ใช้วรรณรูป ภาพวาด และสัญญะแสดงอารมณ์ สื่อเสริม เน้นความหมายให้ขบคิดและตีความ จินตภาพ และน้ำเสียงบ่งบอกว่าชีวิตเป็นทุกข์ มีปัญหา และต้องดิ้นรน แต่ในท้ายที่สุดให้ความหวังและกำลังใจ”
[2]ดูงานศึกษาที่น่าสนใจยิ่งของ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (2558). กำเนิดประเทศไทยภายใต้เผด็จการ: น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก กับนัยยะซ่อนเร้นในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม. และ ณัฐวุฒิ ปรียวนิตย์. (2560). เศรษฐกิจการเมืองของการตัดถนนในพระนคร. กรุงเทพฯ: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.