อ่านงานวิจารณ์จากการอบรมฯ

หญิงเสา กับ ชายผู้เล่าเรื่องที่แทนตัวเองว่า “ผม”

โดย จิตประภัสสร

 

            “หญิงเสา” เรื่องสั้นชนะเลิศรางวัลมติชนอวอร์ดประจำปี 2554  เป็นหนึ่งในเรื่องสั้น จากหนังสือรวมเรื่องสั้น “หญิงเสาและเรื่องราวอื่น” ที่ผ่านเข้ารอบ  short list  การประกวดวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรท์) ประจำปี  2557 จากปลายปากกาของนักเขียนชาย “กล้า สมุทวณิช”

            ผู้เขียนใช้กลวิธีการเล่าผ่านชายหนุ่มที่แทนตัวเองว่า “ผม”  ทุกฉากทุกตอน ล้วนสะท้อนความคิด และมุมมองของชายผู้เล่าเรื่องที่มีต่อสิ่งรอบกายที่โยงใยสู่เรื่องของ “ความเชื่อ”  ซึ่งดำรงอยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน  ด้วยการหยิบยก “หญิงเสา” เป็นตัวแทนของสิ่งเหนือธรรมชาติ ในการผูกเรื่องราวให้น่าสนใจ อาจต้องอาศัยการตีความระหว่างบรรทัดในการทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น  

 

“ผม” กับ การปรากฏขึ้นของหญิงเสา

            ตอนที่ได้เห็นเธอกรายร่างบอบบางออกมาจากเสาครั้งแรกนั้น  

          การเลือกใช้คำว่า  กรายร่างบอบบาง  ตั้งแต่ประโยคเปิดเรื่อง เสมือนให้ความรู้สึกว่า “หญิงเสา” หรือเธอผู้ออกมาจากเสา ไม่ได้น่ากลัวสำหรับชายผู้เล่าเรื่องที่แทนตัวเองว่า “ผม” และยังตอกย้ำว่าไม่รู้สึกหวาดกลัว แต่ตื่นเต้นเมื่อได้เห็นภาพที่เคยได้ยินจาก “คำร่ำลือ”  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าก่อนหน้านั้น เธออาจจะมีหรือไม่มีตัวตน  แต่ “ผม” ได้เห็นเธอแล้ว  และ“ผม” ยังนั่งจิบเบียร์เฝ้ามองเธอ  แสดงถึงความรื่นรมย์ของชายหนุ่มคนหนึ่งที่ได้ชื่นชมหญิงสาวที่เดินเข้าไปในร้านหนังสือ จากคำว่า  มองดูเธอแตะจับข้าวของ  เธอเยื้องร่างในชุดผ้าชีฟองเข้าไป  ระมือไล้นิ้วไปบนปกหนังสือ และยังใช้คำว่า สังเกตการณ์  ให้สอดคล้องกับการรับรู้ของ “ผม” ว่าเฝ้ามองทุกอิริยาบถโดยไม่คลาดสายตา และตอกย้ำถึงความไม่กลัวว่า ที่ถูกที่ควร ผมน่าจะหวาดกลัวเธอมิใช่หรือ ?  ก่อนที่เธอจะเงยหน้ายิ้มให้ แล้วหายตัวไปในท้ายที่สุด   ส่วน “ผม” ก็เดินกลับไปห้องพัก แล้วหลับลึกโดยไม่ได้ฝัน  พร้อมทิ้งท้ายในการเจอกันครั้งแรกด้วยประโยคที่ว่า  

          หรืออาจจะเพราะทั้งหมดทั้งปวงที่ผ่านมามันเป็นความฝันอยู่แล้วก็ได้  

“หญิงเสา” สำหรับ “ผม” เป็นความจริงหรือเป็นเพียงความลวงกันแน่ ? ยังเป็นคำถามที่กระตุ้นให้ผู้อ่านต้องติดตามอ่านต่อไป

แต่การเปิดเรื่อง โดยใช้เสาอันแสดงถึงรากฐานอันหนักแน่นมั่นคงและยากที่จะสั่นคลอน ให้เป็นที่อาศัยของหญิงสาวที่เป็นเสมือนสิ่งเหนือธรรมชาติหรือสิ่งที่ยังพิสูจน์การมีตัวตนไม่ได้นั้นนับว่าเป็นการใช้สัญลักษณ์ที่น่าสนใจชวนติดตามตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

แถมยังบรรยายอีกว่า เป็นเสาที่อยู่ตรงหน้าผมพอดี หากมองผ่านบานกระจกตรงกับโต๊ะทำงาน

 

“ผม” กับ หนังสือ

            การเลือกใช้ฉากให้ “ผม” มองเห็นหญิงสาวเดินออกจากเสาเข้าไปในร้านหนังสือสีน้ำเงินที่ปิดร้านไปแล้ว และมองผ่านบานหน้าต่างที่เกือบจะตรงข้ามร้านหนังสือ  อีกทั้ง “ผม” ยังมีความรู้เกี่ยวกับหนังสือด้วย ทำให้เริ่มฉุกคิดว่า หาก “หญิงเสา” ไม่ใช่สิ่งเหนือธรรมชาติ ก็อาจจะเกิดจากมโนภาพของ “ผม” เพราะการนั่งมองผ่านบานหน้าต่างจากโต๊ะทำงานของตนเองและครุ่นคิดเรื่องต่าง ๆ ไปด้วยนั้นก็มีความเป็นไปได้  อีกทั้งสีน้ำเงินก็เป็นโทนสีของเพศชายที่แสดงถึงความสุขุมเยือกเย็น  คล้ายกับว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นความคิดคำนึงที่คงอยู่เฉพาะในอาณาเขตของ “ผม” แต่เพียงผู้เดียว

            การบรรยายให้ “หญิงเสา” หยิบหนังสือขึ้นมาพลิกอ่านทั้ง  ความสุขโดยสังเกต  ต่อด้วยหนังสือธรรมะ แล้วกระโดดขึ้นไปบนชั้นวางหนังสือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ก่อนคว้า “หนังสือลึกลับ” มาอ่าน  คงเป็นการใช้ชื่อหนังสือเข้ามาเชื่อมโยงการรับรู้อีกทางหนึ่ง  รวมทั้งการหยิบหนังสือสีดำชื่อ “อันตรธาน” แล้ววางลงก่อนจะหยิบหนังสือสีแดงหม่นที่ชื่อว่า “ถิ่นหลอน” แล้วนำออกมาจากร้าน 

            “หญิงเสา” ไม่ได้นำความดำมืดมิดของอันตรธานออกมา แต่กลับนำสีแดงหม่นที่ชื่อว่า “ถิ่นหลอน” มาหลอกหลอนให้ “ผม” คลางแคลงและคลุมเครือ เมื่อมีการปูพื้นในเวลาต่อมาว่า “ถิ่นหลอน” น่าจะมีอยู่ในร้านสามเล่ม แต่กลับเหลือเพียงสองเล่ม และ “ผม” พยายามคิดว่าอาจจะถูกขายออกไป ก่อนจะออกจากร้านพร้อมหนังสือ “นิมิตต์วิกาล” แล้วนำมันไปวางไว้โคนเสาเพื่อมอบแก่ “หญิงเสา” ก็เป็นการเล่นกับชื่อหนังสืออีกครั้ง  ก่อนที่ “ผม” จะแสดงความคิดว่า

            ทำไมไม่มีใครคิดว่าหญิงสาวในเสาจะชอบอ่านหนังสือหรืออยากอ่านหนังสือบ้าง

          หากผู้เขียนเปรียบหญิงสาวในเสา คล้ายความลวงที่ถูกสร้างขึ้นจากความเชื่อ และเปรียบหนังสือราวกับความรู้อันพิสูจน์ได้ในนามของความจริง  คำถามของนี้ก็คงจะมีคำตอบอยู่แล้วในตัวของมันเองแล้ว

           

“ผม” กับ วิทยาศาสตร์

          ประโยคปิดท้ายตั้งแต่ย่อหน้าแรก  คงคล้ายกับเวลาที่คุณไปเฝ้ารอสุริยุปราคาเต็มดวงที่รู้ก่อนล่วงหน้านั่นแหละ   บอกให้รู้ว่า “ผม” มีความสนใจในเรื่องวิทยาศาสตร์ที่นำไปสู่การขบคิดว่า คำร่ำลือที่บอกต่อ ๆ กันมาในทำนองว่า “หญิงเสา” น่าจะเป็นสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาตินั้น จะมีผลอย่างไรต่อ ”ความเชื่อ” ในตัว “ผม” ที่จะเกิดขึ้นเมื่อเรื่องราวดำเนินต่อไป และตรรกะนี้ ยังถูกจับวางให้ปรากฏเป็นห้วง ๆ ในการดำเนินเรื่องผ่านการเล่าของ “ผม”

หากคติเดิมที่สั่งสอนเราว่าผีไม่มีแววตา เธอก็อาจจะไม่ใช่ผี...เราไม่สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีของสิ่งมีชีวิตทางวิทยาศาสตร์หรือตรรกะความน่าจะเป็นใด ๆ ก็ได้

หรือตอนที่บอกเล่าเรื่องราวให้ผู้อ่านรับรู้ว่าในร้านหนังสือจะมีวรรณกรรมไทยปกเดียวกันสามเล่มแต่เมื่อ “ผม” มองหาเล่มที่เห็นเธอหยิบออกไปแล้ว กลับพบว่ามันเหลืออยู่สองเล่ม

มันอาจจะถูกขายไปแล้วกระมัง  ผมพยายามรักษาความคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ให้ถึงที่สุด

น่าจะเป็นการสื่อให้เห็นด้วยว่า เมื่อใดที่คนเราเริ่มนำความเชื่อมาเชื่อมโยงกับความคิด สิ่งที่อาจจะเป็นไปไม่ได้  ก็สามารถเป็นไปได้ทั้งนั้น  แม้ “ผม” พยายามจะปฏิเสธมัน 

          เธอนั่งลงบนเตียงด้านปลายเท้า  ผมสังเกตเห็นว่าฟูกบนเตียงมิได้ยวบลงตามที่ควร หากสิ่งมีน้ำหนักกดทับลงมาตามหลักฟิสิกส์

การพบกันในครั้งที่สองที่  “ผม” ก็ยังพยายามจะวิเคราะห์ “หญิงเสา” ด้วยหลักความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้  แต่ถึงกระนั้น “ผม” ก็ยังไม่ยืนยันว่า สิ่งที่เห็นนั้นเป็นความจริงหรือความลวง

 

“ผม” กับ สังคมรอบกาย

          ข่าวลือเรื่องผู้หญิงในเสา มีตั้งแต่เปิดศูนย์ราชการขนาดยักษ์แห่งใหม่ มหึมามหาโครงการของรัฐบาล...ข่าวลือที่เริ่มมาจาก...คือกลุ่มแม่บ้านและพนักงานรักษาความปลอดภัย...ผู้เล่าเรื่องเพียงแต่ถ่ายทอดเรื่องที่เพื่อนป้าน้าพี่ของใครอีกสักคนเล่าต่อกันมาอีกที จนกระทั่งโจษขานกันไปทั้งอาคาร...

          สะท้อนให้เห็นว่า ความเชื่อในสิ่งที่เหนือธรรมชาตินั้นยังคงมีอยู่ในสังคมไทยและยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ แม้ในศูนย์ราชการขนาดยักษ์อันเป็นที่ทำงานของบรรดาผู้ที่มีความรู้  เพราะในทุกสังคมคือการดำรงอยู่ของกลุ่มคนที่หลากหลาย จนท้ายที่สุด เรื่องเล่าจากแม่บ้านสามารถส่งผลกระทบไปถึงฝ่ายบริหาร เหมือนคำกล่าวที่ว่า เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว  และความเชื่อนั้นยังแปรเปลี่ยนจากเรื่องของหญิงสาวลึกลับสวมชุดไทย จนกลายเป็นผู้หญิงคนงานพม่าโดนฆ่าข่มขืนแล้วก็เอาศพหล่อไว้ในเสา  ไม่นับรวม “ผม” ที่เห็นหญิงสาวในเสาในสภาพแตกต่างออกไป

ความเชื่อลุกลามรวดเร็วราวกับเชื้อไฟที่ไม่อาจดับลงง่าย ๆ  จนฝ่ายบริหารต้องนำภาพเสาตอนก่อสร้างมาให้ดูเป็นหลักฐานว่าไม่มีช่องว่างให้นำศพคนหรือแม้แต่ซากแมวลงไปได้  แต่สังคมในศูนย์ราชการยักษ์ก็ยังคงความเชื่อนั้นไว้  แม้จะมีการกล่าวอ้างว่ามีการดำริจะกะเทาะเสาเพื่อพิสูจน์กลบข่าวลือ แต่ทางทีมงานวิศวกรกลับห้ามไว้ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อเดิม

            ดูจะตรงกับหลักความจริงที่ว่าความมั่นคงของเสานั้นมีผลกระทบต่อโครงสร้าง  แต่การไม่กล้าทุบเสาในเรื่องนี้  อาจจะแสดงนัยยะ ถึงการไม่กล้าก้าวล่วงเพื่อพิสูจน์ความเชื่อบางอย่างที่ฝังรากลึกมานานในสังคมไทยก็เป็นได้ 

            และยิ่งเมื่อลบความเชื่อลงไม่ได้ การบูชาสิ่งเหนือธรรมชาติที่เห็นดาษดื่นอยู่ในสังคมไทย จึงเกิดตามมาในสังคมของศูนย์ราชการยักษ์แห่งนี้  แม้ฝ่ายบริหารอาคารพยายามสั่งให้พนักงานที่รับผิดชอบเก็บกวาดเครื่องสังเวยบูชาเหล่านั้น  

            แต่ใครเล่าจะกล้า! ในเมื่อคนกลุ่มผู้ได้รับคำสั่งนั่นแหละที่เป็น “สาวก”กลุ่มใหญ่ที่บูชาแม่ย่าในเสา   

            การบอกเล่าของ “ผม”  ยิ่งตอกย้ำความเชื่อในสังคมไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกว่า หญิงสาวในเสา ได้ขยับฐานะความน่าเชื่อถือจนกลายเป็นแม่ย่าที่สูงค่าเกินกว่าใครจะกล้าแตะต้องไปเสียแล้ว

 

“ผม” กับ การปรากฏครั้งที่สองของหญิงเสา

          การรับจ้างนอนเวร แทนผู้ไม่ประสงค์ของ “ผม”  คือผลจากความเชื่อที่ลุกลามบานปลาย จน “ผม” ได้มานอนในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศโดยใช้ไฟหลวง แถมได้เงินหลวงเป็นค่าป่วยการอีกต่างหาก เป็นการหยิกแกมหยอกที่เจ็บไม่เบาสำหรับระบบราชการไทย ก่อนจะโยงเข้าสู่เหตุผลที่ “ผม” บอกว่าสำคัญที่สุด

            ผมเป็นคนไม่กลัวผีหรือสิ่งลึกลับ ( อย่างน้อยผมก็เคยเชื่อว่าตัวเองเป็นเช่นนั้น )

          คำว่า  “เคยเชื่อ” อาจจะแสดงให้เห็นว่า “ความเชื่อ”  ในเรื่องใด ๆ ของ “ผม” สามารถสั่นคลอนและเปลี่ยนแปลงเป็น “ความไม่เชื่อ”  ได้    หรือไม่ก็เพียงตอกย้ำว่า  “ผม” เคยเชื่อว่าตนเองไม่กลัวสิ่งลึกลับ แต่ตอนนี้ “ผม” เริ่มจะไม่เชื่อในความคิดของตนเองแล้วก็เป็นได้

            ก่อนที่ “ผม” จะได้พบกับ “หญิงเสา” อีกครั้งในห้องพักนอนเวร 

            เธอไม่ได้ใช้วิธีใดเลยในการปลุกผม ความรับรู้ของผมว่ามีแขกมาเยือนที่ห้องนั่นเองที่เรียกสติกลับคืนจากความฝันจนลืมตาขึ้นมา

          ผู้เขียนพยายามแสดงให้เห็นว่า “ผม” ไม่ได้ฝันไปเหมือนที่เคยตั้งคำถามไว้ในตอนต้น แม้ยังมิได้เฉลยอย่างตรงไปตรงมา แต่ก็เลือกบรรยายโดยให้ “ผม” มองเห็น “หญิงเสา”  ด้วยเครื่องแต่งกายใหม่ที่เคยมีผู้นำไปวางเซ่นไหว้ไว้ที่โคนเสา พร้อมกับหนังสือ “นิมิตต์วิกาล”  ซึ่ง“ผม” นำไปวางไว้ และเธอก็ได้อ่านมัน แต่ผู้อ่านที่ไม่ได้อ่านมันเหมือนกับทั้งคู่ อาจจะไม่เข้าใจในความปรากฏมีของผู้หญิงเล่นเปียโนในหนังสือเล่มนั้นว่า คืออะไร

            -ขอบคุณที่มองเห็นฉัน คุณเป็นคนแรก - แล้วที่คนอื่น ๆ เขาเจอล่ะ - คนอื่นน่ะเขาเห็น แต่เขาไม่ได้มอง – เธอตายที่นี่หรือ – ไม่ ฉันไม่เคยตายที่ไหน แต่ฉันปรากฏมีอยู่ที่นี่ – ถ้าเช่นนั้นเธอ – ฉันไม่ใช่ผี ไม่ใช่วิญญาณ ฉันไม่เคยตาย ฉันไม่เคยเกิด ฉันมีอยู่ขึ้นมาเอง  

          เป็นบทสนทนาที่คล้ายกับจะสรุปความมีอยู่ของ “หญิงเสา”  เช่น  คนอื่นเคยเห็นเธอแต่ไม่ได้มองเธอไม่ใช่ผี  ไม่ใช่วิญญาณ ไม่เคยตาย ไม่เคยเกิด  แต่ “มี” ขึ้นมาเอง  ก่อนที่บทสรุปสำคัญจะตามมา เมื่อ“หญิงเสา” เคลื่อนตัวจากห้องพักเวรไปหยุดอยู่ที่ประตูทางออก แล้วมองเสาที่เชื่อว่าเป็นที่อาศัยของเธอ

            หากวันไหนที่เขามองเห็นเสาเป็นเพียงเสา รอยปูนเป็นเพียงรอยปูน วันนั้นฉันจะดับสูญ

            แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า  “หญิงเสา”  นั้น คือตัวแทนของความลวง ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยความเชื่อของชายผู้เล่าเรื่องที่เรียกตัวเองว่า “ผม”  ซึ่งหาก “ผม”  ละทิ้งความลวงที่หลงเชื่ออยู่ได้เมื่อใด ก็จะค้นพบความจริงแท้ที่ปรากฏอยู่ ณ เสาต้นนั้น   เสา...ที่จะไม่มีหญิงสาวในเสาอีกต่อไป

            แต่ “ผม” ยังคงมองเห็นและสนทนากับ “หญิงเสา” อยู่ต่อไป  หลังจากเธอผ่านประตูกระจกไปแล้ว หากแต่ “ผม” ยังผ่านไปไม่ได้ จนเธอบอกให้ลองผ่านออกมาแบบธรรมดาเหมือนเห็นม่านหนาบังสายตาแล้วก็เดินผ่านมาได้       

          ผมหลุดขอบทะลุกรอบตรรกะและความน่าจะเป็นและความจริงความลวงทั้งปวงไปแล้ว

          ผู้เขียนกระแทกซ้ำด้วยการบอกให้ “ผม” กลับเข้าไป แล้วออกมาใหม่ แล้ว “ผม” ก็ทำได้ตามที่ต้องการ  คล้ายกับว่า  “ผม” ได้หลุดพ้นออกมาจากม่านที่บดบังสายตาอย่างแท้จริงแล้ว แต่ผู้เขียนกลับตอกย้ำเรื่องความเชื่อของ “ผม” อีกครั้งว่า  อย่างไรเสียความเชื่อก็ยังคงมีอยู่ใน “ผม”

             มือของเธออบอุ่นและอ่อนนุ่มมีน้ำมีเนื้อหนักเบาขึ้นมา ทันทีที่ผมเชื่อว่ามือเธออบอุ่นเช่นนั้น เราเคลื่อนที่ไปร้านหนังสือด้วยกัน หยิบหนังสือแลกกันเปิดอ่านตลอดคืน

             จนกระทั่งสองเดือนหลังจากนั้นมีเรื่องเล่าในศูนย์ราชการยักษ์ถึงเจ้าหน้าที่ผู้หายตัวไปอย่างลึกลับในคืนที่มานอนเวรจนหญิงสาวที่มานั่งทำงานแทนที่ “ผม” ในตำแหน่งที่บรรยายว่าคล้ายการใส่น็อตลงไปในรูเกลียวที่มีสลักรับกัน   

            ผู้เขียนไม่ได้ชี้ชัดถึงการหายตัวไปของ “ผม”  หากนำเสนออย่างชวนให้ผู้อ่านครุ่นคิดตามว่า “ผม” หายไปได้อย่างไร  หายไปอยู่ที่ไหน หรือเป็นตายร้ายดีอย่างไร แต่ที่บอกไว้อย่างชัดแจ้ง ก็คือการหายไปของ “ผม”  ไม่ได้สร้างปัญหาอันใดกับตำแหน่งงานเล็ก ๆ ที่หาคนมาแทนที่โดยง่าย  เป็นการเสียดสีส่งท้ายถึงความเชื่อที่ยังคงมีอยู่ใน “ผม”    แล้ว “ผม” ที่บางครั้งก็อาศัยซ่อนเร้นอยู่ในเสา ยังคงเป็นผู้มองเห็นทุกอย่าง

ได้ยินทุกเสียง และอยู่บนโลกที่ “ผม” ไม่มีส่วนร่วมอีกต่อไป  คล้ายวนเวียนกลับไปยังวังวนเดียวกับ “หญิงเสา” ก่อนจะปิดท้ายเรื่องว่า            

          สักวันหากสบโอกาส ผมจะไปบอกเธอถึงเรื่องวิธีการเคลื่อนออกมาภายนอก

 

            “ความเชื่อในผม” และ “ผมในความเชื่อ” ยังคงวนเวียนอยู่ในสังคมไทย เหมือนกับเสียงร่ำลือเรื่อง “หญิงเสา” กับ ชายผู้เล่าเรื่องที่แทนตัวเองว่า “ผม”  ที่ยังคงอบอวลอยู่ในวงสนทนาของศูนย์ราชการยักษ์ต่อไป        

 

 


 

หญิงเสา เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เหมือนเคยได้ยิน แต่กลับไม่เคยได้ยิน

                                                                 โดย สมบัติ  เตชะรัตนประเสริฐ

          ในโลกยุคดิจิตอลที่หลายหลายอย่างถูกพัฒนาให้เจริญขึ้น รวมถึงเรื่องราวลี้ลับที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ก็ได้รับการทดสอบหรือพิสูจน์เพื่อยืนยันว่าเรื่องราวทั้งหลายนั้นมีข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์อย่างไร แต่นั่นกลับไม่ใช่ในสังคมนี้ สังคมที่เรารู้จักมันเป็นอย่างดี

          หญิงเสา เล่าเรื่องราวแบบโปรยเสน่ห์นำคนอ่านเข้าสู่โลกความเชื่อและความลึกลับ ถ้าแรกอ่านจะรู้สึกว่าเรื่องนี้มีภาษาฟุ่มเฟือยหรือการขยายความแปร่งหูก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะผู้เขียนพยายามพาคุณเข้าสู่อีกโลกหนึ่งที่คนไทยได้เคยสัมผัส หรือรู้จักกันเป็นอย่างดี กลยุทธในการใช้คำฟุ่มเฟือยและภาษาที่ละลานตาทำให้เราย้อนเข้าสู่โลกที่คล้ายในวรรณคดี ด้วยร้อยกรองที่แอบซ่อนอยู่ในส่วนเปิด และค่อยๆคลี่คลายสู่โลกปัจจุบันในช่วงกลาง เรื่องราวลึกลับที่คนอ่านจะค่อยๆคืบคลานเข้าสู่โลกที่เสมือนมีอยู่ แต่ต่างออกไปที่เรารู้สึกได้ตั้งแต่ชื่อเรื่อง หญิงเสา ที่เหมือนเคยได้ยิน แต่ก็ไม่ใช่คำที่คุ้นหู นี่แหละมั้งที่ทำให้เรารู้สึกอะไรบางอย่างกับเรื่องราวนี้

          โลกของหญิงเสา เกิดขึ้น และตั้งอยู่โดยเขาที่มีหน้าที่เล่าเรื่องที่ได้พบเจอมาให้เราได้รู้ แต่เขานี่เองที่กลับซ่อนความอยากรู้, ความมีหรือไม่มี และความเป็นคนไทยไว้ในตัวตน เขาคือระบอบความเชื่อในแบบไทยๆที่มีความฉลาด, ความคิด และมีวิธีการที่ดีที่สุดในความคิดของตัวเอง บนโลกที่ตัวเองสร้างขึ้นในแบบไทยๆนี่แหละ มีวิธีการและวิธีคิดตามรูปแบบที่เรียกได้ว่า ไท้ยไทยนี้ ช่างสังเกต, ช่างคิด, ช่างมองหาในเรื่องราวต่างๆที่คิดตามใจฉันในด้านที่ ฉันอยากให้คิด ความคิดแบบนี่นี่เองที่ทำให้เขาดำรงอยู่และเลือกงานในระบบราชการอันใหญ่โตและขับเคลื่อนสังคมนี้ให้เดินหน้าต่อไป ตามฟันเฟืองของหน้าที่ที่แต่ละคนได้ถูกกำหนดไว้ โดยกรอบที่ว่ามีบางอย่างที่ต้องทำ แต่สิ่งนั้นคือสิ่งที่ต้องทำจริงๆหรือ

          ถ้าเธอคือเรื่องราวร่ำลือหลากหลาย เขาก็เปรียบเป็นตัวแทนอะไรหลายๆอย่างที่เราไม่ได้คิด แต่ถ้าจะลองค้นหา เขาก็เหมือนเรานี่แหละที่รู้อะไรหลายๆอย่าง อยู่ในกฎเกณฑ์อะไรหลายๆอย่าง มีวิธีคิดดีๆหลายๆอย่าง แต่บางอย่างเราก็ไม่คิดซะอย่างนั้น เพราะอะไรหนอทำให้เราเลือกที่จะคิดและไม่คิดอะไร นั่นคงเป็นเหตุและผลแบบเราๆที่เลือกคิดเฉพาะเรื่องที่อยากคิด ปฏิบัติตามสิ่งที่คิดว่าสำคัญอยากปฏิบัติ รวมถึงการตั้งคำถามเฉพาะที่แปลกใหม่หรือคนสนใจกัน แต่กับเรื่องง่ายๆหลายอย่างคำถามเหล่านั้นไม่เคยเกิดขึ้นและใช้ชีวิตไปแบบนั้น ถ้าคิดว่าใช่หรือไม่ที่คุณคิดเฉพาะเรื่องที่อยากคิดอยากถาม เมื่ออ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้แล้ว คุณได้ถามตัวเองถึงการมีอยู่ของการเข้าเวรที่ทำงานไหม เขาเข้าเวรไปเพื่ออะไร มีความสำคัญยังไงที่ต้องเข้าเวร และการเข้าเวรนั้นต้องจ่ายมากกว่า เพื่อให้คนที่เข้าเวรมานอนในที่ทำงาน นอนในสถานที่ที่เรียกว่าราชการ เพื่อนั่งเล่นเน็ตในตอนที่ไม่มีใครเล่น หรือเพื่อมาดื่มเบียร์ทำอะไรไปเรื่อยเปื่อยในสถานที่ราชการ หรือหากไม่มีอะไรเลย ก็แค่มาใช้ไฟฟรีและเปลี่ยนที่นอนจากบ้าน มาเป็นการนอนในสถานที่อันใหญ่โตเพื่ออะไรบางอย่างที่บางทีแม้แต่คนที่มาเข้าเวรเองก็ไม่เข้าใจหน้าที่และบทบาทนี้ของตน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น บางอย่างนั้นมีไว้เพื่ออะไร คุณได้ลองตั้งคำถาม , หาคำตอบ หรือถามตัวเองหรือยังว่าทำไมเราไม่คิดเรื่องนี้?

         ดังนั้นการปรากฎขึ้นของเธอและการตั้งคำถามของเขาต่อเธอจึงเปรียบเสมือนเรานี่เองที่เลือกทำอะไรบางอย่างตามวิธีคิดแบบไทยๆ ซึ่งเธออาจเป็นเหมือนบางสิ่งที่มาทำให้เราได้ลองพิจารณาอะไรหลายๆอย่างในอีกแบบหนึ่ง เธอที่มาลองให้เรา “สังเกต” แบบกลมๆ ว่ามีมุมมองอะไรไหมที่เราไม่เคยพิจารณาเพื่อหาความสุข เธอผ่านมาเพื่อให้เราเข้าใจอะไรบางอย่างที่มีอยู่ในธรรมชาติ ธรรม ที่เป็นเรื่องที่มีอยู่ แต่มีความหลากหลายและอยู่ที่ใครจะหยิบอะไรในนั้นมาใช้ หรือเธอแค่จะมาทำให้เราได้คิดในแบบวิทยาศาสตร์ ศาสตร์ที่ต้องการเหตุผลและการทดลองต่างๆ ซึ่งทั้งหมดก็คือสิ่งที่เรารู้ เราเข้าใจ เราใกล้ชิดมาโดยตลอด แต่บางครั้งเราอาจจะไม่ได้เคยนำมันมาประยุกต์ เหมือนเรื่องต่างๆที่เราเคยได้ยินมาแต่ก็เหมือนไม่เคยรู้จัก และใช้ศาสตร์เดียวที่อยู่ในความรู้สึกของเราที่ฝังรากลึกที่สุดมาใช้อธิบายเรื่องราวทุกเรื่องในแบบที่เราอยากให้เป็น แต่ถามจริงๆเถอะว่าเราอยากให้สังคมของเราใช้ความลึกลับ ความเชื่อ ความอยากให้เป็นตามตรรกะที่ลี้ลับนี้เพื่อนำทางจริงหรือ?

         ในสังคมแบบเรา การชี้นำของสังคมที่มีความเชื่อ ความรู้สึก หรือการกระทำต่างๆอันมาจาก “เขา” ผู้มาเล่า มาบอกให้ทำ หรือกระทั่งการขับเคลื่อนสังคมที่เกิดจากเขา มันจะทำให้สังคมนี้เดินไปได้อย่างดี หรือพัฒนาขึ้นกระนั้นหรือ นี่คือสิ่งที่ไม่มีคำตอบชัดเจนเหมือนในเรื่องนี้ ที่ถ้ามองผ่านๆมันก็แค่นางเสานางหนึ่ง ซึ่งก็ไม่แน่ใจสักเท่าไหร่หรอกนะว่า”นาง” คือหญิงไทยใส่สไบ ผมยาวถึงกลางหลัง หรือ “นาง” คือสาวพม่าที่มีความอาฆาตแค้นพยาบาทจนไม่ได้ผุดได้เกิด หรือจริงๆแล้ว “นาง” จะเป็นอะไรก็ได้ที่คุณอยากให้ “นาง”เป็น สำหรับผมคงตอบไม่ได้ เพราะ “นาง” อยู่ที่คุณคิดว่า “นาง” คืออะไร นางแค่ผ่านมาแล้วผ่านไปเพื่อหาใครบางคนเดินผ่านประตูตาม “นาง” ไปสู่อีกโลกหนึ่ง หรือ ”นาง” จะเป็นแค่ต้นกำเนิดของ “เขา” ผู้รู้ทุกเรื่อง ผู้เข้าใจทุกอย่าง ผู้มีปัญญาและเฝ้ามองความเป็นไปของโลกใบนี้ในแบบที่เขาทำมาตลอด และจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป

         ถ้าเช่นนั้น “เขา” จะมีหน้าที่เล่าทุกเรื่องราวให้ทุกคนได้เห็น ได้รู้ ได้ยิน ได้ฟัง ไปตราบนานเท่านาน

 

 


 

วิทยาศาสตร์อันผิดแปลกในเรื่องสั้น หญิงเสา

โดย อริญชย์  แจ้งสว่าง


            จนเคยชินเสียแล้วสำหรับผู้คนในศตวรรษนี้ที่จะมองไสยศาสตร์เป็นคู่ตรงข้ามกับวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์กลายเป็นบรรทัดฐานทางสังคม เราให้ความสำคัญกับการอธิบายปรากฏการณ์ใด ๆ ด้วยหลักเหตุและผล และวิทยาศาสตร์ก็ถูกทำให้มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าคำอธิบายจากโลกทัศน์แบบอื่น แม้ในบางขณะการหมกมุ่นกับวิทยาศาสตร์และเหตุผลก็แสดงออกถึงลักษณะงมงาย จนในแง่นี้แทบไม่แตกต่างจากไสยศาสตร์เท่าใดนัก ยิ่งในสังคมไทยที่ไม่ได้มีพื้นฐานการคิดแบบวิทยาศาสตร์เป็นรากเหง้าแล้ว การใช้หลักเหตุผลไปอธิบายปรากฏการณ์หนึ่ง ๆ จึงมีลักษณะยอกย้อนจนพลอยทำให้เรายากจะแยกคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ออกจากลักษณะเฉพาะที่เป็นไสยศาสตร์นี้ได้

            เรื่องสั้น หญิงเสา นำเสนอโลกทัศน์สองแบบที่ปะทะสังสรรค์กันผ่านพื้นที่สองส่วนอันคือศูนย์ราชการยักษ์ใหญ่มหึมาที่มีตัวละครเจ้าของพื้นที่คือชายหนุ่มตัวแทนของระบบราชการผู้เล่าเรื่อง กับร้านหนังสือสีน้ำเงินฝั่งตรงข้ามอันเป็นสถานที่ ภายนอก สำนักงานราชการซึ่งถูกควบคุมไว้ด้วยหญิงสาวลี้ลับที่หนุ่มข้าราชการไม่จัดหาคำนิยามใด ๆ ได้มาจำความตัวตนของเธอได้ จนวันหนึ่งเมื่อเขาก้าวล่วงออกไปยังพื้นที่ ภายนอก นั้นเขาจึงได้ประจักษ์ ความจริงลวง บางอย่างที่เขาเคยใช้ชีวิตอยู่

            ลักษณะโดดเด่นอย่างหนึ่งของผู้เล่าคือการที่เขาจะพยายามอธิบายทุกปรากฏการณ์ที่เขาได้พบเจอผ่านทางการมองโลกแบบวิทยาศาสตร์ หากแต่คำอธิบายแบบวิทยาศาสตร์ของผู้เล่าผู้นี้มีลักษณะเป็นหัวมังกุท้ายมังกรอยู่พอสมควร เห็นได้จากเมื่อเขาได้พบเจอกับหญิงสาวลี้ลับซึ่งเขาเข้าใจในตอนแรกจากคำบอกเล่าของเหล่าแม่บ้านว่าคือผีสาวแรงงานชาวพม่าที่ตายในกระบวนการก่อสร้างอาคาร อย่างแรกที่เขาทำคือเขาเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของสิ่งที่เขาเห็นอย่างจดจ่อ พร้อมทั้งตั้งคำถามกับความรู้ของตนเอง “ที่ถูกที่ควร ผมน่าจะหวาดกลัวมิใช่รึ?” กระบวนการเฝ้าสังเกตและตั้งคำถามนี้เป็นลักษณะเด่นชัดที่สุดของการมองโลกแบบวิทยาศาสตร์หากแต่การตั้งคำถามให้ตัวเองว่า ตัวควรจะรู้สึกกลัว นั้นเป็นคำถามที่ถูกแทรกแซงอย่างมากจากองค์ความรู้ทางไสยศาสตร์เกี่ยวกับผีสางว่าต้องน่าสะพรึงกลัวความพยายามต่อไปที่จะอธิบายหญิงสาวลี้ลับด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ยังไม่จบ เมื่อเขาพยายามให้คำนิยามของผีว่าต้องไม่มีแววตา แต่เมื่อหญิงสาวมีแววตาเขาจึงอนุมานว่าอาจจะเป็นข้อยกเว้นของผีสาวตนนี้ที่จะมีแววตาได้ การสร้างทฤษฎีขึ้นใหม่ว่าผีบางตนมีข้อยกเว้นให้มีแววตาได้นั้นช่างดูเป็นคำอธิบายที่ไม่หนักแน่นเมื่อมันถูกอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์แบบชายหนุ่ม กับทั้งน้ำเสียงการเล่าที่แทบจะไม่หยี่หระต่อปรากฏการณ์เหนือธรรมชาตินั้นยังขับเน้นลักษณะของความเป็นวิทยาศาสตร์อันผิดแปลกของชายหนุ่มให้แจ่มชัดมากขึ้น หากแต่ความพยายามของเขานั้นยังหนีไม่พ้นลักษณะวิทยาศาสตร์กึ่งความเชื่อลี้ลับที่ติดตัวเขามาตั้งแต่ต้น

            หากเราพยายามเพ่งเล็งลักษณะเช่นนี้จากตัวละครอื่น ๆ ในศูนย์ราชการก็จะพบได้ว่ามีลักษณะวิทยาศาสตร์แบบนี้อยู่ไม่น้อย เช่นฝ่ายบริหารอาคารที่ให้คำอธิบายว่า เสาซึ่งเป็นที่สิงสู่ของหญิงสาวนั้นด้านในเป็นโครงเหล็กไม่สามารถมีศพใด ๆ ฝั่งอยู่ได้ ตั้งอยู่บนสมมุติฐานตั้งต้นว่า หากมีที่พอให้มีศพอยู่ ก็อาจเป็นจริงที่จะมีผีอยู่ หรือความเห็นวิศวกรที่จะห้ามปรามการรื้อเสาว่า การทำเช่นนั้นจะกระทบโครงสร้างอาคารก็มาจากต้นตอความคิดแบบเดียวกันที่ว่า หากไม่กระทบต่อโครงสร้างก็อาจจะเสาะหาขุดค้นซากศพในเสาก็เป็นได้ ในขณะที่วิทยาศาสตร์ที่แท้จริงนั้นไม่ควรจะเชื่อเรื่องลี้ลับงมงายเช่นนี้เป็นเด็ดขาด แต่การอธิบายของผู้ใหญ่และผู้รู้ในศูนย์ราชการนี้กลับเป็นการแจกแจงปัญหาทางเทคนิคมากกว่าเป็นการโต้แย้งความคิดแบบไสยศาสตร์โดยตรง นี่ชี้ให้เห็นว่าในระบบคิดความเป็นวิทยาศาสตร์แบบศูนย์ราชการไทยนั้นมีลักษณะเป็นพันธ์ทางของทั้งวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและไสยศาสตร์อยู่ไม่น้อย กล่าวคือกลุ่มคนในเรื่องนี้พยายามใช้วิทยาศาสตร์อธิบายปรากฏการณ์ที่มีต้นคิดมาจากไสยศาสตร์

           โลกทัศน์สองแบบที่ดูเหมือนจะเป็นคู่ตรงข้ามกันจึงถูกทำให้หลอมรวมกันอย่างแนบสนิทในเรื่องสั้นเรื่องนี้ ฉากที่เน้นย้ำประเด็นนี้ได้ดีที่สุดคงเป็นเมื่อชายหนุ่มผู้เล่าเรื่องพยายามให้อธิบายการหายไปของหนังสือ “ถิ่นหลอน” ซึ่งเป็นเล่มที่เขาเห็นหญิงสาวนำมันออกจากร้านหนังสือเมื่อคืนก่อนว่า “มันอาจจะถูกขายไปแล้วเล่มหนึ่งกระมัง ผมพยายามรักษาความคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ให้ถึงที่สุด” แต่เมื่อเดินกลับสำนักงานพร้อมรวมเรื่องสั้น “นิมิตต์วิกาล” เขากลับวางหนังสือไว้ที่โคนเสาพร้อมคิดสงสัยว่า “ทำไมไม่มีใครคิดว่าหญิงสาวในเสาจะชอบอ่านหนังสือหรืออยากอ่านหนังสือบ้าง” ฉากนี้แสดงให้เห็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างความคิดวิทยาศาสตร์และการกระทำที่นำเอาสิ่งของไปบวงสรวงบูชาเสาของไสยศาสตร์ แต่ถึงกระนั้นเรากลับไม่ได้รู้สึกขัดข้องใจอะไรเมื่ออ่านนั้นเป็นเพราะมันเป็นวิทยาศาสตร์ในรูปแบบเฉพาะของตัวละครในเรื่องนี้

             ย้อนกลับไปที่คำอธิบายของหญิงสาวลี้ลับที่ชายหนุ่มอุปมาว่าเธอคือผีจากเสา หญิงสาวผู้ซึ่งแม้จะถูกอธิบายจากผู้เล่าเรื่องว่าเป็นสิ่งที่เหนือธรรมชาติ แต่หากเราดูน้ำเสียงการเล่าที่ผู้แต่งบรรจงใส่ลงไปผ่านทางชายหนุ่มกลับพบว่าคำพูดคำจาและกิริยาท่าทางของเธอนั้นแทบไม่แตกต่างจากปุทุชนคนธรรมสามัญเลยสักนิด เธอปรากฏตัวในฉากสุดท้ายโดยสวมกระโปรงยีนส์และเสื้อกล้ามสีขาว ส่วนคำอธิบายที่เธอใช้กับตัวเองคือเธอ “ไม่ใช่ผี ไม่ใช่วิญญาณ ไม่เคยตาย ไม่เคยเกิด มีอยู่ขึ้นมาเอง” และมีเงื่อนไขว่าเธอจะดับสูญไปเมื่อใดก็ตามที่ “เขา[พนักงานในศูนย์ราชการ] มองเห็นเสาเป็นเสา รอยปูนเป็นเพียงรอยปูน” เงื่อนไขของเธอนั้นเป็นการบอกใบ้ให้ว่า เธอดำรงตัวตนอยู่ได้ก็ด้วยความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ และเธอจะดับสลายไปเมื่อพบเจอกับวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง มิใช้แบบที่พนักงานศูนย์ราชการทั้งหลายใช้อยู่ เราอาจจะพอสรุปในเบื้องต้นได้ว่าหญิงสาวจากเสาในเรื่องนี้มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมากที่สุดแล้วในเรื่องสั้นชุดนี้ ก็อะไรเล่าจะมีอยู่แล้วโดยมิได้เกิดขึ้นหากมิใช่ธรรมชาติ

            การยืนยันลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ของหญิงสาวนั้นเห็นได้จากเมื่อเธอเชื้อเชิญให้ชายหนุ่มผู้เล่าทะลุผ่านกำแพงออกนอกศูนย์ราชการ แน่นอนว่าการทะลุผ่านกำแพงนั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นธรรมชาติแน่นอน แต่การทะลุผ่านกำแพงในฉากนี้ควรถูกอ่านด้วยตีความเชิงสัญลักษณ์มากกว่าจะเป็นการผ่านกำแพงจริงๆ เพราะเมื่อผ่านกำแพงออกมาได้แล้ว ชายหนุ่มก็เกิดอาการรู้แจ้ง “มองเห็นทุกสิ่ง ได้ยินทุกเสียง” ขึ้นมาทันใด อีกทั้งลักษณะที่หญิงสาวต้องการฝึกสอนให้ชายหนุ่มทดลองทะลุผ่านกำแพงนั้น แม้โดยเนื้อหาจะเป็นเรื่องอิทธิฤทธิ์เหนือธรรมชาติ แต่กระบวนการของการ ทดลองและฝึกฝน นั้นเป็นวิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์มากกว่าการกระทำใด ๆ ก็ตามที่ตัวละครในเรื่องได้พึงกระทำ จึงสามารถพูดได้ว่าการออกไปยัง ภายนอก ศูนย์ราชการและหญิงสาวนั้นเป็นทำให้โลกของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่คนจากภายในที่มีวิธีคิดแบบลักลั่นไม่สามารถทำความเข้าใจได้

            เรื่องสั้น หญิงเสา จึงเปรียบเสมือนข้อสังเกตเชิงเปรียบเปรยขนานใหญ่เกี่ยวกับระบบราชการไทยที่แม้จะอ้างตัวว่าเป็นวิทยาศาสตร์เพียงใด ก็ไม่สามารถหลบหนีความลักลั่นผิดร่องผิดรอยของเหตุและผลไปได้ ทั้งตัวละครเอกที่ใช้ความเชื่อไสยศาสตร์มาทุจริตหารายได้ผ่านการแลกเวรเฝ้าสำนักงานแต่กลับไม่สามารถตั้งคำถามกับวิธีคิดของตนเองได้ หรือแม้แต่ตัวเสาเองที่เหล่าวิศวกรผู้เป็นตัวแทนแห่งวิทยาศาสตร์ไม่เสนอให้รื้อเพราะจะไปกระทบโรงสร้างอาคาร เสาซึ่งเป็นอุปมาแทนความเชื่อเรื่องผีสางและอาคารอันทันสมัยซึ่งดำรงอยู่ด้วยกันอย่างแนบเนียนเป็นเอกภาพ หากเรารื้อความเชื้อเรื่องไสยศาสตร์ออกจากระบบราชการไทยนั้นอาจจะทำให้อาคารที่เรียกว่าระบบราชการทั้งหลังพังครืนลงมาก็เป็นได้ จึงเป็นเรื่องธรรมดาสามัญเสียแล้วในสังคมไทยที่เราจะเห็นกระทรวงไอซีทีทำบุญรดน้ำมนต์ให้แก่อุปกรณ์เซิฟเวอร์คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ และอีกหลากหลายเรื่องราวที่เราก็ได้แต่หัวเราะด้วยน้ำเสียงเศร้ากับข่าวคราวของระบบราชการไทย

 

 


 

บ้านสัตว์เลี้ยง: หมากับแม่ สุดแท้ไม่ต่างกัน

 โดย ณัฐธิดา พิทักษ์เมธากุล


             ในบ้านหนึ่งหลังอาจมีหลายปากท้องที่ต้องเลี้ยงดู ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูก หมา แมว ทุกชีวิตต้องการความรักความเอาใจใส่เหมือนๆ กัน แต่บางครอบครัวไม่สามารถทำได้จึงต้องเรียงลำดำความสำคัญ โดย ประคับประคองชีวิตคนก่อนค่อยเผื่อแผ่ไปยังสัตว์ แต่เหตุไฉนการเลี้ยงแม่ที่เป็นคนกับการเลี้ยงหมาที่เป็นสัตว์ใน ‘บ้านสัตว์เลี้ยง’ จึงไม่แตกต่างกันเลย

            บ้านสัตว์เลี้ยง เป็นเรื่องสั้นสัจนิยมสะท้อนสังคมของกิติวัฒน์ ตันทะนันท์ ได้รับรางวัลเรื่องสั้นยอดเยี่ยมนายอินทร์อวอร์ดประจำปี พ.ศ. 2553 เกี่ยวกับหญิงชราคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในบ้านโทรมๆ พอคุ้มกะลาหัวกับหมาและแมวอีกหลายตัว ส่วนลูกชายเข้าไปทำงานในเมืองหลวง ทิ้งให้แม่อยู่บ้านทำงานบ้านดูแลเลี้ยงสัตว์เพียงคนเดียว แม่ที่แก่ชราได้แต่เฝ้ารอวันที่ลูกชายจะกลับมา ซึ่งนานๆ ครั้งเขาจะกลับมาเยี่ยมบ้านพร้อมซื้ออาหารและนำเงินมาให้ใช้จ่าย

             เรื่องนี้เปรียบเปรยผู้สูงอายุกับสุนัขได้เห็นภาพและน่าสะเทือนใจ ผู้เขียนใช้ภาษาพรรณนาให้เห็นถึงสภาพที่น่าเวทนาของหญิงชราได้เป็นอย่างดี ชีวิตนางต้องแบกภาระงานไม่มีที่สิ้นสุดแทบจะไม่มีเวลาได้วางมือดังที่นางบริภาษกับลูกชายตอนต้นเรื่องว่า “บ๊ะ หมาสองตัว แมวสามตัว ไหนจะต้มข้าวต้มน้ำ งานบ้านก็ล้นมือ มีหน้าไหนมาช่วยบ้าง หญ้าก็ขึ้นรก ไอ้ตอนนี้ก็งงหัว ก้มหน้าแล้วจะดิ่งวูบ พูดตามตรงนะลำพังหมามึงตัวเดียวกูก็เสียเวลาไปทั้งวันแล้ว” (หน้า 89) และ “อย่างที่นางว่าไว้ไม่มีผิด ลำพังหมาพิการตัวเดียวก็กินเวลาไปมากโข ไหนจะต้องนำมันไปอาบน้ำฟองผงซักฟอก คลุกข้าว รวบรวมเรี่ยวแรงจับมันโยนเข้าไปในกรง แล้วภาระอื่นไม่ต้องมีหรือ...” (หน้า 93)

             หญิงชรากับหมาพิการในเรื่องนี้ดูจะมีคดีความกันอยู่มาก นางไม่ชอบใจหมาพิการเท่าใดนัก เจ้าบอลเป็นหมาวัดที่ลูกชายนางเก็บมาเลี้ยง ตอนแรกมันปกติดีและอยู่ในเมืองกับเขา แต่ต่อมาเขาถอยรถไปทับมันทำให้มันพิการ สุดท้ายก็นำมันกลับบ้านนอกมาให้แม่เลี้ยง หมาพิการที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้นี่เองที่ทำให้นางโกรธแทบเป็นบ้า โกรธทั้งหมา โกรธทั้งลูกชาย จนกลายเป็นการทารุณกรรมสัตว์ “นางค่อยๆ เก็บสะสมอารมณ์หงุดหงิดไม่ได้ดั่งใจทีละน้อย แล้วปลดปล่อยออกมาในรูปคำสบถด่า การลงไม้ลงมือ วันนั้นนางงดให้ข้าวเจ้าบอล เวลามันร้องเพราะมดกัดหรือได้กลิ่นอาหาร นางไม่รีรอเข้าไปกระหน่ำฟาดทันที...” เจ้าบอลกับหญิงชราในเรื่องนี้น่าเวทนาพอกันและมีชีวิตที่ไม่ค่อยต่างกัน ผู้เขียนได้ทิ้งร่องรอยเป็นจุดสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ให้ผู้อ่านเห็นว่าทั้งสองชีวิตคล้ายคลึงกันอย่างไรก่อนจะเฉลยความจริงในตอนสุดท้าย

           จุดสังเกตแรกคือตอนที่ลูกชายกลับมาเยี่ยมบ้าน เขาซื้ออาหารที่เหมือนกันมาฝากแม่กับเจ้าบอล ซี่โครงไก่ให้แม่ ส่วนขากับหัวไก่ให้หมา ดังข้อความต่อไปนี้

 

         “เขาโยนขาไก่กับหัวติดหงอนซึ่งกำลังหลับตาพริ้มให้เจ้าบอล มันงับแล้วโยนลงคออย่างจระเข้เขมือบเหยื่อ”(บ้านสัตว์เลี้ยง, กิติวัฒน์ ตันทะนันท์, หน้า 88)

 

            จากข้อความดังกล่าว เห็นได้ว่าเจ้าบอลเขมือบไก่อย่างตะกละตะกลามเหมือนที่ “หญิงชราเปิดปากถุงซี่โครงไก่สับ หยิบขึ้นเคี้ยวกร้วม” (หน้า 89) ลูกชายเลี้ยงแม่กับหมาไม่ต่างกัน ให้กินไก่เหมือนกัน เพียงแต่กินกันคนละส่วน ตัวนางเองก็มักกินอาหารที่ไม่ได้ดีไปกว่าอาหารสัตว์เลี้ยงเลย ทั้งที่ลูกชายซื้ออาหารดีๆ มาฝาก นางกลับซุกอาหารเหล่านั้นไว้ในตู้เย็นจนแทบทะลัก “บางอย่างนางเก็บไว้ในนั้นถึงสองสามปี อย่างพวกไช้โป๊วหั่นฝอย เห็ดหอม ลูกพรุนกระป๋อง เต้าหู้ยี้ที่ก้นขวดเป็นสีดำคล้ำ ปลา กุ้งก็แช่แข็งมาหลายเดือน ขนมปังขึ้นรานางก็ไม่เอาไปทิ้ง ด้วยรู้สึกเสียดายจึงแสร้งทำลืม...” (หน้า 90) เมื่อจะทำอาหารนางจึงหยิบของเหล่านี้มาปรุง ส่วนอาหารสัตว์เลี้ยงนั้นคือของเหลือของนางต้มรวมกับเศษก้างเศษกระดูกอีกที

           นอกจากคุณภาพชีวิตของหญิงชราจะไม่ได้ดีไปกว่าสัตว์เลี้ยงแล้ว การปฏิบัติที่เธอกับสัตว์ได้รับจากลูกชายก็ไม่ต่างกันทั้งสองต่างถูกทอดทิ้ง

           เจ้าบอลที่พิการถูกนำมาทิ้งไว้ชนบท ส่วนแม่ที่แก่เฒ่าก็ถูกทิ้งไว้ให้เฝ้าบ้านคนเดียว นานนมกว่าลูกชายจะโผล่หน้ามาเยี่ยม หญิงชราและเจ้าบอลต่างเฝ้ารอการกลับมาของเขา เมื่อใดก็ตามที่เขามาเจ้าบอลจะเห่าเสียงขรมพยายามตะกุยตะกายไปต้อนรับเจ้านายของมัน ส่วนหญิงชราก็คาดหวังให้ลูกชายไต่ถามสารทุกข์สุขดิบนางแต่คำแรกที่ออกจากปากเขากลับเป็น “ไอ้บอลเป็นไงบ้าง” (หน้า 88) ซึ่งทำให้นางน้อยใจและอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้นางเกลียดชังเจ้าหมาพิการตัวนี้นัก นางโหยหาความรักจากลูกชาย เจ้าบอลต้องการการเอาใจใส่จากเจ้าของ แต่เขาไม่ได้ให้สิ่งที่ทั้งสองคาดหวังเลย เขามาเพียงประเดี๋ยวก็กลับไป หญิงชราเหมือนกับเจ้าบอลอย่างไร เห็นได้จากตอนที่รถกระบะสีดำแล่นเข้ามาในบริเวณบ้าน ผู้เขียนได้ตอกย้ำในประโยคสุดท้ายของเรื่องความว่า

 

                              “ให้แน่ชัดว่าคนที่ลงจากรถเป็นบุตรชายก่อนเถิด นางถึงค่อยเห่าหอนและกระดิกหาง”(บ้านสัตว์เลี้ยง, กิติวัฒน์ ตันทะนันท์, หน้า 98)

 

            จากประโยคข้างต้น ผู้เขียนเปรียบหญิงชราเหมือนสุนัขตัวหนึ่งที่รอเจ้าของกลับบ้าน ชื่อเรื่อง ‘บ้านสัตว์เลี้ยง’ จึงเป็นบ้านของแมว หมา และหญิงชราที่กลายเป็นสัตว์เลี้ยงอีกตัวของลูกชาย เขาเลี้ยงหมาพิการในกรง และเลี้ยงแม่ในบ้าน

            เรื่องสั้นเรื่องนี้สะท้อนความจริงในสังคมได้อย่างน่าสะเทือนใจ ทำให้นึกถึงนวนิยายเรื่อง ‘เวลา’ ของชาติ กอบจิตติ ที่ผู้สูงอายุถูกลูกหลานทอดทิ้งไว้บ้านพักคนชรา ได้แต่เฝ้ารอให้ลูกมาหาพร้อมกับนับถอยหลังเวลาในชีวิต ทั้งสองเรื่องให้ความรู้สึกเดียวกันเมื่ออ่านคือ ‘เวทนา’ เรื่องในหนังสือเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องแต่งเพียงเท่านั้นแต่เกิดขึ้นจริงในสังคม สิ่งที่คนอ่านน่าจะได้มากกว่าความรู้สึกเวทนาและเห็นใจคือแรงกระเพื่อมที่ทำให้ตระหนักว่าจะจัดการอย่างไรกับเหตุการณ์นี้ในชีวิตจริง ไม่ว่าผู้สูงอายุหรือสัตว์ต่างก็ต้องการความรักความใส่ใจ หากไม่ระวัง พ่อแม่ที่แก่เฒ่าอาจกลายเป็นสัตว์เลี้ยงเฝ้าบ้านไปอีกตัว

 

 


 

จากกำแพงด้านในข้ามไปด้านนอก

โดย กรรณทิมา  รัตนภูมิ

          “หญิงเสา” ทำไมต้องหญิงเสา  เอาล่ะสิ  ผู้เขียนเล่นกันตั้งแต่ชื่อเรื่องเลยทีเดียว  เสา ล้อรวบเล่นคำมาจากสาว หรือไม่  เพราะเหตุใด 

กล้า  สมุทรวานิช  ผู้เขียนเรื่องสั้นเรื่องนี้เปิดฉากให้เราคลายสงสัยในตอนเปิดเรื่องด้วยการให้เราได้พบ ‘เธอ’  ออกมาจาก ‘เสา’   เป็นการเปิดเรื่องแบบ เมจิกคัล ผู้เขียนใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบเหนือจริงพาเรารู้จักกับเธอโดยผ่านชายผู้หนึ่งซึ่งเห็นและเฝ้ามองการกระทำของเธอหลังการปรากฏตัว จากเสาอาคารต้นหนึ่งของศูนย์ราชการขนาดใหญ่

          เธอพาไปพบกับหนังสือหลายเล่มที่อยู่บนชั้นวางของร้านหนังสือที่ปิดร้านแล้วตั้งแต่เย็น  เป็นการแฝงที่เต็มไปด้วยความน่าสงสัย ทำไมหญิงสาวที่ออกมาจากเสาจึงต้องเข้าร้านหนังสือและหยิบหนังสือบางเล่มขึ้นมาพลิกอ่าน  ผู้เขียนกำลังเล่นอะไรอย่างนั้นหรือ  ไล่เรียงจากหนังสือชื่อ “ความสุขโดยสังเกต” สไตล์หนังสือแนวโลกสวย คิดบวก ชีวิตดีมีความสุข  ตามด้วยหนังสือธรรมมะ หน้าปกเป็นพระรูปหนึ่งซึ่งเห็นได้บ่อยจากหน้าจอโทรทัศน์  หนังสือสองเล่มนี้เธอหยิบ พลิกอ่าน เพียงสองสามหน้าแล้ววางลง เธอเลือกหนังสืออีก แล้วจบลงที่หนังสือ “ถิ่นหลอน” ถือหนังสือเล่มนั้นแล้ว ออกมา จากร้านไปนั่งอ่านที่เสาของเธอ...นั่นเป็นการเฝ้ามองหญิงสาวลึกลับที่อาจจะไม่ใช่มนุษย์ในรูปธรรมอย่างที่เคยเห็น 

         หญิงสาวผู้นั้นเกิดจากข่าวลือช่วงเปิดศูนย์ราชการขาดใหญ่  ข่าวลือถูกแพร่สะพัดส่งต่อจากปากต่อปาก จากการเล่าความต่อๆ กันไป โดยไม่มีใครยืนยันการพบเห็นหญิงสาวคนนั้น  ข่าวลือพูดกันถึงขนาดว่า “ผู้หญิงคนงานพม่าโดนฆ่าข่มขืน แล้วก็เอาศพหล่อไว้ในเสา”

หน่วยงานฝ่ายบริหารอาคารพยายามสยบข่าวลือด้วยการออกเอกสารชี้แจงพร้อมทั้งรูปถ่ายของเสาต้นนั้นขณะที่กำลังก่อสร้างว่าไม่มีการยัดศพลงไปได้  พร้อมทั้งแสดงความจริงใจยอมแม้กระทั่งจะทุบเสาให้ตรวจสอบเพื่อความสบายใจ  แต่ไม่ว่าจะอย่างไรเมื่อความเชื่อของผู้คนฝังรากลงไปแล้วก็ยากนักจะถอนความเชื่อนั้นออกได้  ในที่สุดเสาต้นนั้นจึงกลายเป็นศาลสักการะ มีมาลัยธูปเทียนปักไหว้บูชา

            ผู้เขียนกำลังฉายให้เห็นบริบทหนึ่งในสังคมไทยเกี่ยวกับการสร้างข่าวลือ ปล่อยข่าวและเล่นข่าว  ลักษณะเช่นนี้เป็นเสมือนของหวานง่ายต่อการพูดต่อและเสริมแต่ง  และดูเหมือนว่าหลายๆ คนจะเชื่ออย่างสนิทใจไร้ข้อกังขา...เชื่อโดยที่ยังไม่สามารถหาข้อพิสูจน์ได้กับหลายๆ ข่าวลือ

            เรื่องราวหญิงสาวผูกโยงเข้ากับความเชื่อของคนไทยทั้งในความเชื่อเรื่องผี วิญญาณลึกลับและยังเล่นกับสังคมไทยที่มักเชื่อข่าว(ลือ)ที่ส่งต่อกันมา โดยแทบไม่สนใจข้อมูลหลักฐานด้านอื่นนี่คือการจับความจริงมาเล่นอย่างแยบยล  ผู้เขียนเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้กับภูตผีไทยจากความเชื่อทั่วไปว่าจะต้องนุ่งผ้าถุง นุ่งโจง ห่มสไบโดยการจับเธอมาใส่กระโปรงยีนส์สั้นและสวมเสื้อกล้ามจากเสื้อผ้าที่มีคนมาวางเซ่นไหว้ เธอคงดูแปลกจากผีไทยในความเข้าใจเดิมๆ เป็นแน่

            เธอบอกกับผม (ชายที่มองเห็นเธอ) เมื่อได้สนทนากัน เธอบอกว่า เธอไม่เคยตาย เธอไม่เคยเกิด แต่ “มี” ขึ้นมาเอง  ข้อสงสัยในตัวเธอว่าเธอเป็นอะไรกันแน่นั้นดูจะไม่มีคำตอบ  เธอบอกเพียงว่าเธอมีขึ้นมาคล้ายๆ กับหญิงสาวที่เล่นเปียโนในเรื่องสั้น นิมิตต์วิกาล หนังสือเล่มที่ผมซื้อแล้วไปวางไว้ที่เสาให้เธอ

           เธอชวนผมไปหาหนังสืออ่านแต่ผมไม่สามารถออกจากห้องของสำนักงานได้จากกลไกอัตโนมัติของสำนักงาน  ผนังกระจกกลายเป็นกำแพงกั้นระหว่างด้านนอกกับด้านใน  เธอสอนให้ผมเคลื่อนผ่านกำแพง จนในที่สุดก็สามารถผ่านกระจกหนาออกมาได้  ผมรู้สึกว่าได้หลุดขอบทะลุกรอบตรรกะและความน่าจะเป็นและความจริงลวงทั้งปวงไปหมดแล้ว...ออกมาแล้วก็กลับเข้าไปได้เสมอเมื่อต้องการ เธอบอก

            หลังจากวันนั้นที่นั่งทำงานของผมก็ถูกแทนที่ด้วยหญิงสาววัยต้นยี่สิบ เป็นวัยที่กำลังเติบโต เรียนรู้ และมีความคิดเป็นของตัวเอง  ผู้เขียนคงตั้งใจให้เป็นวัยนี้เพื่อต่อยอดการเคลื่อนที่อย่างเช่นที่ เธอ สอน ผม เคลื่อนที่มาแล้ว และผมก็ตั้งใจว่าจะชวนหญิงสาวคนนั้นเคลื่อนที่ออกมาบ้าง

            เรื่องราวของหญิงเสาเป็นการสร้างเรื่องทาบทับระหว่างความจริงและเหนือจริง  ในความเหนือจริงนั้นผู้เขียนใช้เป็นช่องทางเพื่อส่งสารให้คนอ่านคือการบอกกล่าวกับสังคมเป็นนัยสำคัญ  หญิงสาวอาจเป็นตัวแทนของความเป็นอื่น  มิใช่เธอเพียงคนเดียว  แต่ความเป็นอื่นในสังคมนั้นมากมายเหลือเกิน กำแพงบางๆ ถูกสร้างและกั้นกลางระหว่างความต่าง เพียงแค่ตาเห็นแต่ไม่เคยมองให้ลึกในความต่าง  ความเป็นอื่นนั้นก็ยังเป็นอื่นอยู่เรื่อยไป  สงครามข่าวลือที่สาดกระจายไปทุกทิศทางแม้มีข้อมูลหักล้างแต่ก็ไม่เป็นผลผู้เขียนสร้าง ผม ให้เปิดใจรับกับความต่างที่เข้ามา มอง ความต่างนั้นด้วยความพยายามที่จะทำความเข้าใจ เรียนรู้ และได้พบกับความเป็นอื่น  จากที่ไม่เคยรู้ไม่เคยสัมผัสมาก่อน 

            เรื่องสั้นเรื่องนี้อาจจะกำลังพยายามบอกให้เราเปิดใจก้าวข้ามความคิดเฉพาะตัว เห็นคนอื่นให้น้อยลงแต่มองคนอื่นให้มากขึ้น  กำแพงอาจเป็นเพียงแค่ม่านสายฝนหนาที่แม้จะปิดบังสายตาแต่ก็เดินผ่านมันได้...เธอบอกไว้อย่างนั้น

            การจะก้าวผ่านกำแพงออกนอกความเคยชินไม่ใช่เรื่องง่าย  แต่เมื่อไรที่เรายอมเปิดใจพร้อมจะก้าวสู่ด้านนอกที่แปลกตา  เข้าไปเรียนรู้  และตัดสินใจบนข้อมูลที่เพียงพอเมื่อนั้นเราจะได้คำตอบว่าจะอยู่ด้านนอกหรือกลับเข้าไปด้านใน 

ออกมาแล้วก็กลับเข้าไปได้เสมอเมื่อต้องการ...

 

 


 

ความจริงเหนือจริงที่พร่าซ้ำ

 โดย ชนะ จันทร์ฉ่ำ

             หญิงเสา เรื่องสั้นของ บุญชิต  ฟักมี หรือ กล้า สมุทวณิช ประสบความสำเร็จในฐานะเรื่องสั้นชนะเลิศรางวัลมติชน ในปี พ.ศ. 2554 แทบจะไม่มีข้อกังขาใด ซ้ำยังได้รับ การตอบรับจากนักวิจารณ์อย่างอบอุ่น ในวันที่ หญิงเสา และเรื่องสั้นอื่นๆ รวมเล่ม ก็ยังเดินทางไกลจนถึง รอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2557 แน่นอนว่ามีบทวิจารณ์จำนวนหนึ่ง กล่าวถึงงานชิ้นนี้อย่างชื่นชม และเป็นมิตรต่อกันอย่างเป็นที่สุด การแยกแยะหรือการพยายามจัดหมวดหมู่ให้เรื่องสั้นเรื่องนี้อยู่ในกล่องของความเหนือจริง อย่างเลี่ยงเสียไม่ได้ หาก งานวิจารณ์ที่จะพัฒนาขึ้นในที่นี้จะ อาศัยกล่องใบนั้นในการอธิบาย และเสนอความเปรียบต่างที่ เกิดขึ้นทั้งจากตัวบท และนำเสนอมุมต่างออกไปจากงานวิจารณ์ที่เคยกล่าวถึงเรื่องสั้นเรื่องนี้

            เนื่องจากการเดินทางร่วมกันของเรื่องสั้น หญิงเสาและเรื่องอื่นๆ ในที่นี้ผู้วิจารณ์ขอกล่าวถึง เรื่องสั้นอย่าง เมื่อข้าพเจ้ารับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม งานของ กล้า สมุทวณิช ซึ่งใช้ นามปากกาเดียวกัน คือ บุญชิต ฟักมี เพื่อเปรียบเทียบ ด้วยฉากตอนบางฉากของเรื่อง เมื่อข้าพเจ้ารับรางวัลโนเบลฯ คมชัดง่ายต่อการเข้าใจว่าตัวละครเหยียบยืนบนฝั่งใดของคู่ขัดแย้งตลอดช่วงเวลาที่เรื่องสั้นเล่า อีกทั้งยังสื่อสารประเด็นที่เป็นสากลยิ่ง เมื่อหวนกลับมาพิจารณาความชัดเจนของเรื่องหญิงเสากลับเป็นภาพที่พร่าเลือน ซึ่งตรงนี้นี่เองที่ส่งผลกระทบแตกต่างกันระหว่างเรื่องสั้นทั้งสอง วิกรานต์ ปอแก้ว สะท้อนความนึกคิดต่อเรื่องดังกล่าวผ่านการชื่นชม เรื่อง เมื่อข้าพเจ้ารับรางวัลโนเบลฯ ว่าเป็นเรื่องเล่าที่มีพลังที่สุด เมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ ซึ่งผู้วิจารณ์มองไปในทิศทางเดียวกัน แต่มักกล่าวแบบมีนัยว่า เป็นเรื่องสั้นที่ติดอยู่ภายใน ความเหนือจริงที่ในที่นี้ได้รับการตีความให้เป็นสื่อ ที่ใช้สื่อสารเรื่องราว ภายในเรื่องหญิงเสาด้วยความเหนือจริง สามารถขยายความรับรู้และเปิดช่องสำหรับการจินตนาการต่อ

            เรื่องราวเหนือจริงในสังคมไทยถูกเล่าขานต่อกันผ่านยุคสมัยมาเนิ่นนาน ไม่ว่าคำอย่าง หญิง และ เสา จะมีความหมายรวมกันหรือแยกออกจากกัน แปลเป็นสัญลักษณ์ ของเพศ หญิง หรือ เสา ที่หมายถึง เสาหลักของสิ่งใด แต่เรื่องเล่า เรื่อง ผีเฝ้าเสา ในสังคมไทยมีอยู่จำนวนหนึ่ง และผีเฝ้าเสามักเป็นหญิง หรือหากพิจารณาในเรื่องของการกระจายตัวเชิงพื้นที่แล้วเรามีเรื่องเล่า ผีเฝ้าหลักเมืองแทบทุกจังหวัด มีผีอยู่จำนวนหนึ่ง บ้างเล่าขานอย่างเป็นตำนานและบ้างก็สร้างความหมายที่ชวนตีความอย่างหญิงเสาในที่นี้  หรือหญิงอย่าง ตำนานเสาไห้ ของแดนอรัญ แสงทอง นักเขียนรางวัลซีไรต์ปีเดียวกันกับ หญิงเสา เป็นเรื่องเล่า ที่ผูกเรื่องนางผู้เป็นผีกับประวัติศาสตร์การสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ความโศกเศร้าของผีนางพญาไม้ ที่พลาดโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ เมื่อเทียบเคียงกับหญิงสาวที่ออกจากเสาไม่มีใครอธิบายได้ว่า นางเป็นใคร หรือ เป็นมาอย่างไร หรือแม้นเมื่อนางมีโอกาส อธิบายที่มาของนางเอง ก็ยังอาศัยความคลุมเครือดังแสดงในบทสนทนาบางตอนระหว่างเธอและเขามาอธิบาย

“โอปปาติกะเหรอ”

“ไม่ใช่ โอปปาติกะมาจากการเกิดเหมือนกัน ฉันไม่เคยเกิด ฉัน “มี”ขึ้นมาเอง”

           อาจเป็นเพราะเรื่องเล่าทั้งสองมีฉากหลังและวันเวลาที่ต่างยุคสมัยและมีความมุ่งหมายในการเล่าเรื่องที่ต่างกัน ความยุ่งยากในการสะท้อนปัญหาก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่เสาไห้ร่ำไห้ใคร่ครวญเล่าประวัติศาสตร์ ครั้นมาถึง หญิงเสา เรื่องก็ถูกขับเบียดให้เป็นความคลุมเครือล่องลอยนวยนาตอย่างมีจริตความเป็นหญิง และทั้งสองเรื่องมีจุดร่วมเดียวกันนั่นคือความเหนือจริง ซึ่งทิ้งพื้นที่ให้ผู้อ่านตีความได้ตามระดับประสบการณ์ของแต่ละคน และ หากจะอาศัยข้อมูลบางตอน จากเรื่องสั้นเพื่อเป็นทางออกของความคลุมเครือของที่มาของเธอมีเพียงการเล่าเรื่อง ต่อๆ กันผ่านคำบอกเล่าของหลายๆ คนซึ่งไม่มีใครรู้ชัดว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องจริง กล้าหยิบเอาวิธีจากเรื่องสั้นชั้นดีอย่าง ในป่าละเมาะ ของ ริวโนะซุเกะ อะกุตะงะวะ มาใช้อย่างมีชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง ครั้นเมื่อเรื่องเล่าต่อๆ กันพวกนั้นจะได้รับการพิสูจน์โดยการกะเทาะเสา เพื่อให้ความจริงภายในได้ปรากฏ กลับเป็นเรื่องของการทำลายโครงสร้างของอาคารขนาดยักษ์ หรือความจริงน่ากลัวสำหรับพวกเขา ตรงนี้นี่เองที่ กล้าได้วาบฉายทัศนะที่เขามีต่อสังคม ดูเหมือนตัวละครจะพร้อมใจให้ความเหนือจริงนั้นพร่าเลือนต่อไป เพราะหากมันถูกพิสูจน์ หรือความจริงนั้นปรากฏ ความเชื่อเหล่านั้นจะพังทลายลงและไม่เหลือความหมายใดต่อพวกเขา ซึ่งเดิมทีเป็นแค่ชิ้นส่วนเล็กๆ ของระบบงานภายในศูนย์ราชการขนาดยักษ์แห่งนั้น หรือหากกระโดดออกจากโลกเสมือนจริงในเรื่องสั้นและมองในปริมณฑลรอบข้างหรือบริบท ที่รายล้อมในห้วงเวลาที่ กล้าเขียนเรื่องนี้เป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยแตกแยก ทุกคนต่างยึดเกาะอยู่กับหมวดหมู่ความคิดความเชื่อทางการเมืองที่ต่างขั้วกัน เสาหลักบางแบบเป็นของบางกลุ่ม และบางกลุ่มไม่ยอมรับความจริงที่ว่าหากระบบเช่นระบบราชการต้องรื้อเพื่อจะสร้างใหม่หรือให้ดำรงอยู่ภายใต้สิ่งที่กลุ่มตนเชื่อ กล้าใช้ความเหนือจริงเป็นเครื่องมือในการทำให้ผู้อ่านคิดทะลุกรอบสังคมบางแบบออกไป เพื่อเลือกที่จะเข้าใจข้อมูลข่าวสารในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างเท่าทัน

            ดังที่กล่าวไว้ในเบื้องต้นว่าบทวิจารณ์นี้จะกล่าวถึงความต่างออกไปจากบทวิจารณ์ก่อนหน้าด้วยข้อเสนอ ที่พยายามจะตีความให้เรื่องหญิงเสาสามารถบิดโครงเรื่องให้ก้าวสู้เรื่องแต่งวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการผลักเรื่องออกไปอยู่อีกขอบหนึ่ง แต่มีความชอบธรรมบางอย่างที่ กล้า ทิ้งไว้ ในหลาย ฉากตอน ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวถึง ความน่าจะเป็น หรือพยายามอธิบายกฎฟิสิกส์ ซึ่งเป็นลายแทงให้ได้เชื่อมต่อผ่านประสบการณ์ของผู้อ่านที่ต่างกันออกไป ด้วยการตั้งสมมติฐานแบบใหม่ให้กับการปรากฏกายของตัวละครอย่างหญิงเสา อย่างน้อยที่สุดเรามีหนังสือแนววิทยาศาสตร์ อย่าง The Science of Interstellar ของ Kip Thorn ที่เป็นแม่บท ในการบิดหมุนให้เรื่องของหญิงเสากลายเป็น เรื่องของหญิงเสาที่หลุดมาจากมิติ อื่นๆ จากการเกิดขึ้นของหลุมดำ ในจักวาลอันไกลโพ้น เธออาจร่วมสมัยกับบุตรหลานของใครสักคนในอนาคต เดินทางผ่าน อวกาศ-กาล โดยเสาต้นนั้นเป็นดังประตูทางเข้าของรูหนอน หรือเพื่อที่จะอธิบายการหายตัวไปของตัวละครอย่างเขา บางทีเขาเองอาจหลุดไปอีกกรอบหนึ่งของอวกาศ-กาล ทั้งหมดทั้งมวลที่พยายามสร้างความสัมพันธ์ให้เรื่องของหญิงเสา ไปสู่เรื่องแต่งวิทยาศาสตร์ ซึ่งบางเรื่องในทางทฤษฎียังอยู่ในช่วงแรกเริ่มของพัฒนาการ นั้นก็เพื่อมุ่งหวัง ที่ให้บทวิจารณ์หญิงเสาได้ก้าวพ้น ไปจากกรอบคิดบางกรอบ และข้ามพรมแดนทางความคิดออกไป และได้ก้าวสู่การอธิบายถึงทางออกรูปแบบใหม่ๆ เพื่อหลุดพ้นไปจากกรอบคิดดั้งเดิม ที่มักจะวนซ้ำกลับมาของการแก้ปัญหาแบบเดิม

            ท้ายที่สุดไม่ว่า กล้า จะตั้งใจ ที่จะสื่อสารให้เรื่องสั้นทั้งสองของเขาเปรียบต่างและเข้าไปยึดครองพื้นที่ในหัวใจของนักอ่านที่ต่างกันแบบไหน หรือความคลุมเครือในเรื่อง จะส่งสารชนิดใด ความน่าหลงใหลก็ยังปรากฏในงานของกล้าอยู่ดี ผู้วิจารณ์เองคาดหวังอย่างยิ่งที่จะเห็นประเด็นที่เป็นสากลโลดแล่นอยู่ในงานเขียนของไทยเพียงแต่เรื่องผี ในสังคมไทยมีมากล้นและหลอกหลอนซ้ำแล้วซ้ำอีก ผีรัฐประหารก็เป็นหนึ่งในนั้น


 


 

         ในจากยังมิอาจพรากจากใจ         

                                                                          โดย อุษาญาดา

 

                   “หลงรักชั่วชีวิต” บทกวีของกวีซีไรต์ศักดิ์สิริ มีสมสืบ ศิลปินแห่งชาติประจำปีพ.ศ.๒๕๕๙  เขาทำงานศิลปะทั้งสามสาขา ด้านวรรณกรรม จิตรกรรมและคีตศิลป์ ในจังหวะลีลาที่เป็นแบบฉบับของตนเอง ศึกษาปรัชญาชีวิตจากจ่าง แซ่ตั้งและอ่านบทกวีปรัชญาคาริล ยิบราลผู้มีมุมมองชีวิตที่ลึกซึ้ง ละเอียนอ่อนและสวยงามในความเป็นมนุษย์

                   “รส”ที่ผสมผสานในงานเขียนของศักดิ์สิริ มีสมสืบจึงละเมียดละมุนและกลมกล่อม ถ่ายทอดได้เห็นภาพทั้งกระจ่างชัดและซ่อนความหมายอันลุ่มลึกในถ้อยคำที่เรียบง่าย ตัวอักษรของเขาใน”หลงรักชั่วชีวิต”อ่อนหวาน อ่อนโยนเหมือนลายเส้นภาพวาดดอกไม้ที่สอดร้อยเรื่องราวของความรักความผูกพันไว้อย่างประณีต สวยงามและตราตรึง เสมือนกิ่งก้าน ดอกและใบที่กอดเกี่ยวร้อยรัดไว้ในช่อเดียว

                    ศักดิ์สิริใช้กลวิธีการเล่าเรื่องความรักความผูกพันของชายที่มีต่อหญิงอันเป็นที่รัก ผ่านกาลเวลาจากหญิงสาวจนอยู่ในเรือนร่างของหญิงชรา ซ้อนกับการเล่นซ่อนหาของเด็ก ในบทกวีทั้งแปดบทแต่ละวรรคแต่ละตอนเล่าเชื่อมโยงกับการเล่นซ่อนหาถึงเจ็ดบท ซ้อนความรักใคร่ห่วงหาอาทรและตัดพ้อไว้อย่างแนบสนิทและแยบยล

                   การเล่นซ่อนหาของเด็กนั้นจะมีผู้ซ่อนและผู้หา จำกัดอาณาบริเวณในการเล่นและมีจุดจบไม่ยืดเยื้อยาวนาน แต่การเล่นซ่อนหาใน”หลงรักชั่วชีวิต”เป็นการเล่นที่ยาวนานและไม่มีจุดจบ นัยยะที่แฝงเร้นในบทกวีก็ดูเหมือนจะชวนให้ผู้อ่านฉงนฉงายและตีความไม่มีจุดจบเช่นกัน หากจะเปรียบก็คล้ายกับภาพปริศนารอยยิ้มที่ยากจะหยั่งถึงของโมนา ลิซ่าซึ่งมีผู้คนพยายามจะไขปริศนารอยยิ้มที่ดูลึกลับนั้นมายาวนานและยังไร้ซึ่งคำตอบ

                 ในบทแรกผู้ประพันธ์เปิดบทกวีด้วยการตั้งคำถาม

       “เหนื่อยหน่ายไหมหญิงสาวเจ้าแอบซ่อน         

เหน็บหนาวไหมบังอรเล่นซ่อนหา

                 นานแค่ไหนอยู่ในร่างหญิงชรา                      

หลับสนิทนิทราในเรือนร้าง”

                ประโยคคำถาม “เหนื่อยหน่ายไหม” “นานแค่ไหน” ล้วนบ่งบอกกาลเวลาอันยาวนาน

                คำว่า “ร้าง” แปลว่า ว่างเปล่า ถูกทอดทิ้ง เรือนร้างน่าจะสื่อถึงเรือนกายที่ร้างแห้งแล้งในร่างของหญิงชรา ภาพ “หญิงสาว”ในบทกวีผู้ซ่อนตัวอยู่ปรากฏในร่าง “หญิงชรา” หลับสนิทในเรือนร้าง เสมือนการแสวงหาความอ่อนเยาว์ในอดีตที่ซ่อนอยู่ในสภาพที่แปรเปลี่ยนไปแล้ว เป็นการการโหยหาอาลัยอาวรณ์อดีตที่ไม่อาจหวนคืนมาได้อีก

“ข้ายังตามหาเจ้าดีใจไหม         

ถ้าดีใจช่วยลืมตามามองบ้าง”

                   ในบทที่สองกล่าวถึงฝ่าย “ผู้ตามหา”ยังรอคอยการตอบสนองจากร่างชราที่นอนนิ่งสนิทอยู่อย่างนั้น

“ข้ากุมมือเจ้าอยู่รู้ตัวไหม         

ข้าเรียกเจ้าเจ้าไม่ได้ยินหรือ

ไม่เอื้อนเอ่ยเจ้าก็น่าจะอออือ  

เจ้าคนดื้อเมื่อไรเจ้าจะเข้าใจ”

                    บทกวีบทที่ห้า ยังคงเอ่ยถึงการไม่ตอบสนองหรือรับรู้ความรู้สึกของ”ข้า” ผู้ตัดพ้อต่อร่างที่นอนนิ่ง รอให้ตื่นมารับรู้ หากนัยยะที่ซ่อนอยู่เป็นการพูดถึงสังขารของมนุษย์ “เจ้าคนดื้อเมื่อไรเจ้าจะเข้าใจ” อาจเป็นการเตือนสติไม่ให้หวงแหนร่างกายอันเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา

                   กวีใช้คำง่ายที่มีพลังกระทบอารมณ์ ทั้งสัมผัสสระ(หรือ- อือ-ดื้อ)และสัมผัสอักษร(เอื้อน-เอ่ย ออ-อือ) มีความเด่นในการสรรใช้คำให้เกิดสัมผัสคำ สัมผัสเสียงและท้ายที่สุดสัมผัสใจ สามารถถ่ายทอดอารมณ์ให้ผู้อ่านได้ร่วมรับรู้

       “มิใช่เพราะน้อยใจ...ข้าไปก่อน         

นอนเถิดหญิงชรานอนอย่าผวา

         หลบซ่อนเถิดสาวเอยดั่งเคยมา        

เป็นไรเล่าเจ้ากับข้าใช่คู่กัน”

                    บทกวีบทที่เจ็ดเอ่ยถึงการจากของ”ข้า” เอ่ยลาด้วยความอาทรห่วงใยและปล่อยให้หญิงสาวในความรักทำตามความปรารถนา ในวรรคสุดท้าย “เป็นอย่างไรเล่าเจ้ากับข้าใช่คู่กัน” กวีเล่นคำและสื่อความหมายในทางตรงกันข้ามว่า “ถึงอย่างไรก็เป็นคู่กัน”

                   ในบทกวีบทสุดท้ายสรุปใจความที่สอดร้อยเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบ ในความรักของ “ข้า”นั้นไม่มีความแปรผัน แม้กาลเวลาก็ไม่อาจพรากความรักไปจากใจได้

      “หลบซ่อนอยู่ที่ไหนใครจะว่า         

อยู่ในร่างหญิงชราช่างน่าขัน

       ภูมิใจเถิดหน้ามนคนสำคัญ         

ข้าหลงรักเจ้านั้น...ชั่วชีวิต”

                   กวีนั้นสามารถใช้ตัวอักษรถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดให้เห็นเป็นรูปธรรม เปรียบเปรยอำนาจของความรักได้ยิ่งใหญ่ถึงชั้นฟ้าและกว้างไกลกว่าจักรวาล แต่ศักดิ์สิริกลับใช้ภาพคุ้นตาในชีวิตประจำวันอันเรียบง่ายถ่ายทอดความรู้สึกภายในได้งามตาและจับใจ

        “ข้าได้จัดดอกไม้ไว้ให้แล้ว           

แจกันแก้วริมหน้าต่างสว่างไสว

   ผ้าปูโต๊ะผืนน้อยปล่อยชายไกว   

ปรุโปร่งลูกไม้ม่านบังตา”

                    ในขณะเดียวกันก็แฝงแนวคิดอันเป็นนามธรรมของกวีซ้อนอยู่ในรูปธรรม ในความง่ายของถ้อยคำจึงไม่ได้ง่ายอย่างที่ตาเห็น หากจะตีความในระดับลึกถึงสารที่กวีแอบซ้อนไว้ ผู้อ่านยังต้องขบคิดและตีความอีกชั้นหนึ่ง เสมือนผู้เขียนได้ซ่อนความไว้ให้ผู้อ่านตามหาปริศนานั้นต่อไป ราวเป็นกลเกมการเล่นซ่อนหาระหว่างผู้เขียนและผู้อ่านคู่ขนานไปกับการเล่นซ่อนหาของตัวละคร บทกวี “หลงรักชั่วชีวิต”เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามของตัวละครและจบลงด้วยการทิ้งคำถามไว้ในใจผู้อ่าน ดั่งเป็นมนตร์เสน่ห์อย่างหนึ่งของบทประพันธ์ชิ้นนี้ให้ต้องหยิบขึ้นมาอ่านซ้ำ ๆ และขบคิดต่อไม่รู้จบ

                    กล่าวได้ว่า ศักดิ์สิริ มีสมสืบสื่อถึงความรักอย่างมีชั้นเชิง ชวนฉงนและมีความต่างจากกวียุคเก่าที่มักโหยหาหญิงอันเป็นที่รัก ผู้ซึ่งอยู่ในความงามอันเพียบพร้อมสมบูรณ์ทั้งกายวาจาและใจ แต่บทกวีของศักดิ์สิริตามหาและรอคอยหญิงสาวในความรักในร่างของหญิงชราผู้ร้างซึ่งความงดงามแห่งเยาว์วัย ที่หลบซ่อนในความเสื่อมของสังขาร ยังรู้สึกเอ็นดูขบขันในความไม่น่าขัน ความรักอันลึกซึ้งนี้จึงปรากฏอยู่ใจอย่างแท้จริง อยู่เหนือกฎแห่งธรรมชาติของมนุษย์  เหนือกาลเวลาและไม่เสื่อมคลาย สารแห่งความคิดของเขาแสดงถึงความมั่นคงของความรักของตนว่า อยู่เหนือรูป รส กลิ่น เสียงและความไม่เที่ยงแท้แห่งสังขาร

                    “หลงรักชั่วชีวิต”จึงเป็นรสรักอันประณีตชั่วกาล ไม่เกินเลยที่จะกล่าวถึงการจากพรากนี้ว่า

“ในจากยังมิอาจพรากจากใจ”

 

 


 


เรื่องลี้ลับที่มองไม่เห็น แต่ทุกคนรู้ว่า มี

โดย ดนิตา

                    หญิงเสา  เรื่องสั้นชนะเลิศ รางวัลมติชนสุดสัปดาห์ ปี 2554 ผลงาน กล้า สมุทวณิช เป็นเรื่องสั้นแนวแฟนตาซี  ที่จับเอาข่าวดังเกี่ยวกับ ข่าวร่ำลือว่า มีผีหญิงสาวอาศัยอยู่ในเสาที่สนามบินสุวรรณภูมิ จนเสานั้นกลายเป็นที่เคารพบูชาของเหล่าผู้คนที่ทำงานอยู่ที่อาคารแห่งนั้น  แม้ว่าจะมีวิศวกร และ รายการทีวีชื่อดังได้นำเครื่องมือวิทยาศาสตร์มาอธิบายชี้แจ้งว่า เรื่องร่ำลือนี้ไม่มีทางเป็นจริงไปได้เลย  แต่ความเชื่อของผู้คนก็ไม่ได้สั่นคลอนไป

                   หญิงเสา  เล่าเรื่องผ่านตัวละครชาย ที่แทนตัวเองว่า  ผม  จากครั้งแรกที่เขามองเห็นหญิงสาว “กรายร่างบอบบางออกมาจากเสา” ของอาคารศูนย์ราชการ ในช่วงเวลาหลังศูนย์ราชการปิดทำการ แต่เขาก็ไม่ได้ “รู้สึกหวาดกลัวอะไรเลยแม้แต่น้อย”  ด้วยคำอธิบายว่า “คล้ายกับเวลาที่คุณไปเฝ้ารอสุริยุปราคาเต็มดวงที่รู้ก่อนล่วงหน้านั่นแหละ”

                  หลังจากสังเกตการณ์ หญิงสาว(ที่เร้นกายออกมาจากเสา)  เลือกหาหนังสือจากร้านหนังสือมาอ่าน  สำรวจรสนิยมการอ่านของเธอ ได้ สบตา สำรวจรูปลักษณ์ของหญิงเสาผู้นั้น เขาก็มั่นใจ แม้จะไม่เห็น แต่ว่า “ เธอยังคงวนเวียนอยู่ในเวิ้งบริเวณของศูนย์ราชการนี้”

                  ศูนย์ราชการขนาดยักษ์ใหญ่แห่งนี้เป็นที่รู้กันดี ถึงข่าวลือเรื่องผีผู้หญิงในเสา บ้างว่า หญิงพม่าถูกฆ่าหมกเสา ทั้งที่หน่วยงานฝ่ายบริหาร ยกหลักฐาน ออกเอกสารเวียนอย่างเป็นทางการยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องจริงและไม่มีวันเป็นจริง แต่เอกสารราชการ ไม่สามารถห้ามพวงมาลัย ธูปเทียนบูชา จนถึงเสื้อผ้าวัยรุ่น เครื่องสำอางผู้หญิง  แม้คำสั่งให้เก็บกวาดก็ยังไม่เป็นผล มีคนตั้งตั่งแท่นบูชา  เปลี่ยนเสา ให้เป็น “ศาล”บูชา  

                  หลังจากคัดสรรหนังสือวรรณกรรมมาเป็นเครื่องบูชาให้กับหญิงเสา  เขาก็ได้พบเธอ และเธอก็ชักชวนให้เขาเคลื่อนผ่านประตูได้อย่างลี้ลับ ง่ายๆ แต่ผ่านออกไปเฉยๆ และเขาก็สัมผัสถึงตัวเธอได้ และเรื่องสยองขวัญหลังเลิกงานเรื่องใหม่ของศูนย์ราชการใหญ่นั้นก็มีให้เล่าขานสืบต่อไป

                  หากพิจารณา ตามท้องเรื่อง “หญิงเสา” เรื่องสั้นที่เล่าเรื่องลี้ลับของชายหนุ่มที่แทนตัวว่า  ผม กับ ผีหญิงสาวในเสาตึก ผีสาวที่เป็นที่บูชาของคนในตึกศูนย์ราชการ หลังจากสังเกตความชอบของเธอ เขาติดต่อเธอได้ด้วยการเลือกให้หนังสือวรรณกรรมเป็นของบูชา ก่อนที่เรื่องราวจะจบแบบที่เขากลายเป็นเรื่องเล่าลี้ลับอีกคนของอาคารแห่งนั้น ด้วยเรื่องราวลี้ลับ ทำนองนี้ ทำให้มองสารของเรื่องไปในมุม บอกเล่าความเชื่อ เรื่องลี้ลับ ที่ซ่อนอยู่ในสังคมไทย โลกทัศน์แบบที่ใครอยากจะเชื่อ ก็จะเชื่ออยู่อย่างนั้น แม้จะมีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์หรือแม้แต่เอกสารคำสั่งราชการใดๆ มายืนยัน ว่า ไม่มีสิ่งลี้ลับใดอย่างที่อยากเชื่อนั้น

            มองอีกมุมหนึ่ง หากเราพิจารณาดูจากองค์ประกอบแวดล้อม บริบทรอบข้าง ตัวเอกในเรื่องนี้ มีเพียง “ผม”  หญิงเสา และ สถานที่ คือ ศูนย์ราชการหลังเลิกงาน

            ด้วยสำนวนเขียนของผู้เขียน น้ำเสียงเล่าเรื่องไม่ได้มีลีลาที่จะชวนไปในทางให้รู้สึกสยองขวัญ  หากจะมีน้ำเสียงยั่วล้อ แม้จะให้ข้อมูลว่า มีคำร่ำลือของผีผู้หญิงที่อาศัยในเสา แต่นับตั้งแต่แรกเห็นครั้งแรก  ตัวละครชายหนุ่มที่เรียกตัวเองว่า  “ ผม” ก็ไม่ได้มีความรู้สึกไปในทางหวาดกลัวเลยแม้แต่น้อย  กลับวางสถานะภาพเป็นผู้เฝ้ามองอย่างเพลิดเพลินสายตา  นั่งจิบเบียร์รอชมดูท่าทีเยื้องกรายของเธอราวกับเป็นผู้ชมภาพยนตร์  และ เมื่อเธอเข้าไปสำรวจแผงหนังสือ  เขาก็วางตัวเป็นหนอนหนังสือที่แสดงความเจนจัด รอบรู้แวดวงวรรณกรรม  เพียงเห็นแค่ปกหนังสือจากไกลๆ ก็บอกชื่อหนังสือ ผู้เขียนได้อย่างทันที ราวกับผม คนนี้ สามารถประเมินรสนิยม ความชื่นชอบ และคัดสรรสิ่งที่ถูกใจเธอเธอได้ไม่ยาก ซึ่งเขาก็ได้เลือกหนังสือวรรณกรรมมาวางให้เป็นของบูชา กำนัลให้หญิงสาวที่เขาเห็นออกมาจากเสา

            ในทางสัญลักษณ์นั้น  เปรียบเทียบได้ว่า เสาเป็นตัวแทนของโครงสร้างหลัก  เป็นโครงสร้างสำคัญ ซึ่ง สถานที่ในเรื่องนี้ก็คือ  ศูนย์ราชการยักษ์ใหญ่แห่งนี้  ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นเสาหลักของประเทศ  หน่วยงานราชการ ที่มีคำขวัญว่า โปร่งใส ตรวจสอบได้  แห่งนี้  แต่อย่างที่เราทุกคนรู้กัน ว่า หน่วยงานราชการบ้านเรา ล้วนมีเรื่องลี้ลับที่ใครๆ ก็รู้ เกี่ยวกับการให้ของกำนัล คล้ายบูชาด้วยของไหว้ที่ถูกใจก็จะสามารถหวังประโยชน์โภชผลกลับมาได้  เช่นเดียวกับในเรื่องนี้ เมื่อชายหนุ่ม ให้ความใส่ใจ จับรสนิยมของหญิงเสาได้ว่า เธอชื่นชอบการอ่าน เขาก็เพียงสรรหาหนังสือให้ถูกใจเธอ ซึ่งนั่นก็ทำให้เขาได้เข้าถึงช่องทางพิเศษ ผ่านพบเข้าสู่มิติใหม่ของการผ่านเข้าออกทุกประตูของศูนย์ราชการได้สะดวก

            ที่จริงตัวละคร ผม ก็ฉวยโอกาสหาประโยชน์ตั้งแต่เมื่อแรกเห็นหญิงเสานั้นแล้ว ด้วยการเจรจารับซื้อแลกเวรกับคนที่กลัวผี ไม่อยากมาเข้าเวรกะกลางคืน  โดยตัวเขารับมานอนเวรกะกลางคืน เพราะอินเตอร์เน็ตเร็ว  แอร์เย็นสบายกว่าที่พักตัวเอง แถมยังได้ค่าแรง

            จากท่าทีที่มีความยั่วล้อ เรื่องราวของตั้งเรื่องเซ่นไหว้ บูชา ที่พร้อมกับการให้ของกำนัล  ที่ไม่ผิดอะไรกับการให้สินบนในแวดวงราชการ  หากแต่ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ขยับขึ้นมาจากเรื่องการเล่าเรื่องภาพคอร์รัปชั่นของรัฐในรูปแบบเดิมๆ  ที่มีเหตุให้ผู้คนในเสาหลักแสดงท่าที เรียกร้องของกำนัล หากแต่เรื่องสั้นนี้  กลับวางสถานะเสาเป็นผีสาวลี้ลับ แม้เธอไม่ต้องเรียกร้อง หากแต่เป็นธรรมดาที่ชายหนุ่มจะพยายามใกล้ชิด และ หาของกำนัลไปหวังผลแลกเปลี่ยน คล้ายจะบอกว่า การให้ของกำนัลผู้อยู่ในเสา นั้น เป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกเสียแล้ว ไม่ผิดกับความเชื่อฝังใจผู้คนบ้านเรา  อย่างเช่นที่หญิงเสา พูดถึงการมีอยู่ของตัวเองว่า “ฉันไม่เคยเกิด ฉันมีอยู่ขึ้นมาเอง”  และเมื่อ เสานั้นดำรงอยู่ได้ด้วยความเชื่อว่า  ศักดิ์สิทธิ์  หากบนบานด้วยเครื่องเซ่นไหว้ที่ถูกจริต ก็จะได้รับผลตอบแทนอย่างใจที่บนบานไว้   และความศักดิ์สิทธิ์นั้น ก็ดำรงอยู่ตรงเท่าที่ “หากวันไหนที่เขามองเห็นเสาเป็นเพียงเสา รอยปูนเป็นเพียงรอยปูน วันนั้นฉันก็ดับสูญ” การมีอยู่ของวัฒนธรรมติดสินบน การให้ของกำนัลแก่เสาหลักเพื่อขอช่องทางผ่านพิเศษใดๆ ย่อมให้ประโยชน์โภชผลกลับมา ไม่ทางใดก็ทางใด  หรืออย่างน้อย หากของกำนัลนั้นมอบให้ถูกคน ถูกใจ ก็จะสามารถผ่านทางสะดวกไปทุกช่องทางได้อย่าง “หลุดขอบทะลุกรอบตรรกะความน่าจะเป็นและความจริงลวงทั้งปวง”

            และด้วยข้อที่ว่า ของกำนัล ของสินบนในเรื่องนี้ เป็นหนังสือวรรณกรรมนั้น จึงมองได้ว่า ผู้เขียนยั่วล้อการให้สินบนในยุคสมัยใหม่ว่า  หมดสมัยของการให้ของกำนัลเดิมๆ  ช่องทางปกติที่ให้ไปอย่างตรงไปตรงมานั้นใช้ไม่ได้แล้ว เพราะคนในเสาเขาก็รู้จักอ่านหนังสือ (มีทุนความรู้ เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร) เหมือนกัน  สิ่งที่กรีดกรายไปมาในเสานั้น ไม่เหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบเก่าแก่อีกต่อไปแล้ว  หากแต่มีความแยบยล และชุดความคิดใหม่ทันกระแสโลก

            นึกๆแล้ว ...บางทีการคอร์รัปชั่น ให้สินบนนั้นก็มีความคล้ายคลึง ไม่ผิดกับการกราบไหว้ บนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เราตั้งเครื่องเซ่นไหว้  ตั้งของบูชา จะเพื่อขอพร ขอเลขเด็ด บนบานขอสิ่งที่เราประสงค์ ซึ่งหากสรรหาของบูชา สิ่งบนบานได้ถูกใจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ท่านแล้ว บางทีเราก็อาจจะได้สิ่งตอบแทนตามที่ร้องขอกลับมาก็เป็นได้   

            และจึงเป็นธรรมดาอย่างยิ่ง ว่า  เมื่อกระบวนการให้ของกำนัล บนบานท่านแล้ว เราได้รับสิ่งตอบแทนตามที่เราร้องขอกลับมาจริง  ก็ไม่แปลกเลย ที่กระบวนการนี้ จะเป็นที่ยอมรับ เสื่อมใสในความศักดิ์สิทธิ์ และคงอยู่คู่สังคมไทย อย่างปฏิเสธไม่ได้เลย  


 


 

 Believe It or Not! คุณเชื่อหรือไม่!

โดย  สุนีย์  อัศวชนะการ

 

                   “ หากไม่เชื่อล่ะก็.....   แนะนำว่า   ให้ลองมาพิสูจน์ด้วยตาของตนเอง ”  ประโยคแบบนี้มักเป็นประโยคชวนเชื่อที่ได้ยินกันมานานจนคุ้นชิน    จริงหรือที่ความเชื่อ-ไม่เชื่อ    สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตาเราเอง    ประโยคที่ไม่มีที่มาแต่มีที่ไป   บอกต่อๆกันมานานนมกาเล    แล้วจริงๆความเชื่อคืออะไรกันนะ   เรามาทำความรู้จักกับมันสักนิดเถอะนะ  

                   โรคีช (Milton Rokeach) ได้อธิบายความหมายของความเชื่อว่า หมายถึง “  ความคิดใดๆ ที่เป็นไปได้ หรือแน่ใจเกี่ยวกับการมีอยู่  การเป็นอยู่   ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำ   ทั้งนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้คนแสดงพฤติกรรมตามความเชื่อนั้น ”

                  ในสังคมไทยมักมีความเชื่อในเรื่องต่างๆ   อย่างในทางศาสนา  ก็มีความเชื่อว่า  คนทำดีจะได้ไปสวรรค์ ส่วนคนที่ทำชั่วก็ต้องลงนรกไป    ในทางการเมือง  พรรคคอมมิวนิสต์ก็เชื่อในเรื่องความเท่าเทียมกัน    ความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์  เช่น  เรื่องผีสางเทวดา  การทำเสน่ห์,  ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ  คาถาอาคม  วัตถุมงคล  เครื่องรางของขลังต่างๆ   ยังมีความเชื่อที่คนโบราณเล่าสืบๆต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นอีก  เช่น  พิธีทำบุญต่างๆ  ผีปอบ ผีฟ้า ผีแม่ม่าย หรือ แม้แต่เรื่องจิ้งจกทัก,  ความเชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด  การกลับชาติมาเกิด  เป็นต้น               

                    ความเชื่อ  จึงเป็นการแสดงถึง   มุมมองของเราต่อสิ่งต่างๆรอบๆตัว   ในลักษณะ 2 ขั้ว คือ ถูกกับผิด หรือ ใช่กับไม่ใช่    ซึ่งผ่านประสบการณ์และผลจากการติดต่อกับคนอื่น    เราไม่อาจสังเกตความเชื่อของใครต่อใครได้โดยตรง    แต่สังเกตได้ผ่านพฤติกรรมที่คนคนนั้นทำ    ซึ่งทำให้เราพอจะประเมินได้ว่า     พฤติกรรมที่เกิดขึ้นของใครก็ตาม     เป็นผลพวงมาจากความเชื่อของคนคนนั้นนั่นเอง

                    กล้า สมุทวณิช  ได้นำเรื่องราวของความเชื่อและสัญลักษณ์   มาปะติดปะต่อร้อยเรียงเป็นเรื่องราวของ  หญิงเสา  ขึ้นมาอย่างละมุน    จนเป็นเรื่องสั้นที่เข้าตากรรมการ  ชนะเลิศรางวัลมติชนสุดสัปดาห์  ปี  2554    ไม่เพียงเท่านั้น   ความกลมกล่อมลงตัวในเรื่องของความเชื่อผสมผสานกับนัยทางการเมืองในเชิงสัญลักษณ์ที่มีให้เห็นเป็นระยะตลอดการเล่าเรื่อง  ทำให้  “ หญิงเสา ”   สามารถทะลุทลวงผ่านเข้ารอบสุดท้ายสำหรับการประกวดวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ  ‘ซีไรต์’ ประจำปี พ.ศ. 2557  อีกด้วย                         

                  ที่มาที่ไปของแรงบันดาลคำ  หญิงเสา นั้น    ผู้เขียนเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในสกู๊ปพิเศษ : โค้งสุดท้ายซี-ไรต์ ของสถานีข่าว Thai PBS ว่า    ได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้จากข่าวประมาณ 5 ปีก่อน    ที่มีพนักงานกะดึกในสนามบินแห่งหนึ่งมองเห็นหญิงสาวผ่านเข้าออกต้นเสาอยู่บ่อยครั้ง และเขาก็ได้พยายามที่จะสื่อสารกับเธอ

 

                “  ตอนที่ได้เห็นเธอกรายร่างบอบบางออกมาจากเสาครั้งแรกนั้น  ผมไม่รู้สึกหวาดกลัวอะไรเลยแม้แต่น้อย  นอกจากตื่นเต้นว่าได้เห็นภาพที่เคยได้ยินจากคำร่ำลือนั้นด้วยตาตัวเอง   คงคล้ายกับเวลาที่คุณไปเฝ้ารอสุริยุปราคาเต็มดวงที่รู้ก่อนล่วงหน้านั่นแหละ ”          

                จึงไม่น่าแปลกใจเลยสักนิดที่เราจะได้เห็นประโยคดังกล่าวข้างต้นของผู้เขียน    ซึ่งได้นำแรงบันดาลใจที่ผู้เขียนได้รับตามที่ให้สัมภาษณ์นั้นมาใช้ในการโหมโรงนำเข้าสู่เนื้อหาของ หญิงเสา    ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของความเชื่อที่ซ่อนนัยทางการเมืองในเชิงสัญลักษณ์ไว้มากมายตลอดเรื่อง    ไม่ว่าจะเป็นอาคารศูนย์ราชการยักษ์ และ เสา    ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนผู้มีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง    หรือแม้แต่ตัวอย่างหนังสือในเรื่องหญิงเสา  ก็ยังแอบซ่อนนัยทางการเมืองไว้   อย่างเช่นหนังสือเรื่อง “ อันตรธาน ”     ( นวนิยายฆาตกรรม เชิงสืบสวน สอบสวน  เป็นเรื่องระหว่าง คนที่ถูกล่าและคนที่ตามล่า )    ผู้เขียนดูจงใจมากที่จะเล่าถึงที่มาที่ไปของหนังสือ    โดยใช้ร้านหนังสือก็องดิคบริเวณแยกคอกวัวมาเป็นตัวเชื่อมโยงให้เข้าไปในเรื่องของการเมือง ( เหตุการณ์  เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553  ที่บริเวณสี่แยกคอกวัว   เกิดเหตุปะทะกัน   จากความเชื่อต่างขั้ว

                ผู้เขียนมักเล่าเรื่องผ่านฉากของร้านหนังสือที่มีหนังสือหลากหลายแนวทั้งแนวปรัชญา  ธรรมะ ความรู้และเรื่องลี้ลับ    เพื่อเป็นตัวแทนเรื่องราวบนโลกที่มีอยู่มากมายหลายด้านทั้งสุข-ทุกข์  เศร้า ดีใจ-เสียใจ    หญิงสาวในเรื่องเป็นตัวแทนอะไรก็ตามบนโลกใบนี้    ที่สามารถจะเลือกอ่านหนังสือแบบใดก็ได้   จะเลือกตามที่มีใครอื่นแนะนำไว้   ตามโฆษณาชวนเชื่อ หรือ แม้แต่จะเลือกตามความชอบใจในแบบที่ต้องการก็แล้วแต่    การที่ผู้เขียนใช้ฉากของร้านหนังสือที่มีหนังสือหลากหลายแนวซ้ำๆ    เพื่อจะส่งผ่านความเชื่อของผู้เขียนสู่ผู้อ่านว่า  สุข-ทุกข์อยู่ที่เราเลือกและกำหนดเอง    ไม่จำเป็นต้องเชื่อหรือทำตามที่คนอื่นแนะนำหรือชี้นำ    เหมือนการจงใจจะตอกย้ำซ้ำๆว่า   You are what you read  คุณอ่านอะไรคุณก็จะเป็นอย่างนั้น     ซึ่งผู้เขียนได้บรรจงเล่าเรื่องราวร้อยเรียงกันไว้อย่างแนบเนียนดังเช่น

                    “ ....เธอเยื้องร่าง....เข้าไปในร้านหนังสือ.....เดินระเรื่อยไปตามชั้นหนังสือ  ระมือไล้นิ้วไปบนปกหนังสือขายดีเป็นที่แนะนำของร้าน.....พลิกอ่านสองสามหน้าก่อนจะวางลง....  ”

                    “ ...ร่างของหญิงสาวผู้เร้นกาย.....หยิบหนังสือปกสีดำ.......ขึ้นมาเปิดอ่าน  ผมจำได้ว่ามันคือเรื่อง “อันตรธาน”……….”

                   “….อ่านไปได้ไม่นานนักเธอก็วางมันลงบนพื้น...(น่าจะเป็น “ถิ่นหลอน”….).........”

                    นอกจากนี้ผู้เขียนยังเล่าเรื่องมุมมองที่เกี่ยวกับความเชื่อในแง่ที่ว่า   ความเชื่อไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล    แต่เป็นข้อกำหนดของแต่ละคนว่า   ต้องการจะเชื่อในสิ่งใด     สามารถเชื่อในสิ่งใด    จะเชื่อในอะไร และวางเงื่อนไขในสิ่งที่เชื่อมาอย่างไร    เพื่อใช้ความเชื่อนั้นๆเป็นเครื่องมือสนองตอบความต้องการของตนเอง 

 

                    “….เรื่องแรงงานหญิงพม่าถูกฆ่าข่มขืนหมกในเสานั้นไม่ใช่เรื่องจริงและไม่มีวันเป็นจริง... ”

                   “…ถึงขนาดที่มีดำริจะกระเทาะเสาพิสูจน์.....เพื่อลบกลบข่าวลือ  หากทางทีมงานวิศวกรห้ามไว้....”

                   “…กลุ่มคนที่แม้จะกลัวอิทธิฤทธิ์....แต่ก็ยังแอบหวังประโยชน์......”              

                   “….ผมเป็นคนไม่กลัวผีหรือสิ่งลึกลับ ( อย่างน้อยผมก็เคยเชื่อว่าตัวเองเป็นเช่นนั้น )....”

                   แม้ในท้ายเรื่องผู้เขียนก็ยังคงเน้นย้ำในประเด็นเรื่องของความเชื่อที่ว่า   ความเชื่อไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล    ไม่ใช่เรื่องจริงและไม่มีวันเป็นจริงก็ยังมีคนเชื่อ     โดยการเล่าเรื่องราวต่างๆ    ผ่านการสื่อสารกันทางจิตกับเธอคนนั้น

                   “ หากวันไหนที่พวกเขามองเห็นเสาเป็นเพียงเสา รอยปูนเป็นเพียงรอยปูน วันนั้นฉันจะดับสูญ ”

                    “…ผมหลุดขอบทะลุกรอบตรรกะและความน่าจะเป็นและความจริงลวงทั้งปวงไปแล้ว......”

                   มาถึงตอนนี้   พวกคุณก็คงจะเชื่ออย่างหมดใจไปแล้วสินะ    กับเรื่องเล่าเกี่ยวกับความเชื่อในแบบกล้า สมุทวณิช   ที่ว่า  You are what you read  คุณอ่านอะไรคุณก็จะเป็นอย่างนั้น  สุขหรือทุกข์ก็อยู่ที่เราเลือกและกำหนดเองทั้งนั้น

 

กล้า สมุทวณิช .หญิงเสา .มติชนสุดสัปดาห์: 2554

 

 


 


Visitors: 82,074