อนุวัฒน์ วงษ์ราช

 

 

 

    อนุวัฒน์ วงษ์ราช


 อีกไกลแค่ไหนจนกว่าฉันจะใกล้ “อนุสาวรีย์”... บอกที

 

            นวนิยาย เรื่อง อนุสาวรีย์ ของวิภาส ศรีทอง เป็นที่กล่าวขวัญถึงในหมู่นักอ่านว่าเป็นงานที่ค่อนข้างอ่านยากเรื่องหนึ่งเพราะเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่ต้องตีความซึ่งนี่ถือเป็นลักษณะเด่นที่สำคัญประการหนึ่งของนักเขียนท่านนี้ ดังจะเห็นได้จากผลงานเรื่องอื่น ๆ ที่มีมาก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็น คนแคระ หรือ หมาหัวคน ดังนั้นการจะเข้าใจความหมายของนวนิยายเรื่องนี้จึงต้องอาศัยการตีความเป็นหลัก

            เนื้อหาของนวนิยาย เรื่อง อนุสาวรีย์เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในคอมมูนแห่งหนึ่งอันประกอบไปด้วยสมาชิกคอมมูนหลายคนที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่ได้รับมอบหมายจากกลุ่มผู้ปกครองคอมมูน จนกระทั่งวันหนึ่งสมาชิกเหล่านั้นก็ออกมารวมตัวกันเพื่อทำภารกิจสำคัญร่วมกันอย่างหนึ่ง คือ การสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อที่จะก้าวไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าเดิม แต่หารู้ไม่ว่าการสร้างอนุสาวรีย์นั้นเป็นช่องทางที่ฝ่ายปกครองใช้เพื่อตอกย้ำให้สมาชิกชาวคอมมูนกลับไปสู่วิถีชีวิตใต้การบังคับบัญชาของกลุ่มผู้ปกครองดังเดิม กิจกรรมดังกล่าวเปิดช่องให้กลุ่มผู้ปกครองได้แทรกแซงและทำลายอุดมการณ์อันแรงกล้าของชาวคอมมูนท้ายที่สุดแล้ว แม้อนุสาวรีย์จะสร้างได้สำเร็จ แต่ก็ไม่ได้มีความหมายต่อสมาชิกคอมมูนแต่อย่างใด สมาชิกคอมมูนก็ยังคงมีวิถีปฏิบัติอยู่ใต้การบังคับบัญชาของกลุ่มผู้ปกครองตามเดิมการเดินทางของสมาชิกคอมมูนที่จะไปสู่ “อนุสาวรีย์” จึงดูเหมือนจะเป็นระยะทางที่แสนยาวไกลกว่าจะไปถึง

            

ชีวิตประจำวันที่คุ้นเคย : การควบคุมที่ดูเหมือนไม่ได้ควบคุม

 

            ข้อความตอนหนึ่งที่ถูกยกมาเป็นคำโปรยที่ปกหลังของนวนิยาย เรื่อง อนุสาวรีย์ ของ วิภาส ศรีทอง ฉบับที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ สมมติ เมื่อปี พ.ศ.2561 คือบทสนทนนาระหว่างตัวละคร “รองหัวหน้าฯ” ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ปกครองคอมมูน กับ “วรพล” สมาชิกชาวคอมมูนผู้เป็นตัวละครเอกของเรื่อง ตอนหนึ่งว่า

 

                        รองหัวหน้าส่งสายตาแปลก ๆ มาที่เขา เปรยว่า 

                        “แกเป็นคนเก่าคนแก่ของที่นี่... วรพล”

                        รองหัวหน้าเหลียวช้า ๆ ไปที่ตู้ปลาแล้วพูดเสริม

                        “ปลาพวกนี้มันอยู่มานานโดยคิดว่าพวกมันมีอิสระเต็มที่และเห็นอะไรทุกอย่าง ทั้งที่ต้นไม้ สาหร่ายในตู้ ทำจากพลาสติก ปะการังก็เทียม ไม่มีอะไรจริงเลยสักกระเบียด มีแต่ก้อนหินเท่านั้นแหละที่เป็นของจริง”(หน้า 45)

 

            ข้อความดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ของ “กระบวนการทำให้เชื่อง” ซึ่งหมายถึงวิธีการที่กลุ่มผู้ปกครองใช้เพื่อล้างสมองสมาชิกชาวคอมมูนให้มีพฤติกรรมและวิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวันไปตามที่ต้องการ กระบวนการดังกล่าวแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวคอมมูนจนทำให้ถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจริง ๆ แล้วหาได้ปกติไม่ หากแต่เป็นการ “กล่อม” ให้สมาชิกของคอมมูน “เชื่อง” ไปในทุก ๆ วัน 

            ขั้นตอนของกระบวนการที่ว่านั้นประกอบไปด้วยวิธีการต่าง ๆ อันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การสร้างสิ่งแวดล้อมให้สมาชิกชาวคอมมูนอยู่ในสถานที่ที่ไม่สามารถมองเห็นความเป็นไปของสังคมอื่นนอกคอมมูน การสร้างกฎระเบียบบังคับต่าง ๆ ให้ชาวคอมมูนต้องปฏิบัติตาม การปิดกั้นข้อมูลภายนอกและป้อนเฉพาะข้อมูลที่ผ่านการคัดกรองแล้วเท่านั้น ตลอดจนการผลิตซ้ำอุดมการณ์ที่ตอกตรึงให้สมาชิกชาวคอมมูนต้องสยบยอมต่ออำนาจของกลุ่มผู้ปกครองผ่านบทเพลงประจำตึกที่ชาวคอมมูนต้องร้องทุก ๆ เช้า

            กระบวนการทำให้เชื่องนี้ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะมีผลทำให้สมาชิกชาวคอมมูนต้องดำเนินชีวิตภายใต้การบังคับบัญชาของกลุ่มผู้ปกครอง ดังข้อความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงสมาชิกคอมมูนว่า “...พวกเขาทำงานไปอย่างสม่ำเสมอใต้โคมไฟหรุบหรู่ทิ้งห้อยลงมา คุยกันบ้างเป็นพัก ๆ พูดเสียงต่ำ ๆ ถึงเรื่องฟ้าฝน มื้ออาหาร ความเจ็บป่วย เรื่องใกล้ตัว ไม่มีใครเอ่ยเรื่องอดีตอีกแล้ว เช่นเดียวกับไม่แสวงภาพเลื่อนลอยของอนาคตที่ทำให้พวกเขาไขว้เขว...” (หน้า 26) 

            เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว อิสรภาพที่ถูกปิดกั้นก็กลบเกลื่อนและเลือนหายไปจนสมาชิกในคอมมูนมองว่าเป็นเรื่องปกติ เมื่อพิจารณาบทสนทนาที่ยกมาข้างต้น จึงทำให้เห็นว่าสมาชิกในคอมมูนที่เป็น “คนเก่าคนแก่” อย่างวรพล จึงเป็นเหมือนปลาที่อาศัยอยู่ในตู้ปลาที่สิ่งแวดล้อมรอบตัวเป็นของปลอมทั้งหมด ยกเว้นแต่ “หิน” ที่เป็นของจริง หินในที่นี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจที่แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันและคอยกล่อมให้ผู้คนคุ้นชินและยินยอมต่ออำนาจนั้นในที่สุด

            แต่เมื่อมีใครคนหนึ่งที่ต่อต้านกระบวนการนี้ กลุ่มผู้ปกครองก็มีวิธีการกำราบบุคคลนั้นให้สยบยอม ดังจะเห็นได้จากกรณีของ “กมล” ตัวละครที่เพิ่งเข้ามาอยู่ในคอมมูนนี้แล้วต่อต้านอำนาจของกลุ่มผู้ปกครอง เห็นได้จากเหตุการณ์ที่ตัวละครนี้ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ปกครอง ซ้ำยังมีพฤติกรรมแปลก ๆ คือ เพียรถามเวลาจากสมาชิกคนอื่น ๆ ในคอมมูนอยู่ตลอด แต่ไม่มีใครตอบได้เพราะกฎของคอมมูนคือห้ามสมาชิกใส่นาฬิกา จะรู้เวลาได้จากการขานบอกของผู้ปกครองเท่านั้น เมื่อกมลไม่ได้คำตอบจึงอาละวาดจนเจ้าหน้าที่ของคอมมูนต้องมาขานบอกเวลา แต่เมื่อได้คำตอบแล้ว กมลกลับบอกไปว่า “ผมไม่ได้ถามคุณ ผมถามที่นี่” (หน้า 41) แล้วอาละวาดขึ้นอีกอย่างรุนแรง ซึ่งผลที่กมลได้รับในเวลาต่อมาจากการที่แสดงกิริยาดังกล่าวคือการถูก “รองหัวหน้าฯ” ทำร้ายร่างกายและกำชับว่า “อย่าคลั่งตะเบ็งเสียงถามเวลาอีก” (หน้า 43)

            การกระทำของกมลจึงแสดงให้เห็นถึงการต่อต้านอำนาจของผู้ปกครอง ทั้งการไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง และการพยายามจะค้นหาข้อมูลข่าวสารอื่นนอกเหนือจากที่ผู้ปกครองป้อนให้ และเมื่อมีผู้ต่อต้าน ผู้ปกครองก็จัดการปัญหาด้วยความรุนแรง เพื่อกำราบให้สมาชิกในคอมมูนมีพฤติกรรมตามที่พวกเขาต้องการ

            วรพล กมล รวมถึงสมาชิกคนอื่น ๆ ในคอมมูนจึงเป็นตัวแทนของมนุษย์ธรรมดา ๆ ในสังคม ที่ต้องก้มหน้าก้มตาประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเอง เส้นทางชีวิตของเขาจึงต้องเข้าไปอยู่ในระบบและทำหน้าที่เป็นเสมือนฟันเฟืองอันหนึ่งที่ทำให้ระบบสามารถขับเคลื่อนไปได้ ในขณะที่ระบบนั้นถูกออกแบบโดยผู้มีอำนาจในสังคมที่ทำหน้าที่กำหนดบทบาทของบุคคลอื่นเพื่อให้ระบบดำเนินไปในทิศทางที่ตนเองต้องการ

 

การชุมนุมเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง : การส่งเสียงที่ไม่มีเสียง

 

            จุดขัดแย้งที่ทำให้ระบบที่กลุ่มผู้ปกครองคอมมูนวางไว้เกิดความสะดุดคือความซ้ำซากจำเจของวิถีชีวิต การก้มหน้าก้มตาทำงานตามคำสั่งแต่ไม่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในคอมมูนดีขึ้น เห็นได้จากภาพของที่อยู่อาศัยอันประกอบไปด้วย “บันไดโทรมสึก” (หน้า 15) “ตู้ไม้อัดเก่าโทรม” (หน้า 16) หรือการพรรณนารสชาติของถั่วแดงต้มน้ำตาลซึ่งเป็นอาหารธรรมดาที่ต้นทุนไม่สูงและมีวิธีการปรุงที่ไม่ซับซ้อนให้มีคุณลักษณะที่เกินจริง ด้วยน้ำเสียงเชิงเสียดสีเพื่อสื่อถึงคุณภาพอาหารที่สมาชิกคอมมูนได้รับในแต่ละวัน “...จ้วงตักน้ำเชื่อมขึ้นซด กำซาบความหอมหวานของมันเข้าไปถึงแก่นไส้ คมเขี้ยวแต่ละคำบดเคี้ยวแหลก ลิ้นตวัดดุนคลุกเคล้ามันทั่วช่องปาก เขาหลับตาละเลียดรสอันโปรดปรานซึมซ่านไปตามลิ้นอุ่นผ่าว วาบถึงคอหอยและอวลกรุ่นอยู่ในโพรงจมูก...” (หน้า 23)

            ด้วยเหตุนี้ สมาชิกในคอมมูนจึงทิ้งหน้าที่การทำงานของตนและมาร่วมชุมนุมกันเพื่อสร้าง “อนุสาวรีย์” ที่มีชื่อว่า “ดุษณียภาพ” เพื่อจะหลุดพ้นจากสภาพที่เป็นอยู่และหวังที่จะให้เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา อนุสาวรีย์ในที่นี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตใหม่ที่ชาวคอมมูนต้องการ

            ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือความย้อนแย้งกันระหว่างพฤติกรรมของชาวคอมมูนกับชื่ออนุสาวรีย์ที่เป็นสื่อแสดงความปรารถนาของชาวคอมมูน กล่าวคือ ชาวคอมมูนออกมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตด้วยการสร้างอนุสาวรีย์ แต่อนุสาวรีย์ที่จะสร้างนั้นกลับมีชื่อว่า “ดุษณียภาพ” อันหมายถึง อาการนิ่งซึ่งแสดงการยอมรับ และเมื่อพิจารณาเนื้อเรื่องประกอบแล้วก็จะเห็นได้ว่า การเรียกร้องครั้งนี้ถูกแทรกแซงโดยกลุ่มผู้ปกครอง เพราะอนุสาวรีย์ที่จะสร้างนี้กลุ่มผู้ปกครองเป็นผู้ออกแบบ สมาชิกชาวคอมมูนเป็นเพียงผู้ลงแรงก่อสร้างเท่านั้น 

            เมื่อบรรยายถึงอนุสาวรีย์ในเรื่อง ภาพที่ได้กลับเป็นภาพที่ไม่ชัดเจน ไม่ปรากฏให้เห็นถึงรูปร่างหน้าตาของอนุสาวรีย์ ปรากฏเฉพาะคำบรรยายแต่เพียงส่วนฐานว่า “ฐานรูปกึ่งพีระมิดเอียงขนาดมหึมาตัดยอด เว้นส่วนด้านหลังที่เป็นสันดิ่ง ปรับส่วนสูงเอียงให้ตั้งฉากกับพื้น” (หน้า 89) ยิ่งไปกว่านั้นคือ “ยังไม่มีใครทราบว่าตัวอนุสาวรีย์ที่จะวางของยอดพีระมิดมีรูปทรงเช่นไร” (หน้า 89) มิหนำซ้ำชาวคอมมูนยังไม่รู้ความหมายของชื่ออนุสาวรีย์ด้วยซ้ำ ดังจะเห็นได้จากความคิดของวรพลเมื่อรู้ว่าจะมีการสร้างอนุสาวรีย์นั้นขึ้น จากข้อความที่ว่า “เขาลองทวนคำที่ได้ยิน อนุสาวรีย์ ดุษณียภาพ และเอ่ยคำว่า อนุสาวรีย์ อีก ความหมายอันคลุมเครือทว่าทรงอิทธิพล จนเขาต้องกล่าวอย่างซ้ำไปซ้ำมาและเริ่มรู้สึกอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับมัน เขาสบตานายผี ปากทวนคำเดิมราวจะค้นหาความหมายให้จงได้ แล้วเหลียวไปรอบ ๆ อย่างไม่สบายใจนัก” (หน้า 73)

            จากข้อความดังกล่าว สิ่งเดียวที่สมาชิกชาวคอมมูนมีคือ ศรัทธาที่จะได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของชีวิต พวกเขาจึงตั้งหน้าตั้งตาสร้างอนุสาวรีย์อย่างขยันขันแข็ง แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้ปกครองก็ใช้โอกาสนี้เข้าแทรกแซงด้วยการลดทอนเสียงเรียกร้องที่ต้องการเปลี่ยนแปลงด้วยการตอกย้ำให้พวกเขาสยบยอมในอำนาจ ผ่าน “วาทกรรม” ที่กลุ่มผู้ปกครองใช้ครอบงำชาวคอมมูน ดังเนื้อหาตอนหนึ่งที่กล่าวถึงเพลงที่ผู้อำนวยการคอมมูนแต่งและนำเสนอให้ชาวคอมมูนร้องเพื่อเป็นกิจกรรมผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยจากการสร้างอนุสาวรีย์

 

                        ต่อมามีการแนะนำเพลงใหม่ ๆ แต่งโดยผู้อำนวยการสถาบันผู้ซึ่งนานทีปีหนถึงจะปรากฏตัวในการรวมพล เพลงที่เกี่ยวกับอนุสาวรีย์นี้จึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษ แม้ว่าหนแรกต่างมีความโน้มเอียงเหมือนกันที่จะต่อต้าน แต่ทำนองไพเราะและจังหวะเร้าใจได้ให้รสชาติของการร้องประสานที่แปลกออกไปจนยากจะปฏิเสธ ภาษาก็สละสลวยติดปาก วนซ้ำกับคำว่าดุษณียภาพอย่างมีลูกเล่น ชวนสนุกครึกครื้น... (หน้า 91)

 

            จะเห็นได้ว่า การเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของชาวคอมมูนเป็นการส่งเสียงที่ปราศจากเสียงของชาวคอมมูน เพราะถูกกลบด้วยเสียงของกลุ่มผู้ปกครองจากการแทรกแซงผ่านการสร้างอนุสาวรีย์และการใช้วาทกรรมครอบงำในรูปของบทเพลง ด้วยเหตุนี้แม้การสร้างอนุสาวรีย์จะสำเร็จในตอนท้าย แต่สิ่งนั้นก็ไม่ได้มีความหมายต่อชาวคอมมูน และชาวคอมมูนก็ต้องกลับไปมีชีวิตใต้การบังคับบัญชาของกลุ่มผู้ปกครองตามเดิม การแสวงหาชีวิตใหม่ของชาวคอมมูนจึงเป็นการเดินทางที่แม้จะไกลแค่ไหน แต่ก็ไม่มีวันได้ “ใกล้” จุดหมายทาง 

 

พัฒนาการของสังคม : การเดินทางที่ไม่ได้ระยะทาง

 

            เมื่อพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมของนวนิยาย เรื่อง อนุสาวรีย์ แล้วย้อนกลับมาพิจารณากับสภาพสังคมที่เรากำลังเผชิญอยู่ ก็จะเห็นถึงจุดที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่อุบัติขึ้นในสังคมไทยมีสถานภาพเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องมือในกระบวนการทำให้เชื่อง ตัวอย่างเช่น งานวิจัยเรื่อง รัฐไทยกับการกล่อมเกลาทางการเมืองผ่านแบบเรียนในช่วง พ.ศ. 2475–2487 ของ ปวีณา วังมี[1] ที่ชี้ให้เห็นว่าการปรับปรุงหลักสูตรและเนื้อหาของแบบเรียนภายหลังการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 มีนัยของการถ่ายทอดอุดมการณ์การปกครองระบอบใหม่ลงสู่เยาวชน ตลอดจนแบบเรียนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวยังปรากฏแนวคิดของกลุ่มผู้นำทางการเมืองในแต่ละช่วงอีกด้วย

            เช่นเดียวกับงานวิจัย เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับอุดมการณ์ในเรื่องเล่าสำหรับเด็กในหนังสือวันเด็กแห่งชาติ พ.ศ. 2523 – 2553 ของ อุมาวัลย์ ชีช้าง[2] ก็แสดงให้เห็นว่า ในเรื่องเล่าที่เต็มไปด้วยความบันเทิงและเพลิดเพลินในการอ่านนั้น แฝงไปด้วยอุดมการณ์ซึ่งรัฐบาลต้องการถ่ายทอดและปลูกฝังแก่เด็กในสังคมไทย เพื่อสร้างเด็กดีและพลเมืองดีอันจะเอื้อต่อการกำกับดูแลและควบคุมสมาชิกในสังคม

            นอกจากนี้แล้ว การเดินทางไปสู่ชีวิตใหม่ของชาวคอมมูนที่แม้ว่าจะไกลแค่ไหนก็ไม่มีวันใกล้ถึงจุดมุ่งหมายนั้น ก็สอดคล้องสัมพันธ์กับพัฒนาการของสังคมไทยอีกด้วยเช่นกัน เริ่มต้นจากการที่คณะราษฎร์ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475 โดยหวังจะเปลี่ยนโฉมหน้าให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยอย่างนานาประเทศ เหตุการณ์ในครั้งนั้นก็เป็นเสมือนการสร้าง “อนุสาวรีย์” ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะได้พบกับชีวิตใหม่

            แต่ก็ไม่ได้เป็นไปดังหวัง เมื่อการปกครองส่วนใหญ่อยู่ภายใต้อำนาจของเผด็จการ ซึ่งมิได้ทำให้ชีวิตของประชาชนผู้เป็นสมาชิกส่วนใหญ่ในสังคมมีคุณภาพที่ดีขึ้น ประชาชนโดยเฉพาะนิสิต–นักศึกษา จึงรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนเกิดเป็นเหตุการณ์ 14ตุลาคม 2516 ในเวลาต่อมา เหตุการณ์ดังกล่าวได้นำมาซึ่งความรุนแรงและความสูญเสียในกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นอย่างมาก

            แม้เหตุการณ์ดูเหมือนจะคลี่คลายด้วยการที่ “3 ทรราช” ออกนอกประเทศ แต่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ก็ไม่ใช่ “อนุสาวรีย์” ที่ทำให้ “ชีวิตใหม่” ของประชาชนเกิดขึ้น เมื่อมีการลอบสังหารประชาชนผู้เป็นแกนนำในการเรียกร้องประชาธิปไตย และเกิดการรัฐประหารอีกครั้ง จนเป็นที่มาของการชุมนุมประท้วงและได้เกิดการปราบปรามด้วยความรุนแรงในวันที่ 6ตุลาคม 2519

            หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว สังคมไทยก็ยังไปไม่ถึงไหน การรัฐประหาร ปฏิวัติ ปฏิรูป หรือแม้แต่การชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มต่าง ๆ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ไม่ว่าเหตุการณ์เหล่านั้นจะเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน เสียงของประชาชนก็ไม่ดังพอที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ การเดินทางไปสู่ชีวิตใหม่ของประชาชนในสังคมไทย จึงไม่ต่างอะไรกับการเพียรสร้างอนุสาวรีย์ของสมาชิกชาวคอมมูนในนวนิยาย เรื่อง อนุสาวรีย์ที่แม้จะสำเร็จแต่ก็ไม่มีความหมายใด ๆ แล้วอีกไกลแค่ไหนที่ประชาชนคนไทยจะเข้าใกล้ “อนุสาวรีย์” แล้วคำถามนี้ใครเล่าจะตอบได้?

 

<<<<<<<<<<<<<<<<<<<< >>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

 

 

[1]ปวีณา วังมี. (2543). รัฐไทยกับการกล่อมเกลาทางการเมืองผ่านแบบเรียนในช่วง พ.ศ. 2475-2487. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต    สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

[2]อุมาวัลย์ ชีช้าง. (2555). ความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับอุดมการณ์ในเรื่องเล่าสำหรับเด็กในหนังสือวันเด็กแห่งชาติ พ.ศ. 2523 – 2553. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 กรุณาใส่ข้อความ …


 

Visitors: 81,107