ชาคริต แก้วทันคำ , สุขุมคัมภีรภาพ
ใต้เมฆต่างเมือง: รวมบทกวีบันทึกการเดินทางของ“ผู้เผอิญเดินผ่านกาลเวลา”
โชคชัยบัณฑิต’ เป็นนามปากกาของ โชคชัย บัณฑิต ศิละศักดิ์ กวีซีไรต์ประจำปี 2544 จากรวมบทกวี“บ้านเก่า” และล่าสุดปี 2561 เขาได้รับรางวัลศิลปินแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา สาขาวรรณศิลป์ จากสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ และรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง (Mekong River Literature Award : MERLA 2018)
“ใต้เมฆต่างเมือง” เป็นรวมบทกวีเล่มล่าสุดของเขา ประกอบด้วยบทกวี 59 ชิ้นแบ่งเป็น 2 ภาคคือใต้เมฆต่างเมือง ตามชื่อเล่มที่เขากล่าวไว้ในย่อหน้าท้ายคำนำว่า “อารมณ์คือเมฆที่เลื่อนไหลมองเห็นแต่จับต้องไม่ได้ ถ้อยคำคือสายน้ำฉ่ำไหลสัมผัสได้ถึงอารมณ์ของเมฆทั้งเมฆและสายน้ำต่างเลื่อนไหลด้วยท่วงทำนองเฉพาะตนเช่นเดียวกับการเดินทางของถ้อยคำในบทกวี” (น.12) และคือเมฆข้ามเมือง
กล่าวได้ว่าโชคชัยเปรียบเทียบเมฆและเมืองจากความสูงต่ำที่ต้องใคร่ครวญประสานสายตาผ่านการมองให้เห็นความเปลี่ยนแปรของเมฆในแต่ละวันแต่ละฤดูกาลเช่นเดียวกับเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลากับยุคสมัย เป็นการอธิบายให้เห็นภาพทั้งคู่ขนานและสวนทางของผู้คนสถานที่ผสานเรื่องราวที่เข้ามากระทบอารมณ์ความรู้สึกซึ่งเกิดจากการล่องไหลของเมฆสายน้ำถ้อยคำและการเคลื่อนที่ไปมาหาสู่เยี่ยมเยือนและท่องเที่ยว
บทกวีเล่มดังกล่าวมีแนวคิดหลักในการรวมเล่มเช่นเดียวกับรวมบทกวี“ของฝากจากแดนไกล” (2556) และรวมบทกวี“หลากถ้อยในรอยทาง” (2559) คือบันทึกการเดินทางและประสบการณ์จากการเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ
วรรณกรรมบันทึกการเดินทาง (Travelogues) หมายถึงงานเขียนประเภทหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทางหรือประสบการณ์การเดินทางและนำเสนอด้วยรูปแบบหลากหลาย มีการแสดงอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดต่อธรรมชาติที่ผ่านพบระหว่างทาง เช่นบทกวี ได้แก่ ลำนำภูกระดึงและนิราศนครศรีธรรมราช (บางกอกแก้วกำศรวล)ของ อังคารกัลยาณพงศ์ หรือลำนำวเนจรและม้าก้านกล้วย (รางวัลซีไรต์ ปี 2538) ของ ไพวรินทร์ ขาวงาม หรือนิราศจักรวาล ของ ชัยพร ศรีโบราณ (รางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ปี 2548) สารคดีท่องเที่ยว ได้แก่ นิราศดิบ ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ หรือนิราศเลยเถิด ของ “ลมบก”(เข้ารอบสุดท้ายรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ประเภทสารคดี ปี 2555) เป็นต้น
กล่าวถึง“ใต้เมฆต่างเมือง” บทกวีบันทึกการเดินทางของ โชคชัย บัณฑิต’ ถือเป็นวรรณกรรมบันทึกการเดินทางหรือนิราศสมัยใหม่ที่มีลักษณะ 3 ประการ สรุปได้ดังนี้ (ธนาคารจันทิมา, 2554: 4-7)“ประการแรก กวีใช้เนื้อหาและความคิดเกี่ยวกับการเดินทางจากประสบการณ์ชีวิตมานำเสนอผ่านการคร่ำครวญและใคร่ครวญความทุกข์ในชีวิตที่ผ่านพบ ประการที่สอง มีการเคลื่อนที่ของบุคคลและเวลา ประการที่สาม มีการพรรณนาธรรมชาติหรือสิ่งที่พบเห็นระหว่างทางเพื่อสื่อความรู้สึกและแสดงความคิดเห็น” ซึ่งแตกต่างจากขนบนิราศแต่เดิมที่เนื้อหาจะเน้นเรื่องราวการเดินทางและบอกเล่าเส้นทางเป็นหลักจากนางหรือคนที่รักและพรรณนาสิ่งที่พบเห็นระหว่างทาง
ใต้เมฆต่างเมือง: “ประสบการณ์ชีวิตแบบชิดใกล้”
นั่นฝูงเด็กมากล้นชุดชนเผ่า บ้างหน้าเศร้าบ้างซนวิ่งปนเพื่อ
ยืนขายของข้างวิถีกี่ปีเดือน ชวนสะเทือนสะทกเจ้านกไพร
ตุ๊กตาตัวน้อยสร้อยถักสาน ผ้าโบราณงานฝีมือคุณซื้อไหม
นักท่องเที่ยวบางคนอาจสนใจ บางคนไม่มองตาไม่กล้ามอง(น.23)
ข้อความข้างต้นเป็นบางส่วนของบทกวีชื่อ “ใต้เมฆต่างเมือง : ประสบการณ์ผ่านใจต่างวัยวัน” ที่โชคชัยระบุท้ายบทกวีว่า แต่งหลังการเยือนหมู่บ้านม้งในเมืองซาปา ประเทศเวียดนาม กล่าวได้ว่าบทกวีนี้เป็นบันทึกการเดินทางที่ถือเป็นประสบการณ์ของ “นักท่องเที่ยว” ที่ได้มาพบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในกระท่อมและทอผ้าหาเลี้ยงชีพ ทำให้โชคชัยได้เห็นความลำเค็ญขาดแคลนที่เป็นเสมือนความทุกข์ของพวกเขา แล้วนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตที่ขัดแย้งกัน “เมืองท่องเที่ยวเสี้ยวเวลาได้มาเห็นความลำเค็ญเป็นอยู่ความฟูเฟื่องความขาดแคลนแผ่นเหย้าความเปล่าเปลืองอาจรุ่งเรืองและร่วงโรยร่วมโบยตี” (น.22)
นอกจากนี้ การเห็นเด็กน้อยในชุดชนเผ่าที่ “บ้างหน้าเศร้าบ้างซน” ยืนขายของให้นักท่องเที่ยวที่บางคนอาจสนใจและไม่กล้าสบตาเป็นภาพที่ “ชวนสะเทือนสะทกเจ้านกไพร”ยิ่งนัก
อย่างไรก็ตาม ชีวิตที่ทุกข์และสุขหรือการอาศัยอยู่ในป่าเขาหรือในเมืองก็แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการเคลื่อนผ่านของกาลเวลาเปรียบกับธรรมชาติและความหมายของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะ “โลกคือครูฤดูกาลที่ผ่านทักร่วมทอถักรอยเท้าให้เจ้าเดิน…” นั่นเอง
ในเรือกสวนล้วนศพถูกกลบฝัง กลุ่มสุสานสองฟากฝั่งเศร้าสั่งสม
ทุกหัวไร่ปลายนาร้อยอารมณ์ เกินฝังจมถมค่าแห่งอาวรณ์ (น.28)
ข้อความข้างต้นเป็นบางส่วนจากบทกวีชื่อ “เหนือไร่นาคือสุสาน เหนืออาคารคือสงคราม” เมื่อโชคชัยได้ไปเยือนเวียดนามและรู้สึก “ช่างตื่นตาตื่นใจยามไกลบ้าน” แต่พอเห็นอาคารบ้านเรือนกลับรู้สึกว่าบนที่ดินสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้เป็นสุสานที่ทับถมอารมณ์หลากหลายและมีความเศร้าฝังจมอยู่ในนั้น “เมื่อเสาเข็มเต็มกระดูกทุกช่วงตอน เช่นสุสานซุกซ่อนการย้อนเยือน” จึงเป็นอาการโหยหาอดีต (Nostalgia) ของคนหรือสังคมเพื่อรำลึกถึงความทรงจำว่าอดีตนั้น“สันติสุขคือทุกข์ยากที่พรากเฉือนที่บรรจุสุสานและบ้านเรือนคือรอยเปื้อนยาวเหยียดแห่งเวียดนาม”(น.29) ซึ่งอดีตพื้นที่เหล่านี้ล้วนได้รับผลกระทบจากสงครามมีความตายหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นสุสาน แต่ปัจจุบันถูกอาคารบ้านเรือนลูกผสมมาแทนที่จนดูแปลกตาทั้งสำหรับคนที่นี่และนักท่องเที่ยว
บทกวี “เหนือไร่นาคือสุสาน เหนืออาคารคือสงคราม” จึงมีความหมายสองชั้นที่โชคชัยใช้อุปลักษณ์ (Metaphor) เปรียบพื้นที่เรือกสวนไร่นาว่าเป็นสุสานที่ “ล้วนศพถูกกลบฝัง”จากการล่าอาณานิคมแต่เหนืออาคารที่สร้างทับพื้นที่เหล่านี้มีรูปทรง “ลูกผสมกลมกลืนต่างผืนดิน”คือการรุกรานทางวัฒนธรรมสมัยใหม่ด้วยกระแสการท่องเที่ยวและทุนนิยม
ชีพพิการงานฝีมือสื่อความหมาย คือความตายที่หายใจใครจะเชื่อ
ล้วนผลพวงร่วงหล่นจากฝนเชื้อ ที่รอดเหลือเมื่อคราวถูกคุกคาม(น.32)
ข้อความข้างต้นเป็นบางส่วนจากบทกวีชื่อ“ไซ่ง่อน : พิพิธภัณฑ์ความเจ็บปวดแห่งสงครามอเมริกา” ที่โชคชัยเล่าเรื่องราวผ่านภาพบันดาลใจจากห้องขายของที่ระลึกฝีมือคนพิการซึ่งสาเหตุความพิการเกิดจากสารเคมี “ฝนเหลือง”
การมองเห็นชีวิตคนพิการในฐานะเหยื่อของสงครามที่ยังมีลมหายใจนั่งขายงานฝีมือที่พิพิธภัณฑ์หรือ “อนุสรณ์สถานแห่งการฆ่า” จึงเป็นภาพบาดความรู้สึกเมื่อกาลเวลาผ่านไปผู้คนที่มาท่องเที่ยวจะรู้สึกและรำลึกถึงความรักหรือความเกลียดชังที่เวียดนามกลายเป็นการตั้งคำถามของโชคชัยให้ผู้อ่านได้ทบทวนถึงความทุกข์จากสงครามในอดีตที่ส่งผลกระทบถึงคนที่อยู่ในเหตุการณ์ให้กลายเป็นคนพิการที่มี “หัวใจ” และ “ลมหายใจ” อยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวความตายและความขมขื่นซึ่งเราควรหยิบยื่นเมตตาในฐานะลูกหลานข้าศึกในอดีตให้กับพวกเขา
หญิงก็หาญชายก็ห้าวร่วมก้าวย่ำ แรงกระหน่ำหินกำหนดเหี้ยนหดถาง
คารวะแรงมนุษย์ทุกนายนาง ผู้พลีเหงื่อเพื่อสร้างทางสบาย
ทางสบายไปเยือนใช่เลือนหลง จารึกลงทรงจำเปี่ยมความหมาย
ซากเจดีย์กลางดงแค่ผงทราย ที่โดดเด่นเร้นกายเหงื่อใครกัน (น.35)
ข้อความข้างต้นเป็นบางส่วนจากบทกวีชื่อ “พุกาม : ระหว่างทางไปชมทะเลเจดีย์” ที่โชคชัยระบุท้ายบทกวีว่าแต่งจากบางช่วงถนนขณะเดินทางไปชมทะเลเจดีย์ที่พุกามประเทศเมียนมาร์ซึ่งบรรยายสิ่งที่เห็นระหว่างทางเพื่อสะท้อนภาพแรงงานชายหญิงที่สร้างถนนด้วยมือเปล่าให้ผู้คนและนักท่องเที่ยวได้สัญจรไปสู่จุดหมายได้อย่างสะดวกสบาย สิ่งที่โชคชัยนำเสนอกลับไม่ใช่สถานที่ปลายทางแต่เป็นการเปรียบเทียบว่าระหว่างทางของการท่องเที่ยวนั้น สิ่งใดมีค่าน่าชมมากกว่าระหว่างทะเลเจดีย์ที่จะไปเยือนและเป็นเพียง “ซากอดีตกลางดงแค่ผงทราย” กับชีวิตแรงงานเปื้อนหยาดเหงื่อ “ที่โดดเด่นเร้นกาย”อยู่ตรงหน้า
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต่างต้องการชมซากทะเลเจดีย์เมื่อมาเยือนพม่าแต่โชคชัยเลือกบันทึกการเดินทางครั้งนี้ผ่านถนนซึ่งทั้งสองสิ่งล้วนสร้างขึ้นจากแรงงานมนุษย์ที่เราควรคารวะให้กับพลังการสร้างสรรค์และไม่ควรลืมเบื้องหลังแห่งความสวยงามท่ามซากปรักหักพังหรือความสะดวกสบายจากการเดินทางนั่นเอง
จากตัวอย่างที่หยิบยกมาอธิบายล้วนเป็นบทกวีที่มีลักษณะนิราศสมัยใหม่ซึ่งโชคชัยได้เดินทางในฐานะนักท่องเที่ยวไปเยือนเวียดนามและพม่าแล้วถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตนสู่ผู้อ่านพร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นหรือทัศนคติของกวีไว้ด้วยโดยการคร่ำครวญผ่านอารมณ์เศร้าสะเทือนใจและขมขื่นที่ได้มาพบก่อนพราก โดยเฉพาะภาพเด็กชนเผ่ามายืนขายของหรืออาคารบ้านเรือนที่ปลูกสร้างทับสุสานในอดีตและพิพิธภัณฑ์ที่ผู้รอดชีวิตจาก “ยุทธการฝนเหลือง” มานั่งขายของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวให้ผู้อ่านได้ใคร่ครวญอารมณ์จากความทุกข์ของชีวิตผู้คนเหล่านั้นผ่าน “จุดขาย”ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อนักท่องเที่ยวหรือการสร้างถนนจากแรงงานมือเปล่าเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางชมซากทะเลเจดีย์แต่จะมีสักกี่คนที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของกาลเวลาขณะในเมืองรุ่งเรืองแต่ตามป่าเขายังขาดแคลนหรืออดีตใช้สงครามในการล่าอาณานิคมแต่ปัจจุบันกลับรุกรานด้วยทุนนิยมจนเป็นการผสมผสานและกลืนกลายทางวัฒนธรรมที่ต้องปรับตัวรวมถึงการตั้งคำถามเพื่อทบทวนและปลดเปลื้องความคิดติดค้างระหว่างความรักหรือความเกลียดชังที่ต้องฝ่าข้ามไปให้ได้หรือการเห็นความสำคัญของอดีตที่กลายเป็นซากเปรียบเทียบกับชีวิตที่เคลื่อนไหวในปัจจุบันว่าสิ่งใดควรให้ค่าและน่าดูชมมากกว่ากัน
คือเมฆข้ามเมือง: “อยู่ใต้เมฆต่างเมืองหลากเรื่องเล่า”
จึงตื่นเต้นเห็นตัวตนปะปนยุค ใต้แดดหนาวข้าวสุกสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ในฝนฉ่ำน้ำท่าสารทิศ เหนือพรมแดนเพิ่งประดิษฐ์เพิ่งคิดค้น (น.117)
ข้อความข้างต้นเป็นบทจบของบทกวีชื่อ “ภูมิทัศน์ศรัทธา” ที่โชคชัยคล้ายสรุปการเดินทางไปที่ต่างๆแถบประเทศอาเซียนแล้วรู้สึกตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจ ขณะเดียวกันก็เห็นถึงมิตรภาพในดินแดนเพื่อนบ้านที่มีวัฒนธรรมผสมผสานกัน ไม่ว่าจะเป็นการนับถือผีศาสนาหรือ “พิธีกรรมข้ามฟ้าสารทิศ”การเดินทางครั้งนี้ นอกจากจะได้เห็นภูมิทัศน์ภายนอกแล้ว ภายใน โชคชัยยังเห็นความศรัทธาและตัวตนที่ปะปนยุคสมัยบนพรมแดนที่เราต่างสมมติและประดิษฐ์ขึ้นด้วยเป็นการเห็นภายนอกเพื่อมองสำรวจภายใน
ร่วมสายลมสายน้ำร่วมความหลัง ร่วมทุกข์สุขทุกครั้งที่ฟังข่าว
เพียงพริบตาบ่าไหลภาพในคลาวด์ สื่อเรื่องราวออนไลน์สุดปลายฟ้า(น.155)
ข้อความข้างต้นเป็นบทจบของบทกวีชื่อ “แรมเร่ในเวลา”และยังเป็นบทกวีปิดเล่มที่โชคชัยกล่าวว่าการแรมเร่นอกจากตัวบุคคลจะเดินทางไปแล้วยังรวมถึงการเดินทางเคลื่อนที่ของเวลาด้วย ซึ่งเนื้อหาบทกวีนี้มีความร่วมสมัยคล้ายจะสื่อว่าโลกออนไลน์นั้นไร้พรมแดนและเราสามารถท่องโลกรับข่าวสารจากโปรแกรม cloud computing หรือการเก็บข้อมูลไว้บนก้อนเมฆซึ่งสามารถดึงออกมาใช้ได้ตลอดเวลาผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
จากตัวอย่างบทกวีที่หยิบยกมาอธิบายจะเห็นได้ว่าโชคชัยเปรียบการเดินทางบนโลกจริงที่ต้องข้ามแม่น้ำแผ่นฟ้าพรมแดนไปท่องเที่ยวกับการท่องโลกผ่านเทคโนโลยีที่มีความเคลื่อนไหวและสามารถเชื่อมต่อกันได้เป็นการ “ข้ามขอบฟ้าสากลท่วมท้นจอ” หรือการข้ามเมฆแบบสมัยใหม่ที่ “ต่างดำรงลีลาสถานะ”
รวมบทกวี“ใต้เมฆต่างเมือง” ของโชคชัยบัณฑิต’ ถือเป็นงานที่มีลักษณะนิราศสมัยใหม่โดดเด่นในการแสดงทัศนะและวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งที่พบเห็นเป็นสำคัญโดยเฉพาะบทกวีที่บันทึกประสบการณ์การเดินทางด้วยกลอนเจ็ดกลอนแปด จังหวะลื่นไหล อ่านเพลิดเพลิน ใช้ภาษาก่อจินตภาพและขึ้นต้นบทกวีได้น่าสนใจชวนติดตาม แต่วรรคจบในหลายบทกวีไม่มีพลังพอจะสร้างความกระทบใจหรือติดค้างอยู่ในทรงจำของผู้อ่าน
อย่างไรก็ตาม โชคชัยใช้น้ำเสียงของผู้เข้าใจชีวิตและโลกมานำเสนอผ่านเรื่องเล่าของ “ผู้เผอิญเดินผ่านกาลเวลา” ซึ่ง “เมื่อตาสบตาเราเข้าใจกันกี่ภูผาร้อยพันก็ข้ามพ้น” จากนิยามความทุกข์ความเศร้าความขมขื่นและกำแพงแห่งความเกลียดชังจากประวัติศาสตร์รัฐชาติปัญหาการพลัดถิ่นความเป็นอื่นสงคราม การค้า วัฒนธรรมและอัตตาเพื่อจะได้มีทัศนคติและใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับความเป็นไปของสรรพสิ่งอย่างสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยเพราะ “ว่าเรายังร่วมฟ้าร่วมอาดูร” กันนั่นเอง
บรรณานุกรม
โชคชัย บัณฑิต’ (นามแฝง). (2562). ใต้เมฆต่างเมือง. ปทุมธานี: นาคร.
ธนาคาร จันทิมา. (2554). วรรณกรรมบันทึกการเดินทางของเสกสรรประเสริฐกุล ในฐานะนิราศสมัยใหม่จากการคร่ำครวญสู่การใคร่ครวญและปัญญา. วิทยานิพนธ์ ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สุขุมคัมภีรภาพ
“ดอกรัก” กับจักรวาลเรื่องเล่าในทรงจำของความสัมพันธ์
“ความรัก… ฉันรักความรักแม้รักที่ผิดหวังแม้ไม่เคยเข้าใจเลยว่าความรักคืออะไรกันแน่แต่ก็ชอบเหลือเกินที่ความรักลึกลับซับซ้อนเหมือนการเกิดขึ้นของจักรวาลคลุมเครือพอๆกับการมีอยู่ของชีวิต” (น.7)
“ดอกรัก” รวมเรื่องสั้นของตินกานต์ไม่ใช่ดอกรักที่เขียนชิดติดกันแต่เป็นเรื่องราวความรักของดอกไม้ที่ตินกานท์นำชื่อหรือลักษณะเฉพาะของดอกไม้จำนวน 10 ชนิดมาตั้งชื่อตัวละครเพื่อเป็นภาพแทนผ่านอารมณ์ของผู้หญิงที่ “เคยรักเคยร้ายเคยใคร่เคยงมงายเคยแค้นเคยฆ่าเคยบูชา”ซึ่งรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ยังได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดปี 2562 ด้วย
บทความนี้จะวิจารณ์รวมเรื่องสั้น “ดอกรัก” ของตินกานต์โดยจะวิเคราะห์ความรักความทรงจำและความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่องเล่าและสะท้อนภาพลักษณ์ของผู้หญิงสมัยใหม่กับระบบชายเป็นใหญ่
สเตอร์นเบิร์ก (สัตกรวงศ์สงคราม, 2552: 26 อ้างถึงในไพลินศรีสุขโข, 2545: 69-70) ได้เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับความรักไว้ว่า “ความรักเกิดจากการผสมผสานของความรู้สึก 3 แบบคือความเสน่หา (passion) ความใกล้ชิดสนิทสนม (intimate) ความผูกพัน (commitment) ความรู้สึกทั้งสามแบบนี้จะเกิดขึ้นมากน้อยหรือจางหายไปขึ้นอยู่กับระยะเวลาของสัมพันธภาพและประสบการณ์ความรักของแต่ละบุคคลกาลเวลาและสัดส่วนที่แตกต่างขององค์ประกอบทั้งสามก่อให้เกิดความรักรูปแบบต่างๆแล้วแต่ชนิดของความสัมพันธ์ได้แก่ไร้รักรักแบบเพื่อนรักแบบลุ่มหลงรักแบบว่างเปล่ารักแบบเพ้อฝันรักฉันมิตรภาพรักลวงตาและรักสมบูรณ์แบบ”
ดอกรักกับความรักความสัมพันธ์ในทรงจำของเรื่องเล่า
เรื่องสั้น “แววมยุรา” เธอหลบจากเรื่องราวเจ็บช้ำจากรักสามเส้าที่กำลังจะแต่งงานแต่เขากลับไปมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นจนตั้งท้องและเลือกจะรับผิดชอบทำให้เธอหนีจากเมืองใหญ่มาทบทวนหัวใจตัวเองที่บ้านแพริมแม่น้ำสะแกกรัง
ตินกานต์เล่าย้อนอดีตเรื่องราวของอดีตคนรักอย่างมีนัยยะเธอเลือกเดินจากเขามาและคิดเปรียบว่า “ผลกรรมนี้อาจติดตามเธอมาทันแล้วในวันนี้” เขาบังเอิญแวะพักบ้านแพริมน้ำด้วยเช่นกันหลังทั้งสองไม่ได้ติดต่อกันนมนานต่างคนต่างพูดคุยอย่างเปิดเปลือยและเธอก็ยอมมีความสัมพันธ์กับเขาแม้เธอจะ “ไม่ได้รักเขาแล้ว… อาจมีบางแวบที่คิดถึงแต่ไม่เคยนึกโหยหา”ซึ่งเป็นความสัมพันธ์รักแบบว่างเปล่าที่ทั้งสองเคยมีความผูกพันกันมาก่อนที่มันจะล่มสลายลงไป
ทั้งนี้ตินกานต์เลือกใช้ฉาก (setting) ได้เข้ากับบรรยากาศของเรื่องและยังใช้มิติเวลา(time) กลางคืนสื่อความมืดความโศกเศร้าเป็นทุกข์กับรุ่งเช้าที่ต้องตื่นขึ้นพบความจริงเมื่อเขาจากไปทิ้งไว้เพียงคำตอบให้เธอรู้ว่า “เดี๋ยววันหนึ่งแววจะหายดี” ซึ่งการถูกทิ้งจะรู้สึกอย่างไรก็ต้องให้เธอเป็นฝ่ายถูกทิ้งบ้างนั่นเอง
ต่างจากเรื่องสั้น “โรส” เธอพบเขาที่สถานีรถไฟฟ้าและร้านกาแฟจากนั้นโชคชะตานำพาให้ทั้งสองได้ใช้ชีวิตร่วมกันมีวันชื่นคืนสุขและวันทุกข์คืนเศร้าเมื่อเขาป่วยด้วยโรคร้ายลุกลามเธอจึงกลายเป็นผู้แบกภาระทั้งหมดในบ้าน
ท่ามกลางความหวังและสิ้นหวังเธอยังคงรักและดูแลเขา “ถ้าชาติภพมีจริงแล้วเราได้กลับมาเจอกันอีกต้องแปลว่าเราเป็นคู่กันใช่มั้ย” สะท้อนความคิดความเชื่อเรื่องชาติภพตามหลักพุทธศาสนาทั้งพรหมลิขิตและการเกื้อกูลกันในปัจจุบันเป็นความสัมพันธ์รักสมบูรณ์แบบเธอไม่ยอมทอดทิ้งเขาเพราะเข้าใจในรักภาวะเกิดดับการพบและพรากเพื่อจะได้กลับมาผูกพันกันใหม่สุดท้ายเธอยังได้ทันจูบบอกลาและปล่อยให้เขาไปสู่อิสระเป็นเรื่องสั้นที่สั่นสะเทือนอารมณ์อย่างรันทดและงดงามที่สุดในเล่ม
กล่าวได้ว่าเรื่องสั้น “แววมยุรา” และ “โรส” มีความเชื่อมโยงที่แตกต่างในเหตุผลของความรักระหว่าง “ถูกทอดทิ้ง” กับ“ไม่ทอดทิ้ง” ซึ่งอิงเรื่องความบังเอิญพรหมลิขิตบุญทำกรรมแต่งและการจากเป็นหรือจากตาย
เรื่องสั้น “ลิลี่” เธอตามเขาไปเรียนและทำงานที่เมลเบิร์นเขาขอเธอแต่งงานในวันเกิดอายุ26 ปีเป็นค่ำคืนเดียวกับฮีทเตอร์ในห้องเสียและพวกเขาต้องปรึกษากันว่าจะอยู่ที่นี่ต่อหรือกลับเมืองไทยพอถึงวันแต่งงานเขาไม่มีแหวนให้เธอแต่วัตถุไม่สำคัญเท่าเหตุผลของหัวใจ “เรามีเธอคนเดียว… เราก็มีเธอคนเดียวเหมือนกัน” สะท้อนความสัมพันธ์รักสมบูรณ์แบบของคู่รักพลัดถิ่นเป็นความรักในอุดมคติที่ทั้งสองต่างพอใจในรักเรียบง่ายซื่อตรงซาบซึ้งแม้เขาจะไม่ประสีประสาเรื่องแสดงออกผ่านคำพูดแต่เขาเป็นผู้ชายคนหนึ่งที่ทำงานหนักเพื่อครอบครัวและคนรักเป็นเรื่องสั้นเรื่องเดียวที่ใช้ฉากต่างประเทศและให้ทั้งสองฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกันอีกทั้งตอนจบของเรื่องก็ทำให้ผู้อ่านอบอุ่นหัวใจแม้ฮีทเตอร์จะยังใช้การไม่ได้ก็ตาม
เรื่องสั้น “โรส” และ “ลิลี่” ต่างเชื่อมโยงกันเมื่อตินกานต์สร้างแบบทดสอบให้กับผู้หญิงว่าจะอดทนยอมรับและฝ่าฟันกับทุกสถานการณ์ในชีวิตได้หรือไม่แม้เรื่องสั้น “โรส” จะจบลงด้วยการพรากจากแต่ทั้งสองก็ได้ทำดีต่อกันจนถึงที่สุดส่วนเรื่องสั้น “ลิลี่” จบลงอย่างมีความสุข(happy ending)เป็นความสุขที่ต้องรอคอยรักขมบ่มเป็นรสหวาน
ต่างจากเรื่องสั้น “บัว” เธอเป็นหญิงสาวที่ไม่ไร้เดียงสากับความรักแต่เธอพลาดตอนไหนจึงเลือกเขามาเป็นคู่ที่ทำให้ชีวิตต้องลงเอยเหมือนพ่อกับแม่เพราะเขาถอดแบบพ่อมาทุกกระเบียดพ่อผู้เป็นใหญ่และใช้ความรุนแรงในครอบครัว
ตินกานต์สะท้อนความรักและการกดขี่ในครอบครัวผ่านความสัมพันธ์ของคู่พ่อแม่แบบไร้รักที่ไม่มีความใกล้ชิดเสน่หาหรือความผูกพันต่อกันอีกแม้เธอจะเคยบอกกับตัวเองว่าจะไม่ยอมลงเอยเหมือนคู่พ่อแม่แม่ผู้มีบุคลิกอย่าง “แม่ศรีเรือน” ยอมอยู่ใต้อำนาจนิยมและถูกกดขี่ทางเพศจากพ่อโดยไม่ยอมโต้ตอบเป็นผู้ไร้เสียง (the subaltern) ส่วนเธอก็เก็บกดจดจำภาพพ่อกระทำกับแม่เมื่อสามีกระทำต่อเธอบ้างเกิดความรวดร้าวถึงขั้นขีดสุดเธอเลือกโต้ตอบด้วยการใช้ส้อมแทงเขาเพราะอับอายที่เขาใช้อำนาจคาดคั้นและดูถูกเหยียดหยามท่ามกลางสายตาผู้คนในงานเลี้ยงเธอจะไม่ยอมอดทนเหมือนกับแม่ดังนั้นความสัมพันธ์ของเธอและเขาจึงเป็นแบบไร้รักเช่นเดียวกัน
เรื่องสั้น “บัว” นำเสนออีกด้านของความรักความสัมพันธ์ที่ต่างจากเรื่องสั้น “โรส” และ “ลิลี่” เธอไม่ต้องการชีวิตคู่แบบอยู่ๆกันไปทนๆกันไปกล้ำกลืนฝืนทรมานเหมือนตายทั้งเป็นเมื่อชีวิตเป็นของเธอเธอมีสิทธิ์ที่จะเลือกทางออกให้กับชีวิตตัวเอง
เช่นเดียวกับเรื่องสั้น “โบตั๋น” เธอนัดเขาที่บาร์ตรงตีนสะพานแยกบางลำพูเพื่อบอกเลิกเขาไม่ได้ทำอะไรผิดแต่ทั้งสองทำผิดด้วยกันมาตลอดเพราะต่างฝ่ายต่างมีครอบครัวอยู่แล้วการพบและมีสัมพันธ์กันจึงเป็นเรื่องผิดศีลธรรมเป็นรักลวงตาที่เกิดจากความผูกพันทางกายผลักไสไปสู่อารมณ์เสน่หาแต่ละครั้งที่พบเขาเขาจะแต่งตัวเนี้ยบพรมน้ำหอมฟุ้งโดยที่เธอไม่เคยรู้เห็นมุมมืดของอีกฝ่ายต่างจากชายอีกคนเธอเป็นเพียงดอกไม้ฝุ่นจับที่ถูกทิ้งไว้ไม่ได้สูงส่งงดงามอย่างในแจกันของจักรพรรดิตามชื่อ
ตินกานต์สะท้อนว่าคนทั้งสองต่างไม่ใช่รักแรกของกันและกันแต่เป็นความสัมพันธ์เพื่อแลกรักที่ทำให้ทั้งคู่มีความสุขจอมปลอมเป็นแค่ภาพลวงตาสุดท้ายเขาจากไปแต่โดยดีทิ้งให้เธออยู่กับความทุกข์ทนหม่นเศร้าในเงาสลัวของบาร์เพราะในครอบครัวตัวเองเธออาจไม่ได้ทำหน้าที่ภรรยาที่ดีแต่ในฐานะแม่ของลูกสาวเธอมีภาระหน้าที่ที่ต้องเลี้ยงดูแล
เรื่องสั้น “บัว” และ “โบตั๋น” ตินกานต์สร้างบททดสอบด้านอารมณ์และความรู้สึกที่จมอยู่กับความรักความใคร่แต่ผู้หญิงก็สามารถเลือกได้บัวในฐานะลูกเลือกที่จะไม่ทนแบบแม่ส่วนโบตั๋นเลือกที่จะทนอยู่ในกรอบของคำว่าครอบครัวด้วยการหันกลับมาหาลูก
เรื่องสั้น “แก้ว” เธอนึกถึงแม่ที่หายไปหลังมีคนส่งข่าวว่าพ่อป่วยแล้วแม่ก็ไม่กลับมาป้าจึงเล่าเรื่องรักน้ำเน่าที่พ่อถ้ำมองแม่เล่นน้ำและอยากได้เป็นเมียหลังคบหาได้ไม่เท่าไรก็ตั้งท้องทั้งๆที่พ่อมีครอบครัวอยู่ก่อนแล้วแก้วจึงเกิดและเติบโตจากการเลี้ยงดูของป้าในสวนลิ้นจี่
ตินกานต์เล่าย้อนความสัมพันธ์ของคู่พ่อแม่ผ่านความรักแบบลุ่มหลงและลวงตาจากความทรงจำเคว้งคว้างของแก้วที่ได้ยินได้ฟังเรื่องราวทั้งหมดจากปากคำของป้าที่ผู้หญิงในครอบครัวทั้งยายแม่และเธอถูกกระทำจากความเห็นแก่ตัวของปู่และพ่อเธอจึงมีชีวิตอย่างคนขาดความรักความอบอุ่นในโลกกึ่งจริงกึ่งฝันที่ได้แต่เก็บภาพจิ๊กซอว์ความทรงจำสีหม่นมาปะติดปะต่อหล่อเลี้ยงกายใจ
เรื่องสั้น “พุดพิชญา” เธอได้รับคำขาดจากเจ้านายให้เตรียมตัวไปสัมภาษณ์ผู้กำกับหนุ่มแทนเพื่อนที่ป่วยเข้าโรงพยาบาลกะทันหันเธอประหม่ากระสับกระส่ายเมื่อได้พบเขาเธอต้องประจันหน้ากับความรู้สึกตื่นเต้นเป็นกังวลกับความทรงจำในอดีตยิ่งเขาตอบคำถามเสียงนั้นพาเธอเพริดเตลิดไปกับรักที่ไม่มีวันลืมประจวบเหมาะกับเนื้อหาในหนังมันพ้องกับเรื่องราวของเธอและเขาในวัยหนุ่มสาวเพิ่งรู้เดียงสากับความสัมพันธ์ในถ้ำน้ำตกแต่เธอเป็นได้แค่คนในทรงจำและถูกทำให้เป็นแค่ตัวละครในหนังไม่มีตัวตนจริงในชีวิตเขา
ตินกานต์เข้าใจนำฉากถ้ำและน้ำตกมาใช้เป็นสัญลักษณ์ (symbol) แทนอวัยวะเพศหญิงและความสุขสมที่หลั่งไหลหลังร่วมรักมันเป็นครั้งแรกของทั้งสองแต่กลับฝังลึกอยู่ในทรงจำเธอนอกจากนี้ตินกานต์ยังใช้สายตาของเขาจ้องมองเธอเป็นวัตถุทางเพศซึ่งเธอก็จินตนาการว่าถูกล่วงละเมิดสุดท้ายมีพบแล้วต้องลาจากเธอค