พชร เพียงพล

พชร เพียงพล

 

 พื้นที่ทับซ้อนของบ้าน สุสาน และนิทานปรัมปรา

  

          ท่ามกลางกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่กำลังเป็นที่สนใจในโลกยุคปัจจุบันทำให้เราทุกคนตระหนักถึงวิกฤตการณ์ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ดำเนินมาสู่กระบวนการร่วมมือกันของภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อพยายามรักษาสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเอาไว้ให้มากที่สุด แสดงให้เราเห็นว่าธรรมชาติเป็นกลไกอย่างหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดชะตากรรมของมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัย

 

“บ้านในโคลน”เป็นนวนิยายเล่มแรก ของนักเขียนหนุ่ม นาม “กิตติศักดิ์ คเชนทร์” หนึ่งในหนังสือ ๘ เล่ม ที่ผ่านเข้ารอบคัดเลือกรอบสุดท้าย (Shortlist) รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี ๒๕๖๑ และได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดหนังสือดีเด่น ประเภทนวนิยาย ( สพฐ.) ปี ๒๕๖๐ นวนิยายเรื่อง “บ้านในโคลน” เขียนจากเหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วม ดินโคลนถล่มครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นจริงในหมู่บ้านกะทูน-ห้วยโก อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช โศกนาฏกรรมครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายเป็นจำนวนมาก ซึ่ง “กิตติศักดิ์ คเชนทร์” ผู้เขียนนิยายเล่มนี้ คือหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ในนวนิยายเล่มนี้จึงมีเนื้อหาเกี่ยวกับบ้านในความทรงจำของผู้เขียน ภาพชีวิตวัยเยาว์อันปกติสุขและเรียบง่าย ท่ามกลางธรรมชาติที่โอบล้อมไปด้วยขุนเขาและสายน้ำ ก่อนทุกอย่างจะพังทลายลง สูญหายไปกับกระแสน้ำโคลนอันเชี่ยวกรากอย่างไม่มีวันหวนคืน

 

สังคมอุดมคติ : ‘กองหินเป็นภูเขา เราเป็นยักษ์’

 

แม้ว่าบ้านในโคลนจะถูกจัดให้อยู่ในหมวดนวนิยายเยาวชน ด้วยเนื้อหาส่วนใหญ่ที่ถูกเล่าผ่านมุมมองและความนึกคิดของตัวละครเอก อย่าง“เด็กชายสิงห์” ซึ่งเป็นลักษณะของนิยายแห่งการเรียนรู้ แต่การเลือกใช้สายตาของเด็กในการดำเนินเรื่องนั้น ก็นับเป็นกลวิธีอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้เรามองเห็นรายละเอียดอันราบเรียบในชีวิตประจำวันมีความโดดเด่นและความสำคัญขึ้นมา ในแง่หนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า การใช้สายตาของเด็กยังเป็นการสร้างความชอบธรรมในการเล่าเรื่อง เพื่อไม่ตัดสินว่าเรื่องราวต่างๆ ถูกหรือผิดเพียงแต่อาศัยความกระหายใคร่รู้มาใช้ในการจัดเก็บรายละเอียดของเรื่องก็เท่านั้น

 

ในนวนิยายเล่มนี้ยังแบ่งเรื่องราวออกเป็นสองส่วนด้วยกัน คือ “ช่วงที่หนึ่ง : บ้านที่เป็นความหวัง” กับ  ”ช่วงที่สอง : บ้านที่เป็นความทรงจำ” ซึ่งหากมองเพียงผิวเผินก็เหมือนการแบ่งภาคนิยายตามธรรมดาทั่วไป แต่ถ้าเราสังเกตการเลือกใช้คำว่า “ช่วง” แทนคำว่า “ภาค” อาจอนุมานได้ว่า ผู้เขียนต้องการสร้างเรื่องราวที่มีระยะเวลาต่อเนื่องกัน แต่ไม่ต้องการที่จะเล่าเรื่องในแบบเดียวกัน ซึ่งจากเนื้อหาผู้เขียนตั้งใจให้น้ำหนักของเรื่องในส่วนแรกมากกว่าส่วนหลัง เพราะเนื้อหาในส่วนแรกเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านที่พ่อกำลังสร้างเป็นภาพวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของคนในชนบทธรรมชาติอันงดงามปราศจากอันตรายจากสิ่งรอบข้าง เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังเปรียบเหมือน “สังคมในอุดมคติ หรือยูโทเปีย” ขณะที่ส่วนหลัง ทุกอย่างกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง คล้ายกับเป็น“โลกดิสโทเปีย” เมื่อความหวังถูกแทนที่ด้วยภาพความโหดร้ายจากธรรมชาติในรูปแบบของภัยพิบัติ ก่อให้เกิดความรู้สึกสิ้นหวังกับตัวละครจึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้เขียนต้องการเปรียบเทียบให้เห็นถึงจุดร่วมและจุดต่างระหว่างโลกอุดมคติในทั้งสองแบบ

 

“จากนั้น เราก็ชวนกันขึ้นไปบนกองหิน นั่งถีบก้อนหินให้ตกลงไปข้างล่าง แต่มันไม่สนุกอะไร เมื่อกองหินไม่สนุก พวกเราต่างคิดหาวิธีเล่นใหม่ๆ เราสามคนคุยกันพร้อมกับสมมุติตัวเองว่าเป็นยักษ์อยู่บนภูเขา เราต้องการให้ภูเขาหินขนาดสูงท่วมหัวถล่ม แดงก็คิดวิธีเล่นได้ ... เราออกแรงถีบหินกันสุดแรง กองหินถล่ม ก้อนหินกระจายเต็มพื้นดิน พอเหนื่อยเราหยุดพัก นั่งมองก้อนหินดำๆเกลื่อนพื้น ตำแหน่งของแดงมีเม็ดหินตกลงมามากที่สุด”(หน้า ๑๘)

 

สิ่งที่เห็นได้ชัดจากบทบรรยายนี้คือการเล่นซนของเด็กกลุ่มหนึ่งบนกองหิน แต่หากพิจารณาให้ดี ผู้เขียนยังแฝงนัยยะที่สื่อถึงหายนะที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ ดังการเปรียบให้กองหินเป็นภูเขา และให้เด็กๆ เป็นยักษ์ นอกจากนี้ยังนำเสนอสังคมอุดมคติในทั้งสองด้าน กล่าวคือ ภาพหนึ่งแทนการเล่นสนุกของเด็กปกติ(ยูโทเปีย) แต่แง่หนึ่ง ยังใช้เป็นภาพแทนการทำลายธรรมชาติจากน้ำฝีมนุษย์(ดิสโทเปีย)ได้เช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งยูโทเปียและดิสโทเปียที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วก็ยังมีเจตนาเดียวกัน นั่นคือมุ่งไปสู่สังคมอุดมคติที่แท้จริงซึ่งในที่นี้หมายถึงการรักษาสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอย่างยั่งยืนนั่นเอง

 

พื้นที่ทับซ้อนของบ้าน สุสาน และนิทานปรัมปราของบ้านในโคลน ในกระแสสำนึกเชิงนิเวศ

 

         หากเรานำเอาทฤษฎีการวิจารณ์วรรณกรรมเชิงนิเวศมาใช้กับนิยายเรื่อง “บ้านในโคลน” เพื่อเผยให้เห็นมุมมองบางอย่างที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ตัวละครกับฉากและสถานที่ เนื่องจากการวิจารณ์เชิงนิเวศคือทฤษฎีที่มุ่งค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และให้ความสนใจ ทั้งโลกมนุษย์และโลกของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ โดยเฉพาะการเชื่อมโยง ตัวตน สังคม ธรรมชาติและตัวบทเข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนั้นแล้ว ทฤษฎีการวิจารณ์เชิงนิเวศยังมีความเกี่ยวข้องกับมิติของพื้นที่ เวลา และบริบททางสังคมที่สัมพันธ์กับพื้นที่ทางกายภาพ ซึ่งวางอยู่บนมโนทัศน์เกี่ยวกับ ภูมิทัศน์ สถานที่ ภูมิภาค เมือง ชนบท ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

 

            ประเด็นที่น่าสนใจอย่างแรก เมื่อนำการวิจารณ์เชิงนิเวศมาใช้คือเรื่องของบ้านสถานที่อยู่อาศัยและพื้นที่แสดงปฏิสัมพันธ์ร่วมกันของมนุษย์ เชื่อมโยงทุกชีวิตกับธรรมชาติเข้าไว้ด้วยซึ่งสังเกตได้จากการนำวัสดุธรรมชาติมาใช้ทำบ้านในสมัยก่อน แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิด และการพึ่งพาธรรมชาติของมนุษย์ ดังตอนหนึ่งที่บรรยายไว้ว่า “ปู่ยิ้มก่อนจะเล่าอย่างตื่นเต้นว่า ต้องขึ้นไปตัดไม้บนภูเขา แล้วล่องท่อนซุงลงมาตามลำคลอง ชักขึ้นมาเลื่อย กว่าจะเลื่อยเสาได้สักต้นช่างแสนลำบาก เลื่อยกับมือ กว่าจะเป็นไม้แต่ละตัว กว่าจะเป็นกระดานแต่ละแผ่นเหนื่อยแสนเหนื่อย” (หน้า ๓๔) แต่บ้านสมัยใหม่ อย่างบ้านที่พ่อของสิงห์สร้าง กลับทำด้วยปูน แทนที่จะเป็นวัสดุจากธรรมชาติโดยตรง ด้านหนึ่งแสดงถึงความต้องการบ้านที่มีความแข็งแรงมั่นคงและถาวร แต่ในอีกด้านหนึ่งก็แสดงถึงการรุกไล่ของความเป็นเมืองที่ขยายเข้ามาสู่ชนบทอันเป็นการลดทอนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติลง

 

            ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครกับสถานที่นั้น อาจมองได้สองแบบคือ การใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลางซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับมนุษย์มากที่สุด และมองว่าสิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ปราศจากคุณค่าในตัวเองเมื่อเสียหายก็สามารถซ่อมแซมหรือทดแทนได้ ดังฉากในร้านตัดผม ที่คนตัดไม้สนทนากับช่างตัดผมว่า

 

“ตัดกันทุกวันไม้ไม่หมดภูเขาหรือ” ช่างสูงวัยถามชายบนเก้าอี้ ผมของเขาถูกตัดแต่งออกจนดูสั้นติดหนังหัว “ไม่หมดหรอก ภูเขาก็เหมือนหัวคน ต้นไม้ก็เหมือนเส้นผม ตัดแล้วไม่นานก็งอกขึ้นมาใหม่” เขาตอบ(หน้า๑๑๖)

 

            ซึ่งตรงกันข้ามกับทัศนะที่ปฏิเสธการใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลางจะให้คุณค่าภายในแก่ธรรมชาติและให้ความเคารพ เฉกเช่นเดียวกับเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนอย่างที่ปู่บอกกับสิงห์ว่า “บนยอดเขานั่นคือต้นกำเนิดของสายน้ำ มีหยดน้ำไหลออกมาจากซอกหิน ไหลลงมาเรื่อยๆจนเป็นลำห้วยเล็กๆ ไหลรวมกันเป็นคลองแล้วไหลต่อลงมาถึงบ้านเรา ไหลต่อไปเรื่อยๆ ไหลผ่านบ้านคน ไหลผ่านหลากหลายชีวิตที่พึ่งพาอาศัยคลองสายนี้ ผู้คนใช้ดื่มใช้อาบจับปลาเป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตยาวนาน...” (หน้า๑๒๑-๑๒๒) จากคำบรรยายเห็นได้ชัดว่าปู่ของสิงห์ มองเห็นคุณค่าของธรรมชาติที่มีต่อมนุษย์ รวมทั้งพยายามปลูกฝังจิตสำนึกนี้ให้แก่สิงห์ด้วย

 

            ความแตกต่างกันอย่างสุดขั้วของสองแนวคิดนี้เอง ที่ส่งผลให้เกิดกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติ และต่อต้านการทำลายป่า ขณะที่การทำลายธรรมชาติอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อสรรพชีวิตและระบบนิเวศในวงกว้าง รวมถึงตัวมนุษย์ด้วยซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติตามมา อย่างเหตุการณ์น้ำท่วมดินโคลนถล่มในเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนทั้งหมู่บ้าน ทำให้บ้านเกือบทุกหลังจมหายไปกับกระแสโคลน กลบฝังหลายร้อยชีวิตเอาไว้ในนั้นประหนึ่ง เปลี่ยนพื้นที่ของหมู่บ้านให้กลายเป็นสุสานในทางกายภาพและทางจิตใจทันทีอย่างที่ไม่ควรจะเป็น

 

            อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เพศและเพศภาวะ จะเห็นได้ว่า ในเรื่องกำหนดให้ตัวละครผู้หญิง มีบทบาทหน้าที่ภายในบ้านและครัวในลักษณะของผู้อยู่อาศัย มากกว่าที่จะเป็นเจ้าของหรือผู้ปกครอง ซึ่งแสดงระบบคิดเรื่องเพศในสังคมไทยแบบลัทธิปิตาธิปไตยคือชายเป็นใหญ่ หากเรานำแนวคิดสตรีนิยมเชิงนิเวศซึ่งเป็นแขนงย่อยของทฤษฎีสตรีนิยมและการวิจารณ์เชิงนิเวศที่มุ่งเน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับธรรมชาติว่ามีความใกล้ชิดมากกว่าผู้ชาย และมองว่าการกดขี่สตรี ก็เหมือนกับการที่ธรรมชาติเป็นผู้ถูกกระทำมากกว่าที่จะเป็นผู้กระทำ มาใช้พิจารณานั้น จะทำให้เห็นถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมในพื้นที่ของบ้าน และการถูกกำหนด “ความเป็นแม่” ให้จากผู้ชายผู้หญิงจึงต้องรับภาระในการเลี้ยงดูลูกและอยู่ติดกับครัวซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการลดคุณค่าและความสำคัญของผู้หญิงลงแต่ในแง่หนึ่ง การที่ต้องเลี้ยงลูกและอยู่กับบ้านก็ทำให้ผู้หญิงมีอำนาจทางจิตวิญญาณที่สื่อถึงความเข้าใจในธรรมชาติและรู้จักเชื่อมโยง ตำนานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกันถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของเพลงกล่อมเด็กหรือนิทานปรัมปราทั้งยังมีการสั่งสอนและเสียดสีรวมอยู่ด้วย ทำให้นิทานกลายเป็นภาพแทนที่ผูกติดกับผู้หญิงและความเป็นแม่ไปโดยปริยาย

 

            และในนิยายยังเผยให้เห็นถึง การต่อต้านการครอบงำจากผู้ชาย ที่ถือว่าตนเองเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัวอยู่ฝ่ายเดียวซึ่งเห็นได้จากฉากที่ย่าออกไปยกยอหาปลากลางดึกคนเดียว “นิทานเรื่องเดิมๆ ถูกเล่าซ้ำเร็วกว่าคืนปกติ ผมรู้ดีว่าเมื่อหลับไป ย่าจะย่องลงจากเรือน ส่องไฟฉายฝ่าสายลมฝนไปในความมืด ย่าจะไปนั่งยกยอริมคลอง ย่าจะนั่งทนสู้กับความหนาวตลอดทั้งคืน จะกลับมาตอนใกล้สว่างพร้อมกับปลามากมาย แทบทุกตัวมีไข่เต็มท้อง” (หน้า๑๙๑) นอกจากนั้นแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงสามารถเป็นผู้นำของบ้านได้เมื่อผู้ชายบกพร่องลง ดังเห็นได้ในฉากน้ำท่วมที่ปู่ต้องกระเสือกกระสนเพื่อเอาชีวิตรอดและทุกคนอยู่ในความหวาดกลัว จึงกลายเป็นย่าเองที่สามารถยึดเหนี่ยวจิตใจของทุกคนเอาไว้ได้ “เรามาสวดมนต์ด้วยกัน” ย่าชวนทุกคน “เราสวดมนต์ให้ตัวเอง สวดให้คนอื่น สวดขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยปกป้องคุ้มครองเรา ปกป้องคุ้มครองคนอื่นๆ ให้รอดให้ปลอดภัย อย่าได้มีใครเจ็บใครตายอีก” ย่าพูดแล้วนั่งลงหน้าหิ้งพระ ทุกคนขยับมานั่งหลังย่า(หน้า๒๗๙-๒๘๐) แม้ว่าการขึ้นมาทำหน้าที่เป็นผู้นำแทนผู้ชายในเรื่อง จะเกิดขึ้นเพียงชั่วเวลาสั้นๆ แต่ก็นับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียม การต่อสู้ของผู้หญิงและธรรมชาติเพื่อปลดปล่อยตัวเองให้รอดพ้นการครอบงำของผู้ชาย รวมทั้งเผยให้เห็นคุณค่าของสตรีที่ถูกกดทับและกดขี่จากสังคมปิตาธิปไตยมาช้านาน

 

ความตายความหมายชีวิต

 

         เด็กชายสิงห์รู้จักความตายครั้งแรกตอนที่นกปีกหักของเขาตาย และอีกครั้งเมื่อต้องเผชิญหน้ากับภัยพิบัติดินโคลนถล่ม ถึงแม้ญาติพี่น้องทุกคนในครอบครัวของเขาจะรอดปลอดภัยดี แต่หลายชีวิตที่ต้องสูญเสียไปรวมถึง“แดง” ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเขา กำลังให้อะไรกับเรา

 

            แน่นอนว่า ความตายย่อมนำพามาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจการสูญเสีย การพลัดพรากจากลาคนที่รักเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนไม่พึงปรารถนาแต่ในอีกทางหนึ่ง ความตายก็ยังทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจเราทำให้เรามองเห็นคุณค่าและแง่งามของการมีชีวิตอยู่มากขึ้น อุทาหรณ์จากนิยายเรื่อง “บ้านในโคลน” เป็นการบอกเล่าความตาย เพื่อให้ความหมายกับทุกชีวิตที่กำลังดำเนินอยู่ให้กำลังใจกับเราทุกคนว่าควรมีความหวัง แม้ในเวลาที่สิ้นหวังที่สุด เพราะตราบใดที่หัวใจยังมีหวังย่อมก่อให้เกิดพลังที่จะก้าวต่อไปได้เสมอ เช่นเดียวกับทุกตัวละครที่สามารถเอาชีวิตรอดจากเหตุการณ์อันเลวร้ายมาได้ในท้ายที่สุด

 

“บ้านในโคลน”จึงไม่เพียงแต่เป็นนวนิยายที่สร้างกระจกสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ แต่ยังหยิบเอาความสูญเสียในอดีตมาใช้เป็นอุทาหรณ์ เพื่อกระตุ้นให้เราย้อนคิดถึงต้นตอของปัญหาที่นำมาสู่หายนะ และคิดหาวิธีป้องกัน ร่วมมือกันอย่าให้โศกนาฎกรรมอย่างในเรื่องต้องเกิดขึ้นซ้ำรอยอีก

 

ความพยายามปลุกเร้ากระแสสำนึกรักษ์ธรรมชาติในนิยายเล่มนี้ ของ “กิตติศักดิ์ คเชนทร์” ซึ่งถือได้ว่ามา ”ถูกยุค ถูกสมัย” แต่จะสามารถสร้างจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติและก่อให้เกิดการลงมือปฏิบัติกันอย่างจริงจังต่อคนในสังคมได้มากน้อยเพียงใด

 

คงไม่มีใครตอบได้ นอกจากตัวเราเอง

 

 

 

บรรณานุกรม

 

กิตติศักดิ์ คเชนทร์. (๒๕๕๙).บ้านในโคลน.พิมพ์ครั้งที่๑.กรุงเทพฯ : แมวบ้านสำนักพิมพ์.

 

ธัญญา สังขพันธานนท์. (๒๕๖๐). แว่นวรรณคดี ทฤษฎีร่วมสมัย.พิมพ์ครั้งที่๒. ปทุมธานี : สำนักพิมพ์นาคร.

 

นพพร ประชากุล.(๒๕๕๒).ยอกอักษร ย้อนความคิด เล่ม๑ ว่าด้วยวรรณกรรม. พิมพ์ครั้งที่๑. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อ่าน.

 

ภัทรภร รักเรียน. (๒๕๕๙). อีโค-ดิสโทเปียและอีโค-ยูโทเปียในบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ของคิม สแตนลีย์ โรบินสัน. วิทยานิพนธ์สาขาวิชาวรรณคดีและวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

 


 

  

เพลงรักนิวตริโน รักร้าว หรือกาวของกาลเวลา

 

           หากรักคือแรงขับเคลื่อนและผลักดันอันมหาศาลของมนุษย์ เป็นรูปพลังงานหนึ่งซึ่งไม่อาจอธิบายด้วยคำพูดใด อนุสรณ์ ติปยานนท์ คือนักเขียนที่เลือกนิยามความรัก ด้วยอนุภาคนิวตริโน อนุภาคที่เล็กและบริสุทธิ์ มีอำนาจทะลุทะลวงสูง ยากที่จะดักจับ หรือยากเสียยิ่งกว่าเมื่อเป็นความรักนั่นเพราะหัวใจของเราอาจไม่ทรงพลังมากพอ ที่จะดักรอทุกรักที่ผ่านเข้ามา

เพลงรักนิวตริโน เป็นนวนิยายลำดับที่สี่ ของนักเขียนหนุ่มนาม อนุสรณ์ ติปยานนท์เจ้าของฉายามูราคามิเมืองไทย นับจาก ลอนดอนกับความลับในรอยจูบ , 8 ริกเตอร์ และจุงกิง เช็กช์เพรสนวนิยายเรื่องนี้เป็นแนวสัจนิยมมหัศจรรย์อันว่าด้วยเรื่องความรัก เล่าผ่านตัวละครสมิทธิ สถาปนิกหนุ่มไทยที่เลือกไปทำงานในฮ่องกงภายหลังการหายตัวไปของคนที่เขารัก หนึ่งปีให้หลังเขาพบรักครั้งใหม่กับ จัสมิน หลิงในวันที่มีพายุไต้ฝุ่นมาเยือนสามเดือนหลังจากนั้นเธอเสียชีวิตลง แล้วเขาก็พบกับเรื่องราวประหลาด เมื่อรู้ว่าแท้จริงจัสมิน หลิง ภรรยาสาวของเขาคืออดีตนักแสดงภาพยนตร์เงียบที่หายตัวไปเมื่อหกสิบปีก่อน

นักเขียนกำลังพาเรายั่วล้อกับกาลเวลา ผ่านฉากมรสุมทางประวัติศาสตร์และสภาพอากาศของฮ่องกงปลงไปกับรักที่ไม่สมปรารถนาของตัวละคร สะท้อนถึงความจริงในความรัก การเปลี่ยนแปลง และการยอมรับความเปลี่ยนแปลงนั้นให้ได้ ซึ่งคล้ายกับเวลาฟังเพลงรักที่ไม่มีคนรักอยู่แล้ว

รักเร้นหาย ในท่อนฮุกที่คล้ายกัน

เมื่อกล่าวถึงบทเพลงย่อมต้องมีท่อนฮุกเป็นธรรมดา ยิ่งเป็นเพลงรักด้วยแล้ว ท่อนฮุกคือเสน่ห์ที่ดึงดูดและตรึงใจ ชวนให้เปิดฟังซ้ำไปมาไม่รู้เบื่อในนิยาย เพลงรักนิวตริโนก็เหมือนมีท่อนฮุกให้เราเห็นเช่นกัน

            สมิทธิ ตัวละครเอกในเรื่องสูญเสียคนรักในชีวิตของเขาไปถึงสองครั้ง ครั้งแรกคือการหายตัวไปอย่างลึกลับของฝนนักศึกษาสาวมหาวิทยาลัยเดียวกันที่เขาหลงรัก และอีกครั้งกับความตายของ จัสมิน หลิงภรรยาที่บังเอิญพบรักกันในฮ่องกง

เหตุใด “การสูญเสียคนรัก” จึงกลายเป็นสิ่งที่ถูกเล่าซ้ำ 

            เป็นเรื่องน่าสนใจ เนื่องจาก“การสูญเสีย”เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเคลื่อนย้าย และสร้างแรงขับให้กับตัวละครสมิทธิ ผลักดันให้เขาหนีออกจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง…ผมก้าวช้าๆ ตรงไปยังชั้นหนังสือที่พบกับฝนเป็นครั้งแรก ก่อนจะหยุดอยู่ตรงนั้นเป็นเวลาชั่วครู่ แสงสลัวภายในนั้นส่องลงไปยังหนังสือ MayanArchitecture in old Mexicoผมหยิบมันออกมาจากชั้น เพ่งสายตาดูรายชื่อผู้ยืมคนสุดท้าย ยังเป็นชื่อของฝนเช่นเดิม หลังจากผมนำมันกลับมาคืนที่นี่แล้ว ก็ไม่มีใครแตะต้องมันอีก ผมลูบคลำบัตรรายการนั้น จนเจ้าหน้าที่ส่งเสียงกระแอมไอคล้ายผู้คุมที่ส่งสัญญาณแจ้งว่าหมดเวลาเยี่ยมนักโทษแล้ว ผมวางหนังสือกลับสู่ชั้น กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ก่อนจะเดินจากมา ผมตรงไปยังที่ทำการไปรษณีย์หน้ามหาวิทยาลัย ซื้อซองจดหมายหนึ่งซอง สอดผลการศึกษาไว้ในนั้น จ่าหน้าซองถึงพ่อและแม่ ติดแสตมป์ ก่อนจะหย่อนมันลงตู้ไปรษณีย์ อีกหนึ่งชั่วโมงต่อมาผมก็เดินทางถึงสนามบินดอนเมือง...”(หน้า75)

หรือทำให้เขาเลือกวกกลับไป เพื่อตามหาสิ่งที่เคยมีอยู่ อย่างอดีตของ จัสมิน หลิง ทั้งที่เธอได้ตายจากเขาไปแล้ว “...ผมพยายามจะเขียนถึงจัสมินหลิงจากห้วงคำนึงของเธอ หากเธอยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน             เธอจะบรรยายถึงวันเวลาสามเดือนของเราอย่างไร เธอจะพูดถึงอย่างโศกเศร้า อย่างสามัญ หรืออย่างมีความสุข...” (หน้า51)  “...ผมลุกจากเตียง ตรงไปที่ชั้นหนังสือ หยิบหนังสือเล่มเดิม ไล่ดูรูปภาพของบุคคลในทศวรรษนั้น และพบรูปภาพของจัสมิน หลิงอยู่ในเล่ม...” (หน้า71)

            จะเห็นได้ว่า แม้เป็นการเล่าซ้ำ ตัวละครได้รับผลกระทบที่คล้ายกัน แต่การแสดงออกนั้น กลับสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง การปริแตกครั้งแรกนำเขาเดินหน้าสู่อนาคต ขณะที่ครั้งหลังกลับชักนำเขาเข้าหาอดีต และดูเหมือนว่า ยิ่งเขาเข้าใกล้อดีตมากเท่าไหร่ เขายิ่งมองเห็นอนาคตชัดเจนขึ้นเท่านั้น

ฟังหนังเงียบยินเสียงที่ถูกปิดกั้น

            ภาพยนตร์เงียบเป็นที่แพร่หลายในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมนต์เสน่ห์ของหนังขาวดำยุคนี้อยู่ที่แม้ไร้เสียง เห็นเพียงภาพหนังก็สามารถถ่ายทอดอารมณ์และสื่อเรื่องราวออกมาได้ดีนับว่าต้องใช้ศิลปะในการเล่าเรื่องเป็นอย่างมาก

            หากแต่ความเงียบใบ้ของตัวละครสมมุติอย่าง จัสมิน หลิง ดาราภาพยนตร์หญิงยุคเก่ากลับไม่ได้ถูกปิดเสียงเพียงแค่ในหนังเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชีวิตนอกบทละครของเธอด้วยเป็นชีวิตจริงของผู้หญิงในวงการบันเทิงทั้งหลายที่ถูกกดทับจาก ”ความเป็นชาย” มาโดยตลอด

            ในนวนิยายจัสมิน หลิงถูกกำหนดให้กลายเป็นภาพแทนของผู้หญิงในสมัยนั้นซึ่งเป็นยุคที่ผู้หญิงไม่มีปากไม่มีเสียง ถูกกดขี่ถูกมองเป็นวัตถุทางเพศ เป็นเพียงเครื่องสนองตัณหาของผู้ชายโดยเฉพาะกับผู้มีอิทธิพลอย่างนักการเมือง ทหาร ผู้กำกับการแสดง หรือผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ซึ่งมีอำนาจการต่อรองมากกว่า แม้ว่าผู้หญิงเหล่านั้นจะมีความสามารถมากพอก็ตามเหมือนตอนหนึ่งที่เล่าถึงชีวิตนักกีฬาว่ายน้ำหญิงทีมชาติจีนว่า“...ซิวฉงหันไปสูบฝิ่นไม่ได้มาจากความล้มเหลวด้านกีฬา หากแต่เกิดจากการที่เธอถูกบังคับให้ตกเป็นภรรยาลับของขุนศึกผู้มีอิทธิพลคนหนึ่งในรัฐบาลก๊กมินตั๋ง...” (หน้า103)ซึ่งสุดท้าย ผลของการถูกกดขี่จากผู้ชาย ก็นำความล้มเหลวมาสู่ชีวิตของผู้หญิงเหล่านั้นในท้ายที่สุด

            แต่อีกนัยหนึ่ง จัสมิน หลิงเองก็เป็นตัวแทนของการต่อต้านการกดขี่ของผู้ชายด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นจากการที่เธอไม่ยอมรับสิ่งของจาก หลี่ไป๋ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ เธอปฏิเสธทุกอย่างจากเขา ปฏิเสธความรัก การเป็นคนรัก และยอมรับเขาในสถานะนายจ้างเพียงอย่างเดียว“...ทุกวันจะมีอาหารสามมื้อส่งมาที่กองถ่ายเพื่อเธอโดยเฉพาะ ทว่าหลิง ไต้อี้กลับไม่เคยแตะต้องอาหารเหล่านั้น ทุกวันจะมีเสื้อผ้าชุดใหม่ส่งมาที่กองถ่ายเพื่อเธอโดยเฉพาะ ทว่าหลิง ไต้อี้กลับไม่เคยสวมใส่เสื้อผ้าเหล่านั้น หลิง ไต้อี้อาจยอมรับสภาพลูกจ้างต่อหลี่ไป๋ แต่พ้นจากนั้นแล้ว เธอปฎิเสธทุกอย่างจากเขา...” (หน้า118-119)

            และแม้ว่า จัสมิน หลิงจะกลับมามีชีวิตอีกครั้งในโลกปัจจุบัน ผ่านช่วงเวลาที่แสนสั้นและคล้ายว่าเสียงของเธอจะถูกเปล่งออกมาได้น้อยนิดแต่ทว่ามันทรงพลัง อย่างน้อยก็กับชายผู้เป็นสามีในโลกยุคใหม่ของเธอ

เมื่อหญิงปรากฎกาย ท่ามกลางชายหลากยุค

เมื่อพิจารณาถึงตัวละครหญิงอย่าง จัสมิน หลิงแล้วจะพบว่า สิ่งที่เธอไม่ได้ตั้งใจก่อขึ้นนั้น คือความบาดหมางระหว่างผู้ชาย

ความบาดหมางอันนำมาสู่การแย่งชิงของชายทั้งสามสมิทธิ หลี่ไป๋ และฟุก จื่อหลงซึ่งตัวละครชายแต่ละตัวล้วนมีความแตกต่างกันทั้งทางฐานะ อำนาจและยุคสมัย ความต่างเหล่านี้เอง ที่กลายเป็นเงื่อนไขหลักทำให้การปรากฏกายของ จัสมิน หลิงมีความสำคัญทางสถานะที่เปลี่ยนแปลงไป

กล่าวคือบทบาทของเธอในสองช่วงเวลา ทำให้เธอมีคุณค่ามากขึ้น เพราะในยุคที่เธอเป็นนักแสดง  ต้องถูกครอบงำด้วยอำนาจของหลี่ไป๋แต่ในยุคปัจจุบัน เธอไม่ได้ตกเป็นเบี้ยล่างของใคร เธอมีสิทธิเลือกเส้นทางชีวิตของเธอเอง  เหมือนอย่างที่เธอเลือกที่จะรักและอยู่กับสมิทธิชายที่ร้องขอความรักจากเธอ ไม่ใช่บังคับด้วยอำนาจ “...ผมลุกขึ้นกุมมือเธอไว้เบาๆ “เราอยู่ด้วยกันเถอะ” ผมรู้สึกได้ถึงคุณค่าของคำคำนี้ในขณะที่มันหลุดออกจากปาก และเมื่อปราศจากการปฏิเสธจากเธอ เราทั้งคู่ก็เริ่มต้นชีวิตใหม่นับแต่วันนั้น...”(หน้า54)ดังนั้น ความรักที่เกิดขึ้นกับสมิทธิจึงเปรียบเสมือนความเท่าเทียมที่เธอได้รับ เพราะเธอเป็นผู้ตัดสินใจ

ในการปะทะกันของชายกับชายในเรื่องระหว่าง หลี่ไป๋ กับ ฟุก จื่อหลงดูเหมือนจะเป็นมวยรองไปเลย เพราะความต่างที่เห็นชัดอย่างสถานะนายจ้างกับลูกจ้าง และอำนาจที่มากกว่าของหลี่ไป๋ ทำให้ฟุก จื่อหลงต้องพ่ายแพ้แก่หลี่ไป๋ทุกครั้งไปแม้ว่าเขาจะหลงรักจัสมิน หลิง มากเพียงไหนเขาก็ทำได้เพียงเฝ้ามองเธอเท่านั้น“...ผมได้เห็นเรือนร่างของหลิง ไต้อี้ และบทลงโทษที่ต้องได้รับจากหลี่ไป๋ ชายคนหนึ่งจับผมใส่กุญแจมือ บังคับให้คุกเข่าลง ในขณะที่ชายอีกคนใช้ช้อนเงินที่นำติดตัวมาคว้านลูกตาข้างขวาของผมออกจากเบ้า พวกเขาจากไปพร้อมกับทิ้งให้ผมนอนจมอยู่กับความเจ็บปวด ลูกตาทียม และเงินชดเชย...” (หน้า121)

ขณะที่ สมิทธิ กับหลี่ไป๋กลับเป็นมวยถูกคู่แทนถึงแม้ตัวละครชายทั้งสองจะแตกต่างกันด้วยวัย ฐานะและอำนาจ แต่อำนาจที่หลี่ไป๋มีนั้นบัดนี้ได้กลายเป็นอำนาจเก่า อำนาจที่กำลังจะหมดไป และถูกแทนที่ สมิทธิ ในภาพแทนของผู้มาใหม่จึงไม่เกรงกลัวและกล้าเข้าต่อกรกับหลี่ไป๋ เพื่อแย่งชิงเอาคนรักกลับคืนมา“...ผมลุกขึ้นยืนเผชิญหน้าเขา“หากผมจะพรากหลิง ไต้อี้ไปจากคุณ นั่นเป็นเพราะโชคชะตา”...” (หน้า182)     “...ผมจ้องไปที่แว่นตาสีดำสนิทของเขา ชั่วขณะนั้นราวกับว่าผมสามารถมองฝ่าความมืดมิดได้สำเร็จ ดวงตาของหลี่ไป๋ที่ผมเห็นเศร้าสร้อยอย่างเหลือเชื่อจนผมคิดอยากกลับหลังหันและเดินจากไป แต่ผมไม่อาจทำเช่นนั้นได้...”(หน้า183)

            ในตอนสุดท้าย ชายทั้งสองเลือกยุติเรื่องทั้งหมดด้วยการเล่นเกมรัสเซียนรูเล็ตซึ่งเหมือนกับว่าหลี่ไป๋ต้องการให้โชคชะตาเป็นผู้กำหนด ระหว่างเขา ซึ่งเป็นภาพแทนของอำนาจเก่า กับสมิทธิ ชายผู้มาจากโลกใหม่“...อาจเป็นเพราะว่าเขาได้ตระหนักว่าเวลาของเขาจบสิ้นลงแล้ว หรืออาจเป็นเพราะเขารู้สึกว่าอนาคตของ               จัสมิน หลิงควรอยู่กับผม ไม่ใช่เขาอีกต่อไป...” (หน้า186)

            อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของตัวละครหญิงในเรื่องก็เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า แต่ละยุคสมัยสตรีมีบทบาทและอิทธิพลต่อผู้ชาย ส่วนจะมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและสภาพสังคมอาจไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด แต่ก็เป็นฟันเฟื่องหนึ่งซึ่งผู้ชายไม่อาจปฏิเสธได้ว่าไม่เคยมี

คือรักร้าว หรือ กาวของกาลเวลา

            ถ้าสิ่งที่คอยหนุนเนื่องเรื่องรักในนิยายรัก คือความผิดหวังหรือสมหวังของตัวละคร นวนิยายเรื่องนี้คงมีส่วนผสมของทั้งสองแบบ ทั้งหวานและขม ปมรักที่เล่าคู่ขนานกันไปกับภูมิหลังของฮ่องกงกลมกลืนกันอย่างแนบเนียน การเลือกเปิดเรื่องด้วยความตายของคนรัก ชวนให้ตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้ว ตัวละครต้องการทบทวนรักครั้งเก่าหรือแค่กำลังค้นหากาวของกาลเวลามาเยี

Visitors: 82,076