วิโรจน์ สุทธิสีมา

วิโรจน์ สุทธิสีมา

 

คนละก้าว บันทึกวีรบุรุษกับหมุดแห่งอารมณ์

 

            ข้อความในคำนำของ คนละก้าว โดย เบลล่า ชายชาญ ใบมงคล ที่ระบุถึงสถานะของวรรณกรรมชิ้นนี้ว่า “ไม่ใช่หนังสือวิ่ง ไม่ใช่บทความสารคดี แต่เป็นบันทึกวันเวลาดีๆ...” (น.6) อาจสร้างความฉงนในกลุ่มผู้อ่านว่า “บันทึก” ที่อ้างถึงนั้น ไฉนจึงไม่ใช่หนังสือวิ่งและไม่ใช่บทความสารคดี ทั้งที่อาจมีจุดหลอมรวมทั้งสามสิ่งเข้าด้วยกันได้

            ความสงสัยดังกล่าวคงมลายหายไปเมื่อพลิกอ่านจนจบเล่ม เราจะพบว่าเนื้อหาด้านในซึ่งชวนให้ดื่มด่ำความประทับใจจากเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการ “ก้าวคนละก้าว” ที่ อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม พร้อมด้วยคณะออกวิ่งด้วยระยะทางกว่า 2 พันกิโลเมตรเพื่อรับบริจาคทางการแพทย์ ล้วนมุ่งหมายเล่าถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มคนในฐานะบันทึกวันเวลาช่วงหนึ่ง หาใช่หนังสือวิ่งที่เน้นการฝึกฝนการวิ่งอย่างละเอียดพิสดาร และไม่ใช่บทความสารคดีซึ่งให้ความรู้แต่มัดตัวผู้เขียนด้วยความถูกถ้วนทางข้อมูล

         ในขอบข่ายของการเขียนสารคดี (non-fiction) ลักษณะงานที่ถูกเรียกว่า บันทึกความทรงจำ (memoir) มักจะถูกไล่ให้ไปต่อแถวด้านหลังในความสนใจของนักอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงวรรณกรรมไทยซึ่งน่าจะสนใจเรื่องราวหวือหวาด้วยการประดิดประดอยแบบเรื่องแต่ง (fiction) เสียมากกว่า กล่าวได้ว่ามีผู้เขียนหรือต้นเรื่องในบันทึกความทรงจำเพียงไม่กี่รายที่ดึงดูดความสนใจจากนักอ่านได้อย่างเพียงพอและคุ้มค่าสำนักพิมพ์ และนั่นจึงทำให้มีงานแนวบันทึกระดับมหานิยมในยุคหลังมานี้ไม่มากนัก

งานบันทึกความทรงจำแตกต่างจากหนังสือชีวประวัติหรือสารคดีเฉพาะเรื่องแบบที่เข้าใจกันทั่วไป ตรงกลวิธีการเล่าและเคล็ดรวบรวมข้อมูล เพราะตามรูปศัพท์นั้น Memoir ก็คือ Memory ซึ่งถือเป็นบันทึกที่อิงกับความทรงจำ ผุดงอกและกรองออกมาจากมุมมองผู้เล่า นั่นหมายความว่า ในเหตุการณ์จริงหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้น ยังมีพื้นที่ว่างให้ความจริงของใครของมันไหลวนไปมา คัดสรรและนำเสนอจากดวงตาของนักเขียน ตราบเท่าที่มันไม่ถูกต่อเติมเสริมแต่ง บิดเบือนจากความจริง จนถลำเข้าสู่อาณาเขตของความเป็นนิยาย 

ใน คนละก้าว ผู้เขียนสามารถประคับประคองตัวเองอย่างเพลิดเพลินบนเส้นลวดแห่งความจริงด้วยการพรรณนาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างออกรส ดังเช่น ในช่วงพร้อมหน้าก่อนเริ่มต้นโครงการวิ่ง “อาหารในคืนนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นแบบ...อาหารเพื่อ (ทำลาย) สุขภาพทั้งนั้น เนื้อกระทะ หมูกระทะ เกาเหลาเนื้อ ทั้งมันทั้งเอ็น จำได้ว่าตอนกินผมแอบมองหมอเมย์หน่อยๆ รู้สึกเหมือนขโมยของต่อหน้าพระยังไงยังงั้น แต่หมอก็เฉยๆ นะ ผมเดาว่าแกคงเอือมผมแล้ว” (น.27)

จากคำบรรยายบนหน้าปกหนังสือว่า “บันทึกเรื่องราวประทับใจ จากโครงการก้าวคนละก้าว ในมุมมองของเพื่อนและคนรอบข้าง ผู้ร่วมทางไปกับตูน บอดี้สแลม” (น.1) ชวนให้คิดว่าจะเป็นงานที่รีดเค้นศักยภาพของความทรงจำร่วม (collective memory) จากหลายคนที่ร่วมกันออกวิ่งจากใต้สุดไปสู่เหนือสุดแห่งดินแดนสยาม กระนั้นทิศทางการนำเสนอทั้งหมดแทบจะออกมาจากมุมมองของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ด้วยภาษาและน้ำเสียงการเล่าอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งถือสิทธิ์สมบูรณ์พร้อมทุกประการที่จะบันทึกความทรงจำในลักษณะนี้ เพราะดำรงตำแหน่งผู้สร้างสรรค์ที่อยู่ร่วมกับโครงการมาตั้งแต่ต้นจนจบ 

อย่างไรก็ตาม แม้จะเล่าเรื่องผ่านสายตาของตนเอง แต่ “ตัวละครหลัก” หรือศูนย์รวมทั้งหมดของเรื่องกลับไม่ใช่ผู้เขียน แต่เป็นคนอื่นที่ถูกเรียกอย่างลำลองว่า ตูน บอดี้สแลม ซึ่งนับว่าเป็นตัวเอกในเรื่องนี้และถูกเอ่ยอ้างถึงด้วยสถานะใกล้เคียงกับมหาบุรุษทั้งความคิดและจิตใจ “ผมฟังแล้วอึ้ง เขาเป็นคนที่คิดอะไรลึกซึ้งจริงๆ ไอ้เราสิกลายเป็นคนหยาบกระด้างไปเลย ผมได้เรียนรู้จากตูนอีกแล้วว่า คิดซะให้ครบ เวลาทำจะได้ไม่ขาด” (น.44) หรือ “คุณภาพชีวิตที่หลายคนลืมไปแล้วว่าต้องมีต้องใช้ในอนาคต (...) ผู้ชายคนนี้มองเห็นภาพนั้น ยอมเอาสังขารร่างกายตัวเองแลก เพื่อภาพสวยงามที่เขาเห็น” (น.147)

หากนั่นยังไม่พอ บันทึกที่จั่วหัวว่าเกี่ยวกับกลุ่มคนที่ร่วมกันทำสิ่งดีๆ นั้น ยังหมุนอยู่รอบผู้ชายที่ชื่อว่าตูนตลอดเวลา เพราะกระทั่งเนื้อหาบางบทซึ่งตั้งชื่อเรื่องเพื่ออุทิศให้กับ “เพื่อนและคนรอบข้าง” ที่เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ ผู้อ่านก็จะพบว่าแท้จริงแล้ว เราได้รู้จักกับผู้เป็นเจ้าของชื่อบทภายใต้วาทกรรมความดีในแบบของตูนอยู่ดี ดังเช่นใน “มม” ที่บอกเล่าเรื่องราวของ “หมอเมย์” แม้จะผูกโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของผู้เขียน หมอเมย์ และคนที่มามีสวนร่วมในงาน แต่ในที่สุด สิ่งละอันพันละน้อยทั้งหลายที่แย้มพรายออกมาก็จะถูกนำไปผนวกกับโครงเรื่องใหญ่ของตูน อย่างในช่วงที่เกิดความเคร่งเครียด “ในเสียงทุบประตูนั้นมันแฝงไปด้วยหลายความรู้สึก ผมมองหมอเมย์อย่างจนปัญญา เพราะรู้ว่านี่คือหน้าที่ที่เธอต้องรับผิดชอบ และเธอต้องผ่านมันไปให้ได้ด้วยตัวเธอเอง จากความโกรธนั้นมันแสดงให้เห็นว่า เวลาที่ตูนเจ็บ คนที่เจ็บไม่ได้มีแค่ตูน” (น.179) หรือในบท “อุดม” ซึ่งเล่าความทะเล้นของนักแสดงตลก อุดม แต้พานิช ที่เข้ามาสร้างสีสันแก่ทุกคน ผู้เขียนกล่าวเอาไว้ว่า “เราสัญญากับพี่ตูนว่าจะพูดจะเล่นอะไรก็ให้นึกถึงหน้าตูนตอนวิ่งเอาไว้ ซึ่งผมก็ได้เรียนรู้ความจริงที่น่าขำว่า คำเตือนอันไหนก็ใช้กับอุดมไม่ได้” (น.275)

บันทึกความทรงจำของ เบลล่า ชายชาญ ใบมงคล ไม่ใช่ผลงานระดับซับซ้อนซ่อนเงื่อนหรือมีมิติเชิงลึกที่ชวนให้ขุดค้นอย่างน่าตื่นตะลึง แต่ก็หาใช่ผลงานประเภทเถรตรงโดยปราศจากชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ เนื้อหาเริ่มต้นด้วยกำเนิดโครงการก้าวคนละก้าวที่ผู้เขียนเข้าไปรับรู้ตั้งแต่ต้น ผ่านการเดินทาง (วิ่ง) ผ่านจังหวัดต่างๆ ตั้งแต่ ความประหม่าที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และไปจบสิ้นอย่างสะบักสะบอมแต่ภาคภูมิที่การเข้าเส้นชัยในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยบันทึกจะไล่เรียงไปตามจังหวัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นจนจบ ในแต่ละบทจะผูกปมเรื่องเล่าตามจังหวัดให้เข้ากับแก่นเรื่องที่ต่างกันออกไป

หลังจากเกริ่นถึงเป้าหมายของการวิ่งในบทต้นๆ อย่าง “เหนื่อยกันอีกสักปี” และ “11 นี้มีที่มา” บันทึกก็เล่าถึงการเตรียมตัว “หมดแรงตั้งแต่วันซ้อม” (กรุงเทพมหานคร) ก่อนจะทวีความเข้มข้นด้วยการแถลงอุดมการณ์ใน “ไม่ใช่ที่วิ่งเล่น” (จังหวัดสงขลา) ความขลุกขลักและอุปสรรคใน “มันจะอะไรกันตอนนี้” (จังหวัดยะลา) โรคภัยไข้เจ็บในระหว่างการจัดงานใน “ก้าวรวมโรค” (จังหวัดชุมพร) การฝืนร่างกายและอาการบาดเจ็บใน “เสียงของร่างกาย” (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) ไปจนถึงความสนุกสนานครื้นเครงใน “ขบวนคนบ้า” (จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม และกรุงเทพมหานคร)

ในรายทางไปสู่ความชื่นมื่น กลวิธีเขียนบันทึกความทรงจำ คนละก้าว ยังอาจถูกมองได้อย่างน้อยใน 2 แนวทาง หนึ่งคือบันทึกที่มีโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบ “การเดินทางของวีรบุรุษ”  และสองคือเนื้อหาซึ่งเป็นแรงปะทะระหว่าง “เหตุผลกับอารมณ์” โดยทั้งสองส่วนจะไปสอดผสานกันในที่สุด 

 

บันทึกวีรบุรุษ

            ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากวิธีการเล่าถึงภารกิจอันยากเย็นที่มีตูน บอดี้แสลมเป็นหัวเรือใหญ่จะซ้อนทับกับโครงสร้างการผจญภัยอันลือลั่น  A Hero’s Journey ของ โจเซฟ แคมพ์เบล[1] ที่แบ่งการเดินทางของวีรบุรุษออกเป็น 3 ช่วง อันได้แก่ การออกเดินทาง การปฏิบัติภารกิจ และการเดินทางกลับ ซึ่งต่อมาได้ถูกขยายออกเป็นช่วงเวลา 12 ระยะ (Twelve stage hero journey)[2]  โดย คริสโตเฟอร์ ว็อกเลอร์ 

            บทบันทึกของเบลล่า ดูละม้ายคล้ายคลึงแต่ไม่ได้เจริญรอยตามโครงสร้างทั้งสองอย่างเคร่งครัด แต่ก็อย่างที่แนวคิดทั้งคู่ได้ถูกหยิบไปใช้สอยอยู่เนืองๆ ว่าเหตุผลกลสำคัญที่ได้รับความนิยมก็คือ ที่ใดซึ่งมีผู้ออกปฏิบัติภารกิจในลักษณะของการผจญภัย เส้นทางสู่ขวากหนามและความสำเร็จดังกล่าวมักจะหนีไม่พ้นสูตรที่ว่านี้ไปได้ บทบันทึกเล่มนี้จึงบรรจุเอาทั้ง 3 ช่วงและ 12 ระยะดังกล่าวอัดแน่นไว้ข้างใน เพียงแต่เราจะเห็นการยักย้ายถ่ายเทบทบาทของตัวละครไปมาอย่างน่าสนใจ

จากในช่วงแรก แทนที่จะเป็น “ตัวเอก” (ตูน) อาศัยอยู่ในโลกสามัญ ก่อนจำใจรับภารกิจอันยิ่งใหญ่โดยไม่ทันตั้งตัว ผู้อ่านกลับพบว่าเป็นตัวผู้เขียน (เบลล่า) เสียเองที่มีบทบาทเป็นตัวเอก เราจะเห็นชัดเจนเมื่อแยกย่อยจำเพาะเจาะลงไปถึง 4 ระยะแรกของการเดินทางแบบว็อกเลอร์ ไม่ว่าจะเป็น โลกสามัญดั้งเดิม (ใช้ชีวิตปกติในการทำงาน) การเรียกหาการผจญภัย (พี่ตูนเรียกรวมพลและขอให้ทุกคนช่วยเหลือ) การปฏิเสธในขั้นแรก (การบ่ายเบี่ยงไม่อยากทำและแกล้งทำเป็นลืม) และ การได้พบกับผู้ชี้ทาง (พี่ตูนพร้อมกับโปรดิวเซอร์เข้ามาจัดแจงทุกอย่างให้พร้อมสรรพ) 

            กระทั่งเมื่อผู้ถูกเลือกมาพร้อมหน้ากันในการเตรียมตัวก่อนโครงการจะเริ่มต้นไม่กี่วัน ตัวเอกของเรื่องที่แท้จริงจึงถูกย้ายกลับมาเป็นตูน โดยผู้เขียนเริ่มถอยออกมาเป็นผู้สังเกตการณ์ แม้ว่ามุมมองผู้เล่าและน้ำเสียงจะเป็นเบลล่าผู้ร่าเริง แต่ผู้อ่านย่อมสัมผัสได้ว่าในแทบทุกหน้าของหนังสือ จุดใหญ่ใจความหลักคือการใช้เรื่องสัพเพเหระทั้งหมดโยงกลับไปสู่วีรกรรมครั้งสำคัญของดาราผู้เป็นนักวิ่งนั่นเอง บุคคลรายล้อมทั้งหมดดำรงสถานะของ “ผู้ช่วยเหลือ” (helper) ที่ร่วมกันสนับสนุนในระดับใกล้เคียงกับการพลีชีพ 

            ด้วยความที่  A Hero’s Journey มีรากฐานจากการวิเคราะห์เรื่องแต่งที่สืบย้อนไปในยุคนิทานปรัมปรา เพื่อแสดงให้เห็นถึงวีรกรรมของวีรบุรุษ ดังนั้น เมื่อถูกปรับมารับใช้การพรรณนาภาพตัวละครในบันทึกจากความทรงจำ  ร่องรอยการสวมทับจึงเป็นการประสานระหว่างการเล่าเหตุการณ์จริงโดยอิงกับขนบของวีรบุรุษ นั่นทำให้ในชั่วขณะหนึ่ง หากไม่หลงใหลซาบซึ้ง ผู้อ่านก็อาจจะตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นมหาบุรุษที่อยู่ในรูปลักษณ์ของมนุษย์ในชีวิตจริง เช่น การมุ่งมั่นเชิงอุดมการณ์และเปี่ยมด้วยสติสัมปชัญญะ “ผมชอบอยู่ช่วงหนึ่งที่ตูนบอกกับทุกคนว่า ‘ผมอยากให้พวกเราระลึกอยู่เสมอว่า พวกเรามาทำอะไร และปลายทางของมันคืออะไร ขอให้ทุกคนทำด้วยสติ และมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ผมจะไม่ยอมให้คนมองว่าพวกเราเอาพื้นที่ถนนมาวิ่งเล่นเด็ดขาด’” (น.62) และการบรรยายถึงคุณลักษณะของตูนในช่วงหนึ่งว่า “ผมคิดในใจว่าพี่ตูนมันไม่เหนื่อยหรือไงวะ ทำไมถึงยังโฟกัสกับทุกสิ่งได้ขนาดนี้ ทั้งๆ ที่เมื่อคืนเขาน่าจะนอนได้ไม่เกินหนึ่งชั่วโมงครึ่ง หรือว่าตูนได้ก้าวข้ามขีดจำกัด ก้าวข้ามความเจ็บปวด กลายเป็นซูเปอร์ไซยาไปแล้วจริงๆ” (น.233)

เมื่อการบันทึกความทรงจำมีลักษณะเป็นอัตวิสัยของผู้เล่า เหตุการณ์ในระหว่างทางของ คนละก้าว จึงถูกผนวกข้ากับถ้อยแถลงทางอุดมการณ์ นั่นคือวิวาทะระหว่าง “เรี่ยไรบริจาคในฐานะน้ำใจคนไทย” กับ “ยึดมั่นในระบบและการจัดการของภาครัฐ” ผู้เขียนกล่าวเอาไว้ในช่วงต้นว่า “ตูนบอกผมมาอย่างนี้ ‘ผมอยากที่จะช่วยให้ได้มากที่สุด (...) แน่นอนว่ามันอาจไม่ถูกตามหลักการ ถ้าเราช่วยเขาได้ เขาก็สามารถกลับไปดูแลครอบครัวของเขา เท่ากับเราอาจช่วยได้ทั้งครอบครัวเลยนะพี่’ ผมตีความง่ายๆ ว่า จะเอาหลักการหรือน้ำใจ และตูนเลือกชัดเจนว่าเขามาทางน้ำใจ” (น.33) 

เนื้อความดังกล่าวทำให้กรอบความคิดของผู้เล่าก้าวข้ามระบบระเบียบแบบภาครัฐ ไปสู่การร่วมแรงร่วมใจของคนตัวเล็กๆ และเชิดชูปัจเจกบุคคลอย่างในตำนานอันไกลโพ้น เส้นทางวิ่งในบันทึกนี้จึงสอดคล้องกับการเดินทางผจญภัยไปสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ เป็นการบรรลุทั้งภายในและภายนอกตามสูตรของวีรบุรุษอย่างแท้จริง

 

หมุดแห่งอารมณ์

            ความลื่นไหลทางภาษาและกลวิธีการเล่าเรื่องใน คนละก้าว เสมือนขุมพลังที่ขับเคลื่อนให้บรรยากาศการอ่านเต็มไปด้วยชีวิตชีวา คละเคล้าทั้งการบ่นกระปอดกระแปด อธิบายอย่างเป็นการเป็นงาน ไปจนถึงการซุบซิบนินทาบรรดาคนวงใน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ลีลางานเขียนที่ควบคู่ไปกับประเด็นเรื่องเหตุผลและอารมณ์

            การเขียนสารคดีในเชิงกีฬาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการวิ่งในประเทศไทย ดูจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับกรณีดังกล่าว ในอดีต สารคดีที่ผสมผสานลักษณะของบันทึกจะเต็มไปด้วยความเคร่งขรึมจริงจัง มุ่งเน้นการให้ข้อมูลในทางวิทยาศาสตร์และสุขภาพ ดังเช่นจะพบในงานระดับขึ้นหิ้งจากคุณหมออย่าง วิ่งสู่ชีวิตใหม่ (อุดมศิลป์ ศรีแสงงาม, 2527) หรืองานของนักวิ่งรุ่นเก่า วิ่งในไทย 2 (ระย้าทิพย์-แจ๊ค แองเจล, 2528) ซึ่งคล้อยหลังจากนั้นเป็นเวลาหลายสิบปี สังคมไทยจึงได้มีสารคดีการวิ่งที่ผสานอารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียนในท่วงท่าที่สนุกสนานมากขึ้นอย่าง เย็นวันเสาร์ เช้าวันอาทิตย์ (คามิน คมนีย์, พ.ศ. 2546) ซึ่งนับว่าเป็นหมุดแห่งอารมณ์ครั้งแรกที่ถูกปักลงในวรรณกรรมแนวนี้

แม้จะออกตัวว่าไม่ใช่ “หนังสือวิ่ง” แต่ คนละก้าว เกี่ยวข้องกับการวิ่งอย่างแน่นอน สำนวนภาษาของเบลล่าอยู่ในกลุ่มนักสร้างสรรค์ที่เน้นความสนุกสนาน ปูพื้นและตบมุกเป็นอย่างกระฉับกระเฉง มาบรรจบกับการเล่าด้วยท่าทีคลุกวงใน หยิบจับเรื่องของคนในไปบอกคนนอกโดยไม่อินังขังขอบกับความศักดิ์สิทธิ์จริงจังของอุดมการณ์นัก เช่น ในตอนหนึ่งที่บันทึกไว้ว่า “ผมเคยได้ยินแต่คำว่า ‘โจรขโมยกางเกงใน’ แต่นี่คือ ‘โจรให้กางเกงใน’ แอบเอาไปให้โดยไม่หวังผล แต่ผลก็เกิดขึ้นแล้ว มม (หมอเมย์) โกรธจนปากคว่ำ และอุดมกำลังช็อกตัวแข็งเป็นรูปปั้นอยู่ข้างหน้าผม” (น.288) ล้วนโน้มนำให้บรรดาคนอ่านกลายมาเป็นหนึ่งในผู้สมรู้ร่วมคิดกับทีมงานอย่างครื้นเครง

ท่ามกลางกลุ่มบุคคลที่ดูเหมือนจะใช้หัวใจนำทาง หมอเมย์มีสถานะเป็นตัวแทนของอีกฟากฝั่งด้วยความประณีตในการใช้เหตุผล เพียบด้วยการตรวจตรา ระแวดระวัง รวมไปถึงสร้างอาณาบริเวณแห่งการควบคุมในทางชีววิทยา เมื่อการปะทะระหว่างมิติทางอารมณ์และเหตุผลเกิดขึ้นเป็นระยะในบันทึกความทรงจำเล่มนี้ ดังจะเห็นจาก “หลักการกับมนุษยธรรม” เป็นอาทิ ผู้อ่านจึงได้ละเลียดกับฉากอันน่าจดจำที่หมอเมย์ต้องปะทะคารมและความคิดกับตัวละครที่เน้นอารมณ์ความรู้สึกนำทางอย่างเบลล่า (สนุกสนาน) อุดม (ทะเล้น) และที่ขาดไม่ได้คือ พี่ตูน (มุ่งมั่นจนเกินขอบเขต) 

เมื่อเรื่องดำเนินมาจนถึงครึ่งเล่ม ตอนที่ร่างกายของตูนอยู่ในสภาพชำรุดจนแทบจะใช้การต่อไม่ได้ ผู้อ่านจึงถูกนำไปสู่ฉากที่ชวนลุ้นระทึก ซึ่งผสานมิติในเชิงการแพทย์ (เหตุผล) กับความมุ่งมั่นปรารถนาจนเกินตัว (ความรู้สึก) “ที่โหดที่สุดน่าจะเป็นจังหวะ ‘ลงเข็ม’ ของหมอเมย์ มันคือการคลายกล้ามเนื้อที่ขมวดปมที่เกิดจากการใช้งานหนัก หมอจะกดบริเวณที่เจ็บของพี่ตูน เอาปากกาเคมีกากบาทไว้ แล้วเอาเข็มแทง จากนั้นก็ควาน...ผมเห็นพี่ตูนเอาหมอนมากัดไว้แน่น แล้วร้องลั่น...บางครั้งก็ร้องจนหมดเสียง” (น.178)

ทั้งหมดทั้งมวลนี้  คือเส้นทางของวีรบุรุษคนหนึ่งผ่านงานเขียนแบบบันทึกความทรงจำซึ่งใช้มิติเชิงอารมณ์และเหตุผลสอดประสานกัน ในมุมมองของผู้เขียนนั้น ตัวเอกอาจจะถูกวาดภาพให้เป็นฮีโร่ผู้ยิ่งใหญ่ตามโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบนิทานปรัมปรา ผสานการพรรณนาถึงความดีงามจนแลดูคล้ายเป็นบทสรรเสริญเยินยอที่เกินเลย แต่หากจะมีคำแก้ตัวใดๆ นั่นคงเป็นเพราะภาพของตัวละครฝ่ายร้ายที่ทรงอานุภาพอย่างยากจะก้าวข้าม 

คำว่า คนละก้าว อันหมายถึงการร่วมแรงร่วมใจตามชื่อหนังสือคือทางออกของเรื่องราวเหล่านี้ เพราะการพิชิตมารร้ายที่ชื่อว่าความป่วยไข้และความขาดแคลนในสังคมไทย ก็หาใช่เส้นทางง่ายดายที่จะผจญภัยไปโดยลำพังแต่แรก และนั่นทำให้กลายเป็นเรื่องของชายคนหนึ่งพร้อมกลุ่มคนติดสอยห้อยตามกันอย่างเอิกเกริก รวมฟันฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการเพื่อหวังว่าจะมีชัยชนะในศึกครั้งนี้

คงไม่ต้องบอกกระมังว่า ความชื่นมื่นของคณะนักวิ่งที่เส้นชัยในอำเภอแม่สาย ท้ายสุดนั้น หมายความถึงชัยชนะหรือเปล่า

 

 

[1] ในหนังสือ The Hero With A Thousand Faces ของ Joseph Campbell ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1949 เสนอแนวคิดโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบคลาสสิกที่เรียกว่า A Hero’s Journey ที่แบ่งการผจญภัยออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ The Departure Act (การออกเดินทางจากโลกเดิมไปสู่โลกใหม่) The Initiation Act (การฝ่าฝันผจญกับอุปสรรคต่างๆ) และ The Return Act (การหวนคืนกลับสู่สถานที่จากมาด้วยชัยชนะ)

[2] คริสโตเฟอร์ ว็อกเลอร์ เป็นนักเขียนบทซึ่งในปี 2007 ได้ออกหนังสือชื่อ The writer’s Journey โดยมีส่วนหนึ่งนำเอาแนวคิดการผจญภัย 3 ขั้นตอนใน  A hero’s journey มาขยายให้กลายเป็น 12 ระยะ อันได้แก่ โลกสามัญดั้งเดิม การเรียกหาการผจญภัย การปฏิเสธในขั้นแรก การได้พบกับผู้ชี้ทาง  การก้าวข้ามสู่เขตแดนผจญภัย การทดสอบ เผชิญหน้ากับมิตรและศัตรู การพบกับห้วงเวลาอันตราย การทดสอบครั้งสำคัญ การพบทางสู่ชัยชนะ  การเดินทางกลับที่ยากเข็ญ พบการทดสอบครั้งสุดท้าย และหวนกลับอย่างมีชัยชนะโดยสมบูรณ์

 


 


Visitors: 82,074