ระดับอุดมศึกษา 1

บทวิจารณ์ 
 
- อีกไม่นานเราจะสูญหาย “หายไปตามห้วงแห่งกาล” 
  โดย :: กนกวรรณ พัดพรม
 
ทะเลสาบน้ำตา: แหว่งวิ่นของทรงจำ กับฝันสีจางบนผ้าขาว
  โดย :: เบญจมาศ  มังคะชาติ
 
“ไม่มีเธออยู่ข้าง โลกนี้ก็กว้างเกิน” นวนิยายโรแมนติกยุคใหม่ที่ให้มากกว่า “ความจรรโลงใจ”
   โดย :: อภิสรา ชั้วทอง
 
หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา : เพราะหยดน้ำตามิได้หลั่งมา(เพียง)เพื่อเสียใจ
   โดย :: มัลลิกา กลับสุข
 
อีกไม่นานเราจะสูญหาย เมื่อโลกถูกครอบงำด้วยความวิปริต
   โดย :: วาทินี  นพกิจ  
 
- ทะเลสาบน้ำตา : วูบไหวในท่ามกลางสรรพสิ่งที่ค่อย ๆ เลือนรางในโลกกึ่งความทรงจำ กึ่งความฝัน และกึ่งความจริง
  โดย :: กีรติกานต์ ปริทารัมย์
 
- อีกไม่นานเราจะสูญหาย: ระบบทุนนิยมกับการสูญสลายตัวตนของมนุษย์ 
  โดย :: ชวิศา อามาตร
 
- จากการรื้อสร้าง (deconstruction) สู่ความคลุมเครือแห่งที่มาที่ไป ใน ต้นสายปลายจวัก[1] 
  โดย :: รุจีลักษณ์ สีลาเขต
 
- ณ ที่ซึ่งความจริงไม่อาจดํารงอยู่ : เจ้าความจริงผู้น่าสงสาร 
  โดย :: วีรพล พูลแก้ว
 
- คนในนิทานสู่คนนอกนิทาน : เรื่องเล่าศีลธรรมในสัญชาตญาณมืด 
  โดย :: ณัฐกรณ์ สร้อยสนธิ์ 
 
 
 ~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

 

อีกไม่นานเราจะสูญหาย

“หายไปตามห้วงแห่งกาล”

 

 

กนกวรรณ พัดพรม

  

          อีกไม่นานเราจะสูญหาย เป็นนวนิยายที่เกี่ยวข้องกับสภาวะจิตใจที่สับสนวุ่นวายไปตามยุคสมัย รวมถึงความขัดแย้งทางสังคมปมเอดิปุส ปัญหาทางจิตเวช การค้นหาความรักเรื่องราวเหล่านี้ถูกส่งผ่านและถ่ายทอดจากจินตนาการสู่การเรียงร้อยถ้อยความผ่านปลายปากกาของ อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ นักเขียนสาวรุ่นใหม่ผู้มีวิธีการเล่าเรื่องด้วยภาษาที่เรียบง่าย นำเสนอผ่านกลวิธีการเขียนที่เต็มไปด้วยความเข้มข้นผ่านการเล่าเรื่องของตัวละครกับการเล่าเรื่องที่แปลกใหม่ ชวนให้ติดตาม นวนิยายเล่มนี้จึงได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชนในสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม พิมพ์ครั้งที่ 2 ในเดือนกันยายน พ.ศ.2561

 

            เรื่องราวของตัวละครหลักอย่าง“ชินตา” กับการจัดการความรู้สึกตัวเองในอาณาความคิดและร่างกายอันคับแคบ ความสับสนวุ่นวายในชีวิตของตน และ “แม่” ผู้เป็นโรคจิตเวช ทำให้ชินตาต้องดูแลรักษาแม่รวมถึง“โช”น้องชายของชิ้นตาที่สูญเสียไป เพราะทนกับโรคจิตเภทของแม่ไม่ได้ ท่ามกลางความซับซ้อนของระบบทุนนิยมที่เข้าไปปฏิบัติการภายในระดับจิตใจของมนุษย์ ชินตาทำงานเป็นผู้จัดการแกลเลอรี่เขาได้พบปะศิลปินมากมายทำให้เขาเกิดพบรักกับ “เชน”ขณะไปสังสรรค์ด้วยกัน ในระหว่างชีวิตที่จัดการกับแกลเลอรี่ ชินตาได้พบกับ“จอม”ทั้งสองคนตกลงกันทำหนังสือเรื่องเล่าเหตุการณ์ของชายผู้ฆ่ามารดาของตน โดยมีชินตาเป็นพยานเอกของเรื่อง ด้วยสภาวะที่ไม่สามารถหลีกหนีได้ชินตาจึงตอบตกลง หลังจากโชเสียชีวิตไปไม่นานชินตาพาแม่ไปรักษาจนอาการป่วยทางจิตเภทจนดีขึ้น หลังจากนั้นชินตาเดินทางไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ ทำให้พบรักกับ “ท็อท”ชินตาใช้ชีวิตที่ประเทศสิงคโปร์อย่างมีความสุข กระทั่งวันหนึ่ง แม่ของชินตาเสียชีวิตจึงได้กลับบ้านและกลับมาหาเชนคนรักเก่า ชินตาเลิกกับแฟนแล้วกลับมาอยู่ที่บ้านคนเดียว เขารู้สึกเศร้าและมองเห็นสัจธรรมของชีวิตของมนุษย์ ไม่นานก็ต้องสูญหายไปตามกาล และหากใครอีกคน มองลงมาจากดวงจันทร์ เขาคงจะเห็นฉันเป็นเพียงจุดมหาภาพของจุดมหาภาพอีกที

 

            นวนิยายเรื่องนี้นำเสนอผลกระทบของระบบทุนนิยมผ่านความวิกลจริตของตัวละคร การแตกสลายภายในจิตใจของตัวละครจากการทำทุกอย่างกลายเป็นสินค้า แม้แต่เรื่องที่ผิดศีลธรรมอย่างสุดโต่งก็มีราคาค่างวดที่นำไปขายได้

 

            ผู้แต่งวางโครงเรื่องโดยเปิดเรื่องด้วยการเล่าย้อนอดีต เมื่อครั้งวัยยังเด็กของชินตาและน้องชาย กับเหตุการณ์ที่น่าประหลาด คือการพบกับจอม เด็กชายผู้กระทำมาตุฆาตทำให้เธอต้องปกปิดเรื่องนี้กว่า 20 ปี ผู้แต่งนำเรื่องราวในอดีตย้อนเข้าสู่ปัจจุบันของชินตา เมื่อพิจารณาแล้วเห็นได้ว่าผู้แต่งเปิดเรื่องได้อย่างน่าสนใจทำให้ผู้อ่านทราบความเป็นมาของชีวิตตัวละครก่อนที่จะศึกษาตัวละครอื่น ๆ ที่กำลังดำเนินต่อไป ในระหว่างการดำเนินเรื่องนั้นผู้แต่งสร้างปมความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั่นคือความขัดแย้งของชินตากับจอมความขัดแย้งของชินตากับแม่ ความขัดแย้งของโชกับแม่ รวมไปถึงความขัดแย้งของชินตากับแฟน ซึ่งผู้แต่งนำความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์มานำเสนอและดำเนินเรื่องไปทีละตอนอย่างเข้มข้น

 

            ในส่วนของการปิดเรื่อง ผู้แต่งปิดเรื่องโดยกล่าวถึงสัจธรรมของชีวิตของมนุษย์สิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตล้วนไม่เที่ยงแท้แน่นอนแม้แต่ชีวิต จิตใจสภาพแวดล้อมทำให้เราดำรงอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ไม่นาน สิ่งนั้นค่อยๆสูญหายไปตามกาล และประเด็นหลักในการสรรค์สร้างเรื่องนี้สังเกตได้จากชื่อเรื่อง“อีกไม่นานเราจะสูญหาย” ชินตาเล่าสาเหตุของการสูญหายให้ผู้อ่านได้เห็นอย่างเด่นชัดถือได้ว่าผู้แต่งนำเรื่องเกี่ยวกับสัจธรรมของชีวิตมาประยุกต์ให้เข้ากับเนื้อเรื่องทำให้เนื้อเรื่องมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

 

           แก่นของนวนิยายเรื่องนี้ ผู้แต่งสอดแทรกไว้ในเนื้อเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นแก่นเรื่องของการสะท้อนให้เห็นถึงระบบทุนนิยมทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปเพราะตกอยู่ในสังคมที่ผสานไปด้วยระบบทุนนิยมกับเผด็จการ ด้วยสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ต้องทำเพื่อความอยู่รอดจึงทำทุกอย่างให้กลายเป็นสินค้าแม้แต่เรื่องผิดศีลธรรม จากพฤติกรรม จอมกระทำการมาตุฆาตหรือฆ่าแม่ของตน แล้วนำเรื่องนี้มาแต่งหนังสือเพื่อสร้างรายได้ จากการนำเรื่องนี้มาถ่ายทอด ทำให้ผู้อ่านได้สัมผัสถึงการกระทำเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ เป็นการนำเสนอเรื่องราวที่สามารถพบในปัจจุบัน คนที่ขาดความเป็น “คน” ในตัวตน นับเป็นการเปิดมุมมองของคนในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการแต่งเรื่องที่สอดคล้องกับยุคปัจจุบันทำให้ผู้อ่านได้เปิดโลกทัศน์และมุมมองของคนในหลากหลายรูปแบบ  ผู้วิจารณ์มีความคิดเห็นว่าผู้แต่งหยิบยกประเด็นมาใช้ในการดำเนินเรื่องเพื่อสะท้อนสังคมของคนในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

 

นอกจากนั้นยังกล่าวถึงสัจธรรมของชีวิต จากข้อความในเนื้อเรื่อง

 

            “เบื้องหลังลงไปคือกลุ่มต้นไม้มากมายอยู่กระจัดกระจายไร้ระเบียบ ไร้ทิศทาง และแบบแผนในการกำหนดตำแหน่ง ราวกับพวกมันถูกเหวี่ยงเมล็ดพันธุ์ไปทั่ว เมล็ดแห่งชีวิตเรานั้นงอกเงยและเติบโตเป็นต้นไม้ต่างสายพันธุ์ ทั้งก้าน กิ่ง ใบ ดอก ผล ทั้งหมดล้วนแตกต่างและมีเอกลักษณ์ด้วยเส้นทางพันธุกรรมธรรมชาติ”(หน้า 57)

 

            เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของชีวิตไม่ว่าจะเป็น ทรัพยากร ต้นไม้ใบหญ้า ล้วนต้องการ          ความเจริญงอกงาม เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์

 

นวนิยายเล่มนี้กล่าวถึงตัวละครหลักที่ประสบเหตุการณ์และสภาวะทางอารมณ์ การจัดการความไม่พึงพอใจที่ไร้การควบคุม การสูญเสียการจากลาเหตุการณ์แปลกประหลาดบนโลกที่อธิบายไม่ได้ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือสิ่งที่เรายังไม่รู้จัก กลิ่นอายของบริบททางวิทยาศาสตร์รวมไปถึงการกลืนกินตัวตน และหมายความรวมถึงตัวตนที่ถูกยึดดึงเข้าสู่ห้วงอะไรสักอย่างอันไม่ปรากฏความชัดเจน “เรา” จึงสูญหายไป จากการเล่าและถ่ายทอดผ่านตัวละครของเรื่อง (คำนำหน้า 12)

 

            ตัวละครที่ผู้แต่งสร้างขึ้นมีทั้งตัวละครหลักและตัวละครประกอบที่ทำให้เนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างน่าติดตาม ตัวละครเอกของเรื่องมีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่อง ผู้แต่งนำเสนอประเด็นนักเขียนสาวต่อผู้อ่านผ่านกลวิธีที่เต็มไปด้วยสภาวะแห่งความแปรปรวนทางธรรมชาติของมนุษย์

 

            “ความพิเศษของตัวละครนำเสนอผลกระทบระบบทุนนิยมในการสร้างตัวละครให้เกิดความแตกสลายภายในจิตใจ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการกระทำให้ทุกอย่างกลายเป็นสินค้าแม้แต่เรื่องที่ผิดศีลธรรมใช้สุนทรียศาสตร์เข้าไปอำพรางความจริง แม้ว่าสิ่งนั้นจะเน่าเฟะ ผุพัง เป็นไปด้วยความเสื่อมถอย เหลือแต่สิ่งสุนทรีย์ที่ทำให้กลายเป็นความหวังความฝันที่ตัวละครปรารถนามีแต่การนำมาซึ่งความสุข”(ความคิดเห็นจากกรรมการรางวัลซีไรต์ 2561 หน้า 14)

 

ผู้แต่งใช้อาการทางจิตเภทของตัวละครซึ่งเป็นอีกด้านที่สุดนิยมซุกซ่อนและกดทับไว้ในตัวละครเต็มไปด้วยทุกข์ระทมอันเกิดจากการแตกสลายภายในครอบครัว ภาวะติดข้องอยู่ในความหดหู่ความทรงจำ                อันโหดร้าย ความเศร้าที่เกิดจากการจากไปของคนรัก ทว่าผู้เขียนนำสภาวะการเกิดซ้ำและหมุนวน ซึ่งอยู่ในห้วงของการหยุดอยู่กับที่ มาทำนายระบบทุนนิยม กล่าวว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องรุกไปข้างหน้าตลอดเวลา

 

            จากการพิจารณาตัวละคร ผู้แต่งสร้างสรรค์ตัวละครได้อย่างเหมาะสมกับเนื้อเรื่อง มีความกลมกลืนกัน ตัวละครในนวนิยายเรื่องนี้ประกอบไปด้วย ตัวละครหลักอย่างชินตา โช แม่ จอม พ่อของจอม เชนแฟนของชินตาคนแรก ท็อทแฟนชินตาคนที่ 2 เขมกรเจ้าของแกลอรี่ และเวย์ หนุ่มที่อยู่ในความสัมพันธ์ไม่ชัดเจนของชินตา

 

            เมื่อพิจารณาตัวละครชินตาแล้วตัวละครนี้เป็นตัวละครหลายลักษณะในด้านที่ดีคือเป็นคนที่มีจิตสำนึกและเป็นลูกที่กตัญญู ในส่วนที่ไม่ดีคือ ชินตาทำผิดทั้งที่รู้ว่า สิ่งที่ผิดคือการกินเนื้อคน ทั้งยังเป็นผู้หญิงที่สามารถพบได้ในปัจจุบัน กล่าวคือเป็นผู้หญิงเที่ยวกลางคืน และคุยกับผู้ชายหลายคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ด้วยการจัดวางลักษณะบุคลิกของผู้แต่งทำให้เธอต้องเป็นตัวละครในลักษณะดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นศิลปินคือมีอารมณ์พลิ้วไหวราวขนนก จึงถือได้ว่าผู้แต่งสร้างตัวละครได้อย่างสอดคล้องกับการดำเนินเรื่อง เมื่อนำมาเชื่อมโยงกับคนในปัจจุบันพบกับสถานการณ์อย่างที่ชินตาเผชิญจิตใจของผู้คนเหล่านั้นก็มักจะแย่ลงจนถึงขั้นรู้สึกอยากฆ่าคนที่ทำให้ตนไม่มีความสุข

 

            โชน้องชายของชินตาเป็นตัวละครหลายลักษณะ โชเป็นผู้ที่มีความกตัญญูดูแลแม่ ในขณะเดียวกันก็มีความอดทนต่ำมักตะคอกใส่แม่เมื่อแม่มีอาการไม่ปกติเนื่องด้วยสภาวะทางอารมณ์ของวัยรุ่นมักควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ซึ่งถือได้ว่าผู้แต่งสร้างบุคลิกลักษณะตัวละครได้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง และสะท้อนความเป็นจริงของวัยรุ่นในสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

 

           แม่เป็นตัวละครน้อยลักษณะ ผู้แต่งสร้างตัวละครแม่ ให้เป็นผู้ที่มีอาการป่วยทางจิตเภทแสดงพฤติกรรมไม่ปกติ และมักทำตามใจตนเอง พฤติกรรมที่แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมในจิตใต้สำนึก เป็นการสะท้อนบุคคลที่ได้ชื่อว่าแม่ในมุมมองที่ผู้อ่านหลายๆท่านยังไม่เคยรู้จัก แม่บางท่านมักไม่ได้รับการดูแลเอาใส่ใจใส่จากลูกทำให้แม่ขาดความอบอุ่น หากถูกปล่อยปละละเลยก็เกิดการสูญเสียขึ้นได้ ดังเนื้อเรื่องที่ผู้แต่งสะท้อนให้เห็น ชินตาหมกมุ่นกับการทำงานจนไม่มีเวลาดูแลแม่ เมื่อกลับมารับรู้สภาวะจิตใจของแม่ทำให้ชินตาต้องลาออกจากงานมาดูแลรักษาแม่ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับคนในสังคมปัจจุบันได้ เพราะผู้คนมุ่งทำงานเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพเป็นหลัก จึงละเลยความสนใจบุพการี เมื่อเกิดการละเลยเป็นเวลานาน ก็เกิดปัญหาและบางปัญหาสายเกินไปที่จะแก้

 

          จอม เป็นตัวละครที่สะท้อนให้เห็นถึงผู้ที่มีจิตใจโหดเหี้ยมสามารถฆ่าได้แม้กระทั่งมารดาของตน ทั้งยังนำเรื่องผิดศีลธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือในการหาเลี้ยงชีพ เป็นการสะท้อนสังคมในปัจจุบันที่มักเห็นเรื่องผิดเป็นเรื่องถูกหรือการกระทำผิดเพื่อการเอาตัวรอดในสังคม ศีลธรรมจึงถูกละเลยไป จากตัวละครจอมผู้แต่งใช้พฤติกรรมสะท้อนให้เห็นถึงจิตใจของคนในสังคมปัจจุบันได้อย่างเด่นชัดเพราะคนปัจจุบันมีความสุดโต่งเห็นแก่ตัวสิ่งใดทำให้ตนมั่งมีก็มักกระทำเพื่อแลกมาซึ่งความสุข

 

            ส่วนตัวละครประกอบอื่น ๆ เป็นตัวละครที่ช่วยเสริมให้ตัวละครอย่างชินตา แม่ จอม และโชดำเนินเรื่องได้อย่างเข้มข้นทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายพฤติกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นผู้แต่งต้องการสะท้อนให้เห็นและลักษณะของคนในสังคมเมื่อพิจารณาแล้วมีความสมเหตุสมผลและทุกกลวิธีการแต่งสร้างเสริมกันได้อย่างลงตัวทำให้เนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและน่าติดตาม

 

            เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว การเลือกสรรตัวละครของผู้แต่ง ผู้วิจารณ์มีความเห็นว่า ผู้แต่งสร้างลักษณะของตัวละครให้สอดคล้องกับการดำเนินเรื่องและนำพฤติกรรมของคนปัจจุบันมาสะท้อนให้ผู้อ่านได้คิดตามและเป็นการเปิดมุมมองของผู้อ่านในการศึกษาเรียนรู้คนลักษณะต่างๆ ในสังคมเมื่อพิจารณาแล้ว ผู้วิจารณ์มีความเห็นว่าผู้แต่งสร้างตัวละครได้เหมาะสมกับเนื้อเรื่องเป็นอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่โดดเด่นในนวนิยายเล่มนี้

 

บทสนทนาในเรื่องเป็นบทสนทนาที่เรามักพบได้ในชีวิตประจำวัน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาครอบครัว และการสนทนาของบุคคลในสังคม การสร้างความสัมพันธ์เพื่อหวังผลประโยชน์ต่อกันและกัน ในส่วนของการสร้างบทสนทนาผู้แต่งใช้ภาษาที่เข้าใจได้ง่าย ทำให้ผู้อ่านรับรู้ถึงจิตใจของตัวละคร

 

           ในส่วนของฉากและบรรยากาศ ผู้แต่งใช้ฉากและบรรยากาศที่มีความสมจริง ไม่ว่าจะเป็น ฉากของการทำงานในแกลเลอรี่ บรรยากาศของศิลปินที่มาพบปะสังสรรค์กัน สถานบันเทิง ผับบาร์ ทำให้เห็นกลิ่นอายของอารมณ์ศิลปินที่มักมีการดื่มอยู่เป็นประจำ นอกจากนั้น ยังมีฉากที่แสดงให้เห็นถึงความโหดเหี้ยมของมนุษย์คือฉากโชฆ่าตัวตาย เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วผู้วิจารณ์มีความเห็นว่าผู้แต่งใช้ฉาก บรรยากาศได้เหมาะสมกับเนื้อเรื่องและมีความสมจริง

 

           อีกหนึ่งสิ่งที่โดดเด่นในนวนิยายเล่มนี้คือ การใช้กลวิธีการแต่ง ที่เต็มไปด้วย โวหาร ทั้งประเภทบรรยายโวหารและพรรณนาโวหารทำให้ผู้อ่านได้สัมผัสถึงบรรยากาศ พฤติกรรมและอารมณ์ของตัวละคร ดังตัวอย่างการใช้พรรณนาโวหาร และบรรยายโวหารที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว

 

          “โชปากสั่น น้ำตาคลอเบ้า โดยไม่มีใครทันคาดคิด เขาเดินไปหยิบมีดที่เก็บไว้ในห้องนอนแล้วกลับมายืนตรงหน้าแม่ กดมีดบนลำคอตัวเอง ปัดเป็นรอยลึกยาว เลือกสีสดทะลักจากรอยปริแตกอันคมกริบ เหมือนน้ำที่ล้นเอ่อจากโอ่ง โชตาเหลือก ไม่มีเสียงใดเล็ดลอดจากริมฝีปากเขา ทุกคนหยุดนิ่งราวกับหลุดออกมาจากรูปถ่ายเก่ารายชีวิต โชว์ล้มลงไปกองกับพื้นในสภาพไร้การควบคุม เลือดไหลออกจากร่างแบ่งเป็นหลายสายด้วยแรงสูบฉีดของร่างกาย รอยกระสุนสั้นนั้นบ้างปรากฏเป็นดวงเล็กบนผืนบ้างไหลไปตามซอกร่องปูนบ้างไหลพาดผ่านแผ่นขาวของพื้นกระเบื้อง ดูเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์สวยงามและจริงใจ ราวเลือดนั้นแฝงด้วยจิตวิญญาณที่สิงสู่และสะกดเราให้นิ่งงัน หมายจะส่งสัญญาณบางอย่างระหว่างชีวิตและความตาย(หน้า 53-54)

 

           จากข้อความในเนื้อเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นนอกจากได้ผัสสะกับการใช้พรรณนาโวหารและบรรยายโวหารผสานกันได้อย่างลงตัวแล้ว ผู้แต่งยังใช้ความเปรียบ “ราว”, “เหมือน”เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพของพฤติกรรมของตัวละครได้เด่นชัดขึ้น ทำให้อ่านได้อย่างมีอรรถรส นอกจากนั้นยังมีการใช้ภาษาที่เรียบง่ายและบางคำเป็นคำที่ไม่คุ้นเคยแต่มีความคมคาย อ่านแล้วสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของตัวละคร ถ่ายทอดเนื้อหาได้ อย่างราบรื่น ผู้วิจารณ์มีความเห็นว่าผู้แต่งมีความสามารถในการเลือกสรรถ้อยคำ การใช้ภาษาเลือกโวหารมาผสานได้อย่างลงตัว ประกอบกับการเล่าเรื่องของพฤติกรรมของตัวละครได้เป็นอย่างดี 

 

           กล่าวโดยสรุปจากการพิจารณาของผู้วิจารณ์ ผู้แต่งมีความสามารถในการใช้องค์ประกอบทุกองค์ประกอบเรียบเรียงแต่ละส่วนเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัวไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบของการสร้างตัวละครฉากและบรรยากาศบทสนทนา การวางโครงเรื่องที่ไม่ซับซ้อนทำให้อ่านง่าย รวมถึงกลวิธีการใช้ภาษาที่เรียบง่ายการวางโครงเรื่องเป็นไปตามลำดับทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายสามารถสัมผัสอารมณ์ของตัวละครได้อย่างลึกซึ้งและมีอารมณ์ร่วม จึงกล่าวได้ว่าผู้แต่งสามารถใช้องค์ประกอบทุกองค์ประกอบหล่อหลอมรวมกันเป็นนวนิยาย “อีกไม่นานเราจะสูญหาย” ได้เป็นอย่างดี 

 

 

อ้างอิง

 

อ้อมแก้ว กัลยาณพงษ์. อีกไม่นานเราจะสูญหาย. พิมพ์ครั้งที่ 2. นครปฐม : เม่นวรรณกรรม, 2561.

หนังสืออีกไม่นานเราจะสูญหาย.(ออนไลน์). (2561). สืบค้นจากhttps://thematter.co/social/shortlist-seawrite-novel-2018/57809 [26กุมภาพันธ์ 2564]

 

 

 

 

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~ 

 

 

 

ทะเลสาบน้ำตา: แหว่งวิ่นของทรงจำ กับฝันสีจางบนผ้าขาว

 

  

เบญจมาศ  มังคะชาติ

  

 

          จากนวนิยายเรื่องแรก ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ที่ได้รับการประทับตรารางวัลซีไรต์ในปี 2558 ชื่อของ วีรพร นิติประภา จึงแจ้งเกิดในวงการน้ำหมึกอย่างเป็นทางการ และสร้างความฮือฮาบนเวทีรางวัลซีไรต์อีกครั้งในอีก 3 ปีถัดมา เมื่อนวนิยาย(ชื่อ)เรื่องยาวเล่มที่สอง พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำหวนกลับมาคว้าชัยโดยผู้เขียนคนเดียววีรพร ในวัย 58 กะรัต กลายเป็นนักเขียนรางวัลดับเบิลซีไรต์ (สุดฮอต) จากนวนิยายเพียงสองเล่มในชีวิตที่อายุรางวัลต่างกันเพียง 3 ปีเท่านั้น

 

          ไม่เพียงแต่ความสำเร็จของเธอที่ทำให้ต้องตกตะลึงงัน หากแต่เอกลักษณ์จำเพาะในกลวิธีเขียนเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ภาษา’ ที่คงความสละสลวย ลุ่มลึกและงดงามจับใจ หากความงามนี้เองที่ทำให้บรรดาผู้อ่านงานของวีรพร ต่างเอ่ยเป็นเสียงเดียวว่า ภาษาสวยมากทว่าอ่านยากอยู่ไม่น้อย กระทั่งการเดินทางมาถึงของนวนิยายลำดับที่3เรื่อง ทะเลสาบน้ำตา ดูแล้วน่าจะเป็นอ่านง่ายที่สุด ด้วยว่าเป็นงานเขียนแนวจินตนิมิตหรือแฟนตาซี จึงทำให้เนื้อเรื่องมีความสนุกกว่าเรื่องก่อน ๆ ภาษาคงความงาม ลุ่มลึก แต่ไม่ยากจนเกินกว่านักอ่านรุ่นเยาว์สามารถเข้าใจได้ ประกอบกับเป็นเรื่องราวใกล้ตัว ช่วงวัยใกล้เคียง ตลอดจนประสบการณ์ร่วมรู้สึกในมุมต่าง ๆ ทั้งสดใส โศกเศร้า หัวเราะ ร้องไห้ ทรงจำ ความฝัน ความจริง สมบูรณ์ และแหว่งวิ่นระคนกัน คือสิ่งเสริมผัสสะทางอารมณ์ของผู้อ่านให้ร่วมรู้สึกได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในนวนิยายเล่มนี้ ไม่เพียงแต่บอกเล่าเรื่องราวของเด็กเท่านั้น หากยังแตกแขนงยึดโยงไปสู่เรื่องราวของผู้ใหญ่และสามารถสะท้อนสภาพสังคมได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

 

          ทะเลสาบน้ำตา เป็นเรื่องราวของสองเด็กกึ่งหญิงกึ่งชาย นามว่า ‘ยิหวากับอนิล’ ซึ่งก่อนที่ทั้งสองจะมาเป็นเพื่อนกัน ต่างก็พบเจอกับเรื่องราวที่สร้างความเจ็บปวดร้าวรานจากความรุนแรงภายในครอบครัวและการพลัดพรากจากบุพการีอันเป็นที่รัก ยิหวา เด็กหญิงผู้มีลักษณะภาพนอกเหมือนเด็กชายอาศัยอยู่กับแม่เพียงสองคนภายในตึกพิลึกพิลั่นที่ตั้งอยู่เมืองรอบนอก กระทั่งวันหนึ่งแม่ทิ้งยิหวาเพื่อออกตามความรักที่เธอโหยหา เมื่อแม่หายไปทำให้ยิหวาต้องใช้ชีวิตตามลำพังกับแมว โบ๋แบ๋และจุ่นจะริดิด (เพื่อนในจิตนาการ) ก่อนที่จะได้รู้จักกับคุณยายไลลาและห่านปุยฝ้าย ทั้ง 4 ชีวิตร่วมกันก่อตั้งสมาคมลับโดยมีคุณยายไลลาเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ขณะที่ อนิล เด็กชายรูปกายเค้าละม้ายคล้ายเด็กหญิง ถูกผู้เป็นพ่อหมางเมินและกีดกันไม่ให้พบกับแม่มวลความรู้สึกเจ็บปวดที่คับคั่งอยู่ข้างในนำไปสู่การตัดสินใจอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว คือการพาชีวิตตัวเองออกเดินทางและทิ้งบ้านหลังนี้ไว้เป็นเบื้องหลังทรงจำอันเจ็บปวด รอนแรม เร่ร่อน จากบ้านสู่เมืองกระจกกระทั่งมาหยุดนอนผ่อนพักในท่อประปากลางทุ่งดอกดาวกระจายในเมืองรอบนอกและได้พบกับยิหวาสองเด็กกำพร้าพูดจาปราศรัย แลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่สายใยมิตรภาพและการมีตัวตนอยู่ในสายตาของคนหัวอกเดียวกัน

 

          ผ้าขาว: ทฤษฎีจิตวิเคราะห์สู่การกะเทาะพฤติกรรมของตัวละคร                                                          

          เรื่องราวและพฤติกรรมของตัวละครสอง ‘ยิหวากับอนิล’ คือความโดดเด่นระดับแนวหน้าที่ปรากฏในนวนิยายเล่มนี้พิจารณาความหมายจากชื่อของตัวละคร จึงมองเห็นถึงเรื่องราวทั้งย้อนแย้งและสัมพันธ์กล่าวคือ นามยิหวานี้มีความหมายว่า ดวงชีวิต,ดวงใจ ซึ่งพ่อเป็นคนตั้งให้ด้วยรู้สึกเช่นนั้นที่มั่นคงแน่แท้ ต่างกับแม่ที่ทอดทิ้งลูกสาวราวกับยิหวาไม่ได้เป็นดวงชีวิตหรือดวงใจของแม่แม้แต่น้อย ขณะที่ อนิล นามนี้มีความหมายว่า ลม ช่วงชีวิตที่ได้รับการปฏิบัติด้วยท่าทีหมางเมินอย่างรุนแรงจากผู้เป็นพ่อและบรรดาญาติพี่น้อง จึงทำให้อนิลรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นสายลมที่ทุกคนต่างรับรู้และสัมผัสได้ว่ามีจริงแต่มองไม่เห็น

 

          ซึ่งทั้งสองตัวละครล้วนเผชิญกับเรื่องราวความเจ็บร้าวในครอบครัวคล้าย ๆ กัน นั่นคือ การพลัดพรากของแม่ผู้เป็นที่รัก แต่ต่างตรงที่แม่ของยิหวาทอดทิ้งเธอด้วยสมัครใจ ขณะที่แม่ของอนิลหายไปด้วยจำใจเพราะพ่อกีดกันไม่ให้พบ กับทั้งกรณีของอนิลยังสะท้อนถึงปัญหาการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว ซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง หากแม้นมองย้อนสลับกลับไปมาระหว่างเรื่องราวในนวนิยายกับชีวิตจริงก็ตาม จะพบว่าปัญหาครอบครัวล้วนส่งผลกระทบกับเด็กโดยตรงเสมือนการปาดป้ายลายดำด่างพร้อยไว้บนผ้าผืนขาวบริสุทธิ์อันเป็นสาเหตุของการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงในเด็ก หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธีหรือเด็กไม่มีกลไกในการป้องกันตัวเองมากพอ ปัญหาเหล่านี้ก็จะเติบโตแตกใบออกไปเป็นปัญหาสังคมอีกหลาย ๆ ด้าน อย่างที่พบเห็นโดยทั่วไปในสถานการณ์สังคมปัจจุบัน

 

          ทั้งนี้มิได้หมายรวมเอาว่าเด็กทุกคนที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้จะต้องลงเอยด้วยการจำยอมน้อมรับกับสิ่งเกิดขึ้นเสมอไป ดังเช่นในนวนิยายเรื่องนี้ที่สองเด็กบ้านแตกอย่างยิหวากับอนิล ซึ่งจัดเป็นตัวละครแบบกลมมีพัฒนาการด้านลักษณะนิสัย อารมณ์ และความรู้สึกที่สามารถผันเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ตัวละครประเภทนี้เสมือนเป็นภาพแทนของคนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่ผู้เขียนจำลองเหตุการณ์ชีวิตมาไว้ในมิติของนวนิยาย เช่นนี้จึงกล่าวได้ว่ายิหวาและอนิล คือภาพแทนของเด็กที่เติบโตมาท่ามกลางปัญหาครอบครัว ทว่ามีกลไกลหรือภูมิคุ้มกันเพื่อปกป้องตัวเองจากปัญหานั้นด้วยวิธีการที่แตกต่าง แต่มีจุดมุ่งหมายไปในทิศทางเดียวกันสัมพันธ์กับทฤษฎีของ ‘ซิกมันด์ฟรอยด์’ นักจิตวิทยาในกลุ่มจิตวิเคราะห์ ที่เชื่อว่ากลไกป้องกันตนเองเกิดขึ้นในระดับจิตไร้สำนึกและเป็นกระบวนการทางจิตซึ่งเกิดขึ้นในบุคคลโดยอัตโนมัติที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มักเกิดขึ้นหรือแสดงออกทันทีโดยบุคคลไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ที่จะต้องป้องกันหรือต่อสู้และปรับตัวเองเพื่อแก้ปัญหาที่มีอยู่ให้ชีวิตอยู่รอดปลอดภัย มีความสุขและรักษาความสมดุลหรือความปกติของจิตใจไว้โดยแบ่งประเภทกลไกการป้องกันตัว ไว้ 9 ประเภท ได้แก่ การเก็บกด (Repression) การป้ายความผิดให้แก่ผู้อื่น(Projection) การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง(Rationalization)การถดถอย(Regression) การแสดงปฏิกิริยาตรงข้ามกับความปรารถนาแท้จริง (Reaction Formation) การสร้างวิมานในอากาศหรือการฝันกลางวัน (Fantasy or Day dreaming) การแยกตัว (Isolation) การหาสิ่งมาแทนที่ (Displacement) และการเลียนแบบ (Identification)

 

          ซึ่งพฤติกรรมอันเป็นกลไกการป้องกันตัวจากปัญหาของยิหวากับอนิลที่สังเกตเห็นได้ชัด คือการสร้างวิมานในอากาศหรือการฝันกลางวัน ดังจะเห็นจากกรณีของยิหวากับเพื่อนในจินตนาการชื่อว่า‘จุ่นจะริดิด’ ซึ่งเธอหายไปตอนยิหวาอายุ 6 ขวบ “จนแม่หนีอกจากบ้านไป ยิหวาก็ตัดสินใจเขียนจดหมายถึงจุ่นจะริดิดอีกครั้ง” (หน้า 114) อนิลก็เช่นกัน แต่ต่างตรงที่จินตนาการของอนิลคือการเฝ้ามองนกหัวตั้งแล้วคิดไปเองว่านกกำลังพูดอยู่กับตน “ด้วยประโยคเดียวประโยคเดิมทุกวัน ... โลกกว้าง” (หน้า 65) และอีกกลไกลหนึ่งคือการแยกตัวซึ่งพฤติกรรมนี้เห็นได้ชัดในกรณีของอนิลที่พยายามพาตัวเองออกจากสถานการณ์ที่นำความคับข้องใจมาให้ โดยการแยกตัวออกไปอยู่ตามลำพัง ดังปรากฏในตอนที่อนิลพาตัวเองเข้าไปนั่งเล่นในลังไม้ผุเก่าทุกวันหลังเลิกเรียน เพื่อหามุมสงบสุขให้ตัวเองและเมื่อกลับมาผัสสะกับทรงจำเจ็บปวดที่อบอวลอยู่ในบ้านหลังเก่าอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้มีเพียงพ่อที่ยังคงหมางเมินเหมือนเดิมเพิ่มเติมคือภรรยาคนใหม่ ทว่าไม่มีแม่หลงเหลืออยู่แม้ในรอยทรงจำของอนิลที่พยายามตามหาเท่าไหร่ก็ไม่พบ กระทั่งมวลขมขื่นก้อนสุดท้ายแตกสลาย “อนิลก็เก็บข้าวของออกจากบ้าน” (หน้า86)

 

          กรณีของยิหวากับอนิลเป็นพฤติกรรมที่มิได้จำเพาะเกาะกุมเพียงวัยเด็กเท่านั้น หากแต่กลไกลดังกล่าวนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัย ผันเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่ตกเผชิญ ทว่าในกรณีของสองสหายเด็กชาย-หญิง ต่างตกอยู่ในเหตุแห่งทุกข์คล้ายคลึงกัน นั่นคือปมปัญหาครอบครัว ซึ่งสร้างความเจ็บปวดร้าวรานเป็นรอยแผลบาดลึกกลางใจ และตามธรรมชาติของเด็กการยกตนให้พ้นจากความทุกข์ คือการพาตัวและหัวใจไปผูกไว้กับสิ่งสุขอื่น ๆ เพื่อเป็นการทดแทนหรือชดเชยในสิ่งที่ขาดหายไปบ้าง แต่ยังคงสามารถดำรงอยู่ท่ามกลางปัญหานั้นได้ด้วยสภาวะลอยตัว เฉกเช่นกรณีของยิหวาและเด็กอีกหลายคนที่ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านหลังเก่ากับทรงจำความรักของครอบครัวที่ผุกร่อนแหว่งวิ่น

 

           แหว่งวิ่นของทรงจำกับฝันสีจาง                                                                                                         

          แต่สำหรับเด็กอีกหลาย ๆ คนที่ต้องตกเผชิญกรณีเดียวกันกับอนิลก็ยังมีอยู่มากในสังคม นั่นคือการที่รู้สึกว่าบ้านไม่มีทรงจำของความรักหลงเหลืออยู่เลยการแสดงออกทางพฤติกรรมตามกลไกป้องกันตัวเองจึงเป็นการแยกตัวออกจากปัญหาหรือก็คือการหนีออกจากบ้านนั่นเอง ในเวลาต่อมาจึงกลายปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งที่พบมากในสังคมปัจจุบัน เกี่ยวกับคนเร่รอน ไร้บ้าน พเนจรหลับนอนในที่ต่าง ๆ อย่างไม่มีหลักแหล่ง ดังที่กล่าวมานี้เป็นการหลีกหนีปัญหาเพียงช่วงขณะหนึ่งของชีวิตเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว มิใช่จะลบเลือนออกจากทรงจำได้โดยง่าย แต่ก็เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวทรงจำที่แหว่งวิ่น ด้วยไม่มีใครในโลกนี้สมบูรณ์แบบไปเสียทุกอย่าง กับบางทรงจำแม้ไม่อาจลบลืมได้แต่ก็ไม่สามารถจดจำรายละเอียดของความรู้สึกนั้นได้ทั้งหมดเช่นกันเหมือนกับอนิลและยิหวาที่ต่างต้องพลัดพรากจากแม่เป็นเวลานานเท่าไหร่ไม่อาจทราบ เนื่องจากผู้เขียนไม่ได้ระบุไว้ แต่คงนานมากพอที่ทำให้ความแหว่งวิ่นของทรงจำของเด็กทั้งสองคน ปรากฏชัดในถ้อยสนทนาขณะหนึ่ง “ฉันก็จำหน้าแม่ของฉันไม่ได้แล้วเหมือนกัน”และ “วันหนึ่งฉันก็อาจลืมหน้าแม่ของฉันไปด้วยเหมือนกัน” (หน้า 115)จะเห็นว่าปัญหาครอบครัวคือมีดคมที่กรีดลึกและฝากรอยเจ็บไว้ในใจของเด็กไปอีกนานเท่านาน หรือรุนแรงกว่านั้นก็คือบั่นสายใยสัมพันธ์จนขาดวิ่นไม่เหลือชิ้นดี ทว่า ในนวนิยายเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นในธีมแฟนตาซี จึงมักมีเรื่องราวประหลาด ๆ เหนือความคาดหมายชวนให้เนื้อหาน่าติดตามอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ดังจะเห็นจากความฝันหรือทรงจำกระท่อนกระแท่นของตัวละครสามารถผุดเกิดเป็นเรื่องราวที่สัมผัสได้จริง ในตอนที่ยิหวาและอนิลหลุดเข้าไปใน ‘ป่าครอบแก้วดึกดำบรรพ์’ ต่างถูกแยกย้ายไปพบเจอกับเรื่องราวในฝันและทรงจำของตน ยิหวาเจอกับลูกโป่งจดหมาย จุ่นจะริดิด โรงเรียนสอนพิมพ์ดีดและนวนิยายเกี่ยวกับหญิงที่มาคอยคนรักใต้ต้นตะแบก ก่อนจะพบกับฝูงนกฟลามิงโกยืนขาเดียวอยู่ในทะเลสาบน้ำตา ขณะที่อนิลกำลังท่องอยู่ในทรงจำเกี่ยวกับลังไม้หลบภัย หาดทรายร้าง นกหัวตั้งและโคมระย้าดาราจักร ก่อนที่จะพบกันลูกแก้วจักรวาล ซึ่งเป็นทรงจำเดียวเกี่ยวกับแม่ที่ยังคงหลงเหลืออยู่และทรงจำที่พาให้ยิหวากับอนิลได้โคจรมาเจอกันก็คือทรงจำเกี่ยวภาพป่าในวอลเปเปอร์ที่เคยดูร่วมกันต่อเมื่อทั้งสองพากันกระโดดลงไปในปล่องใต้โคมระย้าดาราจักร เมื่อนั้นยิหวากับอนิลจึงสามารถออกมาจากป่าทรงจำดึกดำบรรพ์ได้ แล้วมาหยุดยืนอยู่ที่โรงมหรสพด้านหลังครอบแก้ว ซึ่งเป็นสถานที่ทรงจำที่อนิลเคยมากับแม่ตอนเด็ก ๆ ก่อนที่แม่จะหายไป

 

          การปรากฏตัวของอนิลกับยิหวาในโรงมหรสพแห่งนี้ นำพาให้อนิลได้พบกับแม่ที่หายไปอีกครั้งแม้อนิลจะทำหน้าแม่ไม่ได้ แต่ทั้งสองมีความทรงจำร่วมกัน นั่นคือลูกแก้วจักรวาลเสมือนเป็นสัญญะเชื่อมสายใยให้กลับมาต่อติดกันอีกได้อีกครั้ง ทั้งนี้ เพราะการหายไปของแม่อนิลเกิดจากความจำใจ ซึ่งต่างกับแม่ของยิหวาที่เต็มใจทอดทิ้งลูกสาวให้อยู่เพียงลำพัง แม้จะมีขณะหนึ่งที่ยิหวาได้พบกับแม่ในเมืองกระจก ทว่าแม่กลับแสดงท่าทีประหนึ่งว่าลืมลูกคนนี้ไปเสียแล้ว “แต่ผู้หญิงคนนั้นกลับแค่หยีตาเงยมองวาบแวบ แล้วเดินผ่านไปโดยไม่แม้แต่จะหยุด” (หน้า 217) ก่อนหน้าที่จะออกมาป่าทรงจำในครั้งนั้น ยิหวาเก็บเอาขนนกฟลามิงโกติดมือกลับออกมาด้วย ด้วยเป็นความฝันและทรงจำเดียวที่เธอกับแม่มีร่วมกัน ทั้งนี้ นกฟลามิงโกยังเป็นสัญญะของการมีรักเดียวใจเดียวและความสัตย์ซื่อในรักเหมือนกับยิหวามีแม่เป็นความรักหนึ่งเดียวที่ยังเหลืออยู่ แม้ยิหวาจะไม่ได้เป็นรักเดียวที่แม่ปรารถนาอยากมีเลยก็ตาม “ยิหวาเอามาผูกห้อยไว้กับกิ่งเพื่อเตือนความจำหากแม่จะเผอิญผ่านมา ... สักวัน ว่าเมื่อนานแสนนาน เคยมีนกฟลามิงโกตัวหนึ่งหนีออกมาจากความฝันของลูกที่ถูกลืม” (หน้า 219)ดังนี้ความฝันของยิหวาที่ปรารถนาให้แม่กลับมาอีกครั้ง จึงเป็นเพียงภาพฝันสีจางลางเลือนเหมือนกับภาพฝันของเด็กกำพร้าอีกหลาย ๆ คน แม้คลับคล้ายจะสิ้นหวังแต่ยิหวาก็ยังอยู่ได้ด้วยหวังและถ้อยปลอบประโลม รวมทั้งกลไกการป้องกันตัวและความรักจากบรรดาสมาชิกแห่งสมาคมลับใต้ต้นชงโคแม้โศกเศร้าจะติดตรึง ถึงกระนั้นก็ยังพอมีพื้นที่เล็ก ๆ เหลือไว้สำหรับให้หัวใจดวงน้อยมีรอยยิ้ม เสียงหัวเราะอันเป็นสิ่งแสดงถึงความสุขได้อยู่บ้าง 

 

         'ไม่เป็นไร' หากใครสักคนเผลอปล่อยให้น้ำตาเดินทางขณะร่วมรับรู้เรื่องราวชีวิตของสองเด็กกำพร้า ยิหวาและอนิล สลับกับรอยยิ้มและหัวใจที่อิ่มเอิบด้วยเอ็นดูระคนสงสาร จึงกล่าวว่านวนิยายเล่มนี้ทำหน้าที่สื่อประสบการณ์ทางสุนทรียะได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ไม่ว่าจะเป็นด้านเนื้อหาที่แม้จะเสนอในธีมเรื่องมหัศจรรย์พันลึก แต่ผู้เขียนสามารถถ่ายทอดห้วงรู้สึกของตัวละครเพื่อสะท้อนสภาพปัญหาที่มีอยู่จริงในสังคมออกมาอย่างลึกซึ้งและเข้าถึงแก่นแท้แห่งรู้สึกด้วยภาษาสละสลวย ละเมียดละไม อันเป็นเอกลักษณ์จำเพาะของผู้เขียนและเป็นสิ่งเสริมให้ผัสสะทุกองคาพยพได้ร่วมรู้สึกไปกับสิ่งที่ผู้เขียนต้องการเสนอ จึงควรค่าแก่นักอ่านทุกเพศ ทุกวัย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เพื่อมองเห็นตัวตนและสังคมผ่านวรรณกรรมได้ชัดเจนลุ่มลึกมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่ออ่านจบแล้วจะพบกับความจริงข้อหนึ่งว่า 

 ...ไม่มีความรักใดไม่เจ็บร้าวและ ไม่มีใครเลยในโลกนี้ที่ไม่เคยหัวใจแตกสลาย ...

 

 

รายการอ้างอิง

 

วีระพร นิติประภา. (2563).ทะเลสาบน้ำตา. กรุงเทพมหานครฯ : สำนักพิมพ์ ARTYHOUSE.             

ครูบ้านนอก. (2550). ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์. ค้นเมื่อ 26 กุมภาพันธ์2564,จากhttps://www.kroobannok.com/99

 

 

 

 

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~ 

  

 

“ไม่มีเธออยู่ข้าง โลกนี้ก็กว้างเกิน”

นวนิยายโรแมนติกยุคใหม่ที่ให้มากกว่า 

“ความจรรโลงใจ”

 

 

อภิสรา ชั้วทอง

 

 

 

“ฉันไม่อยากเลือกฝ่ายเลย”

“ถ้าเธอไม่อยู่ฝ่ายหนึ่ง เขาก็จะผลักเธอไปอยู่กับอีกฝ่ายหนึ่งเองแหละ”

“แล้วเธออยู่ข้างไหน”

“ฉันจะอยู่ข้างเธอ”

 

            “ไม่มีเธออยู่ข้าง โลกนี้ก็กว้างเกิน” ของ ปะการัง เป็นนวนิยายโรแมนติกที่ว่าด้วยเรื่องของ ความรัก ความหวัง ชิงชัง การกลั่นแกล้ง และความสัมพันธ์ของตัวละครที่สลับซับซ้อน ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองที่ประเทศกำลังถูกแบ่งแยกดินแดนออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายเหนือการิซิลและฝ่ายใต้โจนะ เมื่อความขัดแย้งทำให้ความสัมพันธ์ล่มสลาย อาดิโกและโยชิดาเลือกเส้นทางเดินกันคนละทาง พวกเขาจึงต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อรอวันกลับมาพบกันอีกครั้งหนึ่ง

 

            หากมองผิวเผินนวนิยายเรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นนวนิยายโรแมนติกแนวเพ้อฝันแต่หากได้ลองอ่านแล้วจะพบว่า “ไม่มีเธออยู่ข้าง โลกนี้ก็กว้างเกิน” ให้อะไรมากกว่าความจรรโลงใจ เพราะเนื้อหาที่สอดแทรกอยู่ในตัวเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้อ่านสามารถมองได้หลายมุมมองไม่เพียงแต่จะได้กลิ่นอายของความรักเท่านั้น แต่ยังได้กลิ่นอายของความขัดแย้งที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลในชีวิตจริงของเรามากนัก ตั้งแต่ความขัดแย้งในระดับครอบครัว  ไปจนถึงความขัดแย้งระดับประเทศ และสิ่งที่น่าสนใจกว่าความรักของตัวละครก็คือ ตัวละครเหล่านี้จัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างไร เพื่อให้ความรักของพวกเขายังคงอยู่โดยไม่มีใครได้รับการสูญเสีย ในประเด็นนี้นวนิยายเรื่อง “ไม่มีเธออยู่ข้าง โลกนี้ก็กว้างเกิน” สามารถช่วยหยิบยื่นความคิดในแง่บวกให้กับผู้อ่านได้เป็นอย่างดี

 

            จุดขัดแย้งหลักของนวนิยายเรื่องนี้คือการดำเนินเรื่องจากความขัดแย้งในระดับประเทศ แต่หากได้อ่านแล้วจะพบว่าความขัดแย้งหนึ่งซึ่งสำคัญไม่ต่างไปจากความขัดแย้งระดับประเทศเลย นั่นคือ ความขัดแย้งในครอบครัว นับได้ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวของชีวิตเรามากที่สุด เรื่องราวความเห็นต่าง ความไม่ลงรอยกันในความสัมพันธ์ของพี่น้อง อย่าง อาดิโกและยูลินซึ่งเป็นพี่น้องคนละแม่กันเรื่องราวของพวกเขาถูกถ่ายทอดผ่านนวนิยายเรื่องนี้ได้ดีเป็นอย่างมาก ความน้อยใจ ความไม่เข้าใจ และการต้องการความรัก ทำให้ตัวละครเหล่านี้เลือกที่จะกลายเป็นศัตรูกัน อาจกล่าวได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแทบทุกครอบครัวและสุดท้ายแล้วความรักที่พึ่งจะรู้สึกได้ในช่วงเวลาที่คาบระหว่างความเป็นและความตายทำให้พวกเขาทั้งสองเห็นหนทางในการยุติความขัดแย้งนี้ลง นวนิยายเล่มนี้จะทำให้เราเห็นมุมความรักที่อยู่ในความขัดแย้งของพี่น้องในแบบที่เราเองอาจเผลอยิ้มหรือร้องไห้ตามไปกับตัวละครได้

 

            ในส่วนของภาษานั้น ความเรียบง่ายในนวนิยาย “ไม่มีเธออยู่ข้าง โลกนี้ก็กว้างเกิน” ถือเป็นอีกจุดเด่นหนึ่งทำให้เราเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ภาษาที่ผู้แต่งใช้จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกได้เหมือนกับว่ากำลังฟังเพื่อนมาเล่าเรื่องและปรับทุกข์ให้ฟัง อย่างตอนที่ทาระเล่าถึงตอนที่ตนได้ไปนั่งคุยกับเมญาที่ทะเลสาบ “แล้วโลกของเราก็อบอุ่น แม้โลกข้างนอกจะแบ่งข้างกัน แต่ผมเชื่อว่า เธอ ฉัน และเจ้าเหมียว เราอยู่ข้างเดียวกัน!” เห็นได้ว่าเป็นการใช้ภาษาธรรมดาทั่วไปที่เราใช้สื่อสารกันในชีวิตจริง แต่เมื่อแปลความหมายของประโยคเหล่านั้นออกมาแล้ว กลับต้องเผลอยิ้มออกมาอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว

 

            การทำให้ผู้อ่านได้มองโลกในแง่ดีมากขึ้นนับได้ว่าอาจเป็นจุดประสงค์อย่างหนึ่งของนวนิยายเรื่องนี้ เพราะนอกจากจะเลือกใช้ภาษาที่ทำให้ผู้อ่านยิ้มตามแล้วยังได้สอดแทรกคำสอนของตัวละครอย่าง “เฮอเส” เข้าไปอยู่ในชุดความคิดของตัวละครหลักอย่าง อาดิโก โยชิดา และทาระ  โดยในเรื่องจะเห็นได้ว่าตัวละครทั้งสามต่างนึกถึงความคิดของ “เฮอเส” เสมอ ในเวลาที่ตนพบเจอปัญหาหรือกำลังจะเผลอทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อย่างตอนที่ทาระเลือกโต้ตอบเพื่อนที่มาแกล้งเขาด้วยการเขวี้ยงแปรงลบกระดานกลับไป เมื่อทาระกลับมาถึงบ้านเฮอเสจึงบอกกับทาระว่า

 

          “เวลามีคนปาก้อนอิฐใส่หลังคาบ้านเรา พ่อตื่นมาตอนเช้า เก็บอิฐเหล่านั้นมาเรียงกองไว้ พอมีมากพอก็เอามาก่อเป็นกระบะปลูกต้นไม้ เมื่อมันเห็นพ่อไม่โกรธ พวกมันเลยเลิกปาก้อนอิฐใส่บ้านเรา”

 

         ความคิดนี้ที่เฮอเสส่งต่อให้กับทาระทำให้ตลอดทั้งเรื่องทาระเลือกที่จะนิ่งเฉยเวลาที่เขาโดนเพื่อนแกล้ง หรืออย่างตอนที่โยชิดากำลังจะเอาหญ้าพันราตรีให้ยูลินกินตอนหลับเพื่อแก้แค้นในสิ่งที่ยูลินเคยทำกับอาดิโกและครอบครัวของตนไว้ โยชิดากลับฉุกคิดถึงคำพูดของเฮอเสที่ว่า

 

        “จำไว้นะลูก ไม่ว่าใครจะทำไม่ดีกับเราแค่ไหน เราต้องไม่ทำแบบนั้นกับเขา ...ถ้าเขาเป็นคนไม่ดี เราก็อย่าเป็นคนไม่ดีเหมือนกับเขา เราต้องไม่เป็นคนแบบนั้น”

 

        การฉุกคิดของโยชิดาแค่ชั่ววูบเดียวนั้นทำให้โยชิดาเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง ตัวละครอาดิโกก็เช่นกัน อาดิโกคอยมาดูแลอนุรักษ์ไข่เต่าที่ชายหาดแทนเฮอเสนับแต่วันที่เฮอเสถูกยิงจนเสียขาข้างหนึ่งไปแต่ในเหตุการณ์ในครั้งนั้นเฮอเสกลับบอกตำรวจว่าจำหน้าคนร้ายไม่ได้ทั้ง ๆ ที่อาดิโกรู้ดีว่าเฮอเสจำได้ 

 

         “เขายังเป็นเด็กหนุ่ม เผื่อเขาจะสำนึกในสิ่งที่ทำ และหันมาทำในสิ่งที่ดีแทน

 

          จากคำพูดของเฮอเสจึงจะเห็นได้ว่าคำสอนของเฮอเสนั้นนับได้ว่าเป็นมุมมองการมองโลกในแง่ดี ซึ่งในบางครั้งคำสอนเหล่านี้ของเฮอเสก็ดีเกินไปจนทำให้ผู้อ่านอย่างเราเกิดความสงสัยและตั้งคำถามว่า ในชีวิตจริงเราสามารถเพิกเฉยกับการถูกกระทำได้มากขนาดนั้นเลยหรือเปล่า? 

 

            หากพูดถึงความโรแมนติกของนวนิยายเรื่องนี้บอกได้เลยว่า ความโรแมนติกนั้นปรากฏให้ผู้อ่านรับรู้ได้ตั้งแต่ฉาก ตัวละคร ยันบทสนทนา ภาพบรรยากาศของนวนิยายเล่มนี้เป็นการจำลองเมืองขึ้นมา ซึ่งเป็นเมืองที่มีทั้งภูเขา ชายหาด ทะเลสาบ อีกทั้งยังให้กลิ่นอายของความเป็นเมืองเก่าแก่ด้วยภาพของสะพานไม้ ร้านขายของที่ระลึกที่มีแต่สินค้า แสดงให้เห็นถึงอดีตของเมืองแห่งนี้ที่เคยเป็นเมืองท่องเที่ยวแต่ตอนนี้ได้ซบเซาลงไปแล้ว ตลอดทั้งเรื่องแสดงให้เห็นถึงบรรยากาศของเมืองที่มีความเงียบและสงบ ได้ยินเสียงนกร้องคลอเบา ๆ อยู่ตลอดเวลา 

 

           ตัวละครก็เช่นกัน อย่างอาดิโก หนุ่มผมยาวที่มีอาชีพเป็นนักวาดภาพอิสระ ชอบวาดภาพตามริมทะเล ส่วนโยชิดา หญิงสาวตัวเล็ก ๆ ที่เป็นพนักงานอยู่ในร้านกาแฟ ตัวทาระเองก็เป็นเด็กมัธยมต้นที่ชอบความสงบ อยู่คนเดียว ทำอะไรคนเดียว จึงจะเห็นได้ว่าบุคลิกของตัวละครทุกตัวล้วนสื่อถึงความเงียบสงบ ลักษณะนิสัยของตัวละครดังกล่าวนี้ได้ให้กลิ่นอายของความโรแมนติกในแบบอ้อมกับผู้อ่านผู้อ่านจะสามารถสัมผัสได้เองเมื่ออ่านนวนิยายเรื่องนี้และทำความรู้จักกับพวกเขาผ่านตัวอักษรไปเรื่อย ๆ

 

         ส่วนบทสนทนาของนวนิยายเรื่องนี้นั้นเรียกได้ว่ามีความโรแมนติกอย่างมาก บทสนทนาของตัวละครที่สื่อออกมาผ่านภาษาที่เขาได้พูดนั้นแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกทั้งหมดของตัวละครได้เป็นอย่างดี คำพูดอาจจะไม่ได้ยาวมาก แต่ในทุกประโยคอ่านแล้วบอกได้เลยว่าต้องมียิ้มออกมาแทนตัวละครที่ได้ฟังแน่ ๆ อย่างในตอนที่อาดิโกติดอยู่ในหลุมดักสัตว์แล้วนั่งเขียนจดหมายถึงโยชิดาให้อารมณ์ของคนที่กำลังโหยหาคนรักได้เป็นอย่างดี

 

           “ผมรู้สึกเหงา อ้างว้าง กลัวความกว้างของโลกมากกว่าความตาย เมื่อไม่มีเธออยู่ข้าง ๆ ผมเหมือนไปทางไหนไม่ถูก มันเป็นความรู้สึกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในใจ”

 

            จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งที่นับได้ว่าเป็นเสน่ห์ของนวนิยายเล่มนี้เลยก็คือ มุมมองการเล่าเรื่อง เพราะนวนิยายเล่มนี้เป็นการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละคร 3 ตัว ได้แก่ ทาระ โยชิดา อาดิโก น่าสนใจตรงที่ผู้อ่านจะได้รู้และเห็นความคิดความเชื่อของตัวละครทั้งสามที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นความสนุกจึงอยู่ที่ผู้อ่าน เพราะผู้อ่านคือผู้ที่รู้ความในใจต่าง ๆ ของทุกตัวละคร ซึ่งตรงกันข้ามตัวละครในเรื่องที่ไม่สามารถรู้ความคิดและความรู้สึกของกันและกันได้เลย ดังนั้นผู้อ่านซึ่งอยู่ในฐานะที่เป็นผู้รู้ทุกอย่างแต่ไม่สามารถบอกความลับของตัวละครที่ตนเองรู้ให้กับตัวละครอื่นได้ จึงทำได้แค่เอาใจช่วยและอ่านต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อลุ้นว่าช่วงเวลาไหนตัวละครจึงจะบอกความรู้สึกและความลับที่ตนเองเก็บเอาไว้  แม้ว่าจะเป็นการเล่าผ่านมุมมองสามมุมก็ตาม แต่ผู้แต่งก็สามารถดำเนินเนื้อเรื่องให้ดำเนินต่อไปได้โดยที่เรื่องนั้นไม่วกวนอยู่ที่เดิม

 

           แม้ทุกองค์ประกอบของเรื่องจะสื่อให้เห็นถึงความรัก ความโรแมนติก แต่เรื่องราวความรัก ความสัมพันธ์ของตัวละคร หากมองให้ลึกลงไปนั้น นวนิยายเรื่องนี้กลับมีมิติที่ลึกและกว้างเกินกว่าเรื่องความรักของคนสองคนจากเดิมนวนิยายโรแมนติกมักจะมีบทบาทในการสร้างความจรรโลงใจเพียงเท่านั้น แต่หากได้อ่านและพิจารณาลึกลงไปจะพบว่านวนิยายโรแมนติกเรื่องนี้อาจกำลังนำเสนอมิติบางอย่างทางการเมืองในรูปแบบแฝงผ่านคำสอนของตัวละครเฮอเส จึงจะเห็นได้จากความขัดแย้งที่ปรากฏในเรื่อง ได้ยุติลงด้วยการที่ตัวละครทุกตัวละทิ้งอุดมการณ์และความแค้นที่มีเพื่อความรัก ตามคำสอนของตัวละครเฮอเสซึ่งเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าการที่เฮอเสมีบทบาทต่อตัวละครอื่น ๆ มากถึงเพียงนี้นั้น แท้จริงแล้วตัวละครเฮอเสอาจเป็นตัวแทนของสิ่งใดสิ่งหนึ่งในการยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนหรือไม่

 

            หากใครกำลังมองหาหนังสือสักเล่มที่มีเนื้อหาชวนให้คิดบวกและเพิ่มมุมมองใหม่ ๆ และสร้างรอยยิ้มให้กับตนเอง “ไม่มีเธออยู่ข้าง โลกนี้ก็กว้างเกิน “ ของ ปะการัง ถือเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ตัวเลือกที่นอกจากจะให้ความรู้สึกที่ดีต่อหัวใจแล้ว นวนิยายเรื่องนี้ยังมีเรื่องราวอีกมิติที่แฝงอยู่ในความโรแมนติกของเรื่องอีกด้วย และหากใครได้ลองอ่านนวนิยายเรื่องนี้แล้ว ดิฉันเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านคงจะเผลอยิ้มไปกับมุมมองความคิดและความสัมพันธ์ของทุกตัวละครที่มีต่อกัน แล้วคงกลับมาตั้งคำถามเช่นเดียวกันนี้ว่า “คำสอนเหล่านั้นของเฮอเส ในชีวิตจริงเราสามารถมองโลกแบบนั้นได้จริง ๆ หรือ หากว่าเรากำลังตกเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำ”  

 

 

 

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~ 

 

 

หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา : 

เพราะหยดน้ำตามิได้หลั่งมา(เพียง)เพื่อเสียใจ

 

 

มัลลิกา กลับสุข

 

 

            หยดน้ำหวานกลั่นด้วยน้ำตา จากอุรุดา โควินท์ นักเขียนสาวควบตำแหน่งแม่ครัวและนักวิ่ง แม้จะมีภาพจำเป็นเจ้าแม่นิยายรักแสนโรแมนติก ทว่างานบัญชีที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ยังคงทำหน้าที่ถ่วงดุลระหว่างความฝันและความเป็นจริง ไม่ล่องลอยและไม่จมหาย หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา จึงไม่ใช่เพียงนิยายรัก หากแต่เป็นพื้นที่เพื่อสลักรอยทรงจำของความรัก ความปรารถนา และคุณค่าของชีวิต

            หยดน้ำหวานและหยาดน้ำตา เหมือนภาพยนตร์ม้วนเก่า เปิดฉากด้วยโต๊ะเขียนหนังสือของนางเอก กล้องแพนลงสู่ปากกา และหน้ากระดาษ…ก่อนจะย้อนภาพวันวานที่ติดอยู่ในทุกห้วงขณะหายใจเข้า-ออก น้ำเสียง แววตาและกลิ่นผิว ยังคงแจ่มชัดและติดตรึงในทุกอณูหัวใจของอุรุดา ที่มีต่อนักเขียนหนุ่มตลอดกาลอย่าง ‘กนกพงศ์ สงสมพันธุ์’ ตั้งแต่แรกพบ แรกรู้สึกและแรกสัมผัส…จวบจนวันสุดท้าย ที่ฝนกระหน่ำสาดและพรากเอาอีกครึ่งของลมหายใจให้ปลิดปลิว

            ความรัก คำธรรมดาเหลือเกิน ทว่าไม่อาจหาสิ่งใดมาเปรียบเทียบ หากมีคำถามเกิดขึ้นว่า “รักเท่าไหร่” คงไม่อาจหยิบยกสิ่งที่ใหญ่โตอย่างช้าง โลก หรือจักรวาลทั้งหลายนั้นเป็นหน่วยเทียบค่าได้ ถามอีกครั้ง “รักเท่าไหร่” คงตอบได้เพียง “รักเท่ารัก” ก็เพียงนั้น เพราะรักยิ่งใหญ่และทรงคุณค่าในตัวเอง ขณะเดียวกัน รักก็แสนเล็กจ้อยและด้อยค่า หากรักอย่างฉาบฉวยและไม่เข้าใจความรักอย่างแท้จริง…แล้วรักอย่างแท้จริงนั้นเป็นอย่างไร?

            ไม่มีใครตอบได้…สักคนก็ไม่มี เพราะในคำถามมีคำตอบอยู่ในนั้น รักแท้จริงก็คือรัก ซึ่งไม่อาจใช้ความรักของคนคู่ใดเป็นบรรทัดฐาน หรือให้คำนิยามอันเป็นสากลแก่คนทั้งโลกได้ ความรักของนักเขียนสองคนที่โลดแล่นผ่านผืนกระดาษภายใต้นามปากกา ‘อุรุดา โควินท์’ ก็เช่นนั้น เมื่อรักไม่ง่ายเลยสักวัน และเพราะเหตุนั้นมันจึงเป็นความรักแม้แต่ในวันที่เปราะบางเพราะความไม่มั่นคงทางอารมณ์ ก็ยังคงเป็นความรัก หรือแม้แต่วันที่เกิดความคิดขึ้นว่า ‘ฉันรักพี่ที่สุดเพราะเหตุนี้ และเกลียดพี่เข้ากระดูกเพราะเหตุเดียวกัน’ (หน้า 165-166) มันก็ยังคงเป็นความรักอยู่เสมอ นั่นจึงเป็นเหตุให้คนสองคน กล้าที่จะแบ่งปันครึ่งชีวิตและส่วนหนึ่งของลมหายใจให้แก่กันได้ เพราะความสัมพันธ์ไม่อาจขุดเค้นเหตุผลหรือคำตอบใด มีเพียงมวลความรู้สึกที่สามารถสั่งซ้ายขวาให้เดินหน้าหรือถอยกลับ

เหตุใดคนจึงยอมทนต่อความยากลำบาก สิโรราบต่อความไม่คุ้นเคยและนิ่งเฉยกับสิ่งที่เกลียด

            เพราะรัก จึงยอม…หลายครั้งเกิดเสียงหัวเราะและสายตาเยาะเย้ยไล่ตามหลังคำตอบนี้ คำตอบที่แสนกล้าหาญและสัตย์จริง ไม่ใช่ความโง่แต่อย่างใด แต่เป็นการตัดสินใจที่เลือกเองแม้จะต้องเจอบทเรียนแสนหนัก เช่นการต้องจับจ้องทุกจังหวะชีวิตของอีกคน เพื่อที่จะได้รู้ ว่าควรอยู่ที่ทางใด จึงจะไม่เข้าไปเฉี่ยวชนหรือกีดขวาง โดยที่อีกฝ่ายไม่สนเลยว่าความเป็นเขาจะเข้าชนหรือขัดจังหวะความเป็นเราอย่างไรบ้าง

หุ่นยนต์-อาจดูคล้ายอย่างนั้น มีแผงควบคุม มีคนสั่งการ แต่ไม่มีหัวใจ แต่คนเรามีหัวใจและเลือดเนื้อ เราจึงไม่ใช่หุ่นยนต์ บางครั้งเราควบคุมชีวิตด้วยสัญชาตญาณ หรือบางครั้งก็สั่งการด้วยอารมณ์ ทั้งรัก ใคร่เป็นโลย์กีวิสัยบนโลกใบนี้อย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้ อย่างที่อุรุดาเคยบอกอยู่เสมอว่า ‘การเขียน ความปรารถนาในเรือนกาย และสายฝน’ คือสามสิ่งที่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับความรักของเธอ

            ความปรารถนา มาพร้อมกับความรักเสมอ จริงอยู่ที่ว่า เมื่อปรารถนาอาจไม่ได้หมายความว่ารัก เพราะความใคร่มิต้องอาศัยเรื่องของหัวใจมาเกี่ยวข้อง ทว่าเมื่อใดที่รักเกิดเต็มหัวใจกลับไม่อาจขาดความปรารถนาไปได้ แต่ชีวิตคู่ของอุรุดาและกนกพงศ์ให้คำจำกัดความว่าความสัมพันธ์ทางกายเกี่ยวโยงกับพลังแห่งความสร้างสรรค์ เพราะอุรุดา กนกพงศ์จึงเชื่อมั่นว่าจะกลับมาเขียนงานได้อีกครั้งเหมือนอย่างที่เคยเขียน ‘แผ่นดินอื่น’ ตลอดนิยายเล่มนี้จึงมีการแทรก ‘บทรัก’ อยู่เสมอ ราวกับว่าเป็นอาหารอีกหนึ่งมื้อที่อดไม่ได้ และเมื่อร่างกายหิวย่อมตอบสนองไปตามธรรมชาติ สำหรับชีวิตคู่อาหารมื้อนี้ไม่เพียงช่วยลดความทรมานทางกาย หากแต่ช่วยปรุงรสให้อาหารทางใจอิ่มอร่อยไปด้วย

            แต่รสสัมผัสนั้นเจือจางด้วยสายฝนเดือนกุมภาพันธ์ เช้าวันที่กนกพงศ์ใช้ชีวิตในวัยสี่สิบปีได้เพียงสี่วัน สายฝนพัดมาและพราก ‘พี่’ ไป หลังม่านน้ำตา…มีดวงตาคู่สวยอย่างหญิงสาว ที่มองโลกด้วยแง่งามแห่งความจริงโลกที่ต้องยอมรับอย่างมนุษย์เดินดินคนหนึ่งว่าทุกอย่างรอบกายคือความเป็นไป หมุนตามทุนนิยมและความเปลี่ยนแปลง แต่เพราะคำพูดที่เคยกระทบใจว่า “ถ้ามีความเปลี่ยนแปลง ชีวิตจะหาหนทางของมันเอง” (หน้า 173) ทำให้อุรุดาเริ่มออกวิ่ง วิ่งโดยไม่สนสถิติและระยะทาง รู้แค่ต้องวิ่ง และไม่ใช่เพื่อก้าวหนีแต่เป็นเพื่อก้าวเผชิญกับสิ่งที่รออยู่ข้างหน้า นั่นคือ…ชีวิต

            หลายคนบอกว่ามีรักจึงมีทุกข์ ก็คงเป็นจริงอยู่ส่วนหนึ่งหากคนที่กล่าวดึงเอาทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของความรัก มีหลายต่อหลายบรรทัด ที่ดอกจัน *กลางใจในฐานะผู้อ่าน…อุรุดา เธอช่างดูทุกข์ยากและลำบากเหลือเกินกับผู้ชายคนนี้ คนที่จับจูงมือ ร้องขอให้มาอยู่ด้วยกัน ทว่าไม่สนใจใยดี ไม่พูด ไม่…แม้กระทั่งมองหน้า

คนที่ไม่มีสถานะมอบให้ ไม่เปิดตัว ไม่บอกรัก คนที่ขุดช่องว่างและสร้างกำแพงระหว่างกันหนาเท่าหนา จนเธอเองก็รู้สึกได้ว่านอกจากบนฟูก ในคลอง หรือบนตัวเขา เธอก็ช่างว่างเปล่าและไร้ตัวตน

            ทุกอย่างที่กล่าวมานั้น เป็นการตัดสิน โดยลืมไปว่า…อุรุดาคืออุรุดา ไม่ใช่เราหรือคนใด เพราะฉะนั้นความรักในนิยามของเราก็ไม่อาจกะเกณฑ์ความรักของอุรุดาได้ หากย้อนกลับไปยังคำถามที่ว่า “รักเท่าไหร่” หากเป็นอุรุดา คงได้คำตอบที่ว่า “รักเท่าพี่” หรือหากถามว่า อุรุดารักกนกพงศ์แค่ไหน คงได้คำตอบว่า “แค่กนกพงศ์” 

            กนกพงศ์…คนที่เอาใจในวันที่ป่วย คนที่ช่วยแบกเป้ในวันที่ขาเจ็บ คนที่เก็บถ้อยคำและรับฟังในวันที่เปราะบาง และคนที่นอนข้าง ๆ เพื่อโอบกอด ชีวิตอาจมีร้อยเหตุผลที่ทำให้ต้องทน แต่ก็มีล้านความรู้สึกที่ทำให้ทนได้ ไม่อาจทราบได้ว่าภายในหัวใจของกนกพงศ์คิดเช่นไร เพราะนี่เป็นหนังสือที่ถ่ายทอดผ่านห้วงความรู้สึกของอุรุดา แต่ในฐานะผู้อ่านกลับได้กลิ่นอายบางอย่างจากการกระทำของกนกพงศ์ เป็นความเกี่ยวโยงกับเพลงหนึ่งเพลง ในท่อนที่ว่า 

없진않지만더많이가져야
사랑도이어갈수있는이세상에서

All of my life
You are all of my life

(PARK WON _ all of my life)

ซึ่งแปลได้ว่า เราต่างไม่พอใจในสิ่งที่ตนมี แต่ในโลกนี้ความรักทำให้เป็นไปได้ ทั้งชีวิตของผม…

            คุณคือทั้งหมดในชีวิตที่ผมมีเป็นเพลงรัก ที่ไม่ได้บอกรัก…แต่ยกให้รัก เป็นทั้งหมดของชีวิต โดยเรื่องราวภาย
ในเพลงเป็นเหตุการณ์ที่ตัวละครต้องต่อสู้กับความกดดัน ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาคนข้างกายไว้ คล้ายกับคู่ของกนกพงศ์และอุรุดา ที่ฝ่ายชายแบกคำว่า ‘นักเขียนรางวัลซีไรต์’ ไว้บนบ่าตลอดเวลา จนหลงลืมไป ว่าทุกวันของชีวิตคือความเปลี่ยนแปลง ไม่มีทางที่จะมี ‘แผ่นดินอื่น’ เล่มสองหรือสาม มีแต่เพียงงานเขียนของ ‘กนกพงศ์’ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่ว่า ล้วนเป็นสิ่งที่ทั้งคู่ต้องเผชิญพร้อม ๆ กัน กนกพงศ์เผชิญกับการเขียนแนวใหม่ อุรุดาก็ต้องเผชิญกับวิถีชีวิตใหม่ ทั้งคู่ล้วนต้องฝ่าฟันและหาตรงกลางระหว่างความไม่คุ้นเคย

            คุณค่าของชีวิตเป็นอีกสิ่งสำคัญ ที่ทำให้อุรุดาอยู่กับชีวิตรักที่ไม่เคยได้ยินคำว่ารัก ไม่ใช่เพราะความมั่นใจในตัวของคนรัก หากแต่เป็นความมั่นใจในตัวของเธอเอง เป็นเพราะเธอรู้ว่าต้องการสิ่งใด ทำไปเพื่ออะไร เป็นเพราะเธอฟังเสียงหัวใจตนเองอย่างถี่ถ้วน แม้เธอจะผ่านชีวิตมามาก แต่ก็ใช่คนที่ผ่านโลกมามากทุกคนจะเข้าใจโลก แต่อุรุดาเข้าใจ…เห็นได้ชัดจากเหตุการณ์ที่คนรักพูดถึงคนรักเก่าและกล่าวชื่นชม แต่อุรุดารับฟังอย่างตั้งใจและเข้าใจ ‘ฉันรับรู้โดยปราศจากความน้อยใจ ฉันเข้าใจเงื่อนไขของเวลา’ (หน้า 229) ทั้งนี้ อุรุดารักได้ เพราะอุรุดารักเป็นและเห็นคุณค่าในตัวเอง และยังเห็นคุณค่าในตัวคนอื่น อย่างเหตุการณ์ที่มีการกล่าวถึงคนรักเก่าของกนกพงศ์ แต่ไม่มีใครเอ่ยชื่อพวกเธอ จึงทำให้อุรุดาพรั่งพรูความคิดที่แสดงให้เห็นว่า คนทุกคนมีศักดิ์ศรี มีตัวตนและมีคุณค่าในตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยฐานะหรือตำแหน่งของใครคนใดเพื่อมีตัวตน เช่นที่ว่า “แฟนกนกพงศ์ เหมือนตำแหน่งศูนย์หน้าทีมฟุตบอลหรือคะ ไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากไหน ทำงานอะไร ก็อยู่ตำแหน่งเดียวกันเหรอ พูว่าไม่ใช่นะ มันเป็นสถานภาพซึ่งมาทีหลังความสัมพันธ์ พูจะมีความสัมพันธ์กับพวกพี่ยังไงคะ ถ้าพี่เห็นพูเป็นแค่แฟนกนกพงศ์” (หน้า 185) 

            ตำแหน่งและที่ทางของทุกคนบนโลกไม่เหมือนกัน ต่อให้ศรัทธาในสิ่งใดอย่างแรงกล้า ก็ไม่อาจจะยึดมาเป็นหลักทั้งหมดในทางเดินได้ เช่นเหตุการณ์ที่เล่าย้อนไปยังการเดินเขาครั้งแรกของอุรุดา แม้จะเชื่อมั่นในตัวคนรัก ทว่าจังหวะชีวิตของแต่ละคนย่อมแตกต่าง

            พี่เดินเร็วมาก พี่ไปไกลจนฉันจำก้อนหินที่พี่เหยียบไม่ได้ บ่อยครั้งพี่ต้องหยุดรอ แต่ฉันไม่ทันอยู่ดี ผ่านครึ่งชั่วโมงฉันก็รู้ว่าควรมองหาและเลือกก้อนหินเอง…เช่นเดียวกับที่อื่นบนโลก ฉันต้องหาตำแหน่งวางเท้าที่เหมาะเจาะกับก้าวย่าง, เหมาะสมกับตัวเอง

         ฉันรักพี่ แต่ไม่อาจย่ำตามรอยพี่ (หน้า 242)

งานเขียนก็เช่นกัน แม้จะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้อุรุดาศรัทธาและตกหลุมรักกนกพงศ์ แต่ก็ใช่ว่า จะสามารถเหมารวมหรือเรียกร้องให้ใครร่วมศรัทธาและเชื่อมั่นในสิ่งเดียวกันได้นั่นเป็นเพราะ ‘ฉันรู้ดี…วรรณกรรมกระทำได้ก็กับคนที่อ่านมันเท่านั้น และไม่ใช่ความผิดด้วย หากไม่อ่าน หรือไม่เขียน’ (หน้า 276)

ในห้วงแห่งความอาวรณ์ หยดน้ำตาจึงไม่ได้ไหลเพียงเพราะความเศร้า ทว่าหยดนั้น กลั่นจากความทรงจำ แง่งาม และคุณค่า เพื่อเปลือยเปลือกอีกด้านแห่งความรักของคนอีกคู่ ซึ่งอาจคล้ายคลึงหรือแตกต่าง อาจหอมหวานหรือขื่นขม ทว่าก็คือรสชาติของความรักทั้งสิ้น หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา จึงไม่ใช่เพียงนิยายรัก หากแต่เป็นพื้นที่เพื่อสลักรอยทรงจำของความรัก ความปรารถนา และคุณค่าของชีวิต   

 

 

 

 ~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

 

อีกไม่นานเราจะสูญหาย 

เมื่อโลกถูกครอบงำด้วยความวิปริต

 

วาทินี  นพกิจ

 

 

            กาลเวลาย่อมเดินต่อไปเรื่อย ๆ และมักมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงเกิดเหตุการณ์หลาย ๆ  อย่างที่สร้างเรื่องราวให้กับชีวิตเหตุการณ์เหล่านี้อาจเป็นความแปรปรวนที่ก่อเกิดโดยไม่คาดคิดและอาจนำมาซึ่งความสูญสลาย โดยเฉพาะในยุคสมัยปัจจุบันที่โลกของเราได้พัฒนาขึ้นไปมาก แต่สภาวะจิตใจและความเป็นตัวตนของมนุษย์ในสังคมกลับเสื่อมถอยลงและแปรปรวนไม่แพ้กัน ซึ่งผู้อ่านจะร่วมกันค้นหาใน “อีกไม่นานเราจะสูญหาย”

         “อีกไม่นานเราจะสูญหาย” นวนิยายที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ 2561 (Shortlist S.E.A. Write Award 2018) ผลงานของ อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ นักเขียนรุ่นใหม่ที่มีวิธีการเล่าเรื่องด้วยภาษาที่เรียบง่ายแต่แพรวพราวด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องที่ผสมผสานระหว่างแนวการเขียนสัจนิยมมหัศจรรย์และแนววิทยาศาสตร์ ที่จะช่วยทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเรื่องราวในนวนิยายนั้นไม่ได้ดูเกินจริงจนเกินไป เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในสังคม และเนื่องจากนวนิยายเรื่องนี้จะมีการนำเสนอเกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเภท ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกหดหู่ไปกับตัวละคร แต่เมื่อมีเหตุการณ์มหัศจรรย์เกิดขึ้นจึงเป็นเหมือนการช่วยดึงอารมณ์ของผู้อ่านให้รู้สึกตื่นเต้นระทึกใจไปกับเหตุการณ์ที่เกิดนั่นก็คือ การเกิด “แบล็คโฮลสกาย” (Black Hole Skyหรือ BHL) แต่แบล็คโฮลสกายนี้ก็ส่งผลต่อชีวิตและความรู้สึกของตัวละครเช่นเดียวกันโดยผู้เขียนได้เล่าเรื่องผ่านตัวละคร 3 ตัวละคร คือ ชินตา ซึ่งเป็นตัวละครหลักและเรื่องราวส่วนใหญ่จะเล่าผ่านมุมมองของชินตา โช น้องชายของชินตา และพ่อของชินตา  

            เหตุการณ์ที่เล่าผ่านตัวละครนี้ ล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ที่ตัวละครต้องประสบพบเจอ และเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความแปรปรวน บิดเบี้ยว ไม่จะเป็นความแปรปรวนทางธรรมชาติ ความบิดเบี้ยวของสังคม และความบิดเบี้ยวแปรปรวนของจิตใจมนุษย์ที่สอดแทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง โดยจะเห็นจากเหตุการณ์ในวัยเด็กของชินตาที่บังเอิญได้ไปเจอเด็กชายข้างงบ้านทำการมาตุฆาตแม่ตนเอง และขู่ให้ชินตาทานเนื้อแม่ของตน ชินตาจำยอมทำตามคำขู่นั้น เพราะกลัวจะถูกฆ่า เวลาผ่านไป 20 ปี เด็กชายคนนั้นหรือจอมได้กลับมาหาชินตาอีกครั้งพร้อมคำชวนให้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการมาตุฆาตเมื่อ 20 ปีก่อน หนังสือที่ว่านั้นได้ยอดขายถล่มทลายถึงหนึ่งล้านเล่ม และยังเกิดกระแสคู่จิ้นกินเนื้อคนขึ้น ประเด็นนี้ทำให้เห็นถึงความบิดเบี้ยวของสังคมที่ทำให้การอาชญากรรมเป็นเรื่องโรแมนติก ไม่ได้มองถึงปัญหาหลักและตระหนักถึงสิ่งที่เกิด ว่าเป็นเพราะเหตุใดเด็กชายคนหนึ่งถึงกระทำมาตุฆาตแม่ตนเอง และร่วมกันเรียนรู้ป้องกันไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวใดอีก รวมถึงเรื่องที่การลืมคำนึงถึงสภาพจิตใจของทั้งจอมและชินตา ทุกคนลืมไปว่าชินตาก็เป็นเหยื่อของเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ที่ต้องมารับรู้เรื่องที่โหดร้ายและยังถูกบังคับขู่ฆ่าให้ทานเนื้อคน การนำเรื่องนี้มากล่าวถึงอีกครั้งเป็นเหมือนการไปสะกิดความทรงจำที่ฝังใจให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง “...ฉันจึงเดินทางกลับมาหาความทรงจำซึ่งนอนนิ่งในหลุมศพที่ถูกลืมไปแล้ว ฉันรู้สึกเหงาเศร้าอย่างแปลกประหลาดเมื่อนึกถึงเด็กร่างจ้อยด้วยประสบการณ์ย่ำไปในทุ่งนาสีซางซีด หล่อนช่างไร้เดียงสาน่าสงสาร ยินยอมต่อเนื้อชิ้นนั้นโดยไร้ถ้อยคำโต้แย้ง” (หน้า 39) ส่วนจอมเองก็ถือเป็นเหยื่อจากการถูกครอบครัว (แม่) ทำร้ายร่างกายจนทนไม่ไหวและฆ่าแม่ตนเอง ซึ่งปัญหานี้ยังพบเห็นได้ในสังคมที่เด็กต้องถูกครอบครัวทำร้าย กดดัน จนกลายเป็นเด็กเก็บกดและกระทำสิ่งที่ร้ายแรงออกมา นอกจากนี้ผู้เขียนยังกล่าวเสียดสีเกี่ยวกับเรื่องแม่ของจอมเอาไว้ว่า

            “เมื่อไรไม่รู้ที่จอมไม่เป็นตราบาปของสังคมอีกต่อไป เขาเปิดแฟนเพจของตัวเอง เสียงก่นด่าถูกแทนที่ด้วยมุขล้อเลียน ผู้คนเริ่มเบี่ยงประเด็น มาตุฆาตไม่ใช่จุดขายอีกต่อไปเพราะจอมเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวโดยใช้ทุนจากการขายหนังสือ ค่าตัวเวลาไปออกสื่อต่าง ๆ ผู้คนพากันไปกินจนเกิดกระแสไวรัล ...ทุกคนดูสนุกกับมัน ยิ้มแย้ม เบิกบาน หัวเราะ เนื้อแม่ของจอมจึงพลันหอมหวาน รสชาติอร่อย ช่างเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตอันแสนคุ้มค่าของเด็กชายคนนั้น” (หน้า 42)        

            จากข้อความนี้สามารถสะท้อนสังคมในปัจจุบันได้เป็นอย่างดีที่มักจะชอบ Romanticize สิ่งต่าง ๆ จนกลายเป็นการลดทอนปัญหาและความรุนแรงของสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ทันคิด และยังชอบจับคู่จิ้นโดยไม่ได้คำนึงถึงศีลธรรมหรือสิ่งที่ถูกที่ควร มองข้ามความถูกต้องและไปให้ความสนใจในสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ซึ่งเมื่อได้อ่านแล้วทำให้ผู้วิจารณ์ได้พลันนึกถึงข่าวที่เป็นกระแสอย่างมากในปี 63 ที่ผ่านมา คือ กรณีข่าวของเด็กหญิงคนหนึ่งที่หายตัวไปและเสียชีวิต สันนิษฐานว่าถูกฆาตกรรม ซึ่งหนึ่งในผู้ต้องสงสัยคือลุงของผู้ตาย แต่นานวันเข้าประเด็นอาชกรรมกลับถูกเบี่ยงประเด็นไป ผู้ต้องสงสัยที่ว่ากลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง มีแฟนคลับ มีเพลงเป็นของตัวเอง ได้รับรายได้มากมาย รวมถึงหน้าตาทางสังคมด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจได้เนื่องจากบุคคลที่กำลังถูกยกย่องเชิดชูอยู่นั้นเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมหลานสาวตน กลายเป็นว่าการเสียชีวิตของเด็กหญิงคนนั้นถูกลบเลือนไปและแทนที่ด้วยความสุขและผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งแทนเหมือนกับจอมและคนอื่น ๆ ในเรื่องนี้ มองเรื่องอาชกรรมเป็นเรื่องประหลาดที่น่าให้ความสนใจและนำมาเป็นจุดขายทางการตลาดโดยไม่ได้คำนึงถึงศีลธรรมใด ๆ 

            อีกหนึ่งความวิปริต คือ ความวิปริตของธรรมชาติ นั่นก็คือ การเกิด “แบล็คโฮลสกาย” (Black Hole Sky หรือ BHL) หรือหลุมดำขนาดใหญ่ขึ้นเหนือท้องฟ้าประเทศไทยอย่างไม่ทราบสาเหตุ การเกิด BLH นี้เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์เป็นอย่างมากทำให้เกิดความกังวลใจ และดำเนินชีวิตได้ลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะในเวลาต่อมาที่ปรากฏการณ์ BHLนี้รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น และความแปรปรวนของธรรมชาตินี้ นอกจากจะเป็นจุดเปลี่ยนโลกแล้วยังเป็นจุดเปลี่ยนของตัวละครที่ทำให้เนื้อเรื่องดำดิ่งลงเรื่อย ๆ อีกด้วย เมื่อชินตาต้องเดินทางไปศึกษาดูงานที่สิงคโปร์เป็นเวลา 1 อาทิตย์ แต่โชคชะตากลับเล่นตลกกับเธอ BHL ที่ในตอนแรกครอบคลุมเพียงประเทศไทยได้แผ่ขยายออกไปทั่วโลกจนทำให้สายการบินต่าง ๆ ต้องงดเว้นเที่ยวบิน ชินตาต้องติดอยู่ที่สิงคโปร์นานถึง 2 ปีโดยไม่คาดคิดและไม่ได้มีการเตรียมตัวใด ๆ ทั่วโลกเกิดความขาดแคลน เนื่องจากไม่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับต่างประเทศได้ ทำให้มีทรัพยากรจำกัด ผู้คนตกงานมากขึ้น อัตราการฆ่าตัวตายก็สูงขึ้นด้วย ทุกสิ่งบนโลกต้องหยุดชะงักลง แต่หลังจากวันที่ทุกคนเชื่อว่าคงเป็นวันสิ้นโลก หลุมดำทั้งบนท้องฟ้าและในแม่น้ำเกิดปริแตก ผู้คนหลบตายกันจ้าละหวั่น โลกก็กลับมาเป็นปกติเหมือนไม่อะไรเกิดขึ้น ชินตาถูกส่งตัวกลับประเทศไทย แต่หลังจากนั้นเกิดการระบาดของเชื้อไวรัส LF-85 ที่มาจากดาวอังคาร มนุษย์ต้องกลับมาใช้ชีวิตด้วยความหวาดระแวงอีกครั้ง ซึ่งหากพิจารณาดูแล้วแปรปรวนทางธรรมชาตินี้คล้ายกับสถานการณ์ระบาดของดรค Covid-19 ในปัจจุบันของเราเช่นเดียวกัน เพราะโรคนี้ก็ทำให้วิถีชีวิตของมนุษย์ทั่วโลกต้องเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนใช้ชีวิตด้วยความหวดระแวงมากขึ้น การคมนาคมระหว่างประเทศก็ถูกปิดกั้นในบางช่วงเวลา หรือแม้กระทั่งการเดินทางในประเทศเองยังเป็นเรื่องยากมากขึ้น เพราะอาจนำมาสู่การแพร่เชื้อให้กันได้ เศรษฐกิจตกต่ำ หลายสิ่งอยากหยุดชะงัก คนตกงานเยอะมากขึ้น การฆ่าตัวตายก็มีมากขึ้นเหมือนกับในเรื่องเช่นกัน

            ปรากฏการณ์หลุมดำที่เกิดขึ้นอาจเทียบได้กับความดำมืดและสับสนปรวนแปรของจิตใจมนุษย์ ความวิปริตทางความคิด จิตใจ อารมณ์และความต้องการที่พร้อมจะกลืนกินตัวตนของมนุษย์ ซึ่งตัวละครในเรื่องอีกไม่นานเราจะสูญหายนี้ สามารถนำเสนอถึงความแปรปรวนของจิตใจได้เป็นอย่างดี โดยผู้เขียนได้นำเสนอถึงโรคจิตเภทของคนในสังคม ซึ่งเป็นโรคที่ใกล้ตัวคนในสังคมในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก และผู้เขียนยังแสดงทรรศนะเกี่ยวกับครอบครัวที่มีผู้ป่วยจิตเภทอยู่ อย่างครอบครัวของชินตา แม่ของเธอป่วยเป็นจิตเภท มักเกิดอาการประสาทหลอน มักได้ยินเสียงและเห็นภาพต่าง ๆ ไปเองว่าตนจะถูกลูกฆ่า อาการป่วยของแม่นำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของครอบครัว เมื่อโช น้องชายของชินตาผู้ที่อยู่ดูแลแม่ตลอดนับตั้งแต่ป่วยเกิดความทนไม่ไหวกับสิ่งที่ต้องเจอ โชเคยเป็นคนที่เข้าสังคม มีงานประจำทำ และมีแฟนสาวที่รักกันดี แต่เมื่อแม่ป่วยและต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้โชต้องลาออกจากงานประจำ ห่างเหินกับแฟนสาวจนเลิกกัน และเริ่มถูกความวิปริตนั้นครอบคลุมตนเองมากขึ้นเรื่อย ๆ จนโชกลายเป็นโรคซึมเศร้าเสียเองและในคืนวันหนึ่งที่เป็นดั่งเช่นทุกคืน แม่ตื่นขึ้นมาอาละวาดว่าจะถูกโชแทงตาย จนโชทนไม่ไหวเดินไปหยิบมีดมาแทงตนเองต่อหน้าแม่และชินตา“คืนนั้น แม่รัวกำปั้นบนบานประตูห้องนอน แหกปากเรียกผมกับชิน และตะโกนด่าทอผมด้วยถ้อยคำหยาบคาย เป็นผมต่างหากที่ทนมานานแล้ว” (หน้า 73)

         จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เอง กลายเป็นสิ่งที่ค่อย ๆ กลืนกินตัวตนของชินตา ความหลังวัยเด็กที่ฝังใจ น้องชายที่เกิดอาการซึมเศร้าและฆ่าตัวตายเนื่องมาจากแม่ที่เป็นจิตเภทอีกที ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกผิดในใจชินตาที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้ช่วยน้องดูแลแม่ และเมื่อเธอได้มาดูแลแม่ต่อ เธอก็เริ่มเข้าใจถึงสิ่งที่น้องชายต้องเจอ ผนวกกับความวิปริตทางธรรมชาติที่ทำให้ดำเนินชีวิตได้ยากลำบาก และยังต้องไปพลัดหลงอยู่ในแดนไกลนานถึง 2 ปี ซึ่งในระหว่างนั้นความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับแฟนหนุ่มก็เปลี่ยนไป หนำซ้ำแม่ของเธอยังเสียชีวิตในระหว่างนั้นโดยที่เธอไม่สามารถกลับไปทำพิธีศพให้กับแม่ได้สิ่งเหล่านี้เป็นดั่งความวิปริตที่ค่อย ๆ ละลายและหลอมรวมตัวตนชินตาให้กลายเป็นอีกคนหนึ่งที่ด้านชาต่อทุกสิ่ง “ฉันต้องปรับทัศนคติใหม่แทบทั้งหมด เปลี่ยนวิธีการคิดเกี่ยวกับความสุขและความทุกข์ ละทิ้งตัวตนเก่าให้ตายไปละสวมวิญญาณแปลกหน้าเข้ามาแทน” (หน้า 140) 

         โลกที่ถูกครอบงำด้วยความวิปริตนี้จึงไม่ได้หมายถึงโลกที่เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงโลกที่เป็น “ชีวิตจิตใจ” ของมนุษย์ เมื่อทุกสิ่งรอบตัวเกิดความผิดแผกไปจากปกติ แต่ความวิปริตเหล่านี้กลับเป็นสิ่งปกติที่พบได้ในสังคม ความบิดเบี้ยวเหล่านี้จึงได้ส่งผลต่อจิตใต้สำนึกของมนุษย์ จนวันหนึ่งได้กลายเป็นหลุมดำครอบครอบคลุมจิตใจและพร้อมที่จะกลืนกินทุกสิ่งไม่เว้นแม้กระทั่งตัวตนของตนเอง

 

 

 

 ~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

 

ทะเลสาบน้ำตา : วูบไหวในท่ามกลางสรรพสิ่งที่ค่อย ๆ เลือนราง

ในโลกกึ่งความทรงจำ กึ่งความฝัน และกึ่งความจริง

 

 

กีรติกานต์ ปริทารัมย์  

 

 

         บางความว่างเปล่า มีบางชีวิตที่วูบไหว บางความมืดมิด มีบางแสงไสวที่สว่าง บางความพร่าเลือน มีบางทรงจำที่ซ่อนเร้นในทรงจำ ท่ามกลางสังคมที่รายล้อมด้วยสรรพสิ่งแปลกใหม่ ความทรงจำเก่า ๆ ถูกแทนที่ด้วยความว่างเปล่า “ทะเลสาบน้ำตา” นวนิยายที่มีผู้เล่าทำหน้าที่เล่าเรื่องราวผ่านดวงตาของเด็กหญิงสิบสองขวบและเด็กชายสิบสามขวบอย่างยิหวาและอนิล เรื่องราวที่ดูกึ่งความจริง กึ่งความฝัน กึ่งความทรงจำซ้อนทับกันจนพร่าเลือน ซึ่งท่ามกลางความพร่าเลือนนั้น ความทรงจำอันโศกเศร้า ของเด็กทั้งสองกลับแจ่มชัดกว่าทุกสรรพสิ่ง

            ทะเลสาบน้ำตา ของ วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์สองสมัย ผู้เขียนนวนิยายมายาคติอย่าง ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต และความพร่าเลือนของประวัติศาสตร์อย่าง พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ นวนิยายทั้งสามเรื่องของวีรพร มีลักษณะร่วมกันอย่างเด่นชัดคือสำนวนภาษาที่สวยงามละเมียดละไม แต่ทะเลสาบน้ำตาจะอ่านง่ายกว่าเรื่องอื่น ๆ เพราะวีรพรต้องการให้เยาวชนเข้าถึงได้ง่าย ตอนข้าพเจ้าทราบว่าวีรพรเขียนนวนิยายเรื่องนี้ให้เป็นวรรณกรรมเยาวชนสำหรับเด็กอายุตั้งแต่สิบสามปีขึ้นไป ข้าพเจ้ามีความคิดว่า นวนิยายเรื่องนี้คงเป็นวรรณกรรมเยาวชนสำหรับเด็กที่เศร้าที่สุดในโลก

            หากใครเคยอ่านผลงานของวีรพร จะทราบดีว่านักเขียนผู้นี้เชี่ยวชาญการเขียนเรื่องราวได้สมบูรณ์ด้วยความโศกเศร้า ข้าพเจ้าเคยอ่านเรื่องไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ในตอนนั้นด้วยประสบการณ์การอ่านของข้าพเจ้าที่ไม่มากพอ ทำให้ไม่ถูกจริตกับสำนวนที่เข้าถึงยาก แต่ในความยากของสำนวนนั้นข้าพเจ้ากลับได้รับรสความเศร้าของตัวละครจนยากจะลืมได้ แต่กับเรื่องทะเลสาบน้ำตา ข้าพเจ้ากลับถูกจริตกับสำนวนภาษาที่ละเมียดละไมของวีรพรจนต้องอ่านซ้ำเป็นครั้งที่สอง อ่านรอบแรกข้าพเจ้าสัมผัสได้เพียงความเศร้าของตัวละคร อ่านในรอบที่สองสิ่งที่เพิ่มเติมจากความเศร้าคือมุมมองในการมองโลกของข้าพเจ้าละเอียดมากขึ้น มองเห็นชีวิตเล็ก ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยความเดียวดาย

            นวนิยายเรื่องนี้มีแง่งามทั้งด้านภาษาและด้านสะท้อนสังคม วีรพรให้ความสำคัญกับการมีอยู่ของชีวิตเล็ก ๆ ในสังคมที่ผู้คนขับเคลื่อนด้วยการโหยหาแง่งามของชีวิต ผู้คนเหล่านั้นมักละเลยความรู้สึกของชีวิตเล็ก ๆ ใกล้ตัวเพียงเพราะเชื่อว่าเส้นทางข้างหน้ามีสิ่งสวยงามรออยู่ ข้าพเจ้าจึงจะถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กสองคนที่ข้าพเจ้ามองว่าเป็นเหยื่อของสังคม พอสังเขป

            ยิหวาและอนิล สองเด็กภาพลักษณ์ภายนอกกึ่งหญิงกึ่งชายที่มีความเดียวดายเป็นสิ่งขับเคลื่อนชีวิตให้พวกเขาได้พบกัน มิตรภาพระหว่างพวกเขาก่อเกิดจากความรู้สึกเดียวกัน ‘การขาดความรักจากครอบครัว’ เป็นสิ่งที่เด็กวัยเพียงสิบกว่า ๆ ต้องเผชิญเพียงลำพัง 

            ยิหวา เด็กหญิงผมสีชมพูผู้ถูกแม่ทอดทิ้งไว้ที่บ้านบนตึกพิลึกพิลั่นเพื่อออกตามหาความรักหลังจากที่พ่อกลายเป็นต้นไทร ยิหวาเป็นเด็กที่มีบางมุมเกินวัยด้วยมักถูกแม่ละเลยจึงต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวเองเด็กที่รอคอยการกลับมาของแม่ซึ่งทิ้งไว้เพียงความทรงจำแสนเศร้าและจดหมายเล็ก ๆ “รออยู่นี่นะหวา อย่าไปไหนทั้งนั้น ฉันจะไปตามหาความรัก...เดี๋ยวมา” (หน้า 33) เมื่ออ่านจดหมายยิหวารู้ได้ทันทีว่าการจากไปของแม่ครั้งนี้จะเป็นการจากไปอย่างไม่หวนคืน ความทรงจำเกี่ยวกับแม่ค่อย ๆ เลือนรางไปพร้อมกับความยาวนานของกาลเวลา มันนานพอที่จะทำให้แม่เดินผ่านยิหวาไปโดยไม่ฉงนใจถึงการมีอยู่ของยิหวาคนแปลกหน้าที่แม่ยัดเยียดให้ทำให้ยิหวารู้ว่าตนไม่เคยลืมแม่ได้ ความทรงจำยังคงแจ่มชัดเมื่อแม่ปรากฏอยู่ตรงหน้า แต่ยิหวาไม่เคยโกรธแม่เลย เพราะคิดว่าแม่ก็มีเหตุผลของแม่ ตนเพียงหวังให้แม่พบกับความรักที่ตามหา แม้ตนจะกลายเป็นลูกที่ถูกลืมก็ตาม

            อนิล เด็กชายผมเผ้ารุงรังที่ถูกพ่อหมางเมิน แม่ของอนิลถูกพ่อไล่ออกจากบ้านโดยไม่มีโอกาสได้ล่ำลากันความโหยหาการมีอยู่ของแม่กลายเป็นสิ่งที่อนิลทำเป็นกิจวัตรเมื่อพ่อแต่งงานใหม่ พ่อส่งอนิลไปอยู่กับป้าที่มีลูกวัยใกล้เคียงกับอนิล อนิลกลายเป็นตัวตลกของบ้าน ถูกกลั่นแกล้งจนบางครั้งต้องแกล้งยิ้ม แกล้งสนุกกับทุกสิ่ง ในชีวิตเดียวดายอนิลมีกล่องไม้ในทะเลสาบเป็นที่หลบซ่อน กระทั่งป้าทนต่อการเลี้ยงเด็กหลายคนไม่ไหว จึงส่งอนิลคืนให้พ่อ บ้านที่เคยเป็นบ้านของอนิล เวลานี้ไม่เหลือแม้แต่ร่องรอยของแม่ให้เห็น ความทรงจำเกี่ยวกับแม่ค่อย ๆ พร่าเลือน อนิลพยายามรื้อฟื้นความทรงจำกระทั่งต้องส่องกระจกแล้วจินตนาการว่าภาพตรงหน้าคือแม่การมีอยู่ของอนิลคือสิ่งที่ดูเหมือนว่าพ่อจะละเลย การเรียกลูกว่า “นี่” แทนการเรียกชื่อ ทำให้อดิลตัดสินใจออกจากบ้านมาเร่ร่อน จนได้พบกับยิหวา และกลายเป็นเพื่อนรักกัน ยิหวาพาอนิลไปรู้จักกับชาวสมาคมลับแห่งต้นชงโค ประกอบด้วยคุณยายไลลา ห่านปุยฝ้าย และแมวโบ๋เบ๋

           เด็กทั้งสองร่วมกันเดินทางไปยังเมืองกระจกและป่าดึกดำบรรพ์ในครอบแก้ว สถานที่ที่นำพาให้ทั้งคู่พบกับความฝันและความทรงจำที่ยากจะปะติดปะต่อสถานที่และเวลาได้ ความทรงจำที่เคยพร่าเลือนซ้อนทับกันจนกลายเป็นความแจ่มชัด ความโศกเศร้าคือความรู้สึกที่เด่นชัดที่สุดในกึ่งความจริง กึ่งความฝัน และกึ่งความทรงจำที่แล่นผ่านเข้ามาให้พวกเขารู้สึกแตกสลาย น้ำตาที่ไหลออกมาหนแล้วหนเล่าคือร่องรอยของความทรงจำที่พวกเขาเคยพบเจอ ความโศกเศร้าที่สุดของชีวิตไม่ใช่การถูกทอดทิ้ง แต่เป็นความกลัวการหายไปของความทรงจำทั้งแสนสุขและแสนเศร้าของตนและแม่ ป่าดึกดำบรรพ์ในครอบแก้วเป็นสถานที่ที่วีรพรอาจจงใจใช้เพื่อขยี้อารมณ์ของตัวละครเอกทั้งสองให้เศร้าถึงขีดสุด และเพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ในสังคมที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้า ยังมีสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่ต้องพยายามก้าวออกจากวังวนของความโศกเศร้าที่เกิดจากการกระทำของคนที่ขึ้นชื่อว่าพ่อแม่

            จากเรื่องย่อ ทะเลสาบน้ำตา ข้างต้น การตั้งชื่อเรื่องนับว่าสอดรับกับเนื้อหา“น้ำตา” สื่อถึงอารมณ์เศร้าที่เด่นชัดที่สุดของเนื้อเรื่อง “ทะเลสาบ” อาจเป็นความเปรียบของน้ำตาที่เหือดแห้งหรือไหลพราก เหมือนการคาดเดาชีวิตที่เปี่ยมด้วยน้ำตาของตัวละครว่าในท้ายสุดน้ำตาจะสิ้นสุดลงที่ใด จะเหือดแห้งหรือจะไหลพรากจนทะเลสาบกลายเป็นทะเลสาบน้ำตา

            ทะเลสาบน้ำตา วีรพรใช้กลวิธีการเล่าเรื่องในลักษณะของนิทานมากกว่าจะเป็นนวนิยาย จะเห็นได้จากบทสนทนาที่ไม่แยกออกจากคำบรรยาย แต่ในด้านโครงสร้างของเรื่องก็มีลักษณะแบบนวนิยาย มีการเล่าเรื่องเป็นลำดับ ผูกโยงให้ตัวละครหลักสองตัวได้พบกันผ่านประสบการณ์ร่วมคือปมปัญหาเรื่องครอบครัว นอกจากนี้‘ผู้เล่าเรื่อง’ มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดลักษณะและอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครให้ผู้อ่านรับรู้เรื่องราว อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของตัวละครได้อย่างแจ่มชัด

           โครงสร้างของเรื่องคือชะตากรรมของยิหวากับอนิล ซึ่งความทรงจำที่แหลกละเอียดและร้าวรานมันนำพาให้พวกเขาได้พานพบ และจากลากันอีกครั้ง โครงสร้างของนวนิยายเรื่องนี้เปรียบเสมือนการดึงเอาความทรงจำที่ยุ่งเหยิงและซับซ้อนของตัวละครออกมาเล่าเป็นฉาก โดยนำเสนอให้เห็นความแตกสลายของตัวละครในลักษณะกึ่งความฝัน กึ่งความทรงจำ และกึ่งความจริง

           จะสังเหตได้ว่า ข้าพเจ้าพยายามเน้นคำว่า “กึ่ง”เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ทุกเรื่องราวในทะเลสาบน้ำตา วีรพรถ่ายทอดออกมาในลักษณะที่กึ่ง ๆ กลาง ๆ เพื่อเน้นย้ำให้เห็นชีวิตของยิหวาและอนิลว่า ในขณะที่ทุกสรรพสิ่งค่อย ๆ เปลี่ยนและพร่าเลือนไปจากความทรงจำชีวิตของพวกเขากลับไม่สามารถเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ยังคงค้างเติ่งกับความแตกสลายไม่ไปไหน

            “ถ้าฉันไม่มีแก...” ถ้อยคำบาดลึกจากปากแม่ กล่าวซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ ตอนหงุดหงิด ตอนเศร้า โมโห อกหักข้าพเจ้าเกิดความสงสัยต่อความสัมพันธ์ของสองครอบครัวในทะเลสาบน้ำตา การกำเนิดและมีชีวิตอยู่ของบุคคลหนึ่งเป็นสิ่งบาปมหันต์หรือ จึงผลักไสให้มีชีวิตอย่างเดียวดายในผืนแผ่นดินกว้าง วีรพรตอบข้อสงสัยของข้าพเจ้าด้วยการนำเรื่องราวที่พบเห็นได้ในชีวิตจริงมาสะท้อนให้เห็นว่า บ้านไม่ได้หมายถึงครอบครัวเสมอไป ความสัมพันธ์ทุกความสัมพันธ์ไม่มีมาตรฐานมาขีดเส้นทุกคนต่างมีเหตุผลในการกระทำของตนเอง เช่นเดียวกับแม่ของยิหวายิหวาเชื่อว่าทุกการกระทำของแม่มีเหตุผลเสมอ จึงไม่พยายามทำความเข้าใจให้ตนเองต้องโศกเศร้าไปมากกว่าที่เป็นอยู่ 

            “รางเลือนเหมือนภาพฝันที่เห็นวาบแวบในเสี้ยววินาทีนั้นคือแม่ และบัดนี้ก็เลือนร้างไปแล้วอีกครั้ง และบัดนี้ก็อันตรธานไปเหมือนไม่เคยมีอีกครั้ง และบัดนี้ก็ยังคงไม่สามารถจดจำหรือรำลึกหรือรื้อฟื้นใบหน้านั้นขึ้นอีกได้ในใจ” (หน้า 178) ความพร่าเลือนของความทรงจำ คือความน่ากลัวเพียงหนึ่งเดียวในชีวิตแห่งความพลัดพรากของยิหวาและอนิล ภาพใบหน้าและสรีระของแม่ค่อย ๆ เลือนรางไป สิ่งที่วูบไหวในความพร่าเลือนนั้นคือความเศร้าและน้ำตาการสะท้อนสังคมด้วยการนำประเด็นความขัดแย้งของครอบครัวมาเล่าเช่นนี้ ทำให้นวนิยายเรื่องนี้อาจไม่เหมาะกับการเป็นวรรณกรรมเยาวชนสำหรับเด็กมากนัก ด้วยความโศกเศร้าที่เหลือล้นจนผิดไปจากวรรณกรรมเยาวชนสำหรับเด็กทั่วไป นวนิยายเรื่องนี้จึงมีแง่งามในเรื่องความแปลกใหม่ทั้งเนื้อหาและแนวคิด ลักษณะเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงคิดเห็นว่าทะเลสาบน้ำตาเหมาะกับผู้ที่พร้อมจะสัมผัสกับรสแห่งความเศร้าและน้ำตามากกว่าจะเป็นเด็กตามที่วีรพรให้คำจำกัดความนวนิยายเรื่องนี้ว่าคือ วรรณกรรมเยาวชนสำหรับเด็กตั้งแต่อายุสิบสามปีขึ้นไป

            ทุกชีวิตใน ทะเลสาบน้ำตา วีรพรสร้างให้มีความสัมพันธ์คาบเกี่ยวกัน ตัวละครทุกตัวมีเอกลักษณ์เด่น 
วีรพรถ่ายทอดตัวตนของแต่ละตัวกึ่งสมจริงกึ่งเหนือจริงผสมผสานกันอย่างลงตัว

“เราเจอกัน เผลอทำกันหายครู่หนึ่ง แล้วเราก็หากันเจออีก และถ้าเราพยายามมากพอเราก็จะไม่ทำกันหายอีก แต่ถ้าสมมติ...สมมติว่าเราเผลอหรือโชคไม่ดีแล้วทำกันหายอีกจริง ๆ เราก็จะหากันเจอได้อีกเสมอนะ ไม่เป็นไรนะ” (หน้า 185) การพลัดพราก คือสิ่งที่วีรพรใช้เป็นจุดร่วมกันของตัวละคร ยิหวาและอนิลพลัดพรากจากแม่ที่อาจซ่อนอยู่สักมุมหนึ่งของเมืองกระจก คุณยายไลลาพลัดพรากจากคนรักเป็นระยะเวลามากกว่าสิบปี 


           จุดร่วมกันนี้ก่อเกิดเป็นสมาคมลับแห่งต้นชงโค การพลัดพรากจึงเป็นประเด็นที่วีรพรอาจใช้เพื่อเสียดสีสังคมที่
ทุกคนต่างก้มหน้าเดินทางสู่เมืองกระจก เมืองที่ดูดกลืนตัวตนของผู้คนทั้งหลายให้พลัดพรากและสูญหายไปจากความทรงจำ ซึ่งวีรพรเล่าเรื่องราวเมืองกระจกในจินตนาการที่ซ้อนทับกับเมืองกระจกในชีวิตจริงได้อย่างสมจริง แต่ทว่ามีความเหนือจริงเรื่องลักษณะของตัวละคร กล่าวคือ ตามทัศนะของข้าพเจ้าเห็นว่า วีรพรดูจงใจสร้างตัวละครให้มีความผิดแปลกไปจากสังคมเพื่อสร้างจุดเด่น แต่ในขณะเดียวกัน ความผิดแปลกก็ทำให้ตัวละครแฝงความเป็นผู้ใหญ่ไว้ในตัวด้วย ดังเช่นยิหวา เด็กประหลาดผมสีชมพูจากการกินขนมปริมาณมาก ด้วยความประหลาดนี้ทำให้เด็กหัวชมพูกลายเป็นตัวประหลาดของคนในสังคม แต่การวางเชยต่อคำครหาหล่อหลอมให้ยิหวากลายเป็นเด็กที่พยายามเข้าใจชีวิตมองทุกสรรพสิ่งว่าเป็นไปตามธรรมชาติ สามารถยอมรับความจริงแสนเจ็บปวดที่ต้องเผชิญได้ จึงไม่แปลกหากวีรพรจะจบเรื่องด้วยการให้ยิหวาเป็นเพียงคนเดียวที่เผชิญกับความพลัดพรากอีกครั้งและอีกครั้ง

            นอกจากตัวละครที่เป็นส่วนสำคัญในการนำเสนอเรื่องราวแล้วยังมีสถานที่ที่ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราวของตัวละครได้อย่างดีคือ ‘เมืองกระจก’ และ ‘ครอบแก้ว’

            เมืองกระจกเป็นเมืองที่รายล้อมด้วยตึกกระจกสะท้อนแสง ผลจากการสะท้อนแสงทำให้เกิดเหตุการณ์ผิดปกติกับผู้คนในเมืองกระจกนั้น ดังที่คุณยายไลลาเล่าว่า ผู้คนในเมืองกระจกมีโรคประจำตัวคือโรค “เลือนลืม” โรคที่ส่งผลให้ลืมความทรงจำของตนเอง เช่นแม่ของยิหวาที่หลงลืมตัวตนและลูกของตนเองไป

            ครอบแก้ว สถานที่ที่กักเก็บความทรงจำของผู้คนไว้ เพื่อกระตุ้นเตือนไม่ให้ผู้คนหลงลืมความทรงจำของตนเอง ในครอบแก้วมีความทรงจำและความฝันที่ซ้อนทับกับจนยากจะปะติดปะต่อ บางความทรงจำและความฝันกระตุ้นให้รู้สึกสุข บางความทรงจำและความฝันกระตุ้นให้รู้สึกแตกสลาย ดังเช่นยิหวาและอนิลที่ถูกความทรงจำและความฝันอันเลือนรางในครอบแก้วกระตุ้นให้ระลึกถึงความเศร้าและความแตกสลายที่ซ่อนไว้ภายในจิตใจจนทะลักออกมาเป็นน้ำตาที่ไหลดั่งสายธาร

            โลกของทะเลสาบน้ำตาเต็มไปด้วยความเหนือจริงที่ซ้อนทับกับความจริงจนข้าพเจ้ามิอาจกล่าวได้ว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นนวนิยายแฟนตาซี สัจนิยม หรือสัจนิยมมหัศจรรย์ ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่อง ณ สถานที่และเวลาที่ทับซ้อนกันของ ความฝัน ความทรงจำ และความจริงที่วีรพรใช้ เป็นการสะท้อนถึงสัจธรรมอย่างหนึ่งบนโลกคือ ไม่มีความทรงจำใดที่ตั้งอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริงนิรันดร กาลเวลาจะลบความทรงจำให้เลือนรางและกระจัดกระจายไปมุมใดมุมหนึ่งบนโลก รอคอยให้เราค้นพบและรื้อฟื้นความทรงจำเหล่านั้นอีกครั้ง แต่ข้าพเจ้าก็มิอาจตอบได้เช่นกันว่าความจริงในทะเลสาบน้ำตาเป็นเช่นไร ความจริงหนึ่งเดียวที่ข้าพเจ้าสัมผัสได้จากทะเลสาบน้ำตาคือความเศร้าที่แจ่มชัดท่ามกลางสรรพสิ่งที่ค่อย ๆ เลือนราง และความเศร้านั้นก็ล้วนแล้วแต่มีเหตุมาจาก “ครอบครัว” โลกอีกใบที่กลายเป็นโลกแห่งทรงจำของทรงจำของยิหวาและอนิล

            โลกกึ่งความฝัน กึ่งความทรงจำ และกึ่งความจริง มีชีวิตเล็ก ๆ ที่เปี่ยมด้วยความรู้สึกกำลังวูบไหวท่ามกลางความพร่าเลือน ชีวิตที่ค้างเติ่งครึ่ง ๆ กลาง ๆ ถูกถ่ายทอดด้วยภาษาอันละเมียดละไมของวีรพรได้อย่างกลมกล่อมและน่าพิสมัย นอกจากนี้ องค์ประกอบเด่นที่ไม่กล่าวถึงคงไม่ได้คือ การออกแบบหน้าปกและภาพประกอบแนวคอลลาจของ นักรบ มูลมานัสส่วนสำคัญที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีแง่งามทั้งด้านแนวคิดและสุนทรียะ ข้าพเจ้าหวังว่า...จะมีคนมองเห็นสิ่งที่วูบไหวในท่ามกลางสรรพสิ่งที่ค่อย ๆ เลือนรางในโลกกึ่งความทรงจำ กึ่งความฝัน และกึ่งความจริงเช่นข้าพเจ้าบ้างสักหนึ่งชีวิต

**********************

วีรพร  นิติประภา.  ทะเลสาบน้ำตา.  พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพ ฯ : ภาพพิมพ์.  2561.

 


 

 ~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

 

อีกไม่นานเราจะสูญหา : 

ระบบทุนนิยมกับการสูญสลายตัวตนของมนุษย์

 

 

ชวิศา  อามาตร

 

            “อีกไม่นานเราจะสูญหาย” เป็นนวนิยายของ อ้อมแก้ว กัลป์ยาณพงศ์ นักเขียนสาวรุ่นใหม่ผู้เป็นคอลัมนิสต์อิสระ เขียนประจำอยู่ที่ Playboy Magazine ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2561 โดยสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม และเป็นผลงานรอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ประจำปีพุทธศักราช 2561 

            เป็นเรื่องราวของ “ชินตา” หญิงสาวคนหนึ่งที่ทำงานเป็นผู้จัดการแกลเลอรีศิลปะ วันหนึ่งเธอได้พบกับ“จอม” เพื่อนบ้านสมัยเด็กผู้ที่เคยก่อคดีมาตุฆาต นำเนื้อของแม่มาทำเป็นสเต็ก พร้อมกับบังคับให้เธอกิน เขาชวนเธอมาร่วมกันเขียนหนังสือ เพื่อสร้างกระแสความสนใจและสร้างรายได้จากเรื่องราวประสบการณ์ในครั้งนั้น เธอยอมร่วมงานกับเขา กระทั่งกลายเป็นคนดังมีชื่อเสียง สืบเนื่องมาจากเรื่องราวที่กลายเป็นกระแสอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันครอบครัวของเธอก็มีปัญหา แม่ป่วยด้วยโรคจิตเภทเป็นสาเหตุทำให้โช (น้องชาย) ฆ่าตัวตาย ซ้ำเธอยังต้องไปทำงานที่สิงคโปร์และติดอยู่ที่นั่นนานเกือบสองปี เพราะปรากฏการณ์ประหลาดที่มีชื่อว่า แบล็คโฮลสกาย (Black Hole Sky) ชีวิตเธอหลังจากนั้นจึงเริ่มแหลกสลาย แม้แต่ความรักก็ไม่อาจเยียวยาได้ และท้ายที่สุดตัวตนของเธอก็ค่อย ๆ เลือนหายไป

            ในเรื่องนี้ผู้เขียนวางโครงเรื่องอย่างง่าย ไม่ซับซ้อน ดำเนินเรื่องด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบตามลำดับเวลาก่อนและหลัง ผ่านสายตาของตัวละครสำคัญ นั่นคือ ชินตา ทว่ามีการสลับผู้เล่าเรื่องโดยแทรกบทของ โช (น้องชาย) และพ่อ เพื่อให้ผู้อ่านทราบถึงเหตุอันทำให้เกิดพฤติกรรมของตัวละครด้วย เรื่องนี้ปรากฏให้เห็นเป็นภาพชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่งที่ต้องประสบกับเหตุการณ์และสภาวะทางอารมณ์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะการสูญเสีย ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงสภาวะจิตใจของมนุษย์ที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยม

            มีการเปิดเรื่องด้วยบทนำ ซึ่งพรรณนาถึงความเป็นไปของตัวละคร ผู้เขียนได้เสนอภาพความบิดเบี้ยวของศีลธรรมผ่านการกระทำของตัวละครในขณะที่ยังเป็นเด็ก ในที่นี้เป็นภาพของเด็กที่ได้ทำการมาตุฆาต แล้วนำเนื้อของแม่ไปทำเป็นสเต็ก ซึ่งถือเป็นการสร้างความสนใจใคร่รู้ให้ผู้อ่านอยากที่จะติดตามเนื้อเรื่องต่อไป ว่าเพราะเหตุใด? ทำไม? ตัวละครจึงทำเช่นนั้นในระหว่างการดำเนินเรื่องก็ปรากฏปมความขัดแย้งอยู่หลายแห่ง ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ คือ ความขัดแย้งระหว่างคนในครอบครัว เช่น ความขัดแย้งระหว่างแม่กับชินตาและโช อันเป็นผลมาจากอาการป่วยด้วยโรคจิตเภทของแม่ แต่กลับแสดงให้เห็นว่า การกระทำของแม่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของลูกทั้งสองคนด้วย“บอกว่าให้พอไง หุบปากเหอะแม่ง รำคาญชิบหาย”“มึงพูดกับกูแบบนี้เหรอ ไอ้ลูกอกตัญญู ไอ้เวร” (อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์, 2561: 52)“แต่แล้วอยู่ ๆ ฉันก็เกิดนึกชังผู้หญิงตรงหน้าอย่างไม่มีสาเหตุ เป็นอารมณ์โกรธขึ้งอันแผ่วจางราวกับรอวันปะทุ” (อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์, 2561:82) ความขัดแย้งระหว่างโชกับเม่ยที่เกิดจากความไม่เข้าใจกัน จนกลายเป็นความเกลียดชัง “ขอให้แม่งชิบหาย ชีวิตไม่ได้อยู่ดี หล่อนคำรมซ้ำราวกับกลัวว่าแรงสาปแช่งอาจรุนแรงไม่พอ”(อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์, 2561:72)ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เช่น ปรากฏการณ์แบล็คโฮลสกาย ภัยธรรมชาติที่ทำให้โลกมนุษย์เกิดความหายนะ อันมีสาเหตุมาจากมนุษย์โลก และความขัดแย้งภายในใจมนุษย์ เช่น ความขัดแย้งภายในใจของชินตา เพราะหลังจากที่ตัดสินใจร่วมเขียนหนังสือกับจอมแล้ว ตัวละครก็มีความขัดแย้งกับความคิดของตนเองอยู่ไม่น้อย “เราแค่คิดว่าบางอย่างน่าจะปล่อยให้เป็นตำนาน เรื่องเล่าขาน หรือเป็นเพียงความทรงจำเก่า ๆ น่าจะโรแมนติกกว่าการยอมให้คนทั้งประเทศเอาเรื่องกินเนื้อคนมาขยายความต่อก็เหมือนยอมโดนข่มขืนซ้ำ” (อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์, 2561: 44)และความขัดแย้งภายในใจของพ่อ ที่มีต่อสังคมในขณะนั้น เหมือนจะฉุกคิดถึงศีลธรรมได้ แต่ก็ปล่อยเรื่องราวให้ผ่านพ้นไปเพราะตนเองก็ได้ผลประโยชน์เช่นกัน “ความชอบธรรมหรือ? แล้วสิ่งที่ทำอยู่นี่ล่ะ ผมฉุกคิดในความย้อนแย้งขึ้นมานิดหน่อย แต่ช่างเถอะ เรื่องดำเนินมาขนาดนี้แล้ว” (อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์, 2561:156) ท้ายที่สุดผู้เขียนได้ปิดเรื่องในชื่อบทปิดท้ายแบบทิ้งประเด็นไว้ให้ผู้อ่านขบคิดเองว่าแท้จริงแล้วตัวละครนั้นได้สูญสลายไปแล้วหรือไม่? อย่างไร?“เสียงแหลมเล็กหวีดดังแทรกตัวผ่านอากาศมายังห้วงคำนึงของฉัน หนักหน่วงและเนิ่นนาน อากาศเย็นกอดก่ายกันและกัน ร่างบางใสในสวนป่าหยุดนิ่งคล้ายจะรออยู่ ฉันเดินตามร่างนั้นไปจนทันเงาของเราทาบทับกันราวกับเป็นหนึ่งเดียว ราวกับร่วมสสารเดียวกัน...” (อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์, 2561: 188)

            เพราะในปัจจุบัน ระบบทุนนิยมได้กลายเป็นระบบเศรษฐกิจหลักของโลก ผู้คนต่างต้องพึ่งพาระบบทุนนิยมในการดำเนินชีวิต ดังนั้น ระบบนี้จึงมีอิทธิพลต่อมุมมองเกี่ยวกับชีวิตและพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งหนึ่งในแนวคิดของระบบทุนนิยม คือการผลิตเพื่อแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นผ่านการแข่งขันกันระหว่างปัจเจกบุคคลแต่ละคนในระบบเศรษฐกิจโดยมุ่งไปที่ประโยชน์ของตนเองด้วยทรัพย์สินและความสามารถของแต่ละคนเองจะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้น ๆ จะตกไปสู่ทุกคนในสังคม ผ่านการทำงานของกลไกราคา (ภาณุพงศ์ พิบูลยรัตนกิจ,2561) ด้วยเหตุนี้อาจกล่าวได้ว่า ระบบทุนนิยมเป็นการแข่งขันเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนบนฐานของ‘ความเห็นแก่ตัว’ถึงแม้จะผลักดันให้เกิดความเจริญก้าวหน้าได้ แต่ก็เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยคนจำนวนน้อยร่ำรวยมาก คนจำนวนมากกลับมีแค่พออยู่พอกินหรือไม่ก็ยากจนจึงทำให้ต้องดิ้นรนใช้ชีวิตไปกับการหา ‘เงิน’ เพื่อให้เพียงพอต่อการมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมั่นคง

            ดังเช่นตัวละคร “จอม” และ “ชินตา” ที่มองว่าการเขียนหนังสือที่มีเรื่องราวการเปิดเผยความจริงของเด็กที่กินเนื้อคน เป็นการเขียนหนังสือเพื่อชื่อเสียง ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะมอบเนื้อหาสาระแต่อย่างใด แต่เพียงแค่ให้ได้มาซึ่ง ‘เงิน’ที่จะนำไปประกอบธุรกิจของตน หนำซ้ำผู้เขียนยังสะท้อนให้เห็นภาพของความทะเยอทะยานอยากและความเพิกเฉยของคนในสังคมดังความว่า “เมื่อไรไม่รู้ที่จอมไม่เป็นตราบาปของสังคมอีกต่อไป เขาเปิดแฟนเพจเป็นของตัวเอง เสียงก่นด่าถูกแทนที่ด้วยมุขล้อเลียน ผู้คนเริ่มเบี่ยงเบนประเด็น มาตุฆาตไม่ใช่จุดขายอีกต่อไป...” (อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์,2561: 42) และดังคำบรรยายของตัวละคร “พ่อ”ที่ต้องเผชิญกับสิ่งที่อาจกล่าวได้ว่า เป็นความบิดเบี้ยวของสังคม เช่น “ผมจึงฝังใจเชื่อว่าสังคมไม่มีความยุติธรรมที่แท้จริง ผู้คนมือยาวสาวได้สาวเอา ยึดผลประโยชน์ส่วนตนเป็นสรณะ แม้ผมจะพยายามดำรงชีพด้วยการทำงานสุจริต แต่เมื่อโอกาสมาถึงจึงขุดความคับแค้นใจครั้งนั้นออกมา สังคมในอุดมคติไม่มีอยู่จริง สิ่งใดที่ทำให้ตัวเองอยู่รอดก็จงคว้ามันเอาไว้” (อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์, 2561:156)จะเห็นว่าพฤติกรรมของแต่ละตัวละครที่ผู้วิจารณ์ได้ยกมาข้างต้น ล้วนเป็นผลกระทบของระบบทุนนิยมที่มีต่อสภาวะจิตใจมนุษย์ทั้งสิ้น เกิดจากสังคมแวดล้อมหล่อหลอมให้มนุษย์ลดทอนคุณค่าตนเอง แม้บางครั้งจะมีอารมณ์ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่ฉุกคิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่อาจทานต่อโครงสร้างสังคมที่กำหนดให้มนุษย์ต้องสูญเสียความเป็นตัวตน และยอมจำนนเพราะความเคยชิน จนคิดว่าสิ่งที่ไม่ปกติเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นทั่วไป

            และเนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของระบบเศรษฐกิจและสังคมส่งผลให้มนุษย์ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง ท่ามกลางกระแสนิยมที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ทำให้มนุษย์นั้นเปลี่ยนไป อยากได้ อยากมี อยากเป็น จนลืมใส่ใจความสัมพันธ์และเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันหรือละเลยแม้กระทั่งการทำความเข้าใจในตัวตนของตนเอง จึงนำไปสู่สภาวะจิตใจที่สับสน ซ่อนเร้น ซับซ้อน ว่างเปล่า และไร้ซึ่งที่ยึดเหนี่ยวจนเกิดเป็น“ความวิตกกังวล”ดังทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) กล่าวว่า ความวิตกกังวลเป็นเรื่องที่มนุษย์หลีกหนีไม่พ้น เพราะความปรารถนาของมนุษย์นั้นไม่สามารถได้รับการตอบสนองเสมอไป ซึ่งผู้วิจารณ์เห็นว่าพฤติกรรมของตัวละครในเรื่องนี้ต่างก็มีความวิตกกังวล ซึ่งตรงกับความวิตกกังวลจากสิ่งแวดล้อม (Reality Anxiety) คือ ความหวาดกลัวสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่อยู่รอบตัวเราอยู่แล้ว เป็นความกังวลที่เกิดกับมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ เช่น กลัวสูญเสียคนรัก กลัวตกงาน (ศูนย์ให้คำปรึกษาและการสะกดจิตด้วยเทคนิค NLP, ม.ป.ป.) หรืออาจกล่าวได้ว่าตัวละครในเรื่องนี้ต่างก็กลัวที่จะสูญสลายหายไปจากทั้งในโลกของความเป็นจริงและโลกแห่งความทรงจำ

            หากพิจารณาเนื้อหาอย่างถี่ถ้วนแล้ว จะเห็นว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นแนวเหนือจริง (Surrealism)ใช้‘ความเหนือจริง’ ในเรื่องมาเป็นสัญลักษณ์เพื่อนำเสนอแนวคิดบางอย่าง ดังเช่น ปรากฏการณ์แปลกประหลาดเชิงวิทยาศาสตร์ หรือ แบล็คโฮลสกาย (Black Hole Sky) ซึ่งอาจครอบคลุมความหมายไปถึงวันสิ้นโลก ในที่นี้อาจใช้เป็นภาพแทนความเสื่อมถอยของจิตสำนึกมนุษย์ เพราะในขณะที่เศรษฐกิจในหลายประเทศกำลังรุดไปข้างหน้า ทรัพยากรและธรรมชาติก็ถูกทำลายมากขึ้น ผู้เขียนจึงได้สร้างเหตุการณ์นี้ขึ้นมา เพื่อสะท้อนให้มนุษย์เห็นถึงคุณค่าของธรรมชาติ ความสัมพันธ์และความหมายของชีวิต ด้วยชุดความคิดที่กล่าวว่ามนุษย์ทุกคนล้วนกลัวตายหรือกลัวสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้มาประกอบสร้างเรื่องราวจนเกิดเป็นความสมจริง

“เราต่างไม่มีทางรู้เลยว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้อง พายุจะมาเยือนอีกเมื่อไร 
มนุษย์ป้องกันความเป็นไปของธรรมชาติได้หรือ-ไม่เลย สิ่งที่ทำได้คือยืนหยัดและรับมือ”

(อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์, 2561: 83)

            จากข้อความข้างต้นถือว่าเป็นข้อความที่กล่าวถึงแนวคิดหรือแก่นของเรื่องได้อย่างครอบคลุม กล่าวคือ หากมองความตายว่าเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ทุกคนต้องพบเจอ เช่นเดียวกับการที่เรารับรู้ว่ามนุษย์ไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ ก็จะทำให้เข้าใจว่าความตายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกหนี เพราะฉะนั้นอย่ายึดติดกับสิ่งที่เคยมี เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นของเรา ตัวที่ว่าเป็นของเรา วันหนึ่งก็ต้องสูญสลายเป็นธุลีเหมือนกับสรรพสิ่งอื่นบนโลก หรือแม้แต่โลกก็มีจุดที่จะต้องสิ้นสุดเช่นเดียวกัน นั่นจึงเรียกว่า สัจธรรม เมื่อมีเริ่มต้น ก็ย่อมมีสิ้นสุด เมื่อมีเกิด ก็ย่อมมีดับ เป็นธรรมดาของชีวิต ไม่มีสิ่งใดบนโลกนี้จีรังยั่งยืนหรืออยู่กับเราไปได้ตลอด การสูญสลายจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะไม่ว่าจะเป็นยามที่มีชีวิตหรือยามที่กำลังจะหมดลมหายใจ เราต่างก็สามารถที่จะสูญสลายได้เหมือนกัน....

            นอกจากนี้ สำนวนภาษาที่ผู้เขียนใช้มีความเรียบง่าย ทว่าสละสลวยและกินใจ ตลอดทั้งเรื่องดำเนินไปด้วยการพรรณนา ทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน ทั้งยังแฝงไปด้วยน้ำเสียงจิกกัดและเสียดสีสังคม ปรากฏใช้ชุดคำที่สัมผัสคล้องจองกัน ทำให้อ่านแล้วลื่นไหลและไม่รู้สึกติดขัด ประกอบกับมีคำขยาย ทำให้อ่านเข้าใจได้โดยไม่ต้องตีความมาก

            เมื่อพิจารณานวนิยายเรื่อง “อีกไม่นานเราจะสูญหาย” แล้วจะเห็นว่า ทุกองค์ประกอบล้วนมีความสอดคล้องและเกี่ยวโยงกันผู้เขียนได้ทำให้ทุกองค์ประกอบมีความสัมพันธ์และสำคัญต่อกัน ไม่สามารถขาดส่วนใดส่วนหนึ่งได้ อีกทั้งแนวคิดหรือแก่นเรื่องก็สะท้อนความจริงได้อย่างเป็นจริงและชัดเจนจึงกล่าวได้ว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้เขียนทำให้ผู้อ่านสามารถจินตนาการคล้อยตาม เข้าใจถึงชีวิตและจิตใจของมนุษย์
ได้อย่างลึกซึ้ง

 

เอกสารอ้างอิง

อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์. (2561). อีกไม่นานเราจะสูญหาย. นครปฐม: เม่นวรรณกรรม.

ภาณุพงศ์ พิบูลยรัตนกิจ. (2561). ชีวิตของมนุษย์ในกระแสเสรีนิยมใหม่: การมีชีวิตที่ไม่ได้ใช้ชีวิต. สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2564 จาก https://www.commonstudies.com/c/archive/298

ปริชาติ หาญตนศิริสกุล. (2559). Magical Realism ในความเหนือจริง มีความสมจริง. สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2564 จาก https://waymagazine.org/magical-realism-vs-realism/

ศูนย์ให้คำปรึกษาและการสะกดจิตด้วยเทคนิค NLP. (ม.ป.ป.). Sigmund Freud ความวิตกกังวล. สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2564 จาก shorturl.at/hmqxB

 

 

 

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

 

จากการรื้อสร้าง (deconstruction) สู่ความคลุมเครือ

แห่งที่มาที่ไป ใน ต้นสายปลายจวัก[1]

 

รุจีลักษณ์ สีลาเขต

 

         งานเขียนประเภทสารคดีแบบเดิม โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับอาหารที่เป็นวัฒนธรรมประจำชาติมักใช้แนวคิดในเชิงสร้างเสริมให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมและเน้นย้ำถึง “ความเป็นเอกลักษณ์อันไม่เหมือนใคร”ที่มีประจำชาติ และตัดขาดการพิจารณาในเชิงประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์และภูมิศาสตร์ในเชิงเปรียบเทียบ ทำให้งานเขียนขาดความครบถ้วนในเชิงกระบวนทัศน์และข้อมูลประกอบไปอย่างน่าเสียดาย  สารคดี ต้นสายปลายจวัก โดย กฤช เหลือลมัย จึงมีความน่าสนใจที่มีการนำเสนอเนื้อหาที่แปลกใหม่ มีการรื้อสร้าง (deconstruction) วาทกรรมชาตินิยมแบบเดิมในเรื่องวัฒนธรรม อาหาร และภาษา แต่ขณะเดียวกันรูปแบบของหนังสือก็ทำให้ผู้อ่านต้องย้อนกลับไปพิจารณาในเรื่องคำนิยามของงานเขียนประเภทสารคดี ไปจนถึงเส้นแบ่งในเรื่องการนำเสนอความจริง ในงานสารคดีที่มิใช่งานวิชาการ

         พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้คำนิยามของสารคดีไว้ว่า “น. เรื่องที่เรียบเรียงขึ้นจากความจริง ไม่ใช่จากจินตนาการ เช่น สารคดีท่องเที่ยว สารคดีชีวประวัติ.”[2] ขณะที่ วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง นักเขียนสารคดีที่มีชื่อเสียง ประจำนิตยสารสารคดี ได้นำเสนอเพิ่มเติมว่า “สารคดี ความหมายอย่างสั้นที่สุดคือ ความจริงอิงความงาม”[3] สารคดี แยกออกจากงานเขียนประเภทอื่นด้วยการผสมผสานระหว่างข้อเท็จจริงและวรรณศิลป์ในการถ่ายทอด “(สารคดี) เป็นการเล่าเรื่องด้วยภาษาเขียนที่มุ่งให้ข้อมูล ความรู้ ข้อเท็จจริงที่ไม่เติมแต่ง ผ่านลีลาภาษาที่มีวรรณศิลป์ (...) สารคดีที่กลมกล่อมลงตัว มาจากการผสานกันขององค์ประกอบ ๒ ส่วนคือ ข้อมูล และกลวิธีการนำเสนอ และนอกจากนี้ในงานสารคดียังมีส่วนประสมของงานเขียนประเภทอื่นอีกหลากหลายเจืออยู่ด้วย”[4]

         ใน ต้นสายปลายจวัก มีเนื้อหาทั้งสิ้น ๓๒ บท นำเสนอเรื่องราวของอาหาร ๓๒ ชนิด แต่น่าเสียดายที่หนังสือขาดหลักการที่ชัดเจนในการจัดเรียงลำดับเนื้อหาในแต่ละบท จึงทำให้ขาดความต่อเนื่องในด้านการลำดับความคิด และไม่เห็นความเชื่อมโยงของข้อมูล ปัญหาในการแบ่งข้อมูลส่วนสารบัญแบ่งออกเป็น ๓ ประการใหญ่ ได้แก่

๑. ไม่มีการแบ่งอาหารตามภูมิภาค ไม่มีการวาดแผนที่แสดงสัญลักษณ์ของแหล่งที่พบอาหารแต่ละชนิด ทำให้ผู้อ่านไม่สามารถเห็นภาพรวม การเชื่อมโยงในเชิงภูมิศาสตร์ไม่เป็นรูปธรรมทั้งที่เนื้อหาในสารคดีมีการอธิบายปัจจัยในเชิงภูมิศาสตร์ไว้หลายประเด็น แม้จะพยายามแสดงให้เห็นว่าอาหารเป็นวัฒนธรรมร่วมในหลายพื้นที่ แต่ยิ่งควรจะนำเสนอแผนที่เพื่อให้เห็นถึงการแพร่ของวัฒนธรรมในแต่ละชุมชน 

๒. ขาดการจัดแบ่งหมวดหมู่ภายใน เช่น ไม่มีการแบ่งตามประเภทอาหาร (อาหารคาว, อาหารว่าง, กับข้าว, อาหารจานเดียว ฯลฯ) หรือไม่มีการแบ่งตามหลักการประกอบอาหาร (ต้ม, ผัด, แกง, ทอด) ทำให้ยากต่อการค้นหาข้อมูล โดยเฉพาะสำหรับผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับชื่ออาหารแบบโบราณ

๓. ขาดการเรียงลำดับเนื้อหาแต่ละบท โดยเฉพาะหลายบทที่มีความเกี่ยวข้องกันและควรจะเรียงในลำดับต่อกัน เช่น ส้มตำไทยในข้าวมันส้มตำ มีเนื้อหาในบทที่ ๒ แต่ส้มตำปลาทูย่าง ถูกวางเนื้อหาไว้ในบทที่๑๓ ลำดับเนื้อหาจึงขาดความต่อเนื่องอย่างน่าเสียดาย

            ทว่าการขาดการจัดระเบียบข้อมูลเช่นนี้ อาจมองได้ว่าเป็นความตั้งใจของผู้เขียนที่จะถ่ายทอดเนื้อหาให้ผู้อ่านที่เป็นบุคคลทั่วไป โดยไม่ยึดติดรูปแบบที่เป็นทางการจนเกินไป อาศัยรูปแบบการเล่าเรื่องที่คล้ายมุขปาฐะ สร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองกับผู้อ่าน ให้เกิดความสนุกสนาน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาระดับภาษาแบบกึ่งทางการ (“ผมมารู้สึกเมื่อไม่นานมานี้เอง”[5]) และการใช้สรรพนาม “ผม” ในการเล่าเรื่อง ทำให้เห็นได้ว่างานสารคดีเล่มนี้มีจุดยืนต่างจากงานบทความวิชาการหรือตำรา

         สารคดี ต้นสายปลายจวัก นำเสนอมุมมองเรื่องอาหารไทยแบบองค์รวมที่น่าสนใจ โดยผู้เขียนเสนอว่าอาหารเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่มีพลวัต มีความแพร่หลายถ่ายเทกันได้ในหลายพื้นที่ภายในประเทศ สารคดีนำเสนอจุดร่วมอาหารไทยกับอาหารชนิดอื่นที่มีความคล้ายคลึงกันในภูมิภาค และยอมรับโดยตรงว่าอาหารหลายจานได้รับอิทธิพลอาหารของต่างชาติ ซึ่งเป็นมุมมองที่รื้อสร้างวาทกรรมการศึกษาวัฒนธรรมไทยชาตินิยมในแบบเดิมๆที่มักจะเน้นย้ำในเรื่อง “ความเป็นไทยแท้”ในอาหารหลายประเภท 

         ต้นสายปลายจวัก จึงนำเสนอชุดข้อมูลใหม่และชักชวนให้ผู้อ่านตั้งคำถามต่อมุมมองอนุรักษ์นิยมที่มักกล่าวอ้างว่าวัฒนธรรมไทยมีความเป็นเอกลักษณ์สูงเสียจนแทบไม่มีจุดร่วมกับวัฒนธรรมอื่นในภูมิภาค  (เช่น สารคดีเสนอว่าแท้จริงแล้วควรมองข้าวมันส้มตำเป็นอาหารแบบสำรับที่ต้องมีกับข้าวอื่นประกอบ, คนไทยรับประทานส้มตำในทุกภาคของไทย มิใช่แค่ภาคอีสาน ทว่าแต่เดิมผักในส้มตำเป็นส่วนผสมอื่น ก่อนจะเปลี่ยนเป็นมะละกอเมื่อมะละกอเข้ามาในสมัยอยุธยา, รวมไปถึงที่มาของ ข้าวมัน ที่น่าจะได้อิทธิพลมาจากอาหารเปอร์เซีย และข้าวมันส้มตำ ยังมีความคล้ายคลึงกับอาหารในคาบสมุทรมลายู อย่าง nasi lemak อีกด้วย)

         ผู้เขียน ต้นสายปลายจวัก เน้นย้ำหลายครั้งว่าไม่ควรมองวัฒนธรรมเป็นสิ่งแช่แข็ง เขาจึงไม่นำเสนอเพียงอาหารไทยที่เป็นอาหารชาววัง อาหารภาคกลาง แต่เน้นนำเสนออาหารพื้นบ้าน ในหลายท้องที่ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพกว้างขึ้น และนำเสนอแบบสหสาขาวิชาการ หลากมิติในการศึกษาอาหาร กฤชเล่าเรื่องอาหาร ทั้งที่มาในเชิงส่วนบุคคล (เช่น ความทรงจำในครอบครัว, ประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อได้รับประทานอาหารชนิดนั้นครั้งแรก)  และที่มาในเชิงประวัติศาสตร์ของอาหารจานนั้นๆ ที่มาของวัตถุดิบ สูตรอาหาร วิธีการทำและเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างของสูตรอาหารจานเดียวกันในแต่ละตำรา แต่ละยุคสมัย เท่าที่รวบรวมข้อมูลได้  ในเนื้อหาของ ต้นสายปลายจวัก จึงมีทั้งส่วนที่รื้อสร้างความเข้าใจผิดของบุคคลทั่วไป เกี่ยวกับวาทกรรมเรื่องอาหารและวัฒนธรรม ก่อนจะนำเสนอเนื้อหาข้อมูลเสริม ตามหลักฐานที่พบ ทั้งทางเอกสารและจากการสอบถามบุคคลต่างๆ เช่น การทำต้มยำกุ้ง ที่ในอดีตและปัจจุบันมีส่วนผสมและขั้นตอนการทำที่แตกต่างกันอย่างมาก 

         ที่น่าสนใจอีกประการคือ ผู้เขียนมีความสนใจที่หลากหลาย จึงสามารถให้ข้อมูลที่หลากหลายด้านในการนำเสนอเรื่องราวประกอบอาหารแต่ละบท รวมไปถึงการที่ผู้เขียนทำอาหารเก่ง มีความสนใจในด้านอาหารโดยตรง ทำให้เรื่องเล่ามีสีสัน รวมไปถึงการที่ผู้เขียนรู้จักผู้รู้มากมาย ทำให้สืบค้นที่มาของอาหารได้ลึกซึ้งขึ้น โดยเฉพาะคำอธิบายในเชิงภาษาศาสตร์

          อย่างไรก็ตาม สารคดีเล่มนี้มีรูปแบบการจัดการข้อมูลที่ลักลั่น เพราะมีการยืมรูปแบบการเขียนและการอ้างอิงแบบงานวิชาการมาในหลายประการ แต่กลับไม่มีการเขียนบรรณานุกรมแบบที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นการลดความน่าเชื่อถือหลายประการของข้อเขียนในสารคดี  เพราะสิ่งที่ควรต้องพิจารณาเป็นสำคัญคือ สารคดีเป็นงานเขียนที่ต้องการถ่ายทอดความจริงเป็นหลัก โดยเฉพาะหัวข้อที่สารคดีเล่มนี้พูดถึง อาหาร ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ มีการวิพากษ์วัฒนธรรมที่ผู้เขียนต้องการนำเสนออย่างเป็นกลางและปราศจากอคติ (ดังที่จะเห็นได้จากการที่ผู้เขียนมักเขียนออกตัวในหลายบทว่ายังมีหลายประเด็นที่ไม่ทราบ ต้องศึกษาต่อไป และต้องการให้ผู้อ่านร่วมนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม) ซึ่งการทำบรรณานุกรมแบบวิชาการที่เป็นสากล ถือว่ามีความเหมาะสมเป็นอย่างมากที่จะนำมาจัดระเบียบข้อมูล และเสนอความเป็นจริงอย่างเป็นกลาง (objective) และมีความเป็นวิทยาศาสตร์ที่สุดในขณะนี้ เมื่อผู้เขียนเลือกจะใช้มุมมองที่เป็นกลาง การจงใจเลี่ยงที่จะไม่มีการอ้างอิงแบบวิชาการ เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ผู้เขียนรวบรวมมาอย่างละเอียดเสียเองไปอย่างน่าเสียดาย และทำให้ข้อสันนิษฐานต่างๆ ในเรื่องอาหารถูกลดค่าไป 

         ข้อสังเกตนี้ สามารถแบ่งออกเป็น ๔ ประเด็น ได้แก่

๑.เนื้อหาภายในเล่มที่ขาดการอ้างอิงในเนื้อหา (in-text citation) ที่ชัดเจน อาทิ การอ้างอิงกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน, เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน, ประติทินบัตรแลจดหมายเหตุ เล่ม๑ พ.ศ.๒๔๓๒ ที่ไม่ชัดเจนว่า ข้อมูลเหล่านี้เข้าถึงได้จากที่ใด หากเป็นสิ่งพิมพ์ เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่เท่าใด สำนักพิมพ์ใด หากเป็นวรรณคดีโบราณ ใช้สำนวนใด[6]

๒.การอ้างอิงการสื่อสารส่วนบุคคลที่ไม่อาจจะสืบค้นคืนได้ ควรมีการระบุวันเวลาที่มีการติดต่อหรือสัมภาษณ์ หลายครั้งมีการใช้ชื่อบุคคลซึ่งเป็นอาจารย์ นักวิชาการ แต่ไม่มีการระบุงานวิจัยอ้างอิงเพิ่มเติมของบุคคลนั้น หรืองานวิจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง, ระบุเพียงชื่องานวิจัย แต่ไม่ระบุรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม[7]

๓.การอ้างผู้บอก (informant) ชาวต่างชาติหรือคนที่รู้หลายภาษา ซึ่งเป็นการอ้างอิงการสื่อสารส่วนบุคคล มาอธิบายที่มาของชื่ออาหาร เช่น อธิบายคำในภาษาลาว ภาษาจีน ภาษามลายู แต่ไม่ระบุวันที่ บางครั้งผู้บอกภาษาไม่ใช่เจ้าของภาษานั้น หรือไม่มีความเกี่ยวข้องกับอาหารในท้องถิ่นนั้น และไม่มีการอ้างอิงเพิ่มเติมจากพจนานุกรม ทำให้ลดความน่าเชื่อถือของข้อมูล[8]

๔.ท้ายเล่ม ไม่มีการใช้คำว่า “บรรณานุกรม” แต่เลี่ยงไปใช้คำว่า “ตามรอยตำรับ” แทน ซึ่งเป็นเหมือนการคัดง้างกับข้อเขียนในเล่มหนังสือสารคดี เพราะจุดยืนของสารคดีเล่มนี้มีการเสนอแนวคิดรื้อสร้างคำว่า “ตำรับ” และคำว่า “อาหารโบราณ” และมีการวิพากษ์การเมืองด้านวัฒนธรรมแบบอนุรักษ์นิยมที่ต้องการแช่แข็งวัฒนธรรม ตั้งคำถามอำนาจในการกำหนดสูตรอาหารตลอดจนวิธีทำอาหาร การ”ตามรอย”นี้จึงเป็นการใช้คำที่ขัดแย้งต่อข้อเสนอ[9]

         โดยสรุปแล้ว ต้นสายปลายจวัก ได้ตั้งคำถามย้อนไปถึงต้นสาย ถึงที่มาที่ไปเรื่องวัฒนธรรมอาหารที่มีความซับซ้อนกว่าที่เคยรับรู้ และชวนให้ขบคิดถึงอำนาจการเมืองที่ควบคุมกรอบการศึกษาวัฒนธรรมในแบบเดิม แต่ปลายจวัก หรือองค์ความรู้ผลลัพธ์ปลายทางที่สารคดีใช้การเขียนแบบกึ่งทางการ ไม่ยึดติดกับอำนาจเป็นการแสดงจุดยืนที่น่าสนใจ เน้นให้ผู้อ่านเข้าถึงได้ แต่ไม่ควรละทิ้งการอ้างอิงบรรณานุกรมในแบบวิชาการที่จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของหลักฐานและสนับสนุนข้อโต้แย้งให้แข็งแรงขึ้น หนังสือสารคดีเล่มนี้ที่มีการศึกษาข้อมูลในหลายทางและค้นคว้าหลายแหล่งทั้งปฐมภูมิและทุติยภูมิ จึงสร้างข้อกังขาภายในงานด้วยการไม่อ้างอิงและการไม่จัดเรียงลำดับข้อมูลให้เป็นระบบ  เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง 

 

[1] กฤช เหลือลมัย. ต้นสายปลายจวัก. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๖๓.

[2] ไม่ปรากฎผู้แต่ง. สารคดี. สืบค้นเมื่อ ๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๔, จากเว็บไซต์: https://dictionary.orst.go.th/

[3] วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง. สารคดีคือ... (๒๕๕๒) สืบค้นเมื่อ ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๔, จากเว็บไซต์:https://www.sarakadee.com/2019/01/14/sarakadee-is/

[4] วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง, ๒๕๕๒. อย่างไรก็ตามวีรศักดิ์ชี้ว่า สำหรับเขา สารคดีควรใช้เจาะจงกับงานเขียนที่ตรงกับคำว่า feature ในภาษาอังกฤษ ที่มีลักษณะเหมาะจะลงนิตยสารเชิงข่าวสารคดี แม้จะยอมรับว่าในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ของไทยใช้คำว่า สารคดี ในการเรียกรวมงานเขียนประเภท non-fiction คืองานเขียนที่มีใช่บันเทิงคดี

[5] กฤช เหลือลมัย, ๒๕๖๓. หน้า ๒๖.

[6] กฤช เหลือลมัย, ๒๕๖๓. หน้า ๒๖.  

[7] ดังจะเห็นได้จาก กฤช เหลือลมัย, ๒๕๖๓. หน้า ๒๖ “การศึกษาของอ. Bernard Maloney อ้างโดย อ.รัศมี ชูทรงเดช” แต่ไม่มีการระบุชื่องานวิชาการที่ใช้อ้างอิง, หน้า ๔๒ อ้างอิงชื่องานวิชาการและปีที่พิมพ์ แต่ไม่ระบุรายละเอียดบรรณานุกรมให้ครบถ้วน, หน้า ๔๓ ไม่ระบุชื่อและรายละเอียดงานวิจัยใดเลยให้ชัดเจน “อ.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ก็เคยเขียนไว้นานแล้วว่า” 

[8] ดังจะเห็นได้จาก กฤช เหลือลมัย, ๒๕๖๓. หน้า๕๐ และ ๕๒, หน้า ๑๖๘ “สมาอูเด คือ น้ำพริกกุ้ง เพื่อนมุสลิมบอกว่าอย่างนั้น”, หน้า ๑๒๕ แกงร้วม แกงคั่วหอยขมที่มาจากภาคกลาง ผู้เขียนสรุปว่าไม่ทราบที่มาของคำว่าหอยขมในภาคกลาง เพราะเพื่อนอิสานเรียกอีกแบบว่าหอยจุ๊บ, การอ้างอิงข้อมูลที่ไม่มีที่มาที่ไปแน่ชัดและไม่มีการจัดเก็บข้อมูลที่น่าเชื่อถือ(grey data) เช่น ข้อมูลในเว็บบอร์ด ฟอรัม สื่อสังคมสาธารณะ

[9] กฤช เหลือลมัย, ๒๕๖๓. คำนำในหน้า๘. “มุ่งแผ่ให้เห็นวัฒนธรรมอันหลากหลายที่สนทนาซ้อนทับกันไปมาอย่างน่าอัศจรรย์ (...) จนไม่อาจเผด็จการสงวน “ความจริงแท้” ไว้ที่ชาติใด สูตรใด ตำรับใด” 

 

 

 

 

 ~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

 

ณ ที่ซึ่งความจริงไม่อาจดํารงอยู่ :

เจ้าความจริงผู้น่าสงสาร

 

 

วีรพล พูลแก้ว

 

 

 

หากมนุษย์คือผู้สร้างสรรค์วรรณกรรมวรรณกรรมก็เป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี เปรียบกับช่างที่ทํากระจก หากเขาต้องการรู้ว่ารูปร่างหน้าตาของตนเป็นอย่างไร เขาก็ต้องสร้างกระจกขึ้นมาหนึ่งบาน เพื่อที่จะได้เห็นภาพที่สะท้อนออกมาตามใจปรารถนาของตนเอง กระจกที่สร้างนั้นมิได้มีไว้เพื่อสําหรับส่องตนเองแต่เพียงผู้เดียว แต่ยังมีไว้เพื่อส่องรูปร่างของบุคคลหรือสิ่งอื่น ๆ อีกประการหนึ่ง ณ ที่ซึ่งความจริงไม่อาจดํารงอยู่ คืองานเขียนแนว Psychological Thriller หรือแนวขู่ขวัญทางจิตวิทยาที่ได้รับการสรรค์สร้างจากปลายปากกาของ ปองวุฒิ รุจิระชาคร ด้วยสํานวนภาษาที่ชวนให้ติดตามเรื่องราวที่เกินความคาดหมายของผู้อ่านทําให้กลายเป็นความโดดเด่นของวรรณกรรมเรื่องนี้ 

แด่เจ้าความจริงผู้น่าสงสารคือ คํานําของเรื่องราวทั้งหมดที่ได้ปรากฏสู่สายตาของผู้อ่าน เพราะ เป็นส่วนที่คนให้ความสนใจและตั้งคําถามกับวลีนี้ว่า ทําไมความจริงที่อยู่ในเรื่องจึงน่าสงสาร? ด้วยแนวทางของการเขียนวรรณกรรมแนว Psychological Thriller คือการเล่นกับความคิดของผู้อ่าน ทําให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกไม่ไว้วางใจเรื่องราวในเรื่องหรือฉากตอนใดตอนหนึ่ง จนเกิดอาการกลัวหรือหลอนตามไปกับตัวอักษรที่ผู้เขียนใช้บรรยาย แม้จะไม่มีเรื่องที่กระทบต่ออารมณ์และจิตใจอย่างรุนแรง เช่น ผีหรือสัตว์ร้าย แต่แค่เพียงมนุษย์สองมือสองเท้าก็สามารถสร้างความกลัวให้เกิดในจิตใจของคนอ่านได้  

มีคํากล่าวที่ว่า ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ซึ่งตรงกับในพุทธศาสนสุภาษิตที่กล่าวว่า สจฺจํ เว อมตา วาจาหมายถึง วาจาจริงย่อมเป็นอมตะ แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เราให้ความสําคัญกับความจริงของคําพูดและการกระทําที่มักจะทําสอดคล้องกันเสมอ จนเป็นวลีที่พูดกันติดปากในหมู่คนที่เชื่อมั่นในความซื่อสัตย์ว่าคิดอย่างไรพูดอย่างนั้น พูดอย่างไรทําอย่างนั้นเพราะความสําคัญที่มนุษย์เราให้ค่านี้ทําให้เมื่อมีผู้ทําผิดขนบจารีตหรือขอบเขตของความจริงก็จะมีบทลงโทษหรือการตั้งข้อสังเกตแก่บุคคล จนบางทีเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในสังคมกลายเป็นว่าเกิดความจริงที่เราให้ค่าทั้งสิ้น มิได้เกิดจากการกระทําของบุคคล 

แม้ความจริงจะเป็นที่ต้องการให้เกิดและเป็นตัวธํารงสังคมให้เดินไปตามกรอบและแนวทางที่ดี แต่ก็มักจะมีผู้ก้าวเดินออกนอกกรอบของวิถีประชาเพื่อทําตามวิถีของตนเอง อย่างคนในตําบลดงกาหลงที่มีคนกลุ่มหนึ่งกําลังไล่ล่าตามหาความจริงเกี่ยวกับสาเหตุการตายของครูใหญ่ในโรงเรียนประจําตําบล จากคนที่ฉีกกฎเกณฑ์ของสังคมและถูกมองว่าเอาเปรียบชาวบ้าน ส่วนคนอีกกลุ่มก็กําลังปกปิดรอยรั่วของวิถีประชาที่ตนเองฝ่าออกมา ซึ่งจุดเริ่มต้นทั้งหมดเกิดจากคนที่ชาวบ้านนับถือและยกให้เป็นคนที่มีคุณวุฒิ และวัยวุฒิสมควรแก่การบูชา เมื่อบุคคลอันเป็นที่เคารพและรักตายไปย่อมสร้างความเศร้าโศกเสียใจมาสู่ คนที่อยู่ภายหลัง จนนําไปสู่มหากาพย์การเรียกร้องความจริงและความยุติธรรมจากคนในตําบลดงกาหลงแห่งนี้

 

อย่ามองคนที่ภายนอก 

ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าเรานั้นมักจะตัดสินคนจากภายนอกหรือการพบเจอเพียงชั่วครู่ชั่วยาม เท่านั้น อย่างคนในตําบลดงกาหลงที่เห็นเฮียสุรเดชเศรษฐีคนใหม่ว่าเป็นผู้ที่กลับมาบ่อนทำลายบ้านเกิดตนเอง โดยเขาให้เหตุผลว่าจะมาพัฒนาให้ดงกาหลงเจริญสมสมัย หากแต่การสร้างสนามกอล์ฟของเฮียสุรเดชได้สร้างความลําบากใจและสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน เพราะน้ำท่าที่เคยไหลเต็มตลิ่งตลอดสายไม่เคยแห้ง บัดนี้กลับแห้งแล้งไม่พอทําเรือกสวนไร่นา ผู้ใหญ่ของตําบลอย่างกํานันศักดิ์และครูใหญ่ชัชจึงต้องออกโรงมาเป็นปากเป็นเสียงให้แก่ชาวบ้าน ทั้งสองคนนี้ได้รับการยอมรับและความเคารพนับถือจากชาวบ้านทั้งใกล้ไกล ทั้งนี้เพราะกาลเวลาและหน้าที่ที่ได้รับทําให้ทั้งสองคนได้ก้าวไปอยู่ในจุดที่ชาวบ้านในตําบลดงกาหลงพร้อมที่จะก้าวตาม

การเข้ามาของเฮียสุรเดชได้พรากความสงบสุขของชาวบ้านดงกาหลงให้หายไป ความเจริญที่เจ้าตัวอ้างทําให้กลายเป็นปฐมเหตุแห่งโศกนาฏกรรมที่มีเงื่อนงํา และเพราะการตายของครูใหญ่ทําให้เฮียสุรเดชตกเป็นเป้าสายตาของชาวบ้าน จุดศูนย์รวมของความเชื่อมั่นและศรัทธาของชาวได้พังทลายลง พร้อมกับการลุกฮือเพื่อทวงถามความยุติธรรมจากกระบวนการทางกฎหมาย แต่เพราะอํานาจและเงินตราได้ทําให้กลิ่นคาวเลือดของครูใหญ่จางหายไปจนไม่อาจทวงถามความยุติธรรมให้กับตนเองได้ 

 

สิ่งที่เห็นไม่ใช่ความจริงทั้งหมด 

เมื่อการสืบสวนดําเนินต่อไปเรื่อย ๆ ทําให้ค้นพบความจริงบางอย่างที่ไม่อาจปักใจให้เชื่อได้ คือ กระเป๋าหนังประจําตัวของครูใหญ่ที่อยู่ในมือของภารโรงของโรงเรียน ภาพที่อยู่ภายในกระเป๋าคือภาพที่ ล่อแหลมและไม่ควรมาปรากฏในกระเป๋าของคนที่ชาวบ้านให้ความเชื่อมั่นและมองว่าเป็นคนดีมาตลอดแต่สิ่งใดจะเป็นตัวการันตีความบริสุทธิ์ของคนตายได้ เพราะคนตายไม่อาจออกเสียงมาแก้ต่างให้ตนเอง หรือใครได้อีก มีเพียงคนเป็นที่ต้องหาข้อแก้ต่างและปั้นหน้าสู้กับทุกเรื่องราว 

คนที่ออกมาปกป้องครูใหญ่จากข้อครหา คือ กํานันศักดิ์ คนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ใหญ่และน่ายําเกรงของชาวบ้าน แต่ใครจะรู้ว่าภายใต้คําพูดและการกระทําของกํานันคือละครฉากใหญ่ที่สร้างขึ้นมาเพื่อปกปิดสิ่งที่ตนเองและคนอื่น ๆ กําลังค้นหากัน เส้นเรื่องของวรรณกรรมนี้เล่าผ่านเด็กหนุ่มที่กําลังจะเข้าไปเรียนกฎหมายในเมืองหลวงของประเทศ แต่ว่าวันนี้กลับต้องมายืนอยู่เคียงข้างคนที่กำลังปกปิดความจริงและหลาย ๆ ครั้งก็ประจันหน้ากับความจริงที่กําลังตามหาอย่างไม่รู้ตัว คือ ฆาตกรที่ฆ่าครูใหญ่ หากเราได้ไปยืนในจุดนั้น เราอาจจะประหวั่นพรั่นพรึงจนไม่อาจดํารงตนให้ยืนตรงได้ เพราะคนที่เราเคยไว้ใจพร้อมที่จะสนับสนุนทุกการกระทําและอุดมการณ์ที่มีร่วมกันมันจะเพียงพอสําหรับหักล้างคราบเลือดที่อยู่ในมือของเขาได้หรือไม่ ยังคงเป็นคําถามคาใจของเด็กหนุ่มต่อไป เพราะความจริงที่ค้นหาและคิดมาตลอดว่าต้องเป็นแบบนั้นกลับตรงกันข้าม ความเชื่อใจความรักและเคารพจะสามารถเอาชนะความจริงที่เที่ยงแท้ได้หรือไม่เป็นสิ่งที่กันต์ต้องหาคําตอบให้แก่ตนเอง  

 

ความยุติธรรมที่ต้องแลกมาด้วยชีวิต 

หลานของของครูใหญ่อย่าง พล พยายามต่อสู้กับอํานาจและเงินตรารวมทั้งกระบวนการยุติธรรมที่ ส่องแสงริบหรี่เพื่อหวังว่าจะพบคนร้ายที่ฆ่าลุงของตนเอง แต่จนแล้วจนรอดเรื่องราวก็เป็นไปแบบที่มันเป็นอยู่ประจํา คือ ปล่อยให้เรื่องเงียบแล้วค่อย ๆ หายไปจากความทรงจําและความพยายามอยากรู้ของผู้คนไปเอง นับว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมของไทย ยิ่งห่างไกลความเจริญในเมืองหลวงยิ่งทําให้ความคืบหน้าของเรื่องเป็นไปอย่างล่าช้า จนในที่สุด ความอดทนของการต่อสู้และการใส่ร้ายก็ได้มาถึงจุดสิ้นสุด หลานชายของครูใหญ่กลายเป็นศพสังเวยความจริงและล้มล้างระบบอุปถัมภ์ของตําบลได้สําเร็จ การตายของพลและการไหม้ของสนามกอล์ฟทําให้เรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ในหน้าจอโทรทัศน์และช่องทางการสื่อสารไร้สาย สะท้อนความเป็นไปของสังคมไทยได้อีกประการว่าเรากําลัง ขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทั้งที่เรามีระบบยุติธรรมในการหาความจริง แต่มัน กลับไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นหรือความจริงใจให้ปรากฏแก่ผู้ใช้สิทธิ์ได้ จึงต้องใช้สื่อออนไลน์เป็นตัวขับเคลื่อนให้ความจริงปรากฏสู่สายตาคนในสังคม สะท้อนภาพความจริงที่น่าเศร้าว่าตราชูแห่งความเที่ยงธรรมนั้นได้เอนเอียงลงเพราะมีผู้ใช้อํานาจถ่วงจนเสียสมดุลหรือผิดไปจากลักษณะที่มันควรจะเป็น

 

เจ้าความจริงผู้น่าสงสาร  

วรรณกรรมเรื่อง ณ ที่ซึ่งความจริงไม่อาจดํารงอยู่ คือเรื่องราวของคนที่กําลังค้นหาความจริงโดน คนที่เคารพปกปิดความจริงของเรื่องราวทั้งหมดไว้ ภายใต้ใบหน้าอันเป็นมิตรและการกระทําอันเสมือนไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้น แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่อาจทําให้ความจริงเปิดเผยออกมาได้ กลับกันมันยังคงกระจ่างแจ้งอยู่ภายในจิตใจของเด็กหนุ่มที่กําลังจะก้าวเข้าไปเรียนกฎหมาย ฟังดูอาจจะย้อนแย้งกับเรื่องราวเพราะเด็กที่รู้ความจริงว่ามีสิ่งที่ขัดแย้งกับกฎหมายและศีลธรรมกําลังเกิดแต่เขาก็ไม่สามารถจะทําอะไรได้เพราะความสัมพันธ์และความคิดจิตใจที่ตีรวมผสมกันจนไม่สามารถกลั่นออกมาเป็นถ้อยคําได้ ทําให้ความจริงที่ควรจะกระจ่างแจ้งชัดเจนกลับต้องถูกเหยียบไว้ด้วยอํานาจและความเชื่อใจ ในที่สุดความจริงนั้นก็เงียบหายและตายไปพร้อมกับเจ้าของความคิด นับได้ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้แสดงโครงสร้างของจิตใจมนุษย์และสังคมอย่างมีเงื่อนงํา เรื่องราวทั้งหมดนี้ได้หล่อหลวมรวมกันเป็นชิ้นงานที่ควรแก่การอ่าน ทุกความคิดและอารมณ์ที่เกิดขณะอ่านย่อมมีที่มาจากตัวอักษรที่ร้อยเรียงรวมกันอย่างลงตัว พร้อมให้ผู้อ่านทุกคนได้เข้าไปร่วมกันค้นหาความจริงในตําบลดงกาหลงพร้อม ๆ กัน 

 

อ้างอิง

ปองวุฒิ รุจิระชาคร. (2561). ณ ที่ซึ่งความจริงไม่อาจดำรงอยู่. กรุงเทพฯแพรวสำนักพิมพ์.

 

 

 

 ~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

 

คนในนิทานสู่คนนอกนิทาน :

เรื่องเล่าศีลธรรมในสัญชาตญาณมืด

 

 

ณัฐกรณ์   สร้อยสนธิ์

                                                

 

          “ความจริงมนุษย์เวียนว่ายอยู่ในทะเลดำกฤษณา มาพร้อมกับการก่อเกิดชาติพันธุ์ของมนุษย์แล้ว เช่นเดียวกับสัตว์เดรัจฉานต่างกันเพียงรูปแบบและวิธีการเท่านั้น จิตใจแม้จะสูงกว่าสัตว์ แต่คราวใดที่จิตสำนึกบกพร่อง จิตใต้สำนึก (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรูปเงาของความอัปลักษณ์) ก็จะแสดงตัวออกมาให้เห็นในหลายรูปแบบ” เนื้อหาบางส่วนจากคำนำของ กร ศิริวัฒโณ ที่เลือกหยิบยกเรื่อง “เพศ” มาเล่าในงานเขียนคนในนิทาน กล่าวถึงสัญชาตญาณภายใต้จิตใจของมนุษย์ ที่แม้มนุษย์ถูกยกย่องให้สูงส่งกว่าสัตว์ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ศีลธรรม” แต่เมื่อถึงคราวที่มนุษย์เผยสัญชาตญาณที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในออกมาบางครั้งมนุษย์เราก็อาจเป็นเฉกเช่นเดียวกับสัตว์  

 

          เรื่องราวเพศวิตถารการเสพสมระหว่างมนุษย์กับสัตว์มีเล่าขานในนิทานตั้งแต่โบราณกาลมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งเบื้องหลังนิทานที่คอยสร้างความบันเทิงแก่คนในสังคมอาจมาจากชีวิตของบุคคลที่มีเลือดเนื้อเช่นเดียวกับ “คนในนิทาน”

 

         “เพราะบางครั้งคนในนิทานมันเคยเป็นคนที่มีชีวิตอยู่จริงไงล่ะ” (คนในนิทาน, ๒๕๖๑, หน้า ๓๑๒)

 

          คนในนิทานเป็นงานเขียนบอกเล่าเรื่องราวสังคมย้อนยุคเกษตรกรรมของคนลุ่มทะเลสาบ จังหวัดสงขลา ผู้คนใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย อาศัยหากินพึ่งพิงธรรมชาติ เป็นสังคมที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ครอบครัวของเทิ้มทดเป็นหนึ่งในครอบครัวสังคมเกษตรกรรม มีเทิ้มทด นิ่มน้อย ลูกสาวสองคน คือ ดอกบวบและดอกแตง ต่อมาดอกบวบแต่งงานกับกริช ส่วนดอกแตงแต่งงานกับสินชัย กลายเป็นครอบครัวเล็กภายใต้ครอบครัวใหญ่ในบ้านเทิ้มทดซึ่งมีอาวุโสมากที่สุดเป็นผู้นำครอบครัว ขณะเดียวกันกริชลูกเขยคนโตพยายามแย่งชิงอำนาจเพื่อเป็นผู้นำครอบครัว เมื่อกริชล่วงรู้ความลับว่าพ่อตาเสพสมกับสุนัข ความอัปยศนี้กลายเป็นเครื่องมือในการต่อรองของลูกเขย ในศึกการขับเคี่ยวระหว่างเทิ้มทดผู้เป็นพ่อตากับกริชผู้เป็นลูกเขย

 

       “พอคิดถึงเรื่องที่หลังโบสถ์เก่าในบ่ายวันนั้นแล้วแกฉุนกึกขึ้นมาทันที มันทำให้เทิ้มทดรู้สึกว่าตัวเองตกอยู่ในความไม่ปลอดภัยตลอดเวลา” (คนในนิทาน, ๒๕๖๑, หน้า ๓๒)

 

         ผู้เขียนใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแบบ “นิทานซ้อนนิทาน” คือ ให้ตัวละครตาเฒ่าเป็นผู้เริ่มเล่าเรื่องคนในนิทาน ซึ่งเป็นนิทานเรื่องหลักกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเทิ้มทด กริช และสมาชิกคนอื่นในครอบครัว ขณะเดียวกันภายในเรื่องหลักก็มีการเล่านิทานเรื่องรองเกี่ยวกับตำนาน ความเชื่อต่าง ๆ ผ่านบทบรรยายและบทสนทนาของตัวละคร มีนิทานเรื่องสำคัญ คือ นางมณโฑ สามารถเล่าซ้อนทับเป็นภาพเปรียบเทียบตัวละครได้อย่างแยบยล

 

         ภายในเรื่องมีตัวละครหลัก คือ เทิ้มทด และกริช ทำหน้าที่ดำเนินเรื่องในศึกการขับเคี่ยวระหว่างพ่อตากับลูกเขย ส่วนตัวละครรอง คือ นิ่มน้อยผู้เป็นแม่ยาย ดอกบวบและดอกแตงผู้เป็นลูกสาว และสินชัยผู้เป็นลูกเขยคนเล็ก ทำหน้าที่ดำเนินเรื่องพร้อมกับตัวละครหลัก ช่วยคลี่คลายปมต่าง ๆ ตลอดเรื่อง การที่ผู้เขียนสร้างให้มีตัวละครไม่มากนัก ช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพตัวละครชัดเจนยิ่งขึ้น สามารถจับคู่ตัวละครเพื่อเปรียบเทียบกันได้ คือ เทิ้มทดคู่กับนิ่มน้อย กริชคู่กับสินชัย และดอกบวบคู่กับดอกแตง 

 

         เมื่อเปรียบเทียบกันจะพบว่าทุกตัวละครล้วนมีลักษณะเป็นคู่ตรงข้าม คือ เทิ้มทดมีอุปนิสัยใจร้อน หุนหันพลันแล่นคอยขัดแข้งขัดขากริชลูกเขยคนโตตลอดเวลา ต่างกับนิ่มน้อยมีอุปนิสัยใจเย็นประนีประนอมมักตามอกตามใจเห็นดีเห็นงามกับกริชอยู่เสมอ ส่วนกริชเป็นคนมีไหวพริบ ฉลาดแกมโกง ช่างพูดช่างเจรจา ต่างกับสินชัยเป็นคนซื่อตรง พูดน้อย เกรงอกเกรงใจผู้อื่น ส่วนดอกบวบเป็นที่รักของแม่ เพราะนิ่มน้อยถูกชะตากับกริช ต่างกับดอกแตงเป็นที่รักของพ่อ เพราะเทิ้มทดถูกชะตากับสินชัย การสร้างตัวละครให้มีลักษณะคู่ตรงข้ามจึงช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นลักษณะนิสัยและเข้าใจเหตุผลการกระทำของตัวละครมากยิ่งขึ้น

 

        “นวนิยายอีโรติกย้อนยุคสังคมเกษตรกรรม” เป็นคำนิยามที่ตีพิมพ์บนหน้าปกหนังสือ แม้นิยามว่าเป็นนวนิยายอีโรติก แต่กลับพบฉากเสพสังวาสเป็นส่วนน้อย มีปรากฏเฉพาะตอนสำคัญของเรื่องเพื่ออธิบายความคิด ภูมิหลังการกระทำของตัวละคร ส่วนฉากที่พบตลอดทั้งเรื่อง คือ ฉากสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คนยุคสังคมเกษตรกรรม ผู้เขียนบรรยายสภาพความเป็นอยู่วิถีชีวิตของคนลุ่มทะเลสาบสงขลาได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่การประกอบอาชีพ สภาพแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนค่านิยมความคิด ความเชื่อของผู้คน สามารถถ่ายทอดผ่านการบรรยายในฉากต่าง ๆ อย่างละเอียดลออและสมจริง

 

     “กลิ่นเมล็ดยาร่วงหมกไฟยังโชยอยู่ในบรรยากาศเจือจาง รสกำซำยังคุ้นลิ้น น้ำเริ่มขังอยู่ในนาหลายเพลาแล้ว ดินนาซับน้ำพองตัวอิ่มดี คุ้ยเขี่ยดมดูดินเริ่มหอมกรุ่น บอกว่าใกล้ถึงเวลาเปิดนาลงไถกันได้บ้างแล้ว” (คนในนิทาน, ๒๕๖๑, หน้า ๑๖)

 

        โดยเฉพาะการบรรยายฉากสภาพแวดล้อมอย่างละเอียดลออช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจน เนื่องจากผู้เขียนบรรยายรายละเอียดเกือบทุกองค์ประกอบตั้งแต่ต้นไม้ใบหญ้า สิงสาราสัตว์ ฝนฟ้าอากาศ ซึ่งการบรรยายรายละเอียดที่อัดแน่นเช่นนี้อาจเป็นดาบสองคมสร้างความรำคาญใจแก่ผู้อ่านได้เช่นกัน อาทิ จิ้งจกร้องทัก ยุงรุมตอม มีปรากฏซ้ำ ๆ ในหลายฉากหลายตอนตลอดเรื่อง ผู้อ่านบางท่านอาจไม่ชอบรายละเอียดส่วนนี้ เพราะมีมากเกินไป ขณะเดียวกันผู้อ่านบางท่านอาจชื่นชอบ เพราะช่วยสร้างจินตภาพและเพิ่มอรรถรสระหว่างการอ่าน

 

         อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจในงานเขียนเรื่องนี้ คือ การนำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์เชิงกามารมณ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์อย่างโจ่งแจ้ง ผ่านการกระทำของเทิ้มทดกับสัตว์เลี้ยง อย่างไรก็ดีนิทานเรื่องเล่าของ  กร ศิริวัฒโณ ไม่ได้มุ่งเน้นนำเสนอภาพการเสพสมลามกอนาจารระหว่างมนุษย์กับสัตว์ แต่เป็นการเปิดประเด็นเรื่อง “เพศ” อันนำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ศีลธรรม” ของมนุษย์

 

         การกระทำของ “คน” ในนิทานแสดงให้เห็นการอุปลักษณ์พฤติกรรมของมนุษย์ว่าเป็นเฉกเช่นเดียวกับสัตว์ เมื่อกิเลสกลืนกินศีลธรรมมนุษย์ย่อมเผยสัญชาตญาณที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในออกมาดังเช่นเทิ้มทดผู้ถูกกิเลสกระตุ้นความต้องการให้เสพสมกับสัตว์เลี้ยง รวมทั้งกริช นิ่มน้อย และดอกแตง ผู้ถูกกิเลสละลายความรู้ผิดชอบชั่วดีให้ปราถนาผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่ครอง เผยภาพนางสองแขนน่าอัปลักษณ์ในจิตใจ ชะตากรรมของ “คน” ในนิทานสอนให้ตระหนักว่าเมื่อคราวใดที่มนุษย์ละศีลธรรม เพลี่ยงพล้ำให้แก่สัญชาตญาณมืดในใจตน อาจนำพาความหายนะมาสู่ผู้ที่ตกหลุมพรางของสัญชาตญาณมืด

 

       “นั่นเพราะภายในจิตใจของแกมีนางสองแขนแอบซ่อนตัวอยู่เหมือนที่เทิ้มทดว่านั่นเอง พอเผลอนางสองแขนก็จะแสดงตนออกมาทำลายทุกสิ่งทุกอย่างให้ย่อยยับไปในที่สุดและยากจะแก้ไขด้วย” (คนในนิทาน, ๒๕๖๑, หน้า ๒๘๕)

 

        “คนในนิทาน” จึงไม่ใช่หนังสือนิทานที่เริ่มเล่า...กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...แต่เป็นงานเขียนที่กลั่นกรองจากความคิดประสบการณ์และถ่ายทอดอย่างละเอียดลอออันนำไปสู่การสะท้อนสัญชาตญาณ“มืด” ของมนุษย์ และสะท้อนถึงจิตใจของคนนอกนิทาน ผู้ซึ่งถูกตีกรอบจากสังคมด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ศีลธรรม” อย่างแน่นหนาเพื่อกักขังสัญชาตญาณที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน

 

 

 ~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~ 

Visitors: 81,110