ระดับอุดมศึกษา 2

บทวิจารณ์ 
 
-  เต้นรำในวอดวาย: มีบางสิ่งมอดไหม้ในความสัมพันธ์
   โดย :: ชนมินทร์
 
-  เสรีภาพ ทางเลือก...ความรับผิดชอบ : แม้แต่ "ในโลกเล่า" เราก็ยังต้อง -เลือก-?
   โดย :: ต่อพงศ์ ดำรงศิลป์
 
-  ทุ่งหญ้า ป่าข้าว เจ้าเขากาง และผม : ความรัก ความผูกพัน และมิตรภาพของเด็กชายโข่งที่สะท้อนวิถีชีวิตชาวชนบท
   โดย :: ณัฐดนัย  เผ่าพันธุ์แปลก
 
-  นัยเรื่องเล่าของเหล่าสัตว์: ส่องภาพทับซ้อนวิถีแห่งมนุษย์บทวิจารณ์รวมเรื่องสั้นคืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ
   โดย :: วรโชติ ต๊ะนา
 

“อนุสาวรีย์” แห่งเจตจำนน

   โดย :: กัลยรัตน์ ธันยดุล
 
- Hi! So-Cial ไฮโซ...เชียล : บนพื้นที่โลกออนไลน์” มุ่งขับเคี่ยวบางความหมายโลกออนไซต์
  โดย :: อภิชัย อุทัยแสง
 
- กลับดัก
  โดย :: สุทธิชา วิเศษนคร
 
- โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก”:หญิงสาวผู้เป็นตัวเอกของเรื่องราวชีวิตคู่ 
  โดย :: ณัฐพร พิชัยศรแผลง
 
- ทะเลสาบน้ำตา : โชคชะตาของเด็กผู้ไร้เดียงสา
  โดย :: จักรพงศ์ อินทร์ศรี
 
ทุ่งหญ้า ป่าข้าว เจ้าเขากาง และผม:ภาพสะท้อนวิถีชีวิตชาวชนบทไทยกับปัญหาสังคมที่ต้องพบเจอ
  โดย :: เอกพจน์ อี้มัย
 
 
 
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

 

เต้นรำในวอดวาย: มีบางสิ่งมอดไหม้ในความสัมพันธ์

 

 

ชนมินทร์

 

 

         เต้นรำในวอดวายเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของ บริษฎ์ พงศ์วัชร์ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช 2562 ในภาพรวมเป็นหนังสือที่รวบรวมความเจ็บปวด ความสุขและความรักในความสัมพันธ์ที่วอดวายของทุกตัวละครในเรื่องสั้นยี่สิบสองเรื่อง ไม่มีเรื่องใดที่เป็นความรักอย่างปกติชนและไม่มีตอนจบตามแบบสุขนิยมในหนังสือเล่มนี้ หากเปรียบให้เรื่องราวในหนังสือเป็นการเคลื่อนไหวก็คงเริ่มด้วยการเต้นรำ เคลื่อนขยับไปตามฟลอร์ที่กำลังลุกเป็นไฟและท้ายที่สุดก็วอดวาย เหลือไว้แค่เศษซากที่ติดไฟกรุ่นอยู่เพียงเท่านั้น

         หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ไม่ถือว่าแปลกใหม่สำหรับผู้คร่ำหวอดในวงการหนังสือ กลวิธีการเล่าเรื่องเรียบง่าย ไม่หวือหวา เป็นความธรรมดาที่ชวนให้รู้สึกติดตาม เรื่องสั้นแต่ละเรื่องถูกเขียนขึ้นผ่านมุมมองของบุคคลที่หนึ่งทั้งด้วยคำว่า “ผม” และ “ฉัน” เรียกแทนตัวละครที่ให้ความสำคัญด้วยว่า “คุณ” และเรียกแทนบุคคลที่ถูกกล่าวถึงว่า “เขา” “เธอ” และ “หล่อน” คำสรรพนามไม่ใช่เพียงคำเรียกแทนแต่ยังแฝงไว้ด้วยความรู้สึก ทั้งถวิลหา ทั้งรักใคร่และโกรธแค้นชิงชัง ผู้เขียนลดทอนความสำคัญของตัวละครอื่นไปโดยแทบจะไม่กล่าวถึงหากไม่จำเป็น วิธีการเขียนที่ทำให้ทุกอย่างถูกมองผ่านมุมมองอันจำกัดนี้เองที่นำเสนอภาพของความสัมพันธ์ที่วิกลของคนวิปริตที่ไม่อาจเผยตัวตนเพื่อบอกเล่าความวิปลาสอันซุกซ่อนอยู่ในส่วนลึกของตัวเองเองได้ 

 

   เต้นรำ: ความรักทำให้คนตาบอด

          ความรักเป็นนามธรรมที่ไม่มีรูปลักษณ์ จับต้องไม่ได้จนบางครั้งอาจไม่รู้สึกว่ามีอยู่ คนในความสัมพันธ์ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าความสัมพันธ์ที่ตัวเองพยายามรักษาไว้มีความรักอยู่จริงหรือไม่ การสัมผัสไม่ได้ถึงความรักทำให้คนรู้สึกไม่ปลอดภัย แต่คนส่วนมากก็ยังคงเชื่อในนามธรรมอันถูกเรียกว่าความรักและปล่อยให้รักควบคุมตัวเอง 

          ความรักทำให้คนตาบอดดูจะเป็นข้อความที่เหมาะสมที่สุดที่จะใช้นิยามความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครในแต่ละเรื่อง พวกเขาทำเรื่องโง่เง่าเพราะความรัก ทำผิดเพราะความรัก แต่ไม่มีใครเลยที่ถูกเยียวยาด้วยความรัก ความรักนำพาซึ่งความสุข ขณะเดียวกันก็มอบความทุกข์ให้กับคนที่คาดหวัง ผู้เขียนเสนอมุมมองเกี่ยวกับด้านที่ไม่สวยงามและความผิดหวังที่คนคนหนึ่งจะเจอได้หากตกหลุมรัก แต่ต่อให้รู้ดีว่าการตกหลุมรักเป็นเรื่องอันตรายก็ยังคงมีคนตอบรับคำเชื้อเชิญของคู่เต้นและก้าวเท้าลงมาบนฟลอร์เต้นรำ ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับเสียงเพลงและปล่อยให้ตัวเองอยู่ในห้วงของความรักอยู่เสมอ 

   จากตอน “ระหว่างเรา” แสดงตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจน

          “ระหว่างเราคืออะไร ผมเป็นอะไร” ผมขบกรามแน่น ยื่นคำขาด คุณยียวนแต่นัยน์ตาเถรตรงและคมกริบ ฉายแววแห่งความจริง 

          “คนรัก ชู้ เพื่อนสนิท ความคลั่งใคล้ แรงปรารถนา เธอเป็นทั้งหมด และก็ไม่ได้เป็นอะไรเลยหลังจากนั้น” 

         เมื่อพิจารณาจากข้อความจะเห็นว่าความสัมพันธ์ของ “ผม” และ “เธอ” เป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมและไม่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคมแต่ทั้ง “ผม” และ “เธอ” ก็ยังเลือกทำในสิ่งที่รู้อยู่แก่ใจว่าผิดโดยยกให้ความรักเป็นเหตุผลของการกระทำนั้น 

   วอดวาย: โหมไหม้

          ไม่ใช่ทุกความสัมพันธ์จะดำเนินไปอย่างเป็นสุข มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยึดเอาความรักเป็นเครื่องปลอบประโลมจิตใจด้วยความคาดหวังว่าความสัมพันธ์น่าอึดอัดที่ตัวเองกำลังติดอยู่จะดีขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วความสัมพันธ์ที่แย่มีแนวโน้มว่าจะแย่ลง เพราะโอกาสที่ความรักของฝ่ายหนึ่งจะเปลี่ยนใจอีกฝ่ายหนึ่งได้แทบจะไม่มี

          ในหนังสือเรื่องเต้นรำในวอดวายได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationship) เอาไว้ในเรื่องสั้นหลายเรื่อง โดยมากแล้วเป็นเรื่องราวของคนที่ติดอยู่ในความสัมพันธ์บีบคั้น น่าอึดอัดและชวนให้อยากหลบหนีออกมา ผู้เขียนสอดแทรกเรื่องเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวไว้อย่างกลมกลืน เข้ากันกับเนื้อเรื่องและโทนของหนังสือ แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกของผู้ตกเป็นเหยื่อที่ทำได้เพียงต้องจำใจยอมอดทนเป็นเหยื่อต่อไป

          ความรุนแรงในสถาบันครอบครัวเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ แม้เนื้อหาส่วนมากจะเน้นความสัมพันธ์ในเชิงชายหญิงแต่ผู้เขียนก็ยังสอดแทรกความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวเอาไว้ด้วย ด้วยโทนของหนังสือแล้ว ครอบครัวที่ปรากฏในเรื่องจึงไม่มีทางเป็นครอบครัวที่พรั่งพร้อมสมบูรณ์หรือเปี่ยมล้นด้วยความรักแต่เป็นครอบครัวอันดำเนินมาถึงจุดจบและจำเป็นต้องเลือกระหว่างแตกหักเพื่อรักษาตัวเองไว้หรือทนอยู่ต่อไปและวอดวายไปด้วยกันทั้งหมด

          จากตอน “เผา” เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด 

          “มึงต้องอยู่กับกูแบบนี้ไปจนวันตาย”

           เขาพูดและเหวี่ยงสายตาไปที่ร่างกลวงเปล่าของหล่อน ผมมองตามถ้อยคำนั้นไปจนสบกับนัยน์ตาบอบช้ำ 

           และ

          หล่อนเงยหน้าสบตาผม แววตานั่นกรีดร้องจากข้างใน ริมฝีปากเผยอมุบมิบเล็ดลอดซุ่มเสียงเป็นเศษคำฟังไม่ได้ศัพท์ แต่ถ้อยคำที่ชัดเจนกลับดังมาจากหลุมโพรงลึกยาวในร่างว่างเปล่านั้น

         ‘ช่วยด้วย’

          หากอ่านโดยไม่ตีความ “ผม” จะเป็นเพียงผู้เฝ้ามองเหตุการณ์คนหนึ่งซึ่งอาจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด แต่หากพิจารณาให้ลึกซึ้งกว่านั้น“ผม” คือลูกผู้เห็นทุกความรุนแรงที่เกิดขึ้นและไม่มีทางหยุดมันได้แม้ว่า “หล่อน” ผู้เป็นแม่จะร้องขอความช่วยเหลือก็ไม่มีทางที่ “ผม” และ“หล่อน” จะหลุดออกจากวงจรนี้ไปได้

 

   เถ้าถ่าน: สิ่งที่หลงเหลือ

          เมื่อความสัมพันธ์ไม่อาจดำรงอยู่จุดจบจึงจำเป็นต้องมาถึง การเลิกราเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะพาตัวเองออกจากสถานะเดิม แต่การเลิกรา การหย่าร้างและการเริ่มต้นใหม่มีไว้สำหรับคนที่กล้าพอและยินดีจะพาตัวเองออกจากวงจรอุบาทว์เท่านั้นที่จะทำได้ ดังนั้น จึงมีคนจำนวนมากที่ยังรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ด้วยความหวาดกลัวและปลอบประโลมจิตใจตัวเองด้วยความรักที่หมดลงไปนานแล้ว

          เต้นรำในวอดวายไม่ได้กล่าวถึงวิธีการหลีกหนีออกมาเลยแม้แต่นิดเดียว นอกจากจะไม่กล่าวถึงแล้วยังเขียนเล่าเรื่องราวที่ตัวละครหลักต้องทนอยู่กับความสัมพันธ์พิลึกพิลั่นต่อไป บ้างเต็มใจ ดังที่ปรากฏในตอน “ทิ้ง”

         ในนิรันดร์ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ฉันรักคุณ ที่เราพบเจอและพลัดพราก เกิดและตายด้วยหมายหัว ตีตราเป็นร่องรอยไว้ที่ดวงใจว่ามันเป็นของคุณ 

          แม้คุณจะไม่ต้องการก็ตามที

          บ้างจำใจ อย่างที่กล่าวถึงในตอน “กีต้าร์”

          คุณจะต้องติดแหง็กอยู่ที่นี่กับผม สวมบทเล่นละครครอบครัวแสนสุข เสแสร้งฉีกยิ้มในใบหน้าและกระอักกระอ่วนร่วมกันบนโต๊ะอาหาร 

          ทั้งเขา ผม และคุณ

         เมื่อพิจารณาจากข้อความข้างต้นแล้ว การนิยามความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ว่าเป็น “เถ้าถ่าน” ไม่ถือว่าเป็นการกล่าวเกินจริง ไฟมอดลงแล้ว เหลือไว้เพียงเศษไม้อันเป็นหลักฐานของความวอดวาย เศษไม้อุ่นร้อนเหล่านั้นไม่ต่างจากความสัมพันธ์ที่ดำเนินมาถึงจุดจบแล้วแต่ยังคงมีบางสิ่งยึดโยงเอาไว้จนไม่อาจเรียกได้ว่าสิ้นสุดอย่างแท้จริง ต่อให้ผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึงการเลิกรา ผู้อ่านก็คงทราบดีว่าความสัมพันธ์นี้ไม่มีทางออก มีแต่ต้องทนอยู่ไปจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะตายลงเหมือนอย่างเถ้าถ่านที่ไม่เหลือความร้อนอีกต่อไป

          ทั้งหมดที่ได้กล่าวไปในข้างต้นเป็นสิ่งที่ผู้เขียนได้สอดแทรกเอาไว้ในหนังสือเรื่องเต้นรำในวอดวาย กระตุ้นเตือนให้ผู้อ่านได้ฉุกคิด ตั้งคำถามและพยายามหาคำตอบให้กับตัวเองว่าตอนนี้เรากำลังเต้นรำอยู่บนฟลอร์ตามจังหวะเพลง หรือแท้จริงแล้วเพียงแค่เคลื่อนตัวไปตามเงาวูบไหวของเปลวไฟและนับถอยหลังรอวันกลายเป็นซากไหม้อยู่

          ดังนั้น เต้นรำในวอดวายจึงเป็นหนังสือที่เล่าถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทั้งความสัมพันธ์เชิงชู้สาวและความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่เต็มไปด้วยความเจ็บช้ำ ไม่สมหวังและไม่มีทางให้หลุดพ้นจากความวอดวาย ท้ายที่สุดแล้วจึงถูกเผาให้มอดไหม้ไปกับความสัมพันธ์ ทิ้งไว้เพียงเศษเถ้าและฝุ่นควันที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นใครสักคนมาก่อน และมีเพียงเจ้าของเศษซากเท่านั้นที่จะกอปรเอาผงเถ้าเพื่อประกอบสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ได้อีกครั้ง

 


 

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

 

เสรีภาพ ทางเลือก...ความรับผิดชอบ : 

แม้แต่“ในโลกเล่า” เราก็ยังต้อง-เลือก-?

 

ต่อพงศ์ ดำรงศิลป์

 

 

   เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ในโลกจริง” ทุก ๆ การตัดสินใจล้วนนำไปสู่การ-เลือก-กระทำที่ตามมาด้วยความรับผิดชอบทั้งสิ้น

          “วัฒน์ ยวงแก้ว”นักเขียนชาวสุราษฎร์ธานีผู้มีผลงานในบรรณพิภพมาอย่างต่อเนื่องเมื่อปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563) รวมเรื่องสั้นชุด“ในโลกเล่า”ได้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ทุกครั้งที่อ่านแต่ละเรื่องในหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้จนจบ ผมต้องกลับมาทบทวนอะไรบางอย่างอยู่เสมอ เพราะมันได้กระตุ้นต่อมคิดของผมอย่างไม่ปรานีปราศรัยซึ่งผมพบว่า เรื่องสั้นเหล่านี้มีจุดร่วมจุดหนึ่ง คือการขาดความตระหนักใน “เสรีภาพ”และ “ความรับผิดชอบ” ที่ปะทะกันกับ“กรอบคิดทางสังคม”ในความคิดและความรู้สึกของตัวละครอย่างรุนแรงแต่ท้ายที่สุด ตัวละครจะตัดสินใจ-เลือก-กระทำอย่างไร ผู้เขียนมักทิ้งไว้ให้เป็นปริศนาแก่ผู้อ่านที่ต้อง-เลือก-ขบคิดเองต่อไป

           เรื่องสั้นทั้ง 11 เรื่อง จาก “ในโลกเล่า”แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ “เล่าเรื่องโลก”และ“โลกเรื่องเล่า” ไล่เรียงสลับกันไปโดยเรื่องสั้นในกลุ่ม “เล่าเรื่องโลก” ประกอบด้วยเรื่อง จระเข้เล่าถึงชีวิตที่แตกต่างไปจากความทรงจำวัยเยาว์กับตำนานจระเข้ไอ้ขอนเรื่อง ใบหน้าและรอยทาง เล่าถึงทางแยกแห่งการตัดสินใจของแม่ที่คิดจะทำแท้งกับแม่ที่คิดจะทิ้งลูกตัวเองเรื่อง วันสิ้นเสียงเล่าถึงการปะทะกันระหว่าง“เสียงภายใน” กับ“เสียงแห่งเหตุผล” ท่ามกลาง“เสียงดนตรี” ในเหตุการณ์ลอบวางระเบิด เรื่อง ในหมอกเล่าถึงความขัดแย้งระหว่างปู่ที่เป็นคอมมิวนิสต์กับพ่อที่เป็นฝ่ายรัฐเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ลูกชายกลับต้องกลายมาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองกับพ่อของตนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรื่อง แมวและกรงขังเล่าถึงความฝันของหลานสาวและการปรากฏตัวของแมวดำที่สัมพันธ์กับเรื่องราวของคุณยายที่เสียชีวิตไปแล้วและเรื่องในสายตาของผู้เฝ้ามองเล่าถึงสิ่งที่เห็นภายนอกกับเหตุการณ์ในกุฏิ (เรื่องราวของพระสองรูปกับโยมผู้ชายคนหนึ่ง)

          ส่วนเรื่องสั้นในกลุ่ม “โลกเรื่องเล่า” ประกอบด้วยเรื่อง นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ)เล่าถึงความสัมพันธ์ของนักอ่านกับนักเขียนที่คิดนอกใจคนรักเรื่อง พื้นที่/ฉาก (ชีวิต)เล่าถึงการต่อสู้กันระหว่าง -เสรีภาพ- กับ –ความศรัทธา- ข้างในตัวตนของตัวละคร เรื่อง ว่าว เรื่องเล่า ชะตากรรมเล่าถึงความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนของตัวละครชายที่แตกต่างกันทั้งอายุและบทบาทหน้าที่เรื่อง ขบวนรถไฟในความซ้อนซ้ำเล่าถึงกระแสสำนึกอันวกวนของฆาตกรหญิงผู้ปฏิเสธตัวตนกับความรับผิดชอบและเรื่อง ของเล่นเล่าถึงความสัมพันธ์เชิงชู้สาวของนักเขียนกับนักอ่านที่ทั้งคู่ต่างมีคนรักแล้วหากสังเกตจากปกหนังสือตั้งแต่ปกของสำนักพิมพ์ต้นโมกข์ที่ออกแบบให้ชื่อ“ในโลกเล่า” เรียงดิ่งลงมาครองพื้นที่ฝั่งซ้าย ในขณะที่ฝั่งขวาเป็นรูปโลกอีกครึ่งใบใช้พื้นหลังสีขาวในส่วนครึ่งบน และพื้นหลังสีดำในส่วนครึ่งล่างของปกส่วนปกของผจญภัยสำนักพิมพ์มีรูปแท่งเหลี่ยมเหลื่อมซ้อนกันไปมาหลายรูปคล้ายกับภูเขาน้ำแข็งหลายลูกที่กำลังกลับหัวอยู่จึงทำให้เกิดคำถามว่า “ในโลกเล่า” กับ “ในโลกจริง” มีความเหลื่อมซ้อนกันหรือไม่ เราจะพิจารณาได้อย่างไรว่า สิ่งใด “ขาว” หรือ “ดำ”ในความสลับซับซ้อนนั้นอีกทั้งผู้เขียนได้นำส่วนสำคัญของเรื่องเล่า (Narrative)มาใช้ในรวมเรื่องสั้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็น“ในโลกเล่า” “เล่าเรื่องโลก” “โลกเรื่องเล่า” “ตัวละคร” ที่เป็น “นักเขียน” และ “นักอ่าน” “พื้นที่” “ฉาก” หรือ“กระแสสำนึก”ทำให้หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้มีสิ่งที่รอให้ผู้อ่านได้เข้าไปสัมผัส และค้นหาด้วยตนเองอยู่อย่างมากมาย...

   เสรีภาพ ทางเลือก...ความรับผิดชอบใน“วิกฤตการมีชีวิตอยู่”

          ขณะที่ตัวละครหลายตัวกำลังเผชิญหน้ากับความเป็นจริงบนทางแยกแห่งการตัดสินใจเราจะเห็นได้ค่อนข้างชัดว่าตัวละครกำลังประสบกับ“วิกฤตการมีชีวิตอยู่” (An existential crisis)หมายถึงภาวะของบุคคลที่กำลังเผชิญหน้ากับข้อจำกัดของมนุษย์อย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างเต็มที่ จนทำให้เกิดความขัดแย้งกับความวิตกกังวลขึ้นภายในตนเองซึ่งภาวะนี้จะสัมพันธ์กับวิกฤตของความหมายในชีวิต เสรีภาพ และความรับผิดชอบ[1]ตัวอย่างเช่นเรื่อง ใบหน้าและรอยทาง“หล่อน”ขณะกำลังจะทิ้งลูกตัวเอง ภาพของปีศาจได้ผุดขึ้นในกระแสสำนึก “เมื่อเห็นว่าเธอจนตรอก มันจึงแสยะยิ้ม...ใบหน้าของมันเริ่มเปลี่ยนไป เป็นใบหน้าที่ซ้อนทับกันของชายหญิงสองคน… (หน้า 68) และ “รุ่งอรุณ” ครูผู้ตั้งท้องโดยที่ไม่แน่ใจว่าเป็นลูกของสามีหรือรองผู้อำนวยการโรงเรียนขณะที่กำลังตัดสินใจจะทำแท้ง ความคิดต่าง ๆ ได้ประดังเข้ามาในกระแสสำนึก“โลกรายรอบประหนึ่งมืดมนอนธการ...คล้ายว่าก้าวย่างของเธอกำลังถูกขับเคลื่อนโดยใครคนอื่น...” (หน้า 84)จะเห็นได้ว่า ทั้งสองคนตกอยู่ในภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ด้วยปัจจัยที่แตกต่างกัน “หล่อน” ต่อสู้กับสำนึกความเป็นแม่ และปมความกำพร้าของตนแต่สุดท้าย “หล่อนไม่ตอบโต้ปีศาจตนนั้นด้วยความเกลียดชัง...ลูกคือชีวิต...หล่อนต้องละทิ้งตัวเอง” (หน้า 82)“หล่อนก้าวเดินเรื่อยไปตามถนนอันงดงาม ซึ่งทอดยาวเข้าไปในวันเวลาแห่งรุ่งอรุณ” (หน้า 84) จากฉากเช้ามืดขณะที่หล่อนทิ้งลูกในถังขยะจนคลี่คลายสู่รุ่งอรุณที่เธอยินดีรับผิดชอบอย่างเต็มที่ตรงกันข้ามกับ “รุ่งอรุณ”ที่กำลังมืดมนหนทางอยู่ ด้วยกรอบคิดเรื่อง ศีลธรรม และกฎหมายที่ทำให้เธอยังไม่สามารถเลือกกระทำได้ ผู้เขียนจบเรื่องด้วยการกล่าวว่า“รุ่งอรุณรู้ว่าแม่รักเธอมากเพียงใด...เลี้ยงดูเธอขึ้นมาด้วยตัวคนเดียว...บัดนี้เธอรู้แล้ว ใบหน้าไหนกันที่จะนำทางไปสู่แสงสว่างที่แท้จริง.” (หน้า 89)ดังนั้น จากเรื่องจึงเป็นการปะทะกันระหว่างใบหน้าสำนึกความเป็นแม่ กับกรอบคิดทางสังคม รวมทั้งรอยทางในอดีตที่กดทับให้พวกเธอต้องตกอยู่ในภาวะดังกล่าวแต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้สร้างตัวละครให้เป็นผู้ที่ไม่ตระหนักถึงเสรีภาพในการเลือกที่ตนมีมากนัก เพราะสำนึกของความเป็นแม่ยังจัดอยู่ในกรอบคิดทางสังคมที่ทำให้ผู้หญิงไม่กล้าที่จะตัดสินใจเป็นอย่างอื่นได้อยู่ดี

              เรื่อง พื้นที่/ฉาก (ชีวิต)-ความศรัทธา- ดาราหนุ่มกำลังคบหากับเอมิลี ดาราสาว แต่ด้วยความเห็นต่างทางการเมือง เขาได้วางเฉยต่อสถานการณ์บ้านเมือง และไม่ชอบให้เอมิลีมีบทบาทในการชุมนุมทางการเมือง ทำให้ความสัมพันธ์นั้นต้องเลือนจางลง เขาได้พูดกับเธอว่า “พื้นที่พิเศษสำหรับบุคคลสาธารณะ...ไม่ว่าเราจะกระโจนลงไปฝ่ายไหนก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งนั้น เพราะฉะนั้นวิธีการที่ดีที่สุด คือการไม่กระโจนลงไป สำหรับผม ไม่ใช่แค่เสแสร้งว่าเป็นกลางเหมือนดาราส่วนใหญ่”(หน้า 103)แต่ในขณะเดียวกัน เอมิลีเคยกล่าวกับเขาไว้ว่า “เราทุกคนเกิดมาพร้อมกับสิทธิเสรีภาพ คนที่ปล้นเอาไปก็เป็นอาชญากร”(หน้า 102)เป็นที่น่าสนใจว่า พื้นที่พิเศษในมุมมองของเขานั้นจะสามารถบรรจุเสรีภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสรีภาพของเขาเองลงไปได้หรือไม่ผมจึงรู้สึกคล้ายกับว่าเคยเห็นเรื่องราวในทำนองนี้ที่ไหนมาก่อน แต่คงไม่อาจยืนยันว่า มันได้เกิดขึ้นมาแล้ว“ในโลกจริง”

              กระทั่งวันหนึ่ง กระสุนปืนปริศนาจากการชุมนุมทางการเมืองพุ่งตรงเข้ามาในคอนโดถูกตัวเขา จนร่างกายพิการครึ่งซีกต่อมาเขาได้ทราบสาเหตุของความผกผันในชีวิตว่าเป็นเพราะเขาได้กักขัง-เสรีภาพ-ของตนไว้ในหม้อดินเผาเพื่อสร้าง -ความศรัทธา-ในบทบาทที่แสดง ละทิ้งตัวตน หลอมตนเองเป็นหนึ่งเดียวกับตัวละคร และได้สาบานขณะที่เป็น “อ้ายพูน” ว่า ถ้าผิดคำสาบานรักกับแม่กุหลาบ (เอมิลี) ขอให้ชีวิตวิบัติคำสาบานนี้จึงส่งผลต่อชีวิตจริงไปด้วย จากนั้น เขาตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเป็น -ความหลุดพ้น- ตามรอยสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับละคร เพื่อกลับไปแก้ไขความผิดพลาดด้วยการบวชเป็นพระผู้เขียนเล่าในตอนจบเรื่องว่า เขา “คว่ำหม้อเท -ความศรัทธา-ลงไปในลำคลอง...ขณะที่เห็นเงาร่างในจีวรพลิ้วไหวล่องตามกระแสน้ำของคลองพ่อปู่ไปอีกด้าน...-เสรีภาพ-จึงออกเดินไปยังทิศทางที่เป็นบ้านร้างของผู้กำกับละคร ทิ้งไว้เพียงสะพานอธิษฐานที่ว่างเปล่า.” (หน้า 137)เรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นปัญหาของการเลือกที่ไม่ได้คำนึงถึงเสรีภาพและความรับผิดชอบที่ต้องแบกรับอย่างถี่ถ้วนความทับซ้อนของโลกละครกับโลกจริง(ในโลกเล่า) ยังทำให้เกิดวิกฤตของความหมายในชีวิตที่เขาต้องค้นหาตัวตนแต่สุดท้าย -ความหลุดพ้น-เลือกที่จะทิ้งทั้ง -ความศรัทธา-และ-เสรีภาพ-เพื่อค้นหาตัวตน (ที่ว่างเปล่า) หรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่ผู้อ่านต้องคิดใคร่ครวญต่อไป...

   “พื้นที่” ใน “โลกเรื่องเล่า”กับการท้าทายขนบวรรณคดี

          หากสังเกตให้ดี จะพบว่า เรื่องสั้นกลุ่ม “เล่าเรื่องโลก” จะมุ่งแสดงให้เห็นความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ผ่านตัวละคร แต่เรื่องสั้นกลุ่ม“โลกเรื่องเล่า” จะเป็นงานเขียนที่ทดลองใช้กลวิธีการประพันธ์ต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจ 

         ผู้เขียนใช้สัญลักษณ์เพื่อสื่อความคิด เช่นกระแสน้ำจากเรื่อง นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ)เป็นกระแสสำนึกทั้งในระดับ “บนพื้นผิว” (จิตสำนึก) และ “ใต้กระแสน้ำ”(จิตใต้สำนึก) ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของตัวละครหรือ ว่าว จากเรื่อง ว่าว เรื่องเล่า ชะตากรรม ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของตัวละครแต่ละตัว ทั้ง “ว่าว (แห่งวัยเยาว์)” อันบริสุทธิ์ และเปี่ยมจินตนาการ“ว่าว (ในความซ่อนเร้น)” ที่ต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินใจในการก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ และ “ว่าว (แห่งชะตากรรม)”ที่เป็นผลมาจากการกระทำต่าง ๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า นี่คือว่าวแห่งชีวิตนั่นเองส่วนเรื่อง ขบวนรถไฟในความซ้อนซ้ำไม่ได้ถูกแบ่งย่อหน้าทั้งเรื่อง และใช้การซ้ำความ ขณะที่ฆาตกรหญิงเล่าถึงภาพเหตุการณ์ในครอบครัวด้วยข้อความเดิมที่เรียงกันซ้ำ ๆ ถึงสามครั้ง โดยเชื่อมด้วยคำว่า “ภาพตัดมาอีกวัน”เพื่อแสดงให้เห็นกระแสสำนึกของฆาตกรหญิงที่สับสนวุ่นวาย

              นอกจากนี้ มีการเล่าเรื่องแบบตัดฉากไปมาคล้ายกับละครโทรทัศน์ในเรื่อง พื้นที่/ฉาก (ชีวิต)ที่เริ่มฉากแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แล้วตัดเข้าสู่ยุคปัจจุบัน แต่เมื่อดำเนินไปจนถึงกลางเรื่อง ผู้เขียนกลับเฉลยว่า ฉากยุคอดีตเป็นเพียงฉากในละคร ตลอดทั้งเรื่องเป็นการตัดฉากไปมา ตั้งแต่“พื้นที่ (ฉาก) ชีวิตที่ 1”เป็นเรื่องราวความรักของ-ความศรัทธา- “พื้นที่ (ฉาก) ชีวิตที่ 2”ตัดมาที่ความผกผันในชีวิตของเขาและ“พื้นที่ (ฉาก) ชีวิตที่ 3 ตำนานปลาดุ่ม”เชื่อมโยงเรื่องราวจากละครกับชีวิตในการค้นหาตัวตนที่แท้จริงคำว่า “พื้นที่”ในที่นี้จึงมีความหมายหลายระดับทั้งพื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่แห่งยุคสมัยพื้นที่ชีวิตและบทบาทหน้าที่ พื้นที่ความสัมพันธ์ พื้นที่ภายในจิตใจที่ทำให้โลกภายนอกกลับกลายเป็น“พื้นที่แปลกหน้า” ได้พื้นที่เหล่านี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของ (ฉาก) ที่หลอมรวมกันเป็นชีวิตของตัวละครในที่สุด

              อนึ่ง ในวรรณคดีไทยจะใช้บทอัศจรรย์ในการแสดงออกถึงกิจกรรมทางเพศของตัวละครด้วยการใช้กลศิลป์เท่านั้น แต่ผู้เขียนได้ใช้บทอัศจรรย์ในการดำเนินเรื่องและสื่อความคิดจาก พื้นที่/ฉาก (ชีวิต) ขณะที่ -ความศรัทธา- และเอมิลีกำลังอยู่ใน “บทสอดประสานเริ่มขึ้นเป็นจังหวะเนิบช้า” (หน้า 104) สลับกับบทสนทนาของทั้งคู่ที่แสดงให้เห็นมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างกัน ในที่สุดเมื่อ“เรือเกยตื้น” (หน้า 104) ประจวบกับที่เสียงปืนดังขึ้น เพราะ “ทหารพยายามยึดคืนพื้นที่” (หน้า 105) เรื่องจึงดำเนินมาถึงจุดแตกหัก เอมิลีตัดสินใจสวมเสื้อผ้าแล้วลงจากคอนโดไปในพื้นที่ชุมนุมทันทีโดยไม่ฟังคำห้ามปรามของเขาอีกต่อไป และจากเรื่อง ของเล่น“เธอขึ้นขย่มบนตัวผมเหมือนเคย ผมรู้ ไม่ใช่ตัวผม...แต่เป็นอุทิศ ในสายตาของเธอ...” (หน้า 299) แสดงให้เห็นความสัมพันธ์อันแปลกประหลาดของหญิงสาวนักอ่านกับคู่รักของเธอ

            จะเห็นได้ว่า ผู้เขียนได้ตกแต่ง“พื้นที่” ใน “โลกเรื่องเล่า”ด้วยกลวิธีต่าง ๆ อย่างพิถีพิถัน โดยเฉพาะการหยิบยืมมรดกทางวรรณศิลป์มาใช้ใหม่ จึงถือเป็นการท้าทายขนบวรรณคดีที่สร้างสรรค์อย่างแท้จริง

   คำตอบของคำถามที่ว่า “ในโลกเล่า” เรายังต้อง -เลือก- หรือไม่ เป็นสิ่งที่ผู้อ่านต้องตอบคำถามนี้ด้วยตนเองแต่สำหรับ“ในโลกจริง”แล้ว คำถามสำคัญที่เราต้องตระหนักร่วมกันคือ จะใช้เสรีภาพบนทางเลือกที่ตามมาด้วยความรับผิดชอบได้อย่างไร (ในประเทศหนึ่งที่เรายังไม่แน่ใจว่ามีเสรีภาพในการ -เลือก- กระทำอย่างแท้จริงอยู่หรือเปล่า?)...

  

[1]สรุปจากการอ่านบทความของŚwitkiewicz, J. B., Sondaite, J. &Mockus, A.(2016).COMPONENTS OF EXISTENTIAL CRISIS: A THEORETICAL ANALYSIS. International Journal of Psychology, 18, 9-27.

หมายเหตุ คำว่า“-ความศรัทธา-” “-ความหลุดพ้น-”และ “-เสรีภาพ-”ในเรื่อง พื้นที่/ฉาก (ชีวิต) ใช้ยัติภังค์โดยผู้เขียนส่วนคำว่า “-เลือก-”-เลือก- เขียนโดยผู้วิจารณ์


 
 
 

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

 

ทุ่งหญ้า ป่าข้าว เจ้าเขากาง และผม : ความรัก ความผูกพัน และ

มิตรภาพของเด็กชายโข่งที่สะท้อนวิถีชีวิตชาวชนบท

 

 

ณัฐดนัย  เผ่าพันธุ์แปลก

 

 

            ทุ่งหญ้า ป่าข้าว เจ้าเขากาง และผม เป็นผลงานจากปลายปากกาของ เอกอรุณ ผู้มีงานเขียนมากมายหลากหลายประเภททั้งเรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี บทความ และกวีนิพนธ์ สำหรับวรรณกรรมเยาวชนเปรียบเสมือนการเดินทางที่เพิ่งเริ่มต้นและเป็นอีกหนึ่งความฝันของเอกอรุณที่มุ่งสร้างสรรค์ ผลงานเรื่องแรกคือเรื่อง “ม้าสีทอง” ได้รับรางวัลชมเชย นวนิยายสำหรับเยาวชน รางวัลแว่นแก้วครั้งที่ 13 และรางวัลชมเชยหนังสือดีเด่นจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลังจากผลงานเรื่องแรกเอกอรุณก็พัฒนาตัวเองเรื่อยมาจนมีผลงานเด่นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนวนิยาย สำหรับเยาวชน รางวัลแว่นแก้วครั้งที่ 15 ปี 2562 นั่นก็คือเรื่อง “ทุ่งหญ้า ป่าข้าว เจ้าเขากาง และผม”

            ทุ่งหญ้า ป่าข้าว เจ้าเขากาง และผม เป็นนวนิยายที่เล่าถึงเรื่องราวชีวิตของเด็กชายโข่งที่เกิดมาในครอบครัวชนบทมีอาชีพเป็นชาวนาเกิดมาพร้อมคำทำนายว่าจะตายตั้งแต่ยังเด็ก โข่งใฝ่ฝันอยากมีควายเป็นของตัวเอง ไม่ใช่ควายที่ต้องเช่าเขามาทำนาแล้วก็คืน ในที่สุดโข่งก็มีควายเป็นของตัวเองสมใจชื่อว่าเจ้าเขากาง หลังจากนั้นก็มีเรื่องราวต่าง ๆ ตามมาอีกมากมายทั้งความรัก ความผูกพัน และมิตรภาพในทุ่งหญ้า ป่าข้าว และบ้านของโข่ง สถานที่ที่เขาได้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งและงดงาม

            นวนิยาย “ทุ่งหญ้า ป่าข้าว เจ้าเขากาง และผม” ผู้เขียนใช้มุมมองการเล่าเรื่องแบบบุรุษที่หนึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องและเป็นตัวละครเอกในเรื่องนั่นก็คือตัวละครเด็กชายโข่งที่ใช้สรรพนามว่าผม โดยเปิดเรื่องด้วยการเล่าถึงในวันที่เด็กชายโข่งเกิด “ผมเกิดมากลางดึกในคืนฝนพรำบนเรือนหลังน้อยริมป่า ยายยุ้ยแม่ของแม่รับหน้าที่เป็นหมอตำแยทำคลอด”(น.7) ซึ่งในช่วงของการเปิดเรื่องนั้น มีความน่าสนใจตรงที่ผู้เขียนได้วางปมเรื่องชวนให้ผู้อ่านติดตามหลังจากเด็กชายโข่งเกิดมายายยุ้ยได้พูดว่า “ไอ้นี่มันหลงมากับฝน มันจะเป็นเด็กขี้แยเลี้ยงยาก บ่อน้ำตาตื้น จิตใจอ่อนไหว โตขึ้นถ้าไม่เป็นหมอลำก็ต้องบวชเรียนเดินสายเทศน์กัณฑ์มหาชาติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันจะต้องไม่ตายเสียตั้งแต่ยังเด็ก” (น.7) จากคำพูดนี้ทำให้ผู้อ่านต้องติดตามต่อไปว่าอนาคตของเด็กชายจะเป็นอย่างไรและจะเป็นไปตามคำทำนาย   ที่ยายยุ้ยได้พยากรณ์ไว้หรือไม่ 

นวนิยายเรื่องนี้ผู้เขียนดำเนินเรื่องด้วยการให้ตัวละครเด็กชายโข่งเป็นผู้เล่านำเสนอเรื่องราวในชีวิตของตนตามลำดับเวลาซึ่งก็สอดคล้องกับปมของเรื่องที่วางไว้ ในการเล่าเรื่องก็จะมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้โข่งต้องเจ็บตัวจนคิดว่าจะเป็นไปตามคำพยากรณ์ของยายยุ้ย ซึ่งผู้เขียนมีการย้ำปมทำให้ผู้อ่านได้เห็นอยู่เรื่อย ๆ ในตัวบทว่าโข่งมีดวงตายตอนเด็ก “เดี๋ยวเถอะ เดี๋ยวน้องมึงก็ตกมาคอหัก มึงจำที่กูพูดไม่ได้หรือไงว่าไอ้โข่งมันมีดวงตายตอนเด็ก” (น.11) หลังจากนั้นก็มีอีกหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ทำให้โข่งเจ็บตัวในตอนที่โข่งตกหลังควายแขนหัก ยายยุ้ยได้มาเยี่ยมแล้วดูลายมือให้อีกครั้งแล้วบอกว่าดวงถึงฆาตตอนเด็กของโข่งหายไปแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้อ่านคิดว่าโข่งคงไม่ตาย แต่ผู้เขียนก็ได้มีการหักมุมของเรื่องคือช่วงที่โข่งป่วยอย่างหนัก จุดนี้เองที่ถือว่าเป็นจุดสำคัญของเรื่องทำให้ผู้อ่านต้องติดตามลุ้นต่อไปว่าโข่งจะตายตามคำพยากรณ์ของยายยุ้ยหรือไม่ เพราะยายยุ้ยได้มานั่งจับมือโข่งร้องไห้แล้วบอกว่าที่จริงแล้วเส้นความตายบนมือไม่ได้หายไปไหนมันยังฝังอยู่ที่เดิม ผู้เขียนได้เขียนบรรยายให้ผู้อ่านเห็นว่าโข่งมีอาการป่วยที่หนักมากครั้งนี้อาจจะต้องตายจริง ๆ “สองวันผ่านไป อาการป่วยของผมยิ่งทรุดหนัก ตุ่มแดง ๆ ผุดขึ้นตามลำแขนสองข้าง ลามไปที่ขา แล้วค่อย ๆ ผุดกระจายไปทั่วทั้งตัว ไม่เว้นแม้กระทั่งลำคอ ใบหน้า หูสองข้างแล้วก็เปลือกตา หลับไปทุกครั้ง ตื่นมาผมลืมตาไม่ขึ้น” (น.104) แต่ในที่สุดอาการของโข่งก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ การดำเนินเรื่องของนวนิยายเรื่องนี้ผู้เขียนจะไม่ได้เฉลยในตอนแรกเลยว่าเป็นเหตุการณ์ในยุคไหน และสถานที่ใด แต่ผู้อ่านก็พอที่จะเดาได้ว่าเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ซึ่งผู้เขียนจะค่อย ๆ เปิดเผยไปเรื่อย ๆ ในตัวบทว่าเป็นเหตุการณ์ในจังหวัดอุบลราชธานี “...โรงเรียนสองโนนพัฒนาสามัคคี ตำบลนาร่ม อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี” (น.73) และเป็นเหตุการณ์ในช่วงยุคของนายกรัฐมนตรีพลเอกถนอม กิตติขจร “คำขวัญของนายกรัฐมนตรีพลเอกถนอม กิตติขจรมาถึงหน้าเสาธง” (น.84) การดำเนินเรื่องของนวนิยายเรื่องนี้ผู้เขียนมีการดำเนินเรื่องที่น่าสนใจเพราะเป็นการเล่าไปเรื่อย ๆ ทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย และรู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องได้ร่วมลุ้นไปพร้อมกับตัวละครอยู่ตลอดเวลา

            ตอนจบสุดท้ายผู้เขียนมีการปิดเรื่องแบบสมจริง โดยทิ้งท้ายให้ผู้อ่านได้จินตนาการต่อเองว่าในอนาคตของเด็กชายโข่งจะเป็นเช่นไร จะเป็นหมอลำ หรือได้บวชเรียนเดินสายเทศน์กัณฑ์มหาชาติ อย่างที่ยายยุ้ยได้พยากรณ์ไว้ เพราะหลังจากที่เรียนจบป.4 โข่งได้สอบชิงทุนไปเรียนต่อในเมือง ช่วงท้ายของเรื่องผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการมีชีวิตที่ยากลำบากนั่นคือทำให้โข่งเป็นคนที่แข็งแกร่ง โข่งได้เล่าทิ้งท้ายว่าอีกไม่นานป่าหญ้าคา ทุ่งโล่ง และป่าไม้จะเลือนลับไปจากสายตา ที่นี่คือถิ่นฐานรากเหง้าแหล่งกำเนิด เขาเพียงเดินทางไปตามข้อกำหนดของโชคชะตา ไม่ว่าจะเป็นอะไร หรือไม่ได้เป็น หรือพยายามที่จะเป็น สำคัญตรงที่เขาจะเข้มแข็งและอดทน หลังจากนั้น โข่งก็ขึ้นขี่หลังม้าไปกับลุงทองดี  “เจ้าม้าสีขาวขุ่นทะยานฝ่าสายหมอกและแสงตะวัน...” (น.141)

            นวนิยายเรื่อง “ทุ่งหญ้า ป่าข้าว เจ้าเขากาง และผม”ผู้เขียนสะท้อนสภาพสังคมในอดีตได้เป็นอย่างดีในด้านที่เด่นชัดด้านหนึ่งคือด้านวิถีชีวิตชาวชนบทที่ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นชาวนาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย อยู่กันแบบเครือญาติ ช่วงฤดูของการทำนา สมาชิกในครอบครัวและเพื่อนบ้านก็จะมาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แม้ตัวบทจะถ่ายทอดการดำเนินชีวิตให้เห็นถึงความสุขของชาวชนบทที่แม้จะไม่ได้มีเงินทองมากมายแต่ก็มีความสุขได้ในแบบของตนเอง แต่หากผู้อ่านพิจารณาตัวบทดูอย่างลึกซึ้งก็จะเห็นได้ถึงการแอบแฝงไปด้วยความเจ็บปวด ความยากลำบากในการใช้ชีวิตของชาวชนบทที่ไม่มีแม้กระทั่งควายเป็นของตัวเองต้องไปเช่าควายคนอื่นมาเพื่อทำนา เมื่อได้ข้าวมาก็ต้องเอาไปจ่ายค่าเช่าควายจนหมด “เราขนย้ายข้าวเปลือกหลายกระบุงจากยุ้งฉางของเราสู่เกวียนเทียมวัวคู่งามขณะที่ลูกเขยเจ้าของอีตู้ขับเกวียนห่างออกไป ผมเงยหน้ามองพ่อกับแม่ ในแสงแดดที่สะท้อนจากหลังคายุ้งฉาง ผมเห็นน้ำตาหยดหนึ่งที่พราวอยู่บนเรือนแก้มของแม่ พี่สไบวางมือลงบนหัวผมแล้วพูดเบา ๆ เขามาเก็บค่าเช่าอีตู้” (น.15)หลังจากฤดูทำนา ในช่วงฤดูแล้งการดำเนินชีวิตแต่ละวันต้องดำเนินไปด้วยความยากลำบากหาเช้ากินค่ำ ผู้ใหญ่ต้องหาอาชีพเสริม ในเรื่องแม่ของโข่งต้องทอผ้า ส่วนพ่อสานกระติบไปเร่ขายตามหมู่บ้านต่าง ๆ แม้ต้องเดินท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนระอุก็ต้องอดทนเพื่อหาเงินมาซื้อควายเป็นของตัวเองให้ได้แสดงให้เห็นถึงความฝันของชาวนาที่ไม่ได้ใฝ่ฝันอะไรใหญ่โตไปมากกว่าการมีควายเป็นของตัวเอง หน้าที่เด็ก ๆ ในหมู่บ้านคือการเลี้ยงควายและหาอาหารตามป่าตามทุ่งมาเพื่อประทังชีวิตในแต่ละวันหากวันไหนที่ไม่ได้อะไรมาเลยก็จะนำผักที่ปลูกไว้มาต้มกินกับน้ำพริกหากมื้อไหนที่ได้ปูนา กิ้งก่า กระต่ายป่า หรือแม้กระทั่งได้แมงดานามาถือว่าอาหารมื้อนั้นเป็นอาหารมื้อที่ดีที่สุดแล้วเพราะในหน้าแล้งการหาอาหารเป็นไปด้วยความยากลำบากผู้คนต่างต้องแย่งชิงกันแม้กระทั่งซากสัตว์ที่ตายแล้วเพื่อนำมาเป็นอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตนเองและครอบครัวเห็นได้จากตอนที่เจ้าเขากางตาย ชาวบ้านก็ต่างพากันเดินถือมีดมาเพื่อที่จะชำแหละเนื้อควายเอาไปกินมีประโยคคำพูดหนึ่งที่ทำให้ผู้วิจารณ์รู้สึกถึงความเจ็บปวดของชาวชนบทที่ไม่สามารถเลือกกินได้ ต้องกินทุกอย่างที่มีเพื่อความอยู่รอด “อย่าไปถือสาเด็กพวกนี้ มันไม่เคยอดหิวถึงขนาดกินม้าทั้งตัวได้”(น.54) ประโยคนี้เป็นคำพูดของครูบุญเลิศที่บอกกับโข่งตอนที่นำเนื้อม้าปิ้งไปแบ่งเพื่อนที่โรงเรียนเมื่อทุกคนรู้ว่าเป็นเนื้อม้าก็อาเจียนออกมาด้วยความรังเกียจและไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่โข่งนำมาแบ่งปัน

            เนื่องจากนวนิยายเรื่องนี้เป็นการเล่าผ่านมุมมองของเด็กชายโข่งจึงทำให้เป็นการมองโลกอย่างใสซื่อมองเรื่องราวต่าง ๆ อย่างไม่ซับซ้อน มีสนุก มีเศร้า ปะปนกันไปตามมุมมองของเด็กที่มองว่าวิถีชีวิตที่เป็นเช่นนี้คือวิถีชีวิตที่ปกติเพราะเห็นแบบนี้มาตั้งแต่เกิดแต่ผู้วิจารณ์กลับมองว่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องราวอันน่าเศร้าของชีวิตชาวชนบทที่ควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากกว่านี้ชาวนาเป็นอาชีพเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญของประเทศไทยแต่รัฐกลับไม่ส่งเสริมทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ผู้วิจารณ์จึงเกิดการตั้งคำถามว่าทำไมชีวิตของชาวชนบทจึงต้องเป็นแบบนี้ ที่เป็นแบบนี้เพราะอะไรจริง ๆ แล้วในการใช้ชีวิตของพวกเขานั้นมีความสุขจริง ๆ หรือกับการที่ต้องดิ้นรนใช้ชีวิตให้มีกินมีใช้ในแต่ละวันเพื่อจะได้ลืมตาอ้าปากหรืออันที่จริงแล้วพวกเขาไม่เคยมีความสุขกับการต้องมีชีวิตที่เป็นเช่นนี้เลย

ความน่าสนใจอีกแง่หนึ่งของนวนิยายเรื่องนี้คือสะท้อนภาพการศึกษาไทย ผู้เขียนมุ่งแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีในทุกยุคทุกสมัยของโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนในชนบทที่รัฐเอื้อมมือมาไม่ถึงเด็ก ๆ ไม่มีแม้แต่ความเข้าใจว่าเรียนไปทำไม เรียนเพื่ออะไร ในเมื่อจบออกมาก็ต้องทำนาอยู่ดี “ผมนิ่งเงียบด้วยความสับสน ทำไมผมต้องเข้าโรงเรียน” (น.26) คำพูดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความหดหู่น่าเศร้าใจที่คนชนบทส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาก็เนื่องด้วยสาเหตุที่มาจากคุณภาพที่ชีวิตที่ยังไม่ดีพอ แม้การศึกษาก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความอดอยากของปากท้องพวกเขาได้“โรงเรียนมีดีอะไร พี่สไบเสียเวลาไปสี่ปี สุดท้ายก็ต้องแบกเสียมไปขุดปูนา” (น.27)ในตัวบทผู้เขียนมีการเปรียบเทียบให้เห็นว่าโรงเรียนในชนบทกับโรงเรียนในเมืองมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โรงเรียนในชนบทไม่มีแม้อาคารเรียนต้องอาศัยเพิงที่สร้างจากใบตองแห้งครั้งหนึ่งเคยถูกพายุพัดพังทลายชาวบ้านต้องร่วมแรงกันสร้างขึ้นมาใหม่ โดยไม่มีการช่วยเหลือใด ๆจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครูหนึ่งคนต้องสอนนักเรียนทุกระดับชั้น เด็ก ๆ ต้องอดทนเดินทางไกลด้วยเท้าเปล่าเพื่อไปเรียนด้วยความยากลำบาก“ทุกคนไม่ได้เกิดมาพร้อมรองเท้าและมันก็ไม่มีความจำเป็นสำหรับเท้าเรา ที่ย่ำผ่านทุ่งนา พื้นหญ้า และป่าที่เต็มไปด้วยหนามเราเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงและเรียนรู้จากความผิดพลาดตอนเจ็บปวด” (น.29) ด้วยความยากจนจึงทำให้เครื่องแบบนักเรียนของเด็กส่วนใหญ่ก็จะเป็นตามสถานภาพของแต่ละครอบครัว เสื้อและกางเกงก็มาจากการนำผ้าฝ้ายที่ทอไปตัดเป็นชุดหนึ่งชุดเพื่อใส่ทั้งห้าวัน เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ไม่มีเข็มขัด ไม่มีรองเท้า ไม่มีแม้แต่หนังสือเรียนต้องอาศัยการจดตามครูบนกระดาน หรือไปแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งของรางวัลที่เป็นหนังสือเรียนและเครื่องเขียนในทางกลับกันโรงเรียนในเมืองมีความพร้อมทุกอย่างทั้งอาคารเรียนหลังใหญ่โต ห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ สนามฟุตบอลที่กว้างใหญ่ โรงเรียนก็อยู่ติดกับหมู่บ้านนักเรียนไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อไปเรียน เครื่องแบบการแต่งกายครบครันเสื้อผ้าเนื้อดีขาวสะอาด หากผู้อ่านได้อ่านตัวบทอย่างตั้งใจก็จะทำให้ได้เห็นถึงความแตกต่างที่ผู้เขียนมุ่งนำเสนออย่างชัดเจน อีกทั้งผู้เขียนก็ยังมีการชี้ให้เห็นเพิ่มเติมอีกว่าสิ่งที่รัฐบาลพยายามปลูกฝังเด็กในสิ่งที่อยากให้เป็นด้วยการให้ท่องจำคำขวัญวันเด็กนั้นมันช่างสวนทางกับความเป็นจริงเสียเหลือเกิน“เด็กประพฤติดีและศึกษาดีทำให้มีอนาคตแจ่มใส”(น.85) รัฐบาลมุ่งสร้างภาพการศึกษาที่ดีทั้ง ๆ ที่คุณภาพชีวิตของประชาชนก็ยังไม่ดีเท่าที่ควรผู้วิจารณ์คิดว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่สะท้อนสภาพสังคมด้านการศึกษาได้เป็นอย่างดีเพราะในปัจจุบันความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ยังมีให้เห็นอยู่ แต่ก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข

            นอกจาก “ทุ่งหญ้า ป่าข้าว เจ้าเขากาง และผม” จะเป็นนวนิยายที่สะท้อนภาพสังคมด้านวิถีชีวิตชาวชนบทและด้านการศึกษาแล้ว นวนิยายเรื่องนี้ยังช่วยสะท้อนสังคมด้านคุณค่าความเป็นมนุษย์อีกด้วย ภาพเด็กชายโข่งกับเพื่อน ๆที่เห็นโฮ่งเป็นเพื่อนคนหนึ่งด้วยความเป็นเด็กพวกเขาจึงไม่ได้ตัดสินโฮ่งจากสิ่งที่เป็น ไม่ได้รังเกียจ หรือกลั่นแกล้งแต่อย่างใด พวกเขาคบโฮ่งด้วยความเป็นเพื่อน แม้โฮ่งจะเป็นเด็กที่ไม่ปกติเหมือนกับพวกเขาก็ตามในตัวบทมีการกล่าวถึงลักษณะของโฮ่งว่า “โฮ่งเป็นลูกคนที่เก้า พี่ชายพี่สาวทุกคนออกจากโรงเรียนกันหมดแล้ว งานในนาข้าวและภาระการเลี้ยงควายจึงไม่ตกถึงเขา พ่อแม่ปล่อยให้ลูกชายที่ไม่สมประกอบเล่นหัวกับเด็กรุ่นน้อง” (น.26) ในวันที่โข่งจะต้องเสียเจ้าเขากางไปโฮ่งเป็นคนที่เข้าใจความรู้สึกของเขามากที่สุดทำให้เห็นว่าในวันที่ต้องเจ็บปวดมันไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นคนปกติหรือไม่ปกติ โฮ่งเข้าใจและรู้สึกเห็นใจโข่งในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งเขาปฏิบัติกับโข่งด้วยความเป็นมนุษย์ที่มีหัวใจมากกว่าชาวบ้านทั่วไปที่รอให้เจ้าเขากางหมดลมหายใจแล้วจะมาเอาเนื้อมันไปกินเสียด้วยซ้ำ“ผมไม่ได้ร้องขอน้ำใจจากเพื่อน ๆ แต่พวกเขาพร้อมที่จะอยู่ร่วมในช่วงที่ผมทุกข์เศร้า โฮ่งไม่เคยมีควายเป็นของตัวเองและไม่ใช่คนฉลาด แต่ดูเหมือนว่าเขาจะเข้าใจดีว่าควายมีความหมายต่อผมมากแค่ไหน เขาไม่ได้หัวเราะแหะ ๆ เขาจ้องมองเจ้าเขากาง แล้วหันมามองหน้าผมพร้อมรอยยิ้มเศร้า” (น.129)เมื่อเจ้าเขากางตายลงชาวบ้านต่างพากันถือมีดมาเพื่อจะแล่เนื้อไปกินโข่งและเพื่อน ๆ จึงต้องช่วยกันปกป้องซากเจ้าเขากางไม่ให้ใครมาเอาเนื้อไปกินโข่งเป็นคนที่มองทุกสิ่งมีชีวิตว่ามีคุณค่าซึ่งในตัวบทก็จะแสดงให้ผู้อ่านได้เห็นอยู่เรื่อย ๆ “ควายกับม้าไม่เพียงกินหญ้า ในความรู้สึกผม ทั้งควายและม้าล้วนเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน” (น.45)ด้วยความรักและความผูกพันของโข่งกับเจ้าเขากาง“แค่นึกภาพเจ้าเขากางถูกแล่เนื้อ ทุกคมมีดที่กรีดเฉือนเหมือนบาดลึกลงในดวงตาและความรู้สึก” (น.131)ย้ายยุ้ยและลุงทองดีก็ได้มาช่วยปกป้องซากเจ้าเขากางชาวบ้านจึงต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ในมือจากมีดเป็นจอบกับเสียมมาช่วยกับขุดหลุมฝังเจ้าเขากาง โข่งไม่เข้าใจทำไมลุงทองดีที่กินม้าและไก่ของตัวเองจึงต้องมาช่วยเขาปกป้องเจ้าเขากาง และเขาก็ได้ค้นพบคำตอบในใจด้วยความรู้สึกว่า “...เพราะเราเป็นคนที่มีจิตวิญญาณ เพราะเราไม่ใช่หมาใน เพราะเราผูกพันกับบางสิ่ง เพราะเราเป็นคนที่มีความรัก และเพราะเราเป็นมนุษย์”(น.136) เมื่อมองให้เป็นภาพของชีวิตจะทำให้เห็นว่าผู้เขียนมุ่งนำเสนอให้ผู้อ่านมองเห็นถึงความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง คือการให้ผู้อ่านได้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ต่างก็ย่อมมีคุณค่าในตัวเอง คนทุกคนมีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ไม่ควรแบ่งแยกกัน

            ทุ่งหญ้า ป่าข้าว เจ้าเขากาง และผม ถือว่าเป็นนวนิยายสำหรับเยาวชนที่ดีเล่มหนึ่งเลยทีเดียว แม้ผู้เขียนจะใช้ภาษาที่เรียบง่าย แต่ก็มีความงดงามซ่อนอยู่ ในเรื่องมีการสอดแทรกแง่คิดให้กับผู้อ่านหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านอาชีพ การศึกษา วิถีชีวิต หรือแม้แต่ให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ หากได้อ่านแล้วพิจารณาอย่างลึกซึ้งผู้อ่านก็จะได้เห็นและเข้าใจถึงความรัก ความผูกพัน และมิตรภาพที่สะท้อนวิถีชีวิตชาวชนบทอย่างแท้จริง

 

 

 

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

 

นัยเรื่องเล่าของเหล่าสัตว์: ส่องภาพทับซ้อนวิถีแห่งมนุษย์

บทวิจารณ์รวมเรื่องสั้นคืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ

 

วรโชติ  ต๊ะนา  

 

 

            “รวมเรื่องสั้นคืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ” ผลงานรางวัลซีไรต์ประจำปี 2563 ของ“จเด็จ  กำจรเดช” น่าสนใจว่า หนังสือเล่มหนา 566 หน้าที่ประกอบด้วยเรื่องสั้นขนาดยาว11 เรื่อง นำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านกลวิธีการแต่งแบบเล่าเรื่องซ้อนเรื่องเล่า (metafiction) ผสมผสานแนวการแต่งแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism)สอดแทรกไปด้วยพลังและอำนาจของเรื่องเล่า รวมถึงการเล่นกับมุมมองของผู้เล่า สามารถสร้างมิติของเรื่องเล่าไว้อย่างแยบยลรวมถึงการใช้ "ภาพแทนสัตว์"ประกอบการเล่าเรื่องในทุกเรื่องสั้น ทำให้กลายเป็นจุดเด่นของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้

            จเด็จ  กำจรเดช สร้างภาพแทนของสัตว์ไว้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือ สัตว์ชนิดต่าง ๆ ไม่ได้เลือกมาจากสัญลักษณ์ข้อตกลงร่วมกันของคนส่วนใหญ่ เช่น นกคืออิสรภาพ สุนัขคือคนซื่อสัตย์ แต่ภาพของสัตว์ส่วนใหญ่คือพฤติกรรมของสัตว์ตามธรรมชาติ เปรียบเทียบกับความเป็นอยู่ของตัวละครแทนภาพของคนในสังคมได้อย่างชัดเจน ซึ่ง ธัญญา สังขพันธานนท์ (ม.ป.ป.) ได้แสดงทัศนะไว้ว่า การอุปลักษณ์เกี่ยวกับสัตว์ มีเป้าหมายอยู่ที่มนุษย์ เป็นการนำเสนอสัตว์ในฐานะที่เป็นกระจกเงาส่องแสดงถึงพฤติกรรมของมนุษย์ (the animal mirror) อาจกล่าวได้ว่า “นัยเรื่องเล่าของเหล่าสัตว์” ในหนังสือรวมเรื่องสั้นคืนปีเสือเล่มนี้แสดง“ภาพทับซ้อนวิถีแห่งมนุษย์”

   ส่องภาพสายสัมพันธ์ในครอบครัว

            สถาบันครอบครัวมีความสำคัญอย่างมากในทุก ๆ เรื่อง เพราะเป็นแหล่งบ่มเพาะคนให้เป็นคนที่เติบโตอย่างงดงามในสังคม จเด็จไม่ได้เลือกนำเสนอครอบครัวในอุดมคติ แต่เลือกนำเสนอความแหว่งวิ่นของสัมพันธภาพในครอบครัว จะเห็นได้ชัดเจนจากสองเรื่องสั้น ได้แก่ มีเป็ดบนหลัง และสัปเหร่อรุ่นสอง

            มีเป็ดบนหลังคา เป็นเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่สูญเสียลูกชายคนเล็กไป ไม่ได้สนใจหรือให้ค่าความสำคัญกับลูกชายคนโต ผู้แต่งเลือกที่จะแทนภาพของลูกชายทั้งสองคนเป็น “เป็ด” จะเห็นได้จาก “คงจริงอย่างที่พ่อบอก มีเป็ดบนหลังคา แต่แม่บอกว่าเป็ดอยู่บนสวรรค์” (น.24) เป็ดบนสวรรค์เป็นภาพแทนของลูกชายคนน้อง แต่เป็ดบนหลังคาเป็นภาพแทนของลูกชายคนโต ซึ่งสอดรับกับความรู้สึกของลูกชายคนโตที่ว่า “พ่อคงลืมไปแล้วว่าผมยังอยู่ น้องไม่อยู่แล้วแต่ผมยังอยู่” (น. 36)ดังนั้น “เป็ดบนหลังคา” คือภาพแทนของลูกที่ไม่ได้ความสนใจให้ความสำคัญ เพียงรับรู้ว่ายังมีลูกอยู่เฉย ๆ ผู้แต่งอาจต้องการเน้นย้ำให้ถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ต่างหลงลืมใครสักคนในครอบครัวไว้ในความโดดเดี่ยว และให้ตระหนักถึงสายใยครอบครัวมากขึ้น

            สัปเหร่อรุ่นสองนำเสนอเรื่องราวของครอบครัวที่ไม่ใช่ครอบครัว ซึ่งเป็นความมักมากในกามของตัวละครหรือกล่าวได้ว่าครอบครัวไม่ได้ทำหน้าที่ของครอบครัวอย่างแท้จริง จะเห็นได้จาก “จ่าทวยหวงลูกสาวไว้เอาคนเดียวและกำลังหึงไอ้มอล เพราะว่าไอ้มอลกำลังคิดจะปล้ำน้องสาวเหมือนกัน” (น.236) หรือตอนจบที่ว่า “ไอ้มอล มันเป็นใหญ่ในบ้านครอบครองทั้งอีมิ้งและอีมิ้น” (น.259)แสดงความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างพ่อ แม่ พี่ชาย และน้องสาว เชื่อมโยงสายสัมพันธ์ไปด้วยกามตัณหาผู้แต่งสร้างภาพแทนให้กลุ่มคนที่มัวเมาในกามตัณหาเป็น “หมาเดือนสิบ” จะเห็นได้จาก “เดือนสิบน่าจะมีหมาเข้ามาเกี่ยวข้อง หมาเดือนสิบ (หรือเดือนสิบสอง) ผสมพันธุ์กันในวัดน่าจะเอามาด่าพวกชาวบ้านที่มัวเมาในกามตัณหาได้บ้าง”(น.238) จาก มีเป็ดบนหลังคา และ สัปเหร่อรุ่นสอง แสดงภาพความไม่สมบูรณ์ของครอบครัว อันเกิดจากความสัมพันธ์ที่แหว่งวิ่นหรือสัมพันธ์ที่ไม่ควรจะเป็น ผ่านธรรมชาติของสัตว์คือ“เป็ด” และ “หมาเดือนสิบ”

   ส่องภาพพฤติกรรมสัมพันธภาพมนุษย์ในสังคม

         สัมพันธภาพในสังคมปัจจุบันนี้ตกอยู่ภายใต้ทุนนิยมและอำนาจนิยม ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์คือกลุ่มนายทุนหรือผู้มีอำนาจ ผู้ที่ถูกกระทำหรือเป็นเหยื่อคือคนในสังคมทั่วไป นำเสนอผ่านเรื่อง นกกระยางโง่ ๆประแป้งไหมคะ, คืนปีเสือ, ข่าวว่านกจะมา,จระเข้ตาขุนขณะเดียวกันผู้มีอำนาจอาจตกเป็นเหยื่อของผู้มีอำนาจอีกทีหรือกลายเป็นเหยื่อแทนก็ได้ จากเรื่อง เป็นหมาป่าจะเห็นได้ดังนี้

            นกกระยางโง่ ๆ เป็นเรื่องราวของท้อป หนุ่มที่ใช้ชีวิตเมืองกรุงต้องพลิกผันมาทำอาชีพเกษตรกร  ซึ่งมักจะใช้ชีวิตตามคำบอกเล่าของคนในอินเทอร์เน็ตและชาวบ้าน เขามักจะหากิจกรรมโง่ ๆ ทำเสมอเพื่อโพสต์ลงเฟซบุ๊ก หนึ่งในกิจกรรมนั้นคือเลี้ยงปลาดุก แต่สุดท้ายแล้ว “ปลาดุกโง่ ๆ ของเขามันกลายร่างเป็นนกกระยางโผบินอย่างสง่าขึ้นจากน้ำ” (น.66) จากประโยคดังกล่าวจะตีความหมายของนกกระยางตรงตัวก็ได้ ทว่าความหมายโดยนัยคงไม่พ้นผู้ที่แสวงหาผลประโยชน์โดยที่ไม่ได้ลงมือเอง อาจเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ขโมยปลาดุกไป หรืออาจเป็นกลุ่มนายทุนที่แสวงหาผลกำไรจากผู้ผลิตในขั้นปฐมภูมิหรือกลุ่มเกษตรกรอาจกล่าวได้ว่า “นกกระยาง” เป็นภาพแทนของกลุ่มนายทุนหรือกลุ่มผู้มีอำนาจ ที่ทำนาบนหลังคน เพื่อลดต้นทุนในการผลิตหรือเอาเปรียบ โดยที่ผลกำไรไม่ได้ตกถึงมือผู้ผลิตในขั้นปฐมภูมินั่นเอง

            ประแป้งไหมคะ สร้างความน่าสนใจให้กับรวมเรื่องสั้นเล่มนี้คือความล้ำสมัย โดยหุ่นยนต์มีสัตว์เลี้ยงเป็นมนุษย์ ในที่นี้จึงขอเรียกว่า “สัตว์มนุษย์” ซึ่งมีลักษณะจำเพาะคือต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยสัญญาณไวไฟจึงจะมีชีวิตต่อไปได้ สัญญาณนั้นจะมาพร้อมกับการได้อยู่ใกล้ไอบอทและกลายเป็นสัตว์เลี้ยงของไอบอท (หุ่นยนต์) จะเห็นได้จาก “ขีดสัญญาณไวไฟพุ่งเป็นห้าขีด ระดับสูงสุดที่ไม่เคยพบเจอ ตอนนั้นเองที่ระบบต่าง ๆ สั่นสะท้านและส่งเสียงราวกับลูกนกหิวโหยอ้าปากรุมจิกอาหารจากแม่” (น.146) ทำให้เห็นถึงการเสียดสีคนในสังคมได้อย่างดีเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตมากจนไม่สามารถขาดการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ หากขาดสัญญาณไวไฟคงต้องลงแดงไปเสียง่าย ๆ ทั้งยังยั่วยุให้เกิดการตั้งคำถามต่อคนในสังคมว่า มนุษย์เรากลายเป็นสัตว์เลี้ยงหรือเหยื่อของเทคโนโลยีโดยสมบูรณ์แล้วหรือ อย่างไร

            นอกจากนี้ “สัตว์มนุษย์” ยังฉายภาพกลุ่มคนชาติพันธุ์มอญที่สังขละบุรี ซึ่งบ่งบอกว่าชนกลุ่มนี้ไม่ต่างจากการเป็นสัตว์เลี้ยงของกลุ่มนายทุนอยู่ในที จะเห็นได้จาก “เด็ก ๆ จะวิ่งออกไปที่สะพาน ปากร้องประแป้งไหมคะให้นักท่องเที่ยว แอชก็เคยเป็นแบบนั้น พี่สาวของเขาด้วย” (น.195) อาจกล่าวได้ว่า กลุ่มนายทุนสร้างการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรม เรียนรู้วิถีชีวิตชนพื้นเมือง แต่เบื้องหลังก็มุ่งตักตวงผลประโยชน์เช่นกัน ปัจจุบันสามารถพบเห็นทั่วไปตามพื้นที่ชนพื้นเมืองอาศัยอยู่ก็ว่าได้ การกระทำลักษณะนี้ไม่ต่างจากสัตว์ที่อยู่ในสวนสัตว์แม้แต่น้อย

            จะเห็นได้ว่า “สัตว์มนุษย์” เป็นภาพแทนของคนในสังคมที่ใช้เทคโนโลยีมากจนขาดไม่ได้ รวมถึงเป็นหนึ่งภาพที่สะท้อนการปฏิบัติกับมนุษย์อย่างไม่ใช่มนุษย์ของกลุ่มผู้มีอำนาจหรือนายทุน

            คืนปีเสือ เรื่องราวของฟาฮัดทายาทรุ่นที่สามชาวฮาลอ มาทวงคืนความยุติธรรมจากขบวนการชุมชนพัฒนาชาติ การเข้าไปก้าวก่ายของรัฐบาลไทย ทำให้ชนพื้นเมืองต้องอพยพออกไปโดยไม่ได้รับการใส่ใจดูแลให้สวัสดิการผู้แต่งสร้างภาพแทน “เสือ” เป็นชาวพื้นเมือง ได้แก่ชาวฮาลอ ชาวป่าโอรังอัสลี สิ่งที่เป็นนัยของเสือคือเจ้าป่า นั่นอาจหมายความว่าชนพื้นเมืองคือผู้ที่อาศัยอยู่ในป่ามาก่อนการแบ่งเขตอาณานิคม จึงยั่วยุให้ตั้งคำถามที่ว่าใครก้าวก่ายอธิปไตยของใคร สามารถเห็นภาพความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง ผู้มีอำนาจอย่างหน่วยงานรัฐที่ไม่ยี่หระต่อเสียงของประชาชนและเหยื่ออย่างชนพื้นเมืองผู้ทวงคืนความยุติธรรม

            ข่าวว่านกจะมา เรื่องราวของผู้ที่รอคอยการกลับมาของคนรัก ผ่านกลวิธีที่เน้นย้ำให้ตระหนักถึงอำนาจของเรื่องเล่า โดยใช้คำว่า “เขาว่า”ตลอดทั้งเรื่อง แสดงภาพแทนคนที่ออกไปแสวงหาความต้องการใหม่ของชีวิต เห็นได้จากภรรยาของผู้เล่าที่ออกไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในต่างแดนหรือผู้ลี้ภัยที่เป็นคนไทยในเกาะกงจากสงครามภายในประเทศกัมพูชา ผู้แต่งสร้างภาพแทนผู้แสวงหาความต้องการใหม่ เป็น “นก” เพื่อให้เห็นภาพของการอพยพลี้ภัยได้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ภาพคนไทยในเกาะกงแสดงให้เห็นการถูกกดขี่ให้กลายเป็นชนกลุ่มน้อย อำนาจสิทธิ์ที่จะต่อรองกับชนกลุ่มใหญ่เจ้าของประเทศแทบจะไม่มี จนทำให้ต้องหาความต้องการใหม่ของชีวิตที่ดีกว่านั่นเอง

            จระเข้ตาขุนเรื่องราวของตัวละครผมที่รับจ้างจากผู้มีอำนาจให้ไปรื้อป้ายหาเสียงของนักการเมืองท้องถิ่น จึงเกิดการไล่ฆ่าระหว่างตัวละครผมกับคนของนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งตาขุนเป็นชื่ออำเภอหนึ่ง ดังนั้นกล่าวได้ว่า “จระเข้” คือภาพแทนของนักการเมืองที่มีอำนาจในพื้นที่นั้น ๆ ที่มีอำนาจสิทธิ์ในการควบคุมชีวิตคนในพื้นที่จะเห็นได้จาก “ต่อให้เขาบอกว่าเคยว่ายน้ำแข่งกับฉลามผมก็เชื่อ ต่อไปเขาคงแทนคำว่าฉลามเป็นจระเข้ในเรื่องเล่าของตัวเอง” (น.466) อาจกล่าวได้อีกว่า ฉลามก็คือภาพแทนของผู้มีอำนาจในพื้นที่อื่นเช่นเดียวกันที่มีสิทธิ์ตัดสินชีวิตคน

            เป็นหมาป่า เรื่องราวของนักเขียนที่เขียนเรื่องสั้นแล้วซ้อนนวนิยายเข้าไปในเรื่องสั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า นวนิยายที่ซ้อนอยู่เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับมือสังหารไล่ล่าผู้มีอิทธิพลฝ่ายตรงข้ามในระดับประเทศตัวบทเรื่องสั้นก็เป็นเรื่องราวของมือปืนที่ตามฆ่าบุคคลที่ถูกจ้างวาน และในโครงเรื่องหลักของเรื่องเป็นหมาป่าเอง นักเขียนเป็นหมาป่าในเรื่องของผู้หญิง ต่างอยู่ในสถานะของหมาป่า แต่สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นมือสังหาร มือปืน หรือนักเขียนล้วนเป็นลูกแกะ และผู้แต่งได้สรุปท้ายเรื่องไว้ว่า “ไม่มีการเจรจาที่จริง ฝ่ายตรงข้ามเราล้วนเป็นหมาป่า” (น.451) จะเห็นได้ว่าในสถานการณ์ใดก็ตามในสังคมแห่งผลประโยชน์ เราต่างเป็น “หมาป่า” และ “ลูกแกะ” หรือ “ผู้ล่า” และ “เหยื่อ” อยู่ในขณะเดียวกัน 

            จากเรื่องสั้น นกกระยางโง่ ๆประแป้งไหมคะ, คืนปีเสือ, ข่าวว่านกจะมา, จระเข้ตาขุนและเป็นหมาป่า นำเสนอสัมพันธภาพของสังคมที่เหินห่าง ตกอยู่ในสถานะผู้ล่ากับเหยื่อ สะท้อนสังคมในปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัดเจน ภาพทับซ้อนระหว่างพฤติกรรมของสัตว์และพฤติกรรมของคนซ้อนทับกันอย่างแยบยล

            นอกจากนี้ยังมีเรื่อง บูรงแมน, อยู่ช้างล่างขว้างได้ขว้างเอา,และปลดแร้ว ที่นำเสนอสัมพันธภาพของผู้มีอำนาจกับผู้ด้อยอำนาจได้อย่างชัดเจน ถึงแม้จะไม่ได้สร้างภาพแทนสัตว์เป็นพฤติกรรมของมนุษย์เหมือนเรื่องก่อนหน้าก็ตาม จะเห็นได้ว่า บูรงแมนเรื่องของการสร้างภาพยนตร์เพื่อขายวัตถุมงคล ทำให้เห็นถึงอำนาจของสื่อที่สามารถประกอบสร้างความศรัทธาให้แก่คนในสังคม ขณะที่เบื้องหลังเต็มไปด้วยผลประโยชน์นายทุน ซึ่งนายทุนในเรื่องนี้คือสมาคมเซียนพระ กล่าวได้ว่าผู้มีอำนาจใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลกำไรอยู่ ในเรื่องอยู่ข้างล่างขว้างได้ขว้างเอา เรื่องแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ที่ทำให้ “ลิง” พูดได้และใช้ชีวิตกับคนอย่างปรกติสุข สื่อให้เห็นถึงความคิดของมนุษย์ที่อยู่เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง แต่ในขณะเดียวกัน ลิงที่เป็นตัวแทนของธรรมชาติอาจเป็นสิ่งที่อยู่เหนือกว่ามนุษย์และกำลังเรียกร้องความเป็นธรรมอยู่ก็ได้ และปลดแร้วที่มีนัยสื่อถึงการปลดเปลื้องพันธนาการอันคับข้องที่อยู่ภายในใจ โดยใช้แร้วที่เป็นเครื่องมือดักสัตว์หมายถึงสิ่งที่กุมขังความคับข้องภายในใจนั้นอยู่นั่นเอง

            รวมเรื่องสั้นคืนปีเสือเล่มนี้ ทำหน้าที่ของวรรณกรรมที่ส่งสารสู่สังคมได้อย่างดี กล่าวคือแสดงภาพความต่างที่ถูกแบ่งแยกออกเป็นฝั่งฝ่ายของวิถีแห่งมนุษย์ ทั้งในสถานะของผู้มีอำนาจและผู้ด้อยอำนาจที่ต่างตกอยู่ภายใต้อำนาจนิยมและทุนนิยม มุ่งเสนอภาพความต่างผ่านภาพแทนของสัตว์ต่าง ๆ สามารถยั่วยุให้ตั้งคำถามต่อตัวบทและบริบทของสังคมได้อีกด้วยการสร้างภาพแทนของพฤติกรรมของมนุษย์เป็นสัตว์ ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของกลวิธีการเล่าเรื่อง เมื่อประกอบกับกลวิธีการแต่งชนิดอื่น ๆ แล้วสามารถเน้นย้ำความหมายของสารัตถะของเรื่องได้อย่างมาก เพราะทำให้ผู้อ่านเห็นภาพที่ทับซ้อนกันอยู่ระหว่างพฤติกรรมของคนและสัตว์อย่างแจ่มชัด

            อนึ่ง รวมเรื่องสั้นคืนปีเสือเล่มนี้ มีความหลากหลายในเรื่องของมุมมองแง่คิด กอปรด้วยตัวบทที่เปี่ยมไปด้วย“รส” และ “ความ” ทำให้ผู้อ่านเพลิดเพลินไปกับเรื่องเล่าที่มีชั้นเชิงและต่างเฝ้าหาความหมายของสิ่งที่ปรากฏขึ้นเป็นตัวอักษรและที่แฝงเร้นอยู่ ในบทวิจารณ์นี้จึงนำเสนอผ่านมุมมองหนึ่งเท่านั้น ถึงแม้ว่า ความหมายที่ซับซ้อนอาจทำให้ตัวบทอ่านยากและยืดยาวไปเสียมาก แต่เมื่อเทียบกับสารที่ถูกส่งผ่านวรรณกรรมแล้ว กลับไม่ได้ทำให้ความคุ้มค่าในการอ่านลดลงไปแม้แต่น้อย ท้ายที่สุด เมื่ออ่านรวมเรื่องสั้นเล่มนี้จบ อาจพบคำถามที่เกิดขึ้นในใจว่า ขณะนี้เรากำลังสวมบทบาทสัตว์ชนิดใดอยู่..?

 

เอกสารอ้างอิง

จเด็จ  กำจรเดช. (2563).  คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ.กรุงเทพฯ: ผจญภัย.

ธัญญาสังขพันธานนท์. (ม.ป.ป.). ใช่เพียงเดรัจฉาน : สัตวศึกษาในมุมมองของการวิจารณ์เชิงนิเวศ. สืบค้น 23 มีนาคม 2564 จาก shorturl.asia/t9p1C


 
 
 
 
 

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

 

“อนุสาวรีย์” แห่งเจตจำนน

  

กัลยรัตน์ ธันยดุล 

  

            ตลอดช่วงชีวิตของคนเราคงมีหนังสืออย่างน้อยสักเล่มหนึ่งที่เมื่ออ่านจบแล้ว กลับทิ้งคำถามไว้ในหัวของผู้อ่านมากมายไม่รู้จบ และหากว่านั่นจะถือเป็นชนิดของหนังสือได้ “อนุสาวรีย์” โดย วิภาส ศรีทอง ก็คงจะเป็นหนึ่งในนั้น เพราะแม้จะเป็นหนังสือที่เมื่ออ่านดูแล้วเหมือนจะเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร หากคำถามว่า “ทำไม”นั่นเองที่ทำให้หนังสือเล่มนี้อาจไม่ใช่หนังสือที่อ่านง่ายสำหรับใครหลาย ๆ คน เพราะเราไม่สามารถตอบคำถามเหล่านั้นได้จากบริบทที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ จึงไม่ผิดและเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่งที่ผู้อ่านจะทำการตีความสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้สามารถตอบคำถามได้ตามแต่มุมมองของแต่ละคน

            ก่อนที่บทความนี้จะแจกแจงคำถามที่ว่า “ทำไม” ที่ได้เกริ่นไปแล้ว และตอบคำถามเหล่านั้นด้วยการตีความตามอัธยาศัย เป็นการสมควรที่เราจะรู้เรื่องย่อพอสังเขปของหนังสือเล่มนี้เสียก่อน “อนุสาวรีย์” เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวโดยบุคคลที่สามผ่านมุมมองของ “วรพล”เป็นหลัก ผ่าน “กมล” และบุคคลอื่น ๆ บ้างตามแต่สถานการณ์จำเป็น วรพลเป็นบุคลากรคนหนึ่งที่อาศัยอยู่สถานที่แห่งหนึ่งที่เรียกว่า“คอมมูน” คอมมูนแห่งนี้ประกอบไปด้วยอาคารนอนสำหรับบุคลากรกว่าหลายร้อยคน บุคลากรเหล่านี้จะปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในคอมมูนตามสัญญาณที่ดังบอก ตื่นนอน ทำภารกิจส่วนตัว รับประทานอาหารเช้า แยกย้ายกันไปทำงานตามแผนก พักรับประทานอาหารเที่ยง และแยกย้ายกันพักผ่อนในห้องอันปราศจากบานประตูของตนเอง บุคลากรทุกคนจะต้องสวมใส่ชุดเหมือน ๆ กัน รับประทานอาหารที่ตนไม่ได้เลือก และจะกระทำได้เฉพาะสิ่งที่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองเท่านั้น โดยปกติพวกเขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปไหนทั้งสิ้น ส่วนกมลเป็นผู้เข้ามาใหม่ในคอมมูนแห่งนี้ และได้อยู่ห้องเดียวกับวรพล ชายผู้นี้ประสบอุปสรรคในการปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ใหม่ในช่วงแรก ๆ และค่อย ๆ กลมกลืนไปกับสภาพความเป็นอยู่อย่างเช่นคนอื่น ๆ 

            เมื่อเวลาผ่านไป ความอัดอั้นตันใจที่มี ทำให้ทุกคนมายืนอยู่รวมกัน ณ ลานอเนกประสงค์ ผู้เขียนบรรยายอยู่หลายหน้าทีเดียว (66-74) ว่าการค่อย ๆ รวมตัวกันที่เกิดขึ้นนั้นมีความหมายพิเศษ “คนที่อยู่มานานจนเฒ่าชรากว่าใครจากแต่ละตึกแต่ละบล็อกที่เป็นเสมือนผู้ใหญ่น่านับถือ การที่คนเหล่านี้เดินท่อม ๆ เข้ามาที่ลานใหญ่ ตอกย้ำถึงความหมายพิเศษของบรรยากาศ ต่างเห็นถึงความสำคัญของมันซึ่งทำให้พวกเขาต้องเข้ามาร่วมกันเป็นประจักษ์พยาน” (71) ปัญหาก็คือ ดูเหมือนว่าไม่มีผู้ใดรู้ถึงสาเหตุ หรือบางทีพวกเขาอาจไม่กล้าที่จะพูดออกมา จะเห็นได้จากย่อหน้าถัดมาในหน้าเดียวกัน“ทว่าสถานการณ์หาได้รุดหน้าไปจากเดิมแต่อย่างไรไม่ ในชั่วโมงอันเสมือนชี้ชะตาพวกเขา หลายคนเริ่มตั้งคำถามขึ้นในใจ ว่าทั้งหมดนี้ไม่มีความหมายอะไรเลยหรือ?”หากในเวลาต่อมา ท่ามกลางความสับสน มึนงง และขลาดกลัวของผู้ชุมนุม เมื่อใครสักคนที่เรียกตัวเองว่า “นายผี” เอ่ยคำว่าอนุสาวรีย์ ที่มีชื่อว่า ‘ดุษณีภาพ’ ขึ้นมา พวกเขาจึงกอดเอาไว้และกระจายความคิดนั้น ราวกับกอดขอนไม้ใหญ่กลางมหาสมุทรเพื่อไม่ให้ตนเองจมลงไปและส่งต่อไปให้ผู้ร่วมชะตากรรมคนอื่น ๆ จากนั้นอนุสาวรีย์ก็ถูกสร้างขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยจากแรงงานของบุคลากรในคอมมูนเอง ปราศจากซึ่งเหตุผลอื่นใด นอกเสียจากว่ามันเป็นเหมือนความหวังหนึ่งเดียวที่จะยึดเหนี่ยวจิตใจอันหลงทางของสมาชิกคอมมูนเอาไว้ได้ แม้จะเพียงชั่วคราวเท่านั้นก็ตาม      

            อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงจะเห็นคำถามที่ซ่อนอยู่ในเรื่องย่อเหล่านั้นบ้างแล้ว หากยังไม่เห็น ข้าพเจ้าก็จะได้อภิปรายต่อไปดังนี้ คำถามข้อแรก คือ ทำไมบุคลากรเหล่านี้จึงยอมมาอยู่ร่วมกันในสถานที่และสถานการณ์ที่ถูกจำกัดอิสรภาพของตน ทั้ง ๆ ที่สิ่งตอบแทนทั้งหมดที่ได้รับ คือ ที่ซุกหัวนอนซอมซ่อและข้าวปลาอาหารให้พอดำรงชีวิตไปได้ ข้อสอง คือ ขณะที่มารวมตัวกัน เหตุใดพวกเขาจึงปราศจากซึ่งเจตจำนงอันมนุษย์พึงมีในการที่จะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ข้อที่สาม คือ ทำไมต้องอนุสาวรีย์ อนุสาวรีย์คือสิ่งใดสำหรับพวกเขา ในเมื่อคำถามหลัก ๆ สามข้อนี้ไม่สามารถหาคำตอบได้จากตัวบทในหนังสือ ทำให้เป็นการยากที่เราจะบอกได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังสือนั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ ตามตัวอักษร บทความนี้จึงจะเป็นเหมือนบทความอื่น ๆ ที่จะพยายามตีความสิ่งที่เกิดขึ้น ต่างก็เพียงแต่มุมมองการตีความเท่านั้น

            หากจะบอกว่านัยยะของหนังสือเล่มนี้สื่อถึงเรื่องการเมืองการปกครองอันประชาชนทั้งหลายถูกกดขี่โดยชนชั้นผู้ปกครองก็คงจะไม่ผิด ข้าพเจ้าเพียงแต่เกรงว่าจะเป็นการซ้ำกับบทความอื่น ๆ ที่จะขยายความในทางนั้น เพราะความชัดเจนที่ปรากฏ และเนื่องจากว่า บุคลากรในคอมมูนทุกคน รวมไปถึงชนชั้นผู้ปกครองล้วนเป็นผู้ชาย ข้าพเจ้าอาจจะเขียนถึงประเด็นปิตาธิปไตยได้ หากคงจะไม่สมบูรณ์ เพราะหนังสือปราศจากผู้ที่ถูกกดขี่โดยตรง อย่างเพศหญิง เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ข้าพเจ้าได้มาถึงข้อสรุปที่จะตอบคำถามที่ข้าพเจ้ามีจากหนังสือเล่มนี้บนประเด็นปัญหาที่กำลังกระทบสังคมไทยและมีแต่ทีท่าที่จะกระทบหนักขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือ ระบบทุนนิยม 

            ระบบทุนนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจหนึ่งที่ทำงานตามกลไกตลาด ซึ่ง คาร์ล มาร์กซ์ นักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมวิทยาและอื่น ๆ ชาวเยอรมันที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ได้แบ่งชนชั้นในระบบทุนนิยมออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ นายทุน หรือเจ้าของทุนที่เป็นเจ้าของกิจการ รวมถึงนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทเหล่านี้ และผู้บริหารระดับสูงที่ได้รับส่วนแบ่งจากกำไรที่เกิดขึ้น กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มลูกจ้างและพนักงาน ได้รับค่าจ้างและเงินสวัสดิการต่าง ๆ เป็นการตอบแทน หากอ้างอิงความหมายของระบบทุนนิยมตามแนวคิดนี้ เราจะเห็นได้ชัดเจนถึงการแบ่งแยกชนชั้นออกเป็นสองชนชั้นที่ปรากฏในตัวบท กล่าวคือ ผู้ปกครอง เป็นชนชั้นแรก คือ ชนชั้นนายทุน หรือเจ้าของทรัพยากรการผลิต ส่วนสมาชิกคอมมูน คือ ชนชั้นถัดมาหรือกลุ่มลูกจ้างหรือแรงงาน นอกจากนี้ คาร์ล มาร์กซ์ ยังได้กล่าวไว้ว่า ในโลกที่มีทรัพยากรจำกัด นายทุนเป็นผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน ทุน แรงงาน และเครื่องจักร ในขณะที่ลูกจ้างทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตและได้ค่าจ้างเป็นการตอบแทนจากนายทุน

            สิ่งที่ยึดโยงคอมมูนนี้ในฐานะสังคมแบบทุนนิยมเอาไว้ด้วยกัน จึงไม่ใช่ความเห็นพ้องต้องกัน (Consensus) มาตั้งแต่ตอน แต่เป็นการบีบบังคับ (Constraint) จากระบบโครงสร้างนี้ เราจึงจะตอบคำถาม “ทำไม” ข้อที่หนึ่งได้ทันทีว่า แรงงานหรือลูกจ้างที่ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพยากรมากมาย ล้วนต้องอยู่ในสภาวะจำยอมต่อสภาพลูกจ้างที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอดในชีวิต จะเห็นได้ว่าสมาชิกคอมมูนต้องทำงานตามแผนกที่ได้รับมอบหมาย ไม่ว่าจะเป็นแผนกพลาสติก แผนกขัดเงาโลหะ แผนกการเกษตร และอื่น ๆ (ซึ่งผลผลิตเหล่านี้ล้วนเป็นผลผลิตที่จะเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมเพื่อผลิตสินค้าต่าง ๆ ออกสู่ตลาดต่อไป) เพื่อแลกกับอาหารและที่อยู่อาศัยซึ่งก็คือค่าจ้างเพื่อที่จะดำรงอยู่ ไม่ต่างกับลูกจ้างแรงงานในชีวิตจริงที่ต้องทำงานหนักแบบเดียวกันเพื่อตอบสนองความต้องการเดียวกัน

            ในขณะที่ชนชั้นผู้ปกครองในตัวบทหรือนายทุนมีสิทธิ์ในการออกกฎต่าง ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเอง ชนชั้นผู้ออกกฎจึงถูกมองในแง่ของคนที่เผยแพร่ค่านิยม ความเชื่อ และจัดระเบียบทางสังคมที่จะสนับสนุนความมั่งคั่งของพวกตน เราจะเห็นได้จากในตัวบท ที่ชาวคอมมูนต้องร้องเพลงที่ผู้ปกครองแต่งขึ้น เป็นการปลูกฝังค่านิยมและความเชื่อผ่านเนื้อเพลงที่จะทำให้ผู้ขับร้องมีจิตใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับองค์กร ในส่วนของระเบียบทางสังคม ยิ่งชัดเจนเข้าไปอีก จากการกำหนดเวลาต่าง ๆ ในชีวิตของสมาชิกตั้งแต่เวลาตื่น เวลาทำงาน ไปจนถึงเวลาเข้านอน

            สภาวะจำยอมที่เกิดขึ้นต่อสมาชิกคอมมูนจึงทำให้เกิดคนอยู่สามประเภทใหญ่ ๆ ดังที่ปรากฏในตัวบท ประเภทแรก คือ คนแบบวรพลที่อยู่ในคอมมูนมานาน ทำให้เกิดความเคยชินและพอใจที่จะอยู่ในสภาวะจำยอมมากกว่าการลุกขึ้นต่อสู้ ประเภทที่สอง คือ คนแบบกมล เนื่องจากเพิ่งเข้ามาใหม่ในคอมมูนแห่งนี้ ความไม่เคยชินทำให้เขารู้สึกต่อต้านและแสดงออกในทิศทางที่สวนทางกับความต้องการของผู้ปกครอง จะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นการตะโกนถามเวลาที่ต่อให้ถามไปก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของเขาได้ ก็ทำให้เขารู้สึกมีพลังมากกว่าการปล่อยเลยตามเลย และประเภทที่สาม คือ คนอย่างนายผี แทนที่จะต่อสู้กับผู้มีอำนาจ เขาเลือกที่จะหาทางออกโดยการต่อสู้กับตนเอง ด้วยหลักคิดต่าง ๆ ที่สถานการณ์บีบบังคับให้เขาสร้างขึ้นและนำมาแบ่งปันกับวรพลเพื่อให้เขารู้สึกดีกับตัวเองอีกทีหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น หลักคิดที่ว่าเขาไม่มีตัวตนอยู่จริง และถ้าหากว่านั่นไม่ได้เป็นเพียงแค่หลักคิด หากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในตัวบท คำถามก็จะมีอยู่ว่า หากปราศจากผู้ส่งสาร สารของเขาจะถูกส่งไปถึงตัววรพลได้อย่างไร? ทั้งนี้ สูตรทางคณิตศาสตร์ของเขายังสามารถวิวัฒนาการได้เมื่อเวลาผ่านไป นั่นแปลว่าเขาคือผู้พัฒนาที่ยังอยู่ในโลกใบนี้ ทั้งนี้ ข้าพเจ้าผู้ซึ่งไม่เข้าใจในสูตรเหล่านั้น จึงเลือกที่จะวิเคราะห์สาเหตุที่เขาต้องสร้างสูตรเหล่านั้นขึ้นมาอย่างที่กำลังทำอยู่นี้เอง

            อย่างไรก็ดี ในการที่จะตอบคำภาม “ทำไม” ข้อที่สองได้นั้น เราจะอาศัยทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ ที่กล่าวว่า เราสามารถเรียนรู้พฤติกรรมของสังคมได้จากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มหรือบุคคลต่าง ๆ ในการแข่งขันเพื่อแย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด นอกจากนี้ Lewis A. Croser นักสังคมศาสตร์ชาวเยอรมัน – อเมริกันกล่าวไว้ว่า ความขัดแย้งเป็นกระบวนการหนึ่งทางสังคม ดังนั้นจึงไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีความสามัคคีกันโดยสมบูรณ์ เพราะความขัดแย้งเป็นสภาวะหนึ่งของมนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้น ความขัดแย้งยังทำให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้ที่คิดเห็นตรงกัน และเกิดความสามัคคีกันในกลุ่มเพื่อต่อต้านศัตรูคนเดียวกัน เราจึงจะตอบคำถามข้อที่สองได้ว่า ความอัดอั้นแบบเดียวกันของสมาชิกในคอมมูนต่อกลุ่มคนกลุ่มเดียวกันนั่นเองคือสิ่งที่ทำให้เกิดความสามัคคีกันในกลุ่ม และมารวมตัวกันกลางลานอเนกประสงค์โดยไม่ได้นัดหมาย ด้วยเจตจำนงที่จะเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากกลุ่มผู้ปกครอง

            ทั้งนี้ การกระทำดังที่ได้กล่าวไปยังสัมพันธ์กับแนวคิดของมาร์กซ์ว่าด้วย การต่อต้านสภาวะเดิมของสังคม (Antithesis) ซึ่งสามารถนำไปสู่สภาวะใหม่ (Synthesis) ของสังคมได้ หากเมื่อเวลาผ่านไป สภาวะใหม่นั้นก็อาจกลับมาเป็น สภาวะเดิมของสังคม (Thesis) อีกครั้งหนึ่ง นำมาซึ่งการต่อต้านสภาวะเดิมและวนไปเช่นนี้ไม่รู้จบ จากแนวคิดนี้ เราจึงจะตอบคำถามข้อที่สามได้ในทันทีว่า อนุสาวรีย์เปรียบเสมือนสภาวะใหม่ของสังคมที่สมาชิกในคอมมูนรวมกลุ่มกันเรียกร้องได้สำเร็จ ตลอดระยะเวลาที่อนุสาวรีย์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นจึงเป็นการค่อย ๆ หลุดจากสภาวะเดิม แม้จะไม่รู้ว่าสภาวะใหม่นี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังที่ปรารถนาหรือไม่ แต่ ณ ขณะนั้นมีความหวังใหม่ดำเนินอยู่ อนุสาวรีย์จึงถือเป็นที่พึ่งชั่วคราวของสมาชิกคอมมูน

            ทางด้านผู้ปกครองที่ถือไพ่เหนือกว่ามาตลอด การประนีประนอมย่อมเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะรับมือกับความขัดแย้ง เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มแรงงานที่มีมากกว่าลุกฮือและต่อต้านตนไปมากกว่าเดิม การปล่อยให้อนุสาวรีย์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วปราศจากการเจรจาอื่นใดจนข้าพเจ้าเรียกได้ว่า‘ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย’นั้น จึงสมเหตุสมผลขึ้นมาทันที เพราะเราจะเห็นว่าช่วงเวลาที่ความขัดแย้งก่อตัวขึ้นและจบลงนั้นช่างสั้นเหลือเกิน นั่นเป็นผลมาจากการประนีประนอมแม้เพียงเล็กน้อยอย่างการให้สร้างอนุสาวรีย์ ความขัดแย้งก็เบาลงและกลับไปสู่สภาวะเดิม แม้แต่การก่อสร้างอนุสาวรีย์ที่พวกเขาต้องลงมือลงแรงเองยังเป็นไปด้วยความเต็มใจและฮึกเหิม เมื่อมาถึงตรงนี้ ความย้อนแย้งจึงเกิดขึ้น เพราะถ้าเปรียบแรงเป็นทุนเดียวที่พวกเขามีอยู่ สมาชิกคอมมูนก็กำลังวนกลับไปสู่สภาวะการถูกกดขี่โดยการใช้แรงงานให้สร้างสัญลักษณ์ที่เอื้อประโยชน์แก่อำนาจของของระบบทุนนิยมให้ฝังลึกอย่างแนบเนียนผ่านรูปแบบของการประนีประนอม

            ท่านอ่านไม่ผิดและข้าพเจ้าไม่ได้พิมพ์ขาดตกบกพร่องแต่ประการใด ‘อนุสาวรีย์แห่งสังคมทุนนิยม’ คือ สิ่งที่สมาชิกชาวคอมมูนได้ร่วมมือกันสร้างจนเสร็จ คงจะเป็นการไม่ครบสมบูรณ์ หากข้าพเจ้าไม่ได้กล่าวถึงสัญลักษณ์ของ ‘อนุสาวรีย์’ ที่เป็นชื่อของหนังสือเล่มนี้ ฐานห้าเหลี่ยม มีเสาสูงขึ้นไปและมีบางอย่างปรากฏอยู่บนยอดซึ่งถูกปิดบังจากสายตาของสมาชิกคอมมูนโดยผู้ปกครอง ข้าพเจ้าไม่เห็นความจำเป็นประการใดที่ชนชั้นผู้ปกครองจะต้องปิดบัง เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาเกรงว่าชนชั้นแรงงานจะรู้ความจริงว่าสิ่งที่สร้างมาตลอดคือสัญลักษณ์แห่งการยอมจำนนต่ออำนาจเงิน ตามชื่ออนุสาวรีย์ ‘ดุษณีภาพ’ ซึ่งหมายถึง การนิ่งเฉยอย่างยอมรับ ส่วนสิ่งที่ซ่อนอยู่หลังผ้าใบบนยอดอนุสาวรีย์นั้น คือสัญลักษณ์ของระบบทุนนิยมหรือเงินตรานั่นเอง ซึ่งข้าพเจ้าได้อ้างอิงจากภาพการ์ตูนล้อเลียนที่เผยแพร่ใน Cleveland โดย The International publishing Co. ปี 1911 ภาพนั้นมีชื่อว่า Pyramid of Capitalism System โดย Nadeljkovich Brashick และ Kuharich ที่พวกท่านจะได้เห็นในหน้าสุดท้ายของบทความนี้จากภาพจะเห็นได้ว่า พีรามิดนี้นำเสนอรูปแบบการปกครอบภายใต้ระบบทุนนิยม (รูปถุงเงินอยู่เหนือสุด) ซึ่งแต่ละชนชั้นจะถูกปกครองโดยชนชั้นที่อยู่เหนือชนชั้นของตนเองอีกชั้นหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับในตัวบท เราจะเห็นว่าสมาชิกคอมมูน ถูกปกครองโดยรองผู้บังคับบัญชา และรองผู้บังคับบัญชาก็ถูกปกครองโดยผู้บริหารอีกทีตามลำดับขั้น ซึ่งผู้บริหารก็อาจถูกประเมินอีกทีจากองค์กรที่ใหญ่กว่าด้วย นี่คือความชัดเจนที่ปรากฏในอนุสาวรีย์ที่อยู่ต่อหน้าสมาชิกคอมมูนทั้งหลาย  

            อนุสาวรีย์โดยทั่วไปมักถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์สำหรับระลึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญ ซึ่งมักจะเป็นบุคคลที่ได้ปฏิบัติคุณประโยชน์แก่สังคมหรือเหตุการณ์ที่ประชาชนหรือประเทศชาติได้รับชัยชนะ แต่อนุสาวรีย์ดุษณีภาพ เป็นสัญลักษณ์แห่งการพ่ายแพ้และยอมจำนนอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากย่อหน้าสุดท้ายในหนังสือตอนที่ทุกคนกำลังขับร้องเพลงชื่อเดียวกับอนุสาวรีย์ที่ว่า “วรพลรีรอจะร้องตาม เขามองใบหน้าและรูปร่างของผู้คนและลองส่งเสียงร้องเพี้ยนผิดทำนองนำไปล่วงหน้า แม้จะเห็นความไม่เป็นธรรมชาติในอารมณ์ตน แต่เสียงที่เปล่งก็หลอมรวมไปกับพวกเขา มันเกาะเกี่ยวทุกอย่างเข้าด้วยกันอย่างแน่นแฟ้นขึ้นทุกที เขาสะท้านไปกับความเดียวดายอย่างลึกซึ้งของการยอมจำนน ดื่มด่ำกับข้อเท็จจริงอันแสนธรรมดานี้...” และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคู่ต่อสู้ของพวกเรา คือ ระบบที่ถืออำนาจเงินเป็นสำคัญดำรงอยู่เหนือความเป็นมนุษย์ทั้งปวง

 

Pyramid of Capitalism System 

Source : https://en.wikipedia.org/wiki/Pyramid_of_Capitalist_System


 
 
 

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

 

Hi! So-Cial ไฮโซ...เชียล : บนพื้นที่ “โลกออนไลน์”

มุ่งขับเคี่ยวบางความหมาย “โลกออนไซต์”

 

อภิชัย  อุทัยแสง

 

 

         กวีนิพนธ์เรื่อง Hi! So-Cialไฮโซ...เชียล รวมกวีนิพนธ์ ของ ขวัญข้าว ขวัญเรียมเอย เป็นหนังสือกวีนิพนธ์รวมบทกวี 1 ใน 8 เล่ม ที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พุทธศักราช 2562 และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1ประเภทกวีนิพนธ์ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 17 ประจำปี 2563 ซึ่งเนื้อหาในเล่มนี้ มีรวมบทกวีทั้งหมด 40 เรื่อง กวีสามารถเรียงร้อยเรื่องราวในลักษณะของเรื่องเล่าผ่านคำสำคัญต่าง ๆ ที่เป็นที่รู้จักภายใต้กระแสสังคมในขณะนั้น ซึ่งกวีได้ใช้รูปแบบฉันทลักษณ์กลอนสุภาพจำนวน 39 เรื่อง และมีเพียง 1 เรื่อง ที่ใช้รูปแบบฉันทลักษณ์กาพย์ยานี 11มาถ่ายทอดเรื่องราวบทกวีทั้ง 40 เรื่อง ได้เรียงร้อยเชื่อมต่อทั้งเนื้อหาและสัมผัสทุกเรื่อง ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องผ่านมิติเวลาเชื่อมโยงกับมิติพื้นที่จากอดีตสู่ปัจจุบัน นับเป็นการสรรค์สร้างผลงานที่ผสมผสานสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ได้อย่างลงตัว

          กวีนิพนธ์เรื่อง Hi! So-Cial ไฮโซ...เชียล ของ ขวัญข้าว ขวัญเรียมเอย จากชื่อเรื่องจะเห็นได้ว่ามีการเล่นล้อในตัวภาษา ที่แสดงให้เห็นถึงความคิดทันโลก ทันเหตุการณ์ของตัวกวี ซึ่งคำว่า Hi!” เป็นคำที่แสดงการทักทายของผู้คนที่มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เป็นการสื่อสารแบบที่ผู้ส่งสารหรือผู้รับสารสามารถเห็นหน้ากันได้ (Face to Face) แต่คำว่า Hi!” ในที่นี้ ได้แปรเปลี่ยนจากความชิดใกล้กลายเป็นความห่างเหินของผู้คน หรืออีกนัยยะ Hi!” ไปพ้องเสียงคำว่า  high แปลว่า สูง หรือมากHiso” ย่อมาจากคำว่า high society ถือว่าเป็นสังคมชนชั้นสูงของบรรดาผู้ดีมีตระกูลตามแนวคิดแบบมาร์กซิสต์ ถือว่าเป็นความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในสังคม ซึ่งตัวกวีได้เสียดสีสังคมกลาย ๆ และSocial” เป็นช่องทางการสื่อสารแบบใหม่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Socialmedia) ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถตอบโต้กันได้ และถือได้ว่าเป็นสื่อที่แพร่กระจายด้วยปฏิสัมพันธ์เชิงสังคม Hi Social” จึงเป็นการเปิดโลกทัศน์และชีวทัศน์ของผู้คนในยุคปัจจุบันที่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ทั่วโลก กวีนิพนธ์เรื่อง Hi! So-Cial ไฮโซ...เชียล เป็นการผสมผสานความเป็นสากลผ่านตัวอักษรภาษาอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้หลงลืมตัวตนคือการใช้ภาษาไทยอีกนัยหนึ่งเป็นการสร้างพื้นที่สังคมให้เกิดความเท่าเทียม ไม่ว่าจะอยู่สถานะใดในสังคมก็ล้วนสามารถเข้าถึงความทันสมัย (modern) ผ่านสื่อโลกออนไลน์ได้ การปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง นับเป็นความแปลกใหม่ของกวีนิพนธ์เล่มนี้ ที่ไม่ใช่เฉพาะภาษาและเนื้อหาที่ทันสมัย แต่มีความเป็นสากลผนวกเข้ากับการแสดงอัตลักษณ์ของตนได้อย่างมีชั้นเชิง

   แท้จริง หรือแปลกปลอม : การเตรียมพร้อมต่อความเปลี่ยนแปลง

          กวีนิพนธ์เรื่อง Hi! So-Cial ไฮโซ...เชียล เปรียบเสมือนภาพแทนที่กวีได้ถ่ายทอดออกมาโดยการสื่อสารผ่านบทกวีที่ทันโลก และทันต่อเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นที่ “จับจ้อง” ของสังคม ซึ่งสื่อออนไลน์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วิถีชีวิตได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่งผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ภายใต้สัญญะของความเป็นสมัยใหม่ (sign of modernity) ทำให้คนในสังคมต่างมองเห็นว่าเป็นสิ่งที่ยกระดับทำให้วัตถุต่าง ๆ กลายเป็นสินค้า ซึ่งจากแนวความคิดฌองโบดริยาร์ด(JeanBaudrillard) นำเสนอแนวคิดโดยการแสดงให้เห็นว่าปรากฏการณ์การ เปลี่ยนแปลงความหมายของวัตถุนั้นไม่ได้เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณวัตถุอย่างที่เห็นเพียงภายนอก แต่เกิดจากสังคมที่มอบหน้าที่ใหม่ให้กับวัตถุในระบบดั้งเดิม วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมในอดีตได้ถูกถ่ายทอดให้เข้ากับความร่วมสมัย กวีได้สะท้อนสังคมผ่านการดำเนินชีวิตของคนชนบทในอดีต โดยเฉพาะคนอีสานที่มีวิถีการดำรงชีพแบบเรียบง่าย เนื่องจากกวีเป็นคนในภาคอีสานอันเป็นการถ่ายทอดความทรงจำในอดีตผ่านวิถีชีวิตตามธรรมชาติ เช่น แหย่มดแดง ไล่กระปอม ปิ้งแย้  ย่างกบอึ่ง หมกรวงผึ้ง คั่วกุดจี่ อ่อมน้องวัว เป็นต้นทำให้เข้าใจความเป็นอยู่ได้อย่างลึกซึ้ง พร้อมกับซึมซับวิถีชีวิตต่าง ๆ เหล่านั้นแล้วถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกในบทกวีที่ชื่อว่า “ไฮโซ” ที่ไปพ้องกับชื่อเรื่องด้วย โดยความหมายของคำว่า “ไฮ” ในภาษาอังกฤษ แปลว่า “สูง” ส่วนคำว่า “โซ” เป็นภาษาไทยถิ่นอีสาน แปลว่า “ผอม” เป็นการเล่นล้อทางภาษาเชิงเสียดสี รวมกันเป็น “ไฮโซ” กวีได้ใช้รูปแบบฉันทลักษณ์กาพย์ยานี 11 ต่างจากเรื่องอื่น ๆ ด้วยความพิเศษทั้งตัวภาษาและเนื้อหา ในส่วนภาษาทั้งคำที่แสดงคู่ตรงข้ามหรือความเป็นโลกที่คู่ขนาน เช่น ความเป็นเมือง ความเป็นชนบท เป็นต้นและสะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่นความเป็นอีสานผนวกกับความเป็นสากลที่หยิบยกภาษาต่างประเทศเข้ามา นับเป็นความยอดเยี่ยมของกวีที่สามารถคัดสรรถ้อยคำออกมาได้อย่างลงตัว ทำให้ยิ้มและพลางหัวเราะไปในตัว ดังบทกวีที่ว่า 

เกิดข้างวงไฮโล                เป็นไฮโซโก้ทุกอย่าง

เหยียบไต่ต้นไม้พลาง       ใช้ไม้พลองแหย่มดแดง

ไฮโซที่ราบสูง                 ต้อนฝูงควายในหน้าแล้ง

เลี้ยงควายเช้าจรดแลง      ปีนต้นไม้ไล่กระปอม

ไฮโซที่ราบสูง                  รวมเพื่อนฝูงตั้งกลุ่มพร้อม

‘ไฮสูง’ส่วน‘โซผอม’          ผสมคำเป็นไฮโซ

ตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊ก            โพสต์สนุกโพสต์โก้โก้

บ้านบ้านก็ต้องโชว์          ช่างเป็นเทรนติดดินดี

ปิ้งแย้ ย่างกบอึ่ง             หมกรวงผึ้ง คั่วกุดจี่

น้องวัวแซ่บอีหลี              ชาวเน็ตตื่นตามไลก์แชร์

(ไฮโซ,หน้า 85-86)

          จากแนวคิดของโบดริยาร์ดนับเป็นการสร้างสิ่งที่มีอยู่เดิมด้วยการเพิ่มมูลค่าทางความหมายแต่ในทางตรงกันข้ามวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมอันคือความจริง ได้ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทำให้ชุดความคิดมายาคติได้ครอบงำ “ภาพชนบทที่งดงาม  ปรากฏตามความเคลื่อนไหว  ของโพสต์ที่แชร์ที่แห่ไลก์  ถูกแต่งสีใหม่ถูกไดคัท” (โคลน, หน้า 28) แท้ที่จริงแล้วกลับถูกสร้างด้วยชุดความคิดอีกแบบหนึ่ง โดยสร้างความเหนือจริงไปอีกขั้นในรูปแบบ Surreal ทำให้ผู้คนในสังคมเข้าใจในสิ่งมายาที่เคลือบอีกชั้นหนึ่ง เพราะสื่อสังคมออนไลน์ไม่ได้แสดงความเป็นจริงทั้งหมด ซึ่งผ่านการแต่งเติม บางคนรู้ทั้งรู้ว่าเป็นสิ่ง “เหนือจริง” แต่ด้วยความเคยชิน จนทำให้ไม่รู้ว่า อันไหน “จริงแท้” หรือ อันไหน “แปลกปลอม” นับเป็นความแปลกใหม่ที่กวีได้แสดงฝีมืออันฉกาจได้อย่างมีชั้นเชิง

   Hi! So-Cial : มีดสองคมที่อาบน้ำผึ้ง

          กวีได้แสดงให้เห็นการเข้ามามีบทบาทของสื่อออนไลน์ โดยสื่อออนไลน์นับเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมที่พยายามกลืนกลายวิถีชีวิต กวีได้สะท้อนวิถีชีวิตของคนในชนบทที่ผันตัวเข้าไปทำงานในเมืองหลวง เนื่องจากเงินเป็นปัจจัยหนึ่งในการดำรงชีวิตโดยรูปแบบการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันล้วนมีรสนิยมและความต้องการ ทำให้ผู้คนต่างดิ้นรนแสวงหาเพื่อสนองความต้องการของตน อันเป็นมายาคติที่ครอบงำสังคมอย่างแน่นเหนียวจึงยากที่จะแยกแยะออกได้  ด้วยการใช้กลวิธีเล่าเรื่องแบบโลกคู่ขนาน ทำให้เห็นการดำเนินเรื่องที่สนุก ภายใต้โลกที่ซับซ้อนกันอยู่นั้น อีกนัยหนึ่งเป็นการสะกิดให้ผู้อ่านได้ย้อนคิดจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมดังบทกวีที่ว่า

ล้อเกวียนเวียนหมุนวนจนเติบใหญ่        จากไร่จากทุ่งนามาขับเคลื่อน

ฟันเฟืองในเมืองกรุงไม่ลืมเลือน            โลกเสมือนไม่อาจกลบลบโลกเดิม

ทำงานกินเงินเดือนมนุษย์เงินดาวน์      ครูสาวแสนสวยมีอาชีพเสริม

มีมิตรมีศัตรูเป็นตัวเติม                         ตัวเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ใจ

   (เพาะ, หน้า 94) 

            การขับเคลื่อนภายใต้ “ฟันเฟือง” บริบทที่สื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท จึงทำให้เกิดการแข่งขันที่สูง ซึ่งการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นจะเห็นได้จากการถ้อยทีถ้อยอาศัยกลับกลายเป็นต่างคนต่างอยู่  นำมาซึ่งความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความเกลียดชังที่ไม่ใช่อารมณ์ส่วนตัว แต่ถูกดึงเข้ามาอยู่ในดินแดนการต่อรองระหว่าง “ตัวเอง” กับ “ผู้อื่น” ซึ่งสร้างความเกลียดชัง (hate speech) เข้ามาในพื้นที่ของเราในรูปแบบของการคุกคาม “อีกฟากน้ำเน่าเข้าเฟซบุ๊ก  ปลาหมอเจ็บจุกโดนจิกกัด  ปลาตายเพราะโพสต์โหดชะมัด  อึดอัด,สาดโคลนจนล้นจอ”(โคลน, หน้า 28) และผลพวงจากสื่อเทคโนโลยีเปรียบเสมือน “มีมิตรมีศัตรูเป็นตัวเติม” นั่นเอง

   อดีตทาบทับกับปัจจุบัน : เรียนรู้ แตกต่าง อย่างเข้าใจ

          กวีนิพนธ์เรื่อง Hi! So-Cial ไฮโซ...เชียล เป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่ตีแผ่ประเด็นทางสังคม ท่ามกลางกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ การศึกษา ได้สะท้อนผ่านบทกวีเรื่อง “พาน” เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ที่ใช้ในวันครู เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูต่อครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิทยาให้แก่ศิษย์แต่ปัจจุบันค่านิยมในอดีตค่อย ๆ เลือนหายไป เนื่องจากสื่อสังคมออนไลน์ได้เปิดโลกทัศน์ในการเรียนรู้ ส่งผลต่อความหมายของคำว่า พานซึ่งในอดีตพานคือสัญญะความศักดิ์สิทธิ์ ความเข้มขลัง ปัจจุบันพานไหว้ครูถูกลดสถานะลง ทำเพียงเพื่อเป็นพิธีกรรม  ถือได้ว่าเป็นการโต้กลับความคิดแบบ “ขนบ” ที่มีมาแต่ครั้งอดีต เมื่อขนบที่เคยปฏิบัติได้เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้โลกทัศน์ของนักเรียน ในพิธีไหว้ครูเปลี่ยนตามไปด้วย  ดังบทกวีที่ว่า

ภาพพานวานก่อนย้อนปรากฏ             อดีตสร้างอนาคตใช่ไหมนี่

บนพานไหว้ครูในครั้งนี้                      จึงบรรจุอนุสาวรีย์พานแว่นฟ้า

แชร์ต่อ, ด่าทอบ้าง ชื่นชมบ้าง             กองเชียร์แยกข้างต่างฝั่งฝา

เห็นด้วยไม่เห็นด้วยต่างศรัทธา            คงลืมว่าเราเด็กไทยไม่ต่างกัน

   (หน้า 56)

         บทกวีเรื่อง “ชอล์ก”  นับเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางสังคม บทกวีเรื่องนี้ ได้เปรียบเทียบความเป็นครูของโลกยุคเก่า สิ่งที่ครูปฏิบัติต่อนักเรียน คือ รับฟังเหตุผลของนักเรียน ไม่ได้ลงโทษโดยที่ไม่มีเหตุผล แล้วมีกุศโลบายในการสอนอย่างแยบคาย“เด็กชายผมหยิกผิวคล้ำคล้ำ  ก้มต่ำคำนับกับเก้าอี้  คำสอนของครูจำได้ดี ‘ผิดถูกกี่ทีก็อภัย’ ”(หน้า 61-62) นักเรียนก็เชื่อฟังและเคารพคุณครู  ต่างจากครูในยุคปัจจุบันที่ใช้ความรุนแรง “สอนแบบเก่าเก่าเอาไม่อยู่ความรู้สมัยเก่าเอาไม่ไหว  เด็กเด็กสมัยนี้ก้าวหน้าไกล  เด็กสนใจมือถือมากกว่าครู” (หน้า 66) ซึ่งจะเห็นได้จากสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เสนอข่าวครูตีเด็กอย่างรุนแรง อันสะท้อนจรรยาบรรณในระบบวิชาชีพในยุคปัจจุบัน แต่กระนั้น การเสพสื่อต้องควรมีวิจารณญาณและบทกวีเรื่อง “เรียน” จะเห็นได้ว่าครูในโลกยุคเก่ามีจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างเต็มเปี่ยม ได้เปรียบเทียบการเรียนรู้ของเด็กในอดีตกับปัจจุบัน ซึ่งในอดีตเรียนจากประสบการณ์จริง ครูเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้  เนื่องจาก “เด็กสมัยนี้” “สอนแบบเก่าเก่าเอาไม่อยู่  ความรู้สมัยเก่าเอาไม่ไหวเด็กเด็กสมัยนี้ก้าวหน้าไกล  เด็กสนใจมือถือมากกว่าครู” (หน้า 66)มีความคิดที่แตกต่าง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) กับครู แต่หากเรามาเรียนรู้ความแตกต่าง นำมาสู่การยอมรับในความแตกต่างของแต่ละบุคคล เนื่องจากประสบการณ์ที่ต่างกัน ความคิดเห็น รสนิยมความชอบ ย่อมมีความแตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อเราเปิดใจยอมรับเคารพในความแตกต่างนั้น ก็ย่อมทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในสังคม

 

   Hi! So-Cial ไฮโซ...เชียล : บนพื้นที่ “โลกออนไลน์” มุ่งขับเคี่ยวบางความหมาย “โลกออนไซต์” 

          กวีนิพนธ์เรื่องHi! So-Cial ไฮโซ...เชียล ในพื้นที่ “โลกออนไลน์”ซึ่งเป็นความเหนือจริงไปอีกขั้น ในรูปแบบ Surreal ที่สร้างมายาเคลือบเต็มไปด้วย “สิ่งลวง” ซึ่งโลกเก่าเปรียบเสมือนชีวิตจิตวิญญาณที่ส่งผ่านทางการกระทำโดยตรง และโลกใหม่ที่เปรียบเสมือนเป็นโลกแห่งทุนนิยม ทุกอย่างล้วนเป็นระบบผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น ตลาด ลูกค้า สินค้า เป็นต้น จากการให้ความหมายกับวัตถุนิยมมากกว่าความเข้าใจกันผ่านตัวบุคคล ซึ่งวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตล้วนพึ่งพา ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันและกัน  และกวีได้สอดแทรกประเด็นการศึกษา  ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ผ่านสัญลักษณ์พานไหว้ครู กระดานดำ ชอล์ก เมื่อสื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทในแวดวงการศึกษา เมื่อเกิดการปะทะทางความคิดทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเราต่างเรียนรู้ สร้างความเข้าใจ ย่อมอยู่ร่วมกันได้ เสมือน “โลกออนไซต์” ที่เชื่อมความสัมพันธ์ของผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน หากแต่ในปัจจุบัน “โลกออนไซต์” กลับกลายเป็นพื้นที่ “โลกออนไลน์”ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน  อย่างไรก็ตาม กวีนิพนธ์เรื่อง Hi! So-Cialไฮโซ...เชียล ของ ขวัญข้าว  ขวัญเรียมเอย  ทำให้เห็นการประนีประนอมเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่  การที่ไม่ลืมรากเหง้าในวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมทำให้ “โลกออนไซต์” และ “โลกออนไลน์”ย่อมสามารถปรับเปลี่ยนผสมผสานกันได้  กวีได้เรียงร้อยเรื่องราวต่าง ๆ ท่ามกลางกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อันเป็นแสดงการเปลี่ยนผ่านจากอดีตสู่ยุคปัจจุบัน ด้วยการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีสมัยใหม่ สะท้อนความเห็นแก่ตัว การแข่งขันในเชิงความคิดและระบบทุนนิยม อันเกิดจากสื่อสังคมออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน กวีนิพนธ์เล่มนี้ได้สะท้อนปรากฏการณ์ทางสังคมที่เห็นได้ชัดเจน ผนวกกับเนื้อหาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของกวีทั้งภาษาไทยถิ่นอีสาน ภาษาไทยมาตรฐาน และคำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศแสดงความร่วมสมัยผนวกกับความเป็นสากล กล่าวได้ว่าบนพื้นที่ “โลกออนไลน์” จึงทำให้บางความหมายใน“โลกออนไซต์” ต้องมีการขับเคี่ยวมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้วิถีชีวิตดั้งเดิมเลือนหายไป ดังคำกล่าวที่ว่า “ไม่ลืมของเก่า ไม่เมาของใหม่”

 

บรรณานุกรม

การัณยภาส ภู่ยงยุทธ์. (2558).โบดริยาร์ดกับการบริโภคเชิงสัญญะ. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2564, 

จาก file:///C:/Users/Advice/Downloads.pdf.

ขวัญข้าว ขวัญเรียมเอย, นามแฝง. (2563). HI! So – Cialไฮโซ...เชียล (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: พี เอสลีฟวิ่ง.

เจตนา  นาควัชระ และคณะ.(2546). กวีนิพนธ์นานนาชาติ : การศึกษาเชิงวิจารณ์โครงการวิจัย การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย ภาค 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คมบาง.

 


 
 

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

 

กลับดัก

 

สุทธิชา วิเศษนคร 

 

 

ก่อนวางกับดัก

         เสือล่ากวาง  ฉลามกินสิงโตทะเล  ฝูงหมาในรุมไล่ล่ากระทิง  เหล่านี้นับเป็นกลไกการควบคุมประชากรตามธรรมชาติ  โดยการสุ่มเลือกเหยื่อที่อ่อนแอกว่าให้ติดกับ  บ้างก็ล่าเป็นทีม  บ้างก็ลุยเดี่ยว  บ้างก็รอเวลาให้เหยื่อตายใจ  แต่กับดักสัตว์ที่ว่าร้าย  ก็ไม่สู้คนดักคน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีความคิดและสร้างระบบความคิดที่ซับซ้อนเพื่อหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง  ทั้งยังเป็นผู้ยืนอยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารอีกด้วย

         เมื่อกล่าวถึงเรื่องราวชีวิตกลางทะเลของบรรดาลูกเรือประมง ผู้อ่านคงนึกถึงใครไม่ได้ นอกจาก “ประชาคม  ลุนาชัย” เจ้าของนวนิยายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการถ่ายทอดเรื่องราวโดยใช้ “ทะเล” เป็นฉาก และเล่าถึงชีวิตลูกเรืออีกหลาย ๆ เรื่อง อาทิ ฝั่งแสงจันทร์  คนข้ามฝัน กลางทะเลลึก  เที่ยวเรือสุดท้าย นวนิยายเรื่อง “ในกับดับ และกลางวงล้อม” ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของ ประชาคม ลุนาชัยไว้ กล่าวคือ ยังคงใช้ฉากคือทะเลเหมือนดังผลงานเรื่องก่อน ๆ แต่ในนวนิยายเรื่องนี้โดดเด่นจากหลาย ๆ เรื่องที่ผ่านมา คือ ตีแผ่เรื่องราวชีวิตจริงของคนในสังคม กับกับดักที่ล่อลวงให้คนไร้ทางสู้ติดกับโดยผู้มีอำนาจและภาพมายาของสังคม ด้วยความโดดเด่นด้านเนื้อหา และตัวละครที่สะท้อนสภาพสังคม ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2561

 

ในกับดัก        

          หากกล่าวถึง “กับดัก” ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีทั้งผู้ล่า และเหยื่อ แต่ดูคล้ายว่า “เหยื่อ” ส่วนใหญ่เป็นภาพของชนชั้นที่ไร้แรงขัดขืน ส่วนภาพของผู้ล่า มักเป็นผู้มีอำนาจในการควบคุมชะตากรรมของชนกลุ่มน้อย แต่อาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เพราะกับดักชีวิตนั้น ไม่เพียงแต่ชนกลุ่มน้อยเท่านั้นที่ติดกับ อาจมีเหยื่อจากชนชั้นสูงที่พลัดหลงติดในห้วงกับดักมายาก็เป็นได้   ดังในเรื่อง “ในกับดัก และกลางวงล้อม”  ท่ามกลางระบบทุนนิยมและ วัตถุนิยม หล่อหลอมระบบคิดให้คนในสังคม เปลี่ยน “คน” ให้เป็นเพียงสิ่งของ  ดังเรื่องราวลูกเรือที่ประชาคมสร้างสรรค์ขึ้น เป็นภาพสะท้อนของ “คนชายขอบ” ชนชั้นแรงงานที่ก้มหน้าก้มตาทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว แต่ใครจะรู้ว่าการตรากตรำทำงานบนเรือประมง ที่ดูเลื่อนลอยไปตามแรงลมทะเลนั้น ยังไม่ยากเท่าการก้าวข้าม “กับดัก” ที่ผู้มีอำนาจและภาพมายาของสังคมล่อให้คนชายขอบเช่นพวกเขาติดกับ  และในหลายสถานการณ์บีบให้พวกเขาต้องยอมรับชะตากรรมโดยไร้แรงขัดขืน ผู้เขียนนําเสนอให้เห็นชัดเจนว่า การลดทอนความเป็นมนุษย์ในเรื่องนี้เกิดจากกับดักซึ่งมาจากนํ้ามืออันเหี้ยมโหดของมนุษย์ด้วยกันเองที่เห็น “คน” เป็นเพียง “สิ่งของ” ที่พวกเขาใช้ตักตวงเพื่อหาผลประโยชน์โดยไม่คํานึงถึงความเป็นมนุษย์ด้วยกันแต่อย่างใด  ดังตัวอย่าง   “วงล้อมของการไล่ล่าขยายออกไปทั้งเมือง ชายหนุ่มแต่งตัวมอมแมมที่ก้าวลง จากรถไฟพร้อมเป้หรือกระเป๋าเสื้อผ้า จะถูกประเมินโดยทันทีว่าเป็นคนตกงาน ไม่มีเงื่อนไขต่อรองกับชีวิต นักล่าซึ่งคอยทีอยู่ในมุมที่เห็นคนอื่นได้ง่าย ไม่ต้องให้ความเกรงอกเกรงใจ ถ้ากระชากแขนได้นักล่าก็จะทำ ไม่ก็แย่งกระเป๋าสะพายมาถือไว้ แล้วยื่นข้อเสนอ” (ประชาคม ลุนาชัย, 2560, 20) จากตัวอย่างจะเห็นว่า ประชาคมฉายภาพปัญหาสังคมของชนชั้นแรงงานที่ไร้แรงขัดขืนและไร้ทางเลือกผ่านถ้อยคำที่สอดร้อยกันอย่างเจ็บปวด มีการเปรียบ “บรรดานายหน้าหาคนงาน” เป็น “นักล่า”  เปรียบ “ชนชั้นแรงงาน” เป็น “เหยื่อ”  และกลวิธีการหาแรงงานเป็น “วงล้อมการ ไล่ล่า”  จะเห็นว่าการใช้ถ้อยคำดังกล่าวนั้นผลักให้ “ชนชั้นแรงงาน” กลายเป็น “เหยื่อโดยสมบูรณ์” 

          หนำซ้ำยังลดคุณค่าความเป็นมนุษย์จากความบกพร่องทางร่างกาย ซึ่งเป็นความเจ็บปวดทั้งทางกายและจิตใจของตัวละครที่ถูกตราหน้าว่า “พิการ” แม้ความบกพร่องของพวกเขาเป็นสิ่งที่ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในสังคม แต่สำหรับนายทุน พวกเขาเป็นเพียงแรงงานที่อ่อนแอ ไม่สมบูรณ์ และที่สำคัญเป็นเหยื่อชั้นดีที่บรรดานายทุนล่อให้ติดกับดักอย่าไร้ความปรานี โดยการหักราคาค่าตัว ดังตัวอย่าง “เล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิงและความเขี้ยวระดับมืออาชีพ จะถูกงัดออกมาใช้เต็มประสิทธิภาพ  เป็นต้นว่าเจอมือบาง ๆ เขาก็จะหาทางลดค่าตัวลง คนงานบอบบางแบบนี้ ฉันให้ห้าสิบบาทพอ” (ประชาคม ลุนาชัย, 2560, 22) จากตัวอย่างจะเห็นว่า บรรดาหน้าทุนเห็นชนชั้นแรงงานเป็นเพียงเครื่องมือในการตักตวงผลประโยชน์อย่างชัดเจน ทั้งยังถูกกระทำเสมือนเป็นเพียง”สิ่งของ” หาใช่คนที่มีเลือดเนื้อจิตใจ 

          นอกจากนั้น “ความบกพร่องทางร่างกาย” ยังเป็นเครื่องมือที่ไต๋พจน์ใช้เพื่อรักษาอำนาจการปกครองเรือของตน เพราะเชื่อว่า “ความพิการ” อาจทำให้บรรดาลูกเรือของเขาอยู่อย่างเจียมเนื้อ เจียมตัว ไม่มีเงื่อนไข ข้อขัดแย้ง และเห็นต่างจากตน ดังตัวอย่าง “เอาคนไม่เคยทะเลนี่แหละ พวกคนที่เก๋ามากมันหัวหมอปัญหาเยอะ”  (ประชาคม ลุนาชัย, 2560, 35) นอกจากจะเห็นชนชั้นแรงงานเป็นเพียงสินค้าแล้วนั้น ยังเอาพวกเขาเป็นเครื่องมือรักษาอำนาจการปกครองของตน ยิ่งไม่เชี่ยวทะเล ยิ่งต้องอ่อนน้อมต่อผู้นำ นับว่าชนชั้นแรงงานมีประโยชน์กับบรรดานายทุนอย่างมากในการตักตวงผลประโยชน์  

          เมื่อ “กับดัก ไม่เลือกเหยื่อ” จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกคนมีสิทธิ์ติดกับดักได้เช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่ “ไต๋พจน์” หัวหน้าเรือ เมื่อมองผิวเผิน อาจคิดว่าเขาคือผู้มีอำนาจมากที่สุด หากจะกล่าวเช่นนั้น ย่อมเป็นความจริงแต่อาจไม่ทั้งหมด เพราะไต๋พจน์มีอำนาจมากที่สุดเพียงแค่บนเรือ แต่เมื่อเรือเทียบฝั่งแล้ว คนที่มีอำนาจมากที่สุด คือ “เถ้าแก่แพทอง” หรือเจ้าของเรือทองพันชั่ง 1 กล่าวคือ ไต๋พจน์ตกอยู่ชะตากรรมเดียวกันกับบรรดาลูกเรือ ที่ติดกับดับของผู้อำนาจมากกว่าตนเช่นเถ้าแก่แพทอง เพราะหากไต๋พจน์ไม่สามารถนำเรือลากปลากลับเข้าฝั่งได้ เรือเที่ยวนั้น อาจเป็นการนำเรือเที่ยวสุดท้ายในชีวิตของเขาก็เป็นได้ จะเห็นว่าไต๋พจน์ก็ไม่ใช่เพียงเจ้านายที่มีอำนาจที่สุดกลางทะเลเท่านั้น แต่ยังเป็นมนุษย์ที่ติดอยู่ในกับดักเช่นเดียวกับลูกเรือ และต้องการผู้ที่สามารถพาเขาฝ่าวงล้อมนี้ออกไปได้ จึงเป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่า ไม่ใช่เพียงชนชั้นแรงงานเท่านั้นที่ติดกับดักนี้ แต่ในกับดับชีวิตทุกคนเท่าเทียมกัน.... จริงหรือ ?

          ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ประชาคมต้องการสื่อถึงในชีวิตจริง  ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราต่างมี  “กับดักเฉพาะตัว”  ที่คอยสร้างปัญหาและอุปสรรคในชีวิตไม่มากก็น้อยไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่งเสมอ  บางคนเหยียบกับโดยมิรู้ตัว  บางคนกว่าจะรู้ว่าเหยียบกับก็สายเกินไป  หรือบางคนอาจจะตั้งใจเหยียบกับดักด้วยความเต็มใจ  และบางคนอาจจะพยายามอย่างถึงที่สุดในการก้าวข้ามกับดักนั้น….หากแต่ความพยาพยามกลับไม่เป็นผล  

 

เบื้องหลังกับดัก

 

“แค่เกิดมาจน  ชีวิตก็เสมือนติดกับ  ซ้ำร้ายยังกลายเป็นเครื่องมือทำมาหากินให้ผู้อื่นอีก”

“ชีวิตคนจน  ใช่จะไร้ค่าเสมอไป  ยังดีที่ผู้มีอำนาจมองเห็นผลประโยชน์อยู่บ้าง”

          เมื่อมีกับดัก นั่นแสดงว่ามีผู้วางกับดัก และเหยื่อ กล่าวคือ เมื่อมีผู้ติดกับดัก ย่อมมีผู้วางกับดักอยู่เบื้องหลังเป็นแน่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกคนย่อมมีโอกาสติดกับดักชีวิต หรือติดร่างแหได้ทุกขณะ แต่ท้ายที่สุด ผู้มีอำนาจย่อมมีโอกาสเป็นผู้วางกับดักล่อชนชั้นเล็ก ๆให้ติดกับได้โดยง่าย นั่นเป็นเพราะ? …

          ปัจจุบันระบบทุนนิยมและวัตถุนิยมเข้าครอบงำจิตใจมนุษย์ ทำให้ในบางครั้งมนุษย์เองถูกกลืนกินด้วยระบบเหล่านั้น ก่อให้เกิดการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน แม้กระทั่งเพื่อนมนุษย์ตัวเล็ก ๆ ด้วยกันเอง ดังในเรื่อง ความเป็นชายที่ถูกลดทอนด้วยคำว่า “พิการ” กล่าวคือ เรย์ถูกหญิงโสเภณีปฏิเสธ เพียงเพราะความพิการของเขา จะสังเกตว่า ประเด็นทางสังคมที่ประชาคมนำเสนอนั้น เป็นการย่ำยีที่ไร้ความปรานีจากเพื่อนมนุษย์ชนชั้นเดียวกัน แล้วนับประสาอะไรกับ ชนชั้นที่แตกต่าง? เมื่อตนมีพละกำลัง อำนาจที่เหนือกว่ามนุษย์อีกชนชั้นหนึ่ง “ความเป็นคน” เริ่มถูกกลืนกินไปทีละน้อย จนท้ายที่สุดไม่เหลือแม้แต่ “ความเป็นคน”  

 

กลับดัก 

         “กลับ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 หมายความว่า ตรงกันข้ามกับภาวะเดิมหรือทิศทางเดิม ดังในเรื่อง พวกลูกเรือตกอยู่ในวงล้อมของข่าวลือว่าเถ้าแก่จะล้มบัญชี แต่ประชาคมอาจต้องการฉีกแนวไปจากนวนิยายที่ผ่านมาของเขา จึงทำให้ทุกคนได้ส่วนแบ่งและเปอร์เซ็นต์จากปลาที่จับได้ ลูกเรือทุกคนจึงได้คืนฝั่งอย่างอิสระจากวงล้อมนั้น จากกลวิธีการเขียนเรื่อง “การหลุดพ้นจากกับดัก”ของประชาคม จึงนำสู่การตั้งชื่อบทวิจารณ์ว่า “กลับดัก” นั่นหมายว่า ไม่ติดกับ กล่าวคือ ลูกเรือทุกคนได้คืนฝั่งอย่างผู้ชนะที่สามารถฝ่ากับดักความโลภของนายทุนหรือกับดักทุนนิยมได้อย่างงดงาม  ทว่าโลกความจริงที่ไม่มีผู้เขียน ไม่มีการกำกับโครงเรื่อง ตัวละคร  ยากนักที่จะไร้ซึ่งการถูกเบียดเบียนจากผู้มีอำนาจเหนือกว่า แต่ไม่ได้หมายว่า ผู้มีอำนาจจะไม่ตกเป็นเหยื่อ เพียงแต่ผู้มีอำนาจมีโอกาสเป็นผู้วางกับดักมากกว่าติดกับ เพื่อล่อผลประโยขน์จากผู้มีชนชั้นน้อยกว่าตน เมื่อผู้อ่านอ่านมาถึงตรงนี้ อาจมีคำถามในใจแทรกขึ้นมาก็เป็นได้ว่า เพราะเหตุใดกัน? กับดักจึงดักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน....อย่างไร้ความปรานี เพราะระบบทุนนิยมจริงหรือ? หรือเพราะด้านมืดในซอกลึกจิตใจมนุษย์ที่เห็นแก่ผลประโยชน์ตนกันแน่?

 

รายการอ้างอิง

ประชาคม ลุนาชัย.  (2561).  ในกับดักและกลางวงล้อม.  นนทบุรี: ศรีปัญญา.

 

 


~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

 

“โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก”:

หญิงสาวผู้เป็นตัวเอกของเรื่องราวชีวิตคู่

 

ณัฐพร พิชัยศรแผลง

 

 

            นวนิยาย “โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก” นั้น เป็นหนังสือที่ถูกเขียนและเรียบเรียงโดย เจน จิ (นามปากกา) หรือ เจนจิรา เสรีโยธิน จากนั้นจึงได้เผยแพร่และจัดจำหน่ายผ่าน แพรว สำนักพิมพ์ ภายในปีพ.ศ. 2562 เนื้อหาของนวนิยายโดยภาพรวมนั้นกล่าวถึงเหตุการณ์ในร้านหนังสือแห่งหนึ่งที่ได้ชื่อว่า “โครงกระดูกแม่มด” เรื่องราวในแต่ละตอนถูกสับเปลี่ยนกันเล่าโดยตัวละครที่แตกต่างกันไป หากแต่จุดร่วมของแต่ละคนก็คือการที่ตัวละครทั้งหลายเป็น “ผู้หญิง” ที่ถูกปัญหาความรักที่แตกต่างกันออกไปรุมเร้า พวกเธอต่างต้องการวิธีที่จะประคับประคองจิตใจของตัวเอง จนได้มาเจอกับร้านโครงกระดูกแม่มดและค้นพบวิธีการแก้ไขปัญหาผ่าน “หนังสือ” ซึ่งถูกบรรจุเอาไว้ด้วยเรื่องราวต่าง ๆ 

 

            ว่ากันตามจริงแล้ว “โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก” นั้นถูกเรียบเรียงด้วยรูปแบบที่คล้ายกับหนังสือรวมเรื่องสั้นมากกว่านวนิยายตอนยาวที่เขียนเรียงกันบรรจบในหนึ่งเล่ม ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินเรื่องที่ไม่ค่อยปะติดปะต่อกันในแต่ละตอน เรื่องราวตอนเดียวจบที่ตัวละครหลักไม่มีความข้องเกี่ยวกันเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ “โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก” กลายเป็นนวนิยายตอนยาวได้อย่างสมบูรณ์แบบ ก็คือการเชื่อมโยงเรื่องราวในแต่ละตอนซึ่งดูไม่ปะติดปะต่อกันเหล่านั้นได้ในท้ายที่สุดนั่นเอง กล่าวคือไม่ใช่แค่แต่ละตอนมีจุดร่วมที่ตัวละครในการดำเนินเรื่องเป็นผู้หญิงเหมือนกัน มีปัญหาเกี่ยวกับคนรักเหมือนกัน หรือใช้หนังสือเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาเหมือนกันเท่านั้น แต่เรื่องราวแต่ละตอนยังมีส่วนที่ข้องเกี่ยวกัน และช่วยให้การดำเนินเรื่องสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเมื่ออ่านไปจนจบอีกด้วย

 

            ในแต่ละตอนของนวนิยายเรื่องนี้นั้น แม้จะดำเนินเรื่องโดยตัวละครที่แตกต่างกันเสียส่วนมาก แต่ในเวทีหลักของเรื่อง หรือก็คือร้านโครงกระดูกแม่มดนั้น ต่างมีอยู่สองตัวละครที่เข้ามามีบทบาทในทุก ๆ ตอน นั่นก็คือตัวละครของ “นัน” และ “แม่มด” นันนั้นเคยเป็นตัวละครหลักในการดำเนินเรื่องช่วงต้นของเนื้อหา เราจึงรู้จักเธออยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก สิ่งที่ผู้อ่านรู้มีเพียงนันอยากฆ่าคนจึงเข้ามาทำงานในร้านโครงกระดูกแม่มดตามคำชวนของผู้เป็นเจ้าของร้านเท่านั้น ทั้งนี้ ปริศนาของนันก็นับว่าน้อยกว่าเจ้าของร้าน หรือผู้ที่ถูกเรียกว่า “แม่มด” อยู่ดี แม่มดเป็นตัวละครที่แม้จะเข้ามามีบทบาทในทุกตอน แต่คนอ่านก็แทบไม่รู้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับเธอเลย ราวกับการวางตัวแม่มดเข้ามาเป็นปริศนาหลักของนวนิยายเล่มนี้ และในระหว่างที่แก้ไขปัญหาย่อยซึ่งเกิดขึ้นในแต่ละตอน เราก็จะได้เริ่มไขปริศนาของแม่มดไปทีละน้อยด้วยเช่นกัน

 

            เนื้อหาในแต่ละตอนของ “โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก”  ต่างพาผู้อ่านไปทำความรู้จักปัญหาของตัวละครที่แตกต่างกันออกไป แม้ว่าจะเป็นปัญหาซึ่งเกิดขึ้นมาจากความรักเหมือนกันก็ตาม ไม่ว่าจะ “สำเภา” (ตัวละครหลักในตอนของปริศนาข้อที่ 1 “ฉันอยู่ที่ไหน”) ซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับสามีซึ่งทำร้ายร่างกาย และมีลูกเป็นความสุขเพียงหนึ่งเดียวในชีวิต ปัญหาของสำเภาถูกคลี่คลายลงด้วยคำพูดของแม่มดที่กล่าวถึงเนื้อหาในหนังสือเล่มหนึ่ง ท้ายที่สุดเธอจึงฆ่าสามีที่คิดจะกระทำชำเราลูกสาวตนเองด้วยการทุบและปล่อยให้สุนัขกินซาก จากนั้นจึงอุ้มลูกสาวจากมา 

 

            ปัญหาของ “ฟาง” นั้นแตกต่างออกไปหน่อย (ตัวละครหลักในตอนของปริศนาข้อที่ 2 “ฉันทำอะไร”) เธอเคยมีชีวิตที่มีความสุขกับสามี จนกระทั่งสามีคบชู้กับหญิงสาวที่เธอเอ็นดู และไม่เอาใจใส่เธอเหมือนเดิม มองว่าเธอเหมือนกับคนเป็นใบ้ แม้ท้ายที่สุดหลังปัญหามากมายเกิดขึ้น สามีของฟางจะเป็นอัมพาตก็ตาม แต่ตัวเธอก็ไม่ได้จากไปไหน สิ่งที่น่าแปลกใจในตอนคือแม้ว่าหนังสือที่ฟางหยิบกลับมาจะเป็นนิยายจีนเก่าเรื่องหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับหญิงใบ้ที่รักสามีตราบจนวันสุดท้ายในชีวิตแต่ท้ายสุดเรื่องกลับเฉลยว่าฟางนั้นดูแลสามีของเธอเพราะหากเขาตายไปตอนนี้ ทุกอย่างก็ตกเป็นมรดกของพ่อแม่สามี เธอจึงยังปล่อยให้เขาตายไม่ได้เท่านั้นเอง

 

           ที่ชวนให้สับสนขบคิดมากกว่านั้น เห็นจะเป็นตอนของ “จินตะหรา” (ตัวละครหลักในตอนของปริศนาข้อที่ 3 “ดอกไม้หายไปไหน”) จินตะหรานั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับร้านโครงกระดูกแม่มด เธอเป็นเพียงภรรยาแสนดีซึ่งทำงานเป็นครูที่เดียวกับสามีเท่านั้น สามีของจินตะหราชื่อว่า มนตรี ครั้งหนึ่งเขารักเธอมาก หากวันหนึ่งกลับบอกเลิกเธอเนื่องจากทำผู้หญิงอีกคนท้อง จินตะหราเสียใจมากจนกระโดดจากตึกลงไปในเวลาเดียวกัน เรื่องตัดไปยัง“บุษบรรณ” บุษบรรณนี่เองคือหญิงสาวที่มีความเกี่ยวข้องกับโครงกระดูกแม่มด เธอมักจะมาที่นี่เพื่อหาหนังสือไปเล่าให้เด็กฟัง เธอเป็นครูภาษาไทยที่เดียวกับจินตะหราและมนตรี และเธอนี่เองที่มีความสัมพันธ์กับมนตรี ไม่นานนักบุษบรรณได้รู้ข่าวว่าตัวมนตรีได้เสียชีวิตจากการที่จินตะหรากระโดดลงไปทับ สิ่งนั้นทำให้เธอเสียทุกอย่าง ท้ายที่สุดแล้วเรื่องก็ทิ้งข้อสงสัยให้กับผู้อ่านกระทั่งคำถามที่ว่า เรื่องราวในตอนนี้เป็นของใคร

 

           เรื่องราวของหญิงสาวที่สับเปลี่ยนในแต่ละตอนอาจมีเพียงเท่านี้ แต่ปริศนาของเรื่องไม่ได้มีเพียงเท่านั้น ปริศนาข้อที่ 4 “คุณลืมอะไร” เป็นเรื่องราวของหญิงสาวทั้งสี่คนที่ข้องเกี่ยวกับ “อูฐ” ชายหนุ่มเจ้าสำราญคนหนึ่งตายลงด้วยการสันนิษฐานสาเหตุว่าเกิดจากธรรมชาติ แต่ตำรวจคนหนึ่งมองว่าไม่ปกติ เขาเป็นเพื่อนของอูฐ อยากสืบหาสาเหตุการตายให้แน่ชัด จึงได้ดำเนินการไขคดีโดยไล่ซักถามจากผู้หญิงของเพื่อนทีละคน ผู้หญิงที่เหมือนกับยักษ์ เงือก สุวรรณมาลี และเจ้าหญิงในพระอภัยมณี ตำรวจสืบหาและพบว่าหญิงทั้งสี่มีพระอภัยมณีที่สั่งซื้อจากร้านเดียวกัน นั่นคือโครงกระดูกแม่มด

 

           เรื่องราวในปริศนาข้อที่ 4 นั้น มองผิวเผินอาจจะดูเหมือนหลุดจากจุดร่วมระหว่างหญิงสาวแต่ละคนมากที่สุด แต่เรื่องราวในตอนนี้นั่นเองที่พานวนิยายเรื่องนี้ไปจนถึงจุดเริ่มต้นของจุดจบ บทสรุปของเรื่องเริ่มดำเนินขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากปริศนาข้อที่ 4 กำลังจะถูกไข “แม่มด” ซึ่งเป็นตัวละครหลักของเรื่องได้ตายลงในตอนนั้น อดีตสามีของเธอเป็นคนฆ่า ด้วยการร่วมมือของ “นัน” ที่ต้องการเส้นสายในการฆ่าคนนั่นเอง ปัญหาของนันได้รับการเฉลยภายในตอนหลังจากนั้น เราจะได้รู้ว่าเธอเคยมีผู้ชายที่รักมาก หากแต่เขากลับทรยศเธอและไปมีความสัมพันธ์กับเพื่อนของนันเอง ในท้ายที่สุดนั้นปริศนาของนันถูกเปิดเผย เรื่องราวของ “แม่มด” ก็เช่นกัน เราจะได้รู้ว่าเดิมทีแม่มดนั้นคือคุณหญิงมัญชุศรี หญิงสาวที่เคยใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขกับสามี จนกระทั่งวันที่เขาเริ่มเปลี่ยนแปลงไป วันที่เธอเริ่มโจมตีเขา และวันที่เขาตั้งใจจะฆ่าเธอ เรื่องได้เฉลยว่าร้านโครงกระดูกแม่มดเป็นสถานที่ที่เธอใช้เก็บซ่อนตัวเองมาตลอด และสุดท้ายสามีก็หาเธอเจอจากเบาะแสที่นันโทรไปบอกไว้ เธอตายด้วยเงื้อมมือของเขา อย่างไรก็ตาม ไม่นานหลังจากนั้นสามีของเธอก็ถูกวางยาพิษ เรื่องจบลงพร้อมปริศนาข้อสุดท้ายจากจดหมายที่“แม่มด” ได้ทิ้งเอาไว้ ว่าสามีของเธอนั้นตายลงได้อย่างไร

 

  โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก: นวนิยายสะท้อนปัญหาสังคมผ่านความรัก

            ในปัจจุบันนี้ นวนิยายที่ไม่ได้เพียงแต่ให้ความบันเทิง แต่ยังสะท้อนปัญหาของสังคมที่เกิดขึ้นยังมีจำนวนมาก ด้วยแนวคิดที่ว่างานเขียนที่มีคุณภาพก็ควรมอบความรู้ให้เป็นประโยชน์ควบคู่กันไปด้วย สื่องานเขียนส่วนมากจึงหาวิธีที่จะสอดแทรกความคิด ปัญหา รวมถึงทางแก้ไขที่มีประโยชน์ลงไปในเนื้อความด้วยวิธีที่แตกต่างกันออกไป โครงกระดูกแม่มดฯ เองก็เป็นหนึ่งในนั้น เมื่อมองโดยผิวเผินแล้วอาจจะเหมือนว่าเป็นงานที่นำเสนอประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความรักแต่เพียงเท่านั้น แต่การยกวรรณกรรมมาอ้างอิง การแก้ไขปัญหา การดำเนินเรื่อง ไปจนถึงจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างฐานะหน้าที่การงานของตัวละครในเรื่อง กลับเป็นหลักฐานชั้นดีที่แสดงถึงการสะท้อนปัญหาสังคมด้านต่าง ๆ อีกมากมายที่ใช้ความรักเป็นตัวชี้นำหลัก

 

            โครงกระดูกแม่มดฯ ใช้เวลาเป็นส่วนมากในการกล่าวถึงความรัก ปัญหาความรัก วรรณกรรมที่เกี่ยวกับความรัก เราจะพบอิเหนา พระอภัยมณี หรือกระทั่งวรรณกรรมสากลอย่างโรเมโอกับจูเลียต รวมไปถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในวรรณกรรมเหล่านั้นอีกทีหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในเรื่องราวที่มีความรักเป็นตัวเอกนี้เองที่เราจะได้พบปัญหาอื่น ๆ แทรกสอดเข้าไปในระหว่างการดำเนินเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการใช้อำนาจโดยมิชอบในทางกฎหมาย การกระทำของสามีของคุณหญิงมัญชุศรีที่สะท้อนภาพลักษณ์ของคนมีอำนาจ มีเงินตราในปัจจุบันว่าสามารถทำอะไรได้ดั่งใจตนโดยไม่ต้องเกรงกลัวข้อกำหนดทางสังคม หรือกระทั่งการมีสัมพันธ์กับผู้อื่นนอกจากคู่รักของตนแม้จะจดทะเบียนสมรสแล้ว การมีกระบวนการความคิดที่ดูถูกผู้อื่นของหลากหลายตัวละครในเรื่อง อย่างเช่นสามีของฟาง ที่มองว่าการที่ผู้หญิงชอบผู้ชายรวยสมเหตุสมผล การที่ผู้ชายเจ้าชู้ก็เป็นธรรมชาติเช่นกัน ความคิดนี้แม้จะไม่สามารถตัดสินว่าผิดได้อย่างตรงไปตรงมา แต่ก็เป็นตัวสะท้อนแนวความคิดซึ่งเห็นแก่ตัวเองเป็นหลัก คิดเข้าข้างตนเอง ตัดสินผู้อื่นจากฐานะหน้าที่ซึ่งเป็นผลจากค่านิยมในสังคมอีกทีหนึ่ง 

 

            โครงกระดูกแม่มดฯ เป็นนวนิยายที่ไม่ได้บอกให้ยึดติด แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้บอกให้ปล่อยวาง ไม่มีสิ่งที่ถูกระบุว่าผิดหรือถูกอย่างชัดเจนในหนังสือเรื่องนี้ เราจะเห็นได้ว่าหลายครั้งตัวละครในเรื่องมีปัญหาหรือความคิดที่ออกห่างไปจากค่านิยมของสังคมปัจจุบัน นัน ตัวเอกของเรื่องอยากฆ่าคน และมีตัวละครหญิงอีกหลายคนในเรื่องที่ได้ลงมือฆ่าคนไปแล้ว การฆ่าคนเป็นเรื่องไม่ดีตามหลักศาสนา แม้พวกเธอจะมีเหตุผลที่สมควรอย่างไรก็ตาม ดั่งเช่นที่ลำเภา ตัวเอกจากตอนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “เธอมีสิทธิ์อะไรที่จะฆ่าคน ไม่ว่าเขาจะทำลายชีวิตเธอ ข่มขืนลูกเธอ เธอมีสิทธิ์อะไร”(หน้า 28)  จะเห็นได้ว่าพื้นฐานตัวละครในเรื่องเองก็มีความคิดรู้จักผิดชอบชั่วดีตามศาสนา ตามหลักกฎหมาย ยึดหลักว่าการฆ่าคนคือการทำบาป ซึ่งตลอดการดำเนินเรื่อง โครงกระดูกแม่มดฯ ก็ไม่ได้มีการโน้มน้าวว่าการกระทำของพวกเธอถูกต้องแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันก็ไม่มีส่วนไหนในเรื่องเลยที่จะชักชวนให้ผู้อ่านคิดตามว่าการกระทำในเรื่องของพวกเธอเป็นสิ่งที่ผิด เรื่องเพียงทิ้งประเด็นให้คนอ่านนำไปขบคิดต่อยอด เป็นอิสระในการตีความของผู้อ่านเท่านั้น ว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่พวกเธอทำนั้นสมควรหรือไม่ เราควรตัดสินพวกเธอด้วยสิ่งใด ความสมเหตุสมผลจากสิ่งที่พวกเธอถูกกระทำมา ค่านิยมของสังคม หลักศาสนา หรือหลักกฎหมาย ตัวละครในโครงกระดูกแม่มดฯ หากให้กล่าวแล้วก็คือตัวละครที่ถูกวางมิติมาเป็นอย่างดี กล่าวคือมีการกระทำและนิสัยใจคอที่มีเหตุผลรองรับ มีข้อดี ข้อเสีย สิ่งที่ทำผิดพลาดไปดั่งเช่นมนุษย์จริง ๆ คนหนึ่ง จุดนี้เองที่ทำให้คิดได้ว่าเกิดจากความจงใจของผู้แต่ง ที่สร้างสรรค์ตัวละครมาหลายแง่มุมเพื่อให้สามารถสะท้อนภาพรวมของสังคมได้อย่างแท้จริง

 

สรุป

            จากการวิเคราะห์นวนิยายเรื่องโครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรักที่นำเสนอมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าแม้เรื่องจะพูดถึงประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความรักเป็นส่วนมาก แต่แท้จริงแล้วระหว่างดำเนินเรื่องก็มีการสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับสังคมลงไปด้วย นอกจากนี้ยังมีเสน่ห์ในการนำเสนอการกระทำของตัวละครที่ไม่ได้บ่งบอกชี้ชัดว่าเป็นการกระทำที่ถูกหรือผิด ให้อิสระในการตีความกับผู้อื่น มีการอ้างอิงหลักความคิดจากวรรณกรรมไทยรวมถึงวรรณกรรมต่างประเทศ ทำให้นอกจากจะสะท้อนความคิดของสังคมไทยผ่านการกระทำของตัวละครในเรื่อง ยังมีการสะท้อนความเป็นอยู่ร่วมสมัยของสังคมอื่นซึ่งปรากฏออกมาตามเนื้อหาของวรรณกรรมที่เหล่าตัวเอกได้อ่านอีกด้วย หากว่ากันโดยรวมแล้ว โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก จึงอาจไม่ใช่นวนิยายที่เหมาะสมกับคนทุกเพศทุกวัย หรือนวนิยายที่จะชี้นำการกระทำของผู้คนให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น หรือแย่ลง แต่เป็นนวนิยายที่จะทำให้ผู้อ่านได้ขบคิดพิจารณา ใช้สติไตร่ตรองในการดำรงชีวิต มองการกระทำของตนเอง และผู้อื่นได้อย่างสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้นเสียมากกว่า


 
 
 
 

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

 

ทะเลสาบน้ำตา : โชคชะตาของเด็กผู้ไร้เดียงสา

 

จักรพงศ์ อินทร์ศรี

 

          “ความเจ็บปวดมากเพียงใดกันหนอ จึงสามารถทำให้คนพรั่งพรูหยดน้ำตาจนกลายเป็นทะเลสาบ ความเจ็บปวดแบบไหนกัน ถึงสามารถสร้างเวิ้งน้ำแห่งความโศกเศร้าได้มากมายถึงเพียงนี้” สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นคำถามแรกเมื่อผู้อ่านได้พบกับ “ทะเลสาบน้ำตา” นวนิยายเรื่องล่าสุดของ“วีรพร นิติประภา” นักเขียนรางวัลดับเบิลซีไรต์ซึ่งได้สาดสะท้อนประเด็นความคิดอย่างแยบยลและอาจก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมอันจะปลุกผู้คนให้ตื่นจากภวังค์อันมืดมิดหรืออาจจะดูดกลืนหัวใจให้ดำดิ่งสู่ก้นบึ้งแห่งสามัญสำนึก จุดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้คือการฉายสภาพปัญหาสังคม ปัญหาภายในครอบครัว โดดเด่นไปด้วยสัญลักษณ์ที่ทำให้ผู้อ่านได้ขบคิดตีความเกือบตลอดทั้งเรื่อง “ทะเลสาบน้ำตา” ถูกร้อยเรียงโดยใช้กลวิธีการเขียนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน  ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบไม่ต่อเนื่อง (Discontinuity) เป็นการจงใจทำให้เรื่องสะดุดชวนติดตาม อีกทั้งการสร้างตัวละครเอกเป็นเยาวชนที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งด้วยเหตุผลที่ว่า “ฉันจะไปตามหาความรัก...เดี๋ยวมา”ซึ่งเป็นการสร้างความสะเทือนใจผู้อ่านเป็นเท่าทวีคูณรวมถึงความจงใจในการเลือกใช้สัญลักษณ์และภาพแทน (Representation) ในการสื่อความหมายให้ลึกซึ้ง จึงทำให้ “ทะเลสาบน้ำตา” ยิ่งมีความน่าสนใจ  ซึ่งผู้วิจารณ์ได้หยิบยกประเด็นมานำเสนอดังนี้

   “ภาพแทน” หรือ “ภาพจริง” ในทะเลสาบน้ำตา

          ความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้นในเวลาเพียงครู่หนึ่ง แล้วก็หายไป แต่บางความรู้สึกนั้น ไม่มีท่าที ว่าจะเหือดหาย แต่กลับยิ่งหยั่งรากฝังลึกลงไปทุกที ดังตัวละครใน “ทะเลสาบน้ำตา” คือยิหวาและอนิล พวกเขาเป็นเด็กมีปัญหาครอบครัว อันเนื่องมาจากความไม่พร้อมของพ่อแม่ ปัญหาครอบครัวที่เกิดขึ้นนี้กลายเป็นน้ำกรดที่กัดกินหัวใจที่ไร้เดียงสาของเด็กทั้งสองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จากเรื่องยิหวาและอนิล ซึ่งเป็นตัวละครเอกของเรื่อง เป็นภาพแทนของเด็กที่ตกอยู่ในสถานการณ์ครอบครัวหย่าร้าง เด็กกลายเป็นเหยื่อ ที่ต้องรองรับผลการกระทำอันไม่ยั้งคิดของผู้ใหญ่ เช่น ยิหวา เกิดมาจากความไม่พร้อมของพ่อแม่ที่ยังเป็นวัยรุ่น ทำให้พ่อแม่ไม่สามารถประคับประคองครอบครัวต่อไปได้  สุดท้ายผู้เป็นพ่อเลือกหนีออกจากบ้านเพื่อไปตามหาความฝันของตนเอง ส่วนแม่ผู้โหยหาความรักก็เลือกออกจากบ้านเพื่อไปตามหาความรักเช่นกัน ดังข้อความที่ว่า“รออยู่นี่นะหวา อย่าไปไหนทั้งนั้น ฉันจะไปตามหาความรัก...เดี๋ยวมา”(ทะเลสาบน้ำตา,2563: 33) เหตุผลอันไร้เดียงสาของแม่ถือเป็นคำจากลาที่สร้างความสะเทือนให้ผู้อ่านเป็นอย่างยิ่งเพราะในความเป็นจริงแล้ว ลูกน่าจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับผู้เป็นพ่อและแม่ ดังคำที่กล่าวว่า “ลูกเป็นแก้วตาดวงใจ” แต่ในบริบทนี้ตัวละครผู้เป็นแม่กลับกล่าวลาลูก ด้วยเหตุผลสิ้นคิดที่ว่า“จะไปตามหาความรัก” ดังนั้น ยิหวาจึงต้องแบกรับความรู้สึกของลูกที่ไร้ค่า ลูกที่ถูกหมางเมินเอาไว้อย่างเต็มหัวใจ

          อนิล เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่มีชะตาไม่ต่างจากยิหวา ถึงแม้อนิลจะไม่ได้สัมผัสถ้อยคำที่บาดหัวใจเหมือนยิหวา แต่ครอบครัวของอนิลก็มีปัญหาเช่นกัน กล่าวคือ อนิลต้องเห็นภาพพ่อแม่ทะเลาะกัน เห็นพ่อใช้ความรุนแรงต่อแม่บ่อยครั้งจนกลายเป็นความเคยชิน ดังข้อความที่ว่า “พ่อตะโกนอะไรสักอย่างซ้ำ ๆ ใส่แม่ที่ก้มหน้าที่น้ำตาลงฝ่ามือสองข้าง มีน้ำตามากมายหนนี้ และหน้าพ่อก็มองเหมือนกระดาษยับ ๆ ตอนเขาเอามือจิกผมแม่หงายเงยขึ้น จากแอ่งน้ำตาในฝ่ามือเธอ” (ทะเลสาบน้ำตา,2563:39) ความรุนแรงที่อนิลได้สัมผัสถูกตอกย้ำลงในจิตใจ กลายเป็นปมในใจของเด็กชาย หลังจากนั้นอนิลถูกพ่อนำไปฝากไว้กับป้า ซึ่งเลี้ยงดูเขาประหนึ่งว่าเขาเป็นสัตว์เลี้ยง เพราะป้าให้เพียงที่พักและอาหาร แต่ไม่เคยให้ความอบอุ่นปลอดภัย ดังนั้นในหัวใจของอนิลจึงรู้สึกขาดหายอยู่เสมอและไม่เคยถูกเติมเต็มจากความรักสักที ดังข้อความที่ว่า“ป้าจะคอยดูแลหาข้าวปลาอาหารให้กินอิ่มท้อง พาไปหาหมอเวลาไม่สบาย เอาเสื้อผ้าใช้แล้วของลูกแกมาให้ใส่ และก็แค่เฉยชา ห่างไกล ไม่พูดคุยถามไถ่ ไม่กกกอด ไม่แตะต้อง แล้วอนิลก็ชอบจินตนาการว่าตัวเองเป็นสัตว์เลี้ยงตัวหนึ่งในบ้าน”(ทะเลสาบน้ำตา, 2563: 59) อนิลจึงเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวไร้ตัวตนและไม่เห็นคุณค่าในตนเอง ในที่สุดอนิลก็เลือกหนีออกจากบ้านเพื่อไปเผชิญกับโลกภายนอกเพียงลำพัง สิ่งที่อนิลมีความคล้ายคลึงกับยิหวา คือพวกเขาเป็นเด็กที่มีบาดแผลในใจ อันเนื่องมาจากปัญหาครอบครัว การหย่าร้าง การถูกทอดทิ้ง ถึงแม้ว่าเด็กทั้งสองเป็นเพียงตัวละครให้ถูกใช้ให้ทำหน้าที่ไปตามบทบาททางวรรณกรรม แต่ทั้งอนิลและยิหวาต่างเป็นภาพแทนของเด็กที่ต้องรับเคราะห์จากความรักที่ไร้สติยั้งคิดและขาดความรับผิดชอบ จนในที่สุดผลแห่งการกระทำย่อมตกอยู่กับเด็กผู้ไร้เดียงสา ตัวละครทั้งสองอาจไม่ใช่ตัวละครที่เกิดขึ้นมาก่อนสภาพปัญหาในสังคม แต่เพราะสังคมมีปัญหาดังกล่าว ตัวละครทั้งสองจึงได้เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นภาพแทนของเยาวชนที่ต้องมาเผชิญโชคชะตาที่โหดร้ายและกลายเป็นปมด้อยในจิตใจทั้งนี้ผู้วิจารณ์มองว่าผู้เขียนไม่ได้ต้องการฉายภาพปัญหาสังคมซ้ำ ๆ แต่สิ่งที่ผู้เขียนพยายามจะสื่อสารออกมานั้นเป็นการกล่าวตักเตือนและการสร้างกระแสสำนึกเพื่อปลุกผู้คนในสังคมให้ตื่นจากวงจรเหล่านี้เสียที

   สัญลักษณ์ การสร้างความหมายผ่านเด็กผู้ถูกทอดทิ้ง

           “ทะเลสาบน้ำตา” เป็นวรรณกรรมที่รุ่มรวยไปด้วยสัญลักษณ์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับตัวละครเอก คือ ยิหวาและอนิล เรื่องราวที่ถูกสร้างให้มีความซับซ้อนยุ่งเหยิงเหมือนกับสภาพจิตใจของเด็ก ๆ ที่ถูกทอดทิ้ง เนื้อเรื่องมีความจริง ความฝัน จินตนาการ และมีสัญลักษณ์ที่ถูกกล่าวถึงในช่วงต่าง ๆ ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้ผู้อ่านจำเป็นต้องตีความให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้น “ความคมคาย” จะกลายเป็น “ความคลุมเครือ” 

          ยิหวา เด็กผู้ถูกครอบครัวทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพังในตึกรูปร่างพิลึกพิลั่น สัญลักษณ์ที่โดดเด่นของยิหวา คือ นกฟลามิงโก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏในโลกความเป็นจริงของยิหวา อีกทั้งปรากฏในความฝัน และในจินตนาการด้วย หากจะตีความ “นกฟลามิงโก” อาจหมายถึง ความสุขที่เกิดขึ้นท่ามกลางความเจ็บปวด หรืออีกนัยหนึ่งคือความหวัง  นกฟลามิงโกถูกกล่าวถึงในช่วงต้นเรื่อง ระหว่างการดำเนินเรื่อง และปรากฏอีกครั้งในส่วนท้ายของเรื่อง สิ่งที่น่าพิจารณาคือ การใช้สัญลักษณ์เป็นนกฟลามิงโกในเกือบตลอดการดำเนินเรื่อง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ความบังเอิญ หากแต่เป็นความจงใจ ตัวละครยิหวาเคยมีความสุขเมื่อครั้งได้อาศัยอยู่กับแม่ แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อแม่หนีออกจากบ้าน ด้วยเหตุผลที่ว่า ไปตามหาความรัก เป็นช่วงเวลาที่นกฟลามิงโกก็หายไปด้วยเช่นกัน และการที่ยิหวาได้พบนกฟลามิงโกอีกครั้งในตอนที่หลงเข้าไปในครอบแก้ว ซึ่งมีนกฟลามิงโกอาศัยอยู่ที่ทะเลสาบ(น้ำตา) ทำให้ยิหวาตื่นตาตื่นใจยิ่ง เมื่อได้พบฝูงนกดังกล่าว เธอจึงเก็บขนนกเพื่อจะนำมาฝากแม่ ดังข้อความที่ว่า“ยิหวาเก็บขนนกฟลามิงโกใส่กระเป๋าเสื้อเอากลับไปฝากแม่ หากแม่จะกลับมาสักวัน” (ทะเลสาบน้ำตา,2563:159) การเก็บขนนกฟลามิงโกจึงมาพร้อมกับความหวังว่าอยากจะพบแม่ แต่ความหวังก็ต้องพังทลายเพราะแม่ของยิหวาไม่เคยกลับมา

           ส่วนอนิล ความทรงจำของเขามีเพียงไม่กี่อย่าง หนึ่งในนั้นคือ ลูกแก้ว เป็นลูกแก้วแห่งความทรงจำเพราะเป็นสิ่งที่แม่ของเขาซื้อให้ ในยามที่เขารู้สึกไร้ตัวตน ก็มีแค่เพียงลูกแก้วที่อยู่ในกระเป๋ากางเกงของเขาเท่านั้น ลูกแก้วของอนิลเป็นสัญลักษณ์ของความสุขและความอบอุ่นจากแม่ ลูกแก้วจึงเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นความสุขเดียวของอนิล แม้จะเกิดขึ้นเพียงในอดีตก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันอนิลเป็นแค่มนุษย์ที่ไร้ตัวตน ดังข้อความที่ว่า “อนิลเคยชินแล้วกับการถูกมองทะลุไปข้างหลัง เหมือนเนื้อตัวโปร่งใส” (ทะเลสาบน้ำตา,2563:74) ลูกแก้วจึงเป็นสัญลักษณ์ของความสุขและเป็นตัวแทนแม่ที่เคยมีในครั้งอดีต (ความทรงจำ) ซึ่งหาไม่ได้ในปัจจุบัน

          อีกสัญลักษณ์หนึ่งซึ่งนับว่าเป็นโครงเรื่องสำคัญ คือ“เมืองกระจก” และ “ครอบแก้ว” ผู้วิจารณ์ตีความเมืองกระจกว่า เป็นเมืองหลวงหรือเมืองที่มีความเจริญ ซึ่งไม่เพียงแต่ฉายภาพของความเจริญเท่านั้น หากแต่ยังแฝงไปด้วยบุคลิกนิสัยของคนเมืองที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ ดังข้อความที่ว่า “นอกจากพูดเหมือน ๆ กัน เรื่องเดียว ๆ กันคำถามอีกต่างหาก เอาแต่เร่งรีบลุกลี้ลุกลน” (ทะเลสาบน้ำตา,2563: 56) เมืองกระจกที่ปรากฏในเรื่องนี้เป็นสัญลักษณ์ที่แยบคาย สะท้อนภาพสังคมเมืองอย่างเด่นชัด ในส่วนของ “ครอบแก้ว”เป็นสัญลักษณ์น่าประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งเพราะส่วนใหญ่สัญลักษณ์มักไม่ถูกเปิดเผย         ในตัวบทหากแต่ให้ผู้อ่านได้ตีความด้วยตนเอง แต่สำหรับ “ทะเลสาบน้ำตา” ครอบแก้วกลับถูกเฉลยความหมายไว้ในส่วนท้ายของเรื่อง ดังข้อความที่ว่า“ตามีสมมติฐานว่าครอบแก้วคือที่เก็บความทรงจำ แล้วดูสิ ทรงจำกระพร่องกระแพร่งที่ผู้คนไม่ยอมให้สาบสูญ”(ทะเลสาบน้ำตา,2563: 197) ครอบแก้วจึงหมายถึงความทรงจำ ซึ่งเป็นปมที่เกิดขึ้นในใจ เหมือนกรงที่คอยกักขังผู้คนเอาไว้ไม่ให้พบเจอกับปัจจุบันและปิดกั้นอนาคต สิ่งที่จะทำให้ผู้คนไม่ติดอยู่ในครอบแก้ว คือการไม่จมปลักอยู่กับห้วงเวลาของอดีต โดยเฉพาะอดีตที่คอยฉุดรั้งเราเอาไว้ ความกล้าหาญที่จะเผชิญกับปัจจุบันเท่านั้นจึงจะทำให้ครอบแก้วขนาดมหึมาพังทลายลงได้ เช่นเดียวกับยิหวาและอนิลที่สุดท้ายสามารถหลุดออกมาจากครอบแก้วได้ เพราะต่างฝ่ายต่างเปิดใจยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

   ก้นบึ้งของทะเลสาบน้ำตา

          ความเจ็บปวด ความโศกเศร้า หรืออาการตัดพ้อน้อยใจ ถูกหลอมรวมและโลดแล่นผ่านตัวละครยิหวากับอนิล เป็นอีกครั้งที่วีรพร นิติประภา ได้สร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมสะท้อนปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหาครอบครัวการหย่าร้างหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ซึ่งถูกเผยให้เห็นในวรรณกรรมเล่มนี้ทั้งหมด แนวคิดสำคัญของ “ทะเลสาบน้ำตา” จึงเป็นการชี้ให้เห็นการจมปลักอยู่กับอดีตย่อมเป็นการกักขังตนเองให้เจ็บปวด หนทางเดียวที่สามารถบรรเทาความเจ็บปวดเหล่านั้นได้นั่นคือการเดินออกมาจากสิ่งที่กัดกินหัวใจ การยอมรับกับปัจจุบัน และที่สำคัญการเผชิญหน้ากับอนาคตอย่างกล้าหาญนั้นเป็นสิ่งที่งดงามยิ่งกว่า ดังที่ตัวละครยิหวาและอนิลได้ฉายภาพให้ผู้อ่านได้เห็นแล้วว่า การกักขังตนเองเอาไว้ในครอบแก้ว ไม่มีใครสามารถช่วยได้ นอกจากตัวของผู้สร้างจะเป็นผู้ทลายครอบแก้วนั้นด้วยตนเอง ผู้วิจารณ์จึงมีความเห็นว่า “ทะเลสาบน้ำตา”ได้ทำหน้าที่ของวรรณกรรมอย่างสมบูรณ์แบบ หน้าที่ต่อจากนี้คงเป็นความรับผิดชอบของนักอ่านในการค้นหาแง่งามอื่น ๆ จากวรรณกรรมเล่มนี้ และอาจเป็นการดีกว่าหากผู้อ่านจะมีส่วนทำให้ตัวละครยิหวาและอนิลเป็นเพียงแค่ตัวละครในวรรณกรรม ที่ชื่อ “ทะเลสาบน้ำตา”เท่านั้น ไม่ใช่เป็นภาพแทนของเยาวชนที่มีตัวตนในโลกแห่งความเป็นจริง

 

วีรพร นิติประภา. 2563. ทะเลสาบน้ำตา. กรุงเทพฯ : อาร์ตี้เฮาส์


 
 
 

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

 

 

ทุ่งหญ้า ป่าข้าว เจ้าเขากาง และผม: 

ภาพสะท้อนวิถีชีวิตชาวชนบทไทยกับปัญหาสังคมที่ต้องพบเจอ

 

 

เอกพจน์  อี้มัย

 

 

            เอกอรุณ หรือ เอกอรุณ อวนสกุล นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนมากฝีมือที่ถึงแม้จะออกตัวว่างานเขียนแนวนี้สำหรับเขาเปรียบเสมือนการเดินทางที่เพิ่งเริ่มต้น แต่ผลงานที่ผ่านมาก็การันตีด้วยรางวัลคุณภาพต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ม้าน้ำสีทอง ที่เคยได้รับรางวัลชมเชยจากงานประกวดวรรณกรรมแว่นแก้ว ครั้งที่ 13 ประเภทนวนิยายสำหรับเยาวชน อีกทั้งยังได้รับรางวัลชมเชยหนังสือดีเด่นจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปี 2562 และการประกาศผลรางวัลวรรณกรรมแว่นแก้ว ครั้งที่ 15 ประจำปี 2562 ที่ผ่านมาก็มีชื่อผลงานของเขาได้รับรางวัลอีกเช่นกัน คือเรื่อง ทุ่งหญ้า ป่าข้าว เจ้าเขากาง และผม ที่ติดอันดับได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนวนิยายสำหรับเยาวชนไปในที่สุด

 

            ทุ่งหญ้า ป่าข้าว เจ้าเขากาง และผม เป็นนวนิยายประเภทสัจนิยม (Realism) ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความรัก ความผูกพัน และมิตรภาพระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ สัตว์ และท้องถิ่นที่เต็มไปด้วยปัญหาสังคมต่าง ๆ ของชาวชนบทภาคอีสานในยุคสมัยจอมพลถนอม  กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี

 

            ผู้เขียนใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแบบเรียบง่าย ด้วยการใช้เด็กชายโข่งเป็นผู้เล่าเรื่องผ่านสายตาและความคิดต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นของตน ประกอบกับการที่ผู้เขียนกำหนดให้โข่งใช้คำว่า ‘ผม’ แทนตัวเองเวลาเล่าเรื่อง จึงทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าโข่งกำลังสื่อสารกับตนอยู่และเหมือนได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าที่ผู้เขียนได้สร้างสรรค์ขึ้นมา อีกทั้งลำดับการเล่าเรื่องที่เรียงไปตามเหตุการณ์และเวลายิ่งทำให้ผู้อ่านเห็นพัฒนาการของเรื่องรวมถึงตัวละครต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน

 

            ผู้เขียนได้สร้างเด็กชายโข่งขึ้นมาให้เกิดและเติบโตเป็นลูกชายคนเดียวและลูกคนสุดท้องของครอบครัวชาวนาที่ไม่ได้คาดหวังว่าจะมีเขา แต่ครอบครัวก็ให้ความรัก ความอบอุ่นกับเขาเสมอเหมือนกับลูกคนอื่น ๆ และอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ เนื่องจากยายของโข่งได้ทำนายว่าเขาจะอายุสั้นตั้งแต่ตอนเกิดและให้ทุกคนในครอบครัวดูแลเขาเป็นอย่างดีเพื่อไม่ให้โข่งอายุสั้นตามคำทำนาย นอกจากครอบครัวที่เป็นฐานพักพิงอันอุ่นใจแล้ว โข่งยังมีครูที่คอยดูแลเอาใจใส่ และเพื่อน ๆ คู่ใจไม่ว่าจะเป็นดอม สังข์ ทองแม้น โฮ่ง และเจ้าเขากางควายประจำบ้านเพื่อนสี่ขาของเขา หมู่บ้านของโข่งเป็นหมู่บ้านชนบทในชนบทอีกทีหนึ่ง ทุกคนในหมู่บ้านต่างเรียกตนเองว่า ชาวชนป่าดงห่างหมู่บ้าน (หน้า 9) ทำให้ทุกครอบครัวที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้ต่างต้องประสบกับปัญหาต่าง ๆ เพียงลำพัง โดยไร้ความเหลียวแลจากทางการ

 

            จะเห็นได้ว่าโข่งเป็นภาพแทนของเด็กที่ได้รับความรัก ความผูกพัน และมิตรภาพจากคนรอบข้างอย่างเต็มเปี่ยมบนสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหาต่าง ๆ ภาพสังคมชนบทที่ผ่านการบอกเล่าจากสายตาและความคิดของโข่งถึงแม้ว่าจะเป็นสังคมชนบทเล็ก ๆ แห่งหนึ่งทางภาคอีสาน แต่ปัญหาที่โข่งเล่าออกมาสามารถสะท้อนภาพรวมของปัญหาสังคมชนบทอีสานในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 26 ของไทยได้เป็นอย่างดี 

 

            ปัญหาที่สะท้อนผ่านวิถีชีวิตของตัวละครมี 2 เรื่องหลักด้วยกัน ปัญหาแรก คือ ปัญหาความยากจนของชาวบ้าน โดยเฉพาะเรื่องการทำนาที่ขาดทุนมากกว่าได้กำไร เห็นได้ชัดจากครอบครัวของโข่งที่มีที่นาถึง 36 ไร่ แต่เมื่อพ้นฤดูเก็บเกี่ยวไปแล้วข้าวเปลือกที่ได้จากการลงทุนลงแรงก็มีไม่พอขาย เนื่องจากครอบครัวได้เช่าควายที่ชื่อว่า ‘อีตู้’ มาไถนาในช่วงฤดูไถ่หว่าน และต้องจ่ายข้าวเปลือกเป็นค่าเช่าหลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว ดังที่โข่งเล่าว่า

 

             เราขนย้ายข้าวเปลือกหลายกระบุงจากยุ้งฉางของเราสู่เกวียนเทียมวัวคู่งาม ขณะที่ลูกเขย เจ้าของอีตู้ขับ       เกวียนห่างออกไป ผมเงยหน้ามองพ่อกับแม่ ในแสงแดดที่สะท้อนจากหลังคายุ้งฉาง ผมเห็นน้ำตาหยดหนึ่งพราวอยู่บนเรือนแก้มของแม่

 

      พี่สไบวางมือลงบนหัวผมแล้วพูดเบา ๆ “เขามาเก็บค่าเช่าอีตู้” (หน้า 15) 

 

            เหตุการณ์ในเรื่องข้างต้น ทำให้แม่ของโข่งต้องเสียน้ำตาจำนนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าและไม่สามารถตอบโต้หรือต่อรองกับเจ้าของควายที่คิดค่าเช่าแสนแพงด้วยข้าวเปลือกหลายกระบุงได้

 

            ปัญหาในประเด็นนี้ไม่ได้มีเพียงปัญหาระหว่างชาวบ้านกับเจ้าของควายเท่านั้น แต่กับธรรมชาติก็มีเช่นกันและเป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ฤดูแล้งที่เข้ามาแทนที่หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวผ่านพ้นไปทำให้วิถีชีวิตและฐานะของชาวบ้านยากลำบากมากขึ้น เพราะไม่สามารถทำนาได้ อีกทั้งข้าวที่ได้จากการลงแรงครั้งที่ผ่านมาก็ไม่พอขาย ทำให้ชาวบ้านต้องหางานที่ช่วยประคองชีวิตให้ผ่านพ้นฤดูอันแสนโหดร้ายนี้ไปโดยไร้การช่วยเหลือจากภาครัฐ อย่างเช่น พ่อของโข่งที่ต้องสานกระติบและเดินเร่ขายด้วยเท้าเปล่าไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ หรือทำไร่ปอและตัดนำไปขายในเมืองเพื่อนำเงินมาจุนเจือครอบครัวและเก็บเงินไว้ซื้อควายเป็นของตนเอง หรือแม้กระทั่งการหาอาหารการกินต่าง ๆ ในช่วงฤดูนี้ของชาวบ้านก็แร้นแค้นเช่นกัน ดังที่โข่งเล่าว่า

 

             หน้าแล้งไม่ต้องทำนา รวมทั้งงานหนักอื่น ๆ ภาระของลูกหลานชาวนาในแต่ละวันต้องสู้เพื่อความอยู่รอด หาอยู่หากินตามป่าตามทุ่ง ทุ่งแล้งไม่เหลือปลาให้จับ ตามหนองที่เหลือแต่น้ำขุ่น ๆ ผสมโคลนดินกลายเป็นที่หลบ ร้อนของฝูงควาย (หน้า 22)

 

            ความยากจนของชาวบ้านในเรื่องไม่ได้มีผลกระทบแค่อาหารการกินเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงในยามเจ็บป่วย อย่างเช่นตอนที่โข่งตกหลังควายทำให้กระดูกข้อมือที่แขนซ้ายหลุด ครอบครัวเลือกที่จะรักษากันเองโดยใช้ไม้ไผ่มาร้อยด้ายเป็นเฝือกและใช้น้ำมันเลียงผาทา หรือตอนที่โข่งกลับมาจากการแข่งขันวิ่งแล้วเกิดล้มป่วยหนักมีพิษไข้และตุ่มแดงขึ้นกระจายเต็มตัวอยู่หลายวัน โข่งเล่าถึงอาการของตัวเองว่า

 

            สองวันผ่านไป อาการป่วยของผมยิ่งทรุดหนัก ตุ่มแดง ๆ ผุดขึ้นตามลำแขนสองข้าง ลามไปที่ขาแล้วค่อย ๆ     ผุดขึ้นกระจายไปทั่วทั้งตัว ไม่เว้นแม้กระทั่งลำคอ ใบหน้า หูสองข้าง แล้วก็เปลือกตา หลับไปทุกครั้ง ตื่นขึ้นมาผม ลืมตาไม่ขึ้น พี่สไบต้องคอยตักน้ำหาผ้ามาเช็ดให้ (หน้า 104)

 

            จะเห็นได้ว่า ทางครอบครัวเลือกที่จะไม่ส่งโข่งไปโรงพยาบาลเช่นเดียวกันกับตอนที่แขนหักและเลือกใช้วิธีการรักษาเท่าที่ทำได้ด้วยการให้โข่งดื่มยาต้มรากไม้กับใช้น้ำมันเลียงผานวดไปตามตัวเท่านั้น ถึงแม้ว่าตัวละครจะไม่ได้บอกเหตุผลถึงความจำเป็นที่ต้องรักษากันเอง แต่ก็สามารถพิจารณาถึงสภาพบริบทสังคมในเรื่องที่ห่างไกลจากความเจริญ รวมถึงฐานะครอบครัวของโข่งก็สามารถทราบถึงเหตุผลได้

 

            ปัญหาความยากจนของชาวบ้านยังส่งผลกระทบไปยังปัญหาหลักต่อมาที่ผู้เขียนสะท้อนผ่านไว้ในเรื่อง คือ ปัญหาการศึกษาในชนบทตอนที่ครูโนรีซึ่งเป็นครูคนใหม่ที่มาทำหน้าที่สอนต่อจากครูบุญเลิศที่เกษียณไป ครูโนรีได้จัดระเบียบนักเรียนใหม่ทั้งหมด โดยนักเรียนทุกคนต้องแต่งกายให้ถูกระเบียบ และต้องใช้สมุดแทนกระดานชนวน รวมถึงต้องซื้อแบบเรียนอีกหลายเล่ม เหตุการณ์นี้ก็ทำให้โข่งกับเพื่อน ๆ ไม่กล้าบอกพ่อแม่ถึงคำสั่งที่ครูคนใหม่สั่งมา ดังที่โข่งเล่าว่า 

 

             ทุกคนปิดปากเงียบขณะเดินกลับบ้าน ผมเองก็ก้มหน้าเดิน ไม่มีอารมณ์เล่นหัวและพูดคุยกับใคร รองเท้า ผ้าใบผมมีแล้ว ยังต้องซื้อกางเกงสีกากีอีก สมุด หนังสือ และดินสอตามที่ครูบอก ผมไม่กล้าขอพ่อแม่ ถึงกล้าเอ่ย ปากขอ ผมก็รู้ว่าพ่อแม่ไม่มีเงินมากพอซื้อให้ (หน้า 71)

 

            ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ข้างต้นจะเป็นคำสั่งของครูคนใหม่ แต่ชาวบ้านก็ไม่สามารถหาสิ่งที่ครูต้องการมาให้ลูกของตนได้ทั้งหมด เนื่องจากความยากจนที่ครอบงำวิถีชีวิตของพวกเขาอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาที่ครูโนรียังไม่เข้าใจเหมือนกับครูบุญเลิศ

 

            นอกจากนี้ ครูบุญเลิศกับครูโนรียังเป็นภาพแทนของปัญหาจำนวนครูที่ขาดแคลนในท้องถิ่นทุรกันดาร ซึ่งยังเป็นปัญหาที่ตกค้างวงการศึกษาไทยในปัจจุบัน ผู้เขียนได้สะท้อนปัญหาของการขาดแคลนครูด้วยการสร้างบทบาทของครูบุญเลิศที่ต้องทำหน้าที่ดูแลและสอนนักเรียนทุกระดับชั้นเพียงคนเดียว เมื่อครูบุญเลิศเกษียณไปแล้ว ครูโนรีที่เข้ามารับหน้าที่แทนก็มีบทบาทเช่นเดียวกับครูบุญเลิศ 

 

            เรื่องโรงเรียนสำหรับใช้จัดการเรียนการสอนก็เป็นปัญหาที่ผู้เขียนนำมาเล่าไว้ในเรื่องด้วยสภาพโรงเรียนของหมู่บ้านโข่งถูกสร้างมาจากวัสดุตามมีตามเกิดในท้องถิ่น ซึ่งไร้ความคงทนและความแข็งแรง ดังที่โข่งเล่าสภาพโรงเรียนเมื่อตอนแรกเห็นว่า

 

             ผมมองเห็นเสาธงซึ่งทำจากไม้ยืนต้นตายเล็ก ๆ สูงเหนือหัวผมประมาณสามเท่า ถัดไปเป็นโรงเรียนใน สภาพที่ผมเองก็คาดไม่ถึง

 

            “เหมือนคอกหมู” สังข์ชี้และพูด โรงเรียนไม่ได้ยกพื้นสูงจากดิน ผนังและหลังคาทำด้วยใบตองกรอบแห้งสีน้ำตาล...(หน้า 30)

                 เมื่อฝนตกลงมาอย่างหนักและลมที่พัดแรงทำให้โรงเรียนจากเดิมที่มีความซอมซ่ออยู่แล้วก็เกิดสภาพดังที่โข่งเล่าว่าฝาใบตองด้านทิศตะวันออกก็ถูกกระแสลมแรงพัดจากเชือกที่มัดไว้ ล้มเค้เก้ลงไปกลางสายฝนที่เทลงมา หนักเรื่อย ๆ และสาดเข้ามาในห้อง...ฝาผนังอีกแผ่นด้านตรงข้ามก็ปลิวหายไปอีก ต่อมาก็เป็นหลังคาแผ่นแรก แผ่น  ที่สอง แล้วจากนั้นก็ไม่เหลือคุ้มหัวแม้แต่แผ่นเดียว (หน้า 32)

 

          ถึงแม้ว่าสภาพแวดล้อมในสังคมของโข่งจะเต็มไปด้วยปัญหาต่าง ๆ มากมายที่ถาโถมเข้ามาปะทะกับวิถีชีวิตของชาวบ้านรวมถึงโข่ง แต่กระนั้นผู้เขียนยังสะท้อนให้เห็นมุมมองที่งดงามในจิตใจของมนุษย์ กล่าวคือ หมู่บ้านของโข่งมีศัตรูตัวฉกาจ คือ เหล่าปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่ชาวบ้านทุกคนต่างต้องเผชิญหน้าอย่างหนักหน่วง แต่อาวุธที่ทุกคนใช้ต่อสู้และเป็นเกราะป้องกันชั้นดี คือ ความรัก ความผูกพัน และมิตรภาพที่ทุกคนมีให้กัน อย่างเช่นตอนที่โรงเรียนคอกหมูพังด้วยแรงฝนและลมพายุที่พัดโหมกระหน่ำ เมื่อชาวบ้านทราบข่าวทุกคนก็ต่างออกมาช่วยกันสร้างโรงเรียนขึ้นใหม่เพื่อให้ลูกหลานของตนมีที่เรียนหนังสือ ดังที่โข่งเล่าเหตุการณ์ในตอนนี้ไว้ว่า

  

           ชาวบ้านช่วยยกกระดานดำย้ายไปตั้งวางตามชั้นเรียนใต้ต้นไม้ ครูบุญเลิศเริ่มต้นสอนชั้น ป.4 ขณะ ชาวบ้านกลุ่มใหญ่ยกโขยงกันมาพร้อมเครื่องไม้เครื่องมือ บ้างแบกเสาไม้ บ้างถือมีด บ้างแบก ขวาน กระจายกัน ล้อมซากโรงเรียน

 

         เรานั่งมองชาวบ้านสร้างโรงเรียนขึ้นใหม่ขณะรอครูบุญเลิศ เรานั่งอยู่ใต้กิ่งคูนที่แทบไม่เหลือใบเป็นร่มเงา (หน้า 33) 

  

            ส่วนครูบุญเลิศกับครูโนรีที่ถึงแม้จะต้องดูแลและสอนนักเรียนหลายคนด้วยตัวคนเดียว แต่ครูทั้ง 2 คนต่างก็ทุ่มเทความรักและความเอาใจใส่ให้ตลอด จนเกิดเป็นความผูกพันที่ดีระหว่างกัน เห็นได้ชัดจากการที่ครูบุญเลิศมักชอบมานั่งกินข้าวกลางวันร่วมกับนักเรียน ดังที่โข่งเล่าไว้ว่า

 

            ครูบุญเลิศกินอาหารมื้อกลางวันร่วมกับนักเรียน แกห่อข้าวมาจากบ้านเช่นเดียวกัน วันก่อนแกร่วมวงกับ นักเรียนชั้น ป.3 อีกวันเปลี่ยนไปชั้น ป.2 และ ป.ขี้หมูไหลก็ไม่ได้ละเว้น (หน้า 51-52)

 

            ครูโนรีที่เด็กทุกคนต่างไม่ชอบเมื่อแรกพบ เนื่องจากเป็นครูที่เจ้าระเบียบ แต่เมื่อเด็กทุกคนคุ้นเคยกับครูแล้วและเห็นความสำคัญของระเบียบบางอย่างที่ครูสั่งให้ทำ จึงทำให้เด็กรักและเคารพมากยิ่งขึ้น เช่นตอนที่โข่งและเพื่อน ๆ เล่นฟุตบอล มีโข่งคนเดียวที่ใส่รองเท้าผ้าใบตามคำสั่งของครูโนรี แต่เพื่อนอีก 4 คนของโข่งไม่ได้ใส่ทำให้ได้รับบาดเจ็บกันหมดทุกคน เหตุการณ์นี้ทำให้โข่งและเพื่อน ๆ มีความรู้สึกที่เปลี่ยนไปกับครูโนรี คือ

 

            เริ่มรู้สึกดีกับครูโนรี เข้าใจระเบียบบางอย่างที่ครูพยายามบังคับ อย่างน้อยก็เรื่องรองเท้าที่ทุกคนต้องมี (หน้า 74) 

 

            แม้กระทั่งปัญหาความยากจนที่แสนแร้นแค้น ผู้เขียนก็ยังสอดแทรกเรื่องมิตรภาพของมนุษย์ลงไปอย่างตอนโข่งข้อมือที่แขนซ้ายหลุด เมื่อญาติและชาวบ้านในหมู่บ้านทราบข่าวต่างเดินทางมาเยี่ยมให้กำลังใจ อีกทั้งลุงปิ่นพ่อของดอมยังแบ่งน้ำมันเลียงผามาให้ทาข้อมืออีกด้วย หรือตอนที่โข่งมีพิษไข้ป่วยหนักต้องนอนซมอยู่บ้าน เพื่อน ๆ ของโข่งทั้ง 4 คน คือ ดอม สังข์ ทองแม้น และโฮ่งต่างก็มาเยี่ยมที่บ้านและให้กำลังจนโข่งมีอาการดีขึ้น ดังที่โข่งเล่าว่า

 

            ผมเริ่มอาการดีขึ้นเล็กน้อยตอนเพื่อน ๆ ทั้งสี่คนยกโขยงกันมาเยี่ยม โฮ่งก้าวมานั่งลงข้าง ๆ ผมเป็นคนแรก เขาไม่ยิ้มหรือหัวเราะแหะ ๆ สบตาผมนิ่งแล้วก็ปิดปากเงียบ สังข์ ดอม และทองแม้นตามมา หลังไข้ลด ผมไม่ได้ห่ม ผ้า นอนแผ่ในชุดกางเกงนักเรียนตัวเดียว ตอนนี้ผมตัวเล็กลงเกือบเท่าทองแม้น ดอมคว้ามือผมไปกุมไว้เป็นคนแรก เพื่อนอีกสามคนทำตาม สังข์ส่งยิ้ม แล้วอีกสามคนก็ส่งยิ้มพร้อมกัน (หน้า 105-106)

 

            ภาพชาวบ้านที่ต่างเดินทางมาช่วยงานแต่งของมนต์กับสไบพี่สาวของโข่ง สะท้อนให้เห็นความมีน้ำใจและช่วยเหลือกันของชาวบ้านที่ถึงแม้ทุกคนต่างขาดแคลนด้วยความขัดสนอยู่แล้ว แต่ทุกคนต่างก็เต็มใจมาช่วยงานกันอย่างมากมาย ซึ่งโข่งได้เล่าเหตุการณ์ในตอนนี้ไว้ว่า

 

            ลุงทองดีแบกถุงเนื้อหมูเนื้อวัวขึ้นบนเรือน…ผู้ช่วยของแม่ก็ทยอยกันมา ทั้งป้าพิศ อานางน้อย ยายยุ้ย จากนั้นไม่นานพี่ละมัยพร้อมครอบครัวก็เดินทางมาถึง (หน้า 122)

 

             นอกจากผู้เขียนยังจะสะท้อนให้เห็นมุมมองที่งดงามในจิตใจระหว่างมนุษย์กับมนุษย์แล้ว มนุษย์กับสัตว์ก็สะท้อนให้เห็นเช่นกัน ดังตอนที่ข่าวการตายของเจ้าเขากางควายของโข่งได้แพร่สะบัดไปถึงหูชาวบ้าน ทุกคนต่างมากันที่บ้านของโข่งด้วยความดีใจที่จะได้มีเนื้อไปทำอาหารกินประทังความขัดสน แต่ด้วยความรัก ความผูกพันที่โข่งมีต่อเจ้าเขากาง ทำให้โข่งกล้าที่จะขัดขวางชาวบ้านไม่ให้เข้ามาแล่เนื้อ ส่วนลุงทองดี ยายยุ้ย และเพื่อน ๆ ของโข่งต่างก็เข้ามาสมทบช่วยโข่ง จนในที่สุดชาวบ้านก็ต้องยอมถอยออกไป เพราะซาบซึ้งในมิตรภาพที่โข่งมีให้กับเจ้าเขากางและมองข้ามความสำคัญของเนื้อเจ้าเขากางที่จะช่วยต่อชีวิตในยามลำบากไปหมดสิ้น อีกทั้งยังช่วยกันขุดหลุมเพื่อนำร่างของเจ้าเขากางฝังตามความตั้งใจของโข่งอีกด้วย

 

            ท่ามกลางหมู่บ้านของโข่งที่เต็มไปด้วยปัญหาต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความแห้งแล้ง การแพทย์ที่เข้าไม่ถึง หรือแม้กระทั่งการศึกษาที่ไม่เจริญเท่าในเมือง แต่ความรู้สึกของโข่งรวมถึงตัวละครอื่น ๆ ในเรื่องกลับไม่เคยแสดงความรังเกียจหมู่บ้านของตนให้เห็นเลย ตรงกันข้ามพวกเขากลับใช้ชีวิตในที่แห่งนี้ อย่างมีความสุขโดยเลือกที่จะมองข้ามความไม่สมบูรณ์บางอย่างของหมู่บ้านไปและยังมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน จึงทำให้ทุกคนรักและผูกพันหมู่บ้านของตนเป็นอย่างมาก ซึ่งสะท้อนภาพชีวิตของมนุษย์ในโลกความเป็นจริงตรงที่ว่าต่อให้สังคมของมนุษย์เต็มไปด้วยปัญหาต่าง ๆ มากมายเท่าใด แต่สิ่งที่ยึดเหนี่ยวไม่ให้มนุษย์ทิ้งห่างสังคมออกไปก็คือความรัก ความผูกพัน และมิตรภาพที่มนุษย์มีให้แก่กันนั่นเอง

 

            ทุ่งหญ้า ป่าข้าว เจ้าเขากาง และผม เป็นเรื่องเล่าที่ผู้เขียนไม่ได้ต้องการสร้างภาพชวนฝันความจนหรือความขาดแคลน (Romanticizing the Poverty) ว่าเป็นเรื่องที่ดีงาม แต่ผู้เขียนเพียงต้องการบอกเล่าจิตใจ อันงดงามของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความรัก ความผูกพัน และมิตรภาพที่แบ่งปันให้แก่กันระหว่างเพื่อนมนุษย์ สัตว์ และท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่นวนิยายสะท้อนสังคมไทยในอดีตอย่างเรื่องนี้ต้องการให้เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน เพื่อไว้ใช้เป็นเครื่องเยียวยาจิตใจและสร้างกำลังใจให้เข้มแข็งต่อกันเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่โหดร้ายมากขึ้นทุกที

 

 

 

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

Visitors: 81,121