ระดับอุดมศึกษา 3
บทวิจารณ์
- แผนขจัดความโง่ของประชาชน: ในโลกยุคใหม่ที่ถูกเชื่อมต่อ โดย :: สุณิสา กรุดกราน - อนุสาวรีย์ : หลักฐานการระลึกถึงตัวตนที่ไร้ตัวตน และสังคมที่ปราศจากเสรีภาพ โดย :: ธมลวรรณ จิ้มลิ้มเลิศ - คุณค่า บทบาทและพลังความเป็นหญิงใน สิงโตนอกคอก โดย :: เบญจรัตน์ กวีนันทชัย - หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา: ภาพทรงจำที่ไม่เคยจาง... โดย :: ชฎาพร พละศักดิ์ - พระจันทร์วันอาทิตย์ : ภาพแทนของกระแสทุนนิยมในสังคมร่วมสมัย โดย :: ภัชรีย์ญา อ่วมอิ่มพืช - ในกับดักและกลางวงล้อม : กลไกการป้องกันทางจิตของตัวละครเมื่อก้าวสู่กับดักและวงล้อมของชีวิต โดย :: ธีรวุฒิ ศรีสุภโยค - เริ่มต้น(มรดก)บนความผิดพลาด:ภาพสะท้อนทางศีลธรรมที่ตกผลึกจากเรื่องราวในอดีต โดย :: ประกายเพชร - วันเกิดของเค้าโมง : สัมพันธภาพตัวละครที่ไม่สมบูรณ์แบบ ไร้ตัวตน และไม่รู้จักโต โดย :: วาสิตา สีตา - อีกไม่นานเราจะสูญหาย : วิปลาส - วิปริต – วิกฤติทุนนิยม โดย :: กิตติพิชญ์ เชาวน์ไวย - ทุ่งหญ้า ป่าข้าว เจ้าเขากางและผม : มนุษย์กับธรรมชาติและมิตรภาพที่ไม่(ควร)ไร้เผ่าพันธุ์ โดย :: กนกวรรณ จันทร์เพชร์
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
แผนขจัดความโง่ของประชาชน: ในโลกยุคใหม่ที่ถูกเชื่อมต่อ
สุณิสา กรุดกราน
แผนขจัดความโง่ของประชาชน เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นจำนวน 10 เรื่องของ ไพฑูรย์ ธัญญา เป็นนามปากกาของ รองศาสตราจารย์ ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ เป็นนักเขียนเรื่องสั้นและบทกวีที่มีชื่อเสียงในแวดวงวรรณกรรมไทย ได้สร้างสรรค์ผลงานเขียนด้านวรรณกรรมไว้มากมาย จนได้เป็นนักเขียนรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2530 ในผลงานชุดรวมเรื่องสั้น "ก่อกองทราย" นอกจากนี้ยังเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2559 ซึ่งผลงานเขียนส่วนใหญ่จะเป็นงานเขียนที่นำเสนอชีวิตผู้คนในยุคร่วมสมัยและสะท้อนสังคมได้เป็นอย่างดี
เนื้อหาในหนังสือรวมเรื่องสั้นจำนวน 10 เรื่อง แผนขจัดความโง่ของประชาชน เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโลกในยุคที่เป็นสังคมเมืองกับไม่เป็นสังคมเมืองของคนยุคเก่ากับคนยุคใหม่ และระบบติดต่อสื่อสารของคนในยุคสมัยใหม่ที่สามารถติดต่อเชื่อมโยงกันได้ทุกหนทุกแห่งของมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ต่างแดนคนละซีกโลก หรือแม้แต่คนที่อยู่ท่ามกลางหุบเขา ก็สามารถเชื่อมต่อกันได้ทั้งสิ้น ซึ่งต่างก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบันในยุคที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประวันของผู้คนโดยส่วนใหญ่ แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นผลดีกับผู้คนเหล่านั้นในสังคม แต่กลับกลายเป็นปัญหาของคนในยุคปัจจุบันมากกว่า แผนขจัดความโง่ของประชาชนเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่สะท้อนสังคมให้เห็นอิทธิพลของเครื่องมือติดต่อสื่อสารในโลกออนไลน์ยุคปัจจุบันได้อย่างชัดเจนที่ผู้เขียนได้นำเสนอออกมาได้อย่างแยบคาย
ในเรื่องสั้น เธอไม่ถูกเชื่อมต่อ เป็นเรื่องราวของตัวละครผู้หญิงที่มีต่อสังคมเมือง เธอเข้าไปสัมภาษณ์งานในเมือง แต่ไปสายเพราะเธอขึ้นรถไฟฟ้าและเกิดเหตุการณ์บางอย่างระหว่างเธออยู่ที่นั่น ขณะที่เธออยู่ในรถไฟฟ้า ก็ถูกคุมคามจากชายคนหนึ่ง เธอพยามยามร้องขอความช่วยเหลือแต่ไม่มีผู้ใดสนใจเธอเลย เพราะทุกคนต่างก้มหน้าอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์ของตนเอง ดังที่กล่าวว่า“พวกเขาแต่ละคนล้วนเชื่อมต่อกับคนนั้นคนนี้ ไม่มีใครไม่ถูกเชื่อมต่อ ยกเว้นก็แต่เธอ” (หน้า 34) สะท้อนให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นของคนในสังคม ทุกคนต่างก็ติดต่อสื่อสารกับผู้คนในโลกออนไลน์ จนไม่ได้สนใจโลกแห่งความเป็นจริงหรือผู้คนที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวละครในเรื่องนี้ ล้วนเคยเกิดขึ้นกับผู้คนมาแล้วนับไม่ถ้วน ในเรื่องนี้คิดว่าผู้เขียนสามารถเขียนออกมาตีแผ่สะท้อนสังคมไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
ในยุคสังคมดิจิทัลที่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีอิทธิพลกับคนในสังคม ทุกคนสามารถติดต่อสื่อสารกันอย่างง่ายดายโดยไร้พรมแดน ทำให้คนได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น แม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกลกันก็ตาม ดังเรื่องสั้น ถ้าสัญญาณดีจะโทร.หา ตัวละครฝ่ายชายเป็นคนกรุงเทพฯ ที่เดินทางมาอยู่ต่างจังหวัดหลายปี แล้วจู่ ๆ เกิดหลงรักตัวละครฝ่ายหญิงที่มีเจ้าของแล้ว ทำให้ทั้งสองพยายามติดต่อเชื่อมความสัมพันธ์กันผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ในยุคสมัยที่ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างง่ายดายเช่นนี้ ก็ไม่อาจเป็นผลดีมากนัก จะเห็นได้ว่าตัวละครฝ่ายหญิงซึ่งมีสามีอยู่แล้ว แต่ตนก็ยังติดต่อเชื่อมความสัมพันธ์กับชายอื่นอยู่ ซึ่งในโลกดิจิทัลสามารถทำให้มนุษย์เราประพฤติผิดศีลธรรมกันได้โดยง่าย อย่างตัวละครฝ่ายชายเองก็เกิดความขัดแย้งเข้ามาภายในจิตใจของตนเองกับความสัมพันธ์ของฝ่ายหญิงด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นว่าโทรศัพท์มือถือกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องมีกัน เหมือนเป็นอวัยวะส่วนที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งไปแล้ว ดังที่กล่าวว่า “เอ็งเก็บไว้เถอะ นี่มันเครื่องมือวิเศษสำหรับคนยุคนี้” (หน้า 42 ) และ “จากวันนั้นมา มันก็กลายเป็นของสำคัญสำหรับเขาอีกชิ้นหนึ่ง นอกเหนือจากมีดเหน็บคมกริบ ถุงย่ามใส่ข้าวของจิปาถะ ตั้งแต่ขวดน้ำดื่ม หมวกไหมพรม ไปจนถึงหนังสติ๊ก…” (หน้า 43) ไม่เพียงแต่คนสังคมเมืองเท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับโทรศัพท์มือถือ แต่ยังส่งผลมีอิทธิพลกับคนที่ไม่อยู่ในสังคมเมืองอีกเช่นกัน เหมือนกับว่าเป็นสิ่งของจำเป็นที่ขาดไม่ได้ของคนในยุคนี้ ในเรื่องนี้ทำให้เห็นว่าผู้เขียนสามารถเขียนสะท้อนสังคมไทยในปัจจุบันได้อย่างเด่นชัดที่สุด
ในเรื่องสั้น ระหว่างฝนตก ก็มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับเรื่อง ถ้าสัญญาณดีจะโทร.หา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของหญิงชายคู่หนึ่งที่พูดคุยกันผ่านช่องทางออนไลน์ ตัวละครฝ่ายหญิงเล่าเรื่องราวระหว่างที่เธอติดฝนกับมอเตอร์ไซค์รับจ้างให้ตัวละครฝ่ายชายฟัง ขณะที่ทั้งสองได้พูดคุยกันเป็นเวลานานนั้น พบว่าตัวละครฝ่ายหญิงกลับมีเจ้าของอยู่แล้ว แต่เธอกลับมาพูดคุยกับชายผู้อื่นได้อย่างสนิทใจ ดังข้อความว่า “หนูออกไปหาอะไรข้างนอกทานก่อนน้า แฟนมารับ” (หน้า 68) ผู้เขียนทำให้เห็นว่าในยุคที่ทุกคนสามารถพูดคุยกันผ่านการเชื่อมต่อทางโลกออนไลน์ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
ขณะเดียวกันผู้เขียนยังสะท้อนให้เห็นสังคมของคนยุคเก่ากับคนยุคใหม่อีกด้วย ในเรื่องสั้น ลับหาย ไลน์ชรา ชี้ให้เห็นการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ เมื่อแอปพลิเคชันไลน์ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อผู้สูงอายุมากขึ้น คือมีหลายคนตั้งคำถามไว้มากมายว่าทำไมคนวัยชราถึงชอบส่งสวัสดีประจำวันรูปดอกไม้พร้อมคำอวยพรสวยหรู หรือคำให้กำลังใจ ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะส่งไปเป็นคำทักทายของทุก ๆ เช้าให้กับผู้ที่เป็นสมาชิกในไลน์ของตน ในเนื้อเรื่องผู้เขียนกล่าวไว้ว่า การกระทำเช่นนี้ทำให้คนยุคใหม่มองว่าเป็นการคุกคามอย่างหนึ่ง ดังที่กล่าวว่า “…สำหรับชายหนุ่ม การส่งข้อความสวัสดีประจำวันมาในไลน์ ถือเป็นภาวะคุกคามอย่างหนึ่งของผู้คนในยุครูดเลื่อน…” (หน้า 76)ซึ่งทำให้อิทธิพลของสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา แต่ก็ยังเกิดช่องว่างระหว่างคนยุคเก่าและคนยุคใหม่ที่ความเป็นสังคมเมือง ยังไม่สามารถทำให้พวกเขาเหล่านั้นเชื่อมต่อเข้าหากันได้
อีกทั้ง ไพฑูรย์ ธัญญา ยังใช้คำว่า ‘ยุครูดเลื่อน’ เป็นการชี้ให้เห็นความเป็นไปของสังคมในยุคปัจจุบันอีกด้วย เมื่อเทคโนโลยีได้คืบคลานเข้ามาในวงจรชีวิตของทุกคนในสังคม ไม่เว้นแม้แต่คนวัยชราก็ตามที่จะจดจ่ออยู่กับหน้าจอสี่เหลี่ยมของสมาร์ทโฟนอย่างเพลิดเพลิน คำว่า ‘รูดเลื่อน’ คืออากัปกิริยาลักษณะของการใช้โทรศัพท์มือถือ ทั้งรูดและเลื่อนไปมาบนหน้าจอ ซึ่งผู้เขียนได้ถ่ายทอดคำนี้ออกมาได้อย่างเหมาะสม และเห็นภาพสมจริงมากที่สุด
แม้แต่ในเรื่องสั้น ฉุยฉายดิจิทัล ที่เป็นเรื่องสั้นซ้อนเรื่องสั้นอีกทีหนึ่ง ก็ยังเป็นการสะท้อนสังคมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของคนยุคเก่าหรือคนในวัยเกษียณเช่นกัน เพราะเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ทำให้คนที่อยู่ไกลกันหรือไม่ได้เจอกันมานานหลายปี ก็สามารถเชื่อมต่อพูดคุยกันผ่านสื่อโซเชียลต่าง ๆ ทำให้ความรู้สึกเหมือนได้อยู่ใกล้ชิดกัน อย่างเช่นคนในวัยเกษียณที่ไม่ได้ทำงานแล้ว อาจเกิดความรู้สึกที่เงียบเหงา แต่เพราะสื่อโซเชียลต่าง ๆ นี้เอง ที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นได้กลับมาพูดคุยกับเพื่อนเก่า ๆ ได้อย่างง่ายดาย อย่างเช่นเรื่องนี้ ตัวละครที่เป็นคนวัยเกษียณก็ได้สร้างกลุ่มไลน์เอาไว้พูดคุยกับเพื่อนทั้งในสมัยเรียน สมัยทำงาน หรือแม้แต่เพื่อนในสมัยเรียนอนุบาล ก็สามารถทำให้พวกเขาโคจรมาเจอกันได้
ในส่วนของเรื่องสั้น บางอย่างอยู่ข้างใน เป็นเรื่องราวความขัดแย้งความคิดระหว่างคนยุคเก่ากับคนยุคใหม่ในสังคมเมือง คุณยายสว่างตัวละครที่มีความคิดของคนยุคเก่า ที่มองว่าหลานชายของตนเองถูกผีเข้า ดังที่กล่าวว่า “ไอ้หนูมันนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ แกไม่แน่ใจนักว่าเขาเรียกจอสี่เหลี่ยมที่คล้ายจอทีวีอย่างนี้หรือไม่ จะเรียกอะไรก็ช่างเถอะ แต่คุณยายสว่างรู้สึกว่าเหมือนมันมีปากขนาดใหญ่กลืนไอ้หนูของแกหายเข้าไปในนั้น แกได้ยินเสียงเหมือนมันกำลังนั่งดูทีวี แต่มือสองข้างของมันนั่นสิ ขยับไปมาอยู่บนแท่งพลาสติกสีดำ ๆ พลางออกท่าทาง โยกซ้ายโยกขวา บางทีก็ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ หรือไม่ก็พูดอะไรพึมพำ บ้างก็สบถ บ้างก็อุทานเหมือนไม่เป็นตัวของตัวเอง” (หน้า 112) ซึ่งทำให้เห็นว่าความคิดของคนในยุคเก่านั้นมองว่าการที่เด็กเอาแต่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน มันเป็นเรื่องที่ไม่ปกติของคนในยุคเขา การที่คุณยายสว่างบอกว่าหลานชายถูกผีเข้านั้น การถูกผีเข้าที่คุณยายกล่าวถึงนั้น อาจจะหมายถึงเทคโนโลยีที่ได้เข้าไปสิงอยู่ในชีวิตประจำวันของเด็ก ที่ทำให้ติดและถูกครอบงำ โดยไม่เป็นอันทำอะไรเลย ซึ่งคนในยุคใหม่อาจมองว่าพฤติกรรมเช่นนี้เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนอะไร
จากเรื่องสั้น บางอย่างอยู่ข้างใน เป็นเรื่องสั้นที่สะท้อนสังคมไทยในปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด เพราะเด็กในทุกวันนี้ ต่างก็ติดสื่อสังคมออนไลน์ และโทรศัพท์กันอย่างมาก เหมือนดังชื่อเรื่องสั้นในเรื่องนี้ มีบางอย่างอยู่ข้างใน สิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อให้เห็น น่าจะเป็นเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันที่ได้เข้าไปสิงสถิตอยู่ในชีวิตของทุกคน ทำให้ติดผนึกอยู่กับสิ่งนั้นอย่างโงหัวไม่ขึ้นก็มี เพราะเหมือนกับว่าข้างในนั้นมันมีบางสิ่งบางอย่างอยู่ในนั้นนั่นเอง
นอกจากนี้ สื่อออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อผู้คนเป็นอย่างมาก เป็นสังคมก้มหน้ากันแทบจะทุกคน รวมถึงได้ใช้พื้นที่สื่อเหล่านั้น ในการแสดงความคิดต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องการเมืองอีกด้วย เพราะเป็นพื้นที่ของบุคคล ไม่ว่าใครก็สามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองออกมาได้ทั้งนั้น อย่างในเรื่องสั้น ผมยังไม่ได้นอนสักงีบ โดยผู้เขียนในเนื้อเรื่องมีผู้ใช้เฟซบุ๊คว่า‘ใครก็ตามกรู ไม่ปลื้ม’ และ ‘สอศอจอ’ ที่แสดงความคิดเห็นและก่นด่าการทำงานของรัฐบาลได้อย่างถึงพริกถึงขิง อย่างเช่น ประเด็นการซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ โดย ‘ใครก็ตามกรู ไม่ปลื้ม’ โพสต์ด่าว่า “แมร่ง ก่อนที่พวกมรึงจะไปวางมัดจำทำไมไม่มานั่งแถลงข่าวกันก่อน มาบอกตอนนี้มันจะเกิดมรรคผลอันใด” (หน้า 157) ซึ่งจากเรื่องสั้นเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งสะท้อนสังคมในยุคปัจจุบันเป็นอย่างดี เพราะคนในยุคปัจจุบันต่างก็แสดงความคิดเห็นเช่นนี้ในสื่อออนไลน์กันมากขึ้นทุกวัน
ความโดดเด่นของหนังสือเรื่องสั้น“แผนขจัดความโง่ของประชาชน” เป็นเรื่องสั้นที่มีกลวิธีการเล่าเรื่องแบบเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า ผู้เขียนเป็นผู้ดำเนินเรื่องเอง และเป็นผู้สังเกตการณ์บ้าง จึงได้นำมาเล่าในมุมมองของผู้เขียนเอง ในส่วนของรูปแบบและท่วงทำนองที่สื่อง่าย ใช้ภาษาเรียบรื่น แต่ไม่ขาดความลึกซึ้ง ประกอบกับเนื้อหาที่มุ่งสะท้อนปัญหาสังคม ซึ่งผู้เขียนทำออกมาได้ดี โดยนำเอาเรื่องที่ปรากฏอยู่ในสังคมปัจจุบันมานำเสนอให้เห็นความแตกต่างของคนยุคเก่ากับคนยุคใหม่ที่โลกออนไลน์ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตของคนในสังคม แต่สำหรับบางคนสื่อต่าง ๆ เหล่านี้ ก็ยังไม่ถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน จนบางครั้งอาจก่อให้เกิดการแปลกแยกได้
หนังสือรวมเรื่องสั้น แผนขจัดความโง่ของประชาชน นับว่าเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ควรค่าแก่การอ่าน เพราะทำให้เห็นภาพสะท้อนความเป็นไปของสังคมไทยยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เมื่อเราได้อ่านแล้วทำให้ตระหนักและฉุกคิดได้ในหลายเรื่องราว อีกทั้งการนำเสนอเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง ผู้เขียนถ่ายทอดออกมาได้อย่างสมจริง ทำให้ผู้อ่านเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของตัวละครได้เป็นอย่างดี และเด่นชัดที่สุดในเรื่องของสะท้อนภาพสังคมในยุคปัจจุบัน เสมือนว่าผู้อ่านกำลังส่องกระจกและมองเห็นภาพสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยผ่านตัวหนังสือ จะเห็นได้ว่าหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้มีคุณค่าทั้งด้านเนื้อหา ด้านสังคม และด้านวรรณศิลป์จึงเป็นเรื่องสั้นที่ควรค่าแก่การอ่านเป็นอย่างยิ่ง
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
อนุสาวรีย์ : หลักฐานการระลึกถึงตัวตนที่ไร้ตัวตน และสังคมที่ปราศจากเสรีภาพ
ธมลวรรณ จิ้มลิ้มเลิศ
“เรื่องเล่าเรื่องหนึ่งในอาคารทึมเทาไร้การตกแต่ง” คือนิยามจำกัดความบนปกหนังสือเรื่อง อนุสาวรีย์ วรรณกรรมไทยจากนักเขียนซีไรต์อย่าง วิภาส ศรีทอง แม้เรื่องนี้จะแนะนำตัวด้วยการเป็นเรื่องเล่าในอาคารที่ไร้การตกแต่งแลดูน่าเบื่อ แต่ก็เป็นหนึ่งในรายชื่อ Long List รางวัลซีไรต์ ประเภทนวนิยาย ปี 2561จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าหนังสือเล่มนี้ของ วิภาส ศรีทอง ก็น่าสนใจไม่แพ้หนังสือเล่มอื่น ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณ และจุดประสงค์แรงกล้าที่ซุกซ่อนอยู่ในเรื่อง
ปกติเราจะเข้าใจคำว่า อนุสาวรีย์ ที่หมายถึงสิ่งที่สร้างไว้เป็นที่ระลึกถึงแต่ในเรื่องอนุสาวรีย์นี้จะเป็นอนุสาวรีย์ในฐานะที่เป็นหมุดหมายของชาวคอมมูนการก่อสร้างอนุสาวรีย์เกิดขึ้นจริง ๆ ในขณะที่เรื่องกำลังดำเนินอยู่ โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างที่คลุมเครือเสียจนไม่กล้ายืนยันว่าอะไรเป็นเหตุให้พวกเขาตัดสินใจสร้างมันขึ้นมา
อนุสาวรีย์เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับคอมมูนในสถาบันแห่งหนึ่ง (ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าคือที่ไหน) โดยมีวรพล หนึ่งในสมาชิกเก่าแก่ของคอมมูนเล่าเรื่อง ซึ่งวรพลเป็นตัวละครที่เรียบเรื่อยไร้สีสันพอๆ กับสถานที่ที่อยู่สังคมถูกจัดระเบียบไปทุกมิติ ควบคุมดูแลถึงชีวิตความเป็นอยู่ส่วนตัว แต่ละคนมีหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายโดยไม่มีสิทธิ์เลือก ไม่มีสิทธิ์ในตัวเองไปจนถึงเสื้อผ้าที่ใส่ จนกระทั่งตัวแปรสำคัญอย่างกมล หรือนายโย่งเข้ามาสู่คอมมูนนั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญให้เรื่องนี้ดูมีอะไรให้คนอ่านได้ตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศของเรื่องที่ดำเนินไปอย่างไม่เร่งรีบ
จากมุมมองของฉันในฐานะคนอ่านต่ออนุสาวรีย์ จากเรื่องเล่าเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ตัวละครคิด ทำ หรือพูดล้วนประกอบให้เกิดภาพอนุสาวรีย์ที่สร้างมาจากตัวตนและสังคม ทั้งนี้ การก่อสร้างที่เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปสัมพันธ์กับสิ่งที่ฉันได้จากการอ่าน ดังนั้นบทวิจารณ์ชิ้นนี้จะเป็นอนุสาวรีย์ที่ฉันมองเห็น และจะก่อสร้างไปตามลำดับอย่างที่ชาวคอมมูนสร้างอนุสาวรีย์ของตัวเอง
ฐานของภาพอนุสาวรีย์ที่ได้จากการอ่าน สร้างจากการที่ฉันสงสัยในสิ่งที่เกิดขึ้นพอ ๆ กับที่คนในคอมมูนสงสัยในตัวของกมล การเข้ามาของเพื่อนร่วมห้องคนใหม่ก็ทำให้เราได้สังเกตเห็นสิ่งที่ผิดปกติ และตั้งคำถามกับคำพูดของเขาที่โพล่งถามวรพลว่า “มาอยู่ที่แบบนี้ได้อย่างไร ? ใครพามา? เกิดอะไรขึ้นเล่า? เรามาอยู่กับคนที่ตายไปแล้วหรือ?” (หน้า 18) ราวกับกมลกำลังจะบอกคนอ่านว่าการมาอยู่ที่นี่ของเขามีใครเป็นเหตุและมีสาเหตุที่ทำให้ต้องมาอยู่ที่นี่ กมลมองว่า วรพล (และอาจจะรวมถึงคนอื่น ๆ ในคอมมูน) คือคนที่ตายไปแล้ว ทำให้นึกไปถึงคำว่า อาคารทึมเทาไร้การตกแต่ง ซึ่งอาจหมายถึงร่างกายเปลือยเปล่าไร้สีสันและจิตวิญญาณที่จะสามารถบ่งบอกถึงตัวตนอย่างนั้นหรือ? คำอธิบายอาคารอาจหมายถึงคนที่อยู่ในคอมมูนซึ่งสูญสิ้นองค์ประกอบเล็ก ๆ ที่ทำให้มีชีวิตชีวาอย่าง ความสงสัย ความต้องการ และความรู้สึก ด้วยเหตุนี้เองกมลจึงมองว่าคนในคอมมูนนี้ไม่ต่างจากคนตาย
ส่วนกมลผู้เคยเปี่ยมไปด้วยองค์ประกอบที่คนในคอมมูนขาดหายไป เมื่ออยู่ในคอมมูนไปซักพักก็เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนจากย่อหน้าหนึ่ง ความว่า ‘...เขารู้สึกราวกับถูกรีดให้กลวงแห้ง ปวดแปลบในอก ที่น่ากลัวคือทุกอย่างที่เห็นดูเรียบง่ายเป็นธรรมชาติเหลือเกิน ใบหน้าของชายที่อยู่ตรงหน้าเขาก็แสนธรรมดา ดูซื่ออย่างเจืออัธยาศัยด้วยซ้ำ การที่ไม่มีอะไรลี้ลับเหมือนจะยิ่งยืนยันตัวมันเองหนักแน่นขึ้นทุกที กมลสูดลมหายใจลึก ขืนตัวเอง เขารู้ว่า ทางรอดของสภาพสิ้นหวังนี้ต้องค้นหาจากภายในตัวเขาเอง เขาต้องขืนต้าน ต้องไม่คล้อยตามการบงการของมัน’ (หน้า 18-19) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่จะกลืนเอาความเป็นตัวตนก็คือสังคมคอมมูนที่จำกัดเสรีภาพของสมาชิก แม้กระทั่งการรับรู้วันเวลา พวกเขารับรู้ได้แค่ว่าถึงเวลากินก็ต้องกิน เวลาทำงานก็ต้องทำ ในขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ในคอมมูนไม่นึกสงสัย และยอมจำนนต่อสิ่งที่กดทับนี้ แต่กมลพยายามตะโกนถามเวลากับที่นี่ เขาใช้การตะโกนถามเวลาเพื่อย้ำกับตัวเอง เพื่อเตือนสติตัวเองว่าเขายังสามารถต่อต้านการบงการของฝ่ายปกครองได้กมลคิดว่า มันช่วยดึงตัวเขาออกจากสภาพปัจจุบัน เป็นการกระทำที่สร้างอารมณ์ชำระล้าง เขาคิดว่าตนลั่นร้องถามเวลาด้วยความสุจริตใจเป็นที่สุดแล้ว เขาเชื่ออย่างนั้นจริง ๆ และพยายามยึดเหนี่ยวมันไว้เพื่อปกป้องสำนึกดังกล่าวของตน มันยับยั้งไม่ให้จิตใจดิ่งลงสู่ความสิ้นหวัง (หน้า 39)
ถัดจากฐาน อนุสาวรีย์ก็ประกอบร่างด้วยตัวตนจนสามารถตั้งขึ้นได้แต่ตัวตนเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะกลวงเปล่าสำหรับคนที่อยู่ในคอมมูนมาเป็นเวลาหนึ่ง พวกเขาแทบจะไม่ทราบถึงความต้องการ หรือความรู้สึกของตัวเอง ชีวิตหมุนผ่านไปวันต่อวันเหมือนการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ ไม่มีอะไรเด่นออกจากกิจวัตรประจำวัน ไม่คิดหรือสงสัยเกี่ยวกับอดีตที่ผ่านมาหรือชีวิตข้างนอก ไม่ร้องขออนาคตที่ตนต้องการ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวตนของทุกคนในคอมมูน องค์ประกอบพื้นฐานที่ทำให้รู้สึกถึงมีชีวิตและตัวตนถูกกลืนหายไปด้วยสภาพสังคมที่อยู่ทุกๆ วัน การมีตัวตนในแง่ของจิตวิญญาณจึงเบาบางเสียจนแทบจะเป็นแบบแผนเดียวกันทั้งคอมมูน
สิ่งที่เกิดขึ้นและมีอยู่ภายในสถาบันก็เป็นสิ่งที่ถูกทำให้เชื่อ สภาพความเป็นอยู่ ลักษณะสังคมที่ดูเป็นปกติ ล้วนถูกทำให้เชื่อด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ซึ่งผู้คนในคอมมูนอาจลืมไปเสียแล้วว่ามันเริ่มต้นได้อย่างไร อย่างความตอนหนึ่งที่รองหัวหน้าตึกเปรียบเปรยถึงโลกในตู้ปลาขึ้นมาว่า “ปลาพวกนี้มันอยู่มานาน โดยคิดว่ามันมีอิสระเต็มที่และเห็นอะไรทุกอย่าง ทั้งที่ต้นไม้ สาหร่ายในตู้ ทำจากพลาสติก ปะการังก็เทียม ไม่มีอะไรจริงเลยสักระเบียด มีแต่ก้อนหินเท่านั้นแหล่ะที่เป็นของจริง” (หน้า 45) สมาชิกในคอมมูนเปรียบเสมือนปลาในตู้ที่หลงคิดว่าสิ่งที่ตนได้รับนั้นเป็นของจริง ทั้งที่ในความเป็นจริงทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุม ตัวเลือกที่ได้รับก็มาจากการที่ผู้ปกครองอนุญาตให้เราได้เลือกทุกสิ่งล้วนเป็นสิ่งที่หยิบยื่นให้เพื่อให้พวกเราเชื่อในสิ่งที่ผู้ปกครองต้องการให้เชื่อว่านี่คือชีวิตที่เป็นไปอย่างปกติทั้งที่ไม่มีสิ่งใดเคลื่อนไหว ไม่มีสิ่งใดมีชีวิตจริง ๆ“ทั้งหมดนี้คือความนิ่งงันที่สร้างภาพลวงตาของการเคลื่อนไหว” (หน้า 32)
นอกจากนี้ การถูกโอบล้อมด้วยสังคมแวดล้อมไม่ได้ส่งผลแค่ทำให้พวกเขาเชื่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเท่านั้น แต่ทำให้พวกเขามองเห็นตัวตนของตัวเองในแบบที่ผู้ปกครองต้องการให้เชื่อแบบนั้น เช่นวรพลเห็นแค่ว่าความสุขสูงสุดในแต่ละวันของตนอยู่ที่การได้กินถั่วแดงต้มเป็นของหวานซึ่งลักษณะพฤติกรรมนี้อาจอธิบายได้ว่าเกิดจากการคล้อยตามกระบวนการในสังคม และความอ่อนแอของตัวตน ทำให้เมื่อมีอุดมการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ก็จะเป็นอุดมการณ์ที่เปราะบางและเลื่อนลอย ถึงแม้จะถูกขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายร่วมกันของคนจำนวนมากก็ตาม เพราะอุดมการณ์ที่นำไปสู่เป้าหมายนั้น เริ่มจากการฟังต่อ ๆ กันมา แล้วกระจายเป็นวงกว้างโดยที่ไม่ได้เข้าใจอะไรเกี่ยวกับสารที่ได้รับมาเลย เมื่อเป้าหมายสำเร็จก็ว่างเปล่า เตรียมหาที่ยึดเกาะใหม่ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะต่างจากอุดมการณ์เดิมหรือไม่ก็ตาม เพียงแค่ให้ได้รับความรู้สึกเป็นอิสระต่อการควบคุมของผู้ปกครอง
สุดท้ายอนุสาวรีย์ก็สร้างมาจนถึงส่วนยอด อนุสาวรีย์ที่ถูกสร้างด้วยความเชื่อของทุกคนในคอมมูนการตัดสินใจสร้างอนุสาวรีย์นี้อาจเป็นความปราถนาอันมีผลจากเจตจำนงเสรี[1] (Free will) ที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวของสมาชิก นั่นเป็นครั้งแรกที่สมาชิกในคอมมูนตัดสินใจร่วมกันเองว่าจะสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา แม้จะเป็นการสร้างอย่างไร้สาเหตุและจุดประสงค์ที่ชัดเจนก็ตามสมาชิกในคอมมูนต่างถูกดึงเข้าไปในห้วงภวังค์ที่ไม่มีใครอยากถอนตัวออกมา พวกเขารู้สึกมึนเมาและวิงเวียนในอิสระเสรี ใจเต้นรัวด้วยความปรีดาปราบปลื้ม ต่างถูกปลุกเร้าจนลืมตัวเอง ฉับพลันฝูงชนโถมตัวไปข้างหนแล้วแผดตะโกนอย่างยืนกราน พอพวกเขาส่งเสียงพร้อมเพรียงกึกก้อง มันก็มีชีวิตจิตใจ มีลมหายใจ และทุกคนต้องฟัง (หน้า 74) นั่นคือความเชื่อต่ออนุสาวรีย์ของพวกเขาแม้จะเริ่มจากการที่แต่ละคนมีความรู้สึกที่แปลกไปจากเดิมเหนือไปจากการควบคุมและยากต่อการหาคำตอบแต่การตัดสินใจสร้างก็ไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าการสะกิดสิ่งที่มีอยู่ในตัวให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเท่านั้น
การก่อสร้างอนุสาวรีย์จากความไม่มีอะไรเป็นภาพสะท้อนจากการที่สมาชิกคอมมูนถูกจำกัดการรับรู้ให้ไม่เห็นอะไรไกลเกินกว่ากำแพง หรือนอกเขตสถาบัน พวกเขาขาดจุดเปรียบเทียบ ทำให้มองเห็นว่าการสร้างสิ่งก่อสร้างจากความไม่มีอะไรนี้ว่าสำคัญที่สุด และเปี่ยมไปด้วยความหมายที่พวกเขาไม่เข้าใจ แต่พวกเขายินดีร่วมลงแรงลงใจไปกับการก่อสร้างอนุสาวรีย์ จนสามารถละเลยและยอมรับการกระทำที่แปลกไปของผู้ปกครอง ดังความตอนหนึ่งว่า การอนุมัติโครงการสร้างอนุสาวรีย์ ดูเผิน ๆ เหมือนเป็นการประนีประนอมผ่อนปรนของทางสถาบันพิเศษ หากในความเป็นจริง ฝ่ายบริหารกลับถือโอกาสนี้เพิ่มความเข้มงวดของกฎระเบียบในจุดอื่น กระชับอำนาจอย่างเงียบเชียบและเด็ดขาด ปรับเงื่อนไขหลายประการ อาทิ ยกเลิกกิจกรรมที่ช่วยพวกเขาผ่อนคลาย ... ขณะที่มีสมาชิกถูกส่งตัวไปยังหอบำบัดมากขึ้นอย่างผิดสังเกต แต่เพราะความสนใจของทุกคนเบี่ยงเบนไป การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จึงถูกมองข้ามและแทบไม่มีใครพูดถึง (หน้า 77)หรือสุดท้ายแล้วการปล่อยให้สมาชิกคอมมูนสร้างอนุสาวรีย์นั้นแท้จริงแล้วอาจเป็นโครงการพิเศษโครงการใหม่ที่เคยเป็นที่สนใจของคนในคอมมูน เพียงแค่แจกจ่ายงานในวิธีที่แตกต่างออกไป พอให้สมาชิกได้รู้สึกว่าเป็นนี่คือสิ่งที่ตนเองเลือกที่จะทำด้วยตัวเอง ทั้งที่หากผู้ปกครองไม่ยอมให้การก่อสร้างนี้เกินขึ้นก็จะไม่สามารถมีอนุสาวรีย์นี้ขึ้นมาได้เลย
ผู้ปกครองเพียงแค่หยิบยื่นเศษเสี้ยวเสรีภาพอันน้อยนิดให้กับผู้ที่ไม่เคยได้รับมัน สร้างความรู้สึกได้รับการยอมรับ เหลียวแลและเมตตาในใจของผู้รับ ทำให้ชิ้นส่วนเล็กน้อยชิ้นนี้ทำหน้าที่ในการควบคุมและปกครองได้อย่างสมบูรณ์ โดยอาศัย Soft Power[2] อย่างโอวาท เพลง และสุนทรพจน์เข้ามาชักจูง ให้คนภายใต้ปกครองซึบซับและคล้อยตามในที่สุด และยิ่งให้ความสำคัญว่าผู้ถูกปกครองนั้นเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง นั่นยิ่งทำให้ผู้ถูกปกครองไม่รู้สึกว่าตนกำลังถูกควบคุม เพียงแต่มีอุดมการณ์ร่วมกัน เห็นด้วยกับสิ่งที่อีกฝ่ายนำเสนอ จึงเต็มใจจำนนต่อความต้องการของผู้ปกครองในที่สุด เหมือนกับที่ยอดของอนุสาวรีย์ที่ชาวคอมมูนไม่มีสิทธิ์ได้เห็น หรือมีส่วนร่วมอีกต่อไป เพราะพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้รู้ชาวคอมมูนซึ่งถูกกันไม่ให้มีส่วนร่วมถอยกลับสู่ค่ำคืนของการคิดคำนึงมองไปยังทิศที่ตั้งของลานด้านอเนกประสงค์ด้วยความแคลงใจเริ่มตระหนักถึงความว่างเปล่าอันหนักอึ้งของอนาคต (หน้า 130)อนาคตที่เกิดหลังจากการก่อสร้างสิ้นสุดและ ‘ดุษณีภาพ’ ที่ผู้อำนวยการมอบให้แพร่กระจายไปทั่วบริเวณคอมมูนทำให้พวกเขากลับมายังจุดเดิมที่ใต้การปกครองอย่างไม่ทันตั้งตัว
สุดท้ายสิ่งที่อนุสาวรีย์พยายามบอกกับคนอ่านอาจไม่ใช่จุดประสงค์การสร้างแต่คือการที่อุดมการณ์อันกลวงเปล่านั้นพร้อมจะพังทลายเสมออุดมการณ์ที่ขาดความหนักแน่นและแก่นสารคืออนุสาวรีย์ของชาวคอมมูนอนุสาวรีย์ที่รากฐานเต็มไปด้วยความสงสัยที่ถูกกดทับแกนกลางสร้างจากตัวตนที่คลุมเคลือของสมาชิกฉาบรอบด้วยสังคมที่เป็นอยู่สิ่งประกอบสร้างโงนเงนนี้ช่างไม่แข็งแรงแม้ว่าจะเป็นสายลมที่พัดมาก็อาจสามารถเปลี่ยนรูปร่างของยอดอนุสาวรีย์ได้พวกเขาต่างสร้างอนุสาวรีย์ที่ไม่เสร็จสมบูรณ์ทั้งทางความคิดที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงและในทางความเป็นจริงที่ถูกฉกฉวยเอาอนุสาวรีย์ไปก่อนที่จะได้รู้ว่าสุดท้ายอนุสาวรีย์ของพวกเขามีหน้าตาแบบไหน
****************************
วิภาส ศรีทอง. (2561). อนุสาวรีย์ = The Monument. กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์สมมติ.
[1]คือ เจตจำนงที่ไม่ถูกกำหนดด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งในการตัดสินใจเลือกกระทำหรือไม่เลือกกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
[2]แนวคิดที่พัฒนาโดยศาสตราจารย์ Joseph Nye แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คือการใช้จุดเด่นนั้นชักจูงและดึงดูดความสนใจให้ผู้คนคล้อยตาม ปราศจากการบังคับขมขู่ว่าต้องชอบหรือต้องทำตาม จนสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมผู้คนได้
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
คุณค่า บทบาทและพลังความเป็นหญิงใน สิงโตนอกคอก
เบญจรัตน์ กวีนันทชัย
สิงโตนอกคอก เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นของ จิดานันท์ เหลือเพียรสมุท ที่ได้รวมเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลทั้งหมด 9 เรื่องที่ได้มีการสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคม การดำเนินชีวิต มีการสอดแทรกหลักปรัชญาและสื่อความหมายแฝงทางการเมือง ซึ่งในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องมีตัวละครหญิงที่ได้แสดงบุคลิกลักษณะที่แตกต่างและชัดเจนบ้าง ไม่ชัดเจนบ้าง แต่ล้วนมีบทบาหน้าที่ที่สำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินเรื่องราวทั้งหมดในเนื้อเรื่อง ในบทวิจารณ์นี้ผู้ศึกษาจึงมุ่งศึกษาคุณค่า บทบาท และพลังของความเป็นหญิงที่สะท้อนให้เห็นผ่านรวมเรื่องสั้นเรื่องนี้ โดยใช้ทฤษฎีสตรีนิยมเป็นแนวคิดในการศึกษา ซึ่งเป็นทฤษฎีที่มุ่งจุดสนใจไปที่ตัวละครหญิงและบทบาทหน้าที่ในสังคมของพวกเขาที่ถ่ายทอดผ่านวรรณกรรม โดยแบ่งออกได้เป็นประเด็นดังนี้
คุณค่าของ “เจ้าหญิง” ในนิทานชีวิตจริงที่เขียนโดย “เจ้าชาย”
จากเรื่อง อดัมกับลิลิธ ทำให้เห็นถึงการตัดสินคุณค่าของความเป็นหญิงในมุมมองของผู้ชายภายใต้กรอบความคิดที่กำหนดโดยสังคมแบบปิตาธิปไตย (patriarchal society) หรือสังคมชายเป็นใหญ่ ตั้งแต่การหยิบยกเรื่องเล่าของอดัมกับอีฟ และลิลิธ ผู้ถูกเนรเทศจากส่วนเอเดน มาใช้เป็นความเปรียบกับตัวละครทั้งเรื่อง ก็ทำให้เห็นว่าในความคิดของผู้ชายในระบบสังคมสังคมชายเป็นใหญ่นั้น พวกเขาเห็นคุณค่าพึงพอใจที่จะเลือกผู้หญิงที่ใสซื่อและอ่อนแอกว่ามาเป็นคู่ครองมากกว่าผู้หญิงที่เข้มแข็งและเป็นตัวของตัวเอง เพราะกลัวว่าตนจะสูญเสียอำนาจในความสัมพันธ์และถูกผู้หญิงควบคุม ดังที่ เวร่า ตัวละครในหญิงในเรื่องได้กล่าวว่า
“เพียงเพราะเธอเป็นตัวของตัวเอง เพียงเพราะเธอรู้ว่าเธออยากจะทำอะไร ดังนั้นเธอจึงแข็งแกร่งเกินไป...และไม่มีค่า......ไม่มีค่าในฐานะเจ้าหญิงของเจ้าชาย”
(สิงโตนอกคอก,จิดานันท์ เหลือเพียรสมุท,2560:118)
ด้วยความคิดเช่นนี้ ทำให้ผู้หญิงถูกตัดสินคุณค่าจาก “การเลือก” ของผู้ชาย จนตัวผู้หญิงเองก็ตัดสินคุณค่าของตัวเองผ่านบทบาทในความสัมพันธ์กับผู้ชาย ซึ่งเห็นได้จากในเรื่องคือการแบ่งผู้หญิงในโลกเป็นสองสายคือ ลูกของอีฟและลูกของลิลิธ ที่แท้จริงแล้วเป็นการแบ่งประเภทของผู้หญิงจากมุมมองของผู้ชาย แต่ตัวผู้หญิงเองกลับเป็นคนกล่าว แสดงให้เห็นว่าระบบสังคมปิตาธิปไตยมิได้มีผลต่อความคิดและค่านิยมในการเลือกคู่ครองของผู้ชายเท่านั้น แต่ยังได้วางกรอบให้กับความคิดของผู้หญิงในการตัดสินคุณค่าของตัวเอง
แรงดึงดูดทางเพศ: ความงามที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือและอาวุธ
ด้วยข้อแตกต่างทางด้านสรีระ ผู้หญิงในฐานะที่มีความแข็งแรงทางกายภาพน้อยกว่าผู้ชาย จึงต้องรู้จักใช้ “เครื่องมือและอาวุธ” ในการต่อสู้และต่อรองเพื่อได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการ ซึ่ง “เครื่องมือและอาวุธ” ที่สำคัญของผู้หญิงนั้นก็คือ แรงดึงดูดทางเพศที่มีต่อเพศตรงข้าม
จากเรื่องสั้นเรื่อง ซินเดอร์เรลล่าแห่งเมืองหุ่นยนต์ พี่สาวของพิภพ ตัวละครเอกของเรื่องเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ “เครื่องมือและอาวุธ” นี้ในการลอบฆ่ารัฐมนตรีได้สำเร็จ เพราะในเมื่อแรงดึงดูดทางเพศเป็น “อาวุธ” ของผู้หญิงแล้ว ในขณะเดียวกันก็เป็น “จุดอ่อน” ของผู้ชายที่ทำให้ชีวิตตกในอันตรายได้เสมอ ดังที่กล่าวถึงรัฐมนตรีในเรื่องว่า
“ใครๆก็รู้ว่ามันชอบผู้หญิงสวยๆ ผู้หญิงคนไหนที่มันอยากได้ มันต้องได้ทุกคน”
(สิงโตนอกคอก,จิดานันท์ เหลือเพียรสมุท,2560:142)
จากคำพูดของตัวละครในเรื่องดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่า ผู้ชายมักลุ่มหลงในแรงดึงดูดทางเพศของผู้หญิงเสมอ จนอาจลืมคิดว่า “โฉมงาม” นั้นจะทำให้ตนตกอยู่ในอันตรายได้ และสิ่งนี้ก็ได้เอื้ออำนวยให้ผู้หญิงไม่ว่าชนชาติใดในยุคสมัยใดก็มักใช้ “อาวุธ” นี้ทำภารกิจของตนได้สำเร็จ
และนอกจากพี่สาวของตัวละครเอกในเรื่องที่ใช้ “อาวุธ” นี้โดยมีเป้าหมายดังกล่าวแล้ว ในเรื่องนี้ยังได้กล่าวถึงเหล่าเด็กสาวในครอบครัวชนชั้นต่ำที่ใช้ร่างกายของตนเป็น “เครื่องมือ” ในการแลกมาซึ่งฐานะและความเป็นอยู่ที่ดีของตนและครอบครัว ดังในเนื้อเรื่อง
“ใครๆ ก็รู้ว่าท่านรัฐมนตรีชอบผู้หญิงสวยๆและมักจะเลือกลูกสาวชาวบ้านที่หน้าตาต้องใจให้ขึ้นห้องด้วยเสมอ เด็กสาวๆเหล่านั้นแม้จะขยะแขยงท่าน แต่ก็ยอมเพราะของกำนัลที่ท่านมอบให้จะทำให้ตนและพ่อแม่สุขสบายไปได้อีกหลายเดือน...”
(สิงโตนอกคอก,จิดานันท์ เหลือเพียรสมุท,2560:147)
จากข้อความในเนื้อเรื่องเป็นการแสดงให้เห็นว่า การกระทำเช่นนี้เป็นการใช้แรงดึงดูดทางเพศในการต่อรองเพื่อได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการเช่นเดียวกัน และด้วยจุดมุ่งหมายเช่นนี้ ความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างเด็กสาวกับรัฐมนตรีจึงเป็นไปในเชิง “การทำข้อตกลงกัน” อย่างหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายหญิงได้ผลประโยชน์ใช้แรงดึงดูดทางเพศเป็นสื่อกลาง
แต่ในขณะเดียวกัน การที่ต้องใช้แรงดึงดูดทางเพศเป็น “เครื่องมือและอาวุธ” ก็ถือว่าเป็นชะตากรรมที่น่าเศร้าของผู้หญิง เพราะแท้จริงแล้วแรงดึงดูดทางเพศควรที่จะนำไปสู่ความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกและการมีชีวิตครอบครัวอย่างมีความสุข และนั่นก็เป็นสิ่งที่ผู้หญิงมักปรารถนาอยู่เสมอ แต่ในความเป็นจริงนั้นผู้หญิงจำนวนมากกลับไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากจะใช้ความงามและร่างกายนี้เป็น “เครื่องมือและอาวุธ”
ผู้หญิง: ตัวแปรสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของผู้ชายอันนำสู่ “การเปลี่ยนแปลง”
ในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ ถึงแม้ตัวละครชายจะเป็นผู้ที่ตัดสินใจและพร้อมลงมือที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในปัจจุบันในเรื่องเสมอ แต่ตัวละครหญิงเป็นพลังและตัวแปรสำคัญอันขาดไม่ได้ในการขับเคลื่อนและนำพาการดำเนินเรื่องไปสู่จุดพลิกผัน
ในเรื่อง กุหลาบย้อมสี การได้พบและตกหลุมรักกับหญิงสาวจากเผ่านอกรีตนั้น เป็นตัวแปรสำคัญในการชักนำการตั้งคำถามต่อพระเจ้าของ “เซท” ตัวละครเอกของเรื่องให้กลายเป็นการไปอยู่ในฝ่ายตรงข้ามกับ “พระเจ้า” ในที่สุด และแม่ของเขาก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ เซท ตัดสินใจที่จะกลับมายังเมืองเดิมที่ตนอยู่ซึ่งมีอุดมการณ์ตรงข้ามกัน ทั้งยังเป็นผู้ช่วยยืนยันตัวลูกชายก่อนการแขวนคอแม้มีสิทธิ์ที่จะปล่อยลูกของตน ซึ่งได้นำ เซท มาสู่จุดจบของชีวิตในที่สุด
ในเรื่อง รถไฟเที่ยงคืน ถึงแม้ผู้ที่ชักชวนโดยตรงให้ “อนันดา” ตัวละครเอกของเรื่องให้ขึ้นสู่รถไฟไปด้วยกันคือ สิทธา แต่ตัวแปรแท้จริงที่ทำให้อนันดาได้ตัดสินใจไปสู่เส้นทางรถไฟแห่งความหลุดพ้นนั้น คือ นิทรา สมาชิกหญิงในครอบครัวของ อนันดา ที่จากลาและกลับมาอีกครั้งใน “วนเวียน” อันไร้สิ้นสุด
ในเรื่อง สิงโตนอกคอก ความกล้าหาญที่จะลุกขึ้นต่อสู้ของเด็กหญิง “แซนดี้” ที่เป็นคนตาขาวผู้มีฐานะทางสังคมด้อยต่ำกว่าคนตาดำ เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ เทรย์ ที่เคยทำร้ายกลั่นแกล้งคนตาขาวรู้จักเคารพสิทธิของผู้ที่แตกต่างอย่างเท่าเทียมและเลือกปกป้องกลุ่มคนที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้อยกว่าในที่สุด
และในเรื่อง อดัมกับลิลิธ “ความเป็นเจ้าหญิง” ของ “นาเดีย” สาววัยใสที่คอยแสวงหาความรักและการปกป้องดูแลของชายอันเป็นที่รัก ก็ได้สร้าง “ความเป็นเจ้าชาย” ให้เกิดขึ้นกับ มิช่า ตัวละครเอกในการเลือกตนเป็นคู่ครอง ในขณะเดียวกัน “ความเป็นลูกของลิลิธ” ของ “เวร่า” ผู้หญิงเข้มแข็งและเป็นตัวของตัวเองก็ได้ปลุก “ความเป็นลูกของอดัม ” ขึ้นมาในตัวของ มิช่าให้ตัดสินใจทิ้งผู้หญิงที่ตนรักแล้วเลือกผู้หญิงที่อ่อนแอกว่าและต้องการตนมากกว่า
กล่าวโดยรวมแล้ว รวมเรื่องสั้นเรื่อง สิงโตนอกคอก ได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่า บทบาทและพลังของความเป็นหญิงในสังคมชีวิตจริงโดยผ่านตัวละครหญิงในเรื่อง ที่เป็นตัวแปรสำคัญที่อยู่เบื้องหลังในขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งในระดับปัจเจกบุคคลจนถึงสังคม ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงมาจนถึงปัจจุบันที่คนในสังคมทุกเพศจำเป็นจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งเหล่านี้เพื่อให้สังคมมีความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้นในอนาคต
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา: ภาพทรงจำที่ไม่เคยจาง...
ชฎาพร พละศักดิ์
“หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา” นวนิยายแนวอัตชีวประวัติ คล้ายบันทึกความทรงจำเรื่องราวความรักที่งดงามของสองนักเขียน ผลงานของ อุรุดา โควินท์ ตีพิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน พ.ศ. 2560 โดยสำนักพิมพ์มติชน ผลงานที่มีมาแล้วเป็นจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นรวมเรื่องสั้น รวมคอลัมน์ นวนิยาย รางวัลที่ได้รับยังเป็นเครื่องการันตีความสามารถ โดยหนังสือเล่มนี้จะทำให้ผู้อ่านได้เรียนรู้บทเรียนไม่มากก็น้อยจากภาพทรงจำที่ไม่เคยจางของเธอ
“ฉันพร้อมแล้ว ฉันจะเผชิญหน้ากับเรื่องเล่า และสายฝนนั้นอีกครั้ง”(อุรุดา โควินท์, 2560, หน้า 15) จากคำโปรยก่อนที่ผู้เขียนจะพาผู้อ่านย้อนกลับไปในอดีต เพื่อกล่าวถึงเรื่องราวความรักโรแมนติกอันแสนหวานราวกับ “หยดน้ำหวาน” และเล่าถึงเรื่องราวการสูญเสียคนรัก สายฝนที่พรากเขาไปจากเธอ ทุกครั้งที่หวนกลับมานึกถึงสายฝนนั้น แน่นอนว่าตัวเธอคงเต็มไปด้วย “หยาดน้ำตา” ของการคิดถึงคนรักที่จากไปชื่อเรื่อง “หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา” จึงหมายถึงความทรงจำอันงดงามที่เต็มไปด้วยความรักอันแสนหวานในอดีตกับคนรัก ที่แฝงไปด้วยความขื่นขมภายในใจ เนื่องจากเขาที่เป็นคนรักของเธอได้จากไปแล้ว การเล่นคำโดยการใช้ถ้อยคำที่มีความหมายคนละขั้วร่วมกันของชื่อเรื่องนับว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย
เรื่องราวที่เต็มไปด้วยความทรงจำของ อุรุดา โควินท์ ที่มีต่อคนรักอย่าง กนกพงศ์ สงสมพันธุ์เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นความรัก เริ่มด้วยการที่เธอลาออกจากการเป็นพนักงานธนาคารผันตัวมาเป็นนักเขียน จนได้มารู้จักกับเขาระหว่างการเดินทางไปงานชุมนุมวรรณกรรม ทั้งสองตกหลุมรักและตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน การใช้ชีวิตคู่รักที่ดูแสนจะโรแมนติกและเร่าร้อนของทั้งสองเหมือนราบรื่นดี แต่ก็มีอุปสรรคหลาย ๆ อย่างเป็นเหมือนบททดสอบที่ทั้งเขาและเธอต้องฟันฝ่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน ผู้หญิง วิถีชีวิตที่ไม่คุ้นเคยความกดดันในการสร้างงานเขียนที่มีคุณภาพ เป็นต้น มีหลายอย่างที่เธอต้องปรับตัวแต่ด้วยความเชื่อใจกันการให้กำลังใจกันเสมอทำให้ทั้งสองผ่านปัญหาต่าง ๆ ไปได้ทั้งเขาและเธอในฐานะนักเขียนต่างมีเป้าหมาย คือ สร้างงานเขียนที่มีคุณภาพออกมา เขาที่กดดันตัวเองจนไม่สามารถสร้างงานชิ้นใหม่ แต่มีเธอคอยให้กำลังใจ เธอที่พึ่งเริ่มต้นเขียนยังต้องพัฒนาก็มีเขาที่คอยแนะนำ สะท้อนกลับในฐานะผู้อ่าน ต่างคนต่างคอยสนับสนุน จนทั้งคู่มีงานเขียนที่มีคุณภาพออกมาดั่งที่ใจหวัง แม้สุดท้ายเขาและเธอจะไม่ได้อยู่ด้วยกันจนถึงบั้นปลายชีวิตในแบบที่ควรเป็น เขาตายจากเธอไปแล้ว แต่เธอยังคงต้องเดินหน้าใช้ชีวิตต่อไป
เค้าโครงเรื่องมีที่มาจากเรื่องจริงของนักเขียนอุรุดา และคนรัก “กนกพงศ์” ซึ่งการใช้ตัวละครที่มีอยู่จริงช่วยเพิ่มความสมจริงให้กับนวนิยายได้เป็นอย่างดีคล้ายว่าผู้อ่านกำลังอ่านบันทึกความทรงจำของผู้เขียนอยู่ แต่ความสมจริงข้อนี้ก็นับว่าการสร้างหลุมพรางให้กับผู้อ่านด้วยเช่นกันในบางขณะผู้อ่านก็อดคิดไม่ได้ว่าเรื่องที่กล่าวอยู่นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงผู้เขียนใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแบบกระแสสำนึก กล่าวคือ กระแสสำนึก (Stream of consciousness) เป็นกลวิธีเล่าเรื่องหรือบรรยายเรื่องโดยเป็นมุมมองของสำนึกของตัวละครนั้นๆ คล้ายบทรำพึง ไหลไปเรื่อยๆ เหมือนสายธาร (จึงเรียกว่า stream -ธาร) ทำให้เรารู้สึกเหมือนเข้ามานั่งในหัวของตัวละคร (วินทร์ เลียววาริณ, 2556) จะเห็นได้ว่าภายในเรื่องเป็นการเล่าความรู้สึกนึกคิดของตัวละครอุรุดาผ่านมุมมองของเธอที่มีต่อ“พี่” คนรักของเธอภาพจำ ความประทับใจต่าง ๆ ในแบบที่เธอมองเห็น โดยเล่าเรื่องกลับไปกลับมาระหว่างชีวิตปัจจุบันที่คนรักตายจากไปแล้ว กับช่วงชีวิตในอดีตที่เธอกับคนรักเคยมีร่วมกันในการเล่าเรื่องผู้เขียนใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 “ฉัน” เสียงผู้เล่าจึงเป็นของตัวละครอุรุดา ซึ่งการเลือกผู้เล่าที่เป็นตัวละครหลักเช่นนี้ ทำให้ผู้อ่านรู้จักและเข้าใจตัวละครมากขึ้น เห็นถึงความรู้สึกนึกคิดที่แท้จริงของตัวละคร ทราบว่าตัวละครทุกข์ระทมเพียงใดกับการจากไปของคนรัก ในหลายบรรทัดที่พูดถึงคนรัก สามารถสัมผัสได้ถึงน้ำเสียงอาลัยและคิดถึง ดังข้อความ “ฉันเกลียดความคิดถึงซึ่งไม่สามารถจัดการกับน้ำตา กับใจที่หวิวไหวเจียนขาด กับมือสั่นเทา กับความหนาวเหน็บเข้ากระดูก ทั้งหมดจะมลายไปหากพี่กอด แต่อ้อมกอดของพี่อยู่ไหน ยิ่งต้องการ อ้อมแขนยิ่งลอยห่าง” (อุรุดา โควินท์,2560, หน้า 140) ด้วยภาษาพูด ที่เป็นถ้อยคำเรียบง่าย สามารถเข้าใจได้ทันที และยังทำให้เกิดจินตภาพไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง ผู้อ่านสามารถเห็นภาพตามชัดเจน ดังข้อความ “ฉันขดตัวเป็นกุ้ง โดยมีอ้อมแขนของพี่กำบัง แนบแก้มกับแผงอก ฟังเสียงหัวใจ...” (อุรุดา โควินท์, 2560, หน้า 49) “ขมของมะระขี้นกทำให้ความในปากหายไป” (อุรุดา โควินท์, 2560, หน้า 398) “เสื้อยืดแขนสั้นรัดรูปสีดำมันเก่าคร่ำ กลิ่นเหม็นอับเตะจมูก” (อุรุดา โควินท์, 2560, หน้า 58)“ครืดครืด คราดคราด เสียงเลื่อยกินเนื้อไม้” (อุรุดา โควินท์, 2560, หน้า 130) อีกทั้งการใช้ภาษาถิ่นใต้ก็ช่วยเพิ่มความสมจริงให้กับเรื่องด้วยเช่นกัน ดังข้อความ “กินข้าวมาแล้วม้าย” (อุรุดา โควินท์, 2560, หน้า 52)
ความน่าสนใจของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่ตัวละคร อุรุดา โควินท์ ตัวหลักที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่อง ผู้อ่านจะได้เรียนรู้เรื่องราวความรักปนความเศร้าในความทรงจำของเธอเห็นถึงมุมมองที่มีต่อคนรัก ว่าเธอรักเขามากเพียงใด ดังข้อความ “เหนือกว่าทุกสิ่ง ฉันเทิดทูนจิตใจเสรีของพี่ หลงใหลในความดิบเถื่อนในตัวพี่ ทึ่งอารมณ์ขันและพลังชีวิตของพี่” (อุรุดา โควินท์, 2560, หน้า 71) ความหวังดีที่เธอมีต่อเขามากล้นจนผู้อ่านสามารถสัมผัสได้ ดังข้อความ “พี่รู้อะไรมั้ย ฉันไม่อนุญาตให้พี่ร่วงลงมาจากความเป็นนักเขียนแน่ ตราบเท่าที่ฉันยังอยู่ในบ้านหลังนี้” (อุรุดา โควินท์, 2560, หน้า 125) นับว่าเธอเป็นตัวละครที่มีหลายลักษณะ ผู้เขียนสร้างเธอให้อยู่บนพื้นฐานของความจริงได้เป็นอย่างดี ที่มีทั้งอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง ดีใจ เสียใจ เหมือนคนทั่ว ๆ ในชีวิตจริงพฤติกรรมการแสดงออกมีความสมเหตุสมผล ได้แก่ การยอมรับความสูญเสียคนรัก ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีของคูเบลอร์รอสส์ (Kubler-Ross) เรื่อง ‘ปฏิกิริยาความโศกเศร้าอันเกิดจากการสูญเสีย’ พบว่าการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักนั้นประกอบด้วย 5 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ปฏิเสธ ไม่ยอมรับ, ระยะที่ 2 โกรธและแสดงการต่อต้านสิ่งที่เกิดขึ้น, ระยะที่ 3 ต่อรอง พยายามหาสิ่งต่างๆ มาช่วยเปลี่ยนแปลง เนื่องจากยังไม่สามารถทำใจยอมรับได้, ระยะที่ 4 ซึมเศร้า แสดงออกถึงความเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และระยะที่ 5 สงบและยอมรับการสูญเสียได้ (ชนาภัณฑ์ ธรรมรัฐ, 2560) จะเห็นได้ว่าตัวละครนี้มีปฏิกิริยาการแสดงออกต่อความสูญเสียครบทุกระยะไม่มากก็น้อย แต่ในท้ายที่สุดก็สามารถพาตัวเองมาอยู่ในระยะที่ 5 ได้ กล่าวคือ เธอเข้าใจ ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นว่าคนรักตายไปแล้ว ไม่สามารถเรียกร้องกลับคืนมาได้ สิ่งที่ทำได้คือการเก็บเขาไว้ในใจและเดินหน้าใช้ชีวิตต่อไป
นอกจากนี้ พฤติกรรมแสดงออกในรูปความรักของตัวละครก็สอดคล้องกับทฤษฎีสามเหลี่ยมของความรักของสเติร์นเบิร์ก (Robert Sternberg) ซึ่งอธิบายถึงธรรมชาติและรูปแบบของความรักว่าประกอบด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ 1. ความใกล้ชิด (intimacy) เป็นองค์ประกอบด้านอารมณ์ คือ มีความไว้วางใจต่อกัน 2. ความเสน่หา (passion) เป็นองค์ประกอบด้านแรงจูงใจ หรือความรู้สึกที่ถูกกระตุ้นทางสรีระ เป็นความดึงดูดทางเพศ เช่น ความพอใจในรูป กลิ่น เสียง หรือจริตกิริยาของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือเสน่ห์อื่น ๆ 3. ความผูกมัด (commitment) เป็นองค์ประกอบด้านความคิด คือ การตัดสินใจที่จะรักหรือมีพันธะทางใจหรือทางสังคมต่อกัน การใช้เวลาร่วมกันในกิจกรรมต่างๆ (สิริภรณ์ ระวังงาน, 2553) กล่าวคือ การแสดงความรักของเธอกับคนรักมีทุกองค์ประกอบตามทฤษฎีอีกทั้งเสน่ห์ของตัวละครนี้ ผู้อ่านจะได้เห็นลักษณะความเป็นผู้หญิงอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นอาการหึงหวงเมื่อคนรักอยู่ใกล้ผู้หญิงอื่น น้อยใจที่เขาไม่ให้ความสนใจอย่างที่ต้องการ คิดเล็กคิดน้อย คิดล่วงหน้ากลัวเขาจะหมดรัก ดังข้อความ “ฉันน้อยใจเมื่อพี่ไม่เห็นหัวฉัน โกรธที่พี่ไม่พูดด้วย” (อุรุดา โควินท์, 2560, หน้า 118) “แล้วฉันก็กลัวขึ้นมา กลัวพี่ติดใจคุณครูหน้าหมวยคนนั้น” (อุรุดา โควินท์, 2560, หน้า 142)
มากกว่าเรื่องความรักอันแสนหวาน โรแมนติก เร่าร้อน จากเรื่องเล่าในวันวาน คือ บทเรียนที่ได้เรียนรู้ ได้แก่ การใช้ชีวิตคู่ที่ต่างฝ่ายควรปรับเข้าหากันในลักษณะที่พอดี ไม่ใช่ปรับทั้งหมดจนไม่เหลือความเป็นตัวเอง ดังข้อความ “บทเรียนต่อไป คือมองหาจังหวะชีวิตของพี่แล้วปรับเปลี่ยนจังหวะตัวเองให้สอดคล้อง ไม่วิ่งเข้าชน ไม่ขวางทาง ขณะเดียวกันอย่าอ่อนข้อ” (อุรุดา โควินท์, 2560, หน้า 79) ข้อความที่ชวนให้กำลังใจและแง่คิดในการใช้ชีวิต ดังข้อความ“ถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลง ชีวิตจะหาหนทางของมันเอง” (อุรุดา โควินท์, 2560, หน้า 173) เพราะในท้ายที่สุด ชีวิตคนเรามักจะมีทางออกอยู่เสมอ เพียงแต่จะมองเห็นทางออกนั้นหรือเปล่า “ได้ปลดเป้บ้างคือรางวัลของคนเดินป่า แค่วางลงก็เบา-เป็นความจริงแท้ แต่กับบางเรื่อง เราแบกเพื่อรับผิดชอบ เราหนักหนาอย่างเปี่ยมสุข” (อุรุดา โควินท์, 2560, หน้า 239) จากข้อความข้างต้น จะเห็นว่าบางเรื่องที่หนักหนา คนเราสามารถเลือกปล่อยวางได้ แต่คนเราก็เต็มใจแบกรับไว้เพราะให้ความสุขแก่เรา
นอกจากนี้ สิ่งที่แฝงในความทรงจำที่ไม่เคยจางหาย รักที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ การพรัดพรากจากคนรัก สิ่งเหล่าสะท้อนให้เห็นถึงสัจธรรมชีวิต ดังคำกล่าวที่ว่า “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป” เกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตมนุษย์ที่ไม่สามารถหลีกหนีได้ ผู้เขียนต้องการสื่อให้เห็นว่าชีวิตคนนั้นไม่เที่ยงแท้ ไม่มีความแน่นอน คนเราจะมีชีวิตอยู่ด้วยกันอีกนานแค่ไหน อยู่ถึงวันนี้ พรุ่งนี้ ไม่มีใครรู้ คนรักที่เห็นหน้ากันอยู่ทุกวัน อาจจากเราไปได้ทุกเมื่อหากถึงเวลา และเวลาที่พูดถึงนี้ก็ไม่มีคำตอบให้อีกเช่นกันว่าคือเมื่อใด หลายชีวิตจากไปโดยที่ยังไม่ถึงเวลาอันสมควร ดังจะเห็นได้จากตัวละครในเรื่อง เขาจากโลกไปด้วยอายุ 40 ปีเท่านั้นความตายไม่เคยบอกกล่าวล่วงหน้า แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่คนอยู่ทำได้คือการยอมรับและอยู่กับความจริงให้ได้ในภาพทรงจำของใครหลาย ๆ คนชีวิตมนุษย์ย่อมมีสุขมีทุกข์ปะปนกันไป ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะอยู่กับเรานาน ไม่ว่าจะเสียใจเพียงใดชีวิตก็ต้องเดินหน้าต่อเห็นได้ว่า แม้ตัวละครอุรุดาเศร้าเสียใจกับการจากลาคนรัก ผู้ซึ่งเป็นแรงผลักดันสู่การเป็นนักเขียนของเธอเพียงใด เธอก็ยอมรับความจริงและใช้ชีวิตต่อยังคงเขียนหนังสือ ทำในสิ่งที่เธอรักต่อไปแม้มันจะทำให้นึกถึงใครบางคน เธออาจรู้สึกเศร้า แต่อย่างน้อยมันช่วยปลอบเธอได้เนื่องจากงานเขียนจะช่วยให้เธอเข้าใจชีวิต ดังข้อความ “วรรณกรรมทำให้เราเข้าใจมนุษย์และชีวิตมากขึ้น” (อุรุดา โควินท์, 2560, หน้า 197) ทั้งนี้ ผู้อ่านจะได้ตระหนักถึงความสำคัญของคนรอบข้างมากขึ้น เห็นถึงข้อความจริงที่ว่าไม่มีใครจะอยู่กับเราได้ตลอด ควรใช้ชีวิตที่มีอยู่ด้วยกันในแต่ละวันให้คุ้มค่าอย่างไม่คิดเสียดาย
เมื่อพิจารณา “หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา” พบว่าหลายองค์ประกอบสอดคล้องกันอย่างกลมกลืน ชื่อเรื่องที่สื่อถึงเรื่องราวภายใน เนื้อหาเหมาะสำหรับผู้ที่ชอบเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตคู่ แม้จะจบด้วยการที่ด้วยการที่ทั้งสองต้องจากกัน แต่ก็ทำให้ได้ข้อคิดดี ๆ การใช้คำที่เรียบง่าย สื่ออย่างตรงไปตรงมา ผู้อ่านสามารถรับรู้ได้ถึงความรู้สึกของตัวละครที่มีต่อคนรักทั้งการอ้างอิงถึงบุคคลในแวดวงวรรณกรรมที่มีชีวิตจริงการใช้บทสนทนาที่มีภาษาถิ่นร่วม ช่วยเพิ่มความสมจริงได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความเป็นผู้หญิงอย่างตรงไปตรงมา นับว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของนวนิยายเรื่องนี้นอกจากจะได้รับความเพลิดเพลินจากเรื่องราวความรักที่โรแมนติก ผู้อ่านยังได้รับบทเรียนแง่คิดดี ๆ และแนวทางการปรับตัวที่สำหรับความเศร้า จึงนับว่าเป็นนวนิยายเรื่องหนึ่งที่ผู้อ่านไม่ควรพลาดเลยทีเดียว
รายการอ้างอิง
ชนาภัณฑ์ ธรรมรัฐ. (2560). เมื่อคนที่รักมาจากไป จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร? วิธีรับมือกับความโศกเศร้าจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก.สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2564.
จาก https://1th.me/C1BiT
วินทร์ เลียววาริณ. (2556).แนวกระแสสำนึก. สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2564.
สิริภรณ์ ระวังงาน.(2553). ทฤษฎีสามเหลี่ยมของความรัก. สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2564.
จาก https://1th.me/w1nSY
อุรุดา โควินท์. (2560). หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา. กรุงเทพฯ : มติชน.
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
พระจันทร์วันอาทิตย์ : ภาพแทนของกระแสทุนนิยมในสังคมร่วมสมัย
ภัชรีย์ญา อ่วมอิ่มพืช
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการก้าวกระโดดของเศรษฐกิจในแบบทุนนิยม เป็นเหตุให้ผู้คนในสังคมต่างให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก ดังนั้นต่างคนจึงต่างกอบโกยผลประโยชน์สูงสุดเพื่อตนเอง ขณะเดียวกันก็อาจจะมีคนบางกลุ่มที่เคยตกเป็นทาสของทุนนิยม แต่พวกเขาตระหนักและปรับเปลี่ยนระบบคิดจากการยึดผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งมาเป็นสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมและพยายามปลูกฝังแนวคิดเหล่านี้ไปสู่คนรอบข้าง นวนิยายเรื่อง พระจันทร์วันอาทิตย์ ของ ดวงตะวัน เป็นหนึ่งในนวนิยายชุด Aging Society ที่นำสังคมผู้สูงอายุมาเล่าผ่านตัวละครหลักซึ่งอยู่ในวัยกลางคน พระจันทร์วันอาทิตย์มีความโดดเด่นที่ตัวละครคือ ชุณ ดาวเต็มฟ้า และรักษ์ ตัวละครทั้งสามมีบุคลิกภาพและแนวความคิดที่แตกต่างกัน เนื้อหาเล่าผ่านเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของชุณ เจ้าของร้านบ้านสีขาวผู้มีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและไร้แบบแผน ชุณ เป็นสามีของดาวเต็มฟ้า ผู้หญิงที่มุ่งมั่นทะเยอทะยาน จนละเลยสิ่งต่างๆโดยเฉพาะบุคคลรอบตัว และรักษ์ ชายหนุ่มนักธุรกิจผู้ใฝ่ฝันถึงแต่ชัยชนะความก้าวหน้า และสามารถทำทุกอย่างได้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
รักษ์ : อำนาจมืดของระบบทุนนิยมสู่อำนาจมืดในจิตใจ
รักษ์เป็นนักธุรกิจที่มุ่งแต่จะกอบโกยผลประโยชน์โดยไม่สนใจความถูกต้องและคุณธรรมใดๆ รักษ์โตมาในครอบครัวนักธุรกิจแต่ความคิดของเขากลับแตกต่างจากพ่อของเขามาก พ่อเป็นผู้มีคุณธรรมแต่เขาไม่เป็นเช่นนั้น และการที่เขาถูกบังคับให้เดินตามรอยพ่อกลับกลายเป็นปมความแค้นและเขาเลือกที่จะแก้แค้นบุพการีโดยทำทุกวิถีทางเพื่อบีบให้พ่อยอมปล่อยมือจากบริษัทและเพื่อทุกอย่างตกมาอยู่ในกำมือของเขา ดังข้อความ“เขาจะผลัก ปาณิก จำรัสรักษาให้กลายเป็นเพียงตำนานที่อยู่ในภาพวาดหน้าห้องประชุมเท่านั้นขณะที่คนที่โลดแล่นและมีอำนาจอย่างแท้จริงคือ รักษ์ จำรัสรักษาต่างหาก” (น. 322) นอกจากนี้รักษ์ หลงรักดาวเต็มฟ้าทั้ง ๆ ที่รู้ว่าดาวเต็มฟ้าเป็นภรรยาของชุณ เขาใช้เงินเป็นเหยื่อล่อให้ดาวเต็มฟ้าหย่าขาดจากสามี ไม่เพียงเท่านั้น รักษ์ยังสั่งให้ลูกน้องไปซื้อที่ดินร้านบ้านสีขาวของชุณเพราะเขาต้องการชัยชนะแบบ ”ขาดลอย” และเขาก็อิจฉาที่เห็นว่าชุณมีความสุขกับการเป็นเจ้าของธุรกิจเล็กๆ ผิดกับเขาที่ไม่เคยได้ขึ้นเป็นใหญ่ในบริษัทเสียที ดังข้อความ“วูบหนึ่งที่รักษ์นึกถึงเรื่องที่เขาอยากเหยียบชุณให้จมดินแท้จริงแล้วเขาอยากเหยียบความอิจฉาริษยาในตัวเองให้หมดไปต่างหาก รักษ์เชื่อว่านั่นจะทำให้เขาเป็นคนที่มีความสุข” (น.493) จากข้อความจะเห็นได้ว่ารักษ์พยายามทำลายสิ่งต่างๆ ที่พ่อสร้างมา เขาต้องการทำให้พ่อเห็นว่าบริษัทอยู่ในกำมือของเขาไม่ใช่ของพ่ออีกแล้ว เขาจึงเป็นผู้กุมอำนาจทั้งหมด รักษ์ต้องการเป็นเจ้าของที่ดินที่ตั้งของร้านบ้านสีขาวเขาจึงวางแผนให้ลูกน้องไปซื้อร้านบ้านสีขาวโดยใช้ดาวเต็มฟ้าเป็นข้ออ้างเพื่อบีบให้ชุณซึ่งเป็นสามีเก่าของดาวเต็มฟ้าปล่อยมือและสร้างกระบวนการคิดครอบงำว่าชุณไม่เหมาะกับดาวเต็มฟ้า ในขณะที่เขาจะช่วยผลักดันให้ดาวเต็มฟ้าไปสู่จุดสูงสุดในหน้าที่การงานได้ แต่ทุกอย่างล้วนเกิดจากความอิจฉาไม่ใช่ความรัก ไฟอิจฉาและความแค้นในใจของรักษ์ไม่สามารถทำให้เขาประสบความสำเร็จเขาไม่สามารถเอาชนะใคร ๆ ได้และไม่เคยรู้จักความสุขที่แท้จริงรักษ์จึงเป็นภาพแทนของผู้คนภายใต้กระแสทุนนิยมที่ลุ่มหลงยึดติดกับอำนาจ ชัยชนะและเงินตรา ดังนั้นเมื่อต้องการสิ่งใดก็ต้องได้สิ่งนั้นมาครอบครองโดยไม่สนใจความถูกต้องเพียงให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะก็สามารถทำได้ทุกอย่างไม่ว่าวิธีนั้นจะขาวสะอาดหรือดำมืดก็ตาม เพราะผลประโยชน์และอำนาจของเงินจึงนำมาสู่อำนาจมืดในจิตใจของผู้คน
ดาวเต็มฟ้า : เหยื่อของระบบทุนนิยมที่มุ่งแต่ไขว่คว้า
ดาวเต็มฟ้าเป็นผู้หญิงที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของกระแสทุนนิยม ชีวิตของเธอเต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน เธอจึงเป็นผู้หญิงที่วางแผนชีวิตในทุกย่างก้าว ดังข้อความ“สำหรับดาวเต็มฟ้าแล้วชีวิตที่ไม่มีแผนคือชีวิตที่น่ากลัว ยิ่งแก่ตัวลงเขี้ยวเล็บยิ่งไม่แหลมคมเหมือนยังหนุ่มยังสาว เรี่ยวแรงกำลังก็ถดถอย คิดช้าซ้ำไม่สดใหม่ หน้าที่การงานจะหลุดจากมือไปเป็นของเด็กรุ่นใหม่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้”(น.186) ด้วยนิสัยนี้ของเธอทำให้เธอขอเลิกกับชุณสามีที่อยู่กินกันมายี่สิบกว่าปี ด้วยเหตุผลว่ารับไม่ได้ที่ชีวิตของชุณไม่มีแบบแผนดังความตอนที่ดาวเต็มฟ้ารู้ว่าชุณลาออกจากงานประจำมาเปิดร้านบ้านสีขาว ดังข้อความ“เธอต้องการความมั่นคงและมั่นใจเช่นนี้ไม่ใช่ต้องใจหายใจคว่ำอยู่ตลอดเวลาว่าคนร่วมทางในชีวิตจะจับมือเธอวิ่งปัดเป๋ไปทางไหนยิ่งแก่ตัวลงดาวเต็มฟ้าไม่ต้องการการคาดเดาอะไรอีกแล้วมันไม่ใช่เสน่ห์อีกต่อไป” (น.39) เธอเลิกกับชุณเพื่อมาคบหากับรักษ์ ไม่นานเธอก็ได้รับตำแหน่งงานที่ใหญ่ขึ้นคือการได้ขึ้นเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารในบริษัทของรักษ์ ขณะที่ชุณเลือกเป็นพ่อค้าขายน้ำเต้าหู้กับคนแก่ นั่นหมายถึงชีวิตการทำงานของเธอประสบความสำเร็จแต่ชีวิตส่วนตัวกลับล้มเหลว ถ้าหากเธอเลือกอยู่กับชุณจะกลายเป็นว่าชีวิตของเธอคงหลุดออกจากแผนที่วางไว้ ดังข้อความ“เต็มผิดเองที่เป็นคนแบบนี้บ้างานอยากจะก้าวหน้าไปเรื่อยๆ” (น.505) ดาวเต็มฟ้าเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับหน้าที่การงานที่ดี ต้องการเป็นที่ยอมรับและต้องการประสบความสำเร็จ เธอต้องการเพียงให้ชีวิตของเธออยู่สุขสบายในบั้นปลายจึงทำให้ทุกๆ วันของเธอต้องเดินไปตามแผนตามความต้องการที่วางไว้ จนวันหนึ่งที่สามีของเธอเดินออกจากแผน ทำให้เธอรับไม่ได้จึงเกิดเป็นปัญหาครอบครัว เพียงเพราะสามีทำผิดแผนที่เธอวางไว้ แต่สุดท้ายเมื่อเธอค้นพบว่าสิ่งใดคือความสุขที่แท้จริง เธอจึงยุติความสัมพันธ์กับรักษ์และกลับมาสร้างครอบครัวกับชุณเช่นเดิม ดาวเต็มฟ้าเป็นภาพแทนของคนที่ถูกกระแสทุนนิยมกลืนกินไปจนชีวิตเกือบหมดความสุข แต่ในตอนท้ายเมื่อรู้เท่าทันกระแสจอมปลอมของระบบทุนนิยม จึงทำให้พบกับความสุขที่แท้จริงได้จะเห็นได้ว่าถึงแม้เงินจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของผู้คนภายใต้กระแสทุนนิยม แต่เงินไม่ใช่ตัวขับเคลื่อนความสุขที่แท้จริงของมนุษย์
ชุณ: เศรษฐกิจพอเพียงคือความสุขที่ยั่งยืน
ชุณ ชายหนุ่มผู้เข้าใจชีวิตและเข้าถึงความสุขที่แท้จริงของชีวิต ชีวิตของเขาเดินทางด้วยความสุข และเรียบง่าย ซึ่งสวนทางกับความคิดของดาวเต็มฟ้าซึ่งเป็นภรรยาเป็นเหตุให้ต้องเลิกรากันไปดังข้อความ“ชุณเป็นผู้ชายเรียบง่ายสบายๆ นี่คือคำนิยามในตอนที่รักกัน ตอนนี้นะหรือ ถ้าให้นิยามอีกครั้ง เธอสามารถสรรหาคำอื่นๆ มานิยามชุณได้อีกไม่น้อยเชียวละ ...เฉื่อยเนือย ปล่อยปละละเลย ไร้แผน” (น.22-23) ชุณเลือกเปิดร้านบ้านสีขาวซึ่งเป็นสมบัติชิ้นสุดท้าย เขาลาออกงานประจำของบริษัทรับออกแบบสิ่งพิมพ์เพื่อมาเปิดร้านตามความฝัน ร้านที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นเป็นกันเองไม่หวังผลกำไรจากลูกค้า เจ้าของร้านหวังเพียงความอิ่มใจที่ลูกค้าจะได้รับดังข้อความ“ถามว่าเขารักร้านบ้านสีขาวไหม คำตอบชัดเจนแน่นอนว่ารัก นี่คือธุรกิจแรกในชีวิตคนอย่างเขา คือร้านที่เขายอมทุ่มเงินทั้งหมดที่มีและเททุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่บนหน้าตักลงไป และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ แผนการชีวิตอย่างที่ดาวเต็มฟ้าถามถึงและต้องการมาตลอดระยะเวลาที่อยู่ด้วยกัน ร้านบ้านสีขาวคือแผนแรกและแผนเดียวในชีวิตของคนอย่างชุณ” (น.439-440) เขาต้องการให้ร้านบ้านสีขาวเป็นที่พักพิงให้กับกลุ่มผู้สูงวัยคนที่เดือดร้อนมีปัญหาหรือคนที่ต้องการที่นั่งพักสักครึ่งชั่วโมงก่อนที่จะไปต่อสู้กับสังคมวุ่นวายอีกครั้ง ให้ผู้คนมาพบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนปัญหาต่างๆและเขาเองก็ได้เรียนรู้การใช้ชีวิต ปัญหา ความคิดของผู้สูงอายุที่แวะเวียนเข้ามาเป็นลูกค้าในร้าน ดังข้อความ“ว่าไปแล้วนี่คือความคิดพื้นฐานที่มีอยู่ในหัวใจของชุณเลยก็ว่าได้ เขาเปิดร้านบ้านสีขาวเพื่อจะเรียนรู้ทำความรู้จักชีวิตของคนแก่แล้วเมื่อเขาและดาวเต็มฟ้าแก่ตัวลง จะได้มีชีวิตยามแก่เฒ่าอย่างมี “แผน” รู้ว่าจะต้องพบเผชิญอะไรบ้าง”(น.504) จะเห็นได้ว่าชุณไม่ได้ทำทุกอย่างเพื่อตัวเอง แต่เขาทำเพื่อสร้างความสุขให้แก่ผู้คนและค้นหาความสุขที่แท้จริงให้กับตนเอง คือชุณอยากเรียนรู้ความเป็นอยู่ของผู้สูงวัยว่าใช้ชีวิตอย่างไร เพื่อจะได้นำมาปรับใช้เมื่อตัวเองก้าวสู่วัยชรา ในความคิดของชุณเขาแค่อยากใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุขกับคนที่เขารัก ชุณจึงเป็นภาพแทนของคนในอุดมคติที่รู้จักรักตัวเอง เข้าใจคนรอบข้าง ซึ่งสวนทางกับผู้คนที่อยู่ในสังคมจริง ๆ ภายใต้กระแสทุนนิยม การที่ชุณเลือกที่จะก้าวออกมาเพื่อทำตามความฝัน เพื่อค้นหาความสุขที่แท้จริง และเผื่อแผ่ความสุขนั้นไปยังผู้อื่นการได้ใช้ชีวิตกับคนที่รัก สิ่งเหล่านี้คือล้วนเป็นความสุขที่แท้จริง ชุณจึงเป็นภาพแทนของมนุษย์ในอุดมคติที่ควรเกิดขึ้นในสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขันอย่างเช่นทุกวันนี้
ดวงตะวันสร้างตัวละครทั้งสามตัวได้อย่างเด่นชัดในบุคลิกภาพและความคิด พยายามทำให้ผู้อ่านเข้าใจและตระหนักถึงสังคมที่มีแต่การแข่งขันเอารัดเอาเปรียบกันเพียงเพื่อชัยชนะ รักษ์มีความหมายตามรูปคำว่า การรักษา เยียวยา ชื่อของรักษ์จึงน่าจะเป็นความจงใจของผู้ประพันธ์ที่ต้องการสื่อให้เห็นว่าคนที่มีความคิดแต่จะเอาชนะ ไม่รู้จักพอ และขาดคุณธรรมเป็นบุคคลที่ต้องรักษาเยียวยา ส่วนดาวเต็มฟ้าเป็นแค่คนธรรมดาที่ทำงานหาเงินเพื่อมาตอบสนองความต้องการของตัวเองแต่นั่นก็ไม่ได้จีรังยั่งยืนซึ่งคนในลักษณะนี้มีมากมายในสังคม ดังเช่นดวงดาวที่มีอยู่เต็มท้องฟ้า และชุณคือแสงที่ส่องสว่างในคืนที่มืดมน แสงสว่างที่สร้างความอบอุ่นและปลอดภัยให้กับผู้คน ในตอนจบการที่ดาวเต็มฟ้าและชุณปรับความเข้าใจกัน เมื่อดาวเต็มฟ้าเปลี่ยนทัศนคติของตนเธอจึงได้พบกับความสุขและค้นพบความหมายที่แท้จริงของชีวิต ผู้วิจารณ์มีความเห็นว่าตัวละครทั้งสามเป็นภาพแทนของมนุษย์ในสังคมปัจจุบันผู้คนที่หวังแต่ได้อย่างรักษ์ คนธรรมดาที่ต้องไขว่คว้าเอาตัวรอดอย่างดาวเต็มฟ้า และคนที่มีความสุขบนความพอเพียงอย่างชุณ“พระจันทร์วันอาทิตย์” ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เราพบเจอในทุกๆ วัน มีทั้งได้และก็เสียไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง อีกทั้ง ผู้ประพันธ์สื่อถึงปัญหาความแตกต่างระหว่างช่วงวัยของผู้สูงอายุและปัญหาอันเนื่องมาจากการแข่งขัน การดิ้นรนตามเพื่อใช้ชีวิตให้ไหลไปกับกระแสทุนนิยม โดยพยายามเสนอแนวทางการแก้ไขผ่านแก่นเรื่องคือ ความพอเพียงจะนำเข้าสู่การทำความเข้าใจซึ่งกันและกันจะช่วยลดความวุ่นวายในสังคมลงได้ จะเห็นได้ว่ากระแสทุนนิยมเป็นปัจจัยสำคัญในการหล่อหลอมความคิดของผู้คน หลายครั้งที่คนไม่เคยรู้จักกันหรือแม้แต่คนในครอบครัวอาจจะฟาดฟันกันเพียงเพื่อผลประโยชน์ กระแสทุนนิยมจึงทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นส่งผลให้คนเห็นแก่ตัว ทำทุกอย่างเพื่อตนเอง อิจฉาอยากมีอยากได้ตามคนอื่น ผู้คนหลงใหลมัวเมาในอำนาจเงินทอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงของชีวิต แต่จะเป็นการดียิ่งขึ้น หากผู้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและถอยหลังออกมาจากความวุ่นวาย วางแผนบั้นปลายชีวิตเพื่อค้นหาความสุขตามความฝันของตน บางคนอาจจะทำธุรกิจเล็กๆ บางคนกลับบ้านเกิดและใช้ชีวิตแบบพอเพียง ทั้งนี้ความก้าวหน้าและการพัฒนาของระบบทุนนิยมย่อมทำให้เกิดการขับเคลื่อนที่ดีของเศรษฐกิจ หากแต่ว่ามนุษย์ที่อยู่ในสังคมท่ามกลางกระแสดังกล่าวจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุขที่แท้จริงได้ก็เท่านั้น
ดวงตะวัน. 2563. พระจันทร์วันอาทิตย์. นนทบุรี : ดวงตะวัน
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
ในกับดักและกลางวงล้อม :
กลไกการป้องกันทางจิตของตัวละครเมื่อก้าวสู่กับดัก
และวงล้อมของชีวิต
ธีรวุฒิ ศรีสุภโยค
“ในกับดักและกลางวงล้อม” เป็นผลงานนวนิยายแนวสัจนิยมของ ประชาคม ลุนาชัย ซึ่งเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีของชาวประมงที่ต้องออกหาปลากลางท้องทะเลอย่างยากลําบาก นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจําปีพุทธศักราช 2561 และเข้ารอบสุดท้ายการประกวดวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจําปี 2561
“ในกับดักและกลางวงล้อม” เป็นเรื่องราวของการออกหาปลาของชาวประมงบนเรือ “ทองพันชั่ง 1" โดยมี “พจน์” เป็นไต๋เรือ (ผู้ทําหน้าที่ควบคุมเรือ) พร้อมด้วยลูกเรืออีกเกือบทั้งลําที่ไม่เคยประสบการณ์ทํางานบนเรือประมงมาก่อน อีกทั้งแต่ละคนต่างมีร่างกายพิการทําให้การลงอวนเป็นไปอย่างยากลําบาก และล้มเหลวหลายครั้ง กระทั่งท้ายที่สุดพวกเขาสามารถหาปลาได้จนหยุดน้ำ (สิ้นสุดงานประมง) และหลังจากได้เงินตอบแทนเหล่าลูกเรือแต่ละคนต่างแยกย้ายกันไปใช้ชีวิตตามเส้นทางของตนเอง
ประชาคม ลุนาชัย สามารถถ่ายทอดวิถีชีวิตของชาวประมงได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนและสมจริง ด้วยประสบการณ์ตรงของผู้แต่ง ซึ่งเว็บไซต์สํานักพิมพ์ประพันธ์สาส์นกล่าวถึงประวัติของ ประชาคม ลุนาชัย ความว่า เมื่ออายุ 25 ปี ได้ตัดสินใจไปเป็นลูกเรือประมงใช้ชีวิตร่อนเร่ไปตามสถานที่ต่าง ๆ ถึง 8 ปี (สํานักพิมพ์ประพันธ์สาส์น, มปป.) และในผลงานนวนิยายเรื่องนี้ ผู้แต่งสามารถแสดงให้เห็นความรู้สึกของ ชาวประมงได้อย่างแจ่มชัด จากตัวละครลูกเรือซึ่งเปี่ยมด้วย “ความหวัง” ในละแต่ละวันว่าจะมีปลาติดอวน และความทุกข์ในจิตใจที่ “ความพิการ” เป็นกับดักชีวิตให้พวกเขาต้องจากบ้านมาทํางานอย่างยากลําบากกลางท้องทะเล
นวนิยายเรื่องนี้มีลักษณะที่แตกต่างจากนวนิยายทั่วไป นั่นคือ ไม่มีตัวละครเอกหรือตัวละครรอง แต่ทุกตัวละครมีบทบาทโดดเด่นเท่าเทียมกัน ซึ่งนวนิยายนำเสนอเรื่องราวของชาวประมงจึงทําให้มีตัวละครจํานวนมากตามจํานวนของลูกเรือที่มีประมาณ 20 คน โดยปมปัญหาสําคัญที่ผู้แต่งกําหนดไว้ในเรื่องคือ ตัวละครในเรื่องต่างมีความพิการเป็นของตน เป็นสาเหตุหลักที่ทําให้พวกเขามักถูกปฏิเสธจากสังคมต้องใช้ชีวิตลําบากกว่าคนทั่วไป “นักแสวงโชคผู้ไร้จุดหมายและกําลังหิวจนตัวสั่น บ้างก็ถูกถีบออกจากโรงงานห้องแถว ย่านชานเมืองกรุงเทพ ฯ บ้างก็ทําบัตรประชาชนหาย ไม่มีที่ไหนรับเข้าทํางาน” (หน้า 21) ความพิการของ ตัวละครในเรื่องสามารถสะท้อนสังคมของคนที่อยู่ “ชายขอบของสังคม” ได้อย่างแจ่มชัด หากมองในความเป็นจริงจะพบว่าคนเหล่านี้มักถูกสังคมตัดสินตั้งแต่รูปลักษณ์ที่ไม่สมประกอบ และถูกมองว่า “เป็นอื่น” โดยไม่คํานึงถึงศักยภาพและความเท่าเทียมของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนเหล่านี้มักเป็นที่ต้องการทางธุรกิจบางอย่างเพื่อใช้เป็น “แรงงาน” ที่เสีย ค่าตอบแทนน้อยและได้ผลกําไรมาก เช่น งานกรรมกร หรือการเป็นลูกเรือประมง ดังในนวนิยายเรื่องนี้ หากพิจารณาจุดเริ่มต้นของเนื้อเรื่องจะพบว่ากลุ่มตัวละครที่พิการเป็นเป้าหมายแรกที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นชาวประมง“สามล้ออีกเครือข่ายหนึ่งในร่างแหก็จะหยุดลงทุกครั้งที่มองเห็นเด็กหนุ่มหรือชายฉกรรจ์สะพายกระเป๋าเดินท่อมๆ เลียบถนนอย่างไม่รู้จุดหมายปลายทาง" (หน้า 20) ซึ่งการเลือกที่จะก้าวเข้ามาเป็นลูกเรือที่พวกเขาไม่ทราบชะตากรรม และตลอดการใช้ชีวิตท่ามกลางท้องทะเลนั้นแสดงถึงพฤติกรรมความต้องการตัวละครที่ไม่หวั่นวิตกต่อความเสี่ยงนั้นอาจเป็นไปตามทฤษฎีทางจิตวิทยา ผู้วิจารณ์จึงนํากลไกการป้องกันตัวเอง (Defense Mechanisms) ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ มาศึกษาตัวละครเพื่อแสดงถึงสาเหตุของพฤติกรรมที่ช่วยเสริมความสมจริงให้กับตัวละครในนวนิยาย "ในกับดักและกลางวงล้อม”
กลไกการป้องกันตัวเอง (Defense Mechanisms) เป็นกระบวนการทางจิตซึ่งเกิดขึ้นในบุคคลโดยอัตโนมัติ ส่วนใหญ่นํามาใช้โดยไม่รู้ตัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการปรับตัวและแก้ปัญหาที่มีอยู่ และรักษาความสมดุลหรือความปกติของจิตใจไว้ กลไกป้องกันตนเองเป็นวิธีการของจิตใจที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมักเกิดขึ้น หรือแสดงออกทันทีโดยบุคคลไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ที่จะต้องป้องกัน หรือต่อสู้ และปรับตัวเองเพื่อให้ชีวิตอยู่รอดปลอดภัย มีความสุข เพื่อสามารถรักษาสภาพเดิมของจิตใจไว้ได้ การปรับตัวโดยการใช้กลไกป้องกันตนเองเป็นกลยุทธ์ที่บุคคลนํามาใช้เพื่อลดสภาวะทางอารมณ์ต่างๆ ที่ เกิดขึ้นด้วยการบิดเบือนปฏิเสธ และหลีกเลี่ยงสถานการณ์ต่างๆ นอกจากนี้การปรับตัวโดยการใช้กลไกป้องกันตนเองยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะยกย่องตนเอง ทําให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี และขจัดความกลัวต่างๆ ที่มารบกวนจิตใจให้หมดไป ดังนั้นเมื่อได้ใช้แล้ว บุคคลนั้นจะรู้สึกสบายใจขึ้น ถึงแม้ว่าการปรับตัวโดยการใช้กลไกป้องกันตนเองนี้จะสามารถรักษาความสมดุลของจิตใจไว้ได้ในระดับหนึ่งก็ตาม แต่ถ้านําไปใช้กับทุกเรื่องจนเคยชินเป็นนิสัยแล้ว จะส่งผลให้เป็นผลเสียต่อบุคลิกภาพของบุคคลนั้นได้ (อ้างถึงใน : พีธะกัญญ์ สุขโพธารมณ์, มปป.)
เมื่อพิจารณาตัวละคร “ในกับดักและกลางวงล้อม” พบว่ามีการปรับตัวโดยการใช้กลไกป้องกันตนเองตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ฟรอยด์ ดังต่อไปนี้
การชดเชย (Compensation)เป็นกลไกป้องกันตนเองที่บุคคลนํามาใช้เมื่อพบว่าตนเองมีข้อบกพร่องบางอย่างอยู่ในตัวและทําให้เกิดเป็นปมด้อยจึงพยายามสร้างปมเด่นมาชดเชยปมด้อย (อ้างถึงใน : พีธะกัญญ์ สุขโพธารมณ์, มปป.) ซึ่งกลไกดังกล่าวปรากฏให้เห็นผ่านพฤติกรรมส่วนใหญ่ของตัวละครในเรื่องมากที่สุดเนื่องด้วยปมด้อยที่เด่นชัดที่สุดนั่นคือ “ความพิการ” ดังในตอนที่เรย์สนทนากับพายโดยพูดโอ้อวดถึงสมรรถภาพทางเพศของตนว่า“ค่ำคืนที่เขาไปนอนค้างซอยเอสโซ่ สามารถทําสถิติได้ถึงเจ็ดรอบ" (หน้า 90) รวมทั้งตอนที่พายนําสาวคู่นอนมาอวดเพื่อน ๆ ความว่า“เห็นคนอื่นได้ควงสาวอวดเพื่อน ๆ พ่อครัวหกนิ้วไม่ยอมน้อยหน้า หลังนอนค้างด้วยกันมาตลอดทั้งคืน” (หน้า 207) เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าพายต้องการชดเชยปมด้อยของตนที่มีนิ้วกดเพื่อให้รู้สึกว่าตนนั้นมีดีเท่ากับคนอื่น ๆ ซึ่งการอวดคู่นอนของเขาไม่ได้ทําให้พายกลัวจะถูกมองว่าบ้ากามแม้แต่น้อย
การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) แบบองุ่นเปรี้ยว (Sour Grape) เป็นการอ้าง เหตุผลเมื่อบุคคลพลาดจากสิ่งที่ตนเองหวัง เป็นการอ้างเพื่อปลอบใจตนเอง และทําให้ความรู้สึกของตนเองดีขึ้น (พีธะกัญญ์ สุขโพธารมณ์, มปป.) เห็นได้จากเหตุการณ์ที่ “ไต๋พจน์” ที่ได้คนเป็นคนพิการและไว้ ประสบการณ์มาเป็นลูกเรือของตน เขาจึงหาเหตุผลปลอบใจตนเองว่า“เอาคนไม่เคยทะเลนี่แหละ พวกที่เก๋ มากมันหัวหมอปัญหาเยอะ” (หน้า 35) แสดงให้เห็นว่าไต๋พจน์หาเหตุผลมากลบเกลื่อนความวิตกกังวลที่เขารู้ดีว่าคนพิการและไร้ประสบการณ์เหล่านี้จะไม่สามารถออกหาปลาได้ดีไปกว่าคนที่เคยออกทะเล ต่อมา คือ การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) แบบมะนาวหวาน (Sweet Lemon) เป็นการอ้างเหตุผล เมื่อบุคคลต้องเผชิญกับภาวะที่ตนไม่อยากพบและไม่อยากกระทําหรือไม่อยากได้ในสิ่งนั้น แต่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จึงต้องอ้างเหตุผลแบบมะนาวหวาน (พีธะกัญญ์ สุขโพธารมณ์, มปป.) การปรับตัวดังกล่าวแสดงให้เห็นในเหตุการณ์ต้นเรื่องที่เหล่าคนพิการที่ลูกน้องของผจญซักชวนให้มาเป็นคนงานของ ไต๋เรือได้ ซึ่งแต่ละคนต่างไร้งานทําและตกอยู่ในสภาพเดียวกัน นั่นคือ“ผู้ยังหาจุดหมายปลายทางไม่เจอ" (หน้า 20) แม้จะถูกเชิญชวนให้ทํางานประมงซึ่งพวกเขาไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่เมื่อโอกาสเช่นนี้ไม่เกิดขึ้นง่ายๆ สําหรับพวกเขา ทําให้ไม่ปฏิเสธคําชักชวนและ “ไม่รีรอที่จะรีบคว้าฟางเส้นเล็ก ๆ ที่ลอยผ่านหน้าไป” (หน้า 21)
การถอยหนี (Withdrawal) เป็นกลไกป้องกันตนเองที่ใช้ลดความกลัว ความวิตกกังวล และความเครียด โดยการหลีกเลี่ยงออกจากสถานการณ์ตัวบุคคล และสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความรู้สึกดังกล่าว (อ้างถึงใน : พีธะกัญญ์ สุขโพธารมณ์, มปป.) กลไกนี้เห็นได้ชัดในตอน“กบฏปลายน้ำ" (หน้า 241) จากการที่ สมิงปล่อยข่าวว่าเถ้าแก่เรือสามารถ “ล้มบัญชี" หรือโกงเงินตอบแทนโดยร่วมมือกับไต๋เรือได้ ทําให้ลูกเรือคนอื่น พลอยหวั่นวิตกไปตามๆ กันแต่ด้วยกลไกดังกล่าวจึงทําให้“ไม่มีใครออกหน้ารับ ปล่อยให้ไต่พจน์อาละวาดจนพอใจ" (หน้า 247) เพราะลูกเรือแต่ละคนต่างปกปิดความวิตกกังวลภายในไว้ และไม่กล้าที่จะเอ่ยปากต่อหน้าไต๋พจน์โดยตรงเพราะเกรงว่าจะผลจะเป็นไปตามที่ตนคิด
เมื่อนําทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ มาวิเคราะห์ตัวละครจะพบว่า พฤติกรรมที่เกิดขึ้นในเนื้อเรื่องแสดงถึงกลไกป้องกันตนเองที่แตกต่างกันตามสถานการณ์ และสภาวะอารมณ์ต่างๆ ผู้แต่งสามารถสรรสร้างตัวละครที่แสดงถึงสัญชาตญาณความเป็นมนุษย์ได้อย่างสมจริง รวมทั้งการวางเส้นเรื่องและบทบาทของตัวละครอันนําไปสู่เหตุการณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล
“ในกับดักและกลางวงล้อม” เป็นนวนิยายที่สะท้อนสังคมผ่านวิถีชีวิตของตัวละครที่ถูกปฏิเสธจาก สังคม รวมทั้งเห็นเรื่องราวของการเข้าสู่กับดักของการเป็นลูกเรือ และการฝ่าฟันฝ่าฟันเพื่อปลดพันธนาการสู่ชีวิตใหม่ ซึ่งผู้แต่งอัดแน่นไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากมายของตัวละครเพื่อถ่ายทอดมายังผู้อ่าน ซึ่งทําให้เข้าใจถึงการตกอยู่ใน "กับดักและกลางวงล้อม” ของชีวิตอย่างแท้จริง...
เอกสารอ้างอิง
พีธะกัญญ์ สุขโพธารมณ์ และปรัศนีย์ เกศะบุตร. การปรับตัวโดยการใช้กลไกป้องกันตนเอง. สืบค้นเมื่อ
27 กุมภาพันธ์ 2564 จาก https://www.bu.ac.th/knowledgecenter/executive_journal/oct_dec_10/pdf/aw16.pdf
สํานักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ชุมชนคนรักการอ่าน. ประชาคม ลุนาชัย, สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2564 จาก
:http://www.praphansarn.com/home/detail_author_th/276..
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
เริ่มต้น(มรดก)บนความผิดพลาด:
ภาพสะท้อนทางศีลธรรมที่ตกผลึกจากเรื่องราวในอดีต
ประกายเพชร
“เพื่อแลกกับเงินล้าน คุณกล้ากลับไปเผชิญเรื่องที่ผิดพลาดในอดีตไหม” ข้าพเจ้าสะดุดตาข้อความนี้บนปกหนังสือเล่มหนึ่ง จนทำให้หวนคิดทบทวนตัวเองพร้อมกับตั้งคำถามนั้นอยู่ในใจ แน่นอนว่าทุกคนล้วนมีข้อผิดพลาดด้วยกันทั้งสิ้น แต่จะมีสักกี่คนที่จะกล้ากลับไปเผชิญหน้ากับข้อผิดพลาดนั้น หรือมันจะต้องแลกกับบางสิ่งบางอย่างจริง ๆ
“มรดกตกผลึก” นวนิยายเล่มล่าสุดของ จักรพันธุ์ ขวัญมงคล นักเขียน นักแปล และบรรณาธิการอิสระหนังสือที่จะสร้างจุดเริ่มต้นความคิดให้คุณกล้ากลับไปเผชิญเรื่องราวที่ผิดพลาดในอดีต โดยมีตัวละครหลักคือ ตกผลึก นักแสดงตลกที่ชีวิตพลิกผันกลายมาเป็นเศรษฐี ได้รับมรดกจากยายของตนจำนวนห้าล้านบาทแต่ไม่ใช่ว่าจู่ ๆ ตกผลึกจะได้เงินล้านมาอยู่ในกระเป๋าได้อย่างง่ายดาย หากแต่เป็นเงินที่สมเหตุสมผลต่อภารกิจบางอย่างที่เขาได้รับและผูกเงื่อนไขไว้ว่า ถ้าทำสำเร็จเมื่อไหร่เขาจะได้รับเงินตามจำนวนที่ระบุในมรดกอย่างแน่นอน ภารกิจนั้นก็คือการกลับไปเผชิญหน้ากับข้อผิดพลาดของตนเองในอดีต
มรดกตกผลึกจัดเป็นนวนิยายแนว Comedy/Drama เพราะสร้างสรรค์ด้วยการเล่าเหตุการณ์ชีวิตผสมผสานไปด้วยมุขตลกที่พาเราไปสัมผัสกลิ่นอายของยุคตลกคาเฟ่ทั้งในช่วงที่ยังเป็นยุครุ่งเรืองและช่วงที่เรียกว่ายุคอิ่มตัว วิถีของตัวละครพาเราไปสัมผัสความแร้นแค้น และแสนลำเค็ญของคณะตลกหาค่ำกินดึก การดำเนินเรื่องที่สอดแทรกมุขตลกไว้นั้นทำให้ผู้อ่านหัวเราะไปกับเหตุการณ์ที่แสนเศร้าโศก หรืออาจซ่อนความอับโชคภายใต้ความขบขันเช่นเดียวกัน ทั้งยังเป็นหนังสือที่สะท้อนศีลธรรมได้อย่างแนบเนียน ด้วยเรื่องราวที่ตัวละครต้องกลับไปเผชิญทำให้ผู้อ่านได้ย้อนคิดทบทวนตนเองย้อนดูการกระทำที่ผ่านมาว่าเราเคยสร้างความผิดใดไว้บ้าง ทั้งความผิดต่อตนเองต่อคนรอบข้างและต่อสังคม สำหรับตัวข้าพเจ้ามองว่าวรรณกรรมเล่มนี้มีผลต่อความฟูและความแฟบของกุศลในจิตใจด้วยอำนาจของศีลธรรมที่ผู้อ่านจะได้รับไม่มากก็น้อย
จุดเริ่มต้นบนความผิดพลาด
จุดเริ่มต้นบนความผิดพลาดในเรื่องนี้ก็คงเกิดจากเรื่องราวความรักระหว่างชนชั้นของพ่อและแม่ของตกผลึก จนส่งผลถึงความแตกหักทางครอบครัว “พ่อพาแม่ที่อุ้มท้องออกจากบ้าน แม่เขียนจดหมายขอโทษและกราบเท้าลา พ่อ แม่ และพี่ชายทั้งสอง พ่อผมก็เขียนจดหมายกราบเท้าขออภัยคนที่กำลังจะเป็นปู่-ย่า-ตา-ยายของผมครบถ้วนในฉบับเดียวกัน” (หน้า 50-51) ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องรักระหว่างชนชั้นแบบนี้เรามักคุ้นชินจากในละครอยู่บ่อย ๆ และก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นเดียวกันว่ามันเคยเกิดขึ้นจริงในสังคม อาจเรียกได้ว่าเป็น “วิบากกรรมความรัก” อันเป็นผลจากการกระทำที่เกิดขึ้น แต่ใครจะไปคิดล่ะว่าสิ่งที่เราเคยทำในอดีตจะส่งผลมาถึงปัจจุบันและมันก็ค่อย ๆ ดำเนินไปสู่อนาคต โดยโยงใยความสัมพันธ์กับใครต่อไปบ้างก็ไม่อาจคาดการณ์ได้เช่นกัน
“ตกผลึกหลานยาย - ถ้าได้อ่านจดหมายฉบับนี้แล้วก็แปลว่ายายไม่อยู่แล้ว ยายทำผิดกับแม่และปลก -พ่อของหลานไว้มากเหลือเกิน ยายผิดเองที่หูเบา ไม่หนักแน่น เชื่อคนง่าย ยายผิดเองที่ไม่ยอมรับการตัดสินใจของลูกสาว ไม่เคยสนใจพ่อปลกและหลาน ตั้งแต่แม่ของหลานตายจากไป ยายก็ไม่เคยติดต่อหลานอีกเลย ทั้งหมดเป็นความผิดของยายเพียงคนเดียวเท่านั้น…” (หน้า 69)
ดังที่กล่าวแล้วว่าการกระทำของเราจะส่งผลไปสู่ใครบ้างก็ไม่อาจคาดเดาได้ล่วงหน้า พ่อและแม่ของตกผลึกผิดที่ปล่อยตัวปล่อยใจให้ความรักเป็นใหญ่ ยายของตกผลึกผิดที่ไม่อาจปกป้องลูกของตนเองในยามเกิดปัญหาได้ ตกผลึกเองก็ต้องเกิดมาตามสภาพชีวิตที่ไม่ควรจะเป็น ดังที่ว่า “ยายผมเชื่อว่าผมน่าจะเป็นคนที่ดีกว่านี้ได้ หากเพียงแต่ผมได้อยู่ในที่ที่ควรอยู่ตั้งแต่แรก”แต่สิ่งที่ผมยังสงสัยก็คือ ผมจะเป็นคนที่ดีกว่านี้ได้จริง ๆ หรือ หากว่าผมเกิดมาในบ้านนิมิตสมานในฐานะหลานของคุณหญิงเฟื่องจิตผู้สืบสาแหรกมาจากผู้ดีเก่าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” (หน้า 125) ข้อความนี้สะท้อนความคิดยายของตกผลึกว่าแท้จริงแล้วมนุษย์ทุกคนนั้นล้วนแล้วแต่เป็นคนดีแต่สิ่งที่ทำให้พฤติกรรมมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปนั่นคือ สังคมรอบตัวจากข้อความข้างต้นจึงแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมทุกอย่างของคนเรามีผลมาจากกรรมพันธุ์ ซึ่งเป็นกรรมพันธุ์ทางสังคมควบคู่กับกรรมพันธ์ทางสายเลือดด้วยสิ่งสำคัญพื้นฐานในการหล่อหลอมพฤติกรรมของคนก็คือสังคม นิสัยส่วนตัวของคนเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะบ่งบอกว่าเป็นคนดีหรือไม่ดี สุดท้ายแล้วสิ่งที่หล่อหลอมนิสัยคนได้มากที่สุดคือสังคมที่รายล้อมรอบตัวแต่สิ่งที่เล็กรองลงมาจากสังคมก็คือครอบครัว เพราะนั่นคือพื้นฐานแรกสุดในการหล่อหลอมคน ๆ หนึ่ง ให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนแบบใดด้วยคำสอนหรือการกระทำของตนเองดังที่ยายของตกผลึกได้กล่าวไว้
โอกาสแห่งตน
“…ยายไม่อยากให้หลานต้องเป็นอย่างยาย อยู่กับความรู้สึกผิดไปชั่วชีวิต ไม่มีโอกาสได้แก้ไข…” (หน้า 69-70) หากลองคิดทบทวนความผิดพลาดของตนเองแล้วลองดูว่าพอมีโอกาสแก้ไขเพื่อจะลบล้างความรู้สึกผิดนั้นได้ ใครบ้างจะไม่ทำ เช่นเดียวกันยายของตกผลึกแบกรับความรู้สึกผิดมาตลอดทั้งชีวิตจึงไม่อยากให้หลานแท้ ๆ ของตนต้องเผชิญกับความรู้สึกไม่ดีเช่นนั้น คนเรามักจะก้าวไปข้างหน้าไม่ได้หากยังติดอยู่กับความผิดพลาดในอดีต แต่จะว่าเป็นอดีตก็ไม่เชิง เพราะเมื่อเรานึกถึงความผิดนั้นเมื่อไหร่ความรู้สึกผิดก็จะมาอยู่ในปัจจุบันทันที ยายของตกผลึกทราบความจริงข้อนี้ดี ยายจึงเป็นผู้ “ตกผลึก” หนทางที่ช่วยให้หลานของตนเองหลุดพ้นจากความรู้สึกนั้นได้ ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงหลักโยนิโสมนสิการที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ได้ให้ความหมายไว้ว่า “การใส่ใจคิดหาจนถึงต้นเหตุ” จนเกิดปัญญา จากนั้นปัญญาจะเป็นตัวนำพาไปสู่การรับรู้ความจริงและการหาแนวทางในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม
“ผมเฝ้าคิดใคร่ครวญว่าเคยทำข้อผิดพลาดอะไรไว้บ้าง คำตอบก็คือมีมากมายเกินกว่านิ้วมือจะนับได้…แล้วไอ้ข้อผิดพลาดที่คู่ควรกับเงินข้อละหนึ่งล้านบาทมันสมควรจะเป็นข้อผิดพลาดแบบไหนกันหรือ” (หน้า 74-75) ภารกิจที่ตกผลึกจำเป็นต้องปลดล็อคไปทีละชั้น ทีละเรื่องราวโดยแต่ละเรื่องราวนั้นมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันในทุก ๆ ครั้งที่เขาปฏิบัติภารกิจสำเร็จ พร้อมกับเงินจำนวนหนึ่งที่เขาจะได้รับ นั่นคือกระบวนการทบทวนตนเองการพิจารณาถึงปัญหา หาหนทางแก้ไขด้วยการค้นหาสาเหตุและปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องโดยคิดถึงความสัมพันธ์กันอย่างเป็นเหตุเป็นผล หรืออาจกล่าวได้ว่าตกผลึกมี“วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย” อันอยู่ในหลักโยนิโสมนสิการดังที่ยายของตกผลึกเป็นผู้เปิดทางสว่างแม้การพิจารณาหาเหตุปัจจัยนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การบากหน้าสบตากับความเป็นจริงอย่างกล้า ๆ กลัว ๆ ก็ตาม
การกระทำที่ผิดพลาดในอดีตของตกผลึกสะท้อนถึงความผิดทางศีลธรรมหลายประการ ประการแรกการพาแฟนไปทำแท้ง ซึ่งตามหลักพระพุทธศาสนานั้นไม่ยอมรับการทำแท้งในทุกรูปแบบเหตุผลสำคัญคือชีวิตมนุษย์ถือว่าเป็นโอกาสที่มีค่าในอันที่จะดำรงอยู่ในช่วงชีวิตของตน กรรมสำคัญในความผิดนี้คือผิดศีลข้อแรกการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์นั้นอ้างถึงสัตว์มีชีวิตทุกชนิดเริ่มตั้งแต่สัตว์ไปจนถึงมนุษย์ การฆ่าสัตว์มีชีวิตที่ประกอบด้วยเจตนาเป็นอกุศลกรรม มีวิบากที่เป็นอกุศลและเป็นการกระทำที่ขัดต่อศีลธรรม ประการที่สอง โกงเงินโต๊ะบอล เป็นพฤติกรรมที่ค้านกับศีลธรรมเช่นเดียวกัน กรรมสำคัญในความผิดนี้คือผิดศีลข้อสอง การงดเว้นจากการลักขโมยแม้ว่า “มันเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการที่ผมพยายามแก้ไขข้อผิดพลาดอีกข้อหนึ่งก็ตาม” (หน้า 94) ประการที่สาม ทำเพื่อนติดคุกเพื่อนของตกผลึกเป็นผู้ที่ขาดขันติธรรมเมื่อได้ประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจเข้าจึงใช้มีดแทงศัตรูจนตาย แม้ตกผลึกจะรู้สึกผิดที่ตนเป็นผู้ท้าทายยั่วยุอารมณ์ให้เพื่อนเกิดบันดาลโทสะ แต่คำพูดของเพื่อนที่ว่า “มีดมันอยู่ในมือกู…กูเป็นคนทำมันเอง” (หน้า 115) สื่อความหมายชัดเจนแล้วว่าระดับความอดทนอดกลั้นของมนุษย์มีไม่เท่ากัน ยิ่งถ้ามีสิ่งเร่งหรือสิ่งกระตุ้นมันก็ทำให้ระดับความอดทนอดกลั้นลดลงอย่างรวดเร็วหรือขาดสะบั้นทันที แต่หากคนเรามีขันติแล้ว แม้แต่มีดที่อยู่ในมืออันเป็นสิ่งเร้าสิ่งเร่งให้ความอดทนหมดไปก็สามารถระงับความโกรธต่อเหตุการณ์หรือสิ่งที่มายั่วยุไม่ให้โต้ตอบต่อสิ่งนั้นได้ส่วนประการที่สี่และประการที่ห้าเป็นความผิดพลาดที่พ่อของตกผลึกเคยก่อไว้แต่ไม่มีโอกาสได้แก้ไขความผิดที่ตนเองก่อ จึงทำให้มรดกแห่งความผิดพลาดต้องตกมาสู่ตกผลึกแทน “ผมยังมีโอกาสได้แก้ไข ได้ใช้เงินแก้ปัญหา และได้กลับไปเผชิญหน้ากับข้อผิดพลาดของตัวเองและข้อผิดพลาดของพ่อ ในฐานะลูกชาย ผมคิดว่าสิ่งที่ผมกำลังจะทำในวันนี้ คือการกลับมาแก้ไขข้อผิดพลาดให้พ่อของผม” (หน้า 147) การกระทำของตกผลึกสะท้อนให้เห็นว่าคนเราไม่สามารถแก้กรรมแทนคนอื่นได้เพราะกรรมเป็นของติดตน บางครั้งการแก้ไขความผิดให้กับคนอื่นกรรมนั้นอาจส่งผลเสียถึงตัวเราด้วย เช่น การโดนเกลียดชังโดนทำร้ายร่างกาย หรืออาจสูญเสียชีวิต เป็นต้น ทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง การแก้ไขสิ่งใดๆก็ตามไม่สามารถแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วได้แต่เราควรแก้ไขปัจจุบันให้เป็นไปตามสิ่งที่ถูกที่ควรเสียมากกว่า
ทั้งนี้การกลับไปเผชิญข้อผิดพลาดของตกผลึกยังสะท้อนภาพความมีศีลธรรมอีกด้านของจิตใจในตัวละคร เพราะตกผลึกก็เป็นปุถุชนคนทั่วไปที่มีทั้งความดีและความไม่ดีอยู่ในตัวหากแต่เขาเกิดมาเป็นตลกคาเฟ่ เงินคือปัจจัยสำคัญในการเอาชีวิตรอดในแต่ละวัน เมื่อมันต้องแลกมาด้วยการหันกลับไปทบทวนความผิดของตัวเองในอดีตก็คงต้องยอมจำนนต่อโชคชะตา หรือหากเขาเติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยตั้งแต่แรก เขาคงไม่คิดว่าจะมีความจำเป็นใดที่จะต้องกลับไปเผชิญหน้ากับข้อผิดพลาดของตัวเองหรือแม้แต่ความผิดของคนในครอบครัวก็ตาม
มรดกที่เป็นข้อแลกเปลี่ยนจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับไปเผชิญหน้ากับข้อผิดพลาด ทำให้ตกผลึกเกิดความรู้สึกผิด ซึ่งตามหลักศาสนาหมายถึง ความรู้สึกไม่ดี ยอมรับการกระทำของตนเองไม่ได้และส่งผลให้เกิดความเสียหายทางจิตใจหรือทางร่างกายกับคนอื่นหรือตนเองแต่เขาก็มีความกล้าหาญที่เผชิญกับความรู้สึกนั้น
แก่นและผลที่สมบูรณ์
“เพื่อแลกกับเงินล้าน คุณกล้ากลับไปเผชิญเรื่องที่ผิดพลาดในอดีตไหม” ข้าพเจ้าได้คำตอบกับตัวเองหลังจากอ่านนวนิยายเรื่องนี้จบจริงสิ “ความผิดพลาดในชีวิตของคนเรานั้นบางเรื่องแก้ไขได้ บางเรื่องก็แก้ไขไม่ได้ ผิดแล้วผิดกัน…จะแก้ได้หรือไม่ได้ก็ตาม แต่ทุกความผิดพลาดนั้นเราควรได้รับโอกาสกลับไปเผชิญหน้ากับมัน ไม่ว่ามันจะมอบอะไรให้เราเป็นการตอบแทน” (หน้า 180) แม้ข้อผิดพลาดนั้นเป็นอดีตที่เราพยายามจะลืม ทว่าดูเหมือนเราจะลืมได้จริง ๆ แต่แท้จริงแล้วความผิดนั้นกลับไม่ได้หายไปไหน ยังกัดกร่อนจิตใจของเราอยู่ตลอดเวลา ดังที่ตกผลึกได้พูดว่า “ความผิดคือสิ่งที่เราต้องจำใจกลืนมันเข้าไปและยอมให้มันอยู่กับชีวิตของเราไปตลอดกาล” ฉะนั้นแล้ว การหลุดพ้นจากความรู้สึกผิดควรเริ่มจากการให้อภัยตัวเอง ความผิดพลาดเป็นธรรมดาของมนุษย์ ขณะเดียวกันก็ควรมองความผิดพลาดในมุมบวกบ้าง นั่นคือมองหาประโยชน์หรือบทเรียนจากความผิดพลาดนั้นให้ดี ทุกอย่างในชีวิตที่ต้องแลกมีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ ไม่มีการให้และการรับใดที่ไม่ต้องจ่ายมาหรือไม่ต้องแลกไป บางครั้งชีวิตคนเราอาจต้องเผชิญหน้ากับข้อผิดพลาดในอดีตของตนเองเพื่อแลกกับการได้มาซึ่งความสุขและความเป็นปัจจุบันของชีวิต
ท้ายที่สุดแล้ว “มรดกตกผลึก” ในทัศนะของผู้เขียนอาจไม่ได้หมายถึงเงินจำนวนห้าล้านบาทเท่านั้น เพราะคุณค่าของมรดกที่ตกผลึกได้รับนั้นไม่ใช่เพียงแค่ตัวเงิน แต่คือการได้มีชีวิตที่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างอิสระโดยไม่มีความผิดพลาดใด ๆ มาเกาะกุมใจให้จมอยู่กับอดีตอีกต่อไป
เอกสารอ้างอิง
จักรพันธุ์ ขวัญมงคล. (2561). มรดกตกผลึก. กรุงเทพฯ : แซลมอน.
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
วันเกิดของเค้าโมง : สัมพันธภาพตัวละครที่ไม่สมบูรณ์แบบ
ไร้ตัวตน และไม่รู้จักโต
วาสิตา สีตา
“วันเกิดของเค้าโมง” บทประพันธ์ของ จันทรังสิ์ ได้รับรางวัลชนะเลิศนวนิยายสำหรับเยาวชนแว่นแก้ว ครั้งที่ 14 เมื่อปีพ.ศ.2561 วันเกิดของเค้าโมงเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละคร คือ“เค้าโมง”เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 15 ปีของตนเองซึ่งเค้าโมงมีคำอธิษฐานเพียงสามข้อคือ ขอให้แม่ทนทำงานได้นาน ๆ ขอให้ไก่จุกยอมไปโรงเรียนอีกครั้ง และขอให้พ่ออย่ากลับบ้านในวันนี้ เพราะทุกครั้งที่พ่อกลับมา บ้านก็ไม่ต่างอะไรกับสมรภูมิรบทันที แม้เนื้อเรื่องจะนำเสนอเรื่องราวของช่วงเวลาเพียง 1 วัน แต่ก็สามารถสะท้อนมุมมองของครอบครัวชนชั้นกลางได้อย่างหลากหลายความโดดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นการสะท้อนปัญหาภายในครอบครัว ผ่านตัวละครที่เป็นเยาวชน คือไก่จุกซึ่งเป็นพี่คนโต เค้าโมงเป็นลูกคนกลางและเป็นผู้เล่าเรื่อง นกกระติ๊ดเป็นน้องคนสุดท้อง ตัวละครทั้งสามตัวถูกประกอบสร้างขึ้นให้อยู่ในครอบครัวที่เรียกได้ว่าเป็นครอบครัวในอุดมคติของใครหลาย ๆ คน คือ มีพ่อ แม่ และลูกทว่าการได้อยู่ร่วมกันกลับไม่ได้สมบูรณ์แบบและสวยงาม เพราะปัญหาในครอบครัวที่เกิดขึ้นจากเรื่องเพียงเล็กน้อยของผู้ใหญ่ คำพูดจู้จี้จุกจิกที่ไม่ทันคิดของแม่กับความไม่ยี่หระทุกข์ร้อนต่อเรื่องใด ๆ ของพ่อ หลอมรวมกันกลายเป็นปมภายในจิตใจของลูก ปมเหล่านี้มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเด็ก ๆ ย่างเข้าสู่วัยรุ่น วัยที่เริ่มมีความคิด มีความเป็นตัวของตัวเองชัดเจนขึ้น
แม้ไก่จุก เค้าโมง และนกกระติ๊ดจะเป็นพี่น้องกัน ถูกเลี้ยงดูมาในสภาพแวดล้อมเดียวกัน แต่ลักษณะนิสัยบุคลิกภาพ และปมในใจของแต่ละคนกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้เป็นเพราะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันจากผู้ใหญ่ เช่น การคาดหวัง การดูแลเอาใจใส่ อันเป็นโครงเรื่องสำคัญของนวนิยายเรื่องนี้โดยเฉพาะลำดับการเกิดของเด็กในครอบครัว (Order of Birth) เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความแตกต่างทางบุคลิกภาพของตัวละครที่ชัดเจน อธิบายได้ดังนี้
“ไก่จุก” พี่คนโตที่รักในความสมบูรณ์แบบ
“พี่คนโต” เป็นลูกคนแรกของครอบครัวที่จะต้องตอบสนองความต้องการของพ่อแม่ จึงถูกตั้งความหวังเอาไว้สูง เมื่อแรกเกิดพี่คนโตจะได้รับความรักจากพ่อแม่อย่างเต็มที่ ก่อนจะถูกแย่งชิงเมื่อมีน้องเกิดขึ้นมา บุคลิกภาพของพี่คนโตจึงดูเป็นผู้ใหญ่ต้องการความสมบูรณ์แบบ เจ้าระเบียบ และกลายเป็นผู้นำของน้อง ๆ ไปโดยปริยาย หากเด็กไม่มีความเข้มแข็งทางจิตใจมากพอไม่สามารถรับแรงกดดันจากพ่อแม่และน้อง ๆ ได้เขาจะหลุดจากการควบคุม กลายเป็นเด็กเก็บกด เจ้าอารมณ์ในที่สุด
“ไก่จุก” เป็นพี่คนโต เธอคาดหวังว่าตัวเองต้องเป็นคนเก่งและสมบูรณ์แบบ ชีวิตของเธอจึงเต็มไปด้วยความเครียดและความกดดัน ดังตอนที่ไก่จุกไม่ยอมไปโรงเรียน เพราะไม่มั่นใจในการทำข้อสอบ ปรากฏข้อความ คือ “เค้าโมงรู้ว่าไก่จุกไม่ได้แพ้อะไร ที่ไม่ยอมไปโรงเรียนเป็นเพราะหวาดกลัวการทำข้อสอบ ไก่จุกเคยอาเจียนหน้าห้องสอบมาแล้ว ตอนหลังแค่เห็นหลังคาโรงเรียนก็ตัวสั่น มือไม้อ่อนเหมือนจะเป็นลม” (จันทรังสิ์, 2561: 19) จากตัวบทอธิบายได้ว่า “ไก่จุก”เป็นพี่คนโตที่พยายามสร้างความโดดเด่นและสมบูรณ์แบบให้กับตัวเองด้วยการเรียนให้เก่งเพื่อทดแทนความรักของพ่อกับแม่ที่เธอต้องสูญเสียให้น้อง ๆ พักหลังเมื่อสอบได้คะแนนไม่เป็นที่พอใจ ไก่จุกจะเครียดและไม่ยอมไปโรงเรียน เพราะไม่อยากสอบตก ไก่จุกอายุ 18 ปี อยู่ในวัยที่เรียกได้ว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างวัยรุ่นกับวัยผู้ใหญ่ ทำให้ความเครียดและกดดันที่เธอสะสมมาตั้งแต่เด็กทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนภูเขาไฟที่กำลังปะทุ ยากที่จะควบคุม เธอจึงกลายเป็นคนเก็บตัว อารมณ์ร้อน และโมโหร้ายจนไม่มีใครอยากเข้าใกล้ ไก่จุกเป็นภาพแทนของลูกคนโตที่ถูกคาดหวังจากพ่อแม่(ผู้ใหญ่) ลูกคนโตจึงต้องแบกรับความคาดหวัง ยิ่งหากผู้ใหญ่ไม่เข้าใจจะกลายเป็นภาวะความกดดันนำไปสู่ความผิดปกติของบุคลิกภาพและความผิดปกติทางจิตใจในอนาคต
“เค้าโมง” ลูกคนกลางที่ถูกมองข้าม
ในขณะที่พ่อกับแม่กำลังชื่นชมในความสำเร็จของพี่คนโตและวุ่นวายกับการเอาอกเอาใจน้องคนสุดท้อง ลูกคนกลางอย่างเค้าโมงจึงตกอยู่ในจุดที่ทุกคนมองข้าม เกิดเป็นความน้อยเนื้อต่ำใจว่าตนเองเป็นคนแปลกแยกของครอบครัวทำให้กลายเป็นคนขี้อิจฉา ขี้น้อยใจ และพยายามจะเอาชนะพี่น้องของตน เพื่อสร้างจุดเด่นมาลบล้าง “ความไร้ตัวตน” ของตนเอง ดังตอนที่เค้าโมงจินตนาการถึงความไร้ตัวตนของตนเองว่า “เค้าโมงถอนหายใจยาวเหยียดเมื่อนึกถึงอนาคต ถ้าพ่อกับแม่หย่ากันแล้วแบ่งลูกไปเลี้ยง ไก่จุกคงอยู่กับพ่อ นกกระติ๊ดอยู่กับแม่ เค้าโมงไม่รู้ว่าจะอยู่กับใคร ลูกคนกลางมักเป็นส่วนเกิน ยิ่งเป็นลูกคนกลางที่ไม่สวย เรียนไม่เก่งเท่าลูกคนโต ไม่น่ารักขี้อ้อนเท่าลูกคนเล็ก ไม่รู้จะทำอย่างไรให้พ่อกับแม่หันมามอง”(จันทรังสิ์, 2561: 18) จะเห็นได้ว่า “เค้าโมง” เด็กสาววัย 15 ปี ได้สะท้อนเรื่องราวความกดดันของการเป็นลูกคนกลางผู้ถูกมองข้ามได้อย่างกินใจ ด้วยความที่ “เรียนไม่เก่ง” เหมือนพี่คนโต และ “ไม่น่ารักขี้อ้อน” เหมือนน้องคนสุดท้อง เธอจึงรู้สึกว่าพ่อกับแม่ไม่รัก จากเรื่องเค้าโมงจึงเป็นเด็กที่อิจฉาพี่น้องของตนเองอยู่ตลอดเวลา ขี้น้อยใจ คิดมาก มิหนำซ้ำยังตอกย้ำความรู้สึกแย่ ๆ ของตนเองด้วยการบันทึก “ความทรงจำที่ไม่น่าจดจำ” ลงในสมุด เพราะ“การเกิดเป็นลูกคนกลางไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นลูกคนกลางในครอบครัวระหองระแหง มีพี่สาวน้องสาวที่นิสัยไม่เหมือนกัน เค้าโมงไม่รู้จะหันหน้าไปหาใคร” (จันทรังสิ์, 2561: 16) อย่างไรก็ตามการเป็นลูกคนกลางของเค้าโมงได้เปิดโลกทัศน์ความโดดเด่นของลูกคนกลางว่า การที่ตนเองมักจะไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ ทำให้เค้าโมงมุ่งสนใจในเรื่องของจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ เธอจึงมีทักษะในการเข้าสังคมดีกว่าพี่น้องคนอื่น ๆ เธอรู้จักเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกันเกือบทุกหลัง โดยเฉพาะบ้านของหมอปายที่เค้าโมงประทับใจเป็นพิเศษ เพราะ “ครอบครัวหมอปายพูดคุยกับเธอเหมือนเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง พวกเขาตั้งใจฟัง ตั้งใจถาม ตั้งใจตอบเค้าโมงไม่เคยเจออะไรอย่างนี้มาก่อน” (จันทรังสิ์, 2561: 51) จะเห็นได้ว่าเค้าโมงเป็นเด็กที่รู้จักพูดและกล้าเข้าหาผู้ใหญ่ ต่างจากไก่จุกและนกกระติ๊ดที่เอาแต่เก็บตัวอยู่ในบ้าน เค้าโมงเป็นภาพแทนของลูกคนกลางในครอบครัวที่สามารถสร้างความโดดเด่นเฉพาะตนอย่างสร้างสรรค์จึงเป็นที่รักของคนทั่วไปได้โดยไม่จำเป็นต้องแข่งขันหรือชิงดีชิงเด่นกับคนในครอบครัว
“นกกระติ๊ด” น้องคนสุดท้องที่ไม่ยอมโต
“น้องคนสุดท้อง” เป็นลูกคนเล็กที่อายุน้อยกว่าทุกคนในครอบครัว จึงได้รับการดูแลและเอาใจใส่จากพ่อกับแม่มากกว่าลูกคนอื่น ๆ น้องคนเล็กจึงมีนิสัยที่ไม่รู้จักโต ขี้อ้อน ช่างประจบเอาใจ เอาแต่ใจตนเอง และชอบให้คนอื่นช่วยเหลือ เหมือนกับ “นกกระติ๊ด” ที่เรียกร้องความรักและความเอาใจใส่อยู่ตลอดเวลาดังข้อความ “ติ๊ดกลัวความอ้างว้างมั้ง กลัวถูกทิ้ง รู้สึกหนาวขึ้นมาตั้งแต่เท้าจรดหัว มันค่อย ๆ เย็นวาบขึ้นมาเหมือนเราทายาหม่องไว้บนฝ่าเท้า ติ๊ดถึงต้องไปนอนกับแม่ เพราะเค้าโมงไม่ยอมให้ติ๊ดกอด” (จันทรังสิ์, 2561: 87) จะเห็นได้ว่าแม้นกกระติ๊ดจะมีอายุถึง13 ปี แต่ก็ไม่รู้จักโต แม้กระติ๊ดจะโตพอที่จะทำอะไรได้ด้วยตนเอง แต่เธอก็มักจะขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกินที่เค้าโมงต้องคอยหาให้ หรือจะเป็นการนอนที่ต้องนอนกอดแม่ ทั้งที่อายุอานามของเธอจะไม่ใช่เด็ก ๆ แล้วก็ตามแม้นกกระติ๊ดจะเอาแต่ใจจนกลายเป็นลูกแหง่ที่ไม่ยอมโต แต่เสน่ห์อย่างหนึ่งของเธอก็คือความน่ารักสดใส ช่างพูดช่างเจรจาตามแบบฉบับของลูกคนสุดท้องที่ทำให้ทุก ๆ คนในครอบครัวต้องหลงใหลและยอมจำนนต่อความน่าเอ็นดูของเธออยู่เสมอนกกระติ๊ดจึงเป็นภาพแทนของลูกคนเล็กในครอบครัวที่มีนิสัยเอาแต่ใจ ชอบเรียกร้องความสนใจ ซึ่งหากการเรียกร้องความสนใจมีมากเกินไป อาจนำไปสู่ความผิดปกติทางบุคลิกภาพได้ในอนาคต เช่น เมื่อคนในครอบครัวไม่สามารถเติมเต็มความรักให้ได้ เด็กอาจจะหันไปแสวงหาความรักนอกบ้าน และหากเป็นความรักที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกที่ ไม่ถูกเวลาก็อาจเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา
นวนิยายเรื่อง วันเกิดของเค้าโมง เป็นนวนิยายแนวสัจนิยมที่มีความโดดเด่นในการประกอบสร้าง ตัวละครให้มีบุคลิกภาพเป็นไปตามหลักจิตวิทยาในแง่ของลำดับการเกิด จึงทำให้พฤติกรรมของตัวละครมีความสมจริง และชี้ให้เห็นว่าการเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนของครอบครัวมีส่วนสำคัญมากที่จะพัฒนาให้เด็กแต่ละคนมีบุคลิกภาพไปในแนวทางที่พึงประสงค์ได้ เช่น พ่อกับแม่ควรเตรียมพร้อมให้ลูกคนโตเข้าใจถึงการมีน้อง และมอบหมายให้ช่วยดูแลน้อง ๆ ในบางโอกาส จะทำให้เด็กมีความรับผิดชอบ เชื่อมั่นในตนเอง ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ส่วนลูกคนกลาง พ่อกับแม่ควรส่งเสริมให้เป็นผู้นำในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของครอบครัว จะช่วยให้เด็กมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีและเข้ากับผู้อื่นได้ง่าย และลูกคนเล็ก พ่อกับแม่ควรเปิดโอกาสให้เขาได้ช่วยเหลือตนเอง จะทำให้เด็กกล้าที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองมากยิ่งขึ้น นวนิยายเรื่องวันเกิดของเค้าโมง ชี้ให้เห็นสัมพันธภาพในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์แบบ ชนิดที่ “พ่อไปทาง แม่ไปทาง”ว่าส่งผลกระทบต่อเด็ก ๆ ในครอบครัวทุกคน โดยเฉพาะที่เป็นปัญหามากคือปัจจัยด้านลำดับการเกิดของเด็ก ผนวกกับได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมจากผู้ใหญ่ ส่งผลต่อบุคลิกภาพและพฤติกรรมด้านลบของเด็ก ซึ่งหากปล่อยไว้นานพฤติกรรมเหล่านี้จะกลายเป็นนิสัยติดตัวและยากที่จะแก้ไข
ถึงแม้ว่า“วันเกิดของเค้าโมง” จะเป็นนวนิยายสำหรับเยาวชนแต่ก็ไม่ได้เน้นเพียงความบันเทิงเท่านั้นหากแต่สอดแทรกไปด้วยปัญหาภายในครอบครัว ชี้ให้เห็นความสำคัญของการยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลและการปรับตัวเข้าหากัน ดังนั้นนอกจากเยาวชนแล้วนวนิยายเรื่องนี้ยังเหมาะสมสำหรับพ่อแม่อีกด้วย จนอาจกล่าวได้ว่า “เป็นวรรณกรรมที่พ่อแม่ทุกคนควรอ่าน” เพราะสามารถนำไปปรับใช้ในการเลี้ยงดูลูก ๆ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกหลายคนจากเรื่องราวไม่ว่าจะเป็นพี่คนโตที่รักในความสมบูรณ์แบบอย่างไก่จุก ลูกคนกลางที่ถูกมองข้ามอย่างเค้าโมง หรือน้องคนสุดท้องที่ต้องการความรักและไม่รู้จักโตอย่างนกกระติ๊ด ล้วนมีทั้งจุดเด่นและจุดด้อยแตกต่างกัน หน้าที่หลักของพ่อกับแม่จึงต้องไม่เพียงแต่ทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อหาเงินเยอะ ๆ มาจุนเจือครอบครัวเหมือนพ่อกับแม่ของไก่จุก เค้าโมง และนกกระติ๊ด แต่พ่อกับแม่ควรจะดูแลเอาใจใส่ เข้าใจในความแตกต่างของลูกแต่ละคน พยายามช่วยปรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และผลักดันให้เด็กใช้จุดเด่นของตนเองให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามศักยภาพ พี่คนโตไม่ควรเป็นผู้แบกรับความกดดันของพ่อกับแม่ แต่ควรเป็นผู้นำในการดูแลและปกป้องน้อง ๆ ลูกคนกลางควรได้รับความสำคัญอย่างเท่าเทียมกับลูกคนอื่น ๆ และไม่ควรตามใจน้องคนเล็กมากเกินไปจนทำให้เด็กไม่รู้จักโต เพียงเท่านี้น่าจะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเป็นคนที่มีคุณค่า ได้รับความรัก และไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายจนกลายเป็นไร้ตัวตนอีกต่อไป “วันเกิดของ เค้าโมง” จึงเป็นนวนิยายที่มีคุณค่า และทำหน้าที่ของวรรณกรรมในการชี้นำสังคมได้อย่างสมบูรณ์พร้อม โดยเนื้อหาของวรรณกรรมชี้ให้เห็นปัญหาของครอบครัวที่บางครั้งผู้ใหญ่มองว่าเป็นสิ่งเล็ก ๆ แต่กลับเป็นเรื่องยิ่งใหญ่สำหรับเด็ก เมื่อปัญหาเล็ก ๆ ได้รับการแก้ไขก็จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความเข้าใจ สร้างความอบอุ่นให้เกิดขึ้นในครอบครัว เด็กก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์พร้อมในอนาคต
จันทรังสิ์. 2561. วันเกิดของเค้าโมง. กรุงเทพฯ : ส.พิจิตรการพิมพ์
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
อีกไม่นานเราจะสูญหาย : วิปลาส - วิปริต – วิกฤติทุนนิยม
กิตติพิชญ์ เชาวน์ไวย
เราไม่มีทางมองเห็นอากาศอันโอบรอบและไหลเวียนอยู่รอบตัวเราได้ด้วยตาเปล่าเลย จนกระทั่งเราลองหลับตาและกำหนดความรู้สึกตามลมหายใจนั่นแหละ เราจึงอาจจะ ‘รู้สึก’ ถึงมัน… อุดมการณ์ทุนนิยมอันแฝงฝังอยู่ในทุกอณูของชีวิตเราก็เป็นเช่นนั้น
“อีกไม่นานเราจะสูญหาย” ของ อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ นวนิยายที่เข้ารอบ shortlist รางวัลซีไรต์ปี 2018 เป็นนวนิยายอีกเรื่องที่ชวนให้เรา ‘หลับตา’ เพื่อที่จะ ‘รู้สึก’ถึงการมีอยู่และแง่มุมต่างๆของอุดมการณ์ทุนนิยมทั้งด้านที่ถูกเปิดเผยและด้านที่ถูกกดทับ ภาษาที่งดงามราวกับบทกวีค่อยๆ เปิดการรับรู้ใหม่ๆ ให้เรา
เรื่องราวค่อยๆ ดำเนินไปอย่างช้าๆ เกิดซ้ำ และหมุนวน “เป็นลูปวงกลมรูปร่างทุเรศทุรัง”(น.28) “เป็นเลขแปดของเครื่องหมายโมเบียส : นิรันดร์กาล”(น.147) ตรงกันข้ามกับเวลาของทุนนิยม...เวลาอันถูกบังคับให้ดำเนินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เร่งรีบ และ(ทำให้เราเชื่อว่า)เป็น‘เส้นตรง’
ประเด็นใหญ่ที่ “อีกไม่นานเราจะสูญหาย” ได้ฉายสะท้อนออกมาให้เราเห็น คือการที่ทุนนิยมทำให้ทุกอย่างกลายเป็นสินค้า แม้กระทั่งชีวิต... ดังจะเห็นได้จากการกระทำมาตุฆาตของจอม ซึ่งชินตามองว่าเป็น “ประสบการณ์อันพร่าเพี้ยน”(น.23) แต่กลับกลายเป็น “เรื่องที่จะขายได้ คนจะสนใจ”(น.34) ในอีก 20 กว่าปีต่อมา จน “มีธุรกิจหลายอย่างที่เกาะกระแสคู่จิ้นกินเนื้อคน”(น.42) และ “ทุกคนดูสนุกกับมัน ยิ้มแย้ม เบิกบาน หัวเราะ เนื้อของแม่จอมจึงพลันหอมหวาน รสชาติอร่อย”(น.42)
นอกจากนั้นแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังได้ฉายสะท้อนแง่มุมต่างๆ ของทุนนิยมออกมาให้เราเห็น ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยมในแง่ของการแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์ การทุจริตและการเอารัดเอาเปรียบ ดังเช่น “ในทางสังคมความไม่โปร่งใสย่อมถูกกำหนดว่าเป็นเรื่องไม่ชอบธรรม แต่มันเกิดขึ้นทุกวันและทุกหนแห่งจนกลายเป็นเรื่องปกติ”(น.154) ทุนนิยมในแง่ของการก้าวไปข้างหน้าโดยตัดขาดจากอดีต ดังเช่น “ความเจริญผุดขึ้นมากมายทั้งรถไฟฟ้า ทางด่วน ห้างสรรพสินค้า เป็นเรื่องสามัญอย่างที่สุดที่ซึ่งทุนนิยมได้เขมือบเอาความทรงจำเก่าหายไป”(น.49) ทุนนิยมในแง่ที่เน้นการผลิตจนก่อให้เกิดความรู้สึกอ้างว้าง เปลี่ยวเหงา ว่างเปล่า แปลกแยกตลอดจนความรู้สึกถึง “ความไม่เอาไหนและความล้มเหลว”(น.68) ในตัวบุคคลที่ไม่ได้ ‘Productive’ อย่างที่สังคมต้องการและรวมถึงทุนนิยมในแง่ของการลดทอนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์จน “ว่างเปล่าและกลวงโบ๋”(น.40) และแทนที่มันด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสินค้ากับสินค้าที่ยึดโยงกันด้วยราคา… โลกทุนนิยมจึงไม่ต่างจาก “สนามบิน [...] สถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนแปลกหน้า อาจคุยหรือทักทายกัน แต่ก็พร้อมลาจากได้ทุกเมื่อ”(น.113)
ผู้เขียนใช้วิธีการดำเนินเรื่องด้วยเสียงของตัวละครสำคัญ 3 ตัว คือ ชินตา โช และ(วิญญาณ)พ่อ ทุกตัวละครที่กล่าวมาล้วนเป็นพลเมืองที่มีวินัยอันเป็นที่ต้องการของสังคมทุนนิยม คือ ตั้งใจทำงานมีความรับผิดชอบ แยกเรื่องส่วนตัวออกจากเรื่องงานได้ดังจะเห็นได้จากตัวละครโชที่เป็นทั้งนักออกแบบตกแต่งภายในและนักลงทุน พ่อที่เป็นถึงผู้จัดการบริษัท และชินตา ซึ่งเป็นผู้จัดการแกลเลอรีที่ “แม้ยังรู้สึกมึนจากเมื่อคืนก็ต้องฝืนตื่นไปทำงาน”(น.29) แต่ในขณะที่สังคมทุนนิยมผลิตพลเมืองผู้มีวินัยที่ต้องการนั่นเอง อีกด้านหนึ่ง(ที่ถูกกดทับและซ่อนเร้น) สังคมทุนนิยมเดียวกันนี้ก็ได้ผลิตบุคคลผู้มีอาการป่วยทางจิต วิกลจริต วิปริต วิปลาส(ดังที่ผู้เขียนเรียก) ออกมาด้วย ดังจะเห็นได้จากโช ผู้เป็นโรคซึมเศร้า แม่ ผู้เป็นโรคจิตเภทชินตา ผู้ “จมปลักกับตัวเองและอดีตที่ตายไปแล้ว”(น.166) และคนขับแท็กซี่ ผู้เป็นฆาตกร
แต่ความน่าสนใจคือ ความวิกลจริต วิปริต วิปลาสนี่เอง ที่ผู้เขียนได้ช่วงชิงอำนาจในการนิยามความหมาย และใช้โต้กลับพร้อมกับท้าทายอุดมการณ์ของทุนนิยม อาการทางจิตดังกล่าวได้เปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ และชี้ให้เราเห็นถึง ‘ห้วงเวลาที่อยู่เหนือโลกทัศน์แบบเดิม’ ซึ่งถูกครอบด้วยกรอบทุนนิยมอีกทีจนอาจเรียกได้ว่าเป็น “การเมืองของโรคจิตเวช” ดังเช่น “ผมเกลียดเวลาเช้า เฝ้ารอคอยให้เวลากลางคืนมาถึงเพื่อจะได้หลับ รู้สึกผ่อนคลายในความฝัน และปลอดภัยเมื่ออยู่บนเตียงนอน”(น.68) “ทุกอย่างหมุนวนเป็นเกลียวแห่งชีวิตซึ่งเคลื่อนไหวด้วยแรงขับปริศนาทั้งวันทั้งคืน เหมือนเกลียวคลื่นของแบล็คโฮล”(น.173) หรือ “ผู้คนข้างนอกต่างเคลื่อนไหวไปตามจังหวะชีวิต แต่ฉันกลับฝังตัวอยู่ในสวนซึ่งบัดนี้รกครึ้มไปด้วยป่าและสร้อยเถาวัลย์”(น.180)
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ผู้เขียนดำเนินเรื่องด้วยเสียงของตัวละคร 3 ตัว คือ ชินตา โช และพ่อ สิ่งที่น่าสังเกตสำหรับคนอ่านอย่างเราคือเสียงของแม่หายไปไหน... เมื่อเราฟังเสียงลูกๆ ของเธอ - เธอผู้เป็นแม่ กลับไม่ต่างจากตัวร้ายที่เข้ามาทำลายความสุขของครอบครัว แต่เหตุใดเธอกลับไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะได้เล่าเรื่องราวในมุมของตัวเองเลยสักนิด เป็นไปได้ไหมที่เธอ - ผู้เป็นหญิงชราและผู้ป่วยทางจิต(อันนับได้ว่าเป็นชายขอบของชายขอบของโลกทุนนิยม)-กำลังถูกทำให้เงียบ... แต่ความเงียบนั้นไร้ความหมายจริงหรือเปล่า หรือความเงียบนั้นเป็นข้อความบางอย่างที่ผู้เขียนได้ส่งผ่านตัวอักษรมากระตุ้นมโนสำนึกของเรา นั่นเป็นอีกสิ่งที่น่าคิด...
และจะว่าไปแล้ว ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งของ “อีกไม่นานเราจะสูญหาย” คือการตั้งคำถามและวิพากษ์ถึงบรรทัดฐานและสิ่งรอบตัว นอกจากเรื่องศีลธรรมที่ผู้เขียนใช้เหตุการณ์มาตุฆาตของจอม และอัตวินิบาตกรรมของโช ตั้งคำถามถึง ‘ระบบศีลธรรมอันดีงาม’ ที่เรายึดถือและ “ทำให้มีชีวิตในทางกฎหมาย”(น.115) แล้ว ผู้เขียนยังชวนให้เราตั้งคำถามต่อคำว่าศิลปะ ดังตัวอย่างเช่น “ศิลปะน่ะ หลายครั้งมันก็เป็นแค่การสร้างภาพ สิ่งจอมปลอม คำโกหก ความงามอันบูดเบี้ยว ความจริงอันดัดจริต ความดีงามที่น่าคลื่นไส้”(น.37) หรือ “แม้แต่ความหดหู่และความตายก็เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งสวยงาม”(น.55) อีกด้วย
แม้ว่า ‘รสชาติ’ ของครึ่งเล่มหลังจะไม่เข้มข้นและครบรสเท่ากับช่วงแรกของเล่มก็ตาม แต่ “อีกไม่นานเราจะสูญหาย” ก็นับว่าเป็นวรรณกรรมไทยโดยฝีมือของนักเขียนหญิงอีกเล่มหนึ่งที่น่าประทับใจและชวนให้เกิดการตีความในวงกว้างไม่ต่างจากการโยนหินลงในสายน้ำที่ทำให้เกิดวงคลื่นกระจายไปอย่างไร้ขอบเขตและไม่มีที่สิ้นสุด
สุดท้าย ในตอนจบของเรื่อง ผู้เขียนไม่ได้สรุปอย่างชัดเจนว่าการดำเนินชีวิตตามอุดมการณ์ทุนนิยมหรือการดำเนินชีวิตแบบขบถต่อทุนนิยม แบบไหนจะดีไปกว่ากัน แต่กลับทิ้งไว้ให้ผู้อ่านคิดต่อเอง
“ระบบสังคมไม่มีชีวิต มนุษย์ต่างหากที่หลอมตัวเองเข้ากับระบบจนมันกลายเป็นพลวัตที่เคลื่อนไหวอย่างควบคุมไม่ได้”(น.109) คงเป็นบทสรุปและบทส่งท้ายที่ดีที่สุดของ “อีกไม่นานเราจะสูญหาย”
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
ทุ่งหญ้า ป่าข้าว เจ้าเขากางและผม :
มนุษย์กับธรรมชาติและมิตรภาพที่ไม่(ควร)ไร้เผ่าพันธุ์
กนกวรรณ จันทร์เพชร์
ทุ่งหญ้า ป่าข้าว เจ้าเขากางและผม ของ เอกอรุณเป็นนวนิยายเยาวชนชนะเลิศรางวัลแว่นแก้ว ครั้งที่ 15 ประจำปีพุทธศักราช 2562นำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติผ่านเรื่องราวชีวิตของ “โข่ง” เด็กชายวัย 6 ขวบ ที่อาศัยอยู่กับครอบครัวซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม วิถีชีวิตของโข่งจึงผูกพันกับธรรมชาติ ทุ่งหญ้า ป่าข้าว โดยเฉพาะเจ้าเขากางที่เป็นควายตัวแรกในชีวิตของโข่ง และเป็นของโข่งจริง ๆ ไม่ใช่ควายเช่าที่ต้องคืนเจ้าของเมื่อหมดหน้านาโข่งจึงรักและเอาใจใส่เจ้าเขากางเป็นอย่างมาก ความรัก ความผูกพันจึงเริ่มก่อตัวเกิดเป็นสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่เต็มไปด้วยมิตรภาพอันลึกซึ้งและงดงาม นวนิยายเรื่องนี้ได้นำเสนอเสน่ห์ของบรรยากาศแห่งท้องทุ่งนาในชนบทช่วงปีพุทธศักราช 2513 ผ่านฉากและการดำเนินเรื่องอย่างกลมกลืน ทั้งการประกอบอาชีพ การทำนาแบบดั้งเดิมโดยใช้แรงงานสัตว์ กีฬาพื้นบ้านอย่างไก่ชน รวมไปถึงอาหารการกิน วัฒนธรรมประเพณี ด้วยความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย มีทั้งรอยยิ้มคราบน้ำตา และบรรยากาศแห่งท้องทุ่งที่อบอวลไปด้วยทั้งความรัก ความทุกข์ มิตรภาพจากเพื่อนทั้งมนุษย์และสัตว์ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจวิถีชีวิตในยุคเกษตรกรรมได้ดียิ่งขึ้น นวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นการบันทึกอดีตอันทรงคุณค่าที่เต็มไปด้วยภาพบรรยากาศวิถีชีวิตของชาวชนบทที่มนุษย์มีความสัมพันธ์กับสัตว์และธรรมชาติอย่างแน่นแฟ้นซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ปราศจากการปรุงแต่งวัฒนธรรมจากสังคมภายนอก
มนุษย์กับสัตว์ : มิตรภาพไร้เผ่าพันธุ์
นวนิยายเรื่อง “ทุ่งหญ้า ป่าข้าว เจ้าเขากางและผม” นำเสนอมิตรภาพในเผ่าพันธุ์ของคนกับคน และมิตรภาพไร้เผ่าพันธุ์ของคนกับสัตว์ได้อย่างโดดเด่น กล่าวคือ วิถีชีวิตของเด็กในชนบทสมัยก่อนมักมีฐานะยากจน ครอบครัวส่วนใหญ่ทำนาเป็นหลัก เด็กเกือบทุกคนมักรับหน้าที่เป็นผู้เลี้ยงควาย ช่วงเวลาว่างของเด็กจึงหมดไปกับการเลี้ยงควาย จนกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน ดังนั้นเด็กเหล่านี้จึงมีความรัก ความผูกพันกับควายเป็นพิเศษในฐานะเพื่อนที่ต้องดูแลกันและกัน จากเรื่องโข่งเป็นผู้ดูแลเจ้าเขากางตลอด ไม่เว้นแม้แต่อาหารการกินที่เขาจะต้องคอยเลือกสรรอาหารที่ดีมีคุณประโยชน์ให้แก่เจ้าเขากางเสมอ ดังข้อความ “หน้าฝนที่อุดมไปด้วยหญ้าอ่อน ประดู่และไม้อื่น ๆ พร้อมกันแตกใบใหม่เจ้าเขากางไม่ต้องเดินทางไกลก็อิ่มท้อง ผมต้องดูแลมันอย่างดี”(เอกอรุณ, 2563: 36) แสดงให้เห็นถึงความรัก ความผูกพันที่โข่งมีต่อสัตว์เลี้ยงคือ เจ้าเขากาง เขาจึงคอยเอาใจใส่ในเรื่องอาหารการกินของเจ้าเขากางเสมอ แม้ว่าต้นประดู่จะสูงเสียดฟ้า แม้ต้นหญ้าจะอยู่ไกลเพียงใด เขาก็พยายามหาเอามาให้เจ้าเขากางกินให้จนได้ ดังข้อความ “กลัวพ่อจะดุเรื่องนั้นเรื่องหนึ่ง แต่ถึงอย่างไรผมก็อยากให้เจ้าเขากางได้กินอิ่ม ส่งเข้าคอกทุกเย็น ผมยังแถมด้วยยอดไม้อ่อนและหญ้าสวย ๆ ที่ตัดมาจากชายป่าพร้อมตักน้ำไปเติมรางไม้ สำหรับผม เจ้าเขากางไม่เหมือนไก่ซึ่งเป็นเพียงแค่สัตว์เลี้ยง สำคัญยิ่งกว่าไอ้แดงที่พ่อแม่เลี้ยงไว้เห่า มันทำงานหนักไม่แพ้พี่สไบ เพียงแต่มันถอนต้นกล้าและดำนาไม่เป็น” (เอกอรุณ, 2563: 37) แสดงให้เห็นถึงมุมมองอันลึกซึ้งที่โข่งมีต่อเจ้าเขากางอย่างชัดเจนว่า เขากางไม่ได้เป็นเพียงแค่สัตว์เลี้ยงเท่านั้น แต่เขากางคือเพื่อน และเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัวของโข่งด้วย ดังข้อความ “คืนที่สองพี่เขยมานอนเฝ้าไข้เจ้าเขากางเป็นเพื่อนผม อาการป่วยของมันยังไม่กระเตื้อง มันถ่ายมูลเหลว ๆ ออกมากองไว้ ผมคุ้นเคยกับกลิ่นอับ ๆ ตามคอกควายมาแต่เล็ก ไม่เคยรู้สึกรังเกียจหรือเป็นปัญหา .. ตลอดวันอันยาวนาน ผมคอยดูแลเจ้าเขากาง... ผมนั่งลงข้าง ๆ แล้วสอดแขนกอดเขาของมันจนหลับไปด้วยกัน”(เอกอรุณ, 2563: 128) ภาพความผูกพันอันแนบแน่นของโข่งกับเจ้าเขากางสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างชัดเจน กล่าวคือเมื่อควายไม่สบายก็ต้องมานอนเฝ้าเพื่อดูแล เช่นเดียวกับคนเวลาป่วยก็ต้องมีคนคอยเฝ้าดูแล จะเห็นได้ว่าแม้ว่าเจ้าเขากางจะถูกนำเสนอในฐานะของสัตว์แรงงาน แต่โข่งไม่ได้มองเจ้าเขากางในฐานะเจ้านายกับบ่าว แต่เขามองเจ้าเขากางในฐานะของสมาชิกในครอบครัวที่ทำงานหนัก ช่วยหาเงินมาให้กับครอบครัวเช่นเดียวกันกับสมาชิกคนอื่น เขาจึงมอบความรัก ความผูกพันให้กับเจ้าเขากางโดยไม่มีเงื่อนไข แม้ในตอนที่เจ้าเขากางตาย โข่งและเพื่อน ๆ ต่างปกป้องร่างเจ้าเขากางสุดชีวิตเพื่อไม่ให้ร่างของเจ้าเขากางถูกนำไปแล่เนื้อกินเป็นอาหาร พวกเขาช่วยกันขุดหลุมและฝังร่างเจ้าเขากาง จนเป็นเนินขนาดใหญ่ และได้นำต้นประดู่อาหารสุดโปรดของเจ้าเขากางไปปลูกไว้ที่เนินนั้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนความผูกพันและมิตรภาพที่ดีระหว่างเขากับเจ้าเขากาง ดังข้อความ “รุ่งเช้าผมไปเยี่ยมหลุมศพของมัน แอบหลั่งน้ำตาเงียบ ๆ แล้วก็สะอื้นในอก ร้องไห้จนพอใจแล้ว ผมก็คิดวางแผนว่าจะทำอย่างไรต่อไปผมดึงประดู่ต้นเล็ก ๆ จากพื้นดิน ถอนขึ้นมาพร้อมรากที่สมบูรณ์ ทยอยนำไปฝังลงเหนือหลุมศพ ทิ้งระยะห่างไว้เผื่อต้นไม้ที่ผมปลูกจะได้เติบงาม เสียดยอด แล้วแตกกิ่งก้าน”(เอกอรุณ, 2563: 135) แสดงให้เห็นถึงระบบคิดมนุษย์ที่มีต่อสัตว์ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่เท่าเทียมกันผ่านตัวละครเอกคือ “โข่ง” เด็กเลี้ยงควายผู้ซึ่งเติบโตและผูกพันกับธรรมชาติรอบตัวมาตั้งแต่เกิดและเจ้าเขากางควายหนุ่มซึ่งเป็นเพื่อนรัก อธิบายได้ว่าจากความรักอันบริสุทธิ์ นำไปสู่มิตรภาพของสิ่งมีชีวิตต่างเผ่าพันธุ์ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงในฐานะเพื่อนร่วมโลก หรือในฐานะนายกับบ่าวหากแต่เป็นความเท่าเทียมในฐานะสมาชิกครอบครัวเดียวกัน นวนิยายเรื่องนี้จึงแสดงให้เห็นว่า แม้มนุษย์และสัตว์จะเป็นสิ่งมีชีวิตต่างเผ่าพันธุ์ แต่มิตรภาพอันงดงามไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เพียงในเผ่าพันธุ์เดียวเท่านั้น หากแต่สามารถเผื่อแผ่ออกไปได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
เพราะเป็นสัตว์...จึงต้องตายเท่านั้นหรือ?
นวนิยายเรื่อง “ทุ่งหญ้า ป่าข้าว เจ้าเขากางและผม” ยังมีการนำเสนอประเด็นทางจริยธรรมเกี่ยวกับสัตว์ร่วมด้วย โดยมนุษย์จะตีค่าว่าเผ่าพันธุ์ของตนเองอยู่เหนือกว่าสิ่งมีชีวิตเผ่าพันธุ์อื่นโดยเฉพาะสัตว์ เนื่องจากมนุษย์มีความรู้ ความคิด สติปัญญาทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วนั้น มนุษย์ไม่ได้มีความต่างไปจากสัตว์เลย สัตว์มีความรู้สึกนึกคิด มีความต้องกาiเหมือนกับมนุษย์ หากแต่เพียงเพราะเป็นสัตว์ มนุษย์จึงสามารถทรมานหรือฆ่าสัตว์ได้เพียงเพราะสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นเป็นสัตว์มิใช่มนุษย์ ดังข้อความ “ผมผละจากข้างสังเวียน ออกมาจ้องดูกะลาที่ค่อย ๆ จมไปทีละนิด ไก่ตีกันแทบตายกันไปข้างหนึ่ง ... ผมเดินไปดูลุงทองดีให้น้ำไก่ไอ้เขียวบอบช้ำเพียงเล็กน้อย ผมเดินไปดูอีกฝ่าย เจ้าของไก่กับผู้ช่วยของเขากำลังสอดด้ายเย็บตาให้ไอ้แดง”(เอกอรุณ, 2563: 47) แสดงให้เห็นถึงการวางตนของมนุษย์ที่อยู่เหนือกว่าสัตว์ โดยใช้อำนาจความเป็นมนุษย์ในการเอารัดเอาเปรียบสัตว์ในทุกด้าน รวมถึงการใช้สัตว์เป็นวัตถุดิบในการสร้างความสุข สร้างฐานะให้กับตนเองผ่านเกมกีฬาที่มีการใช้ชีวิตของสัตว์เป็นเดิมพัน เหมือนดังลุงทองดีที่ใช้ไอ้เขียวหางแดงมาตีกับไอ้แดงซึ่งเป็นไก่ของฝั่งตรงข้ามเพียงเพราะว่ามันเป็นไก่ชน มันเลยต้องรับบทเป็นนักมวยเมื่ออยู่ในสนาม โดยหารู้ไม่ว่าเมื่อใดที่เกมจบ ชีวิตของพวกมันก็อาจจะจบด้วยหากมันพ่ายแพ้ กลับกันหากมันตีชนะคู่ต่อสู้ มันก็จะได้รับการโจษจันไปทั่ววงการสังเวียนไก่ สะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์รู้สึกสนุกสนานกับการทรมานสัตว์สัตว์บางตัวถึงขั้นได้รับบาดเจ็บจนตาบอดหรือเสียชีวิตจากความสุกสนานนั้น เมื่อสัตว์ยังมีผลประโยชน์มนุษย์จะรักและเอาใจใส่เป็นอย่างดี แต่เมื่อหมดผลประโยชน์เขาก็ฆ่าสัตว์อย่างไร้ความเมตตา ดังข้อความ “ลุงทองดียืมปืนลูกซองจากเพื่อนบ้านมายิงเจ้าสีเทาด้วยมือแกเองไม่แน่ใจว่าแกจำมาจากหนังขายยาหรือทำไปด้วยความจำเป็น เจ้าของไก่ชนก็เช่นเดียวกัน ไก่ที่บาดเจ็บและบอบช้ำเกินเยียวยาจากสังเวียน ไม่มีทางกลับมาเป็นไก่ชนที่เก่งได้อีก เจ้าของจะฆ่ามันด้วยมือแล้วส่งลงหม้อแกง เจ้าของม้าทำไมกินเนื้อม้าที่ตัวเองเคยขี่แล้วทำไมเจ้าของไก่ชนฆ่าไก่ที่ตัวเองเคยรักแล้วกินเนื้อมันเป็นอาหาร” (เอกอรุณ, 2563: 60) แสดงให้เห็นถึงความหยิ่งผยองในเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ ซึ่งเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว พร้อมที่จะเอารัดเอาเปรียบสัตว์เหล่านั้นได้ตลอดเวลา หากสัตว์หมดผลประโยชน์ก็สามารถฆ่าทิ้งอย่างได้อย่างไร้มนุษยธรรม แม้กระทั่งเจ้าม้าสีเทาทาสผู้ซื่อสัตย์ที่เคยรับใช้ลุงทองดีมาโดยตลอด ทั้งแบกกระสอบ ทั้งใช้เดินทางไกล แต่เมื่อมันประสบอุบัติเหตุขาหักเพียงเพราะลุงทองดีบังคับให้มันเดินทางฝ่าความมืดจนตกไปในบ่อร้างมันจึงหมดผลประโยชน์และถูกฆ่าโดยเจ้านายที่มันเชื่อใจที่สุด การที่ลุงทองดีฆ่าม้าเทศได้อย่างง่ายดายโดยไม่ได้นึกถึงความดีที่มันเคยทำให้ และสามารถกินเนื้อมันได้อย่างไม่รู้สึกรู้สาอะไรนั่นเป็นเครื่องยืนยันแล้วว่ามนุษย์ที่ว่าสูงส่ง มีอำนาจเหนือทุกสิ่ง แต่กลับใช้อำนาจเหล่านั้นอย่างไร้ซึ่งมนุษยธรรม การกระทำเช่นนี้ยังเรียกว่า “มนุษย์ผู้ประเสริฐ” ได้อีกหรือ ?
มนุษย์กับธรรมชาติ : สุนทรียภาพแนบแน่นยั่งยืน
ความโดดเด่นของนวนิยายเรื่อง ทุ่งหญ้า นาข้าว เจ้าเขากาง และผม อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ การประกอบสร้างลักษณะตัวละคร โข่งและผองเพื่อน เอกอรุณได้สร้างตัวละครเยาวชนเหล่านี้ให้เป็นตัวละครเยาวชนในชนบท ที่มีความรักและความผูกพันกับธรรมชาติผ่านวิถีชีวิต การละเล่น รวมไปถึงการนำธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบสร้างฉากเพื่อใช้ในการนำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติให้โดดเด่นการประกอบสร้างตัวละครเยาวชนให้มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ โดยนำมนต์เสน่ห์ของวิถีชีวิตชนบท ท้องนาป่าข้าวที่รายล้อมรอบตัวการทำมาหากิน การประกอบอาชีพ รวมไปถึงวัฒนธรรมประเพณี เข้ามาใช้ในการถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติของคนในชนบทได้อย่างแจ่มชัดด้วยกลวิธีในการเล่าเรื่องที่เป็นการเล่าผ่านมุมมองของโข่ง โดยเริ่มตั้งแต่อายุหกขวบที่ค่อย ๆ เติบโต ทำให้เราได้เห็นถึงมุมมองอันไร้เดียงสาของเยาวชนที่ต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต นวนิยายเรื่องนี้จึงทำหน้าที่ของวรรณกรรมได้อย่างสมบูรณ์พร้อม ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกเรื่องราววิถีชีวิต ความทรงจำที่มีคุณค่าของสังคมในห้วงเวลานั้นเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ผ่านเรื่องราวของตัวละครเอกผู้วิจารณ์มีความเห็นว่า ความจงใจของผู้ประพันธ์ในการเลือกตัวละครเยาวชนเข้ามาใช้ในการดำเนินเรื่อง เป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงแนวคิดสำคัญที่ว่ามนุษย์ต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติ อีกทั้งกระตุ้นจิตสำนึกให้มนุษย์ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่ต้องเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต เยาวชนจึงมีหน้าที่ในการดูแล รักษา และอนุรักษ์ธรรมชาติสืบไป
เอกอรุณ. 2563. ทุ่งหญ้า ป่าข้าว เจ้าเขากางและผม. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~