เราต่างหลงทางในความเป็นผู้ใหญ่: จากวัยรุ่นสู่ (การหลงทางใน) วัยผู้ใหญ่

 

สัณห์ฤทัย ตติยานุพันธ์วงศ์

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

            ทุกคนล้วนต้องเผชิญกับช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต หนึ่งในการเปลี่ยนผันที่ต้องพบเจอในชีวิต คือ “การเปลี่ยนผ่านของช่วงวัย” ในวันที่เรายังอยู่ในวัยหนุ่มสาว จู่ ๆ กาลเวลาแปรผันให้เราต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ช่องว่างเพียงไม่กี่ปีจากวัยเรียนเข้าสู่วัยทำงานต่างทำให้เราหลงทางโซซัดโซเซในการใช้ชีวิต ควรจะเดินไปทางไหนต่อ เลือกเส้นทางไหนดี คำถามเหล่านี้ผุดขึ้นมามากมายในหัว แต่กลับไม่มีคำตอบของคำถามนั้นสักที เราทุกคนต่างเคยมีความรู้สึกหลงทางจากการเปลี่ยนผ่านอยู่เสมอ

            หนังสือรวมเรื่องสั้นเรื่อง “เราต่างหลงทางในความเป็นผู้ใหญ่” ของบุชชี่ เป็นหนังสือที่สะท้อนความสับสนใน “การเปลี่ยนผ่านของช่วงวัย” หรือ “การเติบโตเป็นผู้ใหญ่” ผ่านการนำเรื่องราวจากคนรอบตัวที่ผู้เขียนนั้นได้พูดคุยรับฟังมา ความอัดอั้นที่ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้ใครได้ ทำให้ผู้เขียนนำเรื่องราวเหล่านี้มาสาดระบายความรู้สึกผิดลงในหน้ากระดาษ ถ่ายทอดมันออกมาเป็นเรื่องราวของวัยรุ่นที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านของช่วงวัย แม้เรื่องราวเหล่านี้จะไม่ได้มอบคำตอบหรือทางออกให้กับผู้อ่าน แต่บุชชี่หวังว่ามันจะเป็นเพื่อนร่วมทางให้ใครสักคนที่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันได้รู้ว่า “เราต่างไม่ได้หลงทางอยู่คนเดียว”

            เมื่อเราก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านในชีวิต การหลงทาง ความสับสน มักจะประดังประเดเข้ามาหาด้วยความไร้ประสบการณ์ของเราเสมอ เรื่องราวในหนังสือ “เราต่างหลงทางในความเป็นผู้ใหญ่” นำเสนอถึงความสับสนของชีวิตที่กำลังอยู่ในจุดที่ต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งความสับสนนั้นมีหลายด้านหลายมุม ไม่ว่าจะเป็นการตามหาเส้นทางการดำเนินชีวิต ความรักในวัยผู้ใหญ่ หรือการเริ่มต้นที่จะต้องทำงาน ดังคำนำของหนังสือเล่มนี้

            “หลงทางในความเป็นผู้ใหญ่ คือ สภาวะที่ไม่รู้จะเอายังไงกับทางเลือกที่มีในชีวิตดี มีตั้งแต่ไม่รู้จะทำงานอะไร ไม่รู้ว่าจะคบกับแฟนคนนี้ต่อไปดีไหม ไม่รู้ว่าความฝัน’แพชชั่น’ของตัวเองคืออะไร” (บุชชี่, ๒๕๖๐:คำนำ)

 

เมื่อหาเส้นทางของตัวเองไม่เจอ ความสับสนจึงเริ่มมีบทบาทในชีวิต

          ขณะที่โลกก้าวไปข้างหน้า กาลเวลาบีบให้คนเราโตขึ้นทุก ๆ วัน ตัวเลขของอายุที่เริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้น ผู้คนรอบตัวเริ่มทยอยเปิดฉากชีวิตบนเส้นทางของตัวเองและก้าวเดินอย่างมั่นคง แต่กลับมีผู้คนอีกมากมายที่ยังหลงทางในเขาวงกตแห่งชีวิต หรือจะเรียกง่าย ๆ ว่า “ยังหาตัวเองไม่เจอ” ไม่รู้ว่าความชอบของตัวเองคืออะไร ไม่รู้ว่าตัวเองไม่ต้องการอะไรในชีวิต สภาวะนี้ทำให้หลายคนต้องจมปลักอยู่ในห้วงของความสับสน ดังเช่นในเรื่อง “วันที่เผลอมองว่าชีวิตไม่เป็นดั่งใจ” เป็นเรื่องราวของ แซม พนักงานออฟฟิศที่กำลังตกอยู่ในสภาวะสับสนกับเส้นทางในชีวิตของตัวเอง เขาลาออกจากงานเพื่อหาทางเดินของตัวเองเป็นเวลา ๖ เดือนแล้ว จนแล้วจนรอดแซมก็ยังหาทางสายนั้นไม่พบ ความรู้สึกเคว้งคว้างและสับสนกำลังกัดกินจิตใจของเขา แต่เขาทำได้เพียงระบายมันออกมาให้ มาร์ค เพื่อนชาวฝรั่งเศสของเขาฟัง

            “เขาเพิ่งลาออกจากงานประจำที่ทำไปได้ ๖ เดือน กลับมาอยู่บ้าน เคว้งคว้าง อยากเริ่มธุรกิจแต่ไม่รู้จะเริ่มอะไร เริ่มยังไง เริ่มกับใคร...”

            “ไม่แน่ใจว่าตกลงชีวิตตัวเองต้องการอะไร ชอบทำอะไรกันแน่” (บุชชี่, ๒๕๖๐: ๘๓)

            ข้อความข้างต้นเป็นคำพูดที่แซมได้ระบายความกังวลใจให้เพื่อนของเขาฟัง สื่อให้เห็นถึงความสับสนจากการหาตัวตนของเขาไม่เจอ การที่แซมออกจากงานเก่าที่เคยทำ แล้วเริ่มตั้งคำถามกับตัวเขาเอง “ชีวิตตัวเองต้องการอะไรกันแน่” แสดงให้เห็นว่าแซมเริ่มตระหนักถึงความจริงในใจว่านี่ยังไม่ใช่เส้นทางของเขา แซมยังคงต้องค้นหาความเป็นเขาและแสวงหาเส้นทางของตัวเองต่อไป

            มาร์คทิ้งท้ายคำพูดหนึ่งไว้ให้แซม ก่อนการสนทนาของพวกเขาจะจบลง เพื่อให้กำลังใจเพื่อนของเขาที่จมอยู่ในความยุ่งเหยิง

            “แซมยูเป็นเพื่อนไอ ไอเป็นคนยิ้มเก่ง เพราะฉะนั้นยูต้องยิ้มให้เยอะ ๆ นะ วันนี้ยูอาจจะสับสนในชีวิต ไอเข้าใจ เดี๋ยวมันจะผ่านไป ไม่มีใครสับสนไปจนอายุเจ็ดสิบหรอกเชื่อไอเถอะ” (บุชชี่, ๒๕๖๐: ๘๗)

            จากข้อความข้างต้น เสมือนผู้เขียนกำลังปลอบใจผู้อ่านที่กำลังเผชิญหน้ากับสภาวะนี้เช่นเดียวกันผ่านคำพูดของมาร์ค เพื่อให้ผู้อ่านรู้สึกว่าการหลงทางในเส้นทางของตัวเองไม่ใช่เรื่องแย่ เราคงไม่จมอยู่ในห้วงแห่งความสับสนนี้ตลอดไป แล้ววันหนึ่งเราจะได้เจอกับแสงสว่างที่ทำให้เราหลุดพ้นจากมันได้อย่างแน่นอน

 

เมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ นิยามความรักนั้นไม่เหมือนเดิม

            ถึงแม้หนังสือเล่มนี้จะไม่ได้กล่าวถึงเรื่องความรักมากนัก แต่ได้นำเสนอมุมมองการหลงทางกับเรื่องความรักในช่วงที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ นิยามความรักของแต่ละวัยอาจไม่เหมือนกัน ยามที่เราเป็นวัยรุ่นคงคิดว่า “แค่คนสองคนรักกันนั้นถือเป็นความรักได้แล้ว” แต่เมื่อเราเติบโตขึ้น การที่จะเริ่มคบหรือคบกับใครต่อ ไม่ได้มีแค่เรื่องความรักเพียงอย่างเดียวเหมือนเมื่อครั้งเป็นวัยรุ่น ปัจจัยอื่น ๆ จะเริ่มส่งผลต่อการดำเนินไปของความสัมพันธ์มากขึ้น ทั้งเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงาน ฐานะการเงินของแต่ละฝ่ายที่ไม่สามารถเทียบให้เท่ากันได้ เป้าหมายในความสัมพันธ์ที่ไม่ตรงกัน หรือสังคมที่ทั้งสองเติบโตมาไม่เหมือนกัน และอีกมากมาย ปัจจัยเหล่านี้ทำให้บุคคลที่มีความรักในช่วงวัยนี้ อาจไม่ชินและสับสนกับเส้นทางความรักในวัยผู้ใหญ่ และเกิดปัญหาที่ไม่เคยพบเจอตามมา อย่างที่เราเองยังไม่ทันได้ทำความเข้าใจกับมันมากนัก ส่งผลให้ความสัมพันธ์ไม่ราบรื่นและไม่สามารถก้าวเดินต่อไปได้

            อย่างเช่นปัญหาด้านความรักในเรื่อง “บนทางกลับบ้านกับมนุษย์ป้า” ถึงเรื่องราวในเรื่องนี้จะเกี่ยวกับปัญหาชีวิตของคนที่เพื่อนร่วมเดินทางในแท็กซี่คันหนึ่งนำมาเล่าสู่กันฟัง แต่เรื่องนี้มีการนำเสนอมุมมองในด้านความรักไว้ว่า “ปัญหาด้านอื่น ๆ ในชีวิต ส่งผลต่อความรักเช่นกัน” ดังบทสนทนาของ เจน นักธุรกิจสาวที่กำลังทะเลาะกับแฟนของเธอทางโทรศัพท์

            "เจนเหนื่อยเข้าใจปะ ไม่อยากทะเลาะเข้าใจปะ ถ้าจะโทรมาแค่นี้ทีหลังไม่ต้องโทรมา แค่ปัญหาที่ทำงานก็เยอะพอแล้วพี่เต้อย่าเพิ่มภาระให้เจนอีกได้ป่ะ - โอ้ย! - จะเอายังไงวะ บอกว่ากลับคนเดียวก็คนเดียวดิ"(บุชชี่, ๒๕๖๐: ๙๒)

            จากข้อความข้างต้น แสดงให้เห็นว่าปัญหาจากที่ทำงานนั้น สามารถทำให้เจนมีปัญหากับแฟนได้ ในขณะที่เจนกำลังเหนื่อยจากปัญหาที่ทำงาน เธอยังต้องเจอแฟนที่ไม่เข้าใจในความเหนื่อยของเธออีก ทำให้เจนระเบิดอารมณ์ออกมาถึงขีดสุด ผ่านคำพูดต่อไปนี้

            "แค่นี้ก่อนนะเจนยังไม่สะดวกคุย ถึงบ้านแล้วจะส่งข้อความไป โอเคมั้ย... วันนี้ไม่คุยได้มั้ยพรุ่งนี้เจนต้องตื่นเช้าไปทำงาน เฮ้ยเป็นผู้ใหญ่หน่อยดิ เจนคบกับพี่เต้เป็นแฟนพี่นะเว้ยไม่ใช่เป็นแม่ เจนไม่อยากต้องตามเอาใจพี่ทุกอย่างเข้าใจปะ...คุยรู้เรื่องหน่อยดิวะ...มีอะไรอีก...ไม่ต้องพูดแล้วแค่นี้นะ"(บุชชี่, ๒๕๖๐: ๙๒)

            ในคำว่า “เป็นผู้ใหญ่หน่อยดิ” ที่เจนหมายถึงนั้น คงจะแปลได้ว่าเธอทนไม่ไหวกับ “ความงี่เง่า ความเอาแต่ใจ” ของแฟนเธอแล้ว ถึงตอนท้ายทั้งคู่จะได้พูดคุยปรับความเข้าใจกัน แต่สถานการณ์นี้นับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าแค่ความรักในความสัมพันธ์นั้นยังไม่เพียงพอ ต้องคำนึงถึงเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตด้วย ดังนั้นความรักในวัยผู้ใหญ่จึงเป็นเรื่องที่จะต้องพิถีพิถันในการเลือกสรรคนรักของตนและจับมือเดินไปด้วยกันอย่างมั่นคง

 

จากวัยเรียนสู่วัยทำงาน แนวทางการใช้ชีวิตที่แตกต่างออกไป

            แต่ละวัยมีแนวทางการใช้ชีวิตที่แตกต่างออกไป ในช่วงวัยรุ่นเป็นวัยที่มีความรับผิดชอบในขอบเขตจำกัด ชีวิตมีแต่ความสนุกสนานรื่นรมย์ เป็นช่วงแห่งการตามหาตัวตนและความฝัน ส่วนวัยผู้ใหญ่เป็นวัยของการสร้างความสำเร็จ เริ่มต้นออกทำงาน มีรายได้สำหรับตนเอง มีความมุ่งมั่นกระตือรือร้นที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แนวทางการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงจากวัยรุ่นสู่ผู้ใหญ่ ทำให้เกิดการสับสนหลงทาง บางคนก็ไม่สามารถตั้งรับหรือปรับตัวได้ทัน เมื่อเห็นความสำเร็จของผู้อื่นที่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ยิ่งทำให้เราสับสนกังวลมากกว่าเดิม เช่นในเรื่อง “จิ้งจกข้ามทะเลทราย” ที่เล่าถึง ฌอน จิ้งจกหนุ่มที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยและมีความฝันอยากจะข้ามทะเลทราย มันเห็นจิ้งจกตัวอื่นสามารถข้ามทะเลทรายได้ตั้งแต่อายุไม่มาก ทำให้มันตั้งใจจะทำได้อย่างจิ้งจกตัวอื่น เรื่องนี้แสดงให้เห็นมุมมองความหลงทางในการประสบความสำเร็จระหว่างช่วงวัยที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่

            “มันล้ม มันยืนสองขาใหม่แต่ก็ล้มอีก ลองอีกเป็นสิบ ๆ รอบแต่ก็ไม่รอด ล้มทุกคราวจิ้งจกตัวอื่น ๆ เดินผ่านมันไปหน้าตาเฉย บ้างเดินสองขาบ้างสามขาบ้างขาเดียว บางตัวก็ขับรถไป บางตัวใช้วิธีกลิ้งหลุน ๆ ทุกตัวไปไวฉิว ๆ ... มันไม่เข้าใจ ก็หนังสือ 'ข้ามทะเลทราย 500 กิโลเมตรใน 3 วัน' บอกไว้ซัดเจนแล้วนี่ว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการเดินสองขา” (บุชชี่, ๒๕๖๐: ๔๕)

            จากข้อความข้างต้น ตอนแรกฌอนเห็นจิ้งจกตัวอื่นเดินสองขาข้ามทะเลทราย มันคิดว่าวิธีนี้จะทำให้มันข้ามทะเลทรายได้ แต่เมื่อมันลองทำดู กลับพบว่านี่ไม่ใช่วิธีที่เหมาะสำหรับมัน อีกทั้งมันยังเห็นตัวอื่นข้ามทะเลทรายได้ด้วยวิธีอื่น ๆ อีกมากมายที่ไม่ใช่การเดินสองขา ทำให้ฌอนเกิดการสับสนในแนวทางของตนเอง

            “ฌอนเพิ่งคิดได้ ว่ามันไม่ควรเดินสองขา กว่ามันจะเดินสองขาเก่ง ต้องใช้เวลาฝึกอีกไม่รู้กี่ปี ชาตินี้มันคงข้ามทะเลทรายไม่ได้แน่ ๆ ถ้ามันเดินสองขา มันตัดสินใจละ มันจะไปด้วยวิธีที่มันถนัดที่สุด

            กรรเชียงหลัง!

            มันกระโจนมุดลงไปในทรายแล้วว่ายกรรเชียงหลังวาดแขนไปอย่างสบาย ๆ เผลอแปบเดียวมันแซงหน้าจิ้งจกสามเกลอไปไกลลิบ มันยิ้มให้ตัวเอง ในที่สุดมันก็เริ่มจับทางได้แล้ว” (บุชชี่, ๒๕๖๐: ๔๖)

            จากข้อความข้างต้น เมื่อฌอนค้นพบแล้วว่าการเดินสองขาไม่เหมาะกับมัน ฌอนจึงเริ่มต้นใหม่ด้วยวิธีที่มันถนัด และในตอนท้ายของเรื่องนี้ ฌอนเดินข้ามทะเลทรายได้สำเร็จด้วยวิธีกรรเชียงหลังที่มันถนัดนั่นเอง แสดงให้เห็นว่า ทุกคนต่างมีแนวทางในการประสบความสำเร็จไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่ควรเอาวิธีของเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่น แม้เรื่องนี้จะไม่ได้พูดถึงการสับสนในแนวทางการดำเนินชีวิตโดยตรง แต่ให้มุมมองไว้ว่า การที่เราสับสนกับแนวทางการชีวิตในวัยผู้ใหญ่นั้น สักวันเราจะได้พบกับแนวทางของตัวเราเอง

            สุดท้ายหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ต้องการบอกกับผู้อ่านว่า “การหลงทางในความเป็นผู้ใหญ่นั้นเป็นเรื่องปกติ” ที่พบเจอได้กับมนุษย์ทุกคน ใดใดแล้ว “เราต่างไม่ได้หลงทางคนเดียว” หากมองไปรอบ ๆ จะเห็นว่ายังมีเพื่อนร่วมทางอีกมากมายที่กำลังก้าวเดินด้วยความสับสน และหลงเวียนวนอยู่ในเขาวงกตนี้เช่นกัน

 

อ้างอิง

บุชชี่. (๒๕๖๐). เราต่างหลงทางในความเป็นผู้ใหญ่. สมุทรปราการ: อาเธน่า.

 

 

 

Visitors: 72,947