พรหมลิขิต: กรรมที่เราเลือกลิขิตได้

          

พรหมลิขิต: กรรมที่เราเลือกลิขิตได้

กิรณา ธีระสูตร์

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

         

          เคยไหม... ที่บางครั้งเราเจอหน้าคนบางคนรู้สึกถึงความเป็นมิตร ถูกชะตา อยากสนิทและทำความรู้จักด้วย เคยไหม... ที่บางครั้งเราเจอหน้าคนบางคนแต่เรากลับรู้สึกไม่ชอบตั้งแต่แรกเห็น ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เคยคุย ไม่ได้รู้จักถึงนิสัยที่แท้จริงของเขา สิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเพราะการกระทำที่เคยทำร่วมกันมาในอดีตชาติก็เป็นได้ ทั้งกรรมดีหรือไม่ดีทั้งหมดนี้ก็จะส่งผลถึงปัจจุบันได้ด้วยเช่นกัน

          หนังสือเรื่อง “พรหมลิขิต” เป็นนวนิยายภาคต่อของเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” แต่งโดย รอมแพง ที่กล่าวถึง พุดตาน ที่อยู่ระหว่างช่วงฝึกงาน เธอได้ขุดเจอหีบใบหนึ่ง ทันทีที่สัมผัสกับ คัมภีร์กฤษณะกาลี ในหีบนั้น ทำให้พุดตานได้ข้ามภพย้อนมาอยู่ในอดีต พบกับชายหนุ่มคนหนึ่ง ที่อ้างว่าเป็นมรดกตกทอดในตระกูลแล้วนำคัมภีร์กฤษณะกาลีนั้นไป ครั้นจะไปเรียกร้องขอคืน กลับถูกห้ามโดย ยายกุย เพราะคนที่เธอจะบุกไปถึงบ้าน คือ หมื่นมหาฤทธิ์ หรือพ่อริด ลูกชายแฝดคนน้องของพระยาวิสูตรสาครและคุณหญิงการะเกด เมื่อมาอยู่ที่นี่ เธอค่อยไม่ถูกกับ แม่กลิ่น หลานสาวของยายกุยที่ดูจะไม่ชอบเธอนัก แม้ว่าเธอจะไม่เคยทำอะไรให้ แต่ก็โดนหาเรื่องมากลั่นแกล้งเธอตลอด ราวกับทั้งคู่เป็นเจ้ากรรมนายเวรกันมาก่อน เหตุการณ์ทุกอย่างดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ พร้อมกับพุดตานที่พยายามตามหาเอาคัมภีร์กฤษณะกาลีมาให้ได้เพราะคิดว่านั่นอาจเป็นหนทางเดียวที่ทำให้กลับไปยังที่ที่จากมา

          การดำเนินเรื่อง “พรหมลิขิต” นี้ ใช้มนต์กฤษณะกาลี ซึ่งเป็นตัวแทนของกุญแจกลับไปสู่อดีตเพื่อแก้ไขกรรม โดยคำว่า กฤษณะ มาจากพระกฤษณะ มีความหมายว่า ดำ คล้ำ มืด พระกฤษณะเป็นเทพเจ้าแห่งความรัก ความสุข มหาเทพแห่งความหลุดพ้น ชี้ทางมนุษย์ไปสู่ความสุขสมบูรณ์ที่แท้จริง ส่วน กาลี มาจากพระแม่กาลี แปลว่า หญิงดำ เพราะมีกายสีดำสนิท เป็นปางหนึ่งของพระอุมาเทวี กำเนิดมาเพื่อกำจัดคนชั่ว มีอำนาจฤทธิ์ในการปราบปรามสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง มีเทวานุภาพอันแรงกล้า สร้างความวิบัติแก่เหล่าอสูรอย่างรุนแรง และยังมีพลังอำนาจในการขจัดคุณไสย ลบล้างไสยเวทย์ด้านมืด พระแม่กาลีเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจว่าคนที่ทำชั่ว หรือคนที่มีกรรมชั่วจะต้องได้รับผลของกรรมนั้น ซึ่งเป็นเหมือนผู้พิพากษากรรมของมนุษย์

          กฤษณะกาลี จึงเป็นเหมือนทางเชื่อมใช้ลงโทษคนทำบาปทำกรรม เมื่อดวงจิตสองดวงมีชะตาที่เคยผูกพันกันหรือเรียกอีกอย่างว่า มีกรรมร่วมกันแต่อดีตชาติ กล่าวคือคนสองคนหรือมากกว่านั้น เคยทำบางสิ่งร่วมกันมา จะเป็นทางดีก็หรือไม่ดีก็ได้ เช่น การที่เคยทำบุญร่วมกันมา โดยความเชื่อที่ว่าเมื่อได้ทำบุญร่วมชาติตักบาตรร่วมขัน หากตายไปจะได้กลับมาเกิดเจอกันอีก และอีกความเชื่อหนึ่งที่หากสร้างบาป ความแค้นไว้ก่อนตาย เกิดมาก็ต้องมาชดใช้กรรมร่วมกันอีก

          “กรรม” มีรากศัพท์เดิมมากจากภาษาบาลีว่า กรติ แต่เรานิยมเขียนตามรูปสันสกฤตว่า กรรม คำว่า กรรม จาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง กิจที่บุคคลจงใจทำหรือทำด้วยเจตนาที่ส่งผลดีหรือร้ายมายังปัจจุบัน หรือซึ่งจะส่งผลต่อไปในอนาคตด้วย ทั้งทำด้วยกาย อันเรียกว่า กายกรรม ทำด้วยวาจา อันเรียกว่า วจีกรรม ทำด้วยใจหรือคิด อันเรียกว่า มโนกรรม กรรมเกี่ยวกับมนุษย์เสมอ เพราะคนเรานั่นแหละที่ทำกรรมอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นจนถึงหลับไปใหม่ ก็มีเจตนาที่จะทำ ที่จะพูด คิดอะไรต่าง ๆ อยู่เสมอ โดยปกติไม่มีใครหยุดนิ่งอยู่เฉย ๆ ได้ ถึงมือไม่ทำ ปากไม่พูด ใจก็คิดถึงเรื่องต่าง ๆ

          ในเรื่อง “พรหมลิขิต” ผู้เขียนได้กล่าวถึงเรื่องราวต่าง ๆ โดยผ่านมุมมองของพุดตาน ที่ได้ข้ามภพไปแก้ไขกรรมในอดีต แก้ไขสิ่งที่ตนทำ เปลี่ยนบาปกรรมให้กลายเป็นบุญ เพราะเธอได้รับรู้อดีตของตัวเองที่ไม่เคยรู้มาก่อน จึงแก้ไขปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น แต่ความเป็นจริง ชีวิตจริงของเรานั้น ไม่สามารถที่จะย้อนเวลาเพื่อกลับไปแก้ไขสิ่งที่เป็นอดีตไปแล้วได้ เมื่อตัดสินใจไปแล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม สิ่งที่เราทำได้คือต้องยอมรับผลที่ตามมา ผู้เขียนต้องการสื่อถึงการเรียนรู้และเติบโต สะท้อนให้เห็นว่า ไม่จำเป็นที่ต้องจมอยู่กับอดีต เมื่อรับรู้แล้วว่าผิดพลาดตรงไหนก็ปรับแก้ให้มันดีขึ้น หากยังทำแบบเดิมอยู่ กรรมก็จะวนกลับมาหา ซ้ำๆ จนกว่าจะหมดเวรหมดกรรมที่ทำมา

          นวนิยายเรื่องนี้ยังได้สอนให้รู้จักปล่อยวาง เพราะชีวิตมีเกิดก็ย่อมมีดับ ดังคำกล่าวที่ว่า “แม่มะลิอย่าได้คิดสั้น แน่นอนว่าเมื่อคนที่เรารักแลผูกพันต้องพลัดพรากกันไปโดยมิได้เตรียมใจ ย่อมมีความโศกเศร้าเกิดขึ้น” (รอมแพง, 2562:186) สะท้อนให้เห็นถึงการเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้นเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องพบเจอ ไม่มีใครเลี่ยงได้ และคำว่าคิดสั้นในที่นี้ ก็หมายถึงการจบปัญหา เพราะเขาไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ความจริงทุกคนมีศักยภาพในการแก้ปัญหาได้ เมื่อสภาวะจิตใจเป็นปกติ แต่เมื่ออยู่ในสภาวะวิกฤตหรือกำลังมีความทุกข์ ความสามารถในการตัดสินใจจะน้อยลง เชื่อว่ามีทางออกที่ดีกว่าการลงเอยด้วยการปลิดชีวิต ดังนั้นจงอย่าแก้ปัญหาโดยใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง จนขาดวิจารณญาณ เห็นได้จากคำพูดที่ว่า “อ๋อ มีคนทำให้ข่าวสารบิดเบือนเจ้าค่ะ ข้าได้ยินมาจากคุณน้าการะเกดว่าพระมหากษัตริย์อยุธยาแต่ละองค์ชิงพระราชบัลลังก์กันให้วุ่นไปหมด นี่ก็คงเป็นเล่ห์ของคนที่อยาก...” (รอมแพง, 2562:469) สะท้อนให้รู้ว่าบางสิ่งที่เราคิดว่าเรารู้ก็อาจจะไม่ใช่ความจริงก็ได้ เพราะข่าวสารต่าง ๆ ถูกบิดเบือนได้ตลอดเวลา จงอย่าเชื่อทุกสิ่งที่ได้ยินแต่ให้เชื่อสิ่งที่เห็นกับตามากกว่า กำแพงมีหูประตูมีช่อง ใครทำอะไรเอาไว้ สักวันความจริงจะถูกเปิดเผย

          ยายกุยได้กล่าวไว้ว่า “แม่พุดตาน ใจเย็น ๆ เถิด อย่าได้ตบนังนี่ให้เสียมือแม่เลยจักกลายเป็นเรื่องเป็นราว แม่อาจจักต้องโทษ แลไม่ว่ามันจักขายให้ผู้ใดข้าจักไปไถ่มาคืนออเจ้าให้ได้ ส่วนความผิดของอีกลิ่นในครานี้ ข้าจักจัดการทำโทษมันกับมือข้าเอง ผูกมันกลางขื่อศาลานี่ ข้าจักโบยมันเอง” (รอมแพง,2562:247) เมื่อมีความริษยามาเกาะกุมจิตใจ เห็นผู้อื่นได้ดีแล้วทนไม่ได้ สะท้อนสังคมในปัจจุบันที่มีการอิจฉาริษยาคนที่ดีกว่าตนได้รับความรักความสนใจมากกว่า แต่ในสังคมนั้นก็ยังมีคนที่เป็นกลาง ไม่ลำเอียง มองความถูกต้องเป็นหลัก ทำผิดก็ว่าไปตามผิด แม้จะเป็นคนสนิทชิดเชื้อก็ตาม

          สุดท้ายนี้แม้ไม่รู้ว่าเวรกรรมมีจริงหรือไม่ แต่ผลของการกระทำเกิดขึ้นจริงเสมอ ทำดี ดี ทำชั่ว ชั่ว ทำสิ่งไหนได้แบบนั้น ทำปัจจุบันให้ดี เพราะเวลาเดินผ่านไปเราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้เหมือนอย่างพุดตาน พึงระลึกถึงการกระทำของเราไว้เสมอทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรานั้นเลือก เพราะตัวเรานี่แหละคือผู้ลิขิตชีวิตตน ดังคำพูดที่ว่า “ชาตินั้นก็คือชาตินั้น ชาตินี้ก็คือชาตินี้ จงแยกแยะตนเป็นเพียงผู้ดูเถิด มนต์กฤษณะกาลีอยู่เหนือกาลเวลา แต่ไม่เหนือกรรม ผู้ใดทำสิ่งใดไว้ย่อมต้องได้รับผลที่สาสมกัน ในเมื่อรู้ว่าเคยกระทำผิดแล้วสำนึกผิดนั้นก็จงกระทำตัวเสียใหม่ อย่าให้อารมณ์มาอยู่เหนือเหตุผล เหนือความรู้สึกนึกคิดที่ดีงาม...” (รอมแพง, 2562:479)

 

อ้างอิง

รอมแพง. (2562). พรหมลิขิต. กรุงเทพมหานคร: แฮปปี้บานาน่า.

 

เป็นเนื้อหาของบทความหรือสินค้าโดยละเอียด

กรุณาใส่ข้อความ …

Visitors: 72,267