ลืมตาตื่นอีกครั้ง...ในเวลาอันสมควร : การมองโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ลืมตาตื่นอีกครั้ง...ในเวลาอันสมควร : การมองโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ปาณิสรา อังคะวิชัย

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

            “ลืมตาตื่นอีกครั้ง... ในเวลาอันสมควร” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นของปองวุฒิ รุจิระชาคร เขาเป็นนักเขียนแนวหน้า จากการที่เขาทำงานเขียนอย่างหนักหน่วงและหลากประเภท ทำให้ เมื่อมีนาคม พ.ศ.2560 เขาได้มีผลงานตีพิมพ์ราว 90 เล่ม งานเขียนของเขามีหลายแนว มีทั้งงานที่ติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ รวมถึงงานสายประกวด ชื่อปองวุฒิ รุจิระชาคร อยู่ในแทบทุกเวทีวรรณกรรมของบ้านเรา หนึ่งในนั้นคือ ลืมตาตื่นอีกครั้ง...ในเวลาอันสมควร เป็นหนังสือที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2560 สะท้อนภาพเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ บางเรื่องสว่างเจิดจ้า บางเรื่องหมองหม่นแสดงให้เห็นถึงภาพรวมของชีวิต มุมมองในแต่ละมุมในสถานการณ์ต่าง ๆ มารวมกันไว้อย่างวุ่นวาย แต่ละเรื่องมีบุคลิกเฉพาะ มีวิธีการเล่าเรื่องที่สนใจชวนให้น่าอ่าน น่าติดตาม

             รวมเรื่องสั้น “ลืมตาตื่นอีกครั้ง... ในเวลาอันสมควร” นี้ประกอบไปด้วยเรื่องสั้น 12 เรื่อง ได้แก่ ลืมตาตื่นอีกครั้ง...ในเวลาอันสมควร เสี้ยวบันทึกความทรงจำของจักรกลบกพร่องตัวหนึ่ง ในวันที่ประตูห้องแห่งความลับถูกเปิด บทสนทนาบนชั้นหนังสือสูงระดับสายตา หมาจร หลบเวลาสูญ  สิบสามกิโลเมตร หุ่นครูขยับ เหนือสิ่งใดนั้นเธอเป็นคน...ดี ทางเลือกของแอนดรอยด์ผู้รักความสันโดษและอิสระ ระดับชั้น ปริศนาต้องห้าม ประเทศไฉน แต่ละเรื่องนั้นเป็นประเด็นที่ผู้เขียนสนใจนำมารวมไว้ด้วยกัน มีหลายแนวมีทั้งแนวฉายแสง โอ้อวด อ่อนโยน น่ารักโดยเล่าออกมาผ่านตัวหนังสือ

 

สังคมที่ก้าวเข้าสู่ความเจริญ       

            ในหนังสือ “ลืมตาตื่นอีกครั้ง...ในเวลาอันสมควร” มีเนื้อหาที่พูดถึงเทคโนโลยีได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วผันเปลี่ยนไปจนตามไม่ทันโดยผ่านเรื่อง “หมาจร” โดยมีเนื้อหาที่เล่าว่า จากซอยเล็ก ๆ เงียบสงบต่อมาได้มีความเจริญเข้ามามากขึ้นเสียงดังวุ่นวาย รถติดตลอดเวลาจนที่ที่เคยเป็นสถานที่ที่เงียบสงบได้หายไป

            การดำเนินเรื่อง “หมาจร” แสดงให้เห็นถึงความเจริญที่เข้ามาในสังคมทำให้ มีแต่ความวุ่นวาย สถานที่ที่เงียบสงบก็ได้หายไป สะท้อนให้เห็นว่าในปัจจุบันที่ได้มีความเจริญเข้ามา ทำให้สังคมพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด วิถีชีวิตที่เคยมีแต่ความสงบสุขได้เปลี่ยนเป็นชีวิตที่มีแต่ความวุ่นวายเข้ามาแทน แต่ก็ทำให้สังคมเจริญรุ่งเรืองและพัฒนามากขึ้น

  

การก้าวสู่ยุคสมัยที่ไม่เหมือนเดิม

            เรื่อง “บทสนทนาบนชั้นหนังสือสูงระดับสายตา” ได้พูดถึงการที่ยุคสมัยได้เปลี่ยนไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องความสนใจของคน จากคนที่สนใจในร้านหนังสือชอบอ่านหนังสือ พอยุคสมัยเปลี่ยนไป ทำให้จุดสนใจไม่ได้อยู่ที่หนังสือ แต่ได้เปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบสื่อในโลกออนไลน์ โดยมีข้อความว่า “แม้กระทั่งคนแก่อย่างเธอ ปัจจุบันยังใช้เวลากับการดูซีรีย์ต่างประเทศหรือละครจากอินเตอร์เน็ตรวมทั้งเล่นเกมในมือถือและแท็บเล็ตแข่งกับคนวัยเกษียณด้วยกันมากกว่าการเปิดหนังสือสักเล่มอ่าน” (ปองวุฒิ รุจิระชาคร, 2560:67) “เดี๋ยวนี้ครูเองก็อ่านหนังสือน้อยลงนะ มันมีอย่างอื่นให้ทำเยอะ แค่วันหนึ่งเพื่อน ๆ ร่วมรุ่นหรือลูกหลานส่งมาให้อ่านทางเฟซหรือไลน์ครูก็ดูไม่ทันแล้ว” (ปองวุฒิ รุจิระชาคร, 2560:73) ทั้งสองข้อความนี้แสดงให้เห็นว่าโลกในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนไปแล้วไม่เหมือนกับในอดีตอีกต่อไปและควรก้าวตามยุคสมัยให้ทันและไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งเดิม ๆ

           

เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปใน มุมมองการศึกษาที่ล้าหลัง                                  

            เรื่อง “หุ่นครูขยับ” ได้มีการพูดถึงการที่มีหุ่นยนต์ครูมาสอนแทนครูเพื่อที่จะได้ทำให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพเท่าเทียมกัน และได้มีข้อความที่พูดว่า “คุณภาพการเรียนการสอนรวมถึงครูแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน เช่นโรงเรียนต่างจังหวัดไม่สามารถสู้กับโรงเรียนดังในกรุงเทพฯได้” (ปองวุฒิ รุจิระชาคร, 2560: 115) จากข้อความนี้แสดงให้เห็นถึงการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพไม่เท่ากันจึงทำให้เกิดหุ่นยนต์ที่ชื่อว่า หุ่นครูขยับ และยังได้มีการมองว่าโรงเรียนเป็นเพียงแค่ธุรกิจหนึ่ง และเรื่องแย่ที่สุดสำหรับโรงเรียนคือไม่มีเงินทุนพอจะจ้างครูเก่ง ๆ มีความสามารถสูง พวกที่สมัครเข้ามาทำงานสอนอยู่ในโรงเรียนส่วนใหญ่จัดอยู่ในประเภทไม่มีที่ไป ทำให้การศึกษาไม่พัฒนาและด้อยคุณภาพ

            เรื่อง “ระดับชั้น” แสดงให้เห็นถึงค่านิยมของผู้ปกครองที่มีต่อโรงเรียนว่าต้องโรงเรียนค่าเทอมแพง ๆ ต้องเป็นโรงเรียนที่ดัง ภาพลักษณ์ดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ถึงจะให้ลูกหลานไปเรียนได้ โดยมีคำพูดดูถูกที่ว่า “โรงเรียนรัฐส่วนใหญ่ก็โรงเรียนวัดดี ๆ นี่เอง คนมีฐานะหน่อยใครเขาจะส่งลูกไปเรียนกัน ระบบการเรียนการสอนไม่ได้มาตรฐาน ครูที่จ้างมาก็มีแต่พวกสมองน้อย ประเภทตอนเป็นนักเรียนเองสอบที่ดี ๆ ไม่ได้แล้วจะมีปัญญามาสอนใครได้ พวกสติปัญญาดีเขาไปอยู่โรงเรียนแพง ๆ หรือเปิดสอนพิเศษกันหมด” (ปองวุฒิ รุจิระชาคร, 2560: 160) แสดงให้เห็นถึง การแบ่งแยกโรงเรียนรัฐกับโรงเรียนเอกชน และยังมีคำพูดที่ว่า “มันไม่ใช่แค่การเรียน ที่สำคัญคือสิ่งอื่นที่ได้รับต่างหาก ระดับสังคม สภาพแวดล้อม คนใหญ่คนโตในประเทศ เขาก็ส่งลูกหลานเรียนนานาชาติกันทั้งนั้น ระดับชั้นถูกแบ่งตั้งแต่เด็กแล้ว ตอนโตเป็นผู้ใหญ่จะยิ่งเห็นชัด” (ปองวุฒิ รุจิระชาคร, 2560: 161) ข้อความนี้แสดงให้เห็นถึงการแบ่งระดับชนชั้นของค่านิยมในสังคม

            “หนังสือเรื่องลืมตาขึ้นอีกครั้ง... ในเวลาอันสมควร” เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาที่สะท้อนสังคม ระทด รื่นเริง ครบรส บ่งบอกถึงความสามารถของผู้เขียน มีเนื้อหาที่น่าสนใจ น่าอ่าน เป็นเรื่องที่มีความหลากหลายของความรู้สึกอยู่ในเรื่องเดียวกัน แต่ละคนพอมาอ่านหนังสือเล่นนี้อาจจะมีมุมมองในการอ่านเรื่องสั้นแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน แต่เรื่องสั้นแต่ละเรื่องนั้นทำให้เราได้เห็นถึงมุมมองใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับเราพร้อมกับโลกที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงต่อไป

 

อ้างอิง

            ปองวุฒิ รุจิระชาคร. (2560). ลืมตาตื่นอีกครั้ง...ในเวลาอันสมควร. กรุงเทพฯ: แพรว.

 

เป็นเนื้อหาของบทความหรือสินค้าโดยละเอียด

กรุณาใส่ข้อความ …

Visitors: 85,168