ระหว่างทางกลับบ้าน: บ้านแสนสุขที่ผู้คนถวิลหา

ระหว่างทางกลับบ้าน : บ้านแสนสุขที่ผู้คนถวิลหา

ธนกฤต ตั้งธีรวรรณ 

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

           อังคาร จันทาทิพย์ เจ้าของผลงานกวีนิพนธ์ “หัวใจห้องที่ห้า” ซึ่งคว้ารางวัลซีไรต์ ประจำปี ๒๕๕๖ มาครอง และผลงานล่าสุดของเขา คือ ระหว่างทางกลับบ้าน ซึ่งได้รางวัลซีไรต์ จากงานซีไรต์ครั้งที่ ๔๑ ประจำปี ๒๕๖๒ และนั่นก็ส่งผลให้ อังคาร จันทาทิพย์ ขึ้นแท่นดับเบิลกวีซีไรต์คนแรกของประเทศไทย

           “ระหว่างทางกลับบ้าน” เป็นกวีนิพนธ์ในรูปแบบบทกวีฉันทลักษณ์จำนวน ๔๕ ชิ้น เรื่องราวของกวีนิพนธ์ “ระหว่างทางกลับบ้าน” เมื่อลองอ่านและพิจารณาแล้ว จะทำให้รู้ว่ากวีได้นำเรื่องใกล้ตัวคือ “บ้าน” มาโยงกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ จนไปถึงเรื่องใหญ่โต ที่เกิดขึ้นระดับครอบครัวจนไปถึงระดับประเทศและระดับโลก โดยกวีนิพนธ์เรื่องนี้ไม่ได้แบ่งเนื้อหาเป็นภาคเหมือนเล่มอื่น ทำให้เรื่องราวมีความเชื่อมโยงกันทั้งเล่ม “บ้าน” ของ “อังคาร จันทาทิพย์” นำเสนอความคิดเรื่อง “บ้าน” ในหลากหลายมิติ ทั้งบ้านของตัวกวีเอง และบ้านของคนอื่นที่หลากหลายอาชีพ หลากหลายชนชั้นในสังคมไทยและสังคมโลก บ้านจึงมีความหมายมากกว่าที่อยู่อาศัย แต่บ้านเป็นที่ที่ทำให้เรามีความสุข เป็นที่ที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย เป็นพื้นที่ความทรงจำ ความรัก ความผูกพันกับคนที่เรารัก

           ใน “ระหว่างทางกลับบ้าน” กวีได้เขียนข้อความหนึ่งจากบทกวี “ความในใจของคนสร้างบ้าน[เสมือนคำนำ]” ว่า น็อต ตะปู เหล็ก ปูนซีเมนต์ เสาเข็ม หลังคา ฯลฯ ยึดโยงโครงสร้างแต่ละส่วนเข้าไว้ด้วยกัน เช่นเดียวกับทุกข์ สุข ร้อน หนาว หัวเราะ ร้องไห้ ยากดีมีจน ฯลฯ ส่วนประกอบสร้างชีวิตเจ้าของ จากข้อความนี้ กวีต้องการจะสื่อว่าบ้านก็เปรียบเสมือนชีวิตของคนเราที่ต้องมีสิ่งต่าง ๆ รวมกันถึงจะสมบูรณ์ซึ่งหากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็อาจทำให้สิ่งนั้นพังทลายลง ก็เหมือนกับการใช้ชีวิตที่เราต้องเป็นคนเลือกเส้นทางเองว่าจะให้เป็นอย่างไร เหมือนการสั่งสมประสบการณ์ที่จะเป็นตัวตัดสินชีวิตในอนาคตของตัวเรา

           “ระหว่างทางกลับบ้าน” กวีพูดถึงการที่หลาหลายชีวิตกำลังเผชิญหน้าสถานการณ์ยากลำบากต่าง ๆ เช่น การพูดถึงความขัดแย้งทางสังคม, หญิงกลางคนและลูกสาวถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบ, การที่คนที่ต้องการปกป้องบ้านเมืองแต่กลับถูกบังคับให้สูญหาย, หญิงมุสลิมสามจังหวัดชายแดนใต้ สามีและลูกชายของเธอหายไปกลับสงครามความรุนแรง, การเกิดโศกนาฏกรรม และอีกมากมายหลายชีวิตที่ได้มอบแบบแปลนจำลองบ้านของพวกเขาให้กับอังคาร โดยไม่หลงว่ามีแบบแปลนโครงสร้าง สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ผู้คนในประเทศและโลกใบนี้เหลื่อมซ้อนทับอยู่ และโดยไม่หลงลืมว่า แบบแปลนโครงสร้างอันเกิดจากความคิดฝัน ความเชื่ออุดมคติหนึ่งใดเพียงอย่างเดียวนั้น อาจทำให้บ้านบางส่วน รวมถึงผู้อยู่อาศัย เบี้ยวบิดผิดรูปทรงจากความจริงที่ควรจะเป็น

 

บ้านที่สร้างไม่เคยเสร็จ

                                             รื้อและสร้าง ยิ่งเสื่อมทรุด ไม่หยุดหย่อน

                                 ตอกเสาเข็ม โยกคลอน ถอนเสาเข้ม

                                 สร้างและรื้อ ส่วนเหลือรอด มอดปลวกเล็ม

                                 คงคาวเค็ม เลือดเนื้อ หยาดเหงื่อไคล (หน้า ๘๙)                                    

           ในบทนี้ สิ่งที่กวีพยายามจะสื่ออาจสรุปได้ว่า บ้านหรือสังคมที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยความขัดแย้ง ต้องเอาเลือดเนื้อ เถ้ากระดูกมาฉาบทานั้น คือผลจากการที่พวกเราเลือกกันเอง เลือกที่จะให้บ้านเต็มไปด้วยปัญหาความขัดแย้ง ต้องเสียเลือดเสียเนื้อในการสร้างบ้าน มันเป็นบ้านที่เราไม่มีทางสร้างเสร็จ และอาจต้องสูญเสียเลือดเนื้ออีกมากมายเพื่อที่จะสร้างบ้านหลังนี้ จากบทนี้สะท้อนถึงสังคมปัจจุบันในเรื่อง ความขัดแย้งในสังคมของผู้คนในปัจจุบันที่มีการขัดแข้งขัดขากันไปมา การไม่ยอมใครและต้องการเป็นผู้นำ  ทำให้บางครั้งต้องใช้วิธีสกปรก หรืออาจเกิดเหตุฆาตกรรมเพื่อให้ตนเองได้สิ่งนั้นมาครอบครอง สิ่งนี้จะทำให้เราไม่สามารถร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาประเทศเพราะจะทำให้เกิดปัญหาภายใน ดังนั้นเราจึงควรช่วยกันดูแลประเทศชาติไม่ผิดใจกันเอง เหมือนดั่งการสร้างบ้านที่หากเรามัวแต่ขัดแย้งกันก็ไม่มีวันสร้างเสร็จ แต่ถ้าเราร่วมมือกัน ก็จะเหมือนการนำ น็อต ตะปู เสาเข็ม ฯลฯ มาสร้างบ้านและเราก็จะได้บ้านที่แข็งแรง

 

ถูกบังคับให้สูญหายจากบ้านที่เขาพยายามปกป้อง

                                            “แม่จ๋า พ่อไปไหน ไม่กลับบ้าน…”

                                 ปาฏิหาริย์ที่อยากเห็น เล่นส่อนหา

                                 “หนูฝันเห็นพ่อกลับบ้าน คืนผ่านมา…”

                                 รอไม่รู้เหนื่อยล้า ตั้งตารอ (หน้า ๑๑๙)

           ในบทนี้กวีต้องการที่จะเสนอถึงความป่าเถื่อนของสังคม โดยเล่าถึง “บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ” ซึ่งบิลลี่เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ถูกบังคับให้สูญหาย จากการที่เขาต้องการจะปกป้องบ้าน ซึ่งบ้านในความหมายนี้ไม่ใช่เพียงเคหสถานแต่หมายถึงป่าที่ชุมชนของเขาอาศัยอยู่ โดยครอบครัวของบิลลี่ยังคงรอคอยปาฏิหาริย์และมีความหวังที่บิลลี่จะกลับมา และครอบครัวของเขายังคงทวงความยุติธรรมแม้สิ่งนั้นมันจะริบหรี่แค่ไหนก็ตามแต่พวกเขาก็ยังคงสู้ต่อไป ซึ่งกวีได้แต่งบทนี้จากความจริงทำให้ผู้อ่านได้รู้ถึงความน่ากลัวในสังคม ที่หากเราต้องการความถูกต้องหรือความยุติธรรมเราอาจได้รับผลตอบแทนที่เลวร้ายจากคนนิสัยไม่ดีที่มีอยู่ในสังคม โดยที่กฎหมายไม่สามารถเอาผิดและจับคนทำผิดได้ จึงทำให้เรื่องแบบนี้ถูกลืมเลือนลางหายไปตามกาลเวลา ทำให้ครอบครัวของผู้ถูกกระทำไม่ได้รับความเป็นธรรม

  

บ้านเรือนชาวซีเรีย (แขนและขาทั้งสองของประวัติศาสตร์)

                                                ประชาธิปไตยใบ้บอด

                                      เผด็ดการกุมกอดกับซากศพ

                                      หลายแสน หลานทะมึนทบ

                                       ผู้รอดตายเร่งอพยพไป (หน้า ๑o๕)

           ในบทนี้สิ่งที่กวีอยากจะสื่อให้ผู้อ่านรับรู้ถึงความเผด็จการของผู้นำชาวซีเรีย โดยจะกล่าวว่า เมื่อไม่มีประชาธิปไตย เหลือไว้แต่เผด็จ ผู้คนนับหมื่นนับแสนคนต้องเสียชีวิตจากสงคราม ผู้คนที่ยังรอดอยู่ก็ต้องพากันอพยพหนีตายจากการเกิดสงครามโศกนาฏกรรม ผู้ที่อพยพออกนอกประเทศเพื่ออยู่รอดทุกคนล้วนแต่สูญเสียคนที่รัก เรื่องราวจากบทนี้เป็นอีกเรื่องที่กวีเขียนจากเรื่องจริง  ในบทนี้บ้านหมายถึงประเทศที่ชาวซีเรียอยู่อาศัย แต่การเกิดสงครามกลางเมืองทำให้ประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก ผู้รอดชีวิตก็ต้องจากลาจากบ้านที่ตนเคยอยู่ ที่ที่เคยเป็นความสุขของพวกเขาทั้งหลาย แต่ตอนนี้บ้างหลังนี้เหลือเพียงไว้แต่เศษซาก

 

บ้าน

                              ที่ให้เกิด ที่ให้ไกล ที่ให้กลับ

                      ที่ไม่นับเล็กหรือใหญ่ ที่ให้อยู่

                       ที่ชีวิต จิตวิญญาณ อวลซ่านอณู

                        ที่ทุกข์สุข ทุกฤดู อยู่ในนั้น…(หน้า ๑๕๒)

           ข้อความข้างต้นเป็นบทกวีปิดเล่มของอังคาร กล่าวถึงบ้านที่ๆเป็นที่ที่เราอยู่ตั้งแต่เกิด ไม่นับว่าบ้านจะใหญ่หรือเล็ก แต่มันคือที่ที่ให้เราได้กลับไปพักผ่อน กลับไปอยู่กับคนที่เรารัก เป็นที่ที่รวมทั้งทุกข์และสุขไว้ด้วยกัน แม้เราจะต้องจากมันมาแต่สุดท้ายเราก็จะกลับไป เพราะบ้านเป็นที่ที่เราถวิลหากลับไปเพื่อหาความสุขและอยู่กับครอบครัว

           จากตัวอย่างบทกวีที่หยิบยกมาอธิบายจะทำให้ผู้อ่านอย่างเรา ๆ ได้รู้ถึงปัญหาสถานการณ์ที่ตัวอังคารต้องการจะสื่อ การเผชิญหน้ากับปัญหาต่าง ๆ ของผู้คนในหลากหลายสถานการณ์ ที่สะท้อนถึงสังคมในปัจจุบัน โดยปัญหามีตั้งแต่ระดับชุมชน ประเทศ ไปจนถึงระดับโลก ด้วยการเปรียบเทียบถึงการสร้างบ้าน ที่หากเราเลือกทางเดินผิดมันก็อาจจะมีปัญหาตามมา ก็เหมือนกับการใช้อุปกรณ์ผิด ๆ ในการก่อสร้างบ้านมันก็จะทำให้บ้านไม่สมบูรณ์และบิดเบี้ยว เราจึงควรตัดสินใจให้ดีก่อนจะทำสิ่งใดเพราะอาจจะไม่ส่งผลเสียแค่กับตัวเราแต่ยังส่งผลถึงคนรอบข้าง

           กวีนิพนธ์เรื่อง “ระหว่างทางกลับบ้าน”  ของอังคาร นำเสนอความหมายของคำว่า “บ้าน” และ “การเดินทางกลับบ้าน”  ทั้งด้านรูปธรรมและนามธรรม บ้านในเมืองและบ้านชนบท บ้านในอดีตและบ้านในปัจจุบัน บ้านจึงมีความหมายที่ไม่ได้อยู่กับพื้นที่ หากแต่เป็นความรักและเป็นสถานที่ก่อให้เกิดความสุข ตัวของอังคารนั้นยังใช้ภาพลักษณะของบ้านวิพากษ์ปัญหา สังคม การเมือง สงคราม ความขัดแย้ง และความเชื่อ ด้วยน้ำเสียงที่สุขุม ลุ่มลึก จรรโลงใจและจรรโลงสังคม ทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงความสำคัญของบ้านและความผูกพันธ์ของคนในบ้าน  ทั้งยังผสานกวีนิพนธ์กับศิลปะเพื่อเปิดมิติคุณค่าของชีวิตที่ถูกมองข้าม ศิลปะและวัฒนธรรมที่เป็นสีสีนท้องถิ่น สร้างจินตภาพและสื่ออารมณ์ และเปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านตีความหมาย และทบทวนความหมายของคำว่า “บ้านของตนเอง”

           

อ้างอิง

อังคาร จันทาทิพย์. (๒๕๖๓). ระหว่างทางกลับบ้าน. (พิมพ์ครั้งที่ ๔). กรุงเทพฯ: ผจญภัย.

ณัฐฤทัย พลอยหิรัญจาก. (๒๕๖๓). ระหว่างทางกลับบ้าน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้:
                  https://chartchoolee.wordpress.com/2020/06/09/ระหว่างทางกลับบ้าน-2/. วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๔.

[ม.ป.ป.]. (๒๕๕๖). กวีนิพนธ์ “หัวใจห้องที่ห้า” คว้ารางวัลซีไรต์ ๒๕๕๖. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :http://www.roong-                      aroon.ac.th. วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๔.

อาทิตย์ ศรีจันทร์. (๒๕๖๒). “ระหว่างทางกลับบ้าน” กับหนทางอันแห้งแล้งของกวีนิพนธ์รางวัลวรรณกรรม                                 สร้างสรรค์ของไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :https://www.the101.world/angkarn- Chanthathip-seawrite/ .
                วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๔.

 

 *****************************************************

ซื้อหนังสือ "ระหว่างทางกลับบ้าน" ได้ที่

ร้านลำพูนบรรณาคาร

ร้านหนังสือเล็กๆ สงขลา

ร้าน happening Shop

 

Visitors: 72,510