ในกับดักและกลางวงล้อม: ชีวิตก็เหมือนกับ เหรียญ

 

ในกับดักและกลางวงล้อมชีวิตก็เหมือนกับ เหรียญ

 

กมลรัตน์ โพธิ์อ่อน

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

          นวนิยาย เรื่อง “ในกับดักและกลางวงล้อม” ของ ประชาคม ลุนาชัย นักเขียนผู้มีประสบการณ์โชกโชน ผ่านการต่อสู้ชีวิตมาหลากหลายประเภท ตั้งแต่เป็นพนักงานเสิร์ฟร้านอาหาร, เด็กโรงน้ำชา,กรรมกรโรงงานรองเท้า, โรงงานขนมปัง, โรงนุ่น, บ๋อยภัตตาคาร, เด็กเสิร์ฟร้านข้าวต้ม, ร้านก๋วยเตี๋ยวและลูกเรือประมง ประชาคม ลุนาลัย เป็นชาวจังหวัดยโสธร เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ ๑๗ ปี ด้วยความมุ่งหวังว่าจะมาเรียนหนังสือต่อเพื่อว่าจะได้เป็นนักเขียนให้ได้ในอนาคต แต่ด้วยโชคชะตาและความยากจนผลักดันให้ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพแทนโดยทิ้งความฝันของการเป็นนักเขียนเอาไว้ชั่วคราว ตอนที่ประชาคม ลุนาชัย อายุ ๒๕ ปี เขาตัดสินใจไปทำงานเป็นลูกเรือประมงใช้ชีวิตชาวเรือร่อนเร่ไปตามสถานที่ต่าง ๆ โดยใช้เวลาถึง ๘ ปี เมื่อมีเวลาว่างระหว่างคราวใด เขามักเข้าห้องสมุดอ่านหนังสือและเขียนบันทึกเรื่องราวชีวิตของตนเอง และคนรอบข้างอยู่เสมอ เมื่อในปี พ.ศ.๒๕๖๑ สำนักพิมพ์ ศรีปัญญา ได้ตีพิมพ์ นวนิยาย เรื่อง ในกับดักและกลางวงล้อม ของ ประชาคม ลุนาชัย ที่จะพูดถึงการทำงานที่ไปทำงานในปัตตานี การเป็นชาวประมง และชีวิตของเพื่อน ๆ ในอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขของกันและกัน

          เมื่อพูดถึงทางตอนใต้ของประเทศไทยเราจะนึกถึง ชาวประมง การประมงทางตอนใต้ในปัตตานีเป็นที่โด่งดังและเป็นจังหวัดที่ติดกับทะเล ที่ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้สามารถบุกเบิกและสำรวจค้นหาแหล่งทำประมงใหม่ ๆ เช่น แหลมญวน ทะเลจีนใต้ อ่าวบอร์เนียว อ่าวเมาะตะมะ และอ่าวเบงกอล ทำให้อุตสาหกรรมการประมงไทยมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผลผลิตสัตว์น้ำทะเลของไทยเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยถูกจับเพิ่มขึ้นจนเกินศักยภาพการผลิต ชาวประมงเริ่มรู้สึกว่าการจับสัตว์น้ำในอ่าวไทยในแต่ละเที่ยวได้ปริมาณสัตว์น้ำน้อยลง ต้องใช้ระยะเวลาในการทำประมงนานขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการทำประมงของชาวประมงสูงขึ้น แต่ผลตอบแทนลดต่ำลง ชาวประมงประสบภาวะขาดทุน เพื่อความอยู่รอดชาวประมงส่วนหนึ่งจึงต้องดิ้นรนเพื่อนำเรือออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำ

          เนื้อหาของนวนิยาย เรื่อง ในกับดักและกลางวงล้อม เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในทะเลพื้นที่จังหวัดปัตตานี การใช้ชีวิตของสมาชิกคนงานบนเรือและตอนอยู่บนฝั่ง ทุกคนมาจากต่างถิ่นต่างแดนของตนเอง เพื่อที่จะมาหาเงินในการเลี้ยงชีพของตน หรือส่งไปหาพ่อแม่ที่อยู่บ้าน บางคนทำงานหนักแต่ส่งจดหมายไปหาพ่อแม่ทีไร ก็บอกว่าตนนั้นสบายดี บางคนเกิดอุบัติเหตุ ก็ไม่กล้าบอกพ่อแม่เพราะกลัวว่าท่านจะเป็นห่วง

          สมาชิกที่อยู่บนเรืออายุต่ำสุดคือ เด็กที่ยังอายุไม่ถึง ๑๘ ปี แต่เขาต้องออกมาทำงานเพื่อหาเงินแล้ว การทำงานที่ยากลำบากของพวกเขานั้นที่เป็นมือใหม่หมด หารู้ไม่ว่าเกือบทุกคนมีร่างกายที่ไม่ครบ ๓๒ ประการ ตอนขึ้นเรืออวนแรก ๆ ทุกคนทำงานไม่สมบูรณ์แบบเท่าไร ต่างก็ไม่ประสบผลสำเร็จที่จะหาปลาได้เยอะและทำเงินหลายบาทให้เขา แต่พอทำงานไปเรื่อย ๆ ความสำเร็จก็เกิดขึ้น ชีวิตชาวประมงในขณะที่เรือจอดเข้าฝั่ง ทุกคนต่างใช้ชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ทุกคนจะมีกิจเป็นของตัวเอง นั้นคือความสุขของเขา

 

เกิดมาต้องเจอ: ความรักที่ต้องผิดหวัง

          “อีปิ๋ม ลูกน้าหมีไง” แม่บอกเขาว่าสาวคนนั้นเป็นใคร

          สร้อยลูกปัด เสื้อผ้าสีสดจากเมืองชายทะเลและปลาตากแห้ง เขาหมั่นนำไปฝาก ทั้งตัวปิ๋มเองและพ่อแม่ของเธอ จนกระทั่งตกลงหมั่นหมาย วันแต่งงานถูกกำหนดขึ้น ครั้นแล้วทุกอย่างก็ลอยห่างจากเขาไปพร้อมขาท่อนที่ขาดหายไปในทะเล (ประชาคม ลุนาชัย, ๒๕๖๑: ๗๓)

          ข้อความดังกล่าวสะท้อนในเรื่องของ ความรักที่ไม่สมหวังของเขา ความรักที่โดนพรากทุกอย่างออกไป การวางแผนไว้หมดแล้ว แล้วเขายังสูญเสียขาอีกข้างด้วย การรักคนหนึ่งคนนั้นมันไม่ง่ายเลยของการเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะความรักแบบไหนก็ตาม แบบเพื่อน แบบพี่น้องหรือแบบแฟน บางคนรักเขาแล้วให้ใจไปเต็มที่ แต่กลับมีบางอย่างมาขัดขวาง ความรักนั้นมีอยู่ ๒ แบบ มีทั้งสมหวังและผิดหวัง อย่างไรก็ตามคนเราเกิดมาต้องเจอกับทั้งสองอย่างนี้ เพราะความรักนั้น ไม่ได้จำกัดแค่การมีคู่ครองของคนมีคู่เสมอไป แต่ความรักเป็นสิ่งที่อาจจะขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคล เช่น บางคนรักแมว อยู่กับแมวแล้วมีความสุข บางคนรักการเขียนหนังสือ เขียนแล้วได้เล่าเรื่องต่าง ๆ นั้นก็ถือว่าเป็นความรักอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าใครยังหาความรักหรือความชอบของตนเองไม่เจอ หรือว่าลองแล้วแต่ได้ลองทำแล้วไม่มีความสุข เราก็ต้องลองหาเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอความสุขที่แท้จริงของตน ทุกอย่างย่อมมีทางออกเสมอ

 

ความหวัง: คาดหวัง ผิดหวัง

          ทุกคนเจ็บเนื้อปวดตัวกับการทำงานที่ผลตอบแทนน้อย เข้าฝั่งพร้อมความหวังอันเล็กกระจ้อยและเงินสองร้อยบาท ครั้นเรือแล่นออกสู่ทะเลอีกครั้ง พวกเขาก็หวังลึก ๆ ว่าเรือคงจับปลาได้เสียที (ประชาคม ลุนาชัย, ๒๕๖๑: ๘๓)

          ทุกคนที่ทำงานหนักต่างก็ต้องการผลตอบแทนที่มาก มีความคาดหวังมากที่จะมีเงินเยอะ ๆ เพราะต่างก็มีภาระหน้าที่ที่ต้องทำหลายอย่างออกไป บางคนต้องทำงานส่งเงินไปให้ที่บ้าน แต่กลับไม่ได้ส่งเพราะได้เงินตอบแทนน้อย ลำพังแค่ใช้เองยังจะไม่พอ ตอนมีงานทำทุกคนก็ต้องใจฟู มีความหวังเกิดขึ้นเต็มอก แต่พอนาน ๆ ไปความหวังนั้นก็เริ่มลดลง การที่ทำงานหนักแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ อย่างไรก็ตาม การที่ได้งานทำแล้วพอมีเงินอันน้อยนิดสำหรับใช้ชีวิตให้รอดไปวัน ๆ นั้นก็ดีกว่าการที่ไม่มีเงินติดตัวสักบาทเลย ถึงจะทำงานที่หนักก็ต้องอดทนเพื่อความอยู่รอดและความสบายใจของตนเองและพ่อแม่ที่คอยเป็นห่วงเราอยู่ด้านหลัง

 

คิด: คิดถึง

          บางคืนเขานอนคิดถึงแม่ จดหมายฉบับล่าสุดที่เขาส่งไปปัตตานีไม่ระบุที่อยู่ผู้ส่ง ได้แต่บอกแม่ว่าเขาสบายดี แม่ไม่ต้องเป็นห่วง คิดถึงแม่เสมอ ถ้าเก็บเงินได้สักก้อน เขาจะกลับบ้านไปหาแม่ ธมนอนน้ำตาไหลเปียกหมอนใบเล็กในห้องนายท้าย เขาไม่เคยบอกแม่เลยว่าขาของเราเหลือเท่าเก่า เขาจะกลับไปเยี่ยมบ้าน และพบหน้าใครต่อใครได้อย่างไร หากไม่มีบางสิ่งทดแทนความบกพร่องทางร่างกาย ขาเทียมที่ใช้ก็ยิ่งแสดงให้เห็นความพิกลพิการน่าอับอาย แล้วอะไรคือสิ่งที่ทดแทนขาข้างที่ขาดหาย (ประชาคม ลุนาชัย, ๒๕๖๑: ๑๐๔)

          การโกหกว่าเรานั้นสบายดีเป็นสิ่งที่ไม่ควร เพราะถ้าวันหนึ่งเราเกิดเป็นอะไรขึ้นมาจะทำอย่างไร แต่โกหกเพื่อให้อีกคนสบายใจก็จำใจโกหกได้ ไม่อยากให้เขาเป็นห่วงเราตามหลัง มันอาจจะสร้างความไม่สบายใจอีกคน แล้วเขาอาจคิดมากขึ้นมา สู้เรายอมทนไม่สบายใจคนเดียวดีกว่าให้เขาช่วยแบบ “ธม” คิดถึงแม่มาก จนน้ำตาไหล นั้นแสดงให้เห็นว่าเขารักแม่มาก แต่ต้องห่างจากแม่เพื่อมาทำงานหาเงิน คิดถึงมากแค่ไหนก็ได้แค่ส่งจดหมายไปหา บางสิ่งทดแทนความบกพร่องทางร่างกาย อาจจะเป็นเงิน เพราะเงินคือทุกอย่าง เพราะถ้าเราพิการ อย่างไรเราหาเงินได้เยอะ มันก็แสดงให้เห็นว่า คนพิการก็สามารถทำงานได้เหมือนคนธรรมดา ไม่ได้บกพร่องทางด้านใด เพียงแค่เสียสรีระบางส่วน

          พลัดพรากจากถิ่นจากบ้านเกิดมาเพื่อหวังเก็บเกี่ยวโชค อันเป็นเงินเป็นทองที่จะนำกลับไปเลี้ยงพ่อแม่ และคนในครอบครัวที่รอคอยการกลับสุดท้ายแล้วบางคนก็ซัดเซไปตามแรงเหวี่ยงของโชคชะตา เอาชีวิตรอดไปวันต่อวันอย่างลำบาก  (ประชาคม ลุนาชัย, ๒๕๖๑: ๒๕๕)

 

มนุษย์ต่างถิ่น

          หลายคนเชื่อว่าลูกที่ต้องห่างจากครอบครัวเพื่อมาทำงานหาเงินคนเดียวนั้น ยิ่งคนที่อยู่ต่างจังหวัด แต่ต้องเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ หรือต่างถิ่น มันไม่ง่ายเลยที่จะใช้ชีวิต เพราะเกิดจากปัจจัยหลาย ๆ สิ่งที่ต้องใช้จ่าย บางคนที่เขามาทำงานก็มีความจำเป็นที่ต้องหาเงินใช้เงินเพราะฐานะหรือปัจจัยหลาย ๆ อย่างจะกลับบ้านแต่ละทีก็ต้องรอช่วงเทศกาลกัน หรือเวลาที่มีอะไรฉุกเฉิน กลับบ่อยกลับตามใจตนเองไม่ได้เพราะต้องหาเงิน เก็บเงินไว้ ถึงจะคิดถึงคนทางบ้านมากแค่ไหน ก็ทำได้แค่อดทน และจะเจอบางคนบางเหตุการณ์ ที่คนไม่มีเงิน มีเงินน้อย แล้วจะโดนกดขี่จากพวกคนที่มีฐานะ (บางคน) ที่จ้องแต่จะเอาเปรียบไม่นึกถึงใจเขาใจเราบ้าง คนเราเกิดมามีต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่ทุกคนมีนั้นคือความพยายามและความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ ถ้าคนไม่มีเงินอยู่แล้ว และไม่คิดจะทำอะไรทุกอย่างมันก็ไม่ดีขึ้นเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าเห็นใครลำบากตกทุกข์ได้ยาก เราก็ควรจะช่วยเหลือไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม

 

ชีวิตวัยเด็กที่หายไป

          แกกวาดสายตาผ่านกลุ่มห้าคนแรกที่นอนหัวหนุนกระเป๋าน้ำลายไหลยืด หยุดลงตรงเด็กหนุ่มหัวหยิก วัยสิบหก ที่นอนอยู่เคียงข้างพี่ชาย ความหนักใจเล็ก ๆ ผุดขึ้นในใจ กองทัพอวลล้อมของแกเต็มไปด้วยลูกเรือไม่เคยทะเลค่อนลำ ไม่ต่างจากทหารใหม่ที่จับปืนสู่สมรภูมิรบ (ประชาคม ลุนาชัย, ๒๕๖๑: ๓๔)

          การจ้างเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี เป็นลูกจ้าง นายจ้างต้องแจ้งต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน ๑๔ วัน นับแต่วันที่เด็กเข้าทำงาน และแจ้งการสิ้นสุดการจ้างเด็กนั้นต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่เด็กออกจากงาน นายจ้างต้องจัดให้มีเวลาพัก ๑ ชั่วโมงต่อวันภายใน ๔ ชั่วโมงแรกของการทำงาน และให้มีเวลาพักย่อยได้ตามที่นายจ้างกำหนด

          เด็กที่ต้องออกมาทำงานในวัยเด็ก วัยที่เขาต้องใช้ชีวิตวัยวัยรุ่น ต้องเรียนหนังสือ แต่ทุกอย่างก็ต้องพังลงเพราะการที่ทางบ้านการเงินไม่ดี เลยต้องออกมาหาเงิน จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เด็กที่มีฐานะยากจน ต้องออกจากโรงเรียนในตอนจบประถมหก หรือมัธยมปีที่สาม ทุกคนจะไม่เรียนต่อ เพราะการเรียนต่อนั้นมันใช้เงินเยอะ เขาเลยออกจากโรงเรียนเพื่อมาทำงานหาเงินดำรงชีวิต ถึงจะลำบากก็ต้องทำ ถึงจะไม่ได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นเหมือนกับคนอื่น ๆ เราก็เลือกไม่ได้ เพราะคนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน

 

พิการกาย พิการใจ

          การที่เป็นคนพิการด้วยอุบัติเหตุหรืออย่างอื่น การที่ต้องมาทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูตนเองและคนที่อยู่ข้างหลัง มันไม่ง่ายเลยสำหรับคน ๆ หนึ่ง แต่ก็ต้องทำถ้าไม่ทำแล้วจะเอาเงินที่ไหนกิน ถึงเขาจะขาดหายชิ้นส่วนในร่างกายไป เขาก็ไม่ย่อท้อต่อหน้าที่ คนเราเกิดมาแล้วต้องสู้ และเราเองก็ไม่รู้เลยว่าอุบัติเหตุนั้น จะเกิดขึ้นเมื่อไร คนเราเลือกเกิดไม่ได้ ได้เกิดมาแล้วก็ต้องเผชิญกับชีวิตในวันข้างหน้า

          วงล้อมของคนเรานั้นย่อมมี แต่ขึ้นอยู่กับว่าวงล้อมของใครจะใหญ่หรือเล็ก ทางที่ดีเราควรหาวิธีการแก้ปัญหา ในการใช้ชีวิตของทุกคนก็มีทั้งสุขทุกข์ ดีใจ เสียใจ ร้องไห้หัวเราะ ไม่มีใครที่จะมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบไปตลอด เราทุกคนต่างมีวงล้อมที่ต้องตะเกียกตะกายออกมาให้ได้

             

อ้างอิง

          กระทรวงแรงงาน,(๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕). การใช้แรงงานเด็ก. [ออนไลน์] สืบค้นจากhttps://www.mol.go.th.

          ชุมชนคนรักการอ่าน (๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕) มารู้จักนักเขียนประชาคม ลุนาชัย[ออนไลน์] สืบค้นจาก                                         http://www.praphansarn.com.

          ประชาคม ลุนาชัย. (๒๕๖๑). ในกับดักและกลางวงล้อม. นนทบุรี: ศรีปัญญา.

 

******************************************

ซื้อหนังสือ "ในกับดักและกลางวงล้อม" ได้ที่

ร้านสวนเงินมีมา

ร้านหนังสือเล็กๆ สงขลา

 

 

 

 

Visitors: 81,114