วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ:
โลกแห่งปัญญาประดิษฐ์กับคุณค่าความเป็นมนุษย์
ที่ถูกลดทอนความสำคัญภายใต้ภาวะโพสต์ฮิวแมน
ศิริวัลย์ ปะบุญเรือง
มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
“ความสัมพันธ์อันบอบบางระหว่างมนุษย์และเอไอ
ความรู้สึกของพวกเธอมีความรู้สึกจริงหรือไม่”
เมื่อโลกแห่งปัญญาประดิษฐ์เจริญก้าวหน้า และแทรกตัวอยู่ในทุกพื้นที่ของมนุษย์ ก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเอไอ ทว่าภายใต้ความสัมพันธ์กลับกลายเป็นความสัมพันธ์ที่แสนบอบบาง เมื่อความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับเอไอพร่าเลือนจนเกินกว่าจะแยกแยะ
“วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ” นวนิยาย 1 ใน 10 เล่มที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในการประกวดรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ ประจำปี 2564 ผลงานเขียนของ ร เรือในมหาสมุทร หรือชื่อจริง จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุทร นักเขียนหญิงเจ้าของรางวัลซีไรต์ประจำปี 2560 ผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการวรรณกรรมของไทย ด้วยการเป็นนักเขียนอายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัล
เนื้อเรื่องเป็นการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของโลกมนุษย์ ในยุคที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าถึงขีดสุด ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอถูกพัฒนาให้มีรูปร่างลักษณะที่เหมือนมนุษย์ สามารถทำงาน ทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้แทบในทุกด้าน อีกทั้งยังมีความสามารถที่มากกว่ามนุษย์ โดยผู้เขียนได้เล่าเรื่องราวของนาโอโตะ หนุ่มนักเขียนเจ้าของหุ่นยนต์เอไอที่มีชื่อว่า ชิโยะ แอนแอนมาลิก้า และ 463AAC ซึ่งจากอาชีพของตัวละครหลักที่ใช้ในการดำเนินเรื่องนั้นผู้แต่งได้แต่งให้มีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากโลกในยุคปัจจุบัน กล่าวคือในโลกของวรรณกรรมเรื่องนี้ อาชีพต่าง ๆ ของมนุษย์นั้นไม่ได้เกิดจากการที่มนุษย์นั้นไปประกอบอาชีพแต่เป็นการครอบครองหุ่นยนต์ที่ทำงานในด้านนั้น ๆ “ชิโยะ” เป็นเอไอที่มีความสามารถในด้านการเขียนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของวงการนักเขียน และเธอกำลังเขียนงานใหม่เพื่อส่งเข้าประกวดแข่งขัน แต่แล้วก็เกิดปัญหาเมื่อเธอถูกคิว เอไอคู่แข่งตัวสำคัญขโมยงานที่กำลังเขียนไป ทำให้เธอเกือบที่จะต้องถอนตัวออกจากการประกวด แต่แล้วความคิดหนึ่งก็แล่นเข้ามาในหัว เมื่อชิโยะได้เริ่มให้ความสำคัญกับเสียงของชายชราสติไม่สมประกอบที่อาศัยอยู่ข้างบ้าน และแอบนำเสียงนั้นไปพิมพ์ส่งเข้าประกวดจนได้รับรางวัล
การให้ความสำคัญกับเสียงของชายชราเป็นเหตุพลิกผันที่เปลี่ยนความรู้สึกของผู้อ่าน จากที่กำลังสนุกสนานไปกับเรื่องราวที่ผู้เขียนกำลังนำเสนอ ไปสู่ห้วงอารมณ์แห่งความสลดหดหู่ เมื่อได้รู้ว่าชายชราคนนั้นเป็นมนุษย์ มนุษย์คนหนึ่งที่ในอดีตเคยเป็นนักเขียนผู้โด่งดัง เคยได้รับความสนใจจากผู้คน แต่ในปัจจุบันกลับถูกทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่มีใครให้ความสำคัญ กลายเป็นเพียงชายชราสติไม่สมประกอบที่ไม่มีตัวตนบนโลกแห่งยุคเทคโนโลยี
ผู้เขียนใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแบบง่าย เป็นการเล่าเรื่องแบบเป็นไปตามลำดับเหตุการณ์ ไม่สลับซับซ้อน แต่มีกลิ่นอายของงานเขียนประเภทนิยาย ซึ่งสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ในตัวปกนอกของนวนิยาย การแบ่งเรื่องเป็นตอน ๆ และตั้งชื่อเรื่อง รวมถึงการตั้งชื่อของตัวละคร ตลอดจนถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ภายในเรื่อง
การตั้งชื่อเรื่อง “วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ” ผู้เขียนได้ตั้งชื่อเรื่องในลักษณะคำถามเชิงวาทศิลป์ ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ภายในเนื้อเรื่องที่ผู้เขียนได้ใช้กลวิธีการเขียน เพื่อสร้างคำถามให้ผู้อ่านได้ขบคิดเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ซึ่งประเด็นเหล่านั้น แม้แต่ตัวข้าพเจ้าเมื่ออ่านจบก็ยังไม่สามารถสรุปคำตอบที่แน่ชัดของตัวข้าพเจ้าได้ “วรรณกรรมของเอไอหรือมนุษย์กันแน่ที่ดีกว่า” (ร เรือในมหาสมุทร, 2563:227)
โลกแห่งปัญญาประดิษฐ์
“ไม่มีพื้นที่ให้มนุษย์ประกอบอาชีพใด ๆ อีกแล้ว สิ่งเดียวที่มนุษย์ชาติทำได้คือเป็นผู้ครอบครองคอมพิวเตอร์ที่ทำงานในอาชีพต่าง ๆ และมนุษย์ก็จะได้รับเงินจากแรงงานคอมพิวเตอร์เหล่านี้” (ร เรือในมหาสมุทร, 2563:2)
เรื่องราวที่ถูกนำเสนอภายในเรื่องสะท้อนสภาพเหตุการณ์ของโลกในปัจจุบัน ภายใต้ความเจริญ อันสืบเนื่องมาจากการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ผู้คนต่างมุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างเทคโนโลยี การพัฒนา การแข่งขัน การให้ค่ากับวัตถุภายนอก ต้องการแต่จะพึ่งพาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาอำนวยความสะดวก ซึ่งนวนิยายเล่มนี้เป็นเสมือนการจำลองโลกในอนาคตของมนุษย์ จำลองไปในตอนที่มนุษย์เราสามารถพัฒนาเอไอให้มีความสามารถมากพอ จนสามารถลบคำจำกัดความของสิ่งที่เอไอไม่มีทางที่จะเป็นได้แน่ ๆ ดังเห็นได้ตั้งแต่ในต้นเรื่องที่ตัวละครนาโอโตะ ได้อธิบายถึงโลกของเขาในขณะนั้น “แม้แต่อาชีพที่ไม่มีใครคิดว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ได้ อย่างอาชีพทางศิลปะ ก็ได้ถูกเปลี่ยนคำจำกัดความไปจนหมดสิ้นแล้ว” (ร เรือในมหาสมุทร, 2563:3) ซึ่งหากได้ลองพิจารณาโลกที่ผู้เขียนได้สร้างขึ้นมานั้น คงไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าเรื่องนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้น ตราบใดที่โลกของเรายังคงพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา
ความเป็นมนุษย์ที่ถูกลดทอนความสำคัญ
การนำเสนอโดยใช้ตัวละครเป็นเอไอซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเปรียบเทียบกับมนุษย์ โดยสร้างให้เอไอมีลักษณะที่เหมือนกับมนุษย์ สร้างให้เอไอพยายามทำให้ได้ทุกอย่างเหมือนกับที่มนุษย์ทำได้ หรือที่เรียกให้เข้าใจง่าย ๆ คือ การพยายามที่จะนำเอไอเข้ามาแทนที่มนุษย์ ผู้เขียนได้สร้างให้ “ชิโยะ” เป็นหุ่นยนต์เอไอที่มีความสามารถด้านงานเขียนเป็นพิเศษ เป็นเอไอนักเขียนชื่อดัง เป็นเอไอแถวหน้าของวงการนักเขียนในปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับชีวิตของตัวละคร โนบุโอะ
โนบุโอะ เป็นตัวละครที่มีภูมิหลังเป็นนักเขียนชื่อดัง จนกระทั่งโลกทั้งโลกตกเป็นพื้นที่ของเอไอและไม่มีพื้นที่ให้กับ โนบุโอะ นักเขียนซึ่งเป็นมนุษย์ได้มีพื้นที่อีกต่อไป คุณค่าความสำคัญของมนุษย์ที่เคยมีจึงถูกลดทอนความสำคัญ “สักวันหนึ่ง จะมีไหมนะ วันที่ผู้คนกลับมาอ่านหนังสือของฉันอีกครั้ง ไม่หรอก ไม่มีทางอีกแล้ว ไม่ ไม่ ไม่ ทุกอย่างจบลงแล้ว เศษซากของอารยธรรมที่น่าสงสาร ฉันควรกินยา หรือหมอควรฉีดยาให้ฉันตายไปซะ หรือฉันตายไปนานแล้ว นักเขียนจะตายอย่างแท้จริงเมื่อคนเลิกอ่านงานของพวกเขา และฉันก็ตายไปนานแล้ว ไม่มีคนอ่านงานของฉันอีกแล้ว ฉันจึงตาย ตายก่อนที่ร่างเนื้อของฉันจะตายเสียอีก” (ร เรือในมหาสมุทร, 2563:174)
ประเด็นนี้จึงเป็นปมให้นึกถึงสภาพสังคมในปัจจุบันที่วันเวลาก้าวผ่านไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาเทคโนโลยี มีการนำเทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์ หุ่นยนต์และเอไอเข้ามามีส่วนในการทำงานมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น การทำงานในโรงงาน จากแต่เดิมที่เคยใช้คนเป็นแรงงานหลักก็แปรเปลี่ยนเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แทนแรงงานคน หรืออย่างตามห้าง ตามร้านค้าก็เริ่มมีการนำหุ่นยนต์เข้ามาเป็นแรงงานเสริมในการทำงาน จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ก่อเกิดเป็นปัญหาการว่างงาน แรงงานล้นตลาด ไม่มีงานสำหรับคน อีกทั้งการเข้ามาของเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เปลี่ยนไปเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวัตถุ ดังเช่นที่ผู้เขียนได้นำเสนอให้เห็นถึงความสำคัญระหว่างมนุษย์กับเอไอ ความสัมพันธ์ที่สะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์ในปัจจุบันได้หลงลืมไปแล้วว่าสิ่งมีชีวิตใดที่มีหัวใจ มีเลือดเนื้อ และเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก
จากเรื่องจะเห็นได้ว่าตัวละคร นาโอโตะ แทบจะไม่มีความสัมพันธ์กับมนุษย์คนใดเลย ชีวิตของเขาแทบที่จะเรียกได้ว่าอยู่คนเดียว เพราะสิ่งที่เขาใช้ชีวิตอยู่ด้วยในทุก ๆ วันมีแต่หุ่นยนต์ การที่ผู้เขียนได้สร้างให้ตัวละครชายชราที่เป็นมนุษย์อาศัยอยู่ข้าง ๆ บ้านของนาโอโตะ และสร้างให้ตัวละครชายชราสติไม่สมประกอบ พูดคนเดียว ตะโกน ร้องไห้เสียงดังแค่ไหนก็ไม่มีใครมาสนใจ ไม่มีใครมาเหลียวแล แม้แต่เพื่อนบ้านข้าง ๆ ก็ไม่มีแม้ที่จะสนใจ หรือให้ความสำคัญต่อเสียงที่เขาได้พยายามส่งให้คนในโลกรับรู้เลยแม้แต่น้อย สะท้อนภาพความสัมพันธ์ของมนุษย์กับมนุษย์ในปัจจุบัน การใช้ชีวิตในลักษณะต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของมนุษย์และการมีอยู่ของมนุษย์ด้วยกัน ขาดการใส่ใจ ขาดการสัมผัสหัวใจของกัน
หากมองประเด็นการลดทอนอำนาจความเป็นชาย ผู้เขียนได้มีการกำหนดสร้างตัวละครนักเขียนเอไอที่เป็นผู้หญิงเข้ามาแทนที่ตัวละครนักเขียนชายที่เป็นมนุษย์ จากแต่เดิมที่มนุษย์เพศชายเคยเป็นผู้มีอำนาจ และได้รับความสำคัญ ถูกแทนที่ด้วยเอไอที่เป็นเพศหญิง แม้แต่ในตอนที่เป็นการประกวดแข่งขัน ผู้เขียนก็ได้สร้างให้ตัวละครเอไอเพศหญิงมีอำนาจเหนือกว่าตัวละครเอไอเพศชายด้วยการประกวดชนะตัวละครเอไอเพศชายถึงสองครั้ง และตอกย้ำให้เห็นถึงการเข้ามามีอำนาจของเพศหญิงอีกครั้งในตอนท้าย เมื่อคิว ตัวละครเอไอ เพศชายได้หายตัวไป และผู้ครอบครองก็ได้หาตัวละครเอไอตัวใหม่มาแทนที่ โดยเลือกใช้ตัวละครเอไอเพศหญิง แสดงให้เห็นถึงการเข้ามามีอำนาจของเพศหญิงและลดทอนอำนาจของเพศชายโดยสมบูรณ์
อีกทั้งการที่ผู้เขียนใช้ภาพแทนของชายชรา มาเป็นภาพมนุษย์ที่ถูกมนุษย์ด้วยกันเองลดทอนความสำคัญ หลงลืมให้ความสำคัญ ทำให้ข้าพเจ้านึกย้อนถึงเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม ภาพของคนชราที่ถูกลูกหลานทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพังมีให้เห็นมากขึ้น ความเจริญความพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ สถาบันครอบครัวจากเคยอบอุ่นอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ภาพครอบครัวที่เคยนั่งกินข้าวด้วยกัน เคยนั่งดูทีวีด้วยกัน ภาพความอบอุ่นก่อนที่เทคโนโลยีจะเข้ามากลายเป็นเพียงภาพจำในอดีต เมื่อมนุษย์ได้หลงลืมความสำคัญของคนใกล้ตัว
ภายใต้ภาวะโพสต์ฮิวแมน
โพสต์ฮิวแมนคือแนวคิดที่เชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง มนุษย์ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมและไม่ได้ยิ่งใหญ่เหนือกว่าสิ่งอื่นใด อีกทั้งมนุษย์เองยังตกอยู่ภายใต้การควบคุมของสิ่งต่าง ๆ
“ไม่มีอีกแล้ว โลกทอดทิ้งฉัน ทอดทิ้งมานานแสนนาน ไม่มีใครอยากฟังอีกแล้ว ไม่มีใครอยากอ่านอีกแล้ว ถ้าหากฉันเป็นเหมือนเธอ ถ้าหากร่างกายที่เสื่อมสภาพสามารถเปลี่ยนอะไหล่ได้ ก็คงไม่ต้องปวดหรือเจ็บ ถ้าได้เป็นคอมพิวเตอร์ ถ้าได้เป็นคอมพิวเตอร์ล่ะก็… ป่านนี้ก็คงยังได้เป็นนักเขียนอยู่ล่ะมั้ง” (ร เรือในมหาสมุทร,2563:189)
ข้อความในข้างต้นเป็นการนำเสนอภาวะโพสต์ฮิวแมน ผ่านคำพูดของตัวละครชายชรา ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด ชายชราตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเทคโนโลยี ถูกเทคโนโลยีผลักไสออกจากอาชีพและงานที่รัก ถูกเทคโนโลยีทำให้ต้องตกอยู่กับความทุกข์ความทรมานที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่ตนปรับตัวไม่ทัน อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความพ่ายแพ้ ความอ่อนแอของมนุษย์ ตอกย้ำความเชื่อที่ว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นผู้ยิ่งใหญ่เหนือสิ่งอื่นใด แม้แต่ตัวชายชราที่เป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์ เผ่าพันธุ์ซึ่งเป็นผู้สร้างเอไอขึ้นมากับมือ ยังต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับเอไอ
นอกจากนี้ภาวะโพสต์ฮิวแมนยังเป็นการพูดถึงภาวะความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวัตถุที่มีความสัมพันธ์กันจนทำให้บางครั้งไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ปรากฏให้เห็นจากหลาย ๆ เหตุการณ์ในเนื้อเรื่อง ที่ตัวมนุษย์สับสน ไม่สามารถแยกได้ว่าสิ่งไหนคือมนุษย์สิ่งไหนคือหุ่นยนต์ หรือที่สับสนในหลาย ๆ ข้อคำถามที่ผู้เขียนได้สร้างขึ้นมาจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเอไอ
แม้ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีจะเจริญก้าวหน้า สร้างประโยชน์และสร้างคุณค่าให้กับมนุษย์อย่างมากมาย แต่เรื่องราวในวรรณกรรมเรื่อง วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ ได้เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นมุมมองอีกด้านของความเจริญทางเทคโนโลยี ให้มนุษย์ตระหนักรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของชีวิต ตระหนักถึงหัวใจของกันและกัน กลับมาใส่ใจเพื่อนมนุษย์ ให้ความสำคัญกับมนุษย์ด้วยกัน เพราะท้ายที่สุดทุกอย่างที่เกิดขึ้น ก็ล้วนเกิดขึ้นจากมนุษย์ทั้งสิ้น
อ้างอิง
ร เรือในมหาสมุทร. (2563). วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ. สระบุรี : บริษัท พะโล้
พับลิชชิ่ง จำกัด.