วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ :

โลกในยุคการแทนที่ของคนเหล็ก สู่การเปลี่ยนผ่านเผ่าพันธุ์แห่งยุคสมัย?

ศุภีณา มีทอง 
มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

            ‘จริง ๆ แล้วยังมีอีกหนึ่งปัญหาใหญ่จะให้ใครรู้ไม่ได้ว่าต้นฉบับนิยายพวกนี้ถูกเขียนขึ้นโดยมนุษย์เพราะวรรณกรรมยุคนี้ต้องเขียนขึ้นโดยคอมพิวเตอร์เท่านั้น’ (ร เรือในมหาสมุท, 2563: 191)

            เพราะโลกในยุคที่ว่านี้วงการวรรณกรรมไม่ยอมรับวรรณกรรมที่เขียนโดยฝีมือมนุษย์อีกต่อไป    การจัดประกวดวรรณกรรมมีเกณฑ์กำหนดบ่งชัดว่าผู้ส่งผลงานจะต้องเป็นคอมพิวเตอร์เท่านั้น ยุคที่สังคมทอนค่านักเขียนมนุษย์ที่มีเนื้อหนังเป็นเพียง ‘อาทิตย์สิ้นแสง’ ให้คุณค่ามนุษย์เหล็กเป็นหนึ่งแทบจะทุกอย่างทุกอาชีพในสังคม มนุษย์มีฐานะเพียงถือครองเหล็กเสมือนจริงเหล่านั้นและพยายามควบคุมให้อยู่ภายใต้อำนาจตนเพราะความกลัวลึก ๆ บางสิ่ง

            วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ ไลท์โนเวลเรื่องแรกของ ร เรือในมหาสมุท หรือ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท เจ้าของนามปากกา นักเขียนอายุน้อยแต่มากด้วยประสบการณ์ เป็นเจ้าของหลายผลงานที่ได้รับรางวัลจากเวทีคุณภาพต่าง ๆ วรรณกรรมแฟนตาซีแนวใหม่และถือว่าค่อนข้างใหม่สำหรับวงการวรรณกรรมไทยเรื่องนี้ นำเสนอเรื่องราวสังคมยุค ๒๑๐๐ ยุคที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มีความสามารถทัดเทียมแทบไม่ต่างจากมนุษย์ เอไอกับมนุษย์ใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมเป็นปกติ หลายอาชีพถูกคอมพิวเตอร์เข้ามาแทนที่ กระทั่งการเขียนวรรณกรรมที่เผยแพร่สู่สังคมล้วนแต่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากฝีมือคอมพิวเตอร์อัจฉริยะทั้งหลาย ทว่างานเขียนของ โนบุตะ กลับสร้างกระแสความนิยมขึ้นมาอีกครั้งผ่านคอมพิวเตอร์สาว ชิโยะ กระตุ้นสังคมตั้งคำถามว่า “แท้จริงแล้ววรรณกรรมของเอไอหรือมนุษย์กันแน่ที่ดีกว่า”(ร เรือในมหาสมุท, 2563: 227)

            เมื่อคอมพิวเตอร์เข้าใกล้ความเป็นมนุษย์มากขึ้น เอไอทั้งหลายจะเข้ามาแทนที่เผ่าพันธุ์มนุษย์ดังที่ว่ากันไว้หรือไม่ และความรักต่างเผ่าพันธุ์จะเป็นไปได้หรือ วรรณกรรมเรื่องนี้จะชวนผู้อ่านร่วมจินตนาการในหลายมุมมองเพื่อค้นหาคำตอบในใจตนเองไปพร้อมกับเรื่องราวในโลกอนาคต

           

ความโลภ ต้นตอแห่งการแทนที่ของคนเหล็ก

            ‘ใครก็ตามที่สร้างจักรกลที่ดีที่สุดออกมาได้ คนคนนั้นคือมหาเศรษฐีของยุคสมัย’ (ร เรือในมหาสมุท, 2563: 3)

            ความโลภ นำมาซึ่งความต้องการ และความต้องการนำมาซึ่งการสร้างกลไกบางอย่างขึ้นในสังคมเพื่อสำเร็จความหวังสูงสุดของตนในการเป็นที่หนึ่งและเป็นที่ยอมรับในสังคม อ้างอิงจากทฤษฎี ความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ของมาสโลว์ข้อที่ 4 ที่กล่าวว่ามนุษย์ต้องการการยอมรับนับถือ ดังนั้นมนุษย์ทั้งหลายจึงเร่งรุดแข่งขันกันเพื่อช่วงชิงเอาชัยชนะสูงสุด ทว่าความสูงสุดอยู่ที่จุดใด ทุกอย่างล้วนพัฒนายิ่งขึ้นได้เสมอ เมื่อผู้คนต่างกระหายที่จะอยู่ในจุดที่คิดว่าสูงสุด โลภหลงเพื่อได้มาซึ่งสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นที่หนึ่ง แม้อาจนำพาซึ่งความเจริญก้าวหน้า ขณะเดียวกันก็อาจเป็นเส้นทางมุ่งหน้าสู่บ่อแห่งหายนะของมนุษย์เช่นกัน

            วรรณกรรมเรื่องนี้ ร เรือในมหาสมุทได้นำอาชีพนักเขียนซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับหนังสือ วรรณกรรม และงานเขียนมาใช้ในการดำเนินเรื่อง ตลอดการดำเนินเรื่องผู้เขียนมักมีจุดให้ผู้อ่านตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของมโนสำนึกในตัวตนคอมพิวเตอร์เสมอ ซึ่งคำถามนี้จะยังคงมีอยู่และดำเนินไปตลอดเรื่องดึงความสนใจของผู้อ่านให้อยากติดตามเพื่อหาคำตอบที่แท้จริงในตอนจบ มโนสำนึกดังกล่าวนี้คือสิ่งที่มนุษย์กลัวมากที่สุดแม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าถ้าเกิดขึ้นแล้ว นั่นคือวิวัฒนาการอีกขั้นที่จะเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ หายนะอย่างแท้จริงของมนุษย์คืบคลานเข้ามาใกล้อยู่ทุกขณะ แต่สัญชาติญาณความต้องการเป็นที่หนึ่งเป็นชนวนเร่งให้คอมพิวเตอร์ถูกพัฒนาให้มีความสามารถล้ำหน้าทัดเทียมกับมนุษย์มากที่สุดเพื่อสำแดงอำนาจเหนือเหล่าคน และประกาศอำนาจทัดเทียมพระเจ้า โดยลืมคำนึงถึงขีดจำกัดที่พอดี ดังข้อความหนึ่งของ นานาฮาระ คิว คอมพิวเตอร์สมองกลระบบปฏิบัติการนีโอเบอร์ลินว่า

            “พระเจ้าอาจสามารถทำให้มนุษย์เหมือนท่านทุกระเบียดได้ก็ได้นะ แต่ท่านทรงยั้งมือไว้ เพราะท่านรู้ว่าจะยั้งมือได้อย่างไร...ฉลาดพอยังไงล่ะ แต่มนุษย์น่ะโง่ วัน ๆ ก็คิดแต่จะพัฒนาพวกเราขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่รู้ว่าขีดจำกัดอยู่ตรงไหน ไม่รู้ว่าควรพอ ณ จุดใด และสุดท้าย มนุษย์ก็ดันสร้างพวกเราให้ฉลาดกว่าตัวเอง”   

          “มนุษย์น่ะออกจากสนามแข่งขันไปแล้ว ต่อจากนี้จะเป็นสงครามระหว่างเรากับพระเจ้า” (ร เรือในมหาสมุท, 2563: 38-39)

            และความเห็นของ 463AAC ที่มีต่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์กับมนุษย์เหล็กในอนาคต

            “ทำไมล่ะ ทุกวันนี้ฉันก็หาเงินได้เอง อยู่เองได้ ซื้อข้าวของเองได้ ชาร์จไฟตัวเองก็ได้ สำนักพิมพ์ยังต้องการต้นฉบับของฉัน และจะโอนเงินมาให้ พวกเขาไม่สนหรอกว่าเจ้านายยังอยู่กับฉันหรือเปล่า ตราบใดที่งานของฉันยังขายได้ ที่จะมีปัญหาก็คงเป็น...เรื่องสิทธิในการครอบครองบ้านหลังนี้หรือการเปิดบัญชีธนาคารในชื่อฉันเอง แต่ไม่แน่หรอก กว่าจะถึงตอนนั้น อาจมีกฎหมายที่เอื้อให้คอมพิวเตอร์มีชีวิตเองร่างขึ้นแล้วก็ได้ ฉันอาจหาห้องเช่าหรืออะไรให้ตัวเองอยู่ต่อไปได้แบบไม่ลำบาก คิดว่างั้นนะ” (ร เรือในมหาสมุท, 2563: 47)

            แสดงให้เห็นว่าชนวนแห่งการแทนที่เพื่อเปลี่ยนผ่านได้ถูกจุดขึ้นแล้ว เพียงรอเวลาให้ดำเนินไปถึงจุดนั้นอย่างแท้จริงเท่านั้น

 

การเปลี่ยนผ่านเผ่าพันธุ์แห่งยุคสมัย

            หลังจากชิโยะถูกคิวขโมยพล็อตเรื่องสำหรับการแข่งขันประกวดวรรณกรรมรางวัล A Literature เธอตัดสินใจนำคลิปเสียงของโนบุตะชายชราข้างบ้านที่มักพร่ำเพ้ออย่างเสียสติถึงเรื่องราวในอดีต คำพูดไม่ปะติดปะต่อเสมือนไม่ผ่านการกลั่นกรองร้อยเรียงให้สื่อความหมายได้แปรเป็นตัวอักษรและส่งประกวด สร้างความตกตะลึงให้แวดวงวรรณกรรมถึงความก้าวหน้าของซอฟต์แวร์ซึ่งสามารถเขียนวรรณกรรมแนวกระแสสำนึกได้อย่างมนุษย์ แต่ภายหลังเมื่อความจริงถูกเปิดเผยทำให้เกิดประเด็นถกเถียงขึ้นในสังคมดังว่า “แท้จริงแล้ววรรณกรรมของเอไอหรือมนุษย์กันแน่ที่ดีกว่า” (ร เรือในมหาสมุท, 2563: 227)                 บางสำนักพิมพ์หันมาให้ความสนใจวรรณกรรมที่เขียนโดยมนุษย์อีกครั้ง เป็นก้าวใหม่ของมนุษย์ที่สังคมเริ่มยอมรับให้เข้ามามีบทบาทในฐานะนักเขียนงานอีกครั้ง คิว คอมพิวเตอร์นีโอเบอร์ลิน ระบบปฏิบัติการเดียวที่ไม่ได้ใส่โปรแกรมความรักเคารพในมนุษย์เนื่องจากเป็นระบบที่ใช้ในทางการทหารเพื่อให้ไม่มีข้อจำกัดในการทำลายมนุษย์เป้าหมายและมีสัญชาตญาณดิบไม่ต่างจากมนุษย์ แม้จะมีพฤติกรรมลอบทำร้ายเจ้านายอยู่เสมอ แต่กระนั้นก็ไม่เคยมุ่งให้ถึงแก่ชีวิตเลยสักครั้ง เพราะท้ายที่สุดกระทั่งนีโอเบอร์ลินอย่างคิวก็ยังตระหนักได้ว่าคอมพิวเตอร์ยังไม่พัฒนาถึงขั้นสามารถดำเนินชีวิตได้โดยไม่ต้องการมีมนุษย์ดูแล นอกจากนี้ในคอมพิวเตอร์ทุกตัวจะมีโปรแกรมคอยรับคำสั่งสัมบูรณ์ ยันต์สั่งตายที่คอมพิวเตอร์จะไม่สามารถกระทำการใดนอกเหนือจากคำสั่งมนุษย์ได้ ถือเป็นหลักประกันเพื่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้ยาวนานขึ้นและแสดงสิทธิอำนาจความเป็นเจ้าของเหนือมนุษย์สมองกลเหล่านั้น

            อีกประการซึ่งอาจเป็นเกราะคุ้มเพื่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในอนาคตคือ ‘รัฐบาล’ กล่าวคือการมีอยู่ของรัฐบาลหาใช่เพียงเพื่อเก็บภาษีมาพัฒนาบ้านเมืองไม่ แต่คือการดูแลประชาชนรวมไปถึงเผ่าพันธุ์ให้ดำรงอยู่อย่างมีเสถียรภาพมั่นคง แน่นอนว่าการดูแลอาจไม่ได้มีเพียงรูปแบบบนดินแต่หมายรวมถึงใต้ดินด้วย เพราะสังคมยังมีมุมมืดที่เต็มไปด้วยอำนาจอิทธิพลซอกซอนบ่อนทำลายเผ่าพันธุ์มนุษย์อีกมาก การกำจัดด้วยไม้อ่อนอาจเป็นการยากและโหดร้ายเกินกว่าจะทำแบบโจ่งแจ้ง ดังเรียวเฮเจ้าของ   ไดจิ คอมพิวเตอร์นีโอเบอร์ลินที่รับคำสั่งกวาดล้างนีโอเบอร์ลินผิดกฎหมายตัวอื่น ๆ เพื่อความปลอดภัยและการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์จากรัฐบาล

            หากมองภาพรวมองค์ประกอบหลายด้านแล้ว คอมพิวเตอร์ยังมีจุดพร่องอีกมากเกินกว่าจะดำรงอยู่โดยไร้มนุษย์และเข้ามาแทนที่โดยสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามก็ไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องยืนยันว่าในอนาคตคอมพิวเตอร์มนุษย์เหล็กจะไม่สามารถเข้ามาแทนที่และเปลี่ยนผ่านเผ่าพันธุ์แห่งยุคสมัยได้เช่นกัน ดังบทสนทนาของโนบุตะกับชิโยะ

            “แต่เธอบอกว่าเธอเศร้านี่”

            “สักวันพวกเธอก็คงทำได้ทุกอย่างแหละ เจ็บปวด เศร้า ร้องไห้ รักกับใครสักคน และมีครอบครัวที่มีลูกเล็ก ๆ ส่วนผสมระหว่างคนกับเครื่องจักร”

            “ไม่มีทางกลายเป็นแบบนั้นหรอกค่ะ”

            “งั้นเรอะ ถ้าเธอยืนยันอย่างนั้นก็คงจริงมั้ง แต่ไม่รู้สิ ย่าแก่ ๆ ของฉันก็เคยยืนยันเหมือนกันว่าไอ้อย่างพวกเธอน่ะ ไม่มีวันเกิดขึ้นจริงหรอก หุ่นที่เหมือนคนแบบนี้ไม่มีทางเป็นไปได้ แล้วเป็นไงล่ะ เธอก็มีจริงแล้ว สักวันมันอาจจะเป็นอย่างที่ฉันพูดก็ได้ เธอจะมีลูกหลาน แก่ชรา กลายเป็นยายแก่” (ร เรือในมหาสมุท, 2563: 223)

            แม้วรรณกรรมเรื่องนี้จะไม่ได้มีความโดดเด่นในด้านโครงเรื่อง แต่ ร เรือในมหาสมุทได้ชูความโดดเด่นของวรรณกรรมในด้านกลวิธีการแต่ง การใช้ภาษา รวมถึงแนวการเขียนที่เรียกว่า “ไลท์โนเวล” รูปแบบการเขียนนวนิยายแนวใหม่ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากมังงะญี่ปุ่น เป็นงานเขียนที่มีภาพประกอบในบางหน้า แบ่งออกเป็นหลายเล่ม มีความเบาในแง่ของภาษาและการดำเนินเรื่อง กล่าวคือใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ทันสมัย การดำเนินเรื่องที่เต็มไปด้วยจินตนาการ แต่ยังคงประเทืองปัญญาตามลักษณะของนวนิยาย แฝงแง่คิดสะท้อนสังคมเสนอในมุมมองใหม่ และชวนตั้งคำถามกับสังคมอย่างสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันก็ยังมีเรื่องความรักเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้เนื้อเรื่องหนักจนเกินไปตามลักษณะของนิยาย ความแตกต่างและเสน่ห์ของงานเขียนรูปแบบไลท์โนเวลจึงทำให้สามารถเข้าถึงผู้อ่านยุคใหม่ที่โตมากับยุคแห่งคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต มังงะ อนิเมะ ยุคที่สังคมให้โอกาสกับการจินตนาการอย่างเปิดกว้าง เป็นอีกแนวทางที่อาจทำให้เด็กหันมารักการอ่านมากขึ้น โดยเริ่มจากไลท์โนเวทก่อนพัฒนาไปสู่การอ่านนวนิยายแนวอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต

            นอกจากนี้ที่เห็นได้ชัดจากวรรณกรรมเรื่องนี้คือการคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของนักเขียน วรรณกรรมเรื่องอื่น ๆ ของ ร เรือในมหาสมุท หรือจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท มักจะมีการแบ่งกลุ่มตัวละครออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายขาวฝ่ายดำ ฝ่ายดีฝ่ายชั่ว เช่นเดียวกับฝ่ายมนุษย์กับฝ่ายคอมพิวเตอร์ในเรื่องนี้ รวมถึงการเขียนเชิงตั้งคำถามต่อสังคมผ่านวรรณกรรม และการสะท้อนพื้นฐานแห่งมนุษย์ที่มักจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นเสมอเมื่ออยู่ร่วมกันในสังคม โดยหากกล่าวถึงวรรณกรรมเรื่องนี้แล้วจะเห็นว่าผู้เขียนได้แฝงความขัดแย้งไว้ครบทุกรูปแบบ ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสังคม ความขัดแย้งภายในใจมนุษย์ อาจหยิบยกเอาทฤษฎีบุคลิกภาพของซิกมัน ฟรอยด์ มาประกอบสร้างลักษณะนิสัยและบทบาทของตัวละครเพื่อให้ออกมาสมจริง และที่เด่นชัดที่สุดคือความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ คือมนุษย์กับคอมพิวเตอร์นั่นเอง นอกจากนี้ผู้เขียนยังสามารถถ่ายทอดจินตนาการแฟนตาซีออกมาได้อย่างน่าสนใจตั้งแต่ปกหนังสือซึ่งเป็นภาพการ์ตูนสีสันสดใสแต่มีความลึกลับพิศวง แต่นั่นเป็นเพียงปกนอกที่ห่อปกด้านในไว้ชั้นหนึ่ง เมื่อเปิดออกจะเห็นปกที่แท้จริงเป็นสีดำกับชื่อเรื่องสีขาวแบบง่าย ๆ ให้ความรู้สึกแตกต่างตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง ยิ่งสร้างความลึกลับน่าค้นหาให้กับวรรณกรรม ทั้งนี้ผู้เขียนยังสามารถแฝงแง่คิดผ่านเรื่องราวแฟนตาซีไลท์โนเวลไว้ได้อย่างแยบคาย และสะท้อนเบื้องลึกของสังคมที่ไม่ถูกพูดถึงแต่มีอยู่จริงได้อย่างแยบยล

            ท้ายที่สุดแล้ว วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ จึงอาจเป็นการเขียนขึ้นเพื่อตั้งคำถามถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อนาคตที่มนุษย์ยุคปัจจุบันกำลังมุ่งเดินทางไปถึง ความมุ่งหวังจะสร้างหุ่นยนต์คอมพิวเตอร์ให้มีคุณภาพเทียบเท่ามนุษย์ อันอาจนำมาซึ่งความหายนะดังสิ่งที่มนุษยชาติในเรื่องนี้กำลังกลัวหรือไม่ ไม่มีใครรู้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนอาจจงใจสื่อสารแฝงผ่านเรื่องราวแนวไลท์โนเวลนี้คือการฝืนธรรมชาติ การกระทำโดยไร้ขอบเขตจำกัด มนุษย์ควรตระหนักถึงหายนะที่ธรรมชาติจะกลับมาทวงคืนในอนาคตอันใกล้ ก่อนจะสายเกินไป

            แต่กระนั้นแล้วระหว่างมนุษย์หรือคอมพิวเตอร์ใครจะเป็นผู้ชนะในสงครามวรรณกรรมนี้ โลกในยุคอนาคตจะถูกคนเหล็กแทนที่หรือไม่ จะมีการเปลี่ยนผ่านเผ่าพันธุ์แห่งยุคสมัยเมื่อใดก็ยังคงเป็นประเด็นทิ้งท้ายชวนขบคิดกันต่อไป ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่หยุดพัฒนาวิทยาการคอมพิวเตอร์เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดบางประการสู่การเกิดขึ้นของมนุษย์สมองกลอัจฉริยะอย่างแท้จริง        

 

อ้างอิง

ร เรือในมหาสมุท. 2563. วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ (พิมพ์ครั้งที่ 2). สระบุรี: พะโล้ พับลิชชิ่ง จำกัด.

 

Visitors: 72,507