เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงเราจึงปรับตัว

ไท้ศิริพัฒน์  ประมวล
มหาวิทยาลัยบูรพา

            กวีนิพนธ์เรื่อง HI! So – cial ไฮ โซ...เชียล ของขวัญข้าว ขวัญเรียมเอย เป็นกวีนิพนธ์ขนาดสั้นจำนวน 40 เรื่อง เป็นกวีนิพนธ์ 1 ใน 8 เล่ม ที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2562 และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ประเภทกวีนิพนธ์รางวัลเซเว่นบุ๊ค อวอร์ด ประจำปีพุทธศักราช 2563 โดยกวีนิพนธ์ดังกล่าวสามารถร้อยเรียงเรื่องราวในลักษณะของเรื่องเล่าได้อย่างกระชับ ซึ่งกวีได้มีการวางโครงเรื่องไว้อย่างเป็นระบบ เหตุการณ์ในแต่ละเรื่องจะมีการลำดับเหตุการณ์ตามเวลาที่เกิดขึ้น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแต่เนื่องจากข้อจํากัดในเรื่องจำนวนคําตามฉันทลักษณ์และความยาวของกวีนิพนธ์ ทำให้ต้องเล่าเรื่องแบบการเล่าย่อ โดยบทแรก ๆ ของกวีนิพนธ์จะเป็นการเล่าเหตุการณ์ในอดีตและข้ามเวลาเป็นปัจจุบันในบทต่อ ๆ ไปเพื่อให้ผู้เขียนสามารถสื่อแนวคิดของเรื่องได้อย่างรวดเร็วโดยกวีเลือกใช้คําที่แสดงการเปลี่ยนผ่านจากอดีตสู่ปัจจุบัน เช่น

          “ล้อเกวียนเวียนหมุนจนเติบใหญ่” (กวีนิพนธ์เรื่อง เพาะ)

          ยุคนั้นความลับปิดมิดชิด ยุคนี้ความคิดเปิดเผยนัก” (กวีนิพนธ์เรื่อง ดอกรัก)

          “สายน้ำไหลไปไม่หวนกลับ น้ำใจหายลับกับโลกเก่า

            โลกใหม่ไวไฟได้รุกเร้า ยิ่งเร็วยิ่งเหงายิ่งเศร้าใจ” (กวีนิพนธ์เรื่อง โคลน)

 

การเปลี่ยนแปลงที่ต้องปรับตัว

          ข้าพเจ้ายังมองว่ากวีนิพนธ์เรื่อง Hi! So-cial (ไฮโซ...เชียล) ของขวัญข้าว ขวัญเรียมเอย ยังมีเนื้อหาที่เป็นเอกภาพ โดยกวีมีความตั้งใจที่จะพาผู้อ่านไปพบกับภาพของการเปลี่ยนผ่านจากชีวิตในโลกอดีตสู่ชีวิตในโลกยุคดิจิทัล ท่ามกลางสังคมแห่งการสื่อสารทางออนไลน์ และรูปแบบการดำเนินชีวิตใหม่ ๆ ภายใต้อิทธิพลของ
โซเชียลมีเดีย เพื่อให้ผู้อ่านรู้เท่าทันว่าภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่สิบปี วิถีความเป็นอยู่ของผู้คนสามารถแตกต่างราวเป็นคนละโลกได้อย่างไร ซึ่งความพิเศษของบทกวี ไฮ โช..เชียลคือ แม้ว่าเนื้อหาจะแสดงความรู้สึกโหยหาชีวิตที่เรียบง่ายในอดีตกันอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ได้มองว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตจะต้องงดงามและน่าจดจำกว่าโลกในยุคปัจจุบันเสมอไป ซึ่งข้าพเจ้ามองว่ากวีสามารถแสดงทรรศนะที่สะท้อนได้อย่างสมดุล แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะโลกเก่าหรือโลกใหม่ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในมุมมองที่ต่างกัน และไม่ว่าเราจะอยู่ในยุคไหน มันก็มักจะมีปัญหามากวนใจได้เสมอ การเปรียบเทียบโลกอดีต-ปัจจุบัน ของขวัญข้าว ขวัญเรียมเอย ใน ไฮ โซ...เชียล จึงมักเป็นการสะท้อนสัจธรรมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องปรับรูปปรับรอยให้เข้ากับยุคสมัย แม้ว่าในส่วนของกิเลสและความต้องการของมนุษย์ทั้งหลายจะหมดไปแล้วก็ตาม ดังจะเห็นได้จากตัวบทกวีนิพนธ์เรื่อง “ดารา”

                                   “จอเงินเดินทางสู่จอแก้ว

                              ยุคผ่านลมแผ่วแล้วขื่นขม

                              หนัง โศก ทีวีสีเศร้าตรม

                              เด็กก้มจิ้มหน้าจอ, ไม่ง้อดารา

                              พื้นที่มีให้ได้ปล่อยของ

                              ทุกช่องทุกทางดั่งปรารถนา

                              เฟซบุ๊ก ไอจี ยูทูปท้า

                              ชั่วพริบตา ชั่วเลื่อนจอก็โด่งดัง”

 

พฤติกรรมที่ถูกสังคมหล่อหลอม

            นอกจากนี้กวีนิพนธ์ดังกล่าวยังได้เสนอภาพการเปลี่ยนผ่านชีวิตของตัวละครจากโลกเก่าหรือโลกในวัยเยาว์ สู่ชีวิตในโลกใหม่หรือโลกปัจจุบัน มีชีวิตการเป็นอยู่ท่ามกลางอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ความสดใส ความ
ใสซื่อ และความสัมพันธ์ที่แนบแน่นในวัยเยาว์ที่ถูกสังคมหล่อหลอมให้แต่ละคนมีความคิด การดำเนินชีวิตหรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เกิดความคิดต่าง เกิดการปะทะกันทางความคิด มีการแบ่งพรรคแบ่งฝ่าย แสดงออกโดยใช้สื่อโซเชียลเป็นเครื่องมือโจมตี เช่น กวีนิพนธ์เรื่อง “กระดาษ” เปิดเรื่องในวัยเด็ก ตัวละคร คือ ฉัน เธอ เขา เล่นพับกระดาษ ฉันพับเรือ เธอพับดาว ส่วนเขาพับจรวด เขายิงขีปนาวุธจมเรือและทำลายดวงดาวแตกกระจาย โลกวัยเด็กเล่นจบแล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ไม่มีเรื่องโกรธแค้นเคืองใจกัน ตัดภาพมาปัจจุบัน ฉัน เธอ และเขา เติบโตขึ้น ประสบการณ์ชีวิตหล่อหลอมให้แต่ละคนมีความคิดเป็นของตัวเอง เกิดความคิดต่าง โดยเฉพาะความคิดทางการเมือง ดังตัวบทต่อไปนี้

                                     “…สามเกลอเติบใหญ่ไต่ชนชั้น

                              นับวันแตกคอเกินต่อใจ

                              ใจติดอาวุธไว้ห้ำหั่น

                              ฟาดฟันวาทะระยะใกล้

                              เฟซบุ๊กกระหน่ำหนำออนไลน์

                              รับใช้การเมืองคนละพรรค”

          พวกเขาไม่ได้ปะทะกันต่อหน้า แต่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการโจมตีซึ่งกันและกัน ความผิดใจอาจบานปลายจนทำลายสัมพันธ์ที่เคยมีต่อกัน แต่เรื่องอาจจะคลี่คลายได้เพราะ “ฉัน” เตือนสติเพื่อนว่า

                                     “ออนไลน์แล้วออฟไลน์ไหมเพื่อนรัก

                              ปิดจอร้อนนักไปพับดาว”

 

เหยื่อของสื่อออนไลน์

            ผู้คนในโลกปัจจุบันอยู่ในยุคการสื่อสารที่ไร้พรมแดน เป็นสังคมยุคดิจิทัล การบริโภคข้อมูลจากสื่อของผู้คนได้เปลี่ยนไป โดยมีแนวโน้มใช้สื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพราะสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้แค่ปลายนิ้ว
สื่อโฆษณาออนไลน์ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้ขายสินค้าหาเทคนิคทำการตลาดแบบใหม่ๆ ที่สามารถดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาซื้อสินค้า ผู้ตกเป็นเหยื่อคือผู้บริโภคที่ใช้สื่อออนไลน์นั่นเอง เช่น กวีนิพนธ์เรื่อง “หมอน” ตัวละครตกเป็นเหยื่อโฆษณาของการโฆษณารูปแบบใหม่ นักโฆษณาใช้วิธีกระตุ้นให้ผู้บริโภครีบสั่งซื้อสินค้า เช่น ให้โทรเข้ามาตอนนี้จะได้ของแถม ส่วนลด ดังตัวบทต่อไปนี้

                                     “…ใบเดียวราคาใบเป็นพัน

                              ชื้อคู่กันลดแล้วเหลือเก้าร้อย

                              โทรมาตอนนี้มีของแถม

                              ปลอกหมอนสีแจ่มแถมไม่บ่อย

                              เพียงเก้าสิบเก้าท่านแรก, เร็วมีน้อย!

                              อย่าปล่อยของดีให้หลุดมือ

                              

                              แม่บ้านผ่านศึกนึกอยากซื้อ

                              หมอนตราสะดือมาใช้ดู”

            นอกจากตัวละครจะตกเป็นเหยื่อสื่อออนไลน์แล้ว ในทางกลับกัน ตัวละครบางตัวจะใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือฉกฉวยผลประโยชน์ใส่ตัว เช่น กวีนิพนธ์เรื่อง “ตัดต่อ” เป็นเรื่องของชายคนหนึ่งที่เรียนทางด้านเกษตร
แต่ได้คะแนนสูงสุดในวิชาคอมพิวเตอร์ กวีได้มีการเปรียบเทียบวิธีการตัดต่อกิ่งไม้สองกิ่งนำมาทาบกิ่งกัน เพื่อให้ได้ไม้พันธุ์ใหม่ ได้ไม้พันธุ์ดี แข็งแรง และราคาสูงกว่าเดิม กับการรับจ้างตัดต่อเรื่องราวสร้างข่าวเท็จ การตัดต่อภาพ
ตัดต่อคลิปเพื่อมุ่งทำร้ายคนอื่น หนทางแก้ไขปัญหาคือ การเตือนสติให้ใช้วิชาชีพในทางสร้างสรรค์มากกว่าทำลายสังคม

                                      “ไปทาบกิ่งพันธุ์ไม้อีกไหมเพื่อน

                              ให้พันธุ์ไม้ย้ำเตือนฝันวันก่อน

                              เราตัดต่อเพื่อสร้างสรรค์ใจอาทร

                              เปลี่ยนโลกร้อนให้ร่มเย็นใช่เล่นไฟ”

การเปลี่ยนแปลงในจิตใจ

          ผู้เขียนไม่ได้ให้ภาพความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในรูปธรรม แต่เป็นเพียงผิวเผินเท่านั้น หากยังวิเคราะห์ถึงความเปลี่ยนแปลงทางจิตวิทยาและพฤติกรรมของผู้คน ว่าการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในใจของตัวละคร เช่น กวีนิพนธ์เรื่อง “ด่า” เป็นเรื่องของตัวละครที่ถูกด่าทอผ่านโลกโซเชียล เมื่อตัวละครได้เห็นคำด่าที่ส่งมา ใจหนึ่งก็โกรธแต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ที่ยังมีกิเลส เธอจึงพิมพ์ขอบคุณทุกคนในคำด่าเหล่านั้น ดังจะเห็นได้จากตัวบทต่อไปนี้

                                      “เธอตัดพ้ออยู่ดีดีก็โดนด่า

                              เธอรู้ว่าคนด่ากันไม่จบสิ้น

                              ธรรมดาของสัตว์โลกทั่วแผ่นดิน

                              เธอชาชินก่อนพิมพ์คำตามสบาย

                              แล้วโพสต์ตอบขอบพระคุณทุกคำด่า

                              ที่ทำให้ได้รู้ค่าแห่งความหมาย

                              และสุดท้ายปิดเฟซหนีคำด่านั้น

                              เขียนขอบคุณแฟนคลับทั้งหญิงชาย”

          นอกจากนี้กวีนิพนธ์ดังกล่าวยังมีการนำเสนอให้ผู้อ่านเห็นถึงความขัดแย้งภายนอก ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างตัวละครกับสังคม เช่น กวีนิพนธ์เรื่อง “ดาว” ตัวละครจากบ้านในชนบท เข้ามาทำงานในเมืองหลวง เขาต้องอดทนต่อสู้กับความยากลําบากในสังคมเมือง ทำงานเพื่อหาเงินส่งไปให้ครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง ดังตัวบทต่อไปนี้

                                    ...ดึกดื่นดวงดาวคงหนาวหนัก

                              สายฝนทะลักไปตามเรื่อง

                              แม่โทรมาว่า แม่ฝืดเคือง”

                              เดินเครื่องสู้ต่อเติมบ้านเรา”

            นอกจากนี้กวีนิพนธ์ดังกล่าวก็ได้เสนอภาพของความขัดแย้งระหว่างตัวละครกับตัวละคร เช่น ความขัดแย้งระหว่างตัวละครที่มีความคิดต่างกันทางการเมือง และโจมตีซึ่งกันและกันในโลกโซเชียล เช่น กวีนิพนธ์เรื่อง “กระดาษ”

                                       ...ใจติดอาวุธไว้ห้ำหั่น

                              ฟาดฟันวาทะระยะใกล้

                              เฟซบุ๊คกระหน่ำหนำออนไลน์

                              รับใช้การเมืองคนละพรรค...”

            ในกวีนิพนธ์เรื่อง ไฮ โช...เชียล กวีได้ใช้กลวิธีลำดับเหตุการณ์ตามเวลาจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน และมีการสร้างข้อขัดแย้งให้เกิดขึ้นกับตัวละคร ซึ่งข้าพเจ้ามองว่าการสร้างความขัดแย้งดังกล่าวอาจจะเป็นการจะช่วยเสริมแนวคิดหรือแก่นของเรื่องให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

          จากการอ่านกวีนิพนธ์เรื่อง ไฮ โซ...เชียล ของ ขวัญข้าว ขวัญเรียมเอย ข้าพเจ้าพบว่าเป็นกวีนิพนธ์ที่มี
ฉันทลักษณ์ที่เล่าเนื้อหาข้ามผ่านกาลเวลาที่มีลีลาอ่อนหวาน ขบขัน แต่ขณะเดียวกันก็แฝงไปด้วยแนวคิดที่ผู้เขียนวางไว้เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ โดยแนวคิดหลักคือเรื่องของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความเป็นสมัยใหม่ และความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นความจริงที่ต้องยอมรับ โดยการใช้กลวิธีการเล่าเปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบัน และเล่าเรื่องผ่านมุมมองของผู้สังเกต และแนวคิดที่สองคือเรื่องของความลวงในโลกโซเชียลหรือโลกเสมือนจริง เรื่องราวที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดียมีให้พบเห็นมากมาย เป็นเรื่องจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ถูกต้องบ้าง บิดเบือนบ้าง นั่นเพราะโลกของการสื่อสารออนไลน์เป็นโลกเสมือนจริง ที่ใครจะสร้างเรื่องราวหรือสร้างตัวตนให้เป็นอย่างไรก็ได้ จะสังเกตได้ว่าการที่กวีไม่ได้ระบุชื่อของตัวละคร การละชื่อตัวละคร หรือการใช้สถานะของตัวละครเป็นผู้ดำเนินเรื่องเพื่อเล่าเหตุการณ์ความเป็นไปของตัวละคร ข้าพเจ้าคิดว่าอาจจะเป็นความตั้งใจของกวีที่ต้องการชี้ให้เห็นว่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับคนทั่วไปในสังคม ผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจและรู้เท่าทันความลวง โดยกวีนิพนธ์ไฮ โซ…เชียล ที่มีแนวคิดเรื่องความลวงในโลกโซเชียล เช่น กวีนิพนธ์เรื่อง “หลงแหล่” ตัวละครเป็นเด็กบ้านนอก ผิวคล้ำ หน้าตาไม่สะสวย เมื่อโตขึ้นจึงใช้แอปพลิเคชันปรับแต่งหน้า เปลี่ยนชื่อ เปิดเพจขายของออนไลน์ มีลูกค้าผู้ชายเข้ามาขอเป็นเพื่อนจำนวนมากดังตัวบทที่ว่า

                                           “หนุ่มหนุ่มรุมตอมขอเป็นเพื่อน

                              โลกเสมือนเคลื่อนผ่านแหล่สดใส

                              อีกครั้งตกหลุมรักสมัครใจ

                              แหล่หลงใหล มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ผู้เบิกทาง

                              หลีหลงใหล มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก เบิกสตางค์”

          กวีนิพนธ์เรื่อง ไฮ โซ...เชียล ของ ขวัญข้าว ขวัญเรียมเอย จึงถือเป็นผลงานที่มีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ สอดคล้องกับเนื้อหาที่ยิ่งพิจารณาดู ก็จะยิ่งเห็นความคมคายที่ซ่อนไว้ในความเรียบง่ายนั้น ซึ่งได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมออนไลน์และชีวิตจริงของคนรุ่นใหม่ เรียกได้ว่าเป็นงานกวีนิพนธ์ที่เล่าเรื่องโลกโซเชียลได้อย่างแสบสัน ที่เปรียบเสมือนสะพานที่ทอดเชื่อมโลกอดีตแห่งความทรงจำกับความล้ำสมัยแห่งยุคปัจจุบันได้อย่างสมดุลและลงตัว จากประสบการณ์ส่วนตัวของข้าพเจ้าที่เคยผ่านโลกใบเก่ามาบ้างเล็กน้อย ได้เห็บบางสิ่งบางอย่างในอดีตมาจนถึงยุคที่มีการเปลี่ยนผ่าน แต่ข้าพเจ้าก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของโลกใบใหม่ได้อย่างดี ข้าพเจ้าเห็นเหมาะสมว่ากวีนิพนธ์เรื่อง ไฮ โซ...เชียล ของ ขวัญข้าว ขวัญเรียมเอย เป็นงานกวีที่คนรุ่นเก่าควรอ่านเพื่อรับรู้ทรรศนะมุมมองของคนรุ่นใหม่ ในขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็จะได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตแบบเก่าว่าเคยมีมุมดีอย่างไรบ้าง แม้จะเป็นความงามที่พวกเขาไม่อาจย้อนเวลากลับไปสัมผัสได้อีกแล้วก็ตาม

 

บรรณานุกรม

            ขวัญข้าว ขวัญเรียมเอย. (2564). ไฮโซ...เชียล : Hi! So – Cial. กรุงเทพฯ: Hi! So-cial team

 

 

Visitors: 82,075